File | Action |
---|---|
หนังสือสัมมาสมาธิ ในรูปแบบ PDF | Download |
นักปฏิบัติจำนวนมากขาดสมาธิที่ดี คือ สมาธิที่จิตใจตั้งมั่น อยู่กับตัวเอง ไม่หลงไป ไม่ไหลไป สมาธิที่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ฝึกกันเป็นมิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัว แท้จริงแล้วสมาธิที่ถูกต้องซึ่งเป็นสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิของพระพุทธเจ้าแปลว่า ความตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นอยู่ ไม่ไหลไปโดยที่ไม่ได้บังคับไว้ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่นักปฏิบัติจำเป็นจะต้องรู้จักสมาธิที่ดี สมาธิที่จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะถ้าหากไม่มีสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ก็จะเจริญปัญญาหรือทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้
สมาธิที่ดี คือ สมาธิที่จิตใจตั้งมั่น อยู่กับตัวเอง ไม่หลงไป ไม่ไหลไป
สมาธิที่ดี คือ สมาธิที่จิตใจตั้งมั่น อยู่กับตัวเอง ไม่หลงไป ไม่ไหลไป แต่สมาธิเกือบร้อยละร้อย ที่ฝึกกัน เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่จิตไหลออกไป
สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิของพระพุทธเจ้าแปลว่า ความตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นอยู่ ไม่ไหลอย่างนั้นเอง โดยที่ไม่ได้บังคับไว้ ถ้าบังคับไม่ให้ไหล ก็ใช้ไม่ได้ จิตมันเจือด้วยกิเลส ฉะนั้นเวลาเกิดสมาธิ ไม่จำเป็นว่าจิตจะต้องเป็นกุศล เวลาจิตมีกิเลสก็มีสมาธิได้
ฉะนั้นเราต้องฝึก เพื่อจะได้สมาธิที่ดี สมาธิที่จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าเราไม่มีสมาธิชนิดตั้งมั่น เราจะเจริญปัญญา หรือทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้ พวกที่ไปเข้าคอร์สวิปัสสนากัน อยู่ ๆ ก็เจริญวิปัสสนาเลย ดูรูปพองยุบ ดูรูปยกเท้าย่างเท้า จิตมันเคลื่อนไปอยู่ อย่างไปดูท้องพองยุบ จิตเคลื่อนไปที่ท้อง อันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว หรือดูร่างกายเดินจงกรม เท้าเคลื่อนไหว จิตไปอยู่ที่เท้า จิตไหลออกไปแล้ว อันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ
มิจฉาสมาธิ จะไม่ทำให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิเท่านั้นเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิ คือสภาวะที่ใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ได้บังคับไว้ ถ้าบังคับไว้ จิตจะเครียด ๆ เป็นมิจฉาสมาธิแล้ว จิตเจือกิเลสลงไป
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราชอบ เพื่อจะคอยรู้ทันจิตตัวเอง
เราลองฝึกสมาธิที่ดี ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง กรรมฐานที่แนะนำ คือบริกรรม พุทโธ อันนี้แนะนำเพราะอะไร ง่าย ทำง่าย เราท่อง พุทโธ พุทโธ พุทโธเป็นความคิด พุทโธ ไม่มีสภาวะอะไรรองรับหรอก ใช้ทำสมถะดี มันเป็นความคิด เราคิดคำว่า พุทโธ ไปเรื่อย ๆ ไม่บังคับให้จิตนิ่ง ไม่บังคับให้จิตสุข ไม่บังคับให้จิตสงบ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เล่น ๆ ไป แล้วคอยรู้เท่าทันจิต เวลาจิตมันไหลไปที่อื่น พุทโธ พุทโธไป พอจิตไหลไปเนี่ย ส่วนใหญ่จะไหลไปคิด มันจะไปคิดเรื่องอื่น มันจะลืมคิดพุทโธ ฉะนั้นการที่เราคิดพุทโธ เป็นการจงใจคิด เราคิดคำว่าพุทโธขึ้นมา แต่พอเราขาดสติ จิตเราไหลไป มันจะไปคิดเรื่องอื่น มันจะไม่คิดพุทโธ
ฉะนั้นเราจะฝึกเรื่อย ๆ เราพุทโธจนชำนาญ พอจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมพุทโธ มันจะรู้ตัวได้เร็ว ถ้าเราไม่ชอบพุทโธใช้กรรมฐานอื่นได้ไหม ใช้ได้ กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับกายและใจของเรา เช่น หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัวไปเรื่อย ๆ ไม่เอาสงบ หายใจเข้า หายใจออก ก็คอยรู้สึกตัวเรื่อย ๆ พอใจหนีไปอยู่ที่ลมหายใจก็รู้ทัน พอใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่นก็คอยรู้ทัน ฉะนั้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง ควรจะทำ ควรจะทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราชอบ มีความสุขที่จะทำ แต่ทำแล้วไม่ใช่เพื่อให้จิตมีความสุข ความสงบ หรือเพื่อความดี อะไรทั้งหลาย ทั้งสิ้น ทำแล้วเพื่อจะคอยรู้ทันจิตตัวเองเท่านั้นเอง
หนังสือสัมมาสมาธิ ถอดความมาจากพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ซึ่งได้แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม ในวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑