เห็นทุกข์ก็จะเห็นธรรม

เรื่องธรรมดานะ
(พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
ท่านอายุมากแล้ว มีชีวิตอยู่ อายุเยอะๆ ไม่สบายนะ
ร่างกายช่วยตัวเองไม่ได้ มีแต่เรื่องเจ็บตัวตลอด
ไม่ใช่ชีวิตเป็นของวิเศษวิโสหรอก

ในส่วนตัวท่าน ท่านสบายของท่านอยู่แล้ว
เพราะความดีท่านทำมาเยอะแล้ว
ที่ว้าวุ่นใจคือพวกเราเอง เราไม่มั่นใจในความดีของเราเอง
เราหวังจะพึ่งท่าน ไปๆ มาๆ รักตัวเองเยอะ

บางทีพ่อแม่เราไม่สบายมากๆ โดนหมอทำอย่างโน้นอย่างนี้
เรายังอยากปล่อยเลย

เวลาอะไรก็เหมาะสมทุกอย่างนะ
ตอนนี้บ้านเมืองกำลังร่มเย็นอยู่ สงบอยู่
คนที่จงรักภักดีกำลังมีอำนาจอยู่
ถ้าได้พวกคิดร้าย เกิดภาวะอย่างนี้
ฉวยโอกาสทำอะไรได้เยอะแยะเลย
บ้านเมืองเสียหายมากกว่านี้

ชาวพุทธเรามองทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล
ท่านก็แสดงธรรมะให้เราดู ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เห็นไหม
เราไม่อยากคิดถึงด้วยซ้ำไปว่าท่านจะสิ้น ท่านก็สิ้นจนได้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เวลาที่จะมาเศร้าโศกนาน
เศร้าโศกพอสมควร ทำความดีไป
บอกว่ารักพ่อรักพ่อ ทำอย่างพ่อให้ได้ก็แล้วกัน
ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเข้า อย่างน้อยก็ลดคนเลวคนหนึ่งในสังคม
ลดลงสักคนนะ บ้านเมืองก็ดีขึ้น พ่อรู้พ่อก็ชื่นใจ

ไม่ต้องไปมองว่าอดีตท่านเป็นใคร
เป็นโพธิสัตว์องค์ไหนมา อนาคตจะเป็นอะไร
ดูปัจจุบันซิ ในโลกนี้มีคนสักกี่คน ที่คนรักเท่านี้
ฉะนั้น ชาวพุทธเรามองอะไรก็เป็นปัจจุบันหน่อยนะ
อย่าหลอกตัวเอง เพ้อๆ ไปเรื่อยๆ

ถึงวาระท่านก็ต้องสิ้น นั่นคือความจริง
เรามั่นใจไหมว่าท่านดี เรามั่นใจ ไม่ต้องห่วงท่าน
เราก็ต้องทำตัวไม่ให้ท่านห่วงด้วย พัฒนาตัวเองไป
อย่าเห็นแก่ตัว ที่บ้านเมืองวุ่นวายทุกวันนี้นะ
ย่อลงมาแล้วก็แค่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้นแหละ

ประเทศไทยพัฒนาประเทศมาพร้อมกับญี่ปุ่น
เริ่มพัฒนาประเทศสมัยรัชกาลที่ ๕ สมัยเมจิของญี่ปุ่น
เขาไปถึงไหนแล้ว เราก็ยังอยู่อย่างนี้
ใครก็ช่วยเราไม่ได้หรอก เพราะเราชั่วของเราเอง
คนขี้โกงมันเต็มบ้านเต็มเมือง
อย่างน้อยเราลดคนชั่วลงสักคนหนึ่ง
ทำอะไรที่ดีๆ ไม่เห็นแก่ตัว
ส่วนรวมมันค่อยๆ เขยิบขึ้น ทีละหน่อยๆ ก็ยังดี

ต่อไปนี้รู้สึกตัวบ่อยๆ ไม่ปล่อยให้ความเศร้าโศกครอบงำใจ

อย่าว่าแต่ความเศร้าโศกเลย ความดีใจเรายังไม่ให้ครอบงำใจเลย
เรื่องอะไรจะปล่อยให้ความเศร้าโศกครอบงำใจ
ต้องรักษาใจเอาไว้ ไม่รักษาใจนะ เสียใจไปดวงเดียว เสียหมดเลย
ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย รักษาใจเอาไว้ ไม่ต้องห่วงท่าน
ท่านดีของท่าน สมบูรณ์ของท่านอยู่แล้วล่ะ
ห่วงก็ห่วงตัวเอง ว่าเราจะรักษาความดีเอาไว้ได้ไหม

ใครร้องไห้บ้าง ยกมือซิ
ร้องเองหรือว่าร้องเพราะคนอื่นร้อง
ร้องก็ไม่ว่าหรอกนะ แต่ร้องพอสมควร มีสติไว้

ทำกุศลให้มากๆ ถวายส่วนบุญส่วนกุศลไป นี่คือสิ่งที่เราทำให้ท่านได้นะ
ถัดจากนั้นก็ทำเพื่อตัวเราเอง เพื่อสังคมที่เราจะต้องอยู่กันต่อไป

ความเห็นแก่ตัวมันน่าเกลียด
ค่อยๆ ดูตัวเองให้ออก อะไรที่เห็นแก่ตัว ค่อยๆ ลด ค่อยๆ ละไป
ครูบาอาจารย์สอนแทบตาย ถ้ายังดื้อเหมือนเดิม ไม่ได้อะไรขึ้นมา
อย่างแย่งกันเข้าศาลา แย่งกันจอดรถ แย่งกันกิน แย่งกันทำอะไรอย่างนี้
ลดได้ก็ลดไปนะ พยายามลดละเข้า มันน่าเกลียด กิเลสไม่ไว้หน้าใคร

นี่จะถึงเทศกาลให้ลงทะเบียนอยู่วัด
เดือนหน้าถ้าพระท่านพร้อมแล้วก็เปิดรับสมัคร
พวกเราเคยชินที่จะจองโรงแรม นี่วัดนะ ไม่ใช่โรงแรม
บางคนก็สนใจ จองทางอินเตอร์เน็ตได้ไหม ไม่ใช่โรงแรมนะ
จะมาอยู่วัด ต้องมาขอที่พระ พระวัดนี้ไม่ได้เล่นเน็ต
เพราะฉะนั้น จองทางเน็ตไม่ได้ เพราะพระไม่ได้เปิดดู

ทำไมต้องให้มาจองเอง
คนที่อยู่วัด อยากให้เป็นคนที่มาวัดแล้ว เคยฟังธรรมะมาบ้างแล้ว
เคยปฏิบัติมาบ้างแล้ว (คน)ใหม่ๆ ไม่เคยเห็นหน้ามาเลย
ไม่เคยเรียนเลย เข้ามาแล้วมันจะงง
เขาเดินจงกรมก็ว่าเขาเดินไปเดินมา เขานั่งสมาธิก็ว่าเขานั่งหลับ
อย่างนี้แทบไม่รู้เรื่องเลย มาอยู่ก็ไม่ไหว

แต่บอกก่อนนะ มาอยู่วัดไม่ใช่หลวงพ่อสอนทั้งวันนะ
เดี๋ยวนี้หลวงพ่อไม่ได้สอนคนที่มาอยู่วัดแล้วล่ะ
ยกเว้นวันที่เปิดวัดอย่างนี้ จึงจะสอน
วันธรรมดาไม่ได้สอน ไม่มีแรงจะสอน แก่แล้ว
แล้วก็ไม่ค่อยอยู่ด้วย บางทีก็ไปโรงพยาบาล
แต่หลวงพ่อไม่ห่วงนะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนไว้มีเยอะแยะ
ลองไปดูในเน็ต รู้สึกไหมเยอะเหลือเกิน
สิ่งที่สอนไว้นั้น มากมายมหาศาลนะ
คำตอบสำหรับคำถามที่จำเป็น สำหรับการปฏิบัติมีอยู่ครบแล้วล่ะ
อยู่ที่เราจะก้าวหน้าไปด้วยตัวเองได้ไหม เข้มแข็งพอไหม
อ่อนแอก็ไม่ได้เรื่อง

ตอนหลวงพ่อไม่สบายก็ได้ข่าว บางคนร้องไห้
บ่อน้ำตาตื้นเหลือเกิน ในหลวงสวรรคตก็ร้องไห้
ทำอะไรก็ร้องไปหมดเลย หุ้นตกก็คงร้องอีกแหละ

 

สิ่งที่ถ่ายทอดให้นะ เยอะแล้ว อยู่ที่ทำเอาเอง

ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อไม่กี่ประโยคเอง
ทำไมหลวงพ่อภาวนาของหลวงพ่อได้
เพราะเราสู้ ไม่ใช่รอให้ท่านมาป้อน
ใครเคยเห็นคนโบราณเลี้ยงเด็กไหม
มีกล้วยนะ เอาช้อนมาขูดๆ ป้อนๆ
นี่ไม่ใช่เด็กเล็กๆ จะให้ป้อนอย่างนั้นนะ ป้อนตัวเองไม่ได้ก็อดตายไป
เส้นทางนี้ เส้นทางของคนเข้มแข็ง ไม่ใช่เส้นทางของคนอ่อนแอ
ต้องฮึดสู้นะ ชีวิตนี้มีความทุกข์รออยู่ข้างหน้าเต็มไปหมดเลย
เราไม่รู้ว่าเราจะพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเมื่อไหร่
บางทีเราไม่อยากคิดถึงว่าจะต้องพลัดพราก ถึงเวลาก็ต้องพลัดพราก
เราไม่รู้ว่าเราต้องเจอสิ่งเลวร้ายทั้งหลายเมื่อไหร่
ต้องเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจเมื่อไหร่ ถึงเวลาก็ต้องเจอ
เราไม่รู้ว่าเราจะผิดหวังเมื่อไหร่
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
เนี่ย สิ่งเหล่านี้รอเราอยู่

ในทางร่างกาย เราก็มีความแก่รออยู่
มีความเจ็บไข้รออยู่ มีความตายรออยู่
เพราะฉะนั้นเราประมาทไม่ได้เลย ทั้งทางกายและทางใจ
ทางร่างกายมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย รออยู่
ทางจิตใจมีการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประสบสิ่งที่ไม่รัก
ความไม่สมปรารถนาทั้งหลาย รอเราอยู่
เราต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง

หายใจซิ หายใจทิ้งเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์นะ
หายใจแล้วรู้สึก เห็นร่างกายหายใจ
อย่าลืมหลักสูตร ต้องยิ้มหวานก่อน ยิ้มอย่างสดชื่น
เห็นร่างกายยิ้ม เห็นใจคลี่บานเหมือนดอกไม้บาน
พอใจสบายแล้ว รู้สึกไป ร่างกายมันหายใจ
ร่างกายมันนั่ง ร่างกายเคลื่อนไหว
นี่ เป็นการเจริญสติปัฏฐานทั้งหมดเลย

เห็นร่างกายหายใจ อยู่ในอานาปานสติ (อานาปานสติบรรพ)
เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอิริยาบถ (อิริยาบถบรรพ)
เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง
อยู่ในสัมปชัญญะ (สัมปชัญญะบรรพ)
ทั้งหมดนี้ อยู่ในกายานุปัสสนา (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ไม่ถนัดดูกาย ก็ดูความรู้สึก
ความรู้สึกสุข ทุกข์ เกิดขึ้นที่กายก็มี
ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดที่ใจก็มี
ถนัดดูความรู้สึกสุข ทุกข์ ทางกายก็รู้สึก (ดู) ไป
เราจะเห็นว่าในร่างกายนี้ มีความทุกข์เกิดขึ้น
เดี๋ยวเกิดตรงนั้น เดี๋ยวเกิดตรงนี้
นั่งอยู่นี่ คันบ้างหรือยัง ใครเกาไปแล้วบ้าง
หลวงพ่อเห็นนะ นั่งตรงนี้ เห็น บางคนเหมือนลิงเลย เกายุกยิกๆ
นี่ ในร่างกายนะ มีความทุกข์เกิดขึ้นเนืองๆ
เดี๋ยวเกิดตรงนั้น เดี๋ยวเกิดตรงนี้ เกิดแล้วก็หายไป

ถ้าไม่ถนัดดูความทุกข์ ความสุขในร่างกายนะ
ก็ดูความทุกข์ ความสุข ความเฉยๆ ในใจ
มีอยู่ ๓ อย่าง หมุนเวียนอยู่ในใจเรา
ใจเราสุขบ้าง ใจเราทุกข์บ้าง ใจเราเฉยๆ บ้าง
คอยรู้ทันไป เห็นมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
อันนี้เรียกว่า เราทำเวทนานุปัสสนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

หรือดูกิเลสก็ได้
จิตมีราคะ ก็รู้ จิตไม่มีราคะ ก็รู้
จิตมีโทสะ ก็รู้ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้
จิตมีโมหะ ก็รู้ จิตไม่มีโมหะ ก็รู้
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ จิตหดหู่ ก็รู้
หัดรู้ไปเรื่อย ก็เห็น สภาวะทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น

จิตมีราคะ เกิดแล้วก็ดับ
จิตไม่มีราคะ เกิดแล้วก็ดับ
จิตมีโทสะ ไม่มีโทสะ เกิดแล้วดับ
ทุกอย่างเกิดแล้วดับ

หัดรู้สึกไปนะ รู้สึกถึงร่างกายก็ได้
ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง แค่นี้ก็ได้

ดูสุข ทุกข์ ในกายก็ได้
ดูสุข ทุกข์ เฉยๆ ในใจก็ได้
ดูกุศล อกุศลที่เกิดขึ้นในใจก็ได้ เนี่ย หัดรู้สึกไปเรื่อย

หัดรู้สึกแรกๆ สิ่งที่เราจะได้มาคือสติ

อย่างเราหัดรู้บ่อยๆ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก
ต่อไปไม่ได้เจตนารู้สึก ก็รู้สึกได้เอง
แค่จังหวะลมหายใจเปลี่ยนนิดเดียว ก็รู้สึกขึ้นมาได้เอง
เนี่ย เกิดสติแล้ว
หรือเราหัดดูใจ คนไหนขี้โมโห ใจโกรธ
พอเห็นใจโกรธขึ้นมาแล้วใจหายโกรธ เห็นมันเกิดดับไป
หัดดูบ่อยๆ จิตมันจำสภาวะความโกรธได้แม่น
พอโกรธปุ๊บ สติเกิดเองเลย

สติปัฏฐานเนี่ย เราหัดรู้สภาวะบ่อยๆ
จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้
ที่ยกตัวอย่างให้ฟัง มีทั้งรูปทั้งนาม
หัดรู้บ่อยๆ จิตจำสภาวะแม่นแล้วสติจะเกิดเอง
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ในเบื้องต้นทำไปแล้วจะเกิดสติ
มีสติขึ้นมาแล้ว เราก็หัดรู้ต่อไปอีก
รู้สภาวธรรมทั้งหลาย ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
รู้อย่างที่เขาเป็นไป สุดท้ายปัญญามันเกิด มันจะเห็นเลย
ตัวไหนหายใจออกหายใจเข้า
รูปมันเป็นตัวหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ
ตัวไหนยืน เดิน นั่ง นอน
รูปมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน
ตัวไหนเคลื่อนไหว ตัวไหนหยุดนิ่ง
รูปมันเคลื่อนไหว รูปมันหยุดนิ่ง ไม่ใช่เรา
นี่เริ่มถอดถอนความเห็นผิด

รูปหายใจออก เกิดแล้วก็ดับ รูปหายใจเข้า เกิดแล้วก็ดับ นี่เห็นไม่เที่ยง
รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน เกิดแล้วก็ดับ นี่ก็เห็นความไม่เที่ยง
รูปที่เคลื่อนไหว รูปที่หยุดนิ่ง เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น นี่ก็คือเห็นความไม่เที่ยง
เห็นมันเป็นสักว่ารูป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ นี่เห็นอนัตตา
เห็นความจริงของรูป มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของเป็นอนัตตา
มีความทุกข์บีบคั้นอยู่เรื่อยๆ นั่งอยู่ก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์
ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ทุกข์ เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง ก็ทุกข์ทั้งนั้นเลย
เราก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง
ปัญญามันเกิด รู้ว่ารูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
พอปัญญามันมากเข้าๆ จิตมันวางความยึดถือรูป

ทีแรกวางความเห็นผิดว่ารูปเป็นเราก่อน
(แล้ว)วางความยึดถือรูป เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี
ไม่ยึดรูปได้ มีความสุข มหาศาลเลย
จิตใจนะ เด่นดวงขึ้นมา มีความสุขมาก
ภาวนาต่อไปอีก
จะเห็นจิตใจเองก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน

ใครโกรธ ใครโลภ ใครหลง
ความรู้สึกโกรธ โลภ หลงมันเกิดขึ้นมา มันเกิดของมันเอง
มีอารมณ์มากระทบ มันเกิดโลภ โกรธ หลง ขึ้นมา
เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป ดับของมันเอง
เห็นแต่ของไม่เที่ยง เห็นแต่ของบังคับไม่ได้ มันเป็นไปเอง
(เห็น)ความสุขความทุกข์ทางกาย ไม่ได้สั่งให้เกิด เกิดเอง
เกิดอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ก็เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา
(เห็น)ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในใจ เกิดเอง ดับเอง
เห็นเกิดแล้วดับไป เขาเรียก เห็น “อนิจจัง”
(เห็น)มันเป็นไปเอง ไม่ได้ตามที่เราสั่ง เขาเรียก เห็น “อนัตตา”
เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย ปัญญามันก็เกิด สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย

ปัญญาในการรู้รูป เบื้องต้นจะเห็นว่ารูปไม่ใช่เรา
พอเห็นว่านามธรรมทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เราด้วย
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นพระโสดาบัน

ทีนี้ ปัญญาแก่กล้ามากขึ้น เห็นรูปทั้งหลายเป็นตัวทุกข์
เห็นอย่างนี้จิตไม่ยึดถือรูป ไม่ยึดในตา หู จมูก ลิ้น กาย
ไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือสิ่งที่มากระทบร่างกาย
เมื่อไม่ยึดถือ ความยินดีหรือกามฉันทะ กามราคะ ไม่มี
ความขัดเคือง ไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือปฏิฆะ ไม่มี
ละกามราคะและปฏิฆะ เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี

ถ้าปัญญาแก่กล้าถึงขีดสุด
จะเห็นว่าตัวจิตนั่นแหละเป็นตัวทุกข์
ถ้าเห็นถึงตัวนี้แล้วที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงนี้เอง

ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมา
หลวงปู่ดูลย์สอนว่า
“พบผู้รู้ทำลายผู้รู้ พบจิตทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
เราฟังแล้วไม่เข้าใจหรอก ทำลายอย่างไร
หลวงพ่อพุธ ท่านสอน
“จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่
มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง”
ท่านสอน บอกมันเหมือนลูกไก่อยู่ในไข่
ลูกไก่โตเต็มที่ มันเจาะเปลือกออกมาเอง มันทำลายผู้รู้เอง
ทีนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ลูกไก่จะเติบโต
ทำไมลูกไก่ถึงโต อะไรอย่างนี้ ไม่รู้
มันรู้อย่างเดียวว่า จิตนี้ยังขาดอะไรบางอย่าง
จิตไม่รู้อะไรบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถทำลายผู้รู้ได้
วันหนึ่งเข้าใจขึ้นมา มันไม่รู้อริยสัจ

นี่ หลวงพ่อสอนแบบเทย่ามให้นะ จำไว้ก่อน
เหมือนหลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อ จำไว้นะ
เพราะว่าถ้าไม่มีคนบอกให้เราเนี่ย
เราเดินด้วยตัวเองนี่ยากแสนเข็ญเลย
บารมีเราไม่พอที่จะไปด้วยตัวเองได้
อาศัยร่องรอยที่ครูบาอาจารย์ทิ้งไว้ให้ ก็เดินได้

เราไม่เก่งอย่างหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านคลำทางเอา
ท่านก็อ่านหนังสือเหมือนกัน อ่านปริยัติเหมือนกัน
ไปดูในพิพิธภัณฑ์ท่าน ที่ จ.สกลนคร ก็เห็นมีหนังสือปริยัติอยู่หลายเล่ม
ท่านคลำทาง เจอทาง เสร็จแล้วท่านก็สอนหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต
หลวงปู่ดูลย์ดูแล้ว ท่านก็บอกต่อให้หลวงพ่อมาอีกที
หลวงพ่อก็บอกต่อพวกเราไป

วันใดรู้แจ้งอริยสัจ วันนั้นวัฏฏะจะถล่มลงไปต่อหน้าต่อตา
สังสารวัฏจะถล่มลงไป เมื่อรู้แจ้งอริยสัจ
รู้แจ้งอริยสัจนี่ รู้ทุกข์อันเดียวนี่แหละพอเลย
อะไรคือทุกข์ รูปธรรม นามธรรม คือทุกข์
รูปนี้คือตัวทุกข์ นามนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์
ตัวที่เห็นยากที่สุด คือ จิต
ถ้าเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ วัฏฏะถล่มลงตรงนั้นเลย

พวกเรา(ยัง)ไม่เห็นหรอก
พวกเราเห็นว่าจิตนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
รู้สึกไหม ยังมีทางเลือก มีสุขกับทุกข์ ปัญญาไม่แจ้งพอ
ถ้าปัญญาแจ้งพอ จะรู้เหมือนอย่างหลวงปู่เทสก์เคยสอนหลวงพ่อ
“นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับไป”
ประโยคของหลวงปู่เทสก์สอนนี่นะ มีในพระไตรปิฎก
หลวงปู่จะอ่าน(พระไตรปิฎก)หรือเปล่าไม่รู้นะ
แต่หลวงปู่รู้ธรรมตรงนี้ (เพราะ)ท่านภาวนา
ท่านจะเรียนปริยัติ เรียนพระไตรปิฎกหรือเปล่า ไม่รู้
แต่สิ่งที่ท่านสอนตรงกันกับพระไตรปิฎก
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรดับไป
พอรู้ตรงนี้เท่านั้นเอง จิตมันสลัดคืนรูปคืนนามให้โลกไป
ท่านบอก “สิ้นโลก” รูปนามนั้นคือตัวโลก
ท่านบอก “สิ้นโลก” แล้วเหลืออะไร “เหลือธรรม” เหลือนิพพานอยู่
เพราะฉะนั้น วางรูปนามลงไปแล้วเห็นนิพพาน

ท่านแต่งหนังสือเรื่องหนึ่งนะ “สิ้นโลก เหลือธรรม” ใครเคยอ่านไหม
ตอนนั้น หนังสือนั้นท่านเพิ่งเขียนใหม่
หลวงพ่อ(สมัยฆราวาส)ไปวัดพอดี
คนเขาก็บอก เนี่ย ท่านเขียนใหม่ ตื่นเต้นกันใหญ่
เอามาอ่าน ในนั้นมีเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งนั้นแหละ ไม่มีอย่างอื่นเลย
ฟังแล้วมันดูลึกซึ้งนะ สิ้นโลก เหลือธรรม
ทำไมมีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา
(ก็ต้อง)อาศัย ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขานั่นแหละ
มันจึงสิ้นโลกได้ จึงวางรูปวางนามได้
เข้าถึงธรรมะแท้ๆ ถึงพระนิพพาน

ครูบาอาจารย์สอน สำนวนโวหารไม่เหมือนกัน
หลวงปู่เทสก์ “นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรดับไป” สอน “สิ้นโลกเหลือธรรม”
หลวงปู่ดูลย์สอน “พบผู้รู้ ทำลายผู้รู้ พบจิตทำลายจิต
จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
เหมือนคนละเรื่องเลย ที่แท้พูดเรื่องเดียวกัน
สำนวนนี่ไม่เหมือนกันเลย (เรา)ต้องฝึกเอา ค่อยคลำไป
ดูซิ สิ้นโลกแล้วจะเหลือธรรมจริงไหม หรือสิ้นโลกนี้ ก็ไปเจอโลกหน้า

ถามจริงๆ เถอะ พวกเราน่ะใครอยากนิพพานบ้าง ยกมือซิ
ใครอยากเกิดอีก ยกมือซิ คนเดิมหรือเปล่า
อยากนิพพานจริงหรือ
ศีลดีแล้วหรือยัง เวลาจะทำผิดศีล ละอายใจไหม
พวกเราใครจะทำผิดศีลแล้วละอายใจ ยกมือหน่อยซิ
วันๆ หนึ่งใครจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวบ้าง หรือว่าหลงเยอะ
หลงกับรู้อันไหนเยอะกว่ากัน
ใครแยกรูปแยกนามได้เนืองๆ เลย
รู้สึกตัวขึ้นมาก็เห็นรูปนามแยกเลย ยกมือซิ มีไหม
ใครเห็นรูปนามแสดงไตรลักษณ์ได้
แยกออกมาแล้วเป็นส่วนๆ เห็นเลย
แต่ละส่วนมันทำงานได้เอง แต่ละส่วนไม่เที่ยง ไหนยกมือซิ

(สมัยฆราวาส) หลวงพ่อเคยถามครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่อกิม
(ถาม)หลวงพ่อครับ ถ้าเราลงมือปฏิบัติถูกแล้วนะ
ใช้เวลามากไหม กว่าจะถึงนิพพาน
(หลวงพ่อกิมตอบ) ”โอย ไม่มากหรอก ปราโมทย์ ไม่เกิน ๗ ชาติ”
เราฟัง หา ๗ ชาติ เชียวหรือ เราก็ว่าเยอะแล้วนะ ท่านบอกไม่เยอะ
ท่านระลึกไปยาวนานมาก ท่านบอก เกิดมาเยอะแล้ว
ถามท่าน แล้วทำไมหลวงพ่ออยากนิพพานล่ะ
ท่านบอก ท่านเห็นทุกข์
(ถามท่าน)ทุกข์อะไรนักหนาหลวงพ่อ
โอ้ เราเคยเกิดเป็นวัวนะ
ท่านเล่า ท่านเคยเกิดเป็นวัว
ทีนี้ เจ้าของเอาไปผูกไว้ให้กินหญ้า
แล้วเขาก็ไปธุระ แถวนั้นมันมีแต่หญ้าแห้งๆ นะ
ปรากฎว่าท่านหิวน้ำ แดดมันเผาทั้งวัน กระหายน้ำมากเลย
พอกระหายน้ำมากๆ เห็นคนเดินมาใกล้ๆ ก็ดีใจ
กระโดดไป กระโดดมา อยากให้เขาเอาน้ำให้กิน
เขาก็บอก นี่ วัวนี้จะบ้าแล้ว ไม่กล้าเข้าใกล้
ถูกผูกเอาไว้ อดน้ำอยู่อย่างนี้ จนเย็นเลย
เจ้าของจึงมาพากลับบ้านไปกินน้ำ
ท่านบอก เห็นทุกข์เหลือเกิน มันไม่อยากเกิดอีกแล้ว
นี่ ท่านเล่าให้ฟัง ท่านเห็นทุกข์นะ ท่านไม่ยอมเกิดอีกแล้ว

หลวงพ่อก็ไม่อยากเกิด
ที่ไม่อยากเกิดเพราะภาวนานะ เห็นว่าจิตนี้มันถูกขังอยู่
ใครเห็นจิตมีเปลือกหุ้มบ้าง ยกมือซิ มีไหม
มีหลายคนนะ รู้สึกไหมเปลือกนี้เหนียว เหนียวแล้วก็หนา
เหนียวหนาตรงกับคำว่า “ปุถุชน”
(จิต)มันถูกห่อหุ้มอยู่ อะไรห่อหุ้มอยู่ อาสวกิเลส ห่อหุ้มอยู่
เราถูกขังอยู่ เราติดคุกอยู่ เรื่องอะไรเราต้องติดคุกตลอดกาล
ใจมันคอยคิดอย่างนี้ มันคิดจะสู้
มันไม่ยอมติดคุกตลอดกาล ต้องแหวกวงล้อมออกไปให้ได้
ถ้าติดคุกอยู่จะสุขหรือจะทุกข์ล่ะ
ถ้าเกิดมาก็เกิดในคุก เกิดเป็นจิ้งจกอยู่ในคุกนี่
คงไม่รู้สึกเดือดร้อนเรื่องติดคุก
ใครเคยเป็นจิ้งจกอยู่ในคุกบ้างมีไหม หรือเป็นตุ๊กแก
มันจมอยู่อย่างนั้น มันไม่รู้เรื่องเลย ทุกข์อยู่ก็ไม่รู้
ทีนี้ เรามีสติมีปัญญา เรารู้เลย จิตถูกกิเลสห่อหุ้มอยู่
(ถูก)อาสวะห่อหุ้มไว้ มันทนไม่ได้ ต้องแหกคุกให้ได้
ฉะนั้น ภาวนาไม่เลิกสักวันเลย ต้องสู้

พวกเราวันหนึ่งอาจจะเห็นทุกข์ของตัวเองนะ
รู้ว่าตัวเองทุกข์อยู่ ใจมันจะหนีออกไป หาทางต่อสู้ขึ้นมา
รู้สึกบ้างหรือยังว่าชีวิตนี้ทุกข์จริงๆ
มันทุกข์อย่างไร ตอบได้ไหม
แฟนทิ้ง หรือตกงาน อะไรอย่างนี้นะ ทุกข์อย่างนี้ ทุกข์เด็กๆ

ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ เรื่องเห็นทุกข์
ถ้าเห็นทุกข์ก็จะเห็นธรรม แล้วใจมันจะไม่จมอยู่กับที่

พวกที่เห็นทุกข์ ขยันภาวนาไหม
หรือบางวันขยัน บางวันขี้เกียจ มีไหม
(ถ้ามี) อย่างนั้นสรุปได้เลยว่าไม่เห็นนะ
มีวิธีวัดง่ายๆ นะ (ถ้า)วันนี้ทำ วันนี้ไม่ทำ แล้วบอกเห็นทุกข์
ไม่จริงหรอก เห็นส่งเดชไปอย่างนั้นเอง
ถ้าเห็นทุกข์แล้วมันทนอยู่ไม่ได้นะ
มันเหมือนเห็นไฟไหม้บ้านแล้ว อย่างไรก็ต้องหนีออกมา
ประเภทไฟไหม้แล้ว นอนอีกหน่อย ไม่มีจริง
เพราะฉะนั้น เราอย่าหลอกตัวเองนะ

หัดภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นทุกข์
ดูความจริงของกาย ดูความจริงของใจให้มาก แล้วมันจะเห็นทุกข์
เห็นทุกข์แล้วเราจะรู้เลย อยู่ไม่ได้แล้ว จะต้องไปให้พ้น
บางท่านก็ความกรุณาสูง พ้นเฉพาะตัวก็ไม่ได้ อย่างพระโพธิสัตว์
อยากพาคนอื่นให้พ้นไปด้วย ถ้าเราเป็นแค่สาวก ก็แค่เอาตัวรอด
ช่วยคนอื่นได้นิดหน่อยเท่าที่ช่วยได้ ใจมันจะเป็นแบบนั้น
แต่ถ้าอย่างพระพุทธเจ้า ท่านเมตตากรุณาสูง
ท่านอยากช่วยสัตว์ให้มากที่สุดเลย

ถ้าพวกเราอยู่มานาน แก่อย่างหลวงพ่อนะ
จะเห็นเรื่องความตายนี่เรื่องปกติ
มีท่านหนึ่งตายไปแล้วหลวงพ่อหวั่นไหวมากที่สุดเลย คือ หลวงปู่ดูลย์
ได้ยินว่าท่านมรณภาพ ใจเนี่ย สะเทือนรุนแรง หวั่นไหว
มีความรู้สึกว่าเป็นลูกกำพร้าแล้ว
ต่อไปนี้ไม่มีพ่อแม่มาดูแลเราแล้ว เราต้องพึ่งตัวเอง หวั่นไหวมาก
ตอนพ่อแท้ๆ ตายนะ ไม่หวั่นไหว
หลวงปู่ดูลย์มรณภาพนะ หวั่นไหวมาก
เพราะครูบาอาจารย์ที่สอนธรรมะเรา เป็นพ่อเป็นแม่ในวัฏฏะของเรา
พอรู้สึกขาดท่าน มันว้าเหว่ แต่ว้าเหว่แล้วกลับรู้สึกแปลกไปอีก
(คือ)ตอนท่านมีชีวิตอยู่นะ เราภาวนา
บางวันยังขี้เกียจ แต่ขี้เกียจก็ทำนะ
บางวันยังอ้อยส้อยอ้อยอิ่ง ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เล่น
มีเหมือนกันเถลไถลเหมือนกัน แต่ไม่นาน
ตั้งแต่ได้ยินว่าท่านสิ้นนี่ ไม่กล้าเลย
ถ้าจะเถลไถลนิดหนึ่งนะ เหมือนท่านตาเขียวใส่อยู่เลย
นี่ พอครูบาอาจารย์สิ้นไป เหมือนท่านเฝ้าเราทั้งวันเลย
ไม่กล้าเถลไถล เลยขยันภาวนา

 

พระธรรมเทศนาหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม
แผ่นที่ ๖๗ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ (591015.mp3)