บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ฟังธรรมะวันอาทิตย์ดูสงบกว่าวันเสาร์ แปลก คนมาฟังเทศน์วันเสาร์คงมีโครงการไปเที่ยวต่อ ใจวอกแวกๆ พวกวันอาทิตย์เจียมเนื้อเจียมตัว ฟังเทศน์เสร็จต้องรีบกลับบ้าน

เมื่อเช้าหลวงพ่อถามทีมงานมูลนิธิฯ ช่วงนี้โควิดระบาดเยอะ พวกเราที่จองลงทะเบียนเข้ามาในศาลาต้องโทร.มายกเลิก มีหลายคนเป็นโควิด คนไหนคิดว่าแข็งแรงก็ไม่เป็นไร คนไหนไม่แข็งแรง อายุมาก ก็อย่าเพิ่งการ์ดตก รักษาตัวเองไว้ จะได้มีเวลาภาวนามากๆ หน่อย วันนี้เทศน์จบแล้ว พวกเราควรจะรีบกลับไปเลือกตั้ง เป็นงานเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อลูกเพื่อหลานของเราวันหนึ่งข้างหน้าด้วย

 

ความสุดโต่ง 2 ฝั่ง ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์

เมื่อวานหลวงพ่อพูดถึงพระโมฆราช พระโมฆราชไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลตามเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงมองไม่เห็น” พระพุทธเจ้าตอบว่า “บุคคลเห็นโลกคือความว่าง” เห็นโลกเป็นความว่าง “มัจจุราชจะมองไม่เห็น” แล้วหลวงพ่อก็อธิบายต่อ การที่จะเห็นโลกเป็นความว่างทำได้หลายแบบ พวกหนึ่งก็น้อมจิตให้ว่างๆ อันนั้นอย่างมากที่สุดได้ไปเป็นอรูปพรหม ทำจิตให้ว่าง บางคนก็ใช้คิดเอา เห็นอะไรก็บอกตัวเองว่าอันนี้ไม่ยึดๆๆ ไปเรื่อย มันก็ยึดวาทะว่าจะไม่ยึดนั่นล่ะ

บางคนก็สอนกัน มีคนเคยไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ขอบวชกับท่าน ท่านไม่บวชให้ คนนี้จะสอนอีกแบบหนึ่ง สอนให้ไม่คิด พยายามที่จะทำจิตให้นิ่งสนิท ไม่คิดนึกปรุงแต่ง การแต่งจิตไม่ให้คิดนึกปรุงแต่งก็คือความปรุงแต่ง เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร

ทางเดียวที่เราจะเข้าถึงความว่างได้จริงๆ เจริญวิปัสสนากรรมฐานไป รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไปเรื่อยๆ แต่ก่อนจะไปรู้ได้ จิตต้องมีกำลังตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้องก่อน จิตจะมีสมาธิที่ถูกต้องได้ ต้องรักษาศีล ถ้าไม่มีศีล สมาธิไม่เกิดหรอก เกิดอยู่ได้แวบเดียวก็เสื่อม ไม่ตั้งมั่นยาวนานถึงขนาดเอาไปใช้งานได้จริง ฉะนั้นบทเรียนของไตรสิกขา เป็นสิ่งที่พวกเราทิ้งไม่ได้ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก

การฝึกสมาธิไม่ใช่ฝึกให้จิตนิ่ง ฝึกให้จิตนิ่ง มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ตอนท่านออกจากวังมาบวช เป็นนักบวช ท่านก็ไปหัดเข้าฌานกับฤๅษี ไปเรียนกับอาฬารดาบส ได้ฌานที่เจ็ด เป็นอรูปฌาน เรียกอากิญจัญญายตนะ อะไรๆ ก็ไม่ยึดถือ แล้วก็ไปเรียนต่อกับอุทกดาบส ได้ฌานที่แปด เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็เป็นอรูปฌานที่สี่ ฌานแปดมันแบ่งเป็น 2 ส่วน เป็นรูปฌาน 4 อัน 4 ระดับ แล้วก็อรูปฌานอีก 4 ระดับ

ท่านไปเรียนกับฤๅษีจนได้จุดสุดยอดของสมาธิที่ชาวโลกเขารู้จักกัน ไปทำจิตให้นิ่งจนแทบจะหมดความรู้สึก ไม่คิด ไม่นึก ว่าง นิ่งๆ ว่างๆ ทีนี้บุญบารมีท่านเยอะ พอท่านออกจากสมาธิ ท่านก็พบว่ากิเลสของท่านมันก็เหมือนเดิม ดีไม่ดีจะแรงกว่าเดิมด้วย พวกที่ติดสมาธิกิเลสแรง แรงกว่าคนปกติ เพราะมันเก็บกด

ท่านก็รู้มันไม่ใช่ทาง ท่านก็ไปหาอาจารย์ ขอลาออกจากสำนัก ไม่ได้แอบหนีไป ไปมาลาไหว้ อาจารย์ก็บอกให้อยู่ด้วยกันเถอะ ช่วยกันสอน ท่านบอกมันยังไม่ตอบโจทย์ของท่าน ท่านแสวงหาคำตอบคือทำอย่างไรจะพ้นจากความทุกข์สิ้นเชิง การเข้าสมาธิแบบของฤๅษี ทำจิตให้สงบ มันก็ไม่ทุกข์เฉพาะตอนที่อยู่ในสมาธิ พอออกจากสมาธิมามันก็ทุกข์ต่อ

ท่านก็เลยลาอาจารย์ออกมา หาวิธีปฏิบัติเอาใหม่ ท่านก็ไปฝึกทรมานร่างกาย ยุคนั้นลัทธิทรมานร่างกายกำลังบูม นิครนถ์นาฏบุตรเป็นคนร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า เป็นปรมาจารย์ของลัทธิเชน ชินะ ก็สอนให้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาด้วยการทรมานร่างกาย คนยุคโน้นเขาไม่โง่ เขารู้ว่าตัณหา เป็นเหตุ มีผลเป็นทุกข์ นิครนถ์นาฏบุตรก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่สิ่งที่นิครนถ์นาฏบุตรไม่รู้คือมรรค ไม่รู้จักอริยมรรค

รู้ทุกข์ รู้แล้วชีวิตนี้เป็นทุกข์ โลกนี้เป็นทุกข์ แล้วก็อยากละเหตุของทุกข์คือตัณหา ฉลาด รู้ว่าเหตุของทุกข์คือตัณหา แต่วิธีละตัณหาก็คือการไม่ตามใจกิเลส ไม่ตามใจตัณหา อยากกินหรือ ก็ไม่กินมัน อดมันไปเลย อยากนอนก็ไม่นอน อยากสุข อยากสบาย ยืนขาเดียวมันทั้งวันทั้งคืน ยืนชูมือไปอะไรอย่างนี้ ทรมาน หวังว่าการที่ฝืนกิเลสตัณหาไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งจะชนะ มันไม่ชนะจริงๆ เพราะตรงที่เรารู้สึก เราชนะกิเลสตัณหา มันคือเรา มันมีเรา มีกูเก่ง มันก็เลยไม่ชนะ

พระพุทธเจ้าท่าน เจ้าชายสิทธัตถะ ท่านก็ทรมานร่างกาย ทรมานหนักที่สุดที่คนทั้งหลายเขาทำกันได้ ท่านทำได้ บอกเวลาเอามือลูบแขน ขนที่แขนนี้ร่วงเลย เอามือลูบศีรษะ ผมร่วงเลย มันไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงกระทั่งเส้นผม เวลาท่านลูบท้องท่าน กระทบถึงกระดูกสันหลัง ผอมขนาดนั้น ท่านรู้สึก เอ ทรมานกายสุดขีดแล้ว มันก็ไม่เห็นจะบรรลุอะไรเลย ยังไม่ตอบโจทย์

เริ่มแรกก็ไปนั่งสมาธิ ก็เหมือนพวกเรา คิดถึงการปฏิบัติทีไรก็คิดถึงการนั่งสมาธิเป็นสิ่งแรกเลย เจ้าชายสิทธัตถะก็คิดอย่างนั้นล่ะ ไปนั่งแล้วท่านก็บอกมันไม่ตอบโจทย์ ฝึกทางจิตไม่สำเร็จ ก็เลยมาฝึกทางกาย มาทรมานกาย ก็ไม่สำเร็จอีก จนวันหนึ่งท่านนึกถึงทางสายกลาง ตอนที่ทรมานตัวเอง ทรมานกาย ทรมานใจ บังคับตัวเองเยอะไป ตอนที่เป็นเจ้าชาย มีความสุขอยู่กับโลก อันนั้นก็เวลาเกิดตัณหาขึ้นมาก็สนองไป ก็ไม่พ้นตัณหาอยู่ดี ตัณหาหนึ่งจบ อีกตัณหาหนึ่งก็เกิด

ฉะนั้นการตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การบังคับกาย การบังคับใจ เข้าฌานก็คือบังคับใจตัวเองได้ ทรมานร่างกายก็บังคับร่างกาย ก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ นี่ความสุดโต่ง 2 ฝั่ง ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ฝั่งหนึ่งก็ตามใจกิเลส เรียกกามสุขัลลิกานุโยค อีกฝั่งหนึ่งก็เรื่องทรมานกาย ทรมานใจ เป็นอัตตกิลมถานุโยค ท่านก็เดินเข้าสู่ทางสายกลางได้ ไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่ง

 

ทางสายกลาง

พวกเราได้ยินคำว่าทางสายกลางมานานแล้ว แต่ว่าแค่ไหนมันกลาง มันอยู่ตรงไหนทางสายกลาง อยากเข้าสู่ทางสายกลาง ไม่ให้จิตตกไปสู่ความสุดโต่ง 2 ฝั่ง ขั้นแรกสุด รู้สึกตัวเข้าไว้ รู้สึก ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่ เราก็จะไม่หลงตามกิเลสโดยที่ไม่ต้องทำอะไร อย่างเรารู้สึกตัวอยู่ จิตเกิดราคะ เราก็รู้จิตมันมีราคะแล้ว ราคะมันก็ดับ เราก็ไม่ตามใจกิเลส ไม่สุดโต่งไปข้างกามสุขัลลิกานุโยค

มีโทสะเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ โทสะผุดขึ้นมา ทีแรกก็ต้องรู้สึกตัวไว้ แล้วพอโทสะผุดขึ้นมา มันจะเห็นโทสะเป็นของแปลกปลอม เมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้เกิดมี ทันทีที่สติรู้ทันโทสะ โทสะจะดับ เราก็ไม่ดิ้นรนไปตามอำนาจของโทสะ ตรงที่ใจเราไม่ยินดี ไม่ยินร้ายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางร่างกาย มันก็เป็นทางสายกลาง มันไม่ยินดี ไม่ยินร้ายอะไร พยายามฝึกไป

ท่านก็ดูเรื่อยๆ ก่อนที่ท่านจะเข้ามาถึงความรู้สึกตัวที่แท้จริงได้ ท่านระลึกถึงสมาธิดั้งเดิมที่ท่านเคยมี มันเป็นสมาธิที่ท่านได้มาตอนเด็กๆ ไม่มีใครสอนท่าน ในงานแรกนาขวัญท่านไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ พวกพี่เลี้ยงท่านมัวไปดูพระเจ้าสุทโธทนะไถนา ก็ทิ้งท่านอยู่คนเดียว ท่านอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำอะไร ท่านทำอานาปานสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก

มันก็คือสิ่งที่ท่านเอามาสอนพวกเรานั่นล่ะ บอก “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์” คู้บัลลังก์ก็นั่งสมาธิ ทำไมต้องนั่งสมาธิ ก็ไม่มีเก้าอี้จะนั่ง ก็นั่งพื้น ท่านั่งที่พื้น นั่งได้นานที่สุด ก็คือนั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งพับเพียบอะไร กระดูกมันจะคด ท่านบอก “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์” คู้บัลลังก์ คือเอาขาซ้อนกัน ซ้อน เหมือนพระพุทธรูป

“ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า” บางคนได้ยินภาษาไทย ดำรงสติเฉพาะหน้า ก็ไปจ้องอยู่ที่หน้าตัวเอง กำหนดอยู่ที่หน้า อันนี้ไม่ใช่ มันไม่ใช่คำว่าเฉพาะหน้าแบบนั้น ไม่ใช่รู้แค่หน้า บอกรู้เฉพาะหน้า รู้เฉพาะหน้าคือรู้ปัจจุบัน หายใจไป รู้อยู่เฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว ไม่ได้เน้นไปที่ตัวลม ให้คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว ไม่มีประโยคไหนว่าให้ไปเพ่งลมเลย

เพราะฉะนั้นเราหายใจไปแล้วเราอย่าไปเพ่งจมลงไปในลม ไม่นานจิตมันก็จะตั้งมั่นขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกตัวไป เห็นร่างกายใจไป รู้สึกตัวไป เห็นร่างกายหายใจไป บางทีหายใจๆ อยู่ จิตไหลไปคิดเรื่องอื่น แวบไป จิตเป็นอนัตตา ห้ามไม่ได้ อย่าไปห้าม ถ้าเราไปห้ามจิตไม่ให้คิด มันจะตกไปข้างอัตตกิลมถานุโยค ทำจิตใจให้ลำบาก

เราทำกรรมฐานของเราไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว จิตไหลไปคิด รู้ว่าจิตไหลไปคิด จิตที่ไหลไปคิดนั้นคือจิตฟุ้งซ่าน มีกิเลสชื่ออุทธัจจะ ตระกูลโมหะ เป็นกิเลสตระกูลโมหะ ชื่ออุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน ทันทีที่เรามีสติรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าจิตหลงไปคิด สติเกิดเมื่อไร กิเลสดับเมื่อนั้น ฉะนั้นความฟุ้งซ่านจะดับอัตโนมัติ จิตก็กลับมาตั้งมั่น ไม่ไหลไป

เกือบร้อยละ 100 นี่พูดแบบสุภาพ ที่หลวงพ่อเห็นมา ร้อยละ 100 นั่นล่ะ ส่วนที่พ้นจากตรงนี้มีน้อยจนไม่มีนัยยะสำคัญ ร้อยละ 100 ของนักปฏิบัติ ไม่ว่ากรรมฐานสายไหนเหมือนกันหมด หายใจเข้าพุทออกโธ เพ่งอยู่ที่ลมหายใจ แล้วก็นิ่งๆ อยู่แค่นั้น นั่นมันสมาธิฤๅษี ดูท้องพอง ดูท้องยุบแล้วจิตก็จมลงไปอยู่ที่ท้อง เพ่งอยู่ที่ท้อง ก็นิ่งๆ อยู่ มันก็คือกสิณนั่นล่ะ เพ่งลมหายใจก็คือกสิณ เพ่งท้องมันก็ก็คือกสิณ เดินจงกรมเพ่งร่างกายทั้งร่างกายก็คือกสิณ จิตไม่ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาได้หรอก มันไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัว แต่มันหลงลงไปเพ่ง

เพราะฉะนั้นให้พวกเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราถนัด กรรมฐานอะไรก็ได้ ถ้าทำแล้วจิตใจเราไหลไป เรารู้ทัน หลงไปคิด รู้ทัน หลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ถ้าจับหลักตัวนี้ได้ ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

 

จิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง ได้มาจากบทเรียนชื่อจิตตสิกขา

สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ชัดเจน มันคือสติปัฏฐาน 4 เป็นสติที่รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้จิตก็คือรู้จิตตสังขารนั่นล่ะ จิตปรุงดีก็รู้ จิตปรุงชั่วก็รู้ แล้วก็รู้ธรรม รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ก็ดูไป ทั้งกุศลทั้งอกุศลมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้

อย่างที่หลวงพ่อแนะพวกเราเป็นเรื่องจิตตสิกขา เราต้องให้ได้สมาธิก่อน พอเราได้สมาธิแล้ว เราจะไปเจริญปัญญาด้วยการดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้ สุดท้ายทุกคนจะเข้าไปสู่ธรรม คือจะไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 เหมือนกันหมด จะเริ่มจากอะไรก่อนก็ได้ แต่ตัวที่สำคัญต้องมีจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง ได้มาจากบทเรียนชื่อจิตตสิกขา

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา ก็คือเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง อย่าไปเพ่งจิต ถ้าเพ่งจิตก็ผิด ให้รู้เฉยๆ รู้ไปปกตินี่ล่ะ รู้เนื้อรู้ตัวไป แล้วใจหลงไป เวลาที่จิตใจหลงไปคิด หลงไปเพ่ง ไม่ได้รู้สึกตัว ฉะนั้นเรารู้สึกตัวไป หายใจไป รู้สึกตัวไป เห็นท้องพองท้องยุบ รู้สึกตัวไป ไม่ได้ทำอะไร รู้สึก เห็นร่างกายมันหายใจ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว

ท้องพอง ท้องยุบมันก็คือสัมปชัญญะ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ก็อยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ผิด มันผิดตรงที่ไปดูไม่ถูก เพราะฉะนั้นจะดูท้องพองยุบก็ได้ มันก็คือการเจริญสัมปชัญญบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นรูปมันเคลื่อนไหว รู้สึกไป แล้วถ้าจิตเราถลำลงไปอยู่ที่ท้อง ให้รู้ทัน จิตก็จะปล่อยจากท้อง แล้วตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาใหม่ รู้เนื้อรู้ตัว เป็นธรรมชาติธรรมดาขึ้นมา ดูท้องพองยุบอยู่ จิตไหลไปคิด ให้มีสติรู้ทัน จิตที่ไหลไปคิดก็ดับ ก็เกิดจิตที่ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาอีก

ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน ไม่ใช่เพื่อเอาอะไรวิเศษวิโสอะไรหรอก เพื่อเราจะรู้สึกตัวเป็น ในโลกไม่มีคนรู้สึกตัว ในโลกมีแต่คนหลง คนที่ไม่ได้ปฏิบัติมันก็หลงโลก หลงไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส นักปฏิบัติก็หลงไปอีกแบบหนึ่ง หลงเพ่ง เพ่งกายบ้าง เพ่งจิตบ้าง หลงเข้าไปแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต ก็หลงทั้งนั้นล่ะ

คุณแม่ชีมีหลานอยู่คน ตอนนั้นอายุไม่กี่ขวบหรอก คุณแม่ชีสอนภาวนา แล้ววันหนึ่งเด็กมันก็บอก บอกว่ามันรู้แล้วล่ะ จิตที่ไปคิด หลงไปคิด กับจิตที่เพ่ง มันก็หลงด้วยนั่นล่ะ เพียงแต่จิตที่เพ่งมันเป็นหลงแบบคนมีสติปัญญา หลงแบบฉลาด นี่พูดแบบเด็ก แต่ที่ถูกของเด็กก็คือที่เราถลำลงไปเพ่ง มันหลง หลงเพ่ง นี่เด็กเล็กๆ มันยังรู้เลยว่าที่ไปเพ่ง มันหลงเพ่ง ฉะนั้นอย่าให้อายเด็ก

ทำกรรมฐานไป รู้สึกไป จะทำอานาปานสติ ก็ได้ เห็นร่างกายหายใจ อย่าไปจ้องลมหายใจ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นใจไปเรื่อย ลมมันจะค่อยเบาๆๆ สุดท้ายลมก็ระงับไป เป็นแสงสว่างอยู่แถวหน้าเรา แถวปลายจมูก สว่างขึ้นมาเป็นดวงสว่าง

ตรงนี้ถ้าเรายังไม่ตั้งมั่น จิตเราถลำลงไปในดวงสว่างนี้ คราวนี้ไปรอบโลกได้เลย ออกรู้ออกเห็นอะไรได้สารพัดเลย อยากรู้อะไรมันก็เห็น ส่วนสิ่งที่เห็นจริงไม่จริงไม่แน่หรอก แล้วแต่กิเลสบงการ ฉะนั้นนั่งสมาธิแล้วรู้โน่นรู้นี่ หลวงพ่อไม่สนใจเลย ตอนเป็นโยม เล่นเหมือนกัน ตอนมาบวชโยนทิ้งหมดเลย เพราะรู้ว่านี่เป็นทางเนิ่นช้า ไม่ใช่สาระสำคัญ ไปรู้อะไรก็ไม่สู้รู้จิตใจตัวเอง

เพราะฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ขั้นแรกถือศีล 5 ตั้งใจรักษาศีลไว้ แล้วก็ฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น เรียกว่าบทเรียนนี้ชื่อ จิตตสิกขา สิ่งที่ได้มาคือจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง พอเรามีจิตที่ตั้งมั่น ก็คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิแล้ว แล้วเวลาจิตมันเคลื่อน เรารู้ ถลำไปคิด เรารู้ ถลำไปเพ่ง เรารู้ ตรงนั้นเราจะได้สติ พอเรามีสติ เรามีสัมมาสมาธิ เรามีเครื่องมือ 2 ตัวแล้ว เราก็จะสามารถเจริญปัญญาได้

เวลาเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องคิดเอา รู้สึกตัวไว้ๆ รู้สึกหรือยัง พอรู้สึกตัว แล้วเกิดจิตมันไหลไปคิด มีสติรู้ทัน แต่ถ้าเรารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เรามีสัมมาสมาธิอยู่แล้ว พอจิตไหลไป สติระลึกรู้ว่าจิตไหล ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่ได้โกรธ ไม่ได้ห้าม มันจะเห็นจิตไหลได้เอง ตรงที่จิตมันไหลได้เอง เรียกว่าเห็นอนัตตาๆ บางทีเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ สภาวะแห่งความรู้เนื้อรู้ตัวคือสภาวะที่จิตมีสมาธิที่ถูกต้องนั่นเอง มีสัมมาสมาธิ

 

“บทเรียนนี้ชื่อ จิตตสิกขา สิ่งที่ได้มาคือจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
พอเรามีจิตที่ตั้งมั่น ก็คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิแล้ว
เวลาจิตเคลื่อน เรารู้ ถลำไปคิด เรารู้ ถลำไปเพ่ง เรารู้ ตรงนั้นเราจะได้สติ
พอเรามีสติ เรามีสัมมาสมาธิ เรามีเครื่องมือ 2 ตัวแล้ว เราก็จะสามารถเจริญปัญญาได้”

 

พอจิตใจเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหว สติระลึกรู้ร่างกายด้วยจิตใจที่รู้ตัวตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็น ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ก็เห็นร่างกายเป็นไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน สติระลึกรู้เวทนา ถ้าจิตมันตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นว่าเวทนากับจิตก็คนละอันกัน เวทนากับร่างกายก็คนละอันกัน เวทนาทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ หรือว่าไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ อะไรอย่างนี้ ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งสิ้น บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เรากำลังเจริญปัญญาด้วยการเห็นเวทนามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่แล้วก็จิตมันหลงไป เรารู้ ความหลงก็ดับ ความรู้สึกตัวก็เกิด เราก็จะเห็นเมื่อกี้รู้อยู่ดีๆ อ้าว กลายเป็นหลงได้ จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ห้ามไม่ได้ นี่ก็คือการเห็นไตรลักษณ์ เรานั่งทำกรรมฐานของเราไป อยู่กับอารมณ์กรรมฐานไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มีความสุขเกิดขึ้น จิตหลงยินดีพอใจในความสุข มีสติรู้ทัน แล้วก็พอความสุขแล้วมันพอใจๆ ตรงที่เราเห็นความสุขเกิดขึ้นนั้น เราได้เห็นเวทนา ตรงที่เราเห็นความพอใจในความสุข นี่ลึกลงมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นความปรุงแต่งของจิต

 

การปฏิบัติจะเริ่มจากอะไรก็ได้แล้วแต่ถนัด
แต่ถ้าไม่รู้ว่าถนัดอะไร แนะนำให้ดูกายไปก่อน

ท่านสอนสติปัฏฐานไว้ดี การปฏิบัติจะเริ่มจากอะไรก็ได้แล้วแต่ถนัด แต่ถ้าไม่รู้ว่าถนัดอะไร แนะนำให้ดูกายไปก่อน เราเห็นร่างกายกับจิตเป็นคนละอัน ต้องเห็นอย่างนี้ ถ้ากายกับจิตรวมกัน มันก็เป็นตัวกูๆ ให้มันเป็นคนละอัน เป็นคนละอันได้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ตัวนี้ได้มาจากการฝึกบทเรียนชื่อจิตตสิกขา ได้สมาธิ และมีจิตตั้งมั่นเป็นกลาง

ถ้าไม่รู้จะรู้อะไร รู้สึกร่างกายไป เห็นร่างกายนั่ง ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นกลางจริง เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน ร่างกายเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้น

พวกเราลองไปสังเกตดู ของที่ถูกรู้ มันไม่มีอะไรเป็นตัวเราได้หรอก ยกตัวอย่าง เห็นแก้วน้ำไหม แก้วน้ำนี้ถูกรู้ เราอาศัยรู้แก้วน้ำนี้ด้วยตา ความรับรู้ทางตาเกิดขึ้น เราเห็น ไม่มีใครบ้าเห็นแก้วน้ำเป็นตัวเราหรอก ยกเว้นคนบ้า ถ้าคนดีไม่มีใครเห็นหรอก

เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้ลงในกาย จะเห็นทันทีร่างกายไม่ใช่เรา ร่างกายเป็นแค่กลุ่มของวัตถุธาตุ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ ยืน เดิน นั่ง นอนก็ทุกข์ ต้องเคลื่อนไหว ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อหนีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะมันทุกข์ แล้วมันก็เป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่ตัวเรา ปัญญามันเกิดตรงนี้ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

บางครั้งสติก็ระลึกรู้เวทนา มีความสุขความสบายในร่างกายเกิดขึ้น แหม ลมพัดมาเย็นสบาย อากาศร้อนๆ ลมโชยมา รู้สึกร่างกายสบาย เราก็จะเห็นเมื่อกี้ร่างกายก็เฉยๆ ตอนนี้ร่างกายสบาย ความสบายเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย มาได้ก็ไปได้เหมือนกัน หรือเรานั่งอยู่อย่างนี้ มันทุกข์ขึ้นมา นั่งทีแรกไม่ทุกข์ พอนั่งไปนานๆ ความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ฉะนั้นร่างกายกับความทุกข์คนละอันกัน

ดูอย่างนี้ ขันธ์มันจะค่อยๆ กระจายตัวแยกออกๆ กายก็อันหนึ่ง เวทนาก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง ก็จะเห็นเวทนาก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา มาได้ก็ไปได้ เวทนาทางใจก็ยิ่งดูง่ายใหญ่ ในใจเรามีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ หัดรู้เรื่อยๆ แล้วถ้าจิตเรามีสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ เราจะเห็นเลย ความสุขทุกข์ เฉยๆ ทางใจกับจิต เป็นคนละอันกัน ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คิดเอา มันจะเห็นเอา จะรู้เอา

ถ้าดูละเอียดต่อไป ในกายมันก็มีเวทนา ทีนี้เวทนามันก็เขยิบมาอยู่ทางใจได้ด้วย พอเวทนาทางใจเกิด สังขารมันก็ทำงานได้สะดวกแล้ว เวลามีความสุขทางใจเกิดขึ้น เราก็ชอบอกชอบใจ ราคะมันเกิด เวลามีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ จิตใจเราก็เศร้าหมอง โทสะมันก็เกิด โทสะเป็นความเศร้าหมองของใจ ความไม่สบายของใจ เราจะเห็นความชอบความไม่ชอบ เป็นสังขาร เป็นความปรุงของจิต

ที่จริงสังขารมีมากมาย สังขารของจิตมีตั้ง 50 แบบ เราไม่ต้องเรียนทั้งหมดหรอก พวกฌานสมาบัติก็เป็นเรื่องของสังขารทั้งนั้นล่ะ ไม่ใช่ของวิเศษอะไรนักหนาหรอก เราดูสังขารที่เราดูได้ เช่น โลภ โกรธ หลงอย่างนี้ ดูง่ายๆ ฟุ้งซ่าน หดหู่ นี่ของดูง่าย สังขารที่ดูง่ายๆ พวกกิเลสดูง่ายๆ มีบ่อย ละเอียดเข้าไปก็เรื่องชอบ เรื่องไม่ชอบ

ฉะนั้นจิตเวลากระทบอารมณ์ที่มีความสุข ราคะก็แทรก เราก็รู้ว่าจิตมีราคะ พอเราเห็นจิตมีราคะ จิตมันตั้งมั่นอยู่ ก็เห็นราคะกับจิตคนละอันกัน ราคะก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ราคะนั้นอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา พอกระทบอารมณ์ที่พอใจ ราคะก็เกิดขึ้นมา หรือกระทบอารมณ์ไม่พอใจโทสะก็เกิดขึ้นมา ทีแรกไม่มีแล้วมันก็เกิดมี พอมันมีขึ้นมาแล้ว มีราคะ มีโทสะขึ้นมา เรามีสติรู้ ราคะ โทสะก็ดับ เพราะมันเป็นกิเลส มันสู้สติไม่ได้ เราไม่ต้องดับมัน มันดับของมันเอง

เราก็จะเห็นราคะ โทสะเกิดแล้วก็ดับ บังคับก็ไม่ได้ ไปห้ามจิตมีโทสะ ก็ห้ามไม่ได้ ห้ามจิตรัก ห้ามจิตชอบ ก็ห้ามไม่ได้ เรามีจิตที่ตั้งมั่นแล้วเราก็เห็นสติระลึกรู้สังขาร คือความปรุงแต่งของจิต ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ส่วนใหญ่ก็ปรุงชั่วนั่นล่ะ โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ ชอบ ไม่ชอบอะไรนี่ หัดรู้พวกนี้ไปก่อน เราก็จะเห็นเลยว่าสังขารทั้งหลายไม่ใช่จิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เป็นของไม่เที่ยง เป็นของควบคุมบังคับไม่ได้จริง

ดูไปเรื่อยๆ เราดูมาตั้งแต่ร่างกาย ถ้าดูอะไรไม่เป็น หลวงพ่อแนะให้ดูร่างกาย ดูร่างกายแล้วต่อไปเห็นเวทนา เห็นกายไม่ใช่เรา เวทนาที่แทรกอยู่ในกายไม่ใช่เรา เวทนาไม่ได้อยู่เฉพาะในกายแต่อยู่ในจิตด้วย อันนี้ก็ก้าวเข้ามาสู่จิต เราก็เห็นเวทนาในจิตใจเรา สุข ทุกข์ เฉยๆ ในใจเราก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ พอมีสุขมีทุกข์อะไรขึ้นมา มีเฉยๆ ขึ้นมา กิเลสมันก็แทรก เวลามีความสุข มันก็เกิดราคะแทรกเข้ามา เวลาเกิดความทุกข์ โทสะมันก็แทรกเข้ามา เวลาเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนใหญ่ก็โมหะ หลงไปเลย ลืมเนื้อลืมตัว

ถ้าเราดูได้ละเอียด เราก็พาสเข้ามาดูที่จิตนี้ได้เลย ตอนที่หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนให้หลวงพ่อดูกาย ท่านพาหลวงพ่อพาสเข้ามาดูที่จิตเลย จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ ดูเข้ามาตรงนี้เลย ไม่จำเป็นว่าต้องเริ่มตั้งแต่ร่างกาย อย่างพวกเรียนเก่งๆ เรียนแล้วพาสชั้น ไม่ตั้งเรียนตามลำดับชั้นก็ได้ มันอยู่ที่เราสะสมอะไรของเรามา

หลวงปู่ดูลย์ท่านก็ดูว่าหลวงพ่อไม่ต้องดูกายแล้ว สามารถดูจิตได้เลย ท่านก็สอนให้หลวงพ่อดูจิตเลย วิธีดูจิต ท่านก็สอนไว้ง่ายๆ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง ให้อ่าน เราไม่ใช่นักประพันธ์ เราไม่ใช่คนแต่งหนังสือ ฉะนั้นเราไม่ปรุงแต่งจิต เราจะเป็นคนอ่านหนังสือ มีบทรัก เราก็อ่านไป มีบทโกรธ เราก็อ่านไป ใจเรามีโลภะเกิด เราก็รู้ ใจเรามีโทสะเกิด เราก็รู้ เรียกว่าเราอ่านไปเรื่อยๆ อ่านอยู่ไม่นานหรอก อ่านผิดอยู่ 3 เดือน อ่านแล้วก็ไปแก้จิต แก้ไขอาการของจิต จะให้จิตมันเด่นดวงเฉยๆ ไม่ทำอะไร มันตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น

ฝึกอยู่ 3 เดือน จิตก็ทรงตัวเด่นดวงอยู่ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทำสมาธิตั้งแต่เด็ก ก็ทำได้หรอก แป๊บเดียวก็ทำได้แล้ว หลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกทำผิดแล้ว ให้ไปอ่านจิต ให้ไปดูจิต ไม่ได้ให้ไปแทรกแซงจิต เราไปทำจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ พวกที่บอกหลวงปู่ดูลย์สอนให้ทำจิตว่าง นี่แอบอ้าง เพราะท่านบอกหลวงพ่อ อย่าไปทำอย่างนั้น มันเป็นการแทรกแซงจิต จิตว่าง รู้ว่าว่าง จิตไม่ว่าง รู้ว่าไม่ว่าง ให้รู้เข้าไปตรงๆ จิตสุข รู้ว่าสุข จิตทุกข์ รู้ว่าทุกข์ จิตโลภ รู้ว่าโลภ จิตโกรธ รู้ว่าโกรธ จิตหลง รู้ว่าหลง

มันเหมือนเราดูละครเวทีๆ เวทีละครก็คือใจของเรานี้เอง มีตัวละครมากมายผ่านเข้ามา เดี๋ยวตัวดีก็มา เดี๋ยวตัวอิจฉาก็มา เดี๋ยวตัวขี้เกียจก็มา จะหมุนอยู่ในใจเรา ให้อ่านจิตอ่านใจเรา ให้ดูจิตดูใจเรา เหมือนเราดูละคร มันมีตัวละครมากมาย ผลัดกันมาแสดงละครให้เราดู เดี๋ยวตัวดีก็มา เดี๋ยวตัวโลภก็มา เดี๋ยวตัวโกรธก็มา แต่ตัวละครทุกตัวมาแล้วเข้าโลงหมด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นให้จิตรู้เกิดแล้วดับทั้งสิ้น

หลวงพ่อก็นั่งดูละครในใจของเรานี้ล่ะ ดูไปเรื่อยๆ ดูอยู่ 4 เดือน ก็เข้าใจ มันไม่มี มันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันทำงานของมันได้เอง นี่คือตัวปัญญา แล้วก็ฝึกศีล สมาธิ แล้วก็เดินปัญญาไป แล้ววันหนึ่งมันก็เข้าใจ ตัวเราไม่มีหรอก แล้วปัญญาที่สูงกว่านั้น พอเรารู้แล้วว่าตัวเราไม่มี กายไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา ไม่มีเราที่ไหนเลย ข้างนอกจากนอกร่างกายออกไปก็ไม่ใช่เรา ตัวร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เรา สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา เห็นอย่างนี้ คือเห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเราของเราล่ะ

 

เข้าใจขันธ์ 5 แจ่มแจ้ง จิตวางขันธ์ 5 แล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือตัวธรรม

เราก็ปฏิบัติของเราต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญาแก่กล้าขึ้น มันก็จะเห็นความจริงถัดไป ความจริงที่ถัดขึ้นไป มันจะเห็น ร่างกายนี้ที่มันไม่ใช่ตัวเรา แล้วมันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ ร่างกายมันเป็นตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเรา แต่มันเป็นตัวทุกข์ พอมันเห็นตัวทุกข์ เห็นร่างกายเป็นตัวทุกข์ จิตก็หมดความยึดถือในกาย ก็เป็นภูมิจิตภูมิธรรม ของพระอนาคามี ท่านไม่ยึดกาย สิ่งที่เรียกว่ากายก็คือตา หู จมูก ลิ้น แล้วก็ร่างกาย ไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อไม่ยึดตา มันก็ไม่ยึดรูป ไม่ยินดีผูกพันรักใคร่ในรูป แล้วก็ละกามราคะ ไม่เกลียดชังในรูปอย่างนี้ ก็ละปฏิฆะ

ฉะนั้นพอหมดความยึดถือในกาย มันละกามและปฏิฆะได้ แล้วการภาวนาถัดจากนั้นจะตะลุมบอนลงมา รวบลงมา มันวางกายแล้ว มันเหลืออย่างเดียวในโลกนี้คือจิต จะเข้ามาตัดเข้ามาที่จิตนี้ เราเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรามาตั้งแต่แรกแล้ว แล้วจิตไม่ใช่ตัวเราแล้วจิตเป็นตัวอะไร จิตเป็นตัวทุกข์ เหมือนกับที่เราเห็นร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา นี่โสดาบันเห็น แล้วร่างกายเป็นตัวอะไร ร่างกายเป็นตัวทุกข์ นี่พระอนาคามีเห็น แล้วจิตไม่ใช่ตัวเรา โสดาบันเห็น แล้วจิตเป็นตัวอะไร จิตเป็นตัวทุกข์ ถึงตรงนี้มันก็ปล่อยวางจิต

พอปล่อยวางจิตก็คือวางขันธ์ลงไป เราจะพบสภาวะอันหนึ่งที่หลวงพ่อพูดเมื่อวาน เรื่องจิตหนึ่ง ลองไปดู พระอาจารย์ก็เคยอ่านเอาไว้เรื่องนี้ เรื่องจิตคือพุทธะ แต่จริงๆ ไม่จำเป็นหรอก ไม่จำเป็น ภาวนาไปตามลำดับแล้วเห็นเองดีกว่า กระโดดข้ามขั้นไปเห็น เดี๋ยวจะไปปรุงเอา จะไปปรุงจิตหนึ่ง กลายเป็นจิตอินฟินิตีเลย ไม่รู้จักจบจักสิ้นเลย ขืนไปปรุงมัน

ตรงที่พระพุทธเจ้าบอกพระโมฆราชว่าถ้าเราเห็นโลกเป็นความว่าง มัจจุราชจะมองไม่เห็น สิ่งที่เรียกว่าโลกคือรูปกับนาม ก็คือขันธ์ 5 นี้เอง กาย เวทนา สัญญา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัวกายกับใจเรานี้ พอท่านปล่อยวางได้ ขันธ์ 5 เป็นสมบัติของโลก ยังไม่พ้นอำนาจมาร ตัวขันธ์ 5 เอง เรียกขันธมาร มันเป็นมารอยู่แล้วล่ะ ตัวขันธ์ 5 หนีไม่พ้นความตาย หนีไม่พ้นอำนาจมัจจุมาร แล้วก็หนีไม่พ้นอำนาจอภิสังขารมาร เรามีขันธ์ 5 เรายึดอยู่ เราก็ปรุงโน่นปรุงนี่ไปเรื่อย จิตใจที่มันหลงตามกิเลสทั้งหลาย ตัวนั้นล่ะ ตัวเทวปุตตมาร

พอเข้าใจขันธ์ 5 แจ่มแจ้ง จิตวางขันธ์ 5 แล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ มันมีสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือตัวธรรม หลวงตามหาบัวท่านเรียกธรรมธาตุ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกจิตหนึ่งนั่นล่ะ คือจิตที่บริสุทธิ์ มันสัมผัสอยู่กับพระนิพพาน ตัวจิตที่บริสุทธิ์ตัวนี้ไม่มีร่องรอย ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีอาการปรากฏ มารมองไม่เห็น มัจจุราชมองไม่เห็น

เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราเห็นขันธ์ 5 มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตปล่อยวาง มันจะเห็นขันธ์ 5 เป็นความว่าง โลกธาตุเป็นความว่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏมาให้เรารู้เราเห็น เรานึกว่าจริงจัง มันเป็นแค่ความฝัน เป็นแค่ภาพลวงตา เป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เลื่อนไหลไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด อันนั้นล่ะเป็นขอบเขตอำนาจของมัจจุราช เป็นขอบเขตของมาร ส่วนจิตที่มันพ้นไปแล้ว สัมผัสทรงพระนิพพานอยู่ มารมองไม่เห็นหรอก กำหนดจิตมาดูยังไม่เห็นเลย มองไม่ออก เพราะไม่มีอะไรเลย นี่ว่าง ไม่ใช่แค่โลกว่าง ธรรมก็ว่างด้วย มีแต่ว่างกันหมด

ตรงนี้ ตรงที่จิตมันพ้นจากขันธ์แล้วเข้าถึงธรรม ตัวนี้เรียกว่าการบรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพานก็คือการเข้าถึงนิพพานที่ยังมีเศษเหลืออยู่ อะไรที่เป็นเศษเหลืออยู่ ก็คือตัวขันธ์ 5 นั่นเอง แล้ววันหนึ่งมันเป็นวาระที่ขันธ์ที่เคยทรงไว้แตกดับไป ก็จะเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเศษ ไม่มีขันธ์เหลือ เพราะฉะนั้นนิพพานเลยมี 2 อัน นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่กับนิพพานของพระอรหันต์ที่ธาตุขันธ์แตกแล้ว

พระอรหันต์ธาตุขันธ์แตก ท่านไม่มานั่งคิดหรอกว่าจิตท่านจะไปไหน เพราะจิตท่านไม่ไปไม่มาตั้งแต่ยังไม่ตายแล้ว พ้นจากการไป พ้นจากการมา นี่คือคำตอบที่พระโมฆราชท่านเข้าใจ ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ บารมีท่านสูง พวกเราฟังให้ตายก็ไม่บรรลุ โสดาบันยังไม่บรรลุเลย อินทรีย์พวกเรายังอ่อน

อินทรีย์อ่อนไม่เป็นไร วันนี้ยังอ่อน วันข้างหน้ามันแข็งแรงขึ้นได้ ถ้าเราพากเพียรปฏิบัติ วันนี้อ่อนแล้วเราก็ขี้เกียจปฏิบัติ วันหน้าอ่อนยิ่งกว่านี้อีก เพราะฉะนั้นถ้ามีกำลังมีโอกาส ปฏิบัติเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย บางคนรอให้แก่แล้วจะปฏิบัติ แก่แล้วมันแรงตก นั่งสมาธิแป๊บเดียวก็จะหลับแล้ว ร่างกายมันไม่มีกำลัง สมองมันเฉื่อยชาลงไป ฉะนั้นฝึกตั้งแต่ยังแข็งแรงอยู่ ไปให้ไกลที่สุดเลย ให้ได้มากที่สุด ขั้นต่ำควรจะได้โสดาบัน จะได้โสดาบัน ถือศีล 5 ไว้ ฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็เรียนรู้กายเรียนรู้ใจไป เห็นมันทำงานได้เอง ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราหรอก ดูไปเรื่อยๆ

วันนี้เทศน์ให้ฟัง 45 นาที ต่อจากเมื่อวาน เมื่อวานจะเทศน์แล้ว ไม่จบ ได้ครึ่งเดียว

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 พฤษภาคม 2566