ทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์

สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ อกุศลเกิดขึ้นรู้ทัน อกุศลก็ดับไป ในขณะที่มีสติอยู่ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำสัมมาสติได้บริบูรณ์ ต้องทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วอกุศลที่มีอยู่จะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็จะงอกงามพัฒนาขึ้นไป จนถึงกุศลสูงสุด สิ่งที่เรียกว่ากุศลขั้นสูงสุด คือปัญญา ในบรรดากุศลทั้งหลาย ปัญญาเป็นกุศลสูงสุด พอมีปัญญา เมื่อกี้บอกแล้ว เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ หลุดพ้น

บางคนไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ยังไม่สามารถทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ได้ อย่างไปนั่งสมาธิ ทำความสงบไป จมอยู่กับกิเลส เผลอเพลิน มีความสุข อันนั้นไม่มีสัมมาวายามะ กิเลสไม่เร่าร้อน เลยไม่ได้แผดเผากิเลส ไม่มีอาตาปี ไม่ได้แผดเผากิเลส แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องดูกาย ดูเวทนาไปก่อน พอทำมากๆ เข้า ชำนิชำนาญขึ้น สติดีขึ้น มันก็เริ่มสังเกตจิตใจออก ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้

จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

เราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย

รู้สภาวะที่เรารู้ได้

พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

Page 3 of 6
1 2 3 4 5 6