วิธีพ้นจากความปรุงแต่ง

เมื่อเช้าหลวงพ่อเดินดูพระ พระนั่งเข้าแถว เจอองค์หนึ่งภาวนาดีขึ้น ภาวนาดีคือใจมันค่อยคลายออกจากโลก มันพ้นความปรุงแต่งทั้งหลาย ค่อยๆ คลายออก คือถ้าเมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่งได้ จิตเราก็เข้าถึงความสันติสุข เข้าถึงความสงบ ใจที่มันปรุงแต่งดิ้นรนมันก็ไม่มีความสงบ เมื่อไม่มีความสงบมันก็ไม่มีความสุข แต่อยู่ๆ เราจะไปทำใจเราให้มันพ้นความปรุงแต่ง ทำไม่ได้ พวกเราทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เทวดา พรหมทั้งหลาย ก็เกิดมาจากความปรุงแต่งทั้งสิ้น มีความปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็เกิดจิตวิญญาณขึ้น หยั่งลง มีรูปมีนามขึ้นมา

ฉะนั้นจิตนั้นมันคุ้นเคยกับความปรุงแต่ง เพราะมันเกิดมาเพราะความปรุงแต่ง อยู่ๆ เราจะไปห้ามมันไม่ให้ปรุงแต่ง ห้ามไม่ได้ เราถึงต้องลงมือปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา ก็คือความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง แต่เราก็ต้องอาศัยความปรุงแต่งไปเรียนรู้ จนกระทั่งจิตใจมันพ้นความปรุงแต่ง ฉะนั้นจะไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ ศาสนาพุทธเป็นกิริยาวาที เป็นกรรมวาที เป็นกิริยาวาทีต้องมีการกระทำ ไม่ใช่ไม่มีการกระทำ คือเราปรุงแต่งฝ่ายดีไว้

 

ใช้พิษล้างพิษ

ถ้าเราไม่พากเพียรปรุงแต่งฝ่ายดี ไม่พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา จิตที่มันคุ้นเคยกับความปรุงแต่ง มันก็จะไปปรุงแต่งความชั่วขึ้นมา ไปปรุงแต่งความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดมากับความหลงผิด ก็ไปปรุงแต่งจนกระทั่งยึดถือแน่นแฟ้นในความหลงผิด มันก็ใช้เหมือนใช้พิษแก้พิษ ในหนังสือจีนมักจะมี หนังสือกำลังภายใน ถูกพิษชนิดหนึ่ง ก็รับพิษอีกชนิดหนึ่งไปแก้กัน จิตมันคุ้นเคยกับความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ไปปรุงโลภ โกรธ หลง ขึ้นมา เราก็พยายามพัฒนาความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง ความปรุงแต่งที่จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา มันใช้ความปรุงแต่งนั่นล่ะ ไปทำลายล้างอิทธิพลของความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว

ฉะนั้นไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะไม่ปรุงแต่ง ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกนักคิด นักปราชญ์ เขามองว่าถ้าความปรุงแต่งเป็นต้นตอทำให้เกิดความทุกข์ เราก็หยุดปรุงแต่งเสียเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก หยุดความปรุงแต่งไป วิธีที่ฝึกนั้นก็คือทำสมาธิขึ้นมา พอจิตมีความคิดนึกอะไรเกิดขึ้นก็ปัดทิ้งไปเลย ไม่เอา ไม่คิด มีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ปัดทิ้งไม่รับรู้ ในที่สุดมันก็ว่างๆ ปรุงจนกระทั่งจิตเข้าไปอยู่ในว่างๆ เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ บางทีก็ปรุงต่อไปอีก เห็นจิตใจซึ่งมันไปรู้ความว่าง ก็ปรุงต่อไปอีก วางทั้งความว่าง วางทั้งจิต ก็ไปปรุงสภาวะที่ละเอียดที่สุดเลย ชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันนี้เป็นความพยายามที่จะไม่ปรุงแต่ง หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์

เพราะความปรุงแต่งทั้งหลายนั้น ถ้าเราดูมันจะมาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบอารมณ์ ก็ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง พวกนักคิดเขาก็เลยพยายามดับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลงไป ดับตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยการเข้าอรูปฌาน ดับจิตลงไปด้วยการเข้าอสัญญี อสัญญสัตตา เป็นอสัญญสัตตา เป็นพรหมลูกฟัก ดับดับความรู้สึกทั้งหลายลงไป อันนี้เป็นเส้นทางของคนซึ่งพยายามจะไปให้พ้นความปรุงแต่ง แต่เป็นเส้นทางที่ใช้ไม่ได้ พอออกจากอรูปฌานมา ออกจากพรหมลูกฟักมา จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่วของมันต่อไปอีก

ฉะนั้นเราก็ต้องเดินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านบอกว่า “ให้ละความชั่วเสีย ให้ทำความดี” ความชั่วคือความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ทำความดีก็คือให้พวกเรามาปรุงแต่งฝ่ายดี เบื้องต้นต้องปรุงแต่งก่อน คล้ายๆ ความปรุงแต่งนี้ก็เหมือนยาพิษ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นยาพิษอย่างหนึ่ง แต่เอาไว้ล้างพิษของกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าใช้พิษล้างพิษ สุดท้ายมันก็สมดุลกัน เราอย่านึกว่าทำใจว่างๆ แล้วจะพ้นทุกข์ ไม่พ้นหรอก ทำอย่างไรก็ไม่พ้น เพราะจิตใจมันเคยชินที่จะปรุงแต่ง

 

พื้นฐานคือศีล 5

วิธีที่จะพ้นความปรุงแต่งของมัน คือเราปรุงดีไว้ก่อน ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลไว้ 5 ข้อก็พอแล้ว สำหรับการภาวนาระดับโสดาบัน สกทาคามี ศีล 5 พอแล้ว อย่างบางคนมาบวชต้องถือศีล 227 มีศีลนอกปาติโมกข์อีกตั้งเยอะตั้งแยะ มีข้อวัตร 14 ข้อวัตร แต่ละข้อวัตรก็มีตั้งหลายข้อ รายละเอียดเยอะแยะไปหมดเลย ก็ถือไม่ไหว ถือไม่ไหวศีลด่างพร้อย พระวินัยเสียหาย พวกนี้ภาวนาไม่ไหว ภาวนาไม่ขึ้น อย่างเป็นพระมีพระวินัยมากมาย แต่ว่ารักษาไม่ได้ จะภาวนาไม่ไหวหรอก สู้โยมไม่ได้ โยมมีศีล 5 ข้อ รักษา 5 ข้อนี้ได้ ภาวนาได้

เพราะฉะนั้นอย่านึกว่า จุดตั้งต้นก็คือต้องมาบวชก่อน มาเป็นพระ มาเป็นแม่ชี ไม่ใช่หรอก โสดาบัน สกทาคามี เป็นฆราวาสนั่นล่ะ ทำได้ถ้าคิดจะทำ ทำอย่างไรเราจะได้โสดาบัน สกทาคามี รักษาศีล 5 เอาไว้ 5 ข้อพอแล้ว ไม่ต้องเรื่องมาก หลวงพ่อตอนเป็นโยมศีล 8 ยังไม่ได้รักษาเลย รักษาแต่ศีล 5 การภาวนาก็ไม่มีอะไรติดขัด ไปได้อย่างสบายๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ได้สะดุดอะไรเลย เพราะฉะนั้นเราอย่าดูถูกศีลพื้นฐานคือศีล 5 ศีล 5 นั้นสำคัญ

ถ้าเราไปดูให้ดี ในอริยมรรคมีองค์ 8 องค์ในส่วนของศีลมันเป็นเรื่องของศีล 5 สัมมาวาจา ก็คือมีศีลข้อ 4 สัมมากัมมันตะมีศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 สัมมาวาจา ก็คือเราไม่ทำชั่วด้วยวาจา สัมมากัมมันตะ เราไม่ทำชั่วด้วยร่างกาย ไปประทุษร้ายคนอื่น สัตว์อื่น ไปลัก ไปขโมย เป็นชู้เขา นี้เป็นเรื่องของศีล 5 ทั้งนั้น อยู่ในมรรค เรื่องการทำมาหากิน ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ก็อยู่ในเรื่องของศีล 5 อย่างพระ อาชีพของพระนั้นคืออาชีพขอทาน พระเป็นภิกขุ อาชีพคือเป็นผู้ขอ แต่ไม่ได้ขอแบบหน้าด้าน การขอของพระก็มีระเบียบ มีวิธีในการขอ อย่างไปบิณฑบาต ท่านให้เดินไปตามลำดับบ้าน เดินไป คนเขาอยากให้เขาก็ให้ เขาไม่อยากให้ก็ไม่ไปรบเร้า เซ้าซี้ มีมารยาทในการขอเขา

เป็นฆราวาส สัมมาอาชีวะของเรา ก็เรื่องทำมาหากินทั้งหลาย ก็ดูไปอย่าให้มันผิดศีล 5 ตั้งร้านขายเหล้าไม่ใช่สัมมาอาชีวะแน่ มันเบียดเบียนคนอื่น มันทำให้คนอื่นขาดสติ หรือทำให้คนอื่นทะเลาะวิวาท วุ่นวาย ครอบครัวก็ยุ่งยาก สังคมยุ่งยาก เพราะฉะนั้นถ้าเรายังต้องทำอยู่ ก็รู้ไว้ก่อนว่ามันไม่ดี มันไม่ถูก มีโอกาสเมื่อไรก็เปลี่ยนอาชีพไป หรืออาชีพเราเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง มันยังจำเป็นต้องทำ รู้ไว้ก่อนว่ามันไม่ถูก มีโอกาสเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงเสีย ส่วนศีลข้อ 5 ไม่ให้เราเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย อันนี้เป็นการส่งเสริมความมีสติของเรา

เพราะฉะนั้นศีลในองค์มรรคจริงๆ คือข้อ 1 2 3 4 ข้อ 5 นี้มันเขยิบขึ้นมาสู่ขั้นของสมาธิ คือขั้นของการฝึกจิต ถ้าเรามีสิ่งเสพติดอะไรนี้ สติของเราก็ไม่ค่อยจะดี สมาธิของเราก็ไม่ดี อันนั้นอยู่ในกลุ่มที่จะพัฒนาสัมมาสติ สัมมาสมาธิขึ้นมา สัมมาวายามะ ฉะนั้นเบื้องต้นให้เราตั้งใจ ต้องตั้งใจไว้ก่อน เพราะว่ากิเลสนั้นมันรุนแรง อย่างเราอ่านข่าว ใจเราก็โกรธแล้ว อ่านข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีแต่เรื่องวุ่นวายทั้งนั้น ข่าวเรื่องดีๆ ไม่ค่อยมีให้อ่าน พอเราอ่านแล้วใจเราก็หงุดหงิด เศร้าหมอง เราไม่ตั้งใจรักษาศีล โมโหขึ้นมาเราก็ด่าๆๆ ไปเขียนด่าทางอินเทอร์เน็ต ชอบด่ากันมาก นึกว่าไม่มีปัญหา เขียนลงไปไม่มีใครรู้ ไม่ใช่หรอก เขารู้ได้ คราวนี้กฎหมายมันก็ลงโทษหนัก หนักกว่าด่ากันด้วยปากเปล่าอีก เพราะสิ่งที่เราเขียนไว้มันอยู่ยาว คนเข้าถึงได้ตลอดเวลา

อย่างเราไปด่าคนที่ตลาด ก็มีแต่คนกลุ่มเดียวได้ยิน ไปด่าทางอินเทอร์เน็ต คนทั่วโลกก็รู้สึก สัมผัสได้ แล้วมันอยู่ทน อย่างเห็นคนเขียนด่าครูบาอาจารย์เอาไว้ ผ่านมาเป็นสิบๆ ปีมันยังอยู่เลย เพราะฉะนั้นกรรมก็เกิดขึ้นทุกทีๆ ที่คนเข้าไปสัมผัสข้อมูลที่ไม่ดีของเรา เพราะฉะนั้นสัมมาวาจาของเรา เดี๋ยวนี้ต้องรวมถึงการเขียนด้วย เมื่อก่อนนี้คนสื่อสารกันด้วยคำพูด เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่รู้หนังสือ คนไม่ค่อยรู้หนังสือหรอก ถ้าไม่ไปบวช ไม่ไปเรียน ไม่ได้รู้หนังสือ ชาวบ้านไม่เคยรู้หนังสือ เพราะฉะนั้นเขาสื่อสารด้วยคำพูด

แต่ทุกวันนี้เราสื่อสารด้วยอะไรต่ออะไรมากมาย มีไลน์ มี Facebook มี Instagram มี TikTok มีเครื่องมือสื่อสารมากมาย ฉะนั้นสัมมาวาจาของเราต้องระวัง ไม่ใช่แค่คำพูด แต่มันคือการสื่อความคิดของเรา สัมมาวาจานี้ มันต้องคลุมไปถึงการสื่อความคิดของเราไปให้คนอื่นรู้ ฉะนั้นต้องระมัดระวัง ถือศีลให้ดี ถ้าบอกเราไม่เคยด่าใครเลย แต่เราเขียนด่าคนโน้นคนนี้ทางอินเทอร์เน็ตตลอด แล้วบอกว่าศีลเราไม่ด่างพร้อย เข้าใจผิดแล้วๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวัง พัฒนาการรักษาศีลของเราให้ทันเทคโนโลยี ไม่ใช่ว่าไม่ได้ด่าใครด้วยวาจา ไม่ผิด ไม่ใช่

ศีลนั้นเบื้องต้นต้องตั้งใจรักษาไว้ก่อน เพราะกิเลสเรารุนแรง ถ้าเราไม่ตั้งใจ เดี๋ยวเราก็หลุดทำชั่วด้วยวาจา หรือด้วยกาย ตามอำนาจของกิเลส ฉะนั้นเราต้องตั้งใจไว้ก่อนว่าเราจะไม่ทำผิดศีล บอกตัวเองตื่นเช้าขึ้นมาก็สมาทานศีล สมาทานศีลไม่จำเป็นต้องท่องบทอะไรทั้งสิ้น ก็ตั้งใจไว้ ตื่นนอนมาเราก็บอกว่า “เราจะขอตั้งใจว่าวันนี้เราจะไม่ยอมทำผิดศีล 5” นี้คือการสมาทานศีล สมาทานกันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าต้องไปท่อง “นะโม” ต้องอาราธนาศีล แล้วก็เปิดเทป “ปาณาติปาตาฯ” สวดเสร็จแล้ว ก็ออกจากห้องพระมา ก็ด่าลูกด่าเมียต่อ ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันโกหกตัวเอง

สมาทานศีลก็คือตั้งใจ เตือนตัวเองไว้ ตื่นนอนมาก็เตือนตัวเองเลย “วันนี้เราจะไม่ยอมทำผิดศีล 5” แล้วกลางวัน กินข้าวกลางวันเราก็ตั้งใจ “ช่วงบ่ายนี้เราจะไม่ทำผิดศีล 5” ก่อนนอนเราก็ตั้งใจ “เราจะไม่ทำผิดศีล 5” ทำไมนอน ก่อนนอนจะไม่ทำธุระอะไรแล้ว ยังจะต้องตั้งใจ ตั้งใจไว้เถอะ เชื่อเถอะ ตั้งใจไว้เผื่อนอนแล้วไม่ได้ฟื้นขึ้นมา หลับไปเลย แล้วตายไปกับการรักษาศีล เพราะฉะนั้นเราสมาทานศีล เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เหมือนเรากินยา หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ตั้งใจ เตือนตัวเองบ่อยๆ มันจะได้ไม่หลงไม่ลืม ถ้าไม่คอยเตือนตัวเอง เดี๋ยวก็ทำผิดศีลอีก

 

หัดทำสมาธิ

เรื่องของสมาธินี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายดีอีกชนิดหนึ่ง เห็นไหมตรงถือศีลก็มีการกระทำ มีงานที่ต้องทำ มีกิริยาที่ต้องทำ การทำสมาธิก็มีงาน มีกิริยาที่ต้องทำอีก ฉะนั้นเราต้องหัดทำสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิเพื่อความสงบ กับสมาธิที่จะใช้เพื่อการเจริญปัญญา ฝึกให้ได้ทั้ง 2 อย่างดีที่สุด ถ้าไม่ได้ 2 อย่าง เอาอย่างเดียวก็ยังดี แต่อย่างเดียวอันนั้น ควรจะเป็นสมาธิที่เอาไว้เดินปัญญา เตาะแตะๆ ไปดีกว่าไม่มีเลย สมาธิสงบนั้นมันมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่มีพระพุทธเจ้ามันก็มี ส่วนสมาธิชนิดตั้งมั่น มันอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ในเส้นทางที่พระอริยะทั้งหลายท่านดำเนินมา เป็นสมาธิที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว

เรื่องของสมาธิ หลวงพ่อสอนไว้มาก มากยิ่งกว่าเรื่องเดินปัญญาเสียอีก เพราะว่าที่หลวงพ่อเห็นก็คือ พวกเราขาดสมาธิ ทั้งพระ ทั้งโยมนั่นล่ะ ถ้ามีสมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ มันไม่ใช่สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิคือสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติ ไม่มีสติ อย่างนั่งแล้วก็เคลิ้มไป ลืมเนื้อลืมตัว โมหะมันครอบ นั่งแล้วก็บังคับตัวเองจนเครียด จิตใจเครียด จิตใจที่เครียดเป็นโทสมูลจิต เป็นจิตที่มีโทสะเจือ อย่างมันไม่สงบแล้วโมโหมัน เมื่อไรมันจะสงบๆ อันนี้จิตมันมีโทสะ ตรงที่จิตมีโมหะแสดงว่าไม่มีสติ ตรงที่จิตมีโทสะก็แสดงว่าไม่มีสติ เพราะมีสติเมื่อไรจะไม่มีกิเลสเมื่อนั้น

เพราะฉะนั้นเวลาเราจะทำสมาธิ ต้องทำให้ถูกหลัก ทำด้วยความมีสติ หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ยืนรู้สึกตัว เดินรู้สึกตัว นั่งรู้สึกตัว นอนรู้สึกตัว จะคู้รู้สึก เหยียดรู้สึก เคลื่อนไหวรู้สึก หยุดนิ่งรู้สึก รู้สึกเอาไว้ แล้วเวลาเราต้องการทำความสงบ เราไปรู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น เราอยู่กับพุทโธๆ หรืออยู่กับลมหายใจ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ไม่เดินปัญญา ไม่ต้องวุ่นวาย เมื่อไรจะสงบ เมื่อไรจะเกิดปัญญา ไม่เอา อยู่ในอารมณ์อันเดียวไปอย่างสบายๆ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่เพ่งจ้องกดข่มจิตใจ

อย่างพวกเราบอกให้หายใจ บอก อ้าว ลองหายใจดูซิ เริ่มบังคับทันทีเลย หายใจไม่เหมือนมนุษย์แล้ว หายใจไม่เป็นแล้ว หายใจมาตั้งแต่เกิด เราแค่เติมสติลงไป หายใจเหมือนเดิมแต่เติมสติลงไป หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึกไป ไม่ใช่ไปบังคับการหายใจ บังคับแล้วใจมันเครียด ใจมันเครียดโทสะมันแทรก หรือเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัวโมหะแทรก บางทีก็เพลินราคะก็แทรกเอา ฉะนั้นมีสติ ทำสมาธิอยู่กับกรรมฐานของเราไป แล้วมันมีเคล็ดลับนิดหนึ่ง ที่จะแยกระหว่างสมาธิกับสงบ และสมาธิตั้งมั่น 2 อันนี้จะต่างกัน

สมาธิสงบ ตัวที่เด่นคือตัวอารมณ์กรรมฐาน เช่น เราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า จุดเด่นอยู่ที่การหายใจออก หายใจเข้า จุดเด่นอยู่ที่ร่างกาย เพราะฉะนั้นจุดเด่นของสมาธิชนิดสงบ ก็คือตัวอารมณ์กรรมฐาน จุดเด่นของสมาธิชนิดตั้งมั่นคือจิต ธรรมชาติมันจะมี 2 อย่างที่คู่กันเสมอ คือจิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นต้องมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นต้องมีจิต ฉะนั้นเมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นมีจิต ถ้าเราสนใจจดจ่อลงไปที่อารมณ์ ใจเราไม่วอกแวกไปเที่ยวที่อื่น อยู่ในอารมณ์อันเดียว เราจะได้สมาธิชนิดสงบ แล้วก็นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าเราทำสมาธิอันเดิมนั่นล่ะ แต่เรารู้ทันจิตตนเอง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นเรารู้ทัน รู้ทัน จิตเป็นพระเอก ไม่ใช่ลมหายใจเป็นพระเอก พอเราใช้จิตเป็นพระเอก ทีนี้จิตหนีไปเรารู้ จิตถลำไปเพ่งลมหายใจเรารู้ รู้ทันจิตอย่างนี้ แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ไม่หลงไม่ไหลไป จิตที่ไม่ตั้งมั่นคือกระฉอกไปกระฉอกมา ไหลไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางใจก็เช่นไหลไปอยู่ในความคิด หลงไปในโลกของความคิด

 

สมาธิชนิดเจริญปัญญา

เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่เราทำสมาธิถูก สมาธิที่ประกอบด้วยสติ แต่ถ้าเราต้องการพักผ่อน ให้จิตได้พักผ่อน จิตจะได้มีเรี่ยวมีแรง เราก็ให้อารมณ์กรรมฐานเป็นพระเอก สนใจลงไปที่อารมณ์กรรมฐาน แต่ถ้าเราต้องการสมาธิชนิดเจริญปัญญา เราใช้จิตเป็นพระเอก เราทำกรรมฐานไปแล้วเรารู้ทันจิตตัวเองไป จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แรกๆ มันยังไม่ตั้งมั่นหรอก เพราะว่าจิตเรานั้นโคลงเคลงตลอดเวลา แกว่งไปแกว่งมาๆ อาศัยสติเรียนรู้จิตตัวเองไป จิตมันกระฉอกไปทางนี้ก็รู้ทัน พอรู้ทันมันก็หยุดการกระฉอก

พระพุทธเจ้าท่านก็เคยเปรียบเทียบ เหมือนเราถือหม้อ หม้อที่มีน้ำมันอยู่เต็มหม้อเลย ขยับทางนี้น้ำมันก็กระฉอก ทางนี้ก็กระฉอก น้ำจะหกเลอะเทอะ ท่านบอกว่า “ประคองรักษาจิตของเรา เหมือนประคองหม้อน้ำมัน ไม่ให้มันหก ไม่ให้มันกระเทือน” ประคองนี้ก็หมายถึงเรามีสติรู้ทันจิตของตนเองไป ถ้าเราไม่มีสติรู้ทัน จิตจะกระฉอกตลอดเวลา แต่พอเรารู้ทัน การกระฉอกมันจะลดลงๆๆ ในที่สุดมันก็หยุด รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตสงบ จิตตั้งมั่นลงมา นี่วิธี ลีลา การทำสมาธิของชาวพุทธเรา พอจิตมันสงบมันตั้งมั่นแล้ว ทีแรกมันตั้งได้นิดเดียว เดี๋ยวมันก็กระฉอกอีกแล้ว มือสั่น คล้ายๆ เป็นโรคพาร์คินสัน สั่น พวกเรา จิตเราเหมือนเป็นโรคพาร์คินสัน สั่นอย่างนี้ตลอดเวลา

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนา มันก็ค่อยๆ นิ่ง นิ่งเป็นช่วงๆ ไม่นิ่งตลอดหรอก นิ่งเป็นระยะๆ เพราะมันยังเป็นความปรุงแต่งฝ่ายดีอยู่ ความปรุงแต่งอย่างไรก็ไม่เที่ยง “สัพเพ สังขารา อนิจจา” สังขาราคือความปรุงแต่ง ปรุงชั่วก็ไม่เที่ยง ปรุงดีก็ไม่เที่ยง แต่ปรุงชั่วอย่าไปตั้งใจปรุงมัน ตั้งใจปรุงดีไว้ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะฝึกให้ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น ใช้จิตเป็นพระเอก รู้ทันจิตของเรา จิตเรากระฉอกเราก็รู้ จิตเรากระฉอกก็รู้ จิตก็เหมือนหม้อน้ำมันนั่นล่ะ มันแกว่งๆ เราก็รู้ทัน มันแกว่งทั้งวัน พอเรารู้ๆๆ มันจะค่อยๆ ลดการแกว่งลง ในที่สุดมันก็หยุด หยุดปั๊บหนึ่งชั่วขณะ เราได้ขณิกสมาธิขึ้นมาแล้ว

ขณิกสมาธิมีประโยชน์มาก อย่านึกว่าไม่ดี คนโบราณท่านสอนไว้ดีบอกว่า “ถ้าจิตเราสงบชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” ก็มีอานิสงส์ยิ่งกว่าสร้างโบสถ์ทั้งหลังอีก ยิ่งกว่าสร้างวัดทั้งวัดอีก จิตที่สงบปุ๊บลงไปขณะเดียวนั่นล่ะ มีอานิสงส์ใหญ่โต เพราะฉะนั้นเราอย่านึกว่าเป็นบุญเล็กๆ การที่เราฝึกๆ ดีกว่าไปทอดกฐิน 9 วัดอีก ทอดกฐินมันก็มีแต่ฟุ้งซ่าน ทอดๆ ก็สนุก เฮๆ ฮาๆ เที่ยวไปเรื่อยๆ มันจะได้อะไรนักหนา รักษาจิตซึ่งเป็นของรักษาได้ยาก โดยการมีสติรู้เท่าทันมันไป มันจะค่อยๆ นิ่งๆๆ หยุดปุ๊บหนึ่ง ตรงนี้เป็นบุญอันใหญ่หลวง

เราก็ฝึกของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะหยุดบ่อยขึ้นๆ มันจะหยุดถี่ๆๆๆ ขึ้น จิตจะค่อยๆ มีกำลัง ในที่สุดตัวรู้ของเราจะเด่นดวงขึ้นมา เก็บจุดเล็กจุดน้อย จุดเล็กจุดน้อยนี่ล่ะ อย่านึกว่าไม่สำคัญ ทำเนืองๆ ในที่สุดจิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ที่เวลาหลวงพ่อบอกพวกเรา เออ ช่วงนี้จิตมีกำลังขึ้นมา เราก็บอกไม่ได้ทำอะไรมาก จิตมันไหวเรารู้ จิตมันเคลื่อนเรารู้ บอกนั่นล่ะ ทำแค่นั้นไม่ต้องทำอะไรเยอะหรอก ก็คือดูแลจิตของตัวเองไว้ จิตก็จะตั้งมั่น ทำไปเรื่อยๆ จิตจะมีกำลังทรงตัว เด่นดวง สว่างไสว เห็นหน้าปุ๊บก็รู้แล้ว

หน้าตาของคนมีสมาธิ กับหน้าตาของคนฟุ้งซ่านมันไม่เหมือนกัน พวกเราก็ดูได้ อย่างเราเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เวลาแมวเราอารมณ์ไม่ดีรู้ไหม ต้องใช้เจโตฯ ไหมในการรู้ ไม่เห็นต้องใช้เลย เห็นหน้ามันก็รู้แล้ว มันอารมณ์เสีย เราอย่าไปยุ่งกับมัน เดี๋ยวมันข่วนเอา หรือมันอารมณ์ดี มันอยากเล่น เพราะฉะนั้นเราก็ดูของเราไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตจิตใจตัวเองไป ในที่สุดจิตเราจะสว่างไสว ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา พอจิตเรามาถึงตรงนี้แล้ว ก็ถึงความปรุงแต่งอันที่ 3 คือการปรุงแต่งปัญญา การพัฒนาปัญญาก็คือความปรุงแต่ง แต่เป็นความปรุงแต่งที่ดี

 

พัฒนาปัญญา

การพัฒนาศีลก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาสมาธิก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาก็คือความปรุงแต่งที่ดี พัฒนาปัญญาเป็นความปรุงแต่งที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่ต้องปรุงแต่ง ถ้าเราไม่ปรุงแต่งศีล สมาธิ ปัญญา จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่ว เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว ฉะนั้นเราพัฒนา ทำไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องมือ เป็นความปรุงแต่งชนิดที่เป็นเครื่องมือ ในการล้มล้างกิเลสออกจากจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก วิธีปรุงแต่งปัญญาทำอย่างไร ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางมันได้มาจากการที่เราฝึกสมาธิ จิตมันตั้งมั่นไม่โคลงเคลง แล้วก็ต้องฝึกเรื่อยๆ เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว พอฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะเป็นกลาง มันจะเห็นว่าสุขมันก็ของชั่วคราว ทุกข์มันก็ของชั่วคราว ดีมันก็ของชั่วคราว ชั่วมันก็ของชั่วคราว เพราะฉะนั้นสุขกับทุกข์มันก็เสมอกัน ด้วยความเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นของชั่วคราวเหมือนกัน เราก็จะไม่หิวความสุข ไม่เกลียดความทุกข์ ดีกับชั่วมันก็เสมอกัน มันเป็นของชั่วคราว สุดท้ายปัญญาที่เป็นโลกุตตระมันจะเกิดขึ้น

เราค่อยๆ พัฒนาเป็นลำดับๆ ไป เมื่อวานมีคอร์สจีน เราไปเห็นคนจีน โอ้ คนจีนจำนวนไม่ใช่น้อยเลย ราวๆ หนึ่งในสามตั้งอกตั้งใจภาวนาดี แล้วบางคนภาวนาดีเลย ดูเขาตั้งอกตั้งใจ อีกส่วนหนึ่งก็ยังทำบ้างไม่ทำบ้าง อีกพวกหนึ่งยังเตาะแตะอยู่ ยังไม่ค่อยได้หลักเท่าไร แต่ที่ดีๆ มีหลายคนเลย หลวงพ่อก็ต่อยอดให้พวกดีๆ เพราะว่าไหนๆ อุตส่าห์มาเข้าคอร์สแล้ว คือต่อยอดเรื่องการเจริญปัญญา บอกการที่เราเห็นความเกิดดับของรูปของนาม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่ เรียกว่าเราเจริญวิปัสสนาอยู่ เช่น เราเห็นกิเลสทั้งหลายเกิดแล้วดับ กุศลเกิดแล้วดับ เห็นรูปเคลื่อนไหว รูปไม่คงที่ ไม่เที่ยง รูปถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา รูปไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุ นี่การเจริญปัญญา ถ้าดูรูปก็ดูรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ทำวิปัสสนาแล้ว

ถ้าดูนามเราก็จะเห็นเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ความสุข ความทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ในสภาวะอันใดอันหนึ่ง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นั่นคือทุกขัง แล้วก็บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ นี่คืออนัตตา บอก เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ นี่คือการเจริญปัญญาขั้นวิปัสสนา หรือสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ก็คือดูลงมาที่จิต เราก็เห็นว่าตัวจิตนี้มันไม่เที่ยง เดี๋ยวจิตที่รู้ตัวก็ดับกลายเป็นจิตไปดูรูป จิตไปดูรูปอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เกิดจิตที่รู้ตัว จิตที่รู้ตัวอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เกิดจิตที่ฟังเสียง จะหมุนๆๆ มีจิตที่รู้ตัวอยู่แล้วดับ เกิดจิตที่หลงคิด เราเห็นอย่างนี้ จิตไม่เที่ยง

ฉะนั้นเวลาเราทำวิปัสสนา เบื้องต้นเอาอันใดอันหนึ่งก็ได้ จะดูรูปเป็นหลักไว้ก็ได้ เห็นรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ถือว่าทำวิปัสสนาอยู่ แต่มีจิตเป็นผู้รู้ผู้เห็น ไม่อย่างนั้นรูปกับจิตจะแยกออกจากกันไม่ได้ มันจะกลายเป็นก้อนเดียวกัน ถ้าขันธ์ 5 มารวมเป็นก้อนเดียวกัน ทำวิปัสสนาไม่ได้ เรายังเจริญปัญญาไม่ได้เลย ต้องแตกมันให้แตกกระจายออกไป เรียกว่าแยกมันออกไป แยกขันธ์ 5 ออกไป ถ้าขันธ์ 5 มารวมกันเมื่อไร มันมีตัวเราทันทีเลย แต่ถ้าขันธ์ 5 มันแตกออกไป มันจะเห็นเลยแตกออกไปเป็น 5 ส่วน มีรูป จะเห็นรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเห็นได้แล้ว เวทนา สุข ทุกข์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ สัญญาก็เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่วก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วิญญาณก็คือจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เบื้องต้นเอาอะไรก่อนก็ได้ แต่ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น ที่เราฝึกมาจากการฝึกสมาธิจนจิตมันมีกำลัง พอจิตมันมีกำลังขันธ์มันจะแยก ถ้าจิตไม่มีกำลังขันธ์แยกไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่เราฝึกสมาธิ “สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา” ปัญญาต่ำสุดคือการแยกรูปนาม แยกขันธ์ 5 ออกจากกันได้ พอแยกขันธ์ 5 ออกจากกันได้ วิธีเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีชื่อว่า วิภัชชวิธี คือวิธีแยกสิ่งที่เราเห็นว่ามีตัวมีตน พอจับมันแยกออกไปแล้ว จะพบว่ามันไม่มีตัวมีตน

อย่างเราเห็นรถยนต์หนึ่งคัน มีรถยนต์มีหนึ่งคันแล้ว ถ้าเราจับมาถอดเป็นชิ้นๆ พวงมาลัยไม่ใช่รถยนต์ เครื่องยนต์ไม่ใช่รถยนต์ ตัวถังไม่ใช่รถยนต์ กันชนไม่ใช่รถยนต์ ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ เบาะ สายไฟ น็อต สกรู ไม่ใช่รถยนต์ สิ่งที่เป็นรถยนต์มันจะหายไปทันทีเลย สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ถ้าเราจับมันแยกออกเป็นขันธ์ 5 ได้ ความเป็นตัวตนมันจะหายไปทันทีเลย มันเหมือนเราถอดอะไหล่รถยนต์ออกมา แล้วสุดท้ายไม่มีรถยนต์หรอก รถยนต์เป็นภาพลวงตา ตัวเรานี้จริงๆ ไม่มี มันเป็นภาพลวงตาว่ามี แบบเดียวกับรถยนต์นั่นล่ะ หรือบ้าน เรามีบ้านหลังหนึ่ง หลังคาหลุดออกไป หลังคาไม่ใช่บ้าน ฝาผนังไม่ใช่บ้าน ประตู หน้าต่าง ไม่ใช่บ้าน ปาเก้ไม่ใช่บ้าน พอจับแยกออกไป คำว่าบ้านมันหายไปแล้ว

คำว่า “ตัวเราๆ” พอเราแยกขันธ์ออกไป ตัวเราก็หายไป มันจะเห็นรูปก็ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้มันเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ ไม่ใช่เราหรอก อันนี้จะแยกขันธ์ได้ จิตต้องมีพลัง จิตต้องตั้งมั่น พอแยกได้แล้วเราจะเดินปัญญาได้จริงแล้วคราวนี้ เราจะเห็นว่ารูปทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความสุขทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความจำได้หมายรู้ทั้งหลายเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความปรุงดีปรุงชั่วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดที่ไหนมันก็ดับที่นั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตรงนี้เราเดินวิปัสสนา

 

ล้างกิเลส

ตรงที่เราสามารถแยกขันธ์ได้ เรามีปัญญาขั้นต้นแล้ว แต่ตรงที่เราสามารถเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ ขันธ์แต่ละขันธ์ สภาวะแต่ละสภาวะ ทั้งรูป ทั้งนาม ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน ตรงนั้นคือการขึ้นวิปัสสนาแล้ว การเจริญปัญญามี 3 ระดับ มีปัญญาพื้นๆ อย่างเราแยกขันธ์ 5 ได้ เรามีสมาธิขันธ์ 5 ก็แยก นี้ปัญญาธรรมดา แล้วก็ขึ้นไปสู่วิปัสสนาปัญญา เราจะเห็นสภาวธรรมแต่ละอัน รูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตรงนี้เป็นวิปัสสนา พอเห็นมากเข้าๆๆ จิตก็จะเป็นกลาง คำว่า “เป็นกลาง” เป็นกลางเพราะการเจริญวิปัสสนามาเต็มที่แล้ว ไม่ใช่เป็นกลางเพราะบังคับจิตให้นิ่ง อันนั้นเป็นกลางด้วยสมาธิ ยังไม่ใช่กลางที่หลวงพ่อต้องการสื่อกับพวกเรา

เราดูไปเรื่อยเลย อย่างเรา จิตเราตั้งมั่นเราเห็น เดี๋ยวโลภมันก็มา แล้วโลภมันก็ไป เดี๋ยวโกรธมันก็มา เดี๋ยวโกรธมันก็ไป เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้สึกอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็จะเห็นเลย จิตโลภมันก็ไม่เที่ยง จิตไม่โลภมันก็ไม่เที่ยง จิตโกรธมันก็ไม่เที่ยง จิตไม่โกรธมันก็ไม่เที่ยง จิตหลงมันไม่เที่ยง จิตไม่หลงมันก็ไม่เที่ยง จิตสุขมันก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ก็เห็นอย่างนี้ พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะเข้าไปสู่ความเป็นกลาง คราวนี้พอจิตเป็นกลางแล้ว จิตจะหยุดการดิ้นรนแล้ว ความปรุงแต่งทั้งหลาย ฝ่ายชั่วซึ่งตอนนี้เราสู้กับมันด้วยศีล สมาธิ ปัญญา พอปัญญาถึงขั้นสุดขีด กระทั่งความปรุงแต่งฝ่ายดี คือตัวปัญญายังหยุดเลย

ศีล สมาธิ ปัญญาที่เราทำๆ มาในฝ่ายโลกียะ มันหยุด จิตมันหมดความดิ้นรน จิตมันหมดความปรุงแต่ง จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ โดยเราไม่ได้เจตนา มันรวมเอง ถึงเวลาที่มันจะล้างกิเลส มันจะเกิดอริยมรรค จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิทุกคน ถึงเราไม่เคยเข้าฌานมาก่อน ถึงจุดนั้นจิตจะเข้าฌานของมันเอง ไม่ต้องห่วงหรอก มันเข้าของมันเอง ขอให้ทำวิปัสสนาให้พอ พอมันรวมเข้าไปแล้ว มันไปเดินปัญญาอยู่ข้างใน ปัญญาตรงนี้เหนือสมมติ เหนือ ไม่มีคำพูดแล้ว มันเห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป นี่เดินปัญญา 3 ขณะ

ถ้าพวกที่ปัญญาแก่กล้า ปัญญินทรีย์แก่กล้า มันจะเห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นแค่นี้ มันแจ่มแจ้งแล้ว รู้แล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา พอเข้าใจอย่างนี้จิตมันจะวางโลก ทวนกระแสเข้ามาที่ธาตุรู้ ทวนเข้ามา ทีแรกมันทวนเข้ามาที่ตัวผู้รู้ก่อน เสร็จแล้วอริยมรรคจะแหวกทำลายอาสวะที่ห่อหุ้มจิตผู้รู้ออก จิตผู้รู้ก็สลายตัวไป กลายเป็นธาตุรู้ขึ้นมา ธาตุรู้นี้สัมผัสพระนิพพาน

เมื่อกี้หลวงพ่อบอกไว้แล้ว มีจิตต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ต้องมีจิต นิพพานเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง นิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง เป็นอายตนะอันหนึ่งๆ อายตนะข้างนอก ธาตุรู้เป็นอายตนะภายใน 2 อันนี้กระทบรวมเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นจิตตรงนั้นจะว่าง สว่าง เบิกบาน มีความสุข ตรงนี้ล่ะมันมาถึงคำว่า ว่าง ว่างจริงๆ แล้ว ที่แกล้งแต่งจิตให้ว่างนั้น ว่างจอมปลอม เป็นความปรุงแต่งที่เรียก อเนญชาภิสังขาร แต่อันนี้มันพ้นความปรุงแต่ง ว่างชนิดพ้นความปรุงแต่ง คือว่างของพระนิพพาน

“นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” มันว่าง มันก็สันติ มันว่างแล้ว ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งได้แล้ว มันก็เข้าถึงความสงบสันติที่แท้จริง ในโลกไม่มีสันติหรอก มีแต่ปาก สันติภาพไม่เคยมีในโลก มีแต่ความวุ่นวาย แต่พอเราภาวนาวางขันธ์ลงไปแล้ว จิตใจเราว่าง จิตใจเราเข้าถึงความสงบ จิตใจเข้าถึงความสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี นิพพานังถึงเป็นปรมัง สุขัง เราค่อยๆ ฝึก แล้วไม่ใช่เพ้อๆ ฝันๆ นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนี้ นิพพาน ก็คือสภาวะที่จิตมันพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหมด พ้นความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว พ้นความปรุงแต่งฝ่ายดีด้วย เพราะมันวางไปแล้ว

พ้นทั้งดี พ้นทั้งชั่ว พ้นทั้งความพยายามจะไม่ปรุงแต่ง เรียกว่าพ้นจากความปรุงแต่งทั้ง 3 ปุญญาภิสังขาร ปรุงดี อปุญญาภิสังขาร ปรุงชั่ว อเนญชาภิสังขาร ปรุงว่าง ปรุงความไม่ปรุง ทั้งหมดนี้รากเหง้าอันเดียวกันคือ อวิชชา ถ้าเราเข้าใจ เราไม่ห้ามมันหรอก จิตมันจะปรุงชั่วเราไม่ห้าม แต่เราปรุงดีไว้ เราพัฒนาตัวเอง พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ตามใจกิเลส แล้วในที่สุดวันหนึ่งก็หัก หักล้างกิเลสลงได้ หักวัฏจักรลงได้ จิตใจก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง แต่ระหว่างทางก็มีศัตรู ศัตรูของการทำวิปัสสนา คือวิปัสสนูปกิเลส มี 10 ข้อ หมดเวลาแล้ว ก็ไปหาอ่านเอาเองก็แล้วกัน ไปถามหลวงพ่อกู๋ หลวงพ่อกู๋รู้ทุกเรื่อง หลวงพ่อกู๋ไม่รู้อันเดียว ไม่รู้จิตตนเอง รู้ทั้งโลกธาตุไม่รู้ตัวเองเท่านั้น

 

 

รู้สึกสอนยากไปหรือเปล่า ต้องประเมินผลตัวเอง ถ้าสอนยากไปก็จะสอนใหม่ ไปทำบุญ ทำทาน ทำบุญเยอะๆ จะได้บุญเยอะๆ คนมีกิเลส บางทีสอนให้ลดให้ละ มันรับไม่ไหว ท่านก็เอากิเลสมาล่อ ทำทานไปจะได้รวย เห็นไหม ทำทานไปแล้วจะได้ ได้อะไร ได้รวย ถือศีลไปเถอะแล้วจะสวย เพราะคนไม่มีศีลหน้าเป็นยักษ์ขมูขี ดูไม่ได้ น่าเกลียด ถือศีลแล้วจิตใจมันอิ่มเอิบ มันเบิกบาน หน้าตามันผ่อง

หรือว่าสอนถือศีล สอนถือศีลแล้วจะรวย มีโภคทรัพย์ จะดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ ทำทานแล้วก็จะได้อันนี้ รักษาศีลแล้วก็จะได้อย่างนี้ มีแต่เรื่องจะได้ ไม่มีเรื่องวาง แต่ทำไมต้องสอนอย่างนั้น เพราะคนส่วนใหญ่สอนให้วางมันรับไม่ได้ ก็สอนให้มันได้ก่อน ให้มันได้ที่ดีไว้ก่อน ให้เกิดเป็นเทวดาก็ยังดีกว่าเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ฉะนั้นบางทีธรรมะก็ต้องลดลงมา ให้เท่าๆ คนฟัง

ช่วงที่หลวงพ่อสอนใหม่ๆ หลวงพ่อสอนกรรมฐานอย่างนี้ มีครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็เตือนนิดหนึ่ง ท่านบอก “เอ๊ย ปราโมทย์สอนยากไป ฆราวาสมันทำไม่ได้หรอก ฆราวาสสอนมันทำทาน ถือศีล แค่นี้พอแล้ว มันได้แค่นี้ล่ะ” หลวงพ่อก็บอกท่าน “ครับๆๆ” แต่หลวงพ่อก็ยังสอนอย่างเดิม ทำไมไม่เชื่อท่าน ก็หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เป็นฆราวาส ทำไมเราภาวนาได้ พวกเราไม่ได้โง่กว่าหลวงพ่อ แค่ขี้เกียจมากกว่าหลวงพ่อเท่านั้นล่ะ ไม่โง่หรอกแต่ละคน

ฆราวาสก็ภาวนาได้ ในพระไตรปิฎกท่านก็มีเยอะแยะ เป็นพระโสดาบัน สกทาคามี มีตั้งเยอะตั้งแยะ ตอนอนาถบิณฑิกะใกล้จะตาย พระสารีบุตรไปเทศน์ให้ฟัง เทศน์เรื่องขันธ์ 5 ให้ฟัง เทศน์เรื่องที่หลวงพ่อเทศน์ให้พวกเราฟัง ตั้งแต่ยังไม่ตายนี่ล่ะ อนาถบิณฑิกะร้องไห้เลย แล้วบอกพระสารีบุตรว่า “ทำไมผมไม่เคยได้ฟังธรรมะอย่างนี้มาก่อน” ที่จริงแกอยู่กับพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป แต่ไม่ได้สนใจที่จะฟังธรรมะ สนใจแต่จะทำบุญ ฉะนั้นก็เลยไม่ได้ยิน เรื่องขันธ์ 5 เรื่องอะไรอย่างนี้ ไม่เคยได้ยิน

พอพระสารีบุตรมาเทศน์ให้ฟัง ร้องไห้เลยบอกว่า “ต่อไปก็ขออาราธนา ขอให้พระช่วยสอนธรรมะภาคปฏิบัติอย่างนี้ให้ฆราวาสด้วย ฆราวาสที่อินทรีย์แก่กล้าก็ยังมีอยู่ ถ้าเขาไม่ได้ฟังแล้วเขาเสียโอกาส เหมือนตัวท่านที่เสียโอกาส” ได้แค่โสดาบัน แทนที่จะได้มากกว่านั้น ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนนี้ ไม่ใช่ว่าฆราวาสไม่ควรฟัง ฆราวาสทำไม่ได้ ไม่ใช่ มันอยู่ที่ฟังแล้วไม่ทำต่างหาก ถ้าทำก็ได้ผลหรอก ไม่ใช่ไม่ได้ผล ไปตั้งใจทำเข้านะ อย่าขี้เกียจ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 ตุลาคม 2565