สะสมการเห็นถูก

ธรรมะปฏิบัติไม่ยากหรอก ให้ตั้งใจทำเอา ทำเล่นๆ ก็ไม่ได้ดีสักที ทำบ้างหยุดบ้างไม่ได้ผลหรอก ให้เด็ดเดี่ยวลงไป ตั้งใจทำจริงๆ เป็นฆราวาสก็ต้องใช้หลักอันนี้ล่ะ ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อก็ปฏิบัติทุกวัน ศีล 5 ต้องรักษา ให้เวลากับการปฏิบัติ มีเวลาเมื่อไรก็ปฏิบัติเมื่อนั้นเลย ตื่นนอนมาก็ปฏิบัติแล้ว พอคิดถึงการปฏิบัติก็รู้สึกกายรู้สึกใจของเราไป กลางวัน ไม่ว่าทำอะไรก็อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ

อย่างตื่นมาวันจันทร์อย่างนี้ ขี้เกียจไปทำงาน รู้สึกทำไมวันหยุดมันสั้นเหลือเกิน ขี้เกียจรู้ว่าขี้เกียจ ไปอาบน้ำ ไปขับถ่ายอะไร เห็นร่างกายมันทำงานไป ขึ้นรถเมล์ไปทำงาน ขึ้นรถเมล์ ไปรอรถเมล์ รถเมล์ไม่มา ใจกระวนกระวายรู้ว่ากระวนกระวาย ขึ้นได้ ดีใจรู้ว่าดีใจ อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้งวัน จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด คอยรู้สึกตัวไว้ อ่านจิตอ่านใจของเราไปเรื่อยๆ เลิกงานแล้วกลับบ้าน อาบน้ำอาบท่า กินข้าว พักผ่อนนิดหน่อยแล้วก็ภาวนา

 

ภาวนาสม่ำเสมอ สะสมจนจิตตั้งมั่นอัตโนมัติ

ตอนแรกๆ หลวงพ่อภาวนาในรูปแบบเยอะเหมือนกัน ไปนั่งสมาธิ อยู่บ้านเรานี่ล่ะ ไม่ได้ไปอยู่วัด อยู่บ้านทำสมาธิ จิตว่างแล้วก็เห็นสภาวะที่มันผุดขึ้นมาจากความว่าง มันผุดขึ้นมาแล้วก็ดับๆ เฝ้าดูอยู่อย่างนี้ล่ะ เวลาทำในรูปแบบใช้วิธีนี้ มันควบสมาธิกับปัญญาเข้าด้วยกัน ฉะนั้นอย่าทิ้งเวลาเปล่าๆ เวลาของเราแต่ละคนมีจำกัด มีแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ไม่มากเท่าที่ความต้องการมันมี ตัณหามันใหญ่ ความต้องการมันเยอะ เอาเวลาไปสนองตัณหาเท่าไรก็ไม่พอ เพราะตัณหานั้นมันไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นอยากได้ดีก็ต้องตัดใจให้มันเด็ดขาดลงไป อย่าติดกับความสุขโลกๆ มากเกินไป อยู่กับโลกแต่อยู่ให้เป็น มีวินัยในตัวเอง ภาวนาทุกวันๆ ไป ในเวลาไม่นานก็เข้าใจขึ้นมา

อย่างพวกเราอาจจะทำไม่ได้ที่ว่าทำสมาธิ พอจิตว่างแล้วเราก็เห็นสภาวะผุดขึ้นๆ เราอาจจะสมาธิไม่พอที่จะทำอย่างนี้ เราก็ทำสิ่งที่เราทำได้ ค่อยๆ ฝึกไป สภาวะอะไรเกิดขึ้นก็คอยรู้เอา ตาเห็นรูป จิตมันเปลี่ยน รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตมันเปลี่ยน รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ก็รู้ จิตมันเปลี่ยน รู้ทันมัน ไปทางใจ จิตมันหลงไปคิดเรื่องนี้จิตเป็นอย่างนี้ จิตไปคิดอีกอย่างหนึ่ง จิตก็เปลี่ยนไปอีก คิดดี จิตใจก็ร่มเย็น คิดไม่ดี จิตใจก็เร่าร้อนอะไรอย่างนี้

เราไม่ต้องสนใจเรื่องที่มันคิดหรอก ให้รู้ว่าจิตคิด คิดเรื่องอะไร ไม่สำคัญเท่าไรหรอก พอจิตมันคิดให้เรารู้ๆ มันจะหลงทางใจ หลงไปคิด ฝึกอย่างนี้ มากๆ สมาธิเราก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น อยู่ในชีวิตประจำวันก็เคลื่อนไหว ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเปลี่ยนแปลงตามการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 รู้สึก สมาธิของเราก็จะเพิ่มขึ้น มันเป็นขณิกสมาธิ อย่างจิตเรามีราคะ เรามีสติ รู้ทัน จิตที่มีราคะก็ดับ เกิดจิตที่ไม่มีราคะ ใจก็จะได้สมาธิขึ้นมา ฉะนั้นรู้ทันสภาวะแต่ละครั้งๆ จะได้สมาธิขึ้นมานิดหนึ่ง เรียกว่าขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธิ ถ้าเราทำสม่ำเสมอตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีเวลาแล้วดู มีเวลาแล้วรู้ รู้ไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ มีกำลังเข้มแข็งขึ้น จิตจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ก็พออาศัยเดินต่อไปได้ พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว อย่าตั้งอยู่เฉยๆ มันงี่เง่า พอจิตมันตั้งมั่นแล้วก็แยกขันธ์ไป ถ้าเราไม่สามารถแยกรูปแยกนามได้ ไม่สามารถแยกขันธ์ แยกธาตุแยกขันธ์ได้ เดินปัญญาไม่ได้ อย่าว่าแต่จะขึ้นวิปัสสนาเลย แค่ปัญญาพื้นๆ ยังทำไม่ได้เลย

ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกจนกระทั่งจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา อย่าไปตั้งมันขึ้น สะสมไปจนมันตั้งขึ้นอัตโนมัติ มันถึงจะมีกำลัง ถ้าเราคอยประคับประคอง คอยบังคับมันอะไรอย่างนี้ จิตไม่มีความสุข จิตเหมือนเด็ก ไม่ชอบให้ใครบังคับ เมื่อมันไม่มีความสุข สมาธิมันจะไม่เกิด ฉะนั้นเราภาวนา ทำในรูปแบบได้ทำไป ทำไม่ได้ฝึกขณิกสมาธิไป สภาวะอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน สภาวะอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน สะสมไปนานๆ หลายๆ เดือน จิตจะทรงตัวเด่นดวงขึ้นมาได้ ตรงนั้นเราก็เดินปัญญาต่อได้แล้ว พอจิตมันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา เราจะเห็น กายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง คนละอันกัน ตรงนี้เป็นปัญญาขั้นพื้นฐานเลย การแยกรูปแยกนาม

 

จิตตั้งมั่นแล้วหัดแยกขันธ์ไป

เมื่อก่อนพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงตามหาบัวท่านก็พูด “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยกับนะเราว่าเจริญปัญญา” ฉะนั้นจะเจริญปัญญาก็ต้องแยกธาตุแยกขันธ์ได้ ในปริยัติ เขาเรียกว่าต้องได้นามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาที่จะแยกรูปนามได้ เราจะแยกรูปแยกนามได้ มีปัญญาอย่างนี้ได้ ต้องอาศัยกำลังของสมาธิชนิดตั้งมั่น

อย่างเรารู้ว่าจิตไหลปุ๊บ เราจะได้สมาธิตั้งมั่นขณะหนึ่ง ไหลอีกรู้อีกๆ ในที่สุดมันจะตั้งมั่นทรงตัวขึ้นมาได้แล้วคราวนี้เราก็มาแยกขันธ์แล้ว เห็นร่างกายมันหายใจ ใจเป็นคนรู้ จิตมันเป็นคนรู้ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ ดูแยกๆๆ ไปเรื่อยๆ เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ความสุขความทุกข์ไม่ใช่ร่างกาย เป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในร่างกาย คนละอันกับกายแล้วก็เป็นคนละอันกับจิต จิตมันเป็นคนรู้

หลวงพ่อเคยทำเหมือนกัน นั่งไม่กระดุกกระดิก นั่งให้มันปวดมากๆ แล้วก็ดูความเจ็บความปวดกับร่างกายคนละอันกัน แล้วก็เป็นคนละอันกับจิตด้วย นี่เราเริ่มแยกขันธ์ได้เยอะขึ้นแล้ว ทีแรกเราแยกกายกับใจออกจากกัน เราแยกได้ 2 ขันธ์แล้ว ต่อมาเราก็แยก เห็นความเจ็บปวดเกิดขึ้นในร่างกาย เราก็ดูไป ร่างกายเมื่อกี้ไม่เจ็บไม่ปวด ตอนนี้เจ็บปวด ร่างกายมันก็ยังนั่งอยู่เหมือนเดิมล่ะ เมื่อกี้ไม่ปวดแต่ตอนนี้ปวด ฉะนั้นความเจ็บความปวดกับร่างกายมันเป็นคนละอันกัน

หรือเห็นความสุขความทุกข์ในใจ เรานั่งทีแรกจิตใจเราวุ่นวาย ยังไม่สงบ เราเห็นจิตใจไม่มีความสุขเลย วุ่นวาย พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ จิตก็สงบขึ้นมา มีความสุขขึ้นมา เราก็จะเห็นความสุขที่เกิดขึ้น เรานั่งสมาธิ มีความสุขขึ้นมา ความสุขไม่ใช่ร่างกาย ความสุขไม่ใช่เวทนาทางร่างกายด้วย แล้วความสุขก็ไม่ใช่จิต ความสุขในใจเรา มันจะแยกๆๆ ไปเรื่อย

หรือเราภาวนาไปเรื่อยๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เราก็เห็นสุขทุกข์มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่จิต ไม่ใช่กาย ไม่ใช่จิต บางทีกุศลอกุศลก็เกิด อย่างเวลาจิตใจเรามีความสุข ราคะมักจะแทรก เราก็จะเห็นความสุขกับราคะก็คนละอันกัน ความสุขกับราคะก็คนละอันกัน แยกๆๆ ไปเรื่อย ความสุขมันเป็นเวทนา อยู่ในเวทนาขันธ์ ราคะมันอยู่ในสังขารขันธ์ จิตนั้นเป็นคนรู้ จิตอยู่ในวิญญาณขันธ์ หัดแยกมันไปเรื่อยๆ แต่อย่าไปคิดแยกเอา ต้องเห็นเอา เราจะเห็นได้ จิตเราต้องตั้งมั่นพอ ฉะนั้นเราทิ้งสมาธิไม่ได้หรอก

เบื้องต้นบางคนหลวงพ่อดูแล้วไม่มีทางเข้าฌานหรอก ให้รู้สึกร่างกายไป ร่างกายกระดุกกระดิก ร่างกายหายใจแล้ว รู้สึกมันไปเรื่อยๆ นานๆ ไปจิตมันก็มีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาได้ แล้วก็ค่อยหัดแยกขันธ์เอา แยกง่ายๆ เลย อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหม ร่างกายนั่งอยู่ ลองพยักหน้าสิ พยักหน้า เห็นไหมร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตมันเป็นคนรู้ กายกับจิตมันคนละอันกัน หรือต่อไปก็ค่อยๆ หัดแยกความสุขความทุกข์ในร่างกาย มันก็คนละอันกับร่างกาย ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในจิต มันก็คนละอันกับจิต ค่อยแยกๆๆ ไปเรื่อย กุศล อกุศลมันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นสังขารขันธ์ มันก็ไม่ใช่กาย มันก็ไม่ใช่เวทนา คือความสุขทุกข์ มันไม่ใช่จิต มันเป็นอีกขันธ์หนึ่ง

พอเราแยกๆๆ ไปเรื่อยแล้วต่อไปจิตยังทรงตัวอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่พอแยกๆ ได้เดี๋ยวก็ฟุ้งไปอีก กลับมาทำความสงบใหม่ ทำฌานได้ทำไป ทำไม่ได้ รู้สึกร่างกายเคลื่อนไหวไป อย่าไปดูที่จิตตรงๆ จิตเป็นของรวดเร็ว ไปดูที่จิตปุ๊บ หนีไปแล้ว ร่างกายมันหนีไปไหนไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเวลาจะทำสมาธิ ถ้าเข้าฌานไม่เป็น รู้สึกร่างกายง่ายกว่ารู้สึกจิต จิตมันว่องไว เราเห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจ เห็นมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตมันค่อยมีกำลังขึ้นมาแล้วก็แยกขันธ์ไป

แยกขันธ์ได้เราก็ดูขันธ์แต่ละขันธ์ ธาตุแต่ละธาตุ สภาวะแต่ละสภาวะ ตกอยู่ใต้สามัญลักษณะ ลักษณะร่วม สภาวะทุกตัวที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นนามธรรม ตกอยู่ในลักษณะร่วมกัน คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็คือมันมีแล้วมันก็ไม่มี มันไม่มีแล้วมันก็กลับมี มันไม่คงที่ ทุกขังก็คือขณะที่มันมีอยู่ มันกำลังถูกบีบคั้นให้มันไม่มี อนัตตาก็คือมันจะมีหรือจะไม่มี เราบังคับไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน นี่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็คือมันเคยมีแล้วมันก็ดับไป ทุกขังก็คือของที่กำลังมีกำลังถูกบีบคั้นให้ดับไป อนัตตาก็คือของจะมีหรือของจะดับไปไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราเห็นสภาวธรรมแต่ละตัวๆ ที่ปรากฏขึ้นมา ก็เห็นมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

 

ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่มีคำว่าควรจะดูตัวไหน

สภาวธรรมมันมีจำนวนมาก เช่น มีร่างกาย มีเวทนา มีสังขาร มีจิตอะไรอย่างนี้ แล้วแต่ละตัวๆ ก็มีลูกมีหลานเยอะแยะเลย โดยเฉพาะตัวสังขาร ตัวรูป มันก็ส่วนหนึ่งประกอบด้วยสภาวธรรมจำนวนมากในตัวรูป ตัวเวทนามีอันเดียวคือตัวเวทนา สัญญาก็มีอันเดียว ตัวสังขารมี 50 ตัว 50 ชนิด ตัววิญญาณ ตัวจิตจริงๆ มีตัวเดียว คือตัวที่รู้อารมณ์ แต่พอไปรู้อารมณ์ทางตาก็ไปเรียกชื่อใหม่ เป็นจักขุวิญญาณจิตอะไรอย่างนี้ จิตที่ไปรับรู้ทางตา ที่จริงจิตมีสภาวะอันเดียว คือสภาวะที่รู้อารมณ์ ฉะนั้นตัวรูปมีทั้งหมดแยกออกไปได้ 28 ชนิด แต่พวกเรามีไม่ครบหรอก

อย่างมันมีรูปอยู่คู่หนึ่ง รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย อันนี้ไม่ใช่รูปข้างนอก สมัยโบราณก็มองได้แค่รูปข้างนอก ถ้าสมัยนี้คงดูเข้าไปจนถึงยีนข้างใน ดูโครโมโซม ดูอะไรอย่างนี้ ดูผู้หญิงผู้ชาย เพราะร่างกายภายนอก เดี๋ยวนี้มันผ่าตัดได้ เปลี่ยนได้ ถ้าเรามีรูปผู้ชาย เราก็ไม่มีรูปผู้หญิง ฉะนั้นรูป 28 รูป อย่างน้อยเราก็หายไปหนึ่งแล้ว เราไม่ต้องรู้ละเอียดทั้งหมดๆ หรอก เราเห็นรูปบางอย่างก็พอแล้ว เช่น รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รูปยืน เดิน นั่ง นอน

ในพวกอภิธรรมจะบอกว่า นี่ไม่ใช่รูปแท้ มันเป็นรูปชนิดเดียว เรียกว่าวิญญัติรูป รูปที่เคลื่อนไหว รูปที่เรารู้สึกเอา เราไม่ได้เรียนเอาตำรา แต่เราเรียนเพื่อล้างความเห็นผิดว่าตัวนี้คือตัวเรา ฉะนั้นพอจิตเราตั้งมั่น ดูลงไปเลยรูปมันนั่งอยู่ รู้ว่ามันนั่งอยู่ รูปที่นั่งอยู่ไม่ใช่เรา อย่างนี้ใช้ได้ ไม่ต้องไปนั่งแยกรูปตั้งมากมาย เวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ต้องเรื่องมาก ไม่ต้องไปยุ่งมากมาย สัญญาเกิดขึ้นก็ไม่ต้องยุ่งมาก มันก็เป็นสภาวะแต่ละอย่างๆ ตัวสังขารมีตั้ง 50 ตัว เรามีไม่ถึงหรอก อย่างถ้าเราทำฌานไม่ได้ หายไปหลายสิบตัวแล้ว อันนั้นเป็นเรื่องของคนเข้าฌาน

ถ้าเราอยู่อย่างนี้ จิตเราก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ดูมันง่ายๆ นี้ล่ะ ไม่ต้องซับซ้อนวุ่นวาย คิดมากยิ่งภาวนาไม่ได้หรอก ดูของจริง ดูเท่าที่ดูได้ ดูเท่าที่มันมี ในสภาวะอันหนึ่งๆ ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมเกิดร่วมกันจำนวนมาก มีสภาวะเกิดร่วมกันจำนวนมาก แต่ตัวไหนเด่นดูตัวนั้นๆ ไม่ต้องพยายามดูว่าควรจะดูตัวไหนๆ ไม่มีคำว่าควรจะดูตัวไหน เห็นตัวไหน ตัวไหนมันมีบทบาทเด่นขึ้นมา รู้ตัวนั้นล่ะ

ยากไหมที่จะรู้ว่าตัวไหนเด่นขึ้นมา ฟังอย่างนี้ยาก แต่คิดถึงเวลาเราดูหนังดูละคร ตัวละครออกมาทีหนึ่งตั้งหลายตัวใช่ไหม ดารามีหลายคนออกมาพร้อมๆ กัน แต่เวลาเราดูเราจะดูตัวที่กำลังมีบทบาทเด่นอยู่ ตอนนั้นผู้ร้ายอาจจะเป็นบทบาทเด่น ไม่ใช่พระเอกก็ได้ ไม่ใช่นางเอกก็ได้ อาจจะตัวตลกมีบทบาทเด่นอยู่ ต้องสอนไหมว่าตอนนี้ควรจะดูตัวไหน ไม่เห็นต้องสอนเลย พวกเราดูหนังเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วใช่ไหม เรารู้ว่าตอนนี้ควรจะดูตัวไหน

อย่างคนนั่งอยู่ในห้องเยอะแยะเลย ทุกคนนั่งเรียบร้อยหมดเลย มีคนหนึ่งอย่างนี้ (ทำท่าหาว เกาศีรษะ) เราจะถูกดึงดูดให้ไปดูทันทีเลย คนเรียบร้อยมีตั้ง 200 – 300 คน ไม่ได้ดูแล้ว มันจะไปดูตัวที่มีบทบาทเด่นขึ้นมา ฉะนั้นตัวไหนเด่นดูตัวนั้นล่ะ ไม่ต้องคิดมาก แล้วไม่ต้องไปถามด้วยว่า ควรจะดูตัวไหน มันเหมือนเราไม่ต้องถามแล้วว่าจะดูละครจะดูตัวไหน ถึงเวลามันก็ดูได้ล่ะ พอเราเห็นตัวที่เด่นแล้ว ตัวอื่นช่างมันไปก่อน เราก็จะเห็นตัวนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้

 

เรียนวิเสสลักษณะ เพื่อจะเห็นสามัญลักษณะ

อย่างถ้าเป็นละคร มันมีเหตุก็คือมันมีบทบาทที่จะพูด หรือบทบาทที่จะแสดง ชกต่อยอะไรอย่างนี้ มันมีบทบาทขึ้นมา เราก็ดู อย่างสภาวะในจิตใจเรามีตั้งเยอะตั้งแยะ ตัวสังขาร อย่างโทสะมันเกิด ในขณะที่โทสะเกิด ยังมีสภาวะละเอียดๆ อีกเยอะแยะเลย อย่างมนสิการก็มี มีเอกัคคตาก็มี ฟังแล้วปวดหัว ไม่ต้องไปหามันหรอก โอ๊ย ตอนนี้มีกี่สิบตัวมาประกอบขึ้นมาในขณะนี้ เหมือนละครโรงใหญ่มีตัวละครเยอะแยะเลย ทำงานร่วมกันขึ้นมา แต่โทสะมันกำลังเด่น ดูโทสะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดมากว่าจะดูตัวไหน ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น แล้วตัวนั้นมันจะแสดงให้เราดู

อย่างเวลาเราดูละครเห็นไหม ตัวนี้มีบทบาทพูดๆๆ อยู่ หมดคำพูดของตัวนี้ อีกตัวหนึ่งพูดโต้ตอบ เราก็จะหันไปมองตัวใหม่ที่มันพูดโต้ตอบ มันหมดหน้าที่ของตัวเก่าแล้ว มันก็ไปโผล่ที่ตัวใหม่ สภาวะทั้งหลายก็เหมือนกัน ตัวนี้หมดความเด่นแล้ว มันก็ไปขึ้นอีกตัวหนึ่ง ตัวไหนเด่นเราก็เห็นตัวนั้นล่ะ แต่ทุกๆ ตัวแสดงธรรมะอันเดียวกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน

สิ่งที่เราต้องการฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันรู้แจ่มแจ้งก็คือสภาวะทั้งหลาย รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย เรียกว่าสังขตธรรม ธรรมะที่ปรุงแต่งอันเกิดทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้เหมือนกัน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน เราภาวนาเพื่อให้เห็นสามัญลักษณะ แต่ก่อนที่เราจะเห็นสามัญลักษณะได้ เราต้องเห็นแต่ละตัวๆ ก่อน ราคะก็มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนโทสะ โทสะก็มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนความสุขอะไรอย่างนี้ แต่ละตัวก็มีลักษณะเฉพาะ ภาษาบาลีเขาเรียกว่าวิเสสลักษณะ คือสภาวธรรมแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

อย่างจิตมีลักษณะเฉพาะคือเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ โทสะธรรมชาติมันทำลายล้าง อยากบดขยี้ ผลักดันอารมณ์ให้กระเด็นออกไปไกลๆ ราคะมันก็มีสภาวะมันดึงดูด มันอยากได้ มันก็ดึงเข้าหาตัว อย่างเราเห็นลูกแมวน่ารัก เราก็อยากอุ้มใช่ไหม นี่เอาเข้าหาตัว ราคะ โทสะ มันก็ผลัก ไม่ชอบอะไรก็ผลักออกไป โมหะมันเป็นสภาวะซึ่งจับอารมณ์ได้ไม่มั่น สับสน วุ่นวาย ลังเล ฟุ้งซ่าน จับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง แต่ละอันๆ มันมีสภาวะของมันเอง มีลักษณะเฉพาะตัวของมันเอง ทำให้เราสามารถแยกได้ว่าอันนี้คืออันนี้ๆ ราคะเป็นอย่างนี้ โทสะเป็นอย่างนี้ โมหะเป็นอย่างนี้ สุขเป็นอย่างนี้ ทุกข์เป็นอย่างนี้ รูปเป็นอย่างนี้ จิตเป็นอย่างนี้ แยกได้

แต่เราไม่ได้เรียนเพื่อจะหัดแยกเฉยๆ ลำพังเรียนวิเสสลักษณะเพื่อให้เห็นว่าตัวนี้กำลังเกิด ตัวนี้ตั้งอยู่และตัวนี้ดับไป เพราะฉะนั้นการรู้วิเสสลักษณะ ลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้เรารู้ว่านี่คืออะไร แล้วเพื่ออะไร เพื่อจะเห็นสามัญลักษณะ เห็นว่าตัวนี้มีอยู่แล้วเดี๋ยวก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อยู่ไม่ได้จริงหรอก ตรงที่เราเห็นตัวของมันเฉยๆ เห็นแต่ตัวสภาวะเฉยๆ เป็นสมถะ ยังอยู่ในกลุ่มของสมถะ แต่ตรงที่เราเห็นสามัญลักษณะ เห็นไตรลักษณ์ อันนั้นถึงจะขึ้นวิปัสสนา

 

 

ฉะนั้นเราค่อยๆ ดู ทีแรกก็หัด ถ้าสรุปตั้งแต่เริ่มต้น หลวงพ่อพูดประเด็นมันเยอะ เริ่มต้นก็คือ ฝึกจิตให้มันมีสมาธิเสียก่อน จะเข้าฌานตามลำดับมันก็ได้ ถ้าตั้งแต่ฌานที่สองถึงฌานที่แปดจะได้จิตที่เป็นตัวรู้ขึ้นมา แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ อย่างนั้นก็ได้ แล้วต่อไปจิตมันจะค่อยๆ มีพลัง ทรงตัวขึ้นมา พอจิตมันทรงตัวขึ้นมาได้แล้ว หัดแยกขันธ์ๆ ไป พอมันแยกขันธ์ได้ มันจะเห็นแต่ละขันธ์ ในขันธ์หนึ่งก็มีสภาวะหลากหลาย อย่างสังขารขันธ์มีตั้งเยอะแยะ ตั้ง 50 อย่าง เราไม่ต้องเรียนทั้งหมด เราเรียนเท่าที่มี

ต่อไปเราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

เราเห็นอะไร เช่น เราเห็นราคะมันเกิดขึ้น ราคะมันตั้งอยู่ ราคะมันดับไป อย่างนี้เรียกว่าเราเห็น ถ้าเราคิดว่า เอ๊ะ ตอนนี้จิตเรามีราคะ หรือมีโทสะ อันนี้ไม่เรียกว่าเห็น ยังหลงอยู่ในโลกของความคิด พอเราสะสมการเห็นถูกไปเรื่อยๆ เราสะสมการเห็นถูกบ่อยๆๆ เห็นไตรลักษณ์ อะไรเกิดขึ้นก็เห็นไตรลักษณ์ๆ ต่อไปถึงจุดหนึ่งจิตมันสรุปเอง สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้นเลย ฝึกไปๆ

ถ้าคนไหนทำฌานได้ ถึงเวลาก็เข้าที่ภาวนา ทำความสงบเข้ามา ถ้าเราชำนาญ เรามนสิการ เรานึกถึงความสงบในสมาธิ สงบได้เลย นึกปุ๊บก็สงบปั๊บเลย พอสงบแล้วก็พักผ่อนอยู่ตามอัธยาศัย พักผ่อนพอสมควรแล้ว อย่าขี้เกียจ ให้ถอยจิตออกมานิดหนึ่ง ให้มันทำงานได้ อย่าให้มันนิ่งว่างๆ อยู่เฉยๆ อันนี้มันพูดภาษาคน มันก็พูดอย่างนี้ จะในเรื่องของจิตใจ ต้องไปดูเอาเองว่าดูสภาวะว่างๆ ดูอย่างไรที่จิตจะสงบ ดูอย่างไรที่จิตจะทำงานได้ ปรุงแต่งได้ ก็ต้องไปหัดดูเอาเอง พูดไม่ได้หรอก สอนไม่ได้

ตอนหลวงพ่อหัดใหม่ๆ หลวงพ่อทำสมาธิดู ดูจิต ทีแรกก็เห็นจิตมีราคะ โทสะ โมหะ จิตสุข จิตทุกข์อะไร มันค่อยๆ รวมๆ เข้าไปแล้วก็ว่าง บางทีก็ว่างสว่างขึ้นมา ถ้าสว่างแล้วเราไปอยู่กับความสว่าง ติดอยู่ในความสุข อันนั้นก็ไปไม่รอด พอสว่างแล้ว เรารู้สึกขึ้นนิดหนึ่ง รู้สึกตัวรู้ขึ้นนิดหนึ่ง จิตมันจะเริ่มทำงานได้ มันทำงาน จะเห็นสภาวะบางอย่างผุดขึ้นมา ทำไมใช้คำว่าสภาวะบางอย่างผุดขึ้นมา เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เห็นแค่สิ่งบางสิ่งผุดขึ้นมา ไหวขึ้นมา

อย่างเราภาวนา ว่างๆ อยู่ในตัวเรา พอใจเราไม่ไปติดในความสงบ ในความว่าง ในความสุข พอมันไม่ติด มันจะเริ่มเดินปัญญาได้ มันก็จะเห็นความไหวขึ้นที่กลางอก บางทีก็ไหวยิบยับๆ ขึ้นมา บางคนก็เห็นว่ามันหมุนๆๆ ขึ้นมา บางทีก็เห็นว่ามันไหวๆ แล้วมันก็เหวี่ยงสภาวะขึ้นมาเป็นอนันต์ ตรงที่มันเหวี่ยงขึ้นมา สัญญาจะเข้าไปแปลได้ เอ๊ย ตรงนี้ราคะเกิด ตรงนี้โทสะเกิด อันนี้เป็นสังขารที่หยาบแล้ว ตรงสังขารที่ยังละเอียดอยู่ไหวยิบยับๆ ไม่รู้ว่าคืออะไร มันเกินคำพูดแล้ว

นั่งภาวนา นั่งเห็นมันไหวๆๆ ไปเรื่อย จิตอยู่ต่างหาก จิตเป็นคนรู้คนดู ไม่เข้าไปวุ่นวายกับมัน จิตมันก็เกิดปัญญาเป็นลำดับๆ เข้าใจเป็นลำดับๆ ไป เข้าใจจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก จิตเป็นธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ จิตเป็นสมบัติของโลก เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ พอกำลังมันไม่พอ ถ้าสมาธิไม่พอ มันจะเริ่มหลอกเราแล้ว จากที่ว่างๆ แล้วเรารู้อยู่ แล้วมันทำงานขึ้นมาแล้วกำลังเราไม่พอ มันจะเคลื่อน เคลื่อนออกไปข้างนอกนิดหนึ่ง แล้วก็ไปว่าง ว่างอีกแล้ว เมื่อกี้ว่างข้างใน นี่ว่างข้างนอก มันมีอีกว่างหนึ่ง ว่างของนิพพาน ไม่มีข้างนอก ไม่มีข้างใน มีหลายระดับ ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งก็เข้าใจ

 

ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นทุกข์

แต่เบื้องต้นถือศีล 5 ไว้ก่อน พระก็ต้องถือศีล 5 มีศีล 227 แล้วลืมศีล 5 ล้มละลายแล้ว มี ไม่ใช่ไม่มี มีศีลเยอะๆ แต่ว่าไม่มีศีล 5 ศีลที่จำเป็นจริงๆ ของพระคือศีล 8 นอกนั้นเป็นศีลที่มีประโยชน์ เป็นวินัยที่มีประโยชน์ ศีล 10 มีประโยชน์ อย่างเราไม่มีเงินๆ ใจมันจะไม่เหมือนคนที่มีเงินในกระเป๋า ฉะนั้นที่ท่านไม่ให้พระมีเงิน ถ้าไปภาวนาแล้วจะเห็นเอง มีเงินแล้วมันมีอหังการ มีอำนาจซื้อ มีอำนาจอยากได้อะไรก็หาได้อะไรอย่างนี้ มันไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของตัณหา อย่างคนรวยมากๆ อยากได้อะไรก็ได้หมด มันไม่เห็นทุกข์หรอก แต่อย่างพระใช่ไหม ตกเย็นหิวข้าว ท้องร้องจ๊อกๆ ดื่มได้แต่น้ำอะไรอย่างนี้ มันเห็นทุกข์ หรือความอยากอะไรเกิดขึ้น มันเห็นทุกข์ เพราะมันไม่มีปัญญาที่จะตอบสนอง มันเป็นอุบาย วิธีที่ท่านสอนเรา

หลวงพ่อเคยเล่าให้พวกเราฟัง หลวงพ่อเคยไปเจอพระองค์หนึ่ง ท่านเป็นลูกเศรษฐี ลูกคนเดียว ที่บ้านมีเงินราวๆ 2 ร้อยล้าน 2 ร้อยล้านเมื่อ 40 ก่อน เดี๋ยวนี้คิดเป็นเงินเท่าไรไม่รู้ ลูกคนเดียวก็ออกมาบวช บวชไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเห็นพระอื่น ท่านไปบิณฑบาติ ท่านได้ข้าวเหนียวถั่วดำมา อยากกินข้าวเหนียวถั่วดำ ของโปรดเลย ก็ไม่ได้ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งไปบิณฑบาต ได้มาแล้ว แบบวัดป่า อาหารเทรวมกัน ข้าวเหนียวถั่วดำที่ไปบิณฑบาตได้มา องค์อื่นเอาไปแล้ว ตัวเองไม่ได้ บอกร้องไห้เลย เข้ากุฏิได้ ร้องไห้เลย สงสารตัวเอง ทำไมเราต้องลำบากอย่างนี้

ถ้าเป็นฆราวาสไม่รู้สึกหรอกว่ากามมีโทษแค่ไหน มันเห็นแต่กามคุณ มันเกิดความต้องการทางเพศก็ตอบสนอง แหม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ไม่เห็นกามโทษ เห็นแต่กามคุณ มันละไม่ลงหรอก ก็ติด ฉะนั้นที่พวกเรามีวินัยมีอะไรขึ้นมา เป็นอุบายที่จะขัดเกลาตัวเองๆ ฉะนั้นถ้าเป็นโยมรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี เป็นพระก็รักษาพระวินัยไว้ให้ดี ทั้งวินัยในปาติโมกข์ อภิสมาจาร นอกปาติโมกข์ ข้อวัตรอะไร พยายามรักษา ข้อวัตรบางอย่างไม่รักษา อาบัติ บางอย่างเป็นความสมัครใจ จะสมาทานก็ได้ ไม่เอาก็ได้ อย่างธุดงค์อย่างนี้ ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัย แต่ข้อวัตรอื่นๆ ไม่ทำผิด อาบัติ เป็นพระมีเรื่องปลีกย่อยเยอะแยะ

แต่เป็นโยม ศีล 5 เอาให้ได้ รักษาให้ดี รักษาแรกๆ ยังไม่เห็นประโยชน์ รักษาไปนานๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง คนที่รักษาศีล 5 นานๆ จิตจะเริ่มมีกำลังขึ้นมา สมาธิจะเกิดง่าย ถ้าผิดศีลเมื่อไร สมาธิจะแตกหมดเลย ถ้ามีศีลไปช่วงหนึ่งสมาธิมันจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น เพราะศีลเป็นบาทเป็นฐานของสมาธิ ส่วนสมาธิกับปัญญานั้นต้องฝึกเอา ศีลต้องตั้งใจรักษา เพราะฉะนั้นคำว่าปฏิบัติธรรมๆ ไม่ใช่เริ่มจากหายใจเข้าพุทออกโธ การปฏิบัติธรรมเริ่มจากการรักษาศีล รักษาข้อวัตร รักษาพระวินัยสำหรับพระ นั่นคือการปฏิบัติ

การฝึกสมาธิ ต้องฝึก แบ่งเวลาไว้เลย ทุกวันต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ หรือจะเดินจงกรม หรือจะทำกรรมฐานอะไร เอาที่ถนัดนั่นล่ะ สมาธิจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่กระบวนท่า ไม่ใช่ว่าเดินท่านี้แล้วจะได้สมาธิ นั่งท่านี้แล้วจะได้สมาธิ ขยับอย่างนี้แล้วจะได้สมาธิ ทำกรรมฐานไปแล้วมีสติรู้ทันจิตตัวเองไป สมาธิจะเกิดอย่างรวดเร็วเลย อาศัยสติรู้ทันจิตนั่นล่ะ ท่านถึงสอนว่าจิตตสิกขา การเรียนรู้เรื่องจิตนั่นล่ะทำให้มีสมาธิขึ้นมา ส่วนจะนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นแค่รูปแบบ เนื้อในของมันคือการมีสติ รู้เท่าทันจิตตัวเองไว้แล้วสมาธิจะเกิดง่าย

เข้าฌานได้ เข้าทุกวัน ฝึก เข้าไม่ได้ อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เห็นร่างกายเคลื่อนไหวอะไร รู้สึกไว้ แล้วต่อไปพอจิตมันเคลื่อนไหวก็รู้สึก ตรงที่รู้สึกถึงสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็นได้ สมาธิจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ สติก็จะเกื้อกูลให้มีสมาธิขึ้นมา สมาธิที่ถูกต้อง สมาธิก็เป็นตัวเกื้อกูลให้เกิดปัญญา ทั้ง 2 ตัว สมาธิชนิดสงบก็สำคัญ สมาธิชนิดตั้งมั่นก็สำคัญ เวลาเจริญปัญญา เราใช้สมาธิชนิดตั้งมั่น จิตมันเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น เมื่อมันรู้มันเห็นไปช่วงหนึ่งจิตมันจะเหนื่อย เราก็ใช้สมาธิชนิดสงบเป็นที่พักผ่อน เราก็สงบ

 

ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงที่มันไม่ปรุงอะไรขึ้นมา

ถ้าทำแนวที่หลวงพ่อบอกได้ มรรคผลไม่ไกลเราหรอก อาจจะได้ในชีวิตนี้ หรือได้ในชาติต่อๆ ไป 2 – 3 ชาติอะไรอย่างนี้ 7 ชาติอะไรอย่างนี้ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยบอกหลวงพ่อ องค์นี้ท่านมีฤทธิ์มาก หลวงพ่อถามท่านบอกว่า ถ้าเราภาวนาถูก เราใช้เวลานานไหมกว่าจะได้โสดาบัน ท่านตอบโช๊ะเลย บอกว่าไม่นานหรอก ไม่เกิน 7 ชาติ เราฟังแล้วนาน ตั้ง 7 ชาติ แต่เราเกิดมาไม่รู้กี่แสนชาติแล้ว

ฉะนั้นอย่างการที่เราได้ยินได้ฟังธรรมะ แล้วเราก็ตั้งใจรักษาธรรมะนี้ไว้ ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจฝึกจิตฝึกใจให้มันมีสมาธิ ทั้งความสงบ ทั้งความตั้งมั่น พอมันตั้งมั่นแล้วก็หัดเจริญปัญญา เริ่มต้นแยกขันธ์ออกไป แยกขันธ์ได้แล้วก็ค่อยเห็นสภาวะแต่ละตัวมันแสดงไตรลักษณ์ ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ สังสารวัฏของเราก็จะสั้นลงๆๆ

สุดท้ายมันไม่ได้มีอะไร ไม่ได้มีอะไรหรอก จะรู้เลยเราไม่ได้ได้อะไรมา เราไม่ได้เสียอะไรไป ถ้าจะมีอะไรที่ได้มาก็คือสัมมาทิฏฐิ ถ้าจะมีสิ่งที่เสียไปก็คือมิจฉาทิฏฐิ เท่านั้นล่ะ ความรู้ถูกเกิดขึ้น รู้ถูกเข้าใจถูก มันจะเห็นความจริง ความจริงอะไร กายนี้ก็ว่าง โลกนี้ก็ว่าง จิตนี้ก็ว่าง เป็นความว่างอันเดียวเสมอกันหมด ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงที่มันไม่ปรุงอะไรขึ้นมา

ช่วงยังไม่ได้บวชหลวงพ่อเคยเข้าใจผิด หลวงพ่อคิดถึงการเข้านิพพาน เข้าไปตั้งทำสมาธิอันหนึ่งขึ้นมา แล้วจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่อัตโนมัติอยู่แล้ว เราส่งจิตไปที่อารมณ์ พอจิตจะสัมผัสเข้ากับอารมณ์ ทวนกระแสกลับเข้าหาตัวผู้รู้ พอจิตจะจับเข้ากับตัวผู้รู้ก็ไม่ให้จับ ทวนออกไปหาตัวอารมณ์ สุดท้ายจิตมันดับลงไป ว่างวับลงไป แต่มันไม่ใช่ดับสูญ มีสภาวะอันหนึ่งมีอยู่ ขณะนั้นไม่มีความคิด ไม่มีเวล่ำเวลา ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย พอจิตมันถอนออกมา เราก็รู้สึก โห นี่นิพพานล่ะกระมัง ท่าจะนิพพานแล้ว ว่าง ไม่มีอะไร เล่นอยู่พักหนึ่งก็เฉลียวใจว่านี่คือสมถะ ไม่ใช่นิพพานจริงหรอก

พอดีเจอหลวงปู่บุญจันทร์ องค์นี้ท่านฤทธิ์เยอะ ท่านไม่รู้จักหลวงพ่อ ที่จริงท่านรู้จักหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อไม่รู้จักท่าน ต้องใช้คำนี้ ครูบาอาจารย์บางองค์ รู้จักเรามากกว่าเรารู้จักตัวเราเอง ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา เราก็ไม่อยากไป ไม่รู้จักท่าน ไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป พระนั้นก็เซ้าซี้ให้ไปหาๆ เราก็ไป ไปถึงท่านชี้หน้าเลย ภาวนาอย่างไร ก็เล่าให้ท่านฟัง ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ยึดถืออะไรเลย โดนท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิพพานอะไร มีเข้ามีออก” โดนท่านตวาดอย่างนี้ ท่านถามว่า “ไง จะภาวนาอย่างไงอีก”

หลวงพ่อก็นึกว่าท่านฟังสำเนียงเราไม่ออก เพราะเราฟังสำเนียงท่านก็ไม่ค่อยออกเหมือนกัน ท่านคนอีสานแต่ไปอยู่ทางเหนือ พูดซ้ำให้ท่านฟัง ภาวนา ไม่จับอารมณ์ไม่จับจิต ไม่เอาทั้งผู้รู้ ไม่เอาทั้งสิ่งที่ถูกรู้ ท่านตวาดครั้งที่สอง “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” จิตเราวางเลย ทิ้งเลย ไม่เข้าอีกแล้วตรงนี้ ท่านหัวเราะเลย นี่ความเมตตาของครูบาอาจารย์ ไม่รู้จักเลย แต่ท่านรู้เรา คงเข้าไปในข่ายผู้น่าสมเพชในสายตาท่าน ท่านก็เลยเรียกไปสอนให้

ฉะนั้นนิพพานจริงๆ ไม่มีการเข้าการออกทั้งสิ้น ไม่มีหรอก นิพพานก็คือนิพพานนั่นล่ะ นิพพานไม่มีเกิด ไม่มีดับ ไม่เหมือนมรรคผล มรรคผลมีเกิดมีดับ เป็นโลกุตตระที่เกิดดับ แต่นิพพานเป็นโลกุตตระที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นอันเดียวเลย เป็นสภาวะอย่างเดียวเลยที่ไม่เกิดไม่ดับ สภาวะนี้มีอยู่ หนทางที่จะไปสู่สภาวะอันนี้มีอยู่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเราคือศีล สมาธิ ปัญญา คือการเจริญมรรคมีองค์ 8 นั่นล่ะคือหนทาง หนทางยังมีอยู่ ร่องรอยการปฏิบัติก็ยังมีอยู่ เห็นตัวอย่างครูบาอาจารย์ ท่านสะอาดหมดจด เรากิเลสหนา ปัญญาหยาบ เห็น มีร่องรอย มีรอยเท้าที่เดินตามได้ รีบๆ เดินเสีย อย่านึกว่าศาสนาพุทธจะอยู่นาน

 

รีบภาวนา

ตอนนี้โลกมันวิ่งเร็วมาก อย่างพวกชอบออกความเห็น พวกอาจารย์ พวกอะไรนี้ล่ะ ตามมหาวิทยาลัย เรียนมาจากเมืองนอก ก็บอกว่าศาสนาพุทธไม่ต้องมาเรียน ไม่สำคัญหรอก ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง แล้วหลักการทางวิชาการ ต้องแยกศาสนาออกจากวิชาการ อันนี้เขาไปรับคอนเซ็ปต์ฝรั่งมา ศาสนาของฝรั่ง มันต่อต้านความเปลี่ยนแปลง กาลิเลโอใช่ไหม ค้นพบอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ศาสนจักรเหยียบย่ำแย่เลย ฝรั่งก็รู้สึกว่าศาสนามันต้องแยกออกจากวิชาการ

แต่พุทธเราไม่เคยเป็นแบบนั้น ศาสนาพุทธเป็นศาสตร์ที่ว่าทำอย่างไรเราจะไม่ทุกข์ จะมีวิชาการอะไร ตราบใดที่ยังทุกข์อยู่ ก็ยังตอบโจทย์ชีวิตไม่ได้หรอก มันไม่เหมือนกัน ศาสนาพุทธไม่เคยไปเบียดเบียนขัดขวางความเจริญอะไรทั้งสิ้น พอไม่เข้าใจก็พูดส่งเดชไป ถ่ายทอดความเห็นผิดออกไป มีเยอะที่ถ่ายทอดความเห็นผิดกันเยอะแยะมากเลย หลายๆ เรื่อง ฉะนั้นเด็กรุ่นหลังๆ จะยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้นๆ ของเราต่อไปเราก็แก่ เราก็ตายไป คนรุ่นหลังจะไม่เอาแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ารอจนวันที่ศาสนาสูญหาย รีบปฏิบัติเสียก่อน

พวกนักวิชาเกินมีปัญหาเยอะเลย ถ่ายทอด สอนเด็ก อย่างโจมตีว่าเมืองไทยยุครัชกาลที่ 5 ยังมีทาส เป็นการกดขี่ อันนั้นเอาคอนเซ็ปต์ทาสของยุโรปมาใช้ ประเทศหนึ่งมหาอำนาจนี้ล่ะ เข้าไปยึดประเทศใกล้ๆ เอามา แล้วเอาคนของเขาไปเป็นทาส ฝรั่งด้วยกันนี่ล่ะเอาฝรั่งไปเป็นทาส ยุคแรก แต่มันทำงานไม่เข้มแข็งเท่าไรหรอก ฝรั่งไม่ค่อยทำอะไร เลยไปจับพวกแอฟริกาไปเป็นทาสต่อ เอาไปบังคับให้ทำงาน ทาสไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทาสไทย ตอนเลิกทาส ทาสร้องไห้เลย ต่อไปนี้ลำบากแล้ว ไม่มีผู้ปกครองดูแล

คือไปเอาคอนเซ็ปต์ของชาติหนึ่งของกลุ่มหนึ่งมาสวมลงมา สวมเข้ามาเฉยๆ แล้วไม่ได้เข้าใจบริบท ไม่ได้เข้าใจอะไรในบ้านเมืองของเราจริง ถ่ายทอดอะไรออกไป ดูแล้วก็ต่อไปข้างหน้าจะลำบากหน่อย เรารีบๆ ภาวนา รีบภาวนาเข้า อะไรที่มันเพี้ยนๆ ฝรั่งครอบหัวมาก็เชื่อมันหมด

ที่พูดเรื่องหลังๆ เพื่อจะเตือนพวกเรารีบภาวนาเข้า ไม่ใช่พูดเพื่อจะไปโจมตีประเทศไหน หรือโจมตีคนกลุ่มไหนหรอก เพราะไม่ควรจะโจมตีเสียเวลา ไม่ใช่เรื่อง งานหลักของเราคืองานล้างกิเลสของเราเอง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 ตุลาคม 2565