การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

อย่าส่งจิตออกนอก จิตมันวิ่งไปอยู่ที่หลวงพ่อ พยายามรู้เนื้อรู้ตัวไว้ การปฏิบัติมันไม่ได้ยากอะไร พยายามรู้สึกตัวไว้ แต่ว่ามันฝืนกระแสกับโลก การปฏิบัติเราอย่าลืมจิตใจของเราเอง จิตใจสำคัญที่สุด คนจะชั่วหรือจะดีก็อยู่ที่จิตเราเอง จะปรุงชั่วก็ปรุงที่จิต จะปรุงดีก็ปรุงที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต ฉะนั้นครูบาอาจารย์หลายองค์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ท่านย้ำอยู่เสมอว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติ เป็นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด คือตรงเป้าเลย

พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ละความชั่ว บาปอกุศลทั้งปวง บาปอกุศลมันก็อยู่ที่จิต ท่านบอกให้เจริญกุศลให้ถึงพร้อม กุศลมันก็เกิดที่จิต สุดท้ายบอกทำจิตให้ผ่องแผ้วก็อยู่ที่จิตอีก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้ เพียงแต่บางคนไม่สามารถตัดตรงเข้ามาเรียนรู้จิตตนเองได้ ก็ต้องอาศัยเส้นทางที่อ้อมๆ หน่อย

อย่างครูบาอาจารย์ท่านก็สอน หลวงปู่สุวัจน์ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็สอนท่าน บอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ให้ทำสมถะไว้” ไม่มีที่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องทำเลย ไม่มี ต่ำสุดคือทำสมถะไว้ สมถะง่ายๆ ก็พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ให้จิตมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตมันก็จะสงบได้ พอจิตสงบแล้วมีกำลังแล้ว ก็มาเรียนรู้กายมาเรียนรู้ใจได้

ถ้าหากความสงบมันแนบแน่นมาก อันนี้จะไปดูจิตลำบาก ถ้าจิตมันเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าไปลึก มันก็เงียบอยู่อย่างนั้น ส่วนใหญ่ก็จะไปติดในความนิ่งความว่างอยู่ พอออกจากสมาธิมา ท่านจะสอนให้ดูกาย เพราะอะไร เพราะว่ากายนี้อย่างไรมันก็ต้องแสดงไตรลักษณ์ให้เราดูอยู่แล้ว แต่จิตนั้นเวลาจิตมันผ่านกระบวนการเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าฌานมาแล้ว มันนิ่ง ถอนออกจากสมาธิแล้ว มันก็ยังนิ่งอยู่อย่างนั้น เราจะไปดูจิต เราก็จะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นไตรลักษณ์ ดูยาก

เพราะฉะนั้นการดูกายเหมาะกับคนที่เล่นฌาน อันนี้ในขั้นเดินปัญญา แล้วก็การดูจิตมันเหมาะกับพวกที่เดินอีกสายหนึ่ง เดินสายวิปัสสนายานิก ใช้ปัญญานำไป เราจะเดินสายไหน สุดท้ายมันก็ลงไปที่จิตอยู่ดี อย่างเราเรียนรู้กาย เรียนรู้กายไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งกายมันสลาย ร่างกายหายไป สลายไปก็เหลือแต่จิต ฉะนั้นสุดท้ายอย่างไรก็หนีการเรียนรู้ที่จิตไม่ได้

การเรียนรู้จิตมันก็มีหลายขั้นตอน ขั้นต้นการเรียนรู้จิตทำให้เราได้สมาธิ ขั้นปลายของการเรียนรู้จิตจะได้ปัญญา เครื่องมือที่จะเรียนรู้จิตก็คือสติ สติเป็นตัวรู้ทัน จิตใจของเราสุข รู้ทัน จิตใจของเราทุกข์ รู้ทัน จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ รู้ทัน จิตใจเฉยๆ รู้ทัน หรือจิตใจโลภ รู้ทัน จิตใจไม่โลภก็รู้ทัน จิตโกรธ จิตไม่โกรธ รู้ทัน จิตหลง จิตไม่หลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ รู้ทันไป

 

ดูจิตให้ได้สมาธิ

การปฏิบัติ ถ้าเราจะเริ่มจากการดูจิตให้ได้สมาธิทำอย่างไร ในความเป็นจริงที่หลวงพ่อพบ ไม่ว่าจะทำสมาธิด้วยวิธีใดก็ทิ้งจิตไม่ได้ อย่างถ้าเรานั่งสมาธิ หายใจเข้าพุทออกโธ แล้วสนใจอยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียวเลย มันก็จะสงบ ลมก็ระงับไปกลายเป็นแสงสว่าง จิตก็ไหลไปอยู่กับแสง เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้นมา แล้วก็อยู่อย่างนั้น มันไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นถึงเราจะทำสมถะ เราก็ไม่ทิ้งจิต เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมทั้งปวง

ถ้าเราอยากทำสมาธิให้ดี เราทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะเห็นร่างกายมันเดินจงกรมก็ได้ จะขยับมือทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น หรือจะบริกรรมอะไรก็ได้ บริกรรมพุทโธก็ได้ นะมะพะทะก็ได้ สัมมาอะระหังก็ได้ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิก็ได้ รวมความแล้วคือเบื้องต้นทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด อะไรก็ได้ แต่จุดสำคัญที่จะทำให้เราพัฒนาต่อไปคือการรู้ทันจิตตนเอง

อย่างถ้าเราทำกรรมฐาน สมมติว่าเราทำหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วก็สงบไปเลย เราก็ไปรู้ลมหายใจ ไปรู้แสงสว่าง ไปรู้โน่นรู้นี่ออกไป อันนี้เนิ่นช้า เสียเวลา ถ้าเราไม่ทิ้งจิต เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ จิตเราหนีไปคิด เรารู้ทันว่าจิตเราหนีไปคิด เราหายใจไป จิตมันไหลลงไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทันว่าจิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจแล้ว หรือเราดูท้องพองยุบ ดูท้องพอง ดูท้องยุบไปเรื่อยๆ จะบริกรรมด้วยก็ไม่เป็นไร พองหนอ ยุบหนออะไรก็ได้ มันไม่สำคัญหรอก แต่สำคัญที่ว่าทำไปแล้วเห็นจิตตัวเองไหม

ถ้าบริกรรมพองหนอ ยุบหนอแล้วเห็นแต่ท้อง จิตก็เพ่งอยู่ที่ท้อง มันก็สงบนิ่งๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วบางทีขาดสติ จิตรวมวูบเลย ร่างกายหายไปเลย กลายเป็นพรหมลูกฟักไปเลย ฉะนั้นเราต้องมีจิตตลอดสายของการปฏิบัติ ถ้าภาวนาแล้วจิตหายคือพรหมลูกฟัก พรหมลูกฟักเป็นภูมิซึ่งไม่มีจิต มีแต่ร่างกาย

ฉะนั้นอย่างเราดูท้องพอง ดูท้องยุบ เราก็ไม่ทิ้งจิต เราก็จะเห็น หายใจไปท้องพอง พองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอไป แล้วจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น มันไม่คิดเรื่องท้องพองท้องยุบแล้วไปแอบคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องแฟนเรามีกิ๊กอะไรขึ้นมาอย่างนี้ อันนี้ก็เรียกว่าเราขาดสติแล้ว ให้เรามีสติรู้ทันว่าตอนนี้จิตหลงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว หัวใจที่เราจะภาวนาแล้วเราจะได้สมาธิที่ดี เป็นสมาธิที่มีสติ มีความตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิด เรารู้ จิตไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ เหมือนกันหมด กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้

อย่างเราขยับมือทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียน ขยับไปๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เรารู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งมือแล้ว เรารู้ทัน คอยรู้อย่างนี้เรื่อยๆ การที่เรารู้สภาวะบ่อยๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่จิตหลงไปได้แม่นยำ มันหลงไปคิดบ้าง หลงไปเพ่งบ้าง พวกเพ่งก็คือหลงนั่นล่ะ แต่ว่าหลงเพ่ง เรานึกว่าดี ก็หลงอยู่มันจะดีได้อย่างไร ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านเรียกว่าโมหสมาธิ สมาธิที่ยังประกอบด้วยโมหะ ใช้ไม่ได้หรอก

เพราะฉะนั้นต้องมีสติรู้เท่าทันจิตตนเองไว้ แม้การทำสมถะก็ไม่ทิ้งการดูจิต ฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตเอาไว้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ พอเราหัดรู้ทันบ่อยๆ ต่อไปจิตมันจำสภาวะของความหลงได้แม่น พอหลงปุ๊บสติเกิดเองปั๊บเลย อัตโนมัติเลย เราจะได้สติอัตโนมัติ สติที่จะใช้งานได้จริงจัง ต้องเป็นระดับสติอัตโนมัติ สติผลุบๆ โผล่ๆ อะไรนี่มันใช้ไม่ได้ หรือสติที่จงใจทำขึ้นมา พยายามจะมีสติตลอดเวลา มันเป็นสติที่ไม่จริง เพราะว่าจริงๆ แล้วจิตมันโลภ จิตมันอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากรู้สึกตัวตลอดเวลา จิตที่อยากคือจิตมีโลภะ

 

ต้องทำสัมมาสติให้เกิดบ่อยๆ
จะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสัมมาสมาธิ

ถ้าจิตมีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะกิเลสตัวใดก็ตาม ตอนนั้นจะไม่มีสติ เพราะมีกฎของธรรมะก็คือสติกับกิเลสไม่เกิดพร้อมกัน แต่ว่าให้เราอาศัยสติคอยรู้ทัน เวลาเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงถลำลงไปเพ่ง รู้ทัน รู้บ่อยๆ แล้วสติเราจะเร็วขึ้นๆ จนกระทั่งเกิดสติอัตโนมัติ จิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นโดยที่เราไม่ได้เจตนา มันได้สมาธิขึ้นมา เพราะฉะนั้นการที่เราทำสติที่ถูกต้อง จนสติอัตโนมัติมันเกิดนั่นล่ะ สมาธิมันก็จะเกิดขึ้นด้วย

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่าสัมมาสติ ถ้าเราทำสม่ำเสมอจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสัมมาสมาธิ ฉะนั้นเราต้องทำสัมมาสติให้เกิดบ่อยๆ สัมมาสติคืออะไร พระพุทธเจ้าแจกแจงไว้แล้ว ก็คือการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ เราทำกรรมฐานอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้า หายใจออกอย่างนี้ อยู่ในอานาปานสติ อยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราเห็นท้องพอง เราเห็นท้องยุบ อันนี้อยู่ในสัมปชัญญบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรารู้ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อันนี้อยู่ในอิริยาบถบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้นเราทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ เห็นไหมสำนักไหนมันก็เหมือนกันล่ะ บางคนก็มอง อย่างพุทโธ พุทโธไม่เห็นว่าจะอยู่ในสติปัฏฐาน 4 ตรงไหนเลย เพราะฉะนั้นพุทโธไม่ใช่วิปัสสนา อันนี้เขาพูดวิพากษ์พุทโธโดยไม่รู้จักพุทโธ สิ่งที่เรียกว่าพุทโธจริงๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านเรียกพุทโธ คือจิตต่างหากล่ะ จิตนั่นล่ะคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตนั่นล่ะคือพุทโธ เพราะฉะนั้นเราเอาจิตเป็นวิหารธรรม มันก็อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมือนกัน อย่างท่องพุทโธๆ แล้วจิตหลงไปคิด เรารู้ทัน ถามว่ารู้อะไร รู้จิต เพราะฉะนั้นก็เข้าไปสู่จิตตานุปัสสนา ฉะนั้นกรรมฐาน ถ้าเราเข้าใจหลักแล้ว กรรมฐานอะไรก็ได้ ยกเว้นกรรมฐานอะไรที่มันนอกรีตนอกรอยจริงๆ เตลิดเปิดเปิงออกไปข้างนอก ไปนั่งดูจุดไฟแล้วก็นั่งดูอดีตดูอนาคตอะไรอย่างนั้น อันนั้นไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธหรอก

เบื้องต้นหลวงพ่อแนะนำพวกเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ไม่ใช่นั่งเฝ้าจนเคร่งเครียดๆ บางคนจะให้ดูจิต ก็ไปนั่งเฝ้าจิตไว้เครียดๆ เลย อย่างนั้นไม่ใช่ อันนั้นทำด้วยโลภะ ทำด้วยความโลภ ที่ใดมีกิเลสที่นั่นไม่มีสติ เพราะฉะนั้นตรงนั้นสติไม่เกิดหรอก ฉะนั้นทำกรรมฐานไป ทำสบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง

เวลาเราทำกรรมฐาน จิตมันจะพลาดไป 2 จุดเท่านั้น ไม่เผลอก็เพ่ง ไม่เผลอไปคิดเรื่องอื่น ลืมอารมณ์กรรมฐาน ก็ถลำลงไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน อย่างดูท้องก็ไปเพ่งท้อง ดูเท้าก็ไปเพ่งเท้า ขยับมือก็ไปเพ่งมือ รู้ลมหายใจก็ไปเพ่งลมหายใจ อันนั้นจิตสุดโต่งไปข้างเพ่ง จิตเผลอไป อย่างเราทำกรรมฐานแล้วจิตเผลอไป ตรงที่จิตมันเผลอไป มันหลงไป ขณะนั้นเราย่อหย่อนแล้ว เราหลงไปเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส หรือในเรื่องราวที่เราคิดขึ้นมา อันนั้นเรียกว่าพวกกามคุณอารมณ์

ฉะนั้นเวลาจิตมันหลงไป หลงไปในกามคุณอารมณ์ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย หรือการคิดนึกถึงเรื่องราวที่สนุกสนานทั้งหลาย ให้เรารู้ทันๆ เอา จิตหลงไปดูรูปให้รู้ทัน จิตหลงไปฟังเสียงให้รู้ทัน ทำกรรมฐานไปล่ะ หายใจเข้าพุทออกโธ หรืออะไรก็ได้ แล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน หรือบางทีเรานั่งหายใจอยู่ เห็นคนเดินมาหน้าบ้าน จิตวิ่งออกจากบ้านไปแล้ว วิ่งไปดูแล้วว่าใครมันมาหน้าบ้านเรา มาทำอะไร จิตหลงไปทางตาแล้วให้เรารู้ทัน

เคล็ดลับของการทำสมาธิ อย่าบังคับจิตแต่ให้รู้ทันจิตไว้ ทำกรรมฐานไปแล้วจิตเราหลงไปคิด หรือหลงไปดู หลงไปฟัง รู้ทัน หรือมันหลงไปเพ่ง รู้ทัน ทำไปเถอะ ตรงที่เรารู้ทัน ทุกครั้งที่สติรู้ทันว่าจิตหลงไป จิตหลงมันเป็นอุทธัจจะ มีกิเลสชื่ออุทธัจจะ เป็นโมหะชนิดหนึ่ง ฉะนั้นพอเรารู้ว่าจิตหลง จิตหลงจะดับ สติเกิดขึ้น ทันทีที่สติเกิดขึ้นจิตรู้ก็เกิดขึ้น ฉะนั้นเราจะพัฒนาจนกระทั่งเราเกิดจิตรู้ขึ้นมา แล้วเราก็จะพบว่าเดี๋ยวก็รู้ แป๊บเดียวหลงอีกแล้ว ไม่เป็นไร เราก็ทำกรรมฐานของเราต่อไป สังเกตไหม หลวงพ่อเน้นว่าต้องมีการทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต

 

ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต

ถ้าอยู่ๆ เราบอกเราไม่มีเครื่องอยู่ อะไรเกิดขึ้นในกายคอยรู้ อะไรเกิดขึ้นในเวทนา ในสัญญาอะไร เกิดขึ้น รู้ลูกเดียว สักพักเดียวจิตจะไม่มีแรง จิตจะฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านก็คือจิตกระโดดไปจับอารมณ์นั้นที กระโดดไปจับอารมณ์นี้ที จิตมันทำงานหนักเกินไป หมุนซ้ายหมุนขวาอยู่ตลอดเวลา มันก็หมดแรง เราก็ไม่ได้สมาธิ จะไม่ให้จิตมันหมุนซ้าย หมุนขวา ไม่ให้มันหมดแรง เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรา มีอารมณ์อันเดียวนี่ล่ะ แล้วก็รู้ทันจิตเอา จิตหนีไปจากอารมณ์กรรมฐานก็รู้ จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้

วันนี้หลวงพ่อย้ำตรงนี้ให้มากเพราะพวกเราสมาธิไม่ค่อยมี จุดอ่อนของฆราวาสก็คือสมาธิไม่พอ วันๆ หนึ่งฟุ้งอุตลุดเลย ยิ่งเล่นเน็ต เล่นเฟซบุ๊ค เล่นไลน์ เล่นอินสตาแกรมอะไรต่ออะไรวันๆ หนึ่ง ติ๊กต็อกอะไรอย่างนี้ ไม่เหลือเวลาแล้ว จิตออกนอกหมด แล้วเราจะเรียนรู้ตัวเองได้อย่างไร จิตหนีไปอยู่ข้างนอกหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องมีวินัย มีวินัยในตัวเอง ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยวไปเลย อย่างน้อยเราไม่ได้ภาวนาทั้งวันหรอก เราก็ตั้งใจไว้ ทุกวันเราจะภาวนาถวายพระพุทธเจ้า จะทำในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอารมณ์กรรมฐานที่เราถนัด

อย่างหลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ที่ถนัดเพราะทำมาตั้งแต่ 7 ขวบ ก็ถนัดสิ ทำมาตั้งนานแล้ว พอหายใจปุ๊บมันก็สงบแล้ว พวกเราก็ทำ หลวงพ่อเอาเคล็ดลับมาบอกให้ เมื่อก่อนสมัยหลวงพ่อเรียน กว่าจิตจะสงบไม่รู้หลัก ยาก แต่ตอนเด็กๆ มันง่าย เพราะเด็กมันไม่คิดมาก ครูบาอาจารย์ให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็หายใจไป แป๊บเดียวจิตก็รวมสว่างไสว ลมหายใจหายไปแล้ว พอมันมาอยู่ตรงนี้แล้วมีความสุข จิตมันชอบ มันอยากมาอยู่ตรงนี้ตลอด คราวนี้หายใจอย่างไรก็ไม่สงบแล้ว ไม่มีความสุขแล้ว เพราะใจมันโลภ

กว่าจะจับเคล็ดลับได้ว่าถึงเราจะทำสมถะ เราก็ทิ้งจิตไม่ได้ เราก็ต้องทำสมถะทำกรรมฐานของเราไปแล้วรู้ทันจิตไว้ อย่าอยากสงบ ถ้าอยากสงบให้รู้ว่าอยาก แล้วก็คอยดูไปง่ายๆ ทำกรรมฐานอยู่แล้วจิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ แค่นี้ล่ะ คือเราคอยรู้ทันจิตเวลามันหลงไป ไม่นานจิตก็จะตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่ไม่หลงนั่นล่ะ มันก็ง่ายๆ แค่นั้นล่ะ แต่ก่อนวาดภาพสมาธิเอาไว้ลึกลับเลย จริงๆ สมาธิมันคือความตั้งมั่นของจิต ทำไมมันตั้งมั่น เพราะมันไม่หลง ถ้ามันหลงมันก็คลอนแคลนโคลงเคลง แกว่งซ้ายแกว่งขวา แกว่งไปอดีต ไปอนาคต แกว่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอะไรอย่างนี้ วุ่นวาย เผลอไปคิด แกว่งไปเพ่งอารมณ์อะไรอย่างนี้ จิตมันเคลื่อนตลอด มันจะมีความสงบได้ที่ไหน

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานเสีย ทำไป ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย ตื่นนอนให้ไวๆ หน่อยแล้วก็มาทำกรรมฐาน ก่อนนอนก็ทำกรรมฐาน แล้วกลางวันถ้ามีเวลา อย่างเรากินข้าวเสร็จ เราก็ทำกรรมฐาน หลวงพ่อก็ทำแบบนั้น ตื่นนอนมาหลวงพ่อก็ภาวนาเลย ยังอยู่บนเตียงเลย ยังไม่ได้ลุกเลยก็ภาวนาแล้ว กลางวันไปกินข้าวกลางวัน กินข้าวก็ภาวนา กินข้าวเสร็จแล้วก็ไปเดินจงกรม แต่ไม่ได้เดินกลับไปกลับมา เดี๋ยวคนมันว่าเราบ้า หลวงพ่อก็เดินไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ไปไหว้พระหน้าโบสถ์นั่นล่ะ ไม่ได้เข้าโบสถ์หรอก ไม่มีเวลา แล้วก็เดินกลับ เดินก็เดินจงกรมนั่นล่ะ เดินรู้สึกตัวไป ตกเย็นก็กลับบ้านมา พักผ่อนพอให้หายเหนื่อยหายเครียดแล้ว ก็ภาวนา ทำกรรมฐานของเราไป แล้วก็รู้ทันจิตใจของเราไป

อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตถลำไปเพ่ง รู้ทัน ฝึกอยู่ไม่นานหรอก จิตก็มีพลังขึ้นมา อันนี้เอาไว้ทดแทนสำหรับคนที่เข้าฌานไม่ได้ ใช้วิธีที่หลวงพ่อบอก จิตมันจะได้สมาธิ แต่เบื้องต้นมันก็จะได้ขณิกสมาธิ ได้สมาธิทีละขณะๆ แต่พอเราชำนิชำนาญ มันเกิดถี่ยิบขึ้นมา มันจะเหมือนเราทรงตัวรู้อยู่ได้ทั้งวัน เหมือนจิตทรงอยู่ในอุปจารสมาธิได้เลย แล้วเราก็เดินปัญญาได้สบายๆ เพราะฉะนั้นเราไม่ทิ้งจิต นี่เรื่องของสมถะ เราไม่ทิ้งจิต

พอจิตเราตั้งมั่นเราก็เดินวิปัสสนาต่อ เพราะงานของเรามี 2 งาน งานสมถกรรมฐาน ทำให้จิตตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรง พร้อมที่จะเจริญปัญญา เป็นงานสนับสนุน งานหลักของเราจริงๆ ก็คือการเจริญปัญญา การเจริญปัญญานั้นก็คือการเห็นๆ ไม่ใช่การคิด คือการเห็นความจริงของร่างกาย คือการเห็นความจริงของจิตใจ นั่นล่ะคือการเจริญปัญญา หรือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ความจริงของร่างกายก็คือไตรลักษณ์ ความจริงของจิตใจก็คือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเห็นไตรลักษณ์

 

พอจิตตั้งมั่นแล้วเราเดินปัญญาต่อ

การจะทำวิปัสสนาทำได้หลายแบบ เริ่มต้นจะทำที่กายก็ได้ เหมือนอย่างสมถะเริ่มต้นอะไรก็ได้ แต่ขอให้รู้ทันจิตเอาไว้ พอจิตเราตั้งมั่นมีกำลังแล้ว เราเริ่มทำวิปัสสนา ถ้าจิตเราเข้าสมาธิลึกไปเลย ถอยออกจากสมาธิมาได้ จิตมันนิ่งๆ ว่างๆ ตรงนั้นดูจิตไม่ได้ สมาธิมากเกินไป ดูจิตไม่ได้ มันว่างอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ว่างอยู่หลายวันเลย ไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก แบบนั้นให้เราน้อมจิตออกมาสังเกตที่ร่างกายเรา เวลาจิตมีสมาธิมากๆ จะเดินปัญญา ดูกายเอาไว้ ดูร่างกายเลย เราจะเห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน แล้วการที่จิตมันมีสมาธิอยู่มันจะเห็นว่าร่างกายกับจิตมันแยกออกจากกัน กายมันเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้กาย กายกับจิตมันแยกออกจากกัน อันนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้แล้ว

การเจริญปัญญานั้นมันจะเริ่มต้นจากการแยกขันธ์ แยกรูปแยกนาม ก็จะเห็นร่างกายมันคือรูปธรรม มันอยู่ส่วนหนึ่ง จิตมันเป็นนามธรรม มันเป็นคนรู้ มันอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ อยู่ๆ ไปดูกายจิตมันจมลงไปที่กาย เราดูท้องพองยุบ จิตมันจมไปที่ท้อง มันไม่แยกหรอก มันแยกได้ จิตต้องมีสมาธิ จิตต้องตั้งมั่น ที่เราพยายามทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตนั่นล่ะเพื่อให้จิตตั้งมั่น

พอจิตตั้งมั่นแล้วเราเดินปัญญาต่อ ดูลงในกายเลย ร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ พวกเรารู้สึกไหม พวกเราตอนนี้จิตมันมีสมาธิขึ้นมาจากการฟังธรรมแล้ว การที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ สมาธิมันเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้เจตนาเลย อาศัยสมาธิที่เกิดขึ้นแล้วสังเกตลงไป ขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหม ขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ ขณะนี้ร่างกายหายใจอยู่รู้สึกไหม รู้สึกไปอย่างนี้ ง่ายๆ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ขณะนี้ร่างกายขยับ ขณะนี้ร่างกายคันแล้วก็เกาอยู่ ตอนนี้ร่างกายไอ คอยรู้ไปอย่างนี้ เราจะเห็นร่างกายมันทำงานไปเรื่อยๆ แต่จิตเป็นคนดู ถึงจุดหนึ่งมันก็จะเกิดปัญญา เรามีสติรู้การทำงานของกายไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง คือจิตที่เป็นคนรู้นั่นล่ะแล้วปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก มันเป็นอะไรตัวหนึ่งที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง

อย่างขณะนี้พวกเรามีสมาธิจากการฟังธรรม ทำใจปกติ ใช้ใจปกติของเราเลย รู้สึกไหม ตัวอะไรมันนั่งอยู่ รู้สึกไหม ตัวอะไรนี้นั่งอยู่ ถ้าเรารู้สึกด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางจริงๆ ปัญญาจะเกิดทันทีเลย ตัวนี้เป็นแค่รูปธรรม เป็นวัตถุ มันมาตั้งอยู่บนเก้าอี้นี้ เป็นของที่จิตไปรู้เข้า มันไม่ใช่ตัวเราๆ ทันทีเลย ที่เราทำวิปัสสนาก็เพื่อถอดถอนความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา พอจิตเราตั้งมั่น มันถึงจะถอดถอนความเห็นผิดได้ มันจะเห็นว่ากายกับจิตมันคนละอันกัน กายกับจิตคนละอัน แล้วต่อไปก็เห็นลึกซึ้งลงไปอีก ร่างกายมันของถูกรู้ถูกดู เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งกระดุกกระดิกๆ แล้วแต่จิตจะสั่ง จิตเป็นตัวโปรแกรม เป็นซอฟท์แวร์สั่งให้ฮาร์ดแวร์ตัวนี้เคลื่อนไหว ก็ดูไปอย่างนั้นแล้วเราก็จะรู้เลยว่าอันนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา

อันนี้พวกที่เจริญกายานุปัสสนาที่จะให้เกิดปัญญาก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนรู้กายก็ไม่ใช่เรา ถ้าเราจะเจริญเวทนานุปัสสนา ทำวิปัสสนาด้วยการดูเวทนา แนะนำง่ายๆ เวทนาที่ดูง่าย คือเวทนาทางใจ ใจเราเดี๋ยวก็สุข ใจเราเดี๋ยวก็ทุกข์ ใจเราเดี๋ยวก็เฉยๆ ดู 3 อันนี้เท่านั้นล่ะ ที่ในใจเรา เราก็จะเห็น ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่เราจะเห็นว่าความสุขที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่จิต มันเป็นแค่สิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความเฉยๆ ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

ขณะนี้พวกเราส่วนใหญ่จิตเฉยๆ รู้สึกไหม จิตมันเฉยๆ สังเกตไหม ความเฉยๆ เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ว่ามันเฉยๆ นี่มันจะแยกออกมา แล้วมันจะเห็นว่าความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์อะไร ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ สั่งให้ดับก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ อย่างใจเราจะสุข หรือใจเราจะทุกข์ สั่งได้ไหม ลองสั่งสิ จงมีความสุขเดี๋ยวนี้ สั่งสิ สั่งมันไปเลย จงมีความสุข ไม่เห็นมีใครมีความสุขเลย รู้สึกไหม มันสั่งไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปสั่ง เพราะว่าจริงๆ มันสั่งไม่ได้

เวทนาไม่ว่าสุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้หรอก สั่งว่าอย่ากลุ้มใจได้ไหม อย่าทุกข์ได้ไหม ก็สั่งไม่ได้ สังขารคือกุศลอกุศลทั้งหลาย ถ้าเราหัดดูก็เหมือนกัน แบบเดียวกับที่เราดูร่างกาย แบบเดียวกับที่เราดูเวทนานั่นล่ะ อย่างจิตเรามีกุศลขึ้นมา มีศรัทธาอยากฟังธรรม อยากรักษาศีล อยากทำทานอะไรอย่างนี้ จิตใจเป็นกุศลขึ้นมา เราก็รู้ทันลงไป แล้วไม่นานเราก็จะเห็นมันก็ดับเหมือนกัน อย่างตื่นเช้ามาอยากฟังธรรมใช่ไหม พอฟังไปๆ เบื่อแล้ว อยากกลับบ้าน ศรัทธาหายไปแล้ว ไม่อยากฟังแล้ว ขี้เกียจแล้ว ความขี้เกียจเข้ามาแทนที่แล้ว กระทั่งกุศลมันก็ไม่เที่ยง กุศลมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เช่นเดียวกับอกุศลทั้งหลายล่ะ

เพราะฉะนั้นอย่างใจเราโลภขึ้นมา ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปล้าง ใจเราโกรธขึ้นมา ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องล้าง จิตมันมีความโลภขึ้นมาให้รู้ว่ามันโลภ มันโกรธขึ้นมาให้รู้ว่ามันโกรธ แล้วเราจะเห็นว่าความโลภ ความโกรธไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความโลภ ความโกรธ ล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่บังคับไม่ได้ อันนี้คือการทำวิปัสสนา ต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา ต้องเห็นเอา

 

ภาวนาอย่าทิ้งจิต

ถ้าเราหัดอย่างนี้ สังเกตไหม ไม่ว่าเราจะทำวิปัสสนาด้วยการรู้กาย เราก็มีจิตเป็นคนรู้กาย เราจะทำเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราก็มีจิตเป็นคนรู้เวทนา เราจะเจริญธัมมานุปัสสนา หรือเจริญจิตตานุปัสสนา เราก็มีจิตเป็นคนเจริญ เพราะฉะนั้นไม่ว่าตั้งแต่ทำสมถะแล้ว ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ดี

พอถึงขั้นวิปัสสนาเราก็ยังไม่ทิ้งจิต เราก็เห็นว่าจิตมันเป็นประธาน เป็นคนดูอยู่ เห็นร่างกายมันทำงาน จิตเป็นคนดู เห็นความสุขความทุกข์มันเกิดขึ้น จิตเป็นคนดู เห็นกุศลอกุศลมันเกิดขึ้น จิตเป็นคนดู เพราะฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาจิตที่เป็นคนดูนี้ขึ้นมา เพื่ออะไร เพื่อวันหนึ่ง เราจะมาเดินวิปัสสนา มันจะแยกขันธ์ได้ ถ้าจิตของเราไม่มีกำลัง ตั้งมั่น เป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่จิตที่ทรงสัมมาสมาธิ จะไม่สามารถแยกขันธ์ได้ จะแยกขันธ์ไม่ออก

หลวงตามหาบัวท่านเคยพูด บอก “ถ้ายังแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยอวดเราว่าเจริญปัญญา” ฉะนั้นการเจริญปัญญามันเริ่มจากการแยกธาตุแยกขันธ์ มันจะแยกได้ก็เมื่อจิตมันเป็นคนดู แล้วมันจะเห็นว่าขันธ์ทั้งหลาย อย่างรูป เวทนาคือสุขทุกข์ สังขารคือดีชั่ว เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตหรอก อย่างนี้เรียกว่ามันแยกจากกัน เพราะมันไม่ใช่จิต อันนี้คือจิต อันนี้ไม่ใช่จิต ถ้ามันแยกได้อย่างนี้ มันถึงจะเริ่มถอดถอนความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้

อย่างเราจะรู้สึกว่านี่ตัวเราๆ แต่ถ้าเราแยกออก จิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราเห็น ตัวนี้ที่นั่งอยู่ไม่ใช่ตัวเรา แค่รูปมันนั่งอยู่ ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้น ไม่ใช่เราสุขเราทุกข์ มันก็แค่ความสุขทุกข์มันผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เราโลภ โกรธ หลง มันก็แค่ความโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ทุกอย่างมันก็เป็นแบบเดียวกันนี้ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำกรรมฐาน สมถะก็อย่าทิ้งจิต จะทำวิปัสสนา ถ้าทิ้งจิตแล้วทำไม่ได้เลย ต้องมีจิตเป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่

เห็นไหม สมถะ เราก็ต้องพัฒนาให้มีจิตผู้รู้ขึ้นมา ต้องรู้ทันจิตเรื่อยๆ ไป ทำกรรมฐานจิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปเพ่งแล้วรู้ ในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วก็แยกขันธ์ไป ดูกายก็เห็นกายกับจิตมันคนละอัน ดูเวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอัน ดูสังขารก็เห็นสังขารกับจิตก็คนละอัน แล้วแต่ละอันๆ จะแสดงไตรลักษณ์ได้ ถ้ามันรวมกันเป็นกระจุกอยู่อย่างนี้ ขันธ์ 5 มารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดูหรอก ดูไม่ออกหรอก

นี่คือแนวทางปฏิบัติทั้งหมดตั้งแต่ต้นเลย ถัดจากนั้นก็ไม่ทิ้งจิตอีกล่ะ ถัดจากนั้นขั้นตอนที่เกิดมรรคเกิดผล ตอนเกิดอริยมรรคเกิดอริยผลก็เกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่อื่น ไม่ได้เกิดที่ดิน ฟ้า อากาศ ไม่ได้เกิดที่ร่างกาย ไม่ได้เกิดที่เวทนา สัญญา หรือสังขารอะไรทั้งสิ้น เกิดที่จิต กระบวนการก็คือจิตมันจะเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วมันจะวางการรู้อารมณ์ข้างนอก มันทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้ ธาตุรู้ก็คือจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมา

ค่อยๆ ฝึก วันหนึ่งก็จะเข้าใจ หลวงปู่มั่นถึงสอน “ได้จิตก็ได้ธรรม” ได้ธรรมะ “ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ” เพราะสุดท้ายเราเข้ามาถึงตัวจิตแท้ธรรมแท้ตัวนี้ ถ้ายังมาไม่ถึง ถ้าเราภาวนาดีๆ ได้ธรรมะเบื้องต้นแล้ว ภาวนาๆ อยู่บางทีจิตก็วางจิตลงไป จิตปล่อยวางจิตได้ ไม่ใช่วางแค่ร่างกาย จิตวางจิตได้แล้วก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก อันนั้นสติปัญญาเรายังไม่แก่รอบ ยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ จะรู้ว่าตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะตัวบรมทุกข์เลย หัวโจกของความทุกข์อยู่ตรงนี้เลย ตัวนี้ล่ะคือตัวอวิชชา ตัวจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา ตัวจิตผู้รู้ที่เราพัฒนาขึ้นมานั่นล่ะ ถึงจุดหนึ่งต้องทำลายลงไปอีกทีหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งทำลายเพราะพวกเรายังไม่มีจิตผู้รู้เลย มีแต่จิตผู้หลง แต่ว่าภาวนาเรื่อยๆ มันจะวาง ค่อยวาง พอเราไม่แบก ไม่ถือไว้มันก็พ้นทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านก็บอก “ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลทั้งหลายแบกภาระเอาไว้ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าทั้งหลาย” หมายถึงพระอรหันต์ คำว่าพระอริยเจ้า “พระอริยเจ้าทั้งหลายวางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก” ท่านถึงพ้นจากความทุกข์ พอเราวางได้ก็พ้นทุกข์เป็นลำดับไป ตัวสุดท้ายที่จะต้องวางก็คือตัวจิตนั่นล่ะ รูปนี้วางง่าย มันเห็นไม่ใช่เรา เวทนาก็ยังยากขึ้นนิดหนึ่ง สังขารก็ยากหน่อยหนึ่ง แต่ตัวที่ยากที่สุดคือจิต

ฉะนั้นภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

 

 

สรุปวันนี้ที่เทศน์ให้ฟัง เบื้องต้นถือศีล 5 ไว้ ความดีทั้งหลายมีโอกาสทำก็ทำ ไม่มีโอกาสอยู่เฉยๆ ก็ได้ อย่างการทำสังคมสงเคราะห์ ไม่ต้องสังคมสงเคราะห์จนกระทั่งตัวเองกลุ้มใจ มีโอกาสทำความดีก็ทำ โอกาสยังไม่มีอยู่เฉยๆ ภาวนาของเราไป แล้วทุกวันต้องแบ่งเวลาทำในรูปแบบ จิตเราจะได้มีสมาธิที่เข้มแข็งมากขึ้นๆ ทำในรูปแบบก็คือใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แต่สำคัญที่สุดรู้ทันจิตตนเอง ทำกรรมฐานแล้วจิตหนีไปคิด รู้ จิตหนีไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้

ทำบ่อยๆ ทำทุกวันๆ จิตจะมีกำลังตั้งเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วเราจะเริ่มเห็นโดยที่เราไม่ได้เจตนา จะเห็นว่าร่างกายมันเคลื่อนไหว ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายหายใจเป็นของถูกรู้ถูกดู เพราะมันเป็นคนละอันกับจิต มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มันก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราเหมือนกัน

สุดท้าย มันก็วางพวกนี้ลงไป เข้ามาที่จิตดวงเดียวแล้วก็เห็นอีกทีหนึ่งว่าตัวจิตผู้รู้ผู้วิเศษนั้น ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ค่อยรู้ๆๆ จนกระทั่งมันแจ้ง โอ๊ย ตัวจิตมันก็ตัวทุกข์นั่นล่ะ ไม่ใช่แค่รูปเป็นตัวทุกข์ เวทนา สัญญา สังขารเป็นตัวทุกข์ จิตก็เป็นตัวทุกข์ จิตที่ดีที่วิเศษก็คือตัวทุกข์ มันถึงจะวาง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
20 พฤศจิกายน 2565