สู้กิเลสด้วยการรู้ทัน

ข่าวเรื่องพระมีเรื่อยๆ ที่ไม่เป็นข่าวก็คงมีอีกเยอะเหมือนกัน คงมีไปเรื่อยๆ พวกเราภาวนา เราก็จะรู้ว่า กิเลสไม่ใช่เรื่องสู้ง่าย พวกเราสู้กับกิเลส ฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจสู้ มันพลาดง่ายๆ เลย ไม่ใช่สู้ชนะมันง่าย เวลาเราเห็นคนพลาด ก็อย่าไปซ้ำเติม ก็มีเรื่อยๆ พูดให้ฟังหลายที กิเลสไม่กลัวผ้าเหลือง กิเลสไม่กลัวตำแหน่ง มีสมณศักดิ์อะไร มีตำแหน่งอะไร กิเลสไม่ได้กลัวสิ่งเหล่านั้น เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนคนมาบวช เหมือนนักรบเข้าสนามรบสู้กิเลส ไม่ได้รบกับคนอื่น ในสนามรบก็มีคนล้มหายตายจากกลางทาง เรื่องธรรมดา

อย่างคนมาบวชไปไม่รอดก็สึกไป หรือถูกจับสึกไป บางกรณีไม่ต้องสึก อย่างถ้าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันที เราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสินคนอื่น เรามีหน้าที่ดูบทเรียน ทำไมเขาพลาด เราก็ดูบทเรียนของเขา ก็น่าสงสาร บางทีพวกที่บวชพระมา การศึกษาทางโลกอะไร ไม่ค่อยมี มีน้อย ไม่เข้าใจโลกเท่าไร ทำอะไรก็เอาง่ายๆ รู้สึกง่ายๆ ผิดระเบียบ ผิดกฎหมายอะไร บางทีไม่รู้เรื่อง บางทีรู้แต่สู้กิเลสไม่ได้

 

คอยรู้เท่าทันกิเลสในใจของตัวเอง

พวกเราก็ยังมีกิเลส เราก็ดูกิเลสของเราไว้ ต้องถือเป็นเรื่องที่ดี ที่พระอาบัติแล้วถูกออกไป ศาสนาก็จะได้ดูสะอาดขึ้น ขจัดสิ่งสกปรกไปได้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือสัดส่วนมันก็จะดูดีขึ้น อันนี้ก็แง่ดี ไม่ใช่แง่ร้าย ยิ่งปราบอลัชชีออกไปได้หมด แหม ศาสนางดงามเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปตกใจกับข่าวพวกนี้ ข่าวพวกนี้ ดี ไม่ใช่ไม่ดี ถ้าเราภาวนาเราจะรู้ กิเลสไม่ใช่เรื่องที่สู้ง่าย ไม่อย่างนั้นมันไม่ครองโลกหรอก

คนที่ตั้งใจสู้ ส่วนหนึ่งยังสู้ไม่ไหว แล้วคนที่ไม่ตั้งใจสู้ อย่างมาบวชเป็นอาชีพอันหนึ่ง ไม่มีอะไรทำ มาบวชคือไม่ได้มุ่งอยากได้พระนิพพาน พวกนี้ไม่คิดสู้ โอกาสแพ้ก็สูง หลวงพ่อก็เคยเจอพระ แรกๆ ก็อยากนิพพาน หลังๆ รู้สึกยากไปก็เลยไม่เอา สะเปะสะปะไปวันๆ หนึ่ง พลาดเข้าวันไหนก็อยู่ไม่ได้

ดูกิเลสของเราเอง กิเลสผุดขึ้นกลางอกเรา ผุดทั้งวัน เหมือนน้ำผุด เคยเห็นน้ำผุดไหม น้ำมันผุดๆๆ ขึ้นมา ไม่ต่างกันเท่าไร มันผุดอยู่ตลอดวัน ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นว่ากิเลสมันผุดขึ้นมา เราไม่เห็น ก็ครอบงำจิตใจเราได้ กระทบเข้ามาถึงจิตใจ พอจิตใจเราเศร้าหมอง ถูกกิเลสครอบงำ ความคิดของเราก็เป็นไปตามอำนาจกิเลส คำพูดของเราก็เป็นไปตามอำนาจกิเลส การกระทำของเราก็เป็นไปตามอำนาจกิเลส มันเสียหมด เสียตั้งแต่จิตของเรา พอจิตเราถูกกิเลสครอบงำ คำพูดของเรา การกระทำของเรา ก็พลอยเสียไปหมด ฉะนั้นคอยรู้เท่าทันกิเลสในใจของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้

หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า “การดูจิตไม่ใช่เรื่องยาก การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก มันยากสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติ” ท่านว่าอย่างนี้ ผู้ไม่ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติต่างกันนิดเดียว ส่วนที่เหมือนกันระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ ก็คือมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีเหมือนกัน อายตนะทั้ง 6 มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูป กระทบเสียง กระทบกลิ่น กระทบรส กระทบสิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย กระทบธัมมารมณ์ คือสิ่งที่รู้ด้วยใจ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างละ 6 อย่างละ 6 เป็นอายตนะภายใน 6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก 6 คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์กระทบกัน พอกระทบกัน ก็จะเกิดความรู้สึกตามมา เกิดความปรุงแต่งในใจเรา ความปรุงแต่งบางอย่างไม่ใช่กิเลส อย่างพอจิตมันกระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ มันเกิดความไม่แช่มชื่นในใจ เกิดความทุกข์ในใจ ทุกขเวทนาเกิดขึ้น

หรือกระทบอารมณ์ที่ดี อย่างเราฟังเทศน์ ฟังธรรม ได้กระทบอารมณ์ที่ดี ใจเรามีความสุขขึ้นมา ความสุขความทุกข์อะไรไม่ใช่กิเลส เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องไปหาทางละอะไรมัน มันเป็นเขาเรียกวิบาก มันเป็นผลของกรรมเก่าที่เราสร้างมา เราทำกรรมเก่ามาดี เราก็กระทบแต่เรื่องดีๆ กระทบเรื่องที่ดีเราก็มีความสุข มันเป็นกระบวนการธรรมชาติธรรมดา กรรมเก่าให้ผลมาในทางไม่ดี เรากระทบอารมณ์ไม่ดี จิตใจเรามีความทุกข์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นจิตใจจะสุข จิตใจจะทุกข์ ไม่ต้องไปห้ามมัน มันเป็นวิบาก วิบากต้องรับเอา ไม่ใช่วิบากหาทางไปละมัน ที่เราต้องละคือละกิเลส ไม่ใช่ละวิบาก พอจิตใจเรา พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตเราก็เกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ อารมณ์บางอย่างไม่รุนแรง ไม่ชัดเจน จิตใจเราก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ให้เรารู้ไป จิตใจเรามีความสุขให้รู้ จิตใจเรามีความทุกข์ให้รู้ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ก็ให้รู้ไป

ฝึกอย่างนี้ ก็เรียกว่าเราดูจิตได้แล้ว เพราะว่าความสุขความทุกข์อะไรนี้ มันเกิดอยู่กับจิตของเรา อันนี้พูดถึงความสุขความทุกข์ทางใจ ความสุขความทุกข์ทางกาย มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นก็เป็นวิบากเหมือนกัน ถูกเขาชกหน้าแล้วเจ็บ ฟันหัก เจ็บ โดนซ้อม อันนั้นก็เป็นวิบาก ถูกซ้อม เจ็บขึ้นมาก็เป็นวิบากก็ต้องรับ อย่างเราไม่สบายทางร่างกาย ก็ต้องรับไป หาทางแก้ไขไป โรคบางอย่างรักษาได้ บางอย่างก็รักษาไม่ได้

 

ถ้าเราไม่หลง กิเลสเกิดไม่ได้

ถ้าใจเรารับสภาพ ความเจ็บปวดมันอยู่ที่ร่างกาย ไม่เข้ามาที่จิต ความเจ็บปวดในร่างกายเป็นโผฏฐัพพะ เรารู้ด้วยร่างกาย พอกระทบอารมณ์ตรงนี้ ทางร่างกายกระทบ มันก็ส่งต่อเข้าไปที่ใจ พอร่างกายเราเจ็บปวด ใจเราก็เกิดความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น เวลาเราสบายดี หรือเราเห็นรูปที่พอใจ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดี พออกพอใจ จิตใจเราก็มีความสุข เราจะได้อารมณ์ที่พอใจไม่พอใจ มันเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่เราเคยสร้างมา

อย่างในสภาวะอันเดียวกัน หลวงพ่อเคยเจอ อย่างไปตามถนนเห็นรถชนกัน คนที่นั่งรถไปด้วยกันเขาบอก โอ้ ตายเลย คนนี้ตาย ศพน่ากลัวมาก คนนี้ไม่อยากดู ไม่อยากเห็น ก็เบือนหน้าหนีไปอยู่บนฟุตบาทข้างทาง กะว่าจะไม่ดูตรงที่เขาชนกัน ปรากฎว่าเขายกศพมาไว้ตรงนี้แล้ว อีกคนหนึ่งมันไม่กลัว มันไปดูตรงที่รถชน ไม่มีศพแล้ว

มันเลือกไม่ได้ว่าตาจะเห็นรูปที่ดี หรือรูปที่ไม่ดี หูจะได้ยินเสียงที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เลือกไม่ได้ จมูกจะได้กลิ่นที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เลือกไม่ได้ อย่างบางคนมี คนในวัดนี้ล่ะ คนอื่นเขาได้กลิ่นเหม็น คนนี้มีบุญเยอะ อะไรที่เหม็นๆ ไม่ค่อยได้กลิ่น ได้แต่กลิ่นหอมๆ มีวิบากที่ดี ไม่มีวิบากที่เลว ก็เลยไม่ได้กลิ่นที่ไม่ดี อยู่แถวนี้ในห้อง อยู่ในห้องนี้ตอนนี้คือคุณแม่ อะไรที่เหม็นๆ ไม่ค่อยได้กลิ่น จะได้กลิ่นหอมๆ เราเลือกไม่ได้ว่าจะได้กลิ่นอะไร

เพราะฉะนั้นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เราเลือกไม่ได้ เลือกอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกระทบแล้ว มันเกิดปฏิกิริยา เกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นในใจ เราก็เลือกไม่ได้ อย่างถูกเขาชก เป็นผัสสะทางกาย เรียกโผฏฐัพพะ แล้วมันก็ พอร่างกายเจ็บปวด ใจไม่ชอบ เป็นอารมณ์ที่ใจไม่ชอบ ใจมีความทุกข์ขึ้นมา จากร่างกายที่เจ็บ มันเข้ามาสู่จิตใจที่มีความทุกข์ คนที่ไม่เคยภาวนา เวลาร่างกายเจ็บปวด ใจก็จะมีความทุกข์ไปด้วย

พระพุทธเจ้าบอกว่าสาวกของท่าน ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เวลาร่างกายมีความทุกข์ ความทุกข์อยู่เฉพาะร่างกาย เข้ามาไม่ถึงจิตใจ จิตใจมันพ้นออกไปแล้ว ฉะนั้นที่เราฝึก เราฝึก ไม่ใช่เพื่อว่าร่างกายเราจะมีแต่ความสุข หรือว่าเราจะต้องเห็นแต่รูปที่ดี เราไม่ได้ฝึกเพื่อจะเห็นรูปที่ดี เพื่อได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดี คิดนึกอะไรก็คิดแต่เรื่องดีๆ เราไม่ได้ฝึกเพื่อสิ่งเหล่านั้น เราฝึกเพื่อจะเรียนรู้ลงไปอีก เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ที่พอใจ จิตใจเรามีความสุขให้เรารู้ทัน

เราเลือกไม่ได้ มันจะมีความสุขก็ห้ามมันไม่ได้ กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จิตใจมีความทุกข์ให้เรารู้ทัน ถ้าเราไม่รู้ทันความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ในใจเรา จิตใจมันจะทำงานต่อไปอีก พอมีความสุข ความยินดีพอใจ คือราคะก็จะแทรก แทรกอยู่ในความสุข อย่างเราสบายใจ เราก็จะมีความสุข มีความสุข สบายใจ ความยินดีพอใจก็จะเกิดขึ้น ราคะแทรกตามความสุข เวลาจิตใจเราไม่มีความสุข โทสะมันจะแทรกตามเข้ามา เวลาอารมณ์ไม่ชัดเจน บางทีโมหะก็แทรก

โมหะเป็นปรมาจารย์ของกิเลส จะมีราคะได้ก็ต้องมีโมหะด้วย จะมีโทสะได้ก็ต้องมีโมหะด้วย แล้วโมหะอยู่เดี่ยวๆ ก็ได้ด้วย เกิดร่วมกับราคะก็ได้ เกิดร่วมกับโทสะก็ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิดเมื่อไร จะต้องมีโมหะทุกคราวไป โมหะคือความหลง ความไม่รู้ความจริง ความไม่มีปัญญา ไม่เห็นความจริงของรูปนามกายใจ พอความสุขในใจเกิดขึ้น ราคะก็แทรกเข้ามา ความทุกข์ในใจเกิดขึ้น โทสะก็แทรกเข้ามา ที่จริงก็คือ เวลามีความสุขในใจ ราคะและโมหะก็แทรกอยู่ เวลามีความทุกข์ในใจ โทสะกับโมหะก็แทรกอยู่ จะเกิดร่วมกันอย่างนี้

โมหะคือความหลง ถ้าเราไม่หลง กิเลสเกิดไม่ได้ จับหลักตัวนี้ให้แม่นเลย ถ้าเราไม่หลง เรามีสติอยู่ กิเลสจะมีไม่ได้เด็ดขาดเลย เพราะฉะนั้นเรามาพัฒนาสติ ไม่ใช่พัฒนาว่าทำอย่างไร จะเอาชนะกิเลสได้ เราพัฒนาสติของเรา พอเรามีสติขึ้นมา กิเลสจะไม่มีอัตโนมัติ ฉะนั้นเราไม่ภาวนาเพื่อละกิเลส แต่เราภาวนาเพื่อเจริญสติ ทันทีที่สติเกิด กิเลสดับอัตโนมัติ ฉะนั้นไม่มีกิเลสจะให้ละ กิเลสมันดับอัตโนมัติ เมื่อเราเกิดสติ ฉะนั้นที่ฝึก ฝึกสติ

 

หลักสูตรในการฝึกสติ เรียกสติปัฏฐาน

หลักสูตรในการฝึกสติเรียกสติปัฏฐาน เราฝึกตามหลักนี้ สติของเราก็จะดีขึ้น พอสติดีขึ้น สมาธิก็จะดีขึ้น เมื่อสติและสมาธิทำงานคู่กันได้อย่างดี ปัญญาก็จะเกิดขึ้น จะรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์ 5 รูปนามกายใจนี้ พอรู้แจ้งเห็นจริงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น จิตจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายจิตใจนี้ พอปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจของเราอีกต่อไป ใจมันก็อยู่เหนือขันธ์ ไม่ทุกข์ด้วยแล้ว

เราฝึกสติ ถ้าเราไม่มีสติ พอเกิดความรู้สึกสุข ราคะกับโมหะก็แทรก เกิดความรู้สึกทุกข์ โทสะกับโมหะก็แทรกเข้ามาในใจ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็หลงๆ เผลอๆ เพลินๆ โมหะก็ครอบเอา เข้าใจอะไรต่ออะไรคลาดเคลื่อนไป พอจิตเราถูกกิเลสแทรก สิ่งที่จะตามมาคือความอยาก มันจะมีความอยากแล้ว อย่างเรากระทบอารมณ์ที่พออกพอใจ เรามีความสุข จิตใจมันจะอยากให้ความสุขนั้นอยู่นานๆ อยู่ตลอดไปได้ยิ่งดี

หรือเวลาความสุขมันหายไป จิตมันจำได้ มันมีสัญญา มันจำความสุขนั้นได้ มันจะหิวความสุข อยากให้ความสุขนั้นกลับมา ตรงที่อยากได้อารมณ์ที่ชอบอกชอบใจ เรียกกามตัณหา มีกามตัณหา อยากได้อารมณ์ที่พอใจ พอได้อารมณ์ที่พอใจแล้ว อยากให้มันคงอยู่ เรียกว่าภวตัณหา ถ้ากระทบอารมณ์แล้ว มีความทุกข์เกิดขึ้น โทสะแทรก อยากให้อารมณ์นั้นหมดไปสิ้นไป เขาเรียกมีวิภวตัณหาเกิดขึ้น มีความอยากตามมา

เพราะฉะนั้นตอนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เรียกว่าผัสสะ เราห้ามไม่ได้ เลือกไม่ได้ว่าจะกระทบอารมณ์อะไร กระทบแล้วจะเกิดเวทนาที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เราก็เลือกไม่ได้ มันเป็นวิบาก พอเกิดเวทนาแล้ว จิตเรามีอนุสัยอยู่ มีกรรม ความเคยชินที่จะชั่วอยู่ กิเลสมันก็จะปรุงขึ้นมา มันจะแทรกตัวเข้ามา ราคะ โทสะ โมหะ มันก็แทรกเข้ามา เมื่อกิเลสมันทำงานขึ้นมา ก็ผลักดันจิตให้ดิ้นรน มันจะเกิดความอยากขึ้นมา อยากได้อารมณ์ที่ดี อยากรักษาอารมณ์ที่ดีเอาไว้ อยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป

ทันทีที่ความอยากเกิด ความดิ้นรนในใจจะเกิดขึ้น ความดิ้นรนในใจเรียกว่าภพ ความดิ้นรนของจิตใจ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ พูดย่อๆ ถ้ารายละเอียดมันจะแตกแขนงออกไปอีก ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน อะไรคืออุปาทาน อุปาทานคือตัณหาที่มีกำลังแรง ก็คือตัวโลภะตัวเดียวกัน แต่มันแรง มันเข้าไปจับอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นเวลาเกิดความอยากขึ้นมา ใจมันจะดิ้น อย่างเราอยากได้มือถือรุ่นใหม่ ใจเราดิ้นไหม ลองนึกย้อนดู เวลาเราเห็นกระเป๋าสวยๆ อยากได้ ใจเราดิ้นไหม ใจมันหิว ใจมันหิวอารมณ์ มันอยากได้ มันดิ้นรน ด้วยอำนาจของกามตัณหา อยากได้อารมณ์ที่พอใจ

เห็นคนที่เราเกลียด อยากให้มันหายไปจากโลกไหม อยากให้มันไปให้พ้นเราไหม พอความอยากเกิด ใจมันก็เต้นเลย ดิ้นๆๆๆ ถ้าถีบมันได้จะถีบเลย ใจมันดิ้นไปด้วยกำลังของโทสะ ด้วยกำลังของราคะ ด้วยกำลังของโมหะ ใจมันก็ดิ้นๆ ทันทีที่ใจเราดิ้น ตรงนี้เรียกว่ามันสร้างภพแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความทุกข์

นี่พูดย่อๆ ที่จริงจากทุกข์จะไปสู่ชาติ ชาติคือการที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ทีแรกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย เป็นวิบาก เป็นของเก่า ได้มาด้วยกรรมเก่า แต่พอจิตใจเราดิ้นรนขึ้นมา มันจะมีการตะครุบเอา หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ไม่ได้หยิบทีละ 6 อันหรอก มันก็หยิบทีละอันนั่นล่ะ เวลาอยากเห็นรูป มันก็ใช้ยึดตาขึ้นมา หยิบฉวยตาขึ้นมาใช้งาน ตรงนี้หลวงพ่อไม่อธิบายละเอียด มันละเอียดเกิน ถ้าเราภาวนายังไม่ถึง เราจะไม่เห็น

การที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ตัวที่ดูยากที่สุด คือการที่จิตหยิบฉวยจิตขึ้นมา ตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตยังหยิบฉวยจิตขึ้นมา การที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา หรือจิตหยิบฉวยใจ หยิบฉวยจิตขึ้นมา เรียกว่าชาติ ชาติก็คือการที่จิตมันไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เรียกว่าชาติ ทันทีที่มันหยิบฉวยขึ้นมา ความทุกข์ก็จะเข้ามาสู่จิตใจเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นชาติเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ในจิตใจของเรา

ธรรมะของพระพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ ถึงไปท่องตำรา เรียนนักธรรมเอก เรียนเปรียญเท่านั้นเท่านี้ แต่ถ้าไม่เคยเห็นสภาวะ สู้กิเลสไม่ได้หรอก เห็นคนแพ้กิเลส สงสาร อย่าไปด่าเขา ทุกวันนี้สังคมเราเลวร้าย พอเห็นคนไหนพลาด ด่าเอาๆ มันไปกระตุ้นให้คนอื่นอยากด่าตาม อันนี้เป็นมุสาวาทชนิดหนึ่ง เป็นการพูดส่อเสียด ทำให้เขาเกลียดชังกันมากขึ้น ทำกิเลสของคนอื่นที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกิเลสของคนอื่นที่มีอยู่แล้วให้รุนแรงขึ้น ทำกุศลที่เขามีอยู่ให้เสื่อมไป แล้วก็ปิดกั้นกุศลใหม่ของเขาไม่ให้เกิดขึ้น ขณะนั้นใจเขาดิ้นเร่าๆๆๆ ไปด้วย

 

หน้าที่เราคือดูแลรักษาจิตใจของเราให้ดี

ฉะนั้นเรา หน้าที่เราก็ดูแลรักษาจิตใจของเราให้ดี ถ้าเราดูแลรักษาจิตใจของเราได้ดี เราก็จะรู้ โอ้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ เป็นระเบียบ เป็นระบบ งดงามมาก มีเหตุมีผล มีเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ผลอย่างนี้กลายเป็นเหตุให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง เป็นเหตุกับผล เหตุกับผลนี้คาบเกี่ยวซับซ้อนไปเรื่อยๆ สังสารวัฏถึงฝ่าออกไปยาก มันละเอียด มันลึกซึ้งมาก ฉะนั้นหัดสังเกตใจตัวเองบ่อยๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตใจเรามีความสุขให้รู้ จิตใจเรามีความทุกข์ให้รู้ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ให้รู้

หัดอย่างนี้ไป พอไหวไหมแค่นี้ หลวงปู่ดูลย์บอกไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ เราเห็นดอกไม้สวย คนที่เขาไม่ปฏิบัติ เขาก็ไปเพลินดูดอกไม้ จิตเกิดราคะแล้วไม่เห็น เกิดสุขเวทนา แล้วก็เกิดราคะ มองไม่เห็น ของเราผู้ปฏิบัติเห็นดอกไม้สวย เราก็เห็นเหมือนที่คนอื่นเห็นนั่นล่ะ แต่พอเห็นแล้วจิตใจเรามีความสุข เรารู้ว่าจิตใจเรามีความสุข จิตใจเราชอบ มีราคะเกิดขึ้น เรารู้ว่าจิตใจเรามีราคะเกิดขึ้น แค่นี้ล่ะ มันจะยากอะไรนักหนา

มันยากเพราะไม่ยอมดู มัวแต่ดูของข้างนอก ดูรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือคิดนึกไปสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ แทนที่จะย้อนมาดูปฏิกิริยาในจิตในใจของเรา ฉะนั้นต่อไปนี้ มีผัสสะ ไม่ห้าม แต่ว่าบางทีก็ต้องสำรวมสำหรับมือใหม่ มือใหม่หัดปฏิบัติต้องสำรวม อะไรที่ดูแล้วเกิดกิเลส ก็อย่าไปดูมัน อะไรที่ดูแล้วเกิดกุศลก็ดูมันบ่อยๆ อะไรที่ได้ยินแล้วเกิดกิเลส ก็อย่าไปฟังมัน อย่างคนเขาด่ากัน อย่าไปฟัง เสียเวลา อะไรที่ได้ยินแล้วเกิดกุศลก็ฟังไป ค่อยๆ เลือก ค่อยๆ ดูไป สังเกตไป เรื่องอะไรที่คิดแล้วกิเลสเกิด ก็อย่าไปคิดมัน เปลี่ยนมาคิดเรื่องที่เป็นกุศลแทน

ฝึกตัวเอง ฝึกไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะแตกต่างกับคนทั่วไป คนทั่วไปมันก็ติดอยู่กับโลกเท่านั้น ติดอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในเรื่องราวที่มันติดอกติดใจไป ในขณะที่ใจเราเป็นอิสระมากขึ้นๆ ยิ่งใจเราเป็นอิสระเมื่อไร ใจมันจะโปร่ง โล่ง เบา มีความสุข มีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน คนในโลกอยากได้ความสุข ก็เลยวิ่งหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่พอใจ วิ่งหาแทบเป็นแทบตาย ทั้งๆ ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เราจะหามาได้ จะดีหรือจะไม่ดี อยู่ที่กรรมของเรา วิบากเก่าของเราให้ผลมา ไม่ใช่เลือกได้ ไม่ใช่เลือกได้ แต่ต้องสำรวม พยายามสำรวมไว้

อะไรที่ยุ่งด้วยแล้วยั่วกิเลส เลี่ยงๆ เสีย อะไรที่เข้าไปสัมผัสแล้วกุศลเจริญ กิเลสเสื่อมไป เอาอันนั้น สัมผัสบ่อยๆ แค่คุยกับเพื่อน คุยกันแล้วก็เมาท์ มอย มัน มีทั้งเมาท์ เมาท์มอย มัน แล้วก็มั่ว แล้วก็มึน สุดท้ายลงไปที่มึน มึนคือหัวหมุนไปเลย บ้าๆ บอๆ ไร้สาระ อย่างนี้ ถ้าใครมาชวนเราคุยเรื่องไร้สาระ เลี่ยงได้ให้เลี่ยงเลย ใครมาชวนเราคุยเรื่องที่กุศลเราจะเจริญ เราก็ฟัง คุยกับเขาอย่างนั้น

พวกพระที่อยู่กับหลวงพ่อมานานๆ หรือโยมที่อยู่กับหลวงพ่อมานานๆ จะรู้อย่างหนึ่ง หลวงพ่อไม่คุยเรื่องอื่น จะมาชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ มาเล่าอะไรให้หลวงพ่อฟัง ไม่เอา เสียเวลา หลวงพ่อพูดแต่เรื่องธรรมะ ฉะนั้นเรื่องอื่นไม่พูดเลย มันเป็นนิสัยเลย ฝึกตัวเองมาอย่างนั้น เรื่องอกุศลไปยุ่งกับมันทำไม อย่างพระอาจารย์อ๊า รู้เลย เวลาสาธุชน อันนี้สุภาพ เวลาสาธุชนมาขอพบ มาชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ หลวงพ่อก็จะฟังแกนๆ ไปอย่างนั้น เฉยๆ เสียเวลา ไม่ฟังก็ไม่ได้ เสียมารยาท เลยต้องยอมเสียเวลา ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาอารมณ์เสีย เขาอารมณ์เสีย ไม่ดีกับเขาเอง จิตเขาเป็นอกุศล เราก็ฟังไป เลี่ยงได้เราก็เลี่ยง เสียเวลา

หลวงพ่อเลยมีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง หลวงพ่อไม่เก่งเรื่องปฏิสันถาร ทักทายพูดคุย ซักโน่นซักนี่อะไร ไม่มี บางทีพวกเรามาเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง ฟัง ฟังเสร็จแล้วลืม มีคนมาถามหลวงพ่อว่า เขามาเล่าเรื่องนี้แล้วเป็นอย่างไร ไม่รู้ รู้แต่แค่ที่เขาเล่า แล้วก็จบแค่นั้น ไม่คิดต่อ ไม่ถามต่อ สู้กับกิเลสของเราคนเดียวก็แย่แล้ว ยังไปยุ่งกับกิเลสคนอื่นอีก มันเรื่องอะไร ฝึกนิสัยอย่างนี้ไว้ใช้ แล้วดี จิตใจเราจะไม่สกปรก

ถ้าเราทำใจเหมือนถังขยะสาธารณะ มันก็แย่ เดี๋ยวคนเขาเอาหนูตายมาทิ้ง เดี๋ยวเอาเศษอาหารบูดๆ มาทิ้ง เดี๋ยวเอาแมวตายมาทิ้ง บางทีหมาตายตัวใหญ่ๆ พาดเอาไว้ ใส่ถังไม่ได้ เอาวางไว้ข้างๆ ถัง เรื่องอะไรทำใจของเราให้เป็นถังขยะสาธารณะ แค่ขยะในบ้านเราคนเดียวก็แย่อยู่แล้ว จะไปหาขยะนอกมาเพิ่มทำไม อย่างเรื่องวัดไร่ขิงอะไรนี้ ขยะข้างนอก อย่าให้ใจเราเศร้าหมองไป หลวงพ่อวัดไร่ขิง ท่านดี บอกเลยว่าจริงๆ ท่านดีมาก คนไหว้ท่านมาหลายร้อยปีแล้ว ไปพูดอะไรให้ท่านฟัง ท่านก็อุเบกขา นิ่ง เงียบ ไม่พูดอะไร

ใครเคยไปหาท่านไหม หลวงพ่อเคยเข้าไปกราบ 2 – 3 ครั้ง ท่านดี คนไปวุ่นวายทั้งวัดเลย เข้าไปหาท่านเยอะแยะเลย ท่านเฉย อุเบกขา หน้าท่านก็ยิ้มอยู่อย่างนั้น ดีๆ ไม่เสื่อม ใครไปทำอะไรไม่ดีๆ ใกล้ท่านนี้เสื่อม เทวดาไม่ชอบ ฉะนั้นจะไปไหว้พระได้ไหม ได้ เรื่องของคน ไม่เกี่ยวกับหลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อโสธรอย่างนี้ พระชินราชอย่างนี้ ไปไหว้แล้วมีความสุข แต่ละองค์ ก็รู้จักเลือกก็แล้วกัน จะเอาขยะเข้าบ้าน หรือจะเอาดอกไม้หอมๆ เข้าบ้าน

อากาศชื้นๆ เสียงจะไม่ค่อยดีเท่าไร พอไหวไหม ให้การบ้านง่ายๆ ต่อไปนี้เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ใจกระทบอารมณ์ เช่น ใจเราคิด คิดเรื่องนี้เกิดสุข เกิดทุกข์ ให้รู้ทัน หรือถ้าเกิดกุศล อกุศล รู้ทันด้วยยิ่งดีใหญ่เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนี้เป็นส่วนของรูปธรรม ใจเป็นส่วนของนามธรรม พอกระทบอารมณ์แล้ว เกิดความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นในใจ อันนี้เป็นนามธรรม ตรงตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปธรรม

 

เรียนปฏิจจสมุปบาทด้วยสติปัฏฐาน

การที่เรามีสติรู้รูปธรรมอยู่ เห็นมันไม่ใช่ตัวเราของเรา นั่นเรากำลังเดินเจริญสติเจริญปัญญาในหมวดกายานุปัสสนา การที่เราเห็นความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในใจเรา เราเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่ เราจะได้ทั้งสติ ได้ทั้งปัญญา การที่เราเห็นกุศลอกุศลเกิดขึ้นในใจเรา มันแทรกตามเวทนามา เห็นกุศลอกุศลที่เกิด ตรงนั้นเราเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่ แล้วตรงที่เราเห็นว่าทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งเฉยๆ ทั้งกุศล ทั้งอกุศล เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราเขยิบขึ้นมาเห็นกระบวนการทำงานของมัน นี่เรามาเรียนถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ตรงที่ตาเราสัมผัสอารมณ์ มีผัสสะ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วเกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น เรามีสติรู้ เรากำลังเจริญอยู่ในขั้นธัมมานุปัสสนา เรากำลังเรียนปฏิจจสมุปบาทอยู่ แล้วเห็นกิเลสที่แทรกตามเวทนา เห็นตัณหาคือความอยาก ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส เห็นความปรุงแต่งดิ้นรนของจิต นั่นคือภพ

ถ้าละเอียดก็จะเห็นชาติ คือการที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ถ้าไม่เห็นชาติ ไม่เป็นไร เห็นเท่าที่เห็นได้ เราก็จะเห็น พอมีความอยากเกิดขึ้น ใจเราก็ดิ้นรน ใจดิ้นรนทีไร ใจไม่มีความสุข ความทุกข์ก็เกิด เรากำลังเดินอยู่ในธัมมานุปัสสนา ค่อยๆ ฝึก แล้วจิตมันจะอัปเกรดขึ้นไปเรื่อยๆ เริ่มต้น บางคนเริ่มจากกาย กายานุปัสสนา บางคนเริ่มที่เวทนาก็ได้ บางคนเริ่มที่จิตตานุปัสสนาก็ได้ แต่สุดท้ายทุกคนจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนา จะไปรู้ว่ากุศลเกิดเพราะอะไร อกุศลอย่างนิวรณ์นี้เกิดเพราะอะไร กุศลอย่างโพชฌงค์ 7 เกิดเพราะอะไร ทำอย่างไรเกิด ทำอะไรไม่เกิด จะรู้

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สะสมไป จะรู้ขันธ์ 5 ไม่ใช่รู้แต่รูป ไม่รู้เฉพาะเวทนา สัญญา สังขารแต่ละอย่าง แต่จะรู้ขันธ์ 5 จะรู้อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 มันรู้ประณีตๆ เลย รู้ละเอียดขึ้นไปด้วย สุดท้ายจะรู้อริยสัจ รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่ต้องตกใจ ตอนนี้แค่ว่ามีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ ทำตัวนี้ให้ชำนิชำนาญ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ เราจะรู้ได้ถ้าใจเราไม่ฟุ้งซ่าน เราอ่านใจเราออก เราถึงจะรู้

ฉะนั้นเราต้องฝึก ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองไว้ ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปใจเราสุขหรือทุกข์ เราก็ดูออก ใจเรามีกิเลสอะไร เราก็ดูออก ใจเราไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ดูออก พอดูออก ใจเราจะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วปัญญามันจะเกิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ต้องฝึกให้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้ว เราก็จะอ่านจิตใจตัวเองสบายๆ ถ้าจิตมันยังไม่ตั้งมั่น ดูได้แวบเดียวก็หนีไปแล้ว หลงไปแล้ว

วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง คือการฝึกอ่านจิตตัวเองนั่นเอง อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน นี่เรากำลังหัดเรียนสภาวะฟุ้งซ่านแล้ว หายใจไปจิตเราสงบ รู้ว่าสงบ นี่เรากำลังเรียนเรื่องสภาวะสงบแล้ว หายใจไปๆ หงุดหงิด ไม่สงบเสียที หงุดหงิด มีโทสะ รำคาญใจ เรากำลังเรียนรู้ถึงโทสะ ถึงความรำคาญใจ มันคือการหัดเรียนรู้สภาวะ

ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ หรือทำกรรมฐานไป ใจหนีไปคิด รู้ว่าใจหนีไปคิด นี่เราเรียนรู้คำว่าฟุ้งซ่านแล้ว อุทธัจจะ จิตไหล หลงไปแล้ว เราทำกรรมฐานไปแล้วหงอย ซึมกระทือ นี่เราเรียนรู้เรื่องถีนมิทธะ ความเซื่องซึม เพราะฉะนั้นไปทำกรรมฐาน แล้วเราจะรู้จักสภาวะต่างๆ แล้วพอเรารู้สภาวะ พอสภาวะอันไหนเกิด สติจะเกิดเอง สติจะเกิดได้เองเลย เพราะจิตเราจำสภาวะอันนั้นได้แล้ว สติจะเกิดเอง

ฉะนั้นเบื้องต้นทำกรรมฐานไป ไม่ต้องห่วงจะสงบหรือไม่สงบ จะสุขหรือไม่สุข หรือว่าจะดีหรือไม่ดี ไม่ต้องห่วง สงบรู้ว่าสงบ เรียนรู้สภาวะสงบ ทำกรรมฐานแล้วไม่สงบ รู้ว่าไม่สงบ นี่เราเรียนสภาวะไม่สงบแล้ว ทำกรรมฐานไปแล้วมีความสุข เรารู้ว่ามีความสุข เรากำลังเรียนสภาวะของความสุข ทำกรรมฐานไปแล้วมีความทุกข์ อึดอัด เบื่อหน่าย ใจมีโทสะแล้ว เบื่อหน่าย ขี้เกียจ สภาวะแต่ละอย่าง ทำไปแล้วขี้เกียจ รู้ลงไป ใจมันขี้เกียจก็รู้ว่าขี้เกียจ

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐาน แล้วคอยอ่านความรู้สึกของตัวเองเรื่อยๆ ไป อ่านจิตอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ ไป เราจะรู้จักสภาวะมากขึ้นๆ และรู้จักสภาวะได้แม่นมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะได้แม่น ทันทีที่สภาวะอันนั้นเกิด สติจะเกิดเอง ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ทำกรรมฐาน แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ หลงไปก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ

พอจิตจำสภาวะได้แม่น พอสภาวะอันนั้นเกิด สติเกิดอัตโนมัติ ถ้ายังต้องเคี่ยวเข็ญให้สติเกิด ยังห่างไกลมากเลย ยังใช้ไม่ได้ ยังอ่อนเกินไป ต้องสติอัตโนมัติเกิด แล้วทันทีที่สติอัตโนมัติเกิด สัมมาสมาธิอัตโนมัติก็จะเกิดควบคู่กันมา เกิดร่วมกับสติอัตโนมัติเลย มาเองเลยสมาธิตัวนี้ สมาธิตัวนี้สำคัญมาก มันไม่ใช่นั่งสมาธิ แล้วก็หลับเคลิ้มเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิจะต้องประกอบด้วยสติเสมอ ฉะนั้นต้องฝึก อยู่ๆ สติไม่เกิดหรอก สติเกิดจากเราเห็นสภาวะบ่อยๆ

ฉะนั้นทำกรรมฐาน ทุกวันต้องทำ จะนั่งสมาธิ หรือจะเดินจงกรมก็ได้ ทำไป แล้วจิตใจเราสุข ทุกข์ ดีชั่วอะไร ก็คอยรู้ไป หลงไปก็รู้ ถลำลงไปเพ่งจ้องก็รู้ หัดรู้อย่างที่มันเป็น ไม่ต้องไปแทรกแซง ไม่ต้องไปแก้ไข ต่อไปสัมมาสติก็เกิด สัมมาสมาธิก็เกิด แล้วต่อไปจะเห็นไตรลักษณ์ ตรงที่สัมมาสมาธิเกิด ทันทีที่สัมมาสมาธิเกิด ขันธ์มันจะแยกตัวเลย กายกับจิตคนละอันกัน เวทนากับร่างกายกับจิต คนละอันกัน สังขารกับร่างกาย กับเวทนา กับจิต เป็นคนละอันกัน จิตกับรูป เวทนา สัญญา สังขาร กับจิต คนละอันกัน

ก็ค่อยแยกๆๆๆ ออกไป แล้วแต่ละอันล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ทั้งสิ้น มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มีแต่ของที่ไม่ใช่ตัวเรา ปัญญาเกิด ไม่ใช่คิดเอา ต้องเห็นเอา วิปัสสนาปัญญาเกิดจากการเห็นถูก ฉะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิก็คือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก รู้ถูก เห็นถูก พอได้หลักที่จะเอาไปทำต่อไหม ไปฝึกให้เกิดสติ โดยการทำกรรมฐาน ทำในรูปแบบ ต้องทำ สมัยแรกๆ หลวงพ่อก็บอกลูกศิษย์รุ่นแรก ต้องปฏิบัติในรูปแบบให้ได้อย่างน้อยวันละ 15 นาที ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว ผ่านมา 20 ปี ตอนนี้บอกไปทำให้ได้ 3 ชั่วโมง ถ้าเริ่มต้นบอกทำ 3 ชั่วโมง พวกเราวิ่งหนีหมดเลย หัดใหม่ๆ ไม่ต้อง 3 ชั่วโมง เอาเท่าที่ได้ แต่อย่าขี้เกียจ ทำทุกวันๆ แล้วต่อไปนั่งสมาธิก็ได้นาน เดินก็ได้นาน สติต่อเนื่อง นานไม่ได้นับที่ชั่วโมงหรอก นับที่สติมันต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ

ฝึกนะ อดทนเข้า อยากได้ของดีก็ต้องอดทนเอา ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป จิตใจสุข จิตใจทุกข์ จิตใจเป็นกุศล จิตใจโลภ โกรธ หลง จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจหดหู่ คอยรู้เรื่อยๆ แล้วต่อไปสติเกิด สมาธิเกิด แล้วต่อไปปัญญามันจะเกิด

 

 

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ พรุ่งนี้หลวงพ่อไม่อยู่ ไปเทศน์ที่บ้านจิตสบาย จิตสบายแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ใครตอบได้บ้าง สมาธิจะเกิดขึ้น เดี๋ยวตีตายเลยสอนตั้งนาน มานั่งงง จิตเรามีความสุขมีความสบาย สิ่งที่ตามมาคือสมาธิ แต่ถ้าสบายอย่างโลกๆ อันนั้นไม่เรียกสบายจริง อันนั้นมันหลอกตัวเองว่าสบาย จิตสบายมันสงบ สงบ สบาย มีความสุข ฝึกนะ จิตที่เข้าถึงความสุขความสงบตัวนี้ จากการปฏิบัติ เป็นมงคลในชีวิตที่ยิ่งใหญ่มาก เข้าถึงความสงบภายในของเรา

โลกไม่เคยหยุดนิ่ง โลกวุ่นวายอย่างนี้ไม่เคยจบ ปัญหาในชีวิตเราไม่เคยจบ หมดปัญหาหนึ่งก็มาอีก 2 ปัญหา เรื่องธรรมดา มีสติไว้ อย่าให้ความอยากมันนำหน้าปัญญาของเราไป เราก็จะแก้ปัญหาชีวิตของเราได้ ถ้าความอยากมันนำหน้าสติปัญญา มันก็ทุกข์แน่นอน ช่วงนี้โลกมันทุกข์เยอะ วุ่นวาย อะไรที่ไม่จำเป็นอย่าไปแบกมัน อย่าไปแบกทุกข์ อย่าไปแบกปัญหาอะไรไว้ โลกไม่เคยว่างจากปัญหา ปัญหาเป็นของประจำโลก จิตที่ฝึกดีแล้ว มีปัญหาอยู่ แต่ไม่มีความทุกข์ ความทุกข์กับปัญหาเป็นคนละส่วนกัน ปัญหาเป็นของประจำโลก ไม่หมดหรอก

อย่างเรื่องพระไม่ดี ไม่หมดหรอก อย่างไรก็มี มันของธรรมดา แล้วใจเรามีความอยากขึ้นมาเมื่อไร ใจเราก็จะมีความทุกข์เมื่อนั้น รักษาใจของเรา บางคนทำกิจการแล้วมีปัญหาล้มเหลว ฐานะแย่ลง รักษาไว้เต็มที่แล้วทำไม่ไหว มันถอย เสื่อมถอยลง ยังไม่มีช่องทางใหม่ๆ ที่จะทำมาหากิน อย่างน้อยรักษาใจไว้ให้ได้ อย่าให้ใจจมอยู่ในความทุกข์ เศร้าหมอง ใจที่เศร้าหมองจมในความทุกข์ ไม่มีสติปัญญาที่จะไปแก้ปัญหาหรอก ฉะนั้นรักษาใจไว้ให้ดี ไม่รู้จะอวยพรอย่างไรแล้ว หันไปทางไหนก็เห็นแต่ทุกข์ พวกที่ยิ้มๆ ข้างในมันก็ทุกข์ เห็น น่าสงสาร สงสารแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อุเบกขาก็แล้วกัน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 พฤษภาคม 2568