คำถาม:
หลวงพ่อ:
ปฏิบัติก็ถูกนะ ฝึกเรื่อยๆ ไป แต่เวลาความรู้สึกอะไรมันเกิดขึ้นกับจิตใจ อย่าให้ความรู้สึกนั้นครอบงำใจเราได้ อย่างบางทีเราภาวนาไปในบรรยากาศอย่างนี้ ในสังคม ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้ บางทีจิตใจมันเหนื่อย มันท้อแท้ มันหดหู่ ให้มีสติรู้ทันไป เราก็จะเห็นความหดหู่ไม่ใช่จิตหรอก ความหดหู่เป็นแค่ความรู้สึกอย่างหนึ่ง เป็นสังขารอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เฝ้ารู้เฝ้าดูไป จิตเราเป็นแค่คนรู้คนดู ฝึกแล้วต่อไปไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อะไร เราจะสามารถอยู่ได้แบบไม่ทุกข์หรอก หรือทุกข์ก็ทุกข์น้อยๆ
ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ฝึกไปแล้วก็ใจเราโกรธ เราก็รู้ ใจเราฟุ้งซ่านเราก็รู้ อย่าไปโมโหมันอีก ตรงที่นั่งสมาธิแล้วก็เครียด สมาธิไม่ได้ทำให้เราเครียดหรอก สิ่งที่ทำให้เราเครียดคือกิเลส เราอยากสงบเร็วๆ อยากสงบนานๆ อะไรอย่างนี้เราจะไปบังคับจิต จิตถูกบังคับจิตมันก็เครียด จิตมันเหมือนเด็ก เราบังคับมันมากมันเครียด ฉะนั้นเราอย่าไปบังคับจิตมากเกินไป ถ้ามีเวลามีโอกาสเราก็ฝึกนั่ง โดยไม่ได้บังคับว่าจิตต้องสงบ นั่งรู้สึกตัวไป นั่งแล้วเห็นร่างกายหายใจไป นั่งแล้วคอยรู้สึกๆ ไป เราจะได้ฝึกได้ทุกๆ อิริยาบถ ให้เราเดินตลอด 24 ชั่วโมง เราเดินไม่ได้มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถด้วย
ฉะนั้นพยายามฝึกให้ได้ทุกๆ อิริยาบถจะดีที่สุด แต่เบื้องต้นอย่างน้อยที่สุดแล้วเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ ได้ก็ยังดี นอนอยู่ก็ฝึกได้ เราเคลื่อนไหวนอนแล้วก็ขยับเอา ขยับ รู้สึกๆ ก็ทำได้ หลวงพ่อยังเคยทำ บางทีนอนแล้วขยับเท้าๆ อย่างนี้ ขยับ รู้สึก มันไม่ได้มีคุณค่าน้อยกว่าการเดินจงกรมเลย ถ้าจิตเรามีสมาธิพอ คือเห็นรูปเคลื่อนไหวใจเป็นคนดูนั่นเอง ฉะนั้นเรารู้อิริยาบถ รู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง มันทำได้ในทุกอิริยาบถอยู่แล้ว ร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องว่าต้องนั่ง ต้องเดิน อยู่ในอิริยาบถไหนก็ขยับได้ เคลื่อนไหวได้ ค่อยๆ ดูไป
แล้วที่มันเครียดเพราะเราอยากสงบ เพราะเราอยากดี ถ้าเรารู้ทันเราก็ขยับไปด้วยใจที่เป็นกลาง รับรองว่าไม่เครียดหรอก เราจะทำสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ พอจิตเราตั้งมั่นเราเดินปัญญาได้ในทุกอิริยาบถ นั่งก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้ สามารถเดินปัญญาได้ บางท่านบรรลุมรรคผลในอิริยาบถนอนก็มี ไม่ใช่ไม่มี ฉะนั้นเราพยายามฝึก ที่ฝึกอยู่ดีนะ อนุโมทนา อดทนไปทุกวันๆ ฝึกไว้
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564