วิธีการปฏิบัติธรรม

ดีมากที่พวกเราสนใจการปฏิบัติธรรม แต่ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติธรรม เราต้องรู้เสียก่อนว่าเราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร และระหว่างทำก็ต้องไม่หลงไม่เผลอไปทำอย่างอื่นโดยไม่รู้เท่าทัน ความรู้ ๔ อย่างนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัญญาขั้นพื้นฐานที่คอยกำกับการปฏิบัติไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

การปฏิบัติธรรมมี ๒ อย่างคือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งทั้ง ๒ อย่างนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยสติเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์กรรมฐาน และอาศัยปัญญาคือสัมปชัญญะเป็นเครื่องกำกับการปฏิบัตินั้นไว้เสมอ ไม่เช่นนั้นเราจะปฏิบัติผิดพลาดได้ง่ายๆ

สมถะและวิปัสสนา

ไม่ว่าเราจะทำสมถะหรือวิปัสสนา เราก็ต้องมีสัมปชัญญะรู้ชัดว่า เราจะทำกรรมฐานชนิดใด และต้องรู้ด้วยว่าเราจะทำกรรมฐานนั้นๆ เพื่ออะไร ซึ่งสมถะนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทำจิตที่ไม่สงบให้เกิดความสงบ เพื่อทำจิตที่ไม่มีความสุขสบายให้เกิดความสุขสบาย และเพื่อทำจิตที่เป็นอกุศลให้เปลี่ยนเป็นจิตที่เป็นกุศล ส่วนวิปัสสนานั้นไม่ได้ฝึกเพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่ฝึกเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ หรือฝึกเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจเท่านั้นเอง

กายกับใจหรือขันธ์ ๕ นี่แหละ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า ทุกข์ และ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพวกเราก็คือการรู้กายรู้ใจเนืองๆ หรือที่เรียกว่าการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ต้องรู้เนืองๆ จนเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจ ปัญญาชนิดนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ อันเป็นปัญญาที่เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเมื่อไรเรามีปัญญาเห็นว่ากายกับใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ตัวเราอย่างแท้จริง เมื่อนั้น จิตจะปล่อยวางความยึดถือกายและใจลงได้ แล้วประจักษ์ชัดถึงนิพพานโดยอัตโนมัติ

คนที่หัดดูกายดูใจมากๆ จนวันหนึ่งเห็นว่า กายกับใจไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงธาตุ เป็นขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่ใช่ของเรา เห็นว่าตัวเราที่แท้จริงไม่มี อันนี้จะได้ “พระโสดาบัน” ถ้าเฝ้ารู้กายรู้ใจต่อไปจนปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้ เรียกว่า “พระอรหันต์” เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ไม่ใช่คนที่ฝึกจิตให้ดีถาวร ให้สุขถาวร ให้สงบถาวรได้ เพราะท่านไม่ได้มุ่งเอาสิ่งเหล่านี้ ความสุข ความสงบ ความดีอะไรทั้งหลาย เป็นเรื่องของโลก แต่พระอรหันต์ คือท่านที่รู้ความจริงของกายของใจ จนหมดความยึดถือกายและใจ ฉะนั้น เราต้องเจริญวิปัสสนาคือเรียนรู้กายและใจตนเอง จนเข้าใจความเป็นจริงแล้วปล่อยวางได้ ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงอยู่ตรงที่ปล่อยวางได้นี่แหละ