เหนือโลกไม่ใช่หนีโลก

ที่วัดหลวงพ่อ มีคนมาสมัครบวชเยอะแยะเลย มารอกันนาน บางทีเป็นปีๆ คิวยาว ส่วนหนึ่งก็รอไม่ไหว ก็ไปบวชที่อื่นอะไรอย่างนี้ ก็ดีแล้วล่ะ พวกที่บวชเข้ามาได้นี่ หลวงพ่อสัมภาษณ์พวกที่มาอยู่สักพักหนึ่ง บอกทีแรกนึกว่าบวชสบาย เคยได้ยินแต่หลวงพ่อบอกว่าหลวงพ่อสอนโยมกับสอนพระไม่เหมือนกัน โยมกินข้าวของตัวเอง พระขอข้าวเขากิน ฉะนั้นภาวนาเข้มข้นกว่ากัน จะมาทำสบายๆ เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัดอะไรอย่างนี้ ไม่ได้หรอก

บวชเราก็ต้องมีข้อวัตร บวชมาทีแรกก็เรียนพระวินัย เรียนการเจริญสติ ในแต่ละวันไม่ได้อยู่นิ่ง เช้าไปบิณฑบาต วัดอยู่ห่างหมู่บ้าน 2 กิโลเมตร ตามสเปกของครูบาอาจารย์เป๊ะเลย หลวงปู่มั่นท่านสอนว่าเวลาพักให้ห่างหมู่บ้าน 2 กิโลเมตร เดินบิณฑบาตไม่ลำบากมาก แล้วก็ไม่ใกล้ชาวบ้านมากเกินไป ถ้าใกล้แล้วก็หนวกหู เสียงดัง แต่ธรรมดาพระไปอยู่ที่ไหน ไม่นานหมู่บ้าน มันก็ย้ายเข้ามาหาพระ มาล้อมวัดไว้จนได้สุดท้าย แต่ตรงนี้ยังห่าง เช้าบิณฑบาตไปกลับ 4 กิโลเมตร บางองค์ก็เดินไม่ไหว แรกๆ เท้าแตก ไม่เคยเดินถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า อย่างไรก็เท้าแตก ก็ทนเอา จนเท้าด้าน ก็เดินไป

กลับมาฉันแล้ว ก็จะมีงานของแต่ละกลุ่มในช่วงเช้า กลุ่มหนึ่งก็ไปรดต้นไม้ บางพวกก็ไปดูเรื่อง maintenance ประปาไฟฟ้าอะไรอย่างนี้ มีงานทำ ถ้าทำงานช่วงเช้าเสร็จก็พักได้ ไปภาวนาบ่าย 3 ออกมากวาดวัด ทำข้อวัตร 4 โมงครึ่ง ทำวัตรเย็น ชั่วโมงหนึ่ง 5 โมงออกไปปลูกป่า ฝั่งโน้น 5 โมงครึ่ง ทีนี่ฝั่งโน้น 5 โมงครึ่ง แดดแรงมาก พวกพระคุณหนูนี่ตัวไหม้เลย บางองค์ท่านพูดให้ฟังเมื่อเช้า หลวงพ่อยังขำเลย บอกนึกว่ามาบวชนี้ จะนั่งสมาธิ เดินจงกรม กลายเป็นต้องออกไปกระทบอารมณ์อยู่เรื่อยๆ มีช่วงพักกับช่วงที่กระทบอารมณ์ บอกว่ามันอย่างกับวัดเส้าหลิน เหมือนวัดเส้าหลินเลย มันเหนื่อยจริงๆ โดยเฉพาะตอนเย็นๆ ทำงานเสร็จก็เหนื่อย ก็หิว ไม่สบายหรอก ชีวิตพระ ถ้าพระบวชเล่นๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าบวชจริง อย่างไรก็ไม่สบาย

ทำไมครูบาอาจารย์ให้ทำงานโน้นทำงานนี้ นอกจากเป็นเรื่องตามพระวินัย การดูแลเสนาสนะอะไรอย่างนี้ ต้องทำตามพระวินัย สิ่งสำคัญก็คือการที่ออกมาทำงานรวมกลุ่ม มันมีการกระทบผัสสะ เราภาวนา เราไม่ใช่มุ่งให้จิตสงบนิ่งๆ เฉยๆ ว่างๆ อยู่ เราปฏิบัติ ชีวิตจริงของเราไม่ได้อยู่แต่ในห้องกรรมฐาน ชีวิตจริงอยู่กับโลกข้างนอกนี้ ถ้าภาวนาแล้วก็อยู่แต่ในห้องกรรมฐาน ออกมาเจอโลกข้างนอกนี่ มันเหมือนใจจะแตกเลย ทนไม่ไหว ยิ่งติดความสุข ความสงบ พอกระทบอารมณ์ภายนอก ใจมันแทบจะระเบิดเลย

ฉะนั้นนักกรรมฐาน หลวงพ่อถึงบอกว่าอันแรกเลยต้องถือศีลไว้ ต้องแบ่งเวลาทำในรูปแบบ อย่างพระในวัดก็มีช่วงเวลาทำในรูปแบบ ช่วงที่อยู่ตามลำพังของตัวเอง บางองค์ก็กลางวันเหนื่อยมาก ก็พักนิดหน่อย กลางคืนภาวนาเยอะ ก็มีรูปแบบก็คือตอนที่ทำตามลำพัง ก็ภาวนาไป แต่ละองค์ก็เลือกกรรมฐานที่ถูกจริตนิสัยของตัวเอง ถ้าเลือกกรรมฐานไม่ถูกจริตนิสัย ก็พัฒนายาก แล้วเวลาที่เหลือก็คือเวลาเจริญสติในชีวิตประจำวัน เป็นพระเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วยการออกไปทัศนาจรอะไรอย่างนี้มันทำไม่ได้ พระอยู่ในวัดก็หางานทำในวัด ก็มีผัสสะ อย่างพระกับพระก็ไม่ได้ชอบกันทุกองค์ องค์นี้ชอบองค์นี้เป็นพิเศษอะไรอย่างนี้ เวลาเข้าไปอยู่ใกล้ๆ แหม มีความสบายใจ ไปอยู่กับคนไม่ถูกอัธยาศัยกัน อึดอัดอะไรอย่างนี้ ก็ต้องอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ต้องกินด้วยกันอะไรอย่างนี้ มันมีผัสสะให้ดูตลอดเวลา

ในความเป็นจริง จะอยู่ในวัดหรืออยู่นอกวัดก็มีผัสสะเท่าๆ กัน เพราะในวัดก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่นอกวัดก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การกระทบอารมณ์นั้น กระทบสม่ำเสมอ กระทบตั้งแต่ตื่นจนหลับ กระทบไปเรื่อย อยู่ที่ไหนก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จิตก็ปรุงสุขบ้าง ปรุงทุกข์บ้าง ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้างอะไรอย่างนี้ เราก็มีสติ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป อย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จิตเราเปลี่ยน

อย่างเราไปปลูกต้นไม้ พระที่วัดนี้งานเสริมนอกจากเรื่องการดูแลวัดและการภาวนา งานเสริมของที่วัดเราคือไปปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ปลูกป่าที่นี่ไม่เหมือนที่ราชการเขาปลูกหรอก อันนั้นเอารถไถไปไถภูเขาเสียเกลี้ยงเลย แล้วก็เอาพันธุ์ไม้ไปหว่านๆ ไว้ ฝนตกก็ขึ้นมา ไฟป่ามาก็ตายไป ปีหน้าปลูกอีกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้กินหรอก พอเราปลูก 3 ปี เป็นร่องรอยเป็นป่าแล้ว คอยป้องกันไฟป่า จริงๆ ไม่ใช่ไฟป่าหรอก ไฟทุ่ง มันเผาทุ่งกัน ก็คอยระวังรักษาไว้ รดน้ำต้นไม้ ต้นไม้มันไม่ได้อิ่มทิพย์ได้ ต้นไม้เล็กๆ อย่างนี้ ต้องรดน้ำ ตักน้ำจากในบ่อ หิ้วถังไปรดต้นไม้อะไรอย่างนี้ ต้นไม้ก็งอกงาม นี่เป็นงานที่ทางวัดทำ สัตว์ได้มาอาศัยเยอะแยะเลย อยู่ข้างนอกสัตว์ลำบาก ถูกล่า ถูกทำลาย ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่กิน สัตว์เลยมาอยู่ในวัดนี้เต็มไปหมดเลย พระอาจารย์อ๊าบอกขาดแต่เสือกับช้าง แต่ไม่ต้องเอามาถวาย บางคนได้ยินว่าที่นี่ขาดอะไรจะเอามาถวาย

 

หนีโลกกับเหนือโลกไม่เหมือนกัน

การที่ออกไปทำงานคือการกระทบผัสสะ มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของใจ ถ้าเราไปนั่งสมาธิ โยมก็เหมือนกัน วันๆ ไม่ยุ่งกับใคร นั่งสมาธิอย่างเดียว เดินจงกรมอย่างเดียว พอออกไปกระทบอารมณ์ เหมือนใจจะระเบิด มันอึดอัดไปหมด วุ่นวาย หงุดหงิด รำคาญ เพราะมันติดสุข ติดสงบ

การภาวนานี่ไม่ใช่ภาวนาเพื่อจะหนีโลก การหนีโลกไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธเลย พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พวกเราหนีโลก พระพุทธเจ้าให้เรารู้โลก รู้โลกตามความเป็นจริง ถ้าเรารู้โลกตามความเป็นจริง จิตมันก็ปล่อยวาง คราวนี้จิตก็ไม่ได้หนีโลก แต่จิตอยู่เหนือโลก

ระหว่างหนีโลกกับเหนือโลกไม่เหมือนกัน หนีโลกนี่เหมือนคนอ่อนแอ แพ้ผัสสะ มันหนี แสวงหาแต่ความสุขความสบายอะไรอย่างนี้ ไม่อยากกระทบอารมณ์ พวกหนีโลกนี่ไม่สามารถพ้นโลกได้ มันเอาแต่หนี มันก็จะหนีจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ในขณะที่พวกที่เรียนรู้โลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือกายกับใจเรานี่ล่ะ เรียนรู้มากๆ เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ จิตมันคลายความยึดถือในกายในใจ จิตไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ ก็เรียกจิตมันพ้นโลก

นิยามของคำว่าโลกมีหลายนิยามในของศาสนาพุทธ ต้องดูบริบทว่าธรรมะบทนั้นพูดเรื่องอะไร บางครั้งท่านก็บอกว่า สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือสัตว์ทั้งหลายนี้เอง หมู่สัตว์ทั้งหลายนี้ล่ะเรียกว่า โลก ถ้าเป็นนักปฏิบัติ ท่านบอกว่าขันธ์ 5 นั่นคือโลก ขันธ์ 5 คือตัวรูปตัวนาม ก็คือตัวโลก

ฉะนั้นที่เราภาวนานี่ไม่ได้เพื่อพ้นจากหมู่สัตว์หรอก อย่างไรเราก็ต้องมีชีวิตอยู่ในหมู่สัตว์ อย่างตอนนี้ก็อยู่กับหมู่คนทั้งหลาย พระก็อยู่กับหมู่พระ มันหนีไม่ได้ พวกนี้อย่างไรก็ต้องอยู่ โลกมันเป็นอย่างนี้ หนีออกจากโลกไม่ได้หรอก แต่โลกก็คือรูปนาม อันนี้เป็นนักปฏิบัติ เราก็เรียนรูปโลก นามโลก ดูลงมาที่กายดูลงมาที่ใจ ให้เห็นความจริงของกายของใจ พอเห็นแล้วจิตมันจะคลายความยึดถือ จิตมันหลุดพ้นจากกาย จิตมันหลุดพ้นจากความยึดถือใจ

หลุดพ้นจากกาย บางคนก็เข้าใจผิด ได้ยินว่าหลุดพ้นจากกาย คิดว่าคือการถอดจิตออกไปอยู่ข้างบน อย่างนั่งภาวนากำหนดจิต มันมีสมาธิอยู่ข้างบนนี่ มองลงมาเห็นร่างกายนั่ง อย่างนี้ไม่เรียกว่า หลุดพ้นจากโลกหรอก ตรงนี้ก็เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกของพวกเล่นสมาธิ หลุดพ้นจากโลกก็คือจิตมันไม่ยึดถือ ถ้าเมื่อไหร่จิตไม่ยึดถือร่างกาย จิตก็จะไม่ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย พอไม่ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็ไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย เมื่อมันไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันไม่ยึดถือ มันก็ไม่ยินดียินร้าย ยังยึดถืออยู่ก็ยังยินดียินร้ายอยู่ เมื่อมันไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันก็ละกามและปฏิฆะได้ ก็เป็นพระอนาคามี ถ้าเราเรียนรู้จนกระทั่งเราวางกายได้ มันก็จะเป็นพระอนาคามี แล้วเราเรียนรู้ต่อไปอีก ก็จะวางจิตได้ขั้นสุดท้ายจะปล่อยวางจิต

เวลาที่เราภาวนา บางคนอินทรีย์แก่กล้า ภาวนายังไม่ได้ธรรมะเลย บางทีจิตวางจิตลงไปได้เหมือนกัน ก็เคยมีตัวอย่างจากพวกเรานี่ล่ะ บางทีเห็นจิตมันปล่อยวางจิตแล้วจิตมันก็ตะครุบจิตขึ้นมาอีก อันนี้เรียกว่ายังไม่วางจริง ถ้าเจริญสติ เจริญปัญญา เรียนรู้โลกก็คือจิตของเรานี้เอง พอเรียนรู้เห็นความจริง จริงๆ จิตนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ พอเห็นความจริงอย่างนี้ จิตก็วางจิต จิตก็พ้นจากรูปโลก อรูปโลก เพราะว่าโลกของจิตเป็นโลกที่ไม่เกี่ยวกับกาม กามนี่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย พอพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย พ้นจากกาย มันเข้ามาที่จิต พอเข้ามาที่จิต โลกของจิตก็จะมีโลกของรูปภพกับอรูปภพ ถ้าจิตยังไม่พ้นกาม ไม่พ้นกาย ก็มีกามาวจร เป็นภพของกาม กามภพ

อย่างตอนนี้ พวกเราติดอยู่ในกามภพ เพราะเรายังเข้าฌานไม่เป็น ถ้าเข้าฌานเป็นมันก็จะติดใจในฌาน วันๆ ไม่สนใจ โลกเขาจะเป็นอย่างไร ไม่สนใจ นั่งสมาธิสงบอยู่ข้างใน ในรูปฌานบ้าง ในอรูปฌานบ้าง อันนี้ไปติดในภพของรูปภพ อรูปภพ แต่ถ้าเราภาวนาจนเราเห็นความจริงแล้วว่า ตัวจิตนี้ล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะมันบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ จิตก็จะวางจิต พอจิตปล่อยวางจิต ก็ไม่ต้องพาจิตไปเข้าไปสู่รูปภพ อรูปภพอะไรหรอก เพราะฉะนั้นจิตก็พ้นจากภพทั้ง 3 คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ เราพ้นจากโลกทั้ง 3 คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ เราพ้นมาได้ก็ด้วยการทำวิปัสสนา สมถะเป็นตัวหนุนเสริม วิปัสสนาเป็นงานหลัก เรียนรู้ความจริงของรูปธรรม นามธรรมไปเรื่อยๆ

จริตนิสัยคนแตกต่างกัน อย่างพวกติดสุขติดสบาย รักสุขรักสบาย รักสวยรักงามอะไรอย่างนี้ มันจะรักกาย หวงแหนกายมาก วันๆ เสริมสวยทั้งวัน ส่องกระจกทั้งวัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องส่องกระจก เดี๋ยวนี้เห็นส่องมือถือ ดูหน้าตัวเองจากมือถือ มือถือมันทำไม่ได้อย่างเดียวตอนนี้คือหวีผมให้เรา นี่ส่องได้ นี่ใจมันก็มีแต่หลงๆๆ ออกไป ให้เราพยายามฝึกให้ใจมันอยู่กับตัวเอง มันรักกายนี้มาก เรียนรู้ความจริงของกายลงไป มันน่ารักไหม ร่างกายนี้

เหมือนอย่างพวกตัณหาจริต พวกที่รักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม พวกนี้รักกายมาก พวกเราวัดใจตัวเองเลย เราหวงแหนกายนี้มากขนาดไหน รักมาก วันๆ หนึ่งให้ความสนใจตลอดเวลาเลย เกิดอะไรขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องคว้ามือถือมาส่องหน้า พวกนี้เป็นพวกตัณหาจริต เดินศูนย์การค้าก็คอยดู โน่นก็อยากได้นี่ก็อยากได้ นี่พวกตัณหาจริต พวกนี้ดูกายให้มากๆ เรียนรู้กายให้มาก จนกระทั่งมันเห็นความจริง ร่างกายนี้ไม่สุขไม่สบาย ไม่สวยไม่งาม ไม่สุขไม่สบาย ดูไปเรื่อยๆ พอใจมันคลายความยึดถือในร่างกาย จิตมันก็สงบ มีความสุข มีความสงบขึ้น

การที่จะต้องดิ้นรนไปแสวงหา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหา แล้วก็ไม่ต้องดิ้นรนหนี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย ที่เราดิ้นรนแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี่ก็เพราะกามราคะ ที่เราหนีจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเพราะว่าปฏิฆะ ขัดใจไม่ชอบมัน พอกระทบรูปที่ไม่ดี ก็มีความหงุดหงิดใจ ปฏิฆะขึ้น ก็พยายามหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบ อันไหนชอบก็แสวงหา อยากได้มา ตรงได้มา อยากได้มาเรียกว่ากามตัณหา ได้มาแล้วก็อยากครอบครองเอาไว้เรียกว่าภวตัณหา พอเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ อยากให้หมดไปสิ้นไปเรียกว่าวิภวตัณหา ตัณหามันก็เกิดจากการกระทบอารมณ์นั่นเอง

เพราะฉะนั้นเราไม่หนีการกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบเข้าไป แต่จิตเราต้องมีสมาธิตั้งมั่นเป็นคนดูให้ได้ พอกระทบลงไปแล้ว เราจะเห็นเลย เดี๋ยวก็เกิดชอบ เดี๋ยวก็เกิดไม่ชอบ เกิดชอบจิตก็ดิ้นรนปรุงแต่ง มีกามตัณหา มีภวตัณหา เกิดไม่ชอบก็มีวิภวตัณหา อยากให้มันสิ้นไป ทุกทีที่ตัณหาเกิดขึ้น มันจะบีบคั้นเข้ามาที่จิตแล้ว จิตใจเราจะมีความทุกข์ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราพยายามสังเกตว่า จริงไหมเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว มันชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง พอชอบก็เกิดอยาก อยากได้มา อยากให้มันอยู่นานๆ พอไม่ชอบก็อยากให้มันหมดไป

ทันทีที่อยากให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ยังไม่มีนี่ จิตก็ทุกข์แล้ว ดูเข้าไปให้เห็นมันทุกข์ ทันทีที่ได้มาแล้วอยากให้มันอยู่นานๆ กับเรา อยู่ตลอดไป เรารักเราหวงแหนสิ่งนี้มากก็ทุกข์ เราจะเห็นเลย โอ้ อยากได้มันก็ทุกข์ อยากครอบครองเอาไว้นานๆ ก็ทุกข์ บางอย่างไม่ชอบอยากให้มันหมดไปสิ้นไป ทันทีที่อยากให้มันหมดไปสิ้นไปก็ทุกข์อีกแล้ว อย่างเราเกลียดหน้าใครสักคนนี่ เมื่อไหร่มันจะตายสักที เราเกลียดมัน ตรงที่อยากให้มันตาย ใจเราทุกข์ ใจเราไม่มีความสุข เวลาจิตมันมีความอยากขึ้นมา มีตัณหาขึ้นมา มันจะสร้างโลกขึ้นมา มันจะสร้างโลกที่พอใจบ้าง โลกที่ไม่พอใจบ้างใจก็ดิ้นๆ อยู่ในโลก ตรงที่ใจมันดิ้นๆ อยู่นี่ในโลกนั่นล่ะ เรียกว่าตัวทุกข์ มันมีความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ความปรุงแต่งเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ตัณหาเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ความยึดถือเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ในจิตในใจเราเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย เราภาวนาเรียนรู้ลงในกาย เรียนรู้ลงในจิต

อย่างพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น เขาเรียกทิฏฐิจริต พวกนี้คอยดูจิตใจตัวเองไป เราจะเห็นจิตใจของเรา เรายังบังคับไม่ได้เลย แล้วเราจะมีทิฏฐิมานะไปบังคับจิตของคนอื่นเขาได้อย่างไร จิตเรา เรายังบังคับไม่ได้เลย มีใครสั่งจิตตัวเองได้ไหม จงดีตลอด จงสุขตลอด สั่งไม่ได้ใช่ไหม จงอย่ามีความอยาก เห็นไหมสั่งไม่ได้กระทั่งจิตเรา ถ้าเราเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ดูจิตดูใจเข้าไป เราจะเห็นเลย กระทั่งจิตเรา เรายังบังคับไม่ได้เลย แล้วจะไปบังคับจิตใจของคนอื่นได้อย่างไร ที่จะให้คนอื่นเขาคิดเหมือนเรา ทำเหมือนเรา พูดเหมือนเราอะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องไร้เดียงสา จะทุกข์เปล่าๆ นี่พวกทิฏฐิจริต ก็มาคอยดูจิตดูใจ ในที่สุดมันก็รู้ความจริง ไปบังคับอะไรมันไม่ได้ มันมีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตใจ

การภาวนาเบื้องต้น บางคนก็ดูกายไป พวกตัณหาจริตก็ดูกายไป เหมาะกับการดูกาย ถ้าพวกทิฏฐิจริตเหมาะกับการดูจิต เริ่มต้นจะดูกายก่อนหรือดูจิตก่อนก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ว่าจะดูกายก่อนหรือดูจิตก่อน ต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน คือต้องมีสมาธิก่อน ถึงจะเดินปัญญาได้ เพราะฉะนั้นการดูจิตๆ ในเบื้องต้น ทำให้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง ยังไม่เกิดปัญญาหรอก ถ้าดูจิตให้เกิดปัญญา จิตเราต้องตั้งมั่นขึ้นมาได้จริงๆ เป็นคนดูได้จริงๆ แล้วเห็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตก็เกิดความเปลี่ยนแปลง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ แล้วสภาวะทั้งหลายที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น อย่างนี้ถึงจะเดินปัญญา

 

สีลสิกขา-จิตสิกขา-ปัญญาสิกขา

ส่วนการดูจิตดูใจขั้นแรกทำให้เกิดสมาธิ จะดูกายก็ต้องฝึกจิตให้มีสมาธิเสียก่อน จะดูจิตก็ต้องฝึกจิตให้มีสมาธิเสียก่อน ถึงจะเดินปัญญาได้ เพราะฉะนั้นบทเรียนที่พระพุทธเจ้าสอนถึงมี 3 บท มีสีลสิกขา จิตตสิกขา จิตตสิกขา – เรียนเรื่องจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ แล้วก็ปัญญาสิกขา – การเจริญปัญญา จะเจริญปัญญาด้วยการดูกายก่อนก็ได้ ดูเวทนาก่อนก็ได้ ดูจิตก่อนก็ได้ หรืออินทรีย์แก่กล้าก็เจริญธัมมานุปัสสนา แต่ไม่ว่าจะเจริญกาย เวทนา หรือจิต สุดท้ายทุกคนจะลงที่ธัมมานุปัสสนา มันลงเอง มันจะลงไปเห็นอริยสัจ มันไปแตกหักข้ามภพข้ามชาติกันตรงที่เห็นอริยสัจแจ่มแจ้งนั่นล่ะ ฉะนั้นเราดูตัวเอง เราต้องฝึกให้ได้ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา

สีลสิกขา ต้องฝึก ทำอย่างไรเราจะรักษาศีลได้ดี เมื่อวานก็พูดแล้ว จะรักษาศีลได้ดีต้องมีสติรักษาจิต จิตเราโลภขึ้นมา โกรธขึ้นมา หลงขึ้นมา เรารู้ทัน พอรู้ทันนี่ เราก็ไม่ทำผิด มันโกรธขึ้นมาก็ไม่ไปด่าเขา ชอบขึ้นมาก็ไม่ไปล่อลวงเขาอะไรอย่างนี้ หรือไปทุบตี ไปทำร้าย ไปฉุดคร่าอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่ผิดศีล ถ้าเรามีสติรักษาจิตจริงๆ แล้วกิเลสครอบงำจิตไม่ได้ เราจะรักษาศีลได้อย่างสบายเลย รักษาโดยไม่ต้องรักษา สติรักษาจิตได้อันเดียวเท่านั้น ศีลอัตโนมัติมันเกิดเลย นี่คือบทเรียนของสีลสิกขา

ไม่ใช่นั่งท่อง ศีล 8 มันเป็นแบบนี้ ศีล 10 มีอย่างนี้ ท่องๆๆ ไว้ อันนั้นไม่เป็นศีล อันนั้นได้แต่จำๆ ไว้ แล้วก็บังคับตัวเองให้ถือเป็นข้อๆ ศีลที่ถือเป็นข้อๆ เป็นศีลลำบาก จะถือศีลให้สบายก็รักษาจิต มีสติรักษาจิตไป ถ้าจิตไม่ถูกกิเลสครอบงำ ศีลมันดีเอง นี่หลักของสีลสิกขา เรียนเรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่เรียนว่าศีล 5 มีอะไรบ้าง ศีล 8 มีอะไรบ้าง ศีล 10 มีอะไรบ้าง ท่องได้จนกระทั่งปาติโมกข์ ศีล 227 แต่อาจจะไม่มีศีล 5 ก็ได้ อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านด่าพระบางองค์บอก พยายามมาอวดว่ามีศีล 227 แต่ว่าลืมศีล 5 อะไรอย่างนี้ อันนี้ใช้ไม่ได้ พวกนี้ยังถือศีลไม่เป็น ฉะนั้นพวกเราเรียนเรื่องการพัฒนาให้เกิดศีลด้วยการมีสติรักษาจิตตัวเอง

แล้วทำอย่างไรเราจะเกิดสมาธิที่ถูกต้อง บทเรียนที่ทำให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องชื่อจิตตสิกขา ฉะนั้นบางคนบอกว่าอาจารย์ปราโมทย์สอนผิด อยู่ๆ ก็ไปเริ่มที่จิตได้อย่างไร ต้องเริ่มที่กาย ท่านพูดอย่างนั้นก็ถูกเหมือนกัน ก็ถูกของท่าน แต่ก่อนที่ท่านจะมาดูกาย ท่านก็ฝึกจิตให้มีสมาธิมาแล้วใช่ไหม อย่างบางท่านก็พุทโธๆ อยู่ตั้งหลายปี บางท่านก็หายใจอยู่ตั้งหลายปีกว่าจะจับหลักของการภาวนาได้ อย่างพุทโธๆ แล้วใจก็เคลิ้มๆ ไปอะไรอย่างนี้ สงบเฉยๆ นั้นพุทโธโง่ เรียกว่าพุทโธไม่เป็น ถ้าพุทโธแล้วต้องพุทโธอย่างที่อาจารย์บุญจันทร์ ท่านสอน “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” พุทโธๆ ไป ใจเป็นคนรู้ว่าตอนนี้กำลังท่องพุทโธอยู่ พุทโธๆ แล้วก็ถ้าจิตมันหนีไป ก็รู้ทันจิตใจของตัวเอง ท่องพุทโธๆ อยู่ หนีไปคิดเรื่องอื่น พุทโธแล้วก็รู้จิตตัวเองไป นี่พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ อย่างนี้ถึงจะพุทโธเป็น พุทโธแล้วรู้ทันจิต

บางคนทำอานาปานสติจนจิตรวมสว่างแล้วก็นิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น อันนั้นยังไม่ได้สมาธิที่ดี ได้สมาธิชนิดแรกคือสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เอาไว้พักผ่อน แล้วก็จะติดสมาธิได้ง่ายเลย จะติดในรูปภพ ลึกเข้าไปอีกก็เป็นอรูปภพ แต่สมาธิที่เราจะฝึกจากจิตตสิกขานี่ อย่างเราหายใจอยู่นี่ เราจะรู้ทันจิต ลมหายใจเป็น background เท่านั้นเอง เราหายใจไป พอจิตหนีไปคิด เรารู้ จิตไปไหลลงไปจมอยู่ที่ลมหายใจ เรารู้ จิตเป็นอย่างไร เรารู้ หายใจไปแล้วหงุดหงิด รำคาญขึ้นมา รู้ทัน หายใจแล้ว แหม ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน รู้ทัน หายใจแล้ว รู้ทันจิตไป อย่างนี้ถึงจะเป็นจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วก็ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป อย่างพุทโธๆ อย่างนี้ จิตหนีไปที่อื่นแล้ว รู้ทัน รู้ทันเราก็จะไปบังคับตัวเองไม่ให้หนี ก็รู้ทันจิตอีกว่านี่บังคับอยู่ นี่คอยรู้ทันจิตเรื่อยๆ ไป ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตเรื่อยๆ ไป สิ่งที่เราจะได้คือสมาธิที่ถูกต้อง เราจะได้สัมมาสมาธิขึ้นมา เป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น บางทีก็เข้าในฌาน 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ทำฌานให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับพวกที่ทำสมาธิแล้วเพ่งอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน

อย่างพวกที่เขาเล่นกสิณอย่างนี้ เขาก็ได้รูปฌานได้ อย่างบางทีเพ่งกสิณช่องว่าง เข้าอรูปไปเลยก็ได้ แต่เราดูจิตดูใจนี่จิตมันรวมลงมา โดยไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก มันรวมเข้าฌานได้บางที เข้าถึงอรูปฌาน ร่างกายนี้หายไป โลกธาตุนี้หายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เคลิ้ม ไม่ขาดสติ รู้ตัวอยู่ ไม่คิด ไม่นึกอะไร นี่มันก็เข้าฌาน 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ได้ทั้ง 2 ข้าง พวกที่ทำสมาธิชนิดสงบ เขาก็เข้าฌาน 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ได้ แต่จิตเขาออกนอก ส่วนพวกที่ฝึกจิตเคลื่อนแล้วรู้ ทำกรรมฐานไปจิตไหลไปคิดแล้วรู้ จิตไหลไปอยู่ในอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ พวกนี้ก็เข้าฌาน 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรอก จุดที่ให้ความสำคัญก็คือรู้เท่าทันจิตจนกระทั่งจิตมันตั่งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ค่อยๆ ฝึกไป การที่เราฝึกให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนั่นล่ะ เรียกว่าจิตตสิกขา

ถ้าเราทำอย่างที่หลวงพ่อบอกไม่เป็น ฝึกให้มันง่ายๆ ก็ได้ อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ เห็นไหมร่างกายนั่ง ร่างกายนั่ง จิตเป็นคนดู จิตอยู่ต่างหาก จิตตั้งมั่น เป็นคนดูอยู่ จิตกับกายแยกกันอยู่ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตจะไหลเข้าไปในกาย เวลาเรารู้สึกร่างกาย จิตมันจะไหลเข้าไปเนื้อเดียวอยู่กับกาย แต่พอจิตตั้งมั่นมันจะเห็นว่า กายกับจิตนั้นเป็นคนละอันกัน ที่เราฝึกให้จิตตั้งมั่นเพื่อจะให้เห็นว่ารูปนามมันแยกออกจากกัน เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญา ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่มีจิตผู้รู้แล้ว ก็ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ เพราะการเจริญปัญญานี่ ขั้นที่หนึ่ง คือนามรูปปริจเฉทญาณ รูปมันนั่ง ใจเป็นคนรู้

ฝึกง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ รูปมันนั่ง ใจเป็นคนรู้ คอยเตือนตัวเองเรื่อยๆ หรือเวลาเดิน แต่เดินหมายถึงเดินในที่ปลอดภัย จะไปเดินถนนแล้วก็รูปมันเดิน นามเป็นคนรู้ รถทับตายเลย รูปอีกรูปหนึ่งมันมาเกยรูปนี้เข้า ก็ต้องรู้กาลเทศะ เวลาเดินถนนต้องหันซ้ายหันขวา ไม่ใช่กำหนดไปเรื่อย บางที่กำหนดช้าๆ จะข้ามถนนก็หันทางนี้ ไม่มีรถแล้ว หันทางนี้ อ้อ ไม่มีรถแล้ว แล้วข้าม รถเหยียบตายเลย เพราะนานเกิน มันต้องรู้กาลเทศะในการปฏิบัติ ขับรถอยู่นี่อย่าไปเข้าสมาธิ ขับรถอยู่เข้าสมาธิจิตรวม รู้สึกตัวขึ้นมาอีกที อยู่ในยมโลกแล้ว เปลี่ยนภพไปแล้ว ฉะนั้นต้องรู้กาลเทศะ ถ้าจะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไร ตรงไหนที่ควรนั่ง ก็มีสติมีปัญญา ตรงไหนที่ควรเดิน ก็ต้องมีสติปัญญาไตร่ตรอง ตอนนี้ควรนั่งก็นั่ง ตอนนี้ควรเดินก็เดิน

แต่นั่งสมาธิเดินจงกรม แล้วคอยรู้ทันจิตไว้ พอจิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตจมลงไปในอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ ในที่สุดจิตจะตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้ว มันจะเห็นเลย รูปที่นั่งอยู่ รูปที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้ ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ มันจะแยกๆๆๆ ขันธ์มันจะแยกออกจากกัน พอเราแยกขันธ์ได้แล้ว ขันธ์แต่ละขันธ์ถึงจะแสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็นได้ ถ้าขันธ์ 5 มันรวมเป็นก้อนเดียว ดูไตรลักษณ์ไม่ออกหรอก เราก็ต้องแยกขันธ์ให้ได้คือมีจิตเป็นคนดู จะแยกขันธ์ได้ต้องมีจิตเป็นคนดู อย่างน้อยมี 2 ขันธ์ แต่ขันธ์หนึ่งที่ต้องมีก็คือตัววิญญาณขันธ์ คือชนิดของจิต ชนิดที่เป็นจิตผู้รู้ ต้องมี ส่วนอีกขันธ์หนึ่งจะเป็นกาย เวทนาอะไรก็ได้ สังขารอะไรอย่างนี้ก็ได้ จะเป็นรูปธรรมนามธรรมอะไรก็ได้ แต่ต้องมีจิตเป็นคนดู เราฝึกให้จิตตั้งมั่นขึ้นมาเพื่อจะก้าวไปสู่การเจริญปัญญา ปัญญาสิกขา

ถ้าเราจะมีตัณหาจริต เราพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม เราจะดูกายเป็นหลัก เราก็มีจิตเป็นคนดู จิตเราตั้งมั่นเป็นคนดู เราเห็นร่างกายมันทำงานไป เห็นมันเคลื่อนไหวอะไรอย่างนี้ เห็นมันทำงานเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เคลื่อนไหว จิตเราเป็นแค่คนรู้คนดู ตรงนี้พูดประโยคอย่างนี้ บางคนก็ยังทำผิด บอกให้จิตเป็นคนรู้คนดู ก็ถอดจิตเอามาไว้ตรงนี้ ให้จิตยืดขึ้นมาอยู่ข้างบน แล้วเห็นร่างกายอยู่ข้างล่าง นั่นไม่เรียกว่าแยกรูปแยกนามหรอก นั่นเรียกถอดจิตออกไปเที่ยวแล้ว ถอดจิตออกไปเที่ยว สนุกดีบางที แต่ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ทาง แยกรูปแยกนามนี่ไม่ต้องถอดจิตออกจากร่าง จิตใจก็อยู่ในกายนี้ แต่มันเห็นว่ากายมันส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้กายนี้เป็นอีกส่วนหนึ่ง คำว่า ส่วนหนึ่ง คำว่า ส่วน ก็คือคำว่า ขันธ์ นั่นเอง ภาษาบาลี ส่วนคือขันธ์ ไม่ใช่จิตไปอยู่อีกที่หนึ่ง บางคนถอดจิตไปไว้ข้างนอกอะไรอย่างนี้ ใช้ไม่ได้หรอก

 

ฝึกสติให้ดี ฝึกสมาธิให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว

เรื่องถอดจิตๆ ถ้าไม่ชำนาญ บางทีจิตมันถอด ควบคุมมันไม่อยู่ แล้วบางคนสติแตกไปเลย ตอนหลวงพ่อยังเป็นโยม หลวงพ่อภาวนาไม่ค่อยได้เรื่องหรอก ชอบออกไปรู้ไปเห็นอะไรข้างนอก วันหนึ่งไปงานศพเตี่ย หลวงพ่อมีเตี่ย เตี่ยตาย แล้วเอาศพไปใส่โลงเอาไว้ ที่วัดระฆังสมัยนั้นโกดังเก็บศพของวัดระฆังก็ยังไม่ค่อยจะดี หลังคาก็สังกะสีรั่วอะไรอย่างนี้ พอเอาศพไปเก็บไว้ สวดอยู่ 7 วัน หรือ 5 วันอะไรนี้ แล้วเอาศพไปเก็บ จะรอ 100 วัน จะเอา 50 วันจะมาทำบุญ 100 วันจะออกมาเผาอะไรอย่างนี้ ช่วงนั้นหน้าฝน ฝนมันตก หลังคาก็รั่ว น้ำมันหยดๆๆๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งฝาโลงนี้ทะลุ ฝาโลงทะลุนี่น้ำมันเข้าไปอยู่ในโลง กลายเป็นศพแช่น้ำ เรา โอ กลายเป็นศพแช่อิ่มแล้ว รู้จักแช่อิ่มไหมที่ไปดองไว้ในน้ำ พอครบ 50 วัน สัปเหร่อเขาก็เข้าไปยกโลง ได้ยินเสียงน้ำจ๋องแจ๋งๆ อยู่ในโลง เขาบอก อุ๊ย น้ำเต็มเลย เขาก็เจาะพื้นโลงให้น้ำไหลออกไป แล้วเขาก็บอกญาติมิตรลูกหลานทั้งหลาย อย่าดูนะ น่ากลัวมาก ศพนี้น่ากลัวมากเลย เพราะเป็นศพแช่น้ำ แช่น้ำมาตั้งนาน มันเปื่อย มันน่ากลัว อย่าดูนะ

หลวงพ่อก็ไม่อยากดูหรอก หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี แต่จิตมันอยากดู เห็นไหมจิตกับเรามันคนละอันกัน เราไม่อยากดู แต่จิตมันอยากดู ก็ไม่ได้ดู เพราะเขาไม่ให้ดู แต่พอมาถึงบ้าน ตอนนอน ถึงเวลานอน พอตอนที่เอนหัวลง พอหัวถึงหมอนเท่านั้น ยังไม่ได้หลับด้วย จิตมันพุ่งออกไปเลย มันออกไปเอง พุ่งพรวดออกไป มันวิ่งไปจะไปดูศพ วิ่งไปได้กลางทาง โอ๊ย เรากลัวผีแทบตายเลย มันวิ่ง ปรู๊ดไป รีบหายใจเข้าพุท หายใจออกโธเร็วๆ พุทโธๆๆ อะไรอย่างนี้ พยายามใหญ่ ดึงๆๆๆ จิตก็กลับมา แหม เหนื่อยกว่าจะดึงจิตคืนมาได้ นี่จิตชอบออกนอก อันตราย พอจิตคืนมาแล้ว สบายใจแป๊บเดียว พุ่งออกไปอีกครั้งที่ 2 นี่พุ่งแรงกว่าเก่า เราพยายามจะดึงคืน พยายามดึงจิตคืน ใช้แรงมหาศาลเลย ดึงได้มันไปถึงโกดังเก็บศพแล้ว เห็นกุญแจแล้ว เห็นกุญแจที่คล้อง กุญแจดีนะ กุญแจ Yale ด้วยอันนี้ แล้วก็เบรกทัน กลับมา เฮ้อ เหนื่อยๆๆๆ หมดแรงแล้ว

ครั้งที่ 3 นี่พุ่งเข้าไปในโกดังเลย แล้วไม่รู้ว่าโลงอยู่ตรงไหน มีหลายโลง มันเข้าทีละโลงเลย เดี๋ยวเข้าโลงนี้ ไม่ใช่ นี่ครู เข้าโลงนั้นโลงนี้ พอเจอศพเตี่ย มันลงไปนอนทาบ ไม่ใช่ผีสิงคน คนไปสิงผี สิง นิ่งๆ อยู่อย่างนี้ โห มันเหม็นมากเลย กลิ่นเหม็นนี่ขมในคอเลย มันก็เพลิดเพลินดูในกายนี้ ไล่ขึ้นไล่ลง สำรวจในร่างกาย พอใจแล้วๆ มันก็กลับมา ไม่ได้เรียกกลับมาเลย มาเองเลยคราวนี้ เพราะว่าจิตมันพอใจแล้ว นี่จิตมันไม่ใช่เรา บอกว่าอย่าไป มันก็จะไป ไปแล้วไม่ได้เรียกกลับ มันก็กลับเอง แต่ว่าอันนี้ส่งจิตออกนอก พวกเราอย่าฝึก พยายามให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถ้าเราไม่แกร่งจริง เดี๋ยวมันไปเห็นอะไรเข้า สติแตก ไปเห็นนรกเห็นอะไรเข้า เห็นผีสางนางไม้อะไร บางทีที่เห็นจริงหรือไม่จริงไม่สำคัญหรอก แต่มันไปเห็น มันรู้สึกว่าเห็นจริงๆ แล้วสติแตกจริงๆ

เพราะฉะนั้นทางที่ดีพยายามฝึกสติให้ดีแล้ว ฝึกสมาธิให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทำกรรมฐานอย่างที่หลวงพ่อสอนทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ จิตจะตั้งมั่น แล้วก็มาเจริญปัญญา เป็นตัณหาจริตก็ดูกายเป็นหลัก เวลาดูกายก็ไม่ใช่ว่าไม่เห็นจิต หลวงพ่อใช้ว่าดูกายเป็นหลัก ถ้าเราเป็นพวกทิฏฐิจริต เราก็ดูจิตเป็นหลัก แต่ดูจิตเป็นหลัก ก็เห็นกายด้วย ไม่ใช่ไม่เห็น แต่มันมีตัวที่เป็นหลัก เพราะเวลาเราเห็นมันก็มีทั้งรูปทั้งนามให้เห็น แต่เรา concentrate ใส่ใจ จิตมันมนสิการ มันใส่ใจมันสนใจในรูปธรรมหรือในนามธรรม พยายามน้อมใจไป

อย่างพวกรักสุขรักสบาย ดูสิกายนี่มันสุข มันสบาย มันสวย มันงามจริงไหม ไม่เห็นมันจะสวย มันจะงามตรงไหนเลย มีแต่ของสกปรก ตั้งแต่หัวถึงเท้านี่เต็มไปด้วยคำว่า ขี้ นี่ภาษาไทยโบราณดี คำว่า ขี้ เต็มเลย ข้างบนนี้มีอะไร มีขี้หัวใช่ไหม มีขี้ตา มีขี้มูกใช่ไหม มีขี้ฟัน มีขี้หู โอ้โห ขี้นี่ชุมนุมอยู่ที่นี่เต็มไปหมดเลย นี่ของสวยของงามใช่ไหม ตามผิวหนังมีขี้เหงื่อ มีขี้ไคล มีขี้จริงๆ อยู่ในลำไส้อะไรอย่างนี้ ดูไปจนถึงขี้ตีน ขี้มือ ขี้ตีน ภาษาไทยมันมีคำว่าขี้เต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นเราดูลงไปเลย ในร่างกายนี่ไม่มีอะไรที่เป็นของสวยของงามเลย มีแต่ขี้ตั้งแต่หัวถึงเท้าเลย

พามันดูไป ใจมันจะรู้สึกไม่สวยไม่งาม ไม่ใช่ของดีหรอก ตรงนี้ใจมันก็จะเริ่มสลด ที่เคยซ่า อุ๊ย ฉันนี่สวยกว่าคนอื่น ฉันอยากสวยอะไรอย่างนี้ มันจะเริ่มหดตัวลง จิตมันเริ่มสงบ เริ่มสำรวม จะได้สมาธิขึ้นมา สมาธิที่จิตสงบสำรวม แล้วก็จะเริ่มเห็นแล้ว ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง นั่งอยู่ก็เมื่อย เดินอยู่ก็เมื่อย นอนอยู่ก็เมื่อย ยืนอยู่ก็เมื่อย เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งนั้นเลย ร่างกายนี้มีแต่ความไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน เดี๋ยวกิน เดี๋ยวขับถ่าย เดี๋ยวดื่มน้ำ เดี๋ยวปัสสาวะอะไรอย่างนี้ ร่างกายเป็นธาตุที่หมุนๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ จิตมันเริ่มอย่างนี้ มันเริ่มเดินปัญญา

ถ้ายังคิดอยู่ ยังไม่เป็นวิปัสสนา แต่ต้องคิดนำก่อนสำหรับบางคนที่ติดนิ่งติดเฉย บางทีมันไม่ยอมพิจารณา พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม มันไม่ยอมพิจารณาร่างกายหรอกว่าไม่ใช่ของดีของวิเศษ อันนี้ต้องฝืนใจมัน พามันพิจารณาไป คิดพิจารณาลงไป จิตใจมันเคยมองร่างกายว่าไม่สุข ไม่สบาย ไม่สวย ไม่งาม มันเคยชินแล้วต่อไปเราไม่ต้องจงใจ อันนี้จิตมันจะเห็นเอง พอเห็นร่างกายปุ๊บ มันรู้สึกเลย ร่างกายมันเป็นวัตถุ ร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา มันเห็นเอง ตรงนี้เป็นวิปัสสนาแล้ว เห็นไตรลักษณ์ ถ้าคิดเรื่องไตรลักษณ์ยังไม่เป็นวิปัสสนา ถ้าเห็นไตรลักษณ์ถึงจะเป็นวิปัสสนา

เราดูตัวเอง ถ้าเจริญปัญญาเขาทำกันอย่างนี้ เราจะต้องมีจิตเป็นคนดูก่อน ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูจิต เราก็จะเห็นเดี๋ยวความสุขก็เกิด เดี๋ยวความทุกข์ก็เกิด เดี๋ยวกุศลก็เกิด เดี๋ยวอกุศลก็เกิด สิ่งที่เกิดขึ้นมา จิตมันเป็นคนรู้คนดูอยู่ ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า คนละอันกัน ความโลภเกิดขึ้น ความโลภไม่ใช่จิต ความโลภเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า มันก็จะเห็นความโกรธอยู่ๆ มันก็ผุดขึ้นจากกลางอกเรานี้ มันผุดขึ้นมา ถ้ามันแรงมันก็ขึ้นมาครอบหัวเราเลย ครอบความรู้สึกนึกคิดของเราได้ ถ้ามันเล็กๆ เราเห็นมันไหวขึ้นมาแล้วก็ดับ ไหวขึ้นมาแล้วก็ดับ เราก็จะเห็นความโกรธนี้ไม่เที่ยง จะโกรธเบาหรือโกรธแรง เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น มันอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าเห็น

ถ้านั่งคิดว่าความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ก็นั่งคิด เออ ความโกรธก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา ยังคิดอยู่ วิปัสสนาไม่ใช่การคิดแต่วิปัสสนาเป็นการเห็น อย่างเห็นความโกรธผุดขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อันนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา เห็นความโลภ ความหลง ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่ อย่างนี้เรียกเราเจริญปัญญาโดยใช้นามธรรม ใช้ฝ่ายนามธรรม พวกทิฏฐิจริตควรจะดูสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างยึดลัทธิอุดมการณ์นี่ ลัทธิอุดมการณ์เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นนามธรรมใช่ไหม ฉะนั้นการดูจิตนี่ดูนามธรรม มันจะล้างทิฏฐิจริตได้ มันเป็นคู่ชกกัน แต่ไม่ใช่ว่าล้างกามไม่ได้ ดูจิตๆ ก็ล้างกามได้ เพราะมันจะเห็นเลยว่าเวลาจิตเกิดกามราคะขึ้นมา จิตมันทุกข์ มันก็เห็น มันก็ล้างได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะดูสายกาย มันก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ จะดูสายจิต มันก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

ถ้าเราเข้าใจหลักของการปฏิบัติ เราจะไม่ทะเลาะกัน ไม่มีหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน มันมีแต่ว่ากรรมฐานอะไรเหมาะกับใคร ฉะนั้นเราไม่ทะเลาะกันหรอก ที่ทะเลาะกันว่าหลักอันนี้ถึงจะถูกอย่างโน้นผิด อันนั้นไม่เข้าใจ แต่ถ้าผิดจากหลักของสมถกรรมฐาน หลักของจิตตสิกขา ผิดจากหลักของวิปัสสนากรรมฐาน ของปัญญาสิกขา อันนั้นผิดจริง อย่างคิดว่าจะให้เกิดปัญญาต้องนั่งคิดลูกเดียวเลย คิดๆ จิตไม่ได้มีสมาธิเลย นั่งคิดอย่างเดียว ฟุ้งซ่าน ถ้าเจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ อย่าไปเรียกว่าเจริญปัญญา ให้เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน เพราะจริงๆ คือฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นจิตต้องตั้งมั่น เห็นกายทำงาน เห็นจิตทำงาน พวกที่เห็นจิตเป็นหลัก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกไหม รู้สึก ไม่ใช่ไม่รู้สึก พวกที่ดูกายเป็นหลัก จิตเคลื่อนไหวจะรู้สึกไหม รู้สึก รู้สึกทั้งกายทั้งใจ

ในพระไตรปิฎกสอนถึงพระอานนท์ พระอานนท์คืนก่อนวันสังคายนา พระที่ร่วมสังคายนานี่ คุณสมบัติคือเป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ส่วนใหญ่ก็ชอบบอกว่าท่านเป็นพระโสดาบัน จริงๆ อาจจะสูงกว่านั้นก็ได้แต่ไม่มีตำราพูดถึง เพียงแต่ว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ตำราบอกว่าพระไตรปิฎกบอก พระอานนท์ยังราตรีสุดท้าย ให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก มีสติไปในกายเป็นส่วนมาก แล้วส่วนน้อยทำอะไร บางทีจิตก็รวม สงบ พัก บางทีก็เห็นจิตมันทำงาน ก็ทำได้หลายอย่าง แต่ตัวที่เป็นหลักนี่ ท่านดูกายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นดูกายเป็นหลักก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ไม่ใช่ไม่ได้

แล้วจริงๆ ดูกายก็เห็นจิต ดูจิตก็เห็นกาย ถ้าเราดูจิตเป็นหลัก จิตเป็นหลักก็ไม่ใช่แปลว่าเห็นแต่จิต ถ้าดูจิตอย่างเดียว ก็ต้องบอกดูจิตอย่างเดียว ทำไมบอกดูจิตเป็นหลัก ตัวนี้เป็นตัวหลัก มันก็มีตัวรอง แล้วแต่จริตนิสัย ดูไปเถอะ ดูกายแล้วก็เห็นจิต ดูจิตมันก็เห็นกาย สุดท้ายแล้วจิตก็วางโลก คือวางทั้งกาย วางทั้งจิตนั่นล่ะ จิตพ้นโลก ไม่ทุกข์อีกต่อไปแล้ว โลกทุกข์ไหม โลกทุกข์ ขันธ์เป็นทุกข์ไหม ขันธ์ทุกข์ ขันธ์ยังเป็นทุกข์อยู่ แต่ว่าจิตที่มันวางขันธ์แล้ว มันไม่ทุกข์ไปกับขันธ์ จิตที่วางขันธ์มันไม่ทุกข์ไปกับขันธ์ นั่นล่ะเรียกว่ามันพ้นโลก ไม่ใช่หนีโลก หนีโลกไม่ได้กินหรอก หนีโลกคือไม่ยอมเรียนรู้ความจริงของกายของใจ พ้นโลกก็คือเรียนรู้ความจริงของกายของใจจนแจ่มแจ้งแล้วหมดความยึดถือ นี่แตกต่างกัน

วันนี้สมควรแก่เวลา ต่อไปส่งการบ้าน

 

 

คำถาม 1: ปีที่แล้วหลวงพ่อให้การบ้าน จิตเคลื่อนแล้วรู้ ฝึกจิตตั้งมั่น ได้เห็นจิตเคลื่อนไปช่องทางต่างๆ มีโทสะสั้นลง จิตมีเมตตามากขึ้น ช่วงหลังกระทบเรื่องงานเยอะ บางวันเหมือนคนภาวนาไม่เป็น แบ่งเวลาทำในรูปแบบเป็นช่วงๆ ระหว่างวัน ขอคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อความเจริญต่อไปครับ

หลวงพ่อ: ทำได้ดีแล้ว เพียงแต่ตอนนี้มันตื่นเต้น จิตมันออกนอกใช่ไหม จิตมันวิ่งมาที่หลวงพ่อบ้าง วิ่งไปคิดบ้างอะไรอย่างนี้ สลับกันไปสลับกันมา เราก็ไม่ว่ามันหรอก รู้มันไป ที่ฝึกอยู่ก็โอเค แต่ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้

 

คำถาม 2: หนูรู้สึกว่าหนูบังคับจิตน้อยลง จนบางครั้งรู้สึกย่อหย่อนเกินไป แต่หนูรู้ธรรมชาติของจิตที่โดนกิเลสบงการอยู่เบื้องหลังได้มากขึ้น ยอมรับในตัวตนและความผิดพลาดของตัวเองได้มากขึ้น ไม่ทราบว่าหนูทำถูกต้องแล้วหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ: ถูก ภาวนาแล้วก็อย่างนั้นล่ะ แต่ว่าเรื่องย่อหย่อนนี่ เราต้องมีวินัยมาแก้ ถึงเวลาเราก็ต้องทำในรูปแบบ ตัวนี้จะแก้ความย่อหย่อน แต่ถ้าเอะอะก็จะเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างเดียว ไม่นานก็ย่อหย่อนหมด เพราะฉะนั้นอดทน ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ สังเกตไหมความทุกข์มันสั้นลง ความทุกข์มันน้อยลงใช่ไหม ความรู้สึกตัวมันเกิดง่ายขึ้น มันค่อยๆ พัฒนาไป เดี๋ยวปัญญามันแจ่มแจ้ง มันก็จะเห็น ในโลกนี้ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย คำว่าโลก ก็คือรูปนาม ในกายนี้ก็เต็มไปด้วยทุกข์ ในจิตนี้ก็เต็มไปด้วยทุกข์ อันนั้นเป็นขั้นเจริญปัญญา ของหนูฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทำในรูปแบบไม่เลิก แล้วก็เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจอย่างที่มันเป็นไป เดี๋ยววันหนึ่งมันก็จะเข้าใจหรอก ดีแล้วล่ะ

 

คำถาม 3: ชอบดูกายเคลื่อนไหวเป็นเครื่องอยู่ เมื่อดูกายดูใจทำงานของเขาเอง เห็นโลกเป็นภาระของใจทางทวารทั้ง 6 มากขึ้น ช่วยลดการตามใจกิเลสลงได้มาก ใจเคยทนดูทุกข์ได้เอง จนเห็นการวางอารมณ์และเห็นเกิดดับภายใน ได้เรียนรู้ว่าอะไรๆ ก็คงวางได้เมื่อใจพร้อม และทนดูทุกข์ไปตรงๆ นั้น มีประโยชน์จริงๆ รวมทั้งเกิดสภาวะที่วิเศษอย่างไรก็มีวันจบ ไม่มีอะไรคุมไว้ได้จริง มีผลให้ไม่ถือสาอะไรมากขึ้น อะไรก็ได้ ได้เองมากขึ้น ทุกวันนี้ยังคงเห็นใจแวบไปคิดชั่วได้เองอยู่เป็นประจำและโง่ถูกกิเลสหลอกได้อีกอยู่เรื่อยๆ ครับ คำถามคือมีอะไรที่ผมติดเป็นพิเศษไหมครับเพราะยังคงภาวนาได้อยู่

หลวงพ่อ: ไม่ต้องทำอะไรพิเศษหรอกที่ทำอยู่นี่ถูกแล้ว แล้วก็สมาธิเราไม่ทิ้ง พยายามเจริญปัญญาเยอะเกินไป ใจมันจะฟุ้ง ฉะนั้นเรื่องของการทำในรูปแบบ เรื่องอะไรนี่ ทำให้ได้ทุกวันๆ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ แต่ว่าใจมันไม่ตั้งมั่นตอนนี้ ขณะนี้ใจมันโล่งว่างออกข้างนอก อย่าไปติดในความว่างๆ ย้อนมาดูความจริงของกาย ย้อนมาดูความจริงของใจบ่อยๆ แต่ว่ามันก็ปกติ เวลาเจอหลวงพ่อมันตื่นเต้น ใจมันออกนอกทั้งนั้นล่ะ ออกแล้วเรารู้ก็ใช้ได้แล้วล่ะ ที่ฝึกอยู่ดี ไปฝึกอีก ไป หลงแล้วรู้สึกไหม นี่ล่ะฝึกตัวเองอย่างนี้ล่ะ ไม่ใช่ห้ามหลง แต่หลงแล้วรู้ไวหน่อย แค่นั้นล่ะ

 

คำถาม 4: ช่วงนี้ทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานทุกวัน เริ่มงานเช้า เลิกงานดึกมาก ทำให้ล้าและเหลือเวลาปฏิบัติในรูปแบบน้อยในแต่ละวัน กำลังไม่ค่อยพอ พยายามหาเวลาช่วงเบรกเล็กๆ ระหว่างวันและก่อนนอนเพื่อสูดลมหายใจเจริญสติค่ะ ขอหลวงพ่อแนะนำด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: เวลาเราเหนื่อย โดยเฉพาะร่างกายเหนื่อยนี่ ลมหายใจช่วยเราได้เยอะ หรือเวลาเหนื่อยมากๆ หมดเรี่ยวหมดแรง อย่าไปปล่อยให้ความหดหู่ครอบงำใจ มันเหนื่อยขึ้นมา รู้ว่าเหนื่อย แล้วก็ไม่ต้องสนใจว่าจะแก้ไขอย่างไร จะภาวนาอย่างไร หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกไปๆ ไม่นานเราจะได้แรงคืนมา นี่เราเรียกว่าเราใช้สมาธิมาหนุนเสริมให้ร่างกายมีแรงขึ้นมา แล้วก็พอร่างกายมันสดชื่นขึ้นมาแล้ว มันภาวนาต่อ นี้แต่ถ้าเราใจหดหู่ ร่างกายเราก็หมดแรง แล้วเราก็ท้อแท้ โอ๊ย เหนื่อยอย่างนี้จะภาวนาได้อย่างไร อันนี้ถูกความท้อแท้หลอกลวง

หนูหายใจไว้ ถูกแล้วล่ะ หายใจไป แต่ไม่ได้หวังว่าจะหายเหนื่อย ไม่ได้หวังว่าจิตจะตั้งมั่น หายใจเฉยๆ ไม่หวังผลอะไร ทำไปแป๊บเดียว จิตสงบ ถ้าหายใจแบบหวังผล จิตจะไม่สงบหรอก จิตจะเครียด เมื่อไหร่จะสงบ เมื่อไหร่จะมีแรงอะไรอย่างนี้ จิตจะเครียด ฉะนั้นอย่าหวังผล เวลาเหนื่อยๆ ไม่มีอะไรทำ หายใจไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง มีแรงก็ช่าง ไม่มีแรงก็ช่าง พอจิตมันสงบ สังเกตไหม เวลาจิตมันสงบ มันเหมือนสว่างขึ้นมา มันสว่างขึ้นมา กระทบตรงที่ร่างกายนี่ ร่างกายมันผ่อนคลายด้วย แล้วเดี๋ยวร่างกายก็จะสดชื่นอย่างรวดเร็ว แต่ว่าวิธีอย่างนี้มันก็ใช้ได้ชั่วคราว สุดท้ายเราก็ต้องไปนอนอยู่ดีล่ะ

แต่ว่าช่วงกลางวันเก็บเล็กเก็บน้อย บางทีทำงานมันเหนื่อย บางทีทำงานเครียด ตอนที่ทำงานเครียด เราคิดงานไม่ออกนี่ อย่าตะบี้ตะบันคิดตอนที่ทำงานเครียด คิดอะไรไม่ออก หายใจไปก่อน หายใจสบายๆ โง่ก็ช่างมันเถอะ หายใจไป พอใจมันสบายปุ๊บ มันคิดออกเอง มันทำงานได้ดีกว่าเก่าอีก หลวงพ่อที่ผ่านมา ตอนเป็นโยม หลวงพ่อก็ใช้วิธีนี้ล่ะ งานที่ซับซ้อนเท่าไหร่ๆ มาอยู่ในมือเรานี่ไม่ซับซ้อนแล้ว พอจิตสงบ มันมองออกแล้วว่าเรื่องนี้มันจะไปทางไหน

ถ้าเราท้อใจ โอ้ เหนื่อยอย่างนี้จะเอาเวลาที่ไหนปฏิบัติหนออย่างนี้ เราตัดรอนกำลังของตัวเอง อย่าไปตัดรอนตัวเอง เหนื่อยก็ร่างกายมันเหนื่อย ใจเราไม่ได้ไปทำงานอะไรวุ่นวายด้วยสักหน่อย เราฝึกจิตฝึกใจของเรา หายใจไป รู้สึกไป หายใจไป รู้สึกไป เดินไปเข้าห้องน้ำก็ทำ กินข้าวก็ทำอะไรอย่างนี้ ฝึกอย่างนี้ เราจะอยู่กับโลกได้ ทางธรรมของเราก็ก้าวหน้าได้ ทางโลกก็ไม่เสีย กรรมฐานอย่างนี้ ถ้าบางท่าน ท่านบอกเลย ท่านบอกว่าท่านเสียเปรียบหลวงพ่อ หลวงพ่อเป็นโยมจนอายุตั้ง 48 ทำงาน เพราะฉะนั้นโยมเป็นอย่างไร หลวงพ่อเข้าใจ เหน็ดเหนื่อยในการทำงานอย่างไรนี่หลวงพ่อเข้าใจ เพราะหลวงพ่อผ่านมาแล้ว ท่านบอกท่านบวชเณรตั้งแต่เด็ก ท่านไม่รู้หรอกว่าโยมเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาท่านสอน ท่านสอนตามทฤษฎีแต่มันไม่ถึงใจ

อย่างนี้หลวงพ่อก็เคยเหนื่อย อย่างที่คุณเหนื่อยอย่างนี้ หลวงพ่อใช้วิธีหายใจ สงบหรือไม่สงบ ไม่สนใจ แค่ได้หายใจ หายใจไป พอจิตใจมันผ่อนคลาย ใจมันจะสว่าง สบายขึ้นมา ร่างกายมันจะสดชื่นขึ้นมาด้วย เราก็มีแรงทำงานต่อไป สมองเราก็ปลอดโปร่ง ตรงที่เราทำใจสงบเข้ามานี่ เราจะจัดระเบียบความคิดของตัวเองอัตโนมัติ ฉะนั้นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน พอใจสงบปุ๊บจะมองออกง่ายๆ เลย ว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร เราจะได้เปรียบชาวบ้านเขาเยอะเลย ฝึกเสีย กรรมฐานนี่ไม่ใช่ว่าดีแต่สงบ อยู่กับโลกก็อยู่ได้ดีกว่าคนอื่นเขา

 

คำถาม 5: ไม่ได้ส่งการบ้านหลวงพ่อ 10 เดือนครับ ปีก่อนมีภาวะโรคซึมเศร้า ออกไปรักษาทานยาปรับชีวิตตัวเองใหม่ ภาพรวมตอนนี้ดีขึ้นครับ กลับมาภาวนาได้ ส่วนการภาวนาสังเกตว่าจะดูเวทนาทางจิต และดูจิตได้เป็นหลัก หลังเลิกงานจะค่อยๆ ทำความสงบได้ประมาณหนึ่ง พอจิตดิ้นรนฟุ้งน้อยลง จะสังเกตว่ามีตัวจิตที่แยกออกจากเวทนา สังขาร ถ้ามีกำลังพอ จะพอสังเกตจิตตัวที่รู้ มีการเจือด้วยตัวกิเลสอีกที เช่น พวกโลภเจตนา โทสะ โมหะ วนเวียนดูแบบนี้เป็นหลัก ขอโอกาสหลวงพ่อช่วยชี้แนะ หากมีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขครับ

หลวงพ่อ: ทำเรื่อยๆ ไม่หวังผลว่าต้องดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้ ถ้าหวังผลจะเครียด เราต้องไม่เครียด ภาวนาอย่างผ่อนคลาย แต่ไม่ขี้เกียจ ส่วนการหาหมอต้องหาหมอเรื่อยๆ ตามที่หมอนัด เป็นระยะๆ อย่าทอดทิ้งหมอ เดี๋ยวหมอลำบาก หมอก็ต้องมีคนไข้ ถึงจะอยู่ได้ ตอนนี้คนเป็นโรคซึมเศร้าเยอะ เราไม่ใช่คนเดียวที่เป็น คนที่เป็นนี่เยอะแยะไปหมดเลย เป็นโรคธรรมดา บางทีเกิดจากสารเคมีในสมองเราไม่สมดุลกันอะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ต้องรักษาทาง physical ไปหาหมอไปอะไร ส่วนทางจิตทางใจเราก็รักษาของเรา อย่างที่คุณทำอยู่นั่นล่ะ ดีแล้วล่ะ มันก็จะทุกข์สั้นลง ทุกข์น้อยลง รู้เนื้อรู้ตัวได้เยอะขึ้น เห็นความจริง ร่างกายมันก็ของถูกรู้ ความสุข ความทุกข์ มันก็ของถูกรู้อะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายใจมันก็คลายออกจากโลกจนได้ ดีแล้วล่ะที่ฝึกอยู่ ทำไปเรื่อยๆ อย่าให้เครียด

 

คำถาม 6: ส่งการบ้านครั้งแรก ฟังหลวงพ่อแล้วฝึกตาม 2 ปีครึ่ง ฝึกดูกิเลสเบื้องหลังความคิดและการกระทำ ใช้สัมมาวายามะเป็นตัวกรอง ชอบเดินจงกรมมากกว่านั่งภาวนา รู้สึกไม่มีสมาธิ ไม่เคยรู้จักคำว่าจิตรวม ขอเมตตาหลวงพ่อสั่งสอนชี้แนะ และขอกรรมฐานที่เหมาะสมด้วยเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ: ไม่ต้องรู้จักหรอก ถึงเวลารวม เขาก็รวมของเขาเอง ถ้าใจมันยังฟุ้งอยู่ มันก็ไม่รวม ก็แค่นั้นเอง ตามรู้ตามดูเรื่อยๆ ถึงเวลาก็รวมเอง บางคนรวมครั้งแรกก็ตัดกิเลสเลย บางคนมันก็รวมบ่อย รวมอยู่นั่นล่ะ รวมจนต้องกระตุ้นให้เดินปัญญา ให้คิดพิจารณากายอะไรอย่างนี้ ทีนี้ของเราเป็นพวกคิดเยอะ ใจมันก็ไม่ยอมรวมง่ายหรอก เป็นเรื่องปกติ เวลาสงบก็สงบสั้นๆ ไม่สงบนาน สงบแว๊บๆ เดี๋ยวก็ออกมาทำงานแล้ว ก็อาศัยจิตมันได้พักเป็น ระยะๆ นิดๆ หน่อยๆ มันไม่รวมใหญ่ๆ รวมแบบนานๆ สังเกตไป เห็นไหมจิตเราไหลแวบๆๆ อยู่เรื่อยๆ เราก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจอะไรก็ได้ แล้วจิตหนีแวบๆ ค่อยรู้เอา จิตจะค่อยๆ มีกำลังขึ้น ตอนนี้จิตยังไม่ค่อยมีกำลัง วันนี้ตื่นเช้าไป จิตใจไม่ค่อยมีแรง

นี่ขยับอย่างนี้ รู้สึกไหม เห็นไหมร่างกายขยับ ดูกายได้ อย่ามุ่งแต่ดูจิตอย่างเดียว ร่างกายขยับอย่างนี้ รู้สึกได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ดูจิตไม่ออก มันฟุ้งเยอะๆ รู้สึกกายไปเลย เห็นร่างกายมันขยับ เห็นร่างกายมันเคลื่อนอะไรอย่างนี้ รู้สึกๆ ไป จิตมันจะมีแรงขึ้นมา ดูจิตอย่างเดียว ไม่ไหว มันจะฟุ้งไปเรื่อยๆ แล้วสมาธิมันไม่แรงพอ จิตมันจะเคลิ้มง่าย จะไหลๆๆ คิดๆๆ ไป ฉะนั้นรู้สึกในร่างกายไว้ด้วย อย่าทิ้งกาย นี่เห็นไหมร่างกายขยับใช่ไหม ร่างกายไหว้ ร่างกายอะไร รู้สึกไหม รู้สึกกายได้ชัดกว่าจิตอีก ดูกายเยอะๆ ช่วงนี้

เมื่อก่อนนี้มีบางคนไม่เข้าใจที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อทีแรกเจอเขา เขาจะชอบดูจิต ได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต ก็จะดูจิต แต่ตัวเองเป็นพวกรักกายมากเลย หลวงพ่อบอกไปดูกายก่อน เขาก็ไปดูกายอยู่ช่วงหนึ่ง จิตก็มีแรงตั้งมั่นขึ้นมา จิตเคลื่อนไปเคลื่อนมานี่ สามารถจะเห็นได้ แต่ไม่สนใจจะดูแต่กายอย่างเดียว หลวงพ่อบอกตอนนี้ถ้าจิตเคลื่อนไปรู้เลย เพราะมันดูได้แล้ว เขาก็โมโห เอ๊ะ หลวงพ่อนี่อย่างไร ทีแรกบอกให้ดูกาย ตอนนี้บอกให้ดูจิต สอนกลับไปกลับมา แหม เธอจะเป็นนักเรียน เรียนป. 1 ไม่เลิก ไม่ยอมเลื่อนชั้น

ของเราก็เหมือนกัน เราไม่ใช่จะดูแต่จิตอย่างเดียว ดูจิตอย่างเดียวนี่ จิตมันไม่มีแรงพอ ดูกายด้วย กำลังของสมาธิมันจะเข้มแข็งขึ้น รู้สึกไหมร่างกายมันขยับ แค่รู้สึก ไม่ใช่ทำตัวแข็งๆ อย่างนี้ อย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้เหมือนกิ้งก่า ร่างกายขยับไปขยับมานี่ คอยรู้สึกไว้เรื่อยๆ ต่อไปก็จะเห็นกายกับจิตคนละอันกัน แล้วต่อไปจิตไปแอบทำอะไรอย่างไรก็เห็นเอง แล้วจิตจะมีแรง จิตจะมีกำลังมากขึ้น

 

คำถาม 7: ส่งการบ้านครั้งแรก เรียนกับหลวงพ่อทาง YouTube มา 2 ปี เริ่มกลับมารักษาศีล 5 และทำในรูปแบบ สมาธิที่ทำอยู่เพียงพอหรือยัง

หลวงพ่อ: สมาธิมันก็เหมือนการชาร์จแบต ก็ต้องชาร์จกันทุกวันนะ พอมีสมาธิแล้วเราเอาไปเดินปัญญานี่ สมาธิมันก็หมดไป หมดแรง เหนื่อย เพราะฉะนั้นการทำสมาธิเราไม่เลิกหรอก ถึงจะภาวนาเก่งแค่ไหนเราก็ไม่ทิ้งสมาธิหรอก อย่างตอนที่เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ เราเอาสมาธิมาเป็นกำลังไปเดินปัญญา แต่ตอนเราเดินปัญญาไปเต็มที่แล้ว เราใช้สมาธิเป็นที่พักผ่อน ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นสมาธิมีประโยชน์ตลอดสายของการปฏิบัติ

ที่คุณฝึกอยู่ใช้ได้ ขันธ์มันแยกแล้วล่ะ แล้วเห็นไหม รูปก็ส่วนรูป จิตก็ส่วนจิต มันเห็นได้แล้ว ดูไปเลยสติระลึกลงที่ขันธ์อันใดก็จะเห็นว่าขันธ์อันนั้น สิ่งอันนั้น ล้วนแต่ของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตัวจิตใจเองก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มีแต่ความไม่เที่ยง จิตเดี๋ยวก็ตั้งมั่น เดี๋ยวก็หลงไปทางตา เดี๋ยวก็หลงไปทางหู เดี๋ยวก็หลงไปคิดอะไรอย่างนี้ จิตหลงไปหลงมา เรารู้ นี่ก็เป็นการรู้ทันจิตตัวเอง สุข ทุกข์ ดี ชั่วเกิดขึ้น เราก็รู้ เราก็เห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่วเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตคิดก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตไปฟังก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ นี่จะเห็นลงในกาย เห็นลงในจิต ร่างกายก็ไม่ใช่เรา

ที่ฝึกอยู่ดี ฝึกอยู่ใช้ได้เลยล่ะ สมาธิก็ใช้ได้ ดี ที่ฝึกอยู่ใช้ได้แล้วล่ะ ทำให้สม่ำเสมอ บางช่วงเราจะรู้สึกว่ามันเจริญ บางช่วงมันจะเสื่อม เสื่อมก็ไม่ต้องตกใจ การเจริญแล้วเสื่อมนั่นล่ะเป็นธรรมะ ทีนี้ตรงมันเสื่อมแล้วเราทำอย่างไร เราก็ภาวนาของเราปกติ ไม่ต้องลุกลี้ลุกลนให้เจริญ ถ้าจิตใจเราเป็นกลางจริงๆ นี่มันเสื่อมไม่นาน ถ้าจิตใจเราไม่เป็นกลาง จะเสื่อมนาน

อย่างบางทีจิตเรามีสมาธิดีๆ อยู่ช่วงหนึ่งฟุ้ง ดูกายดูใจไม่ออกแล้ว เราก็พยายามอยากจะรู้สึก พยายามจะรู้สึก ไม่รู้สึกหรอก แต่ถ้าใจเราเป็นกลางเมื่อไหร่ สมาธิจะกลับมาทันทีเลย อย่างเราเห็นเลยจิตฟุ้งซ่าน เออ ฟุ้งก็ฟุ้ง เราก็แค่รู้ว่ามันฟุ้ง ไม่อยากให้มันหาย เป็นกลางกับมัน สมาธิจะเกิดทันทีเลย แล้วจิตจะเข้าที่ เดินปัญญาต่อได้ทันทีเลย นี่เคล็ดลับ เวลาเราเดินปัญญาไป พอสมาธิตก เราจะรู้สึกมันเสื่อมแล้วช่วงนี้ ตอนที่มันเสื่อมไม่ต้องตกใจ รู้ไปว่าตอนนี้ไม่ชอบเลย ว่ามันเสื่อม อยากให้มันดี รู้ทันอย่างนี้ พอจิตมันเป็นกลางปุ๊บ มันจะดีดตัวผางขึ้นมาดีเองเลย เราก็จะมีกำลังเดินปัญญาต่อ จำได้ไหมวิธีนี้ ดีที่ฝึกอยู่

 

คำถาม 8: ตั้งแต่ 2 ปีนี้ ปฏิบัติในรูปแบบวันละ 30-45 นาทีทุกวัน เริ่มเห็นว่าจิตส่งออกนอกเสมอ เมื่อจิตอยู่กับตัวจะเห็นจิตกระวนกระวายดิ้นรนอยู่ในใจตลอด สลับกับการออกนอกและคิดเรื่องต่างๆ ควรแก้ไขอะไรบ้างคะ

หลวงพ่อ: แก้ไม่ได้ ให้รู้เอา มันเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น เรื่องของการแก้ไขนี่เป็นเรื่องของสมถะกรรมฐาน จิตมีราคะ แก้ให้มันไม่มีราคะ จิตมีโทสะ ก็ไปทำเมตตาให้มันหายโทสะอะไรอย่างนี้ จิตฟุ้งซ่าน ก็บริกรรมไปอะไรไป การนั่งแก้นี่เป็นเรื่องของการทำสมถะ การปฏิบัตินี่ไม่ใช่เรื่องนั่งแก้ แต่เห็นอย่างที่มันเป็น จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ ก็เห็นจิตที่สงบไม่เที่ยง จิตที่ฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง จิตที่สงบก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ แป๊บเดียวก็หนีไปคิดแล้ว จิตที่ฟุ้งซ่านก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ สั่งให้เลิกคิด ให้สงบมันก็ไม่เชื่อ

ปัญหาใหญ่ของคุณคือสมาธิไม่พอ สมาธิยังไม่พอ ฉะนั้นอยู่กับกรรมฐานของตัวเองให้บ่อยๆ อยู่ในกาย อยู่ในอะไรอย่างนี้ก็ได้ ดูร่างกายหายใจ ดูอะไรไป แล้วพอจิตมันหนีไปอะไรอย่างนี้ รู้เรื่อยๆ ไม่ต้องอยากสงบ ทำกรรมฐานสักอันหนึ่ง รู้อยู่ที่อารมณ์กรรมฐานนั้น จิตสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง นี่ฝึกอย่างนี้ไปไม่นาน จิตจะสงบของจิตเอง พอจิตสงบแล้วนี่ คราวนี้ขันธ์มันจะแยกออกมา จิตมันจะเป็นแค่คนดูเท่านั้น ตอนนี้จิตมันเป็นคนแสดง เดี๋ยวมันก็แสดงเป็นจิตนักคิด เป็นจิตนักโมโห เป็นจิตโน้นจิตนี้ มันไม่ใช่จิตเป็นคนดู แต่มันกระโดดเข้าไปคลุกกับอารมณ์เรื่อยๆ อันนี้จิตที่มีสมาธิพอ มันจะไม่คลุกอยู่ในอารมณ์ มันจะตั้งมั่นอยู่ต่างหาก

เพราะฉะนั้นของหนูนี่ทำกรรมฐานไป ใช้ร่างกายเป็นฐานก็ได้ เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนอะไรอย่างนี้ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดว่าจะต้องทำถึงเมื่อไหร่ ร่างกายขยับรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ หรือร่างกายหายใจรู้สึกๆ ไปเรื่อย ต่อไปจิตมีสมาธิขึ้นมาขันธ์มันจะแยก มันจะเห็นเลยร่างกายที่หายใจ ร่างกายที่เคลื่อนไหว มันไม่ใช่จิต มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ตรงที่ขันธ์มันแยก เราเริ่มเดินปัญญาจริงๆ แล้ว ตอนนี้จิตฟุ้งเกินไป

 

 

หมดแล้วหรือ หลวงพ่ออนุโมทนา 2 วันนี้ที่ส่งการบ้าน ทั้งหมดเลยที่ส่งการบ้านตั้งแต่เมื่อวาน ฟังแล้วน่าชื่นใจ ขนาดพวกเราไม่ได้เจอหลวงพ่อ เราฟัง ดู YouTube ฟังซีดีอะไรอย่างนี้ แล้วยังก็พากเพียรภาวนา บางคนก็ขยันมากขึ้นตั้งแต่จองได้ ก็มี แต่ก็ยังดี ก็แสดงว่ายังปฏิบัติอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติเลย จองได้แล้ว จะมาส่งการบ้านด้วย จิตวุ่นวาย แต่ที่พวกเราเป็นอยู่ 2 วันนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ก็ใช้ได้เลย แทบทุกคนดี อนุโมทนากับพวกเราด้วย เปิดวัดก็มีข้อดีอย่างนี้ล่ะ หลวงพ่อได้เห็นหน้าพวกเราบ้าง เราจะส่งการบ้านได้ ให้ไลฟ์สด เทศน์ไปในอากาศ เดี๋ยวคนโน้นก็ถาม เดี๋ยวคนนี้ก็ถาม ไม่รู้จะตอบใคร เวียนหัวไปหมด วันนี้ค่อยถามทีละคน

พยายามฝึก อดทนไป พากเพียรไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต จิตต้องอยู่อย่างมีความสุข มีความสงบได้ อย่างโรคระบาดอย่างนี้ อย่าคิดว่าจะหมดเร็ว อย่าคิดว่าจบเร็ว อย่าคิดว่าไม่เป็นไร บางทีอาจจะเป็น เราอาจจะเป็น หรือคนที่เรารักอาจจะเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างหลวงพ่อดูสถิติที่เมืองชลฯ วันนี้ก็สองร้อยกว่า กรุงเทพฯ วันนี้เท่าไหร่ไม่รู้ เมื่อวานก็หกพันกว่า คนก็ติดเยอะ ตายก็เยอะขึ้นทุกวันๆ อย่างวันนี้ชลบุรีตายไป 3 คน คนๆ หนึ่งอาจจะเป็นคนที่เรารักก็ได้ เพราะฉะนั้นเราอาจจะพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเมื่อไหร่ก็ได้ หรือตัวเราเองใช่ไหม

เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เราระวังรักษาอย่างดี แต่คนใกล้ตัวเราไปเอาเชื้อมา เราไปควบคุมทุกคนไม่ได้ อย่างดูสถิติชลบุรีวันนี้ ติดจากครอบครัว 108 คน ติดจากคนในครอบครัวนี่ 108 คน แล้วติดจากที่ทำงาน 59 คน นี่คนใกล้ๆ ตัว แล้วติดจากพวกที่ติดมาแล้วนี่เขาไม่บอกรายละเอียดอีกเยอะเลย รวมๆ ทั้งหมดก็เยอะ สองร้อยกว่า แต่ตัวเลขของชลบุรีมันจะมีตัวเลขของจังหวัดอื่นเข้ามาปนด้วย ประเภทไม่สบายแล้วก็มารักษาที่ชลบุรีนี่ คนปลวกแดง คนระยอง คนกรุงเทพฯ มาเข้าโรงพยาบาลในชลบุรี เขาก็มานับแต้มว่าระบาดที่ชลบุรีด้วย

คนไม่สบายเยอะแยะ เราอย่านึกว่ามันจะจบเร็ว เราพัฒนาวัคซีนขึ้นมา เชื้อโรคก็พัฒนาแข่งกับเราตลอดเวลา ใครจะชนะ ไม่แน่ ก็ต้องสู้กัน เชื้อโรคก็ทำหน้าที่ของเชื้อโรค มนุษย์มันเยอะเกิน ธรรมชาติก็พยายามจะควบคุมจำนวนมนุษย์ มนุษย์ก็พยายามต่อสู้จะควบคุมธรรมชาติ ก็สู้กันไป สู้กันมาอย่างนี้ ไม่จบง่ายๆ เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวังว่าจะจบเร็ว แต่เราต้องรู้สึกอย่างนี้ เราต้องฝึกตัวเราเอง จบเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น มันไม่จบ เราก็จบ ก็แค่นี้ล่ะ ถ้าใจเราเป็นกลาง ก็มีความสุขอยู่ได้ ไม่เครียดหรอก

ทุกวันนี้แค่ทำมาหากิน มีรายได้พออยู่พอกินอะไรอย่างนี้ ก็โอเคแล้ว เอาตัวให้รอด ช่วงนี้อาจจะไม่ต้องรายได้เยอะอย่างแต่ก่อนหรอก เพราะมันไม่มีใครมีรายได้เยอะอย่างเมื่อก่อนหรอก มันก็แย่ไปตามๆ กัน ค่อยๆ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ถ้าจิตใจเรายอมรับความจริงได้ เราจะไม่ทุกข์ ความจริงตอนนี้ก็คือโลกนี้เต็มไปด้วยโรคระบาด นี้คือความจริง ถ้าเราไม่อยากใช่ไหม ความไม่อยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดทันทีเลย แต่ถ้ายอมรับได้ โลกนี้มันก็ต้องมีอย่างนี้ล่ะ ธรรมดา เรารู้สึกธรรมดา ใจเป็นกลาง ใจก็ไม่ทุกข์ แต่ก็มีสติรักษาตัวเอง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 กรกฎาคม 2564