วิธียกระดับจิตใจ

ฤดูกาลเป็นแค่เครื่องสังเกต เป็นหมุดหมายให้เราเห็นชีวิตเราผ่านไปช่วงหนึ่งๆ เดี๋ยวฤดูกาลก็เปลี่ยน ถึงสิ้นปีก็ฉลองปีใหม่กัน หวังว่าจะมีความสุข อวยพรกันให้มีความสุขๆ แล้วก็ทุกข์ไป มีปัญหาไปอีกปีหนึ่ง พอปลายปีก็อวยพรกันอีกแล้ว ตั้งความหวังกันว่าชีวิตจะมีความสุข มีความหวังมันก็ดี แต่มันต้องฉลาดด้วย

ในโลกนี้มันไม่มีหรอกความสุขที่ถาวร ความสุขที่แท้จริง ความสุขในโลกมันเป็นของชั่วครั้งชั่วคราว อยู่ไม่นานก็ผ่านไป ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะหิว ใจมันจะหิวความสุข พอใจมันหิว อยากได้ความสุข มันก็เริ่มมอง อะไรจะทำให้มีความสุข มีเมียสวยๆ จะมีความสุข มีลูกเก่งๆ จะมีความสุข มีเงินทอง มีบ้านอยู่ มีโน้นมีนี้จะมีความสุข รวมแล้วสิ่งที่คิดได้ก็คือ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัสที่ถูกอกถูกใจ แสวงหาแต่สิ่งเหล่านี้กัน มีเงินเยอะๆ ก็หวังว่าจะได้ไปดูอะไรที่ถูกใจ ไปฟังอะไรที่ถูกใจ รวมแล้วที่ต้องการก็คือต้องการอารมณ์ที่พอใจ

ถ้าเราภาวนาเราก็รู้ อารมณ์ทั้งหลาย มันชั่วคราวเท่านั้น เห็นรูปที่สวย รูปที่สวยมันก็ไม่อยู่ตลอด ขืนมันอยู่ตลอดเราก็เบื่ออีก ใจเราก็อยากไปเห็นอย่างอื่นบ้าง อย่างบางคนแต่งงาน ตอนจะแต่งรู้สึกมีความสุข แต่งแล้วเห็นหน้ากันทุกวัน แทบไม่มองหน้า เบื่อ นี่ความสุขอย่างโลกๆ มันไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันอิ่ม มันมีแต่ความหิวโหย ความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทุกคราวที่ความต้องการเกิดขึ้นหรือตัณหาเกิดขึ้น ใจมันก็ดิ้นรน ทำอย่างไรจะได้สิ่งที่ชอบใจมา ทำอย่างไรจะรักษาสิ่งที่ชอบใจเอาไว้ได้ ทำอย่างไรจะพ้นจากสิ่งที่ไม่ชอบใจได้ ใจมันมีความต้องการ มีความอยากอย่างนี้ขึ้นมา มันก็จะดิ้นๆๆ ทุกครั้งที่ความอยากมันเกิด อยากได้สิ่งที่ชอบ อยากให้สิ่งที่ชอบคงอยู่ อยากให้สิ่งที่ไม่ชอบหายไป ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ใจมันจะดิ้นรน หาความสงบสุขไม่ได้

 

จิตผู้สร้างภพ

ฉะนั้นทันทีที่มีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว คนไม่ได้ภาวนา ก็คิดแต่ว่ามีความอยากยังไม่ทุกข์ เพราะมองไม่เห็น มีความอยากแล้วสมอยากก็ไม่ทุกข์ มองไม่เห็นว่ามันทุกข์อย่างไร เมื่ออยากแล้วไม่ได้อย่างที่อยากถึงจะทุกข์ คนส่วนใหญ่มันมองได้แค่นี้เอง ถ้าเราไม่หลงโลก เราภาวนาทุกวันๆ สติปัญญาเราแก่กล้าขึ้น เราจะเห็นว่าทันทีที่อยากความทุกข์มันก็เกิดเรียบร้อยแล้ว เพราะใจมันต้องดิ้นรน ใจมันถูกใช้งาน วางแผนคิดโน้นคิดนี้ วุ่นวายเพื่อจะให้ได้สิ่งที่ชอบใจมา เพื่อจะรักษาสิ่งที่ชอบใจไว้ เพื่อจะขับไล่สิ่งที่ไม่ชอบใจให้มันหมดไปสิ้นไป

มันมีงานทำขึ้นมา การทำงานตัวนี้คือการกระทำกรรม หรือการสร้างภพนั่นเอง ภพตัวนี้เรียกว่ากรรมภพ อย่างพวกเรามีภพใหญ่ คือเกิดมาเป็นมนุษย์ ตัวนี้ยังไม่น่าสนใจเท่าไหร่ มันเกิดมาใช้เวลายาวนานกว่าจะหมดจากภพมนุษย์ แต่ถ้าเราภาวนาสติ สมาธิ เราดีพอ เราจะเห็น ทุกครั้งที่อยาก จิตก็มีความดิ้นรนสร้างภพขึ้นมา เป็นภพของผู้หิวโหย ผู้แสวงหา ผู้ครอบครอง ผู้สูญเสีย เป็นภพๆ ที่ไม่มีความสุข เกลียดชังสิ่งที่กำลังมีอยู่ ตรงที่เป็นภพอยากให้ได้มา เราก็เป็นเปรต เป็นภพย่อยๆ ในใจเรา กำลังเป็นเปรต กำลังอยาก อยากได้ อยากมี พอได้มาแล้ว เกิดไม่ชอบใจ หรือไม่ได้อย่างที่ชอบใจ โทสะมันก็เกิด มีความทุกข์เกิดขึ้นให้เห็น เราก็เป็นภพของนรก เป็นสัตว์นรกแล้ว ร่างกายยังเป็นคนอยู่ ภพใหญ่ยังเป็นคน แต่ภพย่อยตกนรกแล้ว

เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ สังเกตไป ถ้าเมื่อไหร่จิตเราเป็นบุญเป็นกุศล จิตมันก็สร้างภพของมนุษย์ ของเทวดา ของพรหมขึ้นมา เป็นภพที่เป็นสุคติ มีความสุข เวลาจิตมันมีอกุศลครอบงำผลักดันอยู่ มันก็สร้างภพที่เป็นทุคติขึ้นมา ถ้าโทสะรุนแรง เจออารมณ์ที่ไม่ชอบใจอย่างแรง นั่นคือภพของสัตว์นรก เราตกนรกทั้งๆ ที่ยังไม่ต้องตายหรอก เรียกว่าตกนรกทั้งเป็น เวลาเราอยากโน้นอยากนี้ เราก็เป็นภพเปรต เรามีความขี้ขลาดตาขาว ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง หลอกตัวเองไปวันๆ ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ มันก็เป็นภพของอสุรกาย พวกไม่กล้าหาญที่จะเผชิญความจริง หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ นั่นคือพวกอสุรกาย ถ้าจิตเราหลง เหม่อๆ หลงๆ ทั้งวัน ร่างกายเราอยู่ในภพใหญ่ของมนุษย์ แต่ภพย่อยมันเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นั้นเต็มไปด้วยความหลง ความเหม่อ ความเผลอเพลิน เป็นพื้นเลย พื้นของมันหลง ฉะนั้นถ้าเราปล่อยเนื้อปล่อยตัว หลงไปวันๆ เรากำลังซักซ้อม ฝึกซ้อมการเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ พอตายไป ทิ้งภพใหญ่ของมนุษย์นี้ มันก็ไปได้ภพใหญ่ของเดรัจฉานขึ้นมา ไปเกิดเป็นสัตว์ขึ้นมา

ถ้าเรามีศีลมีธรรม อย่างวันนี้เรามา ทอดกฐินกัน จิตใจเราเป็นบุญขึ้นมา มีความสุขมีความอิ่มเอิบก็อยู่ในสุคติ ถ้าเรามีศีล เราก็เป็นมนุษย์ได้ เรามีศีลที่ประณีต คือเรามีหิริโอตตัปปะ อย่างจะทำชั่วก็ละอายใจ อันนั้นเป็นภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ทั่วๆ ไป เป็นภูมิของเทวดา แค่จะทำชั่วก็ละอายใจแล้ว แล้วรู้เลยว่าถ้าทำชั่วแล้วมีผลตอบแทนที่ไม่ดี ก็กลัวผลของการทำชั่ว มีหิริโอตัปปะนั่นเอง หิริโอตัปปะเลยเป็นเทวธรรม ศีล 5 นั้นเป็นธรรมของมนุษย์ ถ้าเราพัฒนาขึ้นไป มีหิริโอตัปปะขึ้นมาเราก็มีเทวธรรม

ใจที่มันละอายใจที่จะทำชั่ว เกรงกลัวผลของการทำชั่ว มันจะมีความสำรวมระวัง ไม่ปล่อยใจตามกิเลส พอใจไม่ตามกิเลส วาจามันก็ไม่ตามกิเลส การกระทำทางกายมันก็ไม่ตามกิเลส จิตใจมันก็เข้าถึงความสุขความสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก พอจิตมันเข้าถึงความสงบที่ประณีต มันไม่ได้อยู่ด้วยหิริโอตัปปะแล้ว หิริโอตัปปะเป็นพื้นๆ ธรรมชาติไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตในใจ พอเราภาวนาดีๆ จิตเราเป็นพรหม มันมีความเมตตากรุณาเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในใจเรา

อย่างใจเรารู้ความจริงว่าโลกนี้ไม่มีสาระแก่นสาร รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลายที่เรียกว่า กามคุณอารมณ์หาสาระไม่ได้ เป็นสุขที่เจือความทุกข์ตลอดเวลา ใจมันหน่าย ออกจากกามคุณอารมณ์ อย่างพวกเทพ เขายังติดในกามคุณอารมณ์ แต่มันเป็นอารมณ์ที่ละเอียด แล้วไม่ยอมทำผิดศีล ผิดธรรม มนุษย์ติดในกามคุณอารมณ์ แล้วก็พร้อมจะทำผิดศีลผิดธรรม เพื่อจะแย่งสิ่งที่ชอบมา เพื่อจะผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบไป

 

ร่างกายยังเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นพรหมได้

พอจิตมันอยู่กับกุศลมากๆ เข้า มันมีความสุข มันมีความสงบอยู่ ไม่ต้องไปสนใจระวังรักษาศีลอะไรทั้งสิ้น จิตมันสงบอยู่ในสมาธิแล้ว มีความเมตตาเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อย่างถ้าเราภาวนา จิตเรามีความสงบ มีสมาธิขึ้นมา จิตมันมีความเมตตาอัตโนมัติเกิดขึ้น มีความรู้สึกเป็นมิตรกับคนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น ไม่มีความรู้สึกอยากทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะมีความรู้สึกเป็นมิตร เห็นใครเขามีความสุขก็ดีใจกับเขา ตัวนี้เรียกว่ามุทิตา เห็นใครเขาลำบากก็อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็อุเบกขา นี่ใจของพรหม เพราะฉะนั้นใจของพรหมห่างโลกออกไปอีกชั้นหนึ่ง พ้นจากกามคุณอารมณ์แล้ว ไม่ได้หิวโหยอารมณ์หยาบๆ แต่ใจมันอยู่กับความเมตตา กรุณา มุทิตา มันมีความสงบ มีความสุข มีความอิ่มเอิบอยู่ในตัวเอง ใจของพรหม ร่างกายเรายังเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นพรหมได้ แล้วถ้ามีปัญญาประกอบ มันจะมีอุเบกขาขึ้นมา

บางคนมีเมตตา มีกรุณา ไม่มีอุเบกขา มีเมตตา มีความรู้สึกดีกับคนนี้ เห็นคนนี้มาวัดก็อยากสอนกรรมฐานเขา แล้วไม่สำรวมระวังในตัวเอง เมตตามากๆ มันพลิกเป็นราคะเลย ชอบคนนี้เลย กลายเป็นชอบเขาเสียอีก หรือเห็นคนเขาลำบาก เห็นสัตว์มันลำบาก สงสารมัน มีกรุณาอยากให้มันพ้นทุกข์ พอช่วยมันไม่ได้ มันเสียใจ กรุณามันพลิกไปเป็นโทสะได้ ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราก็จะรู้ สัตว์ทั้งหลายเขาจะประสบความสุข หรือเขาจะประสบความทุกข์ เขาจะเจอสิ่งที่ชอบ หรือจะพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ มันเกิดจากกรรมทั้งสิ้น

ตรงที่จิตเราจะมีอุเบกขา ไม่ใช่เฉยเมย แต่เป็นจิตที่ฉลาด รู้ว่าสัตว์โลกมันเป็นไปตามกรรม ถ้าเฉยเพราะเข้าใจว่าสัตว์มันเป็นไปตามกรรม คนนี้ลำบาก เราพยายามช่วย ช่วยไม่สำเร็จ เออ มันกรรมของเขาอะไรอย่างนี้ ใจเราไม่เศร้าหมอง อย่างนี้เรียกว่ามีอุเบกขา แต่อย่างเห็นคนตกน้ำ ช่วยได้ก็ไม่ช่วย คิดว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม นี่เฉยเมย ไม่ใช่ความเมตตากรุณาอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นความเฉยเมย เป็นอกุศล จิตใจแห้งแล้ง เห็นแก่ตัว ช่วยได้แล้วไม่ช่วย นี่เห็นแก่ตัว แต่ถ้าจะช่วย ก็ดู ถ้าช่วยแล้วมันได้แค่นี้ มันกรรมของเขา ช่วยได้แค่นี้

ฉะนั้นจิตเราจะพัฒนาสูงขึ้น แทนที่จะหลงในกามคุณอารมณ์ เราก็ยกระดับขึ้นมาสู่ความสงบสุขในสมาธิ ในฌาน จิตมีเมตตากรุณา มีมุทิตาขึ้นมา แล้วเราก็เจริญปัญญาให้ดี สังเกตให้ดี สัตว์โลกมันเป็นไปตามกรรม ไม่ใช่ตามที่เราอยาก เราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเขาทำกรรมชั่วมา กรรมชั่วให้ผล เราพยายามอย่างไร มันก็ยังหาความสุขไม่ได้อยู่ดี หรือเขาไม่ดี เขามีความทุกข์ เราพยายามจะช่วยแนะนำวิธีการที่ดี จะได้พ้นจากทุกข์อันนี้ เช่น อย่าไปเล่นการพนัน อย่าคบคนชั่ว อย่าติดยาเสพติด สอนให้ บอกให้ แนะนำให้ ไม่เชื่อ นั้นกรรมของเขาแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม อุเบกขามันจะเกิด ไม่ใช่ความเฉยเมย จิตที่มีอุเบกขาจากการที่เข้าใจกฎแห่งกรรม มันเป็นกุศล เป็นกุศลอย่างแรงเลย

ลำพังเมตตากรุณาอะไรอย่างนี้ อย่างคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย มีลูก ก็เมตตาอยากให้ลูกมีความสุข เวลาลูกไม่ดี ลูกติดยา ลูกคบเพื่อนชั่ว ลูกขี้เกียจทำงาน หรือลูกหลงอยู่ในอบายมุข เล่นการพนัน อยากให้ลูกไม่เป็นอย่างนี้ พยายามอบรมแนะนำสั่งสอน บางทีไปก่อหนี้มา ก็พยายามตามใช้หนี้ให้ จนกระทั่งมันไม่ไหว ถึงจุดหนึ่งไม่ไหว ก็ล้มละลาย ติดคุก ติดตารางอะไรไป พ่อแม่ก็ทุกข์ไปด้วย อันนี้เรียกว่ายังไม่ฉลาดพอ ถ้าลูกมันแย่จริงๆ เราช่วยไม่ได้จริงๆ ต้องรู้ ก่อนที่มันจะเป็นลูกเรา มันเป็นใครก็ไม่รู้ มันมาจากไหนก็ไม่รู้ มันแค่มาอาศัยท้องเราเกิด กรรมชักพามันมาตรงนี้ ถ้าเราพยายามช่วยมันเต็มที่แล้ว ช่วยไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจ กรรมของเขา เขาสะสมของเขามาในทางชั่ว อย่างบอกมันว่าอย่าไปเล่นพนัน มันไม่เลิก บอกมันให้เลิกติดยาเสีย มันก็ไม่เลิกอะไรอย่างนี้ กรรมของมัน มันสะสมของมันมาอย่างนั้น อย่างนี้ใจเราจะเป็นอุเบกขา ใจเราก็จะสงบสันติ ร่างกายเรายังเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นพรหม เป็นพรหมระดับสูงเลย ขึ้นไปถึงอุเบกขาได้

 

วิธียกตัวเองให้สูงขึ้น

ฉะนั้นเรามาสังเกตที่จิตที่ใจเรานี้ล่ะ เวลาตัณหาเกิดความอยากมันเกิด ความดิ้นรนมันก็เกิด ความทุกข์มันก็เกิด เวลาความอยากเกิด จิตมันดิ้นรนทันทีเลย ดิ้นรนแสวงหา ดิ้นรนรักษา ดิ้นรนผลักไส จิตมันดิ้น ทุกครั้งที่จิตดิ้น จิตก็มีความทุกข์ คนที่ไม่ได้ภาวนามันจะเห็นแต่ว่าถ้ามีความอยากยังไม่ทุกข์ ถ้าไม่สมอยากถึงจะทุกข์ เราภาวนา เราจะเห็นเลยว่าแค่มีความอยาก แล้วจะสมอยากหรือไม่สมอยาก แค่มีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว นี่ฉลาดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง รู้เลยตัณหานี้ล่ะเป็นตัวสร้างภพ เป็นตัวสร้างทุกข์ให้เราโดยตรงเลย

ค่อยๆ ภาวนาไป ในที่สุดก็เข้าไปถึงรากของตัณหา สิ่งที่เป็นรากของตัณหา ที่ทำให้ตัณหาเกิดก็คือตัวอวิชชา ความไม่รู้ความจริงในเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้ ขันธ์ 5 นี้เป็นตัวทุกข์ อย่างเรารู้สึกร่างกายเราทุกข์บ้างสุขบ้าง จิตใจเราทุกข์บ้างสุขบ้าง เรายังไม่รู้ความจริง เราภาวนามากๆ เราจะเห็นร่างกายนี้ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตใจนี้ก็ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้ ถึงจะละอวิชชาได้ จะรู้ความจริงเลยว่า รูปนาม ขันธ์ 5 นั่นล่ะมันตัวทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นตัวทุกข์ พอฉลาดขึ้นมาจะรู้เลย แค่มีความอยากมันก็มีความทุกข์แล้ว จะสมอยากหรือไม่สมอยากมันก็ทุกข์แล้ว

ถ้าเราภาวนาสูงกว่านั้นอีก เราจะรู้เลย มีขันธ์ก็มีทุกข์ จะอยากหรือไม่อยาก แค่มีขันธ์ ก็มีทุกข์แล้ว โดยเฉพาะถ้าเราภาวนาเข้ามาถึงตัวรู้ ตัวจิตผู้รู้เป็นขันธ์ที่ละเอียดที่ประณีตที่สุดในโลกิยะ ตัวจิตผู้รู้คือจิตที่ทรงสติ ทรงสมาธิ มีความสามารถที่จะเจริญปัญญาโดยอัตโนมัติ ต้องอัตโนมัติด้วย ไม่ได้เจตนาจะมีสติก็เกิดสติ ไม่เจตนามีสมาธิ มันก็ทรงสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา ไม่เจตนาจะเห็นไตรลักษณ์ก็เห็น อันนี้เรียกว่าเป็นมหากุศลจิตที่แข็งแรงที่สุด เพราะว่าเป็นอสังขาริกัง อสังขาริกังคือเป็นกุศลที่เราไม่ต้องชักจูงให้เกิด มันเกิดอัตโนมัติ แต่ก่อนจะถึงอัตโนมัติ ต้องฝึก

ถ้าฝึกทีแรกก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง สตินานๆ เกิดที ฝึกเรื่อยๆ สติก็เกิดบ่อย จิตใจไม่เคยตั้งมั่น ฝึกไปเรื่อยๆ จิตก็ตั้งมั่น ไม่เคยเห็นไตรลักษณ์ ก็หัดรู้หัดดู หัดสังเกตไป ในที่สุดมันก็สามารถเห็นไตรลักษณ์โดยอัตโนมัติ นี่ปัญญามันอัตโนมัติ พอสติ สมาธิ ปัญญามันอัตโนมัติ ไม่ต้องห่วงเรื่องมรรคผลเลย มันจะเกิดเองเมื่อถึงเวลา ถ้าหิว อยากได้มรรคได้ผล นั่นคืออยาก หล่นแป้กเลย

ฉะนั้นสะสมทำเหตุที่ดีไปเรื่อยๆ พอยกระดับจิตใจของเราจากกามาวจรภูมิไปสู่ภูมิของพรหมที่มีรูป เรียกรูปาวจร ไปสู่พรหมที่ไม่มีรูป อยู่กับความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เห็นไหมเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มันเป็นอารมณ์ฌานที่ไม่มีรูป ไม่มีรูปร่าง มันเข้าไปสู่อรูปฌานได้ง่าย จิตมันก็ทรงอยู่ในอรูปาวจร อรูปภูมิ แล้วภาวนาเห็นความจริง ทุกข์เกิดเพราะตัณหาเกิด ตัณหาเกิดเพราะการไม่รู้ความจริงของรูปนาม ขันธ์ 5 ว่าเป็นไตรลักษณ์ จิตจะพัฒนาขึ้นไปอีก ขึ้นสู่โลกุตตรภูมิ จากกามาวจรภูมิยกขึ้นมาสู่รูปาวจร อรูปวจร ในที่สุดก็ไปถึงโลกุตตรภูมิได้ ยกตัวเองให้มันสูงขึ้นๆ ไป

วิธียกตัวเองให้สูงขึ้น ขั้นแรกเลยรักษาศีล 5 ไว้ ความชั่วอะไรที่เคยมี รู้ทันตัวเอง แล้วก็ลดละเสีย ความดีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ มีโอกาสก็ทำเสีย ความดีอะไรที่ทำแล้วก็รักษาเอาไว้ ไม่ใช่ดีวันเดียวสองวัน ถัดจากนั้นชั่วเหมือนเดิมอะไรอย่างนี้ อย่างบางคนเข้าพรรษาก็อดเหล้า อดเหล้าเข้าพรรษา ถามว่าดีไหม ดี เป็นบุญ แต่ออกพรรษาแล้วรักษาไว้ไม่ได้ รักษาความดีไว้ไม่ได้ นี้ไม่เก่ง ไม่ฉลาดจริง

ฉะนั้นพวกเรารักษาศีล 5 ความชั่วอะไรยังไม่ละก็ละเสีย แล้วก็ไม่ไปทำความชั่วขึ้นมาอีก กุศลอะไรยังไม่ได้ทำก็ทำเสีย เจริญเสีย ตัวกุศล มันก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ ก็พัฒนามันไป จิตมันก็จะเกิดอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นตัวกุศลจริงๆ อโมหะก็คือตัวปัญญานั่นล่ะ ค่อยๆ ฝึก พัฒนาตัวเอง กุศลอะไรยังไม่ทำก็ทำเสีย กุศลอะไรที่ทำได้แล้วก็รักษาเอาไว้ ไม่ใช่ทำแล้วก็เลิกๆ เมื่อไหร่มันจะดี เหมือนการภาวนา ต้องทำทุกวัน ถ้าทำตั้งแต่ตื่นจนหลับได้ดีที่สุด ถ้ายังมีหน้าที่การงาน ทางโลกก็ทำงานไป ถึงเวลาทำงานก็ทำหน้าที่ของเราไป มีเวลาเมื่อไหร่ก็มารู้กายรู้ใจ มีสติ มีจิตตั้งมั่น อย่างนี้เราถึงจะพัฒนาตัวเองได้ เก่งวูบๆ วาบๆ ขยันวูบๆ วาบๆ ไม่ได้กินหรอก กิเลสลากเอาไปหมด

สรุปก็คือไปสำรวจตัวเอง ความชั่วอะไรที่ยังไม่ละก็ละเสีย อย่าไปทำชั่วซ้ำขึ้นมาอีก ความดีอะไรยังไม่ทำก็ทำเสีย ความดีอะไรที่ทำแล้วก็รักษาเอาไว้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็สมกับเป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ทำอย่างนี้ ชีวิตเราก็ตกต่ำ จะไหลลงอบายภูมิอย่างที่ว่านั่นล่ะ ใจมันตกต่ำตั้งแต่ตอนยังไม่ตายนี้ล่ะ พอตายไป ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะตกต่ำไหม ก็ตกต่ำตั้งแต่ยังไม่ตายแล้ว ตายแล้วมันจะไปไหน มันก็ไปอบาย หรือเราสร้างความดีของเราเรื่อยๆ ยกระดับขึ้นไป ไม่หลงโลก แบ่งเวลาไว้ภาวนาทุกวันๆ เจริญสติ สมาธิ ปัญญาไป ใจเราก็สูงๆๆ ขึ้นไปเรื่อยเป็นลำดับไป จนถึงโลกุตตระ พากเพียรไป อย่ายอมแพ้กิเลส กิเลสมันหอมหวานในเบื้องต้น มันเผ็ดร้อนในเบื้องปลาย กุศลหรือการทำความดี มันลำบากในเบื้องต้น เราไม่เคยทำมันก็ลำบาก แต่มันมีผลอันประเสริฐในเบื้องปลาย ฉะนั้นอดทนเอาไว้ แล้วก็ค่อยๆ ภาวนาไป อย่าละเลย.

(พิธีทอดกฐิน)

เราก็เสร็จพิธีกรรมประจำปีแล้ว หลวงพ่อก็ขออนุโมทนากับพวกเราทุกคน กฐินที่นี่ก็เป็นกฐินสามัคคี ร่วมกันทุกๆ คน มีส่วนแห่งบุญอันเดียวกัน เราได้ทำบุญได้ทำความดีแล้ว พยายามมีสติรักษาจิตใจของเราไว้ จิตใจเรานี่ล่ะเป็นภาชนะที่รองรับเอาบุญไว้ ขอให้มีความสุขมีความเจริญในธรรมทุกคนนะ.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 ตุลาคม 2564