คิดว่าใจยังไม่เข้าฐาน จึงรู้สึกจิตใจยังไม่มุ่งมั่นเด็ดขาดพอ จิตพอจะมีแรงเข้าใจสภาวะได้บ้าง ก็เผลอสร้างตัวตนขึ้นมา วนเวียนแบบนี้ ขาดความมั่นใจ สับสน

คำถาม:

คิดว่าใจยังไม่เข้าฐาน จึงรู้สึกจิตใจยังไม่มุ่งมั่นเด็ดขาดพอ ใจยังเข็ดขยาดกับบางสภาวะกลางหน้าอก สลับกับบางตอน ที่จิตพอจะมีแรงเข้าใจสภาวะได้บ้าง ก็เผลอสร้างตัวตนขึ้นมา วนเวียนแบบนี้เรื่อยไป บางครั้งขาดความมั่นใจ สับสน ขอหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยค่ะ

หลวงพ่อ:

ภาวนาต้องใจเย็นๆ ไม่รีบร้อน แต่ทำสม่ำเสมอ ใจเรามันก็ยังผูกพันอาลัยอาวรณ์ รักใคร่อยู่กับโลก อย่าไปปฏิเสธความจริง ไม่ต้องฝืน อย่างใจเรายังต้องคลุกอยู่กับโลก มันยังชอบอยู่กับโลก โบราณมีสำนวนอันหนึ่งบอก “อย่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า” เด็กยุคนี้ไม่รู้จักพร้า ก็ไม่รู้จะหักอะไรแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาใจมันผูกพันรักใคร่อยู่กับโลก ก็แค่รู้ทันมัน ใจยินดี ใจเพลิดเพลินอยู่กับโลกก็รู้ทัน ใจเบื่อหน่าย ใจยินร้ายอยู่กับโลกก็รู้ทัน แล้วเราทำกรรมฐานของเราเรื่อยๆ ไป จิตมันจะมีกำลังมากกว่านี้

พอเราอยู่กับโลกบางทีมันทุกข์ เราก็ไม่อยากอยู่ เราอยากหนี เราก็มาภาวนาหวังว่าจะต้องดีอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้มีความสุขเสียที อันนี้มันก็จะไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นจิตใจเรายังติดอยู่กับโลก เราก็รู้ ไม่ปฏิเสธความจริง จิตใจเราทุกข์ ยุ่งกับโลกแล้วเราทุกข์เราก็รู้ ไม่ปฏิเสธความจริง แต่ถึงเวลาเราก็ปฏิบัติของเรา ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เราก็ทำ ไม่ได้ทำด้วยหวังว่ามันจะดี ถือว่าเราทำเป็นพุทธบูชาไป สะสมของเราไป
ถ้าเราวางใจได้ว่าไม่ได้ทำเพื่อจะเอา มันจะพัฒนาได้เร็ว แล้วพอจิตใจเราพัฒนา มันก็จะเริ่มเบื่อหน่าย คลายความยึดถือในโลกข้างนอกออกไป อยู่ๆ ยังภาวนาไม่แข็งแรง ก็จะให้เบื่อโลก อยากให้ออกจากโลก มันไม่ออกหรอก ให้รู้ความจริง ยอมรับความจริง มันยังติดโลกอยู่ก็รู้ ยังอยากอยู่กับโลกก็รู้ ประสบอารมณ์ไม่มีความสุข ไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ รู้ทันมันไป แล้วถึงเวลาเราก็มาไหว้พระ สวดมนต์ ทำสมาธิ เดินจงกรม เป็นพุทธบูชา
ไม่ได้หวังว่าจะหนีจากโลก ไม่ได้หวังว่าจะพ้นจากโลก ปฏิบัติไปโดยไม่เอาอะไร ไม่หวังอะไร ถ้าทำได้อย่างที่หลวงพ่อบอก เราก็จะไม่เครียดหนัก อันนี้เรา โอ้ โลกนี้น่าเบื่อเหลือเกิน แล้วก็มาภาวนา มันภาวนาเพื่อจะให้หายเบื่อ ให้หายทุกข์ มันอยากโน้นอยากนี้มากมาย มันไม่สงบ ฉะนั้นเราทำไปสบายๆ แค่ไม่ผิดศีล 5 นั่นล่ะอยู่กับโลกแค่นั้นล่ะ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 15 ตุลาคม 2565