ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง

การปฏิบัติธรรมมันไม่ได้เรื่องยากอะไรหรอก เป็นเรื่องที่ตัวเราเอง คนส่วนใหญ่สนใจแต่ของข้างนอก สนใจคนอื่นสนใจสิ่งอื่น ไม่ค่อยสนใจตัวเอง ความทุกข์ก็เลยเกิดขึ้นในใจ ถ้าเราคอยสังเกตตัวเองเรื่อยๆ รู้สึกตัว จะทำอะไรก็คอยรู้สึกตัวไว้ ให้จิตใจมันอยู่กับตัวเอง พอร่างกายเคลื่อนไหวเราก็รู้สึกเอา จิตใจมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เราก็รู้สึกเอา ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งวัน ทั้งคืน

อย่างนั่งกันอยู่อย่างนี้ ใจเราก็หนีไปหนีมา หนีไปคิดให้สังเกตเอา ใจมันวิ่งไปวิ่งมา พอจิตใจมันอยู่กับตัวเองแล้ว ต่อไปเราจะเห็นขันธ์มันจะแยก สิ่งที่มันเคยเข้าใจผิดว่าคือตัวเราที่แท้จริง มันจะค่อยๆ แยกออกไปเป็นส่วนๆ อย่างร่างกายก็แยกออกไปส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนดู อย่างขณะนี้ร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนดู ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริง เป็นผู้รู้ผู้ดูจริง เราจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูไป บางทีความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ มันเกิดขึ้นในร่างกาย อย่างเรานั่งนานๆ มันปวดมันเมื่อยขึ้นมา เราก็จะเห็นความปวดความเมื่อยก็เป็นของถูกรู้อีก หรือเวลาเราไม่สบาย เจ็บปวดในร่างกายส่วนไหนก็ตาม เราก็จะเห็นความเจ็บปวดก็เป็นของถูกรู้ จิตใจมันเป็นคนรู้คนเห็น ถ้าจิตใจตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูเป็นผู้เห็น ก็จะเห็นว่าความเจ็บปวดนั้นไม่ใช่ตัวเราหรอก มันไม่ใช่ร่างกาย และมันก็ไม่ใช่จิต

อย่างความปวดเมื่อยในร่างกาย เรานั่งนานๆ มันเมื่อย ถ้าคนทั่วไปจะรู้สึกเราเมื่อย แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เรามีสติ มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เราจะเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ เห็นความปวดเมื่อยแทรกอยู่ในร่างกาย ความปวดเมื่อยก็เป็นคนละอัน เป็นคนละสิ่งกับร่างกาย และเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ฉะนั้นพอเรามีจิตเป็นผู้รู้ พอสติระลึกรู้ลงในร่างกาย ก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ พอมีความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ก็จะเห็นความสุข ความทุกข์เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี

เราคอยเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ เราจะเห็นเวลาความสุขเกิดขึ้น จิตใจมันก็ยินดีพอใจ เวลาความทุกข์เกิดขึ้นจิตใจก็ไม่พอใจ ความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเรา เรียกว่าสังขาร ความเปลี่ยนแปลงในจิตใจนี้มันเป็นของถูกรู้ถูกดูอีก มันก็ไม่ใช่ตัวเรา เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา ความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย จะดีหรือชั่วก็ตามมันก็ไม่ใช่ตัวเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ผ่านวัน เดือน ปี ไป สุดท้ายจิตมันจะฉลาดลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ มันจะเห็นว่าแม้กระทั่งตัวจิตเองก็ไม่ใช่ตัวเรา ตัวจิตเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จิตใจจะสุขหรือจิตใจจะทุกข์ เราก็สั่งไม่ได้ จิตใจจะดี หรือจิตใจจะชั่ว เราก็สั่งไม่ได้

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ในที่สุดเราก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้ว กระทั่งจิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตใจไม่ใช่ตัวเราแล้ว มันจะไม่มีอะไรเป็นตัวเราอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเราเหนียวแน่น มั่นคงมากที่สุด คือตัวจิตใจเรานี่เอง เฝ้ารู้เฝ้าดู รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ เราก็จะถอดถอนความเห็นผิด ว่ากายเป็นเรา สุขทุกข์เป็นเรา ความดีความชั่วทั้งหลายเป็นตัวเรา อันนี้เป็นการเห็นผิดทั้งหมดเลย จะถอดถอนออกกระทั่งตัวจิต เป็นคนรู้คนดูมันก็ไม่ใช่ตัวเรา

 

 

ฉะนั้นจุดเริ่มต้นคือรู้สึกตัวให้ได้ ถ้าใจเราหนีไป มีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย มีความสุขทุกข์เกิดขึ้น เราก็ลืม จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล เราก็ลืม ที่จริงการภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไรหรอก เรารู้สึกตัวแล้วก็คอยเห็นไป ร่างกายถูกรู้ ความรู้สึกถูกรู้กุศลอกุศลทั้งหลายถูกรู้ จิตใจเองก็เป็นของถูกรู้ เดี๋ยวจิตก็รู้ตัว เดี๋ยวจิตก็หลง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตก็รู้ตัว เดี๋ยวจิตก็ไปคิด เดี๋ยวจิตก็รู้ตัว เดี๋ยวจิตก็วิ่งไปดู หลงไปดู เดี๋ยวก็หลงไปฟัง เดี๋ยวก็หลงไปคิด ให้เราคอยรู้เรื่อยๆ ไป พอเรารู้บ่อยๆ สุดท้ายเราก็จะเห็นเลยจิตไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าวันใดเราภาวนาจนเราเห็นว่ากระทั่งจิตไม่ใช่ตัวเรา เราจะเข้าใจธรรมะแล้ว ลำพังการเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา มันเห็นง่าย คนไม่ได้ปฏิบัติก็รู้สึกได้ อย่างคนทั่วๆ ไปเขามีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่ง เขาเจ็บป่วยหรือเขาจะตาย เขาเห็นเลยร่างกายเป็นของบังคับไม่ได้ ร่างกายมันดูง่ายว่ามันไม่ใช่ตัวเรา แต่ตัวที่จะทำให้เราแตกหัก เข้าใจธรรมะได้จริงๆ ก็คือตัวจิต ถ้าเมื่อไรเราเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา จะไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เป็นตัวเราอีกแล้ว เพราะจิตนั้นเป็นศูนย์กลางของชีวิตจิตใจ เป็นศูนย์กลางของโลกของจักรวาลทั้งหลาย เราเอาจิตใจตัวเองเป็นตัวตั้ง นอกนั้นเป็นของอยู่ข้างนอกๆ ออกไปเรื่อยๆ อย่างร่างกายก็อยู่ข้างนอกไม่ใช่จิต บ้านช่องห้องหออะไรอย่างนี้ก็อยู่ข้างนอก ไม่ใช่จิต โลกก็อยู่ข้างนอก ไม่ใช่จิต ถ้าจิตไม่เป็นเราซักอย่างเดียว ของอื่นก็ไม่เป็นเราแล้ว

เพราะฉะนั้นการภาวนาพยายามตัดตรงมาที่จิต สังเกตอยู่ที่จิตไป ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ไม่หลง ไม่เผลอ ส่วนใหญ่หลงก็หลงอยู่ในความคิด ทีนี้พอเรารู้สึกอยู่เรื่อยๆ จิตไหลไปคิดปุ๊บ เราแล้วรู้ปั๊บ จิตมันจะตื่นขึ้นมา จิตเราจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นมา พอจิตมันตื่นขึ้นมาแล้ว สติระลึกลงที่ใด ก็จะเห็นว่าที่นั้นไม่มีตัวเรา แล้ววันหนึ่งสติมันย้อนมาดูตัวจิต ที่เป็นคนรู้คนดูอยู่ มันจะเห็นว่าตัวจิตก็ไม่ใช่ตัวเรา พอเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา มันจะรู้แจ้งแทงตลอดเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ร่างกายจิตใจ กระทั่งวัตถุสิ่งของภายนอกหรือบุคคลอื่น สัตว์อื่น มันไม่เป็นเราหมดเลย ความเป็นเราจะหายไปทันทีเลย

เมื่อความเป็นเราไม่มี ความทุกข์จะไม่มีที่ตั้ง ทุกวันนี้ที่เรามีความทุกข์อยู่เพราะมันมีเราอยู่ เวลาร่างกายไม่สบาย เราก็คิดว่าเราไม่สบาย เวลาอกหักอะไรอย่างนี้ คนอื่นเขาทิ้งเราไป เราก็คิดว่าเราอกหัก เรามีความทุกข์ มันเกิดจากการหลงคิดทั้งหมดเลย ถ้าใจเราเป็นแค่คนรู้คนดู เราจะเห็นว่าโลกนี้ว่างเปล่า เราจะเห็นโลกนี้ว่างเป็นลำดับๆ ไป

 

ความว่างมีหลายระดับ

การว่างมันมีอยู่หลายว่าง อย่างในเมืองจีนก็มีธรรมะเกี่ยวกับเรื่องความว่างเยอะแยะเลย โดยเฉพาะคำสอนทางเซน อย่างท่านเว่ยหลาง ท่านฮวงโปอะไรพวกนี้ พูดเรื่องความว่างเยอะแยะเลย เพราะความว่างมีหลายระดับ ความว่างอันแรกเลย มันว่างด้วยสมาธิ อย่างใจเราฟุ้งซ่าน เวลาใจเราฟุ้งซ่าน เราจะรู้สึกว่าตัวเรามีจริงๆ ทีนี้พอเราทำความสงบ เช่น หายใจเข้า บริกรรมว่า พุท หายใจออก บริกรรมว่า โธ พอจิตสงบลง มันจะว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากกิเลสระดับกลางๆ เรียกว่างจากนิวรณ์ ฉะนั้นสมถกรรมฐานหรือสมาธิ ทำให้จิตเราว่างระดับหนึ่ง คือว่างจากนิวรณ์ ว่างจากความรักใคร่ผูกพัน ว่างจากความเกลียดชัง โกรธแค้น ว่างจากความฟุ้งซ่าน ว่างจากความลังเลสงสัย ว่างจากความเซื่องซึม จะว่างจากสิ่งเหล่านี้ คือว่างจากนิวรณ์ 5 ตัว ว่างจากกิเลสหยาบๆ กิเลส 5 ตัวนี้ อันนี้ว่างด้วยกำลังของสมาธิ

ทีนี้มีว่างสูงขึ้นไปอีกคือ ว่างด้วยวิปัสสนา วิปัสสนาคือการเห็นความจริงของร่างกาย ของจิตใจ มันว่างอย่างไร เราจะเห็นอย่างเราคอยรู้สึกตัว เราเห็นร่างกายมันไม่ใช่เรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นความดีความชั่วทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เห็นจิตใจเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตรงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเรียกว่า อนิจจัง ตรงที่เราควบคุมบังคับมันไม่ได้ เรียกว่า อนัตตา

การที่เราเห็นร่างกาย เห็นจิตใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตจะเข้าไปสู่ความสงบ มันสงบอีกแบบหนึ่ง ไม่สงบแบบสมาธิ สมาธิมันสงบเพราะเราใช้กรรมฐาน แล้วจิตเราแนบอยู่ในอารมณ์ กรรมฐานอันเดียว เลยสงบไม่มีนิวรณ์ มาฟุ้งซ่านเบียดเบียน แต่การที่เราเจริญปัญญา ทำวิปัสสนาดูกายไป ดูใจไป เราก็จะเห็นเลย ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้สึกสุขทุกข์มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความปรุงแต่งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว เช่น โลภ โกรธ หลง มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราจะเห็นว่าทุกอย่างเสมอกัน ความสุขและความทุกข์เสมอกัน เสมอกันตรงที่ว่าความสุขก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เหมือนๆ กัน

พอเราเห็นอย่างนี้แล้ว ใจเราก็จะไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เวลาจิตใจมีความสุข จิตใจก็ไม่ฟู หลงว่ากูดี กูเก่ง เวลาจิตใจมีความทุกข์ จิตใจก็ไม่หดหู่ ห่อเหี่ยว เศร้าหมอง จิตใจมันเป็นกลาง ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น จิตใจก็เข้าสู่ความเป็นกลาง ตรงเป็นกลางนี้ มันว่าง เป็นความว่างอีกอย่างหนึ่ง เป็นการว่างเพราะวิปัสสนา เพราะการเจริญปัญญา ฉะนั้นว่างมีหลายอย่าง ว่างเพราะสมถะ ว่างเพราะวิปัสสนา แต่รสชาติของความว่างไม่เหมือนกัน ว่างของสมาธิ มันจะว่าง สงบอยู่ ไม่มีกิเลสอะไรมารบกวน ในขณะที่เราทำสมาธิจิตสงบอยู่ พอเราออกจากสมาธิกิเลสก็กลับมาใหม่ แต่เวลาเราว่างด้วยการเจริญปัญญา บางทีจิตทรงตัวอยู่ได้นาน สงบ สบาย ว่าง อยู่ได้นานๆ แต่ก็ไม่เกิน 7 วัน เดี๋ยวก็เสื่อมอีก

เพราะฉะนั้นความว่างมีหลายระดับ อย่างที่พวกเราดูกาย ดูใจ เราดูไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็จะเห็นร่างกายนี้ไม่ว่ามันจะสุข หรือมันจะทุกข์ จิตใจนี้ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์หรือจะดีจะชั่ว ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เราควบคุมมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตจะค่อยๆ เป็นกลาง ตรงเป็นกลางนี้มันจะว่าง ว่างด้วยปัญญาแล้ว ถัดจากนั้นจะมีว่างที่สูงขึ้นไปอีก ว่างด้วยอริยมรรค ว่างด้วยอริยผล ว่างด้วยพระนิพพาน อย่างที่ท่านเว่ยหลาง ท่านฮวงโปพูดถึง ว่างๆ ท่านกระโดดไปพูดถึงว่างๆ ของนิพพาน ซึ่งพวกเรายังไม่เห็นหรอก คิดเอาก็ไม่ได้ เราก็ต้องฝึกเป็นลำดับๆ ไป

ทีแรกจิตใจเราฟุ้งซ่าน เราก็ทำความสงบเข้ามา จิตเราก็ว่างจากนิวรณ์ ว่างจากกิเลส ที่คอยกระตุ้นให้จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจก็สงบ สบาย ว่างอยู่ อย่างนี้ว่างระดับที่หนึ่ง เราเจริญปัญญาไป เห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายจะสุขหรือจะทุกข์ จิตใจก็เป็นกลาง ก็ว่าง ไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง หรือเราเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ใจเราบางทีก็เฉยๆ ในใจก็ยังมีสุขมีทุกข์ มีเฉยๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราก็จะเห็นนะ สุขก็อยู่ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว เฉยๆ ก็ชั่วคราว ฉะนั้นไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว แม้กระทั่งความโลภ โกรธ หลง โกรธก็ไม่มีใครโกรธตลอดเวลา มันโกรธก็โกรธชั่วคราว อย่างเราเกลียดคนนี้ นึกถึงคนนี้ทีไรเราก็โกรธขึ้นมา เราไม่พอใจ เราชอบคนนี้พอเรานึกถึงคนที่เราชอบ เรารู้สึกมีความสุขจังเลย จิตใจเพลิดเพลินพอใจ มีราคะเกิดขึ้น

 

ทุกอย่างมีแต่ผ่านมาแล้วผ่านไป

เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ว่ามันจะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว มันเป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย เรียนให้เห็นความจริงตรงนี้ให้มากๆ เรียกว่าเราเจริญวิปัสสนาอยู่ ในที่สุดจิตเราจะเป็นกลาง ต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ความสุขเกิดขึ้นจิตก็ไม่ฟูขึ้นมา ความทุกข์เกิดขึ้นจิตก็ไม่ห่อเหี่ยว กลุ้มใจ ความดีเกิดขึ้นอย่างจิตใจวันนี้ ภาวนาสติเกิดบ่อย ใจเราก็เป็นกลาง ไม่ได้หลงดีใจวันนี้สติดีจัง พรุ่งนี้จะต้องดีอย่างนี้อีก มันดีไม่ได้ตลอดหรอก เพราะมันเป็นของไม่เที่ยง

ฉะนั้นเวลาจิตใจมันดี เราภาวนาจนชำนาญแล้ว เราจะเห็นว่าแค่ความรู้สึกอันหนึ่งเท่านั้นเอง ความรู้สึกดีๆ ทั้งหลาย เดี๋ยวก็ผ่านไป เวลาความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้น เราก็จะเห็นเอง ความรู้สึกไม่ดีก็อยู่ชั่วคราว แล้วมันก็ผ่านไป ทุกอย่างมีแต่ผ่านมาแล้วผ่านไป ผ่านมาแล้วผ่านไปตลอดเวลา พอเห็นอย่างนี้ต่อไป ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ผ่านเข้ามาในใจเรา ใจเราจะเฉยๆ ใจเราจะเป็นกลางมันมีความสุขอยู่ในตัวเอง ทั้งๆ ที่ร่างกายกำลังเจ็บป่วย จิตใจก็มีความสุขอยู่ได้ ถ้าเจริญวิปัสสนามาดีแล้ว ร่างกายป่วยนอนเจ็บ แต่จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบา มันไม่กลุ้มใจเพราะมันเห็นว่า ร่างกายมันธรรมดาที่มันต้องเจ็บป่วยอย่างนี้

หลวงพ่อเคยเป็นมะเร็ง เมื่อ 3-4 ปีก่อน ไปให้คีโม วันๆ หนึ่งถูกเข็มแทงเยอะแยะเลย เดี๋ยวเจาะเลือด เดี๋ยวตรวจโน้นตรวจนี้ เดี๋ยวผ่าตัดทำนั่นทำนี่ เจ็บตัวอยู่ทั้งวัน มีเรื่องเจ็บตลอดเวลา แต่ว่าจิตใจหลวงพ่อไม่หวั่นไหว มันเห็นร่างกายมันเจ็บ ใจเราเป็นแค่คนรู้คนดู ใจมันเป็นกลาง ใจมันไม่หวั่นไหว พิสูจน์มาด้วยตัวเอง ไปผ่าตัด หลวงพ่อก็นอนนิ่งๆ เราก็ดูร่างกาย ถูกหมอกรีดตรงนั้น ผ่าตรงนี้ เราเป็นคนดูอยู่เฉยๆ ร่างกายมันบางทีก็เจ็บ บางทีก็ไม่เจ็บ เขาให้ยาชายาอะไรพวกนี้ บางทียามันอ่อนลง ยามันหมดฤทธิ์ก็รู้สึกเจ็บขึ้นมา แต่จิตใจเรามันไม่ฟูไม่แฟบ มันอยู่เฉยๆ มันเป็นคนดูเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจิตที่เราฝึกมาให้ดี ฝึกให้ชำนาญ โดยเฉพาะการฝึกวิปัสสนา ฝึกให้เห็นเลยว่าร่างกายไม่ใช่เรา ความสุขทุกข์ก็ไม่ใช่เรา กุศล อกุศล ดี ชั่วอะไรก็ไม่ใช่เรา จิตใจก็เป็นแค่ธรรมชาติรู้ ไม่ใช่เรา ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น จิตใจมันจะไม่หวั่นไหว มันจะเป็นกลาง สงบอยู่อย่างนั้น

บางทีหมอรักษาหลวงพ่อเสร็จแล้ว ผ่าเสร็จแล้ว เขาก็ถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อนอนหลับหรือตอนที่เขาผ่าอยู่ บอกไม่ได้หลับ ทำไมหลวงพ่อนิ่งจังเลย หลวงพ่อไม่ร้องโอดโอย คร่ำครวญ บอกจะให้หลวงพ่อร้องเหรอ เราไม่รู้จะร้องทำไม เราก็แค่เห็นร่างกายมันไม่สบาย ร่างกายกำลังถูกหมอรักษาอยู่อย่างนี้ การปฏิบัติช่วยเราได้จริงๆ แต่ถ้าตรงนี้เราทำได้ ดีที่สุดทำวิปัสสนา ดูไปร่างกายไม่ใช่เรา ฉะนั้นที่หมอผ่าไม่ได้ผ่าเรา เขาผ่าฝี สมมติว่าเราเป็นฝี หมอไม่ได้ผ่าเรา หมอผ่าฝีต่างหาก ไม่ได้ผ่าเราเราก็ไม่เดือดร้อนอะไร ความรู้สึกเจ็บเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ความรู้สึกเจ็บก็เป็นของถูกรู้ ถูกดู มันไม่ใช่เราอีก มันไม่ใช่เราเจ็บ เราเป็นคนดู มันรู้สึกอย่างนี้

ฉะนั้นเวลาเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ จะเห็นเลยว่ามันไม่ใช่เราหรอก ร่างกายไม่ใช่เรา ความรู้สึกเจ็บปวดไม่ใช่เรา ใจเราก็สงบ สบายอยู่อย่างนั้น ไปอยู่โรงพยาบาลหลายเดือน รอบแรกอยู่ 4 เดือนกว่า ไม่ได้ออกจากห้องไปไหนเลย ยกเว้นเข็นจากห้องหนึ่ง ไปอีกห้องหนึ่ง ไปทำนั้นทำนี้ ผ่าโน้นผ่านี้ ไปเช็คนั่นเช็คนี่ ไปเรื่อยๆ นอกนั้นไม่ได้ออกจากห้องไปไหนเลย อยู่กับที่อย่างนั้น พวกหมอ พยาบาลมาถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อไม่สบายมากอย่างนี้ แล้วอยู่โรงพยาบาลตั้งนาน หลวงพ่อเหงาไหม เบื่อไหม หลวงพ่อบอกว่า เบื่อมันเป็นโทสะ อยู่ตรงไหนเราก็มีความสุขอยู่ตรงนั้น เราไม่ได้เบื่อเลย มีความสุขอยู่ได้ทุกหนทุกแห่ง สิ่งเหล่านี้เราจะได้มาด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้มาด้วยการร้องขอ อย่างเราจะไปจุดธูปไหว้เทวดา ไหว้พระนั้นพระนี้ ขอให้เราไม่มีความทุกข์ เป็นไปไม่ได้ ชีวิตกับความทุกข์เป็นของคู่กัน ฉะนั้นเราจะไม่อ้อนวอนร้องขอ ให้เทวดา ให้พระช่วยอย่างนั้น ช่วยอย่างนี้ แต่เราจะช่วยตัวเอง ด้วยการเรียนรู้ตัวเองนี่ล่ะ

 

ทีนี้บางคนทำวิปัสสนายังไม่เป็น แต่หลวงพ่อก็สอน ถ้าอย่างนั้นก็ทำสมถะไปก่อน ถ้าทำวิปัสสนาไม่เป็น ทำวิปัสสนาเป็นก็คือ ดูกาย ดูใจ เห็นกายเห็นใจมันทำงานไป จิตเป็นคนดู เราทำวิปัสสนาอยู่ แต่ถ้าเรายังแยกขันธ์ไม่เป็น ไม่มีตัวผู้รู้ ไม่มีอะไรเลย เราเกิดฉุกเฉินเจ็บป่วยขึ้นมาทำอย่างไร ทำวิปัสสนาไม่ได้ ทำสมถะ

อย่างตอนเราไปทำฟัน เคยทำฟันไหม ไปหาหมอทำฟัน ขูดหินปูนหรืออะไรต่ออะไร เวลาทำฟันมันหวาดเสียว หมอมาทำอะไรอยู่ในปากเราเสียงดังๆ เวลาเราเจ็บมากๆ บางทีเราก็เจ็บ เราทำสมถะใช้สมาธิ กำหนดจิตลงไปอยู่ที่หัวแม่เท้าเลยก็ได้ ให้ไกลๆ จากปากเราหน่อย มันเจ็บอยู่ที่ปาก เราเอาจิตย้ายไปอยู่ที่หัวแม่เท้าเรา พอจิตไปสงบอยู่ตรงนั้น มันลืมตัวที่ปากเรานี้ เพราะฉะนั้นหมอจะทำอะไร เราไม่ตกใจ นานๆ เสียวขึ้นมาที เจ็บขึ้นมาที เราย้ายจิตเราไป ย้ายที่ไป อันนี้เป็นเรื่องของสมถะ เรื่องของสมาธิ สมาธิคือ การที่เราเอาจิตไปเพ่ง ไปแนบอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง เช่น ย้ายจิตไปอยู่ที่หัวแม่เท้าเรา หรือเท้าเราเจ็บ เราก็ย้ายจิตมาอยู่ที่จมูกอะไรอย่างนี้ ย้ายที่อย่างนี้ มันก็ไม่เจ็บ หรือเจ็บก็เจ็บนิดๆ ไม่เจ็บเยอะหรอก อันนี้จำเป็นก็ทำ แต่ดีที่สุดฝึกวิปัสสนาให้ได้ ถ้าฝึกวิปัสสนาได้ สมาธิตก ใจเราก็ยังไม่หวั่นไหวทีเดียว

แต่ถ้าเราใช้สมถะ เราเพ่งไว้ที่หัวแม่เท้า เพ่งๆ ไปแล้วหมดแรง จิตจะกลับมาเจ็บที่ฟัน หมอกำลังทำฟันก็จะกลับมาช่วยตัวเองไม่ไหว โอย เจ็บขึ้นมาอีก แต่ถ้าสมาธิยังดีอยู่ ไม่ค่อยเจ็บ แต่ถ้าสมาธิตกก็เจ็บขึ้นมาอย่างนี้ แต่ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นอย่างนั้น วิปัสสนาเวลาเจ็บเห็นร่างกายมันเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ คนละแบบกัน ร่างกายเจ็บไม่ใช่เราเจ็บ เมื่อจิตใจไม่หวั่นไหว จิตใจสบาย ต่อไปถ้าสมมติเราเจ็บหนักจริงๆ เรารู้ตัวแล้ว เราจะต้องตาย เวลาจะตายเราเห็นร่างกายมันจะตายแล้ว จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เราตาย ร่างกายกำลังจะตาย จิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว จิตตั้งมั่นเด่นดวง ถ้ายังไม่พ้นกิเลส ยังมีกิเลสอยู่ ไปเกิดอีก เราจะไปเกิดในที่สุคติ ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก เป็นมนุษย์ที่ดีด้วย เป็นเทวดา เป็นพรหมอะไรพวกนี้ แต่ถ้าจิตเราไปจมอยู่กับความทุกข์ ร่างกายจะตายแล้ว เศร้าหมอง เสียใจ เราจะไปทุคติ ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก หรือถ้าเราตายตอนเราใจลอย เราจะไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ฉะนั้นเราฝึกจิตของเราไว้ให้ดี ให้จิตมันตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูไป เราอาจจะได้มรรคผลนิพพาน ตอนที่เราตายเลยก็ได้ มีหลายคนที่บรรลุพระอรหันต์ตอนกำลังจะตาย ตอนก่อนตายยังยุ่งอยู่กับโลกอยู่ ฆราวาสในสมัยพระพุทธเจ้าอยู่ มีฆราวาสหลายคนบรรลุพระอรหันต์ ตอนกำลังจะตาย ตอนที่ยังเป็นๆ อยู่ ยังแข็งแรงอยู่ ไม่บรรลุ เพราะยังเพลิดเพลินอยู่กับโลก แต่พอตอนจะตาย สติปัญญาที่มันเคยฝึกเคยทำวิปัสสนามาดีแล้ว มันช่วยตัวเองได้ มันเห็นร่างกายจะตาย จิตเป็นคนดู ในที่สุดจิตก็ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ตายก็ตายไปไม่ใช่เราตาย จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา เห็นแจ้งแทงตลอดอย่างนี้ จิตไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถืออะไรอีก จิตก็เข้าถึงความพ้นทุกข์ เข้าถึงพระนิพพานไป มีหลายท่าน สมัยพุทธกาลมีหลายท่านที่ทำอย่างนี้

พวกเราไม่ต้องไปรอทำตอนนั้น ท่านทำตอนนั้นได้เพราะตอนเป็นๆ อยู่ตอนแข็งแรงอยู่ ก็ฝึกอย่างที่พวกเราฝึก ฝึกรู้สึกตัว รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้สึกไปเรื่อยๆ พอเรารู้สึกได้ต่อไปเราก็จะสบาย มีความสุข ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราก็มีความสุข

 

“ไม่ใช่ว่านักปฏิบัติต้องยากจน ต้องสุขภาพไม่ดี
มีอะไรที่ดีก็มีได้ แต่ไม่หลง”

 

สิ่งที่เราได้มาจากธรรมะ ก็คือความสุขที่ยิ่งใหญ่ ในโลกใครๆ ก็อยากได้ความสุข แต่ความสุขในโลกไม่มีจริง มันเป็นของชั่วคราวไปหมดเลย อย่างที่เราคิดว่า ถ้าเรารวยๆ แล้วจะมีความสุข พอรวยขึ้นจริงก็ไม่เห็นจะมีความสุขสักเท่าไร มีเงินเยอะๆ บางทีกลุ้มใจกลัวโจรจะปล้น กลัวธนาคารจะล้ม กลัวรัฐบาลจะยึดอย่างนี้ กังวลไปเยอะแยะ มีอันไหนก็มีภาระขึ้นมา มีทรัพย์สมบัติเยอะ ก็รู้สึกมีภาระขึ้นมา เพราะฉะนั้นการมีเงินเยอะๆ ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ มีสุขภาพดี บางคนว่าสุขภาพดีจะเป็นของดี ไม่ทุกข์ สุขภาพดีก็อยู่ชั่วคราว บางคนบอกมีอายุยืนยาว แล้วจะไม่ทุกข์ อายุยืนมากๆ ร่างกายไม่แข็งแรงก็ทุกข์อีก

ในเมืองจีนยังมี ฮก ลก ซิ่ว ไหม คนไทยยังนับถือเยอะ ฮก ลก ซิ่ว มีอายุยืน มีอำนาจ มีเงินทอง คนส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนั้น มีอายุยืนก็คิดว่ามีความสุข จริงๆ อายุยืนก็คือทุกข์นาน มีทรัพย์สมบัติมากก็มีเครื่องกังวลใจ มีอำนาจมากก็มีเรื่องกังวลใจอีก กลัวคนอื่นมาแย่งอำนาจเรา จริงๆ ไม่ว่าจะมีอะไรก็ทุกข์ทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ เรามีเงินได้ไหม มีได้ มีสุขภาพแข็งแรงได้ไหม ก็มีได้ ไม่ใช่ว่านักปฏิบัติต้องยากจน ต้องสุขภาพไม่ดี มีอะไรที่ดีก็มีได้แต่ไม่หลง มีสิ่งที่ดีก็มีไปเถอะ มีโอกาสรวยก็รวยไปเถอะ แต่ไม่หลงว่าความร่ำรวยจะอยู่กับเราตลอดกาล ทรัพย์สมบัติไม่ว่าจะมีมากเท่าไร ถึงวันหนึ่งก็เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเราหรอก

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราก็จะอยู่กับโลกอย่างมีความสุข มีเงินก็มีความสุข เสียเงินไปใจก็ยังมีความสุข อย่างเราเกิดเสียเงินไป ยากจนลง ชีวิตเรายังอยู่ ลมหายใจเรายังอยู่ เรายังได้ปฏิบัติธรรมอยู่ แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว คนอื่นมีทุกสิ่งทุกอย่างแต่ไม่มีธรรมะ เขาไม่ได้มีความสุขที่อมตะที่แท้จริงเลย ฉะนั้นพวกเราฝึกตัวเองเรื่อยๆ แล้วเราจะอยู่กับโลกอย่างมีความสุข และเวลาแก่เราก็จะแก่อย่างมีความสุข เวลาเจ็บเราก็จะเจ็บอย่างมีความสุข เวลาตายเราก็ตายอย่างมีความสุข ตายแล้วก็ยิ่งมีความสุขอีก เราพยายามฝึกตัวเองเรื่อยๆ ไป สุดท้ายพอเราภาวนามากเข้าๆ ๆ จิตจะไปถึงความสุขอีกอย่างหนึ่ง คือความสุขของพระนิพพาน จิตใดที่ถึงพระนิพพานแล้ว มันเป็นจิตที่ไม่มีความอยากใดๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว จิตไม่มีการกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งได้ มันเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง

ถ้าพวกเราภาวนาเรื่อยๆ ไป วันหนึ่งเราก็จะมาถึงตรงนี้ถ้ายังไม่ถึง เราก็มีความสุขจากการทำวิปัสสนาไป เวลาร่างกายไม่สบาย ก็เห็นร่างกายมันป่วย ไม่ใช่เราป่วย เวลาทรัพย์สมบัติมันหายไป เราก็เห็น สมบัติมันของโลก มันหายไปวันนี้หรือมันหายไปตอนเราตายแล้ว คือเราไม่ได้ครอบครอง เหมือนกันมันไม่มีอะไรที่เราครอบครองไว้ได้ซักอย่างเดียว ถ้าใจเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต เราจะไม่ทุกข์หรือทุกข์น้อยๆ ทุกข์สั้นๆ ทุกข์ไม่นาน

อย่างพวกเราภาวนา เราเจริญสติ เราจะเห็นด้วยตัวเองเลยว่า ความทุกข์ในใจเราสั้นลง เคยทุกข์นานๆ ก็เหลือทุกข์สั้นๆ เคยทุกข์มากก็เหลือทุกข์น้อย ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ค่อยๆ ฝึกไป ถึงจุดหนึ่งมันจะไม่ทุกข์เลย ค่อยๆ ฝึก วันใดที่เข้าไปถึงตรงนี้ เราจะเข้าใจว่า ว่างจริงๆ มันว่างจากกิเลส ตัณหา ว่างจากตัวตน ว่างจากความยึดถือ ใจนี้ไม่มีภาระ ใจที่สิ้นภาระมีความสุข อย่างใจของเรามีภาระ ยิ่งคนไม่ได้ฝึกกรรมฐาน จิตใจมีภาระมาก ก็มีความทุกข์มาก ของเราฝึกกรรมฐาน เราก็คลายความยึด อันนี้ไม่ค่อยยึด พอยึดน้อยภาระก็น้อย ภาระน้อยทุกข์มันก็น้อย แต่วันใดภาวนาจนถึงจุดที่มันไม่ยึดถืออะไร มันก็ไม่มีภาระอะไร มันก็ไม่มีทุกข์อะไรเลย ที่สุดของการปฏิบัตินั้น อยู่ที่เราไม่ทุกข์อีกต่อไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มีอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ ถ้าเราอดทน เรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ไป ธรรมะไม่ต้องเรียนที่อื่น เรียนที่ตัวเอง

อย่างพวกเราบางคนกังวลว่า ไม่ได้เจอหลวงพ่อแล้วจะไม่ได้ปฏิบัติ ไม่จริงหรอก เพราะว่าจริงๆ ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าหากเราเป็นนักปฏิบัติจริงๆ เราจะไม่รู้สึกว่าเราอยู่ไกลครูบาอาจารย์ แต่เราจะรู้สึกว่าครูบาอาจารย์อยู่กับเราทั้งวันเลย เหมือนหลวงพ่อเมื่อก่อน ภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์อยู่จังหวัดสุรินทร์ ไกลจากกรุงเทพฯหลายร้อยกิโลเมตร หลวงพ่อรับราชการไปหาท่านบ่อยๆ ไม่ได้ เงินเดือนก็ยังน้อยอยู่ ไม่มีเวลาด้วย ไม่ค่อยได้ไปหาท่าน แต่ไม่รู้สึกว่าอยู่ไกลท่าน รู้สึกว่าท่านอยู่กับเราทั้งวันเลย เพราะเวลาเราภาวนา เวลาจิตเราคิดอะไรไม่ดี เราจะรู้สึกเหมือนกับหลวงปู่กำลังมองอยู่ เราไม่กล้าคิดชั่ว เราไม่กล้าพูดชั่ว เราไม่กล้าทำชั่ว คล้ายๆ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ตลอดเวลา พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าเราภาวนามีสติรู้กาย รู้ใจอยู่เรื่อยๆ เราจะรู้สึกว่าหลวงพ่ออยู่กับพวกเราอยู่แล้ว หลวงพ่อไม่เคยหายไปไหนเลย ค่อยๆ ฝึกไป ฝึกอย่างนี้ล่ะ

 

 

คนที่ 1: อยากจะขอคำแนะนำจากหลวงพ่อครับ

หลวงพ่อ: อยากจะให้แนะนำอะไร แนะนำไปครึ่งชั่วโมงแล้ว เห็นไหมร่างกายยิ้ม ข้างหลังร่างกายขยับอย่างนี้ เราคอยรู้สึก ร่างกายเราขยับๆ เราก็รู้สึก จิตใจเราขยับก็รู้สึก นั่นล่ะคือการปฏิบัติ แต่ละคนนั่งข้างหลัง ขยับไปขยับมา ก็เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ถ้าร่างกายเคลื่อนไหวแล้วเราคอยรู้สึก ไปเรื่อย ต่อไปเราจะเห็นกายไม่ใช่ตัวเรา แล้วถ้าจิตใจเราขยับเขยื้อนไป มีสุขมีทุกข์ขึ้นมา เราเห็น ต่อไปเราก็จะเห็น สุขทุกข์ ดี ชั่ว ทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา อย่างตอนนี้จิตมันหนีไปคิดอย่างนี้ ก็รู้ว่ามันหนีไปคิด รู้ทันมันไปเรื่อย เราไม่ห้ามมัน จิตมันเคลื่อนไหว เรารู้ว่าเคลื่อนไหว นั่นล่ะเรียกว่าปฏิบัติ

 

คนที่ 2: ช่วงนี้ค่อนข้างฟุ้ง ใจไม่ค่อยมีแรง

หลวงพ่อ: จิตไม่ตั้งมั่น แต่ฟุ้งไม่มาก ฟุ้งนิดหน่อย พยายามรู้สึกร่างกายไว้ เวลาจิตใจมันฟุ้งดูไม่รู้เรื่อง เราดูร่างกาย ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายนั่งอยู่ ใจเป็นคนรู้สึก ถ้าเราทำอย่างนี้ สักพักเดียวจิตจะมีแรง หายฟุ้งซ่าน มีสติรู้ร่างกาย ไม่ไปรู้อย่างอื่น เรียกว่าเรารู้อยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็ได้สมาธิขึ้นมา เป็นวิธีที่เราจะได้สมาธิอย่างง่ายๆ จิตมันอยู่ข้างนอก ลองหายใจ เอาความรู้สึกไว้ที่ลมหายใจ แล้วหายใจกลับเข้ามา หายใจเข้ามา จิตมันเริ่มเข้ามาแล้ว รู้สึกไหมมันไม่เหมือนเมื่อกี้แล้ว จิตอย่างนี้ถึงเรียกว่าจิตมีสมาธิ ไม่อย่างนั้นจิตจะไปอยู่ข้างนอก อยู่ข้างนอกนะเราจะรู้สึกสบายๆ แต่มันเดินปัญญาไม่ได้จริง จิตต้องตั้งมั่น เพราะฉะนั้นทุกวันๆ แบ่งเวลาไว้นิดหน่อย หายใจแล้วรู้สึก หายใจแล้วรู้สึก สักพักหนึ่ง ทุกวันแบ่งเวลาไว้ทำ จิตใจจะได้มีพลังขึ้นมา ทุกวันก็ต้องทำ หายใจไปแล้วรู้สึก หายใจแล้วรู้สึก เห็นร่างกายมันหายใจอยู่ เราเป็นคนรู้สึกอยู่เรื่อยๆ

อันนี้เราส่งใจไปดูแล้ว เราส่งใจไปดูลมหายใจ เราไม่ส่งใจไป เราแค่เห็นร่างกายหายใจ ใจเราเป็นคนรู้สึก มองเห็นไหมว่าจิตมันส่ายไปส่ายมา ถ้าเราเห็นจิตมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา อยู่ข้างใน เรารู้ทันมัน รู้เฉยๆ รู้ด้วยความเป็นกลาง เดี๋ยวมันก็จะสงบลงมา ที่เราส่ายไปส่ายมาเพราะจิตมันเที่ยวแสวงหา มัน เอ๊ะ จะดูอะไรดีนะ จะดูอะไรดีนะ จิตมันก็จะส่ายๆ ๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ทันว่าจิตมันกำลังส่ายอยู่ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา เห็นไหมว่าจิตมันแอบไปคิดเรื่อยๆ รู้ทันว่าจิตมันไปคิด เรารู้สึกร่างกายไป พอจิตหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ

 

คนที่ 3: ครั้งที่แล้วหลวงพ่อเคยแนะนำให้ไปฝึกอยู่ในรูปแบบ เมื่อก่อนจิตเขาอยู่ข้างนอกครับ ก็ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ พยายามฝึกครับ

หลวงพ่อ: ฝึกได้ดีนะ คราวนี้พอเรามีสมาธิขึ้นมา สติระลึกลงในร่างกาย เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา สติระลึกลงไปที่ไหน ก็จะเห็นว่าที่นั้นไม่มีตัวเรา คอยรู้สึกอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะเกิดปัญญา จิตใจเราฝึกจนกระทั่งมันมีสมาธิขึ้นมาแล้ว ต่อไปเราก็เดินปัญญา คอยดูกาย ดูใจมันทำงานไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่ากายก็ไม่ใช่เรา ใจก็ไม่ใช่เรา ล้วนแต่เป็นของถูกรู้ถูกดู ภาวนาได้ดีนะ 3 คนนี้ใช้ได้เลย

 

คนที่ 4: รู้สึกว่าช่วง หนึ่งปีที่ผ่านมา ใจไม่ค่อยยอมเดินปัญญา เหมือนน่าจะติดสมาธิ จะขอคำแนะนำจากหลวงพ่อครับ

หลวงพ่อ: เวลาใจไม่เดินปัญญา เราก็ต้องช่วยมัน อย่างใจเราพอเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วมันเฉยๆ อยู่อย่างนี้ เราดูลงที่ร่างกายก่อนเลย เราจะเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายนี้มีความทุกข์ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็มีความทุกข์ เดินอยู่นานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ การที่เราคอยรู้ความทุกข์ในร่างกาย มันเป็นการกระตุ้นให้จิตเดินปัญญา ต่อไปมันจะเดินปัญญาได้เองโดยที่เราไม่ต้องเจตนา มันจะเห็นอยู่ในใจอย่างแจ่มแจ้ง ร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์จริงๆ

ทีแรกพอใจเรามีสมาธิแล้ว เจริญปัญญา ถ้าจิตไม่เดินปัญญา ดูกายเลย ดูให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คิดพิจารณาลงไปเลย เป็นการกระตุ้นให้จิตเดินปัญญา ถ้าจิตมีสมาธิแล้วเฉยๆ ๆ ๆ ไปอย่างนี้ไม่ดี เสียเวลา เราก็มาดูกาย ทำไมจิตมีสมาธิแล้วไปเดินปัญญาด้วยการดูจิตไม่ได้ เพราะว่าเวลาจิตมันมีสมาธิ จิตมันนิ่งๆ เฉยๆ ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดูหรอก มันเฉยๆ ไป เพราะฉะนั้นย้อนมาดูที่ร่างกายเลย ถ้าจิตไปติดสมาธิอยู่ ดูร่างกายไว้ ร่างกายอย่างไรก็ไม่เฉย กายนี้อย่างไรก็ต้องทุกข์ พอเราเห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยงในร่างกาย เห็นความเป็นทุกข์ในร่างกาย เดี๋ยวจิตมันจะค่อยๆ เดินปัญญาได้ พอดูกายไปช่วงหนึ่ง จิตมันมีแรง ก็จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน

อันนี้เป็นหลักของการปฏิบัติเลย เป็นวิธีของการปฏิบัติที่มาตรฐานเลยคือ ถ้าจิตเราติดสมาธินิ่งๆ ว่างๆ อยู่นานๆ ย้อนออกมาดูร่างกาย แล้วคิดพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่วัตถุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกทั้งวัน ไม่ใช่ตัวเรา ค่อยๆ สอนจิตไป ต่อไปพอจิตมันฉลาด มันจะดูร่างกายเป็นไตรลักษณ์โดยที่เราไม่ได้เจตนา ตรงที่มันเห็นโดยที่ไม่ได้เจตนา นี่คือการทำวิปัสสนาแล้ว

 

หลวงพ่อดีใจนะเห็นพวกเรา ไม่เห็นเป็นปีแล้ว ที่ดีใจไม่ใช่ว่าเห็นพวกเราเฉยๆ แต่เห็นว่าพวกเรายังปฏิบัติอยู่ แต่ละคนดูแล้วโอเค ใช้ได้เลย ผู้ชายที่นั่งหลังคนนั้น มีการเพ่งอยู่นิดหน่อย เรายังไปเพ่งอยู่ พอเราเพ่งจิตมันก็จะนิ่งๆ อยู่ เพราฉะนั้นเราจะต้องปล่อยให้จิตมันทำงาน ให้เป็นธรรมชาติ อย่าเพ่งนานเกินไป เพ่งนิดๆ หน่อยๆ พอจิตไม่ฟุ้งซ่านแล้วก็ปล่อยให้มันทำงาน ให้จิตทำงานไป ถ้าเราเพ่งอยู่ เพ่งอย่างนี้จะเฉยๆ อยู่อย่างนี้ มันจะไม่เดินปัญญาต่อ ปล่อยให้จิตมันเคลื่อนไหวให้เป็นธรรมดา เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ชั่ว มีสติรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเดินต่อไปได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 เมษายน 2564