ประทีปส่องธรรม

หนังสือประทีปส่องธรรม ปัจจุบันนี้ไม่มีการพิมพ์ต่อแล้ว

ญาติธรรมสามารถขอรับหนังสือธรรมะเพื่อศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับฟรีได้จากวัดสวนสันติธรรมในวันแสดงธรรม ; จุดแจกสื่อธรรมใกล้บ้าน ; หรือติดต่อมูลนิธิสื่อธรรมหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช โดยตรง ที่ Facebook page มูลนิธิสื่อธรรมหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช , email: media @ lptf.org หรือโทร. 02-0126999 ในเวลาทำการ

เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านแม้จะอ่านหน้งสือวิมุตติปฏิปทาและวิถีแห่งความรู้แจ้งแล้ว ก็ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นการปฏิบัติได้อย่างไร จึงต้องการให้อธิบายถึงวิธีการปฏิบัติให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกตัวและการดูจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังบ่อยนัก  และบางท่านต้องการทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมภาคปฏิบัติไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่าน่าสนใจ เพราะนักปฏิบัติไม่ควรทิ้งพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นแผ่นที่ที่มั่นใจได้ และเป็นทั้งเครื่องสอบทานผลการปฏิบัติที่ดีอย่างหนึ่งด้วย

นี้คือที่มาของหนังสือเล่มนึ้ ซึ่งประกอบด้วยบทความ ๑๒ เรื่อง ได้แก่

(๑) บทความ ๖ เรื่องแรกเขียนขึ้นเพื่อเพื่อนนักปฏิบัติที่ไม่สนใจพระปริยัติธรรม เรื่องที่ขอเสนอให้สนใจมากสักหน่อยได้แก่เรื่อง “ประทีปส่องธรรม” และเรื่อง “การตามรู้จิต : วิธีการปฏิบัติธรรมที่เรียบง่ายและลัดสั้น”

(๒) บทความ ๕ เรื่องถัดไปเขียนขึ้นเพื่อเพื่อนนักปฏิบัติที่สนใจจะศึกษาพระปริยัติธรรมในระดับที่พอเป็นแนวทางในการปฏิบัติ (แต่ถ้าต้องการศึกษาพระปริยัติธรรมให้ลึกซึ้ง ก็คงต้องขวนขวายเข้ารับการศึกษาอย่างเป็นระบบต่อไป) ทั้งนี้ผู้เขียนต้องขอเรียนไว้ก่อนว่า ผู้เขียนมีความรู้ในด้านพระปริยัติธรรมน้อย ข้อเขียนจึงอาจจะมีข้อบกพร่องในประเด็นปลีกย่อยอยู่บ้าง จึงต้องขออภัยในความเขลาไว้ล่วงหน้า แต่ที่ฝืนใจเขียนขึ้นมาก็เพราะเห็นว่า นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่สนใจจะศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนนักปริยัติธรรมก็มักไม่เข้าใจจุดที่นักปฏิบัติที่ต้องการทราบ จึงไม่ทราบว่าจะไปกราบไหว้วิงวอนให้นักปฏิบัติหรือนักปริยัติท่านใดช่วยเขียนเรื่องเหล่านี้มาให้เพื่อนๆ อ่านกันได้ จำเป็นจำใจต้องเขียนขึ้นเสียเอง และ

(๓) เรื่องสุดท้ายเป็นบันทึกการตอบปัญหาธรรมะ

บทความแทบทุกเรื่องมุ่งเน้นไปที่จุดเดียวกัน คือการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนานั้น ต้องทำด้วยการมีความรู้สึกตัว แล้วตามรู้กายและ/หรือตามรู้ใจอยู่เนืองๆ โดยต้องรู้ให้ถูกตรงตามวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในหลัก “กิจในอริยสัจจ์” ด้วย ฉะนั้นท่านผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทความเพียงบางเรื่องที่เห็นว่าเข้าใจง่ายสำหรับตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด เพราะอาจจะมีแง่มุมหลากหลายเกินความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติของบุคคลคนหนึ่ง

และเช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ผู้เขียนได้เขียนมาแล้ว คือหากท่านใดอ่านแล้วเกิดความสนใจใคร่ปฏิบัติ ขอได้โปรดแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมในภาคปฏิบัติต่อไป ส่วนตัวผู้เขียนเองด้อยความรู้ความสามารถ คงทำหน้าที่ได้เพียงการเป็นผู้กระตุ้น ชักชวน ให้กำลังใจ ให้เพื่อนชาวพุทธสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้นเท่านั้น

ขอแสงสว่างแห่งธรรมจงสว่างไสวในจิตใจของเพื่อนชาวพุทธโดยทั่วกันเถิด

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
๑ มกราคม ๒๕๔๗