สมถะกับวิปัสสนาทิ้งกันไม่ได้

เราฝึกตัวเองให้เคยชินไว้ มีเวลา 5 นาที 10 นาทีอย่าทิ้ง ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งเก็บได้ 5 นาที 12 ชั่วโมงได้ชั่วโมงหนึ่งแล้ว ไม่ใช่น้อย เก็บไปเรื่อยๆ ทำอะไรไม่ได้หายใจไปพุทโธไป ดีกว่าไม่ทำอะไร ดีกว่าปล่อยให้จิตมันหนีไป

การฝึกจิตฝึกใจมี 2 งาน หลวงพ่อสอนอยู่ทุกวัน เรื่องของสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานหลวงพ่อก็สอน หลักมันมีนิดเดียว “ให้เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง” หลักของวิปัสสนากรรมฐานก็มีนิดเดียว “ให้มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” หลักมันมีนิดเดียวแต่ละอย่าง แต่เวลาลงมือปฏิบัติ มันจะมีอุบายของการปฏิบัติ มีแทคติก (Tactic) มีลีลาการปฏิบัติเฉพาะตัวทางใครทางมัน

ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ในรุ่นพวกเรา ไม่ได้เก่งเหมือนรุ่นก่อนๆ อย่างพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้สอน เป็นผู้ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นผู้ฝึกคนที่สมควรฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นผู้ฝึกสอนธรรมที่ไม่มีใครยิ่งกว่า หมายความว่าท่านเห็นปุ๊บ ท่านก็รู้แล้วว่าคนนี้ต้องสอนอะไร ทำอย่างไรจิตเขาจะสงบ ทำอย่างไรจิตเขาจะเกิดปัญญา มาถึงรุ่นเราส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะทำไม่ได้อย่างนั้น ท่านเคยทำอย่างไรท่านก็สอนอย่างนั้น บอกในเส้นทางที่ตนเองทำมา บุญบารมีความสามารถไม่เทียบเท่าพระพุทธเจ้า ไม่เทียบเท่าพระสมัยพุทธกาล

เราก็ต้องช่วยตัวเองให้มากขึ้น สังเกตตัวเองเอาว่าเราภาวนาแบบไหนจิตสงบ ภาวนาแบบไหนจิตจะตั้งมั่น ภาวนาแบบไหนจิตจะเกิดปัญญา สังเกตตัวเองเอา พระรุ่นหลังท่านก็ประมวลสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม สอนนิดเดียว พระชั้นหลังๆ ลงมา ท่านก็มาพยายามประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

ที่จริงแล้วเราปฏิบัติต่อจิตเหมือนเราปฏิบัติต่อเด็ก จิตเราแต่ละคนเหมือนเด็ก เด็กบางทีเราก็ต้องขู่ บางทีเราก็ต้องปลอบ บางทีเราก็ต้องสอน บางทีเราก็ต้องให้กำลังใจ

 

อย่างสมถกรรมฐานท่านประมวลเอาไว้ได้ 40 ชนิด มีอารมณ์กรรมฐาน 40 อย่าง ที่จริงอารมณ์ของสมถกรรมฐาน 40 ข้อนั้นเป็นตัวอย่าง สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ มีอารมณ์นับไม่ถ้วน นั่งฟังเสียงคลื่นในทะเลก็ได้ ฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่งอะไรอย่างนี้ ฟัง จิตใจมีความสุข มีความสงบจิตก็รวมได้ อย่างนี้ก็ไม่อยู่ในกรรมฐาน 40 บางคนชอบพระจันทร์ นั่งมองพระจันทร์แล้วมีความสุขอะไรอย่างนี้ จิตมันก็สงบได้ จริงๆ แล้วถ้าเราเข้าใจหลัก เราก็ดูวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับเรา การทำสมถกรรมฐานมันก็มีลีลาในการทำ บางทีก็ใช้วิธีสอนจิตเอา จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันหลงอะไรมากมาย มันลืมความตายลืมชีวิตอะไรอย่างนี้ ลืมความไม่แน่นอน เราก็สอนมันไป ชีวิตนี้เป็นของไม่แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน ใช้สอนเอา จิตใจก็ค่อยๆ หมดการดิ้นรนสงบเข้ามาได้ เรื่องของสมถะ เยอะแยะกรรมฐานที่จะทำ อย่างพระพุทธเจ้าสอนพระจูฬปันถกให้ขยี้ผ้าขาว ขยี้ไปๆ เห็นว่าผ้ามันสกปรก กายนี้เป็นปฏิกูลอสุภะท่านก็ได้สมาธิขึ้นมา

บางองค์พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ดูดอกบัว คนถวายดอกบัวแดงมา ถ้าพวกเราเคยไปอินเดีย อย่างไปพุทธคยาเขาจะมีดอกบัวขาย บัวสาย แต่บัวสายของเขาไม่เหมือนของเรา ของเราพอเด็ดปุ๊บก็เหี่ยวปั๊บ ของเขายังบานอยู่ได้สีแดงสวย คนคงถวายมาท่านก็ให้พระองค์หนึ่งไป เอาดอกบัวนี้ไปดูเอาไปปักไว้บนทราย นั่งดูไปเรื่อยๆ ท่านก็ชอบดอกบัวมันสวยสีแดงสวย ท่านเป็นพวกราคจริต เจอดอกบัวสวยๆ แหม ชอบ พอชอบแล้วต่อมาดอกบัวมันเหี่ยวไป จิตท่านสลดสังเวชจิตก็รวมได้สมาธิขึ้นมา อย่างพระองค์นี้ที่พระพุทธเจ้าให้ดูดอกบัว ท่านเรียนอยู่กับพระสารีบุตร พระสารีบุตรเห็นว่าท่านเป็นช่างทอง เป็นพวกราคจริต พระสารีบุตรก็ให้ท่านพิจารณาอสุภะ จิตท่านขยะแขยงไม่มีความสุขที่จะพิจารณาอสุภะ ทำอย่างไรก็ไม่ลง

ตามตำราจะสอนว่าถ้าเป็นพวกราคะรุนแรง ให้พิจารณาปฏิกูลอสุภะ บางกรณีก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตำราบางทีก็ใช้ไม่ได้ เป็นแค่ไกด์ไลน์เป็นแนวทางเท่านั้น ตอนลงมือปฏิบัติจริงก็ต้องดูตัวเอง ถ้าสมัยก่อนพระพุทธเจ้าอยู่ท่านก็บอกเราได้เลย ยุคนี้เราก็ต้องใช้ความสังเกตเอาทำอย่างไรดี บางทีก็ใช้วิธีสอนจิตมัน เตือนจิตมัน บางทีก็ต้องใช้ข่มจิตเอา ข่มเอาเช่นใช้กรรมฐานที่ตรงข้ามกับจริตนิสัย อย่างมีราคจริตพิจารณาปฏิกูลอสุภะ ราคจริตมันชอบของสวยของงามก็ดูให้เห็นความจริง ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามหรอก ดูไปเรื่อยๆ จิตมันยอมรับเข้ามา จิตมันก็ไม่กระดี๊กระด๊าไปกับของสวยของงาม ใช้วิธีข่มเอา ใช้กรรมฐานที่ตรงข้ามกับจริตนิสัย

อย่างคนขี้โมโห บางทีเราก็ข่มจิตด้วยกรรมฐานตรงข้าม คือการเจริญเมตตา มันมีลีลาในการปฏิบัติ มันไม่ตรงตำราทีเดียว ตำราเป็นแค่กรอบไกด์ไลน์กว้างๆ ตอนที่ลงมือทำจริงสังเกตเอา คนที่ช่วยเราได้ท่านก็ไม่อยู่แล้ว คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ท่านรู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไร บุญบารมีเราไม่ได้เจอท่าน ไม่ถึงขนาดได้เจอท่าน เราช่วยตัวเอง เราข่มจิตในเวลาที่ควรข่ม มันร้ายนัก ราคะแรงนัก ข่มมันด้วยอสุภกรรมฐาน มันโมโหฉุนเฉียวนักข่มมันด้วยความเมตตา อย่างนี้ก็ได้ บางทีเราก็ปลอบมัน ให้รางวัลมัน มันชอบกรรมฐานอะไร ถ้ากิเลสเราไม่แรงมากเราก็หาสิ่งที่ชอบมาล่อมัน แล้วแต่ แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน

อย่างหลวงพ่อชอบอยู่ที่โล่งๆ ริมน้ำ ริมคลอง ริมอะไรอย่างนี้ ตั้งแต่เล็กบ้านอยู่ริมคลอง เวลาลมมันพัดผิวน้ำ น้ำไม่มีคลื่น เวลาลมพัดจะมีระลอกเล็กๆ พลิ้วๆ เห็นแล้วมีความสุข มีความสุขจิตรวมเลย จิตสงบเลย อันนี้เป็นการให้สิ่งที่ชอบกับจิต บางคนต้องตรงข้าม บางเวลาก็ต้องตรงข้าม ใช้กรรมฐานตรงข้ามข่มมัน บางเวลาก็ให้อาหารมันให้สิ่งที่มันชอบ แต่สิ่งที่ชอบนั้นต้องไม่ยั่วกิเลส ถ้าชอบเล่นไพ่อย่างนี้ แล้วบอกให้สิ่งที่ชอบ พามันเล่นไพ่ไปเรื่อยๆ มันไม่ได้เรื่องหรอก ใช้ไม่ได้ เล่นไพ่มันยั่วกิเลส

ฉะนั้นการที่เราจะทำจิตให้สงบ ก็มีวิธีเยอะแยะเลย สอนมันก็ได้ ปลุกปลอบใจมันก็ได้ เวลามันเศร้าก็สอนมัน ปลอบมัน ให้กำลังใจมัน ไม่ใช่ไปด่ามันตลอด อย่างบางคนพอจิตฟุ้งซ่านจิตมีกิเลส นั่งด่าจิตไปเลย ไอ้โง่ ไอ้ชั่ว เลวตลอดนิรันดรอย่างนี้ ที่จริงแล้วเราปฏิบัติต่อจิตเหมือนเราปฏิบัติต่อเด็ก จิตเราแต่ละคนเหมือนเด็ก เด็กบางทีเราก็ต้องขู่ บางทีเราก็ต้องปลอบ บางทีเราก็ต้องสอน บางทีเราก็ต้องให้กำลังใจ เวลาที่เราจะฝึกจิตให้มันมีความสุขมีความสงบ ให้มันขยันภาวนามีเรี่ยวมีแรง บางทีก็ต้องขู่ บางทีก็ต้องปลอบ บางทีก็ต้องสอน บางทีก็ต้องให้กำลังใจ ก็ต้องมีศิลปะ

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ถ้าพูดโดยหลักเขาบอก น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง จิตจะสงบ แต่การน้อมจิตจะไปสู่อารมณ์อันไหนสังเกตเอา เวลาไหนจำเป็นต้องใช้กรรมฐานอะไรสังเกตเอา ถ้าเราภาวนาจนชำนิชำนาญ เราหยิบเราจับอะไรขึ้นมามันก็เป็นกรรมฐานได้หมดเลย อย่างถ้าเราฝึกจิตจนชำนาญ เราอยากสงบเราหายใจเราก็สงบ เราพุทโธเราก็สงบ เราดูพระจันทร์ ดูพระอาทิตย์เพิ่งจะขึ้น ดูพระอาทิตย์กำลังจะตกอะไรอย่างนี้ ก็สงบได้หมด ดูระลอกน้ำก็สงบได้ ฟังเสียงคลื่นก็สงบได้ อะไรๆ ก็ใช้ทำสมถะได้หมดเลย เพราะสมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ คือเรื่องราวที่คิด ใช้รูปธรรมก็ได้ ใช้นามธรรมก็ได้ รูปธรรมเช่นสี แสง เสียง กลิ่น กลิ่นก็ใช้ทำกรรมฐานได้ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครกล้าสอนเพราะว่ามันอันตราย อย่างบางคนได้กลิ่นที่หอมๆ จิตสงบเลย ถ้าไปคิดอย่างนี้แล้วไปสอนกันแบบนี้ คงขายน้ำหอมกันอุตลุดเลย กลิ่นนี้ดมแล้วก็สงบดีอย่างนี้ หรือบางทีเสียงเพลงนี้ฟังแล้วสงบ มาซื้อได้ถ้าต้องฟังจากเครื่องนี้ เครื่องยี่ห้อนี้แล้วสงบดี มันวุ่นวาย มันหลอกกันต่อๆ กันไปอีก

 

สมถกรรมฐาน วิธีการหลากหลายทางใครทางมัน

เราสังเกตเอา เราจะใช้อะไรแล้วจิตใจเราอยู่เป็นสุข ก็เอาอันนั้น มันโลดโผนโจนทะยานมากข่มมันลงไป สงสัยว่าข่มมันแล้วมันเป็นสุขได้อย่างไร ต้องข่มดูก่อน พอใจมันเริ่มสงบราบลงไปแล้วมีความสุขขึ้นมา ทีหลังเคยชินเลย ชอบข่ม อย่างบางท่านชอบอดข้าว อดข้าวแล้วบอกทำกรรมฐานดี บางท่านอดนอน ไม่ใช่ทุกคนทำได้ บางคนอดข้าวแล้วก็จิตสงบง่าย ก็ช่วยให้ทำสมถกรรมฐานได้ดี บางคนอดข้าวแล้วจิตใจทุรนทุรายตามร่างกายไปด้วย อย่างนี้ก็ไม่เหมาะ ตรงที่หลักนั้นเป็นหลักอันเดียวกัน แต่การปฏิบัติสำหรับแต่ละคนมีทางเฉพาะตัว เป็นเรื่องของแทคติก เป็นกลยุทธ์ เป็นอุบายในการปฏิบัติ อุบายในการปฏิบัตินั้นนับไม่ถ้วน ตำราบอกกรรมฐาน 40 ใช้ทำสมถะ ที่หลวงพ่อยกมาให้ดูเมื่อกี้ตั้งเยอะตั้งแยะเลย มีเยอะแยะอะไรก็ได้ถ้าเราเข้าใจหลักแล้ว คล้ายๆ วิชานินจา นินจาบอกว่า มันใช้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเป็นอาวุธได้หมดเลย เรานักปฏิบัติถ้าหลักของเราแม่น ฝึกจิตฝึกใจให้ชำนาญ หยิบจับกรรมฐานอะไรขึ้นมาก็ใช้ได้หมดเลย

กระทั่งทำวิปัสสนา จะดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตสังขารก็ได้ ดูรูปธรรม นามธรรมก็ได้ ดูกุศล อกุศลอะไรก็ได้ ดูกระบวนการทำงานของจิตก็ได้ ใช้ได้หมดเลย ให้มันมีรูปธรรมให้มันมีนามธรรมอยู่เท่านั้นล่ะ จะพลิกแพลงใช้กรรมฐานอย่างโน้นอย่างนี้ ทางใครทางมัน เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้จักคุณแม่ชีท่านหนึ่ง คุณแม่ชีพิมพา คุณแม่น้อย คุ้นกับท่านอยู่ ท่านบอกว่ากรรมฐานมันเหมือนคนจะไปหาบ่อน้ำ จะไปหาบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ก็เดินไปด้วยกัน เดินแต่มันไม่เหยียบรอยกัน เดินไปสู่ทิศทางเดียวกัน แต่บางคนมาจากทิศเหนือ บางคนมาจากทิศใต้ แต่ไปสู่ที่เดียวกัน เดินแล้วไม่เหยียบรอยกัน ฉะนั้นเราทำกรรมฐานมันไปสู่ที่เดียวกัน

อย่างถ้าสมถกรรมฐานฝึกไปแล้วจิตสงบตั้งมั่นขึ้นมา ส่วนวิธีการหลากหลายทางใครทางมัน ไม่มีทางไหนดีกว่าทางไหนหรอก ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราก็จะไม่ตำหนิกรรมฐานอันอื่น อย่างกรรมฐานบางเรื่องใช้ทำสมถะได้ อย่างวิชาธรรมกายทำสมถะได้ แต่ขึ้นวิปัสสนาได้ไหม ถ้าไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามก็ไม่ขึ้นวิปัสสนา ถ้าเห็นแต่ดวงนิมิต ภาพพระพุทธเจ้า ภาพอะไรอย่างนั้นก็ไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นสมถะ ถ้าใช้สมถะ หลวงพ่อบอกแล้วสมถะอะไรๆ ก็ใช้ได้หมด มันไม่เลือกอารมณ์ แต่วิปัสสนามันเลือกอารมณ์ กรรมฐานใดที่ไม่เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม ใช้ทำวิปัสสนาไม่ได้ เรารู้หลักสมถะวิธีการเยอะแยะ ดูทำอย่างไรแล้วจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจเราสงบ ดูตัวเองไม่ต้องถามคนอื่นหรอกสังเกตเอา ถ้าไปถามคนอื่นเขาก็จะบอกใช้วิธีนี้ เพราะฉันเคยใช้มาแล้วได้ผล มันอาจจะไม่ได้ผลสำหรับเรา กว่าหลวงพ่อจะสรุปคอนเซ็ปต์อันนี้ออกมาได้ หลวงพ่อภาวนาแสนสาหัส

อย่างเรื่องสมาธิสมถกรรมฐานหลวงพ่อทำอยู่ 22 ปี จับหลักมันได้ อ๋อ มันแค่นี้เอง หลักมันคือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ทำปุ๊บก็สงบแล้ว ส่วนลีลาวิธีไม่เหมือนกัน แต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเราชำนาญจริง แต่ละวันแต่ละเวลาเราใช้กรรมฐานต่างกันยังได้เลย แต่อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านไม่สอนให้ทำอย่างนั้น เดี๋ยวเราเล่นมากเกินไปจนกระทั่งจิตฟุ้งซ่าน แทนที่จิตจะสงบมันฟุ้งซ่าน อินทรีย์เรายังอ่อนเกินไป

ฉะนั้นเบื้องต้นหากรรมฐานสักอันหนึ่งก่อน ยังไม่ต้องทำทุกอันหรอก เอากรรมฐานสักอันหนึ่งที่จิตมันพอใจ แล้วให้จิตมันอยู่กับอารมณ์อันนั้น พอจิตมันมีความสุข มันก็สงบอยู่ในอารมณ์อันนั้น แล้วพอเราทำอันหนึ่งได้ต่อไปเราก็ทำอันอื่นง่าย ตอนเด็กๆ หลวงพ่อชอบไฟ ชอบดูไฟ เวลาหุงข้าวเมื่อก่อนนี้ติดเตาถ่าน ชอบอาสาสมัครติดไฟ จุดไฟดูไฟมันไหม้สวยงาม มาดูเทียนก็ได้ พอเรามาดูเทียนแป๊บเดียวมันติดตาเลย เพราะมันชอบไฟอยู่แล้ว กำหนดลงไปนึกถึงไฟก็เห็นไฟในใจเราแล้ว ดูไปเรื่อยๆ ไฟมันก็ค่อยใสขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดมันกลายเป็นดวงกลมๆ พอเราทำกสิณไฟได้แล้วเป็นปฏิภาคแล้ว เป็นดวงสว่างขึ้นมาแล้ว เราไปทำกสิณตัวอื่นมันก็เหมือนกัน ทำตัวหนึ่งได้แล้วไปทำตัวอื่นไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

 

 

ฉะนั้นเบื้องต้นเราดูอันไหนเหมาะกับเรา เราเอาเสียอันหนึ่งให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป สมถะเอาเสียอันหนึ่ง ถนัดพุทโธก็เอาพุทโธ ถนัดหายใจก็เอาหายใจ ถ้าทำแล้วเครียดอันนั้นไม่เหมาะ อย่างหลวงพ่อก็เคยดูกระดูก กรรมฐานทำมาสารพัดจะทำถึงพูดเต็มปาก หลวงพ่อดูลงไปในตัวเองดูกระดูกตั้งแต่หัวถึงเท้า แล้วพบว่ามันมีกระดูกอยู่ท่อนหนึ่ง คือไหปลาร้าข้างซ้าย ดูไม่ได้ดูแล้วปวดทันทีเลย ไปถามหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่า ตรงนี้จิตมันไม่ชอบมันไม่ถูกจริตเรา ตรงไหนที่มันไม่ชอบเราก็ข้ามไปเลย ไม่ต้องไปดูมันหรอก ท่านบอกท่านก็มี มีซี่โครงอยู่ซี่หนึ่ง ถ้าดูแล้วปวด ท่านว่าอย่างนี้ ท่านก็ไม่ดูอันนี้ท่านก็ดูอันอื่น

กระดูกมีตั้ง 300 ท่อน ถ้าหมอบอกมี 200 กว่าทำไมมีตั้ง 300 ท่านนับกระดูกอ่อนๆ เข้าไปด้วย กระดูกกรุบๆ เคี้ยวอร่อยอย่างนั้นรวมเข้าไปด้วย แล้วตัวเลขของฮินดู ตัวเลขของแขกเขาชอบนับตัวกลมๆ 300 ก็หมายถึงมีเยอะมีเกิน 200 เรียก 300 นี่สำนวน กระดูกมีตั้ง 300 ท่อน ท่อนไหนมันดูแล้วไม่สบายก็อย่าไปดูมัน สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสอนใคร หัดภาวนาแล้วก็เจอ กรรมฐานอย่างนี้เราใช้ไม่ได้ ไม่เหมาะกับเรา มันเหมาะกับคนอื่นแต่ไม่เหมาะกับเรา เราก็ไม่เอา กรรมฐานมีตั้งเยอะตั้งแยะ

 

การฝึกกรรมฐานก็มีทั้งศาสตร์มีทั้งศิลป์

เรื่องของการทำสมถะไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ง่ายๆ แต่พอเราทำอันหนึ่งจิตรวมได้แล้ว ต่อไปไปหยิบไปจับกรรมฐานคล้ายๆ กัน มันก็จะไปด้วยกันได้ อย่างเราเคยเจริญอนุสติบางอย่าง คิดถึงพุทธานุสสติ คิดถึงพระพุทธเจ้าแล้วจิตรวม ต่อไปเราไปคิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์อะไรจิตก็รวมเหมือนกัน กรรมฐานที่กลุ่มที่มันใกล้ๆ กัน ก็ใช้ฝึกต่อกัน ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว มันยากอันแรกเท่านั้น แล้วพอเป็นอะไรๆ ก็เป็นกรรมฐานหมด นั่งดูใบไม้ไหวจิตก็สงบได้ อยู่ริมสนามมีทุ่งหญ้า เห็นลมพัดหญ้าไหวๆๆ อยู่ จิตก็สงบได้ ที่จริงตรงที่เราเห็นใบไม้ไหว เห็นยอดหญ้าไหว มันเป็นกรรมฐานลม จะได้กรรมฐานลม ได้กสิณลม แต่ว่าเราไม่ต้องไปเรียกชื่อมัน ฟังแล้วเวียนหัว

ฉะนั้นเราสบายใจอันไหนเอาอันนั้น แต่อันนั้นต้องไม่ยั่วให้เกิดกิเลส อย่างเราดูต้นไม้ ดูใบหญ้ามันไม่เกิดกิเลสก็ดูไป แต่ถ้าดูแล้วเกิดกิเลสเราก็ไม่เอา อย่างบางคนชอบต้นไม้ เห็นต้นไม้แล้วก็อยากได้ อย่างนี้ทำกรรมฐานดูต้นไม้ไม่ได้หรอก ดูแล้วกิเลสที่ไม่มีก็มีขึ้นมา จิตใจไม่สุขไม่สงบ สังเกตตัวเองควรแก่กรรมฐานอะไรก็ดูเอา ฝึกเอา ทำสม่ำเสมอ เวลาที่ควรข่มบางคนจิตใจมันกระด้างมาก กิเลสแรงมาก ก็ต้องใช้กรรมฐานที่ข่มกิเลส ใช้ปฏิกูลอสุภะข่มราคะ เจริญเมตตาข่มโทสะอะไรอย่างนี้ หายใจเข้าพุทออกโธไว้ข่มโมหะ หรือใจมันมีศรัทธามากเราคล้อยตามมันเลย มันชอบศรัทธา พิจารณาคุณของพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ อันนี้เชียร์มัน คล้อยตามมัน

มันเป็นลีลาที่เราต้องฉลาดในการปฏิบัติ ข่มในเวลาที่ควรข่ม สอนในเวลาที่ควรสอน เชียร์ในเวลาที่ควรเชียร์ ให้กำลังใจ ให้รางวัล มันเหมือนเราสอนเด็กไม่มีความต่างกันเลย อย่างเราสอนลูกเราอะไรๆ เราก็ให้รางวัลตลอดเลย อ่านหนังสือเราก็ให้รางวัล กินข้าวเราก็ให้รางวัล มีอยู่วิธีเดียวคือวิธีให้รางวัล เด็กคนนี้เอาดียาก ต่อไปโตขึ้นมามันจะทำอะไร มันจะต้องถามเลยว่าจะได้อะไรตอบแทน มันไม่ได้รู้เหตุรู้ผล ว่าสิ่งนี้ควรทำก็ต้องทำ จะมีสิ่งตอบแทนหรือไม่มีสิ่งตอบแทน ก็ต้องทำอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ต้องสอน ฉะนั้นการที่เราจะฝึกจิตฝึกใจเรา ก็เหมือนเราสอนเด็ก เอาใจอย่างเดียวก็ไม่ได้ กดขี่บังคับอย่างเดียวก็ไม่ได้เดี๋ยวเด็กก็เป็นโรคซึมเศร้า เด็กเป็นโรคก้าวร้าวก็ใช้ไม่ได้ จิตนี้ก็เหมือนกันข่มมากๆ มันก้าวร้าว ฉะนั้นคนไหนเคยเลี้ยงลูก เรามีลูกอีกคนหนึ่งที่เราละเลยมานานแล้ว ก็คือจิตเรานั่นล่ะ ค่อยๆ ให้การศึกษากับมัน

พวกที่เคยมีลูก ให้การอบรมแก่จิตเหมือนที่เราเลี้ยงลูก แต่บางคนเลี้ยงลูกแล้วไม่ได้เรื่อง ก็ต้องยกตัวอย่างอย่างอื่น บอกฝึกจิตให้เหมือนเลี้ยงลูก ตามใจตลอดเลย พังระเนระนาดเลย เลี้ยงลูกไม่เป็น เอะอะให้รางวัลๆ หรือเอะอะก็ตีลูกเดียวเลย อันนี้เลี้ยงไม่เป็น หรือสอนอย่างเดียวเลย สอนทุกวันเลย เจอหน้าก็สอน สุดท้ายเด็กมันดื้อต่อคำสอน มันก็ไม่ฟังแล้ว อยากสอนก็สอนไป อยากพูดก็พูดไป มันเอาหูทวนลม สำนวนไทย “เอาหูทวนลม” หมายถึงว่าให้เสียงมันผ่านหูไปเฉยๆ ไม่สนใจ

ฉะนั้นเราก็ดู มีศิลปะของการปฏิบัติ เหมือนวิชาแพทย์มันก็มีทั้งศาสตร์มีทั้งศิลป์ ศาสตร์นั้นทุกคนเรียนแล้วสอบได้ ก็ได้ศาสตร์มาเหมือนกันหมดความรู้เหมือนๆ กัน แต่หมอบางคนรักษาเก่ง บางคนรักษาไม่เก่งเลย เพราะไม่มีศิลปะในการรักษา หรือมีศิลปะแตกต่างกันไม่เท่ากัน การปฏิบัติก็ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์คือมีหลัก รู้หลัก มีศิลปะก็คือรู้จักพลิกแพลงให้มันเหมาะสมกับตัวเราเอง อย่างเป็นหมอ รู้ว่าคนเป็นโรคอย่างนี้ต้องรักษาอย่างนี้ รู้อยู่แค่นี้ไปรักษาคนไข้ตายหมดเลย ไม่ได้คิดว่าตอนนี้ร่างกายคนไข้อ่อนแอแค่ไหน ให้ยาเต็มที่เลยก็ตายเลย มันเป็นศิลปะ จะต้องรักษาแค่ไหน จะต้องดูแลอย่างไรเป็นงานศิลปะ

ฉะนั้นการฝึกกรรมฐานก็มีทั้งศาสตร์มีทั้งศิลป์ ศาสตร์นั้นไปอ่านหนังสือ ไปดูพระไตรปิฎก ดูตำรับตำรา ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลย แต่ตอนที่ลงมือทำหรือสอนกรรมฐานกันมีศิลปะไหม ในยุคนี้เราหวังพึ่งคนอื่นยาก ฉะนั้นเราพึ่งตัวเองให้มาก อย่างทำกรรมฐานอะไรแล้วจิตที่มันฟุ้งซ่าน มันลดความฟุ้งซ่านลง เราก็เอาอันนั้นล่ะใช้ได้ ใช้ไปหลายๆ ทีเราไปจำไว้ โอ๊ย ถ้าจิตมีราคะ มีโทสะ โมหะ มันฟุ้งซ่านไปเพราะกิเลส เราพุทโธๆ แล้วหายเลย พอเราไปเชื่ออย่างนี้ ต่อมากิเลสมาพุทโธให้ตายก็ไม่หายแล้วคราวนี้ หลวงตามหาบัวท่านถึงสอนว่า “กิเลสมันเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ธรรมะที่จะสู้กิเลสก็ต้องสดๆ ร้อนๆ พลิกแพลงไป” แต่ก่อนที่จะพลิกแพลงได้ต้องฝึกอันหนึ่งให้ได้ก่อน จะพุทโธ จะหายใจ จะทำกรรมฐานอะไร ฝึกไปเรื่อยๆ อย่างเด็ดเดี่ยว พอจิตมันสงบได้ทีหนึ่งแล้ว ต่อไปหยิบจับกรรมฐานอะไรก็สงบได้หมด แล้วคราวนี้กิเลสมาไม้ไหน ก็พลิกแพลงอาวุธไปต่อสู้กับมันได้ทันเหตุการณ์ อันนี้เรื่องของสมถะ

แต่เรื่องของวิปัสสนา อาวุธมีอันเดียวคือไตรลักษณ์ จะดูกายก็เห็นไตรลักษณ์ ดูเวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ ดูจิตก็เห็นไตรลักษณ์ ดูธรรมก็เห็นไตรลักษณ์ อาวุธของสมาธิของสมถะนับไม่ถ้วน ไปดูเอาอันไหนดีอันไหนเหมาะ อย่างบางทีหลวงพ่อก็เจริญเมตตา อย่างหลวงพ่อวันๆ หนึ่งแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตตานับไม่ถูกว่ากี่ครั้ง เราทำเป็นเรื่องปกติ จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุขด้วย สัตว์ทั้งหลายระลึกถึงเราขึ้นมาก็ร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย เราเจริญเมตตาแล้วเรามีความสุข บางทีหลวงพ่อก็หายใจ เราไม่อยากสนใจโลกข้างนอกเราก็หายใจ จิตเราก็พักเงียบอยู่ข้างใน มีเครื่องมือหลายตัว ตอนไหนจะใช้เครื่องมือตัวไหนก็หยิบมาใช้

ค่อยๆ ฝึก แล้วต่อไปเราร่ำรวยกรรมฐาน แต่เอาอันหนึ่งให้ได้ก่อน ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปให้ได้ก่อน ถ้าอยู่ๆ อยากร่ำรวยมันก็จะยากจน คล้ายๆ ตอนแรกเราจนมากเลย ทำมาหากินไปก่อน อะไรก็ได้ขอให้มันมีรายได้ พอมันมีรายได้พอสมควรแล้ว ก็ดูลู่ทางขยับไปทำมาหากินอย่างอื่นเพิ่มขึ้นอะไรอย่างนี้ ทำกรรมฐานก็เหมือนกัน ทีแรกจิตใจเรายากจน กรรมฐานอดทน ทำกรรมฐานสักอันหนึ่งก่อน พอมีต้นทุนขึ้นมาแล้วก็ไปเรียนกรรมฐานอื่นก็ทำได้ ขั้นแรกเราจะมาเปลี่ยนกรรมฐานรายวันรายชั่วโมงอะไรไม่ได้กินหรอก เพราะจิตเราไม่เคยสงบ ฉะนั้นขั้นแรกต้องให้เด็ดเดี่ยวลงไปเลย ทำอะไรก็ทำสักอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ค่อยปรับ ไม่ใช่เปลี่ยนตลอดเวลา ได้ยินหลวงพ่อบอกว่ากรรมฐานมีนับไม่ถ้วน หรือเปลี่ยนนับไม่ถ้วนจิตไม่เคยรวมเลย ที่จริงเราต้องการให้จิตรวม จิตสงบลงไป นี่เรื่องของสมถะ

 

เรื่องของวิปัสสนา อาวุธมีอันเดียวคือไตรลักษณ์ จะดูกายก็เห็นไตรลักษณ์ ดูเวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ ดูจิตก็เห็นไตรลักษณ์ ดูธรรมก็เห็นไตรลักษณ์

 

ส่วนปัญญา วิปัสสนา เรามุ่งให้เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก ให้จิตมันฉลาดเท่านั้น จุดหมายมันมีนิดเดียว ให้จิตสงบกับให้จิตเกิดปัญญารู้ถูกเข้าใจถูก วิธีการขั้นแรกเอาให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปสักอย่างหนึ่ง อย่างหลวงพ่อแต่เด็ก หลวงพ่อทำอานาปานสติ หลวงพ่อก็ทำอานาปานสติมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กๆ ทำอยู่ 22 ปี ตอนหลังจะไปทำกรรมฐานอะไร มันก็พอไหวพอได้อยู่ เพราะมันลงมาที่เดียวกัน กรรมฐานอะไรก็ตามลงมาที่จิตที่สงบ จิตที่ตั้งมั่น มันก็รสชาติอันเดียวกัน เหมือนเรากินอาหาร บางคนชอบอาหารจีน อาหารไทย อาหารฝรั่ง อาหารแขก กินอาหาร แต่เสร็จแล้วมันก็ได้ความอิ่มเท่าๆ กันเหมือนกันเราทำกรรมฐานแต่ละคนก็มีทางของตัวเอง แล้วมันก็ได้ความอิ่ม คืออิ่มอกอิ่มใจ มีความสุข มีความสงบอันเดียวกันคล้ายๆ กินอาหาร

วิปัสสนาหลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้หลวงพ่อเจริญจิตตานุปัสสนา ดูจิตในจิต พอหลวงพ่อดูจิตในจิตก็เห็นไตรลักษณ์ เราเข้าใจไตรลักษณ์ถึงจิตถึงใจแล้ว จิตใจนี้ก็เป็นไตรลักษณ์ คราวนี้ไปดูอะไร ดูกายมันก็เห็นไตรลักษณ์ ดูเวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ ดูจิตก็เห็นไตรลักษณ์ ดูธรรมก็เห็นไตรลักษณ์ หยิบจับรูปธรรมนามธรรมอะไรขึ้นมา มันก็เห็นไตรลักษณ์ได้

ฉะนั้นเบื้องต้นเอาเสียอันหนึ่งให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป อย่าเปลี่ยนบ่อย ไม่ใช่เช้ากรรมฐานหนึ่ง กลางวันอันหนึ่ง เย็นอันหนึ่ง กลางคืนอีกอันหนึ่ง ไม่ได้กินหรอก เอาไว้ให้ชำนิชำนาญก่อน ให้จิตใจมันรู้รสชาติของความสุขความสงบก่อน แล้วคราวนี้ทำกรรมฐานอะไรก็เข้ามาที่เดียวกัน เข้ามาที่ความสุขความสงบ หรือจะเจริญวิปัสสนา ขั้นแรกก็ทำกรรมฐานอันเดียวก่อน จะดูกายก็ดูไปให้เห็นไตรลักษณ์ของกาย มีจิตเป็นผู้ดู จะดูเวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา มีจิตเป็นผู้ดู จะดูจิตก็ให้เห็นสังขารทั้งหลายมันเป็นไตรลักษณ์ มีจิตเป็นคนดู จะดูอะไรก็ให้มีจิตเป็นคนดูแล้วเห็นไตรลักษณ์เหมือนกันหมด แต่เบื้องต้นต้องเอาอันหนึ่งก่อนให้ชำนิชำนาญ

พอมันเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว จิตเป็นคนรู้คนดู ก็เห็นดูลงไป สมมติเราถนัดดูจิต เห็นจิตมันเป็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเลย ต่อไปเวลาสติไประลึกรู้กาย มันเคยเห็นไตรลักษณ์จนชินแล้ว พอดูกายปุ๊บมันเห็นไตรลักษณ์ของกาย เพราะฉะนั้นกรรมฐาน พอเราได้อันหนึ่งมันจะเนื่องไปถึงอันอื่นด้วย มันต่อเนื่องกันไปได้ ได้อันหนึ่งแล้วก็จะได้อันอื่นด้วย อย่างเราได้กสิณอย่างที่หนึ่ง เราก็ได้กสิณอย่างที่สองที่สามง่าย เราได้อนุสติอย่างที่หนึ่ง เราก็ได้อนุสติอย่างที่สองที่สามง่าย ฉะนั้นเบื้องต้นเอาอันเดียวก่อน หลายอันไม่ได้กินหรอก ฟุ้งซ่าน

มันยากตรงที่จะต้องไปดูว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา วิธีดูก็คือกรรมฐานอะไรที่เราทำแล้วจิตใจสงบ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว สติเกิดเร็วขึ้นๆ จิตไม่หลงไม่ลืมไป ฝึกเอาอันนั้น ฉะนั้นจิตมีความสุข มีความสงบ ก็ไม่หลงลืมตัว ถ้าสงบแล้วลืมตัวเคลิ้มๆ ไปใช้ไม่ได้ เวลาจิตรวมไม่ใช่เคลิ้มขาดสติ เวลาจิตรวมบางทีโลกธาตุดับ ความคิดนึกดับหมดเลย มันเหลือความรู้สึกตัวอยู่ มันเหลือจิตอยู่ เหลืออยู่ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ถ้าดับแบบไม่มีอะไรเลย เป็นพรหมลูกฟัก ใช้ไม่ได้หรอก พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะไม่ยอมไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก เพราะไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่าๆ จริงๆ เราเป็นโพธิสัตว์น้อยๆ คือเป็นสัตว์ที่แสวงหาความหลุดพ้น หาโพธิอยู่ แต่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะไปสอนคนอื่น เราก็เป็นโพธิสัตว์เล็กๆ พอเป็นพุทธะเรียกอนุพุทธะ เป็นสาวก เป็นผู้รู้ เป็นพุทธะ แต่เป็นพุทธะที่รู้ตามพระพุทธเจ้าไป ฉะนั้นจิตของเราเองก็แสวงหาโพธิ หาความหลุดพ้น

 

 

เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง เดินไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ ฝึกไป ในที่สุดเราก็เจอต้นโพธิ์ในใจเรา เจอพุทธะอยู่ในใจของเรานี่เอง ก็อาศัยสมถะกับวิปัสสนาเกื้อหนุนกันไป สมถะจำเป็น วิปัสสนานั้นมีประโยชน์สูงสุด สมถะจำเป็น วิปัสสนาก็จำเป็น 2 อันนี้เกื้อกูลกัน เหมือนมือซ้ายกับมือขวา มือซ้ายกับมือขวามันช่วยกัน อย่างเราล้างมือ มือซ้ายล้างมือขวา มือขวาล้างมือซ้าย สมถะก็เกื้อหนุนวิปัสสนา ทำวิปัสสนาได้ดีสมถะเราก็ดีขึ้นด้วย มันเกื้อหนุนกัน

ฉะนั้นอย่างบางคนเข้าฌานไม่เป็น แต่พอเป็นพระโสดาบันอย่างต่ำได้ของแถมมาแล้ว ได้ปฐมฌานแถมมาแล้ว ฉะนั้นเจริญวิปัสสนาสุดท้ายก็ได้สมถะแถมมา เจริญสมถะให้ถูกต้องก็เกื้อกูลให้ไปเจริญวิปัสสนาได้ ถ้าไม่มีสมถะเลยจิตวอกแวกๆ อย่าว่าแต่จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามเลย ดูรูปนามยังไม่เห็นเลย เพราะจิตมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิด มันลืมรูปลืมนามไปหมด ฉะนั้นสมถะกับวิปัสสนาเป็น 2 สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า “สมถะและวิปัสสนาเป็นธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง” คู่นี้เป็นสิ่งที่ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คู่นี้คือมรรค สมถะและวิปัสสนาคือมรรคที่เราต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ท่านย้ำว่าด้วยปัญญาอันยิ่ง สมถะทำแบบไร้สติ ไร้ปัญญา ใช้ไม่ได้ ทำวิปัสสนาแต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำด้วยความงมงาย ใช้ไม่ได้ อย่างไปนั่งท่อง ท้องพอง ท้องยุบอะไร ขยับไม้ขยับมือ ไปนั่งท่องบริกรรมไปเรื่อย ไม่ได้ทำด้วยปัญญา ปัญญานั้นเราต้องเห็นความจริง มันถึงจะเป็นปัญญา รู้ถูกเข้าใจถูกมันถึงจะเป็นปัญญา ฉะนั้นคู่นี้ทิ้งกันไม่ได้ สมถะกับวิปัสสนาเกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกัน ประคับประคองกันให้ก้าวไปสู่เส้นทางแห่งโพธิ สู่เส้นทางแห่งมรรคผล

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 มิถุนายน 2564