พยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ สิ่งที่เป็นงานที่เราต้องทำ ข้อแรกถือศีล 5 ไว้สำหรับฆราวาส ถ้าศีลไม่ดีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่ดีก็ปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่เกิดวิมุตติมันก็ไม่เกิด ที่จะหวังจะได้มรรคได้ผลอะไรมันทำไม่ได้ ฉะนั้นตั้งใจรักษาศีลไว้ก่อน ก่อนจะปฏิบัติ ศีลกระพร่องกระแพร่งด่างพร้อยอะไรอย่างนี้ มันแล้วก็แล้วกันไป ค่อยไปรับวิบากเอา แต่พอเราตั้งใจที่จะงดเว้นไม่ทำบาปอีก ไม่ทำความผิดทางกายทางวาจา ก็ตั้งแต่ขณะที่ตั้งใจงดเว้น เราก็มีศีลขึ้นมาแล้ว จิตใจมันก็จะสงบง่าย เหมือนองคุลีมาลฆ่าคนไปตั้งพัน ตั้งใจต่อไปนี้ไม่ทำร้ายผู้อื่นอีกต่อไปแล้ว วางอาวุธลงแล้ว ขณะนั้นก็มีศีลขึ้นมา วิบากอย่างไรก็ต้องรับ ไปทำร้ายคนไว้เยอะญาติๆ เขาก็โมโหอาฆาตแค้น ต้องรับไปช่วงหนึ่ง แล้วพิสูจน์ตัวเองว่าได้กลับตัวกลับใจจริงๆ แล้ว สุดท้ายคนเขาก็ยอมรับ
ศีลดีสมาธิก็เกิดง่าย
พอศีลดีสมาธิมันก็เกิดง่าย แค่เรานึกถึงศีลที่เรารักษาไว้ดีแล้ว ใจมันก็ร่มเย็นเป็นสุข สงบ คนผิดศีลไม่มีวันที่ใจจะสงบหรอก อย่างคนที่คิดจะทำร้ายคนอื่น คิดจะฆ่าคนอื่น ใจไม่สงบ คนที่ไม่ได้คิดร้ายคนอื่น ใจมีความเมตตากรุณา ใจมันมีความสุข มันสงบ คนที่คิดจะปล้นเขา จะโกงเขา จิตใจไม่สงบ คนที่รู้จักให้แทนที่จะอยากได้ของคนอื่น รู้จักเสียสละ จิตใจมีความสุข มีความสงบ สมาธิเกิดง่าย คนบ้ากามไม่สันโดษในคู่ของตัวเอง บ้ากาม วุ่นวายกับคนอื่น สนองกิเลสรู้สึกกูเก่งๆ แต่จริงๆ แล้วจิตใจไม่มีวันสงบ ใจวุ่นวาย บางคนโกหกหลอกลวงต้องคิดเยอะ สู้คนซึ่งมีสัจจะไม่ได้ คนซึ่งรักษาความจริง รักษาสัจจะใจมันสงบ คนโกหกต้องคิดเยอะ ทำอย่างไรเขาจะเชื่อ กลัวเขาจับได้ คนติดยาเสพติดใจฟุ้งซ่าน หรือไม่ก็เซื่องซึมไปเลย ทำสมาธิยาก
ฉะนั้นเราตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อนี้ล่ะ เป็นคุณสมบัติขั้นต่ำของมนุษย์ ถ้าขาด 5 ข้อนี้ก็ไม่เป็นมนุษย์เต็มคนแล้ว ไม่เต็มที่แล้ว มนุษย์แปลว่าผู้มีใจสูง ทำผิดศีลได้ก็ใจไม่สูง อย่างเราไม่ทำร้ายคนอื่น ฝึกตัวเองเรื่อยๆ มีศีลแล้วก็มีธรรม ไม่จองเวรพยาบาทหรือคิดร้ายคนอื่น ใจมันก็ง่ายที่จะมีธรรม คือความเมตตากรุณา ไม่คิดเอาของคนอื่น แล้วสูงขึ้นไปก็เป็นธรรมะ รู้จักแบ่งปันคนอื่น รู้จักเสียสละ ไม่เจ้าชู้เรี่ยราด ก็ได้ธรรมะได้ความสันโดษ ไม่พูดเท็จ ไม่โกหกหลอกลวง ได้สัจจะ ได้ธรรมะขึ้นมา ไม่ขี้เหล้าเมายา ก็ได้ธรรมะ ได้สติสัมปชัญญะ ฉะนั้นศีลถ้าเรารักษา เราจะได้ธรรมะมาด้วย ธรรมะเหล่านี้มันเป็นกำลัง ที่จะช่วยให้เราข้ามพ้นวัฏฏะไป ถ้าใจมันไม่มีกำลังข้ามวัฏฏะไม่ได้ วัฏฏะมันหมุนวนอยู่ในจิตในใจเรานี่เอง เราภาวนาเราจะเห็นความหมุนวนอยู่ในใจเรา เดี๋ยวใจก็ดี เดี๋ยวใจก็ชั่ว เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ หมุนๆๆ ไปเรื่อย ภาวนาเราจะเห็นมันหมุนอยู่ที่ไหน หมุนอยู่ในอกเรานี่เอง โบราณบอก “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” มันก็หมุนอย่างนี้ เดี๋ยวก็หมุนไปทางชั่ว เดี๋ยวก็หมุนไปทางดี ไม่มีความสงบ แต่เรามีศีลเรามีธรรม ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป
ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงรวมลงมาง่ายๆ เลย มันไม่เห็นแก่ตัว อย่างเรามีความเมตตากรุณา เราต้องไม่เห็นแก่ตัวถึงจะเมตตากรุณาได้ เราจะแบ่งปันผู้อื่นได้เราก็ต้องมีความไม่เห็นแก่ตัว เราจะไม่นอกใจแฟนของก็ต้องไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวมันก็หวังแต่ความสนุกเพลิดเพลินของตัวเอง ไม่โกหกหลอกลวงเรามีสัจจะ ก็ต้องไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวมันก็ไปปลิ้นปล้อนหลอกลวงคนอื่นเขา หรือกินเหล้าเมายาเห็นแก่ตัว อยากสุขอยากสนุกสนานอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกให้มีศีลมีธรรมขึ้นมา มันจะค่อยๆ ขัดเกลาใจเรา ให้เห็นแก่ตัวน้อยลงๆ ใจที่ไม่เห็นแก่ตัวมันก็ไม่วุ่นวาย สงบสุขง่าย สมาธิมันเกิด เพราะฉะนั้นเรามีศีลให้ดี มีธรรมะพื้นฐานต่างๆ ที่คู่กับศีลเรียกเบญจศีล เบญจธรรม ศีล 5 ธรรม 5 ถ้าเรามีแล้วชีวิตเราสงบ พอเราสงบเวลาเราต้องการให้จิตพักผ่อน เราแค่นึกถึงศีลที่เรารักษามาดีแล้ว จิตก็สงบ
เราเจริญเมตตาไปเพราะเรามีธรรมะคือเมตตา วางใจให้มีความเมตตา มีความเป็นมิตรกับคนอื่นกับสัตว์อื่น ใจก็สงบ หรือคิดถึงความดีที่เราสร้าง เช่นเราสันโดษในคู่ของเรา ใจมันก็สงบ เราคิดถึงความเสียสละของเรา ได้ทำทาน ได้บริจาคช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่นสัตว์อื่นที่เขาลำบากกว่าเรา ใจก็มีความสุขมีความสงบขึ้นมา พอใจเรามีความสุขมีความสงบ สมาธิมันจะเกิดขึ้นง่าย เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ พอจิตใจเรามีสมาธิ สภาวะที่รู้สึกง่ายๆ เลยจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว มันไม่ฟุ้งซ่านร่อนเร่ไปที่อื่น พอจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เราก็สามารถเจริญปัญญา คือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ถ้าจิตใจเราร่อนเร่ไปที่อื่น มันลืมกาย มีกายลืมกาย มีใจลืมใจ ก็ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ เพราะการเจริญปัญญานั้น มารู้ความจริงของกายของใจ
เจริญปัญญา: เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ
เมื่อเราต้องรักษาศีลให้ดี ใจเราจะมีสมาธิ คือจิตใจเราจะอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วเจริญปัญญาไป เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ เห็นมันทำงานไปเรื่อยๆ อย่างหลวงพ่อถามมีพระลูกศิษย์ในนี้ หลวงพ่อถามว่า “เห็นจิตมันเจริญปัญญาไหม เห็นความไม่มีตัวตนไหม” องค์นี้ท่านตอบบอกว่าท่านไม่เห็นว่ามันไม่เป็นตัวตน แต่ท่านเห็นว่าขันธ์ 5 มันทำงานของมันได้เองตลอดเวลา เห็นขันธ์มันทำงานไปเรื่อยๆ มันไม่คงที่ มันทำงานไปเอง แต่จิตมันไม่สรุปเท่านั้นเองว่า มันไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ถึงวันหนึ่งมันก็สรุปได้เองล่ะ เห็นขันธ์มันทำงานไปเรื่อยๆ ความจริงของขันธ์คือไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอด ร่างกายก็ทำงานของร่างกาย ไม่คงที่ เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่ง ขันธ์ก็ทำหน้าที่ของมัน เดี๋ยวก็มีธาตุไหลเข้า เดี๋ยวก็มีธาตุไหลออก หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็ไปฉี่ ไปเป็นเหงื่อเป็นอะไร เห็นแต่ธาตุมันหมุนเวียน มันไม่เคยหยุดนิ่งเลย
ค่อยดูค่อยรู้ไปเรื่อยๆ นั่นก็เป็นความจริงของมัน มันไม่คงที่ เป็นอนิจจัง บางคนก็เห็นบางคนเจริญปัญญาก็เห็นทุกขัง เห็นว่าร่างกายนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าก็ถูกบีบคั้น มีความทุกข์ ต้องหายใจออกเพื่อแก้ทุกข์ หายใจออกแล้วก็ถูกบีบคั้น ต้องหายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ ต้องยืน ต้องเดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถไปเพื่อแก้ทุกข์ นั่งนานมันทุกข์ก็ต้องลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นเดินหรือลงไปนอน ฉะนั้นร่างกายนี้ที่เราเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ เพื่อหนีทุกข์ไปเป็นคราวๆ คนอื่นสัตว์อื่นมันก็เป็นอย่างนั้น จะภาวนาหรือไม่ภาวนา มันก็เคลื่อนไหวหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ
ผู้ปฏิบัติกับคนไม่ได้ปฏิบัติมันต่างกันนิดเดียว คนที่ไม่ปฏิบัติมันหนีทุกข์แต่มันไม่เห็น ไม่เคยรู้เลยว่าร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้กายรู้ใจ จะเห็นที่ว่าร่างกายมันเคลื่อนไหว มันเปลี่ยนแปลง เพราะมันทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ มันทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่างนี้เรียกว่าเราเจริญปัญญา เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เห็นธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ดูให้เห็นมุมใดมุมหนึ่งก็ได้ แล้วแต่จิตใจเราพอใจจะไปดูมุมไหน มันอยากเห็นอนิจจังก็ช่างมันให้มันเห็นไป อยากเห็นทุกขังก็ให้มันเห็นไป มันจะดูมุมของอนัตตาก็ให้มันเห็นไป แล้วแต่มันไม่ต้องไปเลือกให้มันหรอก
เฝ้ารู้ไว้อยู่ที่ร่างกายแล้วก็ใจตั้งมั่นเป็นคนดู มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย แต่ถ้าจิตไม่มีสมาธิมันไม่ตั้งมั่น เวลาดูกายจิตมันจะถลำลงในกาย ไปเพ่งกายอยู่เฉยๆ ใช้อะไรไม่ได้ ได้แต่ความสงบ ทำไปนานๆ ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก สงบเฉยๆ แล้วก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแล้วก็สงบก็ได้แค่นั้น ต้องเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ อย่างการที่ได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์สอนเรื่องไตรลักษณ์ อ่านพระไตรปิฎกท่านพูดเรื่องไตรลักษณ์ จิตมันเคยได้ยินได้ฟัง เวลาที่จิตมันตั้งมั่นทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา เห็นธาตุเห็นขันธ์แยกออกไป มันเคยได้ยินได้ฟังธรรมะเรื่องไตรลักษณ์ มันก็จะเริ่มมองไตรลักษณ์ เริ่มหมายรู้รูปนามขันธ์ 5 ทั้งหลายโดยความเป็นไตรลักษณ์ ถ้าหากไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า เวลารู้สึกกายมันก็เพ่งอยู่ในกาย ระลึกถึงจิตใจมันก็ไปเพ่งจิตทำให้นิ่งให้ว่างไป ได้แต่ความสงบเฉยๆ ไม่ได้ปัญญา ไม่มีปัญญามรรคผลไม่เกิดหรอก
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ฉะนั้นเราต้องหัดดู อย่างเราเคยได้ยินเรื่องไตรลักษณ์ ฟังหลวงพ่อเทศน์ก็พูดเรื่องนี้ทุกวันเหมือนกัน เรื่องจิตตั้งมั่นนี่เรื่องสมาธิ แล้วก็สติระลึกรู้รูป เห็นไตรลักษณ์ของรูป สติระลึกรู้นามเห็นไตรลักษณ์ของนาม สติระลึกรู้จิต นามจิต ก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต นี้เรียกว่าเราเจริญปัญญา ในทางปฏิบัตินั้นเราไม่ได้เจริญปัญญาตลอดเวลา เจริญปัญญาเราใช้พลังงานของจิตเยอะ มันเจริญช่วงหนึ่งแล้วจิตมันต้องเข้าพัก มันจะเข้าไปทำสมถะ ถ้าเราไม่ยอมทำสมถะจิตมันจะเหนื่อย มันจะหาวิธีหลบ
จิตไม่มีกำลังพอ
อย่างบางคนกำหนดลงในกายมากเลย เห็นมันทุกข์ๆๆ เดินๆๆ เดินจงกรมแล้วทุกข์สุดๆ เลย แล้วจิตไม่ได้ฝึกสมาธิเอาไว้ให้ดีพอ จิตไม่มีกำลังพอ มันเหนื่อย มันเครียดสุดขีด จิตมันจะดับ จะดับตัวเองลงไป ตัดความรับรู้ มันเหมือนกลไกทางร่างกายนี้ล่ะ พอเจ็บปวดหนักๆ ก็สลบไป ก็ไม่มีความรับรู้ในร่างกาย
จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปเค้นมันมากมันเครียดจัด มันก็หลบเข้าไปดับความรู้สึก ไม่มีจิตในขณะนั้นเหลือแต่รูปไม่มีนามไม่มีจิต ไม่คิดไม่นึกอะไร นักบวชบางคนก็คิดว่านี่คือนิพพาน นิพพานไม่ได้อนาถาอย่างนั้น นิพพานไม่ใช่ยาสลบ เข้าไปอยู่อย่างนั้นมันไม่มีจิต นิพพานเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า เป็นธรรมารมณ์ชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นธรรมารมณ์มันก็ต้องมีใจที่รู้ธรรมารมณ์ ฉะนั้นดับความรู้สึกไปหมดเลย แล้วบอกว่านิพพาน ไม่ใช่ อันนั้นคือพรหมลูกฟักเรียกอสัญญี สัตว์ตัวนั้นที่เข้าอสัญญีเขาเรียกอสัญญสัตตา ฉะนั้นเวลาที่เราเจริญปัญญาเราดูกายดูใจ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอจิตมันอ่อนล้าลงก็หยุดการเจริญปัญญาไว้ก่อน กลับมาทำสมถะ ทำสมาธิ ดีกว่าทนเครียดๆๆ เครียดจัดๆ ก็มี 2 ชอยส์ มีทางเลือก หนึ่งบ้าไปเลย สติแตก อีกอันหนึ่งจิตหลบเข้าไปเป็นพรหมลูกฟัก
หลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็กตั้งแต่ 7 ขวบ ทำสมาธิทุกวันพอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ พอเจริญปัญญาจิตทิ้งสมาธิเลย อันนี้เป็นข้อผิดพลาด พูดประจานความโง่ของตัวเอง คือพอเจริญปัญญาแล้วไม่ยอมทำสมาธิ ดูถูกสมาธิ มากเข้าๆ จิตมันก็หลบ มันหลบไปหลายแบบ อันหนึ่งมันไปทำสมาธิของมันเองอัตโนมัติเลย มันไปอยู่กับความว่าง ความสว่าง ว่าง สว่าง สบายอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไปติดอยู่ตรงนั้นนึกว่าภาวนาดี ที่จริงจิตไปติดสมาธิแล้ว ขนาดไม่ทำสมาธิแต่จิตมันเคยฝึกสมาธิอยู่ มันพลิกไปทำสมาธิของมันได้เอง ฉะนั้นอย่างพวกเราภาวนา บางทีจิตมันทำสมาธิของมันเอง อย่างเราดูจิตเกิดดับๆ อยู่ อยู่ๆ จิตรวมไปเฉยเลย สงบ ว่าง สว่าง สบาย นี้พอเรา ถ้าเรารู้ทัน เราไม่ยอมให้ไปค้างในความว่าง ความสว่าง จิตก็หาทางหนีต่อไปอีก มันหนีไปไหน มันหนีไปหลับ อย่างที่พวกเรากำลังเราไม่พอ นั่งสมาธิปุ๊บหลับปั๊บเลย
หลวงพ่อเคยเป็นช่วงหนึ่งปี พ.ศ.2526 นั่งสมาธิแล้วหลับ ขนาดนั่งขัดสมาธิเพชรเจ็บมากก็ยังหลับ ก็ฝืนเดินจงกรม เดินจงกรมก็เดินหลับ เดินชนฝาบ้านเลย ทำอย่างไรก็ไม่หาย เจอครูบาอาจารย์เจอหลวงปู่สิม ท่านบอก “ผู้รู้จะสงสัยอะไร ปฏิบัติไปเถอะ” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็ไม่ดิ้นรนที่จะแก้การหลับ อยากหลับก็ให้มันหลับไป ตอนหลังถึงเข้าใจแล้ว จิตมันภาวนาไปเรื่อยๆ มันเกิดเบื่อหน่าย ทุกสิ่งทุกอย่างมันน่าเบื่อหมดเลย แล้วกำลังของสมาธิเราไม่พอแล้ว เราทิ้งการทำสมถะ จิตมันหนีไปหลับ นั่งก็หลับ เดินก็หลับ ทำอะไรก็หลับ พอหลับเรายังฝืนมันอีก ไม่ยอมให้มันพัก พอเราทิ้งสมถะจิตมันจะหนีไปทำสมถะ หนีไปพักผ่อนเราก็ไม่ยอมอีก จิตมันก็ไม่มีกำลังที่จะไปไหนต่อ พอครูบาอาจารย์บอกว่าปฏิบัติไปเถอะ หลวงพ่อก็เลยไม่กลัวที่จิตมันหลับ ตรงนั้นเราเจริญปัญญามาเยอะแล้ว แล้วจิตมันเหนื่อยมันหลับ ไม่ใช่เราฟุ้งซ่านอยู่กับโลกแล้วเหนื่อยแล้วหลับ คนละเรื่องกัน
อย่างพวกเราวันๆ หนึ่งวุ่นวายอยู่กับโลกข้างนอก ให้นั่งสมาธิแล้วหลับอย่างนั้นไม่ถูกหรอก พอจิตมันได้พัก มันไม่ไปฝืนมัน มันอยากหลับให้มันหลับ พอไม่ฝืนมันจิตมันได้พัก พอมันพักพอแล้วมันถอนออกมา มันมาเดินปัญญาต่อ ฉะนั้นมันก็เดินต่อได้ พอมันผ่านจุดนี้มาก็เข้าใจ เราทิ้งสมถะไม่ได้ ทิ้งสมาธิไม่ได้ ถ้าทิ้งสมาธิแล้วบางทีจิตไปทำสมาธิเอง ไปอยู่ในความว่าง สว่าง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อย่างนั้นยังดี บางทีจิตหมดเรี่ยวหมดแรงจริงจิตหลับไปเลย แล้วถ้ารุนแรงกว่านั้น คือจิตมันสลบไปกลายเป็นพรหมลูกฟัก นึกว่าเป็นนิพพาน ใช้ไม่ได้ อาการเหล่านี้มันเกิดจากเราละเลยการทำสมถะ
เพราะฉะนั้นทุกวันควรจะแบ่งเวลาไว้ทำสมถะ วิธีทำสมถะเยอะแยะ สมถะทำไปเพื่อให้จิตมีกำลัง ใช้อารมณ์กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ เช่น เราบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ นะมะพะทะ สัมมาอรหัง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ อะไรก็ได้ เอาที่ใจเราชอบแล้วก็บริกรรมไปเรื่อยๆ จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือการบริกรรม จิตก็สงบ หรือไม่ชอบอย่างนี้ก็ดูอย่างอื่นแทน คิดถึงทาน คิดถึงศีล คิดเจริญเมตตา จิตก็สงบ หรือกำหนดลมหายใจ หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก อย่างนี้จิตก็สงบลงไป แต่ละคนก็มีเครื่องอยู่ของเรา ทางใครทางมัน ก็ดูตัวเราเองว่าเราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหน แล้วจิตมันได้พักผ่อนก็อยู่กับอันนั้น
ถ้าเราภาวนาไปมากพอ ก็มีเครื่องอยู่อีกชนิดหนึ่ง เวลาเราต้องการพัก เรารู้ลงไปที่พฤติกรรมของจิตเลย จิตหมดพฤติกรรม จิตก็หมดความปรุงแต่ง หมดความคิดนึก ว่าง จิตอยู่กับความว่าง ไม่คิดไม่นึก ไม่ใช่ว่างที่แต่งขึ้น แต่มันว่างที่จิตมันหมดความปรุงแต่งของมันเอง มีพระไปถามหลวงปู่ดูลย์บอกว่า “หลวงปู่ดูลย์มีเครื่องอยู่อะไร” ท่านบอกท่าน “อยู่กับรู้” องค์นั้นท่านก็ถามว่า “แล้วรู้เป็นอย่างไร” ที่หลวงปู่ดูลย์ไปอยู่กับรู้ ท่านบอกว่า “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” นั่นล่ะว่าง เป็นธาตุรู้
อันนั้นเครื่องอยู่ของบางท่าน เรายังทำไม่ถึงทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีธาตุรู้ให้เห็น ธาตุรู้ของเรามีไหม มี แต่ตอนนี้มันถูกธาตุหลงบังเอาไว้ มันถูกอวิชชาบังเอาไว้ ก็ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ ลอกเปลือกความโง่ของเราออกไปเรื่อยๆ ความหลงผิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา ตัวเรามีอยู่จริงๆ นี่ความหลงผิดขั้นพื้นฐาน ต่อไปภาวนาก็ละความหลงผิดที่ประณีตขึ้นไป จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก กายนี้คือตัวทุกข์ แล้วต่อไปก็มีปัญญาขั้นสูงขึ้นไป ละความเห็นผิดขั้นสูง จิตนี้ล่ะคือตัวทุกข์ก็วาง ปล่อยวางจิต ลีลาของการเจริญปัญญาค่อยๆ ดูไป ขั้นต้นนี้พวกเราภาวนาไปเรื่อย ดูสิ ตัวเรามันอยู่ที่ไหน ตัวเราอยู่ในกายหรือ หรืออยู่ในความรู้สึกสุขทุกข์ อยู่ในความจำได้หมายรู้ หรืออยู่ในความคิดนึกปรุงแต่ง หรืออยู่ในจิต
สังเกตไปเรื่อยดูไปเรื่อยๆ ในกาย ในรูป มันก็ไม่ใช่เรา ในเวทนาความสุขทุกข์มันก็ไม่ใช่เรา ในสัญญาความจำได้ความหมายรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่เรา ความปรุงดี ปรุงชั่ว ความโลภ โกรธ หลง มันก็ไม่ใช่ตัวเรา ดูไปเรื่อย แล้วจิตเราเป็นเราไหม จิตเองก็ไม่ใช่เราเพราะจิตนี้เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เกิดที่ตาดับที่ตา เกิดที่หูดับที่หู เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย แล้วก็ดับลงที่ เกิดตรงไหนก็ดับที่นั้น จิตเกิดที่ใจก็ดับที่ใจ มีแต่ของเกิดดับไม่เห็นมีตัวมีตนเลย ภาวนาเรื่อยๆ จะรู้ว่าตัวตนไม่มีหรอกในขันธ์ 5 นี้ ตัวตนมันเป็นมายาที่จิตโง่เขลาสร้างขึ้นมา จากการหมายรู้ผิด จากการคิดผิด จนกระทั่งเกิดหลงเชื่อผิดว่ามีเรา ฉะนั้นจะล้างตัวนี้ได้ก็หัดหมายรู้ให้ถูกเสีย
หมายรู้ให้ถูก
หมายรู้ถูก หมายรู้อย่างไร ก็หมายรู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นล่ะหมายรู้ถูก ให้มันหมายรู้ถูกไปเรื่อยๆ คอยรู้สึกๆ ไปเรื่อย ดูกายก็ไม่ใช่ดูแต่กาย ให้หมายรู้กายลงไปว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การหมายรู้มันไม่ใช่คิด แต่มันอธิบายภาษามนุษย์นี่ยากมากเลย ฉะนั้นเบื้องต้นจะคิดไปก่อนก็ได้ แล้วต่อไปจิตมันหมายรู้ได้เองโดยไม่ต้องคิด อย่างครูบาอาจารย์ทางวัดป่าท่านทำสมาธิ หายใจบ้าง พุทโธบ้าง จิตรวมลงไปแล้ว พอจิตถอยออกมาดูกาย ท่านคิดว่าร่างกายนี้ไม่สวย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้คือการหัดหมายรู้ถูก ทีแรกมันคิดอยู่มันยังไม่ใช่หมายรู้ มันเป็นการคิด พอมันคุ้นชินที่จะคิดถึงกาย ในเชิงของไตรลักษณ์ ต่อไปมันจะหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย โดยไม่ได้เจตนา พอหมายรู้ถูกต่อไป จิตเวลาคิดมันก็คิดถูก แล้วต่อไปมันก็เห็นถูก มีความเห็นถูกมันก็ล้างความเห็นผิด ละสักกายทิฏฐิได้
ฝึกนะค่อยๆ ฝึกไป เครื่องมือมีหลายตัว ระลึกรู้กายรู้ใจด้วยสติ จิตมีสมาธิก็มีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู พอระลึกรู้ สติระลึกรู้กายจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้ แล้วไม่หยุดเฉยอยู่ตรงนี้ ถ้าหยุดเฉยอยู่ตรงนี้เป็นสมถะ ถ้าจิตมันหมายรู้ลงไป อีกกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ใช่ต้องดูทั้ง 3 มุม เห็นมุมใดมุมหนึ่งก็ใช้ได้แล้ว พอหมายรู้ถูกมันก็เริ่มเจริญปัญญาได้แล้ว เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญานั้นทิ้งสัญญาไม่ได้ บาง ท่านชอบสอนว่าสัญญากับปัญญาเป็นศัตรูกัน สัญญาเป็นตัวหลอกให้หลง ปัญญาเป็นตัวรู้จริง ที่จริงแล้วสัญญามี 2 ค่าย สัญญาวิปลาส ที่พวกเรามีมันสัญญาวิปลาส เห็นของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา อันนี้เป็นสัญญาวิปลาส
แต่เวลาเราเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา เราต้องมีสัญญาที่ถูก คือการหมายรู้เป็นอนิจจสัญญา หมายรู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขสัญญา หมายรู้ทุกข์คือความบีบคั้นให้แตกสลาย หมายรู้อนัตตสัญญา ความเป็นอนัตตา หมายรู้อันใดอันหนึ่งก็ได้ อย่างทีแรกคิดเอาพิจารณาเอา ต่อไปจิตมันคล่องตัวแล้วมันไปหมายรู้โดยไม่เจตนา ฉะนั้นตรงที่คิดเอา มันตรึกเอา มันวิตกเอา ตรงที่สัญญามันเกิดแล้วมันทำงานถูกต้องขึ้นมา มันเป็นการหมายรู้เป็นสัญญาที่ถูก เพราะฉะนั้นสัญญาไม่ใช่ศัตรูของการเจริญปัญญา สัญญาที่เป็นศัตรูของการเจริญปัญญา คือสัญญาวิปลาส 4 ข้อนั้น เห็นของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของไม่ใช่เราว่าเป็นเราอย่างนี้ รู้สึกเป็นเราๆ อันนี้สัญญาวิปลาส
แต่เวลาเจริญวิปัสสนาจิตต้องหมายรู้ไตรลักษณ์ ถ้าหากไม่มีสัญญา ที่ใดไม่มีสัญญาที่นั้นเจริญวิปัสสนาไม่ได้ ในโลกของพรหมลูกฟัก ไม่มีจิต เพราะฉะนั้นไม่มีเจตสิก ก็ไม่มีสัญญาด้วย ฉะนั้นพรหมลูกฟักให้นั่งอยู่อย่างนั้นล่ะตั้งหมื่นกัป ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ไม่ได้ปัญญาขึ้นมา พระสารีบุตรท่านเคยสอนบอกว่า ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในอรูปฌานที่ 4 หรือในฌานที่ 8 เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ มันเหลือสัญญาอยู่นิดเดียว ท่านบอกว่า ตรงนี้ยังสามารถทำวิปัสสนาได้ แต่ถ้าเลยจากตรงนี้ไป ไม่มีสัญญาเมื่อไรตรงนั้นทำวิปัสสนาไม่ได้ ท่านถึงสอนบอก “ถ้าเป็นสัญญาสมาบัติ ถึงจะทำวิปัสสนาได้” ถ้าไม่มีสัญญาทำวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นแยกให้ออก สัญญาไม่ใช่ศัตรูของปัญญา คนละเรื่องเลย ต้องหมายรู้ให้ถูก
ฉะนั้นเวลาสติเราระลึกรู้กาย เราเห็นกายมันของถูกรู้ จิตมันตั้งมั่นเป็นคนรู้ ค่อยดูลงไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สังเกต ร่างกายที่มันถูกรู้ถูกดูมันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นของที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นของที่ทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ค่อยรู้สึกๆ ลงไปแล้วต่อไปจิตมันรู้สึกเอง พอสติระลึกรู้กายปั๊บจิตตั้งมั่นอยู่ มันระลึกได้เอง ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอสติระลึกรู้จิต จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ สติระลึกรู้จิตมันก็จะเห็นตัวจิตเองก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดดับอยู่ตลอดเวลา บังคับไม่ได้ สั่งอะไรมันไม่ได้ เรียกว่าเราเจริญปัญญาแล้ว พอเราเห็นความจริงของกายจิตมันจะวางกาย ความจริงของกายก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อๆ ลงมาก็คือมันทุกข์นั่นล่ะ จะเห็นเลยในกายนี้นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จะเห็น พอเห็นแจ้งตรงนี้จิตจะปล่อยวางกายแล้ว ไม่ยึดกาย ไม่ยึดกายก็คือไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามราคะและปฏิฆะ ความไม่ชอบใจ ความชอบความไม่ชอบในกามคุณอารมณ์ก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้นการละกามและปฏิฆะของพระอนาคามี ละเพราะมันไม่เกิด ที่มันไม่เกิดเพราะท่านฉลาดรู้ความจริงของรูปของกาย พอภาวนาเรื่อยๆ ไป เห็นความจริงของจิตขั้นสุดท้ายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็วาง วางลงไป ตรงจิตนี่เห็นไม่เที่ยงง่าย มันเกิดดับตลอดเวลา เห็นอนัตตาก็ไม่ยากหรอก เพราะว่าเราบังคับมันไม่ได้ แต่เห็นทุกขังนี่ยาก ต้องทรงสมาธิทรงฌานได้จริงๆ ถึงจะเห็น เพราะจิตที่มันทรงฌานอยู่มันเต็มไปด้วยความสุข พอสติปัญญามันพอ มันไหวตัวทีเดียวจากจิตที่เป็นบรมสุข มันกลายเป็นจิตบรมทุกข์ขึ้นมาเลย ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตแล้ว รากเหง้าของตัวทุกข์มันอยู่ที่จิตนี้เอง แต่เราไปเห็นว่ามันเป็นตัวดี ก็เลยยึดเอาไว้ พอเห็นความจริงว่ามันเป็นตัวทุกข์มันก็วาง เห็นทุกข์ถึงจะปล่อยวางได้ เห็นทุกข์ถึงละสมุทัย ละความอยาก ละความยึดได้ ไม่เห็นทุกข์ก็ละวางไม่ได้ มันยังยึดอยู่ ค่อยดูไป
สรุปที่สอนวันนี้ก็คือถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็รู้ทันจิตตัวเองไป จิตต้องการพักก็ไม่ฝืนมัน ให้มันพักไป แต่ถ้ามันพักพอแล้วมันขี้เกียจเจริญปัญญา ต้องไล่ต้อนมันออกไปเจริญปัญญา อย่าให้ติดอยู่ในสมาธิ แต่ถ้าจิตมันเคยเจริญปัญญาแล้ว มันไม่ยอมพักก็ต้องบังคับมัน ถึงเวลาหยุดการเจริญปัญญา ทำความสงบกลับเข้ามา ถ้าเราไม่ทำจิตมันจะทำของมันเอง ตรงนั้นมันทำดีก็มีทำไม่ดีก็มี มันเครียดจัดๆ มันเป็นพรหมลูกฟัก เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลยก็มี ฉะนั้นเราแบ่งเวลาทุกวันทำในรูปแบบ จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไปเถอะ ให้ใจมันได้พักผ่อนบ้าง อันแรกก็ถือศีล 5 อันที่สองทำในรูปแบบให้จิตใจได้พักผ่อน ฝึกตัวเองไป อันที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน พอใจมีกำลังแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์มีสติไว้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต รู้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในกาย รู้ รู้ไปเรื่อยๆ เห็นกายไป เห็นจิตไปว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทำให้ครบ 3 อย่างนี้ ศีล 5 ต้องรักษา ตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลทางกาย วาจา 5 อย่าง สมาธิต้องฝึกทำในรูปแบบทุกวัน แบ่งเวลาไว้เลย จะเดินจงกรมก็เห็นกายมันเดินใจเป็นคนดูไป ไม่คิดเรื่องอื่นแล้ว ไม่สนใจว่ามันจะเป็นไตรลักษณ์ไม่เป็น อย่างนี้จิตมันได้พัก เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตาเห็นรูปความเปลี่ยนแปลงเกิดที่จิต รู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันที่จิต ตาเห็นรูป ความเปลี่ยนแปลงเกิดที่กาย รู้ทัน อย่างเห็นหมาบ้าวิ่งมาใจมันกลัว รู้ว่ากลัวอย่างนี้ได้ หรือนึกถึงผี เดินในที่มืดๆ นึกถึงผี แหม ตัวสั่นขึ้นมา ดูจิตไม่เป็นว่าจิตกลัว แต่เห็นเหงื่อตกเลย กลัว รู้สึกร่างกายมันเปลี่ยนแปลงแปลงแล้ว
ฉะนั้นเจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในกาย รู้สึก มีอะไรเปลี่ยนแปลงในจิตใจ รู้สึก ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็จะเห็นความจริงของกายของใจ เห็นได้ก็วาง วางได้ก็ไม่ทุกข์ มันทุกข์เพราะเราไปยึดถือเอาไว้ พอวางได้มันก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์ ท่านใช้คำว่าขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น พอเราไม่ยึดมั่น มันไม่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นแล้ว ขันธ์เป็นทุกข์ไหม ก็ทุกข์ แต่ทุกข์ของขันธ์ไม่เกี่ยวกับเรา จิตมันพ้นทุกข์แต่ขันธ์มันทุกข์ คนละเรื่องกัน ค่อยฝึกเดี๋ยววันหนึ่งก็จะเจออย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง หลวงพ่อก็ไม่ได้เก่งอะไรหรอก แต่หลวงพ่ออดทนคอยรู้คอยดูไป แล้วก็อ่อนน้อมกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์สอน ทำ เวลาครูบาอาจารย์บอกให้ทำอะไร หลวงพ่อทำทันทีเลย ไม่ลังเล ทำมาเรื่อยๆ เรียนกับท่านพ่อลี ท่านให้ทำอานาปานสติ ทำอยู่อย่างนั้น 22 ปีไม่เลิก เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต ดูทุกวันไม่เลิก ดูไปเรื่อยๆ.
วัดสวนสันติธรรม
2 เมษายน 2565