กรรมฐานไม่เลือกกาลและสถานที่

การฟังธรรมะไม่ได้ฟังที่อื่นหรอก ธรรมะแสดงตัวอยู่ที่กายที่ใจของเราตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าเรามัวจะไปฟังธรรมะที่อื่น จะไม่เข้าใจ จะหาธรรมะไม่เจอ บางคนก็พยายามคิดว่าธรรมะอยู่ในป่า พยายามจะไปอยู่ป่า บางคนจะไปอยู่ป่าช้า คิดว่าธรรมะอยู่ในป่าช้า ไม่เข้าใจ จริงๆ ธรรมะอยู่ที่กายที่ใจของเราเอง อย่างบางคนไปภาวนาในป่าช้า ยุคนี้มันก็ไม่ค่อยมีแล้วป่าช้าจริงๆ ศพก็ฉีดยาไปแล้ว ไปใส่โลงเย็นอะไรอย่างนี้ ดูไม่ค่อยสมจริงแล้ว ป่าช้าโบราณมันรก เพราะปกติไม่มีใครเข้าไป จะเป็นป่ารกๆ เป็นดงต้นไม้รกๆ

หลวงพ่อก็เคยเข้าไป ไม่ได้เจตนา ไปภาวนาอยู่ที่วัดสาขาครูบาอาจารย์แห่งหนึ่ง พระท่านให้หลวงพ่อไปอยู่กุฏิตรงทางเข้าป่าช้า ตอนนั้นหลวงพ่อภาวนายังไม่ได้บวชเป็นโยมอยู่ ไปนั่งแล้วรู้ว่าตรงนี้เป็นป่าช้า หวาดเสียวมากเลย กลัว เมื่อก่อนนี้หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี นั่งสมาธิแล้วชอบเห็นผีทั้งที่ไม่ได้ชอบ จิตมันหลอนๆ ไปเองจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กลัว ไม่ได้อยู่ในป่าช้า ไปอยู่หน้าป่าช้า กังวลว่าผีมันจะเดินออกมา กลางคืนได้ยินเสียงเดินจริงๆ เดินแล้วก็มาได้ยินเสียงกัดกรอดๆๆ พอกลัวมากๆ เข้า แล้วก็ตัดสินใจ กลัวลองไปดูซิมันคืออะไรแน่ ผีอะไรมากัดฟันกรอดๆ ไปฉายไฟไปดู หมามันวิ่งเข้าไปในป่าช้า มันไปคาบกระดูกมา เอามานั่งแทะอยู่ข้างกุฏิที่เราพัก โอ๊ย หลวงพ่อรู้สึกอายหมามากเลย เลยเดินเข้าป่าช้า เดินเข้าไปแล้วก็ถอย เดินแล้วก็ถอย ในที่สุดตัดสินใจลุยเข้าไป กลางคืนนะ เข้าไป สอนตัวเอง หมามันยังไม่กลัวเลยทำไมเรากลัว อายหมา ถัดจากนั้นก็เลยเฉยๆ เข้าไปแล้วมันก็ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุไม่มีอะไร

 

สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข

สมัยพุทธกาลก็มีพระท่านไปภาวนาอยู่ในป่าช้า ป่าช้าเมืองแขกยุคนั้นมีคนดูแล ไม่ใช่ใครจะเข้าไปก็ได้ คนเฝ้าป่าช้ามาเจอพระเข้ามานั่งซุ่มอยู่ในป่าช้าก็ไปไล่ ท่านบอกท่านอยากพิจารณาอสุภกรรมฐาน เขาเลยบอกท่านอย่าไปเพ่นพ่าน เดี๋ยวคนเขาตำหนิคนเฝ้าว่าดูแลป่าช้าไม่ดี เอาไว้ถ้ามีการเผาศพเมื่อไรเขาจะเรียกให้ท่านไปดู อยู่ๆ เที่ยวไปดูที่โน่นที่นี่เดี๋ยวเจ้าของศพเขาจะว่าเอา ธรรมเนียมแขกตายปุ๊บก็เผาปั๊บ วันนั้นก็มีผู้หญิงสาวๆ สวยๆ ตาย เขาก็มาเรียกพระไปดู เขาจะเผาแล้ว ท่านไปเห็นศพเพิ่งตายใหม่ๆ ผู้หญิงยังสวยอยู่เลย จิตก็รู้สึกว่า โอ้โห น่ารักสวย พอเขาเริ่มเผาท่านก็รู้สึกว่ามันไม่สวยแล้ว ผิวหนังพอถูกไฟลวก มันเหมือนหนังวัว หนังควาย เหมือนหนังสัตว์ มันพองมีน้ำไหลออกมาแตกเป๊ะๆ ดูน่าสะอิดสะเอียน ท่านดูๆ จนเขาเผา สุดท้ายจิตท่านเป็นพระอรหันต์

เราได้ยินบทสวดอันหนึ่งที่พระชอบสวดในงานศพ “อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข” พระองค์นี้ท่านอุทานขึ้นมาตอนที่ท่านเป็นพระอรหันต์ “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา” ท่านเห็นอย่างนี้ ท่านเห็นความเกิดดับของสังขาร ท่านบอก “สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข” ไม่ใช่ตายแล้วเป็นสุข สังขารไม่ใช่ซากศพ ท่านพิจารณาลงมาสังขารคือความปรุงแต่ง คือรูปธรรม คือนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น รูปภายนอกเป็นศพก็ถูกเผาสลายไปแล้ว จากสวยงามก็ไม่สวยไม่งาม เป็นขี้เถ้าไปแล้ว ไม่มีคำว่าสะอาด ไม่มีคำว่าสกปรกอีกต่อไปแล้ว ถูกทำลายไปแล้ว รูปของท่านวันหนึ่งก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วสังขารที่เป็นนามธรรมท่านก็เห็น

อย่างตอนแรกท่านเห็นศพผู้หญิงสวยๆ เพิ่งตายเหมือนคนนอนหลับ สังขารมันก็ปรุงแล้วว่าสวยดี ชอบ จิตมีความพอใจคือราคะ พอถูกเผาเห็นมันน่าเกลียด เหมือนวัวด่างๆ น่าเกลียด ใจก็ไม่ชอบ ใจไม่ชอบเป็นโทสะ พอดูสุดท้ายท่านก็เห็น มันก็ลงเป็นธาตุ ไม่มีคำว่าสวย คำว่าไม่สวย สวยไม่สวยมันเป็นสมมติบัญญัติ สุดท้ายมันก็สลายลงเป็นธาตุ สังขารทั้งหลายมันแตกสลายลงเป็นธาตุแล้ว ก็สงบสุขไม่เวียนว่าย คือสังขารนั้นก็จบตรงนั้น สังขารในรูปธรรมมันก็จบไป สังขารนามธรรมอยู่ในใจท่าน ท่านก็เห็นเดี๋ยวก็ราคะเกิด ก็ไม่มีความสุขโทสะเกิดมันก็ไม่มีความสุข พอใจมันรู้แจ้งเห็นจริง

ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมเอาเข้าจริงก็เป็นแค่ธาตุ ร่างกายก็เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม บรรจุอยู่ในช่องว่างคืออากาศธาตุ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายก็เกิดร่วมอยู่ในตัววิญญาณธาตุ ท่านก็ให้เข้าใจถ้าจิตยังปรุงราคะก็ทุกข์ จิตมันปรุงโทสะมันก็ทุกข์ มันปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าไม่ปรุง จิตท่านก็เลยพ้นจากความปรุง ท่านเห็นว่าความปรุงแต่งทั้งหลายมันเป็นทุกข์ จิตท่านก็เลยพ้นจากความปรุงแต่ง ท่านก็อุทานประโยคสุดท้าย “สังขารทั้งหลาย คือความปรุงแต่งทั้งหลาย สงบเสียได้เป็นสุข” อยู่ในป่าช้าอยู่เป็น ดูวัตถุ ดูร่างกายของคนอื่น น้อมเข้ามาดูร่างกายภายใน ไม่ใช่ดูแต่ป่าช้าข้างนอก ไม่ได้ดูป่าช้าข้างใน

ป่าช้าข้างในก็คือร่างกายเรานี่เอง เป็นที่ฝังศพสัตว์ต่างๆ มากมาย แต่ละวันเราก็เอาศพของสัตว์นี่มาใส่เข้าไปทางปาก ฝังลงไปทุกวัน นี้ก็คือป่าช้าอันหนึ่ง เป็นป่าช้าภายใน ก็เห็นมันก็แค่ธาตุเท่านั้นเอง มีธาตุไหลเวียน ธาตุไหลเข้า ธาตุไหลออก ดูลงเป็นธาตุไป ในจิตในใจก็มีความปรุงแต่งเกิดขึ้น บางทีก็ปรุงชั่ว ปรุงโลภะ โทสะ โมหะอะไรขึ้นมา บางทีก็ปรุงดี ปรุงสิ่งซึ่งพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นคราวๆ บางทีก็ปรุงความว่าง พยายามจะไม่ปรุงมันก็คือปรุงนั่นล่ะ พอท่านรู้ทันว่าสังขารทั้งหลายมันไม่มีสาระแก่นสารอะไร มันปรุงได้แล้วมันก็มีแต่ความทุกข์เกิดขึ้น พอจิตท่านรู้ตรงนี้ว่าสังขารทั้งหลายมันเกิดขึ้นมาทีไร ความทุกข์มันก็เกิดทุกที อย่างที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ ความปรุงแต่งเกิดขึ้นเมื่อไร ความทุกข์ก็เกิดเมื่อนั้น ความอยากเกิดเมื่อไร ความทุกข์ก็เกิดเมื่อนั้น ความยึดถือเกิดเมื่อไร ความทุกข์ก็เกิดเมื่อนั้น มีอยาก มียึด จิตมันก็ดิ้นรนปรุงแต่ง

ตัวปรุงแต่งก็คือตัวภพ ความปรุงแต่งของจิตใจ จิตปรุงดีก็ทุกข์อย่างคนดี จิตปรุงชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว พยายามจะทำจิตให้ว่างๆ นักปฏิบัติจำนวนมาก พยายามทำจิตให้ว่างๆ อันนี้คือปรุงอีกชนิดหนึ่ง ปรุงชนิดที่สาม ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน อวิชชาพาให้ปรุง เราไม่เห็นความจริงของกายของใจ ว่ามันเป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นเอง เราคิดว่ามันตัวเราของเรา อย่างจิตใจ จิตใจนี้ก็คือตัวเรา จิตใจนี้คือของเรา อยากให้มันดี อยากให้มันสุข อยากให้มันสงบ อยากให้มันได้มรรคผลนิพพาน พอมีความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนของจิตก็เกิดขึ้น เช่นไปแต่งจิตให้ซึมๆ ให้นิ่งๆ อย่างนี้ คิดว่าดี นั้นคือการปรุงอย่างหนึ่ง

ตราบใดที่ความอยากยังอยู่ ความยึดยังอยู่ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตยังอยู่ เรียกว่าสังขารมันยังทำงานอยู่ มันก็ยังไม่พ้นทุกข์หรอก ยังทุกข์อีก ที่ท่านภาวนา ท่านเห็นเลยสังขารทั้งหลายดับลงเสียได้เป็นสุข สิ่งที่เรียกว่าสังขารคือรูปธรรมคือนามธรรมนั่นเอง รูปธรรมมันก็เป็นธาตุ พอตายลงไปธาตุดินก็ไปสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไปสู่ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ก็ไปสู่ธาตุลม ธาตุไฟของมัน ธาตุทั้งหมดบรรจุอยู่ในช่องว่าง ใน Space ในอากาศธาตุ อากาศตัวนี้ไม่ใช่ Air อากาศตัวนี้คือ Space ภาษาบาลีเรียกอากาศ นามธรรมทั้งหลายก็เป็นธาตุ เป็นธาตุของนามธรรม ตราบใดที่ธาตุนี้ยังปรุงแต่งอยู่ ธาตุนี้ก็ยังทุกข์อยู่ อย่างธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม พอมันแตกสลายตัวเป็นธาตุ มันก็ไม่ทำงานแล้ว เป็นสักแต่ว่าธาตุอย่างนั้น มันทำงานได้แล้วมารวมกัน ดิน น้ำ ไฟ ลม มารวมกันเกิดเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรขึ้นมา พอมันสลายตัวแยกออกจากกันไป ก็สักแต่ว่าธาตุ มันก็ไม่มีความดิ้นรนอะไรต่อ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน พอมันพ้นความปรุงแต่งได้ จิตมันก็เหลือแต่ความเป็นธาตุ เรียกว่าวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุนี้ไม่ได้มีอะไรปรุงต่อ ก็มีความสงบสุข ท่านถึงบอกว่า “สังขารทั้งหลาย สงบเสียได้เป็นสุข”

 

เข้าถึงความไม่ปรุงแต่ง จิตใจก็เข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง

การที่เรานั่งแต่งจิตให้ดีอย่างโน้นอย่างนี้ นั่นคือสังขารชนิดหนึ่ง การที่จิตมันโลภ โกรธ หลงก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง การที่จิตมันมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีสติ มีปัญญา มีศรัทธา มีวิริยะอะไรนี่ก็คือสังขารฝ่ายดี ส่วนสมาธิมีทั้งในสังขารฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว สมาธิอยู่ได้ทุกที่ ถ้าพวกมิจฉาสมาธิมันก็อยู่กับสังขารฝ่ายชั่วไป หรือฝ่ายดีไป แล้วสัมมาสมาธิแท้ๆ เลยเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเราให้มีตัวผู้รู้ๆ อันนั้นคือสังขารชนิดหนึ่ง เป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่ง แต่จำเป็น เป็นเครื่องอาศัยเหมือนเรือ เรือก็เป็นความปรุงแต่ง แต่เราอาศัยไว้ข้ามน้ำข้ามทะเล พอเราถึงฝั่งเราก็ทิ้งเรือ คือทิ้งความปรุงแต่งไป เข้าถึงความไม่ปรุงแต่ง จิตใจก็เข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง

ฉะนั้นไม่ใช่ว่าไปภาวนาที่นั้นที่นี่แล้วมันจะตอบโจทย์ อยู่ตรงไหนถ้าภาวนาถูกหลัก เห็นธาตุเห็นขันธ์มันทำงานไป เห็นความปรุงแต่งมันเกิดขึ้น ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม มันก็ตั้งอยู่ มันดับไป อยู่ที่ไหนก็คือปฏิบัติที่นั้น อยู่วัดแต่ก็เมาบุญ เพลิดเพลินอยู่กับบุญอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ได้ปฏิบัติจริง เป็นการปฏิบัติเบื้องต้นแบบคนดี ไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลอะไรหรอก ยังเมาบุญอยู่ แต่ถามว่าเมาบุญดีกว่าเมาบาปไหม ดีกว่า เพราะบุญนี้จะให้ผลเป็นความสุข ขณะที่บาปจะให้ผลเป็นความทุกข์ แล้วทำบุญก็ยังดีกว่าทำบาป เหนือบุญเหนือบาปนั้นมันดีที่สุด ค่อยๆ ฝึกตัวเองให้มันฉลาดขึ้นมา

ฉะนั้นธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในป่าช้า คิดว่าไปอยู่ในป่าช้าแล้วจะภาวนาดี ก็ไปนั่งปรุงแต่งอีกแล้ว ฉะนั้นกลัวผีมันก็ปรุงโทสะ นั่งไปได้จนสว่าง ก็กูเก่งขึ้นมาอีกแล้ว ปรุงโลภะขึ้นมาอีกแล้ว มันก็ยังปรุงอยู่ ถ้าไม่รู้ทันความปรุงแต่ง ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนมันก็ไม่ได้เรื่องที่นั่นล่ะ ถ้าเรารู้ทันความปรุงแต่งอยู่ตรงไหนเราก็ปฏิบัติที่นั้นล่ะ ฉะนั้นการปฏิบัติเราไม่เลือกสถานที่ เมื่อไรมีสติ มีใจตั้งมั่น เราก็เจริญปัญญาอยู่ เมื่อไรมีสติ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เราก็ปฏิบัติอันนั้นก็ได้สมถะ ถ้าจิตตั้งมั่นด้วย มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เราก็เดินวิปัสสนาอยู่ อยู่ตรงไหนก็ทำได้ ในส้วมก็ทำได้ บางคน บอกเวลาเข้าส้วมอย่าภาวนา บาป มันบาปตรงไหน

พระบรรลุในส้วมก็มีไม่ใช่ไม่มี ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ไม่ใช่พระโบร่ำโบราณอะไร พระยุคก่อนสองพันห้าร้อยไม่นาน กลุ่มลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านมรณภาพ พ.ศ.2492 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนท่านมรณภาพ มีพระองค์หนึ่งท่านบวชเมื่อแก่ แล้วก็ไปอยู่วัดป่า แล้วตอนเช้าธรรมเนียมพระจะต้องมีผ้าไตร สบงจีวร สังฆาฏิ ต้องอยู่กับตัวก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น ก่อนได้อรุณ จะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเข้าส้วม เข้าส้วมไป ส้วมก็ส้วมหลุม ขุดหลุมลงไปเอาไม้พาดปากหลุม ไปนั่งยองๆ ข้างบนปากหลุม นั่งไปนั่งมา สังฆาฏิที่พาดไหล่อยู่ พาดคงพับเป็นท่อนๆ วางไว้ มันหล่นลงไปในส้วมตกลงไป ท่านก็ต้องยกไม้กระดานออก ปีนลงไปเอาผ้า ทิ้งไปเลยไม่ได้ ไม่มีผ้าอยู่กับตัว ลงไป ส้วมโบราณมันสกปรก เท้าท่านก็แช่อยู่ในอึ แต่พระอึกับฉี่ ท่านแยกกัน พระกรรมฐานปัสสาวะท่าน ท่านจะมีราง ฉี่ในรางไหลออกไปส่วนหนึ่ง ถ่ายลงไปในหลุม

พอลงไปในหลุมท่านก็รู้สึกขยะแขยง ในหลุมก็มีหนอน แมลงวันมันลงไปไข่ไว้ มีหนอนไต่ยุบยับๆ ขยะแขยงมากเลย แล้วท่านก็พิจารณาว่า เราภาวนามาทุกๆ ที่แล้ว มันยังไม่ได้ดีอะไรเลย ลองภาวนามันอยู่ในหลุมส้วมนี่ล่ะ ท่านบอกท่านยืนอยู่หนอนมันค่อยๆ ไต่ๆ ขึ้นมา สุดท้ายใจท่านก็เข้าถึงธรรมะ พอท่านได้ธรรมะ ท่านก็ขึ้นมาล้างเท้า ล้างอะไร เอาสังฆาฏิไปซัก อาจารย์เจ้าอาวาสมาเห็นก็ดุเลยว่า บวชเมื่อแก่ไม่รู้เรื่องอะไร เป็นเวลาจะต้องออกบิณฑบาตแล้วเอาสังฆาฏิมาซัก มันจะไปบิณฑบาตอย่างไร ท่านบอกว่า ท่านไม่มีธุระอะไรแล้ว ท่านไม่มีธุระแล้ว ฉะนั้นท่านจะทำตรงนี้ คือท่านบอกเป็นอุบายบอก ท่านไม่มีธุระอะไรแล้ว ฉะนั้นท่านไม่มีคำว่ารีบร้อนสำหรับท่านอีกต่อไป

อาจารย์ก็โมโหว่าคนบวชเมื่อแก่นี่มันดื้อจริงๆ ตักเตือนแล้วยังเถียงอีก ไม่เชื่อหรอกว่าได้ของดีมาแล้วจากในส้วม ใครเขาไปภาวนาในส้วมได้ของดี ก็เลย องค์ที่ท่านลงส้วมไป ท่านก็บอกถ้าอย่างนั้นไปหาหลวงปู่มั่น ไปให้หลวงปู่มั่นเป็นคนชี้ขาดก็แล้วกัน อาจารย์ไม่เชื่อ 2 องค์ฉันข้าวแล้วก็ออกไป เดินไปหาหลวงปู่มั่น เดินไปตั้ง 3 วัน เดินไปพอไปถึง หลวงปู่มั่นท่านบอก พอเห็นหน้าปุ๊บท่านบอกเลยว่า “รีบกลับไปเลย ไม่มีธุระอะไรแล้ว กลับไป” อาจารย์ก็ชักปอด หลวงปู่มั่นบอกพระนี้ไม่มีธุระ รีบกลับ แต่สงสัยอย่างเดียวทำไมต้องรีบกลับ พอกลับไปถึงวัดเป็นวันที่ 7 ท่านก็มรณภาพวันนั้นเลยองค์นี้ คือท่านไม่ได้มีปณิธานที่จะทำอะไรต่อ

ฉะนั้นธรรมะอยู่ในที่ทุกที่ อยู่ที่ตัวเราเองจะมองเห็นธรรมะไหม กระทั่งในส้วมก็มีธรรมะ ในบ้าน ในกุฏิก็มีธรรมะ บนถนน บนรถเมล์ บนรถทัวร์ มีธรรมะทั้งหมด ฉะนั้นธรรมะอยู่ในที่ทุกที่ ไม่ใช่อยู่ที่ตรงนั้น ที่ตรงนี้ อยู่ป่าช้าถ้ามองไม่เป็น ก็ไม่ได้ธรรมะ ได้ความหลงผิด อย่างเข้าไปอยู่เพื่อจะให้หายกลัวผี ไม่ใช่การฝึกกรรมฐาน จะฝึกกรรมฐานก็เห็นธาตุเห็นขันธ์ เห็นไตรลักษณ์ของธาตุของขันธ์อะไรอย่างนี้ ถ้าเข้าไปอยู่เพื่อให้ไม่กลัวผี ถือว่า Fail แล้ว เสียเวลา หรือจะไปอยู่ป่าอยู่เขา แล้วก็ไม่ได้ลดละกิเลสอะไร มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นธรรมะไม่เลือกกาลเวลา ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลาอย่างนั่งอยู่ในส้วม สถานที่อยู่ในส้วมก็ภาวนาได้ มีคนเขาภาวนาได้ดิบได้ดีมาแล้วด้วย

 

สักแต่ว่าธาตุ

ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองให้ภาวนาตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาที่ทำงานที่ต้องคิด ยกเว้นแค่นั้น เวลาอื่นพยายามมีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกใจไป รู้สึกกายไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็น ร่างกายมันไม่เที่ยง ร่างกายหายใจออกไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้าไม่เที่ยง ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เที่ยง ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งไม่เที่ยง ร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก เช่น หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็เป็นเหงื่อ เป็นปัสสาวะ เป็นน้ำลายอะไรออกไป ก็เป็นแค่ธาตุที่หมุนเวียน ดูไปๆ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา เป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นเอง ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เราก็เห็นมันเกิดดับ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมันก็เกิดดับ ความรับรู้ทางตา ความรับรู้ทางหู พวกนี้ก็ถือว่าเป็นธาตุหมดเลย

ธาตุที่เราใช้ทำกรรมฐานไม่ใช่มีแค่ธาตุ 4 แล้วก็ไม่ใช่มีแค่ธาตุ 6 ธาตุ 4 คือดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุ 6 ก็เติมอากาศธาตุกับวิญญาณธาตุลงไป แต่ธาตุเวลาเราทำกรรมฐานมี 18 ธาตุ 6 ธาตุเป็นของภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เป็นธาตุ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นธาตุ นี่ 12 แล้ว แล้วก็วิญญาณที่เกิด คือวิญญาณ ก็คือตัวความรับรู้ หรือตัวจิตนั่นล่ะที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีก 6 ก็เป็นธาตุ รวมแล้วมีธาตุ 18 เวลาเราภาวนา ไม่ต้องตกใจ ถึงเวลามันก็รู้ก็เห็นพัฒนาไปเอง ตอนนี้ดูเท่าที่ดูได้ ได้ยินหลวงพูด โอ๊ย ทำไมเยอะนัก ไม่เยอะหรอก ค่อยๆ เรียนไป

เหมือนความรู้ อย่างเราเรียนปริญญาโท ปริญญาตรีอะไรนี้ ความรู้ทำไมมันเยอะ เรียนตั้งเยอะตั้งแยะ ไปทำมาหากินใช้ความรู้นิดเดียว วิชาที่เรียนมาตั้งเยอะตั้งแยะไม่ได้ใช้อะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่ามันเยอะ ที่จริงมันไม่ได้เยอะเพราะเราเรียนมาตั้งแต่ ป.1 เราค่อยๆ เพิ่มๆ ความรู้ไป การภาวนาก็เหมือนกันค่อยๆ เพิ่มความรู้ถูก ความเข้าใจถูกไป ฉะนั้นอย่างหลวงพ่อพูดให้ฟัง คล้ายๆ หลวงพ่อเรียนได้ปริญญาตรีแล้ว หลวงพ่อก็พูดวิชาการได้เยอะหน่อย อย่างเราอยู่ประถม อยู่อนุบาลอยู่อะไรก็ค่อยๆ เรียน ไม่ต้องเรียนเท่าหลวงพ่อพูดหรอก เรียนเท่าที่เราเห็น เดี๋ยววันหนึ่งมันก็เรียนได้เยอะ บางคนอาจจะเป็นด็อกเตอร์อะไรเลย เก่งกว่าหลวงพ่อเลย เอาแน่ไม่ได้หรอก

 

ความปรุงแต่งขวางนิพพาน

ฉะนั้นเราหัดภาวนาให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ดูการทำงานของธาตุของขันธ์ไป กรรมฐานมีสิ่งที่ใช้ทำกรรมฐาน ก็มีเรื่องขันธ์ 5 เรื่องอายตนะ 12 เรื่องธาตุ 18 มีเรื่องอินทรีย์ 22 อินทรีย์ 22 ส่วนใหญ่จะเป็นนามธรรมทั้งหลาย เราไม่ต้องเรียนหรอกเดี๋ยวเข้าใจเอาเอง ค่อยๆ เรียนไป สูงสุดก็คือปฏิจจสมุปบาท 24 สิ่งเหล่านี้จะรู้ด้วยตัวเอง ขอเพียงตั้งต้นด้วยการที่จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว มีสติรู้กายมีสติรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จะเห็นความจริงของกายของใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเห็นเอง พอเห็นแล้วจิตก็วาง จิตก็หมดความปรุงแต่ง อย่างมันเห็นความจริงร่างกายนี้คือตัวทุกข์ ก็จะไม่ปรุงแต่งว่าทำอย่างไรร่างกายจะเป็นสุข ทำอย่างไรร่างกายจะไม่ทุกข์ จะไม่มีคำว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร ก็เรียกว่ามันไม่ปรุงแต่ง

อย่างพวกเรานั่งคิดทุกวันเลยว่าจะภาวนาอย่างไร ทำอย่างไรจะดีกว่านี้ เห็นไหมมันมีแต่คำว่าทำ นั่นล่ะปรุงแต่งทั้งนั้น แต่ตรงที่คิดจะภาวนาเรียกว่าปรุงดี เป็นความปรุงดี ถามว่าดีไหม ดี แต่ถามว่าจะไปบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไหม ไม่ได้หรอก ความปรุงแต่งมันขวางอยู่ นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นความปรุงแต่ง มันก็ยังปรุงอยู่ไม่เจอหรอก แต่อาศัยปรุงดี แล้วค่อยๆ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป พอสัมมาทิฏฐิเราสมบูรณ์ขึ้นมา มรรคผลมันก็มีขึ้นมา แล้วปัญญาเราแก่รอบแล้วอริยมรรคก็จะเกิด เกิดเอง ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาเราสมบูรณ์ ค่อยๆ ฝึก

สรุปก็คือการทำกรรมฐาน ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา เมื่อไรมีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น คือมีสัมมาสมาธิ แล้วก็เป็นกลาง เมื่อนั้นเราเดินปัญญาอยู่ เมื่อไรเรามีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอยู่ อันนั้นก็ภาวนาเหมือนกัน แต่เป็นระดับสมถกรรมฐาน ไม่ถึงวิปัสสนา ฉะนั้นอย่างเราเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบอะไรนี้เป็นสมถะ ขยับมืออย่างนี้ รู้มือที่เคลื่อนไหวอยู่เป็นสมถะ แล้วเห็นรูปที่เคลื่อนไหวเป็นสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นความเกิดดับของรูปของอะไร อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา ต้องเห็นไตรลักษณ์ การเห็นไตรลักษณ์นี้เป็นตัวปัญญา

ปัญญามันจะเกิดได้ต้องมีสัมมาสมาธิ ในอภิธรรมจะสอน “สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา” ฉะนั้นเราฝึกจิตใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัวให้มันตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ แล้วก็สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง จิตมันจะไม่จมลงไปในกาย สติระลึกรู้อะไรจิตก็ไม่จมลงไปในสิ่งนั้น อย่างพวกเราพอไปรู้ลมหายใจ สติรู้ลมหายใจจิตมันไหลไปอยู่ที่ลม จิตไม่ตั้งมั่น ใช้ไม่ได้หรอก ได้แต่สมถะ

เรียนรู้ความปรุงแต่งไป อะไรคือความปรุงแต่ง ก็คือกายนี้ใจนี้นั่นล่ะคือความปรุงแต่ง เรียนรู้ไปจนเข้าใจความจริงของมันว่ามันเป็นไตรลักษณ์ พอเข้าใจความจริงก็เลิกปรุงแต่ง อย่างเรารู้ว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็เลิกปรุงแต่งที่จะให้กายนี้เที่ยง ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตายอะไรนี้ อันนั้นปรุงทั้งสิ้นเลย พอรู้ความจริงแล้วกายนี้มันเป็นก้อนทุกข์ เป็นก้อนธาตุ เราก็หมดความปรุงแต่งที่จะให้กายนี้เที่ยง หมดความปรุงแต่งที่จะให้กายนี้มีแต่ความสุข หมดความปรุงแต่งที่จะบังคับกายนี้ให้ได้ ฉะนั้นรู้กายอย่างที่กายเป็น จิตมันวาง มันวางกาย แล้วก็รู้นามธรรมไป เห็นนามธรรมมันทำงาน บางคนสตาร์ตที่ดูนามธรรมเลยก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย ถ้าเราเข้ามาที่นามธรรมเลย มาดูจิตเห็นความปรุงแต่งในจิต พอรู้จริงวางจิตลงไปด้วย มันจะวางกายไปด้วย เพราะจิตเป็นสิ่งที่เราหวงแหนที่สุดแล้วว่าคือ ตัวเราของเรา ถ้ากระทั่งจิตยังไม่ยึดไม่ถือ กายมันไม่ยึดไม่ถืออัตโนมัติ

หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนหลวงพ่อ
หลวงพ่อถามท่าน “ผมไปตามวัดต่างๆ ได้ยินครูบาอาจารย์แทบทุกวัดเลย ท่านสอนลูกศิษย์ท่าน สอนญาติโยม สอนลงมาที่กายทั้งนั้นเลย”  ก็เลยไปถามหลวงปู่ดูลย์บอก “หลวงปู่ครับ แล้วผมจะต้องไปดูกายไหม”
ท่านก็บอกเลย “เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว จะเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง”
ท่านพูดอย่างนี้เลย ฉะนั้นหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อวางกายแล้ว แล้วเราเข้ามาที่จิตแล้ว ข้ามช็อตมา อันนี้แล้วแต่จริตนิสัยคน แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องดูที่กายก่อน ดูที่จิตไม่รู้เรื่องเลย

อย่างเมื่อวานก็มีคนมาเรียนกับหลวงพ่อ เขามาอยู่ในทีมหมอที่มาช่วยดูแลหลวงพ่อ มา Follow up มีคนหนึ่งเขาคิดอย่างเดียวเลย คิดๆๆๆ หลวงพ่อบอกให้รู้สึกร่างกายไว้ เขาก็ยังคิดอีก รู้สึกร่างกายแล้วมันจะไปเห็นจิตไหมอะไรอย่างนี้ บอกรู้สึกกายไม่ใช่ต้องคิดต่อ ถ้าดูจิตไม่เห็น มันมั่วไปหมดแล้ว ดูกาย จับหลักให้แม่นเลย ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะ หลักของการปฏิบัติมันมีแนวรุกแนวรับอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีกำลังพอข้ามมาดูจิตเลยก็ได้ ถ้าจริตนิสัยมันถูกอย่างนั้น อย่างหลวงพ่อมาดูกายแล้วรู้สึกจืด รู้สึกมันคับแคบ มันน้อย จิตมันวิจิตรพิสดารมาก จิตมีตั้งเท่าไร 80 กว่าอย่าง เรียนแล้วสนุก

ฉะนั้นภาวนาอยู่ที่ตัวเอง ที่กายที่ใจของตัวเอง มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้ารู้จิตรู้ใจได้ รู้จิตรู้ใจไป รู้จิตรู้ใจไม่ได้ ดูกายไว้ ถ้าดูใจก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะทันทีเลย ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าไม่ต้องทำ ฉะนั้นถ้าไม่ดูจิตก็ต้องมาดูกาย ดูจิตดูกายไม่ได้ก็ทำสมถะ แล้วบอกเหนื่อยทำอย่างไร เหนื่อยก็ทำสมถะพักผ่อน สมาธิเป็นที่พักผ่อนที่ดีมากเลย อย่างคืนๆ หนึ่งเรานอนหลายชั่วโมง เวลาจิตมันเข้าสมาธิ สักชั่วโมงหนึ่งมันสดชื่นกว่ากันเยอะ สดชื่นยิ่งกว่านอนอีก ฝึกตัวเองไม่เลือกกาล ไม่เลือกสถานที่ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำได้อย่างนี้มรรคผลนิพพานไม่หนีเราไปไหนหรอก ไม่ใช่ไปนั่งแต่งจิตให้เอ๋อ ให้เคลิ้ม ให้ซึม ให้แข็ง อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ผิดอย่างแรงเลย เป็นตัวขวางมรรคผลนิพพาน.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 ตุลาคม 2564