แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

ธรรมะที่หลวงพ่อบอกกับพวกเรา มันมากพอแล้วสำหรับการปฏิบัติ อยู่ที่ไปทำเอา เวลาภาวนา ต้องมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ทำไม่เลิก ทำบ้างหยุดบ้างก็ไม่พัฒนา หลายๆ คนที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ภาวนาแล้วมันเปลี่ยน ตัวเองรู้สึกได้เลย คนใกล้ชิดอะไรอย่างนี้ เขาก็รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เคยกิเลสแรง กิเลสก็เบา เคยเครียดจัด ก็ไม่ค่อยจะเครียด มีความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้ เคยเห็นแก่ตัวแล้วก็ลดความเห็นแก่ตัวลง ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรหรอก ขอให้ทำให้สม่ำเสมอ

ที่หลวงพ่อสอนให้มากเกินพอแล้วที่จะลงมือทำ ส่วนความรู้ความเข้าใจในธรรมะอยู่ที่เราต้องปฏิบัติเอาเอง ใครก็สอนเราไม่ได้หรอก พระพุทธเจ้าท่านยังบอก ท่านเป็นแค่ผู้บอกทาง เราต้องเดินทางนี้ด้วยตัวเราเอง อย่างบอกทางแล้วก็เหมือนให้แผนที่เรา เวลาเราเดินไปตามแผนที่ บางทีเราก็เดินถูกทางบ้างผิดทางบ้าง แต่มีแผนที่เป็นไกด์ไลน์ ก็ค่อยหาทางที่ถูกจนได้

อย่างเราดูจีพีเอส เราจะไปที่สักที่หนึ่ง มันมีตั้งหลายทาง ไปทางนั้นก็ได้ ทางนี้ก็ได้ มันทางใครทางมัน ใครถนัดทางไหน เหมาะกับทางไหนก็ไปทางนั้น แต่ไปสู่ที่เดียวกัน แล้วในระหว่างเดินทาง เราก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นเวลาฟังครูบาอาจารย์เทศน์ ฟังพร้อมๆ กัน ฟังเหมือนๆ กัน เวลาลงมือปฏิบัติ สิ่งที่รู้สิ่งที่เห็นมันไม่ค่อยจะเหมือนกัน มีความแตกต่างกัน อย่างคนฟุ้งซ่านมาก ภาวนาก็ไปอย่างหนึ่ง คนราคะมาก ภาวนาก็ไปอีกอย่าง พวกโทสะมากก็ไปอีกอย่าง บางคนชอบทำสมาธิ ต้องทำสมาธิเยอะๆ เสียก่อน บางคนทำสมาธิไม่เป็น

 

หลักแม่บท คืออริยสัจ
ทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ

ทิศทางอันเดียวกัน เรื่องของสติปัฏฐานเหมือนๆ กัน แต่จริตนิสัยที่แตกต่างกัน มันก็จะเหมือนเราเดินไม่เหมือนคนอื่น อย่างเวลาพวกเราส่งการบ้านหลวงพ่อ เราสังเกต อย่างเวลาเราฟังคนอื่นส่งการบ้าน เรารู้สึกเขาส่งอะไรก็ไม่รู้บางที ทำไมเขาเห็นอะไร เขารู้อะไร เราไม่เห็นเป็นอย่างเขาเลย ท่าจะแย่แล้ว ที่จริงไม่ใช่ กระทั่งเดินถนนเส้นเดียวกัน บางคนมองไปทางซ้าย บางคนมองไปทางขวา เห็นอะไรที่ไม่เหมือนกันแล้ว ในทางเดียวกันนั่นล่ะ แต่สิ่งที่รู้ที่เห็นระหว่างทางแตกต่างกันไป จนไปถึงจุดหมายปลายทางอันเดียวกันนั่นล่ะ ถึงจะเข้าใจตรงกันตรงนั้น

เหมือนเราจะขึ้นภูเขา ถ้าเทียบ เหมือนเราขึ้นภูเขา เราขึ้นได้รอบทิศทาง บางคนไม่ชอบปีนก็ขึ้นทางที่มันลาดๆ หน่อย บางคนขึ้นทางลาดๆ ไปสบายๆ ไม่ชอบ ไม่ตื่นเต้น ไม่ท้าทาย ต้องไปปีนทางชะง่อนผาอะไรนี่ ไต่ขึ้นไปยากลำบาก แล้วรู้สึกสะใจ พอขึ้นไปยอดเขาแล้วมันก็อันเดียวกัน ก็จะเห็นเลยรอบทิศทางเรา มันขึ้นเขาได้รอบทิศนั่นล่ะ บางที่ก็เดินมาสบาย บางที่ต้องผ่านเหวมา ไต่เชือกมาอะไรอย่างนี้ แล้วแต่จริตนิสัย สุดท้ายมันก็ไปที่เดียวกัน ไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไปสู่ความพ้นทุกข์ เหมือนๆ กัน

เพราะฉะนั้นในสายตาหลวงพ่อ มันไม่มีสายไหนดีกว่าสายไหนหรอก ถ้าเดินอยู่ในหลักของอริยสัจอย่างถูกต้อง รายละเอียดก็เดินอยู่ในหลักของสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง มันก็ไปได้แล้ว แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

หน้าที่ต่อมรรคมีองค์ 8 ประการ ย่อลงมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หน้าที่ต่อมรรคก็คือการเจริญ ทำให้มาก เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย รู้สึกตัวเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ใช่ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ฝึกจิตฝึกใจ เจริญปัญญาต้องทำ มรรคต้องทำให้เจริญขึ้น แล้วก็ได้เจริญแล้ว ถึงจะเรียกว่าเข้าใจธรรมะ

ตอนที่พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัทถะตรัสรู้ ท่านก็เห็นองค์ธรรม 12 ตัวนี้จากอริยสัจ 4 นั่นเอง อะไรคือทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ท่านได้รู้แล้ว อะไรคือสมุทัย ตัณหาคือสมุทัย หน้าที่ต่อสมุทัยคือการละ ท่านได้ละแล้ว หน้าที่ต่อนิโรธ นิโรธคืออะไร นิโรธคือพระนิพพาน ความดับทุกข์ ท่านได้เข้าไปเห็นแล้ว ถึงสภาวะที่ดับทุกข์ ตัวมรรค อริยมรรคมีองค์ 8 ท่านได้เจริญแล้ว หน้าที่ต่อมรรคคือเจริญ ทำให้มีขึ้นมา ให้พัฒนาไป มีคำว่ารู้แล้ว ละแล้ว เห็นแล้ว เจริญแล้ว

ท่านบอกถ้าท่านไม่ได้องค์ธรรมทั้ง 12 ตัวนี้ ท่านไม่ปฏิญาณตน ไม่ประกาศตนเป็นพระพุทธเจ้าหรอก ไม่เป็นพระอรหันต์หรอก นี่คือแม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ แค่เริ่มต้นแม่บทใหญ่ พวกเราส่วนใหญ่ก็ผิดแล้ว ท่านบอกทุกข์ให้รู้ เราอยากละ ท่านบอกสมุทัยคือตัณหา ให้ละเสีย เราชอบสนองตัณหา ส่วนนิโรธ เราไม่เคยเห็น อย่างมากก็คิดๆ เอา ไม่ได้เห็นเอา มรรคก็เจริญบ้างไม่เจริญบ้าง เดี๋ยวก็ทำ เดี๋ยวก็เลิก ฉะนั้นมันไม่มีวันแจ่มแจ้ง ทำๆ หยุดๆ เรียกว่าไม่ได้เจริญมรรค คิดถึงพระนิพพาน ไม่ได้เห็นพระนิพพาน ก็เรียกว่าไม่ได้เดินอยู่ในกรอบของอริยสัจ เห็นกิเลสตัณหาแล้วก็ตามใจมัน ก็ไม่เรียกว่าละสมุทัย เห็นกายเห็นใจ แทนที่จะเห็นทุกข์ ก็เห็นว่าเป็นของดีของวิเศษเสียอย่างนั้น แล้วถ้ามีความทุกข์เกิดขึ้นในกาย มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็อยากละ แทนที่จะรู้ ก็มุ่งไปละ

ลองวัดใจเราดูสิ เราอยากละทุกข์ หรือเราอยากรู้ทุกข์ บางคนอธิษฐานเลยเวลาทำบุญ ขอให้ห่างไกลความทุกข์ร้อยโยชน์แสนโยชน์ เท่านั้นโยชน์เท่านี้โยชน์ โยชน์หนึ่งเท่าไรยังไม่รู้เลย โยชน์หนึ่ง 16 กิโลเมตร ร้อยโยชน์เท่ากับเท่าไร เยอะแยะ ก็อยากหนีทุกข์ ไม่ได้อยากรู้ทุกข์ แล้วมันจะรู้ธรรมได้อย่างไร ไม่ได้เดินอยู่ในหลักของอริยสัจ

ถ้าเรารู้หลักแม่บท คืออริยสัจว่าทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ เรารู้หลักอย่างนี้แล้ว การปฏิบัติ เราจะทำอย่างไร การปฏิบัติก็อยู่ในหลักเกณฑ์ของเรื่องสติปัฏฐาน เจริญสติปัฏฐาน สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปกับนาม ฉะนั้นในสติปัฏฐานก็เต็มไปด้วยเรื่องรูปกับนาม อย่างกาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เน้นหนักอยู่ที่รูป เวทนานุปัสสนาเป็นเรื่องของนาม จิตตานุปัสสนาเป็นเรื่องของนาม ธัมมานุปัสสนามีทั้งรูปมีทั้งนาม เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 มันก็คือการแจกแจงตัวทุกข์ออกมาเป็นอารมณ์ 4 ชนิด คือกาย เวทนา จิต ธรรม ก็แจกแจงออกมาจากคำว่า ทุกข์นั่นล่ะ

 

การจะรู้ทุกข์ได้ ต้องฝึกเครื่องมือตัวที่หนึ่งคือสติ

ทำอย่างไรเราจะสามารถเห็นทุกข์ได้ ไม่ใช่ละทุกข์ จะเห็นทุกข์ได้ เครื่องมือในการเห็นทุกข์ คือสติ ต้องเห็นจนเข้าใจ จะเข้าใจได้ก็ด้วยปัญญา สติเป็นตัวรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ความมีอยู่ของกายของใจ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ สติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นอย่างนี้ถึงจะปล่อยวางได้ จะละสมุทัยได้ ถ้าไม่เห็นทุกข์อย่างแท้จริงว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ยังละสมุทัยไม่ได้

อย่างเราเห็นว่าร่างกายเป็นทุกข์ แล้วก็รู้สึกบางทีมันก็สุข บางทีมันก็ทุกข์ ร่างกาย มันละสมุทัยไม่ได้ เพราะว่ามันยังมีทางเลือกอยู่ เวลาดูลงในร่างกาย เห็นสุขบ้างทุกข์บ้าง มันก็เกิดความอยากที่จะมีความสุข เกิดความอยากที่จะไม่ทุกข์ เห็นไหม มันมีตัณหาขึ้นมาแล้ว เพราะมันไม่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ถ้ามันรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง มันเห็นว่ากายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ แค่บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย แต่อย่างไรก็ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ถึงละสมุทัยได้

พอมันรู้แจ้งว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ แล้ว มันก็ไม่เกิดความอยากที่จะให้ร่างกายไม่ทุกข์ เพราะความอยากอันนั้นไร้เดียงสา เพราะมันเป็นตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์ได้อย่างไร แล้วมันก็ไม่ได้อยากให้ร่างกายเป็นสุขหรอก เพราะมันไร้เดียงสา กายนี้มันเป็นทุกข์ จะเป็นสุขไปได้อย่างไร ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง มันละสมุทัยกันแบบนี้ คือมันเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งจริงๆ ร่างกายเรามีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

จิตใจเราก็เหมือนกัน คนที่ไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรมจิตใจ ไม่ได้ภาวนา มันจะเห็นว่าจิตใจนี้บางทีก็มีความสุข บางทีก็มีความทุกข์ แต่ถ้าเราปฏิบัติเต็มเหนี่ยว เจริญสติปัฏฐานได้เต็มที่แล้ว เราจะเห็นว่าจิตใจนี้ มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง เวลาทุกข์มาก คนทั่วไปก็ว่าทุกข์ เวลาทุกข์น้อย คนทั่วไปก็ว่าสุข

เราภาวนาจนเรารู้ความจริง จิตใจนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลย มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความอยากให้จิตใจไม่ทุกข์ก็ไม่มี เพราะอยากจะให้ใจไม่ทุกข์ มันไร้เดียงสา มันเป็นตัวทุกข์ อย่างไรมันก็ทุกข์ ความอยากให้ใจมีความสุข มันก็ไม่ต้องมี เพราะใจมันคือตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันสุขไปได้อย่างไร ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งมันละสมุทัยกันแบบนี้ เพราะฉะนั้นงานที่เราจะทำจริงๆ ไม่ต้องไปละสมุทัยอะไรหรอก รู้ทุกข์เข้าไว้แล้วมันละสมุทัยของมันเอง

การจะรู้ทุกข์ได้ ก็ต้องฝึกเครื่องมือตัวที่หนึ่งคือสติ การเจริญสติปัฏฐานนั้นเบื้องต้นเราจะได้สติ เบื้องปลายจะได้ปัญญา เรื่องของสติปัฏฐาน สิ่งที่เราจะได้จากสติปัฏฐาน คือ 2 อัน เบื้องต้นได้สติ เบื้องปลายได้ปัญญา สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้เรารู้สภาวะเนืองๆ มีวิหารธรรมคือเครื่องอยู่ของจิต จะเป็นกายก็ได้ เป็นเวทนาก็ได้ เป็นจิตตสังขาร คือความปรุงดีปรุงชั่ว จิตที่ดี จิตที่ชั่วก็ได้ ธัมมานุปัสสนา เว้นไว้ก่อน ยาก เอาไว้ทีหลัง เดี๋ยววันหลังก็รู้เอง เราต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ก่อน เครื่องอยู่เหล่านี้ก็คือรูปนามทั้งนั้นเลย รูปธรรม นามธรรมทั้งนั้นในสติปัฏฐานเป็นการขยายความ วิธีปฏิบัติตามแม่บทคืออริยสัจ 4 นั่นล่ะ

เพราะฉะนั้นเราจะรู้รูป รู้นาม ไม่ใช่ละ รู้ทุกข์ ไม่ใช่ไปดูรูปให้มันไม่ทุกข์ ไม่ใช่ดูจิตให้มันไม่ทุกข์ บางคนก็ฝึกจิต จิตเข้าฌานสมาบัติได้ จิตมีแต่ความสุขอย่างนี้ แล้วบอกว่าบรรลุมรรคผลแล้ว ไม่ใช่เลย คนละโลกกันเลย ไปทำสมาธิ ทำให้ตัวทุกข์ไม่แสดงออกมา รู้สึกจิตมีแต่ความสุข มีแต่ความสงบ มีแต่ความสบาย อันนั้นเรื่องของสมถกรรมฐาน ไม่ใช่เรื่องการเจริญสติเจริญปัญญาที่แท้จริงหรอก เพราะฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน ถนัดรู้กาย เราก็ใช้กายเป็นวิหารธรรม ถนัดรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ เราก็ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรม ถนัดรู้จิต เราก็ใช้จิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างเป็นวิหารธรรม ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ วิหารธรรมของเรา ลองดู มีแต่รูปธรรมนามธรรมทั้งนั้นล่ะ

ถัดจากนั้นทำอย่างไร หัดรู้มันเรื่อยๆ ไป ก็บอกแล้วทุกข์ให้รู้ เพราะฉะนั้นอย่างเรารู้สึกร่างกาย ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ รู้สึกจิตใจ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ หลายคนภาวนา บอกจิตฟุ้งซ่านจะละอย่างไร ถ้าจะทำสมถะก็ละความฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ แต่ถ้าจะเจริญปัญญา ไม่ได้ละหรอกความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านมันอยู่ในกองทุกข์ มันอยู่ในสังขารขันธ์ หน้าที่ก็คือรู้ว่าฟุ้งซ่าน

 

ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ

ท่านถึงสอน “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน” ท่านไม่ได้สอนว่า ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตฟุ้งซ่านให้ทำความสงบไว้ อันนั้นคือสมถกรรมฐาน แล้วท่านก็สอน “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ” ท่านไม่ได้บอกให้ละราคะ “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ” ท่านไม่ได้บอกให้ละโทสะ ท่านให้รู้ เพราะอะไร สิ่งเหล่านี้อยู่ในกองทุกข์ ในขันธ์ 5 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกองทุกข์ ยกเว้นตัวโลภะที่มีกำลังแรงกล้า คือตัวตัณหา ตัวนั้นอยู่ในกองสมุทัย ตัณหา อุปาทาน นอกนั้นมันก็อยู่ในกองทุกข์ ให้เรารู้ ไม่ใช่ให้ละ

เพราะฉะนั้นหลายคนชอบถาม โอ้ จิตมันขี้โมโห จะละได้อย่างไร ถามอย่างนี้ ถามแบบไม่มีหลักเลย จะละความโกรธ ถ้าจะละกันจริงๆ ก็ต้องไปทำสมาธิ เจริญเมตตา จิตสงบลงมาก็ละความโกรธได้ชั่วคราว เดี๋ยวก็โกรธใหม่ ความโกรธมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ อย่างเราเกลียดขี้หน้าใครสักคนหนึ่ง เราเกลียดคนนี้มากเลย นึกถึงทีไรโทสะก็ขึ้น โกรธขึ้นมา แล้วเราก็ไปนั่งเจริญเมตตา ในขณะที่เจริญเมตตา เราไม่ได้คิดถึงคนที่เราโกรธ เราก็มัวแต่จดจ่ออยู่กับการเมตตาของเรา เราลืมคิดถึงคนที่เราโกรธ ความโกรธก็หายไป

เวลาเรามีราคะ จะทำสมถะ เราพิจารณาปฏิกูลอสุภะ เราเห็นสาวคนนี้มันสวยๆ ดูทีไรก็สวย ราคะก็เกิด เรามองให้ลึกลงไปอีก ที่สวยมันสวยที่ไหน สวยที่ผม ที่ขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนัง สิ่งที่อยู่ใต้ผม ขน เล็บ ฟัน หนังลงไปล้วนแต่หน้าเกลียดทั้งนั้นเลย สวยๆ อย่างนี้ ลองลอกหนังออกไปสิ สวย ไม่สวย มันสวยที่หนังเท่านั้นเอง

อย่างจิตมีราคะ เราพิจารณาลงไป ผู้หญิงคนนี้สวย ดูลงไป มันสวยจริงไหม ข้างในมันสกปรก ความสกปรก ถึงจะถูกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ห่อหุ้มไว้ มันก็ห่อหุ้มได้ไม่มิด อย่างหนังไม่อาบน้ำสักวัน 2 วัน ก็ดูไม่ได้แล้ว สกปรก เหม็น ผม ไม่สระผมสักพักเดียว เหม็นสาบไม่ต่างกับขนหมาหรอก ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ราคะก็ดับ อันนี้เป็นการแก้อาการ

การแก้อาการทั้งหลาย หรือการสร้างอาการใดๆ ขึ้นมาเป็นเรื่องของสมถะ เช่น สร้างความสงบให้เกิดขึ้น เรื่องของสมถะ แก้ความฟุ้งซ่าน เป็นเรื่องของสมถะ แต่ถ้าเจริญปัญญา จะทำวิปัสสนา ไม่ต้องไปมุ่งที่การแก้อาการ ให้รู้อาการ ให้รู้ ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น อย่างดูกาย ไม่ได้ดูให้เห็นปฏิกูลอสุภะ แต่ดูให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราดูกายเป็นอสุภะ เราจะเกลียดกาย จิตไม่เข้าสู่ความเป็นกลาง ไม่เป็นอุเบกขา ยิ่งดูยิ่งรังเกียจ

สมัยพุทธกาล มีพระอยู่กลุ่มหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็สอนให้พิจารณาอสุภะ ท่านรู้ว่าภิกษุเหล่านี้มีกรรมหนัก อย่างไรก็หนีกรรมอันนี้ไม่พ้น แต่ท่านก็ให้ของดีไว้อันหนึ่ง คือให้พิจารณาปฏิกูลอสุภะไป พอให้การบ้านเสร็จ พระพุทธเจ้าท่านก็หลีกเร้นไปเลย ไปอยู่องค์เดียว ไม่รับรู้ข้อมูลแล้ว เพราะว่าอะไร สัตว์โลกมันต้องเป็นไปตามกรรม ภิกษุเหล่านี้เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ จะต้องตาย ต้องฆ่าตัวตาย ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกรรม พระพุทธเจ้าก็ไปแก้กรรมให้ใครไม่ได้ แต่ท่านก็ให้ของดีไว้ ให้พิจารณาปฏิกูลอสุภะไป

พระพวกนี้พอพิจารณาไปๆ รังเกียจร่างกาย ก็เลยไปฆ่าตัวตายกัน บางคนใจเสาะ ไม่กล้าฆ่าตัวเอง ก็ไปจ้างคนอื่นมาฆ่า พระมีสมบัติอะไรเป็นค่าจ้าง เอาบาตรให้เขา เอาจีวรให้เขา จ้างเขาฆ่า ปรากฏว่าตายเป็นร้อยเลย ตายเป็นร้อยองค์ พระพุทธเจ้ากลับมา พระที่เหลืออยู่ไม่ได้มีวิบาก รุนแรงอย่างนั้นแล้ว ท่านก็สอนอานาปนสติให้ พวกนี้ได้เห็นพระด้วยกันล้มหายตายจากไปเยอะ จิตก็สลดสังเวชอยู่แล้ว พอพระพุทธเจ้าสอนอานาปนสติ จิตก็รวม ก็บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก ส่วนพวกที่ฆ่าตัวตายได้เคยเรียนรู้เรื่องอสุภกรรมฐานไว้แล้ว ต่อไปชาติต่อๆ ไป การภาวนาก็จะทำได้ง่ายขึ้น

นี่เป็นเรื่องการแก้อาการ แก้สิ่งที่มีอยู่ ทำสิ่งที่ไม่มีให้มี เช่น ไม่สงบก็ทำให้สงบ ไม่ว่าง ทำให้ว่าง นี่เรื่องของสมถะ แต่เวลาเราเจริญปัญญา เรามีสติรู้กายรู้ใจไป สติจะเกิดได้ ถ้าเราเห็นสภาวะอันนั้นบ่อยๆ อย่างเราเห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายหายใจออก เห็นมันทั้งวันเลย ต่อมาพอมันลืมการหายใจ หลงไปคิดเรื่องอื่น มันจะหลงไม่นาน แวบเดียวก็จะมารู้สึกการหายใจแล้วสติเกิดอีกแล้ว ฉะนั้นสติปัฏฐาน ทำเบื้องต้นมันจะได้สติ หรือเรารู้เวทนา เราเห็นความสุข ความทุกข์ในกายนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เห็นความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในใจ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย ต่อมาพอลืม ไปเห็นดอกไม้สวย ใจมันชอบ มีความสุขผุดขึ้นมาในใจ สติมันระลึกได้เองว่าความสุขเกิดขึ้นแล้ว สติมันเกิด เพราะจิตมันจำสภาวะได้ มันจำความสุขได้แม่น มันจำความทุกข์ได้แม่น จำกุศล จำอกุศลได้แม่น สติก็เกิดเอง มันจำรูปที่เคลื่อนไหว รูปที่หยุดนิ่งได้แม่น สติก็เกิดเอง เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนบอกว่า ให้มีกายในกาย ให้รู้กายในกายเป็นวิหารธรรม เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมเป็นวิหารธรรม ให้รู้เนืองๆ ไม่ใช่รู้ทีเดียวแล้วเลิก ให้รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ แล้วสติจะเกิด นานๆ รู้ทีสติไม่เกิด จำไว้เลย

เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราภาวนาแล้วก็เลิกๆ สติเราไม่เกิดหรอก ต้องทำให้มันต่อเนื่อง ต้องดูเนืองๆ เห็นกายในกายเนืองๆ เช่น เห็นกายหายใจออก เห็นกายหายใจเข้าอยู่เนืองๆ เห็นอยู่เรื่อยๆ ไป เห็นกายยืน เดิน นั่ง นอนเนืองๆ เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นกายหยุดนิ่งเนืองๆ เห็นความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นในกายเนืองๆ เห็นบ่อยๆ ซ้ำๆ เห็นไปเรื่อย เห็นสุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้นจิตใจเนืองๆ เห็นกุศล อกุศลเกิดขึ้นในจิตใจเนืองๆ หัดรู้หัดดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในกาย ร่างกายขยับนิดเดียวสติเกิดเอง จิตใจเกิดสุขเกิดทุกข์อะไรขึ้นมานิดเดียว สติเกิดเอง นี่คือการเจริญสติปัฏฐานเพื่อจะให้เกิดสติ

ทันทีที่สติตัวจริงเกิด สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดอัตโนมัติ จะเป็นขณิกสมาธิ อย่างส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะสอนบอกให้หลงแล้วรู้ๆ หายใจไป พุทโธไป แล้วหลงไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน หลงไปเพ่ง รู้ทันอะไรนี่ ทำไมมาเน้นที่หลง เพราะหลงเป็นสภาวะที่เกิดบ่อยที่สุด เราหลงทั้งวันเลย วันหนึ่งเป็นหมื่น เป็นแสนครั้ง ไม่เคยรู้ตัวเลย หลงแป๊บๆๆ ตลอดเวลาเลย ฉะนั้นท่านเลยหัดจี้ลงมาที่ตัวหลง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ หลวงพ่อย่อคำว่าหลงลงมาเหลือสองอัน หลงไปคิด หลงไปไกลเลย แล้วก็หลงไปเพ่งจ้องนิ่งๆ อยู่ หลงก็ให้รู้ไป ฝึกไปเรื่อยๆ

ทันทีที่รู้ว่าหลง จิตจะตั้งมั่น สมาธิจะเกิดเอง เพราะฉะนั้นอย่างบางทีนั่งนับลูกประคำไป นั่งนับ จิตหลงไปคิดปุ๊บ ลืมการนับ พอรู้ว่าหลงไปคิดปุ๊บ สมาธิจะเกิดอัตโนมัติเลย จิตจะกลับมาตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นทันทีเลย หรือเวลาเราโกรธ เรากำลังโกรธอยู่ กำลังจะไปชกกับเขาอยู่ แล้วเกิดมองเห็นว่า เฮ้ย จิตกำลังโกรธ ความโกรธจะดับปั๊บเลย จิตจะมีสติขึ้นมา ทันทีที่สติเกิด สมาธิที่ถูกต้องก็เกิดร่วมกันเลย

ฝึกอย่างนี้แล้วจิตก็จะค่อยตั้งมั่นขึ้นมา สะสมไปเรื่อยๆ รู้สภาวะถูกต้องไปเรื่อยๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก สมาธิมันจะค่อยมากขึ้นๆ สมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พอจิตเราตั้งมั่นมากขึ้นๆ สะสมไปทีละขณะๆ หลงแล้วรู้ๆๆ หรือโกรธแล้วก็รู้ โลภแล้วก็รู้ หลงแล้วก็รู้ อะไรก็ได้ สุขแล้วก็รู้ ทุกข์แล้วก็รู้ หัดรู้ไป เคลื่อนไหวก็รู้ หยุดนิ่งก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ รู้อะไร รู้ทุกข์นั่นล่ะ รู้กาย รู้ใจ รู้อารมณ์กรรมฐานของเรานั่นล่ะ แล้วสมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นเมื่อสติเกิด

 

สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นเมื่อสัมมาสติเกิด
ถัดจากนั้นสัมมาญาณะคือตัวปัญญาจะเกิดขึ้น

สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย เพราะสัมมาๆ ทั้ง 8 เวลาเกิดเกิดร่วมกันทั้งหมดเลย ไม่เฉพาะสัมมาสติ สัมมาสมาธิหรอก สัมมาทั้ง 8 ตัวนั่นล่ะเกิดพร้อมๆ กันหมดล่ะเวลาเกิด ฉะนั้นอาศัยสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย สมาธิก็จะเกิดขึ้น

พอสมาธิเราเต็ม มันจะรู้สึกเหมือนเราตื่นขึ้นมาอย่างแท้จริง จะเหลียวซ้ายแลขวาอะไรนี่ มันรู้สึกตัวโดยไม่ได้เจตนาเลย ถัดจากนั้นสติระลึกรู้กาย อย่างร่างกายเคลื่อนไหว สติมันระลึกขึ้นมา ปุ๊บ จิตมันตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นไตรลักษณ์ทันที ร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่ใช่เราๆ เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ เราเห็นเวทนาเกิดขึ้น มันจะเห็นเลย เวทนาก็ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นอยู่ เห็นสังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น มันจะเห็นทันทีเลยว่าความปรุงดีปรุงชั่ว โลภ โกรธ หลงอะไร ไม่ใช่เรา เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา มันถอดถอนความเห็นผิดว่าเป็นเรา มันจะเห็นความจริงว่าจริงๆ มันไม่ใช่เรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยไป ต่อไปกระทั่งตัวจิตเองเราก็จะเห็นเลย จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง แต่ต้องมีผู้รู้ไว้ เป็นตัวคั่น ถ้าเราไม่มีตัวผู้รู้ มีแต่จิตหลงดู หลงฟัง หลงดมกลิ่น มีแต่จิตหลง มันเจริญสติ เจริญปัญญาอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องฝึกให้สติถูกต้อง แล้วสมาธิที่ถูกต้องจะเกิด สมาธิที่ถูกต้องเกิดซ้ำๆๆ มันจะมีกำลังขึ้นมา คราวนี้พอสติระลึกรู้รูป มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้นาม ก็เห็นไตรลักษณ์ ไม่ได้เห็นปฏิกูลอสุภะ เพราะปฏิกูลอสุภะไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไตรลักษณ์ถึงจะเป็นของจริง ปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของจริง

หลวงพ่อเคยเข้าไปกราบหลวงพ่อพุธ เข้าหลังวัดป่าสาละวัน โห กองทัพหมามันมาขี้ไว้เต็มถนนเลย เวลาเดินต้องระวังมากเลย แล้วแมลงวันก็บินว่อนเลย หัวเขียวๆ ตัวโตๆ เราก็ขยะแขยง ก็ทนเดินๆ ไป ไปเจอขี้หมาอยู่กอง เพิ่งสดๆ มีหนอนด้วย แมลงวันก็ตอม พอเข้าใกล้แมลงวันก็จะบินมาใส่เรา จิตรู้สึกขยะแขยงมากเลย เหย สกปรก พอจิต “สกปรก” มันเห็น เห็นสภาวะที่จิตมันขยะแขยง อันนี้เป็นสังขารอันหนึ่ง จิตมันรังเกียจขึ้นมา ความรังเกียจนี้ดับ พอสติรู้ทันจิตที่ขยะแขยง ความขยะแขยงดับ สมาธิเกิด จิตตั้งมั่นทันทีเลย

พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกลงไปที่ขี้หมาเปียกๆ กองนั้น สมาธิมันมีกำลัง มันแยกขี้หมาออกไปเป็นธาตุเลย กลิ่นส่วนหนึ่ง เป็นรูปชนิดหนึ่ง กลิ่น สีของมัน เหลืองๆ แดงๆ ก็เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง รสไม่รู้ ไม่ได้ชิม เห็นแต่สีกับกลิ่น แล้วก็ที่เหลืออยู่มันก็เป็นน้ำ มีน้ำ น้ำก็แยกส่วนออกไป น้ำที่แยกส่วนออกไป เป็นอสุภะไหม น้ำไม่ได้อสุภะ น้ำที่เรารดน้ำศพมันก็ระเหยไป กลับมาเราเอามากินได้อีก น้ำก็ไม่ใช่อสุภะ เหลือสุดท้ายมันแห้งลงไป มันกลายเป็นก้อนดิน เป็นผง ดินเป็นอสุภะไหม รวมแล้ว ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่เห็นมีอสุภะตรงไหนเลย เพราะฉะนั้นอสุภกรรมฐานไม่ได้มีจริง เป็นแค่อุบาย อุบายทำจิตให้สงบ เวลาจิตมีราคะเท่านั้นล่ะ แต่ของจริงคือไตรลักษณ์ ดูลงไป มันจะแยก ไม่มีอสุภะแล้ว คราวนี้เดินสบายเลย จิตมันเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ ดู จิตหลงแล้วรู้ หรือจิตโกรธแล้วก็รู้ ร่างกายหายใจออก รู้ ร่างกายหายใจเข้า รู้ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้ ร่างกายหยุดนิ่ง รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะมีสมาธิขึ้นมา พอจิตมีสมาธิขึ้นมาแล้ว พอสติไประลึกรู้กาย จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็น ไม่ใช่คิด เข้าไปเห็นความจริงแล้ว ท่านบอกว่าให้เราไปดู ทุกข์ให้รู้ ฉะนั้นกายเป็นตัวทุกข์ หน้าที่ของเราต่อทุกข์คือรู้

เราเข้าไปรู้กาย เราไปเห็นร่างกาย เห็นความจริงของมัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นความจริงของเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจิตตสังขาร ดี ชั่ว โลภ โกรธ หลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็เพ่ง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็ไหลไปดูรูป เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็ไหลไปฟังเสียง เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลงไปดมกลิ่นอะไรอย่างนี้ จิตมันก็ทำงานเกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงทางอายตนะทั้ง 6 หมุนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ทางใจ เดี๋ยวก็เป็นจิตดี เดี๋ยวก็เป็นจิตชั่ว เดี๋ยวก็เป็นจิตสุข เดี๋ยวก็เป็นจิตทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นจิตเผลอ เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง ออกไปทางอายตนะ เดี๋ยวก็เป็นจิตดูรูป เป็นจิตฟังเสียง เป็นจิตดมกลิ่น ดูไปเรื่อยๆ ก็เห็นไตรลักษณ์ของจิตอีก เพราะฉะนั้นเราที่เจริญสติปัฏฐาน เบื้องต้นเราได้สติ พอได้สติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องก็เกิด พอมีสติและสมาธิทำงานร่วมกัน ปัญญาก็เกิด ปัญญาก็จะเกิด

เพราะฉะนั้นในอริยมรรค สังเกตไหม ตอนท้ายจะเป็นสัมมาสติแล้วก็สัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าถ้าเราเจริญสัมมาสติให้มาก จะทำสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ นี่เคล็ดลับของการทำสมาธิของพระพุทธเจ้าเลย ถ้าเจริญสติให้ถูกต้อง ต้องเป็นสัมมาสติ มิจฉาสติไม่ทำให้สัมมาสมาธิเกิด มิจฉาสติ เช่น ขับรถไม่ตกถนน เดินไม่ตกท่อ บอกมีสติ ไม่ใช่สัมมาสติ สติโลกๆ เขียนไว้ข้างขวดเหล้า กินเหล้าทำให้ขาดสติ แล้วเอามาขายทำไม กินเหล้าทำให้ขาดสติ

สติอย่างนั้น สติอย่างโลกๆ แต่สติที่เป็นสัมมาสติ จำไว้เลย สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติคือสติปัฏฐานเท่านั้น พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน ฉะนั้นเราหัดระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมคือทั้งรูปทั้งนาม ระลึกรู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้น สติกับสมาธิ เรามีเครื่องมือคู่นี้แล้ว ถัดจากนั้นสัมมาญาณะคือตัวปัญญาจะเกิดขึ้น

สัมมา เรารู้จักสัมมาอยู่ 8 ตัวใช่ไหม สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ พอมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิแล้ว ถัดจากนั้นตัวที่เก้าคือสัมมาญาณะ ความหยั่งรู้จะเกิดขึ้น สติระลึกรู้รูป จิตตั้งมั่น ก็หยั่งรู้ความจริงของรูปว่าเป็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้นาม จิตตั้งมั่น ก็เกิดปัญญาหยั่งรู้ว่านามธรรมทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์ แล้วถัดจากนั้น พอเข้าใจไตรลักษณ์แจ่มแจ้งในรูปนาม ก็จะเกิดสัมมาตัวที่สิบ เรียกว่าสัมมาวิมุตติ สัมมาวิมุตติก็คือเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล เกิดอริยมรรค อริยผลขึ้น

ทำไมวิมุตติ ต้องมีคำว่าสัมมา มันก็คล้ายๆ สัมมาสติ ต่างกับสติธรรมดา สติธรรมดามันสติเรื่องอื่น สัมมาสติคือเรื่องสติปัฏฐาน สัมมาสมาธิไม่ใช่สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ แต่สมาธิอันนั้นคือความตั้งมั่นของจิต สัมมาญาณะคือการหยั่งรู้ความจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์ พอรู้ความจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์ก็ปล่อยวาง เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล สัมมาวิมุตติก็คืออริยมรรค อริยผล ก็คือนิพพาน นวโลกุตตระ 9 โลกุตตรธรรมทั้ง 9 มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 นั่นเป็นตัวสัมมาวิมุตติ

มิจฉาวิมุตติเป็นอย่างไร อย่างพวกเข้าฌาน จิตว่าง สว่าง อะไรก็ว่าง นั่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง อยู่กับความว่างไปเรื่อยๆ อันนั้นมิจฉาวิมุตติ มันเป็นนิพพานของพรหม ไม่ใช่นิพพานของพุทธ ฉะนั้นคำว่า สัมมา สำคัญ วิมุตติอย่างชาวพุทธเราคือเกิดอริยมรรค อริยผล สัมผัสพระนิพพาน ไม่ใช่ไปติดอยู่ในความว่าง รู้โน่นรู้นี่ นั่งสมาธิแล้วก็ถอดกายทิพย์ไปนั่งอยู่ในปราสาทแก้วอะไร สมมติอย่างนี้ แล้วบอกนี่เป็นวิมุตติ อันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่สัมมาวิมุตติของพระพุทธเจ้า

วิมุตติ สัมมาวิมุตติเกิดจากสัมมาญาณะสมบูรณ์ สัมมาญาณะเกิดจากสัมมาสมาธิสมบูรณ์ สัมมาสมาธิเกิดจากสัมมาสติสมบูรณ์ ฉะนั้นสติปัฏฐาน เบื้องต้นเราจะได้สติ เบื้องปลายได้สมาธิ แล้วผลที่ตามมาคือมรรคผลนิพพาน นี่คือเส้นทางเดินของพระอริยเจ้าทั้งหลาย แม่บทใหญ่คืออริยสัจ ทุกข์ให้รู้ วิธีจะรู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัย จนกระทั่งแจ้งนิโรธ จนกระทั่งเกิดอริยมรรค ทำอย่างไร ก็เดินอยู่ในหลักของสติปัฏฐาน 4 เดินอยู่ในแนวนี้

 

 

พอรู้เรื่องไหม วันนี้รู้สึกเทศน์ยากไปหรือเปล่า ถ้ายากไปก็นั่งยิ้มก่อน ยิ้มหวาน เห็นไหมตัวอะไรมันยิ้ม มีสติรู้ร่างกายมันยิ้มก็รู้ ร่างกายมันหน้าบึ้งก็รู้ เริ่มต้นอย่างนี้ไป รู้กายอย่างที่กายกำลังเป็น รู้จิตอย่างที่จิตกำลังเป็น รู้บ่อยๆ แล้วสติเกิด สติเกิดบ่อยๆ สมาธิก็เข้มแข็ง ต่อไปมันก็จะเห็นไตรลักษณ์ เริ่มต้นจากของง่ายๆ นี่ล่ะ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยืนอยู่ก็รู้ เดินอยู่ก็รู้ นั่งอยู่ก็รู้ นอนอยู่ก็รู้ เคลื่อนไหวก็รู้ หยุดนิ่งก็รู้ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ หัดรู้อย่างนี้ไปก่อน แล้วทุกอย่างที่เหลือที่หลวงพ่อบรรยายให้ฟังมันตามมาเอง

ฉะนั้นที่รู้ตรงนี้ต้องรู้เนืองๆ นานๆ รู้ทีไม่ได้กินหรอก หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง หลวงพ่อบอกเลย ไม่ใช่คนเก่งหรอก โง่เสียด้วยซ้ำไป ตอนเด็กจนถึงหนุ่มๆ อ่านพระไตรปิฎก อ่านแล้วอ่านอีกๆ ใครจะบอกหลวงพ่อไม่รู้ปริยัติ ไม่ใช่ เรียนมาเยอะแล้ว อ่านมาเยอะแล้ว จนหลวงปู่ดูลย์เจอหลวงพ่อ ท่านนั่งสมาธิอยู่พักใหญ่ แล้วท่านก็สอนเลย “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ท่านรู้หลวงพ่ออ่านมาเยอะ ไม่ใช่ไม่อ่าน อะไรๆ ก็อ่านเยอะ ทฤษฎีต่างๆ ของนักปราชญ์ฝรั่ง นักปราชญ์ไทยอะไรนี่ อ่านมาเยอะแยะเลย แล้วมันมาลงใจให้กับพระพุทธเจ้า กระทั่งลัทธิมากซ์ยังเรียนเลย มาร์กซิสม์ รู้อย่างเยอะๆ ด้วย ไม่ใช่รู้กิ๊กๆ ก๊อกๆ

สุดท้ายก็มาลงให้พระพุทธเจ้า เพราะอะไร ลัทธิอื่นมีข้อโต้แย้งได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าหาข้อโต้แย้งไม่ได้ ที่ยอมเพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่ยอมเพราะศรัทธา หลวงพ่อไม่ใช่คนที่มีศรัทธาเยอะหรอก เป็นคนที่ไม่ยอม แต่พออันไหนไม่เข้าใจแล้วกัดติดเรียนไม่เลิก ไม่ใช่ไม่รู้ก็ช่างมันๆ ก็โง่อยู่อย่างนั้นล่ะ ไม่ใช่คนเก่ง แต่อดทนในการเรียนรู้ เรียนแล้วเรียนอีก มาเจอหลวงปู่ ท่านสอน หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต ให้ดูจิตเหมือนกับให้กุญแจสำคัญมา พอดูไปๆ โหย ธรรมะในพระไตรปิฎกมันรวมลงที่จิตนี้เอง ไม่ได้ไปอยู่ที่อื่นหรอก ถ้าเข้าใจ พอเข้าใจแล้วก็มีความสุข มีชีวิตที่สงบสุข ร่มเย็น

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ สรุปว่าต้องทำอะไรบ้าง ถือศีลไว้ก่อน ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป เช่น พุทโธๆ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จุดสำคัญ รู้ทันจิตไว้ แล้วจิตมันจะค่อยตั้งมั่นขึ้นมา ที่จริง มีความสุขเกิดขึ้น รู้ จิตก็มีสมาธิเหมือนกัน มีความทุกข์เกิดขึ้นแล้วรู้ ก็มีสมาธิ โลภเกิดขึ้นแล้วรู้ ก็ได้สมาธิ โกรธเกิดขึ้นแล้วรู้ ก็ได้สมาธิ หลงไปแล้วรู้ ก็ได้สมาธิ พอได้สมาธิจิตทรงตัวเด่นดวงโดยไม่ได้เจตนา คราวนี้สติระลึกรู้รูปก็เห็นไตรลักษณ์ สติรู้นามก็เห็นไตรลักษณ์ รู้จนแจ่มแจ้ง มันก็วางเอง วิมุตติก็เกิดขึ้น มันวางรูปนามลงไป จิตก็ว่าง มีความสุข ไม่ได้ว่างเปล่า สงบสุข

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กุมภาพันธ์ 2566