ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

การภาวนา ปฏิบัตินี่ ดูกายดูใจเรา เบื้องต้นทำสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน จิตที่จะเอาไปเดินปัญญาได้ต้องทรงสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิ 2 อย่างอันหนึ่งจิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้พักผ่อน คือทำให้จิตมีกำลัง ถ้าจิตไม่ได้พักผ่อนเลยจิตไม่มีกำลัง ลำพังจิตมีกำลังอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีสมาธิอีกชนิดหนึ่ง คือความตั้งมั่นของจิตที่จะถอนตัวออกจากปรากฏการณ์ทั้งหลายที่จิตไปรู้ไปเห็น จิตก็จะต้องถอยออกมา ถอนตัวออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู ฉะนั้นต้องมีทั้งเรี่ยวแรงของจิต มีความตั้งมั่นถอนตัวออกจากปรากฏการณ์ทั้งหลาย ทำหน้าที่เป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้น

วิธีฝึกหลวงพ่อก็พูดอยู่แทบทุกวัน ตั้งแต่ยังไม่บวช หลวงพ่อก็สอนวิธีที่พวกเราจะฝึกให้ได้สมาธิจริงๆ สังเกตที่จิตเราเอง มันจะเป็นวิธีลัดให้ได้สมาธิอย่างรวดเร็ว ถ้าเราทำสมาธิแต่ไม่เคยสังเกตจิตใจตัวเอง ยากมาก ส่วนใหญ่มันจะกลายเป็นมิจฉาสมาธิเสีย ไม่เคร่งเครียดก็เซื่องซึม มี 2 อย่าง อีกอย่างหนึ่งก็ฟุ้งซ่านไปรวมเป็น 3 อย่าง เครียดไป ฟุ้งซ่านไป พอสงบก็เซื่องซึม สมาธิพวกนั้นใช้อะไรไม่ได้ ยิ่งฝึกมากๆ ก็ยิ่งพอกพูนกิเลส ราคะก็จะแรงขึ้นคือความติดอกติดใจในความสุขความสงบ พอจิตถอนออกจากสมาธิโทสะก็จะขึ้น หงุดหงิด หรือเราทำสมาธิด้วยการบังคับตัวเองมากๆ จิตมันก็มีโทสะ นั่งสมาธิแล้วก็เคลิบเคลิ้มไป จิตก็มีโมหะ หรือนั่งสมาธิแล้วจิตก็ฟุ้งเห็นโน่นเห็นนี่ไป อันนั้นก็เป็นโมหะ

ฉะนั้นถ้าเราไม่สังเกตจิตใจตัวเองให้ดี ไปลงมือทำสมาธิละเลยจิต ส่วนใหญ่มันก็จะไปเป็นมิจฉาสมาธิ เว้นแต่ว่ามีบุญวาสนาบารมีจริงๆ สะสมมามากแล้ว ไม่ได้สนใจจิต ภาวนาไป หายใจไป พุทโธไปปุ๊บ ผู้รู้มันโดดเด่นขึ้นมา อันนั้นสำหรับคนซึ่งเขาสะสมมานานแล้ว คนส่วนใหญ่มันจะไปเป็นมิจฉาสมาธิเกือบทั้งหมด หลวงพ่อเห็นมาตอนหลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์แล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกหลวงพ่อพอจะพึ่งตัวเองได้แล้ว พึ่งตัวเองได้ หลวงพ่อก็ออกไปดูนักปฏิบัติสำนักต่างๆ ก็รู้เลยว่ามันไปยาก เขาไม่รู้เท่าทันจิตตนเอง สมาธิที่เกิดมันออกไปทางมิจฉาสมาธิ บางคนนั่งสมาธิแล้วก็ซึมเคลิ้มๆ ซึมๆ ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นโมหะมันครอบ บางทีนั่งสมาธิแล้วเห็นโน้นเห็นนี้ไป แล้วใจก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านก็ตระกูลโมหะ นั่งแล้วก็เพลินมีความสุข ยิ้มหวาน เพลินไปเรื่อยๆ ติดอกติดใจในรสชาติของสมาธิ อันนั้นราคะมันก็แทรก นั่งสมาธิ เดินจงกรมแล้วกดข่มบังคับจิตใจตนเอง หรือบังคับร่างกายตัวเอง จะเดินจงกรมก็บังคับตัวเองมากเลย นั่งสมาธิก็บังคับตัวเอง หายใจก็บังคับลมหายใจ พวกนี้โทสะมันจะแทรก ไปดูแล้วคนทำสมาธิเกือบร้อยละร้อยมันทำไม่ถูกหรอก ไม่ได้ปรามาสล่วงเกินเขาแต่เห็นอย่างนั้นจริงๆ ก็นึกว่า โอ้ อย่างนี้ร้อยคนพันคน มันจะหลุดออกมามีสมาธิที่ถูกต้องสักกี่คน ยากมาก

ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจของเราเองไป เวลาเราจะทำสมาธิ อันแรกเราต้องรู้หลัก ทำอย่างไรจิตจะสงบ ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อยากให้จิตสงบก็รู้จักเลือกอารมณ์ที่มีความสุข แล้วใช้จิตที่มีความสุขไปรู้อารมณ์ที่มีความสุขนั่นล่ะ รู้ไปสบายๆ แต่ตรงสบายๆ ก็ไม่ใช่แกล้งสบาย ทำใจเคลิ้มๆ อะไรอย่างนั้น อันนั้นไม่ได้เรื่องหรอกสติอ่อนเกินไป สะกดจิตตัวเองให้มีความสุข นั้นใช้ไม่ได้ จิตที่มีความสุขนั้นคือจิตธรรมดานี่ล่ะ นี้คนในโลกมันไม่รู้จักจิตธรรมดา เพราะว่ามีแต่จิตที่ไม่ธรรมดา

 

จิตธรรมดา

คนในโลกจิตของเขาไม่เคยธรรมดาเลย มันถูกกิเลสแทรกอยู่ตลอดเวลา ดวงนี้มีราคะ ดวงนี้มีโทสะ ทุกๆ ดวงมีโมหะ เวลามีราคะมันก็ต้องมีโมหะด้วย มีโทสะก็ต้องมีโมหะด้วย ฉะนั้นบางเวลาก็มีราคะ บางเวลาก็มีโทสะ แต่ตลอดเวลามีโมหะ มันใช้ไม่ได้ ถ้าสังเกตจิตใจตัวเอง จิตใจมันไม่ธรรมดา คนส่วนใหญ่มันชอบคิดว่าผู้ปฏิบัติเป็นพวกไม่ธรรมดา หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า “ผู้ปฏิบัติที่ปฏิบัติดี ธรรมดาที่สุดเลย” ส่วนคนส่วนใหญ่ไม่ธรรมดา จิตถูกราคะ โทสะ โมหะแทรกอยู่ตลอดเวลา จิตไม่ธรรมดา คือจิตเป็นทาส

เราใช้จิตธรรมดาๆ ไปภาวนาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ได้ นี่เป็นตัวอย่าง จะใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ในเบื้องต้น เพื่อความสงบ เอาที่ถนัด ยกตัวอย่างเช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ตอนที่ลงมือหายใจ ลงมือทำอานาปานสติ อย่าบังคับจิต จิตใจของเราตอนนี้เป็นอย่างไร ใช้จิตอย่างนั้นล่ะภาวนาไปเรื่อยๆ บางคนมันเครียดมาก จิตเครียดมากๆ หลวงพ่อก็เคยบอกอุบายให้อันหนึ่ง ยิ้มไว้ก่อน ลองยิ้มสิ พวกเราลองยิ้มสิ ยิ้มหวานๆ ยิ้มเหมือนมีสาวมาบอกรักเรา ยิ้มหวานๆ สังเกตไหมตอนที่เรายิ้มใจเราคลายออก รู้สึกไหม ตอนที่จริงจังอย่างนี้ใจมันรวบเข้ามาแน่นๆ

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านก็มีอุบาย อย่างก่อนจะนั่งสมาธิท่านบอกให้ไหว้พระสวดมนต์ก่อน ไหว้พระ สวดมนต์ใจจะได้สบายแค่นั้นล่ะ บางคนนึกว่าเพื่อจะขอพร ไม่ใช่ เราไหว้พระสวดมนต์ให้สบายใจ แต่บางคนไหว้พระสวดมนต์แล้วไม่สบายใจ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร วิธีขี้โกงแบบรวบรัดเลย ยิ้ม ยิ้มหวานๆ ยิ้มด้วยหัวใจ ถ้าใจเรายิ้มหน้าเราก็ยิ้มเอง ถ้าหน้ายิ้มแต่ใจเครียด เรียกว่ายิ้มไม่ออก ยิ้มแบบหุบๆ เอาไว้ หายใจสบาย หายใจยาวๆ อย่างนี้นะ ถ้าตอนนั้นมันเครียดมากๆ หายใจเข้าไปลึกๆ อย่าไปอยากหายเครียด หายใจลึกๆ แล้วก็พ่นลมออกไป ธรรมชาติมันสอนเราอยู่แล้ววิธีนี้ เวลาที่คนเครียด สังเกตไหมเวลาคนมีความทุกข์มากๆ มีความเครียดมากๆ ชอบถอนใจ ถอนใจแล้วมันผ่อนคลาย

เบื้องต้นก็มีอุบายให้ใจมันผ่อนคลาย ให้ใจมันเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่แกล้งทำเป็นมีความสุข ทำใจ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เหลวไหล ใจไม่ธรรมดา อย่างนั้นใจดัดจริต ใช้ใจ ธรรมดาๆ แล้วใจมันเครียดถอนใจมันเสียทีหนึ่ง สติมันยังไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ยิ้มหวานๆ ยิ้ม เห็นร่างกายมันยิ้มใจเป็นคนรู้สึก ใจมันผ่อนคลาย พอใจเราผ่อนคลายแล้ว ทำกรรมฐานไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ รู้ไป ด้วยใจที่ผ่อนคลาย ไม่ใช่หายใจไปก็เครียดเมื่อไรจะสงบๆ ไม่มีวันสงบเลย ใจที่เครียดไม่สงบหรอก ใจที่ผ่อนคลาย ใจที่มีความสุข มันสงบโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว สังเกตไหมบางทีเราไปนั่ง สมมติไปนั่งริมทะเล หรือบางคนชอบภูเขาไปอยู่บนภูเขา ไม่ได้ทำอะไรวุ่นวาย ไม่ได้จงใจให้จิตสงบ จิตมันมีความสุข มันมีความสงบในตัวของมันเอง

 

อุบายให้ใจผ่อนคลาย ให้ใจเป็นธรรมดา

อย่างหลวงพ่อบ้านเกิดอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง คลองคูเมืองกรุงเทพฯ บ้านอยู่ริมคลองเลยติดคลองเลย คลองแต่ก่อนมันก็ไม่เน่าเหมือนคลองรุ่นหลังๆ แต่เดี๋ยวนี้ได้ยินว่าเริ่มสะอาดขึ้นบ้างแล้ว หลวงพ่อชอบนั่งริมคลองมันเคยชินมาแต่เด็ก เวลาไปนั่งริมคลองเช้าๆ เย็นๆ ลมพัดพลิ้วๆ เห็นคลื่นเป็นระลอกเล็กๆ ระลอกน้ำ ไม่ใช่คลื่นโครมๆ แบบคลื่นเรือหางยาว คลื่นเรือหางยาวมาจิตไม่รวมหรอก โครมครามอย่างนั้น นี่ลมพัดระลอกน้ำมันพลิ้วๆ เห็นแล้วมีความสุข แดดอ่อนๆ อากาศเย็นๆ ลมพัดพลิ้ว เสียงนกเสียงการ้อง ไม่ต้องจงใจให้สงบเลย มันสงบตั้งแต่ยังไม่ทันนั่งสมาธิแล้ว คราวนี้เราจะทำสมาธิก็นั่งหายใจไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไม่กี่ครั้งจิตรวมแล้ว เพราะจิตเรามันปกติอยู่แล้ว มันสบายอยู่แล้ว ถ้าจิตเราเครียดๆ ไปนั่งสมาธิ กว่าจิตจะเข้าที่เข้าทาง เรียบร้อยขึ้นมา สงบขึ้นมา ใช้เวลานานมาก

เพราะฉะนั้นเรามีอุบาย ทำใจให้มันสบายใจเสียก่อนแล้วค่อยทำกรรมฐาน แต่สบายใจต้องสังเกตให้ดี ไม่ใช่แกล้งทำ เราต้องดูว่าเราอยู่ในสภาพอย่างไรแล้วสบายใจ อยู่อย่างนั้น ถ้าเราเลือกไม่ได้เราก็จินตนาการเอาก็ได้ สมมติอย่างหลวงพ่อมาอยู่ในที่รถยนต์เยอะแยะ นั่งอยู่บนรถเมล์หลวงพ่อก็นั่งหลับตา นึกถึงระลอกน้ำพลิ้วๆ อะไรอย่างนี้ ใจสบาย คราวนี้หายใจต่อเลยพุทโธๆ ไป แป๊บเดียวก็สงบแล้ว หายใจไม่กี่ครั้งหรอก พวกเราพลาดตรงนี้ ตรงจุดเริ่มต้นเราใช้ใจที่ไม่ปกติ เราใช้ใจที่เต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ เอาใจอย่างนี้ไปทำกรรมฐาน ใจมันไม่ถูก ถ้าใจมันไม่ถูกทำอะไรมันก็ไม่ถูก ถ้าใจมันถูกทำอะไรมันก็ถูก ถูกผิดมันอยู่ที่จิตเรานี่เอง

ฉะนั้นเราทำจิตให้มันธรรมดาก่อน แล้วเราใช้จิตที่ธรรมดาไปรู้อารมณ์กรรมฐาน อารมณ์กรรมฐานก็คือตัววิหารธรรมทั้งหลายที่เราใช้นั่นเอง จะใช้อารมณ์อะไรก็เอาตามถนัด ใช้จิตธรรมดาๆ ไปรู้อารมณ์กรรมฐานที่เราถนัดที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ไปรู้อารมณ์นั้นอย่างธรรมดาๆ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง ไม่แทรกแซงอารมณ์ ไม่แทรกแซงจิต แทรกแซงอารมณ์เป็นอย่างไร เช่นเราหายใจ เราแทรกแซงอารมณ์ เราใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์กรรมฐาน แทรกแซงก็เช่น บังคับมัน หายใจให้มันผิดธรรมชาติ หายใจที่ผิดความเคยชิน อย่างนี้ไม่สงบหรอก ฉะนั้นเราอย่าไปแทรกแซงมัน เรารู้อารมณ์กรรมฐานด้วยใจที่สบายๆ ใจที่ธรรมดา รู้ไปธรรมดาๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง แล้วบางทีก็ชอบแทรกแซงจิต แทรกแซงอารมณ์แล้วไม่พอแทรกแซงจิตอีก

แทรกแซงอารมณ์ เช่น เดินจงกรมก็ต้องเดินท่านั้นท่านี้ถึงจะถูก นี่แทรกแซงอารมณ์กรรมฐานคือร่างกาย แทรกแซงการหายใจให้มันผิดธรรมชาติ หายใจแบบทรมาน อย่าไปแทรกแซงอารมณ์ แล้วก็อย่าไปแทรกแซงจิต ไม่แทรกแซงจิตก็คือฝึกให้จิตมันธรรมดาอย่างที่บอกนั่นล่ะ แล้วใช้จิตที่ธรรมดา เราไม่ได้แทรกแซงจิตแล้ว ไม่ใช่พอนั่งสมาธิก็น้อมจิตให้เคลิ้มหวังว่าจะสงบ อย่างนั้นแทรกแซงจิต จิตเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไรหรอก ใช้จิตปกติธรรมดานี่ล่ะไปรู้อารมณ์ธรรมดา รู้อย่างธรรมดาๆ รู้อย่างสบายๆ รู้แล้วไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์ ขั้นแรกก็คือฝึกจิตใจของเราให้มันเป็นธรรมดาก่อน อย่าไปแทรกแซงจิต แล้วก็ลงมือทำกรรมฐาน รู้อารมณ์กรรมฐานไปอย่างธรรมดาๆ ไม่ไปแทรกแซงอารมณ์กรรมฐาน แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงจิตอีก บังคับจิตให้สงบ ให้นิ่ง ให้ดีอย่างโน้นอย่างนี้ เสียเวลา ไม่สงบหรอก

 

ฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นคนดู

ทีนี้ถ้าเราใช้จิตใจที่ธรรมดา ไปรู้อารมณ์กรรมฐานที่เราคุ้นเคย เราถนัด รู้ไปอย่างธรรมดาไม่แทรกแซงจิต ไม่แทรกแซงอารมณ์ แป๊บเดียวสงบ ค่อยๆ ฝึกแล้วเราจะสามารถทำความสงบได้ในพริบตาเดียว จิตรวมในพริบตาเดียวเท่านั้นเอง ค่อยๆ ฝึก ตรงนี้จิตมีกำลังแล้ว จิตมีกำลังอย่างเดียวไม่พอ มันคล้ายมีแรงแต่ทำงานไม่เป็น จิตที่ทำงานเป็นต้องเป็นจิตที่ตั้งมั่น แล้วเห็นสภาวะทั้งหลายเคลื่อนผ่านไป จิตเป็นคนดูอยู่ จิตนั้นแยกออกจากปรากฏการณ์ทั้งหลาย แยกออกจากอารมณ์ทั้งหลาย แยกออกมาเป็นคนรู้คนดู ตรงนี้ถึงจะเดินปัญญาได้จริง ถ้าจิตยังคลุกอยู่กับอารมณ์ เดินปัญญาไม่ได้

ตอนหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ จิตมันไหลไปรวมเป็นก้อนเลยอยู่ในหน้าอก ตรงนี้เดินปัญญาอย่างไร ไม่รู้จะเดินปัญญาได้อย่างไร ที่เดินปัญญาไม่ได้เพราะเราไม่มีจิตเป็นคนรู้คนดู ค่อยภาวนาจนจิตมันถอนออกมาเป็นคนดู มันก็เห็นไอ้นี่ถูกดู เกิดดับๆๆ อยู่ ดูไปเรื่อยๆ พอต่อไปชำนิชำนาญมันก็เห็นตัวที่เป็นคนดูเองก็เกิดดับ สุดท้ายทุกสิ่งเกิดแล้วทุกสิ่งดับ ค่อยๆ ดูมันจะเดินปัญญาได้ ให้จิตมันถอนตัวออกมา ถ้าจิตมันเข้าไปคลุกไปจมอยู่กับอารมณ์ มันดูอะไรไม่รู้เรื่องหรอก มันได้แต่ความสงบเฉยๆ แต่เดินปัญญาไม่ได้ นี้เราจะฝึกจิตให้ถอนตัวออกมาจากปรากฏการณ์ อย่างถอนตัวออกจากโลกของความคิด คิดๆๆๆ แล้วก็ถอนตัวออกมา เห็นความคิดมันไหลไป จิตเป็นคนรู้คนดู ผู้รู้มันจะแยกออกมาได้

หลวงพ่อแยกผู้รู้ได้ตั้งแต่เด็กด้วยการนั่งสมาธิ วันที่ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก ขึ้นไปวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 กี่ปีแล้ว พรุ่งนี้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พรุ่งนี้เป็นวันครูของหลวงพ่อ ไม่ใช่วันที่ 17 เดือนมกราคม วันครูของหลวงพ่อคือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2525 มาถึงปีนี้กี่ปีแล้ว เดี๋ยวนี้คิดเลขไม่ค่อยเป็นแล้ว ก็หลายสิบปีแล้ว ไปหาท่านวันนั้นออกจากท่านมาขึ้นรถไฟ ท่านบอกให้ดูจิต จะดูได้อย่างไรดูจิตไม่ออก พิจารณาลงไปจิตต้องอยู่ในกาย จิตไม่อยู่นอกกาย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะไม่เรียนรู้ออกไปนอกกาย จะเรียนรู้อยู่ในกายเท่านั้น แล้วก็ดูลงไปจิตมันอยู่ในกายแล้วมันอยู่ตรงไหนของกาย อยู่ที่ผมหรือกำหนดจิตลงไปดูที่ผม สมาธิมันแรง หลวงพ่อฝึกมาแต่เด็ก พอกำหนดจิตดูผมเท่านั้นผมสลายไปเลย หายไป ก็ไล่ตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ไล่ขึ้นไล่ลง พอรูปมันสลายก็สร้างรูปขึ้นมาใหม่ ระลึกขึ้นมาใหม่แล้วก็ดูลงไปอีกก็สลายอีก

ในที่สุดก็รู้ว่าจิตอยู่ในกายแต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนในกาย ไม่ได้อยู่จุดใดจุดหนึ่งในกายหรอก แล้วเราจะเห็นจิตได้อย่างไร หรือว่าจิตอยู่ในเวทนา ความสุข ความทุกข์ทั้งหลาย ทำจิตให้มีความสุข พอมีความสุขเราดูลงไปในความสุข ความสุขดับไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา ทำจิตให้มีความทุกข์ไม่เป็น ก็ดูร่างกายไม่กระดุกกระดิก นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก สักพักใหญ่ๆ มันก็เริ่มทุกข์ให้ดูแล้ว มันปวด มันเมื่อย มันอะไรให้ดู ดูลงไปในความรู้สึกปวดเมื่อย ความปวดเมื่อยดับไปก็ไม่เห็นจิต ก็คิดเอ๊ะ หรือว่าจิตอยู่ในความคิดๆ คราวนี้จงใจคิดเลย คิดสวดมนต์ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดังห้วงมหรรณพ” คิดคำว่า “พุทโธ สุสุธโธฯ” เห็นกระแสของความคิดมันเลื้อยขึ้นมา กระแสของความคิดมันมี เหมือนมันเลื้อยๆๆ ขึ้นมา เลื้อยขึ้นมา ทันทีที่จิตไปเห็นกระแสความคิดกับจิตมันคนละส่วนกันเลย ตัวรู้ก็เด่นดวงขึ้นมาแล้ว โอ๊ย ตัวรู้อยู่ตรงนี้เอง

ถ้าเรารู้ทันจิตใจของเราแล้วจิตเราหลุดออกจากโลกของความคิด ตัวรู้มันก็เกิด ถ้าเราหลงอยู่ในโลกของความคิด ตัวรู้ก็ไม่มีเพราะมันมีแต่ตัวคิด จิตผู้รู้มันก็อันหนึ่ง จิตผู้คิดมันก็อันหนึ่ง จิตผู้เพ่งมันก็เป็นอีกอันหนึ่ง จิตผู้โลภก็อันหนึ่ง จิตผู้โกรธ จิตผู้หลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จิตผู้สุข ผู้ทุกข์ คนละตัวกันหมด แต่ดูที่ง่ายๆ ความคิดเรามีทั้งวัน พอเห็นกระแสความคิดไหลวืดขึ้นมา จิตเป็นคนรู้ รู้เลยว่าความคิดกับจิตคนละตัว จิตมันดีดตัวออกมาเป็นคนดูแล้ว ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด พอจิตมันตั้งมั่นแล้วคราวนี้เราเดินปัญญาได้แล้ว ก็จะเห็นจิตคิดมันก็คิดของมันได้เอง ความคิดมันผุดขึ้นมาได้เองไม่ใช่เราจงใจคิด ไม่ต้องจงใจคิดหรอก ลองทดสอบสิ ลองตั้งใจว่าเราต่อไปนี้เราจะไม่คิด ลองดูสิทำได้ไหม เห็นหรือยังว่าทำไม่ได้ มันคิดได้เองดูออกหรือยัง ตรงที่ว่ามันคิดได้เอง นี่คือเห็นอะไร เห็นอนัตตา

เห็นไหมภาวนาไม่ใช่เรื่องลึกลับยากเย็นแสนเข็ญอะไรเลย ง่ายๆ แค่นี้ล่ะ หลวงพ่อเห็นจิตมันทำงานได้เอง มันคิดได้เอง มันสุขได้เอง มันทุกข์ได้เอง มันดีได้เอง มันชั่วได้เอง เฝ้ารู้เฝ้าดูไปมันชั่วได้เองด้วย มันชั่วเองเช่น อยู่ๆ สัญญามันนึกภาพคนนี้ขึ้นมา โทสะเราก็พุ่งเลย สัญญามันนึกภาพคนนี้ขึ้นมา ราคะมันก็พุ่งขึ้นมาเลย โทสะเราไม่ได้คิดจะให้มันเกิด มันก็เกิดได้เอง ราคะเราไม่ได้คิดให้เกิด มันก็เกิดเอง เหมือนตัวความคิดเราไม่ได้เจตนาจะคิดมันก็คิดได้เอง ตรงที่มันเป็นเอง มันทำได้เอง แสดงว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก ตรงนั้นเราเห็นอนัตตาอย่างง่ายๆ เลย

เพราะฉะนั้นเราภาวนา เราค่อยๆ ฝึก พอจิตเราตั้งมั่นเป็นคนดูได้ มันจะเห็นไตรลักษณ์อย่างง่ายๆ เลย ไม่ลึกลับอีกต่อไปแล้ว ยากไปไหม สมาธิจะให้สงบสอนแล้วนะ ใช้ใจที่ธรรมดาไปรู้อารมณ์ที่เราถนัด รู้แล้วมีความสุข รู้อย่างธรรมดาๆ ไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์ ไม่เข้าไปแทรกแซงจิต แทรกแซงอารมณ์ เช่น แทรกแซงการหายใจ เราใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม แทรกแซง หายใจไม่กี่ทีก็เหนื่อยแล้ว หายใจมาตั้งแต่เกิดไม่เหนื่อย กำหนดลมหายใจทีเดียว เหนื่อย เพราะว่าแทรกแซงลมหายใจ แทรกแซงการหายใจ หรือจิตเราปกติมันก็เคลื่อนไหวไปมา ไปแทรกแซงมัน ต้องนิ่ง บังคับให้มันนิ่ง มันเครียด อย่างนี้แทรกแซง ไม่สงบหรอก

ฉะนั้นใช้จิตใจที่ธรรมดาไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วมีความสุข รู้ไปอย่างธรรมดาๆ ไม่แทรกแซงอารมณ์ ไม่แทรกแซงจิต จะสงบในเวลาอันสั้น แล้วมีสติกำกับตลอดเวลา ตรงนี้เคลิ้มไปแล้ว ตรงนี้เข้าไปแทรกแซงแล้ว มีสติกำกับจิตไว้ หลวงพ่อถึงบอกถ้าเราไม่รู้เท่าทันจิตตัวเอง ทำสมถะยังยากเลย อย่าว่าแต่จะทำวิปัสสนาเลย เพราะว่าจิตใจมันจะไม่ปกติ ไม่ธรรมดา ฉะนั้นเราสังเกตจิตเรา ค่อยๆ สังเกตไป พอจิตใจเราธรรมดาๆ จะทำสมถะก็ใช้จิตใจธรรมดานี่ล่ะ ไปรู้อารมณ์รู้อย่างธรรมดาๆ ไม่แทรกแซงอารมณ์ ไม่แทรกแซงจิต สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง วางใจว่าสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่วง นี่สงบทันทีเลย แต่ถ้าวางใจว่าต้องสงบๆ ไม่สงบหรอก

ถ้าจะฝึกให้ได้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ก็สังเกตไปจิตกับปรากฏการณ์ทั้งหลายมันคนละอันกัน ตัวง่ายๆ คือตัวคิด เพราะตัวคิดมีทั้งวัน คิดทั้งวัน จิตมันคิดขึ้นมาเรารู้ทันว่าตอนนี้จิตคิด ตัวรู้มันเป็นคนดู เห็นกระแสความคิดอยู่ต่างหาก จิตที่เป็นคนรู้ว่าคิดอยู่ต่างหาก แยกกัน หรือดูตรงนี้ไม่เห็น ดูกายก็ได้ นั่งขยับไปขยับเล่นๆ ไม่ใช่ขยับต้องมีกระบวนท่ามากมาย ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ยิ่งคิดหนักเข้าไปอีก ว่าท่านี้แล้วจะไปต่อท่าไหน ไม่ต้องมีกระบวนท่า กระบวนท่านั้นครูบาอาจารย์บางท่าน ท่านคิดขึ้นมาเป็นอุบายเพื่อจะมัดใจไม่ให้มันดิ้น ทีแรกจิตใจมันคะนองมาก เหมือนควายดุๆ เหมือนกระทิงเปลี่ยว ก็คิดอุบายมากมายวิธีกระดุกกระดิก ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนเชือกมัดควายเท่านั้นล่ะ ถ้าเราไม่ได้เป็นควายก็ไม่ต้องยุ่งขนาดนั้น

ทำกรรมฐานสบายๆ นี่ล่ะ แล้วสังเกตเอา อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ เห็นไหมร่างกายมันนั่ง ถามจริงๆ ตอนนี้ใครไม่รู้ว่ากำลังนั่งอยู่บ้างมีไหม ส่วนใหญ่ก็นั่ง รู้สึกไหมร่างกายมันนั่งอยู่ มันยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้กำลังนั่ง ไม่เห็นยากตรงไหนเลย ถ้านั่งอยู่แล้ว เอ๊ะ สงสัยตอนนี้นั่งหรือนอน นี่โรคจิตแล้วไม่ใช่คนปกติแล้ว อย่างตอนนี้นั่งอยู่ หรือตอนนี้ยิ้มอยู่ ร่างกายมันยิ้มรู้ไหม ไม่เห็นว่ามันจะยากตรงไหนเลยที่มันจะรู้ ถ้าเราคอยรู้สึก ร่างกายมันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ รู้สึกๆ แป๊บเดียวจิตมันจะขึ้นมาเป็นผู้รู้เอง ผู้รู้มันจะเกิดเอง ผู้รู้มันเกิดได้เมื่อมันเห็นว่าอันนี้ถูกรู้ ทันทีที่เห็นว่าอันนี้ถูกรู้ มันก็มีผู้รู้ขึ้นมาอัตโนมัติ อย่างเราเห็นลมหายใจถูกรู้ ผู้รู้มันก็เกิด เห็นร่างกายมันนั่ง ผู้รู้มันก็เกิด เห็นจิตมันคิด ผู้รู้มันก็เกิด

ฉะนั้นอย่างถ้าเราดูจิตได้ เราก็ดูไปเลย ความคิดกับจิตมันคนละอันกัน ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วกับจิต มันคนละอันกัน ดูอย่างนี้ก็ได้ ถ้าดูนามธรรมไม่เป็น ดูรูปธรรมร่างกายเราอย่างนี้ ร่างกายนั่งก็รู้สึกไปร่างกายมันนั่ง เออ มันถูกรู้จริงๆ ใครจะไม่รู้ว่านั่งอยู่ก็เพี้ยนแล้ว ร่างกายมันหายใจ ลองนึกสิตอนนี้ร่างกายหายใจออกรู้สึกไป ร่างกายหายใจเข้า แค่รู้สึกๆ รู้สึกได้ไหมว่าร่างกายหายใจออก หรือร่างกายหายใจเข้า ถ้าตรงนี้รู้สึกไม่ได้ไปปรึกษาจิตแพทย์เลย เพี้ยนอย่างหนักแล้ว หายใจออกหรือหายใจเข้ายังไม่รู้เลย ผิดปกติมนุษย์แล้ว

 

เรื่องธรรมดาที่ยิ่งใหญ่

เพราะฉะนั้นกรรมฐานนี่ ไม่ใช่เรื่องประหลาดลึกลับพิสดารอะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องธรรมดาๆ นี่ล่ะ ธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมะเป็นธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ อย่างตอนนี้นั่งอยู่ ตอนนี้ยิ้มอยู่ รู้สึกร่างกายไป จะขยับซ้ายขยับขวารู้สึกไป อันนี้อยู่ในสติปัฏฐานเรียกว่าสัมปชัญญบรรพ อยู่ในสัมปชัญญบรรพ ร่างกายขยับอะไรรู้สึก แต่ถ้าหยาบขึ้นมาร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก หรือร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ถนัดอันไหนเอาอันนั้น ในร่างกายที่ดูง่ายๆ ก็มี 3 อันนี้ จะดูการหายใจ ร่างกายหายใจก็ได้ ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ ดูร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็ได้ ดู 3 อย่างนี้เลือกเอาสักอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องเอาทั้งหมดหรอก นั่งอยู่รู้สึกร่างกายมันนั่ง ไม่ต้องหาว่าตัวผู้รู้อยู่ที่ไหน นี่เป็นเคล็ดลับอีกตัวหนึ่ง ถ้าไปหาว่าตัวผู้รู้อยู่ที่ไหนแล้วก็ ชาตินี้ก็ไม่เจอ ชาติหน้าก็ไม่เจอ เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” กัปหนึ่งนี่หลายชาติเลย “ใช้จิตไปแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ”

ฉะนั้นเราไม่ต้องไปแสวงหาตัวผู้รู้ เราแค่เห็นว่าร่างกายนั่งอยู่ นี่มันถูกรู้ ร่างกายหายใจนี่มันถูกรู้ ถ้ามันมีสิ่งที่ถูกรู้เมื่อไร มันก็มีผู้รู้เมื่อนั้น มันเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติเลยง่ายๆ บอกแล้วว่าง่าย ไม่ได้มีอะไรลึกลับหรอก สิ่งที่หลวงพ่อสอนเรื่องธรรมดาทั้งหมด เพียงแต่มนุษย์ทั้งหลายมันไม่ธรรมดา เพราะว่าจิตมันถูกโลภ โกรธ หลง ครอบงำเอาไว้ ก็เลยรู้สึกว่าธรรมะนี้ยาก จริงๆ ธรรมดาที่สุด ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป เราก็จะมีจิตที่เป็นคนรู้คนดูได้ มีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ จะเกิดขึ้นคู่กัน เมื่อไรมีจิต เมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์ เมื่อนั้นมีจิต อย่างขณะที่เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มีอารมณ์ไหม มีอารมณ์นิพพาน มีอารมณ์นิพพานแล้วต้องมีจิตไหม ต้องมีจิต เพราะกฎก็คือเมื่อใดมีจิต เมื่อนั้นต้องมีอารมณ์ เมื่อใดมีอารมณ์ ต้องมีจิต ถึงจะใช้นิพพานเป็นอารมณ์ก็ต้องมีจิตที่รู้อารมณ์นิพพาน เรียกว่ามรรคจิต ผลจิตตัวนั้น ฉะนั้นมีจิตตลอด

ฉะนั้นจะมาบอกว่านิพพานไม่มีจิต นิพพานไม่มีจิตแล้ว นิพพานจะปรากฏขึ้นได้อย่างไร มันก็ไม่ปรากฏ จักรวาลนี้ โลกนี้ปรากฏขึ้นได้เพราะมีจิต ถ้าไม่มีจิตเสียอย่างเดียว เราก็เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง อะไรจะเกิดในจักรวาลในโลกเราไม่รู้อะไรสักอย่าง จะว่าไปถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราจะเห็นเลย จิตมันเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นศูนย์กลางของชีวิต เข้ามาที่จิตได้เข้าถึงจุดใจกลางของมันแล้ว เราจะเห็นทุกสิ่งที่แวดล้อมอยู่มันเคลื่อนไหวไป ตัวจิตเองก็เกิดดับเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป

ใครเรียนวิทยาศาสตร์ลองนึกถึงภาพจักรวาล ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางใช่ไหม ดาวเคลื่อนไหวอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เหมือนกับจิต สิ่งที่เคลื่อนอยู่รอบๆ ก็คือสิ่งที่ถูกรู้ คืออารมณ์เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย จิตเป็นคนดูอยู่เฉยๆ แต่ถามว่าแล้วดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไหม ดวงอาทิตย์ก็เคลื่อนที่ เพราะฉะนั้นจิตเองก็เกิดดับ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่มีอะไรที่คงที่เสียอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นจิตหรือจะเป็นอารมณ์ ทุกสิ่งเกิดแล้วดับทั้งสิ้น เฝ้ารู้เฝ้าดูไปจนถึงวันหนึ่งจิตมันก็ปิ๊งขึ้นมา “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” ตรงนี้เราเข้าใจคำว่าธรรมดาแล้วเห็นไหม

ธรรมดาคืออะไร ธรรมดาของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องดับทั้งหมด เรียกว่าเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว เห็นธรรมะอะไรไหม ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา คือเราเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นธรรมดา ใจยอมรับธรรมดาอันนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากทุกข์ คลายออกจากโลก คลายออกจากวัฏสงสาร ฉะนั้นเราฝึกตัวเองทุกวัน สิ่งที่สอนให้วันนี้ไปฟังซ้ำหลายๆ ทีก็ได้ ฟังทีเดียวเข้าใจยากหรอก ฟังหลายๆ ที เรามี จิตที่เป็นคนดูแล้ว การเดินปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว ก็จะเห็นสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงบังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ จะต้องไปเห็นด้วยตัวเอง ไม่ใช่คิดเอา ต้องเห็นเอา ฝึกไปเรื่อยเดี๋ยวก็เห็น.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กุมภาพันธ์ 2565