คำถาม:
หลวงพ่อ:
สมาธิที่ดีต้องเป็นสมาธิที่ไม่ได้จงใจให้เกิด จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าเป็นภาษาอภิธรรมต้องบอกว่าเป็นมหากุศลจิตญาณสัมปยุต ญาณสัมปยุตคือประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ อสังขาริกัง อสังขาริกังก็คือเกิดขึ้นอัตโนมัติ ไม่ได้ทำให้มันเกิดขึ้น ถ้าเมื่อไรเราพยายามทำสมาธิแล้วจิตเราแน่นๆ ทื่อๆ นิ่งๆ จิตดวงนั้นยังมีคุณภาพไม่พอที่จะเจริญวิปัสสนา ฉะนั้นเราสังเกตดู ถ้าใจเราทื่อๆ นิ่งๆ สมาธิอันนี้ยังไม่พอ ยังไม่ถูก สังเกตเอา
วิธีทำสมาธิที่ถูก เมื่อวานก็เทศน์ไปแล้ว ไปฟังดู ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัดแล้วรู้ทันจิตตนเอง ไม่ได้บังคับจิตให้สงบอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น เช่น เราหายใจ สมมติว่าเราหายใจ เรารู้สึกอยู่ เราหายใจแล้วจิตเราหนีไปที่อื่น เรารู้ จิตเราถลำลงไปจ้อง แสงสว่างที่เกิดขึ้นตรงนี้ เรารู้ หรือเราหายใจยาวๆ อย่างนี้ จิตเราหนีไปคิด เรารู้ จิตเราจมลงไปในลมหายใจ เรารู้ เราดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิด เรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งท้อง เรารู้
ตรงที่จิตมันหลงไปคิด มีกาย ลืมกาย มีจิต ลืมจิต ตรงที่ถลำลงไปเพ่ง จิตจะแน่นๆ จิตจะไม่ใช่มหากุศลจิตตัวจริง ลักษณะของจิตที่เป็นมหากุศลจะมีลักษณะเบา ถ้าหนักๆ ไม่ใช่ แต่ถ้าเบาแบบปลอมๆ แกล้งทำเบาๆ อย่างนี้หนัก แต่หนักแบบติดลบ น้ำหนักกลับข้าง ใช้ไม่ได้ จิตที่ไม่มีน้ำหนักเลยคือจิตธรรมดา จิตปกติ ถ้าจิตดวงไหน เราเข้าไปแทรกแซงสักนิดหนึ่ง ก็จะหนักขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาถ้าเราภาวนาแล้วจิตเราหนัก แสดงว่าสมาธินี้ยังไม่ถูก ถ้าจิตเราแน่นๆ ยังไม่ถูก ถ้าจิตมันแข็งๆ มันไม่ถูก จิตที่ถูกเป็นมหากุศลจิต จะต้องมีมุทุตา มีความนุ่มนวล แต่ไม่ใช่แกล้งนุ่มด้วย มีความเบา ลหุตา แต่ไม่ใช่แกล้งเบา
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป จิตที่เราทำกรรมฐานอยู่ตอนนี้เป็นจิตที่เป็นกุศลที่แท้จริงหรือเปล่า หรือเป็นจิตที่เจือด้วยโลภะ เกือบร้อยละ 100 เจือด้วยโลภะ อยาก อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ มันจะทื่อๆ แข็งๆ เบอร์ 1 ลองตอบหลวงพ่อได้ไหม ตอบในใจว่าจิตเรายังแข็งๆ ทื่อๆ ไหม นิ่งๆ ผิดปกติไหม นั่นล่ะรู้ด้วยตัวเองแล้ว ฉะนั้นอย่าไปบังคับมัน ปล่อยให้มันทำงานแล้วเรามีสติตามรู้ไป ทำกรรมฐานแล้วมันหนีไปคิดแล้วรู้ มันถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้บ่อยๆ เราจะได้สมาธิที่ดีขึ้นมา
ที่ทำก็ใช้ได้ในแง่ของความอดทน ได้พยายามทำอยู่อย่างต่อเนื่องแล้วล่ะ แต่เติมสติลงไป รู้เท่าทันจิตใจของเรา ที่เราทำมันยังเจือโลภอยู่นิดๆ มีโลภอยู่นิดหน่อย เราอยากดี อยากรู้ตัวตลอดเวลาอะไรอย่างนี้แล้วใจมันจะแน่นๆ ขึ้นมา อย่างตรงนี้ใจมันสลด รู้สึกไหม ตรงที่ใจสลด สังเกตไหม เราสามารถรู้ได้โดยที่เราไม่ได้เจตนาจะรู้ นึกออกไหม ตอนที่มันสลดใจ มันสลดขึ้นมาปุ๊บ เราก็มีสติรู้ว่าจิตมันสลดใจ เห็นไหมเราไม่ต้องไปตั้งท่าก่อน ไหนดูสิเมื่อไรจะสลดอะไรอย่างนี้ อย่าไปตั้งท่าไว้ก่อน ให้ความรู้สึกเกิดแล้วรู้ๆ เอา
อย่างตรงนี้เราพยายามข่ม รู้สึกไหม เราพยายามข่มไม่ให้จิตสลดสังเวช ข่มใจ ไม่ต้องข่มหรอก จิตสลด รู้ว่าสลด จิตหายสลด รู้ว่าหาย หนูดูสิ เห็นไหมจิตมันเปลี่ยนแปลง ดูออกไหม การดูจิตเขาดูกันแบบนี้ ไม่ได้ไปทำจิตนิ่งๆ แล้วก็ไปดู มันจะไม่มีอะไรให้ดูหรอก มันจะว่างๆ นิ่งๆ ไปเฉยๆ แน่นๆ ปล่อยให้มันทำงาน ปล่อย สังเกตไหมจิตใจเราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เดี๋ยวก็เฉยๆ เดี๋ยวแน่นๆ เดี๋ยวสลดสังเวช เดี๋ยวผ่อนคลาย จิตมันเปลี่ยนให้ดู ค่อยรู้ไปอย่างที่มันเป็น รู้ไปทีละช็อตๆ รู้ไปสบายๆ
บางทีภาวนา เรียกว่าภาวนาจนน้ำตานองหน้า ไม่แปลกหรอก บางทีก็ โอ้ เหนื่อยเหลือเกิน ทำมาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่ดีสักที ที่ทำอยู่ใช้ได้ ได้บางด้านแล้ว ความอดทน ความต่อเนื่องมีแล้ว ทำให้ถูก ทำโดยไม่โลภ คอยรู้คอยดูไป ไม่ไปบังคับจิตให้นิ่งๆ จิตแข็งๆ นิ่งๆ อึดอัด ไม่ดีหรอก ถ้าจิตมันแข็งทื่อๆ อยู่ มันจะไม่เจริญขึ้น มันก็ลำบากไปอย่างนั้นล่ะ ไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก ไปดูต่อ
ทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิตใจของเรา สังเกตไหม จิตตรงนี้นุ่มกว่าเมื่อกี้แล้ว ดูมันนุ่มกว่าเมื่อกี้ รู้สึกไหม ทำไมมันนุ่ม เพราะมันถูกทุบจนน่วม มันจะไม่แข็งเฉยๆ อยู่ อย่าไปฝึกจิตแข็งเฉยๆ
วัดสวนสันติธรรม 23 ตุลาคม 2565