รู้ทุกข์จะละสมุทัย

ครูบาอาจารย์ก็แก่ลงทุกวันๆ อย่ามัวแต่ประมาท คิดว่าเรียนเมื่อไรก็ได้ แล้วมันจะเสียใจทีหลัง หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านอายุตั้ง 95 ปี ท่านพูดอะไรเอามาทำตลอดเลย ไม่เคยหยุด สิ้นหลวงปู่ดูลย์แล้ว ก็ไปอยู่กับหลวงปู่เทสก์ ก็ภาวนาตลอดไม่ได้หยุดหรอก ครูบาอาจารย์แก่ๆ ทั้งนั้นเลย แต่ละองค์ 90 กว่าปี ตอนท่านยังแข็งแรง ท่านก็สอนได้เข้มแข็ง ตอนท่านชรามาก ท่านป่วย ท่านก็แค่ทำให้เราดู สอนไม่ไหว พูดไม่ไหว ท่านก็ภาวนาให้เราดู

อย่างองค์สุดท้ายที่หลวงพ่อเห็น ท่านภาวนาให้ดู หลวงปู่หา ท่านไม่มีแรงแล้ว ตอนนั้นใกล้มรณภาพเต็มทีแล้ว ท่านนอน จิตท่านยิ้มออกมา จิตท่านเบิกบานออกมาได้ โดยที่ท่านไม่ได้ปรุง เพราะถ้าปรุงก็ไม่เป็นอย่างนั้น จิตเหนือความปรุงแต่ง เวลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์ ท่านชรามาก บางทีกะจะไปถามปัญหาท่าน หลวงปู่ดูลย์ท่านแข็งแรง ไปแล้วท่านพูดได้เรื่อยๆ ยกเว้นช่วงหนึ่งตอนท่านอายุ 95 ปี ท่านมาอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ อยู่ช่วงหนึ่ง กลับไปท่านก็พูดได้เหมือนเดิม เรามีอะไรก็ถามท่านได้อยู่ แต่ถามแล้วจะต้องรีบปฏิบัติ

เราไม่ประมาท เรารู้ว่าครูบาอาจารย์อยู่ไม่นาน โอกาสที่เราจะเจอครูบาอาจารย์ที่ดีๆ อย่างนี้ ในสังสารวัฏนี้ จะมีสักกี่ครั้ง ครูบาอาจารย์ที่สอนแล้วเราลงใจให้ เรามั่นใจในเส้นทาง กับหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์นั้น ท่านอาพาธเรื่อยๆ บางทีจะไปส่งการบ้านท่าน ถึงเวลาก็ไม่ได้พบแล้ว ท่านนอนอยู่แต่ในห้องออกมาไม่ได้ ออกมาไม่ได้ สอนเราด้วยคำพูดไม่ได้ เราก็ภาวนาเอา ภาวนา สังเกตจิตสังเกตใจตัวเองไป บางทีก็เห็นท่านเดินจงกรม ทั้งๆ ที่อายุเยอะ ไม่สบายอะไรอย่างนี้ บางทีก็ลุกขึ้นเดินจงกรม เราก็เห็นตัวอย่างแล้ว โอ้ ครูบาอาจารย์สู้น่าดูเลย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องต่อสู้อะไรแล้ว

 

เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย

หลวงปู่เทสก์ ตอนท่านใกล้มรณภาพ ท่านเขียนบันทึกไว้อันหนึ่ง ท่านบอกท่านคงไม่เกิดแล้ว เพราะท่านเห็นทุกข์ ตรงนี้ตรงประเด็นมากเลย ถ้าเห็นทุกข์แล้วก็ อะไรเป็นทุกข์ ก็ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ โดยเฉพาะท่านเห็นจิตเป็นทุกข์แล้ว พอเห็นมันเป็นทุกข์ จะไปเกิดที่ไหนอีกล่ะ ไม่ว่าเกิดที่ไหนแล้วมันก็มีขันธ์ 5 อีก หรือบางทีก็มีขันธ์ 4 ส่วนขันธ์ 1 คือพรหมลูกฟัก ครูบาอาจารย์ไม่เป็น ก็จะเป็นขันธ์ 5 ขันธ์ 4 ขันธ์ 4 เป็นพรหม เป็นอรูปพรหม

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ท่านเห็นทุกข์ ท่านคงไม่เกิดอีกแล้ว อันนี้ตรงประเด็นมากเลย ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ เราก็คิดว่าชีวิตนี้มีทุกข์บ้าง มีสุขบ้าง จิตใจเราเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เราก็จะแสวงหาความสุขไปเรื่อยๆ เมื่อแสวงหาความสุข จิตก็สร้างภพสร้างชาติ เกิดแล้วเกิดอีกไปเรื่อยๆ หวังว่าจะมีความสุข ถ้าระลึกชาติได้ เราจะรู้เลย เกิดทุกทีก็ทุกข์ทุกที เพราะเกิดมาทุกทีก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ต้องไม่สมปรารถนาอะไรมากมาย

พอเราเห็นความจริงตรงนี้ เกิดทีไรก็ทุกข์ทุกที จิตมันก็เอือมระอา ไม่คิดว่าถ้าพาจิตไปอยู่ในพรหมโลก หรือในเทวโลกแล้วจะมีความสุข เพราะมันแจ่มแจ้งแล้วว่า ตัวจิตคือตัวทุกข์ ฉะนั้นที่ท่านบอกว่า ท่านคงไม่เกิดอีกแล้ว เพราะว่าท่านเห็นทุกข์แล้ว ตัวนี้ตรงประเด็น ตรงประเด็น ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ เราก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่กาย ทุกข์อยู่ที่ใจ คอยดูทุกข์ ดูตรงนี้ ดูที่กายที่ใจของตัวเอง ไม่ใช่ความรู้สึกทุกข์ อันนั้นตื้นไป

ให้คอยรู้สึกกาย คอยรู้สึกใจไป จนเราเห็นจิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น มันจะเห็นกายเป็นของไม่เที่ยง กายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา กายไม่อยู่ในอำนาจบังคับ จิตนี้ก็เหมือนกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ การที่เราเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต อันนั้นล่ะเรียกว่าเห็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นว่ามันไม่สบายแล้วเป็นทุกข์ อันนั้นตื้นไป ขณะที่มันสบายอยู่ มันก็คือก้อนทุกข์

ต้องฝึกดูเรื่อยๆ ดูจนวันหนึ่งเราเข้าใจว่า โอ้ ร่างกายนี้ไม่ใช่มีสุขกับทุกข์ ร่างกายมีแค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทำไมเราต้องหายใจเข้าหายใจออก ก็เพราะมันทุกข์ หายใจเข้าอย่างเดียวก็ทุกข์ หายใจออกอย่างเดียวก็ทุกข์ พอมันทุกข์ เราก็ต้องพยายามดิ้นรนต่อไป ฉะนั้นร่างกายมันทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถ นี่คือความจริงของร่างกาย ไม่ใช่ว่ามีความสุขกับความทุกข์ มีแค่ความทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีความสุขกับความทุกข์หรอก

ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราจะเกิดความเอือมระอา เบื่อหน่าย เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษ เพราะเราเห็นความเป็นจริง เราก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วเราก็หลุดพ้นจากความยึดถือในร่างกาย ถัดจากนั้นจิตก็จะพ้นจากกาม เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี การปฏิบัติต่อไป มันจะกระชับวงเข้ามาที่จิต เราก็ตามรู้ตามดูให้เห็นทุกข์ต่อไป จิตนี้ไม่ใช่มีทุกข์กับสุขอย่างที่คนทั่วไปเห็น จิตมีแค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

พอเห็นจิตมันมีทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันก็เบื่อหน่าย โอ้ อุตส่าห์เข้าฌาน หวังว่าจะมีความสุข ออกจากฌานมามันก็ทุกข์เหมือนเดิม อันนี้ยังตื้นๆ ถ้าเข้าฌานไปแล้วเราก็มองออก นี่มันภพๆ หนึ่ง จิตไปสร้างภพๆ หนึ่งของพรหมขึ้นมา สร้างภพขึ้นมาทีไร ก็เป็นภาระของจิตทุกทีไป จิตก็วางภพ ไม่เอา กระทั่งภพของพรหมก็ไม่เอาแล้ว ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง

 

รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็จะละสมุทัย

เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ สมุทัยก็คือความอยาก อยากอะไร อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์

วิธีทำให้กายให้ใจมีความสุข ทำให้จิตใจมีความสุข ให้ร่างกายมีความสุข ก็เที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่มีความสุข ได้อารมณ์ที่มีความสุขก็รู้สึกมีความสุข อารมณ์ที่มีความสุขก็ไม่ยั่งยืน ได้มาแล้วก็เสียไป อย่างบางคนคิดว่ารวยๆ แล้วจะมีความสุข รวยแล้วก็วันหนึ่งก็ต้องสูญเสียไป มีเงินหมื่นล้าน ใครเขาเอาไปใส่โลงไว้ ไม่มี ตายปุ๊บคนอื่นเขาเอาไป บางทีไม่ทันจะตายเลย เจอคอลเซนเตอร์มันเอาไปหมดเลย สมบัติในโลกมันไม่มีอะไร

พอเราเรียนรู้ความจริงของชีวิตให้มากเข้าๆ ชีวิตนี้ไม่มีอะไร ชีวิตก็คือกายกับใจนี้ล่ะ ก็มีแต่ทุกข์ เห็นทุกข์ก็จะละความอยาก ละสมุทัย ละอัตโนมัติ ไม่ต้องพยายามละ มันละเอง ก็มันเห็นแล้วว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ มันจะอยากให้มันไม่ทุกข์ได้อย่างไร แล้วมันจะอยากให้มีความสุขได้อย่างไร มันเป็นเรื่องไร้เดียงสา อยากให้ขันธ์ 5 มีความสุข อยากให้ขันธ์ 5 ไม่ทุกข์ มันเป็นความไร้เดียงสาเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงมันคือทุกข์

ฉะนั้นรู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็จะละสมุทัย เมื่อละสมุทัย จิตก็หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่ง จิตก็เข้าถึงความสงบที่แท้จริง คือพระนิพพาน คือนิโรธ เพราะฉะนั้นเราจะรู้ทุกข์นี่ล่ะ สุดท้ายเราจะละสมุทัย เราจะแจ้งนิโรธ เราจะเกิดอริยมรรคขึ้น โดยที่ไม่มีใครเจตนาทำได้ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ จิตเกิดมรรคผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราแก่รอบ ปัญญาคือตัวไหน ตัวที่เข้าใจความจริง ขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ รูปนามมันเป็นทุกข์ นั่นล่ะตัวปัญญา ถ้าต่ำกว่านั้นก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่จะพ้นทุกข์ได้จริง

เพราะฉะนั้นเรารู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายมันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรค กิจของอริยสัจ 4 นั้น เราทำเสร็จในขณะจิตเดียว ฉะนั้นอวิชชาจะถูกทำลาย อวิชชาคือไม่รู้อริยสัจ ฉะนั้นเรารู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายเรารู้อริยสัจ 4 ในขณะจิตเดียว อวิชชาก็ถูกทำลายไป เมื่อจิตมันพ้นจากอวิชชาแล้ว มันมีวิชชา มันก็เห็นขันธ์ 5 เป็นแค่ปรากฏการณ์ ไหลมาไหลไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องธรรมดา ขันธ์ 5 เป็นแค่ปรากฏการณ์ในโลกเท่านั้นเอง

คราวนี้เวลากาม กามมันจะเข้ามา ไม่ต้องไปพิจารณาอสุภะเลย ถ้าภาวนาเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว ไม่ต้องไปพิจารณาอสุภะเพื่อแก้กามหรอก แต่สติปัญญามันเห็น กามมันเข้ามา เป็นของส่วนเกิน เป็นภาระ เป็นความปรุงแต่ง ไม่มีสาระแก่นสารอะไร เข้ามา ถ้ายอมให้มันครอบงำจิต จิตก็ยังทุกข์ไม่เลิก วนเวียนอยู่ในกามาวจร เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาเข้าถึงจิตถึงใจจริงๆ เข้าใจอริยสัจจริงๆ กามาสวะหรืออาสวกิเลส ชนิดที่เป็นกาม อาสวกิเลสมันเป็นกิเลสที่ย้อม เยิ้ม ซึมซ่าน หมักดองจิตใจของเรา

จิตของเราแต่ละคนถูกอาสวกิเลส 4 อย่างนี้ครอบงำ คือกามาสวะ คือกาม เพราะฉะนั้นพวกเราจะติดในความสุข อยากสุข อยากสบาย อยากสนุกสนานอะไรอย่างนี้ มันเป็นธรรมชาติของจิต ที่ถูกกามาสวะครอบงำ แล้วจิตนั้นมันจะสร้างภพตลอดเวลา ตรงนี้ถ้าเราภาวนาละเอียดเข้าไป เราจะเห็นจิตมันสร้างภพอยู่เรื่อยๆ สร้างภพขึ้นมาทีไร จิตมันก็ทุกข์ทุกที จิตมันก็เลยพ้นจากภพ เพราะมันรู้แล้วว่า ถ้าหลงไปในภพเมื่อไร มันทุกข์แล้ว แล้วถ้าจิตล้างอวิชชา ภพมันมาไม่ได้หรอก กามมันก็มาไม่ได้ ทิฏฐิ อาสวะชนิดที่ 3 ทิฏฐาสวะ ความเจ้าความคิดเจ้าความเห็น มันไม่เข้ามาถึงจิตถึงใจหรอก มันแค่เป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ห่างๆ ไม่สามารถจะหมักดองในใจเราได้แล้ว

อาสวะอีกตัวหนึ่งชื่ออวิชชาสวะ อวิชชาสวะ ถ้ามันครอบจิตใจเราอยู่ เราจะไม่มีทางเห็นวิชชา ไม่มีทางล้างอวิชชาได้ เพราะอาสวะ อวิชชาสวะนี่ล่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา นี้จะทำลายอาสวะไป ท่านไม่ได้ใช้คำว่าทำลายอาสวะ ถ้าไปดูพระไตรปิฎก ท่านใช้คำตรงเป๊ะเลย ท่านบอกจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น ไม่ถือมั่นอะไร ไม่ถือมั่นขันธ์ 5 ที่ไม่ถือมั่นขันธ์ 5 เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นทุกข์

ทันทีที่เห็นทุกข์แจ่มแจ้ง ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรคขึ้นมา อาสวกิเลสจะหลุดกระเด็นหายไปเลย จะเข้ามาครอบงำเราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แล้วตรงที่จิตมันพ้นจากอวิชชาแล้ว สังขารคือความปรุงแต่งอย่างที่พวกเราปรุงกัน มันจะไม่มี อย่างพวกเรายังมีอวิชชาอยู่ เราเป็นนักปฏิบัติ เราก็พยายามปรุงดี รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา นี่คือความปรุงดีทั้งหมดเลย ทำไมต้องปรุงดี เพราะว่ามันยังคิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา จิตใจนี้คือตัวเราของเรา ยังหวงตัวนี้อยู่

แต่ถ้ามันรู้แจ้งแทงตลอด ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นแต่ตัวทุกข์ ไม่ควรยึดถือ มันหมดความยึดถือ มันจะปรุงให้มันดีไปหาสวรรค์วิมานอะไร ส่วนเรื่องปรุงชั่วนั้น อย่างไรก็ไม่ปรุงอยู่แล้ว แล้วก็มีปรุงอีกชนิดหนึ่ง ทำจิตว่างๆ หลายคนชอบปรุงทำจิตให้ว่าง ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง หลวงพ่อเคยผิดพลาดตรงนี้อยู่ 3 เดือน หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต หลวงพ่อก็ไปทำจิตให้ว่างอยู่ 3 เดือน เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกทำผิดแล้ว จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไม่ไช่ไปทำให้มันว่างๆ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ให้รู้อย่างที่มันเป็น รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ก็รู้อะไร รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ไม่มีเป็นอะไรหรอก

 

รู้ทุกข์เป็นลำดับ เข้าใจเป็นลำดับๆ ไป

เฝ้ารู้เฝ้าดู ปัญญามี 2 ระดับ ปัญญาขั้นต้น เราจะเห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ปัญญาขั้นกลาง เราจะเห็นว่าตัวรูป ตัวกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่เรา แล้วก็ตัวจิตก็ไม่ใช่เรา ตัววิญญาณ อันนี้เป็นปัญญาขั้นต้น พอเราภาวนาเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้กายรู้ใจแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันแก่รอบขึ้น มันจะเห็นกายนี้คือทุกข์ ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าเห็นตรงนี้จะปล่อยวางกาย

ถ้าเห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วปัญญาขั้นต้นมันจะเห็นว่า มันไม่ใช่เราหรอก เราสั่งไม่ได้ แต่ปัญญาขั้นกลาง เห็นว่าตัวร่างกายนี้ที่เราสั่งไม่ได้ไม่ใช่เรา ที่จริงแล้วมันคือตัวทุกข์ แล้วภาวนาต่อไป มันจะเห็นถึงจุดสุดท้าย มันเห็นตัวจิตนั่นล่ะตัวทุกข์ หัวโจกของการปฏิบัติเลย ก็คือตัวจิตของเรานั่นล่ะ แล้วจิตตัวนี้ไม่ใช่จิตกระจอกงอกง่อย อย่างที่พวกเราเห็น อย่างที่พวกเรามี พวกเราเป็น จิตตัวนี้มันบีบวงกระชับเข้ามา มันคือตัวจิตผู้รู้

เพราะฉะนั้นที่เราฝึกให้มีจิตผู้รู้ๆ แล้วเราก็เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจไป วางกายวางใจเป็นลำดับๆ ไป ในที่สุดก็เข้ามาอยู่ที่จิตผู้รู้นี้ ทรงตัวเด่นดวงอยู่โดยที่ไม่ต้องรักษา เฝ้ารู้เฝ้าดูต่อไป สติปัญญาแก่กล้าพอ บางท่านเห็นว่ามันไม่เที่ยง ท่านก็สลัดทิ้ง บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ท่านก็สลัดทิ้ง บางท่านเห็นว่ามันเป็นอนัตตาก็สลัดทิ้ง คนทั่วๆ ไปมีศรัทธา มีวิริยะอะไรอย่างนี้ แค่เห็นว่ามันไม่เที่ยง ก็ยอมแล้ว ใจมันยอมวาง

พวกที่ทรงฌานก็เห็นทุกข์ ทำไมต้องเห็นทุกข์ เพราะปกติจิตที่ทรงฌานมีแต่ความสุข แต่อยู่ๆ จิตมันพลิกตัวทีเดียว มันกลายเป็นตัวทุกข์ ยิ่งดูก็กลายเป็นตัวบรมทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ธรรมดา ทุกข์จนเหมือนจิตนี้จะระเบิดออกไปเลย ตรงนี้ต้องอดทน สู้ตาย แบบตายก็ตาย ถ้าจิตระเบิดแล้วเราจะตายก็ยอม ถ้าจิตจะระเบิดแล้ว เราจะเป็นบ้า เราก็ยอม ไม่ถอย มีสติตามรู้ตามดูไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่ง วัฏฏะมันจะถล่มโครมลงไปจากจิตเรา ถล่มลงไปจากกลางอกนี้ล่ะ จิตก็จะหลุดพ้นขึ้นมา

บางท่าน ท่านมีปัญญามาก ท่านเห็นอนัตตา โอ้ จิตผู้รู้เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ พอเห็นแล้วท่านก็วาง สลัดทิ้งเลย มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือหลวงปู่สุวัจน์ พูดได้เพราะว่า ไม่เป็นการหาลาภสักการะอะไรให้ท่านแล้ว ตอนนี้พูดเพื่อการศึกษา ท่านเคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านภาวนาๆ แล้วท่านก็รวบเอาจิตขึ้นมา แล้วก็ขว้างทิ้งเลย เหมือนเอามือไปรวบต้นหญ้า ถอนแล้วก็โยนทิ้งเลย ท่านถอนอะไร ท่านถอนอุปาทาน หมดความยึดถือในจิต โยนจิตทิ้งลงเหวไปเลย อันนี้ท่านเห็นอนัตตา

บางคนเห็นทุกขัง พวกนี้จะเป็นพวกทรงฌาน จิตที่ทรงฌานมีแต่ความสุข ถ้าไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ มันไม่ปล่อยจากฌานหรอก เพราะฉะนั้นพวกนี้จะหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ ถ้าคนทั่วๆ ไปก็เห็นอนิจจัง หลุดพ้นด้วยอนิจจัง เรียกอนิมิตตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์คือไม่มีเครื่องหมาย หมายถึงว่าทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น จิตเข้าใจแจ่มแจ้งตรงนี้ แล้วจิตก็ปล่อยวางจิตได้ ส่วนที่เห็นจิตเป็นทุกข์นั้น เรียกอัปปณิหิตวิโมกข์ อันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกทรงฌาน ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็จะเห็นแต่ แหม จิตนี้เข้าสมาธิแล้วมีแต่สุข ก็ไม่ปล่อย

ส่วนพวกที่ปัญญากล้า ท่านเห็นอนัตตาเรียกว่าสุญญตวิโมกข์ เห็นความว่างเปล่า ไม่มีแก่นสารสาระอะไร แล้วท่านก็โยนทิ้งไป นี่คือการรู้ทุกข์ รู้เป็นลำดับๆ ไป เข้าใจเป็นลำดับไป เข้าใจขั้นต้นก็คือขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องปล่อยวาง บางคนอยู่ๆ ก็จะปล่อยวางผู้รู้ ก็เพี้ยนเลย ต้องอาศัยผู้รู้ ต้องสร้างผู้รู้ขึ้นมา ผู้รู้เหมือนเรือ เรายังร่อนเร่อยู่ในวัฏสงสาร เหมือนเรายังอยู่กลางทะเล เราต้องอาศัยเรือ อยู่ๆ ก็ทิ้งเรือนั้น โง่ที่สุดเลย จมน้ำตาย

เราจะอาศัยเรือไปเรื่อยๆ ทีแรกเราไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ เรามีตัวผู้รู้อยู่ เราไม่รู้ว่าทิศเหนือทิศใต้อยู่ทางไหน ไม่รู้ว่าฝั่ง ชายฝั่งอยู่ที่ไหน เราก็เที่ยวสำรวจๆ ไป ถึงจุดหนึ่งเรามองเห็นฝั่งอยู่ลิบๆ ไกลลิบๆ แล้ว เรารู้ทางที่ชัดเจนแล้วว่าต้องไปทางนี้ คือรู้แจ่มแจ้งในวิธีปฏิบัติ ละสีลัพพตปรามาสได้ ละได้ แล้วตรงนั้นก็เป็นพระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ไม่ลังเลสงสัยแล้ว รู้ว่าต้องไปเดินทางนี้ล่ะ แล้วก็การจะไปอย่างนี้ ก็นั่งเรือไปไม่ต้องว่ายน้ำไป

รู้วิธีก็คือต้องมีเรือคือศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราก็จะข้ามวัฏฏะ พอเรือเริ่มใกล้ฝั่งเข้าไป ตรงนี้คลื่นลมมันก็เบาบาง อยู่กลางทะเลลึก คลื่นลมรุนแรง ก็คือกิเลสมันยังแรงอยู่ พระโสดาบันกิเลสยังแรงอยู่ พระโสดาบันรู้แล้วว่าจะเดินทางไหน ถ้าปุถุชนเหมือนตกอยู่กลางทะเล แล้วก็ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ ไม่รู้จะเข้าฝั่งทางไหน คนที่ได้โสดาบันคือคนที่รู้ทางแล้ว ว่าจะต้องไปทางนี้ล่ะ

ส่วนพระสกทาคามี คือคนที่เริ่มเดินทางเข้าฝั่ง เข้าใกล้ฝั่งไปตามลำดับๆ กิเลสมันจะเบาบาง สติ สมาธิ ปัญญา มันจะแก่กล้ามากขึ้นๆ จนกระทั่งสมาธิ ยังไม่เต็มหรอก แต่ว่าแข็งแรงขึ้นแล้ว ไม่หลงยาว พวกเราปุถุชนแล้วก็พระโสดาบันยังหลงยาว แต่เป็นพระสกทาคามี หลงไม่ยาวแล้ว หลงแวบก็รู้สึกแล้ว แวบก็รู้สึกแล้ว จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอเรือลำนี้เข้าใกล้ฝั่ง เข้าใกล้เขตน้ำตื้น คลื่นลมก็คือกิเลส ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก สบาย เข้าถึงชายฝั่ง พอเข้าถึงฝั่งก็ทิ้งเรือได้ ขึ้นบกคือพ้นวัฏฏะ อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นเราจะทิ้งผู้รู้ ต่อเมื่อมันถึงฝั่งแล้ว อย่าทิ้งเรือกลางทะเลนี้ โง่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องมีจิตผู้รู้ไว้ พัฒนาจิตผู้รู้ให้เข้มแข็งไว้

ไปฝึกนะ ค่อยๆ ฝึกไปทุกวันๆ อย่าท้อถอย เราไม่รู้ว่า ถ้าชาตินี้เราขี้เกียจขี้คร้าน จิตเราไม่คุ้นเคยการปฏิบัติ แล้วเรายังไม่ได้โสดาบัน เกิดชาติหน้าจะมีครูบาอาจารย์สอนเราหรือเปล่า ถ้าได้โสดาบัน มันไปได้เองแล้ว อย่างเดินๆ อยู่ คนเขาจุดพลุเปรี้ยง เราตกใจ จิตดีดผางออกมาเลย ไม่เห็นตัวเราในขันธ์ 5 เลย อันนี้คนเขาเคยได้มาแล้ว

ถ้าเรายังไม่เคยได้ เราก็รีบลงมือปฏิบัติเสียตั้งแต่ตอนนี้ ทำทุกวัน อย่าละเลย อย่าอ้าง ไม่ต้องมีข้ออ้าง อ้างโน่นอ้างนี่อยู่เรื่อยๆ วันนี้เหนื่อยนอนดีกว่า วันนี้ไม่สบายไม่ต้องปฏิบัติ ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นอย่าละเลย เร่ง เร่งเดินทางเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะหลงทาง เพราะไม่มีทิศทางที่เราจะรู้ได้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 กุมภาพันธ์ 2567