ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ถ้าเราฝึก นอกจากเราจะรู้ทันว่าตอนนี้มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วแล้ว เรายังได้เห็นพฤติกรรมของจิตด้วย จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ใช้ได้จะเห็นพฤติกรรมของจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ใช้ได้ เราดูจิต เราจะดูกันอย่างนี้

ปฏิบัติบูชา

การปฏิบัติบูชานั้น ไม่ใช่อยู่ที่กิริยาอาการภายนอก ที่สำคัญคือใจเราเคารพรักบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม พระอริยสงฆ์จริงแค่ไหน รูปแบบภายนอกใครๆ ก็เดินได้ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินๆ ไป ก็บอกว่าเวียนเทียน แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้เวียนเทียนโดยใช้แค่ดอกไม้ธูปเทียน อันนั้นมันเป็นอามิสบูชา มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่สำคัญ

การปฏิบัติบูชาก็คือ พยายามฝึกจิตของเราให้ดี จิตเราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ แต่ไม่ว่าเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ในความเป็นจริงแล้ว พระรัตนตรัยก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ใจของเราผูกพันอยู่กับพระ ทุกก้าวที่เดิน ก็เดินด้วยจิตใจที่ระลึกถึงพระเอาไว้ นั่นล่ะเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่กราบไหว้วัตถุ อย่างพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นแค่สัญลักษณ์ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือองค์ธรรม ธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นเวลาเราเวียนเทียน ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้เดินตามใจกิเลส ก็เรียกว่าเราเดินไป ก็ขัดเกลาตัวเองให้สะอาด ให้หมดจดมากขึ้นๆ ไม่ได้เดินเอาเฮง ไม่ได้เดินเอาสวยอะไร เดินระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป ใจเราจะค่อยๆ สะอาด

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ ในพระสูตรพูดไม่กี่ประโยคว่า มีสิ่ง 2 สิ่ง มีธรรม 2 อย่าง ที่บรรพชิตคือผู้ปฏิบัติไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อัตตกิลมถานุโยค ท่านพูดสั้นๆ พอเราเข้าสู่ทางสายกลางได้แล้ว ทำอย่างไร ท่านก็ให้เรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เวลาจะปฏิบัติ ท่านสอนสัมมาทิฏฐิ อันนี้สัมมาทิฏฐิภาคปริยัติ เสร็จแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ดูแลความคิดของเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ คอยรู้ไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็จะดี

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต

สิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตเรา การปฏิบัติจะเหลือนิดเดียวเลย แต่ถ้าเรายังเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราก็อ้อมๆ ไปก่อน ไปดูกาย ดูเวทนา ดูสังขารอะไรไป แต่ถ้าตัดตรงเข้ามาเห็นจิตได้ เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ อย่างนี้ดูจิตไปเลย วันไหนดูไม่ไหว จิตไม่มีกำลัง ไปดูกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเข้ามาดูจิตได้เอง นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา แล้วหลวงพ่อก็เอามาทำ ใช้เวลาไม่มาก

เดินให้ถูกทาง

ถ้าเราปฏิบัติถูกทาง อยู่ในทางสายกลาง แล้วเราก็ไม่ไปมีอุปสรรคกลางทาง วันหนึ่งเราก็ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ขวางเรา ไม่ให้ไปพระนิพพาน ไม่ใช่ใครอื่น คือใจที่อ่อนแอของเราเอง ถ้าเราไม่รู้ทาง เราไปไม่ได้ ถ้ารู้ทางแล้วอ่อนแอก็ไม่ยอมไป ใช้ไม่ได้

หลวงปู่ดูลย์สอนให้หลวงพ่อรู้จักเดินทางสายกลาง ไม่เผลอลืมจิตใจของตนเอง ไม่ไปเพ่งจ้องบังคับจิตใจของตัวเอง ไม่สุดโต่ง 2 ข้าง ถัดจากนั้นหลวงพ่อดูทุกวัน ไม่เคยเลิกเลย การภาวนาไม่หยุดเลย อยู่ตรงไหนก็ปฏิบัติได้ ถึงเวลาสมควรทำสมถะก็ทำ ถึงเวลาที่จิตมีกำลังพอจะเดินปัญญา ก็เดินปัญญา ไม่เกยตื้น สำรวจตัวเองอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นเราก็สำรวจตัวเอง เดินให้ถูกทางก่อน หลวงพ่อพูดง่ายๆ ทางสายกลาง ไม่เผลอ ไม่เพ่ง 2 ตัวนี้ เผลออยู่ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค เพ่งอยู่คืออัตตกิลมถานุโยค ไม่เผลอ ไม่เพ่ง คือภาวะแห่งการรู้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น นี่เราเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว แล้วอย่าไปติดไปค้างอะไรอยู่กลางทาง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติไป ถึงวันหนึ่งเราก็จะถึงพระนิพพาน

การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิตมี 2 สเต็ป ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

การที่หลวงพ่อบอกให้มีสติ คือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

Page 1 of 2
1 2