การดูจิต

ภาวนาทำให้สม่ำเสมอ เวลาเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก ก็ยังสามารถรักษาใจตัวเองเอาไว้ได้ ลำบากก็ลำบากทางร่างกาย แต่จิตใจที่รักษาไว้ดีแล้วมีความสุข โลกมันเป็นของชั่วคราวที่เรามาอาศัยอยู่ เราเองก็ชั่วคราว ไม่นานเราก็แตกสลาย ร่างกายนี้แตกสลายไป ไม่มีอะไรยั่งยืน พยายามรักษาใจของเราไว้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็รักษาใจไว้ให้ได้

ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอน “ได้ใจก็ได้ธรรมะ ไม่ได้ใจก็ไม่ได้ธรรมะ” เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป การรู้จิตใจตัวเอง รู้ได้หลายลักษณะ อย่างหยาบๆ ก็ดูจิตใจนี้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็โลภแล้วก็ไม่โลภ โกรธแล้วก็ไม่โกรธ หลงแล้วก็ไม่หลง ฟุ้งซ่านแล้วก็หดหู่ คอยรู้ไป รู้ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจ ความรู้สึกก็คือความรู้สึกสุขทุกข์ ความนึกคิดปรุงแต่ง ปรุงกุศล ปรุงอกุศล คอยรู้ทัน

 

หลักของการดูจิต ไม่ใช่ดูๆ ไปเรื่อยๆ เหลวไหล
ส่วนมากดูจิตบางทีไปเพ่งจิตให้ว่างๆ ไม่มีปัญญาอะไรขึ้นมาหรอก
ดูก็ดูให้เห็นไตรลักษณ์ถึงจะใช้ได้

 

บรรดาความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศลทั้งหลาย มันยังไม่ใช่ตัวจิตแท้ๆ หรอก มันเป็นคล้ายๆ ร่างกายของจิต จิตใจมันไม่มีรูปร่าง อาศัยความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ทำให้เราจำแนกได้ว่าจิตดวงหนึ่ง กับจิตอีกดวงหนึ่งนั้นมันต่างกัน จิตสุขกับจิตทุกข์ก็ไม่เหมือนกัน จิตดีกับจิตชั่วมันก็ไม่เหมือนกัน เราอาศัยสิ่งเหล่านี้ อย่างจิตวิญญาณของเราแต่ละคน เราดูไม่เห็น เราดูที่หน้าตาคนนี้ไม่ใช่คนนี้ นี่ดูทางร่างกาย คนนี้กับคนนี้มันไม่เหมือนกัน จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราจะเห็นจิตที่สุขกับจิตที่ทุกข์ มันก็ไม่เหมือนกัน จิตที่ดีกับจิตที่ชั่วมันก็ไม่เหมือนกัน มันก็จิตด้วยกัน แต่ว่ามันเกิดดับ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว

 

ดูจิตให้เกิดปัญญา

เรามีสติตามรู้ ตามระลึกจิตใจของเราไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นจิตสุขมันก็ไม่เที่ยง จิตสุขสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วรักษาไว้ก็ไม่ได้ จิตทุกข์มันก็ไม่เที่ยง มันเกิดแล้วไล่มันก็ไม่ไป ห้ามมันไม่ให้เกิดก็ห้ามไม่ได้ การที่เราเห็นจิตสุขจิตทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา มันไม่เที่ยง มันบังคับไม่ได้ จิตดีจิตชั่วก็เหมือนกัน จิตโลภ มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ จิตโกรธ มันอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตหลง มันอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ฉะนั้นจิตโลภ โกรธ หลงอะไรนี้ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป แล้วก็สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ สั่งว่าอย่าโกรธมันก็ยังโกรธได้ สั่งว่าอย่าโลภมันก็ยังโลภได้ สั่งว่าอย่าหลงให้รู้สึกตัวตลอดเวลา ก็รู้สึกไม่ได้ มันสั่งไม่ได้ ดูของจริง ดูจิตดูใจแล้วก็เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา มันไม่เที่ยงทุกอย่าง จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ แล้วก็ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ ก็เป็นอนัตตา

การดูจิตดูใจไม่ใช่ไปจ้องจิตให้ว่างๆ อยู่ ไปจ้องจิตให้ว่างๆ ไม่เกิดปัญญาหรอก สงบเฉยๆ สบายเฉยๆ อยู่ได้หลายๆ ปี เพ่งเก่งๆ ไปเป็นอรูปพรหม เป็นอรูปพรหมอายุยืนมาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ปรินิพพานไปตั้งหลายองค์แล้ว เรายังไม่ตายเลย ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ฉะนั้นดูจิตดูใจอย่าไปดูว่างๆ ให้ดูสุข ดูทุกข์ ดูโลภ โกรธ หลง ดูไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เห็นมันเกิดดับไปเรื่อยๆ การดูจิตแล้วเราจะเกิดปัญญา การดูจิตอีกลักษณะหนึ่ง คือดูพฤติกรรมของจิต อันแรกที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้ ดูความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่มันเกิดร่วมกับจิต แล้วเราก็จะเห็นว่าจิตทุกชนิดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การดูอีกอย่างหนึ่ง ก็คือดูพฤติกรรมของจิต จิตเดี๋ยวก็ทำหน้าที่ดูรูป ไปอาศัยตาไปดูรูป อาศัยหูไปฟังเสียง อาศัยจมูกไปดมกลิ่น อาศัยลิ้นไปรู้รส อาศัยร่างกายมาสัมผัสความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวอะไรพวกนี้ อาศัยใจ มันทำงานทางใจ ไปคิด ไปนึก ไปปรุงแต่ง จิตมันเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ธรรมชาติของจิตเป็นตัวรับรู้อารมณ์ มีจิตต้องมีอารมณ์เสมอ ถ้าไม่มีอารมณ์ก็ไม่มีจิต ไม่มีจิตก็ไม่มีอารมณ์ปรากฏขึ้น ฉะนั้นเราไม่ได้ภาวนาเพื่อไม่ให้มีอารมณ์ จิตจะเที่ยวแสวงหาอารมณ์ เสวยอารมณ์ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราแค่มีสติตามรู้ตามระลึกไปเท่านั้นเอง เราจะเห็นจิตมันวิ่งไปดูรูป ไม่ได้เจตนา อย่างเรานั่งเพลินๆ อยู่ มันเกิดสนใจ รู้สึกหางตามันเห็นใครมันเดินไหวๆ อยู่ มันอยากดู อยากดูจิตมันก็ไปดูรูป ถ้าอยากฟัง จิตมันก็ไปฟังเสียง อย่างได้ยินเสียงอะไรแผ่วๆ ซุบซิบๆ อยากฟัง พอจิตมันตั้งใจฟัง มนสิการ ใส่ใจที่จะฟังก็ได้ยินเสียงชัดขึ้นมา จิตมันจะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หรือไปรู้เรื่องราวที่คิดนึกทั้งหลาย เราสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้

แล้วก็ทุกอย่างจิตทุกชนิดมันไม่เที่ยง จิตที่เห็นรูปก็ไม่เที่ยง จิตที่ได้ยินเสียงก็ไม่เที่ยง จิตที่ดมกลิ่นรู้กลิ่นก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้รสก็ไม่เที่ยง อย่างเรากินอาหารอยู่ อาหารอร่อยรสชาติถูกอกถูกใจอยู่ มีคนเดินมาคุยกับเราตอนเรากำลังกิน เรากินไปเรื่อยๆ คุยกับเขาไปเรื่อยๆ เราไม่รู้รสหรอก เพราะขณะนั้นจิตสนใจคนอื่น สนใจที่จะไปคุยกับเขา ฟังเขา จิตก็ไม่รู้รสอาหาร เราสั่งไม่ได้จงรู้รสด้วย คุยกับเขารู้เรื่องด้วย สั่งไม่ได้ จิตมันรับอารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียวเท่านั้นเอง เราไปดูของจริงซ้ำๆ ไป รู้ว่าจิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้เป็นอนัตตา จะดูรูป หรือจะฟังเสียง จะดมกลิ่น ลิ้มรส จะรู้สัมผัสทางกาย หรือรู้เรื่องราวทางใจ เราเลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ ดูอย่างนี้เราก็จะเห็นไตรลักษณ์เหมือนกัน เห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดู นี้เรียกว่าดูจิตแล้วเกิดปัญญา

ถ้าไปดูจิตแล้วไปนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ ไม่เกิดปัญญาเกิดแต่สมถะ เป็นสมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ ไม่เดินปัญญา ฉะนั้นดูจิตดูใจอย่าไปบังคับให้มันนิ่ง มันทำงานขึ้นมา มันคิดนึกปรุงแต่งขึ้นมารู้ทัน มันวิ่งไปรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ทันไปให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ได้ถึงจะเรียกว่าทำวิปัสสนาได้ ไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่มีวิปัสสนา มันยากไหมที่จะรู้ว่าจิตตอนนี้สุขหรือทุกข์ ไม่เห็นจะยากเลย ความสุขเกิดขึ้นมาก็รู้ว่าตอนนี้มันสุขแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้ว่ามันทุกข์แล้ว โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมาก็รู้ว่าโลภ โกรธ หลง ก็แค่นั้นเอง จิตไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปคิดอะไรอย่างนี้ ให้สภาวะทั้งหลายมันมีก่อน เป็นก่อน แล้วสติตามระลึกไป จิตมันโลภก่อน แล้วก็ระลึกได้ว่าจิตมันโลภ จิตมันโกรธไปก่อนแล้วระลึกได้ว่ามันโกรธ

 

กฎ 3 ข้อของการดูจิต

การดูจิตดูใจมีกฎข้อแรกเลย ก็คือให้สภาวธรรมเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้ ไม่ต้องเที่ยวหา บางคนดูจิตเที่ยวส่าย หลับตาด้วย ดู ส่ายจะดูตัวไหนดีจิต หาจิตไม่เจอหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนว่า “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” ฉะนั้นไม่ต้องไปเที่ยวหา ให้ความรู้สึกมันเกิดแล้วค่อยรู้เอา โกรธขึ้นมาแล้วค่อยรู้ว่าโกรธ ไม่ต้องไปหาว่าเอ๊ะตอนนี้โกรธ หรือโลภ หรือหลง ตอนนี้สุข หรือทุกข์ ให้มันสุขขึ้นมาแล้วค่อยรู้ ให้มันทุกข์ขึ้นมาแล้วค่อยรู้ไป ตามรู้อย่างกระชั้นชิดไป ถ้าเมื่อวานโกรธวันนี้รู้นี่ใช้ไม่ได้ ห่างไป ต้องตามแบบกระชั้นชิดเลย โกรธแล้วก็รู้ โลภแล้วก็รู้ ฉะนั้นกฎข้อแรกเลยของการดูจิตดูใจก็คือ มีสภาวะเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้เอา ไม่ต้องเที่ยวแสวงหา

กฎของการดูจิตข้อที่สองก็คือ ระหว่างที่เห็นสภาวะ เราเห็นแบบคนวงนอก เราไม่จมลงไปในสิ่งที่จิตไปรู้ไปเห็นเข้า อย่างความสุขเกิดขึ้น เราไปเห็นความสุข บางทีจิตมันจมลงไปในความสุข อันนั้นใช้ไม่ได้แล้ว จิตไม่ตั้งมั่น ทำไมจิตมันชอบจมลงไป เพราะสมาธิมันไม่พอ อย่างมันเห็นความสุขเกิดขึ้นไปดูความสุข จิตก็ไหลเข้าไปอยู่ในความสุข อันนี้เพราะสมาธิไม่พอจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่มันจะเห็น ความสุขเป็นสิ่งหนึ่ง จิตที่รู้ความสุขเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ดูแบบคนวงนอก ไม่เข้าไปคลุกวงใน กฎข้อหนึ่งให้สภาวะเกิดแล้วค่อยรู้ กฎข้อสองระหว่างรู้ รู้แบบคนวงนอก กฎข้อที่สามเมื่อรู้แล้วอย่าเข้าไปแทรกแซง รู้แล้วจบลงที่รู้ไม่ต้องแทรกแซง แต่อย่างจิตมันมีความสุข เราไปรู้ว่าจิตมีความสุข จิตเกิดยินดีพอใจอยากรักษาความสุขอยู่นานๆ อันนี้เราพลาดจากการดูจิตแล้ว หลงไปตามความสุขแล้ว หรือจิตเกิดความทุกข์ อยากให้มันหายไปเร็วๆ นี่เราพลาดแล้ว

กฎข้อที่สามก็คือ รู้สักว่ารู้ รู้แล้วไม่เข้าไปแทรกแซง ด้วยความยินดี ด้วยความยินร้ายทั้งหลาย ถ้าจิตมันเกิดยินดี จิตมันเกิดยินร้ายให้รู้ทัน รู้ทันความยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายก็ดับ จิตก็เป็นกลาง รู้ด้วยความเป็นกลาง รู้แล้วก็ไม่เข้าไปแทรกแซง กฎของการดูจิตข้อสาม

ข้อหนึ่ง ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีสภาวะเกิด ข้อสอง ระหว่างดูสภาวะไม่ถลำลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ข้อสาม เมื่อรู้สภาวะแล้วจิตหลงยินดีให้รู้ทัน จิตหลงยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสภาวะ สุขหรือทุกข์ก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นถึงไตรลักษณ์

หลักของการดูจิต ไม่ใช่ดูๆ ไปเรื่อยๆ เหลวไหล ส่วนมากดูจิตบางทีไปเพ่งจิตให้ว่างๆ ไม่มีปัญญาอะไรขึ้นมาหรอก ดูก็ดูให้เห็นไตรลักษณ์ถึงจะใช้ได้ เวลาดูจิตๆ ไปถึงจุดหนึ่งจิตมันหมดกำลัง อย่างเราเห็นจิตสุข ทีแรกจิตยังมีกำลังของสมาธิอยู่ มันเห็นว่าความสุขเป็นสิ่งหนึ่ง จิตเป็นสิ่งหนึ่ง พอสมาธิเราเสื่อมจิตหมดแรง จิตมันจะไหลเข้าไปในความสุข จมลงไปในความสุข ยินดีพอใจอยู่ในความสุขแล้วไม่รู้ไม่เห็น แช่อยู่อย่างนั้น สมาธิไม่พอแล้ว จิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ฉะนั้นถึงเราจะดูจิตทั้งๆ ที่ว่า จิตตานุปัสสนานี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต เหมาะกับพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น แต่ไม่ว่าจะดูกายหรือดูจิตก็ทิ้งสมาธิไม่ได้ เพียงแต่การดูกายนั้นเข้าฌานได้ก่อนถึงจะดี

 

 

การดูจิตมันเหมาะสำหรับคนยุคนี้ คนในเมือง มีแต่เรื่องวุ่นวายทั้งวัน เข้าฌานไม่เป็น เข้าฌานไม่เป็นไม่เป็นไร ฝึกทุกวันหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อะไรก็ได้ฝึกไปเรื่อย จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ มันก็ได้สมาธิพอนิดหน่อย จิตพอจะดูสภาวะทั้งหลาย ว่าสภาวะทั้งหลายกับจิตเป็นคนละอันกัน สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้ไปเห็น ถ้ามันแยกได้มันเป็นคนละอัน แสดงว่าสมาธิมันยังพออยู่ ตรงที่มันแยกขันธ์ได้ เรียกว่ามันเจริญปัญญาขั้นต้นแล้ว เป็นปัญญาขั้นแรก แล้วต่อไปเห็นขันธ์แสดงไตรลักษณ์อันนั้นขึ้นวิปัสสนา ปัญญาขั้นต้นๆ ก็ต้องอาศัยสมาธิ เพราะในคัมภีร์สอนเอาไว้ว่า “สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา” จะเป็นปัญญาระดับปัญญาธรรมดา หรือเป็นวิปัสสนาปัญญา ก็ต้องอาศัยสมาธิ

ฉะนั้นอย่างไรเราก็ทิ้งสมาธิไม่ได้ พยายามฝึกทุกวัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ได้ หรือดูร่างกายมันยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอนก็ได้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็ได้ มันได้สมาธิทั้งนั้น ท่อง พุทโธเฉยๆ ก็ได้ ท่องสัมมาอรหังก็ได้ นะ มะ พะ ทะ อะไรก็ได้ สวดมนต์บทสั้นๆ อะไรสักอย่างก็ได้ ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลวกว่ากัน เหมือนๆ กันหมด ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่สายไหนดีกว่าสายไหนหรอก มันทำให้มีสมาธิขึ้นมา ถ้าจะเดินทางกายต้องทำฌาน ทำสมาธิจนกระทั่งจิตเป็นผู้รู้เด่นดวง ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่งเลย ยิ่งภาวนาจนโลกธาตุดับ เหลือแต่จิตดวงเดียวได้ยิ่งดี ร่างกายหายไปเลย ความคิดไม่มี พอจิตถอนออกจากสมาธิตรงนี้ปุ๊บ ระลึกรู้ร่างกาย จะเห็นเลยร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน ระลึกรู้ความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เห็น ความสุข ความทุกข์กับจิตเป็นคนละอันกัน

กาย เวทนา เหมาะกับคนเล่นฌาน แต่ถ้าเป็นเวทนาทางใจ อย่างที่หลวงพ่อเล่าให้เราฟัง อันนั้นไม่ต้องเข้าฌานหรอก ดูซื่อๆ ไป ที่จริงครูบาอาจารย์ที่ท่านมีสติ มีปัญญามาก ท่านมองการณ์ไกล นอกจากหลวงปู่ดูลย์แล้ว ก็ยังมีองค์อื่นท่านก็มี ท่านก็สอนให้มีสติดูจิตตัวเองไปอะไรอย่างนี้ แต่กระแสการดูจิตมันสู้กระแสการดูกายไม่ได้ มันหายไป กระทั่งในสำนักที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ดูจิตๆ สุดท้ายหายไปหมด เหลือแต่เรื่องกาย เพราะกายมันของหยาบ มันดูแล้วแหมมันรู้สึกสนุก โฉ่งฉ่างดี เช่นดูร่างกายแล้วดูทะลุลงไปเห็นโครงกระดูกอะไรอย่างนี้ แหมมันสนุก ดูลงไปร่างกายระเบิดเปรี้ยง แหมสนุก ดูจิตไม่เห็นมีอะไร ไม่มีอะไรสนุกมากมาย

ฉะนั้นดูจิตๆ เข้าใจยากเหมือนกัน มันนามธรรม แต่มันจำเป็น ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่รุ่นเก่าหลายองค์ ท่านบอกเลยต่อไปคนในเมืองต้องดูจิต บางองค์ท่านบอก อย่างสอนพวกฝรั่งจะไปสอนพุทโธพิจารณากาย เขาไม่ค่อยเอาหรอก เขาคิดว่าเขาปัญญาเยอะอยู่แล้ว พวกปัญญาเยอะ พวกช่างคิดให้ดูจิตไปเลย ท่านสอนอย่างนี้ ไม่เฉพาะหลวงปู่ดูลย์หรอก ครูบาอาจารย์อื่นก็สอน แต่คำสอนอย่างนี้มันสูญหายไป การดูจิตเลยกลายเป็นเรื่องประหลาด หลวงพ่อพูดเรื่องดูจิตๆ คนประหลาด หลังๆ ก็มีคนสอนดูจิตเยอะแยะขึ้นมา เพราะว่าดูจิตมันบูม แต่มันดูอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่ใช่การรู้จิตในกฎ 3 ข้อที่หลวงพ่อบอกนั่นหรอก มันไม่ใช่การดูจิตจริงๆ หรอก อย่างอื่นมั่ว บางทีดูไปๆ เพ่งๆๆ จนเครียดสุดขีด จิตนี่พอเราเค้นมันสุดขีดมันสลบไปเลย มันหมดความรู้สึก มันวูบหมดความรู้สึกไป เค้นมันมาก บังคับมันมาก ทำให้มันเครียดจัดๆ

 

 

ร่างกายเวลาเจ็บหนักๆ มันก็สลบไป ตัดความรับรู้ทางร่างกาย จิตนะทำให้มันเครียดหนักๆ มันก็ตัดความรู้ทางจิตเหมือนกัน มันสลบเหมือนกัน พอจิตมันสลบไปเรียกเป็นพรหมลูกฟัก มีแต่ร่างกายนอนแน่นิ่งอยู่ หรือนั่งแน่นิ่งอยู่ ไม่มีความรู้สึก ดูจิตอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไปเค้นจนกระทั่งจิตมันเครียด จนกระทั่งมันดับ ถ้าจิตดับจะภาวนาได้ไหม ไม่ได้ บางทีเข้าใจผิดว่าจิตดับคือ จิตเกิดมรรคผล ดับวูบหมดความรู้สึก มันไม่ใช่จิตเกิดมรรคผล อันนั้นไม่มีจิต เรียกว่าพรหมลูกฟัก อสัญญสัตตา ฉะนั้นเวลาบรรลุมรรคผลต้องมีจิต ตอนบรรลุอริยมรรค เขาเรียกมรรคจิต มีมรรคจิต ตอนบรรลุอริยผล มีผลจิต มรรคจิต ผลจิต รวมๆ กันได้ตั้ง 40 อย่าง เยอะแยะ

เราไม่ต้องเรียนเยอะ เรียนนิดๆ หน่อยๆ ย่อลงมาก็มีมรรค 4 ผล 4 ที่มันเยอะขึ้นมาเพราะเอาเรื่องฌานไปประกอบ บางทีตอนบรรลุพระโสดาบันเข้าฌานได้ 1 2 3 4 5 อะไรอย่างนี้ เข้าฌานก็เลยมี 5 ขึ้นมา 5 คูณ 4 เท่ากับ 20 อริยมรรค มรรคจิตมี 20 ชนิด ผลจิตก็มี 20 ชนิด อันนั้นเยอะเกินวุ่นวาย ไม่ต้องรู้ก็ได้ไม่สำคัญ พยายามรู้สึกตัว ดูการทำงานของเขาไป ไม่ไปทำให้เขาเครียดจนเขาสลบ จิต ให้เขาทำงานไป แล้วก็ไม่ใช่ลืมเนื้อลืมตัวฟุ้งไป หลงไปอยู่ในความว่างอะไรอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ รู้สึกไปสบายๆ ธรรมดา

สรุปก็คือ การดูจิตดูใจ จิตตรงๆ เราดูไม่ได้ เราดูผ่านนามกาย รูปร่างของจิต ดูผ่านเวทนา ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ที่เกิดกับจิต จะเห็นจิตสุขก็อันหนึ่ง จิตทุกข์ก็อันหนึ่ง จิตเฉยๆ ก็อันหนึ่ง เป็นคนละอัน แต่ละอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือดูจิตโลภ จิตไม่โลภ จิตโกรธ จิตไม่โกรธ จิตหลง จิตไม่หลง ดูไปเรื่อย ก็เห็นจิตทุกชนิดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ใช้ได้ หรือเราเห็นว่าจิตนี้เราบังคับไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวก็ไปดมกลิ่น เดี๋ยวไปลิ้มรส เดี๋ยวไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวไปคิดนึกทางใจ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ นี่ไม่เที่ยง จิตจะดูรูปหรือไม่ดูรูป เราสั่งไม่ได้ นี่อนัตตา แต่ละอันๆ ก็ดูไปอย่างนี้ เห็นไตรลักษณ์ถึงจะใช้ได้ ถึงจะเรียกว่าดูจิตเป็น

 

อย่ารอให้จิตหมดแรง

ถ้าเราดูจิตๆ ไป พอจิตมันหมดกำลัง แล้วเราฝืนไม่ยอมไปทำสมาธิ ไม่ยอมให้จิตพักผ่อน จิตมันจะพักผ่อนของมันเอง แล้วถ้าเราไม่รู้ทัน เรายังนึกว่าเรายังเดินปัญญาอยู่ จริงๆ ไม่เดินแล้ว หลวงพ่อก็เคยผิด เพราะหลวงพ่อทำสมาธิแต่เด็ก แล้วมันก็ไม่ได้อะไรนอกจากความสงบ เดินปัญญาไม่เป็น จิตลึกๆ ดูถูกการทำสมาธิ ตรงนี้ผิดย้ำว่ามันผิด พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ดูจิตดูใจเห็นมันเกิดดับได้ โอ๊ย สนุกมากเลย เจริญปัญญารวดไปเลย ไม่ยอมทำสมาธิ ไม่ให้มันพักเลย รู้สึกว่าถ้าจิตมันพักนี่เสียเวลา มันพักมาตั้ง 20 กว่าปีแล้วไม่มีประโยชน์ นี้เข้าใจผิดหรอก

ฉะนั้นเวลาเราภาวนาถึงเราจะดูจิตดูใจ ถึงเวลาเราต้องแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานไหว้พระ สวดมนต์ไป นั่งสมาธิ เดินจงกรมไป ทำให้ได้สมาธิ เวลาอยากได้สมาธิอย่าอยากได้ ถ้าอยากแล้วไม่สงบหรอก ให้เราอยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป เช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ปล่อยให้มันทำจะสงบหรือไม่สงบ เราไม่คาดหวังหรอก ค่อยๆ ฝึกไปเดี๋ยวมันสงบของมันเอง ถ้าเราไม่ยอมทำสมาธิเลย จิตมันเหนื่อย จิตมันจะหลบด้วยตัวของมันเอง มันจะหลบไปอยู่ในความว่าง พวกที่ดูจิตๆ แล้วไปติดว่าง เพราะจิตมันเหนื่อยแล้ว จิตต้องการพักแล้ว เราก็ไม่ยอมทำสมาธิเสียที จิตจะไหลไปอยู่ในความว่าง ออกไปอยู่ข้างนอก อยู่ข้างหน้าว่างๆ สว่าง สบายอยู่อย่างนั้นเป็นปีๆ ก็ได้ ที่จริงก็อยู่ได้เป็นกัปๆ ด้วยซ้ำไป สำหรับพรหม

จิตไปว่างอยู่อย่างนั้น ดูช่องว่างเรียก อากาสานัญจายตนะ บางทีก็ไปดูตัวผู้รู้ เพ่งอยู่ที่ตัวผู้รู้ จิตมันย้อนเข้ามาจับตัวผู้รู้ จะเห็นตัวผู้รู้ซ้อนตัวผู้รู้ไปเรื่อยๆ อันนั้นเรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ จิตมันหนีเข้าไปหาความสงบ บางทีมันก็ทิ้งทั้งอารมณ์ ทิ้งทั้งจิต ไม่เอาอะไรเสียอย่าง อันนั้นเรียกว่า อากิจจัญญายตนะ นี้ก็เป็นที่หนีของจิตเหมือนกัน แล้วมันก็เคลิ้มๆ ลงไปแทบจะหมดความรู้สึก อันนั้นเป็น เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันเป็นที่ซ่อนที่หลบของจิต

เราอย่าไปรอให้จิตหมดแรง แล้วหนีไปหาความสงบ เดี๋ยวติดนาน เราแบ่งเวลาทุกวันๆ ทำในรูปแบบไปสักครึ่งชั่วโมง สักชั่วโมงหนึ่งแต่ละวัน ให้จิตมันได้เรี่ยวแรง มีกำลังแล้วมาเจริญปัญญา ดูจิตเกิดดับโดยผ่านการเกิดดับร่วมกับเจตสิก คือความสุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย หรือดูจิตมันเกิดดับผ่านทางอายตนะ คือจิตไปดูรูป ไปฟังเสียง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เราก็จะเห็นจิตมันเกิดดับได้ แล้วพอจิตมันเดินปัญญาไปช่วงหนึ่ง มันจะเริ่มถลำลงไปในอารมณ์ อย่างไปดูความโกรธแล้วถลำลงไปในความโกรธ หรือดูความสุขแล้วจิตถลำไปในความสุข หรือไปแช่ในความทุกข์ จิตถลำเพราะสมาธิไม่พอแล้ว

ฉะนั้นต้องตั้งใจแบ่งเวลาฝึกสมาธิให้ดีไว้ ทุกวันต้องซ้อมไว้ อย่างหลวงพ่อจิตมันถลำออกไปอยู่ในช่องว่าง ว่างๆ อยู่อย่างนั้นเสียเวลาเป็นปีเลย บทเรียนที่หลวงพ่อสอน มันแลกมาจากการที่หลวงพ่อทำผิดมา ก็เลยมาเล่าให้พวกเราฟัง จะได้ไม่เสียเวลาทำผิดเหมือนที่หลวงพ่อเคยทำผิด เจริญปัญญารวดแล้วทิ้งสมาธินี้ผิดแน่นอน อันนี้ต้องฝึกแบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ยากไปไหม วันนี้เป็นเรื่องของการดูจิตล้วนๆ เลย ดูจิตก็เป็นสมาธิด้วย ถ้าเราไม่ยอมพักเลย จิตมันพักของมันเอง ทำสมาธิของมันได้เอง เข้าอรูปฌานเอง ไม่ต้องรอให้มันไปเข้าอย่างนั้น แบ่งเวลาไว้ทำทุกวัน จิตจะได้มีกำลัง ไม่เสียเวลานาน.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 ตุลาคม 2564