หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

ต้องดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท เห็นไหมอยู่ๆ ก็เกิดเรื่อง คนมาไล่ยิงเอา ฉะนั้นเราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เตรียมตัวอยู่ด้วยความไม่ประมาท เรื่องการใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องทั่วๆ ไปแล้วตอนนี้ บางประเทศ ประเทศเจริญมากๆ เลยหลวงพ่อเคยไป มีเมืองๆ หนึ่งก็มีพื้นที่ที่เข้าได้ พื้นที่อันตราย ในเมืองเดียวกัน ก็ทั่วไปเลย ทั้งประเทศเขาเป็นแบบนี้ ฉะนั้นการใช้ความรุนแรง คล้ายๆ คนยุคนี้มันไกลศาสนา มันไกลธรรมะ ใจคลุ้มคลั่ง

บางคนก็อยากเด่นอยากดังอยากมีชื่อเสียง ไปยิงประธานาธิบดีจะได้มีชื่อในประวัติศาสตร์ คนแบบนี้มีทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะในเมืองไทย ของเราเพิ่งมีไม่นานนี้ มีเริ่มตั้งแต่จ่าคลั่งอะไรนั่น ก็เลียนแบบกันไป สังคมที่มันไกลธรรมะจะเป็นอย่างนี้ คนมันไม่มีหลักยึดทางใจ อยากทำอะไรมันก็ทำ มันก็คล้ายๆ สัตว์ ไม่มีเหตุมีผล แต่สัตว์ยังดี สัตว์มันจะล่า มันจะสู้ จะทำร้ายคนอื่นตอนมันหิว หรือตอนฤดูผสมพันธ์ หรือมันถูกทำร้ายบาดเจ็บ มันมีเหตุผล มันจะไม่ได้ทะเลาะวิวาทกันแบบเลื่อนลอย อยากดัง ไม่มี

เรื่องที่เกิดขึ้น มันก็เป็นเรื่องน่าสลดสังเวช สำหรับคนได้ยินได้ฟัง ด้านหนึ่งก็มองคนน่าสงสาร เด็กน่าสงสาร อยู่ๆ ก็ถูกฆ่า พวกเราก็มีความเมตตา มีความกรุณา สงสาร เป็นเรื่องปกติสำหรับชาวพุทธเรา แต่เรามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งก็คือ อันนี้คือภัยของสังสารวัฏ เราไม่ได้ทำอะไรใคร แต่วันหนึ่งอยู่ๆ ก็มีคนคลุ้มคลั่งมาทำร้าย คือสังสารวัฏจริงๆ แล้วน่ากลัวมาก หาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลย

เราทุกคนอยากได้รับความมั่นคง อยากมีความแน่นอนในชีวิต พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างพยายามทำมาหากินเก็บเงินไว้อะไรไว้ คิดว่าจะมีความมั่นคง มันก็ไม่มี ค่าเงินมันก็ลดได้ อยู่ๆ ก็เหมือนเงินหายไป มีลูกมีหลาน คนโบราณเขามีลูกเยอะๆ ช่วยกันทำไร่ทำนา อยู่กันได้ ยุคนี้มีลูกเยอะก็เลี้ยงไม่ไหว ลูกโตขึ้นมา ลูกก็เลี้ยงตัวเองแทบจะไม่ไหว ฉะนั้นการจะมีลูกมีหลาน แล้วเป็นความมั่นคงในชีวิตแบบคนโบราณ มันไม่มีแล้ว ความปลอดภัยในชีวิตในทรัพย์สินก็ไม่แน่นอน อย่างทรัพย์สินเราสร้างบ้านเราไว้สวยๆ น้ำมาท่วมไปแล้ว เสียหาย

สังสารวัฏมันไม่มีอะไรที่ยั่งยืน ไม่มีอะไรที่แน่นอนเลย ทำไมเรายังเพลิดเพลินอยู่กับมัน ทำไมไม่ออกจากโลกที่ย่ำแย่นี้เสียที วิธีการที่จะออกจากโลกที่ไม่ดีนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเอาไว้แล้ว สอนการปฏิบัติเอาไว้แล้ว เป็นการพัฒนาจิตใจตัวเองด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา มีวิธีการในการปฏิบัติ ลงไปในรายละเอียด ถ้าเรารู้หลักแล้ว การปฏิบัติที่จะถอดถอนจิตใจออกจากโลก ออกจากทุกข์ ก็ไม่ยากเกินไป

เมื่อไม่กี่วันนี้หลวงพ่อก็สอนพระในนี้ ใกล้จะออกพรรษาแล้ว ใกล้เวลาที่ส่วนหนึ่งจะแยกย้ายไป สึกออกไป ก็เลยสรุปให้พวกพระเขาฟังว่า หลักการปฏิบัติที่หลวงพ่อสอนมันมีอะไรบ้าง เรื่องศีล เรื่องวินัย เป็นพื้นฐาน อย่างพวกเราก็ต้องถือศีล 5 พระนี้หลวงพ่อก็สั่ง สึกไปก็ต้องถือศีล 5 เป็นพระอยู่ก็ต้องมีศีล 5 จะมามีศีล 227 แล้วลืมศีล 5 ก็ล้มเหลวแล้ว ศีล 5 สำคัญที่สุด พอเรามีศีลเราก็มาถึงขั้นการพัฒนาจิตใจบ้าง ศีลมันเป็นการควบคุมกาย วาจา ของเราให้เรียบร้อย ส่วนการพัฒนาจิตใจนั้นเป็นเรื่องของสมาธิและปัญญา

 

งานที่หนึ่งปลุกความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น

ถ้าจะสรุปง่ายๆ งานพัฒนาจิตใจซึ่งครอบคลุมสมาธิและปัญญา หลวงพ่อสรุปออกมาได้ 3 งานที่เราจะลงมือทำ อันแรกคือฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มีความรู้สึกตัว อันนี้ไม่ได้โมเมคิดเอาเอง พูดเอาเอง ในพระสูตรพระพุทธเจ้าท่านก็สอน ท่านไม่เห็นอะไรสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัวเลย ที่จะพัฒนาคุณงามความดีให้เกิดขึ้น ในโลกมันไม่มีความรู้สึกตัวหรอก คนรู้สึกตัวมีน้อยเต็มที ส่วนใหญ่ก็ทำไปตามแรงขับของกิเลสตัณหา ของสัญชาตญาณแบบสัตว์ทั้งหลาย

เราต้องมาพัฒนาความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น พัฒนาความรู้สึกตัว ตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นเลย ถ้าเราไม่รู้สึกตัว เราไม่สามารถภาวนาได้ ไม่สามารถพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นได้ ในโลก หลวงพ่อพูดมาตั้งแต่นานแล้ว ในโลกมันมีแต่คนหลง คนที่รู้สึกตัวตื่นขึ้นมามีน้อยเต็มที ส่วนใหญ่มันก็ตื่นแต่ร่างกาย ทางจิตใจมันหลับ มันหลับ มันฝัน มันหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน มันไม่ตื่น ฉะนั้นการพัฒนาจิตใจ เบื้องต้นเลยต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาให้ได้ รู้สึกตัวให้ได้

วิธีง่ายๆ ที่เราจะตื่นขึ้นมา คือทำกรรมฐานไว้ ซ้อม ซ้อมด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไว้ อย่างเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก พุทโธๆๆ รู้สึก รู้สึกอะไร รู้สึกที่จิตใจของตนเอง อย่างเราหายใจเข้า หายใจออก หรือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เรายืน เดิน นั่ง นอน เราเคลื่อนไหว เราหยุดนิ่ง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อน แล้วรู้ทันจิต เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ความรู้สึกตัว เคล็ดลับมันอยู่ตรงที่ เราต้องทำกรรมฐานที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันหนีไปคิด เรามีสติรู้ทันว่า ตอนนี้จิตมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิดแล้ว จิตมันก็จะตื่นขึ้นมา มันจะกลับมารู้สึกตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา มีกายก็รู้สึกถึงกาย มีจิตก็รู้สึกถึงจิต คนที่ไม่รู้สึกตัวก็คือ มีร่างกายก็ไม่รู้สึกถึงร่างกาย มีจิตก็ไม่รู้สึกถึงจิต อันนั้นคือไม่รู้สึกตัว แต่คนที่รู้สึกตัวมีกายก็รู้สึก มีจิตก็รู้สึก ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิตของตนเอง แต่อยู่ๆ เราจะไปสั่งว่าอย่าลืมกาย อย่าลืมจิตตัวเอง ตลอดเวลา ทำไม่ได้หรอก ไม่มีใครสั่งจิตให้รู้สึกตัวได้ตลอดเวลาหรอก ต้องฝึกเอา

ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งรู้ทัน ตรงที่ไม่รู้สึกตัวมันจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน ตื่นแต่ตัวแต่ใจมันฝันตลอดเวลา เวลาเราฝันกลางคืน เราหลับ เราฝัน ฝันบางทีก็ไม่รู้ว่าฝันอะไร บางทีก็รู้เรื่องที่ฝัน ตอนที่เราตื่นนี้ก็เหมือนกัน จิตมันแอบไปฝัน มันตื่นแต่ร่างกาย จิตที่แอบไปฝันกลางวัน บางทีก็รู้เรื่องที่ฝัน คิดแล้วรู้ว่าคิดอะไร บางทีไม่รู้เรื่อง คิดอะไรใจลอยๆ ไปไม่รู้เรื่อง มันก็แบบเดียวกับตอนที่เราหลับแล้วฝัน

อีกแบบหนึ่ง อีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่หลงไปในโลกของความคิดความฝัน แต่หลงไปเพ่ง หลวงพ่อบอกพระในวัดนี้ เวลาหลงไปคิดเราบอกหลงคิด เวลาเพ่งอย่าไปเรียกว่ามันเพ่ง ให้เรียกเสียใหม่ว่าหลงเพ่ง ตรงเพ่งก็หลงไม่ใช่ไม่หลง ก็มีหลงคิดกับหลงเพ่ง ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ จิตหลงไปคิดก็คือ มันไหลตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ ล่องลอยไป รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง จิตหลงไปเพ่ง มันจะถลำลงไปจ้องนิ่งๆ อยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็ให้รู้ทันว่าหลงไปเพ่ง

นักปฏิบัติเกือบร้อยละ 100 นี่พูดแบบเกรงใจ ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจก็คือเกือบทั้งหมดล่ะ เกินร้อยละ 99.9 อีก เวลาคิดถึงการปฏิบัติ เพ่งทุกราย เพ่งจ้อง อยากดูให้ชัดๆ ตรงหลงไปคิดมีกายก็ลืมกาย มีจิตก็ลืมจิต ตรงหลงไปเพ่งก็เหลืออารมณ์อันเดียว อย่างถ้าเพ่งลมหายใจก็เหลือแต่ลมหายใจ ความรู้สึกนึกคิดอะไรลืมไปหมดเลย อันนั้นก็หลง เพ่งท้องก็ลืมโลกแล้วเห็นแต่ท้อง เพราะฉะนั้นจิตมันไม่มีทางตื่นขึ้นมา แต่จิตมันจะตื่น ถ้ามันรู้ทันจิต

เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดเรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งเรารู้ ตรงที่รู้ทันจิตใจตัวเองนั้น จิตจะตื่นขึ้นโดยอัตโนมัติ มันจะตื่นชั่วแวบเดียว ตื่นขึ้นแวบเดียว แล้วเดี๋ยวมันก็หลงไปอีก หลงคิดหรือหลงเพ่งอีก ก็ให้เรารู้อีก หลงอีกรู้อีก หลงอีกรู้อีกไปเรื่อยๆ คนทำกรรมฐานส่วนใหญ่ ทำสมาธิอะไร มุ่งไปที่ความสงบ ลืมสติลืมปัญญาไป ลืมของสำคัญไป อย่างถ้าเราทำสมาธิแล้วเราอยากสงบ เราเพ่งเอาๆ ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก อึดอัด ลำบาก แล้วก็ไม่สงบ อาศัยสติ อาศัยปัญญา เวลาจะทำสมาธิ อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่สงบ จิตที่ไหลไปคิดก็รู้ จิตที่ถลำไปเพ่งก็รู้ อย่างนี้เราไม่เสียเปล่า

เราทำกรรมฐานไปจะไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ แต่มุ่งพัฒนาสติสมาธิที่แท้จริง ส่วนใหญ่ก็มุ่งที่สงบ ตรงนี้ล่ะที่พลาดกันเกือบร้อยละร้อย เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มันฟุ้งซ่าน มันไม่สงบรู้ว่ามันไม่สงบ เห็นเลยว่าจิตมันดิ้นไปดิ้นมา มีสติรู้มันไป ไม่ต้องไปสั่งให้มันสงบหรอก รู้ทันมันเข้าไป จิตมันดิ้น มันหนีไปคิด รู้ มันอยากโน่นอยากนี่ รู้มันไป แล้วก็นั่งสมาธิของเราต่อไป จิตมันดิ้นอะไรขึ้นมาอีกก็รู้ หรือจิตมันถลำลงไปเพ่งเราก็รู้ ที่มันไปเพ่งก็เพราะว่ามันอยาก มันอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี แล้วมันไม่รู้ว่าอยาก

 

จิตหลงคิดก็รู้ จิตหลงเพ่งก็รู้ ไม่ต้องแก้

 

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วเรารู้ทันจิตใจของตัวเอง จิตหลงไปเพ่งก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ ฝึกไป แล้วความตื่นจะค่อยๆ เกิดขึ้น ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงคิดก็ดับ จิตรู้ก็ตื่นขึ้นมา จิตผู้รู้ผู้ตื่นก็เกิดขึ้นมา หรือเรารู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่ง พอรู้ว่าถลำลงไปเพ่ง มันไม่หายทันที มันไม่เหมือนจิตหลงคิด จิตหลงคิดเรารู้ปุ๊บหายปั๊บเลย แต่จิตเพ่งเป็นจิตอย่างดี จิตมุ่งไปในทางดี บางทีก็รู้ว่าเพ่ง มันก็ไม่หาย เพราะเรามองไม่เห็นรากเหง้าของมัน คือตัวอยาก ก็ไม่ต้องไปอยากหาย

สมมติเรา จิตมันติดเคยชินที่จะเพ่ง มันถลำลงไปเพ่ง ช็อตที่หนึ่งรู้ว่ามันถลำลงไปเพ่งแล้ว ช็อตที่สองรู้ว่าไม่ชอบ รู้ว่ามันไม่ชอบที่จะเพ่งอย่างนี้ อยากจะหาย ตรงที่รู้ทันจิตที่ไม่ชอบการเพ่ง รู้ทันจิตที่อยากจะเลิกเพ่ง ตรงนั้นล่ะจิตจะตื่นขึ้นมา เพราะเรารู้ทันกิเลสแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไร ที่เราทิ้งไม่ได้คือสติ ไม่ใช่นั่งสมาธิแล้วก็มุ่งไปที่ความสงบ มันจะได้แต่โมหะ ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ไม่ใช่ช่างเฉยๆ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ ตรงที่ไม่สงบก็คือจิตมันไหลไปคิด ตรงที่นึกว่าสงบ บางทีจิตถลำลงไปเพ่ง หลงไปเพ่ง ตรงที่เรารู้ทันจิตที่หลงไปคิด กับจิตที่หลงไปเพ่ง จิตรู้ที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น

ฝึกให้มาก เจริญให้มาก จิตจะค่อยๆ มีกำลังทรงตัวขึ้นมา ตรงนี้มันจะรู้ด้วยตัวเอง พวกเราจำนวนมากที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ บางคนไม่เคยเจอหลวงพ่อแล้วมาหาที่วัด หลวงพ่อถามว่า “รู้สึกไหมว่าตอนนี้จิตมันมีกำลังมากขึ้นแล้ว” เขาบอก “รู้สึก” มันรู้ด้วยตัวเอง ว่าจิตมันมีกำลังหรือจิตมันไม่มีกำลัง แต่ถ้าไม่เคยฝึก ไม่รู้หรอกว่าจิตไม่มีกำลัง จิตแฉลบไปแฉลบมา ล้มเหลว หรือถลำไปเพ่งแล้วเคร่งเครียดอะไรนี่ ไม่รู้หรอก อย่างบางคนเพ่งชิน เพ่ง เพ่งทุกวันๆ จิตนี้หนักอึดเลย ไม่รู้หรอกว่าจิตมันหนัก ไม่รู้หรอกว่าจิตมันทุกข์ เพราะมันชิน คล้ายๆ คนแบกน้ำหนัก ไปไหนก็แบกข้าวสารไปกระสอบหนึ่ง แบกทุกวันไม่รู้สึกว่าหนัก

แต่ถ้าจิตมันตื่นๆๆ ขึ้นมา จิตหลงคิด รู้ จิตหลงเพ่ง รู้ รู้เรื่อยๆ ไป จิตก็ค่อยๆ ตื่นขึ้นมา มีกำลัง ตั้งมั่นทรงตัวขึ้นมาโดยไม่ได้เจตนา ไม่ได้เจตนาทำขึ้นมา จิตมันตั้งมั่น มันทรงตัวขึ้นมาเอง อาศัยสติรู้ทันจิตของตนเอง ทำกรรมฐานไป รู้ทันจิตไป จิตหลงคิดรู้ จิตหลงเพ่งรู้ รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องนั่งแก้ มันเป็นอย่างไรก็รู้อย่างนั้น แล้วจิตจะค่อยๆ มีกำลัง ทรงตัว นั่นล่ะจิตมันมีสมาธิขึ้นมาแล้ว อย่างหลายคนที่มาเจอหลวงพ่อ หลวงพ่อถามเลย “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้จิตไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว จิตมันตื่นขึ้นมาแล้ว จิตมันมีกำลังแล้ว” เขาก็รู้ด้วยตัวเองได้ ว่ามันไม่เหมือนเดิม แล้วรู้เลยว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ที่นึกว่ากูเก่งๆ ที่จริงจิตไม่ได้เคยมีกำลังจริงเลย

ทำกรรมฐานอย่างที่บอก จิตหลงคิดก็รู้ จิตหลงเพ่งก็รู้ ไม่ต้องแก้มันหรอก รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันจะมีกำลัง ทรงตัวตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา โดยไม่ได้เจตนา มีวงเล็บ (โดยไม่ได้เจตนา) ถ้าเจตนาให้จิตตั้งมั่นจะไม่ใช่ของจริง จะเป็นจิตเพ่งทันทีเลย นี่คืองานที่หนึ่งในการพัฒนาตนเอง คือปลุกตัวเองให้ตื่น ให้จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว โดยไม่ได้เจตนา พอจิตใจมันมีกำลังตั้งมั่นแล้ว เราก็ขึ้นงานที่สอง เราไม่สงบเฉยๆ โง่ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ตั้งมั่นอยู่เฉยๆ หรอก จิตที่ตั้งมั่น คือจิตที่มีสมาธิที่ดี ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง เราจะต้องมาเจริญปัญญาต่อ

 

งานที่สองก็คือการแยกขันธ์ แยกรูป แยกนาม

งานที่สองก็คือการแยกขันธ์ แยกรูป แยกนาม จำไว้ งานที่หนึ่งปลุกความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น งานที่สองเมื่อจิตรู้สึกตัวแล้ว ตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว แยกรูปนาม การแยกรูปแยกนามเป็นการเจริญปัญญาเบื้องต้น เป็นเบื้องต้นของการเจริญปัญญา ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว การแยกรูปนามจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น แยกรูปนามไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นไม่มีสมาธิ ปัญญาไม่เกิดหรอก การแยกรูปนามนั้นเป็นปัญญาขั้นต้น

ฉะนั้นเราต้องฝึกจิตให้มีสมาธิ คือให้จิตอยู่กับเนื้อกับตัว ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตมีความรู้สึกตัวขึ้นมา พอจิตมันรู้สึกตัวได้แล้ว ดูลงไป อย่างแต่เดิมเราทำกรรมฐาน หายใจเข้า หายใจออก ยืน เดิน นั่ง นอน เราทำแล้วเราก็รู้ทันจิต หายใจแล้วจิตหลงไปคิด รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ ยืน เดิน นั่ง นอน จิตหนีไปคิด รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ อันนี้เราจะได้ความรู้สึกตัว ถัดจากนี้เราจะพัฒนาสู่สเต็ปที่สอง คือการแยกขันธ์ เราไม่ได้มุ่งไปที่ตัวจิตล้วนๆ อย่างเดิมแล้ว

เรามีจิตตั้งมั่นอยู่แล้วก็รู้สึกไป ร่างกายที่หายใจออกเป็นของถูกรู้ ร่างกายที่หายใจเข้าเป็นของถูกรู้ บางคนเดินจงกรม ก็เห็นร่างกายที่เดินเป็นของถูกรู้ บางคนนั่งอยู่ก็เห็นร่างกายนั่งเป็นของถูกรู้ บางคนนอนก็เห็นร่างกายที่นอนเป็นของถูกรู้ ยืนอยู่ร่างกายที่ยืนก็เป็นของถูกรู้ ถ้าจิตมันตั้งมั่น จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัวจริง มันจะเป็นอย่างนี้อัตโนมัติเลย พอหลวงพ่อถามว่า “เห็นไหมร่างกายเป็นของถูกรู้อยู่ จิตกับร่างกายเป็นคนละอัน” ถ้าจิตตั้งมั่นมันจะเห็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้คิดเลย จะเห็นจริงๆ ร่างกายนั้นของถูกรู้ ร่างกายกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน เราเริ่มแยกรูปนามได้แล้ว

รูปก็คือตัวร่างกาย นามก็คือตัวจิต รูปที่หายใจออกก็ถูกรู้ ไม่ใช่จิต รูปที่หายใจเข้าก็ไม่ใช่จิต ฝึกแยกไปเรื่อยๆ หรือบางคนก็แยกต่อไปอีก แยกนาม แยกนามธรรมออกไปอีก ความรู้สึกสุขทุกข์เป็นนามธรรม เห็นไหมความสุขเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต ความทุกข์เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต ความเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต เห็นไหมจิตที่เป็นกุศล ตัวกุศลทั้งหลาย เช่น มีศรัทธา มีวิริยะอยากจะปฏิบัติ มีความเพียร มันก็ไม่ใช่จิต สติเองเป็นเครื่องมือของจิตในการไปรู้อารมณ์ รู้สภาวะทั้งหลาย สติเป็นเครื่องมือในการรู้สภาวะ จะเห็นสภาวะ สติเห็นสภาวะ ปัญญาจะเข้าใจสภาวะ

สติเองก็ไม่ใช่จิต ปัญญาก็ไม่ใช่จิต ตัวนี้เริ่มดูยาก ในส่วนของกุศลทำไมดูยาก เพราะมันไม่ค่อยจะมี เพราะฉะนั้นเวลาจะดูนามธรรมที่เป็นฝ่ายสังขาร ดูอกุศลดูง่ายเพราะมีเยอะ เราดูลงไปเลย เราขี้โมโหเราก็เห็นความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธเป็นของถูกรู้ไม่ใช่จิต ถ้าเราขี้โลภเห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด เราก็เห็นอีกความโลภก็ไม่ใช่จิต เป็นของถูกรู้ หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วเราก็จะแยกได้ ตรงที่การแยกรูปแยกนาม ไม่ใช่แค่แยกรูปกับเวทนา ไม่ใช่แยกรูปกับสัญญา ไม่ใช่แยกรูปกับสังขาร

การแยกขันธ์นั้นอย่างน้อยต้องมี 2 ขันธ์ ถ้ามีขันธ์เดียว เห็นอยู่ขันธ์เดียว อย่างเช่นเห็นร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ เห็นอยู่ขันธ์เดียว ไม่เรียกว่าแยก แยกอย่างน้อยต้องมีสอง แล้วหนึ่งในสองนั้นต้องเป็นจิต จิตอยู่ในวิญญาณขันธ์ ต้องแยกให้ออก อย่างเราเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ใครเป็นคนเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ใครเป็นคนเห็นร่างกายหายใจ จิตเป็นคนเห็น เราต้องได้จิตมาก่อน จิตตั้งมั่นแล้วมันถึงจะเห็นได้ว่า กายกับจิตนั้นคนละอันกัน ฉะนั้นตรงที่เราฝึกสมาธินั้น เราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราจะเห็นได้กายนี้ไม่ใช่จิตหรอก เป็นของถูกรู้ถูกดู เวทนาความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่จิตหรอกเป็นของถูกรู้ถูกดู กุศลอกุศลทั้งหลายไม่ใช่จิตหรอก เป็นของถูกรู้ถูกดู

ฉะนั้นอย่างเราจะแยกกายก็ต้องมีจิตเป็นคนรู้คนดู จะแยกขันธ์คือเวทนาก็ต้องมีจิตเป็นคนรู้คนดู บางคนไม่สนใจที่กาย แต่สนใจที่เวทนาเลยได้ไหม ได้ เราก็แยกขันธ์เหมือนกัน เพราะเวทนามันก็ขันธ์อันหนึ่ง จิตมันก็อีกขันธ์หนึ่ง อย่างนี้ก็ถือว่าแยกขันธ์ หรือกุศลอกุศล เราเห็นกุศลอกุศลอยู่ในสังขารขันธ์กับจิตแยกกัน แต่ถ้าเรามีรูป แล้วก็มีกุศลอกุศล บอกเราแยกอย่างนี้ แยกไม่ได้ เพราะเราไม่มีตัวคอนโทรล ตัวหลัก ตัวประธานก็คือจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งหลายทั้งปวง

ขาดประธานไปก็เหมือนกองทัพไม่มีแม่ทัพ ไปรบกับลิงที่ไหนก็แพ้ สู้ใครเขาไม่ได้ จิตนั้นล่ะเป็นตัวแม่ทัพ เพราะฉะนั้นเราเทรนแม่ทัพขึ้นมาก่อน พัฒนาจิตจนมันตื่นขึ้นมา จิตก็จะรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ พอจิตมันตื่นขึ้นมาเราถึงจะแยกขันธ์ได้ รูปส่วนรูป จิตส่วนจิต เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต สังขารส่วนสังขาร จิตส่วนจิต ค่อยหัดๆๆ ตอนต้นๆ เอาแค่นี้ก่อน แยกกาย แยกเวทนา แยกจิตสังขารออกไป โดยมีจิตเป็นคนรู้คนดู อันนั้นก็คือกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนานั่นล่ะ ถ้าแยกตัวนี้ได้แล้ว โดยที่ไม่ได้เจตนาแยก ไม่ใช่มานั่งคิด ร่างกายนั่งเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเดิน รูปมันเดิน นามมันรู้

บางคนไปท่องๆ เอาอย่างนี้ ก็ขาดหัวใจของการปฏิบัติ คือขาดจิตที่ตั้งมั่นนั่นล่ะ แล้วก็ไปนั่งคิดไปเรื่อยๆ เดินอยู่ก็ท่องไปรูปมันเดิน นามมันรู้ รูปมันนั่ง นามมันรู้ รูปหายใจออก นามมันรู้ ท่องๆๆๆ ไม่มีอะไรหรอก อย่างมากที่สุดได้สมถะ เพราะยังเจือการคิดอยู่ เจืออารมณ์บัญญัติลงไปก็ได้สมถะ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจนจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า “ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่น นอกจากความรู้สึกตัว ที่จะเป็นจุดตั้งต้นของคุณงามความดีทั้งหลาย” ฉะนั้นความรู้สึกตัวเราก็ต้องพัฒนาขึ้นมา

บางคนก็อยากรู้สึกตัวแต่ทำไม่ถูก ไม่รู้ว่าหัวใจของมันอยู่ที่จิต ก็พยายามรู้สึกตัว เช่น เราจะหยิบแก้วน้ำ ค่อยๆ เคลื่อนไปคิดว่าอย่างนี้รู้สึกตัว โอย ตั้งนานยังไม่ได้กินน้ำเลย อันนั้นไม่ใช่ความรู้สึกตัว ไม่ใช่วิธีฝึกด้วย วิธีฝึกก็คือใครเป็นคนไม่รู้สึกตัว จิตต่างหากมันไม่รู้สึก เพราะมันหลงไปคิด กับมันหลงไปเพ่ง มีสติรู้ทันจิตที่หลงไปคิด จิตที่หลงไปเพ่งนั่นล่ะ เราจะรู้สึกตัวขึ้นมา เราจะตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมาแล้วถึงจะแยกขันธ์ได้ อย่างจะแยกรูปกับจิตออกจากกันได้ แยกเวทนากับจิตออกจากกันได้ แยกสังขารกับจิตออกจากกันได้

ตรงที่เราสามารถแยกได้ โดยไม่ใช่คิดเอา มันรู้สึกเอา มันเห็น มันเห็นเอา ร่างกายที่เคลื่อนไหว มันเห็นอยู่ ไม่ใช่เห็นกาย มันรู้สึกอยู่ร่างกายที่เคลื่อนไหว มันไม่ใช่เรา มันของถูกรู้ถูกดู มันเห็นอย่างนี้ก่อน มันเห็นเป็นของถูกรู้ถูกดูก่อน กายก็ถูกรู้ถูกดู เวทนาก็ถูกรู้ถูกดู สังขารก็ถูกรู้ถูกดู แต่ถ้าละเอียดขึ้นไปก็จะเห็นว่าจิตก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ใครเป็นคนรู้จิต จิตนั่นล่ะเป็นคนรู้จิต จิตดวงใหม่เป็นคนรู้จิตดวงเก่า ที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ แต่ตรงนี้เว้นไว้ก่อน มันละเอียด ดูแค่ว่าร่างกายมันถูกรู้ถูกดู เวทนา สุข ทุกข์ มันถูกรู้ถูกดู กุศลอกุศลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในจิตมันถูกรู้ถูกดู นี่คืองานที่สอง

 

งานสุดท้ายคือการเจริญปัญญา

งานที่หนึ่งปลุกความรู้สึกตัวขึ้นมา งานที่สองแยกขันธ์ออกไป อย่างน้อยมี 2 ขันธ์ แต่หนึ่งในนั้นต้องเป็นจิต ไม่มีจิตปฏิบัติต่อไม่ได้ พอแยกได้แล้วก็ถึงงานที่สาม งานสุดท้ายแล้ว งานสุดท้ายแล้วก็คือการเจริญปัญญา ตรงที่เราแยกกายกับจิตออกจากกัน อาศัยสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตเกิดขึ้น สติระลึกรู้อะไรปัญญาก็เกิดว่านี่ถูกรู้ไม่ใช่จิต แต่ตรงที่ปัญญาแท้จริง วิปัสสนาปัญญาจะเกิด นี้เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง ก็คือการที่มีปัญญาหยั่งลงไป เห็นทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตรงนั้นเราจะได้ของดีของวิเศษก็ตรงนี้

แต่ก่อนจะมาถึงของดีของวิเศษนี้ เราต้องแยกขันธ์ได้ เราจะต้องมีความรู้สึกตัวได้ การที่ขันธ์มันมารวมกันอยู่ ขันธ์ 5 มารวมกันอยู่อย่างนี้ มันจะเกิดความรู้สึกว่านี้คือตัวเรา นี่คือของเรา นี่คือตัวเรา แต่พอขันธ์มันกระจายตัวออกไป มันก็จะเริ่มเห็นความจริงได้ รูปไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา รูปนอกจากเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเราของเรา รูปยังเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ตรงที่เราแยกกายกับจิตออกจากกัน เราเหลืองานนิดเดียว เราก็จะเห็นเหลือรูปอันเดียวที่จะต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เหลือตัวนี้ทั้งตัวที่จะเรียนรู้ เรียนไม่ไหวมันเยอะเกิน ก็แยกส่วนมัน

แยกส่วนที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนย่อยๆ ก็เป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนก็แยกย่อยไปได้อีก ยังไม่ต้องพูดถึง มันเยอะเดี๋ยวเวียนหัว เราแค่แยกกายกับจิตออกจากกันได้ แยกเวทนากับจิตออกจากกันได้ แยกสังขารกับจิตออกจากกันได้ ถ้าแยกได้ถือว่าเราผ่านบทเรียนที่สองแล้ว ตรงที่หัดรู้สึกตัวนั้นเหมือนเด็กประถม ตรงที่แยกรูปแยกนามได้เหมือนเด็กมัธยมแล้ว ตรงที่เห็นไตรลักษณ์ รูปแสดงไตรลักษณ์ เวทนาแสดงไตรลักษณ์ สังขารแสดงไตรลักษณ์ จิตก็แสดงไตรลักษณ์

ค่อยๆ เห็นไป มีจิตรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ สติระลึกรู้รูป ไม่ใช่รู้แค่รูป ว่ารูปกับจิตเป็นคนละอัน แต่เห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง รูปนี้ไม่เที่ยง รูปนี้ทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นตลอดเวลา รูปนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่าเราเห็นไตรลักษณ์ เมื่อเรามีจิตตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายหรือในจิตก็ตาม เบื้องต้นในบทเรียนที่สองเด็กมัธยม ก็จะเห็นว่าเวทนากับจิตมันคนละอันกัน แต่เด็กอุดมศึกษาทำวิปัสสนาแล้ว ก็จะเห็นว่าเวทนาความสุขความทุกข์ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่ไปรู้เวทนาก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็ไม่รู้ เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง

บางทีไปรู้กายเดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไปเพ่งกาย รู้เวทนา เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลงไป แล้วไปเพ่งเวทนาก็มี ถลำลงไปจ้อง อันนั้นจิตไม่มีกำลัง ถ้าจิตมีกำลังมันจะเป็นคนรู้ ไม่คิดเอา ไม่เพ่งเอา แต่เห็นตามความเป็นจริง กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัญญา สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วต่อไปก็จะเห็นอีกจิตก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่เที่ยงดูอย่างไร เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง นี่มันไม่เที่ยง

จิตมันจะรู้ หรือมันจะคิด หรือมันจะเพ่ง สั่งมันไม่ได้ มันทำงานได้เอง นี่เป็นอนัตตา จิตรู้ก็ทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ เดี๋ยวก็ดับ จิตเพ่งมันก็ไม่มีใครจะไปเพ่งได้ตลอดหรอก ถึงจุดหนึ่งมันก็เลิกเพ่ง มันทนตลอดไปไม่ได้ อันนั้นเรียกว่าทุกขตา ทนอยู่ไมได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป เพราะฉะนั้นพอเราแยกขันธ์ได้ เราก็จะเห็นเลย ขันธ์แต่ละขันธ์ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ รูปก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สังขารทั้งหลายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำๆๆๆ ไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งอริยมรรคจะเกิดขึ้น ไม่เดินอย่างนี้ไม่มีทางหรอก ส่วนใหญ่ไม่ผ่านตั้งแต่ข้อหนึ่งแล้ว เพราะนักปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ไปเพ่งเอา มุ่งไปที่ความสงบ ให้จิตนิ่งๆ สงบๆ ไม่ได้มุ่งที่สติที่ปัญญา

 

 

ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำสมาธิ ต้องทำในรูปแบบ ต้องมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตถลำหลงไปเพ่งรู้ทัน ทำไปเรื่อยๆ เราจะได้จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นรู้สึกตัวขึ้นมา พอรู้สึกตัวแล้วก็ดูไป กายกับจิตนั้นคนละอันกัน เวทนากับจิตก็คนละอันกัน สังขารความปรุงดีปรุงชั่วกับจิตก็คนละอันกัน แยกมันไป แล้วต่อไปเราพัฒนาขึ้นไปอีก พอเราแยกได้เป็นส่วนๆ แล้วเราก็เห็น แต่ละส่วนนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าเราดูไอ้นี่ทั้งก้อน ดูไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก ตัวนี้เกิด ตัวนี้ดับ หมุนเวียนมั่วซั่วไปหมดเลย มันสืบเนื่องกันแล้วก็พัวพันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ต้องซัดก้อนนี้ให้แตกออกไปก่อน ก้อนนี้เรียกฆนะ ทำให้มันแตกออกไป ให้ฆนะแตก คือทำความเป็นกลุ่มก้อนนี้ให้แตกออกจากกัน ก็คือแยกขันธ์นั่นล่ะ จะแยกได้มีจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วมันถึงจะแยกขันธ์ได้ บางคนก็เรียนตำรา รู้ว่าต้องทำฆนะให้แตก แต่ไม่รู้วิธีจะทำ ไปกำหนดอะไรบ้าๆ บอๆ ไป เสียเวลา แต่ถ้าจิตตั้งมั่น ฆนะมันแตกแล้ว มันจะเห็นร่างกายนี้มันถูกรู้ กายกับจิตมันคนละอันกัน นี่ฆนะแตกแล้ว คือแยกออกไปแล้ว ขันธ์ 5 นี้เริ่มแตกตัวแล้ว พอแตกๆ ออกไป เราก็จะดู ตรงวิปัสสนาเราจะเห็นแต่ละตัวๆ ที่แยกออกไปนั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

 

ทำให้ถูก ทำให้พอ อดทน

 

สรุปก็คืองานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้ แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้ เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต

ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา เราฝึกไป ถ้าทำ 3 งานนี้แล้วมันยังไม่ได้ ก็ผิดปกติแล้ว บางคนไม่ได้ มี ทำถูก ทำมากพอแล้วยังไม่ได้ บางทีมันมีวิบาก อย่างมันทำสิ่งที่เรียกว่า อริยูปวาโท ดูหมิ่นพระอริยะ มันไม่ได้หรอก มันเป็นกรรมที่หนัก อย่างเราดูถูก เราไม่รู้ยุคนี้ใครเป็นพระอริยะ สมมติเราไปดูถูกครูบาอาจารย์ แล้วท่านเกิดดีขึ้นมา เราไปประณามท่านขึ้นมา อย่างช่วงที่ผ่านมาก็มี ไปดูถูกหลวงปู่แสง หลวงพ่อไม่ยืนยันว่าหลวงปู่แสงเป็นพระอริยะ แต่ถ้าท่านเป็นพระอริยะ คนที่ประณามท่านก็เป็นอริยูปวาโท ไม่มีทาง

อีกพวกหนึ่งที่จะทำไม่ได้ ก็คือพวกที่มีกรรมหนักจริงๆ พวกทำอนันตริยกรรม ฆ่าพ่อฆ่าแม่ พวกนี้ทำไม่ได้หรอก อีกพวกหนึ่งที่ทำไม่ได้ คือพวกที่มุ่งพุทธภูมิ เขาจะทำได้จนถึงจุดที่ทำวิปัสสนา จนจิตเป็นกลางต่อสภาวะทั้งหมดทั้งปวงแล้ว แต่มรรคผลไม่เกิด เพราะเขาหวังของใหญ่กว่าที่จะเป็นสาวก แต่ถ้าเป็นคนอื่นๆ ทั่วๆ ไปอย่างพวกเรา เราไม่เคยฆ่าพ่อฆ่าแม่ อย่างเป็นฆราวาสไม่สามารถทำให้สงฆ์แตกแยกได้ สังฆเภท คนที่ทำสังฆเภทได้คือพระเท่านั้น โยมทำสังฆเภทไม่ได้ แค่สนับสนุนให้พระทำสังฆเภท ก็กรรมหนักเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใช่พระ แล้วเราไม่เคยฆ่าพ่อฆ่าแม่ เราไม่ได้ทำอนันตริยกรรมไป 3 ข้อแล้ว เราไม่เคยทำร้ายพระพุทธเจ้า เราไม่เคยฆ่าใคร เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ฆ่าพระอรหันต์ อนันตริยกรรม 5 ข้อ พวกเราไม่มี ฉะนั้นเราระวังปากไว้เท่านั้น อย่าเที่ยวดูถูกคนอื่น ถ้าจิตเราไปปรามาสคนอื่น ขอขมาเสีย อนันตริยกรรมแก้ไม่ได้ อริยูปวาโทขอขมาได้ มันไม่เท่ากัน ส่วนหวังพุทธภูมิ ถ้ายังหวังอยู่อริยมรรคก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่ติดเงื่อนไขเหล่านี้ แล้วเราภาวนาทำถูก แล้วทำให้มาก เราควรจะได้อะไรบ้างในชาตินี้

โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์ กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน บางคนได้ยินว่าแยกขันธ์ก็แยกพิสดาร ถอดจิตขึ้นไปอยู่บนอากาศแล้วมองลงมาที่กาย นี้ไม่ใช่ อันนั้นแยกด้วยกำลังของฌาน แยกจิตไปอยู่กลางอากาศอย่างนั้น ไม่ใช่แยกอย่างนั้น แยกด้วยความรู้สึก กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน เหมือนเรามีปัญญาแยก

สมมติเรามีน้ำเขียวน้ำแดง ทุกวันนี้เห็นน้ำแดงเยอะ อยู่ตามศาลพระภูมิ เลี้ยงน้ำแดงกัน ถ้ามีปัญญาจริงจะรู้น้ำไม่มีสี ไอ้แดงๆ เป็นสิ่งที่เจือปนในน้ำ แยกอย่างนี้ ปัญญามันแยกได้ แยกขันธ์ก็อย่างนั้น น้ำแดง สีแดงกับน้ำมันก็ยังอยู่ด้วยกัน เวลาแยกขันธ์มันก็เห็นกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็อยู่ด้วยกันแต่มันแยกกัน เหมือนน้ำกับสีแดงมันแยกออกจากกัน กายกับจิตมันอยู่ด้วยกัน แต่มันแยกออกจากกัน เป็นคนละอันกัน

ค่อยๆ ฝึก โอกาสที่จะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ โสดาบันไม่ใช่ยากอะไรนักหนาหรอก ทำให้ถูก ทำให้พอ อดทน ทำแล้วก็ขี้เกียจ ไม่ได้หรอก นี้เป็นการสรุป คล้ายๆ เวลาเรียนจะจบแล้ว พวกพระเข้าพรรษาเรียนจะจบแล้ว ก็สรุปรวบยอดให้ฟัง เอาไปทำเอา ถ้านั่งเพ่งเอาไปเรื่อยๆ ชาติหน้ายิ่งเพ่งเก่งกว่านี้อีก ไม่ได้เรื่องหรอก

 

 

เรื่องยิงเด็กมันยิงกันแล้ว แล้วต่อไปมันก็คงมีอีก การเลียนแบบ ก่อนมันมีวิชาหนึ่ง เรียกอาชญาวิทยา ผู้ร้ายทำอะไรมันก็เลียนแบบกัน หลวงพ่อถึงเตือนพวกเราว่า อย่าประมาท เราไม่ได้ทำอะไรแต่วิบากมันให้ผลมา ก็ได้รับวิบากไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางสมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านก็มีพระบัญชาให้วัดทั้งหลายเจริญพระพุทธมนต์ บางคนก็มองว่าไม่เห็นเกี่ยวอะไรเลย เจริญพระพุทธมนต์ก็ทำจิตใจให้มันร่มเย็นขึ้นมา ถ้าเราได้ยินได้ฟัง ใจเราก็ร่มเย็น ไม่เดือดร้อนวุ่นวายมาก หรือเราไม่ได้ยินได้ฟัง เราก็ภาวนาของเรา พุทโธๆ นั่นล่ะพุทธมนต์

พุทโธๆ ไป จิตใจเราก็สงบร่มเย็นไป แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไป พวกเราชาวพุทธ เราก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้สัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์ที่ลำบาก ถูกยิง ถูกฟัน กระทั่งคนที่ไปยิงไปฟัน ไอ้นั่นลำบากที่สุดเลย คนนั้น ได้ข่าวคนมาบอก บอกว่าพวกที่ตายๆ ก็มีวัดสวดให้เผาให้ แต่คนที่ไปฆ่าเขาไม่มีวัดไหนยอมรับศพมา ที่จริงชาวพุทธเราไม่ได้รักใครเกลียดใครอย่างนั้นหรอก คนที่อาภัพที่สุดก็คือคนที่ทำบาป ส่วนคนซึ่งถูกทำร้ายถูกอะไรรับวิบาก รับวิบากไป ก็ช่วยสงเคราะห์กัน แก้ปัญหากันไป ช่วยเหลือกัน

เมืองไทยเราดีตรงนี้ เวลาเกิดเรื่องอะไรที่ยากลำบาก เราก็ช่วยเหลือกัน ก็ไม่ต้องไปสนใจ 2 – 3 อย่าง อันหนึ่งก็คือไม่ต้องไปแชร์เรื่องพวกนี้ ไม่ต้องพูดถึงมันมาก มันจูงใจคนให้เลียนแบบ ฝึกจิตใจของเรา อยู่ด้วยความไม่เป็นศัตรูอะไรกับใคร ร่มเย็น นึกถึงคนอื่น นึกถึงสัตว์อื่น ด้วยความเมตตา ด้วยความเป็นมิตร มีพรหมวิหาร มีความเมตตาคือความรู้สึกเป็นมิตรกับคนอื่น กับสัตว์อื่น มีกรุณาเห็นคนอื่นเขาลำบาก สัตว์อื่นเขาลำบาก ช่วยได้ก็ช่วย

เห็นใครเขาดีมีมุทิตา ก็คือยินดีกับเขาด้วย อย่างเราเห็นคนทำบุญแล้วเราบอกว่าโมทนาๆ โมทนาก็คือยินดีด้วย ก็เธอทำความดี เพราะฉะนั้นใครเขาดี เขาทำดีเราก็อนุโมทนา ใครเขาได้ดีเราก็อนุโมทนา เห็นเขารวยโมทนา คงทำอะไรมาดีกระมังเลยรวย ถ้าใจไม่รู้จักยินดีที่คนอื่นเขาได้ดี ก็อิจฉา ถ้าอิจฉาใจเราก็เร่าร้อน แต่ไม่ว่าเราจะเมตตา กรุณา มุทิตา ก็ทิ้งอุเบกขาไม่ได้

อุเบกขาก็คือ ยอมรับความจริง สัตว์โลกทั้งหลายมันมีกรรมเป็นของตัวเอง มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป เราไม่ได้เป็นตัวควบคุมกรรม ฉะนั้นเราเห็นใครเขาทำไม่ดี ก็ไม่ต้องไปโกรธไปเกลียดเขา นี่วิถีของชาวพุทธเรา อยู่โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรกับผู้อื่น ไม่ทำจิตใจตัวเองให้เดือดร้อน ฝึกตัวเองไป เห็นคนลำบากช่วยได้ก็ช่วย

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 ตุลาคม 2565