หน้าที่ของชาวพุทธ คือทำประโยชน์ของตนเองและประโยชน์ของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
ถ้าธรรมะเข้ามาอยู่ในใจเรา เราจะเป็นผู้สืบทอดรักษาศาสนาตัวจริง ดังนั้นต้องตั้งใจเรียน ธรรมะของพระพุทธเจ้าถ้าเราศึกษาเราจะได้รับประโยชน์และความสุข ฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าจะส่งพระสาวกออกไปประกาศธรรมะ ท่านจะสั่งเลย มอบหมายภารกิจให้เธอจาริกไป สมัยนี้ไม่ต้องจาริก โยมจาริกมาหา สมัยแรกๆ ไม่มีใครรู้จักศาสนาพุทธเลย จะให้โยมมาหา ไม่มานะ พระต้องออกไป ฉะนั้น การเผยแผ่ยุคแรกนั้นเป็นการเผยแผ่เชิงรุก อย่างหลวงพ่อถ้าออกข้างนอกนะ พวกเรามาที่นี่ก็ผิดหวัง มาแล้วไม่เจอ
ท่านจะสั่งพระที่จะออกไปเผยแผ่ธรรมะว่า ให้ไปประกาศธรรมะที่งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด คือสมเหตุสมผลไปประกาศเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชน ของคนจำนวนมาก ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรอก ธรรมะเป็นของมวลชนไม่ใช่ประกาศให้กับคนร่ำคนรวนอย่างเดียว
ฉะนั้น ธรรมะนี่ถ้าเข้าใจแล้วจะได้รับประโยชน์จะได้รับความสุข เราจะได้ประโยชน์ตั้งแต่ในปัจจุบันเลย อย่างใครฟังเทศน์ของหลวงพ่อนะ สิ่งแรกที่จะได้มาก็คือ เริ่มมีสติรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา สังเกตไหมพอเรามีสติเรามีความสุขในปัจจุบัน จะมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน อย่างเคยลำบากยากจนอะไรอย่างนี้นะ เพราะว่ากิเลสมันแรงมันลากไปหมด พอมาหัดเจริญสติ เราก็รู้จักว่าควรบริโภคอะไรแค่ไหน แค่ชีวิตเป็นอยู่ก็จนน้อยลงแล้ว
พวกเรามีหน้าที่ที่พระพุทธเจ้ามอบหมายให้ทุกคน หน้าที่ประการแรก ทำประโยชน์ตนเอง ไม่ประมาทนะ ทำประโยชน์ตัวเอง ก็คือภาวนาเข้า มีสติ ฝึกให้มีสติขึ้นมา ใครไม่มีสติ ก็ฝึกให้มีสติ ใครไม่รู้จักสมาธิ ใจไม่เคยตั้งมั่น ก็ฝึกให้ใจตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็ตามรู้กายตามรู้ใจตามความเป็นจริง รู้อย่างที่เขาเป็น ตามรู้อย่างนี้เรื่อยๆ จนเกิดปัญญา
ฉะนั้น เราจะได้ประโยชน์อันแรกเลยตั้งแต่ในปัจจุบัน ใครเคยมีความทุกข์มากๆ ก็จะเหลือทุกข์น้อยๆ ใครมีทุกข์นานๆ นะ ก็เหลือทุกข์สั้นๆ ประโยชน์ในอนาคตก็มีนะ ยิ่งภาวนาไปชีวิตจิตใจยิ่งร่มเย็น เป็นสุขมากขึ้นๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจะดีขึ้น ทุกข์ก็จะน้อยลง ทุกข์ก็จะสั้นลง ในครอบครัวที่เคยระหองระแหงนะ ก็จะสงบร่มเย็นขึ้น คนรอบๆ ตัวเราเขาก็จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของเรา นี่คือประโยชน์ที่เราได้รับ ได้แก่ประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ต่อสังคมที่แวดล้อมอยู่ ความสุขก็จะเกิดขึ้นทั้งต่อเราและสังคมที่แวดล้อมอยู่
ทีนี้ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยนะ ในอนาคตเรายิ่งมีความสุขมากกว่านี้อีก ไปเห็นครูบาอาจารย์ผู้แก่ผู้เฒ่า แต่ละองค์ๆ นะ ท่านมีความสุขมากเพราะท่านมีธรรมะ
ตอนหลวงพ่อบวชพรรษาที่ ๔ นะ ไปกราบหลวงปู่เหรียญ ไม่เจอท่านนานต้องรีบไปกราบ เพราะรู้ว่าท่านจะไม่อยู่แล้ว ไปกราบท่านนะ ท่านก็นอนอยู่บนเตียงแบบของโรงพยาบาลไขขึ้นไขลงได้ ท่านนอนอยู่ เราก็เข้าไปกราบ พระก็ไขท่านตั้งขึ้นมา ท่านไม่สบายมาก ท่านบอกว่า สู้ตายนะสู้ตาย นี่ต้องสู้ให้ตายอย่างท่านเลย ตลอดชีวิตนี้ภาวนามามีความสุขที่สุด แต่ละองค์ๆ ผลของการภาวนาที่ท่านพากเพียรทำ ให้ประโยชน์ให้ความสุขท่านตลอดชีวิตเลย ประโยชน์อันยิ่งคือ มรรคผลนิพพาน ถ้าเราไม่ภาวนาก็ไม่ได้มรรคนิพพานหรอก แต่เราภาวนานะ วันหนึ่งมันก็มีโอกาสเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
เราอย่าไปวาดภาพเอาตามใจชอบ ว่ามรรคผลนิพพานพ้นสมัยไปแล้ว มรรคผลนิพพานยากเกินไปแล้ว ยากอะไร นิพพานไม่เคยหายไปไหน นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานคือสภาวะที่สิ้นกิเลส สิ้นตัณหา สิ้นความปรุงแต่ง สิ้นทุกข์ นิพพานก็มีอยู่ทุกวัน นิพพานไม่เคยเกิดขึ้นมาใหม่ๆ นิพพานไม่เคยหายไป อยู่ต่อหน้าต่อตา แต่พวกเราไม่เคยเห็น เพราะอะไร เพราะนิพพานเป็นความสิ้นตัณหา จิตของเรายังมีตัณหาเราก็ยังไม่เห็นนิพพาน นิพพานนั้นสิ้นความปรุงแต่ง สิ้นความปรุงแต่งเรียกวิสังขาร สิ้นตัณหาเรียกวิราคะ เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลย แต่ใจของเราปรุงแต่งตลอดเวลาดูออกไหม เมื่อใจของเราปรุงแต่งตลอดเวลาเราก็ไม่เห็นนิพพานซึ่งเป็นสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นจากขันธ์ ของเรายึดกาย ยึดใจ รู้สึกไหม เรายึดกายเรายึดใจเราอยู่ตลอดเวลา เราเลยไม่เห็นนิพพาน
นิพพานมีอยู่แล้วนะ นิพพานมีอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหน แต่จิตของเราเองไม่มีคุณภาพพอ จิตของเรามีความยึดถือ เมื่อมีตัณหาขึ้นมาใจของเราก็ทำงานดิ้นรนไป แล้วก็ยึดถือในความมีอยู่ของตัวตน ตัณหาก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปทาน คือเข้าไปยึดอารมณ์ จิตก็จับอารมณ์นะ จิตก็ปรุงแต่งเรียกว่าภพ มีภพแล้วก็มีชาติ มีความเป็นตัวเป็นจนขึ้นมา
ศาสนาพุทธไม่ใช่ปรัชญาแต่เป็นศาสตร์จริงๆ ถ้าใครปฏิบัติจริงๆ ตามรู้ตามเห็นสภาวะจริงๆ รู้ด้วยใจของตัวเองอย่างแท้จริง มันพ้นทุกข์ต่อหน้าต่อตานี้เอง ชีวิตจะมีแต่ความสุข มีความสุขมากจนไม่รู้จะว่าอย่างไร เห็นคนอื่นก็เห็นด้วยวามเมตตา ด้วยความสงสารเท่านั้นเอง ว่าแต่ก่อนเราก็เป็นเหมือนเขาเหมือนกัน แต่ก่อนเราก็ทุกข์เหมือนกัน ดิ้นรนมาเหมือนกัน ตะเกียกตะกายมา ทีนี้ตะเกียกตะกสยมาพอรู้พอเข้าใจแล้ว ก็มาบอกต่อๆ กันไป
งานเผยแผ่ธรรมะเป็นงานของชาวพุทธทุกคน ต่อจากงานศึกษาธรรมะ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงสอนแม้กระทั่งครั้งสุดท้ายก่อนจะปรินิพพาน ท่านสั่งพวกเราชาวพุทธเอาไว้ ให้พวกเราทำประโยชน์ของตนเองและประโยชน์ของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม หมายถึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปจนวันหนึ่งถึงมรรค ถึงผลนิพพานให้ได้ ไม่ใช่ว่าทำประโยชน์แค่สังคมสงเคราะห์ก็พอ เช่นคนนี้ตายไม่มีโลงศพ ไปหาโลงมาให้ แค่นี้ยังไม่ถึงพร้อมหรอก ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมต้องพร้อมตั้งแต่ปัจจุบัน พร้อมไปถึงอนาคต พร้อมอย่างยิ่งคือได้มมรรคผลนิพพาน
ฉะนั้น พวกเรามีหน้าที่ที่พระพุทธเจ้ามอบหมายให้ทุกคน หน้าที่ประการแรก ทำประโยชน์ตนเอง ไม่ประมาทนะ ทำประโยชน์ตัวเอง ก็คือภาวนาเข้า มีสติ ฝึกให้มีสติขึ้นมา ใครไม่มีสติ ก็ฝึกให้มีสติ ใครไม่รู้จักสมาธิ ใจไม่เคยตั้งมั่น ก็ฝึกให้ใจตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็ตามรู้กายตามรู้ใจตามความเป็นจริง รู้อย่างที่เขาเป็น ตามรู้อย่างนี้เรื่อยๆ จนเกิดปัญญา ปัญญาในทางศาสนาพุทธคือการเห็นความเป็นจริงของกายของใจ ปัญญาในทางศาสนาพุทธไม่ใช่เรื่องเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องอะไรหรอก ถ้าเราเห็นความจริงของกายของใจได้ เราจะพ้นทุกข์ เพราะอะไร เพราะทุกข์อยู่ที่กายทุกข์อยู่ที่ใจ ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่สิ่งอื่น ทุกข์อยู่ในกายทุกข์อยู่ในใจนี้เอง ดังนั้นถ้าเรามีสติเรียนรู้กายเรียนรู้ใจมากเข้าๆ วันหนึ่งจิตมันไม่ยึดกายยึดใจแล้ว ปล่อยวางไม่ยึดถือ กายจะเป็นอย่างไร จะแปรปรวนจนจะแก่จะเจ็บจะตาย จิตไม่ทุรนทุรายด้วยเลย ฝึกไปถึงจุดหนึ่งจิตจะไม่กระเพื่อม จิตไม่ยึดถืออะไรเลย จะเป็นอันเเดียวกับโลกธาตุ
อย่างเวลาอยู่ในทะเล ลมแรงๆ มาคลื่นก็แรง เราอยู่ในทะเลก็กระเพื่อมแรง อยู่บนบกก็กระเพื่อมน้อยลงหน่อย แผ่นดินไหวแรงๆ หรือรถบรรทุกใหญ่ๆ วิ่งมาค่อยกระเพื่อมทีหนึ่ง ภาวนามากขึ้นๆ มันเหมือนอยู่บนเรือบิน เรือบินกระเพื่อมไหม ก็กระเพื่อมนะ ก็แกว่งๆ เหมือนกัน มากกว่านั้นก็เหมือนดาวเทียม ดาวเทียมตกได้ไหม ยังตกได้อีก ถ้าใจของเราพัฒนาได้เต็มที่นะ มันจะเหมือนอวกาศ อวกาศนี่นะ จักรวาลมันระเบิดมีบิ๊กแบง จักรวาลแตกสลายเสียหายไป แต่อวกาศก็ยังอยู่อย่างนั้นได้ ใจก็เหมือนกัน ใจที่ไม่มีอะไรมาข้องแวะได้นะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันไม่กระเทือนเลย
ดังนั้น อยูที่พวกเรานี่แหละจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่ความหลุดพ้นได้หรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่เหลือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งจะทำได้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นธรรมะที่พอดีๆ ทางสายกลาง ไม่ใช่สุดโต่งที่เกินวิสัยของมนุษย์ธรรมดาจะทำได้ บางคนชอบไปสอนกันแบบทำลายขวัญ บอกภาวนาไปเหอะ อีกแสนๆ ชาติถึงจะได้ บอกโอ้ อย่างนั้นอีกแสนๆ ชาตอค่อยภาวนาก็แล้วกันนะ ฟังแล้วมันท้อแท้ใจ
ถ้าเราภาวนาเป็นนะ เรารู้หลักของการปฏิบัติจริงๆ เรามีความสุขตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ทำไมต้องรอ เราพ้นทุกข์ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ทำไมเราจะต้องรอ คนที่จะต้องรอคือคนที่ยังไม่รู้ ดังนั้น ถ้าเรารู้เส้นทางเดินที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดิน เราจะรู้เลยว่าไม่ใช่เส้นทางที่ยากเกินไป แต่ไม่ชาเส้นทางที่ง่ายเกินไป เป็นเส้นทางที่พอดีๆ ไม่ใช่ง่ายแบบกินๆ นอนๆ เหมือนหมูเหมือนหมาแล้ววันหนึ่งบรรลุมรรคผลนิพพานไม่เป็นหรอก
เบื้องต้นก็ต้องค่อยๆ สำรวจตัวเอง กิเลสอะไรความชั่วร้ายใดๆ ยังมีอยู่ ก็คอยรู่ทันมันนะ ค่อยๆ ลด ค่อยๆ ละ กุศลอะไรยังไม่ได้เจริญ ก็หาทางเจริญขึ้นมา ไม่เคยมีศีล หัดรักษาศีลเสียบ้าง ไม่เคยหัดทำความสงบใจ ก็หัดเสียบ้าง ไม่เคยหัดเจริญปัญญาที่จะมารู้กายรู้ใจ ก็หัดเสียบ้าง นี่คอยสำรวจตัวเองแล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา
งานเผยแผ่ธรรมะเป็นงานของชาวพุทธทุกคน
ต่อจากงานศึกษาธรรมะ
พระอริยะทั้งหลายกระทั่งพุทธเจ้า ท่านเริ่มต้นมาจากโคลนจากตมเช่นเดียวกับพวกเรานี่แหละ แต่ท่านตะเกียกตะกายท่านพากเพียร ทำไมพระพุทธเจ้าภาวนาลำบากเหลือเกิน ใช้เวลาตั้งนานท่านลองผิดลองถูกอยู่นาน เพราะท่านอยากรู้แจ่มแจ้ง อย่างถ้าเราเรียนนะ มานั่งฟังธรรมแล้วก็บรรลุไปอย่างนี่ ความรู้ความสามารถเราจะไม่เท่าท่านที่ค้นหามาด้วยตัวเอง เพราะพระพุทธเจ้าท่านตั้งปณิธานว่าอยากช่วยคนอื่น ท่านใช้เวลาเรียนนี่มหาศาลเลย ลองผิดลองถูกตลอดเวลาเลย ถามท่านว่าลองผิดลองถูกแล้วมันถูกหรือมันผิด มันผิดตลอดเวลาเลย จนกระทั่งชาติสุดท้ายเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกจากวังมา ไปลองผิดลองถูก ไปหัดเข้าฌานกับฤาษี ในที่สุดท่านก็พบว่ามันผิด หัดใจมาจนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ท่านมาทรมานกายบ้าง มากหัดกายบ้าง หัดอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ใช้เวลาตั้งนานหลายปีก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดท่านก็ค้นพบทางสายกลาง ทางสายกลางนี่ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ การเจริญสติปัฎฐานนั่นเอง กระทั่งพระพุทธเจ้าก็เจริญสติปัฎฐาน เพราะสติปัฎฐานเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว ไม่มีทางที่สองนะที่จะทำให้จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ดังนั้น พระพุทธเจ้าค้นพบทางสายกลางก็ด้วยการเจริญสตินั่นเอง เพียงแต่ว่าท่านบารมีมาก สติปัญญาท่านมาก ท่านเจริฐธัมมานุปัสสนาบรรพสุดท้ายเลย ท่านเจริญอริยสัจ ท่านตามรู้เลยว่าทุกข์มันมีอยู่เพราะอะไร นี่ท่านเรียนเรื่องทุกข์เห็นไหม ไม่ได้เรียนเรื่องอื่น
ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือกายกับใจ คือรูปกับนาม ท่านไล่ๆ ลงไปเรื่อยๆ นะ สาวลงไปจนกระทั่งท่านรู้แจ้งต้นตอแห่งสังสารวัฎก็คือ อวิชชา คือความไม่รู้นั่นเอง
อวิชชาคือความไม่รู้อะไร ไม่รู้ ๔ อย่าง ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค
ไม่รู้ทุกข์ ก็คือไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ และก็ไม่รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่า ทุกข์นี่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ พวกเราที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ เวลาเจอทุกข์เราจะหาทางละ ยิ่งอยากละทุกข์ จะยิ่งทุกข์มากขึ้น จำไว้นะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ละทุกข์ ท่านบอกทุกข์ให้รู้ อันแรกเลย ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือรูปนาม ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์ คือการรู้
ความรู้ในอริยสัจข้อที่ ๒ ก็คือรู้สมุทัย อะไรคือสมุทัย ความทะยานอยากของจิต คือ สมุทัย จิตมันทะยานอยากตลอดเวลานะ ทะยานอยากเข้าไปแล้วจิตก็จะดิ้นรนทำงาน จิตดิ้นรนทำงานความทุกข์ทางใจก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก กายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ แต่ว่าสติปัญญาของเรายังไม่เห็น เราจะเห็นตอนที่ว่าสมุทัยทำงานแล้วมีความอยากขึ้นมา ใจดิ้นรนขึ้นมาแล้วถึงจะทุกข์ นี่เราเห็นทุกข์ในระดับนี้
วิชชาหรือว่าความรู้อันที่ ๓ คือนิโรธ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความทะยานอยากของจิต สิ้นความปรุงแต่งสิ้นขันธ์ สิ้นทุกข์ หน้าที่ต่อนิพพานคือการเข้าไปประจักษ์ ไม่ใช่ทำให้เกิดขึ้น ถ้ามาถามหลวงพ่อว่า ทำอย่างไรมรรคผลนิพพานถึงจะเกิดขึ้น อันนี้ตั้งคำถามผิด คำถามที่ถูก ทำอย่างไรมรรคผลนิพพานถึงจะเกิด ทำอย่างไรถึงจะรู้แจ้งนิพพาน นิพพานไม่ได้เกิดขึ้น นิพพานมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็นเอง เราเดินชนนิพพานแต่เราไม่เห็น ฉะนั้นสัจจะความจริงอันที่ ๓ ก็คือนิโรธ นิโรธคือนิพพาน สภาวะที่สิ้นตัณหา หน้าที่ของเราคือ เข้าไปรู้จักให้ได้ วิธีที่จะเข้าไปรู้จักก็คือการเจริญมรรคนะ
มรรคมีองค์ ๘ ประการ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฎฐิมีความเห็นที่ถูกลงด้วยสัมมาสมาธิใจที่ตั้งมั่น มีใจที่ตั้งมั่นมีสติรู้ความจริงของกายของใจเรื่อยไป นี่การเจริญสติ “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” นี่ทำสติปัฎฐานทำอย่างนี้ ทำวิปัสสนากัมมัฎฐานทำอย่างนี้ รู้ลูกเดียวเลยนะ รู้ไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร เพื่อวันหนึ่งจิตจะฉลาด จิตทุกวันนี้สะสมแต่ความรู้ผิดความเข้าใจผิดตลอดเวลา จิตของเรานะตั้งแต่เกิดมาเราก็รู้สึกว่านี่คือตัวเรา นี่พ่อของเรา เรามาหัดทำวิปัสสนานี่เพื่อให้เห็นของจริงว่าตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มีของเราก็ไม่มี มันมีของเราได้ก็เพราะมันมีตัวเราขึ้นมา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคืออะไร คือ กาย กับ ใจ นี่เอง
ฉะนั้น ทำวิปัสสนากัมมัฏฐานนะ เพื่อให้มีสติรู้กายรู้ใจ รู้เพื่ออะไร รู้เพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่รู้เพื่อดัดแปลงเพื่อแก้ไข หลายคนทำกัมมัฏฐานผิด เช่น นั่งสมาธินานๆ แล้วจะไม่ให้เมื่อย ร่างกายมีหน้าที่ต้องปวดต้องเมื่อย อย่างไรก็เมื่อย ฉะนั้น นั่งสมาธิแล้วไม่ใช่วันนี้นั่งโต้รุ่งได้แล้วภูมิใจว่ากูเก่งๆ ถ้าอย่งนี้กิเลสมากกว่าเก่าอีก แทนที่กิเลสจะลดลง เราไม่ได้ภาวนาเพื่อจะเอาชนะขันธ์ ๕ ไม่ใช่เอาชนะร่างกาย ถูกไหม พระพุทธเจ้าเคยลองมาแล้ว จะเอาชนะร่างกายไปทรมานกาย มันอยากมีความสุขเหรอ ไม่ให้มันกินข้าว มันอยากมีความสุข พามันนอนบนตปูเสียเลย อยากมีความสุขนัก ทรมานอย่างโน้นทรมานอย่างนี้ อยากเอาชนะมัน คิดว่า ถ้าชนะมันแล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ในที่สุดท่านก็พบว่าไม่ใช่
ถ้ามีสติขึ้นมามีใจตั้งมั่นขึ้นมาเราจะเห็นทันทีว่า ร่างกายไม่ใช่เราหรอก เห็นทันที คนทีเรียนกับหลวงพ่อเดี๋ยวนี้เดือนเดียวก็เริ่มเห็นแล้ว ไม่เหมือนรุ่นก่อนๆ นะ ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ เรียนกันหลายปีเลยเรียนกันนาน