การปฏิบัตินั้นไม่ยาก

ตอนหลวงพ่อเด็กๆ คนเข้าวัดเยอะ วันพระอะไรนี่คนก็มาฟังเทศน์ ส่วนมากคนแก่ๆ มีล่วมหมากไปด้วย มีตะกร้า มีตะบัน ไปที่วัดก็นั่งตะบันหมาก ก็คุยกัน เวลาพระเริ่มเทศน์ คุณย่าคุณยายก็นั่งหลับกัน สงบ พระเทศน์จบก็ลืมตาขึ้นมาคุยต่อ อยู่ได้ทั้งคืน เช้าขึ้นมาก็กลับบ้าน ได้บุญแล้ว มีบุญเต็มตะกร้ากลับบ้าน ก็ดีเหมือนกัน แต่มันยังไม่ได้สาระแก่นสาร ส่วนใหญ่ก็เข้าวัดเอาบุญ ไม่ได้เอากุศลหรอก

พวกเราเอาแต่บุญไม่พอ มีโอกาสก็เอากุศลให้ได้ กุศลง่ายๆ เลย ถือศีล 5 ไว้ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ก็ละความโลภ ความโกรธ ความหลงไป จริงๆ ก็คือเรื่องของการสู้กิเลสนั่นล่ะ เป็นเรื่องของกุศล ถ้าเราปฏิบัติแล้วกิเลสไม่กระเทือน ยังไม่มีกุศลหรอก ได้แต่บุญ

 

 

บุญก็คือการทำความดี เป็นเหตุของความสุข กุศลคือการฝึกตัวเองให้ฉลาด รู้เท่าทันความจริงของรูป นาม กาย ใจ กระทั่งวัตถุประสงค์ก็คือพ้นทุกข์ บุญนั้นได้ความสุข แต่กุศลได้ความพ้นทุกข์ แค่พูดแค่นี้ คนก็อยากได้บุญมากกว่า เพราะอยากได้ความสุข มองไม่ออกว่าความสุขมันก็ยังเป็นความทุกข์อยู่ ถ้าเราภาวนา เราก็จะฉลาดขึ้น มันฉลาด ตัวนั้นล่ะตัวกุศล มีปัญญาฉลาดรอบรู้ พบว่าความสุขมันก็ไม่ยั่งยืน ดิ้นรนหาแทบตายเลย มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ไป อ้อนวอนมันให้มันอยู่ตลอด มันก็ไม่อยู่หรอก

ฉะนั้นคนในโลกเขาแสวงหาความสุขก็ไม่ผิดหรอก ทำบุญทำอะไร หวังได้รับความสุข ไม่ได้ทำผิด แต่มันยังไม่ฉลาดจริง ความสุขมันเป็นของไม่ยั่งยืน เราลองทบทวนตัวเองดู ในชีวิตเราผ่านความสุขมาเท่าไหร่แล้ว ลองนึกดู ตรงไหนที่สุขมากๆ พอนึกย้อนไปเราจะรู้ สุดท้ายทุกอย่างจะสุขแค่ไหน วิเศษแค่ไหน สุดท้ายมันก็ผ่านไป ไม่มีอะไรยั่งยืน ความสุขเอง ถ้าเราภาวนา เราจะรู้ว่ามันเป็นเครื่องเสียดแทงใจเรา เวลามีความสุขเกิดขึ้น จิตใจก็เสียความเป็นปกติ มันหลงมันเพลิน มันชอบอกชอบใจในความสุข จิตใจเราเสียความเป็นปกติไปแล้ว พอความสุขหายไป จิตใจก็ยิ่งเศร้าหมอง เสียดาย ความสุขผ่านไปแล้ว เสียดาย ความสุขยังไม่มาก็อยากให้มันมา ตรงเสียดายมันก็ทุกข์ ตรงอยากจะมีความสุข อยากให้ความสุขกลับมาก็ทุกข์อีก ได้มาประเดี๋ยวประด๋าว ก็สูญเสียไปอีก

ฉะนั้นการแสวงหาความสุข มันยังไม่ฉลาดพอ แต่ก็ดีกว่าทำชั่ว ไม่มีผลเป็นความทุกข์ ทำบุญไว้ ทำบุญจะได้มีความสุข มีโอกาสก็พัฒนากุศล ลดละกิเลสไปได้ เป็นกุศล ทำบุญไม่ช่วยลดละกิเลสเท่าไหร่หรอก ลดละนิดหน่อย บางทีก็พอกพูนด้วยซ้ำไป อย่างเราทำบุญ แย่งกันทำบุญกับพระองค์นั้นองค์นี้ อยากได้บุญเยอะๆ ทำบุญกับครูบาอาจารย์องค์นี้ๆ จะได้บุญเยอะ มันก็โลภนั่นล่ะ ถ้าทำบุญด้วยความฉลาด อย่างทำทานด้วยความฉลาดคือทำเพื่อลดละกิเลส ไม่ได้ทำเพื่อจะเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

การทำความดีไม่ใช่การลงทุนทางธุรกิจ ไม่ใช่ต้องการผลประโยชน์ อย่างเคยอ่านตำราหรือเคยได้ยินพระสอน ทำบุญกับพระดีๆ ได้บุญเท่านั้นเท่าเท่านี้เท่า หมื่นเท่า แสนเท่าอะไรอย่างนี้ ก็แย่งกันไปหาพระดี ดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้หรอก เอาอะไรไปวัด แต่ทำไปด้วยความโลภ ถือศีล ได้ยินว่าถือศีลแล้วสวย คนมีศีลจะดูสวย ดูหล่อ คนทุศีล หน้าตาสกปรก ดูไม่สวยไม่งาม อยากสวยก็ถือศีลเข้าไว้อยากสวย น่าสงสารจริงๆ ความสวยเป็นของไม่ยั่งยืน มันจะสวยอะไรนักหนา สวยประเดี๋ยวประด๋าว

ฉะนั้นเวลาเราทำความดีทั้งหลาย จะทำทาน จะถือศีล จะนั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไร ต้องมีสติมีปัญญากำกับอยู่เสมอ ต้องรู้ว่าเราทำความดีทั้งหลายเพื่อลดละกิเลส ไม่ใช่เพื่อพอกพูนกิเลส ไปปล่อยวัวปล่อยควาย หวังว่าสงเคราะห์สัตว์ สัตว์ได้รับความทุกข์ สงเคราะห์มัน มีความเมตตากรุณาเกิดขึ้นในใจ อย่างนี้ได้บุญเยอะ ไปปล่อยสัตว์แล้วหวังว่าเราจะมีสุขภาพแข็งแรง ทำด้วยใจโลภ ฉะนั้นทำอะไรต้องมีเหตุมีผล

 

มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

ชาวพุทธทุกวันนี้ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ที่เป็นชาวพุทธจริงๆ มีน้อยเต็มที เราอย่านึกว่าชาวพุทธมีเยอะในเมืองไทย แหม มีตั้ง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีเปอร์เซ็นต์หนึ่งหรือเปล่ายังไม่แน่ใจเลย ส่วนใหญ่ก็นับถือผี นับถือโชคลาง นับถือผลประโยชน์ นับถือเทวดา ถ้าเราฝึกตัวเองทุกวันๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะไม่เอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งหรอก ที่พึ่งของเรามีแค่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น

พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างไร ท่านนิพพานไปแล้ว ธรรมะที่ท่านมอบไว้ให้จะเป็นที่พึ่งของเรา อย่างเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องดู อะไรที่พระพุทธเจ้าห้าม เราก็อย่าทำ อะไรที่ท่านบอกให้ทำ เราก็ทำ อย่างนี้เรียกว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เพราะถ้าเราทำแบบนี้ ละสิ่งที่ท่านห้าม เจริญสิ่งที่ท่านให้เจริญ ชีวิตของเราจะพ้นความทุกข์เป็นลำดับๆ ไป

 

“ค่อยๆ เรียนให้มันเกิดกุศลขึ้น
ลำพังการทำบุญ ไม่มีพระพุทธเจ้า เขาก็ทำกันได้
แต่การเจริญปัญญาให้เกิดกุศล กุศลแปลว่าความฉลาด
ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง”

 

อย่างคนในโลกมันหิว มันหิวในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หิวในธรรมารมณ์ เรื่องราวที่ชอบอกชอบใจ ไม่มีความสุขหรอก เราภาวนารู้สึกกายรู้สึกใจไป ความหิวโหยในใจเราก็จะค่อยๆ ลดลงๆ ถึงจุดหนึ่ง ใจไม่มีตัณหา ไม่มีความหิว เราจะสัมผัสสันติ ความสงบ ไม่มีความสุขอะไรเทียบได้กับความสงบ ความสุขในโลกไม่สงบ เป็นความสุขที่เร่าร้อน ต้องแย่งชิง ต้องรักษา แต่ถ้าเราภาวนาตามแนวทางที่ท่านสอนไว้ เราลดละกิเลสลงได้ ละตัณหาลงได้

ตัณหาก็คือกิเลส ตัวโลภะที่มีกำลังรุนแรง อยากอย่างแรง เรียกตัณหา ถ้าเราละได้ ใจเราสงบ ใจมีความสุข พอมันสงบแล้ว มันมีความสุข ความสุขอันนี้เรียกว่าสงบสุข ไม่ใช่ความสุขที่อาศัยคนอื่น อาศัยสิ่งอื่น ความสุขทุกวันนี้ในโลก มันเป็นความสุขที่อาศัยคนอื่น อาศัยสิ่งอื่นทั้งนั้น มันถึงไม่ยั่งยืน พอเราภาวนา ลดละกิเลสไปเรื่อย เข้าใกล้พระนิพพานไปเรื่อยๆ นิพพานคืออะไร นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก ใจไม่อยาก ใจไม่หิว ใจสงบ ใจก็มีความสุข ไม่ต้องแสวงหาความสุข ความสุขในโลก เราต้องวิ่งแสวงหา แต่ความสุขในทางธรรม ไม่ต้องแสวงหา ถ้าแสวงหาจะไม่เจอ

ภาวนา รักษาศีล ฝึกจิตให้ตั้งมั่น เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของใจสม่ำเสมอไป ใจมันจะเห็นความจริง กายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้คือตัวทุกข์ รู้ทุกข์แล้ว จิตมันก็วางกาย วางกายมันก็ไม่ทุกข์เพราะกายแล้วล่ะ จะเห็นว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับ พอเราเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ จิตก็ปล่อยวางจิต คราวนี้ไม่ว่าจะรู้อารมณ์อะไร จิตไม่ทุกข์แล้ว ไปรู้อารมณ์ที่ไม่ดี จิตก็ไม่ทุกข์หรอก เพราะเราวางจิตไปแล้ว ก็มีการกระทบไป มีวิบากก็กระทบไป กระทบอารมณ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่เราปล่อยวางจิตไปแล้ว จิตเราไม่กระเพื่อมหรอก นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า

 

 

เราค่อยๆ เรียนให้มันเกิดกุศลขึ้น ลำพังการทำบุญ ไม่มีพระพุทธเจ้า เขาก็ทำกันได้ แต่การเจริญปัญญาให้เกิดกุศล กุศลแปลว่าความฉลาด ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง ความฉลาด ฉลาดในทางลดละกิเลส กิเลสนั้นเป็นเชื้อ เป็นต้นตอของความทุกข์ ยิ่งกิเลสเราแรง ทุกข์เราก็แรง กิเลสบางลง ทุกข์มันก็บางลง อย่างภาวนาไป จิตได้ธรรมะขั้นต้นอย่างนี้ จิตใจก็เปลี่ยนไปเยอะเลย ความทุกข์ก็เบาบางลงไปเยอะเลย ภาวนาต่อไปได้ธรรมะขั้นที่สอง ขั้นที่สาม ขั้นที่สี่ ใจก็หนีห่างออกจากความทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นกุศลทำให้เราพ้นทุกข์

พยายามฝึกเข้า เครื่องมือสำคัญ ตัวสติ ขาดสติตัวเดียว จิตไม่มีทางเป็นกุศลเลย จิตที่เป็นกุศลทุกชนิด ต้องมีสติ ฉะนั้นอย่างเรานั่งสมาธิ เราก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว ขาดสติ ไม่เป็นกุศลหรอก นั่งได้โต้รุ่งเลย ตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง ได้ความอดทน ได้ขันติ ได้อธิษฐานบารมี ได้บ้าง แต่มันยังไม่ถึงปัญญา มันก็ได้ความดีขั้นต้นๆ ก็ดี ดีกว่าไม่ได้ แต่ถ้าเราทำสมาธิได้ถูกต้อง จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าจิตเราตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ สติระลึกรู้จิต มันก็จะเห็นว่าจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

พยายามฝึกทุกวันๆ ฝึกไป วันนี้ล้มลุกคลุกคลาน ไม่เป็นไร อดทน พากเพียรทำสม่ำเสมอ มันก็จะดีขึ้นๆ สังเกตอย่างไรมันดีขึ้น สังเกตตัวเองนั่นล่ะ ไม่ต้องไปถามคนอื่นหรอกว่าที่ภาวนานี้ดีหรือยัง วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ดูสิ เรารู้เท่าทันกิเลสได้เยอะขึ้นไหม เราเป็นทาสกิเลสน้อยลงไหม เราเป็นอิสระจากกิเลสมากขึ้นๆ เรามีความสงบสุขในจิตใจเพิ่มขึ้นไหม มันรู้มันเห็นด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปถามใครหรอก ฝึกเข้า ศาสนาพุทธไม่ใช่ของที่จะยั่งยืนนักหรอก พร้อมที่จะสูญหายตลอดเวลา เป็นของดีของวิเศษ มันรักษายากมาก

อย่างเมืองไทยบอกมีชาวพุทธตั้ง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีสักกี่เปอร์เซ็นต์จริง ไม่ได้นับถือพุทธจริง ไม่เข้าใจ หรือบางทีอุตส่าห์เรียน เรียนตำรับตำรามากมาย ท่องธรรมะได้เป็นฉากๆ เลย แต่ เซลฟ์จัด ยิ่งเรียนเยอะ ยิ่งเซลฟ์จัด นี่แสดงว่าไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะเลย อย่างรู้หมดเลย ธรรมะมีเท่าไหร่ๆ รู้ รอบรู้มากเลย แต่กิเลสไม่กระเทือน หลวงตามหาบัวท่านชอบใช้คำว่า “กิเลสหนังไม่ถลอกเลย” อย่างนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมะหรอก ยิ่งศึกษามากก็ยิ่งเซลฟ์จัดอะไรอย่างนี้ พลาดแล้ว พลาดอย่างแรงแล้ว

 

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ

เราไม่ต้องรู้เยอะหรอก เรารู้แค่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป ดูอยู่อย่างนี้ อย่างร่างกายเราหายใจออก อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ร่างกายหายใจเข้า อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ ในร่างกายเรา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในจิตใจเรา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะยากเลย ที่จะรู้ที่จะดูจิตใจเรา เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย คอยรู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจอย่างนี้ล่ะ เดี๋ยวปัญญามันจะเกิด

อย่างเรารู้สึกในร่างกายอยู่เรื่อยๆ เห็นร่างกายนี้หมดไป สิ้นไป ตายไปตลอดเวลา หายใจออก หายใจเข้าแต่ละครั้ง ชีวิตก็สั้นลงๆ ไปเรื่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดู ในที่สุดก็จะเข้าใจความจริงของร่างกาย มันยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้หายใจออก หรือหายใจเข้า ไม่ยากหรอก มันรู้ไหมว่าตอนนี้ยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย มันยากไหมที่จะรู้สึกว่า ตอนนี้เจ็บแข้งเจ็บขา ปวดหลังปวดคออะไรอย่างนี้ มีความทุกข์เกิดในกายตรงนั้นตรงนี้ เกิดอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็หายไป มันยากไหมที่จะรู้ ไม่ยาก จิตใจเราขณะนี้ สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ยากไหมที่จะรู้ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย หรือใจเราตอนนี้โกรธ หรือโลภ หรือหลง หรือว่าเป็นกุศล ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง อย่างโกรธแล้ว รู้ไหมว่าโกรธ มันจะยากอะไร เวลาโกรธแล้ว รู้ว่าโกรธ

หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอนบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ผู้ไม่ปฏิบัติก็คือผู้ละเลย ไม่สนใจที่จะเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเอง ถ้าเราสนใจที่จะเรียนรู้กายรู้ใจ การรู้กายรู้ใจไม่ใช่เรื่องยากเลย ขณะนี้หายใจออก หรือหายใจเข้า มันยากไหมที่จะรู้ มันไม่ยอมรู้ต่างหาก มันมัวแต่สนใจรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรข้างนอก ไม่สนใจตัวเองว่ากำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า กำลังยืน หรือกำลังเดิน หรือกำลังนั่ง หรือกำลังนอนอะไรนี่ ไม่รู้สึกเพราะว่าไม่สนใจ ฉะนั้นหลวงปู่ท่านถึงบอกว่า “การปฏิบัติไม่ยากหรอก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ”

โอ๊ย ดูกายดูใจ ทำไมมันยากเหลือเกิน ยากอะไร หายใจออก ตอนนี้หายใจออก หรือตอนนี้หายใจเข้า ยากไหมที่จะรู้ ไม่สนใจที่จะรู้มากกว่า ตอนนี้ในร่างกายเรามันเจ็บมันปวดตรงไหนไหม มันเมื่อยตรงไหนไหม มันคันตรงไหนไหม รู้อย่างนั้นมันยากตรงไหน ไม่เห็นจะยากเลย หรือตอนนี้สุข หรือตอนนี้ทุกข์ หรือตอนนี้เฉยๆ ในใจเรา ไม่เห็นจะยากเลย ไม่สนใจจะดูมากกว่า หรือตอนนี้โกรธ หรือตอนนี้โลภ ตอนนี้หลงไหม หรือไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ถ้าโกรธแล้วรู้ ก็ไม่เห็นจะรู้ยากอะไรเลย แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมรู้

 

 

อย่างเวลาโกรธ ไม่ยอมรู้ว่าจิตกำลังโกรธ แต่จะไปดูคนที่ทำให้เราโกรธ มันสนใจของข้างนอก สนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น บางทีก็โมโห อากาศร้อนก็โกรธแล้ว ไม่รู้จะโกรธใคร ก็ด่าดินฟ้าอากาศได้ ในขณะที่กำลังโมโหว่าอากาศร้อน ย้อนมาดูนิดเดียวเท่านั้นว่าจิตกำลังโกรธอยู่ มันยากเสียที่ไหน เวลาเราโลภ อยากได้โน้น อยากได้นี่ อยากได้กระเป๋าแบรนด์เนม อยากได้ ก็มัวแต่สนใจที่กระเป๋า ไม่สนใจว่าจิตกำลังอยาก ถ้ารู้ทันว่าจิตกำลังอยาก ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจริงๆ ไม่ยากหรอก ขอให้ใส่ใจที่จะเรียนรู้ตัวเองเท่านั้นเอง

รู้กายก็ไม่ใช่เรื่องยาก รู้เวทนาก็ไม่ใช่เรื่องยาก รู้สังขารทั้งหลายคือความปรุงดีชั่วทั้งหลาย ก็ไม่เห็นจะยาก ส่วนรู้ทันจิต ค่อนข้างยากนิดหนึ่ง คือจิตเกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ เกิดที่ใจแล้วดับอะไรอย่างนี้ อันนี้ดูลำบากนิดหนึ่ง มันละเอียด ดูไม่ได้ก็ยังไม่ต้องดู ดูของที่ดูได้ อย่างดูจิตมันสุข จิตมันทุกข์ จิตมันดี จิตมันชั่ว อย่างนี้ก็ถือว่าเราดูจิตแล้ว จะเห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ สุดท้ายปัญญามันก็ปิ๊งขึ้นมา จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ นั่นล่ะ ตรงนั้นล่ะ เข้าใจธรรมะขึ้นมาเยอะเลย หรือดูลงในร่างกาย ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ทุกข์ เดี๋ยวเจ็บตรงนั้น เดี๋ยวปวดตรงนี้ เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวปวดอึ ปวดฉี่อะไรอย่างนี้ รู้สึกอยู่ในร่างกายไปเรื่อยๆ เห็น มีแต่ทุกข์ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ ดูไปเรื่อยๆ ไม่เห็นยากตรงไหน

เพราะฉะนั้นที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ตรงเป๊ะเลย การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ ตั้งใจเสียใหม่ แทนที่จะสนใจแต่คนอื่น สนใจแต่สิ่งอื่น หันมาสนใจร่างกาย จิตใจของตัวเองบ้าง สะสมความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในร่างกาย ในจิตใจของตัวเองให้มากๆ ชาตินี้ยังไม่ได้มรรคผล ชาติหน้าก็จะได้ง่ายๆ ถ้าบุญบารมีพอ สะสมมามากพอ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ การจะได้มรรคผลในชีวิตนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก พระโสดาบันไม่ได้รู้อะไรเยอะเลย ท่านรู้แค่ว่าสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา รู้อยู่เท่านี้ล่ะ

ฉะนั้นเราดูของจริงสิ จริงไหม สิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับ อย่างร่างกายเราหายใจออกเกิดแล้วก็ดับจริงไหม ร่างกายหายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับจริงไหม ร่างกายยืนเกิดแล้วก็ดับจริงไหม ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน มันก็เห็นง่ายๆ ไม่ใช่ยาก ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นในร่างกายแล้วดับจริงไหม ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในจิตใจแล้วดับจริงไหม ดูของจริงไปเรื่อยๆ จิตใจเราเดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล โลภก็โลภชั่วคราว โกรธก็โกรธชั่วคราว หลงก็หลงชั่วคราวจริงไหม ดูไป ไม่ใช่เรื่องยาก ในที่สุดปัญญามันก็จะเกิด มันก็จะรู้เลย ทุกสิ่งมันของชั่วคราว สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา รู้ตรงนี้เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ยากหรอก มันยากที่ไม่ยอมรู้

 

 

วันนี้หลวงพ่อเทศน์ย่อๆ แค่นี้พอแล้ว แต่ว่าเอาไปทำกันได้หลายปีเลย รู้สึกกายรู้สึกใจนี่ล่ะ แล้วจะต้องไปต่อสู้กับความขี้เกียจ กับความไม่ใส่ใจ มัวแต่สนใจรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก สนใจเรื่องราวสนุกสนาน ไม่สนใจร่างกายจิตใจของตัวเอง พยายามรู้สึกๆ ดูไปทุกวันๆๆ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็ปิ๊งขึ้นมาเองล่ะ สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนถาวรหรอก ถ้าได้ตรงนี้แล้วสำคัญ ถ้าได้โสดาบัน ที่เหลือเป็นสกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ มันมาเอง ขอให้ได้โสดาบันเถอะ แล้วถึงจุดหนึ่ง ผู้ที่ได้โสดาบันทุกคนจะต้องบรรลุพระอรหันต์ วันใดวันหนึ่ง ช้าเร็วแตกต่างกัน

ฉะนั้นเอาจุดแรกนี้ให้ได้ ให้ขึ้นต้นทางให้ได้ จะไปเชียงใหม่ก็รู้ว่าต้นทางที่จะไปถนนสายไหน พอรู้ทางไป แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ ไม่ย่อท้อ เหนื่อยก็พัก มีแรงแล้วเดินต่อ เหนื่อยก็พักคืออะไร ถ้าเทียบกับการปฏิบัติ เหนื่อยก็พักคือการทำสมถะ มีเรี่ยวมีแรงแล้วเดินต่อคืออะไร คือการเจริญวิปัสสนา ค่อยๆ ทำไป ไม่ยาก ยากที่ไม่ทำเท่านั้นล่ะ.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 เมษายน 2565