มีชีวิตด้วยความไม่ประมาท

เราพยายามมีชีวิตด้วยความไม่ประมาท อย่าประมาทว่าอายุยังน้อยแล้วไม่ตาย ประมาทด้วยวัย ความตายไม่แน่นอน เด็กก็ตายได้ บางทีคนแก่ไม่ยอมตายก็มีอยู่ได้เป็นร้อยก็มี เราประมาทไม่ได้ว่าอายุยังน้อย ยังหนุ่ม ยังสาว ยังแข็งแรง มีชีวิตอย่างไม่ประมาท ทั้งการดำรงชีวิตทางโลกก็ต้องไม่ประมาท ในทางธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องไม่ประมาท เตือนตัวเองเรื่อยๆ ว่าเราอาจจะเจอความเจ็บไข้เมื่อไรก็ได้ เจอความตายเมื่อไรก็ได้ หรืออาจจะพลัดพรากจากคนที่รักจากสิ่งที่เรารักเมื่อไรก็ได้ อาจจะเจอสิ่งที่เราไม่ชอบใจเมื่อไรก็ได้ คอยเตือนตัวเองทุกวันๆ

มีบทสวดอยู่บทหนึ่ง “ชะรา ธัมโมมหิ ชะรัง อะนะตีโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เรามีความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจ” ก็ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ชอบใจ เลือกไม่ได้ มาเมื่อไรก็ได้นะสิ่งเหล่านี้ ก็เตือนตัวเองทุกวันๆ เราก็จะดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท อยู่กับโลกเราก็ต้องดู เรามีหน้าที่อะไรทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ อย่าให้ต้องเสียใจทีหลัง อย่างคนบางคนไม่เคยบอกรักพ่อรักแม่เลย เจอพ่อเจอแม่ก็ดุด่าว่ากล่าว ไม่รู้ใครเป็นแม่ใครเป็นลูก พอพ่อแม่ตายก็มาจุดธูปบอกกล่าวว่า โอ๊ย เสียดาย รักอย่างโน้นรักอย่างนี้ ตอนเป็นๆ ไม่บอก หรือรีบสำรวจพ่อแม่ชอบกินอะไร ตอนเป็นๆ ไม่ได้ให้กิน พอตายแล้วก็มาให้พระเป็นไปรษณีย์ทำบุญอุทิศให้ เลือกของที่ดีๆ ของที่พ่อแม่ชอบ มันเลื่อนลอยเกินไป

ฉะนั้นถ้าเราไม่ประมาท เราจะพลัดพรากกันเมื่อไรก็ได้ เราก็ดูแลกันให้ดีที่สุดตามหน้าที่ของเรา หน้าที่ของฆราวาสรู้จักทำมาหากิน รู้จักเลี้ยงครอบครัว รู้จักอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนา ค้ำชูศาสนาไม่ใช่แค่บริจาคเงินสร้างโน่นสร้างนี่ เดี๋ยวก็หล่อพระ เดี๋ยวก็ทำโน่น เดี๋ยวก็ทำนี้ วุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น จะค้ำจุนศาสนาจริงๆ เอาธรรมะมารักษาไว้ในใจเราให้ได้ ส่วนใหญ่ก็ไปติดแค่เปลือกๆ แค่รูปแบบ ทำบุญทำทานอะไรกัน ถามว่าดีไหม ก็ดีเหมือนกัน แต่ไม่ได้ดีเท่าไรหรอก ดีนิดหน่อย ตามวัดตามอะไรก็เรี่ยไรกันอุตลุดเลย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยจะมีจะกิน ทำมาหากินก็ยาก บางคนก็หลอกลวงกัน สร้างพระ สร้างเทวรูป บอกถ้าซื้อรุ่นนี้แล้วรวย คนส่วนใหญ่เขาไม่เข้าใจศาสนาพุทธ ฉะนั้นเราก็ไม่ควรไปหากินกับความโง่ของคน มีไหมวัตถุมงคลพกไว้แล้วรวย ไม่มีหรอกมันเป็นไปไม่ได้ มันผิดหลัก ไม่รู้จักทำมาหากิน ไม่รู้จักเก็บออม ไม่รู้จักเลือกคบคน หมกมุ่นในเรื่องอบายมุข อย่างไรมันก็ไม่รวย ความหลอกลวงมันเต็มไปหมด

ศาสนาพุทธของเรามันไม่ใช่พุทธเพียวๆ ไม่ใช่พุทธแท้ๆ หรอก มันปนกับศาสนาผี ศาสนาบูชาบรรพบุรุษอะไรต่ออะไร ซึ่งมันมีมาก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้ เข้ามาแล้วก็มาผสมกันเข้า เป็นพุทธประหลาดๆ วัดไหนขุดเจอตอไม้ก็เอามาไหว้กัน ขายดอกไม้ธูปเทียนได้เงิน ขายผ้าสีต่างๆ ไปส่งเสริมให้คนซึ่งไม่รู้ ไม่เข้าใจ โง่งมงายมากกว่าเก่าอีก แต่อันนั้นมันสนองตลาด คนส่วนใหญ่เข้าหาศาสนาพุทธไม่ได้รู้ว่า ศาสนาพุทธมีวัตถุประสงค์ มีแก่นแท้ที่ตรงไหน คิดว่ามานับถือพุทธแล้วจะได้มีโชค มีลาภ จะได้เฮงๆ เจ็บป่วยขึ้นมาก็ไปขอพรให้หายเจ็บหายป่วย มีโยมมาขอหลวงพ่อ ทำบุญขอให้หายป่วย หลวงพ่อยังป่วยเลย อย่างมงาย ถ้าเราปล่อยตัวเองให้งมงายไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้ของดีจากศาสนาพุทธ ได้อย่างมากก็แค่ความสบายใจ ความสบายใจแบบทำอย่างนี้แล้วไม่ทุกข์ มันเป็นการแก้ทุกข์แบบนกกระจอกเทศ เห็นศัตรูมาเอาหัวซุกปีกเข้ามองไม่เห็นแล้ว ศัตรูไม่มีแล้ว คล้ายๆ มันหลอกตัวเองไปวันหนึ่งๆ ฉะนั้นต้องเลิกงมงาย

เมื่อก่อนครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อองค์หนึ่ง คือหลวงพ่อปัญญา หลวงพ่อปัญญาท่านชอบทะเลาะกับศาลพระภูมิ จะให้รื้อศาลพระภูมิ ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นยุคแรกๆ ท่านก็พยายามให้ชาวบ้านเลิกนับถือศาลผี ศาลปู่ตาตามหมู่บ้านจะให้เลิก จนมาถึงวันนี้ผ่านมาร่วมร้อยปีสิ่งเหล่านั้นก็ยังอยู่ มันฝังรากลึก ตัวศาสนาแท้ๆ นั้นล่ะที่หาย แต่ตัวความงมงายยังอยู่ ฉะนั้นพวกเราต้องไม่ประมาท อย่านึกว่าศาสนาพุทธจะยั่งยืนนักหนา ถ้าเราไม่ลงมือศึกษา ไม่ลงมือปฏิบัติ ศาสนาพุทธจะหายเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นเราประมาทเกินไป อย่างวันนี้เราก็ชอบคิดว่าเรายังไม่ตาย ยังมีชีวิตอีกนาน เอาไว้เมื่อนั้นเมื่อนี้เราค่อยปฏิบัติ ก็มัวคิดอย่างนี้เลยไม่ได้ปฏิบัติเสียที บางคนกะว่าอายุ 50 ปีขึ้นไปแล้วถึงจะปฏิบัติ บังเอิญอยู่ไม่ถึง 50 ปีตายเสียก่อน นี้เรียกว่าคนประมาท

อย่างพวกเรามีโอกาสเจอศาสนาพุทธแล้ว ถ้าไม่รู้จักตักตวงผลประโยชน์จากศาสนาพุทธ คือการเรียนรู้สัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถ่องแท้ เรียกว่าเราประมาท เพราะศาสนาพุทธจะสูญไปเมื่อไร ไม่รู้ ปกติไม่ยั่งยืนเท่าไรหรอก มันเป็นศาสนาที่เข้าใจยาก ศาสนาที่ต้องช่วยตัวเอง คนส่วนใหญ่อ่อนแอไม่ได้คิดจะช่วยตัวเอง คิดจะขอพรขออะไรไป ฉะนั้นอย่าประมาท มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว ลงมือปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องนั่งสมาธิ เดินจงกรม แค่นั้นไม่พอ ถ้าเราไม่เคยมีศีล เราตั้งใจรักษาศีลก็เรียกว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว หรือเราทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนให้เราถือศีล เราไม่ผัดว่ารอเมื่อนั้นเมื่อนี้ก่อนค่อยถือ แล้วตั้งใจให้เด็ดเดี่ยวไป เราจะถือศีล 5 ตั้งใจไว้ ถือศีลทีแรกก็ลำบาก ยุคนี้คนมันไม่ถือศีลกัน มันกลายเป็นทำอะไรแปลกๆ การถือศีล แต่ต้องอดทน อยากได้ของดีก็ต้องอดทน

หลวงพ่อรู้ว่าการเป็นฆราวาสนั้นถือศีลยาก ถือศีลให้สะอาดหมดจดนี้ยากมากในการเป็นฆราวาส แต่ก็ต้องพยายาม อย่างหลวงพ่อเคยกินเหล้าไม่กี่ครั้งหรอก มันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ กินเหล้าครั้งแรกเข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง รุ่นพี่มันให้กินไม่กินกับมันก็ไม่ได้ อยู่กันไม่ได้มีเรื่องเยอะ ก็ต้องทำเป็นกิน ทำเมาๆ จะได้เลิกยุ่งกับเรา ถัดจากนั้นเลี่ยงได้ก็เลี่ยงตลอด มารับราชการผู้ใหญ่เขากินเหล้าเราไม่กิน อยู่ในแวดวงเขาจะทำอย่างไร หลบเลี่ยงอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีก็ต้องนั่งโต๊ะเดียวกับเขาหนีไปไหนไม่ได้ เขากินเหล้าเรากินกับอะไรพวกนี้ หาทางหลบๆ เลี่ยงๆ ไป หรือกินโซดาหยดโค้ก 2 – 3 หยดเหมือนวิสกี้เลย สีสันเหมือนกันกลืนๆ ไป มันถือยาก เพราะสังคมนี้มันเป็นสังคมของคนไม่มีศีล แต่เราต้องอดทนพยายามใช้สติใช้ปัญญา ทำอย่างไรเราจะรักษาศีลได้ นั่นล่ะคือการปฏิบัติธรรม ทุกวันต้องแบ่งเวลาไว้ภาวนา ทำอะไรไม่ได้คิดถึงความตายไปเรื่อยๆ ก็ได้ เราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะเจ็บไข้จนช่วยตัวเองไม่ได้เมื่อไรก็ไม่รู้ เตือนตัวเองทุกวันๆ จะได้ไม่ประมาท

 

ยาแรงคือมรณสติ

การที่เราคิดถึงความตายบ่อยๆ เรียก มรณสติ เราจะได้สมาธิ ได้ความสงบของจิตใจ อย่างจิตใจเราฟุ้งซ่านมาก โลภมาก หรือโกรธคนโน้นโกรธคนนี้มาก ถ้าเราคิดถึงความตายเราก็จะรู้ โลภไปเท่าไรสุดท้ายก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่แสวงหามา ไม่มีอะไรเหลือสักอย่าง บ้านเรา ทรัพย์สมบัติเรา ครอบครัวเรา สุดท้ายก็ต้องทิ้งหมด พอคิดถึงความตายก็ไม่รู้จะโลภไปหาสวรรค์วิมานอะไร ความโลภมันก็ลดลง โกรธ อาฆาต คิดถึงความตาย เขาก็ตาย เราก็ตาย คนโบราณสมัยอยุธยาก็โกรธกัน เกลียดกัน ฆ่ากัน มีผู้แพ้ มีผู้ชนะ ผ่านมาถึงวันนี้ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ พวกที่ว่าชนะๆ ได้เป็นใหญ่เป็นโต มันก็ตายเหมือนกัน พิจารณาลงไปเรื่อยๆ มันก็จะรู้สึกว่าเราไม่รู้จะโกรธกันทำไม โกรธกันไม่นานก็ต้องตายจากกันอยู่ดี ความโลภ ความโกรธอะไรมันก็จะเพลาๆ ลง

พิจารณาบ่อยๆ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังบอกเลย ท่านพิจารณาความตายทุกขณะจิต เมื่อก่อนหลวงพ่อไม่เข้าใจ พิจารณาอย่างไรทุกขณะจิต ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลยหรือ ภาวนาแล้วก็ค่อยเข้าใจ เรามีความตายอยู่ตลอดเวลา หายใจออกเราก็ตายจากการหายใจเข้า หายใจเข้าเราก็ตายจากหายใจออก ตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ตายอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ตอนนี้นั่งเดี๋ยวอิริยาบถที่นั่งอยู่ก็ตายไป เกิดเป็นอิริยาบถนอน หรืออิริยาบถยืน เราตายอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราคอยระลึกอยู่เรื่อยๆ ใจมันจะสงบ มันจะสงบอัตโนมัติเลย ไม่รู้จะดิ้นรนไปทำอะไร ไม่รู้จะรักไปทำอะไร ไม่รู้จะเกลียดไปทำอะไร สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า พิจารณาลงไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐานอย่างอื่นไม่เป็น ก็พิจารณาความตายนี่ล่ะง่ายที่สุดแล้ว

แล้วงานถัดไปก็คืองานเจริญปัญญา พอเรามีสมาธิจิตใจเราร่มเย็นเป็นสุขแล้ว อย่าเพลิน จะต้องเจริญปัญญา อย่างถ้าเราไม่มีศีล เรามีศีลเรียกว่าเราไม่ประมาท พอเรามีศีลแล้วเราพอใจอยู่แค่นี้ล่ะ ก็เรียกว่าประมาทอีกแล้ว เราก็ต้องฝึกจิตใจให้สงบ ให้ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว มีสมาธิถึงจะเรียกว่าเราไม่ประมาท พอเรามีสมาธิจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ก็อยู่แค่นั้นล่ะ กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็สงบอยู่เฉยๆ สบายอยู่เฉยๆ อันนี้เรียกว่าประมาทอีกแล้ว คือความดีเรายังทำได้ไม่เต็มที่ แล้วก็ไม่คิดขวนขวายที่จะทำ อันนั้นล่ะเรียกว่าประมาท เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกใจของเราทุกวันๆ ให้จิตใจมันสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยกามราคะ ด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ความพยาบาท ความหวาดกลัว ใจเราเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่าง ใจมันจะมีกำลังในการเจริญปัญญา

อย่างช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรกๆ ที่โควิดระบาด เราได้ยินข่าวที่ยุโรป ที่อเมริกา ที่อเมริกาใต้ตายกันจนทำศพไม่ทัน ฝังกันไม่ทันเลย เราก็แตกตื่นตกใจ อันนั้นใจเราเสียสมดุลด้วยความกลัว นี้ต่อมาเราก็รู้สึก โอ๊ย ทำมาหากินลำบาก กลุ้มใจ ใจเราก็เศร้าหมอง ไม่สบายใจ อันนั้นเราก็เศร้าใจด้วยความโกรธ กลุ้มใจด้วยความโกรธ หรือชีวิตลำบากเหลือเกิน ตอนนี้ยกระดับมาอีก ฉีดวัคซีนแล้วอยู่กับมันแล้ว คิดว่าไม่เป็นไรหรอก ตัวเองไม่เป็นไรแต่คนรอบตัว ผู้เฒ่าผู้แก่อาจจะเป็นก็ได้ สนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้กัน อันนี้เตลิดเปิดเปิง จิตใจเตลิดเปิดเปิงไปด้วยความหลง เห็นไหมเรื่องโควิดก็สอนเราครบเลย มีตั้งแต่ความกลัว ความโกรธ ความโลภ ความหลง มีครบให้ดู ช่วงนี้เราไม่ค่อยกลัวโควิดแล้ว เราอยู่ในช่วงหลง หลงเพลิดเพลินกัน สนุกสนาน

ฉะนั้นเราอย่าประมาท ฝึกตัวเอง เจริญปัญญาได้ก็เอา พิจารณากรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง พิจารณาลมหายใจ พิจารณาความตาย พิจารณาอะไรก็ได้ พิจารณาถึงทานที่เราทำแล้ว พิจารณาถึงศีลที่เรารักษาแล้ว หรือจะคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์ คิดถึงคนดีๆ เรียกว่าเทวตานุสติ คิดถึงความสงบของใจ ถ้าใครเคยภาวนาใจเคยสงบร่มเย็น คิดถึงมัน โอ้ เราสูญเสียมันไปเพราะว่าใจเราหลงตามโลก ใจมันก็ไม่เอาแล้ว กลับมาหาความสงบดีกว่า อยู่กับความสงบพิจารณาความสงบไปเรียก อุปสมานุสติ พิจารณาความตายเรียก มรณสติ พิจารณาลมหายใจ เห็นร่างกายหายใจออกตายไปทีหนึ่ง หายใจเข้าตายไปทีหนึ่ง รู้ลมไป เห็นชีวิตหมดไปสิ้นไปเรียก อานาปานสติ พิจารณาร่างกาย ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุธาตุ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก มันธาตุดินอะไรอย่างนี้ น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะอะไรนี้ ธาตุน้ำ พิจารณาอาการ 32 ไปดูกูเกิลเอาแล้วกัน อย่างนั้นเรียกว่า กายคตาสติ

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วก็ใจมันสงบ อย่างคิดถึงความตายเป็นกระบวนท่าไม้ตาย หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอน หลวงพ่อได้ยินท่านสอนมาเองเลย ท่านบอกว่าบางทีพิจารณากรรมฐานอะไร จิตไม่ยอมลงเลย อย่างมีราคะพิจารณาอสุภะอย่างไรจิตยังไม่หายจากราคะ ท่านบอกไม้ตายเลยพิจารณาความตาย จะมีราคะอะไรนักหนาใช่ไหม ได้มาเดี๋ยวก็เสียไป ชอบสาวคนนี้สวยตายปุ๊บไม่สวยแล้ว ยกให้ก็ไม่มีใครเอาแล้ว ฉะนั้นพิจารณาอะไรไม่ลง สุดปัญญาแล้วใช้ยาที่แรงๆ ยาแรงก็คือตัวมรณสตินี่ล่ะ ถ้าตายเสียอย่างเดียวอย่างอื่นจะสำคัญอะไร ถ้าเห็นตัวนี้แล้ว พอใจเราสงบจากนิวรณ์ จากเครื่องกั้นความเจริญ กามฉันทะ การที่จิตมันรักใคร่ผูกพันอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย พยาบาท การที่จิตมันไม่พออกพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ฟุ้งซ่านแล้วก็ต่อด้วยรำคาญใจ ความลังเลสงสัย ความเซื่องซึม ถ้าใจเรามีสมาธิมันก็จะพ้นจากนิวรณ์ 5 ตัวนี้

 

หมายรู้ให้ถูก

นิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นเครื่องขวางความเจริญ ทำให้เราพัฒนาจิตใจไม่ได้ ฉะนั้นเราก็มีสมาธิกำราบนิวรณ์ให้มันสงบลง มันได้แค่สงบลงมันไม่หมดหรอก เดี๋ยวมันก็มาอีก สู้กันเป็นยกๆ ไป ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ มีสมาธิก็ข่มนิวรณ์ได้ สมาธิหมดไปนิวรณ์ก็มาใหม่ อาศัยช่วงที่ใจสงบจากนิวรณ์ มีสมาธิจิตใจสบายอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ในสภาวะนี้ต้องฉวยโอกาสอันนี้มาเจริญปัญญา การเจริญปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของใจ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มีสติ สติเป็นเครื่องมือในการรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น เรียกสติปัฏฐาน

ฉะนั้นเรามีสติรู้สภาวะ คือรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น กายมันเป็นอย่างไร ใจมันเป็นอย่างไร เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายรู้ลงไปในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกาย หมายรู้ลงไปในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของใจ การหมายรู้มันคล้ายๆ เป็นมุมมองของจิต ไม่ใช่เรื่องคิดเอา คล้ายๆ เราแทนที่เรารู้สึกร่างกาย แล้วก็นี่ร่างกายเราๆ มันหมายรู้ลงไปก็แค่วัตถุอันหนึ่ง ไม่ใช่เรา มันพูดยากนะภาษามนุษย์ แค่ไหนเรียกว่าหมายรู้ แค่ไหนเรียกว่าหลงคิด ลำบากนิดหนึ่ง ค่อยๆ สังเกตเอา หมายรู้ มันแค่รู้สึกๆ ตัวนี้ไม่เห็นเป็นเราตรงไหนเลย แค่รู้สึกไม่ใช่คิด นี่ตัวนี้เป็นรูป เป็นวัตถุ เป็นอะไร อันนี้คิดแล้ว แค่รู้สึกตัวนี้มันเคลื่อนไหวอยู่นี่ ไม่ใช่เราหรอก ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาหรอก หมายรู้ให้ถูก

ค่อยๆ ไปดูเอา ค่อยๆ ไปสังเกตเอา ช่วงแรกยังหมายรู้ไม่เป็นไม่ต้องตกใจ อย่างสมมติจิตเราสงบแล้ว เราดูลงในกาย เราหมายรู้กายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เป็น หมายรู้ยังไม่เป็นทำอย่างไร คิดมันไปเลย คิดพิจารณาร่างกายเลย ร่างกายนี้มันไม่เที่ยง เมื่อก่อนมันเป็นเด็กตอนนี้มันเป็นหนุ่มเป็นสาว อีกหน่อยมันก็แก่ คิดพิจารณามันไป ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา คิดนำมันไปเลย ตรงนี้ยังไม่ใช่การหมายรู้ แต่ว่ากระตุ้นให้จิตมันหัดดูความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกาย หรือของจิตใจก็ได้ แล้วแต่จะดู อย่างดูร่างกายแล้วคิดไปเลย นี่มันไม่เที่ยงหรอก นี่หนังเริ่มเหี่ยวแล้ว แก่แล้วอีกหน่อยก็ตาย ค่อยๆ พิจารณาไปเรื่อย ต่อไปถึงจุดหนึ่งจิตเรามีสมาธิอยู่ พอร่างกายมันเคลื่อนมันหมายรู้เองเลย มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันรู้สึกขึ้นมาเองเลย ไม่ใช่คิดแล้วคราวนี้ แต่เบื้องต้นอาศัยคิดไปก่อนก็ได้ ต่อไปก็พอหมายรู้ได้แล้ว มันจะรู้สึกแล้ว ต่อไปเวลาคิดถึงมันก็จะคิดในทางที่ดีแล้ว คือในทางที่ถูก มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันหมายรู้ให้ถูก ความคิดความเห็นของเราถัดจากนั้นมันก็จะถูก มีความเห็นถูก นั่นล่ะตัวสัมมาทิฏฐิแล้ว

ฉะนั้นมีสติรู้กายรู้ใจ รู้อย่างที่มันเป็น กายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น เรียกว่ามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง เราจะเกิดปัญญาได้ จิตต้องตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญามีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

 

ทำสมาธิต้องมีสติกำกับ

เมื่อไม่กี่วันนี้หลวงพ่อไปเห็นคลิปธรรมะอันหนึ่ง มีคนเผยแพร่บอกไม่ต้องทำสมาธิหรอก ฉันทำมาตั้งนานแล้วไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย นี่ไปพาให้คนอื่นหลงผิด สมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา แต่มิจฉาสมาธิมันไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ต้องสมาธิที่ถูกเท่านั้น คนที่เขาแสดงวาทะว่าสมาธิไม่จำเป็นไม่เห็นมีประโยชน์ เพราะเขาไปทำแต่มิจฉาสมาธิ เขาไม่เคยรู้จักสัมมาสมาธิ เห็นคลิปเขาเห็นหน้าเขาเราก็รู้แล้ว ไม่เป็น จิตเข้ามาไม่ถึงฐานจริงหรอก ใจมันแค่ฟุ้งๆ ไป ฟุ้งในธรรมะไม่ใช่การเห็นธรรมะ ฟุ้งซ่านในธรรมะ นี่ศัตรูเลยล่ะ

จิตที่ฟุ้งซ่านในธรรมะนั้นล่ะจิตมีอุทธัจจะ สังเกตไหมพอฟุ้งซ่านในธรรมะแล้ว ถัดจากอุทธัจจะ คือกุกกุจจะ รำคาญ หงุดหงิด อุ้ย นั่นก็ไม่ถูก นี่ก็ไม่ถูก สมาธิทั้งหมดใช้ไม่ได้อะไรอย่างนี้ เพราะไม่เคยรู้จักสมาธิที่ถูกต้อง ไม่รู้จักสัมมาสมาธิ ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนพวกเรา มีสติไป ทำสมาธิต้องมีสติกำกับ ถ้าเราไม่มีสติเมื่อไร สมาธิที่มีอยู่มันเป็นมิจฉาไปหมดล่ะ นั่งแล้วก็เคลิ้มสะเงาะสะแงะไป อันนั้นมิจฉาสมาธิ หรือทำแล้วก็เครียดไปหมดนั่นล่ะมิจฉาสมาธิ ทำแล้วก็เห็นผี เห็นสาง เห็นอดีต เห็นอนาคต ระลึกชาติ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ระลึกแต่ละทีใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย ไม่เห็นระลึกเลยว่าเป็นหมา เป็นแมว เป็นอะไรอย่างนี้ไม่ค่อยจะระลึก อย่างครูบาอาจารย์ท่านระลึกจริง บางองค์ท่านบอกเลยท่านเคยเกิดเป็นหมาตั้ง 500 ชาติ อย่างนั้นระลึก พวกกิเลสเยอะๆ ระลึกทีไรใหญ่ทุกทีเลย อย่างที่หลวงพ่อเคยได้ยิน เป็นพระนเรศวรมาเกิด กลับชาติมาเกิด มีเป็นโหลเลยพวกที่บอกเป็นพระนเรศวรมาเกิด เยอะแยะไปหมดเลย นี่มิจฉาแล้ว ทำไปด้วยใจที่มีมานะอัตตารุนแรง มันก็นิมิตไปอย่างนั้นเอง สมาธิอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

ฉะนั้นจะทำสมาธิต้องมีสติกำกับ จิตหลงแล้วรู้ จิตเคลื่อนไปหลงในโลกของความคิดแล้วรู้ จิตไหลตามแสงสว่างไป รู้ มันจะได้ไม่หลงผิด จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมา มีจิตตั้งมั่นได้ก็เดินปัญญาไป สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้จิตใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิตใจ นี่คือการเจริญปัญญาทิ้งสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิทิ้งมันเสียเถอะ เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เดินไปดู เคยเที่ยวดูนักปฏิบัติกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ สำนักโน้น สำนักนี้ เที่ยวดูไป ก็สรุปได้อย่างหนึ่ง จุดที่ส่วนใหญ่ขาดก็คือสัมมาสมาธิ จิตไม่ได้ทรงตัวตั้งมั่นเป็นกลาง มีสติ ไม่ได้ปราศจากโลภ โกรธ หลง ไม่มีความเบา ไม่มีความนุ่มนวลอ่อนโยน ไม่มีความคล่องแคล่วว่องไว ขี้เกียจที่จะดูไตรลักษณ์ แล้วก็รู้สภาวะต่างๆ ก็ชอบเข้าไปแทรกแซงสภาวะต่างๆ แทรกแซงอารมณ์ จิตไม่ได้มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตยังเป็นอกุศลอยู่ ถ้าสมาธิอย่างนั้นอย่าทำเสียดีกว่า อย่างที่เขาพูดนั่นล่ะก็ถูกของเขา แต่มันถูกครึ่งเดียว คือสมาธิชนิดมิจฉาอย่าไปทำมันเสียดีกว่า ทำแล้วแก้ยาก ส่วนสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิทิ้งไม่ได้ ทิ้งสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจะไม่เกิด สัมมาญาณะไม่เกิด สัมมาวิมุตติจะไม่เกิด สัมมาญาณะ คือการหยั่งรู้ความจริงจะไม่มี เพราะฉะนั้นจิตต้องตั้งมั่นถึงจะใช้ได้

ถ้าเราภาวนา มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตตั้งมั่นเป็นกลาง มันมีอานิสงส์มาก มีผลมาก มีประโยชน์มาก อย่างเราไม่เคยมีจิตตั้งมั่น พอมีจิตตั้งมั่นปุ๊บ ช่วงแรกหรือครั้งแรกเลยที่ตั้งขึ้นมา เราจะมีความรู้สึกเหมือนเราตื่นขึ้นมา เราจะรู้เลยตลอดชีวิตที่ผ่านมานี่ เราฝันตลอด เราไม่เคยตื่นเลย พอจิตตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา มันจะรู้เลย โอ้โห ที่ผ่านมาทั้งชีวิต ตื่นแต่ร่างกายแต่จิตนั้นหลงตลอด ฝันตลอด ไม่เคยหลุดออกจากโลกของ ความคิดความฝันได้เลย พอจิตตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา มีผู้รู้ขึ้นมา เพิ่งจะตื่น ฉะนั้นในโลกหาคนตื่นยากมากๆ เลย ยุคนี้ยังเยอะนะ หลวงพ่อพูดเรื่องจิตเรื่องอะไรอย่างนี้บ่อยๆ พวกเราจำนวนมากที่ตื่นขึ้นมา ยุคก่อนหน้านี้ หลวงพ่อไปดูที่โน้นที่นี้นั่งสมาธิกันง่อกๆ แง่กๆ เคลิ้มๆ หรือไม่ก็เครียดๆ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น แต่เป็นผู้หลง เป็นผู้เพ่ง เป็นผู้กดขี่บังคับตัวเอง มันเป็นมิจฉาสมาธิ

 

“ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ จิตเราเป็นผู้รู้จริงๆ การเจริญปัญญามันจะเกิด
แล้วถ้าการเจริญปัญญามันเกิดอย่างแท้จริง
มันใช้เวลาไม่มากหรอกที่จะเห็นความจริง ที่จิตจะยอมรับความจริง บรรลุมรรคผล”

 

ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ จิตเราเป็นผู้รู้จริงๆ การเจริญปัญญามันจะเกิด แล้วถ้าการเจริญปัญญามันเกิดอย่างแท้จริง มันใช้เวลาไม่มากหรอกที่จะเห็นความจริง ที่จิตจะยอมรับความจริง บรรลุมรรคผล จะใช้เวลาไม่เยอะเลย ที่ทำแล้วไม่สำเร็จเพราะจิตมันไม่มีคุณภาพ เอาจิตที่เต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ เอาไปเจริญปัญญา มันก็ไปเจริญกิเลสเสียหมด เพราะฉะนั้นจิตมันจะต้องเป็นกุศลก่อน เป็นสมาธิ มีความเบา นุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว เหมาะสมที่จะเจริญปัญญา ซื่อตรงในการรู้สภาวะ ไม่เข้าไปแทรกแซง จิตไม่ประกอบด้วยราคะ โทสะ โมหะ นั่นล่ะเป็นจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง แล้วอาศัยจิตชนิดนี้ เวลาสติระลึกรู้สภาวะทั้งหลายจิตตั้งมั่น จิตเป็นกลาง ปัญญามันจะเกิดอย่างรวดเร็วเลย จะใช้เวลาไม่มากหรอก ที่มากคือการเตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา ส่วนจิตที่พร้อมเจริญปัญญาแล้ว จะเจริญปัญญาใช้เวลาอีกไม่เยอะหรอก มันคล้ายๆ เราจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ใช้เวลาสร้างนาน สร้างกันเป็นปีๆ หลายๆ ปีวิจัยกว่าจะทำได้ แต่พอมีอาวุธยิงตูมเดียวเสร็จแล้ว เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ที่เราฝึกกันนาน เราฝึกให้จิตทรงสมาธิที่ถูกต้อง จิตจะมีพลังมีอำนาจ เอาไปเจริญปัญญาไม่นาน มันก็ฟาดฟันกิเลสแตกกระจายหมด ใช้เวลาไม่นานหรอก บางคนช้าสุดก็ 7 ปีได้พระอนาคามี หรือได้พระอรหันต์ บางท่านเร็วกว่านั้น 7 เดือนเป็นพระอรหันต์ หรืออย่างต่ำเป็นพระอนาคามี บางท่าน 7 วัน บางท่านวันเดียว ทำวันนั้นบรรลุวันนั้นเลย อย่างรวดเร็วเลย นั้นจิตมีคุณภาพ ถ้าจิตไม่มีคุณภาพเหมือนมีดทื่อ เอาไปตัดต้นไม้ป๊อกๆๆ ไปเรื่อย อย่างกับนกตีทองเคาะต้นไม้ไปป๊อกๆๆ ไม่ได้เรื่อง ต้นไม้ไม่กระเทือน เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท ทุกวันตั้งใจรักษาศีล 5 ทุกวันต้องแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง อย่างวันนี้ก็พูดให้ฟังตั้งหลายอย่าง รวมถึงมรณสติ คิดถึงความตายเรื่อยๆ ใจก็สงบลงมา พอจิตใจสงบแล้วรู้สึกลงในร่างกาย ก็พยายามมาหมายรู้ พยายามพิจารณาลงไป ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา สติไประลึกรู้จิตก็หมายรู้ลงไปที่จิต จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ต่อไปพอจิตมันคล่องตัวแล้ว สติระลึกปั๊บ จิตเป็นคนรู้คนดู จิตหมายรู้เอง หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์อัตโนมัติขึ้นมา เวลาเห็นนั้นเห็นในแวบเดียว

เวลาปัญญาเกิด เกิดในแวบเดียว ส่วนปัญญาที่ยาวๆ พิจารณาได้เป็นชั่วโมงๆ เป็นปัญญาจากการคิด ภาวนามยปัญญา เวลามันเกิดจริงๆ แว๊บเดียวเท่านั้นเอง อย่างเราแปรงฟันอยู่ไม่ทันตั้งหลัก อยู่ๆ รู้สึกปุ๊บขึ้นมานี่ไม่ใช่เราแล้ว เป็นแค่วัตถุอันหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เวลาเข้าใจ เข้าใจในพริบตาเดียว แต่ก่อนจะเข้าใจ ก็ฝึกฝนกันนาน พาเรียนรู้ความจริงนาน พัฒนาจิตใจให้ถูกต้อง นาน ไปฝึกเอา ไปทำเอา เทศน์จนเสียงจะหมดอยู่แล้ว เสียงแหบเสียงแห้ง ตั้งแต่ยังเสียงหล่อๆ สมัยยังหนุ่มๆ ตอนนี้เสียงแหบเสียงแห้ง เห็นพวกเราภาวนาตั้งอกตั้งใจก็รู้สึกคุ้มหน่อย บางช่วงดูพวกเราหลงโลกเยอะ โอ๊ย เทศน์ให้หมาให้แมวฟังก็เหมือนกัน ไม่ได้ประโยชน์อะไร ฉะนั้นตั้งใจภาวนา ไหนๆ มีโอกาสเรียนธรรมะแล้ว อย่าให้เสียชื่อ เป็นคนประมาทไม่ได้เรื่อง

พวกเราไม่ต้องมาขอพรนะ ขอให้หนูแข็งแรง หายจากโรคโน้นโรคนี้ โอ๊ย ครูบาอาจารย์ก็เป็น พระพุทธเจ้ายังนิพพานเลย เราทำไมเจ็บป่วยไม่ได้ จะป่วยเมื่อไรก็ไม่รู้ จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักเมื่อไรก็ไม่รู้ จะเจอสิ่งที่ไม่รักเมื่อไรก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักอย่าง เป็นชีวิตที่มืดมน ทำอย่างไรจะรู้ เที่ยวไปถามหมอดู หมอดูก็ดูไปอย่างนั้นล่ะ ถูกบ้างผิดบ้าง บางทีหมอดูลืมดูตัวเอง หมอดูตัวเองย่ำแย่ไปไม่ทันตั้งหลักเหมือนกัน เป็นชาวพุทธทั้งทีฉลาดๆ หน่อย ค่อยสมกับคำว่าพุทธะ พุทธะ ผู้รู้นะ ไม่ใช่ผู้หลง ผู้งมงาย.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 เมษายน 2565