จิตเป็นกุญแจของการปฏิบัติ

การปฏิบัติต้องช่วยตัวเอง ครูบาอาจารย์บอกได้แต่ทาง การเดินทางต้องทำด้วยตัวเอง ทำเล่นๆ ก็ไม่ได้อะไรดี ภาวนาอยากพ้นทุกข์ อยากได้มรรคผลนิพพานในชีวิตนี้ ต้องตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ถ้าทำแบบสมัครเล่น นึกอยากจะทำก็ทำ ขยันแล้วก็ทำ ขี้เกียจแล้วก็เลิกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้กินหรอก เหมือนพายเรือทวนน้ำ น้ำไม่ใช่น้ำธรรมดา น้ำเชี่ยว กระแสของกิเลสมันเชี่ยว เราพายเรือทวนน้ำ เราก็อดทนพายไปเรื่อยๆ อย่าหยุด หยุดเมื่อไหร่ก็ถอยหลัง ก็ถูกน้ำพัดพาไป

คนที่ปฏิบัติแล้วก็ได้ผล อิ่มอกอิ่มใจ พ้นทุกข์ไปเป็นลำดับๆ เขาอดทนทั้งนั้น พวกทำบ้างไม่ทำบ้าง ไม่ได้ผลหรอก จะเป็นพระหรือเป็นโยมก็ต้องใช้หลักอันเดียวกันนี้ คือสู้ไม่เลิก สู้แล้วถอยๆ ไม่มีวันชนะ ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นสำคัญมาก พอเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นแล้วก็พากเพียรภาวนาไป อดทน มีอุปสรรค ระหว่างทางหลายอย่าง บางทีก็มีสัตว์ร้ายมาดักอยู่ในแม่น้ำอะไรอย่างนี้ มีจระเข้อะไรอย่างนี้ บางทีก็มีสิ่งสวยๆ งามๆ อยู่ริมตลิ่ง เราถูกจับเอาไว้ ถูกดักเอาไว้ สู้ไม่ได้ แพ้ ที่สังสารวัฏมันยาวเพราะว่าเราเดินไปข้างหน้าแล้วก็ถอยหลัง เดินไปข้างหน้าแล้ว ก็ถอยหลัง สังสารวัฏถึงยาวไม่รู้จักจบจักสิ้น

 

ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ชาตินี้ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว เสียสละมันสักชาติหนึ่ง
ตั้งใจไว้เลยว่างานหลักของเรานี้คืองานยกระดับจิตใจของเราให้พ้นกิเลส ให้พ้นทุกข์ไป
จะพ้นได้แค่ไหนไม่สำคัญหรอก ขอให้สู้

 

ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ชาตินี้ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว เสียสละมันสักชาติหนึ่ง ตั้งใจไว้เลยว่างานหลักของเรานี้ คืองานยกระดับจิตใจของเราให้พ้นกิเลส ให้พ้นทุกข์ไป จะพ้นได้แค่ไหนไม่สำคัญหรอก ขอให้สู้ สู้แล้วจะได้ผลสักกี่เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ต้องสนใจ ให้สู้ให้เต็มฝีมือ จะแพ้ก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้รบก่อน ถ้ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันทำศึกใหญ่ก็ล้มเหลว ถ้าเราดูประวัติพระพุทธเจ้า ประวัติพระสาวกทั้งหลาย ท่านไม่ได้ทำกันชาติเดียว ท่านทำกันนาน โดยเฉพาะท่านที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ อย่างพระเอตทัคคะอย่างนี้ ท่านทำกันแสนมหากัป ทำกันนาน พระอัครสาวกก็ทำนาน สู้กัน พระพุทธเจ้านับไม่ถ้วนเลย ขั้นต่ำ 4 อสงไขยแสนมหากัป หนึ่งอสงไขยคือ 10 ยกกำลัง 148 ประมาณนั้น มหากัปหนึ่งคือตั้งแต่จักรวาลเกิดจนจักรวาล แตกดับไปทีหนึ่ง ใช้เวลา แต่ถ้าเป็นสาวกทั่วๆ ไป ก็ไม่ถึงขนาดนั้น

อย่างพวกเราอินทรีย์เราอ่อน บุญบารมีเราไม่มาก เรามาเกิดในยุคกลางๆ ของศาสนา บุญบารมียังพอมีอยู่ แต่ไม่ได้มากมายอะไรนัก ถ้าอยากได้ดีก็ต้องอดทน พากเพียรภาวนา ใกล้ฝั่งคือใกล้พระนิพพานเข้าไปทีละน้อยๆ ตั้งใจไว้เลย จะปฏิบัตินานกี่ปีก็ช่างมันเถอะ ขอให้ได้ปฏิบัติให้เต็มที่เท่านั้น ปฏิบัติแล้วชาตินี้จะตายเปล่า ไม่ได้มรรคผลก็ไม่เป็นไร เกิดเป็นนักสู้ มันต้องสู้ สู้แล้วจะแพ้จะชนะไม่สำคัญ ถ้าเราสู้ ถึงวันนี้เราแพ้ วันข้างหน้าเราก็มีโอกาสชนะ

หลวงพ่อเคยพบครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อกราบไหว้ท่านเต็มไม้เต็มมือเลย ท่านบอกท่านอยู่กับครูบาอาจารย์ใหญ่ รุ่นเดียวกันนี่เขาพ้นทุกข์ไปหมดแล้ว ท่านโสดาบันยังไม่ได้เลย ท่านบอก แต่ท่านไม่เลิก อีก 100 ชาติท่านก็จะปฏิบัติ อย่างไรท่านก็ไม่ถอย นี่จิตใจของนักปฏิบัติจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ เหมือนนักรบจะแพ้จะชนะยังไม่สำคัญ ต้องสู้ แต่ถ้าเราอ่อนแอ ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง มันก็ได้แค่นี้ แล้วจะมาบอกว่าธรรมะ ของพระพุทธเจ้าไม่ดีจริง พูดไม่ได้ ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

ฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจไว้ก่อน เมื่อชาตินี้ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว เราจะขอสู้ให้เต็มผีมือ งานหาอยู่หากิน เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว เป็นงานเพื่อจะอาศัยอยู่กับโลก ส่วนงานหลักของเรา คืองานภาวนาให้พ้นโลก เราก็ต้องทำมาหากินเพราะเรายังต้องอยู่กับโลก มีหน้าที่ทำมาหากินก็ทำไป แต่ในใจลึกๆ ต้องรู้ว่านี่เป็นแค่งานรอง งานหลักคือภาวนา

หลวงพ่อบอกกับพวกเรานับครั้งไม่ถ้วน หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง แต่หลวงพ่อเป็นคนที่อดทนในการฝึกตัวเอง ในใจมันมี ความรู้สึกลึกๆ อยู่ว่าเราเกิดมาทั้งที ทำไมเราเกิดมาในกองทุกข์ เราต้องมีชีวิตอยู่ในกองทุกข์ตลอดกาลหรือ ใจมันรู้สึกว่ามันต้องสู้ ฉะนั้นภาวนานี่ไม่เคยหยุด ไม่เคยถอยเลย ตั้งแต่เด็กๆ เจอท่านพ่อลี เรียนที่วัดอโศการาม ท่านสอนให้พุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หลวงพ่อก็ทำไม่เลิก ทำแบบไม่เห็นอนาคตเลยแต่ไม่เลิก มันคล้ายๆ พระมหาชนก ว่ายน้ำ ว่ายไปไม่เลิกทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าฝั่งมันอยู่ทางไหน ก็ยังไม่ยอมเลิก หลวงพ่อไม่ได้เทียบตัวเองกับพระมหาชนกหรอก เทียบไม่ได้ แต่ว่าใจคอมันเป็นอย่างนั้น

เรียนกับท่านพ่อลี ท่านสอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำทุกวันเลย จิตก็สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ล้มลุกคลุกคลาน แต่ไม่เลิก ฝึกมานานๆ จิตมันก็ค่อยมีกำลังมากขึ้นๆ จนกระทั่งตัวรู้มันเด่นดวงขึ้นมา หลวงพ่อเลยสามารถแยกขันธ์ได้ ตั้งแต่เป็นโยม ตั้งแต่ยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ได้แล้ว ที่มันตั้งขึ้นมาเป็นผู้รู้ได้ มันเห็นกายกับใจ มันคนละอันกัน พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ สะสมของเราทุกวันๆ ถึงวันหนึ่งมันเห็นร่างกายมันหายไปหมดเลย เหลือแต่จิตดวงเดียว พอมันกลับมามีร่างกายเราก็รู้เลยว่า ร่างกายกับจิตนี่ มันคนละอันกัน

ตอนนั้นหลวงพ่อก็ดูคนอื่นไม่เป็นหรอก ไม่รู้ว่าคนอื่น เขาเป็นอย่างไร เราก็คิดว่าคนอื่นเขาก็เหมือนเรา ในความรู้สึกก็คือร่างกายมันเคลื่อนไหว มันเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น แต่ว่ามันไม่รู้เส้นทางที่จะเดินต่อ ก็รู้แต่เรื่องทำสมาธิจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ทีแรกทำก็ผิด สมาธิทำแล้วจิตออกนอก ออกรู้ออกเห็นอะไรสารพัดจะรู้จะเห็น จริงบ้างโกหกบ้าง เชื่อถืออะไรไม่ได้ หาสาระแก่นสารไม่ได้ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนหลวงพ่อให้ดูจิต บอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

ก่อนเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่ออ่านหนังสือมาก อ่านพระไตรปิฎก อ่านตั้งหลายรอบ อ่านแล้วอ่านอีก อยากหาวิธีปฏิบัติว่าเราจะเริ่มต้นปฏิบัติได้อย่างไรก็หาไม่ได้ ตำรา มันเยอะแยะไปหมด สมถะก็มีตั้งหลายสิบวิธี วิปัสสนากรรมฐาน อยากเจริญปัญญา ทำอย่างไรก็ไม่รู้ รู้แต่พระสูตรเป็นท่อนๆ เป็นเรื่องๆ ไป รู้สติปัฏฐาน รู้ธัมมจักกัปปวัตนสูตร รู้อนัตตลักขณสูตร รู้สูตรนู้นสูตรนี้ แต่มันไม่นำไปสู่การปฏิบัติ ไม่เข้าใจ พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านชี้เข้ามาที่จิต ให้ปฏิบัติเรียนรู้ลงที่จิตนี่เอง

 

เรียนรู้ลงที่จิต

พอเรียนรู้ลงที่จิต คล้ายๆ เราได้กุญแจของการปฏิบัติแล้ว ตัวจิตเราก็เห็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร พอหลวงปู่ให้ดูจิตก็สังเกตไป ในที่สุดจิตมันก็ตั้งมั่น รู้ทันจิตที่คิด จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นขึ้นมา มันบอก “เอ๊ะ ตัวนี้ตัวเดิม” ตัวนี้เราทำได้มาตั้งแต่เด็กแล้วจิตที่ตั้งมั่นนี่ ทีแรกยังไม่เข้าใจสิ่งที่หลวงปู่สอน บอกให้ดูจิต พอเราเห็นจิตตั้งมั่น เราไปจ้องอยู่ที่จิตตั้งมั่น รักษาจิตเอาไว้อย่างนั้นให้มันว่าง สว่าง ไปส่งการบ้าน หลวงปู่บอกทำผิดแล้ว จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง ไม่ใช่ไปฝึกให้มันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง รู้อยู่เฉยๆ จิตรู้อยู่เฉยๆ ไม่เกิดปัญญาหรอก เพราะมันเป็นสมาธิ เป็นสมถะ

พอเรามีจิตตั้งมั่นขึ้นมา อย่างหลวงพ่อเห็นกายมาแต่แรกแล้ว กายมันไม่ใช่ตัวเรา มันของถูกรู้ถูกดูอยู่ ไม่ใช่จิต พอหลวงปู่มาต่อยอดเข้าที่จิตให้ มันมีทางเดินต่อ เห็นจิตมันทำงาน ธรรมะก็ค่อยๆ เห็นเอง สุข ทุกข์ ดี ชั่วที่เกิดร่วมกับจิต มันไม่ใช่จิตอีก เหมือนทีแรกเห็นว่า ร่างกายไม่ใช่จิต พอมาดูจิตดูใจ เราก็เห็นความสุข ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความทุกข์ก็ไม่ใช่จิต ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่จิต ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ ความเซื่องซึมอะไรต่างๆ นี่ก็ไม่ใช่จิต มันเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่ แต่ตรงนี้มันมีจุดที่ต้องระมัดระวัง พอเราแยกออกไป เวทนาส่วนเวทนา สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว ส่วนสังขาร จิตส่วนจิต อย่ารักษาจิตอยู่เฉยๆ ถ้าจงใจจะรักษาจิตให้มันสุข ให้มันสงบ ให้มันดี เราจะพลาด มันจะกลายเป็นการทำสมถกรรมฐาน

เราเห็นว่ากายอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง สังขารอยู่ ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เห็นแต่ละส่วนๆ ทำหน้าที่ของเขาไป ร่างกายก็ทำหน้าที่ของร่างกาย เช่น หายใจเข้า หายใจออก ยืน เดิน นั่ง นอนนี่ มันก็ทำงานของมันไป เราก็ไม่ไปแทรกแซง ต้องนั่งท่านี้ ต้องเดินท่านี้ ต้องหายใจกี่จังหวะอะไรอย่างนี้ นั่นเข้าไปแทรกแซง มันกลายเป็นสมถะทันทีเลย ดูเวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้น ก็เห็นสุข ทุกข์ เฉยๆ ล้วนแต่ถูกรู้ถูกดู เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวลาสติระลึกลงที่กาย ก็เห็นกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระลึกลงที่เวทนา ก็เห็นเวทนาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระลึกลงที่สังขาร อย่างความโลภ ความโกรธ ความหลง มันผุดขึ้นมา เราไม่ได้เชื้อเชิญ มันผุดขึ้นมาเอง ห้ามมันไม่ให้ผุดขึ้นมาจากกลางอกเรานี่ ห้ามมันก็ห้ามไม่ได้ กิเลสมันจะผุดขึ้นมา หรือกุศลมันจะผุดขึ้นมา สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ก็เห็นสังขารทั้งหลายจะดีหรือชั่ว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับด้วย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่นานๆ ไป เวลาดูกาย ก็มีจิตเป็นคนดูกาย เวลาดูเวทนา ก็มีจิตเป็นคนดูเวทนา เวลาดูสังขาร ก็มีจิต เป็นคนดูสังขาร ในทุกๆ สถานการณ์นี่มีจิตอยู่ ทำหน้าที่ เป็นคนรู้คนดูอยู่ แล้วจะรู้จะดูอะไรก็ตามเถอะ ทุกสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู จะเป็นกาย จะเป็นเวทนา จะเป็นสังขาร ก็ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น เหมือนกันหมดเลย ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ แรมเดือน แรมปี ดูเข้าไปซ้ำๆ แต่ไม่ใช่ดูได้ตลอด เวลาเราเจริญปัญญา เราดูความเป็นไตรลักษณ์ของรูป นาม กาย ใจ ของร่างกาย ของเวทนา ของสังขาร ของจิตอะไรนี่ มันจะเห็นไตรลักษณ์ เป็นคราวๆ ไม่ได้เห็นตลอดเวลา เวลาจิตเจริญปัญญา ไม่นานจิต จะหมดแรง เวลาจิตหมดแรง มันจะหยุดการเจริญปัญญา

บางทีหลวงพ่อพิจารณาธรรมะอยู่ พิจารณาๆ ไป แหม ราบรื่นดีมากเลย ถึงจุดที่กำลังมันหมดนี่มันหยุดกึกเลย เค้นให้มันพิจารณาต่อมันยังไม่เอาเลย จิตมันหยุดเลย เพราะจิตมันก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน สั่งมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเดินปัญญา เราไม่เดินรวดเดียวหรอก เจริญปัญญาไปนิดหน่อยแล้วจิตหมดแรง พอจิตหมดแรงกลับมาทำความสงบใหม่ ทำสมถะใหม่ เมื่อวานก็สอนเรื่องสมาธิไปเยอะพอสมควร เมื่อวานสอนเรื่องเมตตา อย่างเมตตานี่ถ้าเจริญไปเรื่อยๆ ก็ได้สมาธิสูง ได้ถึงฌานที่ 7 เข้าถึงอรูปฌาน ไม่ใช่ของเล่นๆ เรื่องเมตตา

 

เวลาที่เราเจริญปัญญา พอจิตมันหมดแรง กลับมาทำสมถะ อย่าฝืน ถ้าฝืนไปไม่ได้ประโยชน์อะไร ยิ่งฟุ้งซ่าน

 

พอเราเดินปัญญาแล้วจิตมันฟุ้งซ่าน มันหมดแรง อย่าไปฝืน ถ้าสมาธิไม่พอแล้วไปเดินปัญญา มันจะไม่เกิดปัญญา แต่มันจะเกิดความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเป็นตัวโมหะ โมหะอันนี้มีชื่ออีกชื่อหนึ่ง เพราะว่าตัวปัญญามันมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าอโมหะ ฉะนั้นพอจิตมีโมหะแล้ว อย่างไรก็เดินปัญญาไม่ได้ จิตมีโมหะก็คือจิตฟุ้งซ่านนี่ล่ะ มีโมหะ จิตเซื่องซึม หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่รับรู้อารมณ์อะไรอย่างนี้ พวกนี้ก็มีโมหะ จิตลังเลสงสัย ทำอย่างไรดีๆ ก็มีโมหะ พอจิตมีโมหะเดินปัญญาไม่ได้ เพราะปัญญากับโมหะมันตรงข้ามกัน

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเจริญปัญญา พอจิตมันหมดแรง กลับมาทำสมถะ อย่าฝืน ถ้าฝืนไปไม่ได้ประโยชน์อะไร ยิ่งฟุ้งซ่าน หลวงพ่อพุธท่านเคยบอกว่า การเจริญปัญญากับความฟุ้งซ่านนั้นคาบเส้นกันนิดเดียวเอง เวลาจิตมันเจริญปัญญา จิตมันก็ทำงาน พอตอนที่จิตฟุ้งซ่าน จิตมันก็ทำงาน แต่ถ้าจิตมันมีสมาธิอยู่ ตรงที่จิตมันทำงานออกไป ปัญญามันจะเกิด แต่ถ้าจิตไม่มีสมาธิ มันทำงานออกไป นั่นคือฟุ้งซ่าน ฉะนั้นตัวสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เวลาจิตพิจารณาธรรมะนี่ ถ้าขาดสมาธิปุ๊บ มันกลายเป็นตัวฟุ้งซ่านเลย

พอเราตามรู้ตามดูกาย ดูเวทนา ดูจิตตสังขารที่ปรุงดีปรุงชั่ว โดยมีจิตผู้รู้ผู้ดูเป็นคนรู้คนดูอยู่ เราไม่เข้าไปแทรกแซงตัวจิตผู้รู้ผู้ดู เราแค่รู้มันมีอยู่ อย่าไปจ้องใส่มัน สติระลึกรู้กายก็รู้ไป เห็นกายมันก็เป็นของถูกรู้ มีจิตเป็นคนรู้อยู่ต่างหาก แต่เราไม่จงใจวกมาดูจิต แค่รู้ว่ามันเป็นคนละอันกัน ดูเวทนาหรือ ดูสังขารก็แบบเดียวกัน จะกาย เวทนา หรือสังขาร ดูอย่างเดียวกัน คือมีจิตเป็นคนดู

 

 

พอเราเฝ้ารู้เฝ้าดูนานๆ ไป จิตมันจะค่อยๆ สะสมปัญญา มันจะค่อยๆ ฉลาด ไม่ฉลาดทันทีหรอก สะสมแต้มไปก่อน อย่างเราคอยรู้คอยดูว่าความสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอะไรอย่างนี้ เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เราเห็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ อกุศลเกิดแล้วก็ดับไป เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายวัน หลายเดือน หลายปี แล้วแต่วาสนาบารมีของเรา ปัญญามันแก่กล้า มันจะรู้เลยว่าสุขกับทุกข์มันก็เสมอกัน เสมอกันอย่างไร เสมอกันในความเป็นไตรลักษณ์ คือล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนกันหมดเลย ทั้งสุขและทุกข์ ดีและชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ความดีเกิดขึ้นก็ตกอยู่ใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความชั่ว เกิดขึ้นก็ตกอยู่ใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเหมือนกัน อันนี้เป็นขั้นของการเจริญปัญญา ต้องแยกจากขั้นจริยธรรมให้ออก

ในขั้นของการเจริญปัญญา ดีกับชั่วเท่ากัน แต่ในขั้นจริยธรรม ดีกับชั่วไม่เท่ากัน ต้องทำดี ไม่ทำชั่ว พอเราทำดี ทำบุญ เราจะได้รับความสุข ถ้าเราทำความชั่ว ทำบาป ผลตอบแทนคือความทุกข์ เราอยู่ในโลก ต้องอาศัยอยู่กับโลกนี้ ก็ควรจะอยู่อย่างมีความสุข ไม่ใช่อยู่อย่างทุกข์ทรมาน ตกนรกทั้งเป็น พวกคนไม่ดี รวยแค่ไหน เคยมีอำนาจแค่ไหน ถึงจุดหนึ่งที่กรรมให้ผล ไม่มีความสุข อย่างบางคนต้องหนี ไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าเขามีความสุข ได้ไปอยู่ต่างประเทศแล้วมีความสุข เขาคงไม่ได้อยากกลับมาเมืองไทย เพราะจริงๆ ไม่ได้มีความสุข เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรมะ ฟังให้ดี ธรรมะในระดับจริยธรรม ดีกับชั่วไม่เท่ากัน ในระดับของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ดีกับชั่วเท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นถ้าบอกดีกับชั่วเท่ากัน สุขกับทุกข์เท่ากัน ต้องต่อท้ายว่ามันเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

พอจิตมันเห็นสุขก็อย่างนั้นๆ เกิดแล้วก็ดับ ทุกข์ก็อย่างนั้น เกิดแล้วก็ดับ เวลาความสุขเกิดขึ้น จิตมันไม่หลงยินดี มันจะรู้เลยเดี๋ยวก็ดับ เวลาความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็ไม่ยินร้าย มันรู้ว่าเดี๋ยวก็ดับ อะไรๆ ก็ดับทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้นจิตจะพ้นจากความยินดียินร้าย จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง พอเราเจริญปัญญาเต็มที่แล้ว จิตมันจะเกิดความเป็นกลางขึ้น เราไม่ต้อง แกล้งเป็นกลาง

ความเป็นกลางมันมีหลายระดับ เป็นกลางด้วยสติก็ได้ อย่างเราเห็นจิตยินดีอันนี้ ชอบอันนี้ จิตเกลียดอันนี้ เรามีสติรู้ตรงที่ชอบตรงที่เกลียด มันชอบอยู่เรารู้ มันเกลียดอยู่เรารู้ ความชอบ-ความไม่ชอบจะดับ จิตมันจะเป็นกลาง อันนี้กลางด้วยสติ อีกอันหนึ่งกลางด้วยสมาธิ จิตเข้าฌานเข้าอะไร เข้าไปสู่อุเบกขา วางได้กระทั่งความสุข มันเป็นกลางกระทั่งกับความสุข วาง แต่สิ่งที่หลวงพ่อพูดให้พวกเราภาวนา ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตตสังขารโดยมีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู เราจะเข้าถึงความเป็นกลางด้วยปัญญา คือเราจะเห็นแล้วเห็นอีกๆ ว่าทุกสิ่งมันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

พอจิตมันมีปัญญาตรงนี้แล้ว มันจะเป็นกลางของมันเอง ตัวนี้เรียกว่าเราได้ปัญญาที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ ญาณคือปัญญา ปัญญาที่ทำให้เกิดอุเบกขาต่อความปรุงแต่ง ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ พวกเราบางคน หัดภาวนาไม่กี่วันเลย ชอบมาคุยโม้ว่าสักว่ารู้สักว่าเห็น อะไรๆ ก็สักว่ารู้สักว่าเห็น พูดกัน พูดพล่อยๆ จิตจะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ จิตต้องเป็นกลางด้วยปัญญา นอกนั้นไม่สักว่ารู้ว่าเห็นหรอก รู้อันนี้ก็ชอบ รู้อันนี้ก็ไม่ชอบ พอจิตมันเข้าถึงความเป็นกลาง ด้วยปัญญา มันไม่ฟูขึ้น มันไม่แฟบลง มันเป็นกลางจริงๆ เลย สักว่ารู้สักว่าเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่าเทียมกัน ในที่สุดอริยมรรคก็เกิด จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วจิตก็ไปเดิน ปัญญาในสมาธินี่ 2 – 3 ขณะเท่านั้น แล้วอริยมรรค อริยผลก็ จะเกิดขึ้น

ก่อนที่อริยมรรคจะเกิด มันจะมีความรู้สึกเหมือนเราเคยถลำอยู่ข้างนอก เราไปเห็นความเกิดดับในฌานนี่ล่ะ เราก็จะเห็นว่าตรงนี้ยังอยู่ข้างนอกอยู่ จิตมันจะวางโลกภายนอก เคลื่อนเข้าหาตัวจิต เคลื่อนเข้ามาที่ตัวจิต ตรงนี้มันเคลื่อนอย่างรวดเร็ว วืบก็เข้ามาถึงเลย ตำราเขาเรียกตรงนี้ว่าคตรภู เป็นญาณข้ามโคตร ตรงที่มันวางสังขารนั้น มันพ้นจากความเป็นปุถุชน ตรงที่มันทวนกระแสเข้ามายังไม่ทันจะถึงธาตุรู้ มันก็ยังไม่ใช่อริยชน เป็นรอยต่อระหว่างปุถุชนกับความเป็นพระอริยะ ตรงนี้เป็นทางที่ทุกคนผ่าน ถึงวันหนึ่งก็ต้องผ่านเส้นตรงนี้ พอมันทวนเข้ามาจนถึงตัวจิตผู้รู้ มันทะลุเข้าไปในจิตผู้รู้อีก อาสวกิเลสถูกทำลายออกไปด้วยอริยมรรค แล้วอริยผลก็เกิดขึ้น 2-3 ขณะ มันจะว่าง สว่าง บางท่านประกอบด้วยความเบิกบาน บางท่านเป็นอุเบกขา ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ตรงนี้มันก็ลงมาที่จิต

 

การปฏิบัติรู้ที่จิต เริ่มต้นที่จิต แล้วก็จบลงที่จิต

ภาวนาเริ่มต้น ฝึกให้ได้จิตผู้รู้ก่อน พอเราได้จิตผู้รู้ เราก็เรียนรู้จิตไป จิตมันทำงาน ทำหน้าที่รู้ รู้อะไร รู้กาย รู้เวทนา รู้สังขารทั้งหลาย เราก็รู้ไปจนจิตมันเข้าสู่ความเป็นกลาง แล้วมันก็ทวนกระแสเข้ามาถึงตัวผู้รู้ แล้วก็แหวกตัวผู้รู้ออกเข้าถึงตัวธรรม ก็คือจิตที่พ้นจากโลกนั่นล่ะ ฉะนั้นการปฏิบัติเราเริ่มที่จิต ปฏิบัติที่จิต แล้วจบลงที่จิต จิตผู้รู้ถูกทำลายไป ก็เรียกว่าจิตมันจบแล้ว มันถูกทำลาย ฉะนั้นการปฏิบัติรู้ที่จิต เริ่มต้นที่จิต รู้ที่จิต แล้วก็จบลงที่จิต

ตรงที่รู้ที่จิต จิตจะไปรู้กายก็ได้ เวทนาก็ได้ สังขารก็ได้ แต่มีจิตเป็นผู้รู้อยู่ แล้วพอจิตมันไปรู้กาย รู้เวทนา รู้สังขาร เกิดปฏิกิริยา เกิดยินดียินร้าย ให้เรารู้ทัน รู้ไปจิตก็เป็นกลาง มีสติรู้ไป เป็นกลางด้วยสติไป รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดก็เป็นกลางด้วยปัญญา พอเป็นกลางด้วยปัญญา แล้วจิตก็รวมลงที่จิต อันนี้อัปปนาสมาธิเกิด จิตรวมลงที่จิต แล้วจิตก็พิจารณาจิต เห็นสภาวะภายในทำงานขึ้น 2 – 3 ขณะ แล้วจิตก็วางจิต พอจิตวางจิต จิตก็เข้าถึงธรรม

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทิ้งเรื่องจิตไม่ได้หรอก เริ่มจากจิต มีจิตเป็นผู้รู้ เอาจิตที่เป็นผู้รู้ไปเจริญปัญญา เจริญปัญญามากเข้า จิตก็รวมลงที่จิตอีก เข้าอัปปนาสมาธิ เข้าของมันเอง เพราะมันไม่มีความยินดียินร้ายแล้ว แล้วมันก็มาตัดกิเลสที่จิต ที่มรรคจิต สัมผัสพระนิพพานด้วยจิต เรียกว่าผลจิต เรื่องของจิตทั้งนั้น ฉะนั้นจะชอบเรื่องจิตหรือไม่ชอบเรื่องจิต ก็ทิ้งเรื่องจิตไม่ได้ ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างหลวงปู่มั่น ท่านถึงบอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม”  ได้จิตก็จะได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะหรอก ฉะนั้นจิตนั้นมันเป็นกุญแจของการปฏิบัติ

เราต้องฝึกตัวเองทุกวันๆ ทำกรรมฐานไปแล้วรู้เท่าทันจิต ตนเองไป จนจิตมันแยกตัวออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูได้ อย่างทำอะไร ไม่เป็น ง่ายๆ เลย อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่ เราเห็นร่างกายมันนั่ง เห็นกายใช่ไหม ร่างกายมันนั่ง หรือลองขยับ ร่างกายมันขยับ รู้สึกไหมร่างกายขยับ ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ เหมือนอาจารย์ อภิธรรมบางท่าน ท่านก็สอน สอนดีเหมือนกัน ท่านบอกเห็นไหม รูปมันยืน รูปมันเดิน รูปมันนั่ง รูปมันนอน ใครเป็นคนรู้ นามเป็นคนรู้ นามอะไรที่เป็นคนรู้ นามจิต เป็นตัวสำคัญ เป็นประธาน ประกอบด้วยนามเจตสิกทั้งหลาย เกิดร่วมกับนามจิต พูดอย่าง อภิธรรม พูดแบบให้มันเวียนหัวเล่น แต่จริงๆ เขาพูดของเขาก็ถูก จิตไม่เกิดลำพัง จิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก อย่างมรรคจิต ผลจิต ก็มีเจตสิกจำนวนมากเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่เกิดแต่จิตดวงเดียวเฉยๆ ไม่ใช่ ฉะนั้นสังขารที่เป็นฝ่ายโลกุตตระก็มี ถ้ามันเกิดร่วมกับ สังขารที่มันเกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลกุตตรจิต สังขารก็เป็นฝ่ายของ โลกุตตระไปด้วย

เราเฝ้ารู้เฝ้าดู รู้เท่าทันฝึกตัวเอง อย่างร่างกายนั่งอยู่ รู้ว่าร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันหายใจ รู้ว่าร่างกายหายใจ ดูไปเรื่อยๆๆๆ แล้วค่อยสังเกตเวลาเรารู้ร่างกายที่นั่ง บางทีจิตมันถลำลงไปในกาย พอรู้อย่างนี้ปุ๊บจิตจะดีดตัวผางขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ร่างกายหายใจ เราเห็นร่างกายมันหายใจมันของถูกรู้ถูกดู จิตมันดีดตัวผางขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย พอเราได้จิตที่เป็นผู้รู้แล้ว คราวนี้สติระลึกลงในกายก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้ลงที่เวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สติระลึกรู้ลงที่จิตตสังขาร ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย แล้วสุดท้ายจิตรวมลงที่จิต มันก็เห็นความจริงของจิต จิตนั้นไม่ใช่จิตหรอก สุดท้ายจิตไม่ใช่จิตหรอก จิตกลายเป็นธาตุอะไรชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่จิตเป็นดวงๆ อย่างที่พวกเรารู้ เห็นฝึกฝนกันมา ฉะนั้นสุดท้าย เราก็วางจิต

ที่เรียนเรื่องจิตนี่ เรียนเพื่อมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ ถ้าปล่อยวางจิตไม่ได้ ยังไม่พ้นจากวัฏฏะ จิตมันคืออยู่ในวิญญาณขันธ์ เราเรียนตัวกาย ตัวเวทนา ตัวจิต สุดท้ายมันเข้าถึงตัวธรรม วางตัวจิตเข้าไปก็ถึงตัวธรรม ไม่ใช่ดวงธรรม วิชาบางอันพิลึกๆ ไป เห็นโน่นเห็นนี่อะไรอย่างนี้ เห็นอะไรก็ ไม่สำคัญเท่ากับเห็นกิเลสของตัวเอง เรียนเข้าไปเถอะ ในที่สุดจิตมันก็พ้น รู้ที่จิต เรียนที่จิต รู้ที่จิต แล้วพ้นที่จิตนี่ล่ะ วางจิต ภาวนาถึงจุดสุดท้ายก็จะวางจิต พอจิตปล่อยวางจิต ก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกต่อไปแล้ว

ฉะนั้นฝึก ค่อยๆ ฝึกไปทุกวันๆ อย่าขี้เกียจ ต้องอดทน นี่ไม่ใช่ศาสตร์ที่ลึกลับ แต่เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง มันไม่ลึกลับเพราะพระพุทธเจ้าเปิดเผยขึ้นมาให้เรารู้ มันก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับต่อไป แต่มันลึกซึ้ง การเล่าเรียนศาสตร์ที่ลึกซึ้งขนาดนี้ ต้องตั้งอกตั้งใจ เรียนบ้าง ขี้เกียจบ้าง ไม่ได้กินหรอก ผ่านพระพุทธเจ้าไปอีกหลายๆ องค์ จนอินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง หรือของสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต ก็จะปิ๊งขึ้นมา สิ่งที่จะปิ๊งขึ้นมา มันก็คือสิ่งที่หลวงพ่อบอกนี่เอง จะกี่พระพุทธเจ้า สุดท้ายมันก็ลงที่ธรรมะอันเดียวกันนี่เอง รู้ที่จิต แล้วก็ละที่จิต วางที่จิตนี่ล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 มิถุนายน 2564