จิตอยู่ที่ไหน

ฟังธรรมทุกวันๆ ต้องลงมือเอาไปทำ ไม่ปฏิบัติมันก็ไม่ได้อะไรเท่าไร ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการอ่าน การฟัง การคิด แต่เรียนด้วยการดูของจริง ดูความจริง ของจริงก็กายกับใจนี้เป็นของจริง ความจริงก็คือไตรลักษณ์ ดูให้เห็น ลำพังการฟังเทศน์ ฟังเท่าไรๆ มันก็อย่างนั้นล่ะ ฟังแล้วต้องทำ การจะปฏิบัติธรรมก็เริ่มจากมีสติเอาไว้ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูดอะไรก็มีสติไว้ คือจิตมันคิด คิดแล้วปรุงดีปรุงชั่ว คิดดีคิดชั่วอะไรมีสติไว้ รู้เท่าทันจิตใจตนเองเรื่อยๆ ไป

เวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ร่างกายมันเป็นผู้แสดงบทบาท ใครเป็นคนสั่งให้ร่างกายแสดงบทบาทเหล่านั้น ก็จิตนั่นล่ะเป็นคนสั่ง เวลามันคิด ก็จิตนั้นเป็นคนคิด ฉะนั้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจก็คือตัวจิต จิตมันเป็นตัวคิด มันคิดแล้วมันทำ สั่งให้พูด สั่งให้ร่างกายทำงานอย่างโน้นอย่างนี้ ให้ด่าเขา ให้ตีเขา ให้ทำหน้าบึ้ง ให้ทำหน้าสดชื่นอะไรอย่างนี้ จิตนี่ตัวหัวโจก พยายามฝึกที่จะเรียนรู้มัน เรียนรู้จากจิต พูดถึงจิตๆๆ ฟังเหมือนจะรู้เรื่อง เอาเข้าจริงก็หายาก ไม่รู้ว่าจิตมันคืออะไร มันอยู่ที่ไหน จะเอาอะไรไปดู จะดูอย่างไร เราไม่คุ้นเคยที่จะรู้จักสิ่งเหล่านี้เลย แต่เรารู้ว่ามีจิต คำว่าจิตๆ พูดกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว หรือคำว่าใจ จิตกับใจมันก็ตัวเดียวกัน ธรรมชาติอย่างเดียวกัน

 

ถ้าจิตไม่ทุกข์ แล้วใครจะทุกข์

หลวงพ่อไปเจอหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก ก่อนจะเจอท่านหลวงพ่ออ่าน พระไตรปิฎกมาตั้งหลายรอบแล้ว แต่อ่านเฉพาะพระวินัยกับพระสูตร อภิธรรม อ่านไม่รู้เรื่อง อ่านตั้งเยอะตั้งแยะแต่ไม่รู้จะภาวนาอย่างไร วันหนึ่งไปเจอ หนังสือธรรมะวัดสัมพันธวงศ์เขาพิมพ์ มันมีพื้นที่เหลืออยู่นิดหนึ่ง เขาก็เอา ธรรมะหลวงปู่ดูลย์มาลงไว้ว่า “จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก แต่ส่งออกนอกแล้ว ไม่มีสติกระเพื่อมหวั่นไหวไปเป็นสมุทัย จิตส่งออกนอกมีสติรู้เท่าทันอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค มีผลเป็นนิโรธความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์” บทสุดท้าย ท่อนสุดท้ายบอกว่า “พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” ท่านบอกว่า “จบอริยสัจ”

อ่านตรงนี้ใจมันสะเทือนขึ้นมาว่า “อืม จริงนะ ถ้าจิตไม่ทุกข์ แล้วใครจะทุกข์” เรามัวไปแก้ทุกข์ที่อื่น แก้ไม่ได้ อย่างคนในโลก ไม่ทุกข์เรื่องนี้ก็ทุกข์เรื่องโน้น สารพัดจะทุกข์ ทุกข์เพราะร่างกายก็มี เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์ทางใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่รัก ความไม่สมปรารถนา ก็เกิดความทุกข์ในใจขึ้นมา รายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะไป ตกงานเป็นทุกข์ อกหักเป็นทุกข์ โรคระบาดมากๆ ทำอะไรตามใจชอบไม่ได้เป็นทุกข์ วันๆ หนึ่งสำรวจตัวเองดู ตั้งแต่ตื่นขึ้นมามันทุกข์ไปกี่ครั้งแล้ววันหนึ่ง เอาวันเดียวเท่านั้น ลองสังเกตตัวเองดู ตั้งแต่ตื่นนอนจนนอนหลับไปนี่มันทุกข์กี่ครั้ง มันทุกข์จนนับไม่ถ้วน

เฝ้ารู้เฝ้าดู ค่อยรู้สึกไป มันทุกข์อยู่ที่กายหรือมันทุกข์อยู่ที่ใจ ทางกายมันหนีไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทางใจบางทีทุกอย่างก็สบายหมด แต่ใจมัน ก็ยังหาเรื่องทุกข์จนได้ ใจมันก็รู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าใจมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ ร่างกายมันเป็นวัตถุ ถ้าจิตใจไม่เข้าไปจับแล้วร่างกายจะแก่ จะเจ็บจะตาย อะไรนี่มันก็ไม่ทุกข์ ร่างกายไม่เคยบ่น รู้สึกไหมร่างกายไม่เคยบ่นเลย ร่างกายหิวข้าว ร่างกายไม่ได้บ่น ร่างกายก็อิดโรย อ่อนแอ หมดเรี่ยวหมดแรงไป ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้ ร่างกายไม่ได้บ่น เหงื่อโซมตัว ร้อน ทุกข์ทรมานอะไรอย่างนี้ ร่างกายไม่เคยบ่นเลย หรือหิวร่างกายก็ไม่เคยบ่น อิ่มเกินไปร่างกายก็ไม่เคยบ่น ปวดอึปวดฉี่ ร่างกายไม่บ่น ร่างกายไม่เคยบ่นเลย แต่ร่างกายมันมีความทุกข์อยู่ในตัวมัน แต่มันไม่บ่น

จิตนี่สิบางทีมันไปรู้อะไรเข้า มันก็ไปทุกข์แทนสิ่งนั้น ไปวุ่นวายกับสิ่งนั้น พอร่างกายเราไม่สบาย จิตก็พลอยไม่สบายไปด้วย ไปยุ่งกับเขาทุกงาน หรือไม่มีปัญหาทางร่างกาย มีปัญหาเรื่องอื่น จิตก็ทุกข์จนได้ เช้าขึ้นมาก็ฟังข่าว ดูข่าว โห ติดโรคระบาดเท่านั้นเท่านี้ จิตก็ทุกข์แล้ว กลุ้มใจ เมื่อไรมันจะหายเสียทีโรคนี้ เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างเดิม จิตนั่นล่ะมันตัวทุกข์ มันอยากให้โรคนี้ยุติไป ในขณะที่ร่างกายไม่เคยบ่นเลยเรื่องโควิด ตัวจิตนี่ล่ะ เป็นตัววุ่นวาย ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้ลงมาได้ถึงจิตถึงใจจริงๆ เราก็พ้นทุกข์ได้ จะเรียนรู้ให้ถึงจิตถึงใจ จะใช้วิธีอ่านตำราเอาก็ไม่รู้เรื่อง จะฟังเทศน์ก็ไม่รู้เรื่อง นั่งคิดเอาจิตเป็นอย่างโน้นจิตเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้เรื่อง มันต้องเห็นสภาวะจริงๆ ว่าจิตมันเป็นอย่างไร ต้องเห็น ฉะนั้นไม่มีวิธีการอื่นเลยนอกจากการเห็น

คำว่า เห็นอย่างถูกต้อง เห็นอย่างแจ่มแจ้ง มันตรงกับคำว่า วิปัสสนา วิปัสสนะ วิ แปลว่า แจ้ง ปัสสนะ แปลว่า การเห็น การเห็นแจ้ง เห็นแจ้งใน ความจริงของร่างกายของจิตใจอะไรนี่ ร่างกายนี้พอเราเห็นแจ้งแล้ว เรารู้เลยมันไม่ได้มีสาระแก่นสารอะไร มันเป็นตัวทุกข์เฉยๆ แต่มันไม่ใช่ ตัวคร่ำครวญ ตัวจิตนั่นล่ะเป็นตัววุ่นวาย ก่อปัญหาตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าเราฝึกจิตฝึกใจของเราได้ ฝึกสำเร็จ ฝึกได้ดี เราจะไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้า ท่านถึงสอนว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้

 

วิธีฝึกจิต

ฉะนั้นหน้าที่เรานี้ฝึกจิต วิธีฝึกจิตขั้นแรกก็เห็นก่อนจิตใจมันเป็นอย่างไร ก่อนเราจะไปฝึกมัน เราก็ต้องรู้จักมันก่อน อย่างจะฝึกทหารก็ต้อง มีทหารมาให้ฝึก เกณฑ์คนมาอะไรอย่างนี้จะได้ฝึก อยากฝึกทหาร แต่ไม่มีทหารสักคน จะไปฝึกลิงที่ไหน เราจะฝึกจิต เราก็ต้องมีจิตให้ฝึก จิตมันอยู่ที่ไหน ปัญหานี้หลวงพ่อเคยสงสัยมาแล้ว ฟังธรรมจากหลวงปู่ดูลย์ ครั้งแรกวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2525 ท่านสอนบอกว่า อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง ท่านสอนอย่างนี้ ท่านให้อ่านจิตตนเอง

คำว่าอ่าน คือจิตมันเป็นอย่างไร มันมีบทบาทอย่างไร เหมือนแสดงละครอะไรออกมา เราก็แค่ตามรู้ตามเห็นเหมือนเราอ่านนิยาย จิตนี้มันเล่นนิยายให้เราดู หรือเราเห็นมันแสดงละครให้เราดู เดี๋ยวก็บทรัก เดี๋ยวก็บทโกรธ เดี๋ยวก็บทสุข เดี๋ยวก็บททุกข์อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ หลงอะไรนี่ วุ่นวายไปตลอดเวลา เดี๋ยวสงบ เดี๋ยวฟุ้งซ่าน มันแสดงละครให้เราดู ถ้าเราจะเห็นจิต ท่านบอกว่า อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อก็เริ่มสงสัย ออกจากท่านมา ตอนอยู่กับท่านไม่สงสัย จิตมันกำลังมีปีติ ออกจากท่านมาได้ขึ้นรถไฟ มันเกิดสงสัย ท่านให้ดูจิต ให้อ่านจิต จิตมันคืออะไร จิตมันอยู่ที่ไหน จะเอาอะไรไปดูมัน จะดูอย่างไร ไม่รู้เลยสักอย่าง

อาศัยเคยบวชที่วัดชลประทานฯ ตอนนั้นยังเรียนหนังสือไม่จบ เคยไปบวช ตอนเช้าๆ มันมีบททำวัตรเช้า ขึ้นไปทำวัตรเช้า เขาสวดมนต์แปลกัน สวดมนต์แปลดีนะ ดีกว่าสวดมนต์เฉยๆ สวดมนต์แปลนี่ มีโอกาสได้ปัญญาด้วย สวดมนต์เฉยๆ ก็ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญาเท่าไรหรอก เพราะไม่รู้เรื่อง สวดภาษาบาลี ในบททำวัตรเช้ามันก็สอน สอนเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บอก “รูปูปาทานักขันโธ” ขันธ์อันเป็นที่ตั้ง แห่งความยึดมั่นคือรูป “เวทะนูปาทานักขันโธ สัญญูปาทานักขันโธ สังขารูปาทานักขันโธ วิญญาณูปาทานักขันโธ” ขันธ์ที่เป็นที่ตั้ง ของความยึดมั่นคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้ววรรคต่อไป ก็สอนบอกว่า “รูปังอนิจจัง เวทนาอนิจจา สัญญาอนิจจา สังขาราอนิจจา วิญญาณังอนิจจัง” แล้วก็กระโดดไป “รูปังอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอนัตตา”

นึกถึงบทสวดมนต์อันนี้ได้ จิตมันต้องอยู่ในขันธ์ 5 นี้ล่ะ จิตไม่อยู่ ที่อื่นหรอก หลวงพ่อก็ทำสมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมา จิตตั้งมั่น ทำได้นานแล้วตั้งแต่เด็ก แทนที่จะตกอกตกใจว่าตายแล้ว หลวงปู่ให้ดูจิต ดูอย่างไรไม่รู้เรื่องเลย เห็นจิตมันว้าวุ่นขึ้นมา ก็นั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป พอจิตสงบก็พิจารณา จิตมันต้องอยู่ในขันธ์ 5 นี้ อยู่ในกายอยู่ในรูปหรือเปล่า รู้ว่าจิตต้องอยู่ในร่างกายนี้ ไม่อยู่เกินกาย ออกไปหรอก แต่มันอยู่ตรงไหนของกาย หลวงพ่อก็ดูลงไปตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ขึ้นไล่ลงจากปลายผมถึงพื้นเท้า จากพื้นเท้า ขึ้นมาถึงปลายผม ไล่ขึ้นไล่ลงๆ อยู่ สติ สมาธิมันจับเข้าไปตรงไหน ร่างกายตรงนั้นก็ว่างเปล่า สูญหายไป ว่างเปล่า ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา รู้ว่า จิตนี้อยู่ในร่างกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงส่วนไหนของร่างกาย นี่คือความประหลาด ของมัน จิตมันอยู่ไม่เกินกายนี้หรอก ไม่อยู่บนต้นไม้ ไม่อยู่ในท้องนา ไม่อยู่ที่ภูเขาหรอก จิตอยู่ในกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงส่วนไหนในกาย เพราะว่าไล่ขึ้นไล่ลง ตั้งแต่ปลายผมถึงเท้า จากพื้นเท้าไล่ขึ้นมาปลายผม ตรวจสอบถี่ถ้วนแล้วไม่มีจิต

เอาล่ะสิ แล้วจิตมันอยู่ที่ไหน หรือจิตอยู่ในเวทนา ข้อดีของการ ทำวัตรสวดมนต์แปล รู้จักเรื่องรูป เรื่องเวทนา เวทนาคือความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ หลวงพ่อก็ทำสมาธิให้จิตมันมีความสุขขึ้นมา แล้วก็ดูลงไป สติ สมาธิจดจ่อลงไปในความสุข ความสุขก็ดับไป ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา จะทำให้ทุกข์ กำหนดจิตให้ทุกข์ไม่เป็น นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิกเลย แต่นั่งรถไฟมันก็โยกไปโยกมา ดูสักพักมันเห็นร่างกายนี้ทุกข์ นั่งนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวมันทุกข์ ดูลงไปด้วยสติ ด้วยสมาธิ จิตที่ตั้งมั่น ดูลงไปใน ความรู้สึกทุกข์ ก็ไม่เห็นมีตัวจิตอะไรอยู่ในตัวความรู้สึกทุกข์ ตัวเฉยๆ ก็เหมือนกัน ดูไป เออ จิตไม่ได้อยู่ในเวทนา

คราวนี้ดูต่อ จิตอยู่ในสังขารหรือเปล่า ตอนนั้นยังแปลสังขารไม่เป็น คิดว่าตัวความคิดนี่เป็นตัวสังขาร ความคิดจริงๆ เป็นสังขารแต่เรื่องราว ที่คิดเป็นบัญญัติ อาการที่จิตคิดนั้นเป็นความปรุงแต่ง เป็นสังขาร แต่เรื่องราวที่ จิตคิดเป็นอารมณ์บัญญัติ ไม่มีรูปธรรม นามธรรม ใช้ทำวิปัสสนาไม่ได้ นี้หลวงพ่อจงใจคิดๆ ความคิดที่เกิดขึ้นก็เป็นบทสวดมนต์ ก็บทที่อยู่ใน ทำวัตรเช้านั่นล่ะ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์มี พระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ” ตรงพุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโวนี่ อันนี้เป็นเรื่องราวที่คิด แต่ว่าหลวงพ่อไม่ได้เห็นแค่นี้ หลวงพ่อเห็น อาการที่จิตคิด เห็นอาการที่จิตคิดขึ้นมา มันเคลื่อนขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากกลางอกนี่ ฉะนั้นพุทโธ สุสุทโธนี่ เป็นแค่สมมติบัญญัติ แต่อาการลีลาที่จิตมันไหวตัวขึ้นมาคิด อันนี้เป็นปรมัตถ์ เป็นตัวสังขารจริง

พอหลวงพ่อเห็นสังขารคืออาการคิดของจิตเท่านั้นเอง อาการคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิดขึ้นเลย เลยรู้ โอ้ เจอจิตแล้ว จิตคืออะไร จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แล้วเราจะดูจิตได้อย่างไร อาศัยสติ อาศัยสมาธินั่นล่ะก็เห็นการทำงานของจิต อย่างเห็นจิตมันตรึกคือมันคิดขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องที่คิด เห็นอาการที่จิตคิด พอเห็นอย่างนี้เท่านั้นเอง จับหลักได้แล้ว จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตอยู่ในกายนี้ ไม่เกินกายออกไป จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์

เราจะดูมันได้อย่างไร รู้มันด้วยสติ สติจะไปรู้มันได้ชัดเจน จิตต้องมีสมาธิที่มากพอ จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วสติระลึกรู้ลงไป ก็จะเห็นจิตมันทำงาน เดี๋ยวมันก็คิด เดี๋ยวมันก็นิ่ง เดี๋ยวมันสุข เดี๋ยวมันทุกข์ เดี๋ยวมันโลภ มันโกรธ มันหลง เห็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมัน พอเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ยังจับหลักที่หลวงปู่สอนไม่ได้ จำได้แต่ว่า ท่านบอกให้ไปดูจิตเอา จิตเป็นตัวคิด หลวงพ่อเลยไปจ้องใส่ตัวคิด มันกลายเป็นสมถะ ถ้าดูจิตแล้วไปจ้องจิต ไปเพ่งจิต มันเป็นสมถะ จิตก็นิ่งๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น

ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์บางคน ไม่อยากเรียกองค์ บางคนเที่ยวสอน ให้ทำจิตให้นิ่ง ให้ว่าง ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง นั่นไม่ใช่ หลวงปู่ก็ไม่ได้สอน ทำไมรู้ว่าหลวงปู่ไม่ได้สอนให้ทำจิตนิ่งๆ ว่างๆ แล้วนั่งเพ่งจ้องอยู่ เพราะหลวงพ่อเคยทำ ฝึกอยู่ 3 เดือน ขึ้นไปส่งการบ้าน ครั้งที่สอง ไปบอกหลวงปู่ว่าดูจิตได้แล้ว ดูได้ทั้งวันเลย เฝ้ามันไว้อย่างนี้ หลวงปู่บอกทำผิดแล้ว ให้ไปดูจิต ไม่ได้ให้ไปบังคับควบคุมจิต ให้ไปทำใหม่ ทำผิดแล้ว

 

ดูจิต

หลวงพ่อก็มานึกดู เอ ดูจิตมันดูอย่างไร ไปนั่งดูอย่างนี้ไม่ถูก ท่านว่านี้ เป็นการไปเพ่งจิต ไม่ใช่ให้ไปเพ่งนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ ก็นึกถึงการดูหนัง เวลาเราดูหนัง เราไม่ใช่คนเขียนบท เราไม่ใช่ผู้กำกับการแสดง เราไม่ใช่นักแสดง เราไม่ใช่นักวิจารณ์ด้วย เราเป็นแค่คนดู หนังมันมีบทรัก เราก็จะดูมัน หนังมันมีบทโกรธ เราก็จะดูมัน จะสุขจะทุกข์จะอย่างไรก็แค่รู้ตาม รู้มันไปเรื่อยๆ นั่นล่ะเรียกว่าดู ดูก็คือถ้าดูหนัง หนังมันเป็นอย่างไร เรารู้ว่าเป็นอย่างนั้น ดูจิตก็เหมือนกัน จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง ไม่ใช่ไปดัดแปลงจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ตรงที่เราไปดัดแปลงให้มันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่งนั้น แท้จริงเป็นความปรุงแต่งชนิดที่ 3 เรียก อเนญชาภิสังขาร ไปฝึกจิตให้มันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร อย่างเก่งก็ไปพรหมโลก พ้นจากตรงนั้นมาส่วนใหญ่ก็จะลงอบาย เพราะจิตมันสะสมกิเลสไว้นาน

เฝ้ารู้ลงไปก็จะเห็นจิตใจมันทำงาน เห็นจิตใจมันเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลาเลย พอตาเห็นรูป จิตก็เปลี่ยน พอหูได้ยินเสียง จิตก็เปลี่ยน พอจมูกได้กลิ่น จิตก็เปลี่ยน พอลิ้นกระทบรส จิตก็เปลี่ยน พอกาย กระทบสัมผัส จิตก็เปลี่ยน พอจิตมันไปคิด นึก ปรุง แต่ง จิตก็เปลี่ยน จิตนี้เปลี่ยนแปลงเพราะผัสสะนี้เอง เพราะมีผัสสะเกิดขึ้น จิตจึงเกิด ความเปลี่ยนแปลงขึ้น อย่างเราไปเห็นผู้หญิงสวยเดินมา จิตที่เคยสงบๆ ก็เกิดราคะขึ้นมา นี่จิตมันเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่เดิมไม่มีราคะ ตอนนี้เกิดราคะขึ้นมา เพราะมีการเห็นรูป เห็นหมาบ้าวิ่งมา จิตมันก็ทำงาน มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลง มันเกิดความกลัวหมาบ้าขึ้นมา ทีแรกไม่กลัว ตอนนี้กลัว เราดูจิต เราดูกันอย่างนี้ จิตมันเปลี่ยนแปลงเวลามีการกระทบผัสสะ

อย่างเรากินข้าวนี้ ลิ้นกระทบรส รสนี้พอใจ จิตก็ฟูเลย ดีอกดีใจ รสนี้ไม่ชอบเลย แต่ฝืนใจกิน เพราะไม่มีอะไรจะกิน อย่างพระเราเลือกไม่ได้เลย มีอะไรก็ต้องกินอย่างนั้น วันนี้เจอแต่ของไม่ชอบเลย เจอของไม่ชอบ ของมันไม่ถูกใจ จิตมันไม่ชอบ แต่ยังดีกว่าของไม่ถูกปาก พระบางองค์ ท่านบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลย วันนั้นของไม่ถูกปาก ไม่มีอาหารเข้าปากเลย ยิ่งแย่ใหญ่ อย่างเรากระทบรสอย่างนี้ พอใจ กระทบรสอย่างนี้ไม่พอใจ เราก็รู้ทันจิตของตัวเอง กระทบรสนี้พอใจ จิตพอใจขึ้นมา รู้ว่าจิตพอใจ กระทบรสอย่างนี้ จิตไม่พอใจ รู้ว่าจิตไม่พอใจ

การดูจิตเขาดูกันอย่างนี้ กายกระทบสัมผัส จิตมันก็ทำงานขึ้นมา เปลี่ยนแปลงให้เราดู อย่างอากาศมันร้อนจัดอย่างนี้ ลมพัดโชยมาแผ่วๆ ลมมานิดเดียวเท่านั้น จิตใจก็เบิกบาน มีความสุขขึ้นมา ดีใจขึ้นมาแล้ว เราก็เห็นนี่จิตมันดีใจ มีความสุข มันดีใจพอใจ นี่ดูจิต ดูกันอย่างนี้ ไม่หนีผัสสะ ถ้าหนีผัสสะ จิตมันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้ดู เพราะฉะนั้นมีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นกระทบรส มีกายกระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไป แต่ว่ามีสติกำกับ มีความตั้งมั่นของจิตเป็นคนรู้ ตั้งมั่นไว้ทำให้จิต เป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา แล้วความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับจิต สติเป็นตัวระลึก เป็นตัวรู้ทันความเปลี่ยนแปลง

ตามองเห็นผู้หญิงสวย จิตมีราคะเกิดขึ้น สติรู้ว่าจิตมีราคะ แต่จะรู้ได้ จิตต้องเป็นคนดูอยู่ มันจะเห็นว่าตะกี้ไม่มีราคะ ตอนนี้ราคะผ่านเข้ามา แล้วตรงนี้ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าเมื่อกี้ไม่มีราคะ เดี๋ยวนี้มีราคะ นี่จิตมันไม่เที่ยงให้ดูแล้ว พอมีราคะ พอสติรู้ว่าจิตมีราคะ ราคะดับทันทีเลย จิตตะกี้มีราคะ แต่จิตตอนนี้ไม่มีราคะ นี่จิตไม่เที่ยง หรือดูต่อไปเรื่อยๆ เห็นจิตก็เป็นอนัตตา จิตจะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วอะไร สั่งไม่ได้ อย่างเรามองไป ไม่ได้เจตนาจะมอง หันไปเห็นดอกไม้สวยอย่างนี้ จิตมันชอบขึ้นมา เราจะไปสั่งจิตว่าอย่าชอบ จิตจงเป็นอุเบกขาตลอดทุกครั้ง ที่กระทบอารมณ์ ทำได้ไหม ทำได้ถ้าเพ่งอยู่ แต่ถ้าเป็นจิตธรรมชาตินี่ มันจะเปลี่ยนแปลงโดยที่เราบังคับมันไม่ได้ แต่ถ้าเข้าฌานมันก็จะบังคับจิตได้ อยู่ได้เป็นกัลป์ๆ เลย สูงสุดก็คือ 80,000 กัลป์ นานที่สุด เป็นพรหมชนิดหนึ่ง อยู่ได้ 80,000 กัลป์ แต่ว่าโดยธรรมชาติใช่ไหม เราสั่งจิตไม่ได้

เวลาตาเราเห็นรูป ตาจะเห็นรูปมีองค์ประกอบอะไรบ้าง อันแรกมีตา คือมีประสาทตาและก็มีอุปกรณ์ทั้งหลายที่ช่วยให้ตามองเห็นได้ มีรูป มีตา แต่ไม่มีรูปให้ดู มันก็ไม่เห็นอะไร มีแสงสว่าง ถ้าไม่มีแสงสว่าง มันก็ไม่เห็นรูปอะไร มีจิตที่สนใจที่จะดู เรียกมีมนสิการ จิตมันใส่ใจ สนใจที่จะดู ถ้ามีตา ลืมตาแป๋วๆ อย่างนี้ แต่ใจคิดเรื่องอื่นอยู่ ไม่มีความสนใจที่จะดู ตาไม่เห็นรูป อย่างเรานั่งคิดอะไรเพลินๆ คนเดินผ่านหน้าเราไป แล้วประเดี๋ยวหนึ่งมีคนมาถามว่า เห็นนายคนนี้มาไหม ไม่เห็น ทั้งๆ ที่มัน เดินผ่านอยู่ข้างจมูกเรานี้เอง ไม่เห็นมันหรอก เพราะจิตมันไม่ได้มนสิการถึง ไม่ได้ใส่ใจถึง ฉะนั้นเราเห็นรูปได้ก็ต้องมีจิต ถ้าไม่มีจิต ตาก็เห็นรูปไม่ได้

ฉะนั้นตาจะเห็นรูปเราเลือกได้ไหม ว่าจะต้องเป็นรูปที่สวยหรือ รูปที่ไม่สวย เราเลือกไม่ได้ บางทีมีรูปน่าเกลียดอยู่ จิตมันไม่เห็นเสียเฉยๆ เลย บางคนมีต้นไม้อยู่ชนิดหนึ่ง ในวัดเราก็มี เรียกต้นจำปาเทศ ต้นจำปาเทศ มีดอกแค่นี้ หน้าศาลาปานะก็มีอยู่ต้นหนึ่ง มีกลอนชมจำปาเทศ บอก “จำปาเทศวิเศษกลิ่น” โอ้โห มันวิเศษกลิ่น มันต้องหอมมากเลย วิเศษมันไม่ใช่แปลว่า วิเศษ มันแปลว่า พิเศษ ตัว ว. กับตัว พ. มันแผลงกันได้ จำปาเทศวิเศษกลิ่น เราก็หาจำปาเทศมาปลูก พอออกดอกนี่ กลิ่นเหมือนส้วมแตก พิเศษไหม กลิ่นต้นไม้กลิ่นเหมือนส้วมแตก ก็พิเศษใช่ไหม เรามีกรรม เราผ่านมันทีไรเราก็ได้กลิ่นส้วมแตก มันมีอยู่ต้นหนึ่ง อยู่หลังกุฏิคุณแม่ คุณแม่ไม่มีกรรม คุณแม่ไม่เคยได้กลิ่นเหม็น คุณแม่ได้แต่กลิ่นหอม กลิ่นเหม็นๆ ไม่เคยได้เลย ทั้งๆ ที่เรารู้สึกแย่ เห็นไหมจิตมันเลือกไม่ได้ว่าจะได้กลิ่นที่ดีหรือกลิ่นที่ไม่ดี ตัวที่ตัดสินให้จิต มันไปรู้กลิ่นที่ดีหรือกลิ่นที่ไม่ดีคือตัวกรรม มีวิบากไม่ดี มันก็ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี เห็นรูปก็รูปไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ไม่ดี หรือคิดแต่เรื่องไม่ดี

ในขณะที่คนที่มีบุญหน่อย พอใจเวลามันจะเห็น มันก็เห็นแต่ของดี ได้ยินแต่รูปดี เสียงดี กลิ่นดี รสดี สัมผัสดี เห็นไหมจริงๆ แล้วเราเลือกไม่ได้ จิตนี้เลือกไม่ได้ว่าจะสัมผัสอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี กรรมมันเลือกให้ จิตไม่ได้มี อำนาจอะไรในตัวของตัวเองเลย ตรงนี้เรียกว่าจิตมันเป็นอนัตตา มันไม่มี อำนาจในตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นใหญ่ในตัวของตัวเองจริง มันอยู่ใต้กรรมอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นตัวจิตเป็นอนิจจัง คือเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลา ตามการกระทบอารมณ์ แล้วก็จิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เราสั่งไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้ มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ มันจะดีหรือมันจะชั่ว เราสั่งมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้

ถ้ามันจะสัมผัสอารมณ์ดีหรือชั่วอะไรนี่เกิดจากกรรม มีวิบากอย่างไร มันก็ให้ผลมาอย่างนั้น ส่วนมันจะปรุงดีหรือปรุงชั่ว อันนี้เป็นกรรมใหม่ กรรมเก่าส่งผลมาให้กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ นานา กรรมใหม่ก็ปรุงขึ้นมาแล้ว พอกระทบ คนไม่มีสติเห็นดอกไม้สวยปุ๊บ จิตมันก็หลงเพลิดเพลิน ราคะมันเกิด คนมีสติมีปัญญามากๆ อย่าว่าแต่ดอกไม้เลย เห็นผู้หญิงสวยๆ เดินมา คนมันบ้ากันแทบตาย คลั่ง คนนี้เป็นเน็ตไอดอล แต่เน็ตไอดอลเดี๋ยวนี้ใช้ไม่ได้ บางคนหน้าตา น่าเกลียดมากมันก็เป็นเน็ตไอดอล ถ้าสมัยก่อนผู้หญิงสวย คนก็ตื่นเต้นมองตาม จิตซึ่งมันสะสมราคะมานาน มีราคานุสัย มันก็จะกระตุ้นให้เกิดราคะ ไม่ได้เจตนา มีราคะแต่ราคะเกิดขึ้นมา เพราะถูกกระตุ้นขึ้นมา ในขณะที่คนมีสติมีปัญญา เห็นผู้หญิงสวยเดินมา เกิดสลดสังเวชใจ เฮ้อ มันจะสวยนานแค่ไหนนี่ เขาไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังหลงความสวยของตัวเองอยู่นี่ แท้จริงไม่ได้สวยหรอก มันสวยที่ผิวภายนอกเท่านั้นเอง

มันสวยอยู่ที่ไหน มันสวยอยู่ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นเอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนั้นเป็นตัวหลอก ปิดบังของโสโครก ของไม่สวยไม่งามเอาไว้ เวลาเรามองเห็นคน เราเห็นอะไรบ้าง เราก็เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นเอง เห็นแค่นี้ ไอ้นี่เป็นตัวหลอก คนมีสติปัญญารู้ มองเข้าไป เฮ้อ น่าสงสาร ไม่สวยจริงหรอก ถึงต้องเอาแป้งมาพอกไว้ สวยจริงคงไม่ต้อง พอกแป้งไว้หลอกคนอื่นหรอก ผม มันสวยจริงไหม ในความเป็นจริง ผมคนกับผมหมาขนหมา มันก็ไม่ได้ต่างกัน ไม่อาบน้ำมันก็เหม็นสาบ เหม็นสาบเหม็นสาง คนมีสติมีปัญญา มีบุญจากการภาวนาอยู่ เห็นสิ่งเดียวกับคนอื่นนั่นล่ะแต่จิตมันแปลไม่เหมือนกัน แปลเป็นกุศลก็ได้ แปลเป็นอกุศลก็ได้ แล้วแต่ความเคยชินของจิต เราเคยชินปฏิบัติ เห็นผู้หญิงปุ๊บ เราเห็นแล้วสงสารเลย โถ ไม่นานก็ตายแล้ว จะสวยสักกี่วันเชียวผู้หญิงคนหนึ่ง

เมื่อก่อนจะภาวนา หลวงพ่อบอกแล้ว หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกพวกพระอรหันต์นี่เวลาท่านเจอผู้หญิง บางทีท่านเรียกน้องหญิง เรียกน้องหญิง ไม่ได้เรียกเพื่อจีบ เรียกภคินี พี่สาว น้องสาว ถ้าเป็นภาษาเดี๋ยวนี้ ก็ไม่เรียกน้องหญิงหรอก มันเชย เรียกน้องสาว พี่สาว แต่ตัวนี้ก็เชยไปอีกแล้ว เดี๋ยวนี้มันเรียกอะไรไม่รู้แล้ว เรียกมึงกระมัง ไอ้ห่า สวยดีนี่หว่าวันนี้ นี่ภาษามันเปลี่ยน ในสมัยโน้นพระท่านเรียกผู้หญิงอย่างนั้น เรียกน้อง หรือเรียกพี่สาว น้องสาว ถ้าพูดให้รู้เรื่อง เรานึก เอ๊ะ ทำไมพระ พูดอ่อนหวานกับผู้หญิงจังเลย ที่จริงพอภาวนาไป รู้ จะรู้เลย ท่านเรียกพี่สาว น้องสาวนี่ ท่านเรียกด้วยความเมตตาล้วนๆ เลย ไม่ได้เรียกเพราะราคะเลย แต่เรียกด้วยความเมตตาสงสาร เห็นเหมือนพี่เหมือนน้องกัน น่าสงสาร เดี๋ยวเธอก็ต้องตายแล้ว เธอนึกว่าเธอสวยหรือ จริงๆ เธอไม่ได้สวยเลย

บางทีท่านเตือนดีๆ ไม่ฟัง ท่านก็พูดแรงๆ บอกเธอจะสวยตรงไหน ร่างกายของเธอเหมือนถุงหนังใบหนึ่ง มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู ไปนับเอาเอง มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู มีรูรั่วเล็กๆ นับไม่ถ้วน มีสิ่งโสโครกไหลออกมาเป็นนิจ พระพุทธเจ้าก็เคยพูดอย่างนี้กับนางมาคันทิยา แล้วบอกว่าที่ว่าสวยๆ แค่ปลายเท้าของท่าน ท่านยังไม่อยากสัมผัสเลย เพราะมันสกปรก อันนี้ท่านไม่ได้พูดแบบรังเกียจเหยียดหยาม ท่านจะสอน ท่านสอนพ่อแม่ ของนางมาคันทิยา ฟังรู้เรื่องได้พระอนาคามีเลย นางมาคันทิยาไม่ได้ ได้แต่ความอาฆาต ไม่ได้ประโยชน์

เพราะฉะนั้นจริงๆ ถ้าจิตเราเคยฝึกมาดี พอเราเห็น มันก็จะแปล ออกมาเป็นธรรมะ ถ้าจิตเราเคยชินกับอธรรม มันก็จะแปลเป็นอธรรม แปลเป็นกิเลสขึ้นมา ฉะนั้นจิตจะแปลเป็นธรรมะหรือจิตจะแปลเป็นอธรรมนั้น สั่งไม่ได้ จิตมันเป็นไปตามสิ่งที่มันคุ้นเคย ตามที่มันเคยฝึกฝน เรานักปฏิบัติ เราก็พยายามฝึกฝนตัวเอง มองก็มองอะไรให้มันลึกซึ้ง มองผู้หญิงก็อย่ามอง แค่ว่ามันสวยมันงามอะไรอย่างนี้ ก็มองให้เห็นความจริง แต่ยุคนี้ผู้ชาย ชักจะสวยกว่าผู้หญิงแล้ว แต่ผู้หญิงหล่อเข้มขึ้นทุกทีๆ แต่ผู้ชายนี่ หวานแหววสวยงามขึ้นทุกทีแล้ว ผู้หญิงก็มองผู้ชายอย่างเอ็นดู ไงน้องชาย ก็ต้องเปลี่ยนภาษากัน กลับข้างกัน

 

จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา

เราไปดูเรื่อยๆ ฝึกดูจิตใจของตัวเอง เราก็จะเห็นจิตใจ เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง จิตมันเป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูนานๆ ไป มันจะปิ๊งขึ้นมา จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรานี่ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่สามารถควบคุมบังคับอะไรมันได้เลย พอเห็นอย่างนี้ เขาเรียกว่าเราเห็นความจริงแล้ว ฉะนั้นที่ดูกายก็เพื่อให้เห็น ความจริงของกาย ดูจิตก็ให้เห็นความจริงของจิต

ความจริงของกายมีความจริงโดยบัญญัติก็คือไม่สวย ไม่งาม สกปรก ความจริงที่เป็นของจริงแท้ก็คือร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่มีปฏิกูลอสุภะ อะไรหรอก จิตไม่เหมือนกาย กายมีปฏิกูลอสุภะเป็นความจริงไหม จริงเหมือนกัน แต่จริงโดยสมมติ ทำไมว่าเป็นปฏิกูลอสุภะโดยสมมติ เพราะจริงๆ มันเป็นธาตุ ธาตุอย่างนี้ๆ รวมกันขึ้นมา มันก็คือธาตุ ธาตุไม่มีสะอาด ไม่มีสกปรกหรอก ธาตุมันก็คือธาตุเท่านั้น แต่โดยสมมติมันเห็นอย่างนี้สกปรก อุจจาระนี่สกปรกอะไรอย่างนี้ รู้สึกไหมอุจจาระสกปรก แมลงวันได้กลิ่น ชื่นใจเห็นไหม เป็นอิฏฐารมณ์ของแมลงวัน เป็นอนิฏฐารมณ์ของเรา เราไม่ชอบ เราเลือกไม่ได้จิตมันจะเป็นอย่างไร มันจะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์อะไรนี่ หน้าที่เราดูมัน ตามอ่านมันไปเรื่อยๆ จนเห็นความจริงของมันว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ร่างกายมันก็ไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ไม่สวยไม่งาม ไม่ใช่ของจริง มันเป็นอารมณ์บัญญัติแล้ว ของจริงก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ ถ้าลำพังดูปฏิกูลอสุภะ ไม่สวยไม่งาม มันล้างกิเลสไม่ได้จริง มันข่มกิเลสได้เป็นครั้งคราว อย่างมันเห็นผู้หญิงคนนี้ไม่สวยใช่ไหม มันก็เที่ยวอยากหาคนที่สวยกว่านี้อีก ยังเที่ยวแสวงหาอารมณ์อื่นอีก แต่ถ้ามันเห็นว่าผู้หญิงทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมดแล้ว มันไม่ต้องไปหาต่อ

ฉะนั้นการที่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตจะหยุดการแสวงหา ถ้าลำพังเห็นปฏิกูลอสุภะอะไรนี่ ยังไม่หยุดการแสวงหา หรือเราเห็น สิ่งสกปรกอยู่ เราก็อยากหนีใช่ไหม อยากหนีสิ่งที่สกปรก อยากไปหาสิ่งที่ดี ฉะนั้นตัวบัญญัติอันนี้ เป็นความจริงแบบหลอกๆ ความจริงสมมติ มันเอาไปละ กิเลสไม่ได้จริง ต้องดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันถึงจะล้างกิเลสได้

พอดูๆๆ ไป มันจะเห็นความจริง มันก็จะวาง เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือ จึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว แล้วมันก็มีคำสร้อย ต่อท้ายในพระไตรปิฎก เวลาบรรลุพระอรหันต์ท่านบอกว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์ หลุดพ้นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว นี่จะมีคำต่อท้าย

ชาติสิ้นแล้วดูอย่างไร ชาติสิ้นแล้วไม่ใช่ว่าต้องเกิดไม่เกิด ชาติคือการที่ จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เพราะฉะนั้นอย่างเราภาวนา ถ้ามันสุดขีดไปจริงๆ เราจะเห็นจิตมันวางขันธ์ 5 มันจะไม่หยิบขึ้นมาอีกแล้ว กระทั่งจิตนี่มันก็ไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว จิตมันก็อยู่ในวิญญาณขันธ์นั่นล่ะ แต่จิตก็ไม่หยิบฉวย ไม่หยิบฉวยอะไร ไม่หยิบฉวยจิต ถ้าจิตยังหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย หยิบฉวยใจ หยิบฉวยจิตใจ อันนั้นเรียกว่า ชาติ พระอรหันต์ทั้งหลายชาติท่านสิ้นแล้ว เราสังเกตง่าย จิตท่านจะไม่ไป หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา แต่จิตทำงานรู้สมมติบัญญัติไหม รู้ เวลาจิตมันจะทำงานรู้ทั้งนั้น ไม่ใช่ไม่รู้ ไม่ใช่คิดไม่เป็น คือคิดเป็นแต่ว่าฉลาด ไม่หลง

ค่อยๆ ฝึก ก็จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง เห็นจิตใจตามความเป็นจริง เพราะเห็นตาม ความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว จิตมันวางแล้ว วางอะไร วางขันธ์ ที่ยึดเด่นๆ ยึดรูป ยึดร่างกาย ยึดของสวยของงาม ของหนุ่มของสาวอะไรอย่างนี้ พอแก่ๆ ลงมา ก็ไม่อยากยึดแล้ว ยกให้ก็ไม่เอา สมมติว่ามีนางงามจักรวาลสักคนหนึ่ง ตอนนี้อายุ 90 สมมติยกให้เรา เราเอาไหม ก็ไม่เอา ความสวยมันไม่ได้ยั่งยืน ไอ้ที่ว่าสวยๆๆ มันสวยสำหรับคนไม่ฉลาด

จิตที่ฝึกดีแล้วมันก็จะเห็นความจริง ไม่หลง ไม่ไหลไป หลงตัวหนึ่ง ไหลตัวหนึ่ง เรียกว่า หลงใหล หลงแล้วจิตมันก็ไหลไป มีตัณหาเกิดขึ้น มันก็ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีโมหะ ความหลงเกิดขึ้น จิตมันก็ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไหลไปทำอะไร ไหลไปหยิบฉวยอารมณ์บ้าง ไหลไปปฏิเสธอารมณ์บ้าง ใจมันก็จะเป็นอย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกไป ก็ค่อยรู้ค่อยแจ่มแจ้งเป็นลำดับๆ ไป จิตที่ฝึกดีแล้วนำ ความสุขมาให้ พระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้ ไม่มีวันผิดพลาด ไม่มีอะไรมีความสุข เท่ากับจิตที่ฝึกดีแล้วหรอก ฝึกไปเรื่อยๆ ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่เหนือกว่า ความสุขของจิตที่ฝึกดีแล้วก็คือพระนิพพาน เพราะนิพพานนั้นเป็นปรมัง สุขังเลย เป็นบรมสุข จิตไม่ใช่นิพพาน แต่จิตที่ฝึกดีแล้ว สัมผัสพระนิพพาน ค่อยๆ ฝึก.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 เมษายน 2564