สู้กับตัณหาด้วยสติและปัญญา

ธรรมะฟังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปฏิบัติ ถ้าต้องการแค่ได้บุญก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง ต้องการจะทุกข์น้อยๆ ก็ทำได้อีกอย่างหนึ่ง ต้องทำไปอีกแบบหนึ่ง ต้องการจะพ้นทุกข์จริงๆ ต้องฝึกกันอีกหนักกว่านั้น

บางคนคิดว่ามานั่งฟังหลวงพ่อพูดแล้ววันหนึ่งจะได้ยินวรรคทอง ประโยควิเศษเหมาะสมกับเรา ฟังปุ๊บบรรลุปั๊บ ไม่ต้องภาวนา นี่เป็นความคิดที่เหลวไหล มันไม่มีอะไรเกินกฎแห่งกรรมไปได้ กระทั่งการปฏิบัติธรรมก็อยู่ใต้กฎแห่งกรรมนั่น ใครทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น เข้าวัดมาทำบุญทำทานอะไร ก็มีผลของบุญของทาน เข้าวัดมาตั้งใจรักษาศีล มันก็มีบุญมีผลของศีล เข้าวัดมาหวังจะฝึกสมาธิ มันก็ไปอีกแบบหนึ่ง ได้ความสุข ได้ความสงบไป อยากได้มรรคผลนิพพาน มันต้องฝึกอีกอย่างหนึ่ง ทำแล้วก็หยุดๆ มีเวลาว่างก็เถลไถล ไม่ใช่วิสัยที่จะบรรลุมรรคผลได้ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้อะไร เราถามตัวเองก่อนว่าเข้ามาวัดนี่มาเพื่ออะไร

บางคนมาหาแฟน ผู้หญิงก็มาดูผู้ชาย บางทีมาดูพระ เลือกองค์นี้หน้าตาดูได้อะไรอย่างนี้ ผู้ชายบางคนก็มาดูผู้หญิงมาเลือก นี่เรียกว่าเข้าวัดมาหาผัวหาเมีย ครูบาอาจารย์ท่านเรียกอย่างนั้น ถามว่าได้ไหม มันก็มีคนได้เหมือนกัน แต่มันจะเอาอะไรนักหนา มันตื้นเกินไป ธรรมะของพระพุทธเจ้าดีกว่านั้น วิเศษกว่านั้นเยอะ เข้ามาหาเลขหาเบอร์หาหวย หวังว่าจะเฮงหวังว่าจะรวย ขี้เกียจทำมาหากิน มันจะรวยไปได้อย่างไร หวังรวยจากการพนัน ถ้าเราเป็นนักคณิตศาสตร์ เราก็จะรู้ การพนันมันถูกเซ็ตมาที่เจ้ามือจะต้องกำไร มาหาหวยหาเบอร์อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไหร่

หรือมาหาทำบุญอุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว มาทำบุญอุทิศให้คนตาย เขาก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วแต่สถานภาพของเขา ถ้าเขาเป็นเปรตที่ภูมิมันใกล้เคียงมนุษย์ เขาก็รับได้ อย่างไปเกิดเป็นหมา เราทำบุญให้มันไม่เอาหรอกมันเอาไม่ได้ ไปเกิดเป็นคนไปเกิดเป็นเด็กร้องอุแว้ๆ เราอุทิศส่วนบุญให้มันก็ไม่ถึง มันไม่ใช่ภูมิที่จะได้รับ หรือไปตกนรกอยู่มันก็ไม่ได้รับ ไปเป็นเทวดาไปเป็นพรหมมันเกินระดับที่จะรับส่วนบุญ เทวดาพรหมอะไรพวกนี้ เขาได้บุญด้วยการอนุโมทนาบุญที่พวกเราทำ เขาเกิดบุญของเขาเอง ฉะนั้นอย่างเรามาทำบุญอุทิศให้คนตายอะไรอย่างนี้ มันก็ยังไม่แน่นอน ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ที่ได้ก็คือตัวเองได้ ตัวเองได้ตั้งแต่ตัวเองทำบุญนั่นล่ะ คิดจะทำมันก็เริ่มได้บุญแล้ว ระหว่างทำก็ได้บุญ ทำเสร็จแล้วนึกถึงแล้วอิ่มอกอิ่มใจมันก็ได้บุญ ที่ได้แน่นอนคือตัวเราเอง ส่วนคนที่ตายแล้วจะได้ไม่ได้ยังไม่แน่ พระก็ไม่ใช่ไปรษณีย์ ไม่ใช่ Kerry ไม่ได้รับส่งอย่างนั้น

บางพวกก็เข้าวัดมาหวังอยากพ้นทุกข์ อกหักรักคุดมาเข้าวัด มานั่งสมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระอะไรอย่างนี้ สักพักหนึ่งสบายใจ พอใจแล้วกลับบ้าน มันก็แค่ได้สบายใจ

แต่มาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ได้สอนพวกเราแค่ทำบุญ ทำทาน แค่ถือศีล แค่นั่งสมาธิ ทำความสงบอะไรอย่างนี้ มันไม่คุ้มค่าที่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ ถ้าเราจะคุ้มค่าจริงๆ เราต้องเรียนให้ได้คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ

 

จุดมุ่งหมายเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ ท่านใช้คำอย่างนี้ ดับสนิทแห่งทุกข์ แต่เวลาเราภาวนาจริงมันพ้นทุกข์ก่อนแล้วมันดับสนิทแห่งทุกข์ทีหลัง

ตอนที่ใจเราพ้นทุกข์นี่คือตอนที่บรรลุพระอรหันต์ เรียกบรรลุถึงสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่มีขันธ์เหลือ ความทุกข์ยังมีอยู่ แต่ใจมันพ้นทุกข์ ใจมันไม่ทุกข์ไปด้วย ความทุกข์ก็คือตัวขันธ์ 5 มันยังมีอยู่ แล้วขั้นสูงสุด ความดับสนิทแห่งทุกข์ อันนั้นเป็นการที่บรรลุถึง พวกเราจะเรียกว่านิพพาน จริงๆ มันคือ อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีขันธ์เหลืออยู่ นี่เป็นความดับขันธ์ ดับขันธ์ก็คือดับทุกข์ ยังมีขันธ์อยู่แต่จิตไม่ยึดถือขันธ์ จิตมันก็พ้นทุกข์ ฉะนั้นนิพพานตรงนี้มีสองชนิด นิพพานที่มีขันธ์เหลืออยู่กับนิพพานที่สิ้นขันธ์

ขั้นแรก เราก็ทำให้ได้ก่อน ยังมีขันธ์อยู่ บรรลุพระอรหันต์ จิตมันหมดความยึดถือในขันธ์ ในขันธ์ ในรูป ในเวทนา รูปคือร่างกายเรานี้ เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ สัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ สองอันนี้ก็ไม่เหมือนกัน จำได้กับหมายรู้ แต่ว่ายังไม่ต้องเรียนมาก เรียนเยอะ เวียนหัว สัญญาเข้าใจยาก ถ้าพลาดพลั้งนี่เพี้ยนเอาง่ายๆ เลย หรือสังขาร ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ความปรุงไม่ดีไม่ชั่ว นี่ก็พ้นจากสังขาร วิญญาณคือตัวจิต ที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยึดถือมัน ไปดูก็สักแต่ว่าดู ไปฟังก็สักแต่ว่าฟัง ไปดมกลิ่นก็สักแต่ว่าดมกลิ่น ไปลิ้มรสก็สักแต่ว่าลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็สักแต่ว่ารู้สัมผัสทางกาย มีอารมณ์ทางใจเกิดขึ้น ก็สักแต่ว่ารู้ว่าเห็น ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่ยึดถือจิตใจตนเอง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่ทุกข์แล้ว ความทุกข์มันอยู่ที่ตัวขันธ์ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา ตัวจิตไม่มี ตัวจิตที่มันพ้นแล้ว ไม่มี แต่จิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 นั้น ยังทุกข์อยู่

มาเรียนธรรมะ เรียนให้มันได้แก่น เราเป็นชาวพุทธ สิ่งที่เราต้องการก็คือ ความพ้นทุกข์และความดับสนิทแห่งทุกข์ การที่จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าทุกข์มันเกิดจากอะไร ความทุกข์มันเกิดจากตัณหา ความอยาก เวลาเราอยากอะไรขึ้นมาใจมันก็ทุกข์ทุกที

กระทั่งอยากปฏิบัติใจก็ดิ้นรนปฏิบัติ ตรงที่ใจดิ้นรนเรียกว่าภพ มีตัณหาเป็นผู้สร้างภพ มีภพก็มีชาติ มันมีตัวเราขึ้นมา มีชาติขึ้นมามันก็มีทุกข์ มันเรียงกันอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ไม่ยาก ฟังแล้วยากแต่ว่าลงมือทำจริงไม่ยากหรอก เราก็ดูต่อไป ความอยากมันเกิด รู้ไหม ถ้าความอยากใดๆ เกิดขึ้นแล้วเห็น ความอยากมันดับ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตมันก็ไม่เกิด จิตมันไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตมันก็ไม่ทุกข์ก็แค่นั้นเอง

ฉะนั้นเราหัดใหม่ๆ ง่ายๆ เลย ใจเราอยากขึ้นมาทีไร รู้ทุกที ใจมันอยากแล้วก็รู้ ใจเราอยากก็รู้ ฝึกตัวนี้ให้มากๆ รู้ว่าใจอยาก

พอทำได้ไหม อยากจองอยู่วัด รู้ว่าอยากแล้วรีบจอง เพราะสมควรจะมาฟังธรรมที่วัดแล้วก็ต้องจอง ตอนมาฟังธรรม อยากฟังก็รู้ ฟังแล้วงง เบื่อแล้ว อยากกลับบ้านแล้ว อยากไปเที่ยวแล้ว ก็รู้ว่าอยาก หรือจะกินข้าว เห็นอาหารหลายอย่าง อยากกินอันนี้ รู้ว่าอยาก

รู้ทันความอยากของตัวเองไปเรื่อยๆ เป็นวิธีปฏิบัติที่ง่ายๆ อันนี้ ทันทีที่เรารู้ทันใจที่อยาก ความอยากมันจะดับอัตโนมัติ พอความอยากมันดับ ความดิ้นรนของจิตมันก็ดับ ความดิ้นรนของจิตดับ ความทุกข์ของจิตมันก็ไม่เกิด ถ้ามันยังดิ้นรนอยู่ ก็ทุกข์อยู่ ไม่ดิ้น ก็ไม่ทุกข์หรอก

ฉะนั้นขั้นแรกให้เรารู้ทันใจที่อยาก อยากอะไรขึ้นมาก็รู้ อยากอะไรขึ้นมาก็รู้ ฝึกรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ อยากฟังธรรมก็รู้ อยากกลับบ้านก็รู้ อยากกินก็รู้ อยากนอนก็รู้ อยากมีแฟนก็รู้ อยากรวยก็รู้ อยากอะไรขึ้นมา รู้ไปเรื่อยๆ

ความอยากนับจำนวนไม่ถ้วน มีเยอะแยะ แล้วแต่จะอยาก แต่ถ้าย่อลงมา มันก็มีความอยากจะเห็นรูป ความอยากจะได้ยินเสียง ความอยากได้กลิ่น ความอยากได้รส ความอยากได้สัมผัสทางกาย ความอยากที่จะได้อารมณ์ทางใจ ตรงที่เราอยากได้อารมณ์ที่ดี คือรูปที่ดี เสียงที่ดี กลิ่นที่ดี รสที่ดี สัมผัสที่ดีนี่ อยากได้สิ่งเหล่านี้มาเพราะคิดว่ามันนำความสุขมาให้ อยากอันนี้เรียกว่า กามตัณหา อยากได้อารมณ์ที่ดี ที่ถูกอกถูกใจ พอเราได้อารมณ์ที่ดีที่ถูกอกถูกใจมาแล้ว สมอยากก็ได้อารมณ์ที่ดีมา เราก็อยากอีกแล้ว อยากรักษาไว้

พวกเราเคยมีใครเคยรู้สึกไหม อย่างสมมติว่าเรามีแฟนแล้ว หรือเราแต่งงานแล้ว มีครอบครัวแล้ว เราอยากให้ความรักของเรายั่งยืนตลอดไป สามีไม่ทิ้ง ภรรยาไม่ทิ้งอะไรอย่างนี้ อยากให้ลูกอยู่กับเราไปเรื่อยๆ มีใครอยากให้ลูกตายบ้าง อาจจะมี แต่ว่าหายากหน่อย แม่ก็ฆ่าลูกยุคนี้ก็มีเยอะแยะไป อย่างท้องขึ้นมาก็ไปทำแท้ง นี่ก็ไปฆ่าลูกมันแล้ว อยากให้มันตาย

อยากให้ได้มา เรียกว่า กามตัณหา อยากให้สิ่งที่พอใจนั้นคงอยู่ เรียกว่า ภวตัณหา อยากให้สิ่งซึ่งไม่ชอบใจนั้นหมดไปสิ้นไป เรียกว่า วิภวตัณหา

ความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย ในอารมณ์ทางใจ 6 ช่องทางนี้ แต่ละช่องทางมันมี 3 ลักษณะ อยากเห็นรูป อยากรักษารูปที่ได้มาแล้วถูกอกถูกใจ อยากให้รูปที่ไม่ชอบใจหายไป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็มีอย่างละสามๆ เหมือนกัน 3 คูณ 6 ได้ 18 เห็นไหม ตัณหามีเยอะ หรือถ้าซอยย่อยๆ ออกไปอีกมีเยอะแยะเลย ซึ่งมันเกินจำเป็นสำหรับนักปฏิบัติ

พอเราเป็นนักปฏิบัติ เราก็แค่คอยรู้ทัน มันอยากดู เราก็รู้ พอมันดูแล้ว มันอยากให้รูปนี้คงอยู่ เราก็รู้ มันอยากให้รูปนี้หายไป เราก็รู้ มันอยากฟังเสียง เราก็รู้ มันอยากให้เสียงอันนี้คงอยู่นานๆ เราก็รู้ มันอยากให้เสียงอันนี้หมดไป สิ้นไป เราก็รู้ มันอยากได้ความสุขในใจ มีอารมณ์ที่มีความสุขในใจ เราก็รู้ พอมันสุขในใจแล้วอยากให้ความสุขนี้อยู่ตลอดไป เราก็รู้ พอเบื่อมา มีความสุขนานๆ ก็เบื่อ อยากให้มันหมดไป อยากไปหาอันอื่นแล้ว ความสุขอันนี้ไม่เอาแล้ว ไม่สุขแล้ว อยากให้สิ้นไป นี่เล่ห์กลมารยาของตัณหา ทำงานอย่างนี้ คอยรู้ทันมัน

 

อาศัยสติอาศัยปัญญา ชนะกิเลสชนะตัณหา

ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่ากิเลสมันเก่งหรอก กิเลสตัณหา ตัณหามันก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง กิเลสตัณหามันเก่งจริงครองโลกได้ แต่มันไม่พ้นอำนาจของสติปัญญาไปได้ อาศัยสติอาศัยปัญญา เราก็จะชนะกิเลสชนะตัณหาได้ ตอนนี้ยังไม่ชนะ ให้มันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะก็ยังดี

คนในโลกไม่เคยภาวนานี่มันแพ้ตัณหาตลอดเวลา มันเป็นขี้ข้าของตัณหา มันเป็นทาสของตัณหา มันไม่รู้ตัวเลยว่ามันเป็นทาสอยู่ พอเรามาเริ่มภาวนา เราจะรู้เลยตัณหานี่มันสั่งเราทั้งวันเลย สั่งให้ไปทำนู่นสั่งให้ไปทำนี่ สั่งว่าอย่าทำอันนั้นสั่งว่าอย่าทำอันนี้ มันสั่งเราตลอดเวลา สั่งให้แสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ สั่งให้รักษาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไว้ สั่งให้ขับไล่อารมณ์ที่ไม่พอใจ มันสั่งเราตลอดเวลา

คนในโลกนี้ถูกตัณหาสั่งอยู่ตลอดเวลาแล้วไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเลย ก็ตามใจไปเรื่อยๆ สนองมันไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่มีที่สิ้นสุด มันอยากนี้พอได้มามันก็ไปอยากอย่างอื่นต่อ ไม่มีวันจบวันสิ้น พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี เหมือนใหญ่กว่ามหาสมุทรอีก เท่าไรๆ ก็ไม่เต็ม มันหิวตลอด

ทีนี้เราจะสู้กับตัณหาด้วยการสนองตัณหาอย่างที่ชาวโลกเขาทำ มันทำไม่ได้ อย่างหมาพอถึงฤดูติดสัดมันก็อยากผสมพันธุ์ พอมันไปผสมพันธุ์ มันก็ไปกัดกับตัวโน้นตัวนี้ สู้ตายเลย บาดเจ็บ ร่องแร่ง ผสมพันธุ์เสร็จแล้วมันก็แยกย้ายไปแล้ว สนองตัณหาไปคิดว่ามีความสุขแต่มันเจือความทุกข์เข้าไปตั้งเยอะตั้งแยะ เราไปดูเถอะ เราอยากอะไรขึ้นมา มันมีความทุกข์เจือปนอยู่ในนั้นเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นการจะสู้ตัณหาด้วยการสนองตัณหาไม่มีวันจบวันสิ้น

บางคนก็สู้ตัณหาด้วยการฝืนใจ มันอยากกิน ไม่กิน มันอยากดูไม่ดู มันอยากฟังไม่ฟัง มันอยากได้กลิ่นก็ไม่ดมมัน หลีกเลี่ยงมัน กลัวจะติดในกลิ่นหอมก็ไปหาขี้ไก่มาวางไว้รอบห้อง จะได้ไม่ได้กลิ่นหอมๆ อะไรอย่างนี้ ฝืนมัน ทรมานมัน ใจมันมีตัณหา มันอยากอย่างนี้ทำสิ่งที่ตรงข้ามไป มันไม่ได้ช่วยอะไรมันทำตัวเองให้ลำบากเฉยๆ ตัณหาแอบหัวเราะอยู่ทีหลัง สมมติว่าเราได้กลิ่นดอกไม้หอมๆ เรากลัวจะได้กลิ่นเดี๋ยวจะติดใจเป็นการติดในกาม เราตัดดอกไม้ทิ้งไปหมดเลย หาขี้ไก่มาทิ้งไว้เต็มบ้านเลย ตรงที่เราอยากตัดดอกไม้นั้นก็ตัณหาแล้ว ตรงที่อยากได้ขี้ไก่เหม็นๆ มาไว้ในบ้านนั่นก็ตัณหา เพราะฉะนั้นที่จะสู้ตัณหาด้วยการฝืนมันนี่ ในความจริงก็คือตกเป็นทาสมันไปอีกแบบหนึ่ง มันใช้ไม่ได้จริง

วิธีที่จะสู้กับตัณหาได้ อาศัยสติอาศัยปัญญาของเรา ขั้นแรกใช้สติ ใจ เรามีความอยากเกิดขึ้น รู้ทัน ใจมันมีความอยากเกิดขึ้น รู้ทัน จะอยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัส อยากได้อารมณ์ทางใจที่ถูกอกถูกใจ อะไรอย่างนี้ ก็แค่รู้ว่ากำลังอยากอยู่ พอได้มาแล้วมันมีอยากต่อ อยากต่อเนื่อง มันได้แล้วสิ่งที่ชอบใจ อยากให้มันคงอยู่ รู้ว่าอยาก มันไปได้อารมณ์ มันอยากเห็นรูปสวยๆ แต่มันไปเห็นของไม่สวย มันอยากให้ไม่เห็น อยากให้สิ้นไป หมดไป สิ้นไป รู้ว่าอยาก นี่ลีลาของมัน คอยรู้ทันมันไป

ทีแรกมันอยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสทางกาย ได้อารมณ์ทางใจที่พอใจ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว มันก็ได้อารมณ์ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ถ้าได้อารมณ์ที่พอใจ มันก็อยากใหม่ ใช่ไหม สนองความอยากอันหนึ่ง อยากจะจีบสาว ได้สาวมาแล้ว ถูกใจ อยากให้เขาเป็นแฟนเราตลอดไปอะไรอย่างนี้ มันก็มีความอยากอีกตัวซ้อนขึ้นมาอีก มันไม่มีวันจบวันสิ้น แต่อาศัยสตินี่รู้ทันมันไปเรื่อย มันอยากเห็นรูป รู้ว่าอยาก ทีนี้บางทีตาเรามี มีตา มีรูป มีแสงสว่าง มีจิตที่เกิดทางตา ไม่ได้เจตนาจะเห็นรูป มันเห็นเอง

อย่างบางคนเวลารถชนกัน อยากดูก็อยากดู ได้ยินเขาพูดกันแว่วมาทางวิทยุ ในรถยนต์มีวิทยุเขาบอกว่ารถชนตรงนี้ๆ มีคนตายตั้งหลายคน รถก็ติด รถติดเราก็อยากดู บางคนกลัว กลัวเห็นศพ ดูตาเดียว สงวนตาหนึ่งเอาไว้ แก้หวาดเสียว ใครเคยเป็นไหม เวลาหวาดเสียว ดูนิดหน่อย ปิดตาไว้ข้างหนึ่ง บางคนไม่มีอกุศลวิบาก จะไม่ต้องเห็น ไปชะเง้อดูตรงที่รถชนกันไม่เห็นอะไรเลย เห็นแต่คนเยอะแยะเลย เห็นแต่รถยนต์ อีกคนหนึ่งมีอกุศลให้ผล กลัว ไม่กล้าดูตรงที่รถชน หันมาฝั่งตรงข้ามมาอยู่ริมถนน ปรากฏว่าเขาขนศพมาไว้ริมถนนแล้ว ไปเห็นของไม่สวยไม่งาม

ฉะนั้นการที่เราจะเห็นของสวยของงาม หรือของไม่สวยไม่งาม ไม่ได้เป็นตามที่อยากอย่างเดียวหรอก เป็นตามที่กรรมกำหนดด้วย มีกรรมที่ดีมันก็เห็นแต่ของที่ดี มีกรรมที่เลวมันก็ได้สัมผัสกับของที่เลว นี่มันไม่ได้เป็นไปตามอยากหรอก แต่ความอยากมันมี แต่ว่ามันไม่ได้อย่างที่อยากหรอก มันเป็นไปตามกรรม

เราค่อยๆ เรียนรู้ตัวเอง ค่อยๆ เข้าใจไป แต่ขั้นแรกง่ายๆ เลยก็คือใจอยากขึ้นมาแล้วรู้ อยากแล้วรู้ อยากดูก็รู้ อยากฟังก็รู้ อยากได้กลิ่นก็รู้ อยากได้รสก็รู้ อยากได้สัมผัสทางกายก็รู้ อยากได้ธรรมารมณ์ อารมณ์ทางใจที่ถูกอกถูกใจก็รู้ พอได้มาแล้วอยากรักษาไว้ก็รู้ อยากให้หมดไปก็รู้ คอยรู้ไป

เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้บ่อยๆ เรียกว่าเราสู้กับตัณหาด้วยสติ ทันทีที่เรารู้ว่าจิตอยาก ความอยากจะดับโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องไปดับมัน มันดับของมันเอง เพราะตัวความอยากนั้นมันเป็นตัวโลภะ เป็นตัวโลภ เป็นตัวกิเลส เป็นโลภะที่มีกำลังแรง กลายเป็นตัณหา ความอยาก ทีนี้ทันทีที่เรามีสติรู้ทันใจที่อยาก สติเกิดปุ๊บนี่กิเลสมันทนสติไม่ได้ ตัณหาความอยากมันจะดับอัตโนมัติ ไม่ต้องไปดับมัน ไม่ต้องหาวิธีต่อสู้กับมัน

อย่างที่ได้กลิ่นดอกไม้หอม แล้วไปตัดดอกไม้ทิ้งอะไรอย่างนี้ อันนั้นไม่ได้พ้นตัณหาหรอก ทำตามแต่ทำตามในเชิง negative ในเชิงปฏิเสธ เรามีสติรู้ลงไปเท่านั้น ใจมันอยากก็รู้ๆ ความอยากจะดับอัตโนมัติ ขั้นต้นฝึกไปอย่างนี้ สู้มันด้วยสติ

ต่อไปสู้ด้วยปัญญา จะเห็นลึกซึ้งลงไป ตรงนั้นต้องเห็นปฏิจจสมุปบาทในขั้นละเอียดลงไปอีก พวกเราตอนนี้ยังไม่เห็น ถ้าเห็นละเอียดลงไป เราจะรู้เลยตัณหาเกิดจากอะไร

ตัณหามีได้เพราะอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 เราไม่รู้ว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ เราคิดว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราก็เกิดความอยากให้ร่างกายมีความสุข เกิดความอยากให้ร่างกายไม่ทุกข์ เราไม่รู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ เราเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราก็เลยเกิดความอยาก อยากให้จิตมีความสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์ มีความอยากเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ จิตนี้เป็นตัวทุกข์ ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์นี่มันจะไม่เกิด ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุขมันก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันคือตัวทุกข์ ความอยากให้มันไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ ความอยากให้มันสุขก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ นี่รู้ทุกข์

 

รู้ทุกข์

ฉะนั้นการรู้ทุกข์นั้นสำคัญ แต่ขั้นแรกนี่รู้ใช้สติรู้ตัณหาไปก่อน แล้วต่อไปมันจะค่อยๆ รู้ลึกซึ้งไปถึงต้นเหตุ ต้นเหตุที่ให้เกิดตัณหาคือตัวอวิชชา การไม่รู้ความจริงในกายในใจของเรา แล้วขุดค้นลงไปถึงจิตถึงใจ เกิดปัญญาอย่างถ่องแท้ขึ้นมา ปัญญาขั้นสูงตรงนี้ เขาเรียกว่าวิชชา รู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์ รู้ในอริยสัจ 4 เรียกว่าวิชชาเกิด อวิชชาตาย ถูกทำลายไป ตัณหาจะไม่เกิดอีก

อย่างถ้าเราภาวนาไปจนถึงวันหนึ่ง เป็นพระอรหันต์แล้ว ปล่อยวางกายปล่อยวางจิตไปหมดแล้ว ไม่ได้ยึดถืออะไรเลยสักอย่างเดียว ตัณหาจะไม่มี ตัณหาจะไม่เกิดอีก ไม่ต้องรักษาจิตใจให้มันพ้นจากตัณหา ไม่มีตัณหามันสบายกว่ากันเยอะ มันไม่มีงานที่จะต้องทำอีกต่อไป พวกเรายังไม่ได้พ้นจากอวิชชา เพราะฉะนั้นตัณหายังมี งานของเรายังมี

มีสติรู้ตัณหาของเราไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันค่อยแทงตลอดลงไปถึงต้นเหตุของปัญหา ก็ไปล้างอวิชชา อันนั้นค่อยๆ ทำไป บางคนชาตินี้เขาจะทำได้ บางคนชาตินี้ยังทำไม่ได้ อีก 3 ชาติ 7 ชาติถึงจะทำได้ บางคนอีก 100 ชาติ 1,000 ชาติถึงจะทำได้ แล้วแต่กรรม เรามีกรรมขนาดไหน

เราทำกรรมฐานเป็นยอดของกรรม ทำกรรมฐานที่ดีขึ้นมานี่ได้มรรคได้ผลขึ้นมา ความเวียนว่ายของเราในวัฏฏะก็จะสั้นลงๆ จนถึงจุดซึ่งมันรู้แจ้งแทงตลอด มันปล่อยวางจิตไปแล้ว มันหมดความดิ้นรน หมดความหิวโหยของจิตแล้ว ความเกิดใหม่จะไม่มีอีกต่อไป

ทีนี้บางคนได้ยินว่าภาวนาเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ได้เกิด ตกใจ กลัว เวลาด่ากัน โกรธขึ้นมาก็แช่ง อย่าให้มึงได้ผุดได้เกิดเลย เคยมีคนมันไปพาลไปด่าพระพุทธเจ้า
“สมณโคดมไม่ผุดไม่เกิด” ท่านบอก “ใช่”
“สมณโคดม เป็นคนไม่มีรสชาติ”  ท่านว่า “ใช่ เราไม่ติดในรส”

ท่านว่าอย่างนี้ ด่าว่าไม่ผุดไม่เกิดก็ใช่ ไม่เกิดอีกต่อไปแล้ว นี่ไม่โกรธ ที่เขาด่าๆ กลายเป็นเรื่องความจริงทั้งหมดเลย มนุษย์ไม่ชอบความจริงเลยเอาความจริงมาเป็นคำด่า

อย่างมาแช่งเราว่าอย่าผุดอย่าเกิด ตายแล้วอย่าไปเกิด อะไรอย่างนี้ เราถือว่าด่าเพราะเรารักการเกิด แต่ถ้าเราภาวนาจนแจ่มแจ้ง ใครมาบอกเราว่าอย่าผุดอย่าเกิดเลย เราจะดีใจ เป็นคำพูดที่เป็นสิริมงคลมากเลย ฟังแล้วได้กำลังใจ

ขั้นแรกเราก็ดูใจ เราอยากอะไรขึ้นมาก็รู้ๆ ไปฝึกให้ดีๆ แต่ก่อนจะเห็นตรงนี้ได้ มีเงื่อนไขพื้นฐาน ถือศีล 5 ไว้ ศีล 5 พอแล้ว ไม่ต้องศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ศีล 300 ร้อยกว่าข้อของภิกษุณี อะไรอย่างนี้ ไม่ต้อง เอาศีล 5 ข้อนั่นล่ะพอแล้ว

รักษาศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบแบ่งเวลาไว้เลยต้องทำ เจ็บป่วยลุกขึ้นเดินจงกรมอย่างที่ตั้งใจไว้ไม่ไหวแล้ว ก็นอนขยับตัวไป หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ได้ยินท่านเล่ามาเองเลย บอกพระนักปฏิบัติตั้งใจไว้ทุกวันท่านจะต้องเดินจงกรม ทีนี้ป่วยหนักลุกขึ้นเดินไม่ไหวแล้ว ท่านก็นอนพลิกไปพลิกมา นอนพลิกตัวไปนี่ขยับตัวไปเรื่อยๆ เจริญสติ คนมาเห็นเข้า โอ๊ย พระองค์นี้ภาวนาไม่เป็น เวลาจะตายแล้วดูกระสับกระส่ายใหญ่แล้ว พลิกไปพลิกมาๆ ที่จริงท่านภาวนา แต่ท่านลุกขึ้นเดินไม่ไหว ท่านก็ขยับตัว ขยับๆๆ ไป ครูบาอาจารย์บอกท่านพ้นทุกข์ไปเลยตอนที่จะตาย มันทำได้ นี่ขอให้เราเด็ดเดี่ยวเท่านั้น

หลวงพ่อพุธท่านเล่าถึงพระอีกองค์หนึ่ง ท่านรักษาข้อวัตร ตกบ่าย บ่ายสามโมงบ่ายอะไรอย่างนี้ ลุกขึ้นกวาดวัดทุกวันเลย กวาดวัดปัดกวาดถนนรอบๆ วัดลานวัดอะไรอย่างนี้ ปัดกวาดศาลา ปัดกวาดกุฏิที่อยู่อาศัยอะไรอย่างนี้ ทำความสะอาด ท่านทำอย่างนี้มาตลอดชีวิตเลย จนแก่ วันที่ป่วยหนักนี่ไม่สามารถจะลุกขึ้นได้แล้ว นอนอยู่กับพื้น พระอื่นก็ไม่มี อยู่องค์เดียว ถึงเวลาที่ท่านต้องทำข้อวัตร ต้องปัดกวาดวัด ท่านกำหนดจิตว่าท่านกำลังจะทำข้อวัตรแล้ว ท่านลุกไม่ได้ ท่านเอามือของท่านปาดข้างๆ ตัวท่าน ทำกำหนดจิตว่านี่กำลังเช็ดฝุ่นอยู่ นักปฏิบัติจริงๆ เข้มแข็งขนาดนี้ แล้วท่านก็ได้ของดีของวิเศษกัน

พวกเราอ้างโน่นอ้างนี่ วันนี้ทำงานมากแล้วเมื่อยแล้วนอนดีกว่าอะไรอย่างนี้ แล้วจะมาบ่นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ดีจริง ทำแล้วไม่พ้นทุกข์ มันพ้นไม่ได้หรอก ใจเรายังอ่อนแอเกินไป ทุกวันต้องทำในรูปแบบให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป ไม่ยอมผัดวันประกันพรุ่ง เวลาที่เหลือเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ใจมันอยากขึ้นมาก็รู้ๆ

อย่างวันนี้หลวงพ่อสอนให้ดูใจอยาก ที่จริงดูตัวอื่นก็ได้ อย่างเราขี้โกรธ เราดูโกรธขึ้นมาก็รู้ หายโกรธก็รู้ แต่ว่าไม่ว่าจะโกรธ โลภ หรือหลงอะไร มันทำงานต่อมามันก็กลายเป็นอยากทั้งนั้นล่ะ ฉะนั้นเราดูใจที่อยากเรื่อยๆ ไป ต่อไปสติปัญญาของเราเข้มแข็งขึ้น พอความอยากเกิดสติระลึกรู้ปั๊บ ความอยากดับ ความดิ้นรนของจิตดับ ความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น

เฝ้ารู้เฝ้าดูนานไปจะเห็นอีกว่าใจมันจะอยากก็ห้ามมันไม่ได้ จิตนี้มันเป็นอนัตตา มันจะอยากก็ห้ามมันไม่ได้ นี่รู้เข้ามาถึงความเป็นไตรลักษณ์ของตัวขันธ์ 5 แล้ว ตัวจิตตัวใจอะไรอย่างนี้ ตัวนี้จะทำลายอวิชชาได้ รู้ลึกลงมาถึงจิตถึงใจ ค่อยๆ ฝึก อย่ารีบร้อน วันนี้ยังไม่ต้องไปฝึกทำลายอวิชชาหรอก ฝึกมีตัณหาแล้วรู้ทันให้ได้ซะก่อน ทำตรงนี้ให้ได้ซะก่อน ก็จะไม่เสียชาติเกิดหรอกที่เกิดมาเป็นชาวพุทธทั้งที

พอไหวไหม ไม่ได้สอนอะไรเยอะเลย สอนให้ถือศีล 5 ไว้ สอนว่าทุกวันต้องทำในรูปแบบ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรก็ทำไป ไม่ขี้เกียจ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่อ่อนแอท้อแท้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตัวง่ายๆ ดูตัวอยากไปเรื่อยๆ จริงๆ ดูได้ทุกตัว ดูตัวเวทนาก็ได้ ตัวอยากเป็นตัวตัณหา อยู่ในโลภะก็ได้ ตัวอื่นก็ได้ แต่หลวงพ่อสอนตัวเดียวก่อน เพราะเราคิดว่าตัวโน้นก็ได้ตัวนี้ก็ได้สุดท้ายไม่เอาสักตัวหนึ่ง เรื่องมาก นู่นก็จะรู้นี่ก็จะรู้ สุดท้ายไม่รู้สักตัวหนึ่ง จับหลักไม่ได้สักที

ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปสักตัวหนึ่ง จะดูตัณหาก็ดูมันให้เด็ดเดี่ยวลงไป มันเกิดเมื่อไหร่ก็รู้ มันดับไปก็รู้ ฝึกไปเรื่อยๆ มีตัณหาซ้อนตัณหาก็รู้อีก อย่างอยากดูรูป อยากฟังเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส นี่มีตัณหาแล้ว พอได้มาแล้วก็มีตัณหาซ้อนเข้าไปอีก อยากให้คงอยู่ อยากให้ดับไป อะไรอย่างนี้

เฝ้ารู้เฝ้าดูมันไปเรื่อย เอาตัวเดียวก็พอแล้ว ภาวนาพอรู้ได้แจ่มแจ้งตัวหนึ่งเดี๋ยวก็รู้ตัวอื่นหมด ค่อยๆ ฝึกไป สุดท้ายมันก็จะเข้ามาที่จิตที่ใจ มันจะรู้เลยจิตมันจะมีตัณหาห้ามมันไม่ได้ จะเห็นเลยจิตมันเป็นอนัตตา สุดท้ายมันก็ปล่อยวางจิต ปล่อยวางจิตได้ก็จะพ้นทุกข์ ก็จะมีขันธ์ 5 อยู่ แต่จิตไม่ยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือจิตจะไม่ยึดถือขันธ์ 5 เพราะขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต จิตดวงเดียวนั่นล่ะสร้างขันธ์ 5 ขึ้นมา ฉะนั้นวางจิตตัวเดียวก็วางขันธ์ 5 ทั้งหมด

ค่อยๆ ฝึกไปไม่ยาก ถ้าคิดมากก็ยากนาน คิดแต่ว่าจะฝึกยังไงดีไม่ลงมือดูสักที ไม่ได้กินหรอก ยิ่งพวกเข้าวัดโน้นออกวัดนี้ไปเรื่อยๆ นี่ไม่ได้กินหรอก ใจโลเลๆ ไปเรื่อย ดูให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป ใจมันอยากก็รู้ๆ พอทำได้ไหมดูใจที่อยาก ยากไปไหม ไม่ยากหรอก ไปหัดดูไป

 

 

คำถาม 1: เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่วัด หลวงพ่อให้การบ้านว่า กลับไปทำเบสิกมากๆ ยังฟุ้งและสมาธิไม่พอ หนูก็กลับไปขยันภาวนาตามที่หลวงพ่อบอก บางครั้งเวลาทำในรูปแบบจะรู้สึกทุกข์ ผุดที่กลางอก เหมือนใจผลิตความทุกข์ขึ้นมาได้เอง แต่หนูจะรู้สึกทนไม่ไหวและเปลี่ยนอารมณ์ไปทำอย่างอื่นแทน การภาวนาตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยพัฒนา ใจชอบไหลไปรวมกับอารมณ์ ไม่ตั้งมั่น ขอหลวงพ่อแนะนำต่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: มันพัฒนาเยอะแล้ว จากกุมภาพันธ์มาถึงตรงนี้ จิตใจเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะแยะแล้วที่เล่ามา มันเล่าถูกทั้งนั้น นี้ตรงที่มันผุดขึ้นกลางอก เราเห็นแล้วทุกข์ทนไม่ไหวเพราะสมาธิเราไม่พอ นี้ถ้าเราเกิดรู้สึกทุกข์มากๆ เราก็กลับไปทำสมถะ พอมีแรงแล้วก็กลับมารู้ทุกข์ต่อไปอีก จะหนีตลอดไม่ได้

มันเหมือนการทำสงคราม ข้าศึกเข้มแข็งกว่าเรา เราก็ถอยก่อน ถอยไปไม่ใช่ถอยแพ้ หนีไปเลย ถอยไปรวบรวมกำลัง เราเป็นนักปฏิบัติ เราก็ถอยไปทำสมาธิ ไปทำสมถะ พอใจเรามีกำลังก็กลับมาสู้กับมันอีก มาดูทุกข์ต่ออีก ไม่ใช่หนี แพ้แล้ว หนีแล้วหนีไปเลย หนีไปก็ทำสมถะแล้วกลับมาสู้ใหม่ มาดูใหม่

ยังไงก็หนีทุกข์ไม่ได้หรอก เพราะขันธ์ 5 มันเป็นตัวทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ไม่เห็นธรรมหรอก ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านดูกายของท่านนี่จนกระทั่งกายนี้มันทุกข์เหมือนภูเขาลงมาขยี้เลย เหมือนภูเขาลงมาบดทับๆ ๆ มันทุกข์ขนาดนั้น ท่านไม่ถอย จิตท่านทรงสมาธิเข้มแข็ง ไม่ถอย ท่านไม่ตาย กิเลสตาย บางองค์ก็ดูจิตดูใจ เห็นจิตนี่มันทุกข์จริงๆ เหมือนภูเขาลงมาขยี้เลย ท่านไม่ถอย ท่านดู สุดท้ายกิเลสก็ตายเหมือนกัน

ฉะนั้นเวลาเห็นทุกข์อย่ากลัว สู้ไม่ได้ ถอยมาตั้งหลัก คือทำสมถะ มีแรงแล้วไปสู้ใหม่ไปรู้ไปดูใหม่ เห็นก็เห็น มันหายไปแล้วก็แล้วไป ไม่ต้องไปเที่ยวหามัน ปฏิบัติไป

 

คำถาม 2: เพิ่งส่งการบ้านครั้งแรกค่ะ ภาวนาในรูปแบบวันละ 30 นาที เผลอคิดบ่อยมาก บางทีเกือบจะตลอดเวลา แต่รู้ตัวทุกครั้งและกลับมาอยู่ที่วิหารธรรม คือกายทั้งกาย บางทีก็รู้แค่อย่างเดียว เช่น เท้ากระทบพื้น บางทีรู้หลายอย่างพร้อมกัน เช่น เท้าและมือที่เคลื่อนไหว การกระพริบตา และบางทีจะรู้กายไม่ชัดเลย รู้เพียงการเผลอคิดของจิต ปัญหาคือ ที่ผ่านมารู้สึกภาวนาแล้วเบื่อ ไม่อยากภาวนา อยากให้จบไวๆ เลยไม่แน่ใจว่าทำผิดหรือไม่ ขอหลวงพ่อเมตตาชี้นำด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ทำไม่ผิดหรอก ภาวนาถูกแล้วมันจะเบื่อ มันจะเห็นนะอะไรๆ ก็ไม่มีสาระสักอย่างหนึ่ง โลกนี้ก็ไม่มีสาระ กายนี้ก็ไม่มีสาระ จิตก็ไม่มีสาระ มันจะเบื่อ เบื่อทนไม่ไหวก็ทำความสงบเข้ามา ใจมีแรงแล้วกลับไปดูอีก มันเป็นเส้นทางผ่าน มันจะเห็น เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมทำเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำอีก นี่มันรู้ด้วยตัวเอง

ฉะนั้นตอนนี้เราก็เริ่มได้ดีแล้ว เราเห็นกายเห็นใจของเราไปเรื่อยๆ มันรู้สึกน่าเบื่อ แล้วเวลาเบื่อกายเบื่อใจนี้ มันเบื่อโลกทั้งโลกด้วย ไม่ใช่ว่าเบื่อการภาวนาแล้วก็อยากไปเที่ยว อันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่นิพพิทา แต่ถ้าเราภาวนาไปเห็นทุกอย่างนี่ไร้สาระ โลกนี้น่าเบื่อ กายนี้ก็น่าเบื่อ จิตนี้ก็น่าเบื่อ อย่างนี้ถึงจะเป็นนิพพิทา ค่อยๆ ฝึกไป มันเป็นทางผ่าน ต้องผ่านทุกคนล่ะ

 

คำถาม 3: ตั้งแต่ไปเข้าคอร์ส จิตที่เคยเพ่งก็น้อยลง จิตเคลื่อนได้มากขึ้น ทุกวันเดินจงกรมประมาณ 1 ชั่วโมง และเจริญสติระหว่างวัน แต่จิตยังฟุ้งซ่านและขี้โมโหอยู่มากค่ะ กลางคืนบางคืนจิตก็สดชื่นไม่ค่อยหลับ บางวันก็มีการไหวกลางอกบ้างเล็กน้อยค่ะ และขอทราบว่าเราจะอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนได้อย่างไร ขอความกรุณาหลวงพ่อว่า ควรจะทำอย่างไรต่อคะ

หลวงพ่อ: ที่ทำอยู่ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บนี่ดูลงไป ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดก็ส่วนหนึ่ง จิตก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันคนละส่วนกัน โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายนะมันเบียดเบียนอยู่ที่ร่างกายได้แต่มันเบียดเบียนจิตใจไม่ได้ จิตใจเราเป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะตัวตัณหา

อย่างร่างกายมันเจ็บป่วยเราอยากให้มันหาย จิตมันถึงจะทุกข์ ถ้าจิตไม่มีตัณหาผลักดัน จิตไม่ทุกข์ ทุกข์อยู่ที่กายเท่านั้น ฉะนั้นเราพยายามดูไปเรื่อยๆ ร่างกายมันป่วย ใจไม่ได้ป่วย ดูไปอย่างนี้ ต่อไปก็อยู่กับมันได้ วันนี้หมอก็มาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่ามันมีก้อน มีอะไรขึ้นที่ปอดอีกแล้ว เคยผ่าเคยอะไรมาแล้วแต่มันขึ้นอีก หลวงพ่อก็บอกว่า หายใจไว้ๆ ใจสบาย ใจมันสว่างสบาย ระลึกถึงตรงที่มันเจ็บป่วย ด้วยใจที่สว่าง ด้วยใจที่สบาย มันคล้ายๆ เราฉายเอกซเรย์ฉายรังสี แต่มันเป็นรังสีของจิต มันก็ค่อยๆ ดูไป พอใจมันจะฟุ้งขึ้นมาเราก็กลับมาอยู่กับลมหายใจของเราใหม่ พอจิตใจสบายดีแล้วอย่าไปอยากหายป่วย

อยากหายป่วยไม่สงบหรอก ป่วยก็ป่วยไป เราจะหายใจแล้ว เราบูชาพระพุทธเจ้า ปฏิบัติ หายใจไป พอใจมันสงบ ใจมันสว่างขึ้นมานี่นึกถึง แค่นึกถึงตรงที่มันเจ็บป่วย แค่นึกถึงอย่าไปเพ่งใส่มัน เพ่งใส่มันเดี๋ยวพลังจิตแรง ยิ่งบอบช้ำเข้าไปอีก แค่ระลึกรู้ถึงตรงจุดที่มันเจ็บป่วย หายก็หายไม่หายก็ช่าง ดูสักพักหนึ่งค่อยกลับมาทำสมาธิต่อ ก็ฝึกไปเรื่อยๆ เล่นไปเรื่อยๆ ของเราเรียนอย่างนี้ ง่ายๆ ใช้อุปจารก็พอแล้ว คุณก็ไปดูกายก็ส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง ไปดูเอา

 

คำถาม 4: ขอโอกาสถามครับว่าการที่มีวิปัสสนูปกิเลส ยังมีตัวเราอยู่ ถ้าจะทำเหตุเพิ่ม คือทำในรูปแบบเพิ่มขึ้น ดูกายใจให้มากที่สุดใช่ไหมครับ ขอหลวงพ่อเมตตา

หลวงพ่อ: วิปัสสนูปกิเลสมันเกิดจากระหว่างที่เราทำวิปัสสนาดูกายใจเกิดดับแล้วสมาธิไม่พอ เพราะฉะนั้นถ้าจะพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสทำสมถะ พอใจมันสงบมีกำลังขึ้นมาจะพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส แล้วก็ใช้ใจที่สงบแล้วไปเจริญปัญญาต่อ เจริญปัญญาถูกต้องมันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมาตรงที่สมาธิมันตก

การเดินปัญญานั้นมันใช้พลังของจิต พอใช้พลังของจิตไปช่วงหนึ่งพลังของจิตมันตกเราก็ต้องทำสมถะ ถ้าเรายังฝืนเจริญวิปัสสนาไปเรื่อย มันจะกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสแทรกเข้ามา เพราะฉะนั้นตัววิปัสสนูปกิเลสนี่เราสู้ด้วยสมถะ ไม่ใช่สู้ด้วยวิปัสสนา พอใจเรามีสมาธิขึ้นมาแล้วย้อนกลับไปดูอารมณ์กรรมฐานของเราต่อ มันจะข้ามวิปัสสนูปกิเลสไปได้

ไม่ต้องกลัว ต้องเจอทุกคน อย่าคิดเยอะว่าทำอย่างไรจะดีกว่านี้ ทำอย่างไรจะถูก แค่ว่ามีสติอยู่กับปัจจุบันไปเรื่อย มันเป็นอย่างไร กายมันเป็นอย่างไร รู้ จิตมันเป็นอย่างไร ก็รู้ อย่าทำด้วยความอยาก เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ แต่อย่าเจืออยากลงไปเยอะเกินไป แล้วพอใจสมาธิมันตก บางทีวิปัสสนูปกิเลสมีตั้ง 10 ชนิด บางทีสว่างว่างไปหมดเลย ทั้งโลกธาตุนี่สว่าง ใจก็สงบสบายมีแต่ความสุขอยู่อย่างนั้นอยู่ได้เป็นเดือนอยู่ได้เป็นปีเลย มันก็ไม่ใช่ บางทีสติเข้มแข็งมองอะไรลงไป มองอากาศ เห็นเป็นอณูเป็นเม็ดๆ เลย อันนี้ก็เกินไป ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

ฉะนั้นเราเจริญวิปัสสนานี่เราอย่าทิ้งสมถกรรมฐาน ถ้าสมถะเราไม่พอ สมาธิไม่พอ วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น แล้วถ้าไม่เฉลียวใจ ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่มีกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์บอก เราอาจจะหลงผิดติดอยู่ตรงนี้นานๆ หลายๆ ปีเลย บางคนติดทั้งชาติเลย ฉะนั้นภาวนาอย่ารีบร้อน ภาวนาไปเรื่อยๆ คอยรู้คอยดูอย่างที่มันเป็น แล้วถ้าเกิดอะไรแปลกๆ ขึ้นมาไว้ใจไม่ได้ กลับมาทำสมถะ แล้ววิปัสสนูปกิเลสมันจะดับไปเอง

 

คำถาม 5: ส่งการบ้านครั้งที่แล้ว หลวงพ่อบอกว่าหนูละทุกข์ ให้กล้าๆ รู้ทุกข์ หนูก็ไปเรียนรู้หัดดูกายใจตัวเอง เห็นกิเลสบ่อยขึ้น เวลาอารมณ์แรงๆ จะเห็นใจดิ้นๆ ทั้งสุขทุกข์ก็ดิ้นเหมือนๆ กัน หลวงพ่อให้ไปดูจิตไหล ให้รู้ ตอนนี้ก็ฝึกอยู่กับเครื่องอยู่ ขอให้หลวงพ่อเมตตาชี้แนะด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ที่หนูทำอยู่ถูกแล้ว ทำต่อไป จิตก็มีความตั้งมั่นเยอะขึ้นแล้ว แต่กำลังมันยังไม่ค่อยพอ ถ้าฝึกสม่ำเสมอพลังมันจะมากขึ้นกว่านี้ รู้สึกไหมใจมันยังไม่ค่อยมีแรงพอ ทำบ่อยๆ เดี๋ยวมันก็มีกำลังขึ้นมา สงสัยรู้ไหม? สงสัยรู้ว่าสงสัย นี่รู้ปัจจุบันไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างไรรู้มันไปเรื่อยๆ ของ

(หลวงพ่อหันไปหาคนที่ถามคำถาม 4) ชายหนุ่มเมื่อกี้ที่เพิ่งส่งการบ้าน อย่านั่งเพ่งเอา การทำสมถะไม่ใช่การนั่งเพ่ง จนมันแข็งกระด้างทื่อๆ แบบนี้ การทำสมถะนี่คือการน้อมใจไปรู้อารมณ์ที่มีความสุข รู้ไปสบายๆ แล้วใจมันสงบเอง ถ้าจงใจทำจะแข็งๆ ไม่ใช่นะ เดี๋ยวทำสมาธิผิด

(หลวงพ่อกลับมาตอบคำถาม 5) ของหนูจิตหลงไปคิดรู้ไหม ฝึกอย่างนี้ ฝึกได้ดีแล้ว ทำให้ไปเรื่อยๆ ทำให้สม่ำเสมอ กำลังมันมากกว่านี้ มันก็จะก้าวหน้ากว่านี้ ทำได้ดีแล้ว

 

คำถาม 6: ใช้รูปแบบโดยการเดินจงกรม มีพุทโธเป็นวิหารธรรม การบ้านรอบก่อนให้หนูไปดูกิเลส เห็นกิเลสมากขึ้น แต่ใจยังไม่เป็นกลาง เห็นทุกข์แต่ใจยังอยากหนีอยู่ บางครั้งจิตมีพลัง บางครั้งเสื่อม ขอการบ้านค่ะ

หลวงพ่อ: การบ้านก็คือสิ่งที่หลวงพ่อสอนเมื่อกี้ มันตอบคำถามเราทั้งหมด มันอยากนู้นอยากนี้ไปเรื่อย รู้ทันอย่างนั้น อย่าไปเพ่งไว้อย่าไปรักษาไว้ ที่เพ่งไว้ที่รักษาไว้เพราะมันอยากดี มันมีอยากซ้อนอยู่ คอยรู้ทันใจที่อยากเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวก็ดีเอง

 

คำถาม 7: มีปัญหาครอบครัวเข้ามาพร้อมกัน จึงใช้ประโยคที่หลวงพ่อสอนว่า มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แต่จิตไม่เป็นกลาง เหมือนจิตไม่เข้าใจกับความเป็นกลาง เห็นแต่ความทุรนทุราย อยากผลักไสความทุกข์ออกไปค่ะ ไม่สามารถดูต่อได้ จึงต้องเปลี่ยนกิจกรรมทำงานบ้าน เพื่อให้จิตสนใจอย่างอื่นแทนค่ะ แล้วกลับมาดูสภาวะใหม่ เห็นความเข้มข้นของความทุกข์น้อยลงค่ะ หลวงพ่อเมตตาชี้แนะลูกด้วยค่ะ การที่ลูกเข้าไปวุ่นวายช่วยเหลือกับโลกภายนอกมากๆ เหมือนมีกระแสบางอย่างทำให้ลูกหมดพลังในวันนั้นๆ และไม่มีแรงปฏิบัติค่ะ ลูกควรจะปฏิบัติตนเช่นไรคะ ถ้าไม่เข้าไปช่วยเหลือสุดกำลัง ลูกก็กลัวว่าลูกยังกตัญญูไม่มากพอค่ะ

หลวงพ่อ: สัตว์โลกมันเป็นไปตามกรรม ใครก็ไปฝืนไม่ได้หรอก ช่วยเท่าที่ช่วยได้ เมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่เข้าใจตรงนี้ ตอนหลวงพ่อบวชใหม่ๆ หลวงพ่อเห็นญาติโยมมา สงสาร อยากให้เขาภาวนาเป็น หลวงพ่อทุ่มเทพลังในการสอน สอนจนกระทั่งตัวเองหมดแรงทุกวันเลย ลงไปนอนแผ่เลย อยากให้เขาดีๆ มันอยากแล้วเราไม่เห็น สุดท้ายวันหนึ่งปัญญามันเกิด เราเห็นเขาดีตอนที่อยู่กับเรา พอคล้อยหลังเราไป เขาก็ไม่ดีอย่างที่อยู่กับเรา มันเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นการที่เราจะช่วยคนอื่นนี่มันไม่ได้ช่วยแล้วสำเร็จอย่างที่ใจเราต้องการหรอก สัตว์โลกมันมีกรรมของตัวเอง ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ช่วยแล้วตัวเองอย่าทุกข์ไปด้วย อย่างเวลาคนอื่นเขาทุกข์เราอยากจะช่วยอะไรอย่างนี้ แต่ช่วยไปช่วยมาแล้วเราทุกข์อีกคนหนึ่งนี่เรียกว่าขาดทุนเลย ไม่มีอะไรดีขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง

ช่วยเท่าที่ช่วยได้ไม่ใช่ช่วยเท่าที่อยาก เพราะความอยากเราไม่มีที่สิ้นสุดหรอก แล้วคนแต่ละคนนี่เราช่วยเท่าไหร่มันก็ไม่จบหรอก ช่วยอย่างนี้เดี๋ยวมันก็ไปก่อเรื่องอย่างโน้นต่อไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก เขาก็ต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าถ้าเขาทำสิ่งที่เป็นอกุศล ผลที่ได้รับนี่จะต้องทุกข์แน่นอน ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกต เตือนได้ก็เตือนเตือนไม่ได้ก็ปล่อย ช่วยได้ก็ช่วยช่วยไม่ได้ก็แล้วไป เหมือนอย่างคนตกน้ำอย่างนี้ เราจะช่วยเขา ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ยืนดูเขาจมน้ำไป ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ไม่มีคนอื่นด้วย หาไม้สักท่อนหนึ่งจะโยนให้เขาก็ไม่มี เราก็ว่ายน้ำไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่โดดลงไปตายอีกคนหนึ่ง เวลาช่วยทางบ้านก็เหมือนกัน ไม่ใช่ตายไปอีกคนหนึ่ง

เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้จักคนครอบครัวหนึ่ง น้องชายไปทำธุรกิจ ทำอะไรก็ขาดทุนตลอดเลย ญาติๆ พี่น้องนี่ทุ่มเงินลงไปช่วยเพื่อจะรักษาธุรกิจตัวนี้ไว้ ทุ่มลงไปมหาศาลเลย ไม่รู้ว่ากี่สิบ กี่ร้อยล้าน ถึงจุดหนึ่งนี่คนช่วยเกิดความยั้งคิดขึ้นมา ถ้าขืนช่วยอย่างนี้ต่อไปนี่ก็จะล้มละลายทั้งตระกูล เขาไม่ช่วย ให้น้องชายเขาล้มละลายแล้วเขาเลี้ยง นี่ช่วยอย่างนี้ยังได้ประโยชน์มากกว่าอีก

ฉะนั้นเวลาเราจะช่วยใคร เราต้องดูตัวเองว่ามีกำลังแค่ไหน ฉะนั้นต้องช่วยตัวเองให้ได้ ถึงจะช่วยคนอื่นได้ ตัวเองยังช่วยไม่ได้จะไปช่วยใคร มันมีแต่เพิ่มคนที่เป็นทุกข์มากขึ้น เพิ่มคนที่จะตายมากขึ้น ไม่ใช่อย่างที่อยาก ดูความเป็นไปได้

 

คำถาม 8: ผมไม่สามารถเห็นสภาวะที่ไม่ตั้งมั่นได้ แต่ก่อนเคยรู้สึกตัวได้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยรู้สึกตัว อยากทราบแนวทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อ: อย่าไปดูสภาวะที่ตั้งมั่น อย่าไปพยายามทำจิตให้ตั้งมั่น ให้ทำกรรมฐานอันหนึ่งไว้เป็นเครื่องอยู่เล่นๆ ที่อยู่สบายของจิต แล้วพอจิตมันหลงไป มันไม่ตั้งมั่น ให้รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จำได้ไหม ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธๆ ไป แต่จิตมันหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด แล้วก็ช่างมัน กลับมาอยู่กับพุทโธใหม่ แล้วมันหนีไปคิดอีก ก็รู้อีก แล้วตรงที่เรารู้ว่าจิตหนีไปคิด มันจะเกิดจิตตั้งมั่น เกิดจิตตั้งมั่นเล็กๆ ขึ้นมาสั้นนิดเดียว แต่ว่าพอหลงแล้วรู้ๆ บ่อยๆ ต่อไปความตั้งมั่นมันจะเกิดขึ้นถี่ขึ้นๆ มันเหมือนมันตั้งอยู่ได้นาน อยู่ๆ

ตอนนี้เราจะไปดูจิตที่ตั้งมั่นนี่มันไม่มีให้ดู ทำไมไม่มีให้ดู เพราะทันทีที่อยากจะดูจิตที่ตั้งมั่น จิตก็ไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตเคลื่อนออกไปดูแล้วว่าจะดูอะไรดี มันไม่มีจิตตั้งมั่นให้ดู ดูยังไงก็ไม่เห็น ฉะนั้นให้เรารู้สิ่งที่มันมีจริง สิ่งที่มีจริงคือจิตที่ไหลไปไหลมา ทันทีที่เรารู้ว่าจิตมันไหลไป จิตที่ไหลจะดับ และจิตที่ตั้งมั่นจะเกิดขึ้นเอง จับหลักให้ดี ไปทำจิตให้ตั้งมั่นไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา สั่งให้ตั้งมั่นไม่ได้หรอก แค่รู้ทันว่ามันไหล แล้วมันตั้งของมันเอง รู้ที่ผิดแล้วมันถูกเอง เพราะมันไม่ผิด

คำถาม 8 (ต่อ): เคยภาวนาได้ แต่ว่าล้มเหลวไป ที่เคยภาวนาได้เห็นสภาวะได้นั้นเห็นจริงหรือไม่คะ

หลวงพ่อ: เห็นจริง แล้วตอนนี้ก็ไม่เรียกว่าล้มเหลว สิ่งที่เป็นอยู่ตรงนี้ ไม่ได้จัดว่าล้มเหลว จิตยังมีพลังอยู่ แล้วก็จิตมันเดินปัญญา มันเห็นจิตเคลื่อนไปเคลื่อนมา มันไม่ได้ไปอยู่นิ่งเฉยๆ มันเจริญขึ้น ไม่ใช่มันเสื่อมลง ถ้ามันนิ่งเฉยจ้องนิ่งๆ อยู่ใช้ไม่ได้หรอก

คำถาม 8 (ต่อ): ที่เคยภาวนาไปจะสูญเปล่าหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ: ไม่สูญเปล่า เราถึงได้เป็นอย่างนี้ ได้สิ่งที่กำลังเป็นอยู่นี่ เกิดจากการภาวนา ใจเรามีพลัง ใจเราตั้งมั่น เราอย่าไปตั้งเฉยๆ พอใจมันตั้งมั่นอย่างนี้ เราก็ดูกายเหมือนดูคนอื่น ดูใจเหมือนดูคนอื่น ไม่ใช่ดูแล้วหวังว่าจะได้โน้นได้นี้ ใจมันมีพลัง ใช้ได้ ไม่ใช่ว่าเสียหายอะไร

ตอนหลวงพ่อ 7 ขวบ หลวงพ่อก็ภาวนาทำอานาปานสติ ทำสมาธิ ทำแล้วก็ขึ้นวิปัสสนาไม่เป็น ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ก็ทำสมถะอยู่ 22 ปี มาเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็ดูไปเลย มันก้าวหน้าเห็นๆ หลวงพ่อก็รู้สึกดูถูกการปฏิบัติที่ผ่านมาว่าทำให้เราเสียเวลา นี้จิตมันมีพลังอยู่ 2 ปี สมถะ 22 ปี เอามาใช้ได้ 2 ปีเอง หมดพลัง จิตไม่ถึงฐานแล้ว มาเจอหลวงตามหาบัวท่านแก้ให้ จิตกลับมาตั้งมั่นใหม่ เลยรู้เลยว่าที่เราทำมาแต่เด็กที่เราคิดว่าสูญเปล่านั้น ไม่ได้สูญเปล่าหรอก มันเป็นพลังที่ทำให้เราก้าวเดินต่อไป

ฉะนั้นเราอย่าไปดูถูกการฝึกสมาธิ จำเป็น สิ่งที่เราทำมาในอดีตนี่ ส่งผลมาให้เรามาเป็นอย่างในปัจจุบัน ทีนี้จากปัจจุบันนี้เราจะต่อยอดอย่างไร ปัญหาอยู่ตรงนี้ต่างหาก ไม่ใช่ไปคร่ำครวญว่าเสียเวลาที่ทำมาเสียเปล่า ไม่เสีย กรรมมีผลทั้งสิ้นล่ะ หน้าที่ของเราตอนนี้ก็คือใช้จิตที่มันตั้งมั่นแล้วไปเจริญปัญญา ดูกายเหมือนดูคนอื่น ดูใจเหมือนใจคนอื่น ดูมันไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเห็นความจริง กายนี้มันไม่ใช่เราหรอก ใจมันก็ไม่ใช่เรา มันจะเห็นอย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกไป

 

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 กันยายน 2563