อริยมรรคมีองค์ 8

พยายามฝึกมีสติไว้สติสำคัญ หลวงปู่เทสก์สอนหลวงพ่อว่า “สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” การที่เรามีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกใจ ถ้ามีสติถูกต้องสมาธิมันก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ฉะนั้นสัมมาสติที่บริบูรณ์จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ พอสัมมาสมาธิเราดีแล้ว สัมมาญาณะก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา คือเราจะเกิดความรู้ถูก เข้าใจถูก สัมมาวิมุตติคือมรรคผลก็จะเกิดขึ้น

ถ้าขาดสติตัวเดียวสัมมาๆ ทั้งหลายหายหมดเลย เวลาเราขาดสติความคิดของเราความเห็นของเรา ตัวความคิดคือสัมมาสังกัปปะ ก็จะคิดผิด คิดผิดก็เพราะความเห็นผิด สัมมาทิฏฐิมันไม่มี ขาดสติตัวเดียว ของเก่าเราพื้นจิตของเรา มันมีอนุสัยที่จะไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมะ พอเราไม่มีสติอนุสัยมันก็ทำงานได้เต็มที่ ปรุงเป็นอาสวกิเลสขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวิชชาสวะ อวิชชาจะมาย้อมใจเรา อาสวะเป็นกิเลสที่ย้อมใจ แล้วก็ปรุงแต่งเป็นกิเลสหยาบๆ เป็นโลภ โกรธ หลง ขึ้นมา ถ้าเรามีสติให้ดี ตัวทิฏฐิมันเป็นชื่อของกิเลสอยู่แล้ว ทิฏฐิก็คือคำว่ามิจฉาทิฏฐิเป็นตระกูลโมหะ ถ้าเรามีสติอยู่โมหะมันก็เกิดไม่ได้ในขณะนั้น เราก็ไม่มีมิจฉาทิฏฐิ

 

ถ้าเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก
มีการเลี้ยงชีวิตถูก มีความเพียรถูก มีสติถูก มีสมาธิถูก มันก็เกิดขึ้น
พอถึงจุดที่สมาธิถูก จิตมันถึงสัมมาสมาธิแล้ว สัมมาญาณะคือปัญญาที่ถูกต้องมันจะเกิด
แล้วจิตรวมลงไปเราจะเห็นสภาวะเกิดดับอยู่ภายใน
ตรงนี้ญาณทัสสนะที่แท้จริงมันเกิดแล้ว แล้วถัดจากนั้นมรรคผลก็เกิด
ตรงที่มรรคผลเกิดก็เป็นสัมมาวิมุตติเกิดขึ้น

 

เรามีสติอยู่เวลาเราจะคิด เราก็ไม่คิดไปในทางชอบอันนั้นเกลียดอันนี้ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น ตรงที่ไม่คิดไปในทางกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก คือไม่เบียดเบียนด้วยราคะ โทสะ โมหะ พอมีสติขึ้นมาความคิดของเราไม่คิดไปตามอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ ความคิดเราก็ถูกก็เป็นสัมมาสังกัปปะขึ้นมา เมื่อความคิดของเราถูก คำพูดของเราถูก สัมมาสังกัปปะที่สมบูรณ์ จะทำให้สัมมาวาจาสมบูรณ์ไปด้วย เราจะไม่พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ มันจะไม่พูดโดยอัตโนมัติ เวลาพูดก็จะพูด เห็นว่าสมควรพูดก็พูด พูดเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ พูดประกอบด้วยเมตตา พูดรู้จักกาลเทศะ สติจะเป็นตัวกำกับเรา เราจะไม่พูดไม่ดี แล้วก็จะพูดถ้าจำเป็นต้องพูดก็พูดดี

อาศัยเรามีสติรู้ทันใจของเรา เวลาใจเรามีความเห็นผิดเรารู้ทัน เรารู้ได้อย่างไรว่ามันเห็นผิด ถ้ามันรู้อะไรแล้วมันแย้งมันย้อนกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน อันนั้นผิดแน่นอน อย่างถ้าเราเห็นว่าตัวเรามีอยู่อย่างแท้จริง เราต้องรู้ว่านี่เป็นความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ตอนนี้ยังล้างไม่ได้รู้ไว้ก่อน แล้วเวลาคิดถ้าเราคิดไปด้วยอำนาจของราคะเรียกว่ากามวิตก คิดไปด้วยอำนาจของโทสะเป็นพยาบาทวิตก คิดไปด้วยอำนาจของโมหะเรียกว่าวิหิงสาวิตก มันเบียดเบียนด้วยโมหะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อย่างคนมีความเห็นต่างกับเรา เรารู้สึกว่าเป็นภัยต่อสังคมเอามันไปฆ่าทิ้งเสีย เรารู้สึกว่าได้บุญฆ่าพวกมิจฉาทิฏฐิ อันนี้เป็นวิหิงสาวิตก เบียดเบียนด้วยโมหะ

พอความคิดถูกคำพูดมันก็ถูก ความคิดถูกคำพูดถูกการกระทำมันก็ถูก ฉะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา ก็จะเกิดสัมมากัมมันตะอัตโนมัติ เป็นทอดๆๆ เข้ามา องค์มรรค 8 ตัวนี้มันเริ่มแต่ความเห็นถูกในทางทฤษฎีก่อน เราก็มีสติสำรวมระวังความคิดของเราเอง ความคิดเหล่านี้เป็นต้นตอของปัญหามากมาย เราอย่าไปคิดด้วยอำนาจของราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ มีสติเอาไว้ พอความคิดเราดี คำพูดมันก็ดีอัตโนมัติ ความคิดดี คำพูดดี การกระทำมันก็ดีอัตโนมัติขึ้นมา มันจะส่งทอดขึ้นมา

 

 

การกระทำที่ดีคือการกระทำที่ไม่ผิดศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ส่วนสัมมาวาจาทำให้เราไม่ผิดศีลข้อ 4 ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ถ้าเรารักษาไว้ได้ เรียกเรามีสัมมากัมมันตะ การที่เรามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก ความเห็นถูก ความคิดถูก คำพูดถูก การกระทำถูก การเลี้ยงชีวิตของเราก็จะถูก มันรู้ว่าควรจะทำมาหากินอย่างไรถึงจะถูกต้อง การทำมาหากินที่ถูกต้อง คือการทำมาหากินที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง และก็ไม่เบียดเบียนคนอื่น อย่างเราขายสิ่งเสพติดอะไรอย่างนี้ มันก็เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่น เราจะเห็นง่ายๆ เราขายเหล้าเบียดเบียนตัวเองเบียดเบียนคนอื่น เราขายอาวุธก็เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่น พวกมิจฉาวณิชทั้งหลาย มันก็จะมีขึ้นมา เราก็รู้เพราะเรามีสติมีปัญญาสอดส่องจิตใจ เรารู้ว่ามันไม่ถูก อย่างบางคนเมื่อก่อนก็มีพวกเรามีบ่อปลา บ่อกุ้ง ตอนนั้นเห็นว่ากุ้งปลามันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ เราก็ไปจับมันมากิน ไปจับมันมาขาย อันนี้เบียดเบียนด้วยวิหิงสาวิตก ด้วยความหลงผิด พอเราเข้าใจแล้วว่านี้ไม่ถูก พอมีโอกาสทำได้ก็เปลี่ยนอาชีพไป ค่อยๆ ปรับไป

หลวงพ่อก็เข้าใจ เป็นฆราวาสมันต้องทำมาหากิน การทำมาหากินไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างถ้าหลวงพ่อบอกว่าพวกเราอย่าทำผิด มิจฉาอาชีวะทั้งหลายอย่าไปทำ มันพูดง่ายแต่ว่าทำมันจะอยู่อย่างไร เราก็แค่ว่า รู้ว่าตรงนี้ยังไม่ถูกค่อยๆ ปรับเสีย มีช่องทางอะไรที่จะเปลี่ยนอาชีพให้มันสะอาดหมดจดขึ้นเราก็ทำ ถ้ายังทำไม่ได้เราก็รู้ว่าไม่ถูก เตือนตัวเองไว้เป็นการเบียดเบียนด้วยโมหะบ้าง ด้วยราคะบ้าง ด้วยโทสะบ้างอะไรพวกนี้ ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึกไป สัมมาอาชีวะมันจะค่อยๆ ดีขึ้น สะอาดขึ้น

อย่างทีแรกเราเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาไว้ขาย เรารู้สึกว่าดีถูกต้อง ต่อมาเรามีความเห็นถูกมีความคิดถูก เรารู้ว่านี้ไม่ถูกหรอก ตรงที่ทำผิดโดยรู้ว่ามันไม่ถูกตรงนี้มีโทษน้อย มันทำแบบสยอง ไม่อยากทำเลย แต่มันจำเป็นต้องทำอยู่มันเป็นความผิด แต่กรรมของมันเบาบางกว่าพวกที่ทำโดยประกอบด้วยโมหะ ทำผิดแล้วนึกว่าทำถูก ไม่รู้ว่าผิด พวกนี้กรรมมันแรง ฉะนั้นอย่างเรายังต้องเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ทำมาหากินอะไรอย่างนี้มันเป็นกิจการของพ่อของแม่เรา เราไม่ทำก็ไม่ได้ เรารู้ว่าไม่ถูก เวลาทำมันจะสำรวมระวัง โทษหรือบาปมันจะเบากว่าคนที่ทำโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หลวงพ่อไม่ได้บอกพวกเราทันที ทิ้งทุกอย่างเลยเลิกมันไปให้หมดเลย มันจะอยู่อย่างไร มีหน้าที่เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ เลี้ยงลูก เลี้ยงเมียอะไรอย่างนี้ยังจำเป็น แต่ก็ค่อยๆ หาทางทำอาชีพที่มันสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ เพื่อเราจะได้เข้าใกล้ฝั่ง คือพระนิพพานมากขึ้นๆ

หลวงพ่อไม่ได้เรียกร้องโยมว่าจะต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ละทิ้งทุกอย่างมาอยู่วัด มาภาวนาอย่างเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบในชีวิตอะไร ไม่ได้สอนอย่างนั้น เพราะจริงๆ ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชีวิตนี้ บางคนหรอกที่เขาสะสมบารมีมามากพอแล้ว เขามาต่อยอดเพื่อสร้างความดีมากขึ้นๆ ก็บรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ได้ คนส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุหรอก เอาแค่ว่าเดินใกล้ฝั่ง คือพระนิพพานเข้าไปตามลำดับๆ นั่นล่ะดีแล้ว อย่างน้อยตอนนี้รู้ผิดชอบชั่วดี เวลาความคิดเกิดมีสติรู้ทันเราคิดเพราะอะไร คิดเพราะราคะ โทสะ โมหะหรือเปล่า คำพูดของเราถูกต้องไหม เป็นคำพูดที่ดีหรือเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยกิเลสบงการ หัดวัดใจตัวเองไปเรื่อย เราจะเข้าใกล้ฝั่งคือพระนิพพานไปเรื่อยๆ ถ้าบุญบารมีพอชาตินี้ไม่นึกไม่ฝันอาจจะได้โสดาบัน สกทาคามี ได้พระอนาคามีอะไรไปเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

 

กิจการ 4 อย่างนี้
ละกิเลสที่มีอยู่ ละอกุศลที่มีอยู่
ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
ทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
4 งานนี้สำเร็จได้ด้วยสติ

 

พอเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก การกระทำถูก การเลี้ยงชีวิตถูก มันไม่ยากแล้วที่จะพัฒนาจิต การพัฒนาจิตใจของเราอยู่ที่สัมมาวายามะ มีความเพียร ความเพียรชอบ ความเพียรชอบไม่ใช่แปลว่านั่งสมาธิโต้รุ่ง ไม่ใช่แปลว่าเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน ความเพียรชอบก็ต้องมีสติ ครูบาอาจารย์ท่านสอน “มีสติ คือมีความเพียร ขาดสติ คือขาดความเพียร” เพราะคำว่าความเพียรชอบ ไม่ใช่แปลว่าขยันเดิน ขยันนั่ง ขยันท่องพุทโธ ความเพียรชอบนั้นนิยามของมันก็คือเพียรละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นกิเลสใหม่ อกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น กิจการ 4 อย่างนี้ ละกิเลสที่มีอยู่ ละอกุศลที่มีอยู่ ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป 4 งานนี้สำเร็จได้ด้วยสติ

เราฝึกสติมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว จะพูด จะคิด จะอะไร สังเกตจิตใจมันเป็นการฝึกสติอยู่ในตัวแล้ว ฉะนั้นมันจะไม่ยากแล้ว ต่อไปนี้เราจะเริ่มเผชิญหน้ากับกิเลสแล้ว องค์มรรคอื่นๆ ก็สู้กับกิเลสเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้สู้แบบซึ่งหน้าแล้ว เป็นแค่ประคับประคองตัวไม่ให้ไหลตามกิเลส แต่ตรงสัมมาวายามะเป็นการปักหลักสู้กิเลสแล้ว ฉะนั้นเราคอยวัดใจของตัวเองไป กิเลสเกิดเรารู้กิเลสมันจะดับอัตโนมัติ ตรงที่กิเลสเกิดแล้วเรารู้ ตรงที่รู้นั่นล่ะสติเกิด ตัวสติเป็นตัวกุศล เป็นกุศลที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวงที่เป็นกุศล ไม่ใช่กุศลกระจอกงอกง่อย จิตที่มีสติเท่านั้นถึงจะเป็นจิตที่เป็นกุศล ขาดสติตัวเดียวไม่ใช่จิตที่เป็นกุศลแล้ว

 

งานพัฒนาจิตใจอย่างเข้มข้น คือการสู้กิเลสตัวเองด้วยสติ

ฉะนั้นเราพยายามพากเพียรรู้เท่าทันไป งานของเราไม่ใช่งานสู้คนอื่น งานของเราจริงๆ คืองานสู้กับกิเลส งานพัฒนาจิตใจอย่างเข้มข้น คือการสู้กิเลสตัวเองด้วยสติ ราคะเกิดมีสติรู้ทัน โทสะเกิดมีสติรู้ทัน ความฟุ้งซ่านความหดหู่เกิดมีสติรู้ไปเรื่อยๆ ตรงที่เรามีสติอกุศลที่มีอยู่ เช่น เรากำลังโกรธอยู่แล้วเกิดรู้ตัวว่า เฮ้ย นี่มันกำลังโกรธอยู่ ทันทีที่รู้ตัวความโกรธจะดับอัตโนมัติ บางคนสงสัย โกรธอยู่ก็รู้ ทำไมมันไม่ดับ ตรงนั้นสติมันยังไม่เกิด ยังเกิดไม่ทันจริง พอสติเกิดจริงๆ อย่างความโกรธไม่ใช่เกิดลอยๆ ความโกรธมันเกิดจากมีปัจจัยหลายอย่าง ตัวหนึ่งก็คือตัวพยาบาทวิตก คิดไปในทางไม่ดีกับคนอื่นกับสิ่งอื่น เรามีสติปุ๊บเรารู้ว่าโกรธ ตรงที่พยาบาทวิตกก็ถูกรู้ด้วยนี่มันคิดไม่ดี เรารู้เข้าไปถึงรากของกิเลส ตัววิตก พอเรารู้ตัวนี้เท่านั้นเองว่านี่คิดไปในทางไม่ดี รู้ทันตรงนี้มันก็หยุดคิดไม่ดี พอเราหยุดคิดในทางร้ายกับคนอื่น ความโกรธที่มีอยู่ก็ดับ

ถ้าเรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ แล้วก็เดี๋ยวก็คิดใหม่ คนนี้มันร้ายจริงๆ อะไรอย่างนี้ พอคิดใหม่มันก็โกรธใหม่ สติเราไม่ทันเราไม่เห็นว่าตอนที่มีสตินั้น ความโกรธดับไปทีหนึ่งแล้ว แล้วก็ตอนที่เราคิดใหม่ความโกรธอันใหม่เกิดขึ้นแล้ว เรามองไม่ออก เราเลยนึกว่าเมื่อกี้ก็โกรธตอนนี้ก็โกรธ ความโกรธไม่หาย ทำไมเรามีสติแล้วความโกรธไม่หาย เพราะสติเราไม่ไวที่จะรู้ทันว่า เมื่อกี้ความโกรธดับไปรอบหนึ่งแล้ว พอไปคิดใหม่ในทางไม่ดี ความโกรธมันก็เกิดขึ้นใหม่คนละรอบกัน เราพยายามเฝ้ามีสติรักษาจิตใจของตัวเองไป อกุศลที่มีอยู่มันจะดับแล้วกุศลมันจะเจริญขึ้น การที่เรามีสตินั้น จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น กุศลทั้งหลายย่อๆ ลงมา กรุ๊ปขึ้นมาก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง พอเรามีสติกิเลสย้อมใจเราไม่ได้ศีลของเราก็ดี คำพูดเราถูกศีลข้อ 4 มาแล้ว การกระทำของเราถูกศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 มาแล้ว พอเรามีสติรู้ทันจิต ศีลอัตโนมัติมันจะเกิดเอง คนทำผิดศีลเพราะว่ากิเลสครอบงำจิต ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันกิเลสเกิดเรารู้เท่าทัน กิเลสจะครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิดขึ้น

ศีลที่เกิดตัวนี้เป็นอินทรียสังวรศีล เป็นศีลที่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว กิเลสเกิดขึ้นเรามีสติรู้ทันกิเลสก็ดับ ก็เกิดศีลอัตโนมัติขึ้นมา ศีลตัวนี้สำคัญกว่าศีลเป็นข้อๆ ศีลเป็นข้อๆ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ศีลเป็นข้อๆ รักษายากมันเยอะ รักษาข้อเดียว รักษาจิตด้วยสติ ข้อเดียวนี้ล่ะ ศีลจะมีกี่ร้อยข้อมันก็สมบูรณ์ขึ้นในตัวเองอัตโนมัติ เพราะมันผิดศีล เนื่องจากเราไม่มีสติแล้วกิเลสมันมาครอบงำจิตได้ สมัยพุทธกาลก็มีพระองค์หนึ่ง ท่านตั้งใจมาบวชเป็นพระดี แต่ท่านท้อแท้ใจว่าพระวินัยทำไมมีเยอะเหลือเกิน วินัยในปาฏิโมกข์ตั้ง 227 ยังมีอภิสมาจาร มีวินัยนอกปาฏิโมกข์อะไรเยอะแยะเลย แล้วมีข้อวัตรต่างๆ อีกตั้งหลายวัตร เยอะแยะไปหมดเลย ท่านท้อใจท่านก็ไปทูลลาพระพุทธเจ้าบอกว่า “ผมขอลาสึกแล้ว ผมไม่สามารถรักษาศีลทั้งหมดนี้ได้” พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ถ้าคุณรักษาศีลข้อเดียวจะได้ไหม” ท่านบอก “ถ้าให้รักษาศีลข้อเดียว ท่านรักษาได้” ฉะนั้นบอก “คุณไม่ต้องสึกหรอก ให้มีสติรักษาจิตเอาไว้” รักษาศีลข้อเดียว มีสติรักษาจิตเอาไว้ พอท่านมีสติรักษาจิต ศีลมันจะมีกี่ข้อมันก็สมบูรณ์ขึ้นมาทั้งหมด มันก็ดีขึ้นมา

ฉะนั้นตรงสัมมาวายามะ จะทำให้ศีลของเราบริบูรณ์ องค์นี้พอท่านไม่กังวลเรื่องศีลแล้ว ท่านมีสติรักษาจิตไปเรื่อย ไม่นานท่านก็บรรลุพระอรหันต์ได้ ฉะนั้นการที่เราคอยมีสติรักษาจิตของเรา ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องที่หลวงพ่อมาสอนวิชาบ้าบอคอแตกอะไร ไม่ใช่นอกตำรานอกครู นี่คือสิ่งที่ครูสอนมา เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วย ท่านก็สอนตลอดให้เรามีสติไว้ หลวงปู่ดูลย์ก็ให้ดูจิตดูใจของตัวเอง ใครเป็นคนรู้คนดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู แต่อะไรเป็นเครื่องมือของจิตให้ไปรู้ไปดู ก็สติเป็นเครื่องมือไปรู้สภาวะ

หลวงปู่เทสก์บอกว่า “สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” ฉะนั้นปฏิบัติได้ทั้งวันเลย อยู่ตรงไหนมีสติก็คือเป็นการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นก็สอนบอก “มีสติ คือมีความเพียร ขาดสติ คือขาดความเพียร” ฉะนั้นเดินจงกรมโต้รุ่งไม่ใช่เรียกว่ามีความเพียร ถ้าเดินแล้วมีสติอันนั้นมีความเพียร ถ้าเดินแล้วขาดสตินั้นไม่มีความเพียรฉะนั้นตรงที่เรามีสติรักษาจิตตัวเอง มีสติคอยรู้ทันจิตไป เราไม่ต้องรักษาจิต สิ่งที่จะรักษาจิตให้เราคือสติ หน้าที่เราพัฒนาสติมากๆ

การพัฒนาสติ เรียกว่าการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานมากสัมมาสติมันก็จะเจริญขึ้น ทำไมเราต้องไปเจริญสติปัฏฐาน เพราะเราอยากเจริญสัมมาวายามะ เราจะสู้กิเลส เราจะเจริญกุศล วิธีจะสู้กิเลส วิธีเจริญกุศลก็มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง แล้วอยากให้สติพัฒนามากขึ้นๆ ก็ฝึกสติปัฏฐาน ในตำราถึงสอน ในพระไตรปิฎกมีอยู่ สัมมาวายามะที่บริบูรณ์ทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาวายามะคือมีความเพียร มีความเพียรชอบคือมีสติรักษาจิตใจของเรานี่ จะทำให้สติบริบูรณ์ พอสัมมาสติบริบูรณ์ แล้วเราเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆๆๆ เราก็จะเห็นเลยเวลาตา หู จมูก ลิ้น กระทบอารมณ์อย่างนี้จิตก็ฟู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์อย่างนี้จิตก็ฟุบลงไป แฟบลงไป เดี๋ยวกระเพื่อมขึ้น เดี๋ยวกระเพื่อมลง ด้วยความยินดียินร้าย

การที่เราเจริญสติปัฏฐานมากๆ ทำสัมมาสติมากๆ เราก็จะเห็นเลยจิตมันเดี๋ยวก็ชอบ เดี๋ยวก็ไม่ชอบ เดี๋ยวก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย กระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลงตลอดเวลา พอเจริญสติเจริญปัญญามากๆ มันจะเห็นเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเสมอกัน สุขหรือทุกข์มันก็เท่าเทียมกัน คือเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเหมือนกัน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนๆ กัน ระหว่างกุศลกับอกุศล ระหว่างสุขกับทุกข์ มันเท่าเทียมกัน ฉะนั้นรูปที่ดีกับรูปที่ไม่ดี เสียงที่ดีกับเสียงที่ไม่ดี กลิ่นที่ดีกับกลิ่นที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ รสที่ถูกใจ รสที่ไม่ถูกใจ สัมผัสที่ถูกใจ สัมผัสที่ไม่ถูกใจ ความรู้สึกนึกคิดที่ถูกใจ ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ถูกใจ

สิ่งเหล่านี้แต่ละคู่ๆ มันเท่าเทียมกัน รูปที่ดีกับรูปที่ไม่ดีเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน เสียงที่ดีกับไม่ดีก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน กลิ่นที่ดีกับไม่ดีก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ใจมันจะเห็นกระทั่งสุข ทุกข์ ดี ชั่ว นี้เป็นธรรมารมณ์ เป็นธรรมารมณ์ที่ดี ธรรมารมณ์ที่ไม่ดีไม่ถูกใจ ที่ชอบ ที่ไม่ชอบ เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ตรงที่เราเห็นสิ่งซึ่งมันเป็นคู่ มันเท่าเทียมกันขึ้นมา จิตมันจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา จิตมันจะเป็นกลาง มันจะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ตรงที่จิตมันไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง มันก็นิ่ง มันก็สงบ มันก็เป็นกลางอยู่ สมาธิที่หนักแน่นมั่นคงจะเกิดขึ้น

 

อริยมรรค

ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาสติ คือทำสติปัฏฐานอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อจะต่อสู้กิเลส เพื่อจะมีสัมมาวายามะ แล้วเลยมาเจริญสติปัฏฐานมันจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ขึ้น จิตเราจะตั้งมั่นไม่ฟูไม่แฟบเป็นกลางโดยตัวของมันเอง เราไม่ได้เจตนาทำให้มันเป็นกลาง แต่ว่ามันรู้ความจริงแล้ว สุขกับทุกข์มันเสมอกัน พอความสุขมามันก็ไม่ฟูขึ้นมา ความทุกข์มามันก็ไม่เหี่ยวเฉาลงไป จิตก็เป็นกลางในทุกๆ สภาวะ ตรงนั้นจิตจะมีสมาธิที่แท้จริงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสัมมาสติที่บริบูรณ์มันจะทำให้เกิดสัมมาสมาธิที่บริบูรณ์ แล้วสัมมาสมาธิท่านอธิบายด้วยฌาน 8 รูปฌาน 1 2 3 4 อรูปฌานเรียก 5 6 7 8 เป็นฌาน 8 เป็นรูปเสีย 4 เป็นอรูปเสีย 4 ท่านอธิบายสัมมาสมาธิด้วยฌาน เราไม่ต้องตกใจว่าเราทำฌานไม่เป็น ให้เรามีสัมมาวายามะไว้ มีสัมมาสติเนืองๆ ไว้ พอจิตเราเป็นกลางแล้วฌานมันเกิดเอง มันเกิดอัตโนมัติ ตอนที่จะเกิดอริยมรรคจิตเข้าฌานอัตโนมัติ ถึงเราไม่เคยเข้าฌานมาก่อนในชีวิตนี้ ถึงตอนนั้นมันเข้าของมันเอง

ฉะนั้นที่หลวงพ่อเล่ามานี้เป็นเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 ถ้าเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก มีความเพียรถูก มีสติถูก มีสมาธิถูก มันก็เกิดขึ้น พอถึงจุดที่สมาธิถูก ที่ถูกๆ 7 ตัวแรกนั้นก็ยังอยู่ ไม่ใช่มีสมาธิถูกแต่มีมิจฉาทิฏฐิอะไรอย่างนี้ ถ้ามีมิจฉาทิฏฐิมันก็ไม่มีสัมมาสมาธิ ถ้ามีมิจฉาสังกัปปะ มีความคิดไม่ถูกก็ไม่มีสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาวาจาก็ไม่มีสัมมาสมาธิ ฉะนั้นสัมมาสมาธิมันจะมีได้ มันมีองค์มรรค 7 ตัวนี้เป็นตัวเกื้อกูลสนับสนุน

ฉะนั้นสัมมาสมาธิในคัมภีร์ถึงสอนว่าสัมมาสมาธิเปรียบเหมือนภาชนะ เป็นภาชนะ เหมือนเป็นหม้อแกง เป็นที่รวมของเครื่องแกง เครื่องแกงก็คือมรรคทั้ง 7 ตัว มันรวมลงในที่เดียวกัน ในหม้อแกงอันเดียวกันคือรวมลงที่จิต อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นสัมมาสมาธิเป็นที่ประชุม เป็นที่รวม หรือว่าเป็นหม้อแกง เป็นที่รวมขององค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือ จะรวมลงมาที่นี้ แล้วไม่ใช่องค์มรรคทั้ง 7 เท่านั้น โพธิปักขิยธรรม ธรรมะฝ่ายการตรัสรู้ทั้งหมดอย่างโพชฌงค์ 7 ก็จะรวมลงมาตรงนี้ พละ 5 อินทรีย์ 5 อะไร ก็จะรวมลงตรงนี้ที่เดียวกันหมดเลย ตรงนี้มันเป็นการผนึกพลังของกุศลทั้งหลาย ผนึกรวมลงในจุดเดียวกัน รวมลงที่จิตในขณะจิตเดียวกันด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ แล้วอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเวลาจิตมันถึงสัมมาสมาธิแล้ว สัมมาญาณะคือปัญญาที่ถูกต้องมันจะเกิด แล้วจิตรวมลงไปเราจะเห็นสภาวะเกิดดับอยู่ภายใน ตรงนี้ญาณทัสสนะที่แท้จริงมันเกิดแล้ว แล้วถัดจากนั้นมรรคผลก็เกิด ตรงที่มรรคผลเกิดก็เป็นสัมมาวิมุตติเกิดขึ้น

พอจิตมันตัดกิเลสแล้วเราออกจากฌาน จิตมันจะถอยออกจากฌานตอนที่มันตัดกิเลสแล้ว ตอนเข้ามันก็เข้าเอง ตอนออกมันก็ออกเองอีก เราไม่ได้เจตนาเลย พอจิตมันถอนออกมาแล้วมันจะทวนเข้าไปดูว่าเมื่อกี้มันเกิดอะไรขึ้น จะทวนเข้าไปดูรู้เลยว่า เมื่อกี้นี้ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนมันขาดไปแล้ว ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขาดไปแล้ว ความงมงายในการปฏิบัติทั้งหลาย ถือศีลบำเพ็ญพรตแบบงมงายอะไร ไม่มีเหตุมีผล อย่างก่อนจะถือศีลต้องกินข้าวเหนียวถั่วแดงก่อนอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นงมงายไม่ใช่กินอาหารอย่างนี้แล้วภาวนาดี ไปลดน้ำหนักแล้วภาวนาดี ไปทำอันโน้นแล้วภาวนาดีทำอันนี้ภาวนาดี นี่เรื่องบำเพ็ญพรตแบบงมงาย ไม่มีเหตุมีผล ที่จริงอะไรดี สัมมาทั้งหลายดี ถ้าไม่เข้าอยู่ในสัมมานั้นไม่ดีหรอก ไม่ใช่เรื่องว่าจะกินอะไร จะนอนอย่างไร จะนุ่งห่มอะไร นุ่งห่มหนังเสือดีไหม หรือจะนุ่งห่มหนังจระเข้อะไรอย่างนี้ อันนี้เรียกการบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย ถือศีลงมงายหัวปักหัวปำ วันๆ นั่งนับแต่ศีลกลัวศีลด่างพร้อย เครียดจัดเลย นั่นถือศีลแบบไม่ตรงวัตถุประสงค์ ถือศีลเพื่อเอาไว้นับแต้มว่ามีศีลอยู่กี่ข้อ จะได้เอาไปบลั๊ฟ (Bluff) คนอื่นได้ อย่างนั้นไม่ใช่ศีลที่ดี ฉะนั้นการถือศีลบำเพ็ญพรตที่งมงายมันจะหายไปด้วย

ตอนที่อริยมรรคครั้งแรกเกิดขึ้น มันเห็นความจริง สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ตัวเราที่แท้จริงไม่มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป พระโสดาบันรู้ตรงนี้ บางคนไม่ชำนาญในฌาน บางทีจิตมันตัดแล้วงง เอ๊ะ เวลาคิดมันยังมีผมคิดอยู่ มันยังมีคำว่าผมขึ้นมา อันนั้นมันเป็นผมโดยโวหาร เป็นผมโดยคำเรียกขาน ในจิตลึกๆ จริงๆ มันเห็นว่าตัวเราจริงๆ ไม่มีหรอก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป มันเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้ง ไม่ลังเลสงสัยว่ายังมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไหมที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่ดับ ถ้าเป็นพระโสดาบันจะรู้เลยไม่มีหรอก แล้วมีไหมสิ่งซึ่งไม่เกิดแล้วไม่ดับ มี คือนิพพาน มีไหมสิ่งที่เกิดแล้วดับ ทุกสิ่งนั่นล่ะเกิดแล้วดับ ค่อยๆ รู้ไป มีไหมสิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นต้องดับ เห็นอย่างนี้ใจมันจะเห็นแจ้ง มันเป็นความรู้ของจิตไม่ใช่ความรู้ของเราอีกต่อไปแล้ว มันเป็นความรู้ของจิต จิตมันเข้าใจ ตัวนี้คือตัวสัมมาทิฏฐิที่แท้จริง

สัมมาทิฏฐิที่แท้จริงเกิดกับพระอริยบุคคลเท่านั้น อย่างพวกเราที่ฝึกมาแต่เริ่มต้น ฟังธรรมฟังอะไรแล้วก็บอกมีความเห็นถูก มีความคิดถูกอะไร อันนี้เป็นแบบในเบื้องต้นของมรรคเท่านั้นเองเรียกว่า บุพภาคมรรค เป็นเบื้องต้นให้เกิดอริยมรรค เพราะฉะนั้นมรรคจริงๆ เกิดชั่วขณะจิตเท่านั้นเอง แต่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรคหนึ่งขณะจิตนี่ยาวนาน บางทีเป็นกัปๆ เลย กว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเราจะสมบูรณ์ขึ้นมา ได้ใช้เวลา เวลาจะทำผิดศีลมันง่าย เวลาตั้งใจรักษาศีลแหมมันยากอะไรอย่างนี้ เวลาจะให้จิตมีสมาธิอยู่กับเนื้อกับตัวมันยาก เวลาจะให้มันหลงมันง่าย เวลาจะให้รู้ถูกเห็นถูกเข้าใจถูกแหมมันยาก เวลาหลงผิดเข้าใจผิดง่าย กูเก่ง กูอย่างโน้น กูอย่างนี้ เข้าใจง่าย ฉะนั้นมันสะสม ช่วงที่เราสะสม พัฒนาองค์มรรคทั้งหลายพัฒนาไป โดยเฉพาะสังเกตจิตใจของเรา เป้าหมายเลยมีสติรักษาจิตเอาไว้ แล้วสัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันก็จะเกิด สุดท้ายอริยมรรคก็จะเกิด ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดถึงรากถึงโคน อะไรเป็นรากเป็นโคนของมัน อนุสัย อนุสัยกิเลส หัวโจกของอนุสัย ก็คือตัวอวิชชาอีกนั่นล่ะ มันจะถอนรากถอนโคนเป็นลำดับๆ ไป

 

 

สังเกตเอาตรงไหนที่เรายังย่อหย่อน ยังไม่ถูกก็ไปทำเสียให้ถูก ตรงไหนที่เราควรจะเจริญแล้วยังไม่ได้เจริญ ก็ไปเจริญเสีย ทุกวันคอยสังเกตตัวเองไป อันไหนกุศลอะไรยังไม่ได้ทำก็ทำเสีย อกุศลอะไรยังไม่ละก็พยายามละเสีย ทำสัมมาวายามะทุกวันๆ ไป แล้วต่อไปจิตเราก็จะพัฒนา ถึงจุดหนึ่งก็เกิดมรรคเกิดผล มรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติยาวนาน บางทีหลายปี 7 ปีอะไรอย่างนี้ หรือบางคนหลายชาติ บางคนหลายกัป แล้วแต่อินทรีย์แก่อ่อน เพื่อจะให้เกิดอริยมรรคขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง แล้วอริยมรรคในสังสารวัฏที่ยาวไกล มีได้ 4 ครั้งเท่านั้น เกิดได้ 4 ครั้งเท่านั้น ถ้าชาตินี้เราทำได้ 1 ครั้งแล้ว ชาติหน้าพอเราเกิดมาพอเราได้ยินธรรมะปุ๊บ ของเก่ามันจะกลับมาเลย จะรู้เลยของเดิมมันจะมา เราก็ก้าวต่อไปอีกเป็นลำดับๆ ไป อกุศลมันก็ไม่สูญ กุศลมันก็ไม่สูญ อย่างอกุศลเราทำชั่วไว้ แล้วเราบอกว่าเราตายเราพ้นผิดแล้วไม่ติดคุก ไม่มีใครเอาผีไปขังคุกหรอก แต่ว่าอกุศลก็ส่งผลเราไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดีต่อไป กุศลก็เหมือนกัน ก็สะสมได้เหมือนกัน

อย่างพวกเราหัดปฏิบัติธรรม รักษาศีล ฝึกจิตให้ตั้งมั่น เจริญปัญญาเห็นความจริงของรูปนามกายใจว่าเป็นไตรลักษณ์ เราสะสมสิ่งนี้ไปมันก็ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป การปฏิบัติในชาติต่อไปมันจะง่ายขึ้นๆๆ ปุถุชนเหมือนคนตกจากเรือ อยู่กลางทะเลลึกท่ามกลางมรสุม เพราะฉะนั้นโอกาสจมน้ำตายจะสูงมากเลย อาศัยความอดทนขอไม้กระดานเขาสักแผ่นหนึ่ง ไม้กระดานแผ่นนี้ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า จับไว้ให้มั่นคงแล้วลอยคอไป พยายามประคับประคองตัวเองเข้าหาฝั่ง วันหนึ่งตอนแรกมีมรสุมใช่ไหม เราเกาะไม้กระดานไว้ หมุนซ้ายหมุนขวาไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ทางไหน พอมรสุมหมดไปเราดูตรงนี้ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกอะไร พอรู้ทิศทางแล้วเราก็รู้เราอยู่ตรงนี้ อยู่ในอ่าวไทย ถ้าเราจะเข้าฝั่ง เราจะเข้าฝั่งได้ 3 ทาง ทางตะวันออก ทางตะวันตก กับทางเหนือ รู้ทางแล้ว ถ้าลงใต้ไปมันไม่เข้าประเทศไทย มันไปที่อื่นแล้ว

ตรงที่เราเห็นทาง รู้ว่าเราจะไปทางไหน เป็นลักษณะของพระโสดาบัน พระโสดาบันรู้ว่าจะเดินทางไหนแล้ว แล้วตรงที่เรารู้ว่าทางที่เราจะไป ไปทางนี้ เราก็พากเพียรที่จะไปเข้าหาฝั่งตรงนั้นเป็นพระสกิทาคามี ตรงที่เราเข้าใกล้ฝั่งแล้ว เท้าเราแตะทรายใต้น้ำผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ พอคลื่นมาก็ยังสำลักน้ำได้ ตรงนี้เป็นพระอนาคามี ค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็ขึ้นบกได้ ท่านบอกเรามาจากที่ที่มีน้ำไปสู่ที่ที่ไม่มีน้ำ น้ำคือกิเลสตัณหาทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายมาจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย เราพัฒนามีสตินั่นล่ะสำคัญ ในที่สุดเราก็ขึ้นจากฝั่ง ขึ้นมาสู่สภาวะซึ่งไม่มีกิเลส แล้วมันมีความสุขอันมหาศาลรออยู่ วันนี้เอาเท่านี้ ต่อไปตรวจการบ้าน

 

 

คำถามที่ 1: ช่วงหลังรู้สึกโทสะลดลง เย็นขึ้น รู้สึกแยกขันธ์บ่อยขึ้น เคยเหมือนกับจะเห็น หรือเข้าใจคำว่าจิตเป็นธาตุรู้ รู้สึกเพียงแวบเดียว 2 ครั้ง ไม่ได้เป็นการหลงผิดไปในทางคิดไปเองแบบวิปัสสนูฯ ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ: ไม่ได้เป็นวิปัสสนูฯ หรอก ฝึกอีก ฝึกไปเรื่อยๆ ที่ฝึกอยู่ดีนะใช้ได้ มีสติไป ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจไปคิดรู้สึก ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ที่หนูฝึกใช้ได้ ดี ถูกแล้ว

 

คำถามที่ 2: 3 เดือนหลังมานี้ เข้าใจว่าตัวเองไม่เพ่งแล้ว แต่จะฟุ้งมาก ทั้งที่ยังเดินจงกรมทำในรูปแบบอยู่วันละ 1 ชั่วโมง แต่คิดว่าน่าจะมีอะไรผิด จิตใจไม่เกาะเกี่ยวกับธรรมะเหมือนก่อน การบริกรรมพุทโธในชีวิตประจำวันหายไป พยายามเอากลับอยู่แต่ก็ลืม ขอเมตตาหลวงพ่อช่วยอบรมสั่งสอนด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: สมาธิไม่พอจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านบางทีมันเกิดจากปัญญาล้ำหน้า ไอ้นี่ก็ไม่อยากยึดๆ ลงมือปฏิบัติมันก็ปรุงแต่งอะไรอย่างนี้ บางทีเราก็เลยพยายามจะไม่ปฏิบัติอะไร เรากลัวการเพ่ง พอเรากลัวการเพ่งเราก็พยายามจะไม่ปฏิบัติ พอไม่ปฏิบัติจิตมันก็ฟุ้งซ่าน มันสบายๆ แต่มันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ใจมันจะโล่งๆ กว้างๆ ออกข้างนอกไป หายใจไปพยายามรู้สึกไป กลับมารู้สึกตัวแต่ไม่เพ่งตัว แค่รู้สึก ลองหายใจซิ หายใจให้หลวงพ่อดู หายใจแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่บังคับจิต หายใจโดยไม่บังคับจิต ตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกันแล้วรู้สึกไหม

ต้องฝึกอย่างนี้ ให้จิตมันอยู่ในบ้านจริงๆ ถ้าใจสว่างว่างโล่งๆ ออกไปไม่ได้เรื่องหรอก มันไม่เดินปัญญา ถ้าย้อนลงมาตรงนี้จิตจะตั้งมั่น รู้สึกไหมกายไม่ใช่เราแล้ว จะรู้สึกนะพอสติระลึกลงตรงไหน ถ้าจิตตั้งมั่นจริงๆ มันจะเห็นว่าสิ่งที่สติระลึกลงไป ไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง จะเป็นรูปธรรม นามธรรมก็ตาม ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเรา ดูเรื่อยๆ จนจิตมันยอมรับ ถ้าจิตยอมรับความจริงได้ จิตก็เข้าใจธรรมะ ตรงนี้จิตหลงคิดทราบไหม หัดอย่างนี้นะ หัดไป เพราะฉะนั้นหนูต้องมีเครื่องอยู่ จะอยู่ๆ ก็ปล่อยทิ้งไปหมดเลย พุทโธอย่างเดียวไม่อยู่ ก็หายใจเข้าไปด้วยเลย หายใจเข้าพุทออกโธไปเลย ฝึกอีก เพิ่มสมาธิขึ้น แล้วจิตมันจะพัฒนาได้

 

คำถามที่ 3: รบกวนหลวงพ่อช่วยแนะนำกรรมฐานเฉพาะตัว เพื่อต่อยอดการภาวนาในปัจจุบันค่ะ

หลวงพ่อ: รู้สึกกายไว้ให้เยอะ พยายามใช้กายเป็นวิหารธรรม ตอนนี้ร่างกายยืนอยู่รู้สึก ลองหันซ้ายหันขวาซิ หันหน้า เห็นร่างกายมันหันหน้ารู้สึกไว้ เสร็จแล้วเราจะได้สมาธิที่เพิ่มขึ้น เอากายนี้มาช่วยไม่อย่างนั้นใจมันฟุ้งไปหมด ฉะนั้นอาศัยร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก พยายามรู้สึกไปเรื่อยๆ ในร่างกายนี้ เราเป็นคนรักสวยรักงามอะไรอย่างนี้ เราก็ดูกายไปเรื่อยๆ ใจมันจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน ไปรู้สึกกายไว้ ให้การบ้านแล้ว ก็ไปทำเอา

บางคนชอบดูจิต อยากดูจิต เพราะได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต แต่ถ้ากำลังเราไม่พอมันดูจิตไม่ได้หรอก จิตมันหนีไปคิดหมดเลย เราไม่รู้ว่าจิตหนีไปคิด มันหนีไปทีเป็นวันๆ เลยบางที เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราฟุ้งมากยังไม่ต้องรีบมาดูจิตหรอก ดูจิตไม่เห็น ถ้าดูจิตไม่เห็น ดูกายไว้ก่อน ร่างกายนั่งรู้สึก ร่างกายหายใจรู้สึก พอจิตมันมีกำลังขึ้นมามันจะเห็นจิตเอง จิตขยับเขยื้อนเห็นเอง ไม่ใช่จิตหนีไปตั้งนานๆ ถึงจะเห็น ฉะนั้นสมาธิสำคัญ พยายามฝึก รู้สึกๆๆๆ อยู่ในร่างกายเรา

พระที่นี่ไม่ใช่ดูจิตนะ ไม่ใช่หลวงพ่อให้ทุกองค์ดูจิตหรอก หลายองค์ให้ดูกาย ถ้าดูจิตเฉยๆ ดูไม่เป็น ดูไม่ได้ก็ดูกายไปก่อน บางองค์ภาวนาก็ดีแล้ว หลวงพ่อยังให้ดูกระดูกอยู่เลย ดูกระดูกทุกวันๆ ตอนนี้บอกให้ฉีกกระดูกเลย ให้ป่นกระดูกให้สลายไปให้หมดเลย อันนี้เป็นการ exercise พวกเรายังไม่ต้องเล่น ขืนไปเล่นไม่มีครูบาอาจารย์ดูให้เดี๋ยวผิดเพี้ยน อยู่กับหลวงพ่อ หลวงพ่อดู ควบคุมได้ เอาให้มันระเบิดไปเลยอะไรอย่างนี้ไม่เป็นไร พวกเราไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอก

พวกเราแค่หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ฝึกอย่างนี้ให้มากๆ แล้วสติจะดีขึ้น สมาธิจะดีขึ้น แล้วปัญญามันจะเกิด ไม่ต้องกลัวไม่เกิดปัญญาหรอก ปัญญาจริงๆ เกิดจากจิตต้องมีสติ มีสมาธิ จิตไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาหรอก ฉะนั้นไม่ต้องรีบร้อนเจริญปัญญา กลัวโง่ ไม่ต้องกลัว ฝึกสติให้ดี ฝึกจิตให้ตั้งมั่นให้ดี เดี๋ยวปัญญาค่อยเกิดทีหลัง

 

คำถามที่ 4: ส่งการบ้านในรอบ 3 ปีค่ะ หนูภาวนาโดยใช้สมาธินำปัญญา ถือศีล 5 เป็นปกติ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำอกุศล จิตจะเคล้าเคลียอยู่กับธรรมะทั้งวันทั้งคืน บางครั้งก่อนหลับจะดูร่างกายเหมือนฟองสบู่แตกดับไปทั่วร่างแล้วหลับไป ในขณะภาวนาบางครั้งเห็นร่างกายสลายกลายเป็นฝุ่นละออง บางครั้งเห็นร่างกายกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อเห็นบ่อยๆ เข้าก็รู้แล้วว่าจริงๆ เราไม่มีอยู่จริง ความโกรธก็ยังมีแต่รู้เร็ว เห็นเร็ว และดับเร็ว ปัจจุบันหนูใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายขึ้น ยอมรับตัวตนของตนเองและผู้อื่นได้ง่ายๆ กิเลสลดลง เบาบางลงค่ะ

หลวงพ่อ: ตอนนี้จิตไม่ถึงฐานดูออกไหม มันกระจายออกไป พยายามรู้สึกไว้ ที่ฝึกถูกแล้ว แต่สมาธิตอนนี้ไม่ถูก แต่ที่ทำมาทำถูก ขณะนี้จะตื่นเต้นจิตเลยไปอยู่ข้างนอก ลองนึกถึงกระดูกสันหลังตัวเองซิ เห็นไหมตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกัน ไปทำต่อไปทำได้ดีแล้ว แต่จิตต้องตั้งมั่น ถ้าจิตมันว่างๆ ออกไปใช้ไม่ได้ อย่าให้จิตติดนิ่ง ติดเฉย ติดว่าง

 

คำถามที่ 5: การปฏิบัติยังอยู่ในทางใช่หรือไม่คะ เห็นทางเป็น 3 ทาง บุญ บาป ความจริง ทางที่ไปหาความจริงเป็นทางง่ายๆ แต่ยังทำไม่ได้ ขอคำแนะนำจากหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: จิตมันเดินไปในทางบุญรู้ทัน จิตมันเดินไปในทางบาปรู้ทัน นี่คือความสุดโต่ง 2 ด้าน ตรงที่รู้ทันจะเข้าสู่ทางสายกลาง ทางสายกลางนั้นไม่มีใครทำขึ้นมาได้หรอก มันเกิดจากเรามีสติรู้ตอนนี้ตึงไป ตอนนี้หย่อนไป ตอนนี้ดีไป ตอนนี้ชั่วไป ตรงที่รู้ทันๆๆ นั้นจิตมันจะเข้าสู่ทางสายกลางของมันเอง ฉะนั้นจิตก็จะอยู่เหนือบุญ เหนือบาป หมายถึงว่าเวลาจิตมันเป็นอกุศล ก็รู้มันด้วยใจเป็นกลาง เวลาจิตมันเป็นกุศล ก็รู้ด้วยความเป็นกลาง ใจมันจะเป็นกลาง ตรงที่ใจมันเป็นกลางต่อสุข ต่อทุกข์ ต่อบุญ ต่อบาป ต่อดีชั่วอะไรทั้งหลาย ตรงนั้นเป็นทางสายกลาง

ฉะนั้นเราที่หนูบอกว่าเห็น 3 ทาง ทางหนึ่งที่รู้ ตรงรู้นั้นเราทำขึ้นไม่ได้อันนั้นถูกแล้ว ไม่มีใครทำได้หรอก แต่ถ้าจิตเดินไปในทางบาปรู้ทัน มันก็จะเข้าทางสายกลาง เดี๋ยวมันเดินไปทางบุญ รู้ทันมันก็จะเข้าทางสายกลาง ไม่ต้องรักษาหรอก เพราะรักษาไม่ได้ ฝึกให้มาก ฝึกให้ชำนาญ เดี๋ยวจิตก็จะพัฒนาไป ยังฟุ้งซ่านอยู่ ทุกวันทำในรูปแบบ แล้วก็คอยรู้ทันจิตที่ไหลไป รู้บ่อยๆ สมาธิมันจะเพิ่มขึ้น

ที่พวกเราส่งการบ้านทุกคนเลย ปัญหาใหญ่คือสมาธิไม่พอ ที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ ว่าฆราวาสมีจุดอ่อน จุดบกพร่องก็ตรงที่สมาธิไม่พอ อย่างพวกเราที่ว่าภาวนาๆ มาบวชกับหลวงพ่อ ต้องมาฝึกจิตใหม่ให้มีจิตมีสมาธิขึ้นมาใหม่ ให้มันพอเสียก่อนมันถึงจะเดินปัญญาได้จริง ถ้าจิตเรามีสมาธิที่ถูกต้องแล้วก็เพียงพอ การเดินปัญญาจะสั้นนิดเดียวเลย เห็นอยู่ไม่นานก็จะวางได้แล้ว แต่ถ้าสมาธิไม่พอมันจะฟุ้งซ่าน มันไม่สามารถเดินปัญญาได้จริง

อย่างตอนนี้จิตหนูไปคิดตามที่หลวงพ่อพูดรู้สึกไหม รู้ทันเรื่อยๆ ไปนะ แต่ตอนที่ฟังก็ต้องคิด ถ้าฟังแล้วไม่คิดก็จะไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นก็ไม่แปลกหรอกฟังแล้วคิด แต่ว่าพอคิดแล้วเข้าใจวิธีแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติเอา ฉะนั้นเบื้องต้นก็อาศัยปัญญาจากการฟัง จากการคิด พอรู้วิธีการแล้วก็ลงมือทำไป การกระทำก็คือจิตสุดโต่งไปข้างซ้ายก็รู้ ข้างขวาก็รู้ ไปดีก็รู้ ไปชั่วก็รู้ ไปสุขก็รู้ ไปทุกข์ก็รู้ มันจะเป็นของคู่ๆ กันตลอด เรียนสิ่งซึ่งเป็นคู่ จิตมาอยู่ทางนี้ก็รู้ มาทางนี้ก็รู้ แล้วจิตมันจะเดินเข้าทางสายกลาง ไปอ่านหนังสือที่หลวงพ่อแต่งไว้เล่มหนึ่ง “เรียนธรรมคู่ เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง” ลองไปดู แล้วหนูจะเจอเส้นทางที่เป็นกลาง ตัวรู้ตัวนั้น ไม่มีใครทำขึ้นมาได้หรอก

 

คำถามที่ 6: ตั้งใจถือศีลให้ด่างพร้อยน้อยที่สุด ภาวนาในรูปแบบและในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบใช้การสวดมนต์ นั่งสมาธิ และเดินจงกรมประมาณวันละ 2 ชั่วโมง ในชีวิตประจำวันดูร่างกายทำงาน จิตไหลไปก็รู้เท่าที่รู้ได้ ส่วนใหญ่ไหลไปคิด ขอหลวงพ่อช่วยชี้แนะข้อผิดพลาด หรือต้องมีอะไรปรับปรุงหรือไม่ และขอการบ้านด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: เราก็ไปทำต่อ ที่ทำอยู่ก็ใช้ได้ ไปทำไปเรื่อยๆ สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ อกุศลที่มีมันก็จะค่อยๆ ลดค่อยละของมันไป กุศลมันก็ค่อยๆ ดีขึ้น การรักษาศีลก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ อย่างพอจะทำผิดศีลมันจะละอายแก่ใจตรงนี้เป็นไหม เวลาจะทำผิดมันจะละลายใจ ศีลที่ดีมันจะเกิดขึ้นเอง มันมีหิริโอตัปปะ มันละอายใจที่จะทำผิดศีล เกรงกลัวผลของความชั่ว เวลาที่เราทำอะไรไม่ดี สังเกตไหมจิตที่ตามหลังมาเป็นจิตที่ไม่มีความสุขหรอก เราตกนรกทันทีเลย

ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ปฏิบัติไปทำชั่วมา ยังมีความสุขไปได้ แล้วค่อยไปตกนรกทีหลัง แต่เราเป็นนักปฏิบัติ เราจะเห็นเลยถ้าจิตเราไม่ดีนิดเดียว เห็นเลยจิตมันทุกข์เลย มันทุกข์ทันที เรารับผลทันทีเลย ทำไมต้องรีบรับ เพราะวัฏฎะของเราสั้นลงแล้ว วัฏฏะเราสั้นลงแล้วจะไม่มีเวลาไปเกิดในนรกนาน ฉะนั้นต้องรีบๆ รับไปเลย ฉะนั้นเวลาที่เราภาวนาเราจะมีความละอายใจ ถ้าจะทำผิดศีล เราจะกลัวผลของการทำชั่ว เพราะเราเห็นทันทีที่ชั่วความทุกข์มันตามมาทันทีเลย มันให้ผลทันทีเลย ตรงนี้หลวงพ่อสังเกตเอาตำราเขาไม่มีหรอก

สังเกตดูถ้าพวกไม่ปฏิบัติมันทำชั่ว กว่ากรรมชั่วจะให้ผลนี่ยาว เพราะพวกนี้มีเวลารับกรรมอีกนาน ส่วนพวกที่ภาวนาโอ๊ยทำอะไรนิดเดียว กรรมชั่วให้ผลเร็วมากเลย เพื่อจะได้จบๆ ไป ใช้หนี้ไปเร็วๆ ไม่ติดหนี้นาน ฉะนั้นที่เราฝึกดีแล้ว เราจะค่อยๆ เข็ดขยาดความชั่วทั้งหลาย ฝึกเข้า แล้วอกุศลอะไรมีอยู่เรารู้ เราไม่เข้าข้างตัวเอง อกุศลมีอยู่เรารู้ อย่าไปเข้าข้างตัวเองก็แล้วกัน

 

คำถามที่ 7: ผมฟังธรรมพระอาจารย์มาตั้งแต่ปี 2551 มีคำถามคือเมื่อผมฟังธรรมพระอาจารย์ได้ 7 เดือน มีอยู่คืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากล้มตัวลงนอน จิตเกิดนึกถึงหน้าใครคนหนึ่งขึ้นมา แต่ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นหน้าใครก็เกิดสติรู้ทัน จากนั้นจิตเห็นอะไรบางอย่างเกิดดับติดกัน 2 ขณะ แล้วจิตก็เหมือนทวนเข้าไปในกระแสบางอย่าง ความรู้สึกตอนนั้นกระแสนั้นเหมือนจิต เหมือนจักรวาลหรือมหาสมุทร แล้วรู้สึกคุ้นเคย ตื่นมาตอนเช้าจิตตั้งมั่นผ่องใส แม้วันนั้นจะเจอเหตุร้ายก็ไม่รู้สึกยินร้าย แต่ลองทำผิดศีลดูก็ทำได้ จึงแน่ใจว่ายังไม่บรรลุมรรคผล

ขอเรียนถามว่าผมสามารถปฏิบัติต่อไปได้เลย หรือผมจำเป็นต้องพิจารณาหาเหตุไหมครับ ว่าเหตุใดจึงไม่เกิดมรรคจิตผลจิต หรือว่าผมเคยอธิษฐานหรือทำสิ่งใดที่ปิดกั้นมรรคผลหรือไม่ เพราะเวลาอ่านพระไตรปิฎกจะรู้สึกเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพิเศษ และสิ่งที่ผมประสบนั้นใช่โคตรภูญาณหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ: ไม่ใช่โคตรภูญาณ โคตรภูญาณเกิดแล้วก็มรรคญาณ ผลญาณจะเกิดต่อทันทีเลย เรายังไม่บรรลุมรรคผล อย่างขณะนี้จิตมันว่างๆ กว้างๆ รู้สึกไหม ตัวนี้มันไม่เดินปัญญาต่อ ต้องทวนกระแสเข้ามา เข้ามารู้ในกาย รู้ในใจของเราเอง จิตมันไม่ยอมกลับเข้ามาเจริญปัญญา มันไปสว่างไปว่างอยู่อย่างนั้น พยายามทวนเข้ามา แล้วมาดูกาย มาดูใจของตัวเองเนืองๆ ไม่ปล่อยใจให้ว่างๆ ออกข้างนอกไป

การที่เราดูกายดูใจเนืองๆ เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นทุกข์เห็นโทษไป แล้วสมมติว่าจิตเราเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญาแล้ว แล้วถ้าจิตเราเคยปรารถนาจะเป็นพระปัจเจกอะไรอย่างนี้ มันไม่เกิดมรรคเกิดผล มันจะไม่เกิดมรรคเกิดผล มันก็จะเสื่อมไปแล้วก็เริ่มปฏิบัติอีก ก็ทวนไปอีก จนกระทั่งเป็นกลางขึ้นมาอีก ก็ทำซ้ำๆ อยู่ในเส้นทางของการเจริญสติ เจริญปัญญา จนมันชำนิชำนาญ แล้ววันหนึ่งก็จะได้ช่วยตัวเองให้มันพ้นไปได้ แต่ของคุณมันไม่ใช่พระปัจเจกหรอกนะ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก จิตมันไม่เข้าฐาน ฉะนั้นพยายามรู้สึก หายใจแล้วรู้สึกๆ เข้ามาในกายไว้ เดี๋ยวมันจะได้เดินต่อ

 

คำถามที่ 8: ช่วงนี้จิตเขาไม่เดินปัญญา เข้าสมาธิไปสักพักก็ถอนออกจากสมาธิ ผมควรทำอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ: จิตมันมีของที่สนใจข้างนอกเยอะ พอมันสนใจสิ่งภายนอกแล้ว มันให้ความสนใจกับตัวเองน้อยไปหน่อย พยายามให้ความสนใจลงมาในกายในใจของตัวเองให้เยอะๆ หน่อย ถ้าวันๆ มีเรื่องที่ต้องคิดต้องทำอะไรเยอะ ให้น้ำหนักไปอยู่ข้างนอก การภาวนาของเราก็จะช้า พยายามให้จิตมันอยู่ที่ตัวเองจริงๆ รู้สึกลงไปในร่างกายนี้ ดูร่างกายไปแต่ละส่วนๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูลงในอาการ 32 นี้ พิจารณาลงไป มันเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเรา

ค่อยๆ สอนมันไป เวียนอยู่ในเรื่องของอาการ 32 ให้เยอะๆ แล้วมันจะพัฒนาได้ จิตมีกำลังเยอะนะเรา ดี รีบเรียนเรื่องตัวเองก่อน เรียนลงในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ขึ้นไล่ลงอยู่นี่ ดูเรื่อยๆ ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา มันจะค่อยเดินปัญญา ทีหลัง สมาธิมันจะเข้าฐานมากขึ้น พอเราไล่อยู่ในกายช่วงหนึ่ง เราก็กลับมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอสงบพอสมควรแล้วก็ไล่ลงไปในกายอีก กลับไปกลับมา ทบทวนวนไปวนมาตรงนี้เยอะๆ เดี๋ยวจิตจะมีพลังขึ้นมา พอจิตมันมีกำลัง ร่างกายเคลื่อนไหวมันรู้สึกปัญญาก็จะเกิด ร่างกายไม่ใช่เรา จิตมันเคลื่อนไหวสติรู้สึก ปัญญาก็เกิด พอจิตมันมีสมาธิมันตั้งมั่นปัญญาถึงจะเกิด

จิตตั้งมั่นไม่ได้แปลว่าจิตสงบ จิตสงบอาจจะไม่ตั้งมั่น แต่จิตตั้งมั่นมันสงบอัตโนมัติด้วย จิตที่สงบอาจจะลงไปตั้งแช่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ตั้งมั่น ฉะนั้นเราจะฝึกให้จิตมันตั้งมั่นจริงๆ เลย อย่างตอนนี้จิตไหลไปคิด รู้ว่าจิตไหลไปคิด แล้วพอรู้ว่าจิตไหลไปคิดแล้วก็ช่างมัน จิตจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันกลับมารู้สึกอยู่ในร่างกายนี้อีก รู้สึกร่างกายไป เดี๋ยวมันไหลไปคิดอีกรู้อีกก็ทิ้งมันไป กลับมารู้สึกอยู่ในร่างกายนี้อีก ทำอย่างนี้บ่อยๆ เดี๋ยวจะพัฒนาได้หรอก จิตมีบุญเยอะนะ ดี

 

 

ถ้าเรารักษาตัวเต็มที่แล้วยังเป็นโรคขึ้นมา จะต้องตายจริงๆ อย่าเสียดายชีวิต จิตที่มันเคยฝึกไว้ดีแล้ว มันไปต่อข้างหน้าไม่ยากอะไรหรอก ถ้าจิตไม่เคยฝึกมันไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จิตเราเคยมีสติ ต่อไปข้างหน้าไปเกิดใหม่ เกิดเป็นโควิดตายปุ๊บปั๊บไป ไปเกิดใหม่เคยฝึกสติ สติก็เกิดบ่อย เคยฝึกให้จิตตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่นง่าย เป็นของง่ายไปหมดเลย ฉะนั้นเราพยายามรักษาตัวเอง รักษาจิตใจเราด้วยธรรมะ รักษาร่างกายเรา มีสติ มีปัญญาอย่างโลกๆ รักษาไว้ รักษาเต็มที่แล้วพลาดพลั้งเจ็บป่วย อย่าเสียใจ เสียใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถึงคราวจะต้องตายมันก็ต้องตายก็อย่าไปเสียดายมัน เหลือลมหายใจอยู่อีกไม่กี่เฮือก หายใจได้ไม่กี่ครั้งก็ยังทำสติไปเรื่อย จนลมหายใจเราขาดไปเลย มีสติจนลมหายใจสุดท้ายเลย

ถ้าเกิดติดขึ้นมาแล้วรักษาไม่ได้จริงๆ ร่างกายนี้กำลังจะตายแล้ว ดูร่างกายมันหายใจ ดูร่างกายมันจะตายไปเลย ดูสิมันจะตายตอนหายใจออกหรือหายใจเข้า อย่าไปคิด รู้สึกมันไปเรื่อยๆ แล้วจะได้ไม่ขาดทุน ตั้งใจไว้อย่างหนึ่งว่าต่อไปภายหน้าพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน ขอให้เราไปเกิดที่นั่น ตั้งใจอย่างนี้ อย่าตั้งใจว่าขอเกิดเป็นคนไทยทุกชาติ ศาสนาพุทธอาจจะไม่ได้อยู่เมืองไทยก็ได้ อาจจะไปอยู่ที่ประเทศอื่นก็ได้ ฉะนั้นตั้งใจว่าถ้าศาสนาพุทธไปอยู่ที่ไหน เราขอไปที่นั่น เกิดในโลกมนุษย์นี้ไม่มีศาสนาพุทธเหลืออยู่แล้ว ข้างบนยังมีอยู่ พวกเทพ พวกพรหมที่เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ยังเหลืออยู่เลย อย่างพวกพรหมบางองค์ อยู่มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าก่อนองค์นี้อีก ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเหล่านี้ยังรู้ธรรมะอยู่ เราไปขอเรียนด้วยได้ ท่านไม่หวงวิชาหรอก ฉะนั้นตั้งใจว่าศาสนาพุทธอยู่ที่ไหน ขอให้เราได้ไปที่นั่น ตั้งใจเอาไว้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 กรกฎาคม 2564