ธรรมะเป็นเรื่องของเหตุกับผล

ธรรมะที่จริงอยู่กับตัวเราเอง เรียนที่ตัวเราเอง ยุคนี้ได้เปรียบรุ่นที่หลวงพ่อเรียน รุ่นที่หลวงพ่อเรียนมันไม่มีอินเทอร์เน็ตหรอก ไปหาครูบาอาจารย์ก็ยากอยู่ไกล ไปหาแล้วบางทีก็ไม่เจอ ท่านไปธุระที่อื่น บางทีท่านอยู่วัดแต่ท่านอาพาธ ไม่ได้เจอ ยุคนี้ง่ายหน่อยเปิดอินเทอร์เน็ตดูก็มีแล้ว มีกระทั่งไลฟ์สดอะไรนี่ ยุคหลวงพ่อก็ต้องคอยสอนตัวเอง ว่าธรรมะไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเองคือที่กายที่ใจนี้ ฉะนั้นเรียนรู้ลงในกาย เรียนรู้ลงในใจ นานๆ มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ค่อยส่งการบ้านทีหนึ่ง หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์หลายสิบองค์ แต่หลวงพ่อส่งการบ้านทั้งหมดกับครูบาอาจารย์ 6 องค์ ส่งทั้งหมด 7 ครั้งประมาณนั้น ไม่มาก

ส่วนใหญ่ที่ไปส่งการบ้านก็จะไปบอกท่านว่า ท่านสอนให้ปฏิบัติอย่างนี้ผมได้ปฏิบัติตามแล้ว มีผลเป็นอย่างนี้ๆ มันถูกหรือมันผิด ในใจเราก็คิดว่ามันถูกเพราะเราสังเกตตัวเองเอา มันลดละกิเลสได้ พอถามท่านว่ามันถูกไหม ถ้าถูกแล้วทำอย่างไรจะพัฒนามากกว่านี้ ถ้ามันผิดก็ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยมันผิดตรงไหน ทั้งๆ ที่มั่นใจว่าถูก ก็ต้องถามกันไว้ก่อนมันผิดหรือเปล่า จะไปถามครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ถามแค่นี้ ที่ถามอะไรแปลกๆ อะไร มีอยู่ 7 ครั้งเท่านั้น บางทีภาวนาจิตมันหลับตลอดเลย ร่างกายก็หลับจิตก็หลับ ทำอย่างไรก็ไม่ตื่น นั่งสมาธิก็นั่งหลับ เดินจงกรมก็เดินหลับ ถามหลวงปู่สิมว่า “ผมภาวนาไม่รู้เป็นอย่างไร ผมช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว แก้ไขไม่ได้ภาวนาแล้วหลับ” อะไรอย่างนี้ ท่านก็ตอบบอกว่า “อย่าสงสัยเลย ผู้รู้ๆ จะสงสัยอะไร ปฏิบัติไปเถอะแล้วจะได้ของดีในพรรษานี้แล้ว” ท่านบอกว่าอย่าสงสัย หลวงพ่อก็ไม่สงสัยเลิกสงสัยเลย มันจะหลับก็เรื่องของมันแล้ว

แต่ก่อนนี้ไม่ได้มีโอกาสมากเท่าพวกเรา ในการที่จะเรียนธรรมะจากครูบาอาจารย์ ต้องอดทนทำตั้งหลายเดือนกว่าจะได้เจอครูบาอาจารย์สักครั้งหนึ่ง ก็อาศัยโยนิโสมนสิการ สังเกตตัวเองไป ที่เราภาวนาอยู่นี้อกุศลมันลดลงไหม กุศลมันเจริญขึ้นไหม ดูตรงนี้ไม่ต้องดูอะไรวุ่นวายมากมาย จะเข้าฌานได้ไหมอะไรอย่างนี้ไม่สำคัญหรอก สังเกตตัวเองไปทำแล้วกุศลเจริญขึ้นไหม อกุศลลดลงไหม ฝึกไปมีสติไป ธรรมะที่หลวงพ่อให้ความสำคัญมากเลย ที่ตัวเองปฏิบัติ เรื่องศีลต้องรักษาอยู่แล้ว การทำในรูปแบบทำทุกวันเป็นเรื่องปกติ

 

อินทรียสังวร

สิ่งสำคัญมากเลยที่หลวงพ่อฝึกตัวเองคืออินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์นี้คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้สำคัญมาก อินทรียสังวร ตอนนั้นภาวนาเราก็แค่กลัวว่าจิตมันจะไหลไปแล้วเกิดกิเลส คอยสำรวมระวัง ดูแลจิตใจ ตัวเอง แล้วพบว่าจิตมันไหลไปได้ 6 ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พอมันไหลไปแล้วกระทบอารมณ์แล้ว มันเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว แล้วก็ต่อท้ายด้วยเกิดยินดี เกิดยินร้ายขึ้นมา บางทีก็ยินดียินร้ายต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บางทีก็ยินดียินร้ายเข้ามาที่ใจ พอใจในอารมณ์อันนี้ ไม่พอใจอารมณ์อันนี้

เฝ้ารู้เฝ้าดูเฝ้าสังเกตไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์จิตมันสุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้าง โลภ โกรธ หลงบ้าง ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง หัดสังเกตจนมันอัตโนมัติ จิตไหลไปไม่ได้ห้าม หลวงปู่ดูลย์บอก “ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก” มีตามันไปดูรูปก็จิตต้องไปดู มีจิตเกิดที่ตาถึงจะเห็นรูป มีจิตเกิดที่หูถึงเห็นรูป จิตมันออกไปข้างนอกทั้งนั้น แต่อาศัยอินทรียสังวร ตาเห็นรูปแล้วจิตยินดียินร้ายรู้ทัน รู้ทันเข้าไป เกิดกุศล อกุศล เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดยินดียินร้าย รู้ทันไปเรื่อย ทีแรกดูยินดียินร้ายไม่ออก เราก็เห็นตอนนี้จิตมันสุข ตอนนี้จิตมันทุกข์ ตอนนี้จิตเฉยๆ เฝ้ารู้ไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติ กระทบแล้วเราก็ไม่บังคับจิตให้นิ่งๆ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วมันก็ปรุงสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง แรกๆ ก็เห็นอย่างนี้

พอชำนิชำนาญในการปฏิบัติขึ้น ก็จะเห็นว่ามันกระทบอารมณ์แล้ว มันไม่ได้แค่สุขทุกข์ ไม่ได้แค่เป็นกุศลอกุศลเฉยๆ หรอก มันมักจะตามหลังด้วยความยินดียินร้ายเสมอ อย่างกระทบรูปที่พอใจมีความสุขเกิดขึ้น ราคะก็มักจะ เกิดขึ้น แล้วจิตก็ตามด้วยความยินดีพอใจ พอใจในรูปอย่างนี้ พอใจในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอย่างนี้ มันลงมาที่จิตยินดียินร้าย แรกๆ ยังมาไม่ถึงยินดียินร้าย เราเห็นแค่จิตสุขจิตทุกข์จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเห็นจิตโลภจิตไม่โลภ จิตโกรธจิตไม่โกรธ จิตหลงจิตไม่หลง จิตฟุ้งซ่านจิตหดหู่เซื่องซึมอะไรอย่างนี้ เห็นตรงนี้ก่อนให้ชำนิชำนาญ ต่อไปเราเห็นเลยเวลาความสุขเกิด ราคะก็มักจะแทรก จิตมันก็ยินดีพอใจ ชอบ เกิดยินดีพอใจ เห็นรูปไม่พอใจ เห็นรูปที่ไม่ถูกใจ โทสะก็แทรก ไม่มีความสุขโทสะก็แทรก จิตเราก็ยินร้ายไม่ชอบเลย อยากให้มันหมดไปสิ้นไปเร็วๆ

อาศัยอินทรียสังวร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะกระทบอารมณ์ให้กระทบไป แต่เรามีสติคอยสังเกตจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป หลวงพ่อเริ่มฝึกมาแบบนี้ เริ่มมาด้วยรักษาศีล 5 ทำในรูปแบบทุกวันให้จิตมีแรง แล้วก็ในชีวิตจริง ในชีวิตประจำวันหลวงพ่อฝึกอินทรียสังวร ฉะนั้นเราไม่หนีการกระทบอารมณ์ กระทบได้แต่กระทบแล้วอ่านใจให้ออก อินทรียสังวร ถ้าเราทำให้มากเจริญให้มาก สิ่งที่จะตามมาคือสุจริต 3 ข้อจะเกิดขึ้น สุจริต 3 ข้อจริงๆ ก็คือกุศลกรรมบถ 10 ประการนั่นเอง เริ่มจากมโนสุจริต ในตำราชอบเขียนกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต

หลวงพ่อภาวนาทำอินทรียสังวร เราเห็นเลยเรามีสติดูแลจิตใจอยู่ จิตใจมันสุจริตก่อนเลย มโนสุจริตมันมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือมันเป็นจิตใจที่ไม่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉะนั้นเรามีสติอยู่แล้วจิตใจเรามีราคะขึ้นมาเรารู้ทัน แล้วเป็นกลางกับมันไม่เกลียดมัน ถ้าเกลียดมันกลายเป็นโทสะทันทีเลย เรารู้ทันเฉยๆ การที่เราคอยรู้ทันจิตใจ อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่มันจะไม่เกิด ในขณะนั้นกุศลได้เกิดแล้ว ฉะนั้นเรามีสติคุ้มครองรักษาจิต ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตไป จิตยินดียินร้ายเรารู้ทัน เกิดกุศลอกุศลเรารู้ทันไป กิเลสมันจะครอบงำจิตไม่ได้ มโนของเราก็จะเป็นมโนสุจริต เป็นความสุจริตของใจ จิตใจที่สุจริตคือจิตใจที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจดวงนี้เราได้มาจากการฝึกอินทรียสังวรให้ชำนิชำนาญ

พอจิตใจของเราไม่ตกอยู่ใต้ความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว วจีมันก็สุจริตเอง เราไม่พูดเท็จ เราไม่พูดส่อเสียด เราไม่พูดคำหยาบ เราไม่พูดเพ้อเจ้อ เพราะคนพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อได้ก็เพราะกิเลสครอบงำจิต ไม่มีมโนสุจริตแต่เป็นมโนทุจริต มันก็เลยพูดชั่วได้ เรานึกว่าไม่สำคัญที่จริงสำคัญมาก ปล่อยให้พูดชั่วๆ อย่างพูดกระแนะกระแหน พูดกระตุ้นให้เขาตีกัน พูดยั่วกิเลสคนอื่น ไม่ใช่เรื่องดีเลย อกุศลมันต้องมีผลแน่นอน เราไปเขียน เราไปพูด เราไปโพสต์อะไร ที่ทำกิเลสของคนอื่น ที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกิเลสของคนอื่นที่เกิดแล้วให้แรงขึ้น อยู่ในกลุ่มของวจีทุจริตทั้งหมด แต่มันพูดโดยใช้สัญลักษณ์อย่างอื่น เช่น ใช้รูปหัวแม่มือ ใช้รูปหัวใจ รูปโน้นรูปนี้อะไร หลอกๆ ไปเรื่อยๆ ก็คือคำพูด แต่พูดด้วยสัญลักษณ์

ภาษาที่เราพูดก็คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ตกลงกันมาว่าออกเสียงอย่างนี้ความหมายอย่างนี้ เป็นสัญลักษณ์เข้าใจร่วมกัน การเขียนด้วยตัวหนังสือก็คือ คำพูดอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิดออกไป ทำให้คนอื่นเขามีกิเลส อกุศลมันมีแน่นอน จิตเราจะต้องเศร้าหมองแน่นอนเลย พอเราทำอะไรที่คนอื่นเป็นอกุศลเยอะๆ ในบ้านในเมืองเต็มไปด้วยจิตที่เป็นอกุศล มันกระทบมาถึงเราแน่นอน เราก็ภาวนาลำบากจิตใจเราฟุ้งซ่าน จิตใจเราวอกแวก ไม่สงบ มีผลทั้งสิ้น ถ้าเรามีอินทรียสังวร สมมติเราไปเปิดอินเทอร์เน็ตพอดีเจอ นายกฯ มาพูด “นะจ๊ะ” อะไรอย่างนี้ เราพอใจเรารู้ทัน หรือมาพูด “นะจ๊ะ” เราไม่พอใจ เรารู้ทัน เราไม่ต้องส่งทอดความรู้สึกของตัวเองออกไปไหนหรอก อ่านใจตัวเองให้ออก อย่าตกเป็นทาสของกิเลส ไม่อย่างนั้นเราจะเกิดไม่พอใจ เราก็จะไปเขียนด่าๆ กระตุ้นให้คนอื่นมีโทสะตามเราไปด้วย โทสะของเราก็จะยิ่งแรงขึ้นแล้วมานะอัตตา กูเก่งๆ กูล่อลวงคนให้ตามกูได้เยอะแยะเลย เป็นอกุศลทั้งสิ้นเลยที่ตามมา จิตใจเราจะเสียหาย ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ กระทั่งการจะไปโพสต์ หรือไปแสดงความรู้สึกอะไรทางอินเทอร์เน็ต ต้องระมัดระวัง

ถ้ามีเรามีสติคุ้มครองรักษาจิตอยู่ มีอินทรียสังวร ก็คือมีสติคุ้มครองรักษาจิตอยู่ อกุศลครอบงำจิตไม่ได้ เราก็มีมโนสุจริต คือใจเราไม่ถูกครอบงำด้วยราคะ โทสะ โมหะ เรามีวจีสุจริต ไม่พูดหรือไม่เขียนเรื่องโกหก เรื่องส่อเสียด ยุให้เขาตีกัน ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ค่อยๆ ดู ทุกวันนี้ในอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคำหยาบ เต็มไปด้วยความเพ้อเจ้อ เต็มไปด้วยการส่อเสียด เต็มไปด้วยเฟคนิวส์ ข่าวเท็จ ถ้าวันๆ เราหมกมุ่นอยู่กับของโกหกมุสาวาททางอินเทอร์เน็ตอยู่ จิตใจเราจะดีเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้นห่างๆ มันหน่อย อย่าสนใจมันมาก สนใจกิเลสตัวเองดีกว่าสนใจว่าใครไปทำอะไร ดูตัวเองให้ดี ไม่อย่างนั้นจิตใจเราจะหาความสงบสุขไม่ได้ ไม่มีทางพัฒนาต่อไปหรอก

 

“สุจริต 3 ข้อ อาศัยอินทรียสังวรทำให้เกิดขึ้น พอกายวาจาใจของเราสุจริต
ท่านบอกว่าถ้าฝึกสุจริต 3 ให้มากให้เจริญ จะทำให้สติปัฏฐาน 4 เจริญ
จะทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์”

 

เรามีมโนสุจริต มีวจีสุจริต กายเราก็สุจริต การกระทำของเราก็จะสุจริต ไม่ทำบาปอกุศลด้วยร่างกาย เช่น ไม่ไปทำร้ายคนอื่นสัตว์อื่น ไม่ไปลักขโมยเขา ไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นเรื่องของกายสุจริต ฉะนั้นกายสุจริตมันก็คือศีล เรามีศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 วจีสุจริตก็มีศีลข้อ 4 มโนสุจริตเป็นเรื่องของจิตใจ จิตใจที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราก็จะมีกุศล 10 ข้อ กุศลกรรมบถ 10 อย่าง ถ้ากุศลเราเต็มไม่ต้องกลัวว่าจะไม่พัฒนาหรอก ถ้ากุศลเราเว้าๆ แหว่งๆ ไม่พัฒนาหรอก กุศลกรรมบถ10 ข้อ สุจริต 3 ข้อนี้ แล้วแต่จะเรียกอันเดียวกัน มันอาศัยอินทรียสังวรทำให้เกิดขึ้น พอกายวาจาใจของเราสุจริต ท่านบอกว่าถ้าฝึกสุจริต 3 ให้มากให้เจริญ จะทำให้สติปัฏฐาน 4 เจริญ จะทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์

เพราะฉะนั้นอย่างจะเจริญสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ นั่งเล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวัน พาจิตแกว่งขึ้นแกว่งลงตลอด อกุศลเกิดขึ้นมากมายอะไรอย่างนี้ อย่ามาคุยเลยเรื่องจะทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ แค่รักษาศีลให้รอดยังละยากเลย เราอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยไม่เป็นไรๆ ไม่เห็นจะผิดกฎหมาย สิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายผิดศีลได้ สิ่งที่ไม่ผิดศีลบางทีผิดธรรมได้ ถ้าเราจะภาวนาเอามรรคผลนิพพานเอาธรรมะ ต้องสำรวมระวังไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดศีลก็คือรักษาศีล มีกายสุจริต มีวจีสุจริต ไม่ให้ผิดธรรมต้องมีมโนสุจริต ใจเราไม่ถูกโลภ โกรธ หลงครอบงำ การเจริญสติปัฏฐานจะสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าท่านพูดไม่ใช่หลวงพ่อสอน ท่านบอกถ้าเราทำอินทรียสังวรให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สุจริต 3 สมบูรณ์ ถ้าเราเจริญสุจริต 3 ให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ขึ้นมา ฉะนั้นต้องรักษา คือตัวศีลต้องรักษา รักษาจิตรักษาใจเราไว้ แล้วก็มาฝึกเจริญ สติปัฏฐาน

 

 

การเจริญสติปัฏฐานต้องฝึกแยกขันธ์ให้ได้ก่อน ฝึกค่อยๆ แยกขันธ์ไป เราจะเห็นว่าอย่างเราฝึกดูกาย เราเห็นร่างกายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนรู้ จิตกับกายมันแยกออกจากกัน เราเห็นเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตเป็นคนรู้ จิตกับเวทนาก็แยกออกจากกัน เวทนาเกิดได้ 2 ที่ เวทนาเกิดที่กายกับเวทนาเกิดที่ใจ หรือสังขารเช่นความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นเราก็เห็น โลภ โกรธ หลง ไม่ใช่จิต จิตอยู่อีกส่วนหนึ่งเป็นคนรู้โลภ โกรธ หลง เราแยกขันธ์ไป การที่เราแยกขันธ์ไปเรื่อยๆๆๆ ต่อไปขันธ์แต่ละขันธ์มันก็จะแยกตัวออกจากกัน เราจะเห็นรูปก็ส่วนรูป เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ทางกาย หรือความรู้สึกสุขทุกข์เฉยๆ ทางใจ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สัญญาความจำได้หมายรู้เป็นอีกส่วนหนึ่ง สังขารความปรุงดีปรุงชั่วเป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอีกส่วนหนึ่ง

แล้วก็ยังพบจิตประหลาดอีกตัวหนึ่ง อย่างจิตเราไปเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือหลงไปคิดทางใจ มันมีจิตชั้นสูงอีกตัวหนึ่ง จิตผู้รู้ เราจะเห็นว่าจิตผู้หลง ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้ลิ้มรส ผู้ดมกลิ่น ผู้รู้สัมผัสทางกาย ก็เป็นคนละอันกับจิตผู้รู้ พอเรามีจิตผู้รู้ได้เราจะเห็นเลยจิตมันจะแยกเป็นส่วนๆ ไป จิตที่ดูเกิดแล้วดับ จิตที่ดูไม่ใช่จิตผู้รู้ จิตที่ฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ฟังไม่ใช่จิตผู้รู้ จิตที่ดมกลิ่นลิ้มรสกระทบอารมณ์ทางกาย กระทบสัมผัสทางกายก็เป็นอีกส่วน แต่ละส่วนๆ เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตผู้รู้อีก เพราะฉะนั้นตัวจิตเองก็เกิดดับ ประเดี๋ยวก็เป็นจิตที่ไปดูรูป ประเดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ อันนี้สำหรับนักปฏิบัติ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตฟังเสียงแล้วก็เป็นจิตผู้รู้ มันจะมีตัวรู้สลับๆๆ ขึ้นมา พอเรามีสติรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเคลื่อนไปคิดทางใจ จิตที่ไปเกิดดับ ไปเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็จะดับ แล้วเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน

ฉะนั้นจิตผู้รู้มันคล้ายๆ ฐานที่มั่นของเรา เราเสียฐานที่มั่นนี้จิตก็ไปทางตา เสียฐานที่มั่นจิตก็ไปทางหู แต่เราไม่ต้องรักษาตัวผู้รู้ไว้ เพราะการที่เราจะต้องเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสอะไร เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราจะต้องทำ จะมาอยู่กับจิตผู้รู้อย่างเดียวแล้วขับรถไปนี้ตายคาที่เลย ตายไปด้วยโมหะ ความโง่ ตายไปด้วยความโง่ความหลง จิตนั้นมันเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 ไม่ต้องไปห้ามมัน แต่ให้รู้ทันมัน ทันทีที่รู้ทันว่าจิตหลงไปดูแล้ว จิตหลงไปดูจะดับเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน พอจิตมันหลงไปฟัง เรามีสติรู้ทันว่าจิตหลงไปฟัง จิตหลงไปฟังมันดับ มันก็เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน เราจะเห็นจิตเกิดดับ ถ้าฝึกมาไม่เข้ามาถึงจิตถึงใจ จะไม่สามารถเห็นได้ว่าจิตเกิดดับได้ อย่างมากก็จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา สุขทุกข์ดีชั่วไม่ใช่เรา จะเห็นได้แค่นี้ แต่ไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่เราได้ ถ้าไม่สามารถเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา จะบรรลุมรรคผลไม่ได้หรอก เพราะบรรลุมรรคผลต้องเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นทั้งหมดนี้ ทั้งอายตนะภายในภายนอกมันไม่ใช่เรา ตัวที่เห็นยากที่สุดคือใจนี่เอง

การที่เห็นว่าจิตใจไม่ใช่เราต้องฝึกเยอะเลย เราเห็นว่าเดี๋ยวจิตผู้รู้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป กลายเป็นจิตผู้คิด จิตผู้คิดเกิดแล้วก็ดับไปกลายเป็นจิตผู้เพ่ง จิตผู้เพ่งเกิดแล้วก็ดับไปมาเป็นผู้รู้อีก ผู้รู้ดับไป ไปเป็นจิตผู้ดู เราจะเห็นจิตมันเกิดดับสลับกันไปอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งก็จะรู้จิตเองก็ไม่เที่ยง จิตก็เป็นทุกข์ จิตก็เป็นอนัตตา จิตจะไปเกิดที่ตาสั่งไม่ได้ห้ามไม่ได้ จิตจะไปเกิดที่หูสั่งไม่ได้ห้ามไม่ได้ จิตจะไปทำงานทางใจก็สั่งไม่ได้ห้ามไม่ได้ ทดลองดูง่ายๆ เลยว่าจริงไหม เราลองตั้งใจ ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยวเราจะต้องเห็นรูปอะไรสักอย่างหนึ่ง ข้างหน้าเรานี้ เห็นให้เด็ดเดี่ยวลงไป เห็นให้ได้ตลอดเวลา อย่าให้มันเลือนหายไป ลองดูซิทำได้ไหม ดูอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งดูนิ้วของเราเองนี้ก็ได้ ดูให้เห็นชัดตลอดเวลาทำได้ไหมลองดู เราจะเห็นว่าเราบังคับจิตให้รู้รูปตลอดเวลาไม่ได้ จิตที่รู้รูปอยู่แวบเดียวมันก็จะ นิ้วมือนี้จะเบลอๆ แล้ว เลือนๆ ลางๆ ไปแล้ว เหลือแต่ความจำ นิ้วมือนี้ ตัวที่เห็นนิ้วมือจริงๆ เกิดจิตที่ไปดูรูปจริงๆ ไม่มีแล้ว แวบเดียวเท่านั้นเอง

ฉะนั้นเราจะสั่งจิตให้รู้รูปตลอดเวลาก็ไม่ได้ สั่งจิตให้สุขตลอดเวลาก็ไม่ได้ สั่งจิตไม่ให้ทุกข์ตลอดเวลาก็ไม่ได้ สั่งจิตให้ดีตลอดเวลาไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้เห็นรูปอย่างเดียว หรือสั่งไม่ให้เห็นรูปก็ทำไม่ได้ สั่งให้ได้ยินเสียงอย่างเดียว หรือสั่งว่าอย่าได้ยินเสียงก็สั่งไม่ได้ อย่างเสียงที่เราไม่อยากได้ยินบางทีได้ยินชัดเลย อย่างคนแก่บางทีบางคนหลวงพ่อเคยเจอ ใครเขาพูดอะไรก็ร้อง “หาๆๆ” ฟังไม่รู้เรื่อง แต่พูดลูกหลานนินทาได้ยินชัดเลย จิตมันเป็นอนัตตามันสั่งไม่ได้ควบคุมไม่ได้

พอเราทำอย่างนี้ เรียกว่าเราเจริญสติปัฏฐานอยู่เรื่อยๆ เรามีจิตตั้งมั่นขึ้นมา แต่อันนี้เราต้องมีสุจริตก่อน มีศีล แล้วก็จิตใจไม่ถูกโลภะ โทสะ โมหะครอบงำ แล้วเรามาเจริญสติปัฏฐานมันถึงจะทำได้ดี ถ้าฝึกให้จิตตั้งมั่น ถ้าจิตถูกโลภะ โทสะ โมหะลากเอาไป จิตมันก็ไม่ตั้งมั่นก็เท่านั้นเอง พอจิตมันไม่มีราคะ โทสะ โมหะมาครอบงำ มันก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา อย่างจิตมันหลงไปคิดเรามีสติรู้ทัน ตัวหลงคิดมันก็ดับ กิเลสดับแล้ว ทันทีที่กิเลสดับความฟุ้งซ่านดับ จิตก็ตั้งมั่นอัตโนมัติเลย พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว ฝึกชำนิชำนาญจิตตั้งมั่นเนืองๆ แล้วก็เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วิญญาณเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็คือเห็นจิตมันเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 นั่นล่ะ

ท่านสอนต่อไปบอกว่าท่านเริ่ม ถ้าอินทรียสังวรเราทำไว้ให้มากๆ ทำให้เจริญ จะทำให้สุจริต 3 บริบูรณ์ สุจริต 3 ถ้าเราเจริญให้มาก ทำให้มาก ทำเนืองๆ จะทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ได้ แล้วสติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์จะทำให้โพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ โพชฌงค์ 7 เป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศลที่จะพาเราไปสู่มรรคผลนิพพาน เป็นผลผลิตจากการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน โพชฌงค์ไม่เกิดหรอก มีสติก็เป็นสติธรรมดาไม่ใช่สติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์เป็นองค์ธรรมที่จะนำเราไปสู่การบรรลุมรรคผล เลยเรียกว่าโพชฌงค์เป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ อย่างวิริยะขยันภาวนาอะไรอย่างนี้ ก็ยังไม่ถึงขั้นวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ผ่านการเจริญสติปัฏฐานอย่างเข้มงวดมาแล้ว แล้วมันพัฒนาขึ้นมา ฉะนั้นตัวโพชฌงค์เป็นกุศลที่แก่กล้าขึ้นแล้ว จะนำเราไปสู่การตรัสรู้

 

สติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์จะทำให้โพชฌงค์ 7 บริบูรณ์
โพชฌงค์ 7 เป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศลที่จะพาเราไปสู่มรรคผลนิพพาน เป็นผลผลิตจากการเจริญสติปัฏฐาน
ถ้าไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน โพชฌงค์ไม่เกิด

 

เราเจริญสติปัฏฐานให้มาก ต่อไปสติมันจะพัฒนาไปเป็นสติสัมโพชฌงค์ คือไม่ใช่มีสติเพื่อจะมีสติหรือจะมีสติเพื่อจะเป็นคนดี แต่มีสติเพื่อลดละกิเลสเพื่อเจริญกุศล เพื่อไปสู่มรรคผล มุ่งไปที่มรรคผล ไม่ใช่เพื่อเป็นคนดี เพื่อจะไปสวรรค์ เพื่อไปพรหมโลก มีสติปัฏฐานแล้วมีสติรู้กายรู้ใจไป เห็นกายเห็นใจมันทำงานไป ตัวนี้เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เรารู้กายรู้ใจไม่ใช่เพื่อเป็นคนดี ไม่ใช่เพื่อความสุขความเจริญอะไรทั้งสิ้น แต่ทำไปเพื่อให้เห็นความจริง พอเห็นความจริงแล้วจิตมันจะคลายความยึดถือ เกิดมรรคเกิดผล ฉะนั้นที่เราภาวนา เราเจริญสติปัฏฐานถ้ามันแก่กล้าขึ้นมา มันจะทำไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่เพื่อจะอยู่กับโลกอย่างมีความสุข คนปฏิบัติอย่างมากส่วนใหญ่ชอบคิดแค่ว่าภาวนาแล้วจะได้ทุกข์น้อยๆ ทุกข์สั้นๆ แค่นี้พอใจแล้ว คนที่บุญบารมีมากพอไม่ได้พอใจแค่นี้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสก็ยังมีทุกข์ ตราบใดยังมีทุกข์ ก็ทนไม่ได้ต้องต่อสู้ ฉะนั้นเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆๆๆ สติสัมโพชฌงค์ก็เกิด ธัมมวิจยะ คือการวิจัยรูปธรรมนามธรรมมันก็เกิดขึ้น วิจัยให้เห็นความจริงของมันเป็นไตรลักษณ์

แล้วยิ่งรู้ยิ่งดูจิตมันยิ่งเข้มแข็ง มันขยันรู้มันขยันดูอัตโนมัติ ตรงนั้นวิริยสัมโพชฌงค์มันจะเกิด แล้วปีติอันนี้มันอิ่มเอิบใจขึ้นมาที่ได้ลดละกิเลส ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ปัสสัทธิ ความสงบระงับก็เกิดขึ้น ความสงบระงับทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันเกิดขึ้นมา สมาธิก็เกิดขึ้นมา จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นสมาธิอัตโนมัติ อุเบกขา มันเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง อาศัยการเจริญสติปัฏฐานให้มาก ทำให้มาก ทำให้เจริญ จะทำให้โพชฌงค์ 7 เจริญ พอโพชฌงค์ 7 เจริญแล้วมรรคผลต้องเกิด แล้วเกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา

ที่เล่าให้พวกเราฟังวันนี้ หลวงพ่อแจกแจงธรรมะเซ็ตหนึ่ง มันเป็นเซ็ตเลย เริ่มจากอินทรียสังวร ถ้าอินทรียสังวรดี สุจริต 3 จะเกิด สุจริต 3 ดี การเจริญสติปัฏฐานจะสมบูรณ์ขึ้นมา การเจริญสติปัฏฐานที่สมบูรณ์จะทำให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ขึ้นมา แล้วโพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ขึ้นมามรรคผลนิพพานก็จะปรากฏ มรรคผลจะเกิดนิพพานจะปรากฏ นี่มันเป็นเซ็ตหนึ่งเลย พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะ บางทีท่านสอนไว้เป็นเซ็ตๆ ไปสังเกตให้ดี แล้วเป็นเซ็ตสำหรับการปฏิบัติเท่านั้น ไม่เป็นเซ็ตที่พูดเล่นๆ หรอกไปสังเกตให้ดี กระทั่งการเรียงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นเซ็ต จากของหยาบไปสู่ของที่ละเอียด เราจะเห็นของหยาบ อะไรหยาบ รูปนี้หยาบที่สุด พอผ่านตัวหยาบตัวแรก ก็เป็นของที่หยาบน้อยลงคือตัวเวทนา แล้วก็ค่อยๆ ละเอียดๆ ไป สัญญา สังขาร ตัวที่ละเอียดที่สุด วิญญาณ การที่จะรู้เท่าทันจิตที่เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 ละเอียด

ฉะนั้นธรรมะของท่านมันเป็นเซ็ตๆ ถ้าเราไปดูให้ดี หรือบางทีท่านสอน “เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว” ธรรมะของท่านมันมีขั้นมีตอนเป็นเซ็ตๆ เซ็ตอย่างนี้ๆ ถ้าไปดูให้ดีแล้วมันจะเป็นเรื่องของเหตุกับผล ถ้าทำเหตุอย่างนี้จะมีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้จึงมีผลอย่างนี้ ธรรมะทั้งหลายของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างนี้ แล้วสิ่งที่เป็นเหตุผลที่ประณีตที่สุดก็คือปฏิจจสมุปบาท เพราะอวิชชามีอยู่สังขารจึงมีอยู่ เพราะสังขารมีอยู่วิญญาณจึงมีอยู่ เพราะวิญญาณมีอยู่นามรูปจึงมีอยู่ เพราะนามรูปมีอยู่อายตนะจึงมีอยู่ เพราะอายตนะมีอยู่ผัสสะจึงมีอยู่ เพราะผัสสะมีอยู่เวทนาจึงมีอยู่ เพราะเวทนามีอยู่ตัณหาจึงมีอยู่ เพราะตัณหามีอยู่อุปาทานจึงมีอยู่ เพราะอุปาทานมีอยู่ภพจึงมีอยู่ เพราะภพมีอยู่ชาติจึงมีอยู่ เพราะชาติมีอยู่ทุกข์จึงมีอยู่ นี่เป็นเซ็ต

 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเหตุกับผล

ฉะนั้นธรรมะของท่านไปดูให้ดีมันจะเป็นเรื่องเหตุกับผล แล้วบางทีก็เป็นเหตุกับผลที่สืบเนื่องกันไป เป็นขั้นๆๆ สืบเนื่องกันไป เราค่อยๆ ภาวนาเดี๋ยวเราก็เข้าใจ หลวงพ่อเข้าใจทั้งหมดที่เล่ามานี้ หลวงพ่อเข้าใจเริ่มต้นมาจากการฝึกจิตด้วยอินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ไม่ใช่มีตาไม่ดู มีหูไม่ฟัง มีใจไม่คิด มีตาก็ดู แต่พอดูแล้วเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นมา เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว รู้ทัน สุดท้ายละเอียดเกิดชอบ เกิดไม่ชอบ ละเอียดขึ้นไปก็อีกรู้ทันมันไป สุดท้ายมันก็เห็นจิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้เป็นทุกข์ จิตนี้เป็นอนัตตา เพราะอินทรียสังวรก็คือจิต เป็นการคุ้มครองดูแลจิตที่ไปเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 นั่นเอง

ฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อดูจิตๆ พอลงมือปฏิบัติหลวงพ่อตัดเข้ามาที่อินทรียสังวรเลย หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ “หลวงปู่ครับ ผมเที่ยวไปวัดโน้นวัดนี้ ได้ยินครูบาอาจารย์ท่านเทศน์” คนไปวัดเยอะๆ เราก็ไปเป็นหนึ่งในคนเป็นร้อยๆ บอก “ ผมได้ยินเลยท่าน สอนพุทโธพิจารณากาย ผมจะต้องพิจารณากายไหมครับ” หลวงปู่สอนให้ดูจิตลูกเดียว หลวงปู่ท่านมองหลวงพ่อแบบสลดสังเวชมองแบบอนาถ ถามอะไรโง่ชิบเป๋งเลย ท่านไม่ด่าท่านสังเวชใจ ท่านก็บอกว่า “ที่เขาดูกาย เพื่อให้เห็นจิต” ท่านว่าอย่างนี้ “เขาดูกาย เพื่อให้เห็นจิต เข้ามาถึงจิตแล้ว เอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านว่าอย่างนี้ “กายเป็นของทิ้ง”

เพราะฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเลยไม่ได้ไปเริ่มจากพุทโธพิจารณากาย เคยทำไหม เคยทำ แต่จริตนิสัยมันไม่ชอบ เราเป็นคนคิดมากมันพวกทิฏฐิจริต คิดมาก ให้ไปนั่งสมาธิก็นั่ง ตอนเด็กๆ ก็ชอบนั่งอยู่ เพราะว่าทำอะไรไม่เป็น นั่งสมาธิ ได้ยินเรื่องพิจารณากายก็ดู ดูกายแล้วมันจืด มันจืดชืดมันไม่ใช่จืดแบบใจหมดความยินดียินร้าย มันจืดชืด รู้สึกคับแคบ พอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิต มันเหมือนปลาได้ออกสู่แม่น้ำแล้ว ว่ายน้ำได้เต็มที่เลย มันมีความสุข มันถนัด มันพอใจ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีทางไหนว่าดีกว่าทางไหนหรอก แต่หลวงพ่อ หลวงปู่ท่านให้ดูจิตไปเลย จริงๆ หลวงพ่อเป็นพวกทิฏฐิจริต สมัยโน้นยังไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นพวกทิฏฐิจริต เป็นพวกต้องใช้เหตุใช้ผล ต้องคิดมาก อะไรๆ ก็ไม่เชื่อง่ายเป็นพวกพุทธิจริตด้วย ไม่เชื่อ ไม่ใช่พวกศรัทธาจริต ใครบอกอะไรก็เชื่อ ไม่เชื่อหรอกไม่เชื่ออะไรสักอย่าง ใครเขาว่าอะไรดีไม่เชื่อหรอก นี่เป็นพื้นฐานจิตใจหลวงพ่อเลย ไม่เชื่ออะไรง่าย

ไปเห็นบางคนเชื่อโน่นก็เชื่อ นี่ก็เชื่อ ใครเขาพูดอะไรก็เชื่อ เห็นแล้วมันจะได้กินหรือ งมงาย หลวงปู่สอนให้หลวงพ่อดูจิตใจ ท่านบอก “ดูกายก็เพื่อให้เห็นจิตนั่นล่ะ พอเข้ามาถึงจิตแล้ว เอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” มันทิ้งจริงๆ เวลาทำสมาธิแล้วดูลงไปที่ผม ผมมันจะหายไปเลย เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะก็หายไป เห็นหัวกะโหลก หัวกะโหลกดูไปอีก หัวกะโหลกก็หาย ดูลงมาทั้งตัว เนื้อหนังหายหมดเหลือแต่กระดูก ดูกระดูก กระดูกก็ระเบิดเลยกลายเป็นก้อนกรวดเล็กๆ กระจัดกระจาย ดูลงไปอีกก้อนกรวดสลายตัวกลายเป็นคลื่นแสง ไม่ใช่แสงตรงๆ มันเป็นคลื่นแสงมันเป็นคลื่น แล้วหมดแล้ว เหลือแต่จิตดวงเดียว หลวงพ่อเคยภาวนาอย่างนี้ รู้สึกจืด ให้ไปดูกายแล้วจืด พอหลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต โอ๊ย มันมากเลย มันมีอะไรที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเยอะแยะไปหมดเลย ฉะนั้นขยันดูทุกวันๆ ท่านไม่ต้องสั่งซ้ำว่าขยันดู ไปดูบ่อยๆ ไม่เคยต้องสั่ง

อย่างพวกเราหลวงพ่อบางทีต้องเตือน เตือนเนืองๆ ว่าหลงมากไปแล้ว รู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัวก็คืออ่านกายอ่านใจให้ออก ให้จิตใจอย่างน้อยก็อยู่กับกาย ประณีตลึกซึ้งขึ้นไปก็เข้ามาถึงจิต ต้องคอยสอนคอยเตือนอยู่ ที่เล่าให้ฟังเพื่อจะรู้ว่าความอัศจรรย์ของธรรมะ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีขั้นมีตอน มีเหตุมีผล เป็นเรื่องเหตุผลทั้งนั้นเลย มีเหตุคืออินทรียสังวรที่ดี ก็มีผลเป็นสุจริต 3 มีสุจริต 3 เป็นเหตุที่ดี ก็มีสติปัฏฐานที่สมบูรณ์เป็นผล ทำสติปัฏฐานที่สมบูรณ์ก็จะเป็นเหตุให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ขึ้นมา โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ก็ทำให้มรรคผลเกิดขึ้นมา เป็นเหตุเป็นผล เป็นอีกเซ็ตหนึ่ง ค่อยๆ ภาวนาไป เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก

 

ทุกวันนี้ก็มีคนเขียนจดหมายมาขอบคุณหลวงพ่อเนืองๆ มาเรื่อยๆ บอกว่าดูยูทูป เขาไม่ได้ขอบคุณแต่หลวงพ่อ เขาขอบคุณมูลนิธิฯ ด้วย ขอบคุณคนทำยูทูป คนทำซีดี คนถ่ายรูป ทำหนังทำอะไรพวกนี้ เขาอนุโมทนาด้วยทั้งหมด เขาได้ประโยชน์ เขาอาศัยการศึกษาธรรมะจากสื่อ ไม่ได้เจอหลวงพ่อบางคนไม่มีโอกาสเลย อยู่เมืองนอก โอกาสจะเจอหลวงพ่อตัวเป็นๆ ไม่ค่อยมี เขาอาศัยสื่อ เขาเรียนแล้วเขาบอกเขาเข้าใจแล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เขาจะไม่งมงายต่อไปแล้ว ไม่ต้องเชื่อคนอื่นแล้ว เขาเชื่อเหตุเชื่อผล กฎแห่งกรรมก็เป็นเรื่องของเหตุของผล เห็นไหมเป็นเรื่องเหตุผลทั้งนั้น ฉะนั้นพอภาวนาถูกต้องแล้วก็เป็นคนมีเหตุผล

ไอน์สไตน์ถึงบอกว่าศาสนาพุทธมันเข้าได้กับวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องการพิสูจน์เหตุผล เข้ากันได้อยู่ แต่เราก็ไม่ได้ไปสนใจว่าวิทยาศาสตร์จะว่าอย่างไร เราสนใจเรียนรู้ตัวเองแล้วเราพ้นทุกข์ได้ วิทยาศาสตร์จะพ้นไม่พ้นเรื่องของเขา เราพ้นของเราได้ แล้วมีโอกาสบอกคนไหนที่เขาพอจะรู้เรื่องเราก็บอกต่อ ไม่มีคนที่ควรจะรู้เราก็เฉยๆ เสีย เหมือนสมัยโบราณบางท่าน ท่านตรัสรู้ขึ้นมา ท่านเห็นว่าไม่มีใครสมควรที่จะสอนท่านก็ไม่สอน ท่านก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป ถ้าท่านเกิดในยุคที่มีคนที่ควรสอนท่านก็สอน สะสมบารมีมามากๆ ท่านก็มาเกิดในยุคที่คนที่มีอินทรีย์แก่กล้าบางส่วน ท่านก็สอนให้บรรลุมรรคผลนิพพานตามท่านได้ คนไหนอินทรีย์อ่อนท่านก็ให้สะสมเอาไว้ ต่อไปพระพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไปพวกนี้ก็บรรลุได้ คนที่เขาบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ เขาไม่ได้ทำชาตินี้ชาติเดียวหรอก เขาทำมานานนักหนาแล้ว เขาสะสมมาแล้ว

ฉะนั้นพวกเราถ้าไม่เริ่มสะสมวันนี้ ชาติต่อๆ ไปก็เหลวไหล หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก มีคนไปบอกท่านว่า ไม่ต้องทำสมาธิ ไม่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาอะไรหรอก ทำบุญเยอะๆ ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ พอเจอพระศรีอาริย์ฟังธรรมนิดเดียวบรรลุพระอรหันต์ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกใช้ไม่ได้เลยคนๆ นี้ เป็นประเภทที่ใช้ไม่ได้ มันประมาทตั้งแต่เดี๋ยวนี้ กว่าจะถึงยุคพระศรีอาริย์มันสะสมความประมาทไปมากแล้ว ถึงพระศรีอาริย์เจอ ท่านก็ไม่สอน สอนไม่ไหว ฉะนั้นทำอะไรต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่คิดว่าทำบุญเยอะๆ แล้วก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานง่ายๆ ทำบุญเยอะๆ มันทำให้รวย ทำทานเยอะๆ มันทำให้รวย ถือศีลเยอะๆ มันทำให้หน้าตาดี บุคลิกดี เจริญปัญญาถึงทำให้เกิดมรรคผล มันต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเราก็ฝึกเจริญปัญญา จะเจริญปัญญาได้ก็มีสติไว้ เจริญสติมีอินทรียสังวร รักษาจิตของเราไปเรื่อย เดี๋ยวมรรคผลก็เกิดจนได้ ถ้าทำในชาตินี้เต็มที่แล้วมันยังไม่ได้ ชาติต่อไปจะง่าย ฟังนิดเดียวก็ง่ายเลย ทำได้เลย หลายๆ คนตอนเด็กๆ มีอะไรให้ตกใจ จิตผู้รู้ดีดผางออกมาเองเลย ไม่เคยฟังธรรมะมาก่อนเลยในชีวิต เด็กๆ นี่ล่ะอาศัยของเก่าที่สะสมมา พอมีอารมณ์แรงๆ มากระทบจิตผู้รู้มันดีดออกมาเลย ตั้งเป็นผู้รู้ขึ้นมาเลย ขันธ์แยกตัวออกไปทันทีเลย เป็นผลที่ว่าเคยทำมาก่อน ฉะนั้นเราก็สะสมเหตุของเราให้พอ ถ้าเหตุของเราพอเราก็จะได้ผล ได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ถ้าเหตุยังไม่พอเราสะสมไว้ชาติหน้าไปทำอีกนิดหน่อย เราก็ได้ผล ได้มรรคได้ผลขึ้นมา ฉะนั้นต้องอดทนต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ อย่าเหลวไหล อย่าให้ทุจริต 3 มันมาครอบใจเรา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 กรกฎาคม 2564