มีต้นทุนแล้ว ต้องต่อยอดด้วยความพากเพียร

ถ้าเรามีต้นทุนเดิมดีส่งผลมาได้เจอครูบาอาจารย์ เจอครูบาอาจารย์แล้วตั้งใจฟังธรรมเพื่อการปฏิบัติ แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเราคุ้ม พอรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ถึงตัวสุดท้ายเลย ทำความเพียรให้เต็มที่ ไม่ใช่นานๆ ทำที อย่างพวกเรามาเรียนกับหลวงพ่อ บางคนตั้งเป็น 10 ปี 20 ปี มันไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ทำบุญทำทาน ก็มีไม่ใช่ไม่มี ปฏิบัติธรรมให้เต็มที่เป็นอย่างไร ถ้าคิดแต่ว่าวันหนึ่งเราจะแบ่งเวลาไว้ปฏิบัติสักหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน บางคนขอ 15 นาทีก่อนนอน แล้วทั้งวันหลงทั้งวัน ทั้งวันหลงทั้งวันแล้วก็กะไปทำกรรมฐานก่อนนอนนิดๆ หน่อยๆ ก็สะสมกิเลสมาตั้ง 10 กว่าชั่วโมง ไปทำกุศลจะล้างกิเลส ทำครึ่งชั่วโมง ทำชั่วโมงหนึ่ง ไม่ได้กินหรอก มันเหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่ว ตักลงไปแล้วก็รั่วไปหมด ไม่ได้กินหรอก

ถ้าทำให้มันเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตื่นขึ้นมาก็ด้วยความรู้สึกตัว จะพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่งก็รู้สึกตัว จะไปกินข้าว จะไปอาบน้ำก็รู้สึกตัว นั่งรถไปทำงานก็รู้สึกตัว ถึงที่ทำงานแล้ว ตอนนี้ยังซดกาแฟอยู่ ยังขยับเปิดคอมพิวเตอร์อยู่อะไรแบบนี่ รู้สึกตัวไป ถึงตอนทำงานที่ต้องคิด ค่อยจดจ่ออยู่กับงาน
 
พระธรรมเทศนาหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ณ วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2563

 

หลวงพ่องดไลฟ์สดไป 5 สัปดาห์เป็นโรคเรียกอัมพฤกษ์ ก่อนที่จะปิดวัดไปหลวงพ่อก็บอกพวกเราแล้ว กรรมฐานมีโอกาสทำต้องรีบทำช้าไม่ได้ เพราะมารมันจะผจญ มารที่ผจญก็ที่เห็นๆ เลยก็คือตัวขันธมาร ไม่ได้เบียดเบียนพวกเราตรงๆ มาเบียดเบียนทางหลวงพ่อแทน ครูบาอาจารย์เจ็บป่วยแล้วเราจะไปเรียนที่ไหน

ทุกวันนี้การเรียนกรรมฐานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันไม่เหมือนเมื่อ 30-40 ปีก่อน 30-40 ปีก่อน ครูบาอาจารย์เยอะแยะไปหมดเลย อย่างเราไปภาคอิสาน ตรงนี้ก็มีวัดครูบาอาจารย์ นั่งรถไปอีกไม่ไกลก็มีอีกแล้ว เรียงกันเป็นแถวเลยตามถนนต่างๆ แต่ละเส้นทาง ทางอิสานใต้มีตั้งแต่โคราชหลวงพ่อพุธ ไปทางบุรีรัมย์ สุรินทร์ บุรีรีมย์ก็มีหลวงปู่สุวัจน์อยู่ สุรินทร์มีหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่สาม ศรีสะเกษมีหลวงปู่หลวง ถึงอุบลมีหลวงพ่อชาอยู่ ทางอิสานขึ้นไปขอนแก่นแล้วจะเลี้ยวไปทางซ้ายก็มีหลวงปู่ผาง แล้วก็เส้นทางจากอุดรไปหนองบัวลำภูครูบาอาจารย์อยู่กันเยอะแยะเลย จากอุดรผ่านไปสกลไปนครพนม ครูบาอาจารย์ก็เยอะแยะ จากอุดรขึ้นไปหนองคายไปเมืองเลยก็มีครูบาอาจารย์อยู่เยอะแยะเลย

สมัยโน้นหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ทีแรกก็เข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ พอเรียนกับหลวงปู่ดูลย์รู้เรื่อง หลวงพ่อก็ดู ออกไปดูครูบาอาจารย์อื่นๆ หาประสบการณ์ อันนั้นเรามั่นใจแล้ว เราไม่หลงทางแล้ว ไปครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ ท่านก็สอนเหมือนๆ กัน บางองค์ก็สอนเรื่องพุทโธ พุทโธ แต่พุทโธไม่ใช่พุทโธให้ใจสงบเฉยๆ อันนั้นตื้นเกินไป ท่านสอนพุทโธให้เรารู้จิตตนเอง สิ่งที่เรียกว่าพุทโธก็คือจิตของพวกเรานี่เอง

บางองค์ท่านสอนตรงไปตรงมา บอกพุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ พุทโธคือสิ่งที่ใจเราไปรู้เข้า พุทโธแล้วเราก็รู้ทันใจเราเอง ตรงนี้ใช้ทำกับกรรมฐานอื่นก็ได้ทั้งหมด อย่างเราดูกาย กายเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ ผู้ดู ดูทำอานาปานสติเห็นร่างกายหายใจ จิตเป็นคนดู ถ้าทำอิริยาบถ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนดู ทำสัมปชัญญะ ร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู อย่างนี้ขยับอย่างนี้ มันไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ อิริยาบถยังนั่งอยู่ ร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู นี้เรียกว่าเจริญสติปัฏฐานในสัมปชัญญะบรรพ หรือดูเวทนา ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในจิต ในความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย จิตเป็นคนดู ดูจิตดูใจ จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล จิตไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล จิตเป็นคนดู นี่จิตดูจิต

 

ครูบาอาจารย์ท่านมุ่งมาที่จิต

เข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ท่านก็มุ่งมาที่จิตทั้งนั้นเลย แต่ละองค์ท่านก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นที่หลวงพ่อไปเรียนด้วยส่วนใหญ่ นอกสายหลวงปู่มั่นหลวงพ่อก็ไป อย่างหลวงปู่ครูบาพรหมจักร ท่านก็สอนพุทโธเหมือนกัน ฉะนั้นท่านที่ภาวนาดี ภาวนาถูก ธรรมะลงที่เดียวกัน ลงมาที่ใจนี่เอง

อีกองค์อย่างหลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านไม่ได้สอนตัวพุทโธตรงๆ ท่านก็สอนเข้ามาที่จิตที่ใจเหมือนกัน ท่านสอนบอก “คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” นี่ก็เรื่องของจิตของใจ

จิตดีก็คือคิดเป็นกุศล จิตใจก็ร่มเย็นมีความสุข คิดไม่เป็นจะนิพพาน คิดไม่เป็นไม่ใช่เพราะคิดไม่รู้เรื่อง คิดไม่เป็นหมายถึงว่าคิดแล้วมันไม่เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ก็นิพพาน ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ บางทีสำนวนโวหารที่ท่านสอนแตกต่างกัน แต่ใจความเนื้อหาสาระก็ตัดตรงเข้ามาที่จิตเหมือนๆ กันหมด ส่วนใหญ่ท่านก็เป็นลูกศิษย์ทางหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นบอก ได้ใจก็ได้ธรรม ไม่ได้ใจก็ไม่ได้ธรรม จิตกับใจก็อันเดียวกัน แต่ทำงานคนละแง่ คนละมุม อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอน “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” ก็เรื่องจิตทั้งนั้น เวลาทำกรรมฐานเบื้องต้นท่านก็สอน อย่าส่งจิตออกนอก

อย่าส่งจิตออกนอกก็คือ มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดู นั่นคือตัวจิตผู้รู้ มันมีจิตผู้รู้แล้วก็เจริญปัญญา จงทำญาณเห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป มีญาณ มีปัญญา เห็นจิตใจเราทำงานไป เหมือนลูกตาเราไปเห็นรูป ตาเราไปบังคับรูปไม่ได้ รูปเป็นยังไงตาก็เห็นอย่างนั้น จิตนี่ก็เหมือนกัน มันทำงานไปเราบังคับมันไม่ได้ อย่าไปบังคับมัน แล้วมันเป็นยังไงเราก็เห็นไปอย่างนั้น ครูบาอาจารย์สอนนั้นเป็นเรื่องของจิต เรื่องของใจทั้งนั้นเลย

ยุคแรกๆ ที่หลวงพ่อสอนให้ดูจิตๆ นั้นบางทีคนหัวเราะว่าทำไมไม่ดูกายก่อน การดูจิตดูใจนั้นทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้องการ การดูจิตเบื้องต้นได้สมถะ ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไรก็ทิ้งจิตไม่ได้ จะพุทโธ หรือจะดูกาย ก็ทิ้งจิตไม่ได้ มีจิตเป็นคนดู นี้ถ้าจับหลักไม่ได้ บางทีก็ไปพุทโธๆ ไป ก็น้อมใจให้เซื่องซึม ให้นิ่งๆ อะไรแบบนี้ มันไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ ไม่ได้จิต

สิ่งที่หลวงพ่อสอนก็ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเอง หลวงพ่อก็เรียนมาจากครูบาอาจารย์นั่นเอง แต่เรียนแล้วมันเข้าถึงแก่น คือเข้าถึงจิตถึงใจได้ อย่างหลวงปู่เทสก์ท่านสอนเลยว่า “การภาวนา ถ้าไม่เข้าถึงจิตถึงใจ ไม่ได้แก่นสารสาระของการปฏิบัติ” ฉะนั้นที่หลวงพ่อไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ท่านตัดเข้ามาที่จิตเลย แต่ไม่ใช่ท่านสอนทุกคนเข้ามาที่จิต บางคนท่านก็สอนให้พุทโธ บางคนบางองค์ท่านก็สอนให้พิจารณาผม บางองค์ท่านสอนพิจารณากระดูก แต่ละคนท่านสอนไม่เหมือนกัน ถ้าให้พุทโธ ให้พิจารณาผม ให้พิจารณากระดูกอะไรนี่ สิ่งที่ได้คือสมาธิที่ถูกต้อง ได้สมถะ

 

ดูจิต

แล้วท่านสอนหลวงพ่อให้ดูจิต ตรงนี้มันมีทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา การดูจิตถ้าเราไปดูอารมณ์ที่เกิดร่วมกับจิต อย่างเราไปดูความว่าง เวลาเราดูจิตนะ ดูไปมันจะว่างๆ ดูไปในช่องว่างนี่เป็นอรูปฌานอย่างอากาสานัญญายตนะ ถ้าไม่ดูอารมณ์คือความว่าง ย้อนมาดูตัวจิต จะเป็นอรูปฌานที่ 2 ชื่อวิญญานัญจายตนะ ถ้าดูต่อไปก็จะเห็นการดูจิต หรือดูความว่างที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้เป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะดูอารมณ์ หรือดูจิตก็ยังเป็นภาระ ก็เลยไม่ดูอะไรเลย ไม่กำหนดลงไปที่ทั้งอารมณ์ ทั้งจิต อันนั้นเป็นอรูปฌานที่ 3 ชื่ออากิจจัญญายตนะ นี้เป็นเรื่องของจิต จิตทรงอยู่ในอากิจจัญญายตนะ นานๆ ไปสัญญามันจะอ่อนลง การหมายรู้จะอ่อนลงๆๆ ในที่สุดเหมือนว่าไม่มีสัญญา มีสัญญาแต่เหมือนไม่มีสัญญา อันนั้นเรียกว่า เนวสัญญาญาสัญญายตนะ เป็นอรูปที่ 4 ฉะนั้นดูจิตดูใจไม่ใช่เป็นวิปัสสนาตลอด ที่ไปดูจิตๆ ส่วนใหญ่ไปพลาดเข้าอรูปไป กลายเป็นสมถะ

นี้ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อท่านไม่ได้มุ่งมาตรงนี้ แต่หลวงพ่อทำทีแรก 3 เดือนแรกทำผิด มันไหลไปเข้าช่องนี้ ไหลไปช่องอยู่ความว่างรู้สึกอยู่เฉยๆ ว่างๆ ไปส่งการบ้านท่าน ท่านบอกทำผิดแล้ว อันนี้เป็นการแทรกแซงอาการของจิต จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เหลือแต่รู้อยู่เฉยๆ อันนั้นเป็นสมถะ ท่านไม่ได้สอนละเอียดอย่างนี้ ท่านพูดคำเดียว ผิดแล้วไปทำใหม่ ดูใหม่ ให้ไปดู ไม่ใช่ให้ไปทำ ตรงที่ไปดูจิตก็จะเห็นเลย จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง นี่เห็นจิตมันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็หลงไปดู เดี๋ยวก็หลงไปฟัง เดี๋ยวก็หลงไปดมกลิ่น เดี๋ยวก็หลงไปลิ้มรส เดี๋ยวก็หลงไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็หลงไปคิดนึกทางใจ นี่หลง บางทีก็หลงไปเพ่ง

หลงทางใจมี 2 อันใหญ่ๆ หลงไปในโลกของความคิด กับหลงไปเข้าไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน นิ่งๆ อยู่ พอเฝ้ารู้เฝ้าดูไปก็จะเริ่มเห็นแล้ว สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ดีก็ไม่เที่ยง โลภ โกรธ หลง ก็ไม่เที่ยง จิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตไปดูก็ไม่เที่ยง จิตที่ทำหน้าที่ฟังก็ไม่เที่ยง จิตที่ทำหน้าที่รู้กลิ่นก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้รสก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตที่ทำงานทางใจ จิตนึกไป หรือไปเพ่งก็ไม่เที่ยง นี่เฝ้ารู้เฝ้าดูจิตก็จะเห็นเลยว่า ทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้าล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับสลายไป แล้วจะเห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเราบังคับไม่ได้ จิตจะสุขก็สั่งไม่ได้ จิตจะทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ จิตจะดีก็ทำขึ้นมาไม่ได้ ทำขึ้นมาแล้วรักษา มีขึ้นมาแล้วรักษาไว้ก็ไม่ได้ นี้จิตจะชั่ว ไม่ได้เจตนาจะชั่ว มันก็ชั่วได้เอง โลภ โกรธ หลงได้เอง มันชั่วแล้วนะจะสั่งให้มันหายไป มันก็ไม่หาย มันไม่หาย มันเป็นอนัตตา

ฉะนั้นเวลาดูจิตดูใจ ดูนามธรรมนี่ ตัวที่เด่นชัดคือตัวอนิจจัง อนัตตา ฉะนั้นเวลาในพระสูตรจะมี ตัดเอามีการตัดพระสูตรเอามาเป็นบทสวดมนต์ที่บททำวัตรเช้า นั่นจะขึ้น รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา สัญญาอนิจจา สังขาราอนิจจา วิญญานังอนิจจัง แล้วก็โดดขึ้นไปรูปังอนัตตาเลย ไม่มีรูปังทุกขัง ไม่มีเวทนาทุกขัง จากอนิจจังท่านโดดขึ้นอนัตตาเลย เพราะการดูขันธ์ 5 เหมาะกับพวกที่ดูจิตใจ เหมาะกับพวกที่ถนัดที่จะดูนามธรรม

ในขันธ์ 5 นี่มีรูปธรรมแค่ 1 คือตัวรูป อีก 4 ตัวคือนามธรรมล้วนๆ เลย ฉะนั้นเวลาท่านสอนคนซึ่งเหมาะจะดูนามธรรม ท่านสอนขันธ์ 5 ถ้าท่านสอนพวกที่ควรจะดูรูปธรรม อย่างท่านสอนชฏิล 3 พี่น้องกับบริวารอีกหนึ่งพัน ท่านสอนเข้ามาที่ตัวอายตนะ 6 รูปเป็นของร้อน ตาเป็นของร้อน หูเป็นของร้อน จมูก ลิ้น กายเป็นของร้อน นี่เป็นตัวรูปทั้งนั้นเลย มีนามธรรมตัวเดียวคือใจ เป็นของร้อน ร้อนด้วยอะไร ร้อนด้วยไฟ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ นี่เราจะเห็นอายตนะทั้งหลายถูกแผดเผาให้เร่าร้อนด้วยกิเลส มีแต่ทุกข์ ตัวที่เด่นสำหรับพวกที่ดูถนัดทางกาย คือตัวทุกข์ กับตัวอนัตตา

พวกที่ถนัดนามธรรมจะเห็นอนิจจัง อนัตตาง่าย แต่ไม่ใช่ว่าดูจิตดูใจแล้วไม่เห็นทุกขัง อย่างบางท่านเวลาภาวนา ท่านเห็นจิตมันเป็นตัวทุกข์ อันนี้สำหรับท่านที่เล่นฌานมากๆ สมาธิท่านมากๆ เวลาท่านจะแตกหัก ท่านจะแตกหักด้วยการเห็นทุกข์ เรียก อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ ฉะนั้นเวลาดูจิตดูใจ เราต้องดูของเราอย่างเห็นแต่การเกิดดับๆ เวลามันจะตัดสินความรู้ บางทีมันตัดสินด้วยเดี๋ยวก็หลงไปดู เดี๋ยวก็หลงไปฟัง เดี๋ยวก็หลงไปดมกลิ่น เดี๋ยวก็หลงไปลิ้มรส เดี๋ยวก็หลงไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็หลงไปคิดนึกทางใจ นี่หลง บางทีก็หลงไปเพ่งช่องของอนิจจัง เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ นิมิตคือเครื่องหมายทั้งหลาย เกิดแล้วดับทั้งสิ้น เห็นอนิจจัง บางท่านที่ท่านชำนาญในสมาธิท่านจะหลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ ท่านที่ท่านเจริญปัญญาอย่างเจริญปัญญารวดไป ชำนาญในการเดินปัญญาทำวิปัสสนาเป็นหลัก ท่านจะหลุดพ้นด้วยการเห็นอนัตตา เรียกว่า สุญญตาวิโมกข์

 

พวกที่ดูจิตก็อย่าดูถูกพวกดูกาย พวกดูกายก็อย่าไปดูถูกพวกดูจิต

เราเลือกไม่ได้จิตเขาจะเป็นไปเอง หน้าที่เราก็คือคอยรู้ คอยดูจิต แต่ไม่ว่าเริ่มต้นเราจะดูกาย หรือดูเวทนา สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิต เพราะอย่างเราดูกาย ใครเป็นคนเห็นกาย จิตเป็นคนเห็นกาย ใครเป็นคนรู้เวทนา จิตเป็นคนรู้เวทนา ฉะนั้นจิตนั่นแหละเป็นคนรู้ทุกๆ ตัว จะเริ่มจากดูกายก็มีจิตเป็นคนดูกาย จะดูเวทนาก็มีจิตเป็นคนดูเวทนา จะดูสังขาร จิตตสังขารก็มีจิตเป็นผู้รู้จิตตสังขาร จะรู้ขันธ์ รู้นิวรณ์ รู้โพชฌงค์ รู้ปฏิจจสมุปบาท ก็มีจิตเป็นคนรู้ ฉะนั้นเวลาภาวนานี่มันไม่ได้มีสายกาย สายจิตอะไรจริงจังนักหรอก แค่ถนัดอะไรก็เริ่มต้นอย่างนั้นก่อน แต่พอเริ่มต้นไปแล้ว เราเลือกไม่ได้จริงหรอก เรามีสติอยู่จริงๆ บางทีกายมันเด่นก็รู้สึกกาย บางทีเวทนาเด่นก็ไปรู้สึกเวทนา บางทีจิตกับสังขารมันเด่น โลภ โกรธ หลงมันเด่นขึ้นมา ก็ไปรู้โลภ โกรธ หลง

ฉะนั้นจริงๆ เราเลือกไม่ค่อยจะได้หรอก ขอให้มีสติเท่านั้น มีสติอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็นทุกอย่าง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม เกิดแล้วดับทั้งสิ้น รูปธรรม นามธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้น เป็นภาระ แล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ตกอยู่ใต้คำว่าอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ นี่ในขั้นเจริญปัญญา แต่ในขั้นการทำสมถะจะเริ่มจากอะไรก่อนก็ได้ ในขั้นเจริญปัญญานี่สติระลึกรู้อะไร ก็เอาอันนั้น ไม่ได้เลือกอะไรจริงจังหรอก ฉะนั้นสายกายสายจิต ไปนั่งเถียงกัน ไร้สาระมาก ภาวนาไม่เป็นต้องนั่งทะเลาะว่าดูกายดีหรือดูจิตดี ภาวนาเป็นไม่เห็นท่านจะมาทะเลาะกันเลย มันก็ลงที่เดียวกันหมด

จะดูกาย ก็มีจิตเป็นคนดู จะดูจิตก็มีจิตเป็นคนดู สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต หลวงปู่สุวัจน์ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรกนะเข้าไปกราบ หลวงปู่มั่นท่านก็สอนว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ให้ทำสมถะ” ทำสมถะก็ให้มีกำลังกลับเข้าไปดูกายดูจิตได้ ดูกายเพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่อให้เห็นธรรม ถ้าไม่มีจิตไม่ถึงจิตถึงใจ ไม่ได้ธรรมะท่านถึงบอก “ได้ใจก็ได้ธรรม ไม่ได้ใจไม่ได้ธรรม” เสียใจไปก็คือสูญเสียโอกาสบรรลุธรรมะไป

ฉะนั้นพวกที่ดูจิตก็อย่าดูถูกพวกดูกาย ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ผ่านมาด้วยการดูกายก่อน เบื้องต้นดูกายมาก่อน พวกดูกายก็อย่าไปดูถูกพวกดูจิต ถ้าดูจิตเป็นก็จะรู้ว่าเขาก็ทำได้ อย่างหลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้คิดการดูจิตขึ้นเอง หลวงปู่มั่นสอนท่าน หลวงพ่อก็ไม่ได้คิดเรื่องดูจิตขึ้นเอง หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อมาอีกที ฉะนั้นครูบาอาจารย์ก็สอนสืบทอดกันมาอย่างนี้

การปฏิบัตินั้นทำไมพระพุทธเจ้าสอนธรรมะตั้งเยอะแยะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ตั้งเยอะตั้งแยะ หลวงพ่อเคยไปหาครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง คืออาจารย์มหาเขียน เจ้าคุณอริยเวที ท่านอยู่ที่กาฬสินธุ์ เคยเข้าไปกราบท่าน ท่านท่องพระไตรปิฎกได้ ตอนนั้นท่านบอกท่านท่องได้ประมาณ 30 เล่มหรืออะไรอย่างนี้ หลวงพ่อจำตัวเลขไม่ได้ หลายสิบปีมาแล้ว ท่านบอกว่าที่ท่านท่องๆ ท่านพบความจริงข้อหนึ่ง ธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าสอนนี่เป็นไปเพื่อการปฏิบัติทั้งสิ้น ท่านว่าอย่างนี้ เราอ่านแล้วเราเข้าไม่ถึงแก่นของการปฏิบัติ เราอ่านแล้วก็อันนี้ปฏิบัติได้ อันนี้ปฏิบัติไม่ได้ ท่านฟันธงเลยว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนี่เป็นไปเพื่อการปฏิบัติ ไม่ใช่สอนเพื่อให้ฉลาดแตกฉานเอาไว้เถียงกับคนได้

ฉะนั้นถ้าเรียนธรรมะแล้วไม่ได้ปฏิบัตินี่ ยังไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าต้องการ เข้าไปหาครูบาอาจารย์ ท่านก็สอนเราลงมา การปฏิบัติลงมาที่จิตที่ใจทั้งหมดเลยทุกองค์ที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไร

 

ฝึกธรรมะให้สมควรแก่ธรรม

นี้ทำไมพวกเราฟังหลวงพ่อมาตั้งนาน บางคนฟังตั้ง 10 ปี 20 ปีทำไม่ได้ บางคนทำเดือน 2 เดือนทำได้ แต่ละคนมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน บางคนมีต้นทุนดี อย่างตอนเด็กๆ นี่เวลาเกิดอะไรมากระทบใจอย่างแรงๆ เกิดอะไรที่ตกใจขึ้นมา จิตผู้รู้มันดีดผางขึ้นมาเองเลย แล้วเห็นกาย เห็นความรู้สึกทั้งหลายเป็นของถูกรู้ ถูกดู ขันธ์มันแตกกระจายแยกตัวออกมาเลย ผู้รู้ ผู้ดูเด่นดวงขึ้นมา อย่างนี่เขาเคยมีของเก่าของเขามา พวกนี้ถ้ามาต่อยอดเจอครูบาอาจารย์ต่อยอดให้ก็ไปได้เร็ว บางคนตอนเด็กๆ เกิดสงสัยขึ้นมาโดยที่ยังเล็กๆ อยู่ ยังเด็กๆ อยู่ “เราเกิดมาทำไม” พวกนี้ก็ต้องมีบารมี ไม่ฉะนั้นไม่สงสัยหรอก ไม่มานั่งสงสัยว่าเราเกิดมาทำอะไร

ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้บางคนก็มีต้นทุนแล้วเขาเจอครูบาอาจารย์ เขาต่อยอดได้ด้วยความพากเพียร เขาก็ได้ผลเร็ว หลวงพ่อพูดมีหลายเงื่อนไขนะ มีกรรมเก่าที่ดี มีบุพกรรมที่ดี มีต้นทุนสูง ทำบุญมาดีได้เจอครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม มีศรัทธาในท่านที่ควรศรัทธา ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ศรัทธาแล้วก็พาเราเสียหายก็ไม่ใช่น้อย พาเราเสียหายเละเทะไปเลย เน่าๆ ไปเลย ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ได้ฟังธรรม บางคนเจอครูบาอาจารย์ที่ดีแต่ไม่ฟังธรรม ไปนั่งปลาบปลื้มอยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์ น้ำหูน้ำตาร่วง ปลื้ม หรือเอาแต่ทำบุญทำทาน เอาแต่ทำบุญทำทานอย่างเดียว ไม่ได้คิดจะภาวนา ปลื้มอย่างเดียวเลย หรือบางทีก็เกรงใจครูบาอาจารย์ ไม่ถามไม่ยอมเรียนกรรมฐาน

อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ยอมเรียนกรรมฐาน นางวิสาขาเข้าวัดนะคอยดูแต่อย่างเดียวว่าพระลำบากอะไร พระอดอยากอะไร พระขาดแคลนอะไร วัดตรงไหนชำรุดทรุดโทรมจะได้ซ่อม อะไรแบบนี้ เข้าวัดมาแล้วก็คอยดูแต่สิ่งเหล่านี้ ท่านเหล่านี้มีโอกาสแล้วแต่ไม่ได้ใช้โอกาส เหมือนพวกเราบางคนจำนวนมากเลย ไปวัดครูบาอาจารย์ไม่ได้คิดเรื่องภาวนาเป็นหลัก คิดแต่ว่าเดี๋ยวจะไปทำบุญกับท่านจะได้บุญเยอะ ชาติหน้าจะได้รวยอะไรแบบนี้ ไอ้เข้าวัดแบบนี้มันก็ดี แต่มันดีน้อยไปหน่อย เรียกว่าไปเจอของวิเศษแล้วก็ทอดทิ้ง ไปเอาของซึ่งไม่ค่อยสำคัญ

หลวงพ่อไปหาครูบาอาจารย์ เรื่องอื่นไม่เอาเลย หลวงพ่อมุ่งไปที่กรรมฐานอย่างเดียว ตั้งแต่เข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ ไปหาหลวงพ่อพุธ ไปหาหลวงปู่เทสก์อะไรอย่างนี้ มุ่งไปที่กรรมฐาน ส่วนบุญทานอะไรนั้นก็ทำเท่าที่เราทำไหว ทำแล้วก็ไม่ได้แช่มชื่นใจอะไรนักหนาหรอก ได้ใส่บาตรท่าน บางคนไปใส่บาตรครูบาอาจารย์ก็ปลื้มน้ำหูน้ำตาร่วง หลวงพ่อใส่ไปอย่างนั้นเป็นกิริยาเท่านั้นเอง เฉยๆ เราเจอของที่ดีกว่านั้นแล้ว คือธรรมะ นึกถึงธรรมะแล้วก็ใจมันก็ปลาบปลื้ม มีความสุข คนละระดับกัน ฉะนั้นอย่างหลวงพ่อเข้าหาครูบาอาจารย์มุ่งไปขอธรรมะจากท่าน ขอวิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติให้เต็มที่เลย

ฉะนั้นอย่างถ้าเรามีต้นทุนเดิมดีส่งผลมาได้เจอครูบาอาจารย์ เจอครูบาอาจารย์แล้วตั้งใจฟังธรรมเพื่อการปฏิบัติ แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเราคุ้ม พอรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ถึงตัวสุดท้ายเลย ทำความเพียรให้เต็มที่ ไม่ใช่นานๆ ทำที อย่างพวกเรามาเรียนกับหลวงพ่อ บางคนตั้งเป็น 10 ปี 20 ปี มันไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ทำบุญทำทาน ก็มีไม่ใช่ไม่มี ปฏิบัติธรรมให้เต็มที่เป็นอย่างไร ถ้าคิดแต่ว่าวันหนึ่งเราจะแบ่งเวลาไว้ปฏิบัติสักหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน บางคนขอ 15 นาทีก่อนนอน แล้วทั้งวันหลงทั้งวัน ทั้งวันหลงทั้งวันแล้วก็กะไปทำกรรมฐานก่อนนอนนิดๆ หน่อยๆ ก็สะสมกิเลสมาตั้ง 10 กว่าชั่วโมง ไปทำกุศลจะล้างกิเลส ทำครึ่งชั่วโมง ทำชั่วโมงหนึ่ง ไม่ได้กินหรอก มันเหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่ว ตักลงไปแล้วก็รั่วไปหมด ไม่ได้กินหรอก

ถ้าทำให้มันเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตื่นขึ้นมาก็ด้วยความรู้สึกตัว จะพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่งก็รู้สึกตัว จะไปกินข้าว จะไปอาบน้ำก็รู้สึกตัว นั่งรถไปทำงานก็รู้สึกตัว ถึงที่ทำงานแล้ว ตอนนี้ยังซดกาแฟอยู่ ยังขยับเปิดคอมพิวเตอร์อยู่อะไรแบบนี่ รู้สึกตัวไป ถึงตอนทำงานที่ต้องคิด ค่อยจดจ่ออยู่กับงาน

มันมีงานวิจัยอันหนึ่งว่าจริงๆ แล้วคนที่ทำงานไม่ได้ทำงานความคิด ไม่ได้คิดตลอดหรอก จิตจะเถลไถลไปทำเรื่องอื่นนี่เยอะเลย เยอะกว่าที่ทำงาน ชั่วโมงที่ทำงานที่ต้องคิดจริงๆ สั้นนิดเดียว เวลาส่วนใหญ่ที่บอกว่าเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จริงๆ ไม่ถึงหรอก ใจลอยไปซะเยอะเลย ฉะนั้นถ้าเราเอาเวลาที่จะใจลอยเล่นมารู้สึก รู้มีสติอยู่ เราจะปฏิบัติได้เยอะแยะเลยวันหนึ่งๆ

อย่างหลวงพ่อทำงานนี่ลุกจากโต๊ะทำงานเดินไปฉี่นี่หลวงพ่อปฏิบัติตลอด ตอนลุกขึ้นมาจากโต๊ะทำงานหัวยังหมุนอยู่เลย คิดงานมามากแล้ว อ่านหนังสือ อ่านข้อมูลเยอะ หัวยังเวียนหัวอยู่ ดูจิตไม่รู้เรื่องไม่ดู ก็ดูกาย เห็นร่างกายมันเดินไปห้องน้ำ ไปยืนฉี่อยู่ เป็นฆราวาสก็ยืนฉี่ได้ พอยืนฉี่เสร็จ ดูจิตได้แล้ว ออกจากห้องน้ำมันสบายใจ เราเรียกว่าห้องสุขา ออกมาสบายใจดูจิตออกมาแล้ว หลวงพ่อทำอยู่อย่างนี้ จะกลางวันไปกินข้าวก็ไม่ไปเม้ามอยเพลิดเพลินอะไรเสียเวลา กินข้าวเราก็รู้จิตรู้ใจไป อย่างไปยืนเข้าแถวซื้อข้าวแถวมันยาวก็หงุดหงิด หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด ไปถึงร้านแม่ค้า อ้าว! ไม่มีของที่เราอยากกิน หรือของที่เราอยากกินขายหมดแล้ว หงุดหงิดขึ้นมาอีกแล้วก็รู้ว่าหงุดหงิด นี่คือการปฏิบัติ

ปฏิบัติอย่างนี้ทำอย่างนี้ตลอดเลย ยกเว้นตอนที่ทำงานที่ต้องคิดกับตอนที่นอนหลับ นอกนั้นรู้สึกอย่างนี้ตลอดเลย ตกเย็นกลับบ้านเหนื่อยเต็มทีแล้ว ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ หลวงพ่ออ่านการ์ตูนเด็ก อ่านขายหัวเราะ อ่านอะไรพวกนี้ อ่านแล้วก็นั่งหัวเราะไปสักพัก ใจก็ผ่อนคลาย มีความสุขเวลาขำนี่มันเห็นใจที่ขำมันพุ่งขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากกลางอกนะความรู้สึกขำ ผุดขึ้นมานี่ปฏิบัติแล้ว การอ่านการ์ตูนคือการทำสมถะ เสร็จแล้วก็ลงมือปฏิบัติได้เลย

หลวงพ่อภาวนานี่ต้นทุนก็มี คิดว่ามีนะ ตอนเด็กๆ ตัวรู้เคยผุดขึ้นมา เจอครูบาอาจารย์ สนใจที่จะฟังธรรม ไม่ใช่สนใจทำบุญอย่างเดียว สนใจที่จะฟังธรรม รู้หลักแล้วหลวงพ่อเอามาปฏิบัติ เงื่อนไขเหล่านี้หลวงพ่อทำอยู่ในสิ่งเหล่านี้ พวกเราที่บอกเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปราโมทย์ ทำอย่างหลวงพ่อหรือเปล่า ถ้าพวกเราทำอย่างหลวงพ่อมันต้องได้อะไรบ้าง สมมุติว่าต้นทุนเดิมไม่มี เป็นไปได้ไหมที่ต้นทุนเดิมไม่มี แล้วมีโอกาสมานั่งฟังธรรม ไม่มีหรอก ถ้าไม่มีต้นทุนเลยนี่ไม่ได้ฟังธรรมหรอก ไม่ได้เจอพระหรอก เจอมาร เจออะไรไป

ฉะนั้นพวกเราแต่ละคนนี่ถือว่ามีต้นทุนมาแล้ว คนในโลกมีตั้งกี่พันล้าน คนที่สนใจธรรมะมีกี่คน แล้วคนที่สนใจธรรมะเข้าวัดมานี่มาเพื่อฟังธรรม มีสักกี่คน ส่วนใหญ่มาทำบุญ ที่มากกว่าทำบุญก็คือไปหาความเฮง ไปหาเลข หาเบอร์ หาหวย หาโชคลาภ ไปขอพร ไม่สบายก็ไปขอพรหลวงพ่อโสธรให้ช่วย ไปขอหมอ อย่างหลวงพ่อไม่สบายหมอช่วยกันดูแลเยอะเลย

ฉะนั้นเราเข้าวัดมาเอาธรรมะไป เอาธรรมะไปเพื่อลงมือปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้เต็มที่ ตั้งแต่ตื่นจนหลับยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด กับเวลานอนหลับ แล้วถ้าเราปฏิบัติให้มากพอ ตอนหลับเวลาฝันร้ายขึ้นมา สติจะเกิดในฝัน สติจะเกิดได้เอง หรือถ้าเราชำนาญในการปฏิบัติ มีสติจริงๆ นอนหลับอยู่เราจะพลิกซ้ายพลิกขวารู้ตัวตลอดเลยแต่ไม่ตื่น จะเห็นร่างกายมันพลิก รู้ตลอดได้

ฉะนั้นเราพยายามฝึกธรรมะให้สมควรแก่ธรรม เราจะได้ไม่โทษว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ดีจริง ลงมือปฏิบัติตั้งนานแล้วยังไม่ได้ผลอะไร ที่ว่าทำตั้งนานจริงๆ ทำนิดเดียว วันๆ เอาแต่หลง เอาแต่เผลอ เอาแต่คิดแต่เรื่องจะทำบุญสำหรับคนดี พวกคนชั่วมันก็คิดแต่เรื่องจะหาผลประโยชน์พวกคนดีก็คิดว่าจะทำบุญอะไร วัดไหนจะทำอะไร คอยหูตาว่องไว บางทีก็แย่งบุญกัน จะทำบุญนี่ จะยกช่อฟ้าก็ต้องเอาช่อฟ้าเอก จะต้องแย่งกันทำบุญ อย่างนี้ทำไปเพื่อสะสมกิเลส ไม่ได้ทำไปเพื่อลดละกิเลส ไม่ตรงวัตถุประสงค์หรอก ไม่ตรงวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้าหรอก

ฉะนั้นเราได้ฟังธรรมแล้ว ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง อย่าละเลย ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ในเวลาไม่นานผลของการปฏิบัติก็จะให้เราเห็น

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2563