นมัสการครับ ขอโอกาสแสดงธรรม เจริญพรทุกๆ ท่าน พวกเราเข้าวัดส่วนใหญ่เราเข้าวัด เราก็คิดแค่ว่ามาทำบุญวันเกิด วันตายอะไรแค่นี้ ที่จริงพระพุทธศาสนาไม่ได้มีอยู่แค่นี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องศาสนพิธี สิ่งที่สำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือธรรมะ ศาสนธรรม น่าเสียดายที่พวกเราชาวพุทธ ไม่ค่อยสนใจเรื่องของธรรมะจริงๆ เราสนใจแค่เรื่องทำบุญ สิ่งที่เหนือกว่าการทำบุญยังมีอยู่อีก คือการสร้างกุศล ต้องพัฒนาจากบุญที่เราทำขึ้นมาสู่การสร้างกุศลให้ได้
กุศลเป็นความฉลาด เป็นความรอบรู้ของจิต ก็ต้องฝึก ต้องอบรมมัน คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นธรรมะสำหรับการอยู่กับโลก เช่น ทำอย่างไรเราจะไม่เป็นหนี้เป็นสิน เป็นธรรมะที่ทำให้เราเป็นรวย ทำให้รวย ให้พอ หรือธรรมะที่ว่าทำอย่างไร เราจะอยู่ในสังคมได้อย่างดี สามารถปฏิบัติต่อคนแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม อยู่ในเรื่องทิศ 6 ธรรมะที่ดีๆ ที่เป็นฝ่ายที่จะอยู่กับโลกมีอยู่มากมาย
ถ้าพวกเราศึกษาแล้วเอาไปทำได้จริงๆ ชีวิตของเราจะดี จะมีความสุข มันมีธรรมะอีกชั้นหนึ่ง เป็นธรรมะเหนือโลก ตรงนี้ต้องเรียน พยายามศึกษา ลงมือปฏิบัติจริงๆ แล้ววันหนึ่งเราจะเข้าใจธรรมะที่อยู่เหนือโลก เราอยู่กับโลกมันก็สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ร้ายบ้าง สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง ธรรมะประจำโลกมันมีอยู่ มีลาภก็เสื่อมลาภได้ มียศก็เสื่อมยศได้ มีนินทาก็มีสรรเสริญได้ มีสุขก็มีทุกข์ได้ นี้เป็นของประจำโลก
อริยมรรคมีองค์ 8
ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะพ้นจากมันได้เสียที เราก็ต้องฝึก เส้นทางปฏิบัติเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น ไปสู่โลกุตตรธรรม ก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 อริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นจากการมีความเห็นถูก รู้ว่าสิ่งต่างๆ เกิดจากเหตุ ไม่ใช่มีใครมาดลบันดาล อย่างเรา ชีวิตเราจะดีไม่ดีอะไร ไม่มีใครมาดลบันดาลให้เรา ถ้าเราทำเหตุที่ไม่ดี ผลมันก็ไม่ดี ทำเหตุที่ดี ผลมันก็ดี ถ้าแจกแจงประณีตลึกซึ้งลงไป ก็เป็นเรื่องของอริยสัจ 4
อันนี้หลวงพ่อจะไม่พูดลงรายละเอียดแต่ละเรื่องๆ มันครอบคลุมธรรมะมากมาย ถ้าจะต้องเรียน เรียนกันนาน อันต่อมา องค์มรรคอันต่อมา ความคิดถูก ถ้าเรามีความเห็นถูก ความคิดเราก็ถูก คือความคิดที่ถูก มันเป็นความคิดที่ไม่ถูกกิเลสโลภ โกรธ หลง มาย้อม มาบงการความคิด ถ้าความคิดของเราถูกแล้ว เราก็จะได้องค์มรรคตัวที่ 3 คำพูดของเราก็จะถูก ก็คิดถูกเสียแล้ว เห็นถูกมันก็ทำให้คิดถูก คิดถูกก็ทำให้พูดถูก คิดถูกก็ทำให้การกระทำของเราถูก ก็เป็นสัมมากัมมันตะ
คิดถูก การหากินของเราก็ไม่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงใคร หากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก็เป็นสัมมาอาชีวะ อันนี้เป็นพื้นฐาน นี้ในขั้นที่จะลงมือปฏิบัติจริงๆ ขั้นที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมจิตใจจริงๆ มันอยู่ในองค์มรรค 3 ข้อหลัง คือสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ การมีสติชอบ สัมมาสมาธิ การมีสมาธิชอบ ถ้าเราพัฒนาตัวเองมาถึงจุดที่จิตมีสัมมาสมาธิได้ การเจริญปัญญามันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัมมาสมาธิ ปัญญาเกิดไม่ได้ เพราะปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
การจะให้เกิดสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ไปอ้อนวอนร้องขออะไร ไม่ค่อยจะเกี่ยวเท่าไรกับการนั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมนานๆ มันเป็นเรื่องของการฝึกจิตใจโดยตรง องค์มรรคที่เกี่ยวกับการฝึกจิตใจ ก็มีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ ความเพียรชอบไม่ใช่แปลว่านั่งสมาธินาน ไม่ใช่แปลว่าเดินจงกรมนานๆ ไม่ใช่ว่านั่งกำหนดลมกระทบตรงนั้น กระทบตรงนี้ หรือเดินจงกรมมีกี่จังหวะอะไรอย่างนี้ อันนั้นยังไม่ได้เรียกว่าความเพียรชอบ อันนั้นเป็นแค่เปลือก เป็นรูปแบบของการปฏิบัติเท่านั้นเอง
สิ่งที่เรียกว่าความเพียรชอบก็คือ เพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญงอกงามขึ้น ลักษณะของความเพียรชอบมี 4 ประการ มีกิเลสอกุศลอยู่ ละแล้วก็ไม่ให้อกุศลใหม่มันเกิด ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด แล้วทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้นไป กุศลอกุศลมันจะเกิดที่ไหน มันเกิดที่ใจเรา กุศลไม่ได้เกิดที่อื่น อกุศลไม่ได้เกิดที่อื่น แต่เกิดอยู่ที่จิตที่ใจของเรานี้เอง
ความเพียรชอบ
เราจะต้องพยายามฝึกหัดดูสภาวะให้ได้ หัดรู้จักกับมัน อย่างจิตของเรามีความโลภเกิดขึ้น ให้เราหัดรู้ทันไป ทีแรกนานกว่าจะรู้ หลงโลภไปตั้งนานแล้วถึงจะรู้ว่าโลภ อันนี้ยังดี อย่าให้จิตแตกกระเจิงไป ถ้าโลภเรารู้บ่อยๆ ทุกคราวที่โลภต่อไป พอโลภปุ๊บสติจะเกิดเอง หรือเรา หัดสังเกตตัวเอง ถ้าเราเป็นคนขี้โมโห หัดสังเกตใจตัวเอง โกรธแล้วรู้ โกรธแล้วรู้ไป ทีแรกต้องโกรธแรงๆ โกรธนานๆ ถึงจะรู้ แต่พอเราฝึกบ่อยๆ โกรธแล้วรู้ โกรธแล้วรู้ ต่อไปมันจะเร็วขึ้นๆ พอโกรธปุ๊บรู้ปั๊บ ทีแรกต้องโกรธนานๆ ถึงจะรู้ ต่อไปไม่นาน พอโกรธปุ๊บรู้ปั๊บ
ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ พอฝึกมากๆ เข้า แค่ไม่สบายใจนิดเดียว หงุดหงิดใจนิดเดียวเราก็เห็นแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากเลย เรื่องหลง คนในโลกอยู่กับความหลงตลอดเวลา เราเกิดมากับความหลง มีชีวิตอยู่กับความหลง แล้วเราก็ตายไปพร้อมกับความหลง แล้วก็ไปเกิดใหม่กับความหลงอีก จะต้องมาหัดสังเกตสภาวะของความหลง สภาวะของความหลง เป็นสภาวะที่จิตเราจับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน หรือว่าจับจด อย่างจิตจับอารมณ์ทางนี้ เดี๋ยวก็กระโดดไปจับอีกอารมณ์หนึ่ง ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ ความฟุ้งซ่านเป็นตัวหนึ่งของความหลง
ค่อยๆ สังเกต จิตเราฟุ้งซ่านทั้งวัน เดี๋ยวไปคิดเรื่องโน้น เดี๋ยวไปคิดเรื่องนี้ เวลาจิตหลงไปคิด หลงนาน หลงยาว แล้วถ้าไม่เคยฝึกกรรมฐานเลย เราหลงวันละครั้ง หลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ ครั้งเดียว ไม่เคยรู้สึกตัวเลย แต่ถ้าเราเคยฝึกกรรมฐาน จิตเราหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้บ่อยๆ พอหลงปุ๊บมันจะรู้เอง สติมันจะเกิดเอง มันรู้ทันว่าตอนนี้ความหลงเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นตัวสตินี้ มันเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น อย่างจำความโลภได้แม่น พอความโลภเกิดขึ้น สติจะเกิดเอง จะรู้ทันเลย มันจำความโกรธได้แม่น พอความโกรธเกิด สติก็จะรู้ทันขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
จิตมันหลงไป หลงเผลอๆ เพลินๆ คิดโน้นคิดนี้ หรือฟุ้งซ่านไป เราจำความฟุ้งซ่านได้ จำความหลงได้ สติมันก็จะเกิดอย่างรวดเร็ว สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ ต้องทำเหตุของสติ เหตุของสติก็คือ เราต้องให้จิตมันจำสภาวะได้แม่น มันจำโลภแม่น พอโลภเกิดปุ๊บ สติเกิดเอง มันจำโกรธได้แม่น พอความโกรธเกิด สติมาเองเลย ไม่ได้เรียกร้องให้มา เวลาเราหลง เรารู้หลง หลงรู้ หลงรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปพอหลง สติมันจำความหลงได้แล้ว ความหลงนี้มันจะไม่ใช่หลงธรรมดา
คนโบราณเก่ง คนไทยมีคำอยู่คำหนึ่งว่าหลงใหล ถ้าเราภาวนาเราจะเห็น จิตมันหลงแล้วมันไหลไปจริงๆ ไหลไปที่ไหน ไหลไปที่รูป ที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส ที่สัมผัส ที่เรื่องราวที่คิด ขนาดลงมือทำกรรมฐาน อย่างกำหนดลมหายใจ จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ อันนี้ก็หลง ดูท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง อันนี้ก็ยังหลงอยู่ เดินจงกรมจิตไหลไปอยู่ที่เท้า อันนี้ก็ยังหลงอยู่ ฉะนั้นตัวหลงละเอียดที่สุดเลย
หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกตัวหลงนี้ ท่านเรียก “จิตออกนอก” จิตส่งออกนอก ท่านบอกจิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย เป็นเหตุ ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ คือความพ้นทุกข์ ฉะนั้นตัวหลงไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เข้าใจยากที่สุด ใครๆ ก็คิดว่าตัวเองรู้สึกตัว ไม่หลง กระทั่งอย่าว่าแต่พวกเราเลย พระส่วนใหญ่ที่ภาวนาคิดว่าไม่หลง ทำอะไรรู้ตัวหมดเลย แต่จริงๆ แล้วจิตมันเคลื่อนไปเพ่งอารมณ์นิ่งๆ อยู่ ถ้าจิตเคลื่อนแล้วไม่เห็นว่าจิตเคลื่อน นั่นคือหลง แต่มันหลงอย่างละเอียด ประณีต ดูยาก
สิ่งที่เราจะต้องหัด หัดรู้สภาวธรรมบ่อยๆ หัดอ่านใจตัวเองให้ชำนาญ ใจเราโลภก็รู้ ใจเราโกรธก็รู้ ใจเราหลงก็รู้ ใจเราฟุ้งซ่านก็รู้ ใจเราหดหู่ก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ ทุกคราวที่เราหัดรู้ พอต่อไปมันจะรู้โดยไม่ต้องจงใจ ถ้ารู้โดยไม่ต้องจงใจ เรียกว่าสติตัวจริงเราเกิดแล้ว ถ้ายังจงใจให้สติเกิด ยังไม่ใช่ของจริงหรอก จงใจรู้ นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อยจงใจรู้ เพราะฉะนั้นจิตมันจะเคลื่อนไป แล้วมองไม่เห็นว่ามันหลงอยู่ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมากเลย
พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นท่านสอน หลวงพ่อไม่ทันท่าน เกิดมาท่านก็มรณภาพไป 3 ปีแล้ว ก็ได้อาศัยลูกศิษย์ท่าน เข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์รุ่นลูกศิษย์ ตั้งแต่หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม หลวงตามหาบัว เข้าไปเรียนกับลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ หลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์สายวัดป่าเป็นสิบๆ องค์ หลาย 10 องค์ แล้วท่านสอนอย่างหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น
หลวงปู่สุวัจน์เล่าเลยว่าไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรก หลวงปู่มั่นบอกท่านเลยว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ให้ทำสมถะ” ทำความสงบไป พอทำความสงบจิตมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็จะกลับมาดูกายได้ พอดูกายได้ ดูกายเพื่ออะไร ดูกายเพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นธรรม ธรรมะมันอยู่ที่จิต กุศลอยู่จิต อกุศลอยู่ที่จิต กระทั่งมรรคผลก็เกิดที่จิต นิพพานไม่เกิด นิพพานเป็นสภาวะที่ไม่เกิด ก็รู้ได้ด้วยจิต
ฉะนั้นท่านบอกว่า ถ้าเราอ่านจิตใจตัวเองได้ ดูจิตตัวเองได้ เป็นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด แต่บางคนอยู่ๆ ไปดูจิตเลย ดูไม่ได้ ท่านก็สอนให้ดูกายไปก่อน บางคนดูกายก็ไม่ได้ ท่านก็ให้ทำสมถะไปก่อน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไร ทำไปก่อน พอจิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะดูกายดูจิตต่อไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมาได้ หัดดูสภาวะให้มากๆ เลย พอเราดูสภาวะบ่อยๆ สิ่งที่ได้ตามมาคือสัมมาสติ
พระพุทธเจ้าบอกว่า สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ เพียรละอกุศล เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ 4 อันนี้ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าเมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นอกุศลที่มีอยู่ดับทันที ถ้าเมื่อไรเรามีสติ เมื่อนั้นอกุศลใหม่ จะไม่เกิดในขณะเรามีสติ ถ้าเมื่อไรเรามีสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรามีสติบ่อยๆ กุศลจะพัฒนายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้กุศลงอกงามขึ้นไป กุศลพัฒนาขึ้นไปกลายเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ศีลเป็นกุศล สมาธิ ปัญญา เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติ คอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ไปเรื่อยๆ มันจะทำให้สติของเราแหลมคมยิ่งขึ้น ท่านถึงสอนบอกว่า “สัมมาวายามะ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์” เพราะฉะนั้นสำคัญ ถ้าเราไม่มีสัมมาสติ ไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ คือการเจริญสติปัฏฐาน 4 แต่หลวงพ่อจะไม่อธิบายต่อ มันจะเกินเวลาเยอะไป เดี๋ยวเกรงใจพระที่ท่านจะสวด
สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น
ถ้าเราฝึกรู้สภาวะบ่อยๆ กิเลสเกิดเรารู้ กุศลเกิดเรารู้ไปเรื่อยๆ สติเราจะเกิด พอสติมันเกิด สติมันเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจของเรา อย่างความโกรธเกิดปุ๊บ เราจะเห็นเลย หัวใจเต้นแรง เลือดขึ้นหน้า หน้าร้อนเลย หรือราคะเกิด ร่างกายเรามีความเปลี่ยนแปลง จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลง อย่างถ้าโลภเกิด ร่างกายเราก็มีความเปลี่ยนแปลง จิตใจเราก็มีความเปลี่ยนแปลง มันจะมีสติรู้ลงมาที่กายที่ใจตัวเองบ่อยๆ
อ่านใจตัวเองเรื่อยๆ ต่อไปมีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย สติจะรู้ทัน มีอะไรเกิดในจิตใจ สติจะรู้ทัน เช่น เราทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง ขอแนะนำสำหรับพวกเราทุกคน ต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ จุดสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ว่ากรรมฐานอะไร จะพุทโธ จะหายใจ จะพองยุบ จะนะมะพะทะ สัมมาอะระหัง จะดูท้องพองยุบ จะดูจังหวะ ขยับมือแบบหลวงพ่อเทียน กรรมฐานอะไรนั้นเท่าเทียมกันทั้งสิ้น ไม่มีกรรมฐานที่ดีหรือเลวกว่ากัน มันมีแต่กรรมฐานอะไรที่เราถนัด อันไหนเหมาะกับเรา อันนั้นล่ะดีสำหรับเรา แต่อาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่น
อย่างหลวงพ่อเรียนกับท่านพ่อลี วัดอโศการาม ตั้งแต่ 2502 ท่านสอนอานาปานสติ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธนับ 2 ฉะนั้นหลวงพ่อฝึกหายใจ มันดีสำหรับหลวงพ่อ ถ้าพวกเรามานั่งหายใจ บางคนไม่ชอบเลย ทำไม่ได้ ฉะนั้นดูที่ตัวเอง ขั้นแรกต้องทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเราสังเกตที่จิตของเรา ทำกรรมฐานอย่ามุ่งที่ความสงบ สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น จิตใจเราตั้งมั่น ในขณะที่กำลังฟุ้งซ่าน เราจะเกิดสมาธิได้ ในขณะที่มีกิเลส จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาได้ มันจะเห็นกิเลสกับจิตแยกออกจากกันเลย กิเลสส่วนกิเลส จิตส่วนจิต
แล้วเวลาจิตเราตั้งมั่นได้ มันจะเดินปัญญาได้ ก่อนที่จิตจะตั้งมั่นได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ การที่เรารู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ นอกจากจะได้สัมมาสติ ได้สัมมาวายามะ ได้สัมมาสติแล้ว เรายังจะได้สัมมาสมาธิด้วย อย่างเราทำกรรมฐาน พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ จิตหลงไปคิดเรื่องอื่นปุ๊บ สติระลึกรู้ว่าจิตหลงไป ทันทีที่สติรู้ว่าจิตหลง จิตหลงจะดับทันที เพราะจิตหลงมันเป็นอกุศล ทันทีที่สติเกิด อกุศลจะดับทันที แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัว
จิตที่ตั้งมั่นสั่งให้เกิดไม่ได้ สั่งให้เกิดไม่ได้ จิตจะหลง จิตจะฟุ้งซ่าน ห้ามมันก็ไม่ได้ เพราะจิตเองก็เป็นอนัตตา เราทำเหตุไปเรื่อยๆ มีสติรู้ทัน มีสติรู้ทัน ทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป เช่น พุทโธๆ ไป อ้าว หนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมพุทโธแล้ว รู้ทันว่าจิตหลงไปแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตหลง จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง ท่านถึงสอนบอกว่า เมื่อสัมมาสติ สัมมาสติ เมื่อเราทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
เห็นไหม ไม่เกี่ยวกับสมาธิที่พวกเราเคยรู้จัก นั่งซึมกระทือไป หรือนั่งแล้วเคลิ้มเห็นโน้นเห็นนี้ไป นั่งแล้วเห็นโน้นเห็นนี้ หลวงพ่อทำตั้งแต่ 7 ขวบ แล้วรู้ว่ามันผิด ทำมาตั้งแต่ 7 ขวบ ปี 2502 รู้ว่ามันไม่ใช่ นั่งไปแล้วจิตมันถอดออกมา มันส่งออกไป ไปดูเทวดา ไปดูสวรรค์ ดูโน้นดูนี้อะไร แล้วเราก็พิสูจน์ไม่ได้ ว่ามันจริงหรือไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ตอนนั้นรู้เลยว่าไม่มีประโยชน์ สมาธิอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ตอนนั้นไปต่อไม่เป็น จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างเราเห็นดอกไม้สวย ใจเราชอบ ราคะเกิดแล้ว เห็นหมาขี้เรื้อนวิ่งมา ใจรังเกียจ โทสะเกิดแล้ว หัดอ่านใจตัวเองอย่างนี้บ่อยๆ นอกจากได้สัมมาวายามะ ได้ความเพียรชอบ ได้สัมมาสติแล้ว ทุกครั้งที่สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นมันจะอัตโนมัติเลย ขอให้มีสัมมาสติให้ได้เถอะ แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดอัตโนมัติ
มันน่าสงสารตรงที่สัมมาสมาธิ เป็นสภาวะที่คนไม่สนใจที่จะศึกษา คิดว่านั่งสงบแล้วก็คือสัมมาสมาธิ สมาธินั่งสงบมันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นสมาธิที่จะใช้เดินวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงดับ จิตที่รู้ก็จะเกิดอัตโนมัติ พอจิตรู้เกิดแต่ละครั้ง นั่นคือจิตตั้งมั่นเกิดขึ้น ทีแรกมันเกิดสั้นๆ เป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ แต่ทำบ่อยๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก จิตเราจะเกิดกำลังขึ้นมา มันจะทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา
เมื่อจิตเรามีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว จิตพร้อมที่จะเจริญปัญญา การเจริญปัญญาไม่ใช่การนั่งคิด การเจริญปัญญาขั้นแรกเลย พอจิตเราตั้งมั่นปุ๊บ สติระลึกรู้ที่ร่างกาย เราจะเห็นร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน ร่างกายไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ร่างกาย เป็นคนละขันธ์กัน คนละอัน คนละส่วนกัน ถ้าสติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ หรือความไม่สุขไม่ทุกข์ มันจะเห็นเวทนากับจิตนั้นเป็นคนละอันกัน แล้วเวทนากับร่างกายก็เป็นคนละอันกันด้วย
ถ้าสติระลึกรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างความโลภ โกรธ หลง แล้วจิตเราตั้งมั่น มันจะเห็นทันที มันจะเห็นเลยว่าสังขารคือความปรุงแต่ง จะดีหรือจะชั่วก็ตาม ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตปรุงขึ้นมา เป็นสิ่งที่จิตรู้เท่านั้นเอง ไม่ใช่จิต ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ ขันธ์เราจะแยก เราจะแยกรูป แยกนามได้ ที่เขาชอบพูดกัน แยกรูปแยกนาม นามรูปปริจเฉทญาณ ท้องพองก็อันหนึ่ง ท้องยุบก็อันหนึ่ง อันนั้นมันแยกรูปกับรูป ไม่ใช่แยกรูปกับนาม นามนั้นเป็นนามธรรม เป็นตัวรู้ตัวดู ต้องมี
ฉะนั้นถ้าเราไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ ทำวิปัสสนาไม่ได้จริงหรอก กล้าพูดเลยเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นต้องฝึกให้จิตเราเป็นผู้รู้ ไม่ใช่ผู้หลง ผู้คิดโน้นคิดนี้ไปเรื่อยๆ หรือผู้เพ่งไปเรื่อยๆ ไปทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ การที่เราขยันคอยรู้คอยดู เรียกว่าเรามีความเพียรชอบ การที่เราคอยรู้คอยดูสภาวะบ่อยๆ จะทำให้สัมมาสติของเราดี มีความเพียรชอบ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ มันจะรู้กายรู้ใจอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนารู้เลย แล้วทันทีที่รู้กายรู้ใจถูกต้อง จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ สัมมาสมาธิเกิดขึ้นทันที
สัมมาสมาธิเมื่อเจริญให้มาก
จะทำให้สัมมาญาณะบริบูรณ์
เมื่อสัมมาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว สัมมาสมาธิเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาญาณะบริบูรณ์ สัมมาญาณะก็คือการทำวิปัสสนานั่นเอง มันจะเห็นความจริง ทีแรกเราแยกขันธ์ได้ แยกกายกับใจคนละอัน ตรงที่ขึ้นวิปัสสนา มันจะเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตที่ไปรู้กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เห็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดเอาเลย ถ้าคิดเอาไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นเอา ต้องรู้สึกเอา
ค่อยๆ ฝึกไปจนชำนิชำนาญ มันจะเดินปัญญาคือเห็นไตรลักษณ์ได้ การเจริญปัญญาในวิปัสสนา คือการเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ของกายของใจของเรา ฉะนั้นเรามีสติรู้กายรู้ใจได้ จิตก็ตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น ขันธ์จะแยก กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต สังขารส่วนสังขาร จะแยกกัน พอมันแยกได้แล้ว มันจะเห็นเลย แต่ละตัวล้วนแต่ไม่เที่ยง แต่ละตัวพอเกิดแล้ว ถูกบีบคั้นให้แตกสลายทุกตัว
กระทั่งความสุขเกิดขึ้นมา ความสุขก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ความทุกข์เกิดขึ้น บางคนเกลียดความทุกข์ ไม่ต้องไปเกลียดมัน ความทุกข์เกิดขึ้น มีสติรู้ ความทุกข์ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เดี๋ยวมันก็ดับ ความสมหวังผิดหวังอะไรนี้เหมือนกันหมด เกิดแล้วดับทั้งหมด หัดรู้ไปเรื่อย ความสุขเกิดแล้วก็ดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ กุศลเกิดแล้วดับ อกุศลเกิดแล้วดับ สุดท้ายเราจะเข้ามาเห็น จิตเองเกิดแล้วก็ดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวเป็นจิตผู้ไปเพ่งกรรมฐาน
พวกที่นั่งเพ่งอยู่แล้วใจมันจะแน่นๆ นั่นเดินผิดทางแล้ว ถ้าใจแน่นๆ จิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลมันเบา มันนุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง คนนั่งสมาธิเริ่มต้นก็โลภแล้ว อยากสงบ อันนั้นไม่ใช่แล้ว นั่นหลงแล้ว เข้าใจผิดแล้ว ฉะนั้นหัดเจริญสติให้ดี ทำกรรมฐานไป แล้วคอยอ่านใจตัวเองให้ออก ถ้าอ่านใจตัวเองออก สัมมาวายามะก็เกิด สัมมาสติก็เกิด สัมมาสมาธิก็เกิด
เมื่อสัมมาสมาธิมีความแก่กล้ามากพอ สัมมาญาณะ การเจริญวิปัสสนาจะเกิด คือจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ สัมมาญาณะ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาวิมุตติบริบูรณ์ จะเกิดอริยมรรคอริยผล อริยมรรคอริยผลมี 4 คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มีอยู่ 4 คู่ นี่คือตัววิมุตติ
เห็นไหมวิมุตติที่เราว่า สวดๆ อะไรก็อธิษฐานขอถึงพระนิพพาน ไม่ได้เริ่มต้นที่จะเดินนิพพานเลย ทำแต่บุญ ถ้าอยากได้นิพพานจริง เจริญสติ พระพุทธเจ้าบอกว่า การเจริญสติปัฏฐาน เป็นทางสายเดียว ที่จะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ฉะนั้นสรุป ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราถนัด กรรมฐานทั้งหลายเท่าเทียมกันหมด แต่จับหลักให้แม่น เราไม่ได้ทำเพื่อความสงบ เพื่อความสุข เพื่อความดีใดๆ ทั้งสิ้น เราทำไปเพื่อความรู้ตื่นเบิกบานของจิตขึ้นมา
คอยรู้ทันไป แล้วจิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นได้ ขันธ์จะแยก ขันธ์แยกได้เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของแต่ละขันธ์ พอเห็นความจริงว่าขันธ์ทั้งหลาย ทั้งกายทั้งใจเราล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วมันก็จะหลุดพ้น เกิดอริยมรรคอริยผล ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้ จิตบรรลุมรรคผลเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราแก่รอบ
ปัญญาก็คือวิปัสสนาปัญญานี่ล่ะ เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ทีแรกมันเห็นของรูปก่อน เห็นแจ่มแจ้ง มันวางกาย ตรงที่วางกายได้ อันนั้นคือพระอนาคามี การปฏิบัติที่เหลือมันจะบีบวงเข้ามาที่จิต มาตะลุมบอนอยู่ที่จิตนี้ล่ะ จนรู้แจ้งเห็นจริงว่าจิตก็คือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์ ที่เราบอกจิตของเราสบาย มีความสุข ก็ยังไม่เห็นความจริง ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่เราต้องฝึกให้ได้ตัวนี้ก่อน เพื่อจะอาศัยมันเจริญปัญญา
เมื่อเราเจริญปัญญาแก่รอบแล้ว มันจะวางตัวจิตผู้รู้ลงไป ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงที่เราปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ทั้งหมด ขันธ์ 5 ตัวสุดท้ายที่ปล่อยยากที่สุด คือตัวจิตของเราเอง เราจะรู้สึกตอนละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา ตัวที่ละยากที่สุดก็คือจิต ตอนที่จะปล่อยวาง ตัวที่ปล่อยวางยากที่สุดก็คือจิต แต่ไม่พ้นสติปัญญาของเราหรอก ขอให้เริ่มเดินสติให้ดี ฝึกสติให้ดี ทำกรรมฐานไป อ่านใจให้ออก
เอาไปทำ แล้วจะรู้ว่าที่หลวงพ่อพูดจริงหรือโกหก
วัดศรีมหาราชา พระอารามหลวง
27 เมษายน 2568