ขันธ์ 5 ทั้งหมด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ธรรมะถ้าเราไม่ภาวนาเราหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าพระหรือโยม อย่างพระบวชมาแล้วไม่ได้ภาวนา หรือภาวนาผิดอะไรแบบนี้ ภาวนานอกลู่นอกทางไปเล่นไสยศาสตร์ เล่นคุณไสยเล่นอะไร อย่าบวชดีกว่า บวชแล้วก็บาปมากกว่าเก่า เป็นโยมก็เหมือนกัน ปากบอกอยากได้มรรคผลนิพพานแต่กิเลสไม่เคยคิดจะลดละเลย วันๆ ก็เล่น Facebook เล่น Line แช็ตโน่นแช็ตนี่ เขียนวิจารณ์คนอื่นตลอดเวลาเลยอย่างโน้นอย่างนี้ ปากบอกว่าอยากนิพพาน แต่พฤติกรรมมันสวนกับนิพพาน อยากได้นิพพานก็ต้องเรียนรู้ตัวเองไม่ใช่ไปวุ่นวายคนอื่น เห็นข้อผิดของตัวเองไม่ใช่เห็นข้อผิดของคนอื่น

ดูตัวเอง ถ้าเราเห็นความบกพร่องของตัวเองเราจะพัฒนาตัวเองได้ ถ้าเราเห็นแต่ความบกพร่องของคนอื่น เราจะสะสมกิเลสของเราเพิ่มขึ้น กูเก่งกว่าเขา กูดีกว่าเขา กูแน่กว่าเขา เทียบเขาเทียบเราตลอด มันไม่ใช่เส้นทางของคนที่ปรารถนาความพ้นทุกข์

ถ้าพูดว่าอยากนิพพานๆ ต้องปฏิบัติ ศีล 5 ถือหรือยัง ถ้ายังไม่ถือก็ไปถือซะ ทุกวันได้ฝึกจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาไหม

การฝึกจิตนั้นฝึกสองอย่าง อันที่หนึ่งจิตที่มีพลังสงบแล้วมีพลัง อันที่สองจิตที่ตั้งมั่นถอนตัวออกมาจากปรากฏการณ์ทั้งหลายแล้วเป็นคนดู สมาธิที่เราจะฝึกมีสองอย่าง อย่างหนึ่งฝึกให้ใจมันมีแรง อีกอันหนึ่งให้ใจมันตั้งมั่นถอนตัวออกมาเป็นคนดูจากปรากฏการณ์ทั้งหลาย แยกออกมา ตรงที่มันแยก จิตมันแยกออกมาแล้วเห็นกายอยู่ส่วนกาย เวทนาอยู่ส่วนเวทนา สังขารทั้งหลายดีชั่วทั้งหลายอยู่ส่วนสังขารดีชั่ว เห็นกุศลอกุศลก็สักแต่ว่าเห็น จิตเป็นคนรู้คนดู

สติปัฏฐาน 4 จะทำได้ และเกิดปัญญาได้จิตต้องแยกออกมา ตั้งมั่นออกมาเป็นคนดู ถ้าจิตตั้งมั่นไม่ได้ ไม่มีทางที่จะได้ธรรมะอะไรหรอก มันก็หลงอยู่ในโลกของความคิดจมลงไปในความคิดตลอดเวลา

อย่างพระมาอยู่กับหลวงพ่อนะสิ่งที่แรกๆ เลยที่หลวงพ่อจัดการเลยก็คือวินัย จะมีการตรวจสอบเลยถ้าเป็นพระบวชใหม่ก็จะสอนพระวินัย 2-3 วันต้องเรียนรู้วินัยก่อนเรื่องหลักๆ จะได้ไม่ทำผิด บางทีถ้าเคยบวชมาจากที่อื่นต้องตั้งกรรมการสอบที่ตอนบวชอยู่ที่อื่นไปทำอาบัติอะไรมาบ้างถ้าทำอาบัติเล็กน้อยก็ให้ปลงอาบัติเอา ทำอาบัติหนักก็อยู่ปริวาส ต้องให้สะอาดเสียก่อนเรื่องของศีล พอเคลียร์เรื่องศีลแล้ว ต่อไปเวลาส่วนใหญ่ที่พระวัดหลวงพ่อฝึกกันคือสมาธิ

 

ดูจิตได้ จิตต้องมีสมาธิ

เราอย่านึกว่าดูจิตๆ พูดแต่คำว่าดูจิตมันดูไม่ถึงจิตหรอก จะดูจิตได้ จิตต้องมีสมาธิ แต่เจริญปัญญาไม่ต้องเข้าสมาธิก่อน ดูจิตนี่ดูจิตมันทำงานไปเลย ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นคนดูได้แล้วดูมันทำงานไปเลย แต่ถ้าจะดูกายควรจะไปเข้าฌานก่อนแล้วออกจากฌานมาดูกาย คนละแบบกัน

แต่ขั้นแรกสุดเลยต้องฝึกให้จิตใจมีพลังให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจมีพลังจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นคนดู เห็นปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรมนั้น เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจิตเป็นคนดู บางองค์ก็เห็นดูมาจากกาย สมาธินี่ได้ง่ายเลยหาอารมณ์ที่หยาบๆ พอดีกับจิตใจของเรา

อย่างหลวงพ่อทำอานาปานสติตั้งแต่เด็ก อานาปานสติพอดีกับหลวงพ่อ พวกเราบางคนอานาปานสติไม่พอดีกับตัวพวกเราเพราะมันละเอียดเกินไป อานาปานสติทำยาก ทำแล้วขาดสติง่ายมากเลย ครูบาอาจารย์ท่านก็เติมพุทโธลงไป แทนที่จะหายใจแล้วรู้ว่าร่างกายหายใจออกหายใจเข้า รู้อย่างนี้มันเบา ท่านก็เติมหายใจเข้าพุธหายใจออกโธ เป็นการเพิ่มความเข้มความหยาบของอารมณ์กรรมฐานให้พอดีกับใจที่หยาบๆ

ฉะนั้นเราเลือกกรรมฐานที่พอดีกับใจเราถ้าละเอียดเกินไปจะดูไม่ได้ เริ่มต้นจากไปดูช่องว่างไปดูความไม่มีอะไรเลยมันจะหลง มันละเอียดเกินไปที่จะดู ฉะนั้นดูของที่ดูได้

อย่างพระที่มาอยู่กับหลวงพ่อบางองค์ภาวนาเป็นผู้ช่วยสอนมาแล้ว หลวงพ่อให้ดูร่างกายด้วยซ้ำไป ร่างกายหายใจ ยืน เดิน นั่ง นอนคอยรู้สึกไป ดูกายเลยเพราะกายเป็นของหยาบ ถ้ากายยังดูแล้วสติเตลิดเปิดเปิงไปก็ยากหน่อยแล้ว ถ้าดูกายแล้วสติอยู่กับกายได้มันก็ง่ายหน่อยจะพัฒนาต่อไปได้ ถ้าดูแต่จิตล้วนๆ เลยไม่ยอมดูกายเลยมันละเอียดเกินไป บางทีสติตั้งไม่อยู่สติไหล หลงๆๆ ไหลไปสมาธิไม่มี

ฉะนั้นเราเลือกกรรมฐานที่พอดีกับเรา ถ้าเราไม่มีสมาธิอยู่แล้ว หลวงพ่อแนะนำให้รู้สึกกายไป ร่างกายหายใจก็เห็นว่าร่างกายหายใจ ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้าคอยรู้ไปเรื่อย ขาดสติเมื่อไร มันก็ลืมร่างกาย มันหนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้นะ รู้เรื่องที่คิดบ้าง คิดไปแล้วไม่รู้ว่าคิดอะไรไปบ้างอันนี้เหลวไหลสุดขีด

ถ้าเราคอยรู้สึกกายร่างกายขยับๆ เรารู้ทั้งวันพอเผลอ เผลอแล้วร่างกายเกิดขยับขึ้นมา สติจะเกิดเอง พอสติเกิดเองเกิดปุ๊บสมาธิจะเกิดปั๊บเลย มันจะเกิดต่อเนื่องกันนะอัตโนมัติเลย

เพราะฉะนั้น เราต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่ง เลือกดูที่เหมาะกับตัวเราเอง อย่างเห็นหลวงพ่อหายใจเข้าพุทออกโธ หรือหลวงพ่อดูจิตว่างๆ ดูอะไรแบบนี้แล้วจะเอาอย่าง เอาไม่ได้ทางใครทางมัน กรรมฐานทางใครทางมัน ดูที่มันเหมาะกับตัวเราเองไปสังเกตเอา

ถ้าสมัยก่อนยุคที่หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์นั้นได้เปรียบพวกเรา เมื่อก่อนคนที่จะเข้าไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่ดูลย์สัปดาห์หนึ่งบางทีไม่มีสักคนหรือมี 1-2 คน หลวงปู่มีเวลาให้เยอะ คนหนึ่งหลายชั่วโมง ท่านจะนั่งเงียบๆ ของท่านไปนั่งภาวนาของท่านไป เสร็จแล้วธรรมะมันถ่ายทอดออกมา ท่านก็จะบอกเราให้เราไปทำกรรมฐานอย่างนี้ๆ ถ้าเราไปทำอย่างอื่นไม่สำเร็จหรอก ถ้าเราทำอย่างที่ท่านบอก เราจะได้ผลอย่างรวดเร็วเลย

อันนั้นครูบาอาจารย์ท่านช่วยดูให้ว่าเราเหมาะกับอะไร ท่านช่วยดูให้ได้เพราะนานๆ จะมีคนเข้าไปเรียนสักคนหนึ่ง อย่างพวกเราเรียนมันระดับ mass product แล้ว ให้หลวงพ่อดูให้ หลวงพ่อดูไม่ไหวหรอก เสียเวลากับคนละหนึ่งชั่วโมง ทำไม่ได้

ตามสถิติพวกส่งการบ้านกับหลวงพ่อที่ลุ้นกันแทบแย่ จับสลากเข้ามาฟังธรรม จับสลากส่งการบ้าน คนหนึ่งๆ มีเวลาเฉลี่ย 2.30 นาทีที่หลวงพ่อตรวจการบ้านให้ 2.30 นาทีคนหนึ่ง 2.30 นาที นั้นพูดเองซะส่วนหนึ่ง หลวงพ่อบอกให้อีกหน่อยหนึ่งรวมแล้ว 2.30 นาทีค่าเฉลี่ย

ตอนไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ชั่วโมงหนึ่งบางคนชั่วโมงกว่า ท่านต้องตรวจนานมากเลย ดูซิมันเคยทำอะไรอย่างไรมามันจะทำยังไงได้ บางคนตรวจนานมากเลย ตรวจเป็นชั่วโมงๆ แล้วก็บอกพุทโธ ไปเริ่ม basic เลย บางคนท่านก็บอกให้ดูกระดูก พอดูกระดูกแล้วให้เห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ต่อไปกระดูกมันระเบิดออกไปร่างกายไม่มี เหลือแต่จิตเข้ามาที่จิตดวงเดียว แล้วก็เห็นการทำงานของจิต เห็นไตรลักษณ์ขึ้นมาก็พัฒนาไปได้ บางคนท่านให้ดูผมเส้นเดียวถ้าไม่ดูก็ทำไม่สำเร็จทำอย่างอื่นก็ทำไม่สำเร็จ ถ้าทำอย่างที่ท่านบอก ใช้เวลาไม่นานก็ได้ผล ได้สมาธิขึ้นมา ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนังได้สมาธิ ดูลมหายใจได้สมาธิ

 

ดูให้เกิดปัญญา ต้องให้เห็นไตรลักษณ์

ถ้าดูจะให้เกิดปัญญา ต้องให้เห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของใจถึงจะเกิดปัญญา ถ้าดูผมจ้องอยู่ที่ผมแบบนี้เป็นสมถะ

อย่างเรานึกถึงผมของเราซิ ไหนลองจับดูสักเส้นหนึ่งรู้สึกไหม มันมีความแข็งของมัน ความแข็งของมันที่เรารู้สึกได้มันแข็งกว่าอากาศใช่ไหม ผมเรามันไม่มีความแข็งตรงนี้มันมีธาตุดิน มันมีอุณหภูมิมีความเย็นความร้อน ทีนี้เวลาท่านพิจารณาผม ท่านก็ดูผมมีรูปร่างอย่างนี้ยาวๆ เป็นเส้นๆ มีต่อมน้ำมันอยู่ตรงปลาย ตรงกลางมีรูกลวง ผมของตัวเองมีรูอยู่ตรงกลางเหมือนหลอดกาแฟมีรู สกปรก ตรงต่อมน้ำมันของมันสกปรกไม่สวยไม่งาม มีรูปร่างอย่างนี้มีสีอย่างนี้มีกลิ่นอย่างนี้ กลิ่นของผม ไม่ใช่ตอนที่สระผมหอมๆ นะ อันนั้นกลิ่นแชมพู กลิ่นผมตอนที่เหงื่อออกเยอะๆ แล้วก็ยังไม่ได้อาบน้ำจะมีกลิ่น มีกลิ่นอย่างนี้พอได้กลิ่น สลดสังเวช

ผม ขน เล็บ ฟัน หนังไม่ใช่ของสวยของงาม เล็บสวยงามหรือทาสีลงไปหลอกตาคน จริงๆ สกปรกเชื้อโรคอาศัยอยู่ตั้งเยอะตั้งแยะ เล็บก็มีขี้นะ ขี้เล็บ ผมก็มีขี้หัว ตาก็มีขี้ตา จมูกมีขี้มูก ในปากมีขี้ฟัน หูมีขี้หู มีขี้มือ มีขี้ตีน มีขี้เหงื่อ มีขี้ไคลหัดดูอย่างนี้ ใจมันจะสลดสังเวชจะได้สมาธิได้สมถะ

เวลาทำกรรมฐานทำให้มันจริงไม่ทำเดี๋ยวก็ทำอย่างนี้เดี๋ยวก็ทำอย่างนี้ไม่ได้ผลหรอก จะทำก็ทำให้มันจริงๆ ดูกายก็ดูให้มันจริงๆ ลงไป ดูทีละส่วนๆ ผมรูปร่างอย่างนี้มีสีอย่างนี้มีกลิ่นอย่างนี้มีรสอย่างนี้ ไม่สะอาดไม่น่ารัก

อย่างเวลาเรากินข้าวสั่งอาหารมาแล้วมีผมอยู่หนึ่งเส้นในจานข้าวเรารู้สึกไม่อยากกินแล้วรู้สึกไหม หรือถ้ามีฟันหลุดออกมาไม่ต้องพูดถึงเลย

เมื่อก่อนมีเล็บหลุดอยู่ บ้านหลวงพ่ออยู่บ้านดอกไม้ข้ามคลองโอ่งอ่างไปคือประตูผี ที่ประตูผีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังที่ตลาดประตูผีเมื่อก่อนนี้มีแกงปลาไหลขึ้นชื่อลือชาเลย ปลาไหลประตูผีอร่อยมากตัวมันตัวใหญ่คนก็ติดใจกินปลาไหลประตูผี วันหนึ่งในท้องปลาไหลคนกินเจอเล็บ เท่านั้นเองร้านนี้เจ๊งเลย เกิดการสอบสวนกันขึ้นมาว่าไปเอาปลาไหลที่ไหน ไปเอามาจากป่าช้าวัดสระเกศ ทีแรกกินอร่อย พอได้ยินมาว่าเอามาจากป่าช้าวัดสระเกศไม่อร่อยแล้วอ้วกแล้ว เพราะมันไปกินร่างกายคนเข้ากินศพ เพราะฉะนั้นกินของโสโครกสกปรกเรารับไม่ได้ อย่างกินข้าวแล้วตัดเล็บไปด้วย กินข้าวไปด้วยเล็บลงไปในจานข้าวกินลงไหม

ผม ขน เล็บ ฟัน หนังจะสอนให้เราเห็นว่าของไม่สวย ของไม่งาม ของไม่สะอาด ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ พอดูเรื่อยๆ มันข่มราคะได้ อย่างการพิจารณาร่างกายผม ขน เล็บ ฟัน หนังมันข่มราคะได้ ใจก็มีสมาธิขึ้นมาเพราะมีราคะใจก็ไม่มีสมาธิ ที่จริงมีโทสะใจก็ไม่มีสมาธิ มีโมหะใจก็ไม่มีสมาธิ แต่ท่านมุ่งมาที่ตัวราคะก่อนเพราะสำหรับพวกพระ ถ้าพระพลาดในเรื่องราคะแล้วอาบัติมันหนัก

พระโมโหอะไรแบบนี้ยังอาบัติไม่หนักเท่า พระด่าคนอาบัติยังไม่หนักเท่า แต่พระเสพเมถุนขาดจากความเป็นพระ พระอุปัชฌาย์นะจะต้องสอนกรรมฐาน 5 ให้ลูกศิษย์ตอนที่บวช เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ทำไมต้องสอน ถ้าไม่สอนพระพุทธเจ้าปรับอาบัติกับพระอุปัชฌาย์ ท่านบอกว่าทำลายโอกาสบรรลุมรรคผลของลูกศิษย์ สอนผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันดีกว่าร่างกายส่วนอื่นอย่างไร เพราะผม ขน เล็บ ฟัน หนังมันหลุดออกมาให้เราดูได้

ผมเราก็โกนกันทุกเดือนตัดผมกันทุกเดือน บางคนก็เซ็ตโน่นซอยนี่ทุกอาทิตย์ เราก็ตัดเล็บกันทุกเดือนทุกอาทิตย์ใช่ไหม ถ้าเล็บเท้าอาจจะ 2 อาทิตย์เล็บมือตัดทุกอาทิตย์ ผมที่ตัดออกมาแล้วเป็นเราไหม ไม่เป็นเรา สะอาดไหม เอาไปโรยข้าวกินไหม ก็ไม่กินอีกใช่ไหม เล็บตัดออกมาเล็บของเราว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้ พอตัดออกมาแล้วน่าเกลียดแล้วดูไม่ได้แล้ว ขนหลุดขนร่วงออกมาก็ดูน่าเกลียดแล้ว ทีแรกก็ผมเราสวย เท่ ภูมิใจ ผมส่วนที่ตัดออกมาผมส่วนที่ร่วงออกมาเป็นของไม่สวยไม่งามไม่ถูกใจแล้ว เล็บที่ว่าสวยว่างามพอตัดออกมาก็น่าเกลียดแล้วดูไม่ได้แล้ว เอาไปโรยข้าวกินก็ไม่ได้

ฟันหลุดออกมา ฟันอยู่ในปากเราเรารักมาก พอฟันหลุดออกมาเอาใส่คืนเข้าไปเอาไหม มันก็ขยะแขยงยอมไปใส่ฟันปลอมดีกว่า คนโบราณเขาไปเอาฟันของศพมาทำฟันปลอม คนโบราณมีจริงๆ อันนี้ วิธีทำฟันปลอมของคนโบราณ ยังไม่รู้จะทำยังไงเอาฟันจริงๆ ของคนตายแล้วเอามาทำ ก็คล้ายๆ เอาเส้นผมของคนตายแล้วมาทำวิก ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ถ้ารู้ก็แย่หน่อยเสียความรู้สึก หนังของเราถลอกออกมา หนังเราว่าสวยว่างามเป็นแผลน้ำเหลืองน้ำหนองเน่าอะไรแบบนี้หนังก็ไม่สวยแล้ว

ท่านสอนผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เพราะว่ามันเป็นส่วนของร่างกายที่หลุดออกมาง่าย พอหลุดออกมาปุ๊บจะเห็นเลยไม่สวย ไม่งาม ไม่ใช่ตัวเราเห็นแล้วมันก็เกิดปัญญาในขั้นต้น ต่อไปก็ดูกายทั้งกายได้ กายทั้งกายนี้เราดูส่วนย่อยไปแล้ว 5 ส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กายที่เหลือก็ไม่ใช่ของสวยของงามอะไรอีกแล้ว ไม่ใช่ของดีของวิเศษ รักกันแทบตายใช่ไหม พอตายปุ๊บไม่อยากเห็นแล้วจับใส่โลงดีกว่าไม่อยากเจอ มีไหม ประเภทพอตายแล้วก็เรียกร้องขอให้มาหาทุกวัน กลางคืนให้มาเยี่ยมกัน ใครทำบ้าง มีแต่บอกให้ไปที่ชอบๆ ถ้าหลวงพ่อเป็นผีแล้วมาบอกให้หลวงพ่อไปที่ชอบ หลวงพ่อจะบอกชอบอยู่กับแกนี่ล่ะ เอาให้มันเข็ดไปเลย อยากปากว่าตาขยิบ จริงๆ แล้วรักกันแทบเป็นแทบตาย พอตายปุ๊บไม่เอาแล้วเอาไปทิ้งแล้วเอาไว้ไม่ได้แล้ว

ร่างกายเราไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก เราเรียนรู้กายตัวเองมันก็เข้าใจกายคนอื่นด้วย ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษไม่น่าหลงไม่น่าคลั่งไคล้ คนนี้ไอดอลเรา สวยเหลือเกิน ในสายตาของผู้ปฏิบัติคือถุงหนังที่บรรจุของโสโครก ไม่ได้มีดีวิเศษอะไรนักหนาหรอก เอามายกให้ยังไม่เอาเลย ลองภาวนาไปช่วงหนึ่ง เอานางงามมายกให้ยังไม่อยากได้เลย ดูไปก็เห็นแต่ของสกปรก

เราค่อยๆ ฝึกตัวเรา พอเรามีสมาธิขึ้นมาแล้วก็มาเดินปัญญาต่อ อย่างจิตเรามีราคะมาก เราก็พิจารณาปฏิกูลพิจารณาอสุภะ ราคะมันก็ดับ อย่างถ้าเรามีโทสะเราก็เจริญเมตตาไป เช่นเราเกลียดคนนี้มากเลยเราก็คิดดูสิ ทำไมเขาทำพฤติกรรมเลวร้ายอย่างนี้ ก็เขามีความทุกข์บางอย่างซ่อนเร้นอยู่ ถ้าเรารู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของคนอื่น เราจะโกรธไม่ลงหรอก เพราะว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ ก็คือราคะ โทสะ โมหะเหมือนที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของเราเหมือนกัน ไม่ได้ดีวิเศษอะไรหรอก มันก็จะไม่เกลียดไม่ชังกัน

อย่างเราโกรธคนสักคนหนึ่ง สมมติเรามีแฟนแล้วแฟนเรานอกใจเราโกรธมากเลย แล้วเราก็นึกสมมติเราเป็นแฟนเรา สามีวันๆ ทำแต่งานไม่เคยสนใจเลย ขาดความอบอุ่นในครอบครัว ถ้าเราแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจเลยธรรมดาเขาก็อยากเลิกกับแฟนเขา อยากเลิกกับสามีเขาเพราะอยู่ไปก็ไม่มีความสุข เราเป็นสามีถ้าเมียบอกเลิกเราเจ็บช้ำน้ำใจแต่พอเราสวมหัวใจของเมียเราเข้าไป เรารู้เหตุ รู้ผล รู้อะไรทำให้เขาคิดอย่างนี้ มันเกิดความเห็นอกเห็นใจ ไม่โกรธหรอก

การเจริญเมตตาก็คือการวางใจที่เป็นมิตร วางใจอย่างเป็นมิตรต่อคนอื่นต่อสัตว์อื่น วางใจที่เป็นมิตรด้วยคือมองเขาด้วยเหตุผลของเขา ไม่ใช่มองเขาด้วยเหตุผลของเรา ถ้าหัดมองอย่างนี้ได้ ความเมตตามันก็เกิดเอง ไม่รู้จะโกรธทำไม ถ้าเป็นเราเราก็ทำแบบนี้เหมือนกัน ก็ดูอย่างนี้

หรืออย่างบางคนมีโมหะมาก มันไม่รู้ผิดชอบชั่วดีอะไรเลย ทุกวันนี้เต็มบ้านเต็มเมืองเลย พวกไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ผู้ใหญ่มันก็หลอกเด็กต่อไปอีกทีให้ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้แล้วดูทันสมัย ผู้ใหญ่ก็หลอกเด็กแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย สมัยหลวงพ่อก็โดนหลอกแบบนี้เหมือนกัน โตขึ้นมามีวุฒิภาวะขึ้นมาก็เข้าใจว่าสังคมจะอยู่กันอย่างไรมันไม่ใช่อุดมคติ เรื่องหลอกเรื่องอุดมคติ เรื่องอุดมการณ์อะไรนี่มันหลอกด้วยโมหะ หลอกด้วยความคิดเอาเองเมคๆ เอาเองว่าอย่างนี้ดี แล้วก็เผยแพร่ออกไปว่าอย่างนี้ดีอย่างอื่นไม่ดี นี้มันโมหะ

เราภาวนาเราสังเกตตัวเองทำอย่างไรใจเราจะมีสมาธิ ถ้าเราราคะมากเราก็พิจารณาปฏิกูลพิจารณาอสุภะ ถ้าเราโทสะมากเราก็เจริญเมตตาทำความรู้สึกเป็นมิตรกับคนอื่นกับสัตว์อื่นกับสิ่งอื่น

บางคนโกรธกระทั่งต้นไม้ เดินๆ อยู่ชนกิ่งไม้ก็โกรธกิ่งไม้อีกว่ามันยื่นเกะกะ เดินไปเหยียบเปลือกกล้วยหกล้มโกรธกล้วยอีกโกรธคนโยนทิ้งมาอีก คนมันขี้โกรธอะไรก็โกรธหมด ไม่โกรธตัวเอง ว่าทำไมไม่มีสติเดินไปชนโน่นชนนี่

ถ้าเรามีเมตตาความโกรธก็ค่อยๆ หายไป ใจเราก็สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยความโกรธ ถ้าเราราคะมากใจเราฟุ้งซ่านด้วยราคะ เราก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ใจเราก็สงบไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยราคะ ใจเรามีโมหะเราก็รู้จักใช้เหตุใช้ผล ทำไมคนอื่นเขาคิดอย่างนี้ เขาก็อาจจะมีจุดดีของเขาก็ได้ เราคิดอย่างนี้อาจจะไม่ถูกก็ได้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ อะไร อย่าใช้อคติ ใจก็จะสงบ

พอใจสงบแล้วใจจะมีพลัง ร่างกายกับจิตใจจะแตกต่างกัน ร่างกายต้องเคลื่อนไหวบ่อยๆ เคลื่อนไหวทุกวันเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ เคลื่อนไหวให้มากพอร่างกายถึงจะแข็งแรง จิตใจต้องสงบต้องนิ่งจิตใจถึงจะมีพลัง กลับข้างกันระหว่างกายกับใจ

ถ้าใจกระโดดโลดเต้นฟุ้งซ่านทั้งวันใจไม่มีพลังหรอก ที่เราต้องมาทำกรรมฐานให้ใจมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ไหลไปตามราคะโทสะโมหะ ถ้าราคะโทสะโมหะแรงก็ใช้อุบายอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ ถ้าราคะโทสะโมหะไม่แรงเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไปสบายๆ ใจก็สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวก็มีสมาธิชนิดสงบขึ้นมามีแรง จิตจะมีพลังขึ้นมา ตรงนี้เอาไว้เล่นอะไรก็ได้ แต่ว่าไม่ควรเล่นเดี๋ยวเสีย

ถัดจากนั้นเราก็มาฝึกสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นเป็นคนดู มันจะแยกตัวเองออกมา อย่างเราจะดูกาย จะเห็นกายอยู่ส่วนหนึ่งจิตอยู่ส่วนหนึ่ง ดูเวทนาความรู้สึกสุขทุกข์ก็จะเห็นสุขทุกข์อยู่ส่วนหนึ่ง ความรับรู้คือจิตที่รู้ว่าสุขทุกข์อยู่อีกส่วนหนึ่ง ดูโลภโกรธหลง ก็จะเห็นโลภโกรธหลงอยู่ส่วนหนึ่งเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตที่รู้โลภโกรธหลงเป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตมันแยกตัวออกมาเป็นคนดูได้

 

วิธีฝึกสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นเป็นคนดู

วิธีฝึกจิตให้แยกตัวเป็นคนดูได้มีสองวิธี วิธีที่หนึ่งหัดเข้าฌานที่พวกเราเข้ายากในยุคนี้ ใจฟุ้งซ่านมากก็ใช้วิธีที่สองง่ายกว่า คือคอยมีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น

เราต้องการจิตที่ตั้งมั่น เราก็มีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ไม่ใช่คิดว่าทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น ทำไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา อยู่ๆ ไปสั่งให้มันตั้งมั่น ทำไม่ได้ จิตมันเป็นอนัตตา เราใช้วิธีกลับข้างเลย เราไม่ทำในเหตุปัจจัยตรงข้าม จิตมันตั้งมั่นเพราะมันไม่ไหลไปไม่คลอนแคลนไป แต่จิตจะไหลไปวิ่งไปโน่น วิ่งไปนี่ วิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปคิด ห้ามก็ไม่ได้ อย่าไปพยายามห้าม ถ้าห้ามก็ผิดแล้ว เพราะจิตก็เป็นอนัตตา ห้ามมันไม่ได้ มันจะไหลไปไหลมา จิตเป็นอนัตตาจะสั่งให้สงบตั้งมั่นอยู่เฉยๆ ก็สั่งไม่ได้อีก เราใช้สติรู้ทันเวลามันไม่ตั้งมั่น

ขั้นแรกเราอยู่กับกรรมฐานของเรา เช่นอยู่กับพุทโธๆๆ พุทโธไปพอจิตมันไหลไปคิดเรื่องอื่นมันลืมพุทโธ เรารู้ทันว่าจิตหลงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตหลงไป ในขณะที่รู้ทันสติเกิดทันทีที่สติเกิดการหลงคิดจะดับ เพราะเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นจะไม่มีกิเลส เมื่อการหลงคิดดับจิตก็ตั้งมั่นจิตก็ไม่หลงคิดก็แค่นี้เอง

เพราะฉะนั้นเราจะฝึกจิตตั้งมั่น ไม่ได้ฝึกจิตทำจิตให้ตั้งมั่น แต่ฝึกให้รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น คือจิตที่ไหลไปไหลมา ไหลไปดูแล้วไหลไปฟังแล้วไหลไปคิดแล้วอะไรแบบนี้ คอยรู้ทันบ่อยๆ

อย่างหลวงพ่อฝึก จิตวิ่งไปดูก็รู้ จิตวิ่งไปฟังก็รู้ จิตวิ่งไปคิดก็รู้ ตั้งแต่เป็นโยมฝึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นทันที่ที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อนไป การเคลื่อนนั้นเป็นความฟุ้งซ่านของจิต มันจะดับเพราะสติไปรู้ทันแล้ว ความฟุ้งซ่านจะดับ จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น เมื่อเรามีจิตผู้รู้แล้วเราจะเดินปัญญาได้

การเจริญปัญญาขึ้นที่หนึ่งเรียกว่า นามรูปปริเฉทญาณ การแยกรูปแยกนาม อย่างหลวงพ่อจะพาทำ เราจะทำได้ง่ายหน่อยเพราะหลวงพ่อพาทำ ขณะนี้เรานั่งอยู่รู้สึกไหม รู้สึกไหมว่ากำลังนั่ง อยู่ลองพยักหน้าซิ รู้สึกไหมว่าพยักหน้า แค่รู้สึกไม่ใช่เพ่งจ้อง รู้สึกไปร่างกายมันเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายมันหยุดนิ่ง รู้สึก ยิ้มซิ รู้สึกไหมร่างกายมันยิ้ม พยักหน้าซิรู้สึกไหม ร่างกายมันพยักหน้า แค่รู้สึก แค่รู้สึกว่าตอนนี้ร่างกายมันทำอะไร ร่างกายมันเป็นอย่างไร

การที่เรารู้สึกๆ ร่างกายมันนั่งอยู่นี่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ใจเราเป็นคนรู้ไม่ต้องหาว่าใจเราอยู่ที่ไหน ขยับมือซิ รู้ไหมว่าขยับมือ ร่างกายมันถูกรู้อยู่ ของใดที่ถูกรู้ ของนั้นไม่ใช่ตัวเรา

มือมันบอกไหมว่าเป็นมือเรา ลองจับมันดูซิมันเป็นเราไหม จับลงไปบางที่ก็แข็ง บางที่ก็นิ่ม บางที่ก็อุ่น บางที่ก็เย็น ไม่เห็นมันบอกเลยว่าเป็นเรา เรารู้สึกไปอย่างนี้ แล้วก็รู้ลงไปอีกชั้นหนึ่งถึงความไม่ใช่ตัวเรา

อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ลองขยับเท้า รู้ไหมว่าร่างกายขยับ? พยักหน้ารู้ไหมว่าร่างกายพยักหน้า? อย่างนี้เรียกว่าเรามีสติรู้กาย อีกช็อตหนึ่ง รู้ไหมร่างกายที่นั่งอยู่นี่มันถูกรู้มันไม่ใช่ตัวเรา รู้ไหมร่างกายที่ขยับนี่มันถูกรู้มันไม่ใช่ตัวเรา

ตรงที่เห็นไม่ใช่เรามันขึ้นมาเดินปัญญาแล้ว มันเห็นไตรลักษณ์เห็นอนัตตา มันไม่ใช่เราหรอก หรือร่างกายมันนั่งอยู่นี่เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวร่างกายก็หายใจเข้า ร่างกายหายใจออกก็ถูกรู้ ร่างกายหายใจเข้าก็ถูกรู้ ร่างกายที่หายใจออกร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยงด้วยเดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน อันนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังจะเห็นอะไรก็ได้ ค่อยๆ ดูไป

ในไตรลักษณ์นี่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราแยกได้จิตเราเป็นผู้รู้ได้ เราถึงจะแยกออกไปได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรามันเป็นของถูกรู้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ เราจะแยกได้ว่าเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์นี่เป็นของถูกรู้ไม่ใช่เรา ถ้าจิตตั้งมั่นเราก็จะแยกได้ว่าโลภ โกรธ หลง หรือกุศลทั้งหลายเป็นของถูกรู้ไม่ใช่เรา ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้แล้วต่อไปจะเห็นอีก จิตนี่เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดู เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้เดี๋ยวเป็นผู้หลงไปฟัง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปคิด

วันๆ ก็หลงอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง ตรงนี้เราจะเห็นจิตเองก็ไม่เที่ยงจิตเองก็เป็นอนัตตา เราดูไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราจะเห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา อย่างดูกาย กายถูกรู้ กายเคลื่อนไหวตลอดเวลา นี่มันไม่เที่ยง กายทำไมมันเคลื่อนไหวเพราะว่ามันเมื่อย มันปวด มันเมื่อย มันหิว มันหนาว มันร้อน มันเป็นทุกข์ กายนี้มันเคลื่อนไหวไป มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่เรามันเป็นอนัตตา ความรู้สึกสุขทุกข์มันเป็นของถูกรู้ถูกดูเหมือนกัน จิตเป็นคนรู้คนดูก็จะเห็น ความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วโลภโกรธหลงอะไรนี่เป็นของถูกรู้ถูกดูเหมือนๆ กันหมด ล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับ ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเราบังคับไม่ได้

แล้วต่อไปพอถึงละเอียดเข้าไปอีก จะเห็นกระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับบังคับไม่ได้เช่นเดียวกับร่างกาย เช่นเดียวกับความรู้สึกที่เป็นนามธรรมทางจิตใจเรา คือพวกเจตสิกทั้งหลาย จิต เจตสิก รูป นี่คือปรมัตถธรรม 3 ตัว จิต เจตสิก รูป อีกตัวหนึ่งตัวที่สี่ คือนิพพาน ตัวนี้เราไม่ต้องเรียน นิพพานเข้าไปแจ้งเอาเอง

เราจะเรียนจิต เจตสิก รูป ฝึกจิตจนมันเป็นผู้รู้ผู้ดูก่อน แล้วก็ดู พอสติระลึกรู้ของหยาบมันจะดูง่ายกว่า ก็ดูกายก่อนจะเห็นร่างกายหายใจ ร่ายกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายยิ้ม ร่างกายหน้านิ่วคิ้วขมวดอะไรแบบนี้ ใจเป็นคนรู้คนดู แล้วเห็นร่างกายนี้มันเปลี่ยนแปลงตลอดนี่มันไม่เที่ยง ร่างกายเดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวปวด เดี๋ยวเมื่อย กระสับกระส่ายไปนี่มันเป็นทุกข์มันถูกบีบคั้น

ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง เหมือนกับของภายนอก มาดูเจตสิกอย่างความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลายเรียกว่า เจตสิก สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดแล้วก็ดับ สุข ทุกข์ ดี ชั่วก็บังคับไม่ได้เป็นของถูกรู้ถูกดู แค่มีใจเป็นผู้รู้ผู้ดูเราก็จะเดินปัญญาได้ เราจะแยกขันธ์ได้ พอแยกขันธ์ได้แล้วขันธ์แต่ละขันธ์จะแสดงไตรลักษณ์ให้เราดู รูปก็แสดงไตรลักษณ์ เวทนาก็แสดงไตรลักษณ์ สัญญาสังขารก็แสดงไตรลักษณ์ สุดท้ายคือตัวจิตก็แสดงไตรลักษณ์

จิต เจตสิก รูป เราเรียนแล้วตัวรูปตัวเจตสิก ยังไม่ถึงตัวจิต จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นผู้คิดนี่แสดงไตรลักษณ์ ห้ามไม่ได้ สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้นี่แสดงอนัตตา เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้แล้วก็ดับ เป็นผู้คิดแล้วก็ดับนี่แสดงอนิจจัง เวลาเราภาวนาเราจะต้องภาวนาจนกระทั่งสามารถเห็นได้ว่าตัวกาย ตัวรูป ตัวเจตสิก ตัวจิตล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ แล้วมันจะวางๆ เป็นลำดับไป ถ้าวางกายได้ก็จะได้พระอนาคามี วางจิตและเจตสิกได้ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ตัวเจตสิกเป็นตัวนามกาย เป็นกายของนามธรรม ตัวจิตเป็นตัวนามรู้นามจิต

ค่อยๆ เรียนๆ ไป ถ้าเรายังเพลิดเพลินในอารมณ์ที่มีความสุขอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเรามีรูปราคะ เราติดใจในเจตสิกที่ดี ถ้าเราพึงพอใจที่จะรักษาตัวผู้รู้ไว้ เรามีอรูปราคะ เราพึงพอใจในตัวจิต เวลาเราภาวนาตอนเป็นพระอนาคามีจะวางกายลงไม่ยึดกาย ตอนถึงที่สุดแห่งทุกข์จะวางจิตและเจตสิกลงพร้อมๆ กัน ละรูปราคะและอรูปราคะลงพร้อมๆ กัน ธรรมะงดงามมาก มีเหตุมีผล

ภาวนาไปแล้ววันหนึ่งจะเข้าใจขออย่างเดียวเท่านั้น ให้ตั้งใจภาวนา เอาเวลาไปวุ่นวายกับโลกภายนอกมากเกินไป ก็ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้ประโยชน์มีแต่โทษ ยุ่งกับคนอื่นตลอดเวลามีแต่โทษ เรียนรู้ความไม่ดีของตัวเราเองมีคุณ วันหนึ่งจะได้เข้าสู่มรรคผลนิพพานได้

 

 

คำถาม 1: ส่งการบ้านครั้งแรกค่ะ ทำในรูปแบบด้วยการรู้ลมหายใจเข้าพุทโธออกสลับกับการเดินจงกรมอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ระหว่างภาวนาเห็นจิตเป็นอนัตตาควบคุมบังคับไม่ได้หนูเห็นถูกไหมคะหรือคิดไปเอง? ขอหลวงพ่อเมตตาให้การบ้านเฉพาะตัวที่จะนำไปภาวนาต่อ

หลวงพ่อ: เห็นถูกนะ แต่มันยังเจือการคิดอยู่ ยังฟุ้งเก่งอยู่ ดูออกไหมว่าเราฟุ้งซ่านเก่ง? ตัวนี้ดูออกไหม? หรือดูไม่ออกใจมันชอบหนีไปหนีมา ชอบหลงไปคิด อย่างขณะนี้หลงไปคิดแล้ว ฉะนั้นเราเพิ่มพลังของสมาธิขึ้นสักหน่อย ทุกวันทำในรูปแบบไปก่อนแล้วคอยรู้ทันจิต จิตไหลไปแล้วรู้ๆ ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ เดี๋ยวมันเจริญปัญญาเอง สมาธิถูกปัญญามันก็เกิดไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ๆ จะให้เกิดปัญญาโดยที่ไม่มีสมาธิเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญญามีสัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะฉะนั้นเราอยากเดินปัญญาได้ รู้สึกไหมใจมันอยากเจริญปัญญา? สมาธิเราต้องดีก่อน ถ้าสมาธิดีการเจริญปัญญามันเกิดอัตโนมัติง่ายๆ เลย ใช้เวลานิดเดียวในการเจริญปัญญา จนกระทั่งเข้าใจความจริงของรูปนาม และปล่อยวาง ไม่นาน ขอให้จิตมันมีพลังแล้วก็ขอให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดูให้ได้เท่านั้น ตอนนี้เป็นผู้คิดอีกแล้วรู้ไหม? คอยรู้ทันตัวเอง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ไม่ห้าม ไปฝึกอีกไปที่ทำอยู่ใช้ได้ ทำมาได้ดีแล้ว ไปเพิ่มพลังของสมาธิขึ้นแล้วมันจะดีกว่านี้อีก

 

คำถาม 2: เข้าใจว่าตัวเองเห็นสภาวะได้ด้วยปัญญาไม่ใช่คิด ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่คะ?

หลวงพ่อ: การเห็นสภาวะเห็นได้ด้วยสติกับด้วยปัญญา ถ้าเราเห็นตัวของสภาวะเช่นความโกรธมันพุ่งขึ้นมาเรารู้ทัน ความหงุดหงิดพุ่งขึ้นมาเรารู้ทัน อันนี้เรียกเรามีสติ ถ้าเห็นด้วยปัญญาเราต้องเห็นไตรลักษณ์ อย่างเราจะเห็นว่าตัวโกรธนี้มันไม่เที่ยง หรือมันบังคับไม่ได้อยู่ๆ มันก็เกิดเองอยู่ๆ มันก็ดับไปเองโดยที่เราห้ามมันก็ไม่ได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ารู้ด้วยปัญญา สังเกตดูของหนูรู้ด้วยสติหรือรู้ด้วยปัญญาเป็นส่วนมากพอจะดูออกไหม? ไปดูเอา ต้องฝึกอีก แล้วก็อย่าทำจิตให้เหมือนตอนนี้ตลอดเวลา อย่างตอนนี้ตื่นเต้นใช่ไหม? ตื่นเต้นเรากดเอาไว้ จิตที่ดีที่สุดคือจิตของคนธรรมดา เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสุขทุกข์ดีชั่วหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง อันนั้นดี แต่จิตเรานิ่งอย่างนี้ทั้งวัน จิตอย่างนี้ไม่ดีจิตอาภัพ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าปล่อยให้มันทำงานแล้วมีสติรู้ไป ที่หนูฝึกก็พอใช้ได้หรอกแต่มันยังฟุ้งอยู่ มันยังไม่ใช่การเจริญปัญญาที่แท้จริง

 

คำถาม 3: ลูกปฏิบัติโดยการทำสมาธิตอนเช้าทุกวัน แต่เวลานั่งสมาธิจิตลูกจะฟุ้งมากค่ะ และเห็นจิตมันวิ่งไปฟังเสียง และวิ่งกลับมาคิด เวลาทำงานก็เห็นจิตมันสั่งงานจนกายทำไม่ทัน และเห็นว่าตัวเองมีอัตตาตัวตนสูงมาก ที่ลูกปฏิบัติมานี้ถูกต้องไหมคะ?

หลวงพ่อ: มันก็ถูกในขั้นนี้ ถูกตามลำดับไป อย่างเราเห็นจิตวิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมาอะไรอย่างนี้เรารู้ทันก็ถือว่าดี แต่จะดีกว่านี้อีกเราจะเห็นจิตที่หลงไปดูนั้นก็ดวงหนึ่ง พอเรารู้ทันว่าหลงไปดูจิตที่หลงดูดับ เกิดจิตอีกดวงหนึ่งที่เป็นคนรู้ขึ้นมาแทนไม่ใช่ดวงเดิม อันนี้เห็นเป็นดวงเดิมไหมหรือเห็นว่าเป็นคนละดวง? ถ้ายังเห็นว่าเป็นดวงเดิมยังขึ้นวิปัสสนาไม่ได้จริงหรอก สันตติยังไม่ขาด แต่ถ้าเห็นว่าจิตดูก็ดวงหนึ่งจิตรู้ก็ดวงหนึ่ง เกิดดับต่อเนื่องกันไปอย่างนี้ดีะ แต่ขั้นแรกแค่เห็นว่าจิตมันวิ่งไปแล้ววิ่งกลับมา เห็นแค่นี้ก่อนก็ถือว่าดีแล้วต่อไปจะดีกว่านี้อีก ค่อยๆ ฝึกไป มาได้ดีแล้ว

 

คำถาม 4: ติดเพ่งมากมานานค่ะ ตอนนี้ยังเพ่งอยู่ค่ะ คลายลงบ้าง มองไม่เห็นความอยากในการปฏิบัติ ปฏิบัติโดยสวดมนต์เดินจงกรมค่ะ ขอคำแนะนำในการปฏิบัติค่ะ ที่ปฏิบัติอยู่ยังคงอยู่ในทางที่ถูกหรือไม่คะ?

หลวงพ่อ: ถูกแล้วล่ะ ถ้าไม่ปฏิบัติถึงจะผิด ถ้าปฏิบัติก็ใช้ได้แล้ว เวลาปฏิบัติไม่ต้องกังวลเรื่องถูกหรือผิดอยู่กับปัจจุบันบ่อยๆ ใจเราสุข ตอนนี้ใจเราสุขก็รู้ ใจเราทุกข์ก็รู้ ใจสงบก็รู้ ใจฟุ้งซ่านก็รู้ ใจอยากจะนั่งสมาธิก็รู้ ใจเราเป็นยังไงก็คอยรู้ไปเรื่อยๆ ภาวนาไปแล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของใจตัวเองไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสมาธิมันก็เกิดเอง แต่จะดูจิตอย่างเดียวไม่พอ ของหนูพลังของจิตมันยังอ่อน ดูกายด้วย พยายามรู้สึกในร่างกาย ไปทำงานบ้านกวาดบ้านถูบ้านเห็นร่างกายทำงาน ใจเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ จิตจะได้มีพลังมากขึ้น เดินปัญญาได้คล่องตัวมากขึ้น ดีไปทำต่อ

 

คำถาม 5: ปกติเป็นคนมีความคิดเยอะจึงเจริญสติด้วยการรู้ความคิด และกลับมารู้สึกตัวสลับไปมา ขอให้หลวงพ่อแนะนำว่าถูกต้องไหม? ขอบคุณครับ

หลวงพ่อ: รู้ความคิด จิตมันคิดไป แต่พอคิดเรื่องนี้แล้วสุขก็รู้ทัน คิดเรื่องนี้ทุกข์รู้ทัน รู้ทันสุขทุกข์ รู้ทันคิดเรื่องนี้แล้วโมโหแล้วรู้ทัน คิดเรื่องนี้แล้วโลภรู้ทัน คิดเรื่องนี้ชอบ คิดเรื่องนี้ไม่ชอบ เรื่องที่คิดไม่สำคัญหรอก มันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในใจเรา จุดสำคัญคือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในใจเรา ส่วนการที่มันจะคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ห้ามมันไม่ได้มันเป็นธรรมชาติ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ดีจิตมีพลังดี

 

คำถาม 6: ภาวนาในรูปแบบด้วยการเดินจงกรม และนั่งสมาธิเป็นประจำ มีลมหายใจเป็นวิหารธรรม และระหว่างวันคอยสังเกตร่างกายจิตใจ ขอคำแนะนำชี้แนะเพิ่มเติมจากหลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ: ทำถูกแล้ว ทำถูกแล้วทำให้สม่ำเสมอ ทำไปเรื่อยๆ มีเวลาเมื่อไหร่นึกขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ แล้วทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ถ้าไม่ทำในรูปแบบเลยใจจะไม่ค่อยมีแรง แรงจะตกเร็ว ถ้าทำไปแบบนี้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ค่อยเจริญขึ้น แล้วเราดู เรามีกิเลสตัวไหนเยอะดูออกไหม? รู้ทันกิเลสตัวเองบ้างไหม? เวลากิเลสมันมารู้ไหม? โกรธ โลภ หลงอะไรแบบนี้คอยรู้ทันมันเรื่อยๆ ด้วย

การปฏิบัติไม่ใช่แค่ว่าเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาทำแต่ทางบวก แต่ทางลบกิเลสเราก็ยังตามใจมันอย่างนี้ มีทั้งบวกมีทั้งลบ คะแนนเรามันก็ไม่เต็มสักที ท่านถึงสอนว่าอกุศลก็ไม่ทำให้ละเว้น กุศลก็ให้เจริญ ในที่สุดจิตใจก็ผ่องแผ้วขึ้นมา เราก็ดูด้วยกิเลสอะไรยังไม่ละ เราก็อย่าไปตามใจมันค่อยๆ ลดค่อยๆ ละ กุศลอะไรยังไม่เจริญก็หัดเจริญไป มีศีลดีหรือยัง? ถ้ายังไม่ดีก็ตั้งใจทำให้ดี มีสมาธิไหม จิตสงบไหม จิตตั้งมั่นไหม ถ้ายังไม่พอก็ฝึกของเราทุกวันๆ อย่าท้อใจว่าต้องฝึกเยอะ ฟังไปๆ เฮ้อออ ชักท้อ แรกๆ มันก็ยากทุกคนล่ะหนูเอ๊ย ฝึกไปแล้ววันหนึ่งมันก็ดีเอง มันก็ง่ายขึ้นๆ ขี่จักรยานเป็นไหม ขี่ทีแรกขี่ได้เลยไหม ต้องล้มก่อนใช่ไหม การภาวนาก็เหมือนกันล้มลุกคลุกคลานแล้วขึ้นมานั่งขี่ต่อ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็เป็น อย่างนี้ใจเรายังล้มลุกคลุกคลาน ใจยังฟุ้งซ่าน ใจยังไม่มีแรงอะไรอย่างนี้ไม่เป็นไร ฝึกของเราไปเรื่อยเดี๋ยวมันก็มีแรงของมันเอง เหมือนคนเสื้อเหลืองนั่นจิตเขามีแรงมากกว่าเรา ดีที่หนูทำหลวงพ่อก็ยินดีด้วย ไปฝึกทุกวันๆ นะ

 

คำถาม 7: ผมอยากทราบว่าแนวทางที่ทำอยู่เหมาะสมกับผมแล้วและควรทำต่อไปใช่หรือไม่? โดยการปฏิบัติของผมจะใช้การดูร่างกายหายใจประกอบกับพุทโธ เดินจงกรม เพราะเห็นว่าตนเองดูกายได้ชัดกว่าเนื่องจากยังฟุ้งซ่านมาก

หลวงพ่อ: เหมาะสมแล้วละดูกาย แต่เพิ่มการสังเกตนิดหนึ่งจิตของเราไม่เข้าฐานหรอก เวลาดูกายจิตก็ไหลไปดู เวลาจะดูอย่างอื่นจิตก็ไหลไปดู ให้เพิ่มการรู้เท่าทันจิตที่ไหล ดูกายไปแล้วจิตไหลลงไปในกายก็รู้ลงไปเพ่งกาย หรือดูกายอยู่ดีๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นเราก็รู้ทันจิตไปด้วยเวลามันหนี สมาธิมันก็จะดีกว่านี้ใจมันจะตั้งมั่น ตอนนี้มันมีสงบเฉยๆ ยังไม่ตั้งมันไม่เข้าฐาน พวกเราบางคนฝึกได้ขนาดนี้บางทีก็เที่ยวไปวัดโน้นวัดนี้ไปหาครูบาอาจารย์บอกฝึกมาจากหลวงพ่อปราโมทย์ ดูจิตครับนี่ผมกำลังดูจิต ท่านจะบอกดูไม่ถึงจิตหรอกขณะนี้ไม่ถึงจิต ดูกายไปแล้วจิตมันเคลื่อนไปก็รู้ทัน รู้ทันจิตไป ดูกายเพื่อให้เห็นจิต พอเรารู้จิตแล้วเราจะเห็นธรรม ทำมาได้ดีแล้วละใช้ได้ อดทนไปพยายามต่อไป เห็นไหม? พยักหน้ารู้สึกไป เราคุยกับหลวงพ่อใจมันมาอยู่กับหลวงพ่อ เราก็พยักหน้าไปเรื่อยๆ แต่เราไม่เห็น ค่อยๆ ฝึก ดี

 

คำถาม 8: ปฏิบัติในรูปแบบดูลมหายใจ ร่างกายหายใจรู้จิตที่หลง เพ่งบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง ส่วนใหญ่จะฟุ้งซ่านสติไม่ค่อยถึงฐาน รบกวนหลวงพ่อเมตตาแนะนำตามจริตของผม ขอบคุณครับ

หลวงพ่อ: ที่ฝึกอยู่ก็ใช้ได้นะ อยู่ที่ชั่วโมงบินของเราฝึกไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอ ไม่คิดวันเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ปีอะไรแบบนี้ มีเวลาก็ฝึกของเราไปเรื่อย ตลอดชีวิตก็ฝึกไป กรรมฐานไม่ใช่ทำชั่วครั้งชั่วคราวเป็นของที่ทำกันทั้งชาติ พระอรหันต์ยังเจริญสติปัฏฐานเลย แต่เจริญสติปัฏฐานโดยคนละเหตุผลกับเรา เราเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติบ้างเพื่อให้เกิดปัญญาบ้าง อย่างพระอรหันต์ท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่เป็นวิหารธรรม อยู่สบายๆ หางานมาทำไว้อย่างหนึ่งสบายๆ ของเราก็เจริญไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อนว่าจะต้องได้ผลเมื่อไหร่ ถ้าอยากได้ผลเร็วมันจะยิ่งช้า ใช้ได้นะ วันนี้ภาวนากันดี ดีอยู่หลายคนเลย

 

 

ธรรมะจริงๆ เป็นของอยู่กับตัวเราไม่ได้อยู่กับคนอื่น ไม่ได้อยู่กับวัด ไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ อยู่ที่ตัวเราเอง ฟังธรรมแล้วเอาไปปฏิบัติเรียนรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ อย่าอยากว่าต้องอย่างโน้นต้องอย่างนี้ ห้ามอย่างนั้น ห้ามอย่างนี้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็นเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวมันก็ดีเอง แต่ว่าความชั่วต้องละ ความดีต้องเจริญ อย่ามักง่ายบอกว่าปฏิบัติธรรมไม่ต้องทำอะไรเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ปฏิบัติธรรมไม่ได้บอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ท่านบอกว่าให้ละบาปอกุศลทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อมคือศีล สมาธิ ปัญญาต้องพร้อม ฝึกจิตให้ผ่องแผ้ว มันผ่องแผ้วได้เพราะมันสะอาดหมดจดขึ้นมา ทีแรกมันก็สดใส สว่าง ต่อไปมันก็สว่างอย่างเดียวไม่พอแล้ว กิเลสยังซ่อนอยู่ ภาวนาไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็สะอาด สว่างสะอาดแล้วก็อยู่กับความสงบของเราไปสบาย ค่อยๆ ฝึกเอา ชีวิตจะดีขึ้นๆ

ตอนนี้เราลงมือฝึกใหม่ๆ เรายังไม่เห็นผลหรอก แต่พอเราฝึกไปนานๆ เราจะเห็นผล โดยเฉพาะเราไปเปรียบเทียบกับเพื่อนเราที่ไม่ฝึก หรือญาติพี่น้องเราที่เขาไม่ได้ฝึก แต่เราฝึกทุกวัน ผ่านไปหลายๆ ปีเราจะเห็นความต่าง พวกเราคนไหนเห็นความต่างบ้างมีไหมว่าเราตอนนี้ไม่เหมือนกับญาติพี่น้องเราแต่ก่อน? ไม่เหมือนเพื่อนฝูงเราแต่ก่อนแล้ว ถ้าเราหลงโลกเหมือนที่เขาหลงกัน เราก็เป็นอย่างที่เขาเป็น แต่เราไม่หลงโลกตามเขาไป

พยายามฝึกตัวเองไป ผ่านวันเดือนปีไปเรามีความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง มันเกิดความอิ่มอกอิ่มใจ ไม่ใช่เกิดมานะอัตตาว่ากูดีกว่าเขา เพราะมันลดละกิเลสไปเรื่อยๆ มันอิ่มอกอิ่มใจ รู้เลยพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง ธรรมะเป็นของจริง ความพ้นทุกข์มีจริง วิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ก็มีจริง เรียนจนเห็นความจริงทั้งหลาย ชีวิตเราจะเต็ม มันจะเต็มมันจะอิ่ม ชีวิตของพวกเราตอนนี้มันยังไม่อิ่มมันยังไม่เต็ม มันมีความหิวเกิดขึ้นตลอดเวลามันหิวที่ใจ เดี๋ยวก็อยากดูรูป เดี๋ยวก็อยากฟังเสียง เดี๋ยวก็อยากดมกลิ่น เดี๋ยวก็อยากลิ้มรส เดี๋ยวก็อยากรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็อยากได้อารมณ์เพลิดเพลินทางใจ ใจยังหิวอยู่ตลอดเวลา ใจที่หิวมีความทุกข์ ค่อยๆ ฝึกไปจนใจไม่หิว ใจหมดหิวใจมีความสุข

สมัยหนึ่งหลวงปู่มั่นปกติท่านอยู่ป่า คราวนั้นท่านเข้าไปที่เมืองโคราชที่นครราชสีมา คนก็แกล้งท่านไม่ค่อยพอใจพระกรรมฐาน ถามท่านว่าท่านมาที่โคราชมาทำอะไร ท่านจะมาหาอะไร ดูสิพระดีขนาดนั้นไปถึงบ้านถึงเมืองกลับไปถามว่าท่านจะมาหาอะไร ท่านบอกท่านไม่ได้มาหาอะไรท่านไม่หิวแล้ว ท่านจะมาสอนให้คนไม่หิวตามท่านต่างหาก มันไม่เข้าใจก็ช่างมัน คนไหนเข้าใจก็ได้ประโยชน์ คนไหนไม่เข้าใจก็ทุกข์ต่อไป

ไม่ใช่ทุกคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชีวิตนี้นี่ มันมีอินทรีย์แก่อ่อนไม่เท่ากัน พวกเรามีโอกาสแล้วพวกเราก็ภาวนา ตั้งอกตั้งใจไป ไม่เคยรักษาศีลก็รักษา ไม่เคยมีสมาธิก็ฝึกเข้า สมาธิมี 2 อัน ฝึกให้สงบกับฝึกให้ถอนตัวตั้งมั่นออกมา แล้วถอนตัวออกมาเป็นคนดู ให้จิตมันเป็นคนดูแล้วก็เดินปัญญาไป เดินปัญญาก็คือเห็นความจริงของกายเห็นความจริงของใจไป สุดท้ายวิมุตติก็เกิด เกิดมรรคเกิดผลจิตก็ปล่อยวางความยึดถือในกายในใจ มันปล่อยกายก่อน แล้วครั้งสุดท้ายมันปล่อยจิตเจตสิกพร้อมๆ กัน สบาย มีความสุข

คนอื่นที่หลวงพ่อไม่ได้มอบหมายเราไม่ต้องไปขยันเรียนกับเขานะ เดี๋ยวเขาพาเราพัง เมื่อก่อนก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง เที่ยวมานั่งหลอกคนในวัด ใครเดินผ่านก็บอกจิตเป็นอย่างนี้ๆ ให้เขานับถือ พอนับถือแล้วเขาก็ให้เงินให้อะไรมีผลประโยชน์ พวกสอนกรรมฐานหาผลประโยชน์มีเยอะ เราต้องระมัดระวัง คนที่เขาดีจริงเขาไม่มาเรียกร้องจากเราหรอกเพราะเขาไม่หิว คนที่หิวก็หลอกเขาแสดงปาฏิหาริย์หลอกเขาไปเรื่อย เวลาจะตายตายทุลักทุเลตายอย่างน่าทุเรศเลย หาความแช่มชื่นใจที่พอนึกถึงแล้วชื่นใจสักหน่อยหนึ่งหาไม่ได้ พวกเราภาวนาไปทำไปเรื่อยๆ ไม่คดไม่โกงใครเขา มีศีลมีธรรมไป เวลาเราจะตายเรานึกถึงชีวิตเรา ศีลเราดี แค่นี้ก็ไปสุคติแล้ว หรือเราเคยเจริญสติ เจริญปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์ได้ ถึงจุดนั้นดีไม่ดีปล่อยวางโลกทั้งโลกเลย พ้นทุกข์ไปเลยเขาเรียกพระอรหันต์ชนิดชีวิตสมสีสี หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือใจในขณะนั้นเลย

คนไม่มีศีลมีธรรมอยู่ไม่มีอะไรให้นึกถึง นึกถึงก็เช่นแค้นคนโน้นยังไม่หาย อยากอันนี้ยังไม่เสร็จ ก็ไม่ได้ไปดี ไม่ได้ดี อนาคตจะดีหรือไม่ดีเราเลือกของเราเอง แล้วการเลือกเราลงมือเลือกตั้งแต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ไปเลือกตอนจะตาย ตอนจะตายมันอัตโนมัติจงใจเลือกไม่ได้ ฉะนั้นฝึกตัวเองซะให้ดี เวลาจะตายมันจะได้อิ่มอกอิ่มใจ ตาย อาจจะบรรลุมรรคผลไปเลย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไปสุคติมาเรียนธรรมะต่อได้ ถ้าทำแต่ความชั่วไปเรื่อย เวลาจะตายก็นึกถึงแต่เรื่องชั่วๆ มืดมัวเอาดีไม่ได้แน่นอน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กันยายน 2563