อย่าให้นิวรณ์ครอบงำจิต

เราฟังที่เขาถามคำถามแล้วเราลองดูตัวเอง ปัญหาของเรามันก็วนเวียนอยู่แค่นี้ล่ะ บางทีก็มี จะภาวนาก็เกิดนิวรณ์ ติดในความสุข ความสบาย เรียกกามฉันทนิวรณ์ ติดในความหงุดหงิดใจ รำคาญ ก็เป็นกามฉันทะ ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่ใช่ ก็เป็นอะไร ถ้ามันหงุดหงิด มันก็เป็นพยาบาท ถ้ามันฟุ้งซ่านแล้วมันรำคาญใจเรียกอุทธัจจะกุกกุจจะ ถ้ามันภาวนาแล้ว เอ๊ะ ถูกไม่ถูกๆ ทำอย่างไรจะดี อันนี้มีวิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ก็อันหนึ่งจิตหดหู่ เซื่องซึม หมดเรี่ยวหมดแรงท้อแท้ เป็นถีนมิทธะ มืดมัว

 

นิวรณ์ขวางกั้นคุณงามความดี

เราสังเกตดูเวลาที่เราภาวนา ไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนา ศัตรูที่มาขวางมันก็คือนิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนั่นล่ะ กามฉันทนิวรณ์ ความติดใจในความสุขความสบาย พยาปาทะ พยาบาท ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ อย่างเรานั่งสมาธิแล้วจิตมันไม่สงบอย่างนี้ เราโมโห อย่างนี้เราโดนนิวรณ์เข้าเล่นงานแล้ว จิตเราก็จะไม่มีสมาธิ เรานั่งสมาธิอยู่ เราก็คิดถึงที่นอน อยากนอนให้สบาย อันนี้กามฉันทนิวรณ์เล่นงานเราแล้ว เราก็เลิกนั่งสมาธิลงไปนอนแทน

นิวรณ์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ขวางกั้นคุณงามความดี ขวางกั้นความเจริญ กีดขวางการปฏิบัติ ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา ถ้าเราทำสมาธิแล้วทำไม่สำเร็จสักที จิตไม่รวม รู้ตื่น เบิกบาน ก็สังเกตเอา มีนิวรณ์ 5 ตัวนี้ไหม

บางทีนั่งสมาธิอยู่ก็สงสัย อย่างนี้ถูกไหม ทำอย่างไรจะดีกว่านี้ ถูกความลังเลสงสัยครอบงำเอา วิจิกิจฉาเล่นงานเอา นั่งสมาธิแล้วก็ลืมเนื้อลืมตัว เคลิ้ม ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อันนั้นเป็นถีนมิทธะครอบงำ นั่งสมาธิแล้วก็อยากเห็นโน่นอยากเห็นนี่ อยากดูโน่นดูนี่ จิตก็ฟุ้งซ่าน หรือคิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ไม่เลิก ละเลยอารมณ์กรรมฐาน จิตมันก็ไม่สงบ อันนั้นเป็นตัวอุทธัจจะ พอจิตเราฟุ้งซ่าน สิ่งที่จะตามมาโดยอัตโนมัติก็คือรำคาญใจ ฉะนั้นฟุ้งซ่านรำคาญใจ ท่านเอามาต่อกัน

เราสำรวจจิตใจเรา อย่าปล่อยให้นิวรณ์ 5 ตัวมันมาครอบงำ เวลาจะนั่งสมาธิ นั่งด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวไป แค่อยากสงบมันก็เป็นนิวรณ์แล้วล่ะ มันฟุ้งซ่านแล้วไม่ชอบมันก็เป็นนิวรณ์แล้วล่ะ นั่งแล้วขี้เกียจก็เป็นนิวรณ์ อยากนอนแล้ว อยากหาความสุขแล้ว นั่งแล้วก็หงุดหงิดๆ ไปเรื่อยๆ ไม่รวมสักที ก็เป็นนิวรณ์ เพราะฉะนั้นเราเวลาทำสมาธิก็สังเกตไป การผิดปกติ 5 อย่างนี้ เวลาที่เราทำวิปัสสนา 5 อย่างนี้ก็มาขวางเหมือนกัน

เรากำลังเห็นความเกิดดับของรูปนามคือเห็นไตรลักษณ์ วิปัสสนานี่คือการเห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นไตรลักษณ์ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะฉะนั้น วิปัสสนาไม่ใช่การเห็นรูปนาม แต่เป็นการเห็นไตรลักษณ์ซึ่งมันแสดงอยู่ที่รูปนาม ถ้าเห็นรูปนามเป็นสมถะ อย่างเรารู้ลมหายใจ จิตไม่หนีไปไหนเลย อันนี้เป็นสมถะ เราเห็นร่างกายเดิน ก้าวซ้ายก้าวขวาอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นสมถะ แต่ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ถึงจะขึ้นวิปัสสนาได้ อย่างเราเห็นตัวที่เดินอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งมันเดินไป ใจเราเป็นแค่คนรู้คนดู อย่างนี้ถึงจะเห็นไตรลักษณ์เป็นวิปัสสนา เวลาเราจะทำวิปัสสนาคือการเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ไตรลักษณ์ไม่ได้อยู่ที่อื่น ไตรลักษณ์อยู่ที่รูปนามเท่านั้นล่ะ

ส่วนนิพพานนั้นไม่ได้มีไตรลักษณ์ นิพพานมีลักษณะอันเดียว เรียกเอกลักษณ์ มีลักษณะอันเดียว คือเป็นอนัตตา ไม่มีอนิจจัง เพราะมันเที่ยง ไม่มีทุกขัง เพราะมันเป็นบรมสุข แต่มันไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ถ้านิพพานเป็นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว นิพพานก็จะหายไปพร้อมๆ พระพุทธเจ้า อันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันเป็นของประจำโลก ประจำจักรวาลอยู่อย่างนั้น

ค่อยภาวนาทุกวันๆ ไป อย่างเราเจริญปัญญาอยู่อย่างนี้ เห็นร่างกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ ดูๆ ไปแล้ว แป๊บหนึ่งใจหนีไปหาคนรักแล้ว หาสาวที่รักอะไรอย่างนี้ ตกจากวิปัสสนาแล้ว เราก็เห็นผู้หญิงสวยเดินมา เราก็มอง มองแล้วเราก็ท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขณะท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นสมถะ ถ้าเป็นวิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ แต่ถ้าเราท่องคำว่าไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังเป็นสมถะอยู่

ฉะนั้นเวลาที่เราทำวิปัสสนา พอนิวรณ์ 5 เข้ามา อย่างกำลังภาวนาเห็นรูปนามเกิดดับอย่างดีๆ อยู่ ขี้เกียจขึ้นมา ท้อแท้ หดหู่ เบื่อ นี่พวกนิวรณ์ทั้งหมดเลย ฉะนั้นเวลาเราภาวนา พยายามสังเกตนิวรณ์ อย่าให้มันครอบงำจิตใจของเราได้ ถ้าจิตใจถูกนิวรณ์ครอบงำ มันกีดขวางคุณงามความดี นิวรณ์เป็นเครื่องกั้น กั้นไม่ให้เราเดินไปในทางที่เป็นคุณงามความดี

ฉะนั้นสังเกตตัวเอง ไม่พ้นเรื่องนี้หรอก หนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ นั่งสมาธิๆ แล้วก็ติดในความสงบ อันนั้นเป็นกามอย่างละเอียด เป็นกามละเอียด อย่างพระอนาคามีละกามราคะได้แล้ว พระพรหม ทั้งรูปพรหม ทั้งอรูปพรหม มันมีราคะที่ละเอียด ก็จัดอยู่ในกามเหมือนกัน เรียกว่ารูปราคะ อรูปราคะ แต่ไม่ใช่กามราคะอย่างที่พวกเรามี ฉะนั้นถ้าเราภาวนา จิตเราสงบ แล้วเราเพลิดเพลินพอใจ เราก็จะไม่ไปต่อ นี่คือนิวรณ์ขวางกั้นคุณงามความดีของเราแล้ว เรามีกาม แต่เป็นกามที่ละเอียด เรียกว่ารูปราคะ อรูปราคะ

มีครั้งหนึ่งหลวงพ่อภาวนาจนเหนื่อย ขยันภาวนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งใจมันล้าลงช่วงนั้น ขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง พอดีผ่านไปทางนครพนม สมัยนั้นยังเป็นนครพนม เดี๋ยวนี้เป็นอะไรไม่รู้ เข้าไปกราบหลวงปู่คำพันธ์ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นสายครูบาอาจารย์ แต่ว่าเป็นพระมหานิกาย สายครูบาอาจารย์เป็นมหานิกายก็มีหลายองค์ อย่างหลวงพ่อชา พระนิกาย พระมหานิกาย ฉะนั้นนิกายไม่ใช่เครื่องชี้ขาดว่าใครจะดีกว่าใครหรอก อยู่ที่การปฏิบัติเอา

เข้าไปกราบหลวงปู่คำพันธ์ คนก็มาเยอะเลย เขาก็เอาวัตถุมงคลไปให้ท่านเสก ก็ซื้อจากหน้ากุฏิท่านล่ะแล้วก็เอาเข้าไปให้ท่านเสกอีก เสก อย่างแค่ในตู้ที่ขายยังไม่อิ่มอกอิ่มใจ ต้องให้ท่านเสกแล้วรับจากมือท่านจะอิ่มอกอิ่มใจมากกว่า หลวงพ่อก็ไปนั่งรอ พอได้จังหวะเข้าไปกราบท่าน ท่านมองหน้าแวบ ท่านก็พูดเลย ไม่ถาม ครูบาอาจารย์จริงๆ สอนกรรมฐานไม่มานั่งถามหรอก เสียเวลา

ท่านบอกว่า “คนจะเดินทางไกล จะเดินทางจากที่แห้งแล้งกันดาร อดอยาก จะไปหาแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ แต่พอเดินไปเจอต้นไม้ ใหญ่ร่มเย็น ก็เลยไปนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้แล้วก็ติดอกติดใจอยู่ตรงนั้น ไม่ยอมเดินต่อ” ท่านพูดอย่างนี้ หลวงพ่อรู้แล้ว ท่านพูดจบท่านก็ยิ้มๆ ฟังรู้เรื่องไหม หลวงพ่อตอนนั้นเดินปัญญามาก ก็เลยทำความสงบแล้วก็นิ่งๆ อยู่กับความสงบ มันเหนื่อย เดินปัญญามานาน ก็เลยทำสมาธิแล้วก็ติดนิ่งๆ สบายอยู่ เพลินๆ อยู่ ครูบาอาจารย์ก็เลยบอกนี่ไปเจอต้นไม้ใหญ่ สมาธิก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ ถ้าเราติดความสุขในสมาธิ เราก็ไม่สามารถเดินทางต่อ ตัวนี้คือตัวกามฉันทะ เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราก็สังเกตตัวเองเอา อะไรที่มาถ่วงการพัฒนาทางจิตใจของเรา

นิวรณ์มันไม่ใช่แค่เรื่องกีดขวางสมถะและวิปัสสนา นิวรณ์กีดขวางกระทั่งเรื่องทางโลกๆ ถ้าเราทำงานทางโลกแล้วเราก็คิดแต่ความสุขความสบาย ในที่สุดก็ทอดทิ้งการปฏิบัติ ทอดทิ้งการทำงาน ไม่เอาแล้ว ขี้เกียจแล้ว นอนดีกว่า หรือไปเล่นมือถือดีกว่า อันนี้กามฉันทะเล่นงานเราแล้ว หรือวันๆ ดูแต่เฟซบุ๊ก ดูแต่อินสตาแกรม ดูติ๊กตอก นั่งหัวเราะไปเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้ ใจมันฟุ้งซ่านๆ จะทำงานทางโลก หลวงพ่อเห็นบ่อยๆ ทุกวันนี้ จะทำงานอยู่ พวกยามพวกอะไร เขาเรียก รปภ. อยู่ตามหน้าหมู่บ้าน ก็เล่นมือถือไปเรื่อยๆ พอรถมาก็ดึงเชือกให้ไม้กั้นกระดกแล้วก็เล่นมือถือไป ผู้ดีหรือผู้ร้ายมาไม่รู้เรื่องเลย นี่งานในหน้าที่ก็บกพร่องเพราะนิวรณ์ บางทีก็ท้อแท้ใจ เวลาทำงานแล้วเบื่อ ท้อแท้ ป้อแป้ งานในโลกก็เสีย

ฉะนั้นนิวรณ์เป็นศัตรูร้าย ทำให้เราเสื่อม ทำให้เราไม่เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ทางธรรมก็ทำให้ไม่เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา สิ่งเหล่านี้ล่ะคือศัตรูของการปฏิบัติ ไม่ต้องโทษคนอื่นหรอก ให้โทษตัวเองไว้ก่อน ส่วนใหญ่การปฏิบัติเวลาทำไม่ดีเราก็จะโทษคนอื่น เช่น เรานั่งสมาธิอยู่แล้วคนนี้มาชวนคุย หงุดหงิด ถ้าเราจำเป็นต้องคุยเราก็คุย

เมื่อก่อนมีผู้หญิงคนหนึ่ง หลวงพ่อสอนกรรมฐานให้ สอนอย่างเข้มงวดเลย ตอนนั้นหลวงพ่อยังเป็นโยม คนนี้ต้องเดินจงกรม ถ้าไม่เดินจงกรมไม่พัฒนา แกก็เดินจงกรมทุกวันๆ จนกระทั่งเท้าบวมใส่รองเท้าหุ้มเท้าไม่ได้ ต้องใส่รองเท้าแตะไปทำงาน เท้าบวม แกบอกแกขึ้นเหล่าเต๊ง ขึ้นชั้น 2 ไม่ได้แล้ว เดินขึ้นกระไดไม่ไหว เท้ามันบวม ก็มาบ่น นึกว่าหลวงพ่อจะบอกว่าไม่ต้องเดินก็ได้ หลวงพ่อบอกบวมก็ยังเดินได้ ก็เดินไปสิ กลางคืนเราก็นึกถึงแก อ้าว พอนึกถึงรู้สึกว่าแกไม่เดิน ก็โทรศัพท์ไปหา บอกไปเดินได้แล้ว แกก็เดินจนได้ดิบได้ดี เพราะว่าต่อสู้ ไม่ยอม ไม่ยอมแพ้ เคยตั้งใจว่าจะเดินจงกรมทุกวัน วันละเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง มันเกิดท้อแท้ใจ มันเกิดบาดเจ็บ มันเกิดอะไร พวกนี้มันขวางหมดเลย มันจะบอกเราว่า ทรมานมากไปเป็นอัตตกิลมถานุโยค พักผ่อนดีกว่า ให้สบายๆ แล้วค่อยมาปฏิบัติต่อ สิ่งเหล่านี้ระวัง ต้องสู้จริงๆ

 

ปฏิปทา 4

บางคนต้องสู้เด็ดเดี่ยว เขาเรียกว่าทุกขาปฏิปทา พวกทุกขาปฏิปทาเกิดจากกิเลสแรง บางคนเป็นสุขาปฏิปทา ภาวนาง่ายๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ 2 – 3 ทีจิตรวมแล้ว ดูกายดูใจแสดงไตรลักษณ์ไม่นาน จิตยิ้มแล้ว ได้โสดาบันได้อะไร เขาเป็นพวกสุขาปฏิปทา แล้วอันนี้ได้ผลเร็ว เขาเรียกขิปปาภิญญา ทุกขาปฏิปทาต้องปฏิบัติแบบเข้มงวดกวดขันตัวเอง เช่น อดนอน ผ่อนอาหาร เดินจงกรม นั่งสมาธินานๆ ถึงจะสู้กิเลสไหว เพราะฉะนั้นคนที่กิเลสแรงต้องใช้ทุกขาปฏิปทา ถ้ากิเลสเบาบาง ก็สุขาปฏิปทาก็พอแล้ว บางคนทุกขาปฏิปทาแล้วก็ได้ผลเร็ว บางคนทุกขาปฏิปทาก็ได้ผลช้า อันนี้เกิดจากอะไร ได้ผลเร็วเรียกว่าขิปปาภิญญา ได้ผลช้าเรียกทันธาภิญญา

ขิปปาภิญญาเกิดจากสะสมบุญบารมีมามากแล้ว ภาวนาอีกนิดหน่อย ต่อยอดนิดเดียวก็ได้ธรรมะแล้ว พวกทันธาภิญญาสะสมของเก่าต้นทุนน้อย ก็ต้องค่อยๆ เก็บหอมรอมริบภาวนาของเราทุกวันๆ ไป ใช้เวลานานก็บรรลุได้ ฉะนั้นมันเลยแยกบุคคลได้หลายประเภท บางคนเป็นทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ได้ผลไว บางคนทุกขาปฏิปทา ยังทันธาภิญญา ได้ผลช้าอีก บางคนเป็นสุขาปฏิปทาแต่ว่าได้ผลเร็ว บางคนเป็นสุขาปฏิปทาแล้วก็ได้ผลช้า มี 4 จำพวกนี้

พวกเราสันนิษฐานตัวเองไว้ก่อน พวกเราตกหล่นจากรุ่นพุทธกาลมาอยู่ในยุคนี้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากิเลสเราเยอะ เพราะฉะนั้นภาวนาให้มันเด็ดเดี่ยว ให้มันเข้มแข็ง อย่าท้อแท้ อย่าให้นิวรณ์มาเล่นงาน ต้องสู้เอาชนะนิวรณ์ให้ได้ เวลาจิตมันทรงสมาธิขึ้นมา มันข่มนิวรณ์ได้ ฉะนั้นเวลาจิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ทรงฌานขึ้นมา ข่มนิวรณ์ได้ แล้วออกจากสมาธิมา จิตก็ยังมีกำลังอยู่ ก็จะข่มนิวรณ์ได้อีกหลายวัน แต่ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเราทำสมาธิ ออกจากสมาธิมา อันนี้ได้ระดับฌาน ถ้าไม่ถึงฌาน อย่างจิตรวมลงไปแล้วก็สว่าง ว่างอะไรอย่างนี้ สบาย ถอยออกมา บางทีไล่นิวรณ์ได้ไม่กี่ชั่วโมงก็มี อันนี้นิวรณ์ เรื่องของนิวรณ์

ฉะนั้นเราพยายามสันนิษฐานก่อนว่าพวกเราบุญบารมีน้อย กิเลสเยอะ สันนิษฐานอย่างนี้ไว้ก่อน ถ้าบุญบารมีน้อยก็คืออย่าคาดหวังว่าจะต้องได้ผลเร็ว ภาวนามันทั้งชีวิตก็ต้องสู้เอา หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่าการปฏิบัติเขาทำกันทั้งชีวิต ไม่ใช่ทำแป๊บๆ องค์ท่านเอง คราวหนึ่งหลวงพ่อไปหาท่าน ท่านให้ไปพักในกุฏิเก่าของท่านอยู่บนเนิน แล้วจากกุฏิเก่าของท่าน มองลงมาจะเห็นในมณฑป ในกุฏิใหม่ของท่านผนังมันเป็นกระจก เราเดินทางไปถึงวัด นั่งรถไปทั้งคืน ไม่ได้หลับได้นอน เหนื่อยเต็มที ก็ภาวนามาตลอดวัน เราก็จะนอน อุ๊ย หลวงปู่ยังเดินจงกรมอยู่เลย

หลวงปู่ยังเดินจงกรม ถ้าเรานอน มันก็รู้สึกเป็นลูกศิษย์ที่ไม่ได้เรื่องเลย อับอายขายหน้าครูบาอาจารย์ ก็พยายามนั่งสมาธิ มองท่าน นั่งสมาธิไป นานๆ ก็แอบลืมตามาดูทีหนึ่ง ท่านนอนหรือยัง จนดึกเลยๆ อ้อ ท่านพักแล้ว พอท่านพักเราก็รีบนอน ทีนี้อากาศที่นั่นหนาวจัด สักตี 3 หนาวจัดก็ตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมา หลวงปู่เดินจงกรมอยู่อีกแล้ว ท่านนอนไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ลุกขึ้นเดินจงกรม ท่านไม่มีกิจที่จะให้ต่อสู้อะไรแล้วล่ะ แต่ท่านก็ยังปฏิบัติไม่เลิก

เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานสำหรับพวกเรา เราเจริญสติปัฏฐานด้วย 2 วัตถุประสงค์ เพื่อให้มีสติกับเพื่อให้มีปัญญา แต่ท่านที่จิตมันพรากออกจากขันธ์แล้ว พ้นจากขันธ์แล้ว ไม่ยึดถือขันธ์แล้ว ท่านทำสติปัฏฐานเพื่อเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องอยู่ที่ผาสุก ดูๆ ท่านปฏิบัติตลอดชีวิตจริงๆ อย่างที่ท่านบอก เราก็เลยคิดว่าเราก็ต้องเอาอย่างท่าน

เราต้องปฏิบัติตลอดชีวิต ไม่มีคำว่ายอมแพ้ บางครั้งเบื่อ เบื่อรู้ว่าเบื่อแล้วก็ภาวนาต่อ ปฏิบัติต่อ บางครั้งขี้เกียจ รู้ว่าขี้เกียจแล้วก็ปฏิบัติต่อ ใจมันจะเบื่อ ห้ามมันไม่ได้ ใจมันจะขี้เกียจ ห้ามมันไม่ได้ ความเบื่อความขี้เกียจอะไรนี่นิวรณ์ทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นตัวนิวรณ์อย่ามองข้ามมัน ที่เราไม่เจริญก็เพราะตัวนิวรณ์นั่นล่ะ ในทางโลกนิวรณ์มาก งานการทางโลกก็เสีย ในทางธรรมนิวรณ์มาขวางกั้น ธรรมะก็ไม่เจริญ ฉะนั้นสังเกตจิตใจตัวเอง อย่าปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิต

รู้เรื่องไหม ใครไม่รู้เรื่องยกมือสิ รู้เรื่องทั้งหมดเลย สาธุ คล้ายๆ ตอนพระพุทธเจ้าถามพวกพระ ตอนนั้นท่านจะปรินิพพานแล้ว ท่านถามว่าในที่นี้ พระทั้งหลายมีองค์ใดองค์หนึ่งยังสงสัยในธรรมะไหม ถ้ามีให้รีบถามเสีย ก่อนจะไม่มีโอกาสถาม พระทั้งหลายไม่ถาม พระอานนท์ก็ทูลท่าน โอ้ อัศจรรย์จังเลย ไม่มีใครถาม พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าไม่อัศจรรย์หรอกธรรมดา พระทั้งหมดเหล่านี้เต็มไปด้วยพระอริยะ ขั้นต่ำที่สุดในหมู่สงฆ์ตรงนี้คือพระโสดาบัน สิ้นความลังเลสงสัยในพระศาสนาแล้ว ไม่สงสัยอะไรแล้ว รู้ทางที่จะเดินด้วยตัวเอง

พระพุทธเจ้าถามพระสาวกแล้วได้คำตอบมาอย่างนี้ แต่หลวงพ่อถามพวกเราแล้วพวกเรานิ่งหมด หลวงพ่อไม่เชื่อหรอกว่านี่คือพระโสดาบัน ประเดี๋ยวมันก็สงสัยอีก เดี๋ยวมันก็สงสัยใหม่ ฉะนั้นไปต่อสู้เอา สู้กับนิวรณ์ อย่ายอมแพ้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 กุมภาพันธ์ 2567