ฝึกกรรมฐานจะทำแต่ความสงบไม่พอ แต่ไม่ทำความสงบเลยไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำความสงบเลย ใจฟุ้งซ่าน เราจะดูสภาวะไม่ออก มันเหมือนทะเลคลื่นแรงๆ เราดูปะการัง ดูปลาใต้ทะเล ดูไม่ได้ มองไม่เห็น คลื่นมันแรงๆ ทะเลมันนิ่งๆ สงบๆ ไปดำน้ำดูปะการัง ดูอะไรก็ดูง่าย จิตที่มันกระเพื่อมหวั่นไหวมากมันดูสภาวะไม่ได้ พอเราฝึกจนจิตใจเราสงบ ตั้งมั่นแล้ว เราถึงจะเจริญปัญญาได้ ถ้าจิตฟุ้งซ่านเจริญปัญญาไม่ได้ ทำไมต้องใช้จิตตั้งมั่น สงบอย่างเดียวไม่ได้ ต้องตั้งมั่น ถ้าจิตสงบ จิตจะไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่ง นิ่งๆ อยู่ในอารมณ์อันนั้น ไม่ตั้งมั่นแต่ลงไปตั้งแช่อยู่ที่ตัวอารมณ์ มันจะไม่เดินปัญญา มันจะสงบเฉยๆ พักผ่อนมีความสุข เราก็พัฒนาจิตให้มันตั้งมั่นขึ้นมา สงบด้วยตั้งมั่นด้วย ถ้าจิตตั้งมั่น มันก็มีความสงบอยู่ในตัวของมัน
วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่น 2 วิธี
วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่น ทำได้ 2 วิธี อันที่หนึ่ง เข้าฌาน ถ้าเราเข้าฌานไม่ได้ ก็จะไม่มีจิตตั้งมั่นด้วยวิธีนี้ อย่างพวกเราบางคนเข้าฌานได้ เราก็ทำกรรมฐานไปจนกระทั่งจิตมันรวมๆ ลงไป มันเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย มันแยกออกไป อย่างเวลาเราภาวนา จิตมันมีวิตกวิจารอย่างนี้ ตรงวิตกวิจารนี้ จิตมันยังไม่ตั้งมั่น มันเริ่มสงบ แต่มันยังไม่ตั้งมั่น ไปสงบ ไปนึกถึง ไประลึกถึงอารมณ์กรรมฐาน เรียกว่าวิตก จิตมันเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์กรรมฐานโดยเราไม่ได้จงใจบังคับ เรียกว่าวิจาร ตรงนี้จิตยังไม่ตั้งมั่น แค่สงบเบื้องต้นเท่านั้น
พอเราภาวนาเราเห็นเลย ตอนนี้จิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ จิตมันไหลไปอยู่ที่ท้องอะไรอย่างนี้ จิตมันไปตรึกในอารมณ์ ไปเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน พอเห็นตรงนี้ จิตมันก็จะวางวิตกวิจาร จิตก็ทวนกระแสเข้ามาหาจิต จิตก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งอยู่ ตรงที่จิตมันวางวิตกวิจารได้ วางความตรึก วางความตรอง วิตกคือการที่จิตมันตรึกถึงอารมณ์ มันนึกถึงอารมณ์ วิจารคือมันตรอง มันเคล้าเคลีย มันพิจารณาอยู่ที่ตัวอารมณ์ พอจิตมันหมดความสำคัญมั่นหมายในตัวอารมณ์ วางวิตกวิจาร มันก็ทวนกระแสเข้ามาหาจิต เพราะฉะนั้นในฌานที่สอง ตัวผู้รู้จะเกิดขึ้น สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้น
สมาธิชนิดตั้งมั่น ในพระไตรปิฎก ในพระสูตรท่านจะพูดว่าในฌานที่สองจะมีเอโกทิภาวะเกิดขึ้น ถ้าเรียนแต่ปริยัติจะไม่มีทางเข้าใจเอโกทิภาวะเลย ก็จะพูดเอาว่าเอโกทิภาวะคือสมาธิ ปฐมฌานมันก็มีสมาธิอยู่แล้ว ทำไมต้องมาพูดถึงฌานที่สอง มีเอโกทิภาวะ แล้วบอกคือสมาธิ ถ้าเราภาวนาไม่เป็น เราแยกไม่ออกหรอก ตรงที่เอกัคคตานั้น ในปฐมฌานก็มีเอกัคคตา ตัวเอกัคคตานั่นล่ะองค์ธรรมของสมาธิ เอโกทิภาวะเป็นสมาธิชนิดพิเศษ คือจิตมันเป็นหนึ่ง เป็นภาวะที่จิตมันเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เกิดจากการที่มันวางวิตกวิจาร วางการตรึก การตรองในอารมณ์ได้ ฉะนั้นอย่างที่พวกเราหัดภาวนา พอจิตเราไปคิดอย่างนี้ เรารู้ทันว่าจิตคิด เรื่องวิตกวิจาร มันก็ดับ จิตรู้มันก็เกิด ฉะนั้นตัวที่ทำให้จิตรู้ไม่มี ก็คือตัววิตกวิจารนั่นล่ะ จิตรู้ไม่ใช่จิตมีสมาธิเฉยๆ จิตที่มีสมาธินั้น จิตทุกดวงมีสมาธิ คือ เอกัคคตา เอกัคคตาเจตสิกเป็นสิ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง กระทั่งจิตอกุศล ก็มีเอกัคคตา มีสมาธิ แต่มีจิตที่ได้รับการพัฒนาอย่างดีจนวางวิตกวิจารได้ ก็จะเกิดเอโกทิภาวะ คือความตั้งมั่นขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมา อันนี้สำหรับคนทำฌาน
วิธีที่สอง สำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้ อาศัยสติรู้เท่าทันเวลาจิตมันไปจับอารมณ์อะไร สติระลึกรู้อารมณ์อะไรลงไป จิตมันจะเคลื่อนไปอยู่ที่อารมณ์อันนั้น เช่น จิตมันไปคิด จิตมันจะเคลื่อนไปอยู่ในความคิด ให้เรามีสติรู้ทันว่าจิตเคลื่อนไปอยู่ในความคิด วิตกคือการตรึกถึงเรื่องราวที่คิด วิจารคือการพิจารณาเคล้าเคลียอยู่ในเรื่องที่คิด จิตมันเข้าไปคลุก นั่นล่ะตัววิจาร จิตมันไม่ไปนึกถึง จิตมันไม่เข้าไปเคล้าเคลีย ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร อย่างจิตเราคิดปุ๊บเรารู้ทันปั๊บ วิตกวิจารในอารมณ์อันนั้นจะดับ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ได้ผ่านฌาน เราอาศัยการรู้เป็นขณะๆ เราจะได้สมาธิชนิดขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น เอาไว้เดินปัญญาได้
หลวงปู่เทสก์เป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องสมาธิมาก พอไปดูประวัติท่าน ท่านทำสมาธิผิดอยู่สิบกว่าปี 13 ปีหรืออะไรประมาณนี้ ตัวเลขหลวงพ่อเริ่มเลือนๆ แล้ว แต่สิบกว่าปี คือสงบอยู่เฉยๆ แล้วก็หลวงปู่มั่นแก้ให้ท่านได้ ทีแรกท่านไปหาท่านอาจารย์สิงห์ๆ อยู่วัดป่าสาลวัน อาจารย์สิงห์แก้ให้ท่านไม่ได้ ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นแก้ท่านได้ การที่ท่านติดสมาธิอยู่นาน ทำให้ท่านแตกฉานเรื่องสมาธิมากเลย สมาธิอย่างโน้นสมาธิอย่างนี้ รู้เยอะ ในบรรดาครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อรู้จัก หลวงปู่เทสก์นี่จะเชี่ยวชาญเรื่องสมาธินานาชนิดมากเลย บางทีหลวงพ่อเจอสมาธิแปลกๆ ไปถามท่าน ท่านบอกให้ทำไปเลย บอกยุคนี้ไม่มีใครเขาทำแล้ว ทำไว้จะได้หัดรู้ไว้ จะได้มีประโยชน์ในระยะยาว
หลวงปู่เทสก์ท่านแยกสมาธิออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มสมาธิชนิดสงบเฉยๆ ท่านเรียกตัวนี้ว่าฌาน แล้วกลุ่มสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ท่านเรียกว่าสมาธิ อันนี้เป็นศัพท์ที่ท่านบัญญัติขึ้นเอง สมาธิชนิดสงบ มันคืออารัมมณูปนิชฌาน สมาธิชนิดตั้งมั่น เจริญปัญญาได้ ในตำราเรียกว่าลักขณูปนิชฌาน นี้ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้อ่านปริยัติ ไม่ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็ใช้คำสมมติ เอาคำนี้มาแทนสภาวะอย่างนี้ๆ ท่านสอนถูกๆ เป๊ะเลย สมาธิมันมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสงบ ส่วนหนึ่งสงบและตั้งมั่น
สมาธิที่สงบ ท่านแยกได้ 3 ชนิด แล้วท่านไปยืมศัพท์เกี่ยวกับภวังค์มาใช้ ท่านเรียกภวังคบาต หมายถึงจิตมันวูบลงไปชั่วขณะแล้วมันก็จะขึ้นมา ภวังคจลนะคือมันวูบลงไปแล้วมันก็ไปเคลื่อนๆ อยู่ข้างใน ภวังคุปัจเฉทะ มันวูบอยู่แล้วมันเคลื่อนขึ้นมา รับอารมณ์ภายนอก อันนี้ท่านพูดถึงลีลาเวลาที่จิตมันสงบ เวลาจิตมันสงบเฉยๆ จิตมันจะวูบรวมลงไป ถ้าไม่ชำนาญเวลาวูบลงไป กระเด้งขึ้นทันทีเลย ตกใจ นั่งๆ อยู่ มันมีอาการเหมือนตกเหวอะไรอย่างนี้ มันตกใจ จิตก็ดีดหลุดออกจากสมาธิเลย ถ้าชำนิชำนาญ ตรงที่วูบลงนี่จะลงนิ่มๆ เหมือนคนขับเฮลิคอปเตอร์เก่ง ลงนิ่มๆ ถ้าลงไม่เป็น เหมือนขับเรือบินไม่ค่อยเก่ง กระแทกรันเวย์โครม กระแทกแล้วเด้งขึ้นเลย สะท้อน นี่ถ้าลงนิ่มๆ ตรงที่จิตรวมลงไป ท่านเรียกว่า ภวังคบาต คือเกิดความเกิดขึ้นของภวังค์ พอลงไปแล้ว บางทีจิตมันทำงานข้างใน มันเคลื่อนๆๆ มันคล้ายๆ มันฝันอยู่ข้างใน อันนี้ท่านเรียกว่าภวังคจลนะ ตรงนี้เอาไปเดินปัญญาไม่ได้ สมาธิอย่างนี้ มันเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว แล้วตอนที่มันตัดกระแสภวังค์นั้นขึ้นมา ท่านเรียกว่าภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ขึ้นมา นี่ท่านสอน สมาธิอย่างนี้ท่านเรียกว่าฌาน เวลาเข้าฌาน มันมีลีลาอย่างนี้
อีกตัวหนึ่งท่านเรียกว่าสมาธิมี 3 อัน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มีอย่างละสาม สงบก็มีสาม ตั้งมั่นก็มีสาม ตรงที่จิตตั้งมั่นมีสติตลอดสาย อย่างทำสมาธิ จิตรวมเข้าอัปปนาสมาธิ จิตก็ยังตั้งมั่นอยู่ บางทีรวมลงไปลึกถึงอรูปฌาน โลกธาตุนี้หายไป ร่างกายนี้หายไป แต่จิตไม่หายไป จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ แล้วถ้ามันสงบจริงๆ มันจะเป็นผู้รู้ผู้ตื่น ความอิ่มเอิบเบิกบานเปลี่ยนเป็นอุเบกขา ลีลาที่แตกต่างกัน ตรงสมาธินี่สามารถเจริญปัญญาได้ ในขณิกสมาธิก็เจริญปัญญาได้ เพราะจิตมันตั้งมั่น แต่มันตั้งเป็นขณะๆ ตรงอุปจารสมาธิก็เจริญปัญญาได้ ตรงอัปปนาสมาธิก็เจริญปัญญาได้ ถ้าเจริญปัญญาในอัปปนาสมาธิ เรียกว่าใช้สมาธิและปัญญาควบกัน ตรงที่ใช้เจริญปัญญาโดยใช้ขณิกสมาธิ เรียกว่าใช้สมาธินำปัญญา คือเข้าฌานก่อนถอนออกมาอยู่ในขณิกสมาธิ
หรืออีกวิธีหนึ่งใช้ปัญญานำสมาธิ ไม่ได้เข้าฌานๆ แต่อาศัยสติรู้ทัน จิตมันมีวิตกวิจารในอารมณ์กรรมฐานใด มีสติรู้ทัน จิตมันจะวางอารมณ์กรรมฐานนั้นแล้วตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อสอนบ่อยๆ ที่ครูบาอาจารย์สอนบ่อยๆ ว่าจิตหนีไปคิดแล้วรู้ๆ ถ้าจิตหนีไปคิดแล้วไม่รู้ จิตก็จะไปตรึกอยู่ในเรื่องราวที่คิด จิตก็จะไปจมแช่เคล้าเคลียอยู่ในเรื่องราวที่คิด ตรงที่จิตมันไปตรึกอยู่ในเรื่องราวที่คิดนั้น เรียกว่าวิตก ตรงจิตมันลงไปจมแช่อยู่ในเรื่องราวที่คิดนั้นก็เป็นวิจาร ถ้าสติเรารู้ทันว่าจิตเราไปจมกับอารมณ์แล้วหลงไปคิด รู้ทันปั๊บ วิตกวิจารคือการตรึกการตรองการเคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์ การจมแช่อยู่ในอารมณ์ ความคิดจะดับ ผู้รู้ก็เกิดขึ้น คือจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะ เรียกว่ามีขณิกสมาธิ
นักปฏิบัติส่วนใหญ่ กระทั่งในสมัยพุทธกาลที่ท่านบรรลุพระอรหันต์ ท่านอาศัยขณิกสมาธิ ส่วนท่านที่ทรงฌานก่อนแล้วเจริญปัญญาทีหลัง หรือท่านที่ทรงฌานไป เจริญปัญญาไป มีน้อย มีไม่มาก คนส่วนใหญ่ก็คือคนอย่างพวกเรานี้ เข้าฌานไม่เป็น สมัยพุทธกาลก็ไม่ใช่ทุกคนเข้าฌานได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าฌานไม่เป็น อาศัยการฝึกสติ พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน มีสติ ร่างกายขยับ ถ้าเราขาดสติที่แท้จริง ร่างกายขยับจิตจะไปตรึกตรองในเรื่องราวเรื่องอื่นๆ ร่างกายขยับยังไม่รู้เลย อันนี้ใช้ไม่ได้เลย ฟุ้งซ่าน จิตเป็นอกุศล พวกที่พัฒนามากขึ้น ร่างกายขยับแล้วรู้สึกๆ จิตมันจะไม่ไปจมแช่อยู่ในร่างกาย
นักปฏิบัติรุ่นหลังๆ มานี่ทำกรรมฐานอะไร จิตก็ไปจมแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้น หลวงพ่อเคยเล่าว่าตอนหลวงพ่อภาวนาเป็นแล้ว หลวงพ่อเข้าไปตามวัด หลวงพ่อไปเห็น บางทีกลางค่ำกลางคืน ภาวนา คนรุ่นก่อนเขาภาวนาจริงจังกว่าคนรุ่นเรา คนรุ่นเรามัวแต่ดูบอล ดูเฟซบุ๊ก ดูอะไรบ้าๆ บอๆ ไม่ได้ภาวนา คนแต่ก่อนเข้าวัดแล้วภาวนากันเยอะมากเลย แต่ละวัดๆ บางทีตั้งหลายร้อยคน นั่งสมาธิเดินจงกรมกัน กลางค่ำกลางคืนหลวงพ่อไปเดินๆ ดู ไม่ได้ปฏิบัติ เขานั่งสมาธิ อย่างเขารู้ลมหายใจ จิตเขาเคลื่อนไปจมอยู่กับลมหายใจ จิตไปตรึกอยู่ที่อารมณ์ ลมหายใจ จิตไปจมแช่เคล้าเคลียอยู่กับลมหายใจ จิตไม่เป็นผู้รู้ เพราะจิตมันไหลไปอยู่ที่ลม
พวกดูท้องพองยุบ จิตไหลลงไปอยู่ที่ท้อง ไม่เห็นหรอกว่าจิตตรึกถึงท้องนี่คือวิตก จิตเคล้าเคลียจมแช่อยู่ที่ท้องคือวิจาร ฉะนั้นไม่มีตัวรู้หรอก มันยังมีวิตกวิจารอยู่ ทำอย่างไรมันจะเกิดตัวรู้ อย่างหายใจอยู่แล้วจิตไหลไปในความว่าง หรือไหลไปอยู่กับลมหายใจ ไหลไปอยู่ที่ท้อง เดินจงกรมอย่างนี้ ไหลไปอยู่ที่เท้า หรือไหลไปอยู่ที่ร่างกายทั้งร่างกาย หรือนั่งสมาธิอยู่แล้วก็ฟุ้งซ่าน จิตไหลไปคิด จิตมันไหลไปจมไปแช่อยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ตรงที่มันเข้าไปยึดอารมณ์ไว้ ไปจับอารมณ์ไว้ เรียกว่ามันตรึก มันวิตก ตรงที่มันไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ อันนั้นเรียกว่าวิจาร ถ้ามันมีวิตกวิจารแล้วก็จิตเป็นหนึ่งอยู่ตรงนั้น มันก็จะเข้าฌานได้ แล้วแต่อารมณ์ อารมณ์บางอย่างไม่ถึงฌาน ได้แค่อุปจารสมาธิ อย่างถ้าพุทโธๆ เฉยๆ นี่จะเข้าอุปจารสมาธิ แต่ถ้าพุทโธแล้วดูจิตไปด้วย เข้าถึงอรูปฌาน ลีลาของสมาธิมันเยอะ
ไม่มีจิตผู้รู้ แยกขันธ์ไม่ได้
ถ้าพวกเราไม่ต้องพูดเรื่องฌาน เราเข้าฌานไม่เป็น เรารู้ทันเวลาจิตมันไหลไปจมไปแช่อยู่กับอารมณ์ อย่างสมมติว่าเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ จิตจะไหลไป 2 ลักษณะ หนึ่งไหลไปจมแช่อยู่กับลมหายใจ หรือไปจมอยู่กับพุทโธ ลืมกายลืมใจ โลกนี้มีแต่ลมหายใจ มีแต่พุทโธ จิตมันไหลลงไป ไปยึดอยู่ที่ตัวลม ยึดอยู่ที่ตัวพุทโธ บางทีหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมลมหายใจ ลืมพุทโธ จิตหลงไปคิด ไปตรึกในเรื่องราวต่างๆ แล้วไปจมอยู่ในเรื่องราวอันนั้น ตรงนี้ก็ไม่มีผู้รู้ เพราะฉะนั้นจิตมันจะผิดอยู่ 2 อัน เวลาเราทำกรรมฐาน อันหนึ่งมันลงไปจมอยู่ที่อารมณ์ ที่หลวงพ่อเรียกว่ามันไปเพ่งอารมณ์ ไปจมแช่อยู่ที่อารมณ์ ไม่มีจิตผู้รู้ มีแต่จิตผู้เพ่ง อีกอันหนึ่ง จิตหลงไปคิดเรื่องอื่น ลืมอารมณ์กรรมฐาน อันนี้ก็ไม่มีจิตผู้รู้ มีแต่จิตผู้หลง
เพราะฉะนั้นไม่ใช่จิตผู้หลง ก็เป็นจิตผู้เพ่ง ผู้เผลอไป จิตมันชอบพลิกไปพลิกมาในสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าจิตเราถลำลงไปอยู่กับลม หรือถลำไปอยู่ที่ท้อง ขยับมือแล้วจิตไหลไปอยู่ที่มืออะไรอย่างนี้ เรารู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป วิตกวิจารจะขาดทันทีเลย จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา เอโกทิภาวะน้อยๆ ก็จะเกิดขึ้น จะไม่ได้แข็งแรงทนทานเท่าคนที่เข้าฌาน 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ถ้าเข้าฌาน 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 อย่างถูกต้อง แล้วพอถอยออกมา เอโกทิภาวะตัวนั้นยังแข็งแรง บางทีอยู่ในอุปจารสมาธิ ทรงอยู่ในอุปจารสมาธิ บางทีถอยมาอยู่กับขณิกสมาธิ รู้สึกตัวอยู่ได้ทั้งวันเลย โดยไม่ได้เจตนารู้สึก
หลวงพ่อฝึกตัวเองตั้งแต่เป็นโยม จิตหลวงพ่อรู้สึกตัวอยู่เกือบทั้งวัน มีเผลอ ไม่ใช่ไม่มี ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่สิมท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ท่านเลยเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ผู้รู้เลยเป็นฉายาหลวงพ่อที่หลวงปู่สิมตั้งให้ ถ้าหลวงพ่อพุธ ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ เป็นฉายาที่ครูบาอาจารย์ตั้งให้ มี 2 ฉายา หลวงปู่สิมท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ทำไมเรียกว่าผู้รู้ เพราะหลวงพ่อมีจิตผู้รู้อยู่เป็นส่วนมาก มีจิตผู้รู้ ทำไมมีจิตผู้รู้ เราก็ทำความสงบไป จนกระทั่งจิตมันเป็นผู้รู้ มันแข็งแรง แล้วเวลาอยู่กับโลกข้างนอก จิตเคลื่อนปุ๊บเห็นปั๊บๆ เคลื่อนจากไปเพ่งพุทโธอยู่ ไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน เคลื่อนไปคิดปุ๊บ รู้ทัน ก็ได้ขณิกสมาธิขึ้นมา สมาธิชั่วขณะ นี่ฝึกอย่างนี้ เรื่อยๆ จิตมันจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา
พอเรามีจิตเป็นผู้รู้แล้ว เราจะแยกขันธ์ได้ ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้เราแยกขันธ์ไม่ได้ อย่างเราหายใจอยู่แล้วเราไม่มีจิตผู้รู้ จิตเราจะไปรวมเข้ากับลมหายใจ ไม่ได้แยกขันธ์ ไม่ได้เห็นว่าร่างกายหายใจ จิตเป็นคนดู หรือดูท้องพองยุบ เราไม่มีจิตผู้รู้ จิตมันจะไปรวมอยู่ที่ท้อง จิตกับกายไปรวมอยู่ด้วยกัน ก็ไม่เรียกว่าแยกขันธ์ หรือขยับมืออย่างนี้ จิตไปรวมอยู่ที่มือ ก็ไม่เรียกแยกขันธ์ กายกับใจมันไปรวมกัน ต้องแยกรูปแยกนามให้ได้ พอเราฝึก จิตเราเคลื่อนเรารู้ๆ จิตเราจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วพอสติมันระลึกรู้ลงในร่างกาย แล้วจิตเราเคลื่อนไปที่ร่างกาย เรารู้ทันปุ๊บ จิตจะถอนตัวขึ้นมาเอง อย่าดึงคืน อย่าดึงให้แยกออกจากกัน ถ้าจงใจดึงจิตผู้รู้ขึ้นมาจะแน่นเอี๊ยดเลย ไม่ต้องไปดึง แค่รู้ทันว่าจิตมันไหลไปอยู่ในร่างกายแล้ว รู้ทันว่าจิตมันไหลไปอยู่ในความคิดแล้ว จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นเอง
“ไม่ต้องสนใจว่าจิตจะอยู่ข้างนอกข้าใน
ไม่ต้องพยายามหาว่าตอนนี้มันอยู่ตรงไหน
แล้วก็ไม่ต้องไปดึงจิตคืน
เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เลย
หายใจเข้า หายใจออกไปสบายๆ
จิตจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน
เรามีสติรู้การหายใจอยู่
สักพักเดียวจิตมันจะกลับเข้ามาในกายแล้ว
เหมือนอย่างที่หลวงพ่อแก้กรรมฐานให้พวกเรา มีเรื่อยๆ เลย วันนี้ก็อาจจะมีอีก เช่น จิตเราไม่ตั้งมั่น จิตเราหลงออกไปอยู่ว่างๆ ข้างนอกนี้ เราไม่เห็น หลวงพ่อบอกไม่ต้องสนใจว่าจิตจะอยู่ข้างนอกข้างใน ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องพยายามหาว่าตอนนี้มันอยู่ตรงไหน แล้วก็ไม่ต้องไปดึงคืน หลวงพ่อบอกตอนนี้จิตไปว่างๆ อยู่ข้างนอกแล้ว ไม่ต้องไปดึงจิตคืน เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เลย หายใจเข้า หายใจออกไปสบายๆ จิตจะเป็นอย่างไร ช่างมัน เรามีสติรู้การหายใจอยู่ สักพักเดียวจิตมันจะกลับเข้ามาในกายแล้ว ลมหายใจมันอยู่ในกายใช่ไหม ถ้าจิตมันไปว่างๆ อยู่ข้างนอก เราหายใจสบายๆ แป๊บเดียวจิตมันก็เข้ามาแล้ว พอจิตเข้ามา หลวงพ่อบอกเห็นไหมว่าจิตตรงนี้กับจิตเมื่อกี้ไม่เหมือนกันแล้ว พอเขาเห็นความต่างแล้ว เขาจะรู้เลยว่าจิตหลงออกไปกับจิตตั้งมั่น มันไม่เหมือนกัน แล้วต่อไปจิตมันจำสภาวะได้แม่น จิตตั้งมั่นเป็นอย่างนี้ พอจิตจำสภาวะได้แม่น พอจิตตั้งมั่นปุ๊บ มันรู้ตัวปั๊บเลย พอจิตไม่ตั้งมั่นปุ๊บ ก็รู้ตัวปั๊บเลย
ของง่ายๆ ที่หลวงพ่อฝึกจนกระทั่งจิตมันเป็นผู้รู้อัตโนมัติขึ้นมา ง่ายๆ แค่นี้เอง จิตเคลื่อนปั๊บรู้ๆ เคลื่อนไปเพ่งก็รู้ เคลื่อนไปคิดก็รู้ หลวงพ่อถึงสอนให้รู้จักสภาวะ 2 อัน เผลอกับเพ่ง ถ้าเผลอแล้วรู้ว่าเผลอ ผู้รู้ก็จะเกิด เพ่งคือถลำไปว่างๆ อยู่ คือเพ่ง เพ่งช่องว่าง แล้วจิตหลงไปอยู่ในว่างอย่างนี้ คือการเพ่งช่องว่าง พอเรารู้ว่าจิตเราไปข้างนอก มันจะกลับเข้ามาทันที แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นว่าจิตมันไปว่างอยู่ข้างนอก มันละเอียด ดูไม่ออก หลวงพ่อเลยบอกลืมมันไปเลย ไม่ต้องไปห่วงที่ผิด เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หายใจออกหายใจเข้าไปเรื่อยๆ สบายๆ อย่าไปยุ่งกับจิต อย่าไปแตะต้องจิต
สิ่งเหล่านี้เป็นลีลา เป็นชั้นเชิงในการปฏิบัติ เป็นแทคติก เป็นกลยุทธ์ เป็นยุทธวิธี มีศัพท์เยอะแยะที่จะใช้ แต่จริงๆ ก็คือมันไม่ใช่หลัก ถ้าหลักก็คือจิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้จิตเราพลาด เรามองไม่ออกว่าจิตมันว่างๆ อยู่ข้างนอก เราก็ใช้ยุทธวิธี ใช้แทคติก ใช้กลยุทธ์ ลืมมันไปเลยที่ผิด ไม่ต้องไปนั่งแก้มัน กล้าพอไหม จิตผิดก็ไม่แก้มัน กล้าพอไหม เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึกไป แป๊บเดียวเท่านั้น จิตมันจะกลับเข้ามา มันจะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ แล้วเราจะรู้เลยว่า เฮ้ย เมื่อกี้นี้มันอยู่ข้างนอกตลอดเลย
ที่จริงตรงนี้ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเองหรอก หลวงตามหาบัวเป็นคนสอนหลวงพ่อเอง คือหลวงพ่อดูจิตๆ เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมา เราดูที่กิเลส นี่จิตเคลื่อนไปดูกิเลสแล้วไม่เห็นว่าจิตเคลื่อนไปที่กิเลส แทนที่กิเลสมันจะดับ เพราะจิตเราไม่ได้ตั้งมั่นจริง สมาธิที่แท้จริงไม่มี ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นโทสะนี่ไม่ดับ พอเราไประลึกรู้ มันเคลื่อนออกไป มันเคลื่อนออกไปจากจิตเรา เราก็หลงตามดูโทสะออกไป ไปข้างนอก พอโทสะดับไป เราก็เห็นมันว่าง เราไม่รู้ว่าจิตเคลื่อนออกข้างนอกไปแล้ว เราก็นึกว่าจิตยังตั้งมั่นอยู่ ที่แท้จิตอยู่ข้างนอก จิตไม่เข้าฐาน
หลวงพ่อติดอยู่ตรงนี้ปีกว่า ดูอย่างไรก็ดูไม่ออก ทำไมติดนาน ไม่มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ก็อยู่ไกลๆ หลวงปู่ดูลย์ก็มรณภาพไปแล้ว หลวงปู่เทสก์ก็อาพาธ เข้าพบไม่ได้อะไรอย่างนี้ พอดีขึ้นไปกราบหลวงตามหาบัว เข้าไปกราบท่าน ตอนช่วงนั้นยังไม่ได้มีเรื่องผ้าป่าช่วยชาติอะไร ที่วัดท่านคนยังไม่เยอะหรอก ขึ้นไปถึงองค์ท่านได้เลย ไม่มีใครห้าม ไปถึงท่านกำลังสั่งให้พระจัดศาลา กำลังจะฉันข้าวกัน ท่านเอ็ดตะโรลั่นเลย ดุองค์โน้นองค์นี้ นิสัยท่านเป็นอย่างนั้น โฉ่งฉ่าง ท่านงามแบบของท่าน ท่านงาม ธรรมชาติของท่านเป็นอย่างนั้น ท่านยังบอกเลยว่าอย่ามาเลียนแบบกิริยาอาการของท่าน ไม่สวย แต่ท่านทำของท่านนี่สวยอย่างของท่าน ถ้าอยากเรียนกิริยามารยาทให้สวยนี่ ไปดูหลวงปู่เทสก์ นั้นงามทุกอิริยาบถ งามตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนเลย
หลวงพ่อเข้าไปท่านกำลังเอะอะๆ อยู่ หลวงพ่อก็เข้าไปกราบท่าน เข้าไปข้างหลังท่านเลย ท่านนั่งพิงอะไรอยู่ ก็บอกท่าน
“พ่อแม่ครูอาจารย์ ผมขอโอกาส”
ท่านหันมามอง “เดี๋ยวก่อนเรายังไม่ว่าง” แล้วค่อยดุๆๆ พระไป พอจัดที่นั่งฉันเรียบร้อยแล้ว ท่านก็หันมาถาม “ว่าไง”
บอกท่าน “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ที่ผ่านมานี่ผมรู้สึกว่ามันไม่พัฒนาเลย มันไม่รู้ว่ามันติดขัดตรงไหน”
ท่านมองหน้าหลวงพ่อปุ๊บท่านตอบเลย “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว”
ทำไมดูไม่ถึงจิต ไปหลงอยู่ในว่าง ท่านไม่ได้บอกเลย ท่านบอกหลวงพ่อแค่ว่า
“ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ตรงนี้สำคัญนะ ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้”
ท่านพูดจบหลวงพ่อก็ลงกราบท่าน เราได้หลักแล้ว ท่านบอกให้บริกรรม หลวงพ่อก็ถอยออกมาหน่อยหนึ่ง ห่างจากท่านสักเมตรกว่าๆ เท่านั้น นั่งพิงลูกกรงอยู่ ก็พุทโธๆๆ จิตแน่นเหมือนจะแตกเลย จิตหลวงพ่อไม่ชอบพุทโธอย่างเดียว หลวงพ่อก็มาพิจารณา ทำไมครูบาอาจารย์จะให้พุทโธ อ้อ ปกติพุทโธ มันทำเพื่อเพิ่มพลังของสมาธิ นี่แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ เราเดินปัญญามากเกินไป สมาธิไม่พอ จิตไปติดในว่าง อันนี้ถ้าเป็นปริยัติจะบอกว่าเป็นวิปัสสนูปกิเลส ชนิดโอภาส จิตไปสว่างว่างอยู่ข้างนอก แล้วในปริยัติ ในยุคนัทธสูตร พระอานนท์ท่านสอนว่าถ้าทำสมาธิเข้ามา แล้วก็ธัมมุทธัจจะ ก็คือตัววิปัสสนูปกิเลส 10 ชนิดนั้นจะดับ
ครูบาอาจารย์ไม่ได้พูดแบบนี้ ท่านบอกว่า “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” หลวงพ่อก็มาเริ่มบริกรรม มันอึดอัด หลวงพ่อก็ดู บริกรรมนี่ใช้ทำสมถะ แสดงว่าสมถะเราไม่พอ หลวงพ่อก็เปลี่ยนเลย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำกรรมฐานที่เราถนัด หายใจอยู่ไม่กี่ครั้ง ราวๆ 28 ครั้ง หายใจเข้าพุทโธอย่างนี้ นับ 1 นับ 2 นับ 3 นับได้ถึง 28 จิตรวมปุ๊บเลย พอจิตรวม เข้าฐานแล้ว โอ๊ย ตายแล้ว ตั้งปีหนึ่งนี่จิตไม่ได้อยู่ในฐาน
จิตมันตั้งมั่นแล้วจะเห็นทุกข์ได้
ฉะนั้นหลวงพ่อถึงมาพูดกับพวกเราหน้าตาเฉย พูดแบบองอาจกล้าหาญ เชื่อมั่นว่าไม่พลาดหรอก เวลาจิตพวกเราไปว่างๆ อยู่ข้างนอก เราไม่ต้องไปแก้มัน หายใจสบายๆ ไปดีกว่าพุทโธ พุทโธเป็นความคิด ถ้าเราไม่ชำนาญอย่างครูอาจารย์ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพุทโธมาแต่เริ่มต้น ท่านชำนาญ อย่างหลวงตาท่านพุทโธตั้งแต่ต้นจนจบ ฉะนั้น ท่านพุทโธ ท่านผ่านเลย ของพวกเราพุทโธแป๊บเดียวก็หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว พุทโธมันว่องไวเกิน ดูไม่ทันอะไรอย่างนี้ เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรอย่างนี้ ให้มันหยาบขึ้นหน่อย ไม่ต้องสนใจว่าจิตจะอยู่ที่ไหน คล้ายๆ ล้างกระดานเลย หมากตานี้เล่นยาก ล้มกระดานเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เลย หายใจเข้าพุทออกโธไปเลย แต่ถ้าใครถนัดพุทโธเฉยๆ อย่างที่หลวงตาท่านสอนก็ใช้ได้ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน
ฟังที่ครูบาอาจารย์สอน แล้วเราก็แยกให้ออก อันไหนคือหลัก อันไหนคืออุบาย หลักก็คือสมาธิเราไม่พอ อุบายในการทำสมาธิ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เราไม่เชื่อครูบาอาจารย์ แต่เราเรียนเป็น ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาอย่างนี้ ท่านสอนอย่างนี้ ฉะนั้นเราใช้อีกวิธีหนึ่ง ต้องดูตัวเองว่ากรรมฐานอะไรทำแล้วจิตหลง จิตยอมอะไรอย่างนี้
เพราะฉะนั้นพอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันจะเห็นทุกข์ได้ ถ้าจิตไปว่างอยู่ข้างนอก ไม่มีวันเห็นทุกข์หรอก มันมีแต่สุข มันมีแต่สบาย มีแต่ว่าง ถ้าจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ ระลึกลงในกายก็เห็นทุกข์ในกาย ระลึกลงที่จิตก็เห็นทุกข์ที่จิต ตรงนี้จิตมันเดินปัญญาได้ แล้วขันธ์มันแยก มันแยกตั้งแต่จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว เวลาร่างกายมันขยับอย่างนี้ มันจะไม่รู้สึกว่าเราขยับ ร่างกายหายใจ หายใจเข้า หายใจออก มันจะไม่รู้สึกว่าเราหายใจ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง มันจะไม่รู้สึกว่าเราเคลื่อนไหว เราหยุดนิ่ง แต่มันจะเห็นว่าร่างกายล่ะมันเคลื่อนไหว ร่างกายล่ะมันหายใจ ร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ รูปมันเคลื่อนไหว นามคือจิตเป็นคนรู้ นี่มันจะเห็นอย่างนี้ ตรงนี้เรียกว่าแยกขันธ์ได้แล้ว
“ตรงที่แยกขันธ์ได้เป็นการเจริญปัญญาในขั้นเบสิกที่สุด
แต่ตรงที่เห็นขันธ์แต่ละขันธ์ ธาตุแต่ละธาตุ
องค์ธรรมแต่ละตัวแสดงไตรลักษณ์
ตัวนั้นคือวิปัสสนา”
การแยกขันธ์ได้เป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา หลวงตามหาบัวสอนดี บอกว่า “ถ้าแยกธาตุ แยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเจริญปัญญา” เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตมันตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วถึงจะแยกธาตุแยกขันธ์ได้ ถ้าจิตไปว่างๆ อยู่ข้างนอกนี่ ไม่เรียกว่าจิตตั้งมั่น จิตมันไปตั้งแช่อยู่ในความว่าง แยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ ถ้าจิตมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ร่างกายเคลื่อนไหว สติระลึกลงไปในร่างกาย จิตตั้งมั่นเป็นคนดู ปัญญามันจะเกิด ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ไม่ใช่ตัวเรา จะมีองค์ธรรม 3 ตัวทำงานร่วมกัน สติ สมาธิ ปัญญา จะทำงานร่วมกัน ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ใครรู้ว่าร่างกายหายใจออก ใครรู้ว่าร่างกายหายใจเข้า สติเป็นคนรู้ว่าร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า แล้วขณะที่สติรู้ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า จิตตั้งมั่นเป็นคนดูอยู่ มันจะเห็นว่าร่างกายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน แล้วมันจะเริ่มเกิดปัญญา เห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่เราหรอก ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ตรงนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว
ตรงที่แยกขันธ์ได้เป็นการเจริญปัญญาในขั้นเบสิกที่สุด แต่ตรงที่เห็นขันธ์แต่ละขันธ์ ธาตุแต่ละธาตุ องค์ธรรมแต่ละตัวแสดงไตรลักษณ์ ตัวนั้นคือวิปัสสนา เพราะฉะนั้นอย่างเราเห็นร่างกายหายใจ สติระลึกรู้ร่างกายที่หายใจ จิตตั้งมั่นเป็นคนดู ก็จะเกิดปัญญาเห็นว่าร่างกายกับจิตนี้ มันแยกออกจากกัน ร่างกายกับจิตนี้ล้วนแต่ไม่คงที่ จิตก็เป็นแค่คนรู้บ้าง เป็นคนหลงบ้าง ร่างกายเดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า ไม่คงที่ เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน ไม่คงที่ เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่งอย่างนี้ ไม่คงที่
ตรงที่เห็นมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ บังคับไม่ได้ อันนั้นล่ะเรียกว่าเห็นไตรลักษณ์ ตรงที่เห็นไตรลักษณ์นั้นจิตขึ้นวิปัสสนาแล้ว เป็นการเจริญปัญญาในขั้นวิปัสสนาแล้ว การเจริญปัญญามีหลายขั้น ในขั้นเบื้องต้น ตรงที่เราแยกขันธ์ได้ ยังอยู่ในกลุ่มของสมถะ ยังจะเป็นสมาธิอยู่ เฉยๆ อยู่ แยกได้ เพราะฉะนั้นอย่างบางคนขยับร่างกายแล้วแยก จิตยังติดสมาธิอยู่ แต่ว่ามีปัญญาขั้นต้น
ถ้าจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนดูจริงๆ มันจะเห็นเลย ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ตรงที่เห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่ใช่ตัวเรา จิตผู้รู้ก็ไม่ใช่เรา เดี๋ยวก็กลายเป็นจิตผู้คิด จิตผู้คิดก็ไม่ใช่ตัวเรา มันคิดแป๊บเดียว เดี๋ยวก็กลายเป็นจิตผู้รู้อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวก็กลายเป็นจิตผู้เพ่งอะไรอย่างนี้ จิตก็หมุนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บังคับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ นี่คืออนัตตา ตรงที่เราเห็นกายเห็นใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นเราเจริญวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราเข้าใจความจริงว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่าเรามีปัญญา มีปัญญาในขั้นวิปัสสนาปัญญา
วิปัสสนาปัญญา พอแก่กล้าขึ้น ทีแรกเราก็เห็นกายเกิดดับๆ ไม่ใช่เราอะไรอย่างนี้ เห็นไปเรื่อยๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นร่างกาย เห็นจิตใจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นช่วงแรกๆ มันจะเบื่อ หาสาระแก่นสารไม่ได้เลยหนอ เบื่อ มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ มีแต่ภัย มีแต่ข้อบกพร่อง ร่างกายนี้มีแต่ข้อบกพร่อง จิตใจมีแต่ข้อบกพร่อง ไม่ใช่ของดีของวิเศษ เป็นของน่าเบื่อ ตรงที่เห็นว่ามันน่าเบื่อนี้ เรียกว่าได้นิพพิทาญาณ มีปัญญาเห็นความจริงของร่างกาย ของจิตใจว่าน่าเบื่อ
ตรงที่เห็นว่ามันมีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันเรียกว่าอะไร อาทีนวญาณ หรืออะไรนี่ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตรงที่เห็นว่ามันน่ากลัว มันเอาเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยไม่ได้เลย มันตายอยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ก็ตายอยู่ตลอดเวลา จิตนี้มันก็ตายอยู่ตลอดเวลา มันน่ากลัวจริงๆ เพราะฉะนั้นกายนี้เอาเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ จิตนี้เอาเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ ก็เป็นปัญญาอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าภยตูปัฏฐานญาณ เห็นเป็นภัย บางทีก็เห็นน่าเบื่อ เห็นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เห็นเป็นภัย
3 อย่างนี้เป็นอาการที่จิตมันพัฒนาขึ้นมาจากการที่เราเห็นกายเห็นใจมันแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ แล้วมันผ่านจุดนี้เอง ไม่ใช่ต้องผ่านทั้งหมดหรอก ในตำราชอบพูดตรงนี้ ญาณ 3 ตัวนี้ ต้องเรียงกันไป แต่ในพระไตรปิฎกบอก 3 ญาณนี้ เหมือนกันด้วยอรรถ ต่างกันด้วยพยัญชนะ นี่พระไตรปิฎกบอกอย่างนี้ ต้องเชื่อพระไตรปิฎกก่อน ตำรารุ่นหลังท่านชอบซอยให้เยอะๆ จะได้ดูเป็นวิชาการ ระหว่างนิพพิทา อาทีนวญาณ ภยตูปัฏฐานญาณอะไรนี่ อยู่ในกลุ่มเดียวกัน บางทีพาสทีเดียวเลย พาสไป 3 อันเลย
ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป พอเห็นอย่างนี้ ใจมันก็อยากพ้นไปแล้ว เมื่อไหร่มันจะพ้นจากกาย เมื่อไหร่มันจะพ้นจากใจ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตรงที่มันอยากจะพ้นไป ก็เป็นปัญญาอีกอย่างหนึ่ง อยากพ้นไป พออยากพ้นไปแล้วก็พยายามดิ้นรน พยายามดูมันเป็นไตรลักษณ์อย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ไม่พ้น ในที่สุดมันถอดใจ มันถอดใจ สั่งให้มันพ้นจากกาย พ้นจากใจมันทำไม่ได้นี่ ใจมันก็เลยยอมรับความจริง กายมันต้องเป็นอย่างนี้ ใจก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็ต้องอยู่กับมันไปอย่างนี้ มันก็เข้าไปสู่ความเป็นอุเบกขาด้วยปัญญา
พัฒนาการที่เราจะค่อยๆ ฝึกตัวเอง เริ่มฝึกตั้งแต่ฝึกให้ได้จิตที่ตั้งมั่นก่อน จิตที่ตั้งมั่นเมื่อกี้บอกแล้วทำได้ 2 อย่าง เข้าฌานได้ถึงฌานที่สองก็จะได้จิตที่ตั้งมั่นอย่างแข็งแรง ถ้าไม่ได้ก็อาศัยรู้สภาวะจิตเคลื่อนไปเพ่งก็รู้ จิตเผลอไปก็รู้ จะได้สภาวะตั้งมั่นขึ้นเป็นขณะๆ พอมีความตั้งมั่นเกิดขึ้นจนชำนิชำนาญพอสมควรแล้ว ต่อไปพอสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นเป็นคนดูได้ ปัญญาก็จะเกิด กายนี้ไม่ใช่เรา หรือจิตมันทำงาน สติเห็นจิตทำงาน จิตเป็นคนดู มันก็จะเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา ปัญญามันก็จะเกิด ฉะนั้นองค์ธรรม 3 ตัว สติ สมาธิ ปัญญานี่ มันช่วยกันทำงานๆ ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา
ถ้ารู้หลักแล้ว มันไม่ยากหรอก ถ้าไม่รู้หลักคลำกันนาน กว่าสมาธิจะถูกบางทีหลายชาติ กว่าสมาธิจะถูกทำกันนาน หลวงพ่อพยายามเอาของที่ยุ่งยากซับซ้อนมาคลี่ให้พวกเราดู ให้พวกเรารู้เหตุรู้ผลว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าต้องการพ้นทุกข์ เกิดวิมุตติ เกิดมรรค เกิดผล ก็ต้องเจริญวิปัสสนา จะเจริญวิปัสสนาได้ ต้องแยกธาตุแยกขันธ์ได้ ถึงจะเห็นไตรลักษณ์ของธาตุของขันธ์ แต่ละอย่างได้ มันก็เป็นลำดับมา อยากพ้นทุกข์ อยากได้มรรคผลนิพพาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ จะเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจได้ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้ลงในรูปธรรม นามธรรม จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วปัญญามันถึงจะเกิด เพราะเห็นไตรลักษณ์
ถ้าทำมากพอ เดี๋ยวมรรคผลมันก็เกิดเอง ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ อย่าว่าแต่จะทำมรรคผลเลย สั่งให้สติเกิดยังทำไม่ได้เลย สั่งจิตว่าอย่าโกรธ ยังทำไม่ได้เลย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ที่เราสั่ง แต่จิตนี่เป็นอนัตตาก็จริง แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือวิธีฝึกจิตนั่นเอง ฝึกด้วยศีล ด้วยสมาธิ ปัญญา ก็พัฒนาองค์ธรรมต่างๆ ขึ้นมา มีศีล สมาธิ ก็มีให้มีสติ มีสมาธิขึ้นมา สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนไป.
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564