ไม่ต้องแสวงหาความว่าง

ช่วงนี้อาจารย์เขาจัดคอร์สจีน เป็นคอร์สออนไลน์ คนจีนตั้งสิบกว่าประเทศ เข้าฟังหลายร้อยคน 600 – 700 คน เดี๋ยวนี้สื่อเอามาใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง สบายกว่าแต่ก่อน เมื่อก่อนจะเรียนธรรมะต้องไปเรียนเอง อย่าว่าแต่จะเรียนข้ามประเทศเลย เรียนในประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อก่อนหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์อยู่ทางอิสานอยู่ภาคเหนือ นั่งรถทัวร์นั่งรถไฟทั้งคืน ไปถึงจังหวัดก็หารถต่อไปอำเภอ บางที่ก็ต้องต่อเข้าหมู่บ้าน ไปไม่ทันเวลาที่รถวิ่งเข้าหมู่บ้าน เดินเอา เครื่องมือตัวช่วยอะไร ไม่มี จะเอาเทปไปอัด ก็ไม่มีธรรมเนียม ครูบาอาจารย์ไม่สนับสนุน ท่านให้ฟังให้เข้าใจ เราก็ต้องพยายามจำเอาไว้

แต่คำสอนที่ดีๆ ของครูบาอาจารย์ เราฟังทีเดียวมันก็ประทับใจ จำได้ จำได้มาถึงวันนี้ หลายสิบปีไม่ลืม โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ ที่เราฝากเป็นฝากตายกับท่านได้ อย่างหลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ คำพูดของหลวงปู่ดูลย์ จำ เหมือนเครื่องเทป เหมือนอัดเทปไว้เลย เพราะเราตั้งใจ สนใจจริงๆ ยุคนี้ง่าย อยากฟังเทศน์ก็เปิด เฟซบุ๊ก เปิดยูทูป มีสื่ออะไรตั้งเยอะตั้งแยะ เราก็รู้สึกว่าฟังเมื่อไรก็ได้ ตอนนี้ยังขี้เกียจอยู่ ก็ฟังอย่างอื่นก่อน พอเริ่มจากเรียนเมื่อไรก็ได้ ถัดจากนั้นก็คือปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่เราไปฟังจากครูบาอาจารย์ ต้องนั่งปฏิบัติตอนนั้นเลย ภาวนาไป ปฏิบัติไป ท่านก็สอนให้ บางองค์เจอหน้าท่านก็สอนๆ ให้ บางองค์ท่านก็ไม่พูด เงียบๆ ครูบาอาจารย์บางองค์ไม่พูดอะไร เงียบ นานๆ พูดคำหนึ่ง บางองค์เจอหน้าปุ๊บ จวกเลย ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จัก

ลีลาของครูบาอาจารย์รุ่นเก่า น่าทึ่ง ใจเราไม่ผยอง ไม่ลำพอง เข้าไปหาครูบาอาจารย์ ด้วยใจที่หมอบราบคาบแก้วจริงๆ เราไปหาคุณงามความดีใส่ตัวเอง เราไม่รู้วิธี เราก็เข้าไปเรียนวิธี ถ้าจิตใจของเราพอเหมาะพอควรกับธรรมะอันไหน ท่านก็สอนธรรมะอันนั้นให้ ท่านไม่มีสคริปต์หรอก ครูบาอาจารย์กรรมฐาน เจอหน้าเรา ท่านไม่ได้กางตำรา หรือวางแผนว่าจะเจอเรา แล้วจะสอนเราว่าอย่างไร ไม่มีหรอก เราเอาใจของเราเข้าไปให้ท่านดู ไปด้วยใจที่หยาบกระด้าง ท่านก็เฉยๆ กระด้างเกินไปเรียนไม่ได้ ท่านก็ไม่สอนอะไร ไปด้วยใจที่อ่อนโยน อ่อนน้อม ด้วยใจที่ใฝ่ธรรม ท่านก็สอนให้

 

จิตคือพุทธะ

อย่างเรียนกับหลวงปู่ดูลย์อัศจรรย์มากเลย หลวงพ่อไม่เคยเจอครูบาอาจารย์อื่นเหมือนหลวงปู่ดูลย์ เราเข้าไปกราบท่านบอก “อยากปฏิบัติ” ท่านยังไม่สอนหรอก ท่านจะนั่งสมาธิของท่านไปเกือบๆ ชั่วโมง บางคนก็ชั่วโมงกว่า ลืมตาขึ้นมาแล้วท่านสอน คนหนึ่งๆ ท่านสอนไม่กี่ประโยค แต่เราต้องเอามาทำต่อ มาปฏิบัติ บางอย่างที่ท่านสอน หลวงพ่อใช้เวลาย่อย 20 กว่าปี 21 ปี 20 ปีกว่า กว่าจะเข้าใจสิ่งที่ท่านบอก หรือธรรมะบางอย่าง ท่านเคยพูดให้ฟัง อย่างถ้าเคยฟังธรรมะหลวงปู่ดูลย์ จะได้ยินเรื่อง “จิตคือพุทธะ” หลวงพ่อเคยได้ยินท่านสอน “จิตคือพุทธะ” หลายครั้ง ยาวมาก แต่ท่านสอนไม่ผิดกันสักคำเดียว พูดกี่ทีๆ เหมือนเดิมเป๊ะเลย

“จิตคือพุทธะ” จริงๆ อยู่ในหนังสือคำสอนของฮวงโป เป็นส่วนหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ท่านเห็นว่า ท่านฮวงโปสอนอธิบายสภาวะของจิตใจในขั้นสุดท้ายไปแล้ว จิตพระอรหันต์เป็นอย่างไร ท่านฮวงโปอธิบายไว้ หลวงปู่ดูลย์ท่านพิจารณาแล้วบอก ไม่มีใครอธิบายได้อย่างนี้ ท่านเลยยืมคำของท่านฮวงโปมา อยู่ในเรื่อง “จิตคือพุทธะ” เราฟังทีแรก ท่านพูดให้ฟัง เราก็เข้าใจ “จิตคือพุทธะ” คิดว่าจิตผู้รู้ก็คือพุทธะ ค่อยภาวนาไปนานๆ ก็พบว่าความรู้ความเข้าใจมันเปลี่ยนไป

อยากรู้ว่า “จิตคือพุทธะ” เป็นอย่างไร ก็ไปอ่านเอาเอง แล้วเหมือนๆ จะเข้าใจ แต่รับรองว่าไม่เข้าใจหรอก เพราะเรายังไม่เคยเห็นสภาวะของพุทธะอันนั้น แล้วภาวนาไปจนวางธาตุวางขันธ์ได้ เห็นโลกธาตุนี้ว่าง เห็นรูปธรรมคือร่างกายอะไรอย่างนี้ ว่าง เห็นความว่างของโลก ของกาย จิตมันก็ว่าง ก็เป็นอันเดียวกัน ตรงนี้ในพระไตรปิฎกมีร่องรอยอยู่อันหนึ่ง คำสอนตรงนี้ คือมีคนหนึ่งไปถามพระพุทธเจ้าชื่อ โมฆราช ไปถามพระพุทธเจ้า โมฆราชเป็นคนเก่งมาก ฉลาดมาก เป็นลูกศิษย์พราหมณ์พาวรี

พราหมณ์พาวรีเดิมเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล พออายุเยอะขึ้นก็ออกจากราชการ ลาออกไปตั้งสำนักอยู่นอกเมือง ก็มีลูกศิษย์เก่งๆ 16 ท่าน พอได้ข่าวว่ามีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พราหมณ์พาวรีก็แต่งคำถาม 16 ข้อ ให้ลูกศิษย์คนละข้อ บอกให้ไปถามพระสมณโคดมดู ถามๆๆ ท่านก็ตอบทีละองค์ๆ ไป ก็บรรลุพระอรหันต์ไปเรื่อยๆ ยกเว้นองค์สุดท้าย องค์นี้ท่านเป็นหลานพราหมณ์พาวรี ท่านก็เป็นห่วง อยากเอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ ไปบอกพราหมณ์พาวรี องค์นี้เลยไม่ถึงพระอรหันต์ ก็ไปบอก เอาธรรมะไปบอกพราหมณ์พาวรี พราหมณ์พาวรีได้พระอนาคามี

ในธรรมะ 16 ข้อ พี่ใหญ่ในทีมหนึ่งชื่ออชิตะ ก็ได้ธรรมะ ได้คำถามมาข้อหนึ่งก็เป็นเบอร์ 1 ก็เลยถามก่อน พอถามเสร็จแล้วโมฆราชจะถาม นี่เป็นเบอร์ 2 Number 2 พระพุทธเจ้าบอกเอาไว้ก่อน ตอบคนอื่นก่อน โมฆราชขยับจะถามหลายรอบ พระพุทธเจ้าก็บอกเอาไว้ก่อน จนถึงคนที่ 15 ถึงได้ถาม ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ให้ถามทันที เพราะใจยังฟุ้งอยู่ ใจยังคิดอุตลุดอยู่ อยากหาคำตอบ อยากได้คำตอบ ใจอยากเยอะ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรมาน ยังไม่ให้ถาม บางทีหลวงพ่อก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน บอกพวกเราไม่ต้องมาถามหรอก อย่าเพิ่งถามเลย ฟังไปก่อน พอถึงเวลาที่เหมาะสมก็ถามได้

ท่านโมฆราชถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เราจะตามเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงมองไม่เห็น” แค่ฟังคำถามพวกเราก็งงแล้ว พราหมณ์พาวรีเก่งจริงๆ ตั้งคำถามให้ลูกศิษย์มาถาม ลูกศิษย์ได้คำตอบ ลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์ได้ เก่งมากเลย ตัวท่านแก่มาก ท่านมาด้วยตัวเองไม่ไหว ก็เลยส่งลูกศิษย์มาถาม “บุคคลเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงมองไม่เห็น” พระพุทธเจ้าตอบว่า “บุคคลเห็นโลกเป็นความว่าง มัจจุราชจะมองไม่เห็น” ตรงที่มัจจุราชไม่เห็นนั้น คือสภาวะที่พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นเชิงแล้ว ฉะนั้นคนที่มัจจุราชมองไม่เห็น คือพระอรหันต์นั่นล่ะ พระอรหันต์เห็นโลกเป็นอย่างไร เห็นโลกว่าง “เห็น” ไม่ได้คิดให้โลกว่าง ไม่ได้น้อมจิตให้เชื่อว่าโลกว่าง ไม่ได้น้อมจิตจงใจเห็นว่าโลกว่าง แต่เห็นเฉยๆ ว่าโลกว่าง

ทำอย่างไรเราจะเห็นโลกว่าง เราก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรียนรู้รูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย สติระลึกรู้รูป จิตตั้งมั่น ปัญญาก็จะเกิด รูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สติระลึกรู้นามด้วยจิตที่ตั้งมั่น ก็จะเห็นนามธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งที่เรียกว่า “โลก” ก็คือรูปนาม ไม่ใช่แค่โลกข้างนอกอย่างนี้ สิ่งที่เรียกว่า “โลก” คือรูปธรรมกับนามธรรม ถ้าเราเห็นรูปธรรมก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นามธรรมก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตมันก็จะสลัดคืนรูปธรรมนามธรรมให้โลกไป หมดความยึดถือ หมดความยึดถือแล้ว คราวนี้มันจะเห็นโลกนี้ว่าง

ทางปริยัติเขาก็พยายามอธิบายว่า มันว่างอย่างไร บอกมันว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา พูดถูกไหม ก็ถูก แต่มันไม่ถึงใจ เห็นโลกว่าง ตรงคำว่า “เห็น” ก็น่าดูแล้ว จิตของเราจะมีคุณภาพเห็นโลก คือเห็นรูปนามกายใจนี้ว่างได้ จิตนั้นต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาสมบูรณ์ ถึงจะเห็นได้ โดยเฉพาะถ้าไม่มีปัญญา จะเห็นรูปนามนี้ กายใจหรือโลกนี้ว่าง มันเห็นไม่ได้ มันเห็นแต่ว่ามีกับไม่มี มีกับไม่มียังไม่ว่าง มีกับไม่มียังไม่ถือว่าว่าง ยังมีสิ่งที่เป็นคู่ สิ่งที่เป็นคู่ก็คือ ระหว่างความมีกับไม่มี ว่างนั้นไม่มีคู่ เป็นสภาวะรวดเดียวเลย ไม่มีคู่

พูดถึงว่างๆ หลายคนก็เมาเรื่องว่าง ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศองค์หนึ่งของยุคเลย พระชั้นเลิศของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ที่แตกฉานมากมี 2 องค์ องค์หนึ่งคือท่านพุทธทาส องค์หนึ่งคือท่านอาจารย์ประยุทธ์ ตอนนี้ท่านเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ 2 องค์นี้เป็นเพชรน้ำเอกจริงๆ เรื่องความรู้ความเข้าใจ แตกฉานมาก ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านพูดเรื่องความว่างไว้เยอะเลย พูดถึงความว่างๆ คนอ่านธรรมะของท่าน หรือฟังธรรมะของท่านแบบไม่รอบคอบ ก็พยายามน้อมจิตคิดไปถึงความว่างบ้าง บางทีก็น้อมจิตให้มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความว่างบ้าง ตราบใดที่จิตยังทำงาน หรือน้อมจิตไปทำงาน ให้มันคิดบ้าง ให้มันมอง ให้ดูความว่าง มองรูปนามให้เห็นความว่าง จิตยังมีการกระทำอยู่ เมื่อจิตไม่ว่าง โลกก็ไม่ว่าง

เพราะฉะนั้นการคิดถึงความว่าง ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนอย่างเราอ่านหนังสือเซนของท่านเว่ยหล่าง ท่านฮวงโป หนังสือดีไหม ดี แต่อ่านแล้วเมาความว่าง นั่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง ว่างอย่างนั้นมันไม่ว่างจริง มันว่างที่คิดๆ ขึ้นมา ปรุงๆ ขึ้นมา น้อมใจเชื่อขึ้นมา เราจะเห็นโลกนี้ว่าง เห็นรูปนามนี้ว่างได้จริง ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานไป ดูความจริงของกาย ดูความจริงของจิตใจไป ดูไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นมันก็วาง เห็นไหม เพราะเห็นตามความเป็นจริงก่อน ก็เลยปล่อยวาง เพราะวางแล้วมันถึงว่าง ถ้าไม่วาง มันไม่ว่าง

เพราะฉะนั้นเราจะไปหาความว่าง ทั้งๆ ที่ยังไม่ปล่อยวาง หาไม่เจอหรอก เพราะว่าแค่จะน้อมจิตเข้าหาความว่าง มันก็คือความยึดถือแล้ว ยึดถืออยากให้จิตนี้พ้นทุกข์ อยากให้จิตนี้ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราจะให้เราเห็นความว่างได้จริงๆ ไม่ใช่คิดเอา คิดเอาแล้วจะเมาความว่าง ไอ้โน่นก็ว่าง ไอ้นี่ก็ว่าง แล้วก็เหลือกูอันเดียวไม่ว่าง มีบางคนก็สอนลูกศิษย์ มี ให้น้อมจิตอยู่ในความว่าง ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง น้อมจิตไปอยู่ความว่างๆ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ตรงที่น้อมไปนั้นก็ไม่ว่างแล้ว ตรงที่จงใจไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง อันนั้นล่ะคือความปรุงแต่ง ชื่ออเนญชาภิสังขาร เป็นความปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามทำความว่างให้เกิดขึ้น ดูความจริงของรูปธรรม ดูความจริงของนามธรรมไป พอเราเห็นรูปธรรมตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็หมดความยึดถือในรูปธรรม เราเห็นความจริงของจิตใจ จิตก็หมดความยึดถือจิตใจ จิตใจไม่ว่าจะสุขทุกข์ ดีชั่ว จิตรู้ จิตหลง จิตเห็นรูป จิตได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสทางกาย ได้คิดนึกทางใจ ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนๆ กันหมด เห็นอย่างนี้ก็ปล่อยวางจิตได้ ถ้าปัญญาแก่รอบ เราก็จะปล่อยวางรูปนามได้ พอปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราจะเห็นโลก หรือเห็นรูปธรรม นามธรรม ทั้งภายในภายนอก มันเป็นอันเดียวกันไปหมดแล้ว ร่างกายเรากับโลกข้างนอกก็เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกนึกคิดอะไรก็เป็นเรื่องโลกๆ

 

“จิตไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต”

ขันธ์ 5 เป็นของโลก แล้วจะเห็นขันธ์ 5 ทำงานไปเรื่อยๆ เป็นแค่ปรากฏการณ์ของรูปธรรม ปรากฏการณ์ของนามธรรม ภาวนาไปเรื่อยเราก็เห็น โลกเป็นแค่ปรากฏการณ์เท่านั้นเอง ที่ไหลไปเรื่อยๆ ไหลผ่านไป ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ปรากฏการณ์ของโลกเป็นอย่างนั้น ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีที่สิ้นสุดเลย นั่นล่ะคือตัวสังสารวัฏ เราจะเห็นโลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ ที่ไหลไปเรื่อยๆ เหมือนความฝันเท่านั้นเอง ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราไม่ต้องแสวงหาว่าจิตเป็นอย่างไร ถ้าเราแสวงหาจิตอีก ความไม่ว่างก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นตรงที่เราแตกหักลงไปกับรูปนาม ปล่อยวางรูป ปล่อยวางนามได้ เราไม่ต้องแสวงหานิพพานตรงไหนแล้ว โลกก็คือความปรุงแต่ง นิพพานคือสภาวะที่เหนือความปรุงแต่ง พ้นจากความปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ตรงนั้นล่ะถึงจะเรียกว่าว่าง โลกนั้นว่างแบบที่แบบหนึ่ง แล้วจิตที่พ้นโลกมันว่างอีกแบบหนึ่ง ว่างกันไม่เหมือนกัน โลกนั้นยังมีความมี มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ มันว่างไม่มีตัวตน บุคคลเราเขาอะไร เป็นปรากฏการณ์ที่ไหลไปเรื่อยๆ ส่วนจิตที่พ้นโลกไป มันว่างไปอีกแบบหนึ่ง มันพ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิง ไม่ต้องกำหนดหมาย ว่ามันมีอยู่ หรือมันไม่มีอยู่

ฉะนั้นในหนังสือจิตคือพุทธะ ที่หลวงปู่ดูลย์พูด มีอยู่ประโยคหนึ่งน่าฟัง บอก “จิตไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต” เราฟังแล้วเหมือนกับเล่นลิ้น เหมือนกับสำนวนหวือหวา ฟังแล้วน่าเอ็นดู น่าฟัง เมื่อก่อนหลวงพ่อฟังท่านพูด ได้ยินด้วยตัวเอง ท่านสอน เราไม่เข้าใจ “จิตไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต” ตกลงมันเป็นจิต หรือมันไม่ใช่จิต จิตที่มันพ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิง มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะรู้สึกอย่างนั้น เราไปดูหนังสือจิตคือพุทธะ มันคือคำอธิบายสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่า “จิตหนึ่ง” คือคำอธิบายสิ่งที่ท่านพุทธทาสท่านเรียกว่า “จิตเดิมแท้” เว่ยหล่างเรียก “จิตเดิมแท้” ฮวงโปเรียก “จิตหนึ่ง” หลวงปู่เทสก์เรียกตัวนี้ว่า “ใจ” สมเด็จพระญาณสังวรฯ เรียกสิ่งนี้ว่า “วิญญาณธาตุ” หลวงตามหาบัวเรียกสิ่งนี้ว่า “ธรรมธาตุ” หลวงปู่บุดดาเรียกสิ่งนี้ว่า “ใจเดียว”

คำพูดหลากหลาย ก็พูดถึงเป็นบัญญัติขึ้นมา เพื่อจะหมายถึงสภาวะอันเดียวกันนี้ สภาวะนั้นว่าง เพราะพ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิง ในขณะที่โลกคือรูปธรรมนามธรรมว่าง ทั้งๆ ที่มีความปรุงแต่งอยู่ มันว่างเพราะเราไม่ได้เข้าไปยึดไปถือ ว่างคนละแบบกัน ต้องภาวนา เสี่ยงทุ่มเทไป ตายเป็นตาย นิพพานอยู่ฟากตาย ครูบาอาจารย์สอนอย่างนี้ แล้วมันเรื่องจริงเลย ไม่ใช่พูดเล่นๆ เลย ยังรักตัวกลัวตายอยู่ ไม่เห็นหรอก

อย่างบางองค์ที่ท่านเดินทางกายานุปัสสนา ท่านเห็นกายของท่าน ตอนนั้นยังไม่พ้น ท่านเห็นร่างกายนี้มันทุกข์ ทุกข์เหมือนภูเขาลงมาบดมาขยี้เลย ทับลงมาขยี้ๆ ท่านที่มาทางจิต เจริญจิตตานุปัสสนา ก็เห็นจิตนั้นมันเป็นตัวบรมทุกข์ มันทุกข์เหมือนถูกภูเขาลูกใหญ่ๆ ลงมาบด ไม่ใช่ทับเฉยๆ แต่บด เหมือนโม่ โม่ ใครเคยเห็นโม่หินไหม อย่างนั้นล่ะ มันบดอย่างนั้นเลย คือมันทุกข์ ในสภาวะที่ทุกข์ ไม่ว่าจะดูมาทางกายหรือทางจิต มันจะเห็นขันธ์มันทุกข์จริงๆ ถ้าใจอ่อนกลัวตาย จิตก็จะถอนออกจากสมาธิ ไม่เดินต่อแล้ว ถ้าไม่กลัวตาย ตายเป็นตาย วัฏสงสารจะถล่มลง วัฏสงสารมันหมุนอยู่กลางอกเรา มันจะถล่มทลายลงไป แล้วก็เห็นสังสารวัฏข้างนอก มันเป็นปรากฏการณ์ เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ ไปตามเหตุปัจจัยของมัน ส่วนตัวธาตุรู้มันว่าง มันว่างเพราะไม่มีความปรุงแต่ง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายมันว่าง เพราะไม่ได้เข้าไปยึดถือ ไม่ได้เข้าไปสำคัญมั่นหมาย

เพราะฉะนั้นเราได้ยินคำว่า “ว่างๆ” อย่ามาว่าง พยายามรู้ พยายามดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็นไป เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเห็น กายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สิ่งที่มันไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ สิ่งที่มันเป็นทุกข์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือ จิตมันก็หมดความยึดถือ มันก็เป็นอิสระขึ้นมา ไม่ต้องโหยหาความว่าง ไม่ต้องแสวงหาความว่าง ยิ่งแสวงหา ยิ่งไม่เจอ เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจไป ถึงวันที่วัฏฏะมันถล่มลงไป เดี๋ยวมันว่างเอง กายใจก็คือตัวโลก ว่าง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นปรากฏการณ์เกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มีเกิด มีดับ

โลกเป็นของมีเกิดมีดับ ส่วนธรรมแท้ ธรรมธาตุ มันไม่เกิดไม่ดับ มันเป็นธาตุ บางทีท่านเรียกอมตธาตุ อมตธรรม ถ้าเห็นตัวนี้เราก็รู้ว่า ที่สุดของทุกข์อยู่ที่นี่ล่ะ ตรงที่พ้นความปรุงแต่งสิ้นเชิง ฉะนั้นตอนที่มีพระองค์หนึ่งที่ท่านไปดูศพ ดูเขาเผาศพ แล้วท่านก็อุทาน “อะนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดแล้วก็ดับไป สังขารทั้งหลาย สงบเสียได้เป็นสุข” สังขารก็คือความปรุงแต่ง ฉะนั้นดับความปรุงแต่งลงไป ก็ถึงพระนิพพานตรงนั้น ไม่ต้องแสวงหาพระนิพพาน ยิ่งแสวงหา มีตัณหาอยากเห็นพระนิพพาน อยากได้พระนิพพาน เกิดการกระทำ ก็คือการดิ้นรนปรุงแต่ง ก็สร้างภพ สร้างชาติ สร้างทุกข์ขึ้นมา ยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ

 

“ว่าง” ไม่ใช่เจตนาว่าง ไม่ใช่คิดเรื่องว่าง

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อภาวนา ตอนนั้นเป็นโยมอยู่ หลวงปู่เทสก์ท่านก็ยังอยู่ ตอนนั้น แต่หลวงปู่ดูลย์สิ้นไปก่อนแล้ว หลวงพ่อภาวนาแล้วก็นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ บอก “อย่าส่งจิตออกนอก” หลวงปู่สิมบอกว่า “อย่าส่งจิตเข้าข้างใน” หลวงปู่เทสก์บอก “ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” ตอนที่เรียนจากหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอก “อย่าส่งจิตออกนอก” “จิตออกนอก” ก็คือจิตเที่ยวหลงไปกับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกจิตมีตัณหาผลักดัน

ทีแรกหลวงพ่อได้ยินหลวงปู่สอนบอก “อย่าส่งจิตออกนอก” หลวงพ่อเลยส่งเข้าข้างใน ภาวนาแล้วก็เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมาจากกลางอก มันผุดขึ้นมา เห็นแล้วมันก็ดับ ก็เลยสงสัยมันผุดขึ้นมาจากอะไร จากตรงไหน คราวนี้เวลากิเลสมันขึ้นมา หลวงพ่อแตะเบาๆ แตะนิดเดียวเบาๆ ถ้ามองปุ๊บมันจะขาดสะบั้นเลย หายเลย นี้แบบเลี้ยงๆ เลี้ยงกิเลส แล้วมันจะค่อยๆ หดลงไป หดลงไป ลึกลงไป ลึกๆ ไป เราก็เอาสติแตะประคองตามไปเรื่อยๆ อยากดูว่าต้นตอของมันอยู่ที่ไหน กะว่าถ้าเราเห็นต้นตอของมันได้ เราจะทำลายมันได้ จะได้ไม่ต้องมีกิเลสมาให้ต่อสู้อีก ลึกๆๆ ลงไป พอลงไปลึกๆ กิเลสหายไป เราดูมันก็ว่างไปหมดเลย หาต้นตอของกิเลสไม่เจอ พอไม่เจอทำอย่างไร ถอยจิตขึ้นมา ออกมากระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวกิเลสก็ผุดขึ้นมาอีก ก็แตะอย่างนี้ตามลงไปดู มันก็หนีไป ว่าง ตามอย่างนี้อยู่พักหนึ่ง พอดีเจอหลวงปู่สิม

หลวงปู่สิมเป็นครูบาอาจารย์ที่ด้านเจโตปริยญาณ ทิพยจักษุญาณ ทิพยโสตญาณ เข้มแข็งมาก เก่งมากๆ เลย หลวงพ่อขึ้นไปถ้ำผาปล่อง จะไปกราบท่าน ตอนนั้นเรากำลังเล่นแบบนี้ ดูเข้าไปข้างใน พอท่านเห็นหน้า ท่านพูดเลย ไม่ต้องถาม “ผู้รู้ๆ ออกมาข้างนอกนี่ กิเลสไม่ได้อยู่ตรงนั้นหรอก กิเลสอยู่ข้างนอกนี่” รู้ว่าเราจะเข้าไปหากิเลสข้างใน ท่านบอก “กิเลสไม่ได้อยู่ข้างใน ออกมาข้างนอก” ตอนนั้นฟังแล้วงง หลวงปู่ดูลย์ว่า “อย่าออกนอก” หลวงปู่สิมบอก “อย่าเข้าข้างใน” ฉะนั้นเอากลางๆ ก็ท่าจะดี อยู่ตรงกลางท่าจะดี เพราะหลวงปู่เทสก์เคยบอก “ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” “เป็นกลาง” จริงๆ ก็คือไม่ยินดียินร้ายอะไร แต่หลวงพ่อหาความเป็นกลางในเวอร์ชันอื่น ในมุมอื่นบ้าง เราพบว่าจิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน บางครั้งเราก็ยึดเข้าไปที่ตัวอารมณ์ บางครั้งเราก็ยึดเข้ามาที่ตัวจิต

ฉะนั้นเราลองดู ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ไม่ยึดทั้งจิต ฉะนั้นก็ส่งจิต กำหนดจิตไปที่อารมณ์กรรมฐาน พอจิตมันเคลื่อนไปพอมันจะเข้าไปแตะอารมณ์ ทวนกระแสกลับเข้ามาหาที่ตัวผู้รู้อีก พอจะถึงตัวผู้รู้ ไม่จับ ทวนกระแสกลับออกไปหาอารมณ์อีก ทวนเข้าออก ในที่สุดจิตก็รวมลงตรงกลาง ไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ดับลงตรงกลาง ว่าง ไม่มีความคิดความนึก ความปรุง ความแต่ง ไม่มีเวลา ไม่รู้ว่านานเท่าไร ไม่มีความคิด ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือแต่ใจอันเดียวล้วนๆ อยู่ตรงนี้แล้วก็ เอ๊ะ ถอยออกมา ถอนออกมา ตัวนี้กระมังนิพพาน นิพพาน ไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ไม่ยึดอะไรเลย กำหนดจิตเข้าไปตรงนี้ ว่าง ไม่มีความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น

เล่นอยู่อย่างนี้ แล้ววันหนึ่งก็เฉลียวใจ เอ๊ะ เรา ที่ทำถอยเข้าถอยออกอย่างนี้ มันจงใจทำ เราไม่ได้ทำวิปัสสนา แต่มันเป็นกีฬาของจิต กีฬาของคนที่ทำสมาธิ กำหนดจิตอย่างไรก็ได้ พลิกแพลงอย่างไรก็ได้ อันนี้มันสมถะ มันเป็นสมถะ เสร็จแล้วเลยขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ก็เล่าให้ท่านฟังว่าทำอย่างนี้ ไม่จับที่จิต ไม่จับที่อารมณ์ จิตว่างลงไป ว่าง “ผมสงสัยว่ามันจะเป็นสมาธินะครับ” ท่านบอก “ใช่ มันเป็นสมาธิ” ท่านเก่ง ท่านตอบ “มันเป็นสมาธิ” แล้วท่านก็บอกว่า “ฝึกไว้ให้ชำนาญ ยุคนี้คนที่เล่นสมาธิมากๆ ไม่มีแล้ว ฝึกไว้ให้ชำนาญ” หลวงพ่อก็กราบเรียนท่านบอก “ผมกลัวติด” ท่านบอก “ไม่ต้องกลัว ถ้าติดอาตมาจะแก้ให้” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็เล่นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้น เล่น แต่ใจมันรู้ว่า อันนี้เป็นสมถะ เพียงแต่ครูบาอาจารย์อยากให้ฝึกเอาไว้ ให้รู้จักเอาไว้

สมถะอะไร ที่ไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ไม่ยึดอะไรเลยสักอย่าง รู้ไหม มันอยู่ในกลุ่มของอรูป ไม่ยึด เล่นอย่างนี้ วันหนึ่งเจอหลวงปู่บุญจันทร์ หลวงพ่อไม่เคยรู้จักท่าน ไม่เคยได้ยินชื่อท่าน แต่ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา พอเราไปหา ท่านก็ชี้หน้าเลย “ไง ภาวนาอย่างไร” เล่าให้ท่านฟัง “ไม่ยึดผู้รู้ ไม่ยึดสิ่งที่ถูกรู้ แล้วก็ว่างไปหมด ว่างๆๆ” ท่านก็ตวาด “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” แล้วท่านก็ถาม “ไง จะภาวนาอย่างไรต่อไป” หลวงพ่อนึกว่า ท่านฟังสำเนียงของหลวงพ่อไม่ออก เพราะหลวงพ่อฟังท่านก็ไม่ค่อยออกเหมือนกัน ท่านเป็นคนอีสาน ไปอยู่ทางเหนือ เหมือนหลวงพ่อปัญญาเป็นคนทางใต้ ท่านไปอยู่ภาคเหนือ เสียงท่านจะแปลก

ก็เล่าให้ท่านฟังอีกรอบหนึ่ง ท่านก็ตวาดครั้งที่สอง “เฮ้ย นิพพานอะไร มีเข้ามีออก” จิตเราทิ้งเลย สมาธิอย่างนี้ไม่เอาแล้ว ถ้าทำไปเรื่อยๆ เสียเวลา จิตมันทิ้ง แต่ว่ามันก็รู้ร่องรอย รู้วิธีไป แต่ไม่เอาแล้ว เสียเวลา ก็รู้จักแล้วตามที่หลวงปู่เทสก์สั่ง แล้วก็เชื่อหลวงปู่บุญจันทร์ ทำอย่างนี้มันเนิ่นช้าแล้ว เสียเวลา เพราะฉะนั้นตัวว่าง จงใจไหม ถ้านิดเดียวก็ไม่ใช่แล้ว เพราะนิพพานจริงๆ ไม่มีเข้าไม่มีออก มันเป็นสภาวะหนึ่งเดียวรวดเลย เราจะเจอสภาวะนี้โดยอัตโนมัติ ถ้าจิตเราพ้นความปรุงแต่ง จิตเราจะพ้นความปรุงแต่งได้ เมื่อจิตสิ้นตัณหา สิ้นความอยาก ความปรุงแต่งคือตัวภพ ภพมันก็มีรากมีเหง้ามาจากตัณหา ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ตัณหาก็มีรากเหง้ามาจากอวิชชา ความไม่รู้ความจริงของโลกของรูปนาม อวิชชานั้นเป็นความไม่รู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นให้เราเรียนรู้ลงไปที่กายของเรา ที่ใจของเรา ดูรูป ดูนามมันทำงานไป ไม่ต้องพยายามน้อมจิตเข้าหาความว่าง มันเป็นสมถะ ไม่ต้องไปพูดเรื่องความว่าง เราไม่รู้จักหรอกความว่างอันนั้น ความว่างมันทนโท่อยู่ต่อหน้าต่อตานี่ล่ะ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือหลวงพ่อกิม องค์นี้ท่านเก่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ ท่านชื่อกิม เป็นภาษาของคนสุรินทร์ ไม่ได้เป็นภาษาจีน ท่านคนสุรินทร์ ท่านเคยชี้ให้หลวงพ่อดูกระเบื้อง กระเบื้องกุฏิท่าน ท่านบอก “เห็นไหม ตรงนี้ว่าง” ตอนนั้นหลวงพ่อก็น้อมจิตมองให้มันว่าง เออ มันว่าง ก็คิดว่าการที่เราน้อมจิตอย่างนี้ เราจะเห็นความว่างในสิ่งที่ครูบาอาจารย์พูด คนละว่างเลย มันเหมือนๆ เพราะอันนี้เรายังจงใจทำขึ้นมา

เพราะฉะนั้นว่างจริงๆ ไม่ใช่เจตนาว่าง ไม่ใช่คิดเรื่องว่าง ดูความจริงของรูป ดูความจริงของนาม หมดความยึดถือในรูปในนาม แล้วมันก็ว่างเอง เราจะเห็นโลกเคลื่อนไปเรื่อยๆ เป็นปรากฏการณ์ของรูปธรรม ของนามธรรม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีที่สิ้นสุด ที่พระพุทธเจ้าบอกสังสารวัฏไม่มีเงื่อนต้น ไม่มีเงื่อนปลาย ภาษาโบราณ มันจะเห็นอย่างนั้น แล้วตรงนั้นล่ะ มันมีอยู่แต่ว่ามันว่าง ไม่ใช่มันไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่น้อมจิตไปอยู่กับความไม่มีอะไรเลย อันนั้นมันเรื่องของอรูปฌาน น้อมจิตไปอยู่กับความไม่มีอะไร

แต่เส้นทางของพระพุทธเจ้า ทำวิปัสสนา ดูกายเห็นไตรลักษณ์ ก็วาง ดูจิตเห็นไตรลักษณ์แล้วก็วาง วางรูปวางนามก็คือวางโลกได้ สิ่งที่เรียกว่า “โลก” ก็คือรูปกับนามนั่นล่ะ คราวนี้เราก็จะเห็นโลกเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เกิดดับไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีที่สิ้นสุด จะเห็น ส่วนธรรมธาตุนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง มันว่างเพราะมันพ้นความปรุงแต่ง แล้วว่างอันนั้นล่ะก็คือพระนิพพาน ฉะนั้นจิตที่หลวงปู่ดูลย์ว่า “จิตไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต” รวมความไม่รู้จิตหรือไม่จิต เพราะว่ามันเหนือคำพูด มันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วจิต สมมติเรียกว่าจิต จิตนั้นทรงพระนิพพานอยู่ ทรงธรรมอยู่ แล้วตัวจิตนั้นเอง ก็เป็นตัวธรรม ฉะนั้นมันคือธรรมะที่ทรงธรรมะอยู่ ไม่มีอย่างอื่น

 

 

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังพอสมควร สมควรหรือยัง ไปทำเอา สอนไว้ให้ อัดเทปไว้ อีก 10 ปี 20 ปี 30 ปีอะไรจะเห็น ถ้าไม่เห็นชาตินี้ ก็ไปเห็นเอาชาติต่อๆ ไป ภาวนาไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึง ก่อนจบบอกนิดหนึ่ง พรุ่งนี้เลือกตั้ง อย่าเป็นชาววัดแล้วก็ไม่ไปเลือกตั้ง ไม่ใช่ เป็นฆราวาสมีหน้าที่ ก็ต้องไปเลือกตั้ง พวกเราหลวงพ่อไม่ห่วงหรอก พวกเราไม่โลภ มีสติ มีปัญญา แล้วเราก็ไม่กินเหยื่อ เหยื่อที่เขาใช้หลอกประชาชนมี 2 อัน เหยื่อปัจจุบันคือหัวละ 1,000 บาท เหยื่ออีกอย่างหนึ่งเป็นเหยื่อในมโน ถ้าเลือกฉันแล้วจะได้อย่างนี้ จะได้อย่างนี้ จะให้อันนี้อย่างที่เธอว่า ประเทศล้มละลายไปแล้ว เธอทำไม่ได้หรอก

จะเลือกใครก็เลือก อย่ากินเหยื่อ เลือกด้วยสติ ด้วยปัญญา อนาคตของบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ บ้านเมืองอยู่ไม่รอด พระศาสนาอยู่ไม่รอดเหมือนกัน ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนแล้ว ที่เป็นที่ตั้งของพระศาสนาอยู่ สมัยพระเจ้าอโศก ท่านพยายามส่งออกธรรมะ ส่งไปสุวรรณภูมิ ส่งไปโน้นไปนี้หลายพื้นที่ พยายามหว่านเมล็ดโพธิ์ออกไปหลายๆ พื้นที่ เผื่อต้นโพธิ์ต้นแม่มันตาย ต้นลูกก็ยังอยู่ สุดท้ายต้นโพธิ์ต้นแม่ก็ตายจริงๆ หมายถึงธรรมะสูญเสีย สูญหายไปจากอินเดีย ได้อาศัยอยู่รอบๆ แล้วก็เริ่มสลายไป อย่างแคว้นคันธาระ อยู่ในปากีสถาน อัฟกานิสถานก็หมดไปแล้ว ไม่เป็นพุทธแล้ว เหลือหย่อมสุวรรณภูมิตรงนี้

ถ้าบ้านเมืองไม่สงบ วุ่นวาย ศาสนาก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน การเมืองไม่ดี ศาสนาล่มง่ายๆเลย ในสมัยก่อนก็มีผู้นำบางคน มีนโยบายห้ามคนไปบวช พระสูญไปเลย ห้ามคนไปบวช ต้องการแรงงาน ต้องการทหาร ของเราตอนนี้ยังเหลือ แต่ว่าเหลือไม่มากหรอก อย่าเพ้อฝันว่าศาสนาพุทธในบ้านเรามั่นคง พระจริงๆ มีไม่มากหรอก เหลือไม่มากแล้ว เราก็ได้ข่าวอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยววิบัติตรงนั้น วิบัติตรงนี้ พวกงมงาย โอ๊ย องค์นั้นพระอรหันต์ องค์นี้พระอรหันต์ นึกเอาเอง เราเห็นแวบเราก็ไม่เอาแล้ว เราหันเหมือนกัน เขาอยู่ทางนี้ เราหันทางนี้ เราก็หันเหมือนกัน

พอเราชอบมโนเอา องค์นี้พระอรหันต์ๆ พอเขาแพ้กิเลส โอ๊ย ศาสนาพุทธไม่ดีเลย คนละเรื่องเลย พวกเหลวไหลมันก็ลูกชาวบ้าน ก็คนอย่างพวกเรานั่นล่ะ มันก็แพ้กิเลส มันก็เรื่องธรรมชาติธรรมดา จะชนะกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย บอกแล้วว่านิพพานอยู่ฟากตาย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 พฤษภาคม 2566