พวกเราชาวพุทธต้องเรียน ขั้นต้นก็เรียนเรียกปริยัติ คืออ่านศึกษาคำสอนที่ถูกที่ตรง ที่ถูกตรงที่สุดก็พระไตรปิฎก การตีความพระไตรปิฎกเขาเรียกอรรถกถาศึกษา แต่จะศึกษาทั้งหมดมันเยอะมาก เมื่อก่อนหลวงพ่อพยายามค้นคว้าวิธีปฏิบัติ ตอนเด็กเรียนได้แค่สมาธิ เรียนทำอานาปานสติแล้วได้สมาธิขึ้นมา แต่อยากเรียนสิ่งที่มากกว่านั้น ตอนนั้นไม่รู้จักคำว่าวิปัสสนา รู้แต่เราทำสมาธิเราก็อยู่เฉยๆ อย่างนี้ สบายๆ ศาสนาพุทธมีอะไรมากกว่านี้ เราจะหาวิธีปฏิบัติให้มันดียิ่งกว่านี้อีก
ไม่มีครูบาอาจารย์ก็อ่านเอา พยายามช่วยตัวเอง อ่านพระไตรปิฎก แต่อ่านได้แค่พระวินัยกับพระสูตร อ่านจนหลายรอบ 2 – 3 รอบเลย จำไม่ได้แล้ว แต่อ่านเยอะเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร จับหลักไม่ได้ คล้ายๆ ธรรมะเต็มตู้เลย ถ้าพระไตรปิฎกเต็มตู้เลย แต่ตรงไหนส่วนไหนที่เราจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติได้ ใช้เวลานานในการแสวงหาตัวนี้ จนอายุ 29 แล้วถึงได้เจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนหลวงพ่อเข้ามาที่จิต ไม่ไปที่อื่นเลย เริ่มต้นก็เข้าที่จิตเลย
ทีแรกก็นึกว่าท่านสอนเรื่องจิตกับทุกคน ตอนหลังพบว่าไม่ใช่ บางคนยังไม่มีสมาธิท่านสอนให้พุทโธไป หรือบางคนพุทโธแล้ว จิตมันไม่เอา จิตมันไม่ชอบ ท่านให้พิจารณาร่างกาย บางคนท่านก็ให้ดูผม ผมเส้นเดียว บางคนก็ให้ดูกระดูกอะไรอย่างนี้ พอจิตมีสมาธิขึ้นมาก็สอนการเจริญปัญญา การเจริญปัญญาเบื้องต้นก็มีพิจารณากาย ก็เป็นลำดับเข้าไป จากกายไปสู่เวทนา หลวงพ่อนี่ท่านให้ดูจิตเข้าไปตรงๆ เลย เพราะว่าเราทำสมาธิมาเยอะแล้ว ฉะนั้นพวกเราถ้าสมาธิเรายังไม่พอ เราจะดูจิตไม่รู้เรื่อง เพราะจิตเป็นของว่องไวมาก มันหนีเก่ง พักเดียวหนีไปแล้ว ถ้าเราดูจิตไม่ได้ดูกายไว้ เพราะร่างกายไม่เคยหนีไปไหน คอยรู้สึกกายไว้
ธรรมะที่สำคัญที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องรู้
พูดถึงปริยัติก็มีส่วนธรรมะที่สำคัญๆ ที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องรู้หลายเรื่องเหมือนกัน แต่ว่าไม่เยอะหรอก ไม่ใช่ 84,000 พระธรรมขันธ์ เรื่องที่พวกเราต้องรู้ เรื่องไตรสิกขา เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องศีลเบื้องต้นต้องจงใจที่จะรักษาก่อน เรียกว่ามีเจตนาวิรัติ มีความจงใจที่จะงดเว้นการทำบาปอกุศล 5 ข้อสำหรับฆราวาส 8 ข้อ ศีล 8 เอาไว้ถือเป็นคราวๆ มีโอกาสก็ถือ แต่ศีลยืนพื้นเลยก็คือศีล 5 ขาดไม่ได้ ตัวเจตนาที่จะงดเว้นการทำบาปอกุศลก็เป็นศีลเบื้องต้น ศีลที่สูงขึ้นไปเราก็จะพัฒนาโดยอาศัยกำลังของสติเข้ามาช่วย
ทีนี้การจะฝึกให้เกิดสติจะทำอย่างไร ก็ต้องเรียนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐานในเบื้องต้นเป็นไปเพื่อความมีสติ ทีนี้พอเรามีสติแล้ว เราก็มาเดินปัญญา การเจริญปัญญาก็เป็นการเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรียนรู้ความจริงไม่ใช่เรียนรู้รูปนามกายใจ แต่เรียนรู้ให้เห็นเนื้อแท้ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย อย่างถ้าเราเรียนร่างกายเฉยๆ หมอเขาก็เรียนกัน เขาเรียกเรียนกายวิภาค ก็ไม่เห็นว่าเรียนแล้วจะบรรลุมรรคผลอะไร เพราะอันนั้นไปเรียนเห็นตัวกาย ถ้าเราจะเรียนให้ได้มรรคได้ผล เราต้องเห็นความจริงที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งแฝงอยู่ในร่างกาย คือไตรลักษณ์
เพราะฉะนั้นไตรลักษณ์ก็เป็นธรรมะอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ นี่มีหลายเรื่องแล้ว ทีแรกเรื่องศีล เบื้องต้นจงใจไว้ก่อน ต่อมาเราจะพัฒนาศีลให้ดีต้องมีสติ ขาดสติเดี๋ยวเดียวก็ขาดศีลแล้ว จะฝึกสติได้ดีต้องฝึกสติปัฏฐาน มันทำให้เกิดสติ แล้วพอสติจริงๆ ของเราเกิด จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา อันนี้เราได้เรียนเรื่องจิตแล้ว เรียนเรื่องจิต ทำอย่างไรจิตจะสงบมีเรี่ยวมีแรง ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเรียน อาศัยการเจริญสติก็จะช่วยทำให้จิตตั้งมั่นได้ง่ายๆ ไม่ยาก ไม่ต้องหัดเข้าฌาน ถ้าเราเข้าฌานก็ทำให้จิตตั้งมั่นได้ แล้วก็ตั้งได้นาน แต่ไม่เกิน 7 วัน ถ้าไม่ได้เข้าฌานแล้วอาศัยสติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น เราก็จะได้สมาธิชั่วขณะเรียกขณิกสมาธิ
สมาธิก็มี 3 อย่าง เราก็ต้องเรียนขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แต่อุปจารกับอัปปนาคนรุ่นเราทำยาก พวกเราพวกสมาธิสั้น เอาได้แค่ขณิกสมาธิก็สามารถทำมรรคผลให้เกิดได้แล้ว ฝึกตรงนี้
ทีนี้พอจิตเราตั้งมั่นแล้วก็ถึงขั้นเจริญปัญญา ไม่ได้ดูกายแต่ดูความจริงของกาย ไม่ได้ดูจิตใจแต่เรียนให้เห็นความจริงของจิตใจ ความจริงของกายของใจเรียกไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องเรียน ไตรลักษณ์มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าสามัญลักษณะ ลักษณะร่วมลักษณะทั่วไปของสิ่งที่เป็นสังขาร คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย นี่หลวงพ่อพูดคร่าวๆ ให้ดูก่อนว่าในทางปริยัติเราควรจะศึกษาอะไรบ้าง แล้วก็เรื่องขันธ์ 5 ต้องเรียน อายตนะ 6 เรื่องสำคัญ แล้วก็เห็นทั้งขันธ์ 5 ทั้งอายตนะ 6 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างถ่องแท้ มรรคผลเกิด ตรงนี้ไม่ต้องเรียนแล้ว จิตมันดำเนินไปเอง
ฟังแล้วเหมือนยาก มีอะไรที่ต้องเรียนมากมาย แต่ถ้าย่อๆ ลงมาก็คือ ถ้าเราจะทำความสงบ ทำอย่างไรจิตจะสงบ ตรงนี้หลวงพ่อก็ภาวนานานกว่าจะจับหลักได้ ใช้เวลาเยอะเลย ตอนเด็กๆ ภาวนาไม่กี่วันก็จิตรวมแล้ว เข้าสมาธิไป พอมันจำทางได้แล้วก็อยากเข้า พยายามจะเข้าสมาธิ ไม่เข้า สุดท้ายจับหลักได้ สมาธิก็จะไม่ยาก
ถ้าเราต้องการให้จิตของเราได้พักผ่อน ให้จิตเราสงบ ฆราวาสควรเรียนเพราะฆราวาสเหนื่อยมากเลย เครียดมาก แต่ละวันมีเรื่องต้องปวดหัวเยอะแยะเลย ถ้าเรามีที่พักผ่อนคือมีสมาธิ เราจะสามารถมีชีวิตที่มีความทุกข์น้อยหน่อย สบายกว่าคนอื่น คนอื่นเวลาเครียดกลุ้มใจนอนไม่หลับอะไรอย่างนี้ ของเราเครียดแต่นั่งสมาธิไปก็สบายใจ กินได้นอนหลับ อยู่กับโลกพออยู่ได้ไม่ลำบากมาก ฉะนั้นต้องเรียน ควรจะเรียนเอาไว้ เรื่องของสมาธิ
วิธีทำให้เกิดสมาธิ
ให้มีที่พักของจิตใจที่มีความสุข
วิธีที่จะทำให้เกิดสมาธิอย่างง่ายๆ คือลองสังเกตตัวเอง เราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วเรามีความสุข เราก็ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นบ่อยๆ อย่างบางคนอยู่ในที่โล่งๆ กว้างๆ แล้วสบายใจอย่างนี้ ไปหาที่ภาวนาโล่งๆ ทีแรกต้องไปจริงๆ ไปหาที่นั่งเอา ที่เดิน ชายทุ่งอะไรโล่งๆ แล้วสบายใจ สบายใจก็มีสติรู้จิตใจของตัวเอง รู้อารมณ์ไป ไม่นานจิตก็รวมเพราะมันมีความสุขมันก็ไม่วอกแวก ที่จิตเราวอกแวกเพราะจิตเราไม่มีความสุขก็แค่นี้เอง พอจิตเราไม่มีความสุข จิตก็วิ่งพล่านไปหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ แต่เราหาอารมณ์ที่มีความสุขมาให้จิตมันอยู่ด้วย มันอิ่ม มันเต็ม มันพออกพอใจ มันก็ไม่ดิ้นรนไปไหน จิตมันก็สงบ
บางคนไปนั่งริมทุ่ง ลมพัดเย็นๆ สบายใจ นั่งภาวนาไป พุทโธหายใจอะไรอย่างนี้ พักเดียวก็สงบแล้ว สบาย นี่ตรงนี้สัปปายะสำหรับเรา หลวงพ่อไม่ได้ชอบที่โล่งๆ อย่างนั้น หลวงพ่อชอบอยู่ริมน้ำ ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ริมคลอง ไปนั่งดูน้ำไหล ดูลมพัดน้ำพริ้วๆ ดูแล้วสบายใจ พอเห็นน้ำตัวนี้. ใจก็สงบสบายมีความสุขอยู่ ต่อมาพอเราชำนาญ เราไม่ต้องไปเดินหาน้ำหรือไม่ต้องไปเดินหาที่โล่งอะไรหรอก
บางคนชอบอยู่ถ้ำไปภาวนาที่มืดๆ แต่พอเราชำนาญขึ้นไม่ต้องไปหาที่จริงหรอก เราทำใจของเรา อย่างสมมติเราชอบริมแม่น้ำ เราทำใจหลับตาลงแล้วนึกถึง นึกถึงแม่น้ำ นึกถึงคลอง นึกถึงคลื่น นึกถึงระลอกน้ำ วางใจอย่างมีความสุขสบายๆ นึกถึง ใจก็จะสงบอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่ไปดูของจริงเลย ถ้าเรารู้จักวางใจให้ถูก รู้จักใช้อารมณ์ ทีแรกก็ต้องไปดูอารมณ์ของจริง พอชำนาญขึ้นแล้วมันเป็นอารมณ์ที่ติดอยู่ในใจเราแล้ว เราก็ดูอารมณ์ในใจเรานี่
หรืออย่างกสิณ หัดทีแรกอยากให้จิตสงบ ไปนั่งจุดเทียนขึ้นเล่มหนึ่ง แล้วก็นั่งดูไฟ ลืมตาดูบ้าง แล้วก็หลับตาลงมา แล้วก็ลืมตาดูอีก แล้วก็หลับตา จนกระทั่งภาพของไฟมันติดใจ ไม่ใช่แค่ไปมองเห็นแล้วคราวนี้ ถึงไม่มองไฟแต่หลับตาลงมาก็เห็นไฟแล้ว ภาพมันติดอยู่ในสัญญาของเราแล้ว เราก็ใช้ตัวนี้ทำกรรมฐานต่อได้ เพราะฉะนั้นอย่างพวกเราอยู่ในเมืองวุ่นวายจะตายไป มีแต่รถติดวุ่นวาย ผู้คนแออัดยัดเยียด ทำอะไรก็แย่งกันขึ้นรถไฟฟ้า เดี๋ยวนี้ดีหน่อย เดี๋ยวนี้เข้าแถว แต่ขึ้นไปแล้วก็แน่นเชียว ถ้าใจเราไม่ชอบคนเยอะๆ อย่างนั้น เราก็ฝึกใจของเรา ไม่ต้องไปเที่ยวหาอารมณ์ที่สบายหรอก นึกถึงอารมณ์ที่สบายไว้ ฝึกให้ชำนิชำนาญ
แค่นึกถึง มีค่าเท่ากับเราไปเดินไปดูของที่จิตมันชอบจริงๆ อย่างบางคนชอบภูเขา ภูเขาทางเหนือฤดูหนาวบางทีมีเมฆมีหมอกผ่านภูเขา รู้สึกเห็นแล้วมีความสุข พอถึงฤดูร้อนภูเขาแห้งแล้งแล้วคราวนี้มีแต่ไฟไหม้ ขืนไปดูไม่มีให้ดูแล้ว ที่ภูเขาสวยๆ ทีนี้เราก็นึกถึงภาพภูเขาเขียวๆ ร่มเย็น นึกถึงอย่างนั้นแล้วใจเรามีความสุข จดจ่ออยู่อย่างนั้นไป สมาธิก็เกิดได้
ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจหลักของการปฏิบัติว่าเราอยากสงบ น้อมใจไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้ทั้งนั้น อย่างการที่เราหลับตาแล้วเรานึกถึงภูเขา นึกถึงแม่น้ำ นึกถึงป่า นึกถึงดอกไม้ นึกถึงพระอาทิตย์พระจันทร์อะไรที่เราชอบ มันเป็นอารมณ์ทางใจ เอามาทำสมาธิได้ไหม ได้ ไม่ได้ต่างกันเลย แล้วถ้าชำนาญจริงๆ จิตจะรวมเร็วกว่าไปดูของจริงเสียอีก ดูของจริงบางทีมันก็ดี บางทีมันก็ไม่สวยไม่ถูกใจ
ฉะนั้นพยายามฝึก ฝึกตัวเอง บางคนก็ใช้วิธีนึกถึงพระพุทธรูป เรานึกถึงพระที่เราชอบสักองค์หนึ่ง ใครชอบพระชินราชก็นึกถึงพระชินราช ชอบพระแก้วมรกตก็นึกถึงพระแก้วอะไรอย่างนี้ แต่อย่าไปนึกถึงว่าคนแย่งกันไปกราบพระแก้วเต็มวัดเลย นึกถึงแล้วใจวุ่นวายก็อย่าไปเอา นึกถึงตัวพระ องค์พระ ชอบพระองค์ไหนก็นึกถึงพระองค์นั้น นึกไป องค์ไหนเราเห็นแล้วเรามีความสุขก็นึกถึงองค์นั้น ฉะนั้นเวลาภาวนา เราภาวนาแล้วเรานึกถึงพระที่เราชอบ นึกถึงพระชินราชว่าสวย นึก แล้วก็หลับตานึกไป ใจเราก็สงบมีความสุขได้ ใจก็เข้าสมาธิได้
จิตมันรวมเองเวลามันจะเข้าสมาธิ ไม่ต้องไปพยายามยัดเยียดให้มันเข้า พยายามทำจิตให้สงบ จิตจะไม่มีวันสงบเลย จิตไม่ชอบให้ใครบังคับ จิตเหมือนเด็ก ซนๆ ต้องหาของชอบมาให้มันเล่น มันก็จะไม่ซนไปที่อื่น จิตนี้ถ้าเราหาอารมณ์ที่มันชอบมาดึงดูดใจมันไว้ ก็ไม่วอกแวก ไม่เที่ยววิ่งพล่านไปหาอารมณ์อื่น
ฉะนั้นเวลาอยู่ในรถไฟฟ้าหรืออยู่ในรถเมล์ คนแน่นๆ รถเมล์ก็แล้วกัน ทำสมาธิได้ไหม ได้ เห็นไหมแค่เรานึกถึงใจ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรานึกแล้วเรามีความสุข เราก็นึกไป ท่ามกลางความวุ่นวาย เราสามารถทำสมาธิได้ ไม่ยาก อยู่ที่การฝึกของเรา ทีนี้เป็นฆราวาส ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนหลวงพ่อ บอกว่าถ้าเราทำสมาธิอะไรก็ไม่ได้ แล้วเราต้องการให้จิตพักชั่วครั้งชั่วคราว ลองหายใจเข้าให้ลึกๆ สิ ทุกคนหายใจเข้า แล้วกลั้นลมหายใจไว้ ตอนที่เรากลั้นลมหายใจ เราจะเห็นจิตมันนิ่งๆ อยู่ช่วงหนึ่ง มันจะสงัดเงียบๆ อยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าจิตเราอยู่ตรงนี้ได้ชั่วขณะเดียวเท่านั้น จิตเราถอยออกมา เราจะมีแรงสู้กับโลกได้อีกเป็นชั่วโมงเลย ฉะนั้นเรื่องของสมาธิฝึกได้ก็ฝึก อันนี้เป็นสมาธิเพื่อเราจะสามารถมีความสุขอยู่ได้ท่ามกลางความวุ่นวาย
ตอนหลวงพ่อหัดใหม่ๆ หลวงพ่อก็ต้องการสถานที่เรียกสัปปายะ ที่ที่คนน้อยๆ ไม่แออัด ที่ที่เป็นธรรมชาติ ชอบที่อย่างนั้น ถ้าต้องอยู่ในศูนย์การค้าอะไรนี่ทำสมาธิไม่ได้ จิตใจจะกระเพื่อมหวั่นไหวมากเลย มีเสียงตึ้มๆๆ อะไรนี่ เสียงดนตรี ไม่รู้มันเพราะอย่างไร ฟังแล้วหน้าอกสะเทือนเลย อย่างนั้นทำสมาธิไม่ได้ ถ้าเราเข้าไปอยู่ในที่แออัดยัดเยียด ไม่สบายใจ อย่าไปดูมัน เราต้องมีมโนภาพในใจเรา นึกถึงสิ่งที่เราสบายใจไว้ อย่างนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ นึกถึงครูบาอาจารย์ก็ได้ นึกถึงธรรมชาติที่สบายก็ได้ แล้วก็ระลึกอยู่อย่างนั้น ใจเราระลึกไป ใจเราก็มีความสุขมีความสงบได้ท่ามกลางความวุ่นวาย
อย่างมีคนเคยถามหลวงพ่อว่า เวลาเจอโยมทีละเป็นพันอย่างนี้ หลวงพ่อรู้สึกอย่างไร เราก็ไม่ค่อยอยากบอกหรอก เขาถามไปถามมา บอกก็ได้ รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ท่ามกลางดอกไม้ต้นไม้ รู้สึกเหมือนอยู่กับต้นไม้ ไม่ได้รู้สึกว่าอยู่กับคนนั้นอยู่กับคนนี้ นี่เรื่องของสมาธิ ฝึกนะ ฝึกไว้ แล้วเราจะได้ที่พักของจิตใจที่มีความสุข
สมาธิที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือสมาธิที่ตั้งมั่น
ทีนี้สิ่งที่เราควรจะเรียนต่อไปนอกจากความสงบ ก็เรียนสมาธิที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือสมาธิที่ตั้งมั่น ตรงนี้มันอยู่เหนือความสงบอีก เพราะมันสามารถตั้งมั่นได้ท่ามกลางความวุ่นวาย อย่างที่หลวงพ่อบอก เราอยู่กับคนเยอะๆ แต่ใจเราตั้งมั่น ไม่เข้าไปคลุกวงในกับคนโน้นกับคนนี้ กับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้
วิธีฝึกสำหรับคนที่ไม่ได้ฌาน ก็ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง อย่างเราใช้มโนภาพนึกถึงดอกไม้สวยงามอย่างนี้ แล้วเรามีความสุขสงบ เรานึกถึงดอกไม้ ดอกไม้เป็นของถูกรู้เขาเรียกว่าอารมณ์ ทีนี้เราจะให้จิตตั้งมั่น เราไม่ได้ไปเน้นที่ตัวอารมณ์ เรามาเน้นที่ตัวจิต อย่างเรานึกภาพดอกไม้แล้วใจเราวอกแวกหนีไปคิดเรื่องอื่น กำลังคิดถึงดอกไม้สบายใจ อุ้ย พรุ่งนี้ต้องทำงานแล้ว นี่ใจวอกแวกแล้ว ห้ามได้ไหม ห้ามไม่ได้ ไม่ต้องห้าม ยิ่งห้ามยิ่งเครียด
ฉะนั้นใจหนีจากอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทันว่าใจหนีไปแล้ว แล้วทันทีที่เรารู้ทันว่าจิตหนีไป จิตที่ไหลไปหลงไปจะดับทันที แล้วจะตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่ไม่ไหลนั่นล่ะ ก็ตั้งมั่นอยู่ อย่างนาฬิกานี่ กระติกน้ำนี่ ดอกไม้ปลอมนี่ มันตั้งอยู่ตรงนี้ ทำไมเรียกมันตั้งอยู่ เพราะมันไม่ไหลไป เราจะให้จิตตั้งมั่น เราห้ามจิตไม่ให้ไหล ห้ามไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา แต่เราให้มีสติรู้ว่าจิตไหลไป ถ้าเรารู้ว่าจิตไหลไป จิตที่ไหลจะดับ เพราะจิตที่ไหลเป็นจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านเป็นจิตอกุศลเรียกอุทธัจจะ เป็นตระกูลโมหะเรียกอุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน เมื่อจิตไหลไปด้วยโมหะ เรามีสติรู้ โมหะหรืออุทธัจจะตัวนั้นดับ
ถ้าสติเราเกิดเมื่อไร กิเลสจะดับทันทีๆ เพราะกิเลสกับสติไม่เกิดร่วมกัน เหมือนความมืดกับความสว่างไม่เกิดร่วมกัน เราอยู่ในห้องมืด พอเราเปิดไฟเท่านั้น ไฟสว่าง ความมืดก็หายไป เวลาเรามีกิเลส มีสติขึ้นมาเหมือนจิตมันสว่างขึ้นมา ความมืดก็คือกิเลสก็หายไปทันที ไม่ต้องละ ฉะนั้นเราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง เราไม่ต้องละกิเลส กิเลสเองอยู่ในกองทุกข์ ส่วนใหญ่ของกิเลสนี่อยู่ในกองทุกข์ ก็มีตัวตัณหาเป็นโลภะที่มีกำลังแรง อันนั้นอยู่ในกองสมุทัย ยกเว้นให้เท่านั้นล่ะ ส่วนใหญ่นอกนั้นก็เป็นกองทุกข์ ทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ
ฉะนั้นเวลาจิตโกรธขึ้นมา เรากำลังนึกถึงพระพุทธรูป ใจกำลังสบาย หมาข้างบ้านเห่า โฮ่งๆๆ เสียงดังไม่รู้จักเลิก จิตเราวิ่งไปหาหมา วิ่งไปทางหู ไปฟังเสียงหมา คราวนี้เราลืมพระพุทธรูปของเราแล้ว ที่เรานึกอยู่ ภาพพระในใจหายไป ภาพหมาในใจก็เกิดขึ้นแทน จำได้ตัวนี้หน้าตาอย่างนี้ โมโห นี่จิตมันทิ้งอารมณ์กรรมฐาน มันไหลไปหาอารมณ์อื่นแล้ว ตรงนี้เรียกว่าฟุ้งซ่าน จิตไม่ตั้งมั่น
ถ้าเรามีสติรู้ว่าตอนนี้จิตหลงไปฟังเสียงแล้ว จิตที่หลงไปจะดับอัตโนมัติ เราไม่ต้องละกิเลส แค่มีสติขึ้นมารู้ทันว่า ตอนนี้มีสภาวะอะไรที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ กิเลสดับเอง ไม่มีกิเลสอะไรที่จะต้องละอีกต่อไปแล้ว กิเลสถูกทำลายไปด้วยกำลังของสติ ทีนี้พอเราทำกรรมฐาน แล้วจิตเราไหลไปเรารู้ ไหลไปทางตาก็ได้ กำลังนั่งดูแม่น้ำอยู่ ดูคลองอยู่ ก็เห็นผู้หญิงสวยๆ พายเรือมา ไม่ดูแม่น้ำแล้ว ไปดูผู้หญิงแล้ว หรือเรือนักท่องเที่ยวผ่านมา เรากำลังดูน้ำ ใจกำลังสบาย เห็นเรือมา ใจหนีไปที่เรือแล้ว ห้ามได้ไหม ตามันมองเห็น ห้ามไม่ได้ แต่เรารู้ทันว่าตอนนี้จิตเราหลงไปดูรูปทางตาแล้ว หลงไปดูเรือแล้ว ไปดูผู้หญิงในเรือแล้ว ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตหลงไปแล้ว จิตที่หลงดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิด คือมันไม่หลงมันไม่ไหล จิตตั้งมั่นคือจิตที่มันไม่ไหลไปไหน มันอยู่กับเนื้อกับตัวนี่ล่ะ
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นก็ทำสมาธิอย่างที่เราเคยทำนั่นล่ะ แต่เปลี่ยนจากการใส่ใจไปที่ตัวอารมณ์หรือตัวกรรมฐานที่เรารู้อยู่ มาเป็นตัวรู้ทันจิตแทน ไม่บังคับให้จิตนิ่ง ไม่ต้องบังคับให้จิตนิ่ง ทำกรรมฐานไป จิตหนีจากอารมณ์กรรมฐานไปหาอารมณ์อื่น รู้ทัน นี่ฟุ้งซ่านแล้ว ทันทีที่รู้ทัน จิตที่ฟุ้งซ่านจะดับ จิตที่ตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นแทนที่ หรือบางทีเราหายใจอยู่อย่างนี้ ทีแรกเราเห็นร่างกายหายใจสบาย เห็นร่างกายหายใจ ดูไปดูมา มันโลภมากอยากเห็นลมหายใจให้ชัดๆ มันถลำลงไปเพ่งลมหายใจ เพ่งจ้อง ใจก็จะแน่นๆ อึดอัดขึ้นมา เราก็มีสติรู้ทันว่าตอนนี้จิตถลำลงไปที่ลมหายใจแล้ว จมลงไปที่ลมหายใจแล้ว ไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจแล้ว
ตรงที่เรารู้ทัน จะต่างจากการที่รู้ว่ามันหลง ตอนที่จิตหลง พอเรารู้ว่าหลง จิตมันหายหลงทันที มันเลิกหลงทันที เพราะจิตหลงเป็นอกุศล อกุศลพอสติเกิดอกุศลดับ แต่เราทำกรรมฐานแล้วเราไปเพ่ง เรารู้ว่าเพ่ง ไม่หายหรอก เพราะการทำกรรมฐานของเราไม่ได้ทำอกุศล เราเพ่งเราต้องสังเกต อะไรอยู่เบื้องหลังการเพ่ง ต้องดูลงมาอีกทีหนึ่ง ดูการเพ่งไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลย แต่ต้องดูเบื้องหลังการเพ่ง เบื้องหลังการเพ่งก็คืออยาก
ถ้าเราภาวนาแล้วใจเราแน่น
มองให้ลึกลงไปว่าอยากปฏิบัติหรือเปล่า
อยากอะไร อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากเข้าถึงธรรมะมรรคผลนิพพาน มีความอยากซ่อนอยู่ในการปฏิบัติของเรา ถ้ามีความอยากซ่อนอยู่ แล้วเราก็ไปนั่งเพ่ง เราไปรู้ว่าเพ่ง เรียกว่าแก้ไม่ตรงจุด ต้นตอของการเพ่ง เพ่งเป็นผลแล้ว เป็นผล เป็นปลายทาง เขาเรียกเป็นวิบากไปแล้ว ไปดูมันไม่หายหรอก ต้องดูต้นเหตุของมัน ต้นเหตุของมันคือโลภ อยากดี อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดีอะไรอย่างนี้
อย่างพอเรานั่งสมาธิไปแล้ว ใจเราแน่นๆ ขึ้นมา มันไปเพ่งอารมณ์แล้วมันแน่น เรารู้ทันเลย สังเกตใจตัวเอง อ๋อ นี่มันโลภ มันอยากดูอารมณ์ให้ชัดๆ มันอยากให้ไม่เผลอเลย มีอยากซ่อนอยู่ข้างหลังแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าภาวนาแล้วใจเราแน่นๆ ให้รู้เลยต้องมีอยากซ่อนอยู่ข้างหลังแล้วล่ะ แล้วสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีความอยากเกิดทีไร ความทุกข์เกิดทุกทีล่ะ นี่ดูอย่างนี้ ถ้ามันแน่นแล้วจะไปดูให้หายแน่น ดูผิดที่ แน่นเป็นผลมาแล้ว เป็นทุกข์ ให้รู้ไม่ใช่ให้ละ ให้ละ ละอะไร ละที่ต้นเหตุ ละที่สมุทัย อะไรเป็นสมุทัย ความอยากตัณหานั่นล่ะ
เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วใจเราแน่น ไม่ต้องแก้ ให้มองให้ลึกลงไปเลยว่ามันอยากปฏิบัติหรือเปล่า มันอยากดีนี่ ถึงได้บังคับตัวเองไว้ ถ้าเราเห็นถึงต้นตอของมัน เห็นกิเลส ความอยากเป็นกิเลสไหม เป็น ทันทีที่สติรู้ทันจะเกิดอะไรขึ้น กิเลสดับ ตัณหาจะดับ ความอยากจะดับทันทีเลย พอความอยากดับ เราไม่ได้ทำเหตุของการเพ่งจ้อง มีตัณหาเกิดการเพ่งจ้อง คือการกระทำกรรม ตัณหาความอยากเป็นกิเลส การเพ่งจ้องเป็นการกระทำกรรม ความแน่น ความอึดอัด ความทุกข์ทรมานเป็นวิบาก ฉะนั้นไปแก้ที่วิบากไม่ได้
การเพ่งจ้อง อยู่ๆ ไปสั่งว่าจงอย่าเพ่งจ้อง เราสั่งจิตไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา แก้ลงมาที่ต้นเหตุ แก้ลงที่ตัวสมุทัย ตัวอยากนี้ พอเรารู้ว่าจิตอยากแล้วมันอยากปฏิบัติ พอความอยากดับ เรารู้ทันปุ๊บมันดับ การเพ่งจ้องก็จะลดระดับลง เมื่อไม่เพ่งจ้อง ความแน่นๆ ในหน้าอกเรา หรือในคอเรา ในหลังเรา ในไหล่เรา ค่อยๆ หายไป แต่การเพ่งจ้องถ้าเพ่งรุนแรง มันแน่นอยู่ในหน้าอก พอเรามีสติรู้ว่าอยากปฏิบัติ เลิกอยากแล้ว การเพ่งหาย ทุกข์ในหน้าอกก็จะหายอย่างรวดเร็ว แต่ทุกข์ทางร่างกายจากการเพ่งจ้อง ไม่หายง่าย
อย่างถ้าเราเพ่งตัวเองจนคอเคล็ด หลังเคล็ด ปวดระบมไปทั้งตัวนี่ เลิกเพ่งแล้วมันเป็น Physical แล้ว เป็นทางร่างกายแล้ว ก็ต้องไปหายามากิน หายามาทาแล้ว คนละเรื่องแล้ว ไม่ใช่เรื่องกรรมฐานแล้ว อันนี้เป็นวิบากที่กระทบเข้าไปถึงร่างกายแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปเพ่งแรง เพ่งแรงเดี๋ยวร่างกายพิกลพิการ แล้วบางคนน่ากลัวมาก แทนที่จะเพ่งที่อื่น มันเพ่งสมอง กำลังของจิตมันมี เพ่งลงไปที่สมอง สมองเสียเลย ขนาดเพ่งไหล่ ไหล่ยังเคล็ดเลย ใครเคยภาวนาแล้วหลังเคล็ด ไหล่เคล็ดไหม แขนเคล็ด ถ้าจ้องใส่สมอง สมองพัง คราวนี้แย่แล้ว แก้ยากละ ต้องไปหาหมอสมองแล้ว
ฉะนั้นภาวนาจับหลักให้แม่นๆ จะได้ไม่พิกลพิการ ถ้าต้องการให้จิตสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุข จะเป็นอารมณ์จริงๆ ที่มองเห็นก็ได้ ที่ได้ยินก็ได้ หรือเป็นอารมณ์ที่จิตมันจำไว้แล้วก็ได้ อย่างเราชำนาญกสิณไฟอย่างนี้ เราไม่ต้องจุดเทียนแล้ว ต่อไปเรารวมจิตลงมา แล้วเราก็นึกถึงไฟ ก็เห็นไฟแล้ว มันเป็นอารมณ์ที่ใจจำได้ ก็ใช้ทำสมถะได้เหมือนกัน
แล้วถ้าเราต้องการฝึกจิตให้ตั้งมั่น เราก็ทำกรรมฐานเดิมของเรานั่นล่ะ แต่รู้ทันจิต ไม่ได้มุ่งน้อมจิตไปอยู่ที่อารมณ์ที่มีความสุขแล้วก็เพลินๆ อยู่ ทำกรรมฐานจิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ตรงที่รู้ทัน จิตที่หลงคิดจะดับทันที จิตจะตั้งมั่น แต่ตรงที่เพ่ง ต้องดูลึกลงไป ที่เพ่งเพราะโลภเพราะอยาก ถ้าความอยากดับ จิตก็ตั้งมั่นทันที แต่ร่างกายอาจจะเคล็ดไปแล้ว คนละเรื่องกัน
การเจริญปัญญา
ทีนี้พอเราได้จิตที่ตั้งมั่นแล้ว ก็ถึงงานสำคัญอันที่ 3 แล้ว คืองานเจริญปัญญา การเจริญปัญญาก็จะต้องรู้ว่าอะไรเป็นสนามรบของเรา สนามรบของการเจริญปัญญาเขาเรียกว่า “วิปัสสนาภูมิ” ภูมิประเทศของการทำวิปัสสนานั่นล่ะ เราก็เรียนเรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวิปัสสนาภูมิ แต่ไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนี้ เรียนรู้จากคำว่าขันธ์ 5 ก็พอ หรือรู้จากอายตนะ 6 ก็พอ ถ้ารู้จักขันธ์ 5 รู้จักอายตนะ 6 เดี๋ยวก็รู้จักธาตุ 18 ไม่ยาก
ฉะนั้นเอาของที่เรียนง่ายๆ นี่สิ่งที่เราต้องรู้คือเรื่องขันธ์ 5 ใช่ไหม เรื่องอะไรที่เราต้องรู้มาบ้าง พูดมาหลายเรื่องแล้วใช่ไหม เรื่องขันธ์ 5 ก็เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ ตอนที่หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ หลวงปู่บอกให้ดูจิต ให้อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อก็งง ว่าจะไปอ่านจิตตนเอง จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะอ่านอย่างไรก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปอ่านก็ไม่รู้ อ่านแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักอย่าง
ทีนี้หลวงพ่อเคยบวชกับหลวงพ่อปัญญาที่วัดชลประทานฯ ตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ บวชกับท่าน เขามีบททำวัตรเช้า ในบททำวัตรเช้ามีธรรมะที่สุดแสนจะวิเศษอยู่ ถ้าเราไปอ่านทำวัตรเช้าแปล มีของวิเศษอยู่ในนั้นมากมายเลย ถ้าเข้าใจแค่บททำวัตรทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เลย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย
มันมีอยู่ท่อนบอกว่า ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสัญญา ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสังขาร ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือวิญญาณ นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวขันธ์ 5
รูปพูดง่ายๆ นี่ก็สิ่งที่เป็นรูปธรรมประกอบขึ้นด้วยธาตุ 4 อะไรอย่างนี้ นี่เป็นตัวรูป ถ้าพูดภาษาไทยง่ายๆ เทียบเคียง ไม่ตรงพอดี ร่างกายเรานี้เป็นตัวรูป แต่ยังไม่ใช่รูปแท้ รูปแท้คือแยกลงไปในร่างกาย จะเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เรียกมหาภูตรูปหรือรูปที่แท้จริงเลย นี่สิ่งที่ประกอบเป็นตัวเรามันก็มีรูป พูดง่ายๆ ให้เข้าใจง่าย มีร่างกาย มีความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดที่ไหน เกิดที่กายกับเกิดที่ใจ ร่างกายเป็นสุขเป็นทุกข์ก็มี จิตใจเป็นสุขเป็นทุกข์ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ก็มี
เวทนาก็เกิดได้ทั้งกายทั้งใจ สัญญาเป็นความจำได้หมายรู้ จำได้อันหนึ่ง หมายรู้อันหนึ่ง จำได้ เช่นจำได้นี่สีเขียว นี่สีแดง แล้วก็อีกอันหนึ่งเป็นจำสัญลักษณ์ สีเขียวก็ให้ขับรถได้ สีแดงให้หยุด นี่จำเป็นสัญญา จำสัญลักษณ์ ทีนี้มีสัญญาอีกชนิดหนึ่งที่เราจะต้องเรียน คือสัญญาที่วิปลาสกับสัญญาที่ถูกต้อง คือการหมายรู้ผิด ไม่ใช่ความจำแล้ว แต่เป็นการหมายรู้ การหมายรู้ไม่ใช่ความจำ ความจำนี่จำได้อันนี้ชื่อหมา คนนี้ชื่อสมชาย คนนี้ชื่อสมหญิงอะไรอย่างนี้ นี่เป็นความจำได้ การหมายรู้ มีหมายรู้ถูก หมายรู้ผิด อย่างเวลาเรารู้สึกในร่างกาย เราจะหมายรู้ผิดทันที เพราะเป็นปุถุชน
ปุถุชนมองลงมาในนี้ปุ๊บ นี่คือตัวเรา เวลามีความสุข เราสุข เวลามีความทุกข์ ก็หมายรู้ว่าเราทุกข์ แล้วก็เห็นว่าในตัวเรานี่มีจิตอยู่ จิตของเราเที่ยง จิตของเราตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นจิตดวงเดิม ถ้าเราตายไป จิตดวงนี้ออกจากร่างไปเกิดใหม่ ก็เป็นจิตดวงเดิม นี่เราเห็นว่าจิตเที่ยง อันนี้เป็นสัญญาวิปลาส
สัญญาที่วิปลาสกับสัญญาที่ถูกต้อง
สัญญาวิปลาสมี 4 อย่าง อันหนึ่งเราเห็นของซึ่งเป็นปฏิกูลอสุภเป็นของสวยของงาม อย่างเราเห็นผู้หญิงคนนี้สวยๆ ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราก็จะเห็นตรงไหนที่เรียกว่าสวย สวยที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เพราะเรามองเห็นเขา เห็นแค่นี้ล่ะใช่ไหม เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรเราไม่ได้เห็น ตับ ไต ไส้ พุงเขาเราไม่ได้เห็น สิ่งที่เราเห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราลองนึกภาพว่าผู้หญิงคนนี้ผมร่วงเป็นหย่อมๆ สวยไหม ไม่สวยละ แล้วร่างกายเรานี่ว่าผิวหนังเต่งตึงสวยงาม นี่ดูไปเรื่อยๆ รู้สึกมีเหงื่อซึมออกมา มีสิ่งโสโครกซึมออกมาตลอดเวลาเลย นี่รู้สึกลงไป หมายรู้อย่างนี้เรียกหมายรู้ถูก หมายรู้ของซึ่งเป็นปฏิกูลอสุภว่ามันเป็นอสุภ ส่วนปุถุชนจะหมายรู้ผิด เห็นของสกปรกก็ว่าของสวยของงาม นี่ข้อที่หนึ่ง
หมายรู้ผิดตัวที่สอง คือหมายรู้ของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง อย่างพวกเรารู้สึกไหมว่าเรายังไม่ตาย วันนี้เรายังไม่ตาย เรารู้สึกไหม ทั้งๆ ที่อาจจะตายก็ได้เพราะมันไม่เที่ยง อยู่ๆ อาคารนี้ถล่มลงมาตายหมู่ก็ได้ หรือพื้นยุบลงไป ตกลงไปข้างล่างตายแล้วก็ได้ นี่มันของไม่เที่ยง ปุถุชนจะเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง รู้สึกไหม ไม่มีใครคิดว่าวันนี้เราจะตายแล้ว ถ้าไม่โคม่าจริงๆ ไม่คิดหรอก
หมายรู้ผิดอีกอันหนึ่งคือหมายรู้ของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ร่างกายเรานี่เป็นทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าภาวนาแล้วถึงจะเห็น เราก็ไปหมายรู้ว่ามันทุกข์บ้างสุขบ้าง ก็ไม่ถูกละ เรียกว่าเราหมายรู้ทุกข์ไม่ถูกแล้ว ร่างกายไม่ใช่สุข ร่างกายนี่ทุกข์ เรารู้สึกตอนนี้ร่างกายเราแข็งแรงไม่ทุกข์ แล้วจริงไหม ร่างกายที่แข็งแรงอยู่นี่หายใจไหม ทำไมต้องหายใจ เพราะมันทุกข์ ลองไม่หายใจก็ทุกข์ มันก็เลยต้องหายใจแก้ทุกข์ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ก็เพราะมันทุกข์ ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย นอนนิ่งๆ เดี๋ยวเดียวก็เป็นแผลกดทับตายแล้ว เราเคลื่อนไหว เราเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่ามันทุกข์ แต่เรามองไม่เห็น
อย่างเรานั่งอยู่นานๆ เราทุกข์ เราก็เมื่อย เราก็ขยับ เราหนีทุกข์ไปแล้ว เราไม่ทันเห็นว่าร่างกายนี่ทุกข์ ถ้าเรามีสติอยู่กับกาย นั่งไปเรื่อยๆ เราเห็นมันเมื่อยแล้วต้องขยับ เราเห็นแล้วขยับเพื่ออะไร เพื่อหนีทุกข์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ถ้าเรามีสติรู้กายแล้วเห็นความจริง เราจะนึกถึงกาย เราก็รู้เลยนี่ก้อนทุกข์ ไม่ใช่ของดีเลย นี่เรียกว่าเราหมายรู้ถูกแล้ว
หมายรู้ผิดอีกอันคือหมายรู้ของเป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา เวลาจะหมดแล้วเอาแค่นี้ ก็หมายรู้ผิด หมายรู้ถูกก็ตรงข้าม เห็นสิ่งซึ่งไม่สวยไม่งามว่าไม่สวยไม่งาม เห็นของไม่เที่ยงก็รู้ว่าไม่เที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ก็รู้ว่าเป็นทุกข์ เห็นของไม่ใช่ตัวเราก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวตนอะไร นี่สัญญา สังขารคือความปรุง ปรุงดีปรุงชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง นี่เป็นสังขาร อีกอันหนึ่งคือวิญญาณ คือความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หลวงพ่อนึกถึงบทสวดมนต์นี่ ท่านให้ดูจิต หลวงปู่บอกให้ดูจิตตัวเอง จิตอยู่ในร่างกายไหม จิตต้องอยู่ในกาย จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก แล้วก็ดู ตั้งแต่ผมลงมาถึงเท้า ไล่ขึ้นไล่ลง แล้วก็พบว่าจิตอยู่ในกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย ไม่ได้อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งถาวร ตอนหลังภาวนาแล้วถึงรู้ว่า ความรู้สึกอยู่ตรงไหน ความรับรู้อยู่ที่ไหน นั้นล่ะจิตก็อยู่ที่นั้นล่ะ
เพราะฉะนั้นจิตคือตัวความรับรู้ ตัวรับรู้ ฉะนั้นความรับรู้เกิดขึ้นตรงไหนในร่างกาย จิตก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ความรับรู้ของเราจะไปอยู่ที่โต๊ะได้ไหม ไม่ได้ มันอยู่ข้างนอกๆ ถ้าย้อนเข้ามา แต่ถ้าเป็นตาเราไปเห็นเราไปรับรู้ทางตา อันนี้ดูของข้างนอกได้ รับรู้ทางหูดูของข้างนอกได้ แต่ความรับรู้นี่หลวงพ่อหาอยู่ในตัวเอง ไม่เจอ หาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ดูไป รูป เวทนา สัญญา สังขาร เห็นความวิตก ความตรึก ความคิด ผุดขึ้นมา พอเห็นความคิดผุดขึ้นปั๊บ เห็นกระแสความคิด ไม่ใช่เห็นเรื่องที่คิด เห็นกระแสของความคิดผุดขึ้นมาปุ๊บ ขาดสะบั้นลงไป ผู้รู้เด่นดวงขึ้นมาเลย เพราะผู้รู้กับผู้คิดตรงข้ามกัน เมื่อไรคิดเมื่อนั้นไม่รู้ เมื่อไรรู้เมื่อนั้นไม่คิดหรอก
พอจับตัวนี้ได้ เข้าใจจิตขึ้นมาแล้ว แล้วคราวนี้ก็ดูความเปลี่ยนแปลงไป เห็นขันธ์ 5 ทำงานไป ใครเป็นคนเห็น จิตเป็นคนเห็นๆ พอจิตเห็นกายอย่างถ่องแท้มันวางกาย เห็นเวทนา สัญญา สังขาร ถ่องแท้มันก็วาง เวทนา สัญญา สังขาร ต่อมามันเห็นจิตอย่างถ่องแท้ จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นไหมถ่องแท้คือเห็นจริง ก็คือเห็นไตรลักษณ์ พอเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ คราวนี้ไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นตัวเป็นตนของเราอีกแล้ว ทุกอย่างไม่ใช่ตัวใช่ตน เราก็ล้างความเห็นผิดได้ ล้างความเห็นผิดไปก็เข้าใจธรรมะเป็นลำดับๆ ไป
ฟังหลวงพ่อก็เป็นปริยัติ
พวกเรามีหน้าที่นำความรู้นี้ไปปฏิบัติ
ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อมาเล่าให้ฟังนี่คือปริยัติ พวกเรามีหน้าที่นำความรู้นี้ไปปฏิบัติ ปฏิบัติก็รู้วิธีการ ทำความสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อยากให้จิตตั้งมั่นมีสติรู้ทันจิตไปแล้วจิตจะตั้งมั่น แล้วอยากให้จิตเกิดปัญญาทำอย่างไร ให้มีสติรู้กาย รู้ใจ รู้รูปนาม นั่นล่ะ ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือเห็นไตรลักษณ์ จะเห็นได้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่ทรงสัมมาสมาธิ ไม่สามารถเจริญปัญญาได้
เพราะฉะนั้นคนที่ไม่เคยฝึกเรื่องของสมาธิให้ถูกต้อง แล้วบอกว่าลงมือปฏิบัติแล้วบรรลุโน้นบรรลุนี้ นิมิตทั้งนั้น จิตหลอนเอาทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นจิตที่ตั้งมั่นสำคัญมาก แล้วเวลาเราเจริญปัญญา รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง อีหนูเอ๊ย เอาแผ่นของหนูลง ส่องหน้าหลวงพ่อ เรารู้ไป รู้เรื่อยๆ ไป สุดท้ายก็จะเห็นความจริง มีสติรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วเราจะเห็นทั้งรูป ทั้งนาม ทั้งขันธ์ 5 อายตนะ 6 อะไรนี่ก็ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมด
รู้จักไตรลักษณ์ไหม ก็ต้องเรียนอีก ไตรลักษณ์ของไม่เที่ยง ของเคยมีแล้วไม่มี ของไม่มีแล้วก็เกิดมี มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์หมายถึงอะไร ของที่กำลังมีอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อนัตตาหมายถึงอะไร สิ่งทั้งหลายจะมีอยู่ จะเกิดขึ้น จะมีอยู่ หรือจะแตกสลายไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับที่แท้จริง นี่คือไตรลักษณ์
ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา
อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ค่อนข้างยากนิดหนึ่ง ไปฟังทวนเอาทีหลัง ฟังหลายๆ รอบก็ได้ ก็เสียแต่ค่าไฟกับค่าเน็ตเท่านั้นล่ะ ไม่เสียค่ารถ ต่อไปส่งการบ้าน
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ขอให้ทุกคนขยันภาวนา จะได้พ้นทุกข์ไป โลกมีแต่เรื่องวุ่นวายยุ่งเหยิงตลอดเวลา ปัญหาหนึ่งยังไม่จบ ปัญหาใหม่ก็มาแล้ว เป็นธรรมชาติธรรมดาของโลก ฉะนั้นเรามีที่พึ่งคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง รู้แล้วเราก็เอาไปภาวนาเอา เราจะได้ที่พึ่งที่แท้จริง สรณะที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่กับจิตของเรานี่เอง มีความรู้ถูก มีความเข้าใจถูก รู้จักแล้วพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเป็นอย่างไร ร่างกายของเจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นวัตถุธาตุ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงคือจิตที่บริสุทธิ์ของท่าน ธรรมะที่แท้จริงก็คือสิ่งที่ท่านถ่ายทอดเอาไว้ให้
แล้วก็จริงๆ แล้วธรรมะจะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มี ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ธรรมะคือความจริงคือของประจำโลก เพียงพระพุทธเจ้าท่านค้นพบมา เอามาสอนวิธีเราให้เข้าถึงความจริงอันนี้ คิดถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งอกตั้งใจปฏิบัติไป ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาอะไร แล้วใจเราจะได้ห่างโลกออกไปเรื่อยๆ โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ ถ้าพ้นออกไปได้ก็มีความสุข มีความปลอดภัย ปลอดภัยเขาเรียกเขมะ เกษมปลอดภัย เป็นมงคลที่ยิ่งใหญ่ จิตเข้าถึงความเกษม เข้าถึงความปลอดภัย เท่านี้นะ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
15 กันยายน 2567