ภาวนาแล้วรู้สึกหงุดหงิดร้อนรุ่มกับคำพูดสะเทือนใจ

คำถาม:

ส่งการบ้านหลวงพ่อตอนต้นปี 2563 หลวงพ่อให้ไปดูเวลาที่ผมเห็นจิตไหลไปแล้วหงุดหงิด มีความไม่เป็นกลาง คำถามคือตอนผมเริ่มภาวนาผมฝันว่าเป็นเณรอยู่ เล่นกับหมู่เพื่อนเณรแล้วเพื่อนพูดขึ้นว่า “แกไม่สำเร็จอะไรในชาตินี้หรอก” แล้วในฝันหลวงพ่อเดินเข้ามาแล้วผมสะดุ้งตื่น ตอนภาวนาแรกๆ ไม่ได้คิดอะไร เพราะภาวนาไม่ได้หวังสำเร็จอะไร ฝันก็คือฝัน แต่พอมาช่วงนี้กลับไม่เป็นกลางกับคำพูดนี้ขึ้นมา รู้สึกหงุดหงิดร้อนรุ่ม รู้สึกว่าโลภก็ไม่หาย คำพูดสะเทือนใจเอาแน่นอนไม่ได้ รู้ว่ามันบังคับไม่ได้ก็ไม่หาย ฝากขอหลวงพ่อแนะนำวิธี เวลาเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมาอีกครับ

 

หลวงพ่อ:

ทำอย่างไรก็ไม่หายหรอก ถ้าเราสั่งให้หายได้แสดงว่าจิตเป็นอัตตา เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนาไม่ใช่ให้มันหาย แต่ภาวนาให้เห็นว่าเราบังคับไม่ได้ แล้วก็มองไปทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา มันเหมือนความฝันทั้งนั้นล่ะ จะฝันดีหรือจะฝันร้าย ไม่นานความฝันนั้นก็ผ่านไป ไม่มีใครบังคับความฝันได้ มันมาแล้วมันก็ไป มาแล้วก็ไป ตอนที่เราตื่นอยู่เราก็ทำความรู้สึกไป เหมือนเรากำลังฝันอยู่นี่ล่ะไม่ได้มีอะไรจริงจัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจ ยิ่งจิตมันหลอน มันบอกอย่างโน้นบอกอย่างนี้ไม่ต้องไปเชื่อมัน เราก็ดูไปจิตมันไม่ใช่เรานี่หว่า มันคิดของมันได้เอง มันปรุงของมันได้เอง ดูมันเข้าไปตรงๆ อย่างนี้เลย ไม่ต้องไปนั่งแก้หรอก

มาถามหลวงพ่ออยากจะแก้ จิตมันติดตัวนี้อยู่จะทำอย่างไร เป็นกลางกับมัน ถ้าเรายังคิดจะแก้ไม่มีทางสำเร็จหรอก เพราะจิตเป็นอนัตตา มันไม่เป็นไปตามที่เราสั่งหรอก เรียนรู้ความจริงของมันไปเรื่อยๆ มันมีอะไรมาบอกเราในความฝัน โธ่ มันจะสำคัญอะไร ในตอนที่เราตื่นอยู่นี่ คนเขามาบอกเราเรื่องนั้นเรื่องนี้ตั้งเยอะตั้งแยะ ก็จริงบ้างเฟคนิวส์บ้าง ไม่เห็นสำคัญอะไรเลย ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างจะจริงหรือจะไม่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับเสมอกันหมด ฉะนั้นเป็นกลางกับมันไว้ในทุกๆ สภาวะ แล้วมันจะไม่เดือดร้อน

ถ้าเราไม่เป็นกลางเราหลงยินดี หลงยินร้ายกับสิ่งที่เรารู้สึกขึ้นมา จิตใจเราก็ว้าวุ่น จิตใจมันก็วุ่นวาย มันไม่สงบหรอก ฉะนั้นสังเกตดูจิตไม่ชอบ จิตสงสัย จิตเป็นอย่างไรรู้ทันมันไป แล้วก็ตั้งหลักให้ดี ไม่ใช่รู้เพื่อให้หาย แต่รู้เพื่อให้เห็นความจริงว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เข้าใจหรือเปล่า ดูให้เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ดูให้บังคับได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564