GPS เส้นทางการปฏิบัติ

การปฏิบัติต้องมีวิหารธรรม ถ้าใจเราล่องลอยไป ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นสติปัฏฐานจะเริ่มจากการมีวิหารธรรม จะใช้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วต้องมาใช้สิ่งเหล่านี้เป็นวิหารธรรม คือเป็นเครื่องอยู่ของจิต เพื่อว่าเวลาจิตมันหลงไปจากเครื่องอยู่ หรือมันถลำลงไปเพ่งเครื่องอยู่ เราจะได้คอยรู้ทันพฤติกรรมของจิต พอจิตมันหนีแล้วเรารู้ มันหนีแล้วเรารู้ หนีจากเครื่องอยู่แล้วเรารู้ทัน หรือมันถลำลงไปเพ่งเครื่องอยู่ เรารู้ทัน

รู้ซ้ำๆ ไป จนจิตมันจำสภาวะที่มันหลงไปได้ จำสภาวะที่มันเพ่งลงไปได้ ต่อไปพอมันหลงปุ๊บ สติจะเกิดอัตโนมัติ พอมันถลำลงไปเพ่ง สติจะเกิดอัตโนมัติ เพราะสติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่น เพราะเห็นสภาวะอันนั้นเนืองๆ สภาวะสำคัญก็คือ จิตใจเรานี้ล่ะ มันหลงไปบ้าง หลงไปคิดบ้าง หลงไปเพ่งบ้าง 2 ตัวนี้เป็นตัวหลงสำคัญ หลงไปคิดก็ฟุ้งๆ ไป คิดไปเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส คิดไปอดีต คิดไปอนาคต เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค มันย่อหย่อนไป จิตใจไม่มีกำลัง ร่อนๆ เร่ ร่อนเร่ไปเรื่อย ตรงที่มันถลำลงไปเพ่ง ไปจ้อง มันทำตัวเองให้ลำบาก เป็นอัตตกิลมถานุโยค 2 ตัวนี้เราต้องเรียนให้รู้จัก

 

ให้มีเครื่องอยู่ของจิต

เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่า ตัวเราเองเหมาะกับเครื่องอยู่ หรือวิหารธรรมชนิดไหน ต้องมี ถ้าไม่มีไปไม่รอดหรอก จะใช้เครื่องอยู่เป็นกายก็ได้ เป็นเวทนาคือความสุขทุกข์ก็ได้ เป็นจิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วของจิต อย่างนั้นก็ได้ ส่วนธัมมานุปัสสนาเว้นไว้ก่อนก็แล้วกัน มันยาก มันดูลึกซึ้งลงไปอีก ฉะนั้นเราดูของที่พอจะดูได้ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตที่ดีบ้างชั่วบ้าง พอเรามีเครื่องอยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อสงบอยู่เฉยๆ เรามีเครื่องอยู่ เพื่อจะรู้ทันจิตใจของตัวเอง อย่างเราอยู่กับร่างกาย เช่น เราอยู่กับการหายใจ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก หรืออยู่กับอิริยาบถ ร่างกายยืนก็รู้สึก ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน ก็รู้สึก

คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ ร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้สึก การที่เราคอยรู้สึก แล้วสักช่วงหนึ่งเราจะเห็น ขณะที่เรารู้ร่างกายหายใจ รู้ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง แป๊บเดียว จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ลืมร่างกาย ตรงนี้ให้เรามีสติรู้ทันมัน รู้ว่าตอนนี้มันลืมวิหารธรรม มันทิ้งวิหารธรรม หลุดเข้าไปอยู่ในโลกของความคิดความฝันแล้ว หรือถลำลงไปเพ่งวิหารธรรม อย่างเราดูลมหายใจ แล้วจิตมันถลำลงไปจ้องอยู่ที่ลม ลืมโลกไปเลย อันนั้นจิตมันถลำลงไปเพ่งแล้ว

หรือดูร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง อย่างสายพองยุบ เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ อันนั้นไม่ใช่อานาปานสติ เขาดูท้องที่เคลื่อนไหว ท้องที่หยุดนิ่ง เคลื่อนออกไปสุดแล้ว มันก็หยุดนิดหนึ่ง ยุบลงมา แล้วก็หยุด แล้วเคลื่อนเข้าออกอย่างนี้ มันเคลื่อนไหวแล้วก็หยุด เคลื่อนไหวแล้วก็หยุดไป ตรงนี้ถ้าจิตมันถลำลงไปที่ท้อง ก็คือการเพ่ง ถ้าจิตมันลืมความเคลื่อนไหวนี้ หนีไปคิดเรื่องอื่น เช่น ไปนั่งบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ไปหลง ไปอยู่ในความคิด อันนั้นก็ฟุ้งซ่านไป

กรรมฐานเหมือนกันหมด ไม่มีสายไหนดีกว่าสายไหน ก็ดีทุกสาย แล้วแต่ความถนัด แต่ให้มันถูกหลักก็แล้วกัน มีวิหารธรรม อย่างสายหลวงพ่อเทียน ท่านขยับมือทำจังหวะ 14 จังหวะ 14 จังหวะ ข้างละ 7 สลับกัน 7 จังหวะ ถ้าเราขยับไปแล้ว เราก็หลงไปคิดว่า เอ๊ะ ท่านี้แล้วจะไปท่าไหน อันนี้ย่อหย่อน ฟุ้งซ่าน หรือขยับแล้ว ขยับสวยเป๊ะเลย แต่จิตหนีกลับบ้านไปแล้ว อย่างนี้ฟุ้งซ่าน ย่อหย่อนไป หรือขยับแล้วก็เคร่งเครียด จ้องไม่ให้คลาดสายตาเลย จ้องๆๆๆ อันนี้ตึงเกินไป

เพราะฉะนั้นเวลาทำกรรมฐาน ต้องมีเครื่องอยู่ แล้วก็คอยสังเกตจิตใจของเราเอง มันย่อหย่อนไปไหม ถ้าย่อหย่อน มันก็หลงลืมอารมณ์กรรมฐานนั้น ถ้าตึงไป มันก็ไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐานอันนั้น อันนั้นเป็นความสุดโต่ง 2 ด้าน ซึ่งทำให้เราพัฒนาไม่ได้ มันไม่ใช่ทางสายกลางที่แท้จริง การที่เรามีวิหารธรรม แล้วเราคอยรู้ทันจิตของตัวเองไป ต่อไปพอจิตมันขยับนิดเดียว เราจะเห็น ทีแรกมันต้องหลงยาวๆ ถึงจะเห็น ต่อมาแค่มันเคลื่อนนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว เวลามันจะเพ่ง มันก็เคลื่อน มันก็ถลำลงไปเพ่ง

ถ้าเราเห็นจิตมันถลำลงไปเพ่ง การถลำไปนั้นมันเป็นความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านของจิต เรารู้ทันความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านก็ดับ กิเลสมันสู้การรู้ทันไม่ได้ ตัวที่เป็นเครื่องมือในการรู้ทันก็คือสติ หัดทีแรกสติเกิดช้า หลงไปตั้งนาน หลงคิดไปตั้งชั่วโมงแล้วถึงจะรู้ เราฝึกทุกวันๆ หายใจไป จิตหลงไปคิดแล้วรู้ สมมติจะใช้ลมหายใจ ต่อไปพอจิตมันหลงนิดเดียว มันก็รู้แล้ว มันชำนาญขึ้น เพราะจิตมันจำสภาวะที่หลงได้แม่น การจำสภาวะได้แม่นเรียกว่าถิรสัญญา ถิรสัญญาเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ สติมีเหตุ สติถึงจะเกิด

เราก็พัฒนาเหตุของสติ คือการจำสภาวะได้แม่นยำ เราจะจำสภาวะได้แม่นยำ เราก็ต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ วิธีที่จะเห็นสภาวะบ่อยๆ คือมีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ของจิตเสียก่อน แล้วจิตมันขยับเขยื้อนอะไรขึ้นมา ก็คอยรู้ทันเอา ทีแรกก็รู้ช้า หัดรู้ไปเรื่อยๆ มันก็เร็วขึ้นๆ จนกระทั่งขยับตัวนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว การฟุ้งซ่านของจิต ความฟุ้งซ่านของจิตก็ดับทันที อัตโนมัติเลย เพราะสติเกิดแล้ว ตรงที่จิตมันฟุ้งซ่านนั้น จิตมันมีกิเลส มีโมหะ คืออุทธัจจะ ฟุ้งซ่านไป

พอเรามีสติรู้ทัน จิตมันไหลไปแล้ว สติเกิด กิเลสก็ดับ อันนี้เป็นกฎของธรรมะ เมื่อไรมีสติเมื่อนั้นไม่มีกิเลส เมื่อใดมีกิเลสเมื่อนั้นไม่มีสติ ฉะนั้นเราก็พัฒนาจนกระทั่งสติมันเร็วขึ้นๆ กิเลสมันก็จะตัวเล็กลง ทำไมดูเหมือนกิเลสตัวเล็กลง เพราะเดิมเรารู้ช้า กิเลสมีโอกาสงอกงามตัวโตขึ้นมา แต่พอเราภาวนา สติเราเร็วขึ้นๆ จิตมันขยับนิดเดียวก็เห็นแล้ว กิเลสไม่มีโอกาสเกิด มันเหมือนไฟไหม้ ไฟไหม้มันก็เริ่มมาจากไม้ขีดก้านเดียว เผาบ้านเผาเมืองได้ ก่อนที่กิเลสจะลุกลามใหญ่โต ก็เป็นกิเลสตัวเล็กก่อน ถ้าเรารู้ทัน เรียกเราดับมันตั้งแต่มันยังตัวเล็กๆ ก็สู้ง่าย ถ้ารอให้มันตัวโตแล้ว ก็สู้ลำบาก เหมือนไฟไหม้เยอะไปแล้ว สู้ลำบาก

 

อยู่กับอะไรแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้น

ฉะนั้นเราอยากพ้นอำนาจกิเลส อยากเป็นอิสระจากกิเลส เราก็มาฝึกเจริญสติปัฏฐานเอาไว้ ให้มีเครื่องอยู่ของจิต มีเครื่องระลึกของสติ หลวงพ่อพุธท่านจะพูดอยู่เสมอ ท่านบอกให้มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ คือมีวิหารธรรมนั่นล่ะ แล้วท่านย้ำลงมา ให้มีสติอยู่กับวิหารธรรม มีสติ เพราะว่าต่อไปเกิดปฏิกิริยา ความเคลื่อนไหวใดๆ ในกาย สติก็รู้ เกิดความเคลื่อนไหวทางจิตใจ สติก็รู้ ตอนทำกรรมฐานเอาที่ถนัด อะไรก็ได้ ลงท้ายมันก็เหมือนกันหมด

อย่างหลวงพ่อตอนทำสมถะ หลวงพ่อใช้อานาปานสติ เพราะท่านพ่อลีท่านสอนมาตั้งแต่เด็ก ก็ชินอย่างนั้น ตอนเจริญปัญญา หลวงพ่อใช้จิตเป็นวิหารธรรม เจริญจิตตานุปัสสนา ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านให้เจริญจิตตานุปัสสนา เพราะท่านดูแล้วหลวงพ่อดูได้ ท่านก็ให้ดูจิต ลูกศิษย์บางองค์ หลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูกาย เพราะฉะนั้นแต่ละองค์ แต่ละคน ไม่เหมือนกันหรอก แล้วแต่เราทำอันไหนได้ ก็เอาอันนั้นเป็นเครื่องอยู่

ไปสังเกตตัวเอง อยู่กับอะไรแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้น ไม่ต้องไปถามใคร เสียเวลา ไม่ต้องไปถามกัลยาณมิตรผู้นั้น กัลยาณมิตรผู้นี้ พอดี ถามคนอื่นตลอดเวลา ไม่ได้เรื่องหรอก เดี๋ยวเขาตอบมาไม่เหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เขาก็ตอบตามที่เขาถนัด ไม่ใช่ตามที่เรา จริตนิสัยเราเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราสังเกตตัวเอง ใครจะมารู้จักตัวเราเองเท่าตัวเราเอง สังเกตเอา อย่างใจเรา ถ้ามันขี้โมโห เราจะไปดูจิตดูใจ ดูไม่ออก มันโมโหมากไปแล้ว กิเลสมันแรง เหมือนไฟไหม้ใหญ่แล้ว จะดู จะเจริญวิปัสสนา ทำไม่ไหว เราก็ทำสมถะ

อย่างถ้าเราขี้โกรธ ก็ทำสมถะที่เหมาะกับคนขี้โกรธ เช่น เจริญเมตตา คนขี้โลภก็อาจจะ ถ้ามันชอบผู้หญิง หรือมันชอบผู้ชาย ก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ มันหลงบ่อย อาจจะทำอานาปานสติไป จิตหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป เดี๋ยวมันก็สงบ อันนี้เรื่องของสมถะ ส่วนเรื่องการเจริญวิปัสสนา ก็ต้องดูรูปดูนาม ดูกายใจของเรานี้ แล้วก็สังเกตเอา เราถนัดอะไรเอาอันนั้น แต่ลงท้ายมันเหมือนกันหมด ผลที่ออกมามันเหมือนๆ กัน คือมันพ้นกิเลส พ้นทุกข์เหมือนๆ กัน

หลวงพ่อถึงจะเจริญวิปัสสนาด้วยการดูจิต แต่วันหนึ่งเมื่อดูจิตเป็นแล้ว หลวงพ่อก็ไปดูครูบาอาจารย์สายอื่นๆ ไปที่ไหนก็มีแต่กายทั้งนั้นเลย วันหนึ่งก็ไปนั่งที่วัดสนามใน ไปดูหลวงพ่อเทียน ไม่ได้ไปคุยกับท่าน ไม่เคยพูดกับท่านสักคำหนึ่ง ไปดูท่าน เห็นท่านสอนลูกศิษย์ขยับ มาดูท่านขยับใช้ได้ ท่านก็ทำได้ หลวงพ่อก็มานั่งใต้ต้นไม้ในวัดท่าน แล้วก็มาขยับบ้าง ขยับๆๆ แล้วก็รู้สึกไปเรื่อย เคลื่อนไหวรู้สึก หยุดนิ่งรู้สึก รู้สึกไป มันก็คือสัมปชัญญบรรพนั่นล่ะ สายหลวงพ่อเทียน เคลื่อนไหวรู้สึก หยุดนิ่งรู้สึก

เล่นอยู่พักหนึ่ง แล้ววันหนึ่งเห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝั่งถนน ดีใจ เพื่อนคนนี้ไม่เจอนานแล้ว ดีใจ ก้าวเท้าไปเพื่อจะข้ามถนน พอเท้าเคลื่อนเท่านั้นสติเกิดเลย ทั้งๆ ที่ตอนเล่น เล่นมือ แต่ตอนที่ร่างกายมันเคลื่อนไหว เท้ามันเคลื่อน สติมันระลึกได้เองเลย แล้วพอระลึกได้เอง จิตก็ตื่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เหมือนกับการทำอย่างอื่น สายอื่น มันก็ลงมาที่เดียวกัน คือที่จิตที่ตั้งมั่นนั่นล่ะ

 

ดูจิตได้ให้ดูจิตไป ดูจิตไม่ได้ดูกายไว้
ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะ

พอเราเข้ามาถึงจิตได้แล้ว เราก็คอยเรียนรู้มันไป ถ้าเรียนรู้ที่จิตได้ก็ลัดสั้นที่สุด ถ้าเรียนรู้ที่จิตยังไม่ได้ ก็ไปดูกายไปก่อน ไม่ได้เสียหาย หรือทำอะไรไม่ได้เลย ทำสมถะไว้ก่อน อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ตั้งแต่เด็กหลวงพ่อทำอานาปานสติตั้งแต่ 7 ขวบ แล้วก็แสวงหาทางที่จะเดินต่อไป ยังหาไม่ได้ ไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านหลายรอบ อ่านพระวินัยกับพระสูตร อ่านหลายรอบเลย อ่านไปๆ ก็ยังหาวิธีปฏิบัติไม่ได้ ที่จะเจริญวิปัสสนา จนไปเจอหลวงปู่ดูลย์ ตอนนั้นอายุ 29 ปีแล้ว จาก 7 ขวบ 22 ปี ไม่ได้ทิ้งเฉยๆ ทำสมาธิทุกวัน

เพราะฉะนั้นทำอะไรไม่ได้ ทำสมถะไว้ก่อน วันหนึ่งก็ได้ใช้ พอจิตเรามีกำลังมาก พอหลวงปู่บอก สะกิดนิดเดียว บอกให้ไปดูจิต มันก็เห็นจิตได้เลย จิตมันตั้งมั่นมีกำลัง เห็นจิตมันทำงานได้ เห็นมันเกิดดับ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลง เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ จิตไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ถึงวันหนึ่งจิตมันก็ปิ๊งขึ้นมา จิตมันเกิดดับได้เอง มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเราหรอก

ค่อยๆ รู้ลงไป มันจะค่อยๆ ถอดถอนความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ ค่อยๆ ฝึกไป ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมีเครื่องอยู่ แล้วก็สมาธิมันก็เป็นตัวสนับสนุน การเจริญปัญญานั้นเป็นงานหลัก สมาธิเป็นงานสนับสนุน มีแต่งานหลัก เหมือนมีแต่กองทัพไม่มีกองเสบียง ไปรบที่ไหนก็แพ้ ฉะนั้นสมาธิเหมือนหน่วยลำเลียง เหมือนกองเสบียง ก็ส่งเสบียงให้แนวหน้าออกไปรบ แนวหน้าที่ออกไปทำสงครามก็คือตัวปัญญา ตัวสติปัญญาออกไปทำศึก ฉะนั้นสมาธิทิ้งไม่ได้ ถ้าทิ้ง ไม่นานกองทัพก็แตก คือปัญญาก็แตกหมด สู้ไม่ไหว

เพราะฉะนั้นดูจิตได้ให้ดูจิตไปเลย ดูจิตไม่ได้ดูกายไว้ ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะเอาไว้ สมถะก็ไม่ยาก อย่าอยากสงบ ถ้าอยากสงบ จิตจะไม่สงบ เหมือนอยากหลับจิตจะไม่หลับ นอนไม่หลับก็กลุ้มใจว่าทำไมไม่หลับเสียที อย่างนี้ไม่หลับ นอนสบายใจเดี๋ยวเดียวก็หลับ

เรื่องของสมาธิก็ใช้หลักเดียวกันนี้ รู้อารมณ์กรรมฐานไปสักอย่างเดียว เอาอารมณ์เดียว จะการหายใจ หรือหายใจด้วยพุทโธด้วยก็ได้ เอ้า แถม เอาหลายอย่างไม่ได้ มันจะฟุ้งซ่าน อยู่กับอารมณ์อันเดียวไป อยู่ไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แป๊บเดียวก็สงบแล้ว พอสงบแล้วก็อย่าอยู่เฉย จิตไปติดว่างๆ อะไรอย่างนี้ เสียเวลา ก็พาจิต โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ก็คือมาเจริญปัญญา

เพราะฉะนั้นในพระสูตรท่านจะพูดเรื่อยๆ เวลาเราทำสมาธิไปจนถึงฌานที่ 4 แล้ว จิตเป็นอุเบกขาแล้ว ทำไมต้องมุ่งไปที่ฌานที่ 4 เพราะว่าจิตมันเป็นอุเบกขา มันไม่ใช่แค่สงบเฉยๆ มันสงบ มันตั้งมั่น แล้วก็เป็นกลางด้วย สมาธิมันจะช่วยเราอย่างนี้ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ฝึกขณิกสมาธิ ทำกรรมฐานไป จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ไป เดี๋ยวสมาธิก็เกิดได้เหมือนกัน ถึงจะเป็นสมาธิที่ไม่แข็งแรง แต่ก็พอใช้ได้ ขณิกสมาธิใช้ได้ ไม่ใช่ใช้ไม่ได้ ส่วนใหญ่เจริญปัญญากันก็ใช้ขณิกสมาธิ จะใช้อุปจารสมาธิ ใช้อัปปนาสมาธิ ก็ได้เหมือนกัน สำหรับคนที่ชำนาญ มีวสีในฌาน ถ้าเราไม่มีความชำนาญในฌาน ใช้ขณิกสมาธิ

 

มีแต่ของที่เลือกไม่ได้

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ แล้วสมาธิที่ดีมันจะเกิด จิตมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว สมาธิคือสภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวนั่นล่ะ โดยไม่ได้บังคับไว้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำกรรมฐาน จะต้องมีวิหารธรรม มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ รู้ลงไป อย่างหลวงพ่อตอนเจริญปัญญา หลวงพ่อใช้จิตตานุปัสสนา หลวงพ่อเห็นจิตมันทำงานตลอด จนกระทั่งมันขึ้นมารับอารมณ์ มันอยู่ในภวังค์ มันขึ้นจากภวังค์มารับอารมณ์ ตรงมาอยู่ในภวังค์ ไม่รู้หรอก เพราะสติไม่มี

ตอนมันขึ้นมาจากภวังค์ มันทวนลงไป เมื่อกี้จิตมันไปนอนหลับอยู่ข้างใน มันขึ้นมารับอารมณ์ ก็เห็นจิตที่ขึ้นมารับอารมณ์ มันจะออกไปรับอารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราเลือกไม่ได้ มันคล้ายๆ เราหลับลึกอยู่ เวลาเราหลับลึกๆ จิตมันก็ลงภวังค์อยู่ แล้วมันมีสิ่งบางสิ่งมากระตุ้นให้เราตื่น ตอนที่จิตมันตื่นขึ้นมา มันยังไม่รู้เลยว่ามันตื่นเพราะอะไร สักพักหนึ่งมันถึงนึกได้ โอ๊ย เมื่อกี้มีเสียงผิดปกติที่บ้านชั้นล่าง ก็เริ่มคิดต่อแล้ว ขโมยเข้าบ้านหรือเปล่า หรือนอนหลับอยู่แล้วก็ตื่นขึ้นมา ไม่รู้ว่าตื่นเพราะอะไร อีกช็อตหนึ่งก็จะรู้ โอ๊ย ตื่นเพราะได้กลิ่นควันไฟ จะค่อยรู้ มันจะออกไปรับอารมณ์

ตอนที่จิตขึ้นจากภวังค์มานี้ เราไม่สามารถจะเลือกได้ว่าจิตจะไปดูรูป หรือจะไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส หรือจะไปรู้สัมผัสทางร่างกาย หรือนอนๆ อยู่บางทีตื่นขึ้นมา แล้วอีกช็อตหนึ่งจะรู้ โอ๊ย ยุงมากัด คันเลยตื่น เห็นจิตมันทำงานขึ้นมา แล้วถ้าเรากระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว มันจะส่งข้อมูลเข้ามาที่จิต เข้ามาที่ใจ อย่างตามันเห็นรูป มันจะสักว่าเห็น ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยินเสียง ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีดี ไม่มีเลว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีดี ไม่มีเลว

แต่ร่างกายกระทบสัมผัส มีสุข มีทุกข์ แต่ไม่มีดี ไม่มีเลว อย่างหมอฉีดยาเรา มันทุกข์ มันรู้สึกได้เลย ไม่ต้องพิจารณาอะไร มันเจ็บ มันก็รู้สึกทุกข์ขึ้นมา ฉะนั้นตัวตา หู จมูก ลิ้น กระทบอารมณ์ มันจะเป็นอุเบกขาทั้งหมด คือไม่มีสุข ไม่มีทุกข์หรอก แล้วก็ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล มันเป็นวิบาก ฉะนั้นร่างกายกระทบความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อะไรพวกนี้ พอร่างกายกระทบมันมีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เกิดที่ร่างกายได้ เป็นเวทนาทางกาย เกิดได้ แต่ว่าก็ไม่ได้เป็นกุศล หรืออกุศล จิตจะเกิดกุศล อกุศลได้ ต้องทำงานไปอีก 2 – 3 สเต็ป

เราค่อยๆ ดูของจริงของเราไป อย่างตากระทบรูป มันเห็นเฉยๆ มันไม่รู้ว่ารูปอะไรด้วยซ้ำไป หรืออย่างมันลืมตาขึ้นมาปั๊บ มันเห็นแต่มันไม่รู้ว่าคืออะไร พวกเราลองหลับตา ทุกคนลองหลับตา แล้วลองหันหน้าไปทางอื่น หันหน้าไป หันหน้าหรือยัง แล้วลืมตา เห็นไหม ช็อตแรกที่ลืมตาขึ้นมา ยังไม่รู้ว่าคือรูปอะไร มันจะมีการส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจเรา แล้วใจเราจะมีการทำงาน คือการแปลความหมาย เฮ้ย นี่รูปงูเลื้อยเข้ามาในบ้านแล้ว พอแปลความหมายได้ คราวนี้จิตใจมันจะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วขึ้นมาได้แล้ว

ฉะนั้นก่อนที่จิตใจเราจะเกิดกิเลส ผ่านกระบวนการมาเยอะ แต่บางเวลา บางขณะ มันก็ไม่ได้ไปเริ่มจากการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บางทีมันกระทบเข้าที่ใจโดยตรงก็มี อย่างเรานั่งเพลินๆ อยู่ๆ สัญญามันผุดขึ้นมา เห็นหน้าคนหนึ่งโผล่ขึ้นมาในใจเรา แล้วก็ระลึกได้ว่านี้ศัตรูเรา จิตมันพิจาณาแล้ว นี่ศัตรูเรา เกลียดมากเลย มาแย่งแฟนเรา โทสะก็เกิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จิตจะเกิดกิเลส อาศัยการกระทบอารมณ์ บางทีกระทบมาตั้งแต่ของหยาบ คือตา หู จมูก ลิ้น กายกระทบ แล้วส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ ใจมาแปลความหมาย แล้วค่อยเกิดสุข ทุกข์ เกิดกุศล อกุศล

บางทีไม่ต้องไปผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบเข้าที่ใจเลย สัญญามันผุดขึ้นมาอย่างนี้ ความคิดมันผุดขึ้นมา แล้วมันแปลความหมายออกมา โทสะมันเกิดได้ ราคะมันเกิดได้ กุศลอกุศลเกิดได้ อย่างเรานั่งสบายๆ ใจ นึกถึงภาพพระพุทธรูปที่เราชอบสักองค์หนึ่ง ผุดขึ้นมาในใจเรา จิตเราก็มีปีติ มีความสุข จิตมันทำงานต่อได้ มันปรุง ปรุงที่เป็นกุศลขึ้นมา มีความสุข

เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป แล้วเวลาจิตมันขึ้นรับอารมณ์ มันรับอารมณ์อยู่ช่วงหนึ่ง มันจะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว อยู่ไม่นานหรอก แล้วมันก็จะตกภวังค์ใหม่ จะตกภวังค์ลงไป ตอนที่มันจะตกภวังค์ มันจะเซฟข้อมูลไว้ ที่เราออกมากระทบอารมณ์ ไม่กระทบเปล่าๆ หรอก กระทบแล้วมันก็เกิดปฏิกิริยา เกิดความปรุงแต่งขึ้นมา ก็เกิดวิบาก อย่างเราปรุงโทสะขึ้นมา เราเกลียดชังคนนี้มาก มันก็มีวิบาก มีตะกอน มันสะสมกลับเข้าไปในจิตอีก เอาไว้ใช้งานในวันหลัง เคยโกรธเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ปล่อยตามใจไปเรื่อย วันหลังก็โกรธเร็วขึ้นๆ โกรธหนักขึ้นๆ เพราะเราสะสมตะกอนของกิเลสเอาไว้เยอะ มันเซฟข้อมูลเอาไว้ ไม่หาย

ฉะนั้นเวลาเราทำกรรม ไม่ว่าดีหรือชั่ว มันเก็บข้อมูลไว้ในจิตทั้งหมดเลย มันไม่หายไป เซฟข้อมูลไว้ พอเซฟข้อมูลเสร็จ มันก็ Shut down ปิดเครื่อง จิตตกภวังค์ไปใหม่ กระบวนการที่จิตมันทำงาน มันเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อภาวนาดูจิตๆ ก็เห็นกระบวนการนี้ แล้วก็รู้กระบวนการนี้มันเป็นของมันเอง เราเลือกไม่ได้ จิตจะไปดูรูป หรือจิตจะไปฟังเสียง หรือจิตจะดมกลิ่น ลิ้มรส จิตจะรู้สัมผัสทางกาย เราเลือกไม่ได้ อย่างตื่นขึ้นมา มันจะไปรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหูอะไรนี้ เลือกไม่ได้ หรือทางจมูก ได้กลิ่นไฟไหม้ เราเลยตื่นขึ้นมา ตื่นทีแรก ช็อตแรกที่ตื่น ยังไม่รู้ว่าตื่นเพราะอะไร

เหมือนที่เราหันหน้าเมื่อกี้ หลับตาแล้วหันหน้าไป ลืมตาขึ้นมาช็อตแรกเห็นแต่รูป แต่ไม่รู้ว่ารูปอะไร แล้วค่อยมีการแปลความหมายทีหลัง ว่านี่คือต้นไม้ นี่คือดอกไม้ นี่หมา นี่แมว ค่อยมาแปลทีหลัง แล้วก็ค่อยยินดียินร้ายทีหลัง พอเห็นซ้ำๆๆ จะรู้ จิตมันเป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตา เลือกไม่ได้ ว่าจะออกไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น หรือทางกาย เลือกไม่ได้ว่าจะรับรู้ทางใจขึ้นมาเองตรงๆ อยู่ๆ ไม่ได้เจตนาจะรู้ทางใจ มันก็รู้ขึ้นมาได้เอง แล้วก็เลือกไม่ได้ด้วย ว่าจิตต่อไปนี้จะเป็นกุศล หรืออกุศล มันมีแต่ของที่เลือกไม่ได้

ดูจิตๆ มันจะเห็นมาถึงตรงนี้ เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ มีแต่ของไม่เที่ยง เกิดดับเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็บังคับไม่ได้ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ นี่คืออนิจจัง จิตทุกชนิดเราสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ นั่นคืออนัตตา เฝ้ารู้ เฝ้าเห็นลงไปเรื่อยๆ อันนี้สำหรับพวกดูจิต

 

ร่างกายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนรู้

พวกดูกายก็แบบเดียวกัน มีสติระลึกรู้กายไป ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกไป ต่อไปมันก็เห็น ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ มันถูกจิตรู้ จิตเป็นคนรู้ร่างกาย ร่างกายมันเคลื่อนไหว แล้วร่างกายมันก็เคลื่อนไหวตามที่จิตมันสั่ง ที่เรายกมือ คือจิตมันสั่งให้ยกมือ ยกเว้นเส้นประสาทมันกระตุก อยู่ๆ มันยกอย่างนี้เอง มันก็มี

เพราะฉะนั้นบางทีร่างกาย สิ่งที่ทำให้เกิดรูปอันนี้ ไม่ได้มีแต่จิต เกิดจาก อย่างอากาศหนาวจัด ขนลุกขึ้นมาอย่างนี้ เราไม่ได้มีเจตนาจะขนลุก มันเกิดจากอากาศ เพราะฉะนั้นตัวรูป บางทีก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ด้วยกรรมก็ได้ ด้วยอากาศก็ได้ ด้วยอาหารก็ได้ ต่างๆ ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป อย่างถ้าเราเห็น เราเดินจงกรมอยู่ เราเห็นร่างกายก้าวไป เพราะว่าจิตมันสั่ง เราหายใจอยู่ เราก็เห็นหายใจออก หายใจเข้า มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่หายใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา

ร่างกายที่ทำไมต้องหายใจออก ก็เพราะว่ามันหายใจเข้าแล้วทุกข์ ทำไมต้องหายใจเข้า เพราะว่าหายใจออกแล้วทุกข์ ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เพราะถ้าอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ยอมเปลี่ยนเลย มันก็ทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกขัง คือมันบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ มันบีบคั้นให้ต้องเคลื่อนไหว อย่างเรานั่งอยู่นี้ ร่างกายมีความทุกข์ นั่งแล้วมันเมื่อย มันก็ขยับ ขยับเล็กขยับน้อย ขยับอยู่ตลอดเวลา ขยับไปเพื่ออะไร เพื่อหนีทุกข์ นี้เราหนีทุกข์ตั้งแต่เด็ก ชำนาญในการหนีทุกข์ มันเลยไม่เห็นทุกข์

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ถ้าจะดูกาย คอยรู้สึกอยู่ที่กาย แล้วตรงที่มันอยากเปลี่ยนอิริยาบถ ดูให้ดีเถอะ มันจะหนีทุกข์ เวลาดูกาย ดูให้เห็นทุกข์ก่อน ค่อยเคลื่อนไหว แล้วเราจะรู้ซาบซึ้งเลย ร่างกายนี้ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกข์น้อยก็คือมันทุกข์สั้นๆ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอิริยาบถไปแล้วมันก็หาย ทุกข์นานก็คือนั่งไม่ยอมกระดิกอย่างนี้ นั่งไปด้วย ทรมานไปทั้งคืน ก็ทรมานอยู่อย่างนั้น เราคอยดูร่างกายเรานี้ ที่มันต้องเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจออก ต้องหายใจเข้า ต้องกินอาหาร ต้องขับถ่าย ต้องดื่มน้ำ ต้องปัสสาวะอะไรนี้ ทำไปเพื่อหนีทุกข์ทั้งสิ้น

ค่อยๆ ดูลงไป แล้วต่อไปมันจะรู้สึก ร่างกายไม่ใช่ของน่ารักหรอก ร่างกายนี้ไม่ได้มีของดี ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ เห็นอย่างนี้ก็ปล่อยวางกายได้ อย่างเราดูจิตที่เล่าเมื่อกี้ เราเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา มันก็ปล่อยวางจิตได้ เพราะฉะนั้นเบื้องต้น ฝึกกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอรู้เท่าทันจิตแล้ว จิตตั้งมั่นดีแล้ว ได้สมาธิดีแล้ว ก็เดินปัญญา จะเดินปัญญาด้วยการดูกายก็ดูไป รู้ทัน ร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ เห็นไหม เราถึงต้องได้จิตก่อน ร่างกายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนรู้

มีสุข มีทุกข์ ถ้าเราใช้เวทนา มีสุข มีทุกข์ จิตก็เป็นคนรู้ ฉะนั้นเราต้องมีจิตก่อน หรือจะดูจิต เรามีจิตที่ตั้งมั่น แล้วก็เกิดจิตที่ไม่ตั้งมั่นนานาชนิด จิตที่หลงไปดู หลงไปดมกลิ่น ไปฟังเสียง ไปลิ้มรสอะไรอย่างนี้ หลงไปคิด หลงไปเพ่ง ถ้าเราไม่มีจิตรู้อยู่ก่อน จิตก็วิ่งไปเรื่อยๆ ไม่มีที่กำหนดหมาย ฉะนั้นดูยากว่ามันกำลังเคลื่อนที่อยู่ แต่ถ้าจิตเราเคยตั้งมั่นแล้ว พอจิตมันเคลื่อนไปทางตา เราเห็น เคลื่อนไปทางหู มันจะเห็น แล้วมันจะเห็นเลย จิตมันเคลื่อนไปทางทวารทั้ง 6 ไม่ได้เจตนา มันเคลื่อนได้เอง เป็นอนัตตา แล้วก็เป็นอนิจจัง จิตไปดูรูป ก็ดูแวบเดียว ไปฟังเสียง ก็ฟังแวบเดียว

 

ต้องฝึกให้จิตตั้งมั่นก่อน

วิธีปฏิบัติ เราทิ้งจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตไว้ แล้วต่อไปพอเรามีจิตที่ตั้งมั่น เราก็ไปเจริญปัญญา ถนัดดูกายก็ดูกายไป ร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ไป ถนัดดูเวทนา ก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหว เกิดดับ จิตเป็นคนรู้ไป ถนัดดูจิตก็เห็นจิตเคลื่อนไหว แล้วจิตก็เป็นคนรู้ไป ฝึกไปเรื่อยๆๆ ต่อไปปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นเลยร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นตัวทุกข์ จิตใจที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนัตตา แล้วมีแต่ความไม่เที่ยงถี่ยิบเลย

ดูกายให้เห็นความไม่เที่ยง ยากกว่าดูจิต เพราะร่างกาย ตัวรูปอายุยืนกว่านาม รูปหนึ่งรูป ถ้าเต็มยศของมัน ใช้จิตตั้ง 17 ขณะ ฉะนั้นดูจิตถี่ยิบเลย ละเอียดยิบเลย ฉะนั้นก็แล้วแต่ถนัด อย่างหลวงพ่อให้ดูกาย จะรู้สึกจืดชืด รู้สึกคับแคบ พอดูจิต มันรู้สึก โอ้โห กว้างขวาง มีอะไรให้เรียนรู้มหาศาลเลย เรียนไปเยอะ ถึงจะสรุปลงมาที่ไตรลักษณ์ เรียนกายไม่มีอะไรมากหรอก ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นไตรลักษณ์แล้ว ก็แล้วแต่ความถนัด บางคนก็ชอบดูกายก็ดูไป ชอบดูเวทนาก็ดูไป ชอบดูจิตตสังขารก็ดูไป เอาที่เราถนัด แต่ไม่ว่าจะดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ต้องดูด้วยจิตที่ตั้งมั่น

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตตั้งมั่นก่อน ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนไปคิดก็รู้ เคลื่อนไปเพ่งก็รู้ แล้วเราจะได้จิตตั้งมั่น พอได้จิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา ถนัดเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ให้ดูไปเลย ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำอย่างนั้น บอก “การดูจิตเป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด” ถึงดูกาย วันหนึ่งก็ต้องเข้ามาที่จิตอยู่ดี เพราะเวลากิเลสเกิด มันเกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่กาย บอกแล้วว่ากายกระทบอารมณ์ มีสุข มีทุกข์ แต่ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ดีชั่วมันเกิดที่จิตอยู่ที่เดียว เพราะฉะนั้นอย่างไรก็หนีจิตไม่ได้

แต่บางคนต้องเริ่มจากกายก่อน ก็เริ่มไป ไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องเริ่มให้ถูก อย่างถ้าขยับอย่างนี้ แล้วไปเพ่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ทางสายกลาง ขยับแล้วก็ใจคิดไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทางสายกลาง เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ แล้วก็ถลำลงไปเพ่งท้อง ไม่ใช่ทางสายกลาง เห็นท้องพองท้องยุบ แล้วหนีไปคิด ไม่ใช่ทางสายกลาง พุทโธๆๆ ไปแล้วหนีไปคิด ไม่ใช่ทางสายกลาง พุทโธๆๆ แล้วก็เพ่งลงไปในพุทโธ แล้วก็ว่าง ไปติดอยู่ในความว่างเลย ทำไมมันว่าง พุทโธมันไม่มีจริง เป็นความคิดเท่านั้น พอเราไปเพ่งมัน ความคิดนั้นดับก็ว่างๆ อันนั้นก็ไปเพ่งเอา

ฉะนั้นเราค่อยๆ ดูของจริงไปเรื่อย แล้วถึงจุดหนึ่งมันลงไปที่เดียวกัน ทั้งหมด ทุกคน ไม่ว่าจะเดินเริ่มต้นจะเดินอย่างไร อย่างเริ่มต้นทำให้จิตตั้งมั่นด้วยการฝึกสมาธิ ไม่แนะนำกสิณ 10 กสิณ 10 เอาไว้สำหรับพวกที่เขาเล่นอภิญญา ถ้าเล่นกรรมฐานง่ายๆ พวกอนุสติ 10 พวกอะไรพวกนี้ ง่ายๆ ไปดู Google เอา พวกอนุสติ ของง่ายๆ ไปทำไปเรื่อยๆ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาได้ พอจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา อย่าอยู่เฉย ต้องโน้มน้อมจิตที่ตั้งมั่นแล้วนี้ให้มันทำงาน

จะดูกาย ให้จิตเป็นคนดูกาย เห็นกายเป็นทุกข์ กายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนามันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา มันทนอยู่ไม่ได้ มันเป็นทุกข์ เห็นสังขาร ก็ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา แล้วแต่จะดู หรือเห็นตัวจิตจริงๆ เกิดดับทางทวารทั้ง 6 เห็นจิตเกิดดับตั้งแต่ขึ้นจากภวังค์ อันนี้พวกเรายังไม่เห็นหรอก ตรงที่จิตขึ้นจากภวังค์ ไม่มีใครเห็นหรอก มันจะมามีสติตอนหลังหรอก สติแล้วมันระลึกย้อนเข้าไป มันระลึกย้อนเข้าไป มันถึงจะเห็น ตรงที่อยู่ในภวังค์ มีสัญญาไหม มี จิตทุกดวงต้องมีสัญญา ตอนที่จิตมันขึ้นมาแล้วมันปรุงดีปรุงชั่วได้ ปรุงสติขึ้นมาได้ ตรงนี้มันทวนกลับเข้าไป ระลึกถึงสัญญาเก่าในภวังค์ มันรู้ อ๋อ จิตมันขึ้นมาแบบนี้เอง ขึ้นมาอย่างนี้เอง อันนี้มันทวนเข้าไปดู ในขณะที่มันอยู่ในภวังค์ ดูไม่ได้หรอก เพราะไม่มีสติ

 

เส้นทางที่เราจะเดิน

ค่อยฝึก ไม่ยากหรอก เริ่มต้นถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง แล้วสิ่งที่เราได้คือสมาธิที่ถูกต้อง เรียกว่าเรามีจิตตสิกขา เราเรียนรู้จิตของตัวเองไป ทำกรรมฐานแล้วเรียนรู้จิตไป จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน แล้วเราจะได้สมาธิ พอเรามีสมาธิ จิตเราตั้งมั่น ก็ระลึกรู้ สติระลึกรู้รูป ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของรูป สติระลึกรู้นาม ก็เห็นไตรลักษณ์ของนาม เห็นทีแรก เห็นรูปนี้ไม่สวย ไม่ชอบ ให้รู้ทันที่ไม่ชอบ ความไม่ชอบจะดับ จิตจะเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นจิตมันตั้งมั่น มันก็เห็นสภาวะ แต่พอเห็นสภาวะแล้ว ก็ยังยินดียินร้ายกับสภาวะ ให้รู้ลงไปอีกช็อตหนึ่ง ฉะนั้นเวลามันไปรู้สภาวะแล้ว ยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน ความยินดียินร้ายก็ดับ จิตก็จะตั้งมั่นและเป็นกลาง คราวนี้จะดูโดยไม่มีการลุ้น เช่นความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เห็นโดยไม่ลุ้นว่ามันจะต้องดับ ความสุขเกิดขึ้น เราก็เห็นไม่มีการลุ้นว่าให้มันอยู่นานๆ มันเป็นกลางจริงๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง เป็นกลางเพื่ออะไร เพื่อจะได้ไม่เข้าไปแทรกแซง ถ้าเข้าไปแทรกแซง ก็คือสร้างความปรุงแต่งไม่รู้จักจบจักสิ้น นี้คือเส้นทางที่เราจะเดินกัน

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ถ้าบอกพวกเราบอกว่า “เดินไปทางนี้ เลี้ยวซ้ายไป เดินไปข้างหน้า 300 เมตรแล้วเลี้ยวซ้าย” มันก็จะสงสัย จะให้เราเลี้ยวไปไหน สันดานของคนรุ่นนี้ ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ หรอก จะฟุ้งซ่านง่าย ฉะนั้นถึงต้องบอกทั้งระบบ พอเข้าใจทั้งกระดานแล้ว ทั้งระบบ แล้วบอกไปทางนี้ มันถึงจะยอมไป นิสัยคนรุ่นนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วก็สมาธิก็สั้นด้วย สั้นจุ๊ดจู๋เลย เพราะฉะนั้นใช้ขณิกสมาธิ หลงแล้วรู้ๆ ไว้

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ เมื่อตอนยังอยู่ในห้อง จิตมันก็ถ่ายทอดธรรมะบางอย่างออกมา เดี๋ยวจะเอามาเทศน์ให้ฟัง พอมาเจอหน้าพวกเรา มันเปลี่ยนเรื่องไปเลย ฉะนั้นเวลาเทศน์ไม่มีการเตรียม เตรียมไว้ก่อนธรรมะจะจืด จืดชืด แห้งแล้ง พวกเราจะไม่ตื่นตัวแบบนี้ จิตพวกเราจะไม่ตื่นตัวขึ้นมาแบบนี้ ที่จิตมันตื่นตัวอย่างนี้ เพราะธรรมะนี้มันพอดีกับเรา ตรงนี้ ธรรมะที่มันผุดขึ้นมาในใจ มันพอดีกับหลวงพ่อ ไม่ได้พอดีกับเรา ฉะนั้นเราฟังเดี๋ยวก็เอ๋อ ไม่สนุก จืดชืด เบื่อ ใครฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วนั่งหลับได้ เข้าขั้นอัจฉริยะเลย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 กุมภาพันธ์ 2566