ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

ปีนี้มันก็หมดไปไตรมาสหนึ่งแล้ว วันเวลาผ่านเร็วมาก วันๆ หนึ่ง เดี๋ยวก็วัน เดี๋ยวก็เดือน เดี๋ยวก็ปี เอาคืนไม่ได้แล้ว หมดไปสิ้นไปเรื่อยๆ เราได้ใช้เวลาของเราให้มีประโยชน์เต็มที่ไหม สำรวจตัวเอง ประเมินผลตัวเองดู ตอนหลวงพ่อยังไม่บวช หลวงพ่อประเมินผลตัวเอง 3 เดือนนี้กับ 3 เดือนก่อน เรามีพัฒนาการไหม หรือหยุดนิ่ง หรือเลวลง สำรวจตัวเองอยู่เสมอเลย แต่ใจเย็น ไม่ได้เร่าร้อนว่าจะต้องดีเมื่อนั้นเมื่อนี้ เพียงแต่วัดตัวเองไปเรื่อยๆ เป็นระยะๆ ประมาณไตรมาสหนึ่งก็ดูทีหนึ่ง

ถ้าเราภาวนาทุกวันสม่ำเสมอ เวลา 3 เดือนไม่ใช่น้อย เราทำประโยชน์ให้จิตใจตัวเองได้มาก ไม่น้อยหรอก แต่ถ้าเราเอา 3 เดือนไปทำวุ่นวาย ไปสนองกิเลสเรื่อยๆ มันก็สูญเปล่าไป มันไม่ได้แค่เสมอตัว ถ้าความดีไม่ทำ ไม่พากเพียรปฏิบัติ ผ่านเวลาไป มันไม่ได้เสมอตัวหรอก มันเลวลง ธรรมชาติของจิต มันไหลลงต่ำอยู่เรื่อย ไม่ฝึก ไม่อบรม มันก็ไหลลงต่ำไป เหมือนน้ำไหลลงต่ำ ต้องฝึกตัวเอง ศีลต้องรักษา สมาธิต้องทำ การเจริญปัญญาทำได้ก็ดีมาก ถ้าศีลก็ไม่ได้รักษา ความเป็นมนุษย์ของเราล้มเหลวแล้ว เพราะธรรมะที่ทำให้เราได้เป็นมนุษย์อย่างนี้คือเราต้องมีศีล ถ้าศีลเราเสีย เราก็เสียความเป็นมนุษย์ไป

 

หน้าที่ต่อตัวเองที่สำคัญที่สุด คือการพัฒนาจิตใจของเรา

 

ทุกวันนี้ดูโลกน่ากลัว ศีลธรรมมันหายไป สมัยก่อนท่านพุทธทาสถึงพูด “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ” โลกก็คือหมู่สัตว์นั่นเอง ถ้าไม่มีศีลมีธรรม ก็วุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็เห็นว่าแต่ละคนก็เต็มไปด้วยการเห็นแก่ตัว เรียกร้องแต่สิทธิ ไม่สนใจหน้าที่ เด็กๆ ก็ไม่รู้เรื่องหน้าที่ คิดแต่จะเรียกร้องสิทธิ เมื่อก่อนมันมีวิชาหน้าที่พลเมือง ไม่ได้สอนวิชาสิทธิพลเมือง สอนหน้าที่ เราก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเอง ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หน้าที่ต่อโลก ต้องทำอะไรบ้าง หน้าที่ต่อครอบครัว ต่อลูก ต่อสามีภรรยา ต่อคนใต้ปกครอง พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องเหล่านี้ไว้ในเรื่องทิศ 6 ไปดู Google เอา เรื่องทิศ 6 แล้วทำหน้าที่ของเราให้ดี

หน้าที่ต่อตัวเองที่สำคัญที่สุดเลย คือการพัฒนาจิตใจของเรา ขั้นต่ำสุดของความเป็นมนุษย์ ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ได้ อย่าให้ด่างพร้อย บางคนไม่ถึงกับขาด ศีลไม่ถึงกับขาด แต่ด่างพร้อย กะพร่องกะแพร่ง ไม่สำรวม ไม่ระวัง ศีลก็เสียหาย บางทีไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป เสียหาย อย่างฆราวาสมีศีล 5 รักษาไว้ให้ดี อย่างพระก็ศีลเยอะหน่อย พระทำตลกคะนองอะไรนี้ เสียศีล ไม่ใช่หน้าที่ คนไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่ได้ศึกษาแยกแยะไม่ออก เห็นพระทำอะไรบ้าๆ บอๆ ชอบเสียอีก ยกย่อง ที่จริงศีลมันเสียไปแล้วล่ะ

 

ศีลอัตโนมัติ

นอกจากเรื่องศีลต้องตั้งใจรักษาไว้ก่อน เบื้องต้นต้องตั้งใจที่จะงดเว้น ถ้าฆราวาสก็ตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศล 5 ข้อ ถ้าเป็นพระก็สำรวมระวังในปาติโมกข์ ในอภิสมาจารอะไรพวกนี้ ค่อยๆ เรียนไป เป็นโยม ศีล 5 เอาให้ได้ สำคัญ มิฉะนั้นเราจะเสียความเป็นมนุษย์ อย่างเราทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสัตว์อื่น จิตใจเราก็หยาบกระด้าง ไม่สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์ แปลว่า คนใจสูง ผู้มีใจสูง ไปฉ้อโกง ไปลักขโมย ปลิ้นปล้อนหลอกลวงอะไรอย่างนี้ สำส่อน ประพฤติผิดในกาม จิตใจเราก็เวียนไปเป็นสัตว์นรก ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นพยายามตั้งใจ เบื้องต้นต้องตั้งใจก่อน

ในการรักษาศีล แรกๆ อาจจะยาก เพราะจิตใจเคยทำผิดศีล ก็ค่อยๆ อบรมตัวเองไป ตั้งใจงดเว้น ต่อไปมันก็จะถือศีลง่ายขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าเราพัฒนาเครื่องมือสำคัญคือสติ อย่างเวลาคนเราจะผิดศีล เพราะกิเลสมันครอบงำจิต ถ้าเรามีสติว่องไว เราเห็นกิเลสมันเกิดขึ้นในใจเรา เราเห็น กิเลสมันจะครอบงำจิตใจเราไม่ได้ เราจะมีศีลอัตโนมัติ

ก่อนจะมาถึงศีลอัตโนมัติ ในขั้นต้นเลยต้องตั้งใจงดเว้นไว้ก่อนที่จะทำบาปอกุศล 5 ข้อนั้น ฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พัฒนาสติให้ดี กิเลสอะไรเกิดขึ้นในจิตเรา เรารู้ทัน รู้ไปเรื่อยๆ พอกิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ไม่ผิดศีลหรอก แค่คิดจะทำผิดศีล ยังไม่ทันจะทำ แค่คิดจะทำ มันเกิดความละอายใจแล้ว เรารู้ว่าเราทำชั่วเมื่อไร จะมีผลที่ไม่ดีตามมา คนที่ไม่ได้ภาวนาจะไม่เข้าใจตรงนี้หรอกว่าทำชั่วเล็กๆ น้อยๆ ผิดศีลเล็กๆ น้อยๆ มันมีความทุกข์ตามหลังเรามา ตามมาเรื่อยๆ หนีไม่รอด ฉะนั้นเราภาวนาไปเรื่อยๆ การถือศีลเราจะประณีตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเรามีหิริโอตัปปะเกิดขึ้น หิริ ละอายใจที่จะทำผิดศีล โอตัปปะ เกรงกลัวผลของการทำผิดศีลของเรา ถ้าภาวนาแล้วเห็น มันตามเราเหมือนเงาตามตัวจริงๆ เลย ผลของกรรมชั่ว สังเกตที่ใจเรา เราจะรู้เลย

หลวงพ่อตอนเด็กๆ ซน ข้างบ้านมีต้นตะขบอยู่ ยืนที่ระเบียงจะใกล้ๆ กับต้นตะขบ เห็นค้างคาวบินโฉบไปโฉบมา ตอนนั้นเด็ก แค่สงสัยว่าระหว่างค้างคาวกับเราใครจะไวกว่ากัน ก็เอาลวดสลิงที่ติดผ้าม่านสมัยโบราณ ผ้าม่านมีลวดขึงอยู่ข้างใน ลวดมันเป็นสปริง มันหยุ่นๆ เอามาดักตีค้างคาว ตีอย่างไรก็ไม่ถูก มันเร็วมาก เห็นมันมา ตีปุ๊บลงไปที่ตัวมัน มันไปโน่นแล้ว มันไวจริงๆ ไม่ได้คิดทำร้ายสัตว์ แต่คิดอยากรู้เท่านั้นว่า เรากับมันใครจะไวกว่ากัน ต่อมาพอตีหลายๆ ที ไม่ทันมันก็เลยรู้ขึ้นมา ต้องตีก่อนที่มันจะมา ดักหน้ามัน พอตีปุ๊บลงไป เห็นค้างคาวมันตกลงไปที่พื้น ไปขยับปีกอยู่ หูย ใจสลดหดหู่มากเลย เสียใจมากเลย ทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บ

ตอนนั้นเด็กเล็กๆ แล้วก็ลืมมันไป ลืมเรื่องนี้ไปนาน ตอนโตแล้วมาภาวนา ภาวนาเข้าใจธรรมะมาพอสมควรแล้ว วันหนึ่งนั่งสมาธิอยู่ ได้ยินเสียงเหมือนคนเอาแส้มาฟาด เฟี้ยวมาเลย ฟาดเข้ากลางหลังเลย สะท้านทั้งตัวเลย ใจสั่นระริกๆๆๆ เจ็บ แล้วมันก็เห็นภาพค้างคาวตัวนั้นขึ้นมา เลยรู้เลย โอ้ การทำชั่ว ถึงจะไม่ได้เจตนาทำร้ายเขา ก็ยังมีผลแสนสาหัส หรืออย่างเรามีเศษกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของปาณาติบาตอย่างนี้ เวลาเรานั่งสมาธิ เราภาวนา จิตกำลังจะรวม บางทีมีความรู้สึกเหมือนมดมาไต่เรา คันยิบๆๆๆ เป็นเศษของกรรมเล็กๆ น้อยๆ กวน ขวางการปฏิบัติของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจรักษาศีลให้ดี อย่าให้ผิด

เวลาเรามีสติจริงๆ พอคิดจะทำผิดศีล เราจะละอายใจ เรียกมีหิริ เราเข้าใจเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เราจะมีโอตัปปะ กลัวผลของการทำชั่ว มันไม่ต้องเป็นเรื่องยุ่งยากอะไรอย่างที่หลวงพ่อเล่าเคสค้างคาวหรอก อย่างแค่เราโกรธใครสักคน เราอยากด่าเขา ยังไม่ทันจะด่าเลย ใจเราก็เริ่มทุกข์แล้ว ถ้าไปด่าเขาแล้วรู้สึกสะใจ แล้วพอเราภาวนา เราจะรู้สึกมันน่าเกลียดมากเลย เราไปทำสิ่งที่น่าเกลียด น่ารังเกียจตัวเอง ไปด่าเขาอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นเราพยายามเจริญสติให้มาก แล้วศีลของเราจะดีขึ้นๆ จนกระทั่งกลายเป็นศีลอัตโนมัติ

ศีลอัตโนมัติ มีโอกาสทำชั่วก็ไม่ทำ มันไม่ทำเอง ไม่ได้บังคับตัวเองว่าอย่าทำๆ ตรงที่บังคับตัวเองเป็นขั้นต้นของศีลเท่านั้น ตั้งใจงดเว้น เรียกเจตนาวิรัติ ตั้งใจงดเว้น แต่พอเราฝึกสติ ฝึกอะไร จนกระทั่งเรามีสติขึ้นมา กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ก็มีศีล เราพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ภาวนาไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะละอายใจ เวลาคิดจะทำผิดศีล เรียกมีหิริ เราภาวนาไปเรื่อยๆ เรารู้เหตุรู้ผล รู้เรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เราจะมีโอตัปปะ เกรงกลัวผลของการทำชั่ว เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง

 

การฝึกสมาธิ

สิ่งที่ต้องฝึกอันต่อไปคือเรื่องของสมาธิ หลวงพ่อพูดอยู่เรื่อยๆ ว่าฆราวาสมีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่ 2 ตัว คือปฏิบัติไม่ต่อเนื่องข้อหนึ่ง แล้วก็สมาธิไม่ถูกต้อง สมาธิไม่พอ นี่อีกเรื่องหนึ่ง ปฏิบัติไม่ต่อเนื่องก็เช่น วันนี้ทำ อีกวันหนึ่งไม่ทำอะไรอย่างนี้ จิตใจก็จะไม่มีสมาธิหรอก ไม่มีกำลัง ทำบ้างไม่ทำบ้าง จิตจะไม่มีกำลัง ต้องอดทน มีสัจจะกับตัวเอง เรียกอธิษฐาน อธิษฐานบารมี อธิษฐานไม่ใช่เจ้าประคุณอย่างโน้นอย่างนี้ อธิษฐานของชาวพุทธเรา ตั้งใจไว้ว่าเราจะทำความดี ไม่ทำความชั่วอะไรนี่ เรียกอธิษฐาน ตั้งใจให้ได้เด็ดเดี่ยวว่า เราจะขยันภาวนาทุกวัน เราจะแบ่งเวลาไว้ปฏิบัติทุกวัน หรือถ้าดีกว่านั้นก็คือ เราจะปฏิบัติทุกเวลาที่มีโอกาส

ตั้งใจให้มั่น เรียกว่าอธิษฐาน ตั้งใจมั่นๆ ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป อย่าผัด เอาไว้เมื่อนั้นเอาไว้เมื่อนี้ บางคนมี บอกตอนนี้ยังหนุ่มยังสาว ขอสนุกอยู่กับโลกก่อน เดี๋ยวอายุ 50 ปีก่อนจะเริ่มลงมือปฏิบัติ ช้าไปหน่อย ความดีรีบทำให้เร็วๆ ดีที่สุด บางคนตั้งใจอายุ 50 จะปฏิบัติ ยังไม่ถึง 50 ตายเสียก่อนแล้ว ล้มเหลว อันนั้นกิเลสมันหลอกเอา เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจให้มั่นว่า เราจะปฏิบัติทุกครั้งที่มีโอกาส

แต่ละวัน ตื่นนอนมา อาจจะตื่นให้เร็วขึ้นนิดหนึ่ง มาไหว้พระสวดมนต์ เริ่มต้นชีวิตวันใหม่ ทำอะไรที่มันเป็นมงคลกับตัวเอง ไหว้พระสวดมนต์ นึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอะไรอย่างนี้ นึกถึงความกรุณาของท่าน อดทนมาก ท่านอดทนมากเพื่อจะมาสั่งสอนให้คนโง่ๆ คนแย่ๆ อย่างเรา รู้สึก ก็ตั้งใจไว้ เราจะนึกถึงท่านทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ คิดถึงพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ สมาธิมันจะเกิดง่ายๆ เลย ถ้าไม่ถนัดอย่างนี้ ใช้กรรมฐานอื่นก็ได้ ถือว่าเราเป็นการปฏิบัติ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า จะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ หรือจะรู้อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวของร่างกายอะไรอย่างนี้ก็ได้ ตั้งใจไว้ว่าเราจะปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป อย่าผัดวันประกันพรุ่ง

ถ้าเราภาวนาอย่างเด็ดเดี่ยว จิตจะมีกำลังขึ้นมา สมาธิจะเกิดขึ้นมา อย่างนี้ จิตมีสมาธิดี ถ้าภาวนาไม่สม่ำเสมอ มาไม่ได้อย่างนี้หรอก ฉะนั้นความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอในการปฏิบัติสำคัญ ทำให้จิตมีกำลัง แล้วก็ฝึกสมาธิที่จิตตั้งมั่นให้สำเร็จ สมาธิไม่แค่สงบหรอก สมาธิที่แค่สงบ ส่วนมาก มันจะมีราคะกับโมหะแทรก ต้องให้เป็นสมาธิที่จิตเป็นกุศลจริงๆ สมาธิของจิตอกุศลไม่เอา เครื่องมือที่จะทำให้เราได้สมาธิที่เป็นกุศลก็ตัวสติอีกล่ะ เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วมีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อย่างเราจะทำกรรมฐานแล้วเราอยากสงบ นี่จิตมีโลภะ มีความโลภ มีสติรู้ลงไป หรือภาวนาแล้วจิตฟุ้งซ่านก็พยายามบังคับตัวเอง ไม่ชอบเลยที่มันฟุ้งซ่าน อันนั้นจิตมีโทสะ อาศัยสติรู้ทันจิตของเราไป แล้วก็ภาวนาไป ปฏิบัติในรูปแบบไป รู้เท่าทันจิตตัวเอง ไม่ได้ปฏิบัติเพราะกิเลสบงการ แต่ปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ทำไปเรื่อยๆ อย่างเรามีสติอยู่ เราทำอานาปานสติ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ต่อมาจิตเราหนีจากลมหายใจ ไปคิดเรื่องอื่น เรามีสติรู้ว่าจิตมันหนีไปแล้ว มันทิ้งการรู้ลมหายใจไปแล้ว อย่างนี้จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา หรือเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ จิตมันไหลเข้าไปจมอยู่ในลมหายใจ มันถลำลงไปจ้อง

 

การเจริญสติปัฏฐานนั้น ทำให้เราได้ทั้งสติและก็จะได้สมาธิด้วย

เกือบร้อยละ 100 ของนักปฏิบัติก็คือจิตถลำลงไปในอารมณ์กรรมฐาน เกือบร้อยละ 100 แล้วก็ร้อยละ 100 ของคนที่ไม่ได้ปฏิบัติคือหลง จิตเตลิดเปิดเปิงไปที่อื่น นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด จะไปเพ่ง ถลำลงไป รู้ลมหายใจก็เพ่งลมหายใจ เดินจงกรมก็เพ่งเท้า เพ่งตัวทั้งตัวก็มี เหมือนจิตอยู่ข้างบนแล้วมองลงมา เห็นร่างกายกระดุกกระดิกอยู่ ก็เพ่งเหมือนกัน จิตมันถลำลงไป ให้เรามีสติ ทำกรรมฐานไปด้วยความมีสติ อย่าทำด้วยความโลภ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ทำไปเถอะ แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตมันถลำลงไปจมไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน

ตรงที่มีสติรู้ทันนั่นล่ะ สมาธิที่เกิดร่วมขึ้นมา มันจะเป็นสมาธิที่ดี สติที่ระลึกรู้กาย สติที่ระลึกรู้ใจ ท่านเรียกว่าสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานนั้น ทำให้เราได้ทั้งสติและก็จะได้สมาธิด้วย พอสติที่ถูกต้องเกิด สมาธิที่เกิดร่วมกับจิตดวงนั้นที่มีสติ ก็จะเป็นสัมมาสมาธิด้วย สมาธิชนิดตั้งมั่น เพราะฉะนั้นเมื่อไรมีสติที่ถูกต้อง เมื่อนั้นจะมีสมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นสติที่รู้กายรู้ใจตัวเอง เป็นสติปัฏฐาน ฝึกทุกวันๆ ค่อยๆ ฝึกไป

อย่างหลวงพ่อฝึกอานาปานสติตั้งแต่เด็ก 7 ขวบทำอานาปานสติแล้ว แต่ตอนแรกๆ ยังไม่รู้หลัก พอทำอานาปานสติ ทีแรกหายใจเข้าพุทออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุทออกโธนับสองอะไรอย่างนี้ พอจิตเริ่มสงบ การนับก็หายไป สงบมากขึ้น คำบริกรรมพุทโธก็หายไป สงบมากขึ้นลมหายใจก็หายไป กลายเป็นแสงสว่าง ตรงนี้จิตไม่ตั้งมั่น พอมีแสงสว่าง จิตถลำลงไปในแสง อยากจะไปดูสวรรค์ จะไปดูไปนรกอะไร มันเหมือนฉายสปอร์ตไลต์ไป อยากไปดูอะไร จิตมันก็ตามแสงไป ตรงนั้นยังไม่ได้เจอครูบาอาจารย์ที่จะสอนการเจริญปัญญา ก็ลูบๆ คลำๆ ไปแบบเด็ก

วันหนึ่งเกิดเฉลียวใจ เราไปเห็นเทวดา เราเห็นจริงๆ แต่เทวดาที่เราเห็น จริงหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ เขามีวิมานอยู่ เราก็อยู่กับเขาไม่ได้ เขามีของกินอะไรแปลกๆ เราก็กินกับเขาไม่ได้ เขามีสวนดอกไม้เราไปเดินดูได้ เราไปเดินดู พวกเทวดาเวลาเขาดูดอกไม้ เขาไม่เดินหรอก เขาลอยๆ ไปดู และต้นไม้ของเขาก็แปลก ไม่มีดินหรอก ไปเห็นอย่างนี้เรื่อยๆ ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย แล้วใจมันก็นึกว่า เอ๊ะ ถ้าเราไปเห็นผี เห็นเทวดาได้ มันก็ต้องเห็นผีได้สิ หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี เพราะฉะนั้นตั้งแต่นั้นไม่ยอมทำสมาธิที่จะให้จิตไหลตามแสงไปเลย

พอจิตสงบรวมสว่างขึ้นมา จะรู้สึกตัวไว้ จับมาเข้าที่ความรู้สึกตัว แต่ไม่ได้จงใจจนเครียดๆ แค่รู้สึก ไม่ให้มันเคลิ้มตามแสงไป จิตมันก็มีกำลังขึ้นมา พอเห็นแสงมันสว่าง แคบบ้างกว้างบ้าง ย่อได้ขยายได้อะไร เล่นๆ ไป จิตก็รวมไป จิตมันก็เห็น จิตมันไปอยู่กับแสง จิตมันก็วางแสง เข้ามาที่จิตๆ ได้ตัวผู้รู้ขึ้นมา พอมีตัวผู้รู้แล้วก็ไม่รู้จะเอาไปใช้งานอะไร ไม่รู้จักว่าเอาไปทำอะไร จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้ดูจิต หลวงพ่อก็ดูสภาวะนั่นล่ะ

พอสติมันเห็นสภาวะถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องมันก็เกิด จิตมันก็ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นผู้รู้ขึ้นมา นึกได้ มันเหมือนกัน จากสมาธิที่ได้จากการนั่งสมาธิ ตัวผู้รู้ที่ได้จากการนั่งสมาธิ กับตัวผู้รู้ที่เรามีสติ รู้สภาวะ แล้วมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนกันล่ะ แต่สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่น ถ้าเป็นสมาธิชนิดที่เราเข้าสมาธิเต็มรูปแบบมา ตัวผู้รู้มันจะตั้งมั่นอยู่ได้นาน อยู่ได้หลายวัน ถ้าเราปฏิบัติทุกวันๆ มันก็เหมือนเราทรงอยู่ได้ตลอดเวลาเลย ถ้าเราละเลยการปฏิบัติ มันก็อยู่ไม่เกิน 7 วันก็เสื่อม แต่ถ้าจิตผู้รู้ มันเกิดจากการที่เรามีสติรู้สภาวะเป็นขณะๆ ไป เราได้ขณิกสมาธิ จิตก็เป็นผู้รู้เหมือนกัน แต่สั้นๆ เดี๋ยวก็ดับ เกิดดับๆๆ ถี่ยิบเลย ตัวนี้ไม่ใช่ไม่ดี เอาไปใช้ทำวิปัสสนาดีมากๆ เลย ขณิกสมาธิ

 

ขณิกสมาธิ

ในพระไตรปิฎก ท่านก็พูดไว้ถึงพระอรหันต์ 500 องค์ พระพุทธเจ้าท่านชี้ให้ภิกษุดู พวกพระที่นั่งอยู่กับท่าน บอกในภิกษุพระอรหันต์ 500 องค์ ได้วิชชา 3 60 องค์ ได้อภิญญา 6 60 องค์ เป็นอุภโตภาควิมุตติ คือได้อรูปฌาน 60 องค์ ที่เหลือก็เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก เป็นเสียงข้างมาก เป็นเสียงส่วนใหญ่ อย่างพวกเรา เราเข้าฌานไม่ได้ เราใช้ขณิกสมาธิ เป็นขณะๆ มีจิตรู้ตัว ไหลแล้วรู้ๆๆ เราสามารถเจริญปัญญาได้ สามารถทำมรรคผลให้แจ้งได้

อย่างเราทำกรรมฐาน ดูจิตใจของเราอย่างนี้ สมมติว่าใช้จิตเป็นวิหารธรรม จิตรู้ขึ้นมาก็รู้ จิตไหลไปก็รู้ บางคนบอกจิตไหลไม่มี เขาก็พูดถูก ที่จริงจิตไม่ได้ไหลหรอก จิตมันเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 มันตั้งมั่น เป็นจิตตั้งมั่น เป็นจิตเกิดที่ใจ เดี๋ยวมันก็ไปดูรูป ไม่ใช่จิตดวงเดิมหรอก มันเกิดจิตดวงใหม่ จิตผู้รู้มันดับ เกิดจิตที่ไปดูรูปขึ้นมา แต่ในความรู้สึกของเรา มันจะรู้สึกเหมือนจิตมันวิ่งไปทางตา คล้ายๆ จิตมันเคลื่อนที่ได้ ที่จริงมันไม่ได้เคลื่อนที่ มันเหมือนฟิล์มหนัง ฟิล์มหนังแต่ละภาพๆ มันไม่เคลื่อนไหวหรอก แต่พอฟิล์มหนังมันเคลื่อนที่ต่อกัน เราเลยเห็นว่ารูปมันเคลื่อนที่ได้ จิตมันเกิดดับต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว เราเลยเห็นว่าจิตมันเคลื่อนที่ได้ วิ่งไปที่ตา วิ่งไปที่หู วิ่งไปที่โน่น วิ่งไปที่นี่ แต่เวลาขั้นปฏิบัติเราไม่ใช่นักปริยัติ เราไม่ต้องไปคิดหรอกว่า แหม จิตเกิดตรงนี้ ดับตรงนี้อะไร เราดูของจริงที่เรารู้สึกเอา เราจะรู้สึกว่าจิตมันวิ่งไปวิ่งมา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เดี๋ยวสติ สมาธิเราดีขึ้น เดี๋ยวมันก็แยกออกมาให้ดูหรอกว่า จิตคนละชนิดกัน จิตคนละดวงกัน ระหว่างจิตผู้รู้กับจิตที่ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส คนละดวงกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ตอนลงมือปฏิบัติใหม่ๆ เราจะรู้สึกว่าจิตเหมือนมีดวงเดียว ก็วิ่งไปวิ่งมา พอเรามีสติ จิตตั้งมั่นขึ้นมา เหมือนมันวิ่งกลับมา เดี๋ยวมันก็วิ่งออกไปอีก ดูๆๆ ไปเรื่อยๆ มันจะเกิดปัญญาตรงไหน มันจะเห็นว่าจิตมันวิ่งได้เอง ไม่ได้เจตนาที่จะดูรูป มันก็ไปดูรูปเอง ไม่ได้เจตนาฟังเสียง มันก็ไปฟังได้เอง เราทำกรรมฐานแล้วเรามีสติรู้อย่างนี้ มันเดินปัญญาได้เป็นขณะๆ ขณะนี้จิตเป็นผู้รู้ ขณะนี้จิตเป็นผู้ดูรูป ขณะนี้จิตเป็นผู้รู้ ขณะนี้จิตเป็นผู้ฟังเสียงอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นเห็นสภาวะเป็นขณะๆ ไป สมาธิก็เป็นขณะๆ ไป สุดท้ายปัญญามันก็เกิด จิตทุกชนิดนี่ล่ะ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา บังคับไม่ได้ ก็เห็นความจริงของมัน ต่อไปภาวนาละเอียดๆ ขึ้น มันก็เห็น จิตไม่เที่ยงหรอก เกิดแล้วก็ดับๆ อย่างรวดเร็ว จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ค่อยๆ ฝึก แล้วมันไปสู่จุดนี้ได้เอง

ค่อยๆ ฝึก ตอนภาวนาไม่ต้องมานั่งคิดหรอกว่าจิตรู้ก็อันหนึ่ง จิตคิดก็อันหนึ่ง คิดเอาๆ ยิ่งฟุ้งซ่านตายเลย ดูจากที่เรารู้สึกจริงๆ แล้ววันหนึ่งมันจะเข้าใจ เข้าใจขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ต้องกางตำรา แต่เสร็จแล้ว สิ่งที่รู้ที่เห็นสอดคล้องกับตำราที่เรียนนั่นล่ะ ตอนหลวงพ่อจะมาบวช หลวงพ่อรู้ว่าเราไม่มีโอกาสจะไปหาครูบาอาจารย์ง่ายๆ อย่างตอนเป็นโยมแล้วล่ะ ตอนเป็นโยม มีเวลาเราก็ขับรถปร๋อไปหาอาจารย์ได้แล้ว บวชเป็นพระ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ยังไม่พ้นนิสัยอยู่กับที่ อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ท่านให้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่นั่นล่ะ ภาวนาไป พยายามฝึกตัวเองอยู่อย่างนั้น

ก่อนจะไปบวช คิดว่าเราจะไม่มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ หลวงพ่อไปที่มหาจุฬาฯ ซื้อหนังสืออภิธรรม ซื้อมาเยอะ เป็นตั้งๆ เลย บอกเขาเลยว่า มีเล่มไหนบ้างที่ยังมีอยู่ เอามาให้หมด กะว่าเราภาวนา เดี๋ยวเราจะมาทดสอบตัวเองทีหลัง พอภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วตอนหลังมาอ่านหนังสือดู ก็อันเดียวกันล่ะ เพียงแต่ถ้าเราภาวนารวดไปเลย เราเรียกชื่อมันไม่ถูกเท่านั้นเอง มันไม่ได้วิเศษ วิโสลึกลับซับซ้อนอะไรนักหรอก ไม่ได้เกินสติ สมาธิ ปัญญาของมนุษย์ธรรมดาที่จะเรียนได้

 

ค่อยๆ ฝึกตัวเองเป็นลำดับๆ ไป ถ้าเมื่อไรเรามีสติรู้สภาวะที่กำลังปรากฏนั่นล่ะ สมาธิชนิดตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้น เช่น เรารู้ว่าจิตไหลไป ไหลปุ๊บรู้ปั๊บอย่างนี้ การไหลจะดับ การรู้จะเกิด โกรธขึ้นมา มีสติรู้ว่าจิตโกรธ ความโกรธจะดับ จิตรู้จะเกิด มีความสุขขึ้นมา มีสติรู้ว่าสุข ความสุขจะดับหรือไม่ดับก็เรื่องของมัน แต่จิตมันจะเป็นผู้รู้ เห็นว่าความสุขมันถูกรู้ ทำไมความสุขมันมีสติแล้ว บางทีก็ดับ บางทีก็ไม่ดับ ถ้ามันเป็นความสุขที่เกิดจากกิเลส เช่น เกิดจากโลภะ เรามีสติปุ๊บมันดับปั๊บเลย แต่ถ้ามันเป็นความสุขจากกุศล เรามีสติรู้ ไม่จำเป็นต้องดับ มิฉะนั้นพวกพระพรหมตกสวรรค์กัน ตกพรหมโลกกันเลย มีความสุข มีปีติ มีความสุขอยู่อย่างนั้น ก็ทรงอยู่ได้อย่างนั้น

มีสติรู้อยู่ ทรงอยู่ได้ มันไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากอกุศล แต่ถ้าจิตมีความทุกข์แล้วเรามีสติรู้ปั๊บ มันดับทันที เพราะจิตที่มีความทุกข์ เป็นจิตที่เป็นอกุศลแน่นอน ไม่มีกุศลเลย เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะ แล้วมีความทุกข์ขึ้นมา แล้วเรามีสติรู้ รู้ทันว่าจิตมีโทสะ จิตที่มีโทสะจะดับอัตโนมัติ แต่บางทีบางคนดู เห็นความทุกข์เกิดขึ้นไปดู ทำไมไม่ดับๆ เพราะจิตมีโทสะซ้อนโทสะเข้าไปอีก ไม่พอใจที่จิตมีความทุกข์ ตรงไม่พอใจที่จิตมีความทุกข์ นั่นก็โทสะ เป็นโทสะอีกตัวหนึ่ง เราไปดูผิดตัวแล้ว เราไปดูตัวที่เป็นอดีต เราไม่เห็นตัวที่เป็นปัจจุบัน หรืออย่างเวลาจิตเราหลงอย่างนี้ ถ้าเรามีสติรู้ว่าจิตมันหลง จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิด

เวลาจิตมีโมหะ บางทีมืดๆ มัวๆ จิตมัวๆ มืดๆ อย่างนี้ ดูแล้วไม่ชอบมันเลย ไม่ชอบมัน อยากหาย เอ๊ะ เมื่อไรมันจะหาย ทำไมหลวงพ่อบอกว่า จิตมีโมหะ รู้ว่ามีโมหะ แล้วมันดับทันที ทำไมมันไม่ดับเพราะตอนนั้นจิตมันเกิดสภาวะตัวใหม่ขึ้นแล้ว คือเกิดโทสะขึ้นแล้ว จิตเรามัว เรารู้ว่ามัวปุ๊บ ใจไม่ชอบ ความไม่ชอบเกิดขึ้น ไม่เห็น มัวแต่ไปดูอารมณ์เก่าคือความมัว ฉะนั้นถ้าเราดูเป็นปัจจุบันจริง เราเห็น ตรงนี้จิตมีโทสะ จิตไม่ชอบที่มันมัว โทสะดับปั๊บ ที่มัวๆ อยู่ มืดๆ อยู่ หายทันที ไม่มีเหลือเลย

 

การเจริญปัญญา

ค่อยฝึกตัวเองทุกวันๆ เราก็จะได้สมาธิที่ดี การทำสม่ำเสมอจะทำให้เรามีแรง จิตจะมีแรง แล้วถ้าเรามีสติกำกับลงไป รู้สภาวะเวลามันเกิด มันดับ เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น แล้วงานสุดท้ายคือการเจริญปัญญา คือที่หลวงพ่อพูดมามันก็มีเรื่องเจริญปัญญาแทรกอยู่แล้วล่ะ อย่างตรงที่เราเห็นจิตตั้งมั่นอันหนึ่ง จิตไหลไปอันหนึ่งอะไรอย่างนี้ คนละอัน เราก็จะเห็นจิตที่ตั้งมั่นเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดู เกิดแล้วก็ดับ ตัวนี้เห็นอนิจจัง ได้เดินปัญญาแล้ว หรือตรงที่มีจิตเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้หลง เราก็จะเห็น จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตผู้หลงก็ไม่เที่ยง เราเดินปัญญาแล้ว หรือจิตรู้ เราบังคับควบคุมเอาไว้ตลอดไม่ได้ จิตจะหลงเราก็ห้ามไม่ได้ อันนี้เราเห็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้

เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติแล้วรู้ แล้วรู้สภาวะไปเรื่อยๆ สติก็จะแหลมคมขึ้น สมาธิที่ถูกต้องก็จะดีขึ้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้น สุดท้ายศีล สมาธิ ปัญญาจะประชุมลงในขณะจิตเดียวกันนั่นล่ะ มันรวมลงในที่เดียวกันได้ ในขณะเดียวกันได้ ด้วยวิธีที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ รู้สภาวะ การที่เรารู้สภาวะใช่ไหม ศีลมันเกิดอัตโนมัติแล้ว ความตั้งมั่นเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแล้ว ทำซ้ำๆ ต่อไปปัญญาอัตโนมัติ มันก็เกิด จะเห็นทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ อันนี้เห็นอนัตตา เห็นอนิจจัง ตรงนี้เราได้เดินปัญญาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติ ภาวนาไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะสมบูรณ์ในขณะเดียวกันๆ พร้อมๆ กัน

ตรงที่ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ถ้าบุญบารมีมากพอ สะสมมามากพอ อริยมรรคจะเกิดขึ้น เพราะในอริยมรรคมีศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติอยู่ มันเกิดพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน เพราะฉะนั้นฝึกทุกวันๆ อย่าเป็นโยมธรรมดาๆ โยมธรรมดาก็คือปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง อันนั้นใช้ไม่ได้ ต้องทำให้ต่อเนื่อง จิตจะได้ทรงสมาธิที่ดีขึ้นมา สามารถเดินปัญญาได้ สุดท้ายศีล สมาธิ ปัญญาก็ประชุมลงที่จิตดวงเดียว ในขณะจิตเดียว มันคือขณะแห่งอริยมรรค.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 มีนาคม 2565