คำถาม:
หลวงพ่อ:
อยู่ แล้วสังเกตไหม ความทุกข์ ความเศร้าก็ของนอกๆ มาแล้วก็ไปๆ เหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน จะมามันก็มา จะไปมันก็ไป พอคิดขึ้นมามันก็เศร้า ไปคิดเรื่องอื่นมันก็ไม่เศร้า ค่อยดูไป มันมีแต่ของไม่คงที่ มีแต่ของห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ ค่อยๆ สะสมไป ดีแล้วล่ะ ถ้าคนไม่มีธรรมะเวลา ประสบกับความสูญเสียอย่างร้ายแรงก็เจ็บปวด
อย่างพ่อแม่เราตาย สมมติว่าเรารักพ่อแม่ ทำไมต้องสมมติ บางคนมันไม่รัก ไม่ต้องพ่อแม่ก็ได้ คนที่เรารัก แต่ละคนก็น่าจะมีบ้าง คนที่เรารัก คนที่เรารักตาย เราเสียใจ ห้ามมันไม่ได้ เราก็พยายามจัดการกับจิตใจของเราเสียก่อน อย่างคนใกล้จะตาย เราอย่าไปเศร้าใจ อย่าไปเสียใจ ตอนที่เขาจะตาย กระแสของความเศร้าใจมันจะแผ่ออกมา ยิ่งไปกระทบคนที่ใกล้จะตายให้มันเศร้าไปด้วย บางคนร้องห่มร้องไห้ เขย่า อย่าตายๆ มันเลยไปเป็นเปรตอยู่ตรงนั้นเลย
เพราะฉะนั้นก่อนที่คนที่รักจะตาย เรารักษาใจของเราให้ดี อย่าให้เศร้าหมอง มีสติไว้ มองให้เห็นว่าธรรมะกำลังแสดงตัวให้เราเห็นอยู่ พอเขาตายแล้วจิตใจเราจะเศร้าหมองให้เรารู้ทันอีก อย่าเศร้าหมอง พอจิตเราไม่เศร้าหมอง พอจิตเรามีบุญ เรานึกถึงเขา เขาก็แช่มชื่นใจ มีความสุข แต่ถ้าเราเศร้าหมองแล้วเขารู้ว่าเราเศร้าหมอง จิตใจเขาก็เศร้าหมองไปด้วย เหมือนสมมติเราเป็นพ่อเป็นแม่เรารู้ว่าลูกของเราเศร้าใจ เราก็เศร้าด้วย มันแบบเดียวกัน
เพราะฉะนั้นความเศร้าโศกเสียใจโยนมันทิ้งไป ไม่มีสาระหรอก ไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเอง ไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อคนที่ล่วงลับไปแล้ว ให้จิตมันเป็นบุญเป็นกุศลไว้ มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง ทั้งต่อคนที่ตายแล้ว พยายามสังเกตไปเรื่อยๆ พอจิตใจหายเศร้า จิตใจมีกำลังแล้ว เราก็ดูความจริงของชีวิตเราต่อไป ทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูไปเรื่อยๆ
ตอนเตี่ยหลวงพ่อตาย ขณะที่เขากำลังจะตาย เราก็ดูอยู่ พอเขาตายปุ๊บจิตหลวงพ่อเบิกบานมากเลยตอนนั้น ไม่ได้เบิกบานว่าได้มรดกเพราะไม่มีมรดกอะไรหรอก แต่มันเบิกบาน นี่พระพุทธเจ้าสอนความจริง ใจมันยอมรับความจริง ใจมันเบิกบาน ไม่เศร้า ใจที่เศร้าหมองเพราะมันไม่ยอมรับความจริง
วัดสวนสันติธรรม 30 ตุลาคม 2565