จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

การปฏิบัติมันไม่ได้ยากเย็นอะไรนักหนา เรียนให้รู้เรื่อง รู้วิธีแล้วก็ลงมือทำ นักปฏิบัติ คนที่ชอบปฏิบัติจำนวนมาก น่าสงสาร ไปภาวนากันมันไม่ได้หลักเสียที มันจับแก่นของการปฏิบัติไม่ได้ จับคีย์หัวใจ จับไม่ได้ ก็พยายามพากเพียรผ่านไปเป็นสิบๆ ปี บางคนหลายสิบปี สูงสุดก็เลยไปแค่พรหมโลก ไปเป็นพระพรหม ไม่รู้วิธีที่จะตัดออกจากวัฏฏะ

หลวงพ่อเมื่อก่อนก็เอาแต่ทำสมาธิ เพราะไม่รู้วิธีเหมือนกัน ทำแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำอยู่อย่างนั้นตั้งนาน ก็ได้สงบ สบาย ได้ของเล่น ของจริงไม่ได้ ไปอ่านตำรับตำรามากมาย พระไตรปิฎกอ่านพระวินัยกับพระสูตรหลายรอบ อยากรู้ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร มีคำสอน ยิ่งในพระสูตรมีเยอะมากเลย ฟังว่าพระพุทธเจ้าสอนคนนี้อย่างนี้ สอนท่านนี้อย่างนี้ เราก็อ่าน เราก็ฟัง แต่มันไม่ได้เคล็ดลับ คล้ายๆ เราเจอตู้พระไตรปิฎกแล้ว แต่เราไม่มีกุญแจที่จะไขตู้เข้าไป

ไปอ่านได้แต่หนังสือ ได้แต่ตัวหนังสือ จำได้แต่ตัวหนังสือ แต่ธรรมะเนื้อแท้นั้นจับใจความไม่ได้ เคยไปบวชอยู่กับหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ เคารพท่าน กับท่านพุทธทาส ถือเป็นครู ไปบวชกับท่าน แต่ท่านก็ไม่ค่อยอยู่วัดหรอก งานนิมนต์ของท่านเยอะ พอบวชแล้วจะถามอะไรท่านไม่เจอท่าน จนถึงวันสึกถึงเจอท่าน ไปสึกกับท่าน อยู่วัดก็ได้แต่ภาวนาอย่างที่เราเคยทำ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ที่วัดนั้นก็มีสอนพองยุบ หลวงพ่อไม่ค่อยชอบ ไม่ถูกจริต ไม่ใช่เขาไม่ดีแต่ว่าไม่ถูกจริต ไม่ชอบ เราก็ยังทำอย่างเดิมของเรา

วันที่บวชหลวงพ่อปัญญาท่านก็ให้หนังสือมาเล่มหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไร มันเป็นชุดธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสเล่มเบ้อเริ่ม เล่มหนาๆ มานั่งอ่านๆๆ ไม่รู้จะศึกษากับใคร ศึกษาจากหนังสืออีกล่ะ ไปสะดุดใจอยู่คำหนึ่ง ท่านพุทธทาสท่านเขียนไว้ “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท” คราวนี้ก็ไม่รู้อีก “ปฏิจจสมุปบาท” คืออะไร ไปถามพระในวัด ไม่มีใครตอบ บางองค์ก็ อ๋อ เป็นเรื่องสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี แล้วหนีไปเลย ไม่ได้ตอบเรา ตอนนั้นก็งงทำไมไม่ตอบ ตอนนี้ไม่งง

ตอนนั้นก็ฝังใจว่าสึกออกไป เราจะต้องเรียนปฏิจจสมุปบาทให้ได้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปเรียนที่ไหน แล้วสิ่งหนึ่งที่ได้จากตอนไปบวชตอนนั้น ก็คือบทสวดมนต์แปลของสวนโมกข์ฯ ถ้าพวกเราไม่เคยอ่านลองไปอ่านดู โดยเฉพาะบททำวัตรเช้า พูดเรื่องขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็รูปไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา วิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา ก็เลยได้ยินคำว่าขันธ์ 5 แต่ดูแล้วก็ยังไม่รู้จะเอาไปปฏิบัติอย่างไร สวดมนต์จะจำไว้ รู้สึกธรรมะอันนี้น่าสนใจจริงๆ

ฉะนั้นสึกออกมาตอนนั้น ก็เลยพยายามจะเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท กับเรื่องขันธ์ 5 ฝังอยู่ในใจ เที่ยวไปหาหนังสือปฏิจจสมุปบาท ได้มาเล่มหนึ่งของท่านพุทธทาส เล่มนิดเดียว เล่มเล็กๆ ไปอ่าน มันก็แค่บอก อวิชชาคืออะไร อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร สังขารมี 3 อย่าง สังขารเป็นปัจจัยของวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยของอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยของเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยของตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยของอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยของภพ ภพเป็นปัจจัยของชาติ ชาติเป็นปัจจัยของทุกข์ ก็ดูแต่ละตัวๆ มีสภาวธรรมอะไรบ้าง อย่างตัณหามี 3 กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ท่องได้แต่ชื่อ แต่มองไม่เห็นสายสัมพันธ์ของมัน มันเป็นปัจจัย มันเป็นปัจจัย มันเป็นอย่างไร ไม่เห็น

 

อ่านจิตตนเอง

ฉะนั้นอ่านก็ได้แต่จำชื่อไว้ ไม่รู้จะภาวนาอย่างไร มันไม่ได้หลัก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ ฟังครูบาอาจารย์สายวัดป่า ท่านก็สอนดีแต่ละองค์ ส่วนใหญ่ที่ท่านเทศน์ก็พุทโธพิจารณากาย เราก็ทำบ้าง พุทโธพิจารณากาย ดูลงไปจนกายมันสลายไป มันก็อยู่แค่นั้นเอง ไปต่อไม่ได้ จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ กว่าจะจับใจความได้ ท่านไม่ได้บอกเราว่า ตรงนี้เป็นกุญแจของการปฏิบัติ แต่ท่านสอนบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เราก็รู้สึก เออ ท่านสอนแปลก ให้อ่านจิตตนเอง

ก่อนเจอท่านเคยนิมิต นั่งสมาธิแล้วก็นิมิต ฝันๆ ไป เห็นพระแก่ๆ ผอมๆ องค์หนึ่ง มายื่นผลไม้มาให้ลูกหนึ่ง ลูกกลมๆ แล้วก็บอกว่า “ผลไม้นี้จะหวานหรือจะเปรี้ยว อยู่ที่เนื้อในของมัน เราจะชั่วหรือจะดี ก็อยู่ที่จิตตนเอง” ขึ้นไปกราบท่านไปเห็น โอ้ องค์นี้เองที่เราเคยฝันถึง แล้วท่านก็สอนบอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ท่านเป็นพระที่อัศจรรย์มากเลย รู้ด้วยว่าหลวงพ่อไปอ่านตำรามาเยอะแล้ว ท่านก็จะสั่งบอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้ให้อ่านจิตตนเอง” พอมาทำตามที่ท่านบอก เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้

เริ่มต้นจะหาจิตตัวเอง ไม่รู้จะหาอย่างไร จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะไปดูมันอย่างไรก็ไม่รู้ ดูแล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย งงอยู่ช่วงหนึ่ง ไม่นานหรอก งงอยู่ไม่นาน นึกถึงบทสวดมนต์แปลได้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตมันต้องอยู่ในขันธ์ 5 นี้ล่ะ จิตมันไม่เกินขันธ์ 5 นี้ออกไป แต่มันคือตัวไหนของขันธ์ 5 ไม่รู้ ตัวรูปหรือ ไปทำสมาธิดูลงไปในร่างกาย ร่างกายหายไป ไม่เห็นจิตเลย หรืออยู่ในเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ดูลงไปในเวทนา เวทนาดับก็ไม่เห็นจิต

หรือว่ามันอยู่ในความคิด ในสังขาร ตัวความคิด ตัววิตก อาการที่จิตมันตรึกอารมณ์ ก็เลยจงใจคิด “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” ก็เห็นกระแสความคิดมันขึ้นมาจากกลางอก กระแสความคิดมันไหลออกมา สติระลึกรู้ลงไปมันก็ขาด ตัวรู้มันก็เด่นดวงขึ้นมา ถึงเอามาบอกพวกเราอยู่เรื่อยๆ ไปทำกรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันเวลาจิตมันไหลไปคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด แต่รู้ว่าจิตคิด ไม่เหมือนกัน รู้เรื่องที่คิด จิตคิด ถ้ารู้เรื่อง หมามันก็รู้ คิดอะไรมันก็รู้ ทำไมมันไม่ได้ของดีอะไรเลย ให้เรารู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด ฉะนั้นเวลาจิตมันไหลไปคิด รู้ทันมัน จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด ตรงนี้เราเริ่มเข้ามาเห็นตัวจิตได้แล้ว

ฉะนั้นไปทำ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตไหลไปคิดให้รู้ทัน เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธอยู่ดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นลืมพุทโธไปแล้ว หรือจะไม่หายใจ ใช้บริกรรมพุทโธอย่างเดียว พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว มันลืมพุทโธ เราก็รู้ทันว่าตอนนี้จิตมันไหลไปคิดแล้ว ทันทีที่เรารู้ว่าจิตมันไหลไป อาการที่จิตไหลไปจะดับ จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน อย่างเราเห็นจิตมันไหล เราดูท้องพองยุบ เราเห็นจิตมันไหลจมลงไปที่ท้อง อาการที่จิตไหลลงไปก็จะดับ จิตรู้ก็จะเกิดเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ทันจิตที่ไหลไป จิตไหลไปจะดับ จะเกิดจิตที่รู้ จิตที่ไหลไป คือจิตอะไร คือจิตที่มีอุทธัจจะ จิตฟุ้งซ่านนั่นเอง จิตที่ฟุ้งซ่านก็จะฟุ้งซ่านไปทางทวารทั้ง 6 หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ นี่อาการที่จิตมันฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านเป็นจิตที่เป็น โมหมูลจิต ความฟุ้งซ่าน อุทธัจจะ อยู่ในกลุ่มกิเลสของโมหะ เป็นโมหะชนิดหนึ่ง แล้วการที่เรารู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่าน คือเรามีสติ สติเป็นตัวรู้ทัน เพราะฉะนั้นอย่างใจเราไหลไปอยู่ในโลกของความคิด เรารู้ทัน สติเกิดแล้ว

มันมีกฎของธรรมะอยู่ข้อหนึ่ง “เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นไม่มีกิเลส เมื่อไรมีกิเลส เมื่อนั้นไม่มีสติ” เพราะฉะนั้นเวลาจิตมันฟุ้งซ่าน ไปอยู่ในโลกของความคิด พอสติรู้ทันเท่านั้น ความฟุ้งซ่านดับทันทีเลย พร้อมๆ กับที่สติเกิด ดับอัตโนมัติ ไม่ต้องไปดับมัน มันดับเอง ทันทีที่สติเกิด แล้วทันทีที่สติที่แท้จริงอันนี้เกิด สมาธิที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา เพราะฉะนั้นให้เรารู้ทันจิตที่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะเน้นจิตหลงไปคิด คือจิตหลงทางใจ

ทำไมท่านมาเน้นที่จิตหลงไปคิด เพราะจิตหลงคิดเป็นจิตหลงที่เกิดบ่อยที่สุด วันๆ หนึ่งหลงคิดนับครั้งไม่ถ้วน อย่างเราอยู่ในบ้านเราไม่มีอะไรให้ดู มันไม่ได้หลงไปดู อยู่ในบ้านเราเงียบๆ ไม่มีอะไรฟัง มันไม่หลงไปฟัง ไม่มีกลิ่นอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา ก็ไม่หลงไปดมกลิ่น อยู่เฉยๆ อยู่ว่างๆ อยู่คนเดียว ก็ยังหลงคิดอยู่ เพราะฉะนั้นจิตหลงคิดเป็นจิตที่เกิดบ่อยที่สุด ท่านเลยเลือกสอนเรา “จิตหลงคิดแล้วรู้ๆ” เรียนจากของที่เกิดบ่อยๆ อย่างหลงไปดมกลิ่น มันน้อย จะรอให้หลงไปดมกลิ่นทีหนึ่งแล้วจะรู้ มันนานๆ จะรู้ทีหนึ่ง แต่ถ้าหลงคิดแล้วรู้ หลงคิดแล้วรู้ โอ๊ย มันจะถี่ยิบเลย นาทีหนึ่งหลงตั้งหลายรอบ มันจะดูได้บ่อย

การที่เราดูได้บ่อย เห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย สติมันจะยิ่งแข็งแรงขึ้น เพราะสตินั้นเกิดจากถิรสัญญา การที่จิตจำสภาวะได้แม่น อย่างเราเห็นสภาวะที่จิตหลง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้ จิตมันจำสภาวะที่หลงคิดได้ ต่อไปพอหลงคิดปุ๊บ สติจะเกิดเอง สติอัตโนมัติจะเกิด พอสติอัตโนมัติเกิด สมาธิอัตโนมัติก็เกิด สมาธิไม่ใช่สมาธิชนิดสงบ ไปนิ่งๆ แช่ๆ อยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างนั้นก็ดีได้พักผ่อน แต่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา

 

ฝึกให้ได้สติอัตโนมัติ
แล้วเราจะได้สมาธิอัตโนมัติขึ้นมาด้วย

สมาธิที่ทำให้เกิดปัญญา เรียกสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิต วิธีที่มันเกิด อาศัยสติรู้ทันจิตหลงคิดแล้วรู้ หลงคิดแล้วรู้นั่นล่ะ จิตจะค่อยๆ มีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ถัดจากนี้เราก็จะเจริญปัญญาได้แล้ว เราจะเจริญปัญญาด้วยการดูกายก็ได้ ถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดใช้เวทนา ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ถนัดดูจิตสังขาร กุศลอกุศลทั้งหลาย เราก็ดู ดูจิตไป เลือกที่เราถนัด ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต แล้วเราอยู่ๆ ก็จะมาดูจิต บางคนมันไม่ได้เหมาะ

ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ดูจิตมีไม่มากหรอก ส่วนใหญ่ท่านก็ให้ดูกายไปก่อน พอดูกายจนจิตมันมีกำลังพอ มันจะเข้ามาดูจิตได้ ฉะนั้นอย่างพวกเราจะเริ่มต้น ไม่จำเป็นว่า ได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิตแล้วเราจะต้องดูจิต เราดูตัวเองว่า เรารู้อะไรแล้วสติเกิดบ่อย เราเอาอันนั้น ถ้าดูจิต จิตเป็นกุศลก็รู้ อกุศลก็รู้ จิตโลภ โกรธ หลงอะไรขึ้นมาก็รู้ ถ้ารู้ได้เรื่อยๆ เราก็ใช้จิตเป็นวิหารธรรม หรือถ้าจิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ ร่างกายมีความสุขก็รู้ ร่างกายมีความทุกข์ก็รู้ ชำนาญในการรู้เวทนา รู้ได้บ่อย เราก็ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรม

ถ้าหาอะไรไม่ได้ ของง่ายเลย กาย กายนี้อยู่กับเราทั้งวัน แต่จิตไม่ค่อยอยู่กับเราหรอก จิตหนีไปเที่ยวทั้งวัน ฉะนั้นถ้ากำลังของเราไม่พอ รู้สึกกายไป ร่างกายไม่เคยหนีไปไหน ฉะนั้นต่อไปนี้ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก หัดรู้สึกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปพอร่างกายมันขยับ สติมันเกิดเอง พอสติมันเกิดปุ๊บ สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดอัตโนมัติขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้ได้สติอัตโนมัติ แล้วเราจะได้สมาธิอัตโนมัติขึ้นมาด้วย วิธีการก็คือดูกาย เวทนา หรือดูจิตใจของเรานี้ล่ะ ดูเรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปพอมีอะไรเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในกาย สติมันรู้สึก มีอะไรเปลี่ยนแปลงทางเวทนา สติมันก็รู้สึก กุศล อกุศลเกิดขึ้นที่จิต สติมันก็รู้สึก อย่างหงุดหงิดขึ้นมาสติรู้สึก อย่างหลวงพ่อใช้เข้ามาที่จิตเลย หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต ก็จะเห็นจิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตเซื่องซึมก็รู้

เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย ต่อไปพอจิตมันมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยขึ้นมา มันก็เห็น อย่างแต่เดิมต้องโกรธแรงๆ แล้วถึงจะเห็น ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติมันแหลมคมมากขึ้นๆ จะเห็นสภาวะได้ชัดเจนว่องไว อย่างกิเลสตัวใหญ่ๆ ก่อนที่มันจะตัวใหญ่ มันก็ตัวเล็กมาก่อน ถ้าสติเราไว เราเห็นตั้งแต่กิเลสตัวเล็กๆ กำลังงอกขึ้นมาแล้วขาดสะบั้นตรงนั้น กิเลสตัวใหญ่ๆ มันก็ไม่เกิด ถ้าเราดูจิตไม่ได้ เราก็ดูกายไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้าไป เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด

รู้สึกๆๆ ไปเรื่อย ต่อไปพอเราเผลอขาดสติ ถ้าร่างกายเกิดขยับขึ้นมา สติจะเกิดเอง เพราะเราเคยฝึกตัวเอง ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก ฝึกเรื่อยๆ แล้วต่อไปเวลาเราขาดสติ แล้วร่างกายเกิดขยับขึ้นมา มันรู้สึกเองเลย ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร อย่างหลวงพ่อดูจิตมา ดูๆ ไปเรื่อย หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกช่วยตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูครูบาอาจารย์ที่อื่น ไปดูแต่ละสำนักๆ ครูบาอาจารย์ นานาชนิดเลยกรรมฐานเที่ยวไปดูเขา

มีคราวหนึ่งไปดูหลวงพ่อเทียน อยู่วัดสนามใน หลวงพ่อเทียนท่านสอนขยับ 14 จังหวะ นี่เจ็ด สองข้างรวมกันแล้วสิบสี่ หลวงพ่อไปเห็นท่านสอน ท่านสอนไป คนเรียน ตอนนั้นศาลาที่ไปเห็น มันเป็นศาลาไม้ยาวๆ แคบๆ แต่ยาวๆ หลวงพ่อเทียนก็สอนๆ ญาติโยมก็ขยับกันใหญ่ เราก็สังเกต โอ้ หลวงพ่อเทียนท่านสอนไป พูดไป ขยับไป ท่านไม่หลง ท่านรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ วิธีของท่านก็น่าสนใจ ก็เลยพอดูจำวิธีท่านได้ ก็ไปนั่งใต้ต้นไม้ในวัดท่าน นั่งขยับบ้าง ขยับไป 14 จังหวะ ยังไม่ชิน ขยับแล้วรำคาญ มันเยอะไป ไม่ถูกจริต เพราะหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต อะไรที่ซับซ้อนวุ่นวาย ไม่ชอบ ก็เลยขยับแค่นี้ จาก 14 จังหวะ เหลือ 2 จังหวะ ย่นลงมาเหลือแค่นี้

เล่นอยู่พักหนึ่งก็กลับบ้าน แล้วก็นึกขึ้นได้ก็ขยับเล่น ขยับแล้วรู้สึกๆ ขยับไปจิตหนีไปเรารู้ ขยับๆ ไปจิตไปเพ่งมือเรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อย วันหนึ่งเห็นเพื่อนมันเดินอยู่คนละฝั่งถนน เพื่อนคนนี้ไม่เจอนานแล้ว ดีใจจะข้ามถนนไปคุยกับเขา ตอนนั้นดีใจไม่รู้ว่าดีใจ ขาดสติ ก้าวเท้าไปจะข้ามถนน พอเท้าเคลื่อนเท่านั้น สติเกิดเลย ร่างกายเคลื่อนไหว ตอนซ้อมนี่ซ้อมมือ แต่พอเท้าเราขยับ สติก็เกิดเอง รู้ว่า เฮ้ย นี่หลงไปแล้ว จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา เออ วิธีของท่านก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ทำให้ถูก ขยับแล้วรู้สึกตัวไว้ แล้วจิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตไปเพ่งมือแล้วรู้ รู้ทันอย่างนี้ แต่ถ้าขยับแล้วก็เพลินๆ ใช้ไม่ได้ หรือขยับแล้วก็เครียดๆ ใช้ไม่ได้ ต้องมีสติกำกับอยู่ ตัวสำคัญไม่ใช่อยู่ที่กระบวนท่า ไม่ใช่ขยับท่าไหน เดินท่าไหน นั่งท่าไหน ตัวสำคัญของการปฏิบัติก็คือตัวมีสติไว้

ถ้าเรามีสติอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวมันจะรู้เอง แล้วจิตมันจะตื่นขึ้นมา เวทนาเกิดขึ้น สติระลึกรู้ได้เอง แล้วจิตมันก็จะตื่นขึ้นมา จิตเป็นกุศลหรืออกุศล สติระลึกรู้ได้เองแล้วจิตมันจะตื่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เมื่อเรามีสัมมาสติที่ถูกต้อง ไม่ใช่บังคับให้เกิด มันเกิดอัตโนมัติ แล้วก็มีสัมมาสมาธิอัตโนมัติขึ้นมา อย่ากลัวว่าจะไม่เกิดปัญญา อาศัยองค์ธรรม 3 ตัว สัมมาวายามะ มีความเพียร สัมมาสติ เจริญสติให้มาก ก็คือการทำสติปัฏฐานอันใดอันหนึ่ง จนสติอัตโนมัติเกิด ทันทีที่สติเกิด จิตก็จะตั้งมั่นอัตโนมัติ อย่างเรารู้ว่าจิตไหลไป จิตไหลดับ จิตรู้ก็เกิด จิตอุทธัจจะ จิตโมหะ ไหล สติระลึกรู้ ดับปั๊บ จิตตั้งมั่นก็เกิด

 

กุญแจของการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสัมมาสติมากๆ ก็จะทำให้สัมมาสมาธิของเราบริบูรณ์ อันนี้พระพุทธเจ้าบอกไว้เลย แต่ตอนนั้นจับหลักของการปฏิบัติไม่ได้ พอมาจับเรื่องจิตใจตัวเองได้ ก็เลยได้กุญแจของการปฏิบัติ พอเรารู้ทันจิตของเราไว้ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ทำกรรมฐานไปแล้วรู้ทันจิตตัวเองได้ก็โอเคแล้ว ถ้าทำกรรมฐานแล้วรู้แต่กรรมฐาน ได้สมถะเฉยๆ เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วก็อยู่แค่นั้น ก็สงบลงไป หรือดูท้องพองยุบ ดูจนจิตนิ่งๆ ว่างๆ ไป อันนั้นก็เป็นสมถะ ขยับมือแล้วจิตสงบลงไปก็เป็นสมถะ

แต่ถ้าเราทำกรรมฐานแล้วเรารู้ทันจิตของตนเอง เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ เราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา มีสัมมาสมาธิ หรือเราดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น เราก็รู้ จิตถลำไปเพ่งท้อง เราก็รู้ ฝึกอย่างนี้มากๆ พอเราฝึกมากๆ จิตใจเราก็จะมีสมาธิมากขึ้นๆ มันมีกำลัง มันตั้งมั่นด้วย มีกำลังด้วย แล้วตรงนี้เราจะเดินปัญญาต่อได้ อาศัยความเพียร ขยันหมั่นเพียรคอยรู้คอยดู กิเลสอะไรเกิดเรารู้ กุศลเกิดเรารู้ จิตใจเราเป็นอย่างไรเรารู้ แล้วรู้ไปเรื่อยๆ สติก็จะแข็งแรงขึ้น พอสติที่ดีเกิดขึ้นแล้ว สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดด้วย

สัมมาวายามะที่ทำให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติที่ทำให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีปัญญา เพราะว่ามันจะทำให้สัมมาญาณะ คือตัวปัญญาของเรานี้บริบูรณ์ขึ้นมา เมื่อปัญญาเราแก่รอบ รู้แจ้งแทงตลอดลงในตัวขันธ์ 5 นี้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น ปัญญาในขั้นนี้รู้ไตรลักษณ์ รู้ไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 ของรูป ของนาม ของกายของใจ อาศัยสติ สมาธิ ทำให้มากๆ ทำให้มากก็คือสัมมาวายามะ แล้วสัมมาญาณะ คือความหยั่งรู้ที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น หยั่งรู้อะไร หยั่งรู้ว่ารูปนามทั้งหลาย ขันธ์ 5 ทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป พอปัญญาเราแก่กล้า สัมมาญาณะสมบูรณ์ขึ้นมา สัมมาวิมุตติ คือมรรคผลก็จะเกิด

 

“ถ้าเราไม่เข้าใจจิตตัวเอง เราไม่เข้าใจธรรมะหรอก”

 

ที่ท่านเรียกสัมมาๆ ที่เรารู้จักมี 8 อัน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมแล้ว 8 อยู่ในองค์มรรค สัมมาทั้ง 8 นี้เกื้อกูลให้เกิดตัวที่ 9 คือสัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ที่ถูกต้อง คือการเห็นรูปนาม เห็นกายเห็นใจ เห็นขันธ์ 5 แสดงไตรลักษณ์ แล้วถ้าเราเห็นมากพอ สัมมาวิมุตติ คืออริยมรรค อริยผล ก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นที่เราทำ 8 ตัวนั้น 3 ตัวหลังก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นส่วนของการฝึกจิต ฝึกจิตให้เกิดปัญญา

พอเรียนจากหลวงปู่ดูลย์แล้วถึงรู้ โอ๊ย ถ้าเราไม่เข้าใจจิตตัวเอง เราไม่เข้าใจธรรมะหรอก เราไปอ่านคำสอนของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ที่เราเคยอ่านแล้วนึกว่ารู้เรื่อง นึกว่าเข้าใจ จะรู้เลยว่าเมื่อก่อนเราไม่ได้เข้าใจ เราได้แต่ฟังๆ ส่งเดชไปอย่างนั้นเอง อย่างหลวงปู่มั่น ไปอ่านประวัติท่าน หลวงตาก็เขียนไว้ “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ” ได้จิตก็ได้ธรรมะ คีย์มันอยู่ที่จิตนี้เอง เพราะฉะนั้นอย่างเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเราไหลไปคิด เรารู้ จิตเราถลำไปเพ่ง เรารู้ เราก็เรียนอยู่ที่จิต แล้วจิตก็จะค่อยมีสติมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ต่อไปปัญญามันก็เกิด ปัญญาก็ไม่ได้ไปเกิดที่อื่น ปัญญาก็เกิดที่จิต พอปัญญาแก่รอบ มรรคผลก็เกิด มรรคผลก็ไม่ได้เกิดที่อื่น เกิดที่จิต

เพราะฉะนั้นเราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ ที่หลวงพ่อเรียนด้วยทุกองค์ หรือครูบาอาจารย์รุ่นก่อนที่ท่านสอนไว้ อ่านธรรมะของท่าน ท่านก็พูดเหมือนๆ กันหมดเลยว่า “การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด”

 

วิธีตัดตรงเข้ามาที่จิตทำอย่างไร

“การดูจิตเป็นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด” ไปอ่านเจอ กระทั่งไม่ใช่ครูบาอาจารย์สายวัดป่า ท่านก็สอนอย่างนี้ อย่างหลวงปู่ดู่ ท่านบอกว่า “ที่ลัดสั้นเลย ก็คือดูจิตเข้าไปเลย” ดูจิตตัวเองเข้าไป ท่านที่ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านพูดลงเป็นเสียงเดียวกัน คือลงมาที่จิตทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อยากเสียเวลาเนิ่นช้า ตัดตรงเข้ามาที่จิต วิธีตัดตรงเข้ามาที่จิตทำอย่างไร ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แต่แทนที่จะทำเพื่อความสุข ความสงบ ความมี ความดีอะไรทั้งหลาย ไม่ได้ทำเพื่อสิ่งนั้น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านคือชอบหนีไปคิดนั่นล่ะ จิตสงบก็รู้ว่าสงบ ต่อไปจิตมีราคะมันก็รู้ จิตมีโทสะอะไรมันก็รู้ของมันเอง

ตรงที่เรามีสติรู้สภาวะ เราจะได้สติ ได้สมาธิขึ้นมา แล้วพอเราทำซ้ำๆๆ ต่อไปปัญญามันก็เกิด สติเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ โดยเฉพาะอะไรเกิดขึ้นกับจิตใจของเรา สติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจว่า โอ้ โกรธ อย่างจิตโกรธเกิดขึ้น ความโกรธเกิดขึ้น สติรู้ทันว่าตอนนี้ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว สติรู้ทัน พอรู้ซ้ำๆ ไป ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ต่อไปปัญญามันจะเกิด ปัญญาคือตัวเข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจความจริง โทสะนี้ไม่เที่ยง โทสะนี้เป็นอนัตตา ไม่ได้เจตนาจะโกรธก็โกรธได้เอง สั่งให้หายโกรธก็ไม่หาย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ แล้วโกรธก็ไม่เที่ยง ตอนนี้โกรธเดี๋ยวก็หาย มันเป็นของมันเองได้

เราเริ่มหยั่งรู้ลงไปตามความเป็นจริงแล้ว ว่าสภาวะทั้งหลาย ทั้งรูปธรรมนามธรรม ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วเกิดความรู้รวบยอด ความรู้รวบยอดอันนั้นก็คือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” เช่น ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า ความสุข ความทุกข์ ที่เกิดในกาย ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ที่เกิดที่จิต กุศล อกุศลที่เกิดที่จิต วิญญาณที่เกิดอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น จิตหลงไปคิดก็เป็นวิญญาณอย่างหนึ่ง เป็นวิญญาณทางใจ

จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เสมอกันหมดเลย ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้นเลย ก็จะเห็นว่าตัวตนของเราที่แท้จริงนั้นไม่มี ขันธ์ 5 มีอยู่ ขันธ์ 5 มีอยู่แต่ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมขั้นต้นของพระโสดาบัน แล้วที่เข้ามาตรงนี้ได้ ก็ตามเส้นทางที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังนี้ล่ะ ไม่เกิน ไม่เหลือวิสัย หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ท่านเริ่มต้นสอนหลวงพ่อประโยคแรกเลย ไปกราบท่าน ไปบอก “หลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ” ท่านยังไม่สอน ท่านนั่งสมาธิของท่านเงียบๆ เกินครึ่งชั่วโมง แต่ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ลืมตาขึ้นมาท่านก็สอนเลย “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

ท่านให้กุญแจมา ให้อ่านจิตตนเองไว้ อ่านจิตตนเอง เบื้องต้นได้สติ จิตไหลแล้วรู้ ไหลแล้วรู้ ได้สติ ได้สมาธิ แล้วต่อไปศีล สมาธิ ปัญญา มันก็สมบูรณ์ขึ้นมา หรือเรามีสติอยู่ เราเห็นจิตมีกิเลสรุนแรงแล้ว พอเรารู้ทัน กิเลสมันดับ เราไม่ทำผิดศีลแล้ว เรามีกิเลสเกิดขึ้น สติรู้ทัน กิเลสดับ จิตไม่ฟุ้งซ่าน เราก็มีสมาธิขึ้นมาแล้ว แล้วเราเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สติรู้ทัน ปัญญามันก็เกิดขึ้น สุดท้ายวิมุตติก็เกิดขึ้น เพราะสติ ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่มีอุปการะมาก ปัญญาบางทีเรียกสัมปชัญญะ ฝึกนะ ไม่ยากเกินไปหรอก ถ้าไม่ทำไม่ฝึก ไม่มีทาง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 พฤศจิกายน 2565