ภาวนาในรูปแบบโดยรู้ท้องพองท้องยุบ กำหนดรู้ท้องพองยุบ รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก จึงเปลี่ยนรู้ลมหายใจ แต่ลมหายใจเบาจนแทบรู้สึกไม่ได้

คำถาม:

ภาวนาในรูปแบบโดยรู้ท้องพองท้องยุบ ในชีวิตประจำวันรู้ลมหายใจเข้าออก นั่งสมาธิกำหนดรู้ท้องพองยุบ พอท้องพองยุบเบาลง ท้องจะยุบๆๆ จนรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก ไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ ตอนหลังจึงเปลี่ยนรู้ลมหายใจ หลังจากท้องพองยุบเบาลงมาก แต่ลมหายใจเบาจนแทบรู้สึกไม่ได้ ไม่ทราบปฏิบัติผิดหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ:

ไม่ผิดหรอก ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ ถ้าต้องการให้สงบ เราก็ดูท้องเราหรือดูลมหายใจ แต่ถ้าต้องการให้จิตตั้งมั่น ก็รู้ทันจิตตนเองว่าตอนนี้จิตไปอยู่ที่ท้องแล้ว ตอนนี้จิตไปอยู่ที่ลมหายใจแล้ว สมาธิเลยมี 2 แบบ สมาธิอย่างที่หนึ่ง จิตเข้าไปนอนพักในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข อย่างไปอยู่กับท้องแล้วสบายใจ อยู่กับลมแล้วสบายใจ นี่เป็นสมาธิเอาไว้พักผ่อน สมาธิอีกชนิดหนึ่ง เป็นสมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่น

บางคนไปบอกว่าสมาธิคือจิตตั้งมั่น ไม่ถูก ชอบไปบอกว่าหลวงพ่อสอนว่า สมาธิคือจิตตั้งมั่น สมาธิมันก็เป็นเจตสิก องค์ธรรมมันคนละตัวกับจิต มันคนละเรื่องกันเลย แต่ว่าจิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่มีสัมมาสมาธิ ต้องแทรกตัวนี้นิดหนึ่ง ชอบโควทที่หลวงพ่อพูดแล้วเอาไปมั่วๆ โควทผิด

ของเราถ้าอยากให้จิตตั้งมั่น ตอนนี้รู้ทันจิต เห็นไหมจิตมันส่ายไปส่ายมา ให้รู้ตัวนี้แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา รู้สึกไหมจิตตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกันแล้ว นี่คือสภาวะที่จิตตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพอจิตตั้งมั่นแล้วลองดูร่างกายสิ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา รู้สึกไหมร่างกายไม่ใช่เราหรอก แต่ถ้าจิตสงบไปดูร่างกาย มันก็เราอีกล่ะ

ฉะนั้นจิตที่สงบอยู่เฉยๆ กับจิตที่ตั้งมั่นไม่เหมือนกัน แล้วสมาธิในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่คือจิตตั้งมั่นด้วย คือความตั้งมั่นของจิต ตรงนี้จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตไหลไปแล้วดูออกไหม ถ้าดูออกก็ภาวนาได้ล่ะ ไปทำเอา ในที่สุดจิตจะตั้งมั่น แล้วคราวนี้ สติระลึกอะไรลงไป มันจะเห็นเลยว่าไม่ใช่เราหรอก

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 16 กุมภาพันธ์ 2568