วันนี้คนฟังธรรมป่วยหลายคน ภาวนาไม่ใช่เพื่อว่าไม่เจ็บไม่ป่วย เจ็บป่วยเป็นเรื่องของร่างกาย เป็นวิบาก วิบากของขันธ์ บุญบาปส่งผลให้เราได้สถานภาพในปัจจุบัน บุญบาปในปัจจุบันก็จะทำให้เราไปสู่สถานภาพในอนาคตอีก อย่างเกิดมาเรามีกรรมกำหนดไว้ในยีนของเรา อายุเท่านี้จะต้องเป็นมะเร็ง อันนี้ของเก่า ทำกรรมใหม่ให้ดีที่สุด อย่างเราไม่ประมาท เมื่อก่อนหลวงพ่อมีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง แกเป็นมะเร็งแล้ว รักษาหายไปรอบหนึ่ง แล้วแกเชื่อโชคลาง เริ่มมีอาการของโรคกลับมา ยังไม่ยอมเข้าโรงพยาบาล มีเลือดไหลออกจากร่างกาย ต้องรอให้พ้นตรุษจีนก่อน เข้าโรงพยาบาลก่อนตรุษจีน เดี๋ยวชีวิตไม่เฮง รอ ตาย อันนั้นคือกรรมใหม่ มีโมหะ หลง ถือฤกษ์ถือยาม
ฉะนั้นชีวิตเราต้องทำในปัจจุบันให้ดี มีเหตุมีผล เป็นการทำกรรมใหม่ที่ดี กรรมใหม่ที่ดีในปัจจุบัน มันมีผล 2 อย่าง มันลดละวิบากของความไม่ดีในอดีตให้ผลได้น้อยลง หรือให้ผลได้ไม่เต็มที่ แล้วมันก็ก่อวิบากใหม่ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการทำความดีอยู่ในปัจจุบันสำคัญมาก อย่าละเลย ความดีมีโอกาสทำต้องรีบทำ อย่าผัด เมื่อนั้นจะทำเมื่อนี้จะทำ บางทีผัดมากไป ไม่ได้ทำเลย ตายเสียก่อน ไม่มีใครรู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ ฉะนั้นความดีมีโอกาสต้องรีบทำ ไม่ผัดผ่อน เพราะเราไม่สามารถผัดผ่อนความตายได้
การปฏิบัติผัดไม่ได้
อย่างบางคนเคยภาวนามาแต่ชาติก่อนๆ ชาตินี้ภาวนาเริ่มต้นดูดีเชียว เสร็จแล้วประมาท บอกรอไว้อายุเยอะๆ แล้วจะมาภาวนาต่อ ตอนนี้ขอสนุกอยู่กับโลกไปก่อน เดี๋ยวอายุ 50 ขึ้นไปแล้วจะมาภาวนา ช่วงนี้ผ่านชีวิตที่ประมาทไป 50 ปี ธรรมชาติของจิตไหลลงต่ำอย่างรวดเร็ว 50 ปีที่ผ่านมา ไม่รู้มันไหลไปถึงไหนแล้ว มันต่ำลงไปขนาดไหนแล้ว อายุเยอะๆ จะมาภาวนา ร่างกายก็ไม่เอื้ออำนวย ความเข้มแข็งอะไรต่ออะไรทั้งกายทั้งใจไม่ค่อยจะมีแล้ว ผัดๆ หลวงพ่อเห็นเยอะ มีตัวตนเป็นตัวอย่างให้ดู พวกผัดรอว่าอายุเยอะๆ แล้วจะภาวนา ไม่ได้ภาวนา ถึงภาวนาก็ไม่ได้เรื่อง เพราะจิตมันเหลวไหลไปนานแล้ว มันคุ้นเคยที่จะเหลวไหล
ฉะนั้นการปฏิบัติผัดไม่ได้ ถ้าเราผัดการปฏิบัติเมื่อไหร่เรียกว่าเราประมาทอย่างสิ้นเชิงเลย การปฏิบัติต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่บางคนก็ยังประมาทอยู่ เช่น มาฟังธรรมจากหลวงพ่อบอก เดี๋ยวฟังธรรมแล้วกลับบ้านจะไปเริ่มภาวนา นี่ไม่เข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อสอน ไม่ใช่ฟังธรรมมาที่วัดมาฟังธรรมอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวกลับบ้านจะไปภาวนา บางคนไปไม่ถึงบ้าน ไปตายอยู่กลางทางไม่ได้ภาวนา การภาวนาต้องทำเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เลย
มีสติรู้สึกลงในร่างกาย มีสติรู้สึกลงในจิตใจ แล้วถ้าจิตเราเวลาสติไปรู้กายหรือจิตถลำลงในกาย แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ เวลาเราดูความรู้สึกนึกคิดภายในใจของเรา แล้วจิตมันถลำไป เช่น มันดูความโกรธ จิตถลำไปดูความโกรธ หรือมันดูความฟุ้งซ่าน จิตถลำไปดูความฟุ้งซ่าน อันนี้ก็คือสมาธิไม่พอ ถ้าสมาธิไม่พอ จิตมันจะถลำลงไป มันไม่สักว่ารู้ว่าดู มันไม่ดูอยู่ห่างๆ ไม่เป็นแค่คนดู เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราจะต้องค่อยๆ สังเกตว่าเราขาดอะไร อะไรมากไปอะไรน้อยไป อย่างสมาธิมากไป ไม่ดี สมาธิมากเกินไป จิตจะเซื่องซึมหรือติดความสุข เจริญปัญญามากไปไม่ดี จิตจะฟุ้งซ่าน มีความเพียรมากไปก็ไม่ดี จิตเคร่งเครียด มีศรัทธามากไปก็ไม่ดี มันโง่งมงาย
สิ่งที่ดีมีอันเดียวคือสติ ยิ่งมีบ่อยเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่มีสติมากไป สติที่ถูกต้องหมายถึงการระลึกรู้สภาวะ สติเป็นตัวระลึกรู้สภาวะ ในขณะที่ความดีตัวอื่นๆ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญามากไปใช้ไม่ได้ น้อยไปก็ใช้ไม่ได้ สติน้อยไปใช้ไม่ได้ สติยิ่งเกิดบ่อย ยิ่งดี นี้เป็นลักษณะพิเศษของสติ เป็นธรรมะที่วิเศษมาก พระพุทธเจ้าถึงยกย่องสติสัมปชัญญะ เป็นธรรมะที่มีอุปการคุณมาก สัมปชัญญะคือตัวปัญญา ปัญญาที่ตีกรอบการปฏิบัติของเรา รู้ว่าเราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร ทำแล้วจะมีผลอย่างไร ตีกรอบการปฏิบัติของเราไว้อย่างนี้ มีประโยชน์มาก
ส่วนปัญญาความรู้แตกฉานอะไรนี่ คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นต้องพยายามฝึกอินทรีย์ของเรา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาของเราให้มันสมดุล ให้มันสม่ำเสมอกัน อย่างสติที่หลวงพ่อบอก สติเกิดบ่อยยิ่งดี แต่สติเกิดแบบรุนแรง เพ่งจ้องอย่างรุนแรง ไม่ดี แต่ถ้าสติธรรมชาติ สติตัวจริงเกิดยิ่งบ่อย ยิ่งดี ถ้าเรามีศรัทธาแก่กล้าอยากปฏิบัติมากเลย พากเพียรมาก แล้วก็จ้องเอาๆๆ เพ่ง จ้องเอา เครียดไปหมดเลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ หรือนั่งสมาธิอยู่ ถ้าสติมันแรงเกินไป มันก็จะเครียด บางทีลืมตาอยู่ มองไปโลกข้างนอก เราเห็นวัตถุต่างๆ เป็นอณู เห็นอากาศเป็นเม็ดๆๆ เลย นี่สติมันถูกเร้ารุนแรงเกินไป อันนี้คนละแบบกับที่หลวงพ่อบอก สติยิ่งเกิดบ่อยยิ่งดี อันนี้สติแบบโหดร้ายทารุณ ไม่ใช่สัมมาสติ สติที่เจือด้วยความโลภอย่างรุนแรงเลย แล้วก็บอกว่ามีสติๆ ไม่ใช่สติจริงหรอก
สติที่ถูกต้อง
ถ้าสติจริง จิตมันจำสภาวธรรมได้แม่น พอสภาวธรรมเกิด สติก็เกิดของสติเอง เราไม่ได้สั่งให้เกิด ถ้าเราจงใจให้สติเกิด ไม่ใช่สติตัวจริงหรอก มันกลายเป็นการเพ่งการจ้อง สิ่งที่ได้มาคือความเคร่งเครียด มันใช้ไม่ได้ หรือเรานั่งสมาธิอยู่ สติอ่อนเกินไป มันก็เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว นั่งแล้วก็โงกเงกๆ หรือบางทีสติมันอ่อนมาก แล้วสมาธิมันมีกำลังอยู่ จิตมันเคลื่อน เคลื่อนออกไป อย่างนั่งสมาธิแล้วมันสว่างขึ้นมา ไม่มีสติรู้ทันว่าจิตเรายินดีพอใจในแสงสว่าง จิตก็เคลื่อนเข้าไปในความสว่าง คราวนี้อยากรู้อยากเห็นอะไร มันรู้มันเห็นของมันได้ จะเห็นผีเห็นสาง เห็นเทวดา เห็นเปรต เห็นสัตว์นรกอะไรนี่ มันตามแสง แสงสว่างของสมาธิ มันตามไปรู้ไปเห็น มันออกนอกไปหมดแล้ว มันไม่ใช่การเจริญสติที่ถูกต้องแล้ว
การเจริญสติที่ถูกต้อง เป็นสติระลึกรู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ไม่ใช่กายข้างนอก กายผี กายเปรตอะไร กายอยู่ข้างนอก เราดูกายภายในนี้ ดูกายในกาย อย่างกายหายใจออกส่วนหนึ่ง กายหายใจเข้าส่วนหนึ่ง ก็ดูของตัวเอง ไม่ต้องไปดูคนอื่น ดูคนอื่นแล้ว กิเลสที่ยังไม่เกิด มันจะเกิด แล้วก็ดูของตัวเอง กิเลสที่เคยเกิดมันจะดับ กุศลที่ไม่เคยเกิดมันจะเกิด อย่างบางคนได้ยินบอก ให้ดูกาย ก็ไปดูผู้หญิงสวยอะไรอย่างนี้ ดูลงไป โอ้ ผมก็สวย ขนก็สวย เล็บก็สวย ฟันก็สวย หนังก็สวย สวยไปหมดเลย รูปร่างก็สวย กิริยามารยาทก็สวยอะไรอย่างนี้ ดูอย่างนี้ มันทำกรรมฐานอะไรไม่ได้หรอก เพราะราคะมันจะเกิด หรือไปดูคนนี้ โหย นี่น่าเกลียด น่าขยะแขยง ไม่มีอะไรดูดีสักอย่างเลย น่าเกลียดอย่างกับผีมาเกิด หรือเป็นผีตั้งแต่ยังไม่ทันจะตาย เละเทะไปหมดแล้ว โทสะมันเกิด ฉะนั้นอย่าไปดูคนอื่น ดูตัวเอง ดูเข้ามาที่ตัวเอง
อย่างคนไหนเรารู้สึกว่าเรานี้สวยมาก เราดูสิ จริงๆ มันสวยไหม มีสติสำรวจลงมาในกาย ดูตัวเอง ถ้าดูออกนอกใช้ไม่ได้ พอจะดูร่างกาย ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันไม่สวย ไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรอย่างนี้ ดูไปๆ แล้วกำลังของสมาธิไม่พอ จิตฟุ้งซ่าน ดูไม่รู้เรื่องแล้ว แอบไปคิดเรื่องอื่นแล้ว อันนี้เราก็เพิ่มสมาธิขึ้นๆ ถ้าไปสังเกตให้ดี 5 ตัวนั้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่ว่าควรจะให้สมดุลกัน เราจะไม่ทำให้มันสมดุลด้วยการลดตัวที่มีเยอะ แต่เราจะเพิ่มตัวที่ขาด อย่างบอกว่าสมาธิเราเยอะไป นั่งแล้วมันเคลิ้มอะไรนี่ ไม่ใช่เลิกนั่งสมาธิ แต่ว่าเพิ่มสติขึ้น แทนที่จะนั่งแล้วก็เคลิ้มๆ ก็นั่งแล้วรู้สึกตัวๆ ให้มีสติไว้ สติเป็นตัวระลึกรู้ จะทำให้เรารู้สึกตัวขึ้นมา
ค่อยๆ ฝึก ตัวไหนที่มันย่อหย่อนไป ก็เพิ่มมันขึ้นมา ตัวไหนที่มันล้ำหน้าไป เราก็พัฒนาธรรมะที่เป็นคู่ปรับของมัน มาปรับสมดุลให้มัน อย่างศรัทธามาก มันทำให้โง่งมงาย เลื่อมใสพระพุทธเจ้าถามว่าผิดไหม ไม่ผิด เลื่อมใสในพระธรรม ในพระสงฆ์ ผิดไหม ไม่ผิด แต่ไม่เจริญในธรรมหรอก ถ้ามันไม่สมดุลกับปัญญา พอศรัทธาล้ำไป มันไม่ใช้เหตุใช้ผลแล้ว ปัญญามันไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราจะพัฒนาจิตใจเรา เราก็เพิ่มปัญญา คือการใช้เหตุใช้ผลลงไป ไม่ใช่ศรัทธาเชื่ออย่างเดียวเลย ปกติผู้ปฏิบัติไม่เชื่อ ไม่เชื่อกระทั่งครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อกระทั่งว่านี่คือสิ่งที่พระตถาคตเจ้าสอนไว้ จะเชื่อได้ต่อเมื่อเห็นด้วยตัวเองเท่านั้น แล้วใจจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น ไม่แกล้งมารยา ไม่ใช่พอได้ยินหลวงพ่อพูดอย่างนี้ ถ้าหลวงพ่อถามเชื่อไหม ไม่เชื่อ เชื่อ ไม่เชื่ออยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่คำพูด
หลวงพ่อเคยโดนหลวงปู่ดูลย์ทดสอบ ท่านสอนกรรมฐานหลวงพ่อ สอนวิธีเข้านิพพานอะไรนี่ ดับขันธ์ลงไปเป็นลำดับๆ ลงไป สอนเสร็จแล้ว ท่านถามว่าเชื่อไหม หลวงพ่ออึกอักๆ เลย ถ้าบอกว่าเราไม่เชื่อ แหม ฟังแล้วเสียมารยาทไป หลวงพ่อก็มีมารยาทดีกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็บอกว่าผมยังไม่เห็นครับ แต่ผมจะไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติก่อนแล้วถึงจะตอบได้ ที่จริงก็คือไม่เชื่อหรอก หลวงปู่ท่านหัวเราะเลย ท่านบอกฉลาด นักปฏิบัติก็ไม่ใช่เชื่อง่าย ใครเขาบอกอะไรก็เชื่อ
ทุกวันนี้มันวิบัติ เข้าขั้นวิบัติเลย เชื่อง่ายเกินไป เอะอะก็มาบอกหลวงพ่อ กัลยาณมิตรสอนมาอย่างนี้ เราดูสภาพที่กำลังมี กำลังเป็น ไม่ใช่กัลยาณมิตรสอนหรอก มันปาปมิตรสอนมา มิตรที่ไม่ค่อยได้เรื่องสอนมา แล้วไปยกพวกไม่ได้เรื่องขึ้นมาเป็นกัลยาณมิตรอะไรอย่างนี้ เชื่อง่าย ใครเขาเชื่อ ใครเขาดังอะไรอย่างนี้ เชื่อเขาไปหมด คนดังพูดแล้ว แหม มันน่าเชื่อเพราะว่าโซเชียลเขาเชื่อ เราก็ต้องเชื่อตาม มิฉะนั้นเราเข้ากลุ่มเขาไม่ได้ นักปฏิบัติจะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เราจะไม่เชื่อเพราะคนอื่นเขาเชื่อ เราจะไม่เชื่อเพราะเชื่อตามๆ กันมาแบบนั้น เราจะไม่เชื่อเพราะบรรพบุรุษของเราเคยเชื่อ เราจะไม่เชื่อ เพราะครูของเราสอน ครูบาอาจารย์ของเราสอน เราจะไม่เชื่อเพราะพระตถาคตเจ้าสอนไว้ จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะพิสูจน์เห็นด้วยตัวเองได้ ถ้าเราพิสูจน์แล้วเราเห็นด้วยตัวเองได้ แล้วเราจะองอาจกล้าหาญมากเลย เวลาเราพูดธรรมะ เพราะมันเห็นด้วยตัวเอง มันไม่ใช่เดาๆ เอา ถ้าเดาๆ เอา จิตใจไม่องอาจกล้าหาญหรอก
ทำพละ 5 ให้สมดุล
อย่างที่หลวงพ่อบอกว่าเราต้องทำพละ 5 ให้สมดุล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พละ 5 อินทรีย์ 5 ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ตัวที่ต้องเน้นคือตัวพละ กำลัง 5 อย่างนี้ เป็นตัวสำคัญในการปฏิบัติ ถ้าศรัทธาเราแรงกล้าเกินไป เราเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้ามากเลย เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์มาก เราต้องหัดเจริญปัญญาให้มากขึ้น ไม่ใช่ลดศรัทธาลง ก็หัดพิจารณาว่า เอ๊ะ สิ่งที่ครูบาจารย์เราสอน มันสอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ สังเกตไป ครูบาอาจารย์เราสอนบอกว่าจิตเที่ยง จิตไม่เกิดไม่ดับ จิตมีดวงเดียว ถ้าเราศรัทธาล้ำหน้า เราก็ลืมไปเลยว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เราไปศรัทธาอาจารย์ เราก็ต้องใช้ปัญญาสังเกตเอา เอ๊ะ มันของจริง มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง ของจริง จิตนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูของจริงเอา ถ้าดูได้แล้ว เราจะสรุปได้อย่างหนึ่งว่ามันตรงอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก อาจจะไม่ตรงกับอาจารย์ บางอาจารย์เขาสอน จิตเที่ยง จิตนี้มีความสุข จิตเป็นอัตตา บังคับได้ บางสำนักสอนกันอย่างนี้เลย ไม่ใช่ศาสนาพุทธ คนนับถือเป็นล้านเลย เชื่อถือกัน ถ้าเราศรัทธามากเกินไป เราก็จะถูกเขาหลอก ถูกเพื่อนเราหลอก หรือเราเชื่อเพราะว่าเพื่อนเราเชื่อ ก็เลยเชื่อตามๆ กัน ไม่มีปัญญาเลย
ปัญญาอันนี้เป็นตัวใช้เหตุใช้ผล เป็นตัวเข้าคู่กับศรัทธาแล้วดีมากเลย ถ้ามีวิริยะมากก็ฟุ้งซ่าน ก็มีสมาธิเป็นคู่ปรับมัน ทำความเพียรมากใจมันจะฟุ้ง ก็ทำสมาธิขึ้นมา ทำสมาธิขึ้นมาแล้วจิตขี้เกียจ จิตขี้เกียจที่จะต่อสู้กิเลส วิริยะคือความเพียรต่อสู้กิเลส ความเพียรเจริญกุศล ถึงจะเรียกวิริยะ นั่งสมาธินานเดินจงกรมนานไม่เรียกว่ามีวิริยะ ถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อลดละกิเลสหรือเจริญกุศล เพราะฉะนั้นอย่างเรามีความเพียรมาก แล้วไม่ดูอะไรเลย ไม่ทำความสงบเลย เดินปัญญาลูกเดียวเลยพากเพียรที่จะลดละกิเลสของเราอะไรอย่างนี้ มีวิริยะอย่างแรงกล้า หามรุ่งหามค่ำ ไม่ให้จิตพักเลย ในที่สุดจิตก็ทนไม่ไหว จิตก็จะใช้วิธีหลบ
หลวงพ่อก็เคยเป็น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราได้แบบไม่กลัวอะไรเลย เพราะหลวงพ่อเคยผิดมาเยอะแล้ว ไม่ใช่หลวงพ่อเก่ง หลวงพ่อห่วย ทำผิดมาเยอะมากเลย ที่ใครเขาผิดอะไรนี่ เคยผิดมาแล้วแทบทั้งนั้น ไม่ทำสมาธิเลย มีอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะดูถูกสมาธิ ใจลึกๆ ดูถูกสมาธิขึ้นมา เพราะเรานั่งสมาธิมาตั้งแต่เด็ก นั่งอยู่ 22 ปีก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ ทำแต่สมาธิ แล้วไม่เห็นมันจะได้อะไรขึ้นมาเลย ได้แต่ของเล่น ของจริงไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนเจริญปัญญา เจริญอุตลุด ทิ้งสมาธิไปเลย ปรากฏว่าพอทิ้งสมาธิไปนานๆ กำลังของสมาธิไม่พอ การที่เรามีความเพียร มีการเจริญปัญญาอยู่ มันทำไม่ได้จริง กลายเป็นความฟุ้งซ่านของจิต หรือกลายเป็นความหลงผิดของจิต
มีอยู่คราวดูสภาวะทั้งวันทั้งคืน กระทั่งนอนหลับเห็นสภาวะเกิดดับๆ อยู่ภายในเลย ถ้าคนซึ่งไม่ได้ขยันภาวนา หลับไปอย่างมากก็ฝัน เราเห็นเลยถ้าฝันอย่างนี้ จิตมีราคะ สติรู้ทันปั๊บ หลุดออกจากโลกของความฝันทันทีเลย ฝันอันนี้จิตมีโทสะ สติรู้ปั๊บเลย สติมันทำงานได้กระทั่งตอนหลับ สติมันเข้มแข็งมากเลย พยายามพากเพียรภาวนาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ในที่สุด จิตมันเหนื่อยๆ พอขึ้นมานั่งสมาธิ นั่งปุ๊บหลับปั๊บเลย หลวงพ่อก็พยายามต่อสู้ นั่งแล้วมันหลับ มันนั่งสบายเกินไปล่ะกระมัง นั่งขัดสมาธิเพชร นั่งเป็นไหม มันไขว้กันอย่างนี้ ถ้าไม่เคยนั่ง แข้งขาแทบหักเลย เจ็บพิลึก มีเทคนิคขั้นแรกก็พับขาซ้ายเข้ามาก่อน เหยียดขาขวาออกไป แล้วค่อยดึงเข้ามา แล้วก็ขัดกันๆ โอ๊ย เจ็บ ขนาดเจ็บขนาดนั้น นั่งแล้วยังหลับเลย เดินจงกรมก็แล้วกัน นั่งแล้วหลับเดินจงกรม ที่บ้านเป็นบ้านไม้มีเสาอยู่กลางบ้านด้วย เดินหลับ ชนเสาเลย เดินไปทางนี้ชนเสา เดินไปทางนี้ชนฝาบ้าน เราก็สงสัยเกิดอะไรขึ้น ภาวนาทีไรหลับทุกทีเลย
เมื่อปี 2526 ภาวนาแล้วก็หลับๆ แก้ไม่ตก พอดีวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2526 มีโอกาสขึ้นไปเชียงใหม่พอดี ไปกราบหลวงปู่สิม ไปเล่าถวายท่าน บอกผมจนปัญญาแล้ว ผมแก้ไม่ตกแล้ว นั่งแล้วก็หลับ เดินแล้วก็หลับอย่างนี้ บอกท่านอย่างนี้ ท่านบอกผู้รู้ๆ จะสงสัยอะไร ปฏิบัติไปเถอะแล้วจะได้ของดีในพรรษานี้ล่ะ ท่านว่าอย่างนี้ ท่านห้ามสงสัยเสียอีก ท่านไม่ให้สงสัย เราก็ไม่สงสัย พอไม่สงสัย จิตก็เลิกดิ้นรน นั่งๆๆ ไป จิตก็ค่อยๆ พัก ไม่ต้องดิ้นรนค้นคว้าแล้ว จิตก็เริ่มเข้าพัก เริ่มสงบเข้ามาๆ ในที่สุดก็ใช้คำว่าอะไรดี ก็ภาวนาได้ ภาวนาได้ดีนั่นล่ะ
สมาธิไม่พอ
อันนั้นเกิดจากอะไร ตอนหลังมาพิจารณา ทำไมเรานั่งสมาธิแล้วเราก็หลับ ทำไมเดินจงกรมเราก็หลับ เพราะจิตมันไม่เคยได้พัก จิตมันต้องการพัก เมื่อเราไม่ยอมพักในสมาธิ จิตจะหนีไปพักด้วยการนอนหลับ นี้เป็นหลักของมันเลย จิตมันต้องหาทางออก ถ้าจิตไม่ได้พักเลย เราใช้งาน ตะบี้ตะบันใช้งาน เจริญปัญญาทั้งวันทั้งคืน สุดท้ายมันจะบ้า มันจะฟุ้งซ่านในธรรมะ เป็นวิปัสสนูปกิเลสร้ายแรง อะไรๆ ก็รู้ไปหมดเลย อาการของพวกติดวิปัสสนูปกิเลสที่มีปัญญากล้า มันหนักอึดเลย หลวงพ่อก็เคยเป็น ถึงบอกที่ผิดๆ หลวงพ่อเคยลองมาแล้วทั้งนั้น ภาวนา เกิดความรู้เข้ามา เราก็จำไว้ มันเกิดอีกเรื่องหนึ่ง เราก็จำไว้ๆๆ แล้วมันสามารถลิงค์เรื่องนี้ โยงกับเรื่องนี้ได้ เรื่องนี้โยงกับเรื่องนั้นได้ มันเป็นภาพ abstract ขึ้นมาเลยในใจเรา เกี่ยวพันกันหมด ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงสัมพันธ์กันทั้งหมดเลย ในเวลาไม่กี่วันมีความรู้สึกเหมือนเราไปไหน เราก็แบกตู้พระไตรปิฎกไปด้วย โอ๊ย มันบ้า ปัญญามากเกินไปแล้ว ก็ยังผิด อย่างนี้ผิด ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ปัญญาแก่กล้าเกินไป
พอเรารู้ว่าเกิดจากสมาธิไม่พอ จิตมันหนีไปพัก ทีหลังก็เลยต้องทำสมาธิ สลับไปเรื่อยๆ ทุกวัน ถ้าช่วงไหนไม่ได้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธเลยอะไรนี่ รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย เดี๋ยวทำผิดอีก แต่ก็ยังผิดจนได้ บางทีภาวนาเจริญปัญญาแล้วตะลุมบอน ลืมทำสมาธิ เป็นช่วงยาวๆ เลย คราวนี้เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา วิปัสสนูปกิเลสมี 10 อย่าง หลวงพ่อเคยเจอหลายอย่างเลย เพราะฉะนั้นมันต้องสมดุลกัน จะเจริญปัญญาสมาธิเราก็ต้องพอ จะเจริญปัญญาก็ต้องรู้ว่าเจริญไปเพื่อความเพียรที่ถูกต้องคือลดละกิเลส เจริญกุศล ไม่ใช่เจริญปัญญาเพื่อความฉลาดรอบรู้ เจริญปัญญามาก เชื่อแต่ตัวเอง ไม่เชื่อกระทั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เชื่อตัวเอง เพื่อนสหธรรมิกเตือนก็ไม่ฟังแล้ว เพราะเชื่อมั่นตัวเองสูง พวกนี้ก็เพี้ยนอีกล่ะ ไม่มีศรัทธา มีแต่ปัญญาล้ำไป
เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนาอย่าเข้าข้างตัวเอง ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ ตอนนี้ศรัทธาเกินปัญญา ตอนนี้ปัญญาเกินศรัทธา ตอนนี้วิริยะมากไป ไม่รู้จักหยุดพัก ไม่รู้จักทำสมาธิ ตอนนี้สมาธิเยอะไป ไม่ทำความเพียรแล้ว ทำความเพียรมากก็ขยันทำสมาธิ มีวิริยะมากก็ขยันทำสมาธิ พอทำสมาธิมาก แหม มีความสุขเลิกทำความเพียรแล้ว ไม่คิดลดละกิเลสแล้ว ติดใจในสมาธิแล้ว มันจะมีลูกเล่นของมัน แพรวพราวไปหมดเลย เดี๋ยวก็พลาดตรงนี้ๆ อันนี้เป็นทักษะที่เราจะค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง ต่อไปเราพลาดอย่างนี้เราก็เคย พลาดอย่างนี้เราก็เคย มันก็เลยไม่พลาด ค่อยๆ ฝึกไป เรียนรู้จากสิ่งที่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูก ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้
ยากไปไหม มีคนเขียนจดหมายมาถึงหลวงพ่อ เขาบอกฟังหลวงพ่อเทศน์ง่าย เอาไปทำยาก แค่ฟังมันก็ง่ายสิ ชอบคิดว่าหลวงพ่อเทศน์แล้วก็ง่าย ทำจริงมันยาก ทำจริงเราต้องสู้กิเลส ตอนฟังไม่ได้สู้กิเลส ก็ไม่ยากสิ ต้องอดทน ยากเสียตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าไปยากชาติหน้า ถ้าเราไปยากชาติหน้า มันจะยากมากกว่าชาตินี้อีก เพราะมันเคยชินที่จะเหลวไหล ฉะนั้นเรายอมลำบากเสียชาตินี้ล่ะ ถ้าบุญเราพอ เราก็ได้มรรคได้ผลเป็นหลักประกันความปลอดภัยในวัฏฏะสงสาร ถ้าบุญบารมียังไม่พอ ไปต่อเอาชาติหน้า ฟังธรรมนิดเดียวก็เข้าใจแล้ว ก็ไปได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นลงมือทำวันนี้ล่ะ
ช่วงสุดท้ายของชีวิต เจริญสติไว้
ปัจจุบันสำคัญที่สุด ถึงบอกว่าปัจจุบันเป็นตัวกำหนดอนาคต อดีตกำหนดปัจจุบัน แต่ปัจจุบันกำหนดไปถึงอนาคต ฉะนั้นเราก็ต้องพากเพียรของเราไป เพื่อวันหนึ่ง เราก็จะดีขึ้นๆ คนที่เขาภาวนาง่ายภาวนาดี เขาลำบากมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีหรอกเทวดาวิเศษวิโสจุติมาฟังธรรม ปิ๊งทีเดียวจบอะไรอย่างนี้ อันนั้นนิยาย ความจริงก่อนที่ท่านจะเก่งขนาดนั้น ท่านลำบากมาตั้งเท่าไหร่แล้ว ฉะนั้นเราต้องอดทน พากเพียรอดทนเข้า ทำปัจจุบันนี้ให้เต็มที่ไว้ แล้วอนาคตมันจะดีขึ้น แล้วเราไม่เกี่ยง ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เดี๋ยวรอเมื่อนั้นจะทำ รอเมื่อนี้จะทำ มัวแต่รอนั่นล่ะ บางคนไม่มีโอกาสทำแล้ว ป่วยหนักไปแล้ว
ถ้าป่วยหนักแล้วทำอย่างไรดี ป่วยหนักแล้วรู้สึกว่า ภาวนายากเสียแล้ว เจ็บไปหมดเลย โรคบางโรคเป็นแล้ว มันเจ็บอย่างรุนแรง เจ็บมาก แทบสติแตกเลย ถ้าสติไม่แตก หมอก็ให้มอร์ฟีนไว้บรรเทาความเจ็บ เราก็เบลอๆ ไปอีก อ้าว ภาวนาไม่ไหวอีกแล้ว เบลอๆ ถ้าเราเจ็บหนักจริงๆ เราใกล้จะตายจริงๆ สมมติเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รักษาไม่ได้แล้ว อย่าไปห่วงร่างกายมัน ร่างกายนี้เรารักแค่ไหน เราก็ต้องทิ้ง ถึงอย่างไรก็ต้องทิ้ง เพราะฉะนั้นอย่าไปเสียดายมันไป เรายังมีกิเลส เดี๋ยวเราก็มีร่างกายใหม่ ไม่ต้องหวง
อาศัยนาทีสุดท้าย ช่วงสุดท้ายของชีวิตนี่ล่ะเจริญสติไว้ หัดแยกขันธ์ไปเรื่อยๆ ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดอยู่ส่วนหนึ่ง ดูไป ความเจ็บป่วยกับร่างกายมันคนละอันกัน ความเจ็บปวดกับจิตก็เป็นคนละอันกัน จิตเป็นคนรู้ว่าเจ็บปวด จิตไม่เคยเจ็บปวดหรอก จิตมันมีแต่กิเลสรุมเร้าเอา มันคนละส่วน กิเลสก็ไม่ใช่ความเจ็บปวด เราค่อยๆ แยกๆๆๆ ไป แยกขันธ์ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเหลือแต่ความเจ็บปวดจริงๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายไม่ได้เจ็บ เพียงแต่ความเจ็บมันมาอาศัยอยู่ในร่างกาย แล้วจิตใจก็ไม่ได้เจ็บไปด้วย จิตใจเป็นคนรู้คนดู ถ้าเราสามารถรักษาจิตใจให้เป็นคนรู้คนดูได้ จิตของเราดีแล้ว ถ้าตายไปอย่างไรก็ไปสุคติ เพราะเรามีสติรักษาจิตเอาไว้ได้อย่างดีแล้ว เป็นกุศลอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเลย กุศลจากการเจริญสติ กุศลจากการเจริญปัญญา แยกขันธ์ได้เรียกว่ามีปัญญาแล้ว สามารถเห็นขันธ์แต่ละขันธ์มันทำงาน มันไม่ใช่ตัวเรา นี่ยิ่งเป็นปัญญาชั้นเลิศใหญ่
การภาวนาของเรานี้ล่ะ เราสร้างกุศลใหญ่ ท่ามกลางความเจ็บปวด แยกขันธ์มันไป ร่างกายส่วนร่างกาย มันใกล้จะแตกสลายก็เรื่องของมัน มันอยู่ได้แค่นี้เพราะวิบากมันตัดรอน มันทำมาแค่นี้ มันก็ต้องตายแล้ว ความเจ็บปวดเป็นอีกสิ่งหนึ่ง อาศัยร่างกายอยู่ จิตเป็นคนรู้คนดู ความกลุ้มใจเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ความเจ็บปวด มันเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในจิตใจเรา ความเจ็บปวดแทรกเข้ามาในร่างกาย ความกังวล ความเศร้า ความเสียดาย อันนี้มันแทรกเข้ามาในจิตใจ ความกังวล ความเศร้าใจอะไรอย่างนี้ไม่ไปแทรกในร่างกายหรอก สิ่งที่แทรกอยู่ในร่างกายก็ตัวเวทนาเท่านั้น ตัวสังขารแทรกเข้ามาในจิตใจได้ เวทนาก็แทรกเข้าในใจได้ เวทนาทางใจมี
เราพยายามแยก แยกขันธ์ไปเป็นส่วนๆๆ แล้วเวลาจะตายจริงๆ ดูร่างกายมันตาย จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูไว้ ถ้าเราทำได้บางคนได้ธรรมะตอนนี้เลย สมัยพุทธกาล บางท่านบรรลุพระอรหันต์ตอนนี้เลย มีอยู่หลายท่าน บรรลุพระอรหันต์แบบชีวิตสมสีสี บรรลุพระอรหันต์ในขณะที่ตาย มายุคเราอาจจะได้โสดาบันในขณะที่ตายอะไรอย่างนี้ อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้าขนาดบรรลุพระอรหันต์ก็ได้ ได้แค่โสดาบันก็บุญแล้ว ได้หลักประกันแล้ว ยิ่งกว่าบริษัทประกันชีวิตอีก นี่ล่ะหลักประกันตัวจริงแล้ว คือการได้ธรรมะ
แยกขันธ์ไปเรื่อยๆ พยายามแยกขันธ์ทุกวันๆ แล้วถ้าจิตใจฟุ้งซ่านขึ้นมา กลับมาไหว้พระสวดมนต์ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป พอจิตสงบแล้วก็แยกขันธ์ต่อไปอีก กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต กิเลสส่วนกิเลส ค่อยๆ แยกๆๆๆ ไป ต่อไปพอกิเลสมันจะแทรกเข้ามาในจิต ร่างกายนี้มีเวทนาเกิดขึ้น จิตไปรู้เข้า จิตไม่ชอบ ตรงที่ไม่ชอบ โทสะเกิดแล้ว โทสะแทรกเข้ามาที่จิต เรามีสติรู้ทัน โทสะดับ จิตเราเป็นมหากุศลจิตทันทีเลย แล้วเกิดเราตายตอนนี้ปุ๊บ สุคติภูมิแน่นอน ได้สุคติภูมิแน่นอนเลย แต่ถ้าเราถูกกิเลสครอบงำ เราก็ไปทุคติ เช่น ร่างกายมันเจ็บปวด เราก็กังวลใจ เสียใจ คร่ำครวญ โอย ยังห่วงโน้นห่วงนี้ พอตายไป จะตายไปด้วยโทสะ จิตเศร้าหมองก็ไปไม่ดี
ฉะนั้นเราต้องฝึก สิ่งนี้ต้องช่วยตัวเอง ไม่มีเทวดาหน้าไหนมาช่วยเราได้หรอก ครูบาอาจารย์ก็ช่วยเราไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนทางให้เราเท่านั้นเอง เราก็ต้องทำของเราเอง หัดแยกขันธ์ไปเรื่อยๆ ร่างกายส่วนร่างกาย เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ส่วนเวทนา จิตส่วนจิต สังขารคือพวกกุศล พวกอกุศลทั้งหลาย ก็เป็นส่วนของสังขาร แยกมันไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ อย่าให้สังขารเข้ามาครอบงำจิต อย่าให้มันมาครอบงำจิตได้ แล้วจิตก็จะอิสระขึ้นมา ถ้าบุญบารมีเราพอ เราจะเห็นเลย กระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราหรอก ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ทำหน้าที่รู้อารมณ์ เป็นผู้รู้ นี่ก็คือตัวจิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราได้โสดาบันเลย บางคนอาจจะได้โสดาบันตอนตายก็ได้ กำลังจะตายแล้วดูๆๆ เป็นช็อตๆๆ จิตดวงสุดท้ายดับลง ได้ธรรมะก่อน จิตมันดับลงพร้อมๆ กันเลย
พยายามฝึกเข้า ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก ต้องช่วยตัวเอง เรื่องเจ็บเรื่องป่วยห้ามกันได้ที่ไหน หลวงพ่อภาวนามาตั้งแต่ 7 ขวบเห็นไหม เมื่อปี 2559 หลวงพ่อยังเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเลย มีเวรมีกรรมมันก็ต้องเป็น ทั้งๆ ที่ไม่มีกรรมพันธุ์ บ้านหลวงพ่อไม่มีใครเป็นมะเร็งสักคนเลย ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษที่รู้มาไม่มีหรอก เรามีขึ้นมาเพราะว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีๆ
สมาธิรักษาโรค ปีติฟอกขันธ์
ทุกอย่างที่อยู่ในชีวิตเรานี่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย เป็นของที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องทิ้งทั้งหมด ทิ้งเมื่อไหร่เท่านั้นเอง เราเลือกวันเลือกเวลาไม่ได้ วิบากมันมี ถ้าวิบากมันจะตัดรอน เกิดรักษาไม่หาย หรือวิบากดีให้ผล รักษาหายอะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องของกรรมทั้งหมด ตัวสำคัญคือรักษาใจไว้ ถ้าใจเราดี หลวงพ่อเคยเจอมาหลายเคสแล้วเป็นมะเร็ง หมอบอกว่าไม่รอดแล้ว กำหนดวันตายให้เลย อยู่มาป่านนี้แล้ว บางคนร่วมสิบกว่าปีแล้ว ไม่เป็นไรเลย
มีโยมคนหนึ่งผู้หญิง เป็นมะเร็งมาหาหลวงพ่อประมาณวันศุกร์กระมัง มาหาหลวงพ่อ บอกกำลังจะตายแล้ว หมอบอกไม่รอดแล้ว จะทำอย่างไรดี กรรมฐานก็แตกไปหมดแล้ว ภาวนาไม่ได้แล้ว หลวงพ่อบอก ภาวนาไม่ได้ก็อย่าไปฝืนภาวนามัน ทำใจไว้เลยว่าร่างกายนี้ เหมือนดอกไม้ที่เราตัดใส่แจกันบูชาพระไปแล้ว เราขอถวายร่างกายนี้เป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า มันก็เหมือนที่พระเทวทัตเอากระดูกลูกคางวางลงบนพื้น ขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกลูกคางนี้ แล้วก็ตายตอนนั้น บารมีตรงนี้ทำให้ได้ถึงขั้นเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
พวกเราก็ตั้งใจ อย่างเราป่วยหนัก เราขอสละร่างกายนี้เป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า ดอกไม้ที่เราเด็ดใส่แจกันมาแล้ว เอามาไหว้พระ บุญของเราสำเร็จแล้ว ดอกไม้จะเหี่ยว จะเฉา จะเน่า จะต้องโยนทิ้งไม่เกี่ยวกับเราอีกต่อไปแล้ว ร่างกายนี้จะผุพังแตกสลาย ไม่เกี่ยวกับเราอีกต่อไปแล้ว หลวงพ่อสอนผู้หญิงคนนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องกรรมฐานอะไรพิลึกเลย อยู่ที่การวางใจให้มันเป็นกุศลอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง พอเขาวางใจว่าเขาขอถวายร่างกายเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ปีติอันยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้น กำลังของปีติมันฟอกขันธ์ วันศุกร์สอนไป วันอังคารมาหาหลวงพ่ออีกรอบ หน้าตาเปลี่ยนไปหมดแล้ว จิตใจเปลี่ยน หน้าตาก็เปลี่ยน สว่างไสว แล้วก็ไปตรวจ หมอก็งง มันหายได้อย่างไร มันหายด้วยกำลังของปีติ กำลังของสมาธิ ของปีติ เกิดจากบุญบารมีที่ยอมสละร่างกาย คนนี้เป็นเคสตัวอย่างอันหนึ่ง อันนี้เขาสู้ด้วยปีติได้ด้วยสมาธิ คือสละเลย
มีอีกเคสหนึ่งเป็นหมอ ก็เป็นมะเร็งเหมือนกัน รักษารอบแรกหาย แต่อาจารย์หมอบอกเลย โรคนี้ตามสถิติอยู่ได้อีกเท่านี้ อยู่ได้อีกไม่นานหรอก ก็มาหาหลวงพ่อ ก็ภาวนามาก่อนแล้วล่ะ ภาวนาดีอยู่ จะเดินยังเดินไม่ค่อยจะไหวเลย มาพักอยู่ที่กุฏิโยมที่เคยให้โยมมาพัก จะขึ้นบันไดกุฏิ 3 – 4 ขั้น ขึ้นไม่ไหว ร่างกายมันโทรมถึงขนาดนั้นแล้ว คล้ายๆ ใกล้จะตายแล้ว ก็อดทนคลานขึ้นไป แล้วพยายามเกาะลูกกรงเดินจงกรม ภาวนาต่อสู้ มีวิริยะอย่างเข้มแข็งเลย ต่อสู้ นี่อยู่มาเป็น 10 ปีแล้ว ยังไม่เป็นไรหรอก
เพราะฉะนั้นอยู่ที่ใจเรา อันนั้นอย่างคนแรกเป็นเคสที่ว่ากำลังของปีติมันฟอกขันธ์ คนนั้นหายเลย กำลังของปีติ ของสมาธิ อันหลังเป็นกำลังของวิริยะ ศรัทธา วิริยะ ปีติ สติ สมาธิ ปัญญา มีกำลังทั้งนั้น เป็นพละ ฉะนั้นเราพยายามฝึกของเราไป ถ้าจะตายก็แยกขันธ์ไปเรื่อยๆ นึกเอาว่าร่างกายนี้เราขอถวายพระพุทธเจ้าไป ชีวิตจะเหลืออยู่สักกี่นาทีไม่สำคัญหรอก เหมือนดอกไม้ที่เด็ดมาแล้ว จะอยู่ได้สักกี่ชั่วโมงหรือกี่วัน ก็เรื่องของดอกไม้ ไม่เกี่ยวกับเรา ใจก็จะเบิกบาน ผ่องใส มีกำลัง ถ้าบุญบารมีเก่ายังมี วิบากเก่าที่ดียังมี มาบวกเข้ากับวิบากใหม่ที่ดีอย่างยิ่ง คือการกล้าสละชีวิตถวายพระพุทธเจ้า มันเป็นกำลังของกุศลที่ยิ่งใหญ่ บางทีมันฟอกขันธ์ได้
เรื่องอย่างนี้ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยเจอ มีองค์หนึ่งท่านไม่สบายเป็นมะเร็ง ไปอยู่ศิริราช หมอบอกไม่รอดหรอก ท่านกลับวัดเลย ท่านก็นั่งภาวนาไป ท่านดูๆ ลงในกาย แยกกายไปเรื่อยๆ ท่านเห็นมีจุดดำๆ อยู่ที่ปอดท่าน หลวงพ่อจำจุดไม่ได้แล้วว่าตรงไหน ท่านเห็น ท่านกำหนดจิตลงไป เผาลงไปตรงนั้นเลย ท่านหาย อันนั้นกำลังสมาธิท่านแก่กล้า บางองค์ท่านก็อัศจรรย์มากๆ เลย หมอบอกว่าจะตายเหมือนกัน กลับไปวัดเดินจงกรมปร๋อเลย อยู่ที่ใจ องค์หลังชื่อ หลวงปู่จันทร์ เขมปตฺโต สิ้นไปแล้ว
หลวงปู่จันทร์คนทางเวียงจันทน์แต่ก่อนนับถือเยอะเลย เพราะเมื่อก่อนนี้ท่านอยู่ที่เวียงจันทน์ แล้วมันมีลูกชายของรัฐมนตรีลาวคนหนึ่ง ประเภทนักซิ่ง ขับรถ รถคว่ำหรืออะไรนี่ เศษกระจกรถ สมัยโน้นกระจกมันไม่แตกแล้วยังเป็นแผ่นๆ เหมือนยุคนี้ เป็นชิ้นเล็กๆ กระเด็นเข้าตา หมอบอกว่าต้องผ่าตัดแล้วตาบอดแน่นอน ทางพ่อแม่ก็กลุ้มใจ ลูกยังหนุ่มอยู่จะตาบอด ไปหาหลวงปู่จันทร์ พาลูกไป ท่านก็บอกให้นั่งสมาธิไป คนป่วยนี่ล่ะ เจ็บก็เจ็บ แต่ให้นั่งพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธๆ ไป ท่านก็นั่งคู่ไปเรื่อย กำกับไปเรื่อยๆ นั่งอยู่หลายวัน กระจกละลายออกมา มันไหลออกมาเลย ตาไม่บอดหรอก เรื่องของสมาธิมันใช้รักษาโรคได้เยอะ เรื่องของการภาวนา อย่าให้ใจเสียเท่านั้นล่ะ ถ้าใจเสียเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าใจยังไม่เสียก็พอสู้ได้ ก็พากเพียรไปได้แค่ไหนแค่นั้น ตั้งใจไว้อย่างนี้ ไม่ใช่ต้องการจะอยู่รอดนานๆ อันนั้นยังโลภอยู่ คิดแต่ว่าร่างกายนี้ขอถวายพระไปแล้ว อยู่ได้แค่ไหนแค่นั้น ถ้าทำได้อย่างนี้ ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่หรอก.
วัดสวนสันติธรรม
26 กันยายน 2564