การเรียนรู้จิตทำได้ 2 แบบ

มีสติๆ ไว้ตลอดเวลา ฝึก ธรรมชาติของจิตมันไปตามที่มันเคยชิน คนในโลกทั้งหลายมันเคยชินที่จิตมันจะไปที่อื่น ออกนอก ไม่เคยชินที่จิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว มาฝึกความเคยชินใหม่ ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันเคลื่อนออกไป มันหลงไปดู ให้รู้ทัน หลงไปฟัง ให้รู้ทัน หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสที่ร่างกาย หลงไปคิดทางใจ หรือบางทีนั่งสมาธิ จิตมันหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน คอยมีสติรู้ทันจิตที่มันหลงบ่อยๆ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตตั้งมั่นแล้ว เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นหรือจิตไม่มีสมาธิ เจริญปัญญาไม่ได้จริง

ในตำราสอนกัน สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา แต่สมาธิที่คนส่วนใหญ่ฝึกกัน มันไม่ใช่สัมมาสมาธิ อย่างพวกฤๅษีชีไพรอะไรเขาก็ฝึกสมาธิ เหาะเหินเดินอากาศได้ ทำไมไม่ได้มรรคผล เพราะสมาธิอันนั้นไม่ใช่สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิไม่ใช่แปลว่าความสงบ สัมมาสมาธิคือความที่ตั้งมั่น คือความตั้งมั่นของจิตใจ ถ้าพูดภาษาไทยง่ายๆ สัมมาสมาธิทำให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวๆ เนื้อหนังมังสาเป็นส่วนของรูป ตัวเราๆ มันเป็นความคิด เป็นส่วนของนามธรรม ฉะนั้นจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวก็คือจิตใจอยู่กับรูปธรรมอยู่กับนามธรรมนี้เอง

อย่างเวลาเราภาวนา เราจะรู้สึกในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง จริงๆ เราไม่มี มันเป็นความหลงผิดของจิต เป็นความเห็นผิด เป็นการหมายรู้ผิด เป็นความคิดผิด มันเริ่มแต่หมายรู้ผิด หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง หมายรู้ของเป็นทุกข์ว่าสุข หมายรู้ของไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา มันเริ่มจากการหมายรู้ผิด มันก็เลย เวลาคิดมันก็คิดผิด ตรงหมายรู้ผิด เขาเรียกว่าสัญญาวิปลาส ตรงที่คิดผิดเขาเรียกจิตตวิปลาส คิดทีไรมันก็เป็นเราทุกที คิดไปๆ แล้วก็เกิดความเชื่อมั่นว่าเรามีจริงๆ อันนั้นเป็นทิฏฐิวิปลาส ความวิปลาส คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง มันเริ่มแต่หมายรู้ผิดๆ

ทำอย่างไรจะให้เกิดสัมมาทิฏฐิได้ ก็หมายรู้ให้มันถูกเสีย ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปมันก็คิดถูก เมื่อมันคิดถูก ความเห็นถูกคือตัวสัมมาทิฏฐิก็เกิด ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเหตุกับผลตลอดเวลา ทำเหตุอันนี้มีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้มีผลอย่างนี้ ถ้าเราหัดภาวนาเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าตัวเราจริงๆ ไม่มีหรอก เป็นแค่ความสำคัญผิด เป็นแค่ความหมายรู้ผิด เป็นแค่ความคิดผิด เป็นแค่ความเห็นผิด ก็มีเท่านั้นเองที่ว่าเป็นเราๆ

 

 

เรามาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นขึ้นมา เป็นการพัฒนาคุณภาพของจิตในการเรียนรู้ จิตที่ตั้งมั่นโดยที่เราไม่ได้จงใจบังคับ มันจะซื่อตรงในการรู้อารมณ์ มันจะซื่อๆ รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ หมายถึงสภาวะมันเป็นอย่างไร จิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง มันจะรู้สภาวะอันนั้นอย่างเป็นกลางๆ รู้ซื่อๆ ไม่เข้าไปวุ่นวาย มันก็จะเห็นความจริงของสภาวะอันนั้นได้ ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับกาย อยู่กับใจของเรานี้ แล้วจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันอยู่กับตัวเองแล้ว มันก็ไม่หลงออกนอกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าฝึกอย่างนี้แล้วจะมองอะไรไม่เห็นหรือเปล่า เหมือนคนตาบอดไหม ไม่เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส ไม่ได้สัมผัส ไม่ได้คิด เราไม่ได้ฝึกแบบนั้น จิตออกนอกที่มีปัญหาคือจิตออกนอกที่ไม่มีสติกำกับ ธรรมะของหลวงปู่ดูลย์งดงาม ท่านสอนบอกว่า

“จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ
อนึ่ง จิตมีธรรมชาติส่งออกนอก
แต่ถ้าส่งออกนอกแล้วขาดสติ
จิตกระเพื่อมหวั่นไหวไปตามอารมณ์ เป็นสมุทัย มีผลเป็นทุกข์
จิตส่งออกนอกแล้วก็มีสติอยู่ มีจิตตั้งมั่นมีสติอยู่ มีผลเป็นนิโรธ”

เพราะตรงที่จิตออกไปกระทบอารมณ์ มีสติ มีจิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงยินดียินร้าย อันนั้นคือการเจริญปัญญา ฉะนั้นตัวจิตออกนอกแท้ๆ ยังไม่ได้เป็นตัวปัญหา ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก ตัวที่เป็นปัญหาคือมันส่งออกนอกแล้วมันไม่มีสติ ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง

เราถึงต้องพัฒนาสติพัฒนาสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา แล้วการที่จิตส่งออกไปรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเกิดปัญญา ตาเห็นรูปมันก็จะรู้ รูปนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู รูปไม่ใช่ตัวเรา จิตที่ไปรู้รูปเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็ดับไป เวลาไปได้ยินเสียง จิตส่งออกไปฟังเสียง ก็จะเห็นเสียงเป็นของถูกรู้ถูกดู ถ้าจิตตั้งมั่น จะเห็นเสียงเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตที่เป็นคนรู้คนดูออกไปรู้เสียง นี่ก็ทำงานตั้งหลายอย่าง ทีแรกก็รู้เสียงเฉยๆ ต่อมาจิตก็แปลความหมายของเสียง ต่อมาจิตก็ให้ค่าว่าเสียงนี้ดี ไม่ดี ต่อไปจิตก็ปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่วไป ปรุงสุข ปรุงทุกข์ เพราะถูกเร้าด้วยเสียง ที่จริงเสียงไม่ได้ทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหว การที่จิตมันคิดนึกปรุงแต่งไป มันทำให้เสียงเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจ เสียงก็สักแต่ว่าเสียง รูปก็สักแต่ว่ารูป ส่วนจะทำให้จิตเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ดีหรือชั่ว อยู่ที่จิตมันทำงานของมันเอง

ฉะนั้นเราจะไม่โทษว่า เห็นรูปไม่ดีนี้จิตเลยฟุ้งซ่าน ได้ยินเสียงไม่ดีนี้จิตเลยฟุ้งซ่าน อันนี้เป็นข้ออ้าง ถ้าเราภาวนาจริงๆ ตาเห็นรูป ตรงที่ตาเห็นรูปนั้นไม่ได้มีความสุข ความทุกข์อะไรเกิดขึ้น ในขณะที่ตาเห็นรูป ไม่ได้มีกุศล อกุศลอะไรเกิดขึ้น สักแต่ว่าเห็นเท่านั้นเอง พอตามันเห็นรูป เราก็สำคัญมั่นหมาย ปรุงแต่งไป สำคัญมั่นหมายไป รูปนี้คือสิ่งนี้ๆ เป็นรูปของคนที่เราชอบ รูปนี้สวย รูปนี้ดี รูปนี้ถูกอกถูกใจ ราคะมันก็เกิดขึ้นมา ฉะนั้นจิตมีราคะ จิตมีกิเลส แล้วจิตมีความทุกข์ ไม่ใช่เพราะการเห็นรูป มันเกิดจากกระบวนการปรุงแต่งของจิตเอง ที่มันหลงความปรุงแต่ง มันหลงสัญญาเข้าไปหมายรู้ อันนี้รูปนี้คืออันนี้ หลงไปในความคิด เรียกจิตตวิปลาส

คิดไปเรื่อยๆ หลง ในที่สุดก็เกิดความเห็นผิด รูปนี้มีจริงๆ รูปนี้ไม่ดี ควรจะทำลายไป หรือรูปนี้ดี ควรจะรักษาไว้ ถ้ารูปที่ดีหายไป ควรจะเรียกร้องให้เอากลับมาอะไรอย่างนี้ จิตปรุงแต่งทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรมาทำให้จิตเป็นทุกข์หรอก นอกจากความโง่ของจิตเอง ความปรุงแต่งของจิตเอง ฉะนั้นเราจะไม่โทษคนอื่นว่าทำความทุกข์ให้เรา คนอื่นมันก็แค่ผัสสะอันหนึ่ง ก็แค่รูปที่เราเห็น เสียงที่เราได้ยิน เราฝึกจิตให้ดีๆ เราจะเห็นเลย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรนี่ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ขณะที่ตา หู จมูก ลิ้น กายกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตใจไม่ได้ทุกข์ มันสักแต่ว่ากระทบไปเฉยๆ

วิบากเก่าส่งผลมา ทำบุญมาดี รูปที่มาปรากฏหรือเสียงที่มาปรากฏ กลิ่นที่มาปรากฏอะไร ก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รสอะไรที่ดี นี่เป็นผลของวิบากที่ดี ในช่วงที่วิบากชั่วให้ผลขึ้นมา เราเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นวิบากดี หรือชั่วที่ให้ผล ในช่วงที่วิบากชั่วให้ผลขึ้นมา มันก็เจอรูปชนิดที่ใจเราไม่ชอบ ที่จริงรูปก็คือรูปนั่นล่ะ ส่วนชอบ ไม่ชอบ มันอยู่ที่ใจ คนส่วนใหญ่สติปัญญามันไม่พอ ถ้าตาเห็นรูปอย่างนี้ มันก็ชอบไปเลย ยินดียินร้ายไป เกิดความอยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ไป ใจก็ดิ้นรน

ใจที่ดิ้นรนเรียกว่าสร้างภพ มีภพ ใจก็เข้าไปหยิบ ไปฉวย ไปยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รสขึ้นมา ในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มันก็เป็นชาติ แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันทีที่จิตเข้าไปหยิบฉวยอายตนะทั้งหลายขึ้นมา มันก็จะทุกข์ ฉะนั้นทุกข์เกิดจากจิตมันไปหยิบฉวยอายตนะขึ้นมา ทุกข์เกิดจากชาติ ทุกข์ไม่ได้เกิดจากตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง ทุกข์มันเกิดจากชาติ คือการที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวย เข้าไปยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเป็นตัวเราของเรา มันก็ยึดถือเชื่อมโยงไปถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ยึดในอายตนะภายนอก ยึดในอายตนะภายใน ความทุกข์ก็เกิด

 

 

เราค่อยภาวนาทุกวันๆ สิ่งที่หลวงพ่อพูดนี่ต้องใช้เวลากว่าเราจะเห็นตามที่หลวงพ่อพูดได้ทั้งหมด บางทีเราเรียนกับครูบาอาจารย์กรรมฐานบางเรื่องที่ท่านสอน เราใช้เวลาเป็น 10 ปี 20 ปีกว่าจะเข้าใจ บางคนหลายสิบปี จนตายเสียก่อนยังไม่เข้าใจเลยก็มี อย่างหลวงพ่อมีกรรมฐานอยู่บทหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนกรรมฐาน อันนี้ท่านสอนคน 2 คน คือสอนหลวงพ่อพุธกับสอนหลวงพ่อ 2 คน หลวงพ่อไปเขียนๆ ไว้ ตอนหลังคนก็ไปเมคๆ ขึ้นมาว่าสอนตัวเองด้วย ไม่ได้มีหลักฐาน

ก่อนท่านจะมรณภาพ 36 วัน หลวงพ่อเข้าไปกราบท่าน ท่านก็สอนธรรมะตั้งแต่บ่าย สอนมาเรื่อยๆ จนท่านเหนื่อยหอบ ประมาณทุ่มกว่าๆ แล้ว หลวงพ่อสงสารท่าน กราบเรียนท่านบอกว่า

“หลวงปู่ครับ หลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ผมจะกราบลาแล้ว”
ท่านบอก “จะกลับแล้วหรือ ยังกลับไม่ได้นะ ต้องจำไว้ก่อน พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เข้าใจไหม”
บอก “ผมไม่เข้าใจครับ แต่ผมจะจำไว้”
“เออ จำไว้”

ก็กราบลาท่านออกมา ใจอาลัยอาวรณ์ท่าน ปกติหลวงพ่อไม่อาลัยอาวรณ์ใคร อยู่กับหลวงปู่ดูลย์ ตอนจะลาก็คือลา ลาแล้วก็คลานออกมา แล้วก็เลิกกัน เป็นอย่างนั้นเลย แต่วันนั้นคลานออกมานิดหนึ่งก็ต้องหันไปมอง คลานออกมานิดหนึ่งก็หันไปมอง พอมาถึงหน้ากุฏิ ยืนอยู่ที่สนามมองไปที่ท่าน ใจมันรู้สึกว่านี่คือการเห็นครั้งสุดท้ายแล้ว แล้วก็มันสมควรแก่เวลา เราก็ไป หลวงปู่ท่านก็มองตามมาตลอด

วันรุ่งขึ้นก็ไปหาหลวงพ่อพุธ ไปเล่าให้หลวงพ่อพุธฟัง หลวงพ่อพุธพอเห็นหน้าหลวงพ่อ ท่านก็รู้ว่ามาหาหลวงปู่ดูลย์

ท่านถามว่า “นักปฏิบัติ คราวนี้หลวงปู่สอนอะไร”
บอกหลวงปู่สอนว่า พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
หลวงพ่อพุธท่านก็ทวนคำเลยว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต นี้เป็นคำสอนสูงสุดของกรรมฐาน”

ตอนนั้นโดยภูมิจิตภูมิธรรมหลวงพ่อไม่ถึงที่จะเรียนตรงนี้หรอก หลวงปู่ถึงบอกให้จำเอาไว้ เพราะตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียนตรงนี้ ภูมิจิตภูมิธรรมไม่ได้ระดับที่จะเรียน แต่ท่านจะไม่อยู่แล้ว ท่านก็เลยสอนทิ้งไว้ให้ เมื่อภูมิจิตภูมิธรรมเราไม่ถึง กรรมฐานข้อนี้ใช้เวลาเรียน 20 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2526 ก็ 22 ปี

หลวงพ่อพุธท่านก็เฉลยให้ฟัง พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิตนี่เป็นสุดยอดของกรรมฐานแล้ว แต่การทำลายผู้รู้ การทำลายจิตนี่ไม่ใช่การทำลาย แต่เป็นการเห็นไตรลักษณ์ แล้วจิตมันค่อยทำลายของมันเอง ดูมันให้เป็นไตรลักษณ์เสีย ท่านสงสารหลวงพ่อ ท่านกลัวหลวงพ่อจะมานั่งระเบิดจิตตัวเองให้แตกไป ถ้าทำอย่างนั้นบ้าเลย ท่านรีบบอกเลยว่าไม่ใช่ไปทำลายจิตจริงๆ แต่มันคือการไม่ยึดถือจิต แล้วท่านก็บอกว่าเมื่ออาทิตย์ก่อน 7 วันก่อนที่หลวงพ่อจะเข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ครั้งสุดท้าย ท่านก็เข้าไปเยี่ยมหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์สอนท่านบอก “เจ้าคุณ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” นี้หลวงพ่อพุธท่าน บุญบารมีท่านสูงระดับครูบาอาจารย์ ท่านฟังรู้เรื่อง ท่านรู้ว่าหลวงพ่อไม่เข้าใจ ท่านเลยบอก การทำลายจิตคือการเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ไปทำลายมันจริงๆ ท่านก็เมตตา

อย่างหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์เป็นผู้ใหญ่กว่าท่านเยอะ ท่านก็เมตตาหลวงพ่อ ท่านบอกว่า “คุณกับอาตมามาทำกติกากัน ใครทำลายได้ก่อนให้มา บอกกัน” อันนี้เป็นอุบายของท่าน เราไม่มีปัญญาทำลายก่อนท่านหรอก นี้อยู่ๆ ท่านจะบอก เดี๋ยวเราจะสอนให้อะไรอย่างนี้ ก้าวล่วงลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ที่ผู้ใหญ่กว่าท่าน เขาไม่ทำกัน มารยาทท่านงาม ท่านเลยอุบายบอก เดี๋ยวถ้าเราคนไหนเข้าใจก่อนเรามาบอกกันอะไรอย่างนี้ เราก็รู้ทันว่านี่เป็นคำพูดที่สุภาพของท่านประกอบด้วยความเมตตากรุณาอย่างสูงเลย ไม่ได้โอ้อวดตัวเอง

ผ่านวันเวลามานาน เกือบ 20 ปี หลวงพ่อเจอหลวงพ่อพุธครั้งสุดท้าย ท่านมาเทศน์ที่ทีโอที พอท่านเทศน์เสร็จแล้ว หลวงพ่อรีบลุยเข้าไปหาท่านเลยไปกราบท่าน “หลวงพ่อครับ ผมไม่เจอหลวงพ่อนานแล้ว” ท่านบอก “หลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก” ก็กราบเรียนท่าน “หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย” ท่านยืดตัวขึ้นมา ท่านกำลังเหนื่อยมากๆ เลยตอนนั้นเทศน์เสร็จ ท่านใกล้จะมรณภาพแล้วตอนนั้น

พอบอกท่านว่าผมทำลายผู้รู้ยังไม่ได้เลย ท่านยืดตัวขึ้นมา จิตใจฮึกเหิม รัศมีพวยพุ่งเลย พูดยุคนี้เขาเรียกออร่า ออร่าแจ่มใส สว่างไสวเลย ท่านก็บอกว่า “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” ฉะนั้นลูกไก่มันเจาะทำลายเปลือกเอง การทำลายผู้รู้นั้น จิตมันทำลายตัวมันเอง มันเจาะออกมาเอง หน้าที่ก็คือดูแลไข่ฟองนี้เอาไว้ อันนี้หลวงพ่อพุธไม่ได้พูดแล้ว ท่านพูดนิดเดียวล่ะว่าจิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง ตอนหลวงพ่อได้ยินก็สบายใจแล้ว เราก็มีหน้าที่ภาวนา เดี๋ยวมันค่อยทำลายของมันเอง พอภาวนาจนมาบวชแล้ว 20 กว่าปีค่อยรู้จักมัน มันทำลายด้วยการเห็นไตรลักษณ์ มันทำลายผู้รู้ด้วยการเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ทำลายด้วยการใช้พลังจิตไประเบิด เอาจิตไประเบิดจิตทิ้งนี่ก็บ้าเลย บ้า ฉะนั้นหน้าที่เรามีสติเอาไว้ มีจิตใจที่ตั้งมั่น เรียนรู้การทำงาน เรียนรู้จิตใจไป

 

การเรียนรู้จิตด้วยการรู้จิตที่ประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ

การเรียนรู้จิต รู้เท่าทันจิต ดูได้ 2 แบบ อันหนึ่งรู้จิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ อย่างเช่น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ ความโลภ ความโกรธมันเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่มาประกอบจิต จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ เราเห็นจิตและความรู้สึกต่างๆ มันเกิดขึ้น มันเกิดอยู่ด้วยกัน เห็นจิตมันเกิดดับผ่านเจตสิก เพราะตัวจิตนั้นไม่มีร่องรอยให้เห็น จิตเป็นอรูปตัวจริง ตัวแท้เลย มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีร่องรอย สังเกตได้ยาก รู้ได้ยาก พระพุทธเจ้าบอกเอง จิตนี้เกิดดับรวดเร็ว มันเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยาก รู้ได้ยาก

เราจะรู้จิต เห็นจิตเกิดดับได้ เราอาศัยเจตสิกมาเป็นตัวช่วย เราจะเห็นว่าจิตโกรธเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วดับ จิตหดหู่เกิดแล้วดับ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดแล้วดับ อาศัยเจตสิก ตัวเวทนาบ้าง ตัวสังขารบ้าง เวทนาคือตัวสุข ทุกข์ เฉยๆ ตัวสังขารก็คือกุศล อกุศลทั้งหลาย เวลาเจตสิกมันเป็นอกุศล จิตดวงนั้นก็เลยกลายเป็นจิตอกุศล จิตซึ่งโดยตัวของมันเองไม่เป็นกุศลหรืออกุศล แต่พอเจตสิกที่เป็นอกุศลเข้ามาย้อม มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตที่เป็นอกุศล มันเกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน เป็นลักษณะที่เราจะเรียนเห็นมัน อย่างความโกรธกับจิตที่โกรธเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน ความโลภกับจิตที่โลภเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน

ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง ตัวสุข ตัวทุกข์อะไรนี่ มันมีร่องรอย มีการกระทำ มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน อย่างความโลภกับความไม่โลภ มันมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ความโกรธกับความไม่โกรธอย่างนี้มีลักษณะที่แตกต่างกัน จิตที่เกิดร่วมกับเจตสิกทั้งหลาย เราก็เลยสามารถเห็นได้ว่าจิตดวงที่เกิดร่วมกับความโกรธมันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ จิตที่เกิดร่วมกับความไม่โกรธ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ในที่สุดเราก็จะเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย เราก็จะเห็นจิตทุกดวงเกิดแล้วดับ อย่างนี้เราจะเห็นจิตมันเกิดดับได้

 

การเรียนรู้จิตด้วยการเห็นพฤติกรรมของจิต

อีกอันหนึ่งเราเห็นพฤติกรรมของจิต อันแรกนี่เราเห็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดร่วมกับจิต เกิดดับพร้อมกับจิต อีกอย่างหนึ่ง เราเห็นพฤติกรรมของจิต จิตเดี๋ยวก็มีพฤติกรรมไปดู เป็นผู้ดู เดี๋ยวก็เป็นผู้ฟัง เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้ลิ้มรส เดี๋ยวเป็นผู้รู้สัมผัสทางร่างกาย เดี๋ยวเป็นผู้คิดนึกทางใจ เดี๋ยวเป็นผู้เพ่งทางใจ หรือบางทีก็เป็นผู้รู้ขึ้นมา เราจะเห็นจิตมันทำงานอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 เดี๋ยวก็ดูรูป เดี๋ยวก็ฟังเสียง เดี๋ยวได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส

ช่วงที่สติของเรายังไม่แข็งแรงพอ สมาธิเรายังไม่แข็งแรงพอ เราจะรู้สึกว่าจิตมีอยู่ดวงเดียว เดี๋ยวก็วิ่งไปดูรูป แล้วก็วิ่งกลับมาเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็วิ่งไปฟังเสียง แล้วก็วิ่งกลับมาเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็วิ่งไปดมกลิ่น แล้วก็วิ่งกลับมาเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็วิ่งไปคิด แล้วก็วิ่งกลับมาเป็นผู้รู้ เราเห็นว่าจิตมีอยู่ดวงเดียว เป็นอมตะ แต่ว่ามันวิ่งไปวิ่งมา มันโคจร โคจรไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย เห็นว่าจิตมีดวงเดียว ตรงนี้เรายังขึ้นวิปัสสนาที่แท้จริงไม่ได้ สันตติยังไม่ขาด สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีอยู่แท้จริง มันไม่เคยดับไปไหนเลย คือตัวสันตติมันหลอกเรา

ถ้าเราภาวนาจนสติเราแหลมคมจริงๆ เราจะเห็นเลยว่าจิตที่เป็นผู้รู้มันก็ดวงหนึ่ง จิตที่เป็นผู้คิดมันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง มันเกิดทีละดวง ที่พระพุทธเจ้าบอกจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน นี่เรื่องจริง จิตผู้รู้ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตผู้คิดก็เป็นดวงหนึ่ง จิตผู้รู้ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตผู้เพ่งก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตผู้รู้ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตผู้ไปดู ไปเห็นรูป ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตผู้รู้ก็ดวงหนึ่ง จิตที่ฟังเสียงก็เป็นอีกดวงหนึ่ง ถ้าเราสามารถดูได้อย่างนี้ เรียกสันตติมันขาดแล้ว จิตนี้เกิดดับตลอดเวลา จิตไม่ได้มีดวงเดียวเที่ยงอยู่อย่างนั้น

สิ่งที่ปิดบังอนิจจังไว้คือสันตตินั่นเอง สันตติคือความสืบเนื่องอย่างรวดเร็ว มันคล้ายๆ ฟิล์มหนัง ฟิล์มหนังแต่ละรูปๆ รูปมันไม่ได้เคลื่อนไหว แต่พอฟิล์มหนังมันเคลื่อนไป รูปในจอหนังมันก็เปลี่ยนไป อันนี้สำหรับคนโบราณ มันมีฟิล์มหนัง เดี๋ยวนี้หนังมันเป็นสติกเกอร์อะไร เป็นซีดีอะไร มองไม่ออกแล้วอย่างนี้ ถ้าใครเคยเห็นฟิล์มหนังโบราณจะรู้ รูปแต่ละรูป มันเคลื่อนไหวไม่ได้หรอก จิตก็ไม่ได้วิ่งไปทางโน้น วิ่งไปทางนี้หรอก แต่ว่าอาศัยที่จิตมันเกิดดับสืบเนื่องกันรวดเร็ว เดี๋ยวมันเกิดที่ตา เดี๋ยวมันเกิดที่ใจ เดี๋ยวมันเกิดที่หู เดี๋ยวมันเกิดที่ใจอะไร มันเกิดดับต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว เราก็เกิดภาพลวงตาว่าจิตนี้วิ่งไปวิ่งมาเหมือนเราเห็นตัวหนัง ตัวการ์ตูนมันเคลื่อนไหว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นรูปนิ่งๆ ทั้งหมด แต่ว่ามันมาต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติมันเลยปิดบังอนิจจังเอาไว้ มองไม่เห็นหรอก

ถ้าสติเราเร็วขึ้นๆ เราจะเห็นจิตที่ดูมันก็ดวงหนึ่ง จิตที่ฟังมันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่คิดมันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่รู้มันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่หลงก็เป็นอีกดวงหนึ่ง ฝึกเรื่อยๆๆๆ ไป ตัวนี้ดูยาก สติเราต้องเร็ว ฉะนั้นดูจิตที่มันเกิดดับร่วมกับอายตนะจะดูง่ายกว่า เราจะเห็นว่าจิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธ มันคนละดวงกัน จิตที่โลภกับจิตที่ไม่โลภ มันคนละดวงกัน ง่ายๆ กว่านั้นอีก จิตที่โกรธกับจิตที่โลภมันคนละดวงกัน ดูอย่างนี้ จิตที่สุขกับจิตที่ทุกข์ มันคนละดวงกัน อันนี้ดูง่ายกว่า ฉะนั้นดูไปตามอายตนะนี่สติต้องเข้มแข็งจริงๆ สมาธิต้องดีจริงๆ แล้วตอนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ บางทีเราฝึกไม่พอ จิตมันหลงถลำลงไป ถลำไปดูรูป ถลำไปฟังเสียง ถลำไปดมกลิ่น ถลำไปลิ้มรส มันไม่ได้สักว่ารู้รูป สักว่ารู้เสียง

ฉะนั้นฝึกง่ายๆ พระพุทธเจ้าเอาธรรมะง่ายๆ มาสอนเรา อย่างท่านสอน “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย มีความสุขเกิดขึ้น ก็รู้ว่ามีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ” ท่านดูสิ่งเหล่านี้ ดูเวทนา ดูสังขารอะไรพวกนี้ไป ของง่าย ดูง่าย ดูง่ายกว่าดูจิตตรงๆ ถ้าดูจิตเกิดดับทางอายตนะ เรื่องของอายตนะมันเข้าไปอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว มันละเอียดประณีตกว่า มันจะเห็นกระบวนการทำงาน มีเหตุ มีผล ทำไมจิตไปทำงานทางอายตนะแต่ละอย่าง ก็มีเหตุมีผลทั้งหมด

ธัมมานุปัสสนามันจะต่างกับกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา อันนั้นเป็นการเรียนรู้ความเป็นอนิจจังของกาย ของเวทนา ของจิต ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของแต่ละอย่างๆ ส่วนธัมมานุปัสสนามันจะเห็นถึงเหตุกับผล ทำเหตุอย่างนี้ นิวรณ์ตัวนี้ถึงเกิด ทำเหตุอย่างนี้ นิวรณ์ตัวนี้ถึงเกิดอะไรอย่างนี้ ทำอย่างนี้ นิวรณ์ไม่เกิด รู้เหตุรู้ผล ฉะนั้นเรียนไปๆ สุดท้ายผู้ปฏิบัติจะเข้ามาธัมมานุปัสสนาทุกคน มันเข้ามารู้เหตุรู้ผล ที่หลวงพ่อสอนเมื่อวาน ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องเหตุ ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ถ้าไม่ทำเหตุอย่างนี้ก็ไม่มีผลอย่างนี้ เป็นเรื่องอย่างนี้ทั้งนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน ฉะนั้นเราก็ต้องเป็นคนมีเหตุมีผล งมงายไม่ใช่ลูกพระพุทธเจ้าหรอก

 

 

พยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ ฝึกไปให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าลืมเนื้อลืมตัว รู้สึก รู้เนื้อรู้ตัว เนื้ออยู่นี่รู้สึกไป ตัวนี่มันอยู่ในใจเรา ตัวเราๆๆ นี่ คอยนึกไว้ ในนี้มีตัวเราอยู่คนหนึ่ง คอยรู้ทันมันไว้ ไม่มีจริงหรอก มันหลอกๆ หลอกให้คนโง่มันหลง โลกมันวิจิตรพิสดาร คนเขลาพากันติดอยู่ ผู้รู้ไม่ข้องเกี่ยว ถ้าเราฝึกจนจิตมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็เรียนรู้ความจริงของโลก ก็คือกายกับใจนี้ รูปนามนี้ ในที่สุดจิตมันก็วาง ไม่ข้องเกี่ยว ถ้าขั้นต้นๆ ก็วางกายลงไปได้ ขั้นท้ายๆ ของการปฏิบัติก็วางจิตลงไปได้ จิตปล่อยวางจิต เพราะจิตมีปัญญา จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ว่าจิตนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อย่างนี้ จิตมันก็จะวางจิต ที่สุดแห่งทุกข์มันก็อยู่ตรงนั้น ตรงที่จิตมันปล่อยวางจิต วางจิตเสียตัวเดียวก็คือวางขันธ์ 5 ทั้งหมด วางขันธ์ 5 ทั้งหมดก็คือวางโลกทั้งหมด จักรวาลทั้งหมดก็ถูกวางลงไปพร้อมๆ กัน ฉะนั้นปล่อยวางที่จิตดวงเดียว ก็วางทุกสิ่งทุกอย่างลงไปแล้ว

จิตทำไมไม่ปล่อยวาง เพราะจิตยังโง่อยู่ อวิชชามีอยู่ อวิชชาคือความไม่รู้ความจริงของรูปของนาม ท่านถึงสอนเจริญสติปัฏฐาน มาเรียนรู้ความจริงของรูปของนาม รูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นามธรรมมี 2 ส่วน นามเจตสิกกับนามจิต นามเจตสิก เช่น ความสุข ความทุกข์ นาม ความดี ความชั่วอะไรอย่างนี้ นามเจตสิก นามจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ฝึกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็วางๆๆ เป็นลำดับไป วางกายก่อน แล้ววางเจตสิกซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียด สุดท้ายก็วางจิตซึ่งเป็นตัวอรูปที่ลึกซึ้งที่สุด

ภูมิทั้งหลายมันมี 4 ภูมิ กามาวจรภูมิ ภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ตัวที่อยู่ในกามาวจรก็กายกับใจ มันอยู่ในกามาวจร แต่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นตัวไปกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เพลิดเพลินอยู่อย่างนี้ สัตว์ในกามาวจรภูมินี้ ถ้าวางความสนใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มารักษาจิต รักษาใจอยู่กับเจตสิกที่ดี มาอยู่กับเจตสิกที่ดีๆ มีความสุข มีความสงบ จิตก็เข้าฌานไป มีปีติ มีความสุข มีอุเบกขา มีเอกัคคตา ความเป็นหนึ่งอะไรอย่างนี้ จิตมาอยู่ในเจตสิกที่ประณีตอย่างนี้ จิตก็ไปอยู่ในรูปภูมิ สุดท้ายจิตมาอยู่ที่จิต

จิตมาอยู่ที่จิตนี่ ดูลงไปที่จิต จิตมันว่างเปล่า จะเห็นช่องว่าง แล้วถ้ามองไปที่ตัวความรู้สึก ตัวความรับรู้ก็จะเห็นจิตซ้อนจิต วิญญาณเป็นอนันต์ ตรงที่เราเห็นช่องว่าง ไม่ได้ไปมุ่งเจตสิกหยาบๆ อะไรแล้ว ดูลงมาในจิตแล้วเห็นมันช่อง มันว่างอยู่ ตัวนี้เป็นเข้าอากาสานัญจายตนะ แล้วเห็นว่าว่างนี้ถูกรู้ ผู้รู้อยู่ทางนี้ พอความสนใจมาจ่อที่ผู้รู้ ผู้รู้จะกลายเป็นตัวถูกรู้ แล้วก็เกิดผู้รู้ใหม่ไปรู้ตัวผู้รู้เก่า เกิดซ้อนๆๆ อย่างนี้ เป็นวิญญาณเป็นอนันต์ ตัวนี้ก็เป็นอรูปฌานที่ 2 ชื่อ วิญญาณัญจายตนะ เสร็จแล้วการที่รู้ว่าเฝ้ารู้วิญญาณซ้อนกันไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ยังเป็นภาระของจิต ทีแรกมันเห็นว่าการที่ส่งจิตไปดูช่องว่างเป็นภาระ มันวาง ช่องว่างถูกรู้ มันวางไป มาดูผู้รู้ ผู้รู้ก็กลายเป็นถูกรู้อีก แล้วก็เกิดผู้รู้ซ้อนๆๆๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกวิญญาณเป็นอนันต์ ตรงนี้เรียกว่าวิญญาณัญจายตนะ

พอสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็เห็นว่าการดูช่องว่างคือตัวอารมณ์ การดูตัววิญญาณ ตัวผู้รู้ ก็เป็นตัวทุกข์เหมือนกัน ดูช่องว่างก็ทุกข์ ดูตัววิญญาณที่เป็นคนดูก็ทุกข์อีก ก็เลยไม่ดูทั้ง 2 อัน วางทั้ง 2 ด้าน วางทั้งจิต วางทั้งอารมณ์ ก็ไปอรูปฌานที่ 3 ชื่อ อากิญจัญญายตนะ แล้วตรงนี้สัญญามันจะอ่อนกำลังลง เพราะมันไม่มีอารมณ์ละเอียดให้เห็น ไม่มีอารมณ์หยาบให้เห็นเลย มีแต่อารมณ์ละเอียด จนจับไม่ได้ มีเหมือนไม่มีเลย ในที่สุดจิตนั้นก็เข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ อันนี้ส่วนนี้ที่เล่านี่ เป็นเรื่องอรูปภูมิ

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเรียนเรื่องภูมิ จริงๆ มันอยู่ในขันธ์ทั้งหมดเลย กามาวจรภูมิ ตัวนี้ล่ะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายนี่ล่ะ ก็เที่ยวเล่นอยู่ในกามาวจร จิตนี้เที่ยวไปในกามาวจร คือจิตเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วพอจะเห็นว่ามันไม่มีสาระ ก็เข้าฌานมาทำสมาธิทำอะไร จิตก็มีปีติ มีความสุข มีเอกัคคตา มีอุเบกขาอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ พวกนี้เป็นเจตสิกทั้งสิ้น อยู่กับเจตสิกที่ดี แล้วจิตมันก็สงบ ถัดจากนั้นมันประณีตขึ้นไปอีก มันเข้ามาอยู่ที่จิต เข้ามาที่จิตก็เข้ามาสู่อรูปภูมิ มาสู่ความว่างของจิต มาสู่ความรับรู้ ตัวรู้ของจิต ในที่สุดก็มาสู่ความไม่เอาอะไรเลย ระหว่างอารมณ์ที่ประณีต ช่องว่างเป็นอารมณ์ที่ประณีตกับตัวจิต ไม่เอาทั้ง 2 อัน แล้วในที่สุดจิตก็รวมลงไป แทบจะไม่มีความรู้สึกเหลืออยู่เลย อันนี้เป็นอรูปภูมิ เป็นเรื่องที่เน้นมาที่ตัวจิต รูปภูมินี่มันยังวุ่นวายอยู่กับตัวเจตสิก ไม่เหมือนกันหรอก พูดอย่างนี้ในตำราไม่มี ฟังหูไว้หู ฟังเล่นๆ เขาเรียกว่าฟังประเทืองปัญญา ถ้ามีตำราขัดแย้งกับสิ่งที่หลวงพ่อบอก ก็เชื่อตำราไปก่อน เพราะเราไม่เห็นอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาไว้ค่อยภาวนาเอา

ค่อยๆ ดูไป ในตำราเขาจะพูดถึงกามาวจรภูมิ ก็เป็นภูมิของมนุษย์ ของเทวดา ของสัตว์นรก ของเปรตอสุรกาย สัตว์เดรัจฉานอะไรอย่างนี้ นี่เรียกว่ากามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิก็ภูมิของพรหม ภูมิของรูปพรหม มี 16 ชนิด แล้วก็อรูปพรหม อรูปภูมิ เป็นที่อยู่ของอรูปพรหมมี 4 ชนิด เขาเรียนกันอย่างนี้ เรานักปฏิบัติก็ไม่ได้เรียนอย่างนั้น เราเรียนมาจากกายจากใจของเรานี้ล่ะ ก็เอากายเอาใจนี้ เที่ยวไปในภูมิทั้ง 3 จิตที่มันยังเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ ก็เป็นจิตที่เที่ยวไปในกามาวจรภูมิ จิตที่มันมาทำความสงบเข้ามา มาเรียนรู้ความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงภายในของมัน มันก็มาเข้าที่รูปภูมิ เห็นปีติ เห็นความสุข เห็นวิตก เห็นวิจาร เห็นปีติ เห็นความสุข เห็นเอกัคคตาอะไรพวกนี้ สงบอยู่อย่างนั้น ก็อยู่ในรูปภูมิแล้วทวนเข้ามาที่จิต ให้เห็นความว่างในจิต เห็นตัวจิตที่เป็นตัวรู้ซ้อนๆ ไป แล้วก็วางทั้งช่องว่าง วางทั้งตัวรู้ แล้วก็รวมลงไปในความแทบไม่มีอะไรเลย ว่างๆ แทบไม่รู้สึกอะไรเลย นี้ก็เป็นส่วนของอรูปภูมิ เป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เลย

 

 

ฟังเล่นๆ ฟังเล่นๆ อีก 20 ปี อาจจะรู้เรื่องก็ได้ ไม่แน่หรอก เหมือนหลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ พบผู้รู้ทำลายผู้รู้ 22 ปี ถึงจะรู้เรื่อง มันไม่ได้ทำลายด้วยการระเบิดทิ้งหรอก ทำไมมันทำลายไม่ได้ ทำไมมันปล่อยวางจิตไม่ได้ เพราะมันไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แค่นี้เอง ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านไม่บอก ท่านให้คลำเอาเอง ก็คลำกันนาน หลวงพ่อเอามาเฉลยข้อสอบให้ สอนแบบติวเตอร์ เฉลยข้อสอบให้แล้ว อย่าโกงข้อสอบ สนามสอบนี้โกงไม่ได้ ใครทำได้เองถึงจะได้ผล แค่จะบอกว่าเรียนรู้กายเรียนรู้ใจเอาไว้ ธรรมะจะมีกี่ขั้นก็ตาม ภูมิจะมีกี่ภูมิก็ตาม มันก็จะผ่านไปด้วยการเรียนรู้กายรู้ใจนี่ล่ะ อย่างในภูมิ พอเราผ่านกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ มันก็เข้าโลกุตตรภูมินั่นล่ะ มันก็เข้าอย่างนั้น

ฉะนั้นเราเรียนอยู่ที่กายเรียนอยู่ที่ใจนี้ล่ะ สุดท้ายจิตมันก็ปล่อยวางจิต จิตปล่อยวางจิตได้ เพราะเห็นว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งว่าตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เช่นเดียวกับสภาพธรรมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ฉะนั้นจิตกับโลกนี้เสมอกันไปหมดเลยด้วยความเป็นไตรลักษณ์ หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกไว้ประโยคหนึ่งว่า “ถ้าวันใดเธอเห็นว่าจิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน เธอจะพ้นทุกข์แล้ว” จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกันอย่างไร มันเป็นสิ่งเดียวกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ให้เห็น

ค่อยๆ ภาวนา เฉลยข้อสอบให้แล้วก็ไปภาวนาเอา มิฉะนั้นจะสงสัยไปเรื่อย กรรมฐานนี่เขาจะเรียนกันที่ไหน เรียนที่วัดไหนดี เรียนที่วัดใจดีที่สุด เรียนวัดไหนก็ไม่ดีหรอก เรียนที่วัดใจตัวเอง วัดมันไปเรื่อยเลย ใจเที่ยวไปในกามก็รู้ ใจเที่ยวอยู่ในสมาธิก็รู้ ใจสงบอยู่ก็รู้ นิ่งเงียบ รู้มันไปเรื่อยๆ มันก็เห็น มันก็มีแต่ความหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง นอกจากความทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากความทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากความทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มันเห็นอย่างนั้นเลย ฉะนั้นจิตจะไม่เพลิดเพลินไปในโลกทั้ง 3 คือกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ไม่ใช่ที่รื่นเริงๆ อีกต่อไปแล้ว แต่มันคือกรงขังที่ประณีตซับซ้อน กรงขัง 3 ใบนี้มันอยู่ที่เดียวกัน อยู่ที่ใจเรานี้เอง เพราะฉะนั้นจริงๆ มันคือกรง 3 ชั้น ไม่ใช่กรง 3 แห่ง มันซ้อนอยู่ในใจเรานี่เอง ก็เรียนแล้วค่อยๆ แหกกรงขังไปเรื่อยๆ สุดท้ายใจก็เข้าสู่อิสรภาพ อดทนๆ แล้วก็เรียนรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 กรกฎาคม 2564