ดูที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่นี่ ปัญหาใหญ่เลยคือเรื่องสมาธิ จิตเราสมาธิไม่พอ จิตมันไม่ตั้งมั่น จิตมันไปข้างนอก บางคนไปก็ว่างๆ อยู่ข้างหน้า บางคนก็หลงไปคิด จะเดินปัญญาได้ จิตต้องตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ก็ต้องฝึก
ธรรมชาติของจิตมันออกนอกตลอด ออกรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นส่วนของภายใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัสกาย กับความรู้สึกทางใจทั้งหมด เป็นของข้างนอก ถ้าใจของเราไหลไปที่รูป ที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส ที่สิ่งสัมผัสร่างกาย หรือไหลไปอยู่ในโลกของความคิด ก็เรียกว่าจิตส่งออกนอกทั้งหมด จิตไม่ตั้งมั่น ไม่เข้าฐาน เคลื่อนออกไปตลอด เมื่อจิตเคลื่อนไปที่รูป ก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจได้ จิตเคลื่อนไปอยู่ที่เสียง เราก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจ จิตเคลื่อนไปที่กลิ่น ที่รส ที่สัมผัสทางกาย หรือเคลื่อนไปอยู่ในโลกของความคิด เราก็จะไม่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้
ล้างความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา
ถ้าเราไม่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ การทำวิปัสสนากรรมฐาน ทำไม่ได้ เว้นแต่บารมีสูงจริงๆ เห็นรูปภายนอกเกิดดับ แล้วจิตมีปัญญาแทงตลอด รูปข้างนอกกับจิตที่เป็นผู้ไปรู้รูปข้างนอก เป็นของคู่กัน รูปข้างนอกไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา มันก็พอไปได้ แต่มันยากมาก ฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ ท่านจะสอนให้เรารู้สึกอยู่ที่กายที่ใจของตัวเอง ไม่ให้ออกไปรู้ข้างนอก หลงๆ เพลินอยู่ข้างนอก หลงในรูป อย่างเราเห็นผู้หญิงสวยๆ เราก็ไปดูเขา เราก็ลืมร่างกายตัวเอง เห็นแต่ร่างกายเขา ใจของเรากำลังเกิดราคะ เกิดกิเลส ชอบ เราก็ไม่เห็น ไม่เห็นทั้งกาย ไม่เห็นทั้งใจ มันก็จะปฏิบัติ พัฒนาไม่ได้ ทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้
วิปัสสนากรรมฐานนั้น เราต้องเรียนรู้ความจริงของกายของใจ คือเรียนรู้รูปนาม แนะนำให้รู้รูปนามภายใน ไม่มีใครเห็นรูปนามภายนอกเป็นตัวเราหรอก ที่เราเห็นว่าเป็นตัวเรานั้น คือรูปนามภายใน คือกายนี้ใจนี้ เพราะฉะนั้นเราจะล้างความเห็นผิด ว่าตัวเรา เราเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เป็นความเห็นผิด ฉะนั้นเราก็ต้องดูลงมาที่กายที่ใจของตัวเองนี้ เพราะว่าไม่มีใครเห็นหรอก ว่ากายคนอื่นเป็นตัวเรา เสียง กลิ่น รส สัมผัสจากภายนอกนั้นเป็นตัวเรา ไม่มีใครเห็นหรอก แต่มันเห็นผิดว่าร่างกายนี้ ตัวนี้ เป็นตัวเรา จิตใจของเรานี้เป็นตัวเรา
ฉะนั้นจะล้างความเห็นผิด ลองมาดูความจริงของร่างกายตัวเอง ดูความจริงของจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้างนอก เพราะข้างนอกใครๆ มันก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ความหลงผิดมันอยู่ที่ว่า กายนี้คือเรา จิตใจนี้คือเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดูเข้ามาตัวนี้ให้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายและก็จิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนความฝัน ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนฝัน ความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนฝัน กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็เหมือนเราฝันอยู่ ฝันว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลง
ดูเรื่อยๆ มันจะถอนความเห็นผิดว่าจิตใจเป็นตัวเรา เพราะเราจะเห็นจิตใจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เที่ยง เดี๋ยวจิตใจก็สุข เดี๋ยวจิตใจก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตใจเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เดี๋ยวจิตใจก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล อย่างนี้ เราเห็นว่ามันไม่เที่ยงหรอก แล้วก็เห็นมัน แต่ละอย่างเราบังคับมันไม่ได้ เป็นของถูกรู้ถูกดู เมื่อมันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็เหมือนเราเห็นคนอื่น อย่างเราเห็นร่างกายเราเป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็เหมือนร่างกายของคนอื่น เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู มันก็เหมือนความรู้สึกของคนอื่น มันไม่มีตัวเราตรงไหนเลย ทั้งในกายทั้งในใจนี้
ดูบ่อยๆ แล้วเห็นความจริง ร่างกายไม่ใช่เรา ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่ใช่เรา ความจำได้หมายรู้ไม่ใช่เรา ความปรุงดีปรุงชั่วของจิตไม่ใช่เรา ตัวจิตเองก็ไม่ใช่เรา จิตก็เกิดดับ เดี๋ยวเกิดที่ตา เดี๋ยวก็เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ร่างกายก็ไม่ใช่อมตะ มีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ความรู้สึกสุขทุกข์ก็ไม่ใช่อมตะ มีแต่เกิดแล้วดับ ความจำก็ไม่อมตะ เกิดแล้วก็ดับ ความปรุงดีปรุงชั่วก็ไม่ใช่อมตะ เกิดแล้วก็ดับ จิตเองก็ไม่เป็นอมตะ เกิดแล้วก็ดับ พอเราเห็นได้ขนาดนี้ ปัญญาแก่รอบแล้ว มันจะล้างความเห็นผิด ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา มันจะล้างความเห็นผิดตัวนี้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดตัวนี้ได้ ก็ได้เป็นพระโสดาบัน
การที่เราจะล้างความเห็นผิดได้ เราก็ต้องฝึกตัวเอง ต้องพัฒนาเครื่องมือสำคัญ 2 ประการ ตัวที่ 1 สติ ตัวที่ 2 สมาธิ ถ้ามีสัมมาสติ สัมมาสติเป็นสติที่ระลึกรู้รูปนามกายใจ สัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิต ถ้าเรามี 2 สิ่งนี้แล้ว การเจริญปัญญา หรือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ถึงจะทำได้ ฉะนั้นอาศัยสัมมาสติ อาศัยสัมมาสมาธิ ถึงจะเกิดสัมมาญาณะ คือการเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เจริญปัญญาด้วยการคิดๆ เอา ฟังเอา คิดเอา อ่านเอา อย่างนั้นยังไม่ใช่สัมมาญาณะ ต้องอาศัยสัมมาสติ คือสติที่รู้กายรู้ใจ อาศัยสัมมาสมาธิ คือสภาวะของความตั้งมั่น จิตใจตั้งมั่นถึงฐานจริงๆ
ที่หลวงพ่อบอกพวกเราเมื่อกี้ ทั้งห้องจิตมันออกข้างนอก ออกไปในความคิดเสียเป็นส่วนใหญ่ บางคนก็ไปนั่งรอหลวงพ่อ ก็นั่งรู้ลมหายใจ ก็จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ อันนี้ก็ออกนอก จิตเคลื่อนไปแล้วเราไม่เห็น นี้การที่เราจะฝึกให้ได้สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็สอนมาเยอะแล้ว มีมากมาย อย่างเมื่อวาน เมื่อวานเป็นวันที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนเสด็จสวรรคต เป็นวันหยุดราชการ เมื่อวานคนมาที่วัดเยอะ เกือบเท่าวันนี้ ครึ่งศาลาได้ หลวงพ่อเดินดูทีละคนไม่ไหว ก็เลยเทศน์ให้ฟัง
แล้วเมื่อวานที่มาเป็นคนใหม่ๆ เยอะเลย บางคน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนจีน เพิ่งมาจากเมืองจีน ตอนนี้เมืองไทยให้คนจีนเข้าประเทศ ฟรีวีซ่าหรือไง ทำนองนี้ ก็เข้ามากันเยอะแยะเลย พวกหนึ่งเข้ามาเที่ยว พวกหนึ่งมาหาลู่ทางทำมาหากิน ส่วนหนึ่งก็อยากเรียนธรรมะ มาเรียนที่วัดโน้นแล้วก็ไป เดินทางมาวัดนี้ ข้ามไปข้ามมา ข้ามไปข้ามมา ดูหน้าตาแล้ว โอ้ ไปเรียนมาหลายที่ นึกว่าทุกวัดทุกสำนักในเมืองไทยนี้สอนเหมือนกัน ก็เลยสับสน ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร
หลวงพ่อก็เลยเทศน์ เมื่อวานนี้เทศน์เบสิกเลย เรื่องการปฏิบัติ ในขั้นต้นนี้จะฝึกตัวเองอย่างไร เทศน์แล้วเมื่อวานไม่ได้ไลฟ์สด เพราะไม่ได้คิดจะเทศน์ แล้วพวกเราเกือบทั้งหมดไม่ได้ฟัง วันนี้หลวงพ่อก็เลยให้เขาถ่ายมาให้ฟัง เดี๋ยวเปิดคลิปให้ดู เราดูตรงนี้ไปก่อน ฟังไปก่อน แล้วเดี๋ยวหลวงพ่อสรุปตอนท้ายให้อีกทีหนึ่ง เอ้า เชิญฟัง เป็นการประหยัดพลังงาน ไม่ต้องพูดซ้ำๆ
อย่าส่งจิตออกนอก วันนี้วันพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนสวรรคต 7 ปีแล้ว ไวมากเลย ทางคณะสงฆ์ก็ให้ตามวัดต่างๆ สวดพระพุทธมนต์ ของเราก็สวดเหมือนกัน แต่ว่าหลังทำวัตรเย็น พวกเราไม่ได้อยู่ฟัง ฉะนั้นพวกเรานั่งภาวนากันดีกว่า ใครเคยทำกรรมฐานอะไรก็ทำไป ตั้งแต่ตอนนี้เลย ที่จริงแล้วกรรมฐานอะไร ถ้าถูกหลักก็ใช้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าทำไปโดยไม่รู้หลัก มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าพุทโธดี หรือทำจังหวะ ขยับมือดี หรือพองยุบดี หรือจะอานาปานสติดี ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลวมากกว่ากัน ขอให้ทำให้ถูกหลักเท่านั้นเอง ใช้ได้ทั้งหมด ถ้าไม่ถูกหลักก็ผิดทั้งหมด
เริ่มต้นหัดสังเกตจิตใจตัวเอง
หลักสำคัญ ให้พวกเราทำกรรมฐานที่เราถนัด แล้วคอยสังเกตจิตใจของเราเอง ทำกรรมฐานไป แล้วถ้าจิตใจของเรา เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมา ให้เรามีสติรู้ทัน อย่างเรานั่งหายใจไปพุทโธไป ถ้าใจเราฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจไปเรื่อยๆ ใจสงบ รู้ว่าใจสงบ เราไม่ได้หายใจเพื่อให้เกิดความสงบ เราหายใจเพื่อจะรู้ทันใจตัวเอง ทำกรรมฐานอื่นก็เหมือนกัน ไม่ได้มุ่งเอาความสงบ ความสงบเป็นของแถมเท่านั้นเอง ให้เราคอยรู้ทันจิตตัวเอง แล้วมันสงบเอง ถ้าเราอยากให้สงบ จิตใจจะยิ่งฟุ้งซ่าน
เพราะฉะนั้นทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง จิตใจฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตใจสงบ รู้ว่าสงบ นั่งไปแล้วสงสัย จิตใจเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ นั่งอย่างนี้มันจะถูกหรือไม่ถูก รู้ว่าสงสัย ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป หรือจิตใจมีความสุข รู้ว่ามีความสุข นั่งไปแล้วจิตใจเราทุกข์ รู้ว่าจิตใจเราทุกข์ ถ้าเราทำกรรมฐาน แล้วเราตัดตรงเข้ามาที่จิต เป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด อาจารย์ใหญ่กรรมฐานของเมืองไทยคือหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็สอนว่า “การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด”
ฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้น ก็เริ่มต้นหัดสังเกตจิตใจตัวเองไปเลย ทำกรรมฐาน จิตใจเรามีความสุขก็รู้ จิตใจมีความทุกข์ก็รู้ จิตใจเป็นกุศลก็รู้ จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็รู้ จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจหดหู่ จิตใจเป็นอย่างไรคอยรู้ไว้ ตัวที่เกิดบ่อยที่สุด คือจิตใจหลงไปคิด อย่างเรานั่งทำกรรมฐานอยู่ แป๊บเดียวจิตก็หลงไปคิดแล้ว ไม่ต้องไปห้ามมัน จิตหลงไปคิด รู้ว่าจิตกำลังหลงไปคิด ไม่ต้องไปห้ามมัน เราจะไม่บังคับ ไม่กดข่มจิตใจ เราจะให้จิตใจทำงานตามธรรมชาติธรรมดา แล้วเราก็มีหน้าที่ตามรู้ตามเห็น ความเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อยๆ
เราจะดูจิตใจตัวเอง เหมือนเราดูคนอื่น หรือเราดูจิตใจเราเองเหมือนเราดูละคร ดูหนัง ดูซีรีส์ ตามรู้ตามดูไป จิตใจมีความรัก รู้ว่ารัก จิตใจโกรธ รู้ว่าโกรธ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไปทุกคน เราอ่านจิตตัวเองไป วันหนึ่ง ใช้เวลาไม่นาน ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอก กล้าๆ หน่อย ไม่ต้องกลัวไม่ดี ไม่ต้องกลัวผิด ทำกรรมฐานแล้วก็รู้ทันจิตตัวเองไป อย่างมากก็เดือนหนึ่งก็เข้าใจ ว่าเราปฏิบัติธรรม ปฏิบัติไปเพื่ออะไร มันไม่มีอะไรมาก มันง่ายจนกระทั่งมันนึกไม่ถึง
เราคิดว่าการปฏิบัติยากมากเลย อย่างไปนั่งสมาธิ โอ๊ย ไม่รู้จะนั่งถึงเมื่อไร ก็ไปเดินจงกรม เดินเมื่อยแล้วเมื่อยอีก ก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปทำอะไร ใจก็เต็มไปด้วยความลังเลสงสัย ฉะนั้นต่อไปนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไร คอยอ่านจิตใจตัวเองไป ขั้นแรกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราคุ้นเคย แล้วก็อ่านใจตัวเองไป สงบก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ ขี้เกียจขึ้นมาก็รู้ สงสัยก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไป สุขทุกข์ ดีชั่วอะไรเกิดมา คอยตามรู้ตามเห็นมันไป
พอเราฝึกไปช่วงหนึ่ง สักเดือนหนึ่ง เราจะเริ่มชำนาญในการตามรู้ตามเห็นจิตตัวเอง ทีแรก เราก็ทำกรรมฐานไป แล้วตามรู้ เห็นจิตตัวเองไป ผ่านไปสักเดือนหนึ่ง เราจะเริ่มอ่านจิตตัวเองออก เมื่อเราอ่านจิตตัวเองได้ คราวนี้เรามาถึงขั้นการปฏิบัติที่สำคัญ คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หลวงปู่มั่นบอกว่า “การทำสมาธิ ทำมากไปก็เนิ่นช้า เสียเวลา อยู่ๆ ไปนั่งเจริญปัญญาก็ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการมีสติในชีวิตประจำวัน” ตรงนี้ แต่ก่อนที่เราจะมีสติในชีวิตประจำวันได้ เราต้องซ้อมให้สติมันคล่องตัวก่อน โดยการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป
พอเรารู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ พอจิตเราหลง จิตเราเผลอ สติจะเกิดเอง มันจะรู้ขึ้นมาได้เร็ว ทีแรกเวลาหลง หลงยาว ต่อมาพอจิตไหลแวบเดียวรู้สึกแล้ว จะรู้ได้เร็วขึ้นๆ พอเราอ่านจิตใจตัวเองได้ชำนาญแล้ว เราก็ลงมือปฏิบัติในชีวิตจริง การทำในรูปแบบ มันก็เหมือนเราเป็นนักมวย เราเข้าค่ายซ้อมมวย ก่อนจะชกจริง เราก็ต้องเข้าค่ายซ้อมก่อน จนกระทั่งเราชกคล่องตัวแล้ว เราถึงจะลงสนามชกจริง การเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือการขึ้นเวทีชกจริงแล้ว
อ่านจิตตัวเองได้แล้ว เจริญสติในชีวิตประจำวัน
วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวัน ก็คือเวลาที่ตาเรามองเห็น มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ให้เรามีสติรู้ทัน เราเคยรู้ทันจิตตัวเองมาตั้งพักหนึ่ง เช่น สักเดือนหนึ่ง พอตาเรามองเห็นรูป คนนี้สวย ใจเราชอบขึ้นมา เราก็รู้ทัน อ๋อ ตอนนี้จิตมันชอบ เห็นคนนี้เป็นศัตรูเรา ใจมันเกลียด เราก็มีสติรู้ทันว่าใจมันเกลียด นี่การเจริญสติในชีวิตประจำวัน เวลาหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส แล้วจิตใจเราเกิดความรู้สึกใดๆ ขึ้นมา ให้เรารู้ทัน นี่คือสุดยอดของการปฏิบัติเลย สำคัญมาก ทำตรงนี้ไม่ได้ เรายังห่างไกลต่อมรรคผลนิพพานมาก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ ใจเราเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน จิตใจของเรากระทบธรรมารมณ์ คือรู้อารมณ์ทางใจ เช่น ใจเราหนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ อยู่ๆ ไม่ได้เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียงอะไร อยู่ๆ ก็นั่งคิดโน่นคิดนี่ไป แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น เรานั่งอยู่ดีๆ ในชีวิตธรรมดานี้ อยู่ๆ เราก็คิดถึงคนๆ หนึ่งขึ้นมา เราไม่ได้เจตนาจะคิดเลย อยู่ๆ จิตมันคิดขึ้นได้เอง พอมันคิดขึ้นมา คนนี้เราชอบ เราก็รู้สึก โอ้ น่ารัก คนนี้ดี เราอยากเจอ เกิดความรู้สึกอยากเจอ
หรือเรานั่งเพลินๆ อยู่ ใจเราคิดถึงคนๆ หนึ่งขึ้นมา คนนี้เราเกลียดมากเลย พอคิดแล้วโทสะขึ้นเลย คนนี้เคยโกงเงินเรา หรือเคยด่าเรา มันด่าเราเมื่อ 20 ปีก่อน มันจบไปตั้งนานแล้ว แต่พอใจมันคิดขึ้นมา ใจมันก็โกรธขึ้นมาได้อีก ให้เรามีสติรู้ทัน เวลาความคิดเกิดขึ้นมาแล้ว ใจเรามีปฏิกิริยาอย่างไร มันสุขให้รู้ทัน มันทุกข์ให้รู้ทัน มันเกิดกุศล มันเกิดอกุศล ให้รู้ทันไป นี่คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน การเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะทำไม่ได้ ถ้าเราอ่านใจตัวเองไม่ออก
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การนั่งกำหนด ตอนนี้เห็น ตอนนี้ได้ยิน ตอนนี้ได้กลิ่น ได้รสอะไร ตอนนี้คิดอะไรอย่างนี้ ไม่ได้กำหนด ปล่อยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดา ตามีตาก็เห็นรูป มีหูก็ได้ยินเสียง มีจมูกก็ได้กลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส ความเย็นร้อนอ่อนแข็งอะไรพวกนี้ มีใจก็กระทบความคิด เราไม่ห้าม ให้มันกระทบไป แต่พอกระทบแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน นี่ล่ะที่เรียกว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตประจำวันนั้น เดี๋ยวตาก็เห็นรูป เดี๋ยวหูก็ได้ยินเสียง เดี๋ยวใจก็คิด มันหมุนเวียนตลอดเวลา
ก่อนที่เราจะอ่านใจตัวเองออก ตอนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบ แล้วจิตใจเราเปลี่ยนแปลง ก่อนเราจะมาถึงจุดนี้ได้ เราต้องซ้อม ต้องซ้อม ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตใจเรามีอะไรเกิดขึ้นให้รู้ทัน เช่น ทำไปแล้วเบื่อ ใจเราเบื่อแล้ว รู้ทัน ทำไปแล้วก็ โอ๊ย ร้อน วันนี้ร้อนไป หงุดหงิด ก็รู้ทัน รู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ แล้วพอมาถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตใจเกิดความเปลี่ยนแปลง เราจะรู้ทันได้อัตโนมัติ ไม่ได้เจตนารู้ แต่รู้ได้เอง ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ เราถึงจะได้สาระแก่นสารของการปฏิบัติ
การอ่านใจตัวเองออกได้ เป็นสาระสำคัญของการปฏิบัติ
ไม่ใช่ทุกที่จะสอนกรรมฐาน แบบที่หลวงพ่อบอกพวกเรา ส่วนใหญ่เขาก็จะบอกให้ไปนั่งสมาธิแบบนี้ หายใจแบบนี้ ให้ไปดูท้องอย่างนี้ ให้เดินท่านี้ๆ ก็สอนกันแบบนั้น ดีไหม ก็ดีเหมือนกัน แต่พวกนั้นมันคือเปลือกของการปฏิบัติ มันคือรูปแบบของการปฏิบัติ แต่แก่นแท้ของการปฏิบัติคือจิตของเรา ให้เดินสวยแค่ไหน ทำจังหวะได้แม่นแค่ไหน แต่อ่านจิตใจตัวเองไม่ออก มันก็ยังไม่ได้สาระแก่นสารของการปฏิบัติ การอ่านใจตัวเองออกได้นั้นล่ะ เป็นสาระสำคัญของการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจะไม่ได้สอน ให้นั่งท่านี้ ให้เดินท่านี้ ให้กำหนดอย่างนั้น ให้กำหนดอย่างนี้ จะไม่ได้สอนสิ่งเหล่านั้นเลย แต่สอนให้เราตัดตรงเข้ามา อ่านจิตใจตัวเองให้ออก แล้วถ้าเราอ่านใจตัวเองออก เราทำไปสักช่วงหนึ่ง เราไปเข้าสำนักไหน เราไปได้ยินได้ฟังธรรมะอะไร เราจะรู้เลยว่า คำสอนแต่ละอย่างๆ มันอยู่ในระดับไหน บางที่มันก็แค่ระดับทำความสงบ บางที่ก็ไปสะกดจิตตัวเอง มีนะ นั่งไปแล้วก็กำหนดจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ ความคิดเกิดก็ปัดทิ้งไปเลย ไม่ให้มันคิด อันนั้นมันก็เป็นการเหมือนสะกดจิตตัวเองไม่ให้คิด
บางคนก็นั่งเพ่ง บางที่ก็นั่งเพ่ง เพ่งสมอง เพ่งร่างกาย แล้วจนกระทั่งปวดคอ ปวดหลัง เคล็ดขัดยอกไปทั้งตัวเลย เปลือกมีประโยชน์ไหม มีประโยชน์ แต่เราไม่ได้กินเปลือก เราจะกินเนื้อในของผลไม้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเรียนเข้ามา ให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง แล้วเราก็ไปดู เราใช้เปลือกอันไหนเหมาะกับเรา ฉะนั้นจุดสำคัญต้องอ่านจิตตัวเองให้ออก แล้วจะใช้เปลือกอันไหนก็ไปดูตัวเอง อย่างหลวงพ่อเปลือกที่หลวงพ่อถนัด คือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องใช้อันนี้ ทางใครทางมัน
บางคนก็ถนัดดูท้องพองยุบ เขาก็ดูของเขาไป แต่ส่วนใหญ่ดูท้องพองยุบ มุ่งไปให้จิตมันนิ่งๆ ไปเพ่งที่ท้อง ไม่ใช่มุ่งที่จะรู้ทันจิตตัวเอง แต่มุ่งที่ไปเพ่งอยู่ที่ท้อง ถ้าเราเอาจิตไปเพ่งไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง อันนั้นคือสมถกรรมฐาน สิ่งที่ได้คือความสงบ ไม่ได้ปัญญาอะไรหรอก ได้สมาธิเฉยๆ สมาธิเกิดกับจิตทุกชนิด สมาธิส่วนใหญ่ที่คนทั้งหลายฝึกกัน มันเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติ จะให้จิตมันนิ่งอย่างเดียว ไม่มีสติจริง เพราะฉะนั้นเราจะเป็นสัมมาสมาธิได้ หรือเราเจริญปัญญาได้ เราต้องมีสติ
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ ต่อไปพอจิตมันโกรธ เราไม่ได้เจตนารู้ มันรู้เองว่าตอนนี้โกรธแล้ว หรือเราฝึกบ่อยๆ พอจิตมันโลภ เรารู้เองว่าตอนนี้มันโลภแล้ว อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีสติ ไม่ได้ต้องกำหนด ถ้านั่งจ้องรอดูอยู่ จะโกรธเมื่อไร จะโกรธหรือยัง ไม่ได้เรื่องหรอก ไม่มีอะไรให้ดูหรอก มันเฉยๆ ฉะนั้นจับหลักตัวนี้ให้แม่น แล้วเราจะก้าวหน้า
เบื้องต้นทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง แล้วอ่านจิตตัวเองไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด หรือใช้เปลือกชนิดไหนก็ได้ เอาที่เราถนัด ถนัดพุทโธก็พุทโธ ถนัดหายใจก็หายใจ ถนัดพุทโธด้วยหายใจด้วยก็ทำไป ถนัดดูท้องพองยุบก็ทำ ถนัดขยับมือทำจังหวะก็ทำไป อะไรก็ได้ ขอให้มีสติรู้ทันจิตตัวเองเท่านั้น ใช้ได้หมดเลย แต่ถ้าไม่มีสติ ไปรู้ลมหายใจ จิตก็ถลำลงไปจม ไปเพ่งลมหายใจ ไปท่องพุทโธก็เหมือนสะกดจิตตัวเอง ไม่ให้คิดเรื่องอื่น ไปดูท้องพองยุบก็ไปเพ่งท้อง ไปเดินจงกรมก็ไปเพ่งเท้า หรือบางทีเพ่งร่างกายทั้งร่างกาย เห็นไหมมันมีแต่เรื่องไปเพ่งเอาทั้งนั้น ทำให้กี่ปีมันก็ได้แต่แค่เพ่งเอา จิตก็นิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นเอง
เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึกให้มีสติ ไม่ใช่ฝึกให้สงบเฉยๆ อ่านใจตัวเองให้ออก นั่นล่ะสำคัญที่สุด ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้ อย่าว่าแต่หลวงพ่อเลยว่าช่วยเราไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้ ไม่มีใครช่วยได้หรอก มันเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม อย่างเราทำกรรมฐาน ก็เป็นการทำกรรมดี เพราะมีกฎแห่งกรรมก็มีผล ถ้าเราทำสมถกรรมฐานถูก ผลที่เราได้คือความสงบของจิต ความตั้งมั่นของจิต ถ้าเราทำวิปัสสนากรรมฐานถูก ผลที่ได้ก็คือความรอบรู้ของจิต เข้าใจความจริงของโลก เข้าใจความจริงของชีวิต แล้วจิตใจก็จะพ้นจากความทุกข์ ต้องทำเอาเอง
ศาสนาพุทธแท้ๆ ต้องใช้สติ ใช้ปัญญาของตัวเอง
อย่างพระพุทธเจ้าท่านเก่งมาก ท่านไม่สามารถปฏิบัติแทนเราได้ ไม่สามารถแก้กรรมให้เราได้ด้วย พวกเราชอบคิดเรื่องแก้กรรม ไม่มีใครแก้กรรมให้ใครได้ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังต้องรับกรรม อย่างท่านมีกรรมเก่าจะต้องปวดท้อง วาระสุดท้ายของชีวิตท่าน ท่านยังต้องปวดท้อง เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมแก้ไม่ได้ เราต้องทำกรรมใหม่ที่ดี ทำกรรมฐานนี่ล่ะ เป็นการทำกรรมใหม่ที่ดีที่สุด แล้วจิตใจเราจะฉลาด จิตใจเราจะพ้นทุกข์ไป ไม่มีใครช่วยใครได้
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนที่ต้องช่วยตัวเอง คำสอนแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า เราจะต้องช่วยตัวเองให้ได้ ท่านทำได้แค่บอกวิธีการ เหมือนที่หลวงพ่อบอกวิธีการให้พวกเรา พระพุทธเจ้าก็ทำได้แค่บอกวิธีให้ เราต้องทำของเราเอง แล้วเราก็จะพ้นทุกข์ของเราเอง ไม่มีใครช่วยใครได้ นี้ดั้งเดิมศาสนาพุทธจะสอนอย่างที่หลวงพ่อสอน สอนให้ลงมือปฏิบัติ ทำสติปัฏฐาน 4 ลงท้ายมันจะลงมาที่จิตนั่นล่ะ ไม่ว่าจะเริ่มรู้จากกาย เวทนา สุดท้ายมันจะลงมาที่จิตทั้งหมด แล้วก็จะรู้กระบวนการทำงานของจิตใจ
ศาสนาพุทธแท้ๆ อย่างนี้เข้าใจยาก ต้องพึ่งตัวเอง ในขณะที่คนทั้งหลายไม่ชอบพึ่งตัวเอง อยากพึ่งคนอื่น อยากพึ่งสิ่งอื่น ในที่สุดศาสนาที่นับถือเทวดาก็ชนะ กลืนศาสนาพุทธไป เพราะศาสนาพุทธแท้ๆ เป็นเรื่องที่เราต้องใช้สติ ใช้ปัญญาของตัวเองในการแก้ปัญหา คนส่วนใหญ่อ่อนแอ ก็อยากให้เทวดาช่วยแก้ปัญหาให้ ฉะนั้นศาสนาเทวดา ศาสนาผี จะชนะศาสนาพุทธ
พวกพระในอินเดียก็มองเห็นปัญหานี้ โอ้ ศาสนาพุทธแท้ๆ เข้าใจยาก ก็เลยสร้างเรื่องพระโพธิสัตว์ต่างๆ ขึ้นมา มีโพธิสัตว์องค์นั้น โพธิสัตว์องค์นี้ องค์นี้เก่งด้านนี้ องค์นี้เก่งด้านนี้ สร้างพระโพธิสัตว์ขึ้นมาเพื่ออะไร มาเป็นตัวแทนเทพทั้งหลายนั่นล่ะ คนที่อ่อนแอหน่อย ก็จะคิดพึ่งพระโพธิสัตว์ หวังพึ่งพระโพธิสัตว์ วันหนึ่งอาจจะได้ยินธรรมะแท้ๆ แล้วก็ปฏิบัติต่อไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าไปพึ่งผี พึ่งเปรต พึ่งเทวดา ก็พึ่งไปตลอด ไม่มีทางที่จะได้เรียนธรรมะหรอก
เพราะฉะนั้นก็เป็นอุบาย อุบายของคนรุ่นก่อน ก็สร้างมหายานขึ้นมา เป็นการปรับเอาคำสอนของศาสนาพุทธ เหมือนเป็นแก้วแหวน เป็นเพชรที่ดี เป็นเพชรมันจะอยู่ในก้อนหิน คนเห็นก็เห็นเป็นก้อนหิน คนไม่เอา ครูบาอาจารย์ด้านมหายานก็ฉลาด เอาก้อนหินมีเพชรก้อนนี้ล่ะ มาใส่ห่อให้สวยๆ มีห่อให้ดึงดูดใจ คนเห็นห่อสวยๆ อยากได้ แล้ววันหนึ่งได้ห่อนี้ไป วันหนึ่งก็อาจจะไปเจอเพชรที่อยู่ในห่อนี้ มหายานก็คือการสร้างเปลือก สร้างห่อที่สวยงามขึ้นมา เพื่อดึงดูดให้คนหันมาเรียน แล้ววันหนึ่งอาจจะได้ยินได้ฟังธรรมะที่ดี แล้วก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น
เพราะฉะนั้นอย่างเรื่องโพธิสัตว์ทั้งหลาย โพธิสัตว์มีไหม มี โพธิสัตว์คือคนซึ่งบำเพ็ญบารมีจะไปเป็นพระพุทธเจ้า โพธิสัตว์จะช่วยเราได้ไหม ช่วยได้เล็กน้อย อย่างสมมติว่าเราไปเจอ สมมติว่านายนี้เขาเป็นโพธิสัตว์ เราไม่มีเงินกินข้าวไปขอเขา เขาอาจจะให้ แต่เขาจะพาให้เรานิพพานไหม ไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอง เราถึงจะนิพพานได้เอง เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะให้ออก ว่าอะไรเป็นอุบาย อย่างมหายาน พอสร้างโพธิสัตว์มาเยอะๆ แล้วก็สร้างเรื่องแดนสุขาวดี นิพพานแล้วไปอยู่ เหมือนเมืองสวรรค์ แข่งกับสวรรค์ มันคืออุบาย
วันหนึ่งถ้าเราเรียนแล้วฉลาดขึ้นมา เรียนเข้ามาให้ถึงจิตใจตัวเอง แล้วเราจะพบเพชรแท้ กิเลสมันเหมือนก้อนหินที่หุ้มเพชรเอาไว้ แล้วก็วันหนึ่งเราละกิเลสออกไปเรื่อย เราก็จะเจอเพชรที่แท้จริง เพชรดวงนั้นก็คือจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง
เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ อย่าลืม ต้องไปทำการบ้าน ทำกรรมฐานไป แล้วอ่านจิตตัวเองไป ลองดูสักเดือนหนึ่งก็ได้ ทำบ่อยๆ มีเวลาเมื่อไรก็ทำ แล้วต่อไปเราอ่านจิตของเราคล่อง ออกมาอยู่ในชีวิตจริง สติมันอัตโนมัติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ สติเกิดเองเลย อ่านจิตตัวเองได้ตลอดเลย พอเราอ่านจิตตัวเองได้ กิเลสก็ครอบงำจิตไม่ได้ อ่านจิตไม่ออก กิเลสก็ครอบงำจิตไป
วัดสวนสันติธรรม
13 ตุลาคม 2566
ต้องถึงพร้อมทั้งสมาธิทั้งปัญญา
ต้องไปทำ ถ้าไม่ลงมือทำ ไม่มีวันเข้าใจ ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ด้วยการคิดเอา แต่การที่เราอ่านธรรมะ เราฟังธรรมะ เราคิดพิจารณาไตร่ตรองธรรมะด้วยเหตุด้วยผล เราก็จะเข้าใจว่าต้องปฏิบัติอย่างนี้ ต้องปฏิบัติอย่างนี้ อันนี้เป็นเส้นทาง พอเราลงมือทำ เราก็จะพบว่า เอ๊ะ ทำอย่างนี้ก็ผิด ทำอย่างนี้ก็ผิด ทำอย่างนี้ทีแรกก็นึกว่าดี ทำไปทำมามีของที่ดีกว่ากว่านี้อีก
ค่อยๆ ฝึก แล้วเราจะรู้เลย ไม่อยากบอก ทำทีไรก็ผิด รู้อย่างที่กาย อย่างที่จิตเป็น ถึงจะถูก แต่ให้รู้นั้นมันรู้ยาก เราไม่ชินกับการรู้ เราชินกับการทำ เราไม่สามารถรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ถ้าบอกให้เราไปเดินจงกรมอย่างนี้ ไปนั่งอย่างนี้ ไปหายใจอย่างนี้ ง่าย แต่รู้กายอย่างที่กายเป็น ยากกว่า หรือเราจะรู้จิต ท่องตำราได้ จิตมีเท่านั้นชนิดเท่านี้ชนิด มีเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง มันท่องง่าย ไม่ยากหรอก แต่ตรงที่จะเห็นจริงๆ มันยาก ธรรมะเลยเรียนได้ด้วยการเห็นเอา
คำว่า “วิปัสสนา” มาจากคำว่า “วิ” กับ “ปัสสนะ” ปัสสนะคือการเห็น “วิ” แปลว่าแจ้ง เห็นแจ้ง เห็นจริง ก็คือเห็นไตรลักษณ์ ไม่มีทางอะไรมากกว่านี้หรอก นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของอุบาย อุบายบางคนต้องเดินแนวนี้ บางคนเดินแนวนี้ อย่างบางคนต้องเข้าฌานก่อน ออกจากฌานแล้ว มาเดินปัญญาทำวิปัสสนา บางคนเข้าฌานไป แล้วชำนาญในฌานด้วย ชำนาญในการดูจิตด้วย ก็สามารถเจริญปัญญาในฌานได้ บางคนทำฌานไม่ได้ ก็อาศัยการเจริญปัญญา ใช้สมาธิชั่วขณะคือขณิกสมาธิ อาศัยเป็นขณะๆ ไปก่อน หัดรู้จิตใจตัวเองเป็นขณะๆ ไปนี่ล่ะ แล้วต่อไปสมาธิมันก็เกิดเอง อันนี้เป็นปัญญานำสมาธิ
แต่ตอนที่จะบรรลุมรรคผล เราจะมีพร้อมทั้งสมาธิทั้งปัญญา ไม่มีบรรลุมรรคผลด้วยสมาธิอย่างเดียว หรือด้วยปัญญาอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเวลาบรรลุ ก็ต้องถึงพร้อมทั้งสมาธิทั้งปัญญา แต่เบื้องต้นจะเริ่มจากอะไรก่อนก็ดูตัวเอง ถนัดเข้าฌานก็เข้าฌานไป เข้าฌานแล้วติดนิ่งติดเฉย ก็ออกจากสมาธิมา พอจิตออกจากสมาธิมา ก็มาพิจารณาร่างกาย หรือบางคนเข้าฌานไปแล้ว ต่อมามันเห็นความเปลี่ยนแปลงในฌาน เดี๋ยวก็มีปีติ เดี๋ยวก็มีสุข เดี๋ยวก็เป็นอุเบกขา หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ในองค์ฌานนั้น อันนั้นก็เดินปัญญาในฌาน เรียกว่าสมาธิกับปัญญาควบกัน
ไม่ว่าเราจะใช้สมาธินำปัญญา ปัญญานำสมาธิ หรือสมาธิและปัญญาควบกัน ทำไปเรื่อยๆ ถ้าสมาธิเราไม่พอ สมาธิเราไม่พอเมื่อไร ขณะที่เราเดินวิปัสสนาอยู่นั้น วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น จะเกิดความหลงผิดว่าบรรลุแล้ว รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเกิดอย่างนี้มีทุกคน ไม่ต้องตกใจหรอก ฉะนั้นถ้าเวลาเราภาวนาแล้ว เรารู้สึกเกิดสว่าง โอภาสเกิด แล้วสว่างไสวครอบโลกครอบจักรวาล เราคิดว่านี่บรรลุมรรคผลแล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อ ครูบาอาจารย์ท่านบอกอุบายไว้อันหนึ่งว่า ถ้าหากเราภาวนาแล้ว เราก็คิดว่าเราบรรลุโน่นบรรลุนี่แล้ว อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ให้สังเกตจิตใจตัวเองไปสัก 3 เดือน แต่ว่าการสังเกตจิตใจตัวเองนี้ต้องไม่ค้างอยู่ในสมาธิ ต้องปล่อยให้จิตใจเป็นธรรมชาติธรรมดา แล้วก็ดูว่ากิเลสจะเกิดหรือไม่เกิด
วิธีสังเกตกิเลส
อย่างถ้าเราละกามราคะได้แล้ว นั่งสมาธิไปปุ๊บกามดับไปหมดเลย จิตสว่างขึ้นมา กามดับไปหมดเลย เราก็ เอ๊ะ เป็นพระอนาคามีแล้วมัง ก็ต้องสังเกต วิธีสังเกต ไม่ใช่ทรงฌานอยู่ แล้วก็ดูว่าจะมีราคะไหม กามราคะไหม ไม่มีหรอก ขณะที่จิตทรงฌานอยู่ มันจะไปมีกามราคะได้อย่างไร จิตมันอยู่ในรูปภูมิอรูปภูมิโน่น ไม่ใช่กามาวจรภูมิ เพราะฉะนั้นเราจะต้องกลับมาอยู่ในโลกธรรมดานี้ ออกจากสมาธิมาแล้ว แล้วก็กระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดา แล้วก็ดูว่าจิตใจจะเสถียรหรือไม่เสถียร
มีครั้งหนึ่งราวๆ ปี 2527 วันหนึ่งหลวงพ่อภาวนา แล้วจิตมันว่าง สว่าง มันแหวกออกมา แล้วสว่าง โล่ง หลวงพ่อก็สงสัย เอ๊ะ บรรลุพระอนาคามีหรือเปล่า สงสัย แล้วจิตทรงสมาธิอยู่ กามราคะก็ไม่มี ปฏิฆะ ความหงุดหงิดใจอะไรก็ไม่มี ถ้าเราทรงอยู่ตรงนี้ มันก็ไม่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพราะว่าอำนาจของสมาธิ มันข่มกามราคะและปฏิฆะได้ ฉะนั้นเราก็ต้องไม่อาศัยอยู่ในสมาธิ หลวงพ่อก็ออกมาจากสมาธิ มาอยู่กับโลกธรรมดานี้ แล้วก็ดูไป จะมีกามราคะเกิดขึ้นไหม จะมีหงุดหงิดไหม ดูอยู่พักหนึ่งมันก็ไม่มี
หลวงพ่อก็ทดสอบขั้นต่อไป เมื่อก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต สมัยโน้น หลวงพ่อก็ไปยืมหนังสือโป๊ของเพื่อนมา เพื่อนที่ทำงานมีอยู่คนหนึ่ง เขาสะสมไว้เยอะ เคยชวนหลวงพ่อดู หลวงพ่อไม่ดูหรอก เรากลัวสมาธิเราเสื่อม แต่ตอนนี้เราอยากรู้ ว่าจิตใจของเรายังเหลือกามราคะไหม ไปยืมหนังสือโป๊ของเขามาอ่าน เขาดีใจมากเลย คล้ายๆ เออ นายปราโมทย์มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว มาดูหนังสือโป๊ ดูไป วันแรกใจก็เฉย เอาไปคืนเขา เอาเล่มใหม่มาดู พอหลายๆ วัน ดูแล้วใจมันเริ่มกระเพื่อมขึ้นมา อุ๊ย ผู้หญิงคนนี้สวยจังเลย จิตมีราคะผุดขึ้นมา ดีใจ โอ้ เราไม่ใช่พระอนาคามีหรอก กามราคะของเรายังมี ที่มันหายไป สงบไปนั้น ด้วยอำนาจของสมาธิเท่านั้นเอง
แล้วก็ขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์ เวลามีผลงานก็ขึ้นไปกราบเรียนครูบาอาจารย์ ไปเล่าให้ท่านฟัง พอไปเล่าอย่างนี้ให้ท่านฟังว่า “ผมสังเกตอย่างนี้ๆ แล้วก็รู้ทันขึ้นมา” ท่านยิ้มว่า “ฉลาด ฉลาดในการสังเกตตัวเอง” เพราะฉะนั้นเวลาจะสังเกตจิตตัวเอง ว่ามีกิเลสหรือไม่มีกิเลส อย่าไปเข้าฌานอยู่ อย่าไปเข้าสมาธิอยู่ อยู่กับโลกปัจจุบันนี้ อยู่อย่างธรรมดานี้ ใช้ชีวิตธรรมดานี้ เจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ล่ะ แล้วถ้ากิเลสยังมี หลายๆ วันก็โผล่ขึ้นมาให้ดู อย่าเชื่อง่าย ไม่ใช่นั่งสมาธิวูบๆ วาบๆ แล้วก็บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้ หลังๆ นี้มีเยอะ
พวกผู้ช่วยสอนมาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า หลังๆ มันก็มีประเภท ไปเรียนมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วมาถึงก็มาบอก จิตเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะ เข้าวิญญาณัญจายตนะ เข้าอากิญจัญญายตนะ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถัดจากนั้นจิตก็รวมลงไปทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วก็บรรลุวิชชา 3 ได้อภิญญา 6 ปฏิสัมภิทา 4 บอก เอ๊ะ ได้ขนาดนั้น เป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วจะมาถามหาสวรรค์วิมานอะไร มาถามว่าใช่ไม่ใช่ นั่นเพี้ยนหนัก เพราะว่านั่งสมาธิไป แล้วมันเกิดอะไรแปลกๆ แล้วเชื่อเลยว่าบรรลุแล้ว
มาถามพระอาจารย์อ๊า พระอาจารย์อ๊าพยายามแก้ให้ครึ่งชั่วโมง แก้ไม่ตก ไม่รู้ไปเรียนมาจากไหน พระอาจารย์อ๊าเหนื่อยเต็มที แล้วไม่ว่างแล้ว บอกให้ผู้ช่วยสอนไปช่วยสอนต่อที พระอาจารย์อ๊าหมดแรงแล้ว หมดเวลาแล้วจะต้องไปทำธุระอื่นแล้ว ผู้ช่วยสอนไปคุยด้วย 5 นาที กลับไปแล้วพระอรหันต์ จาริกกลับบ้านไปแล้ว ถามว่าไปบอกอะไรเขา เขาถามประโยคเดียวว่า ที่เขาทำอยู่นี้ถูกไหม บอก “ไม่ถูกหรอก ไม่มีถูกเลยสักนิดเดียวเลย” พระอรหันต์เลยโกรธ กลับบ้านไปเลย
เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อง่ายๆ ถ้าใครเขาบอกเขาเป็นพระอรหันต์ ก็อย่าไปเชื่อ ถ้าเราภาวนาแล้วเราก็บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้อย่าเพิ่งเชื่อ สังเกตกิเลสไป แล้วเราจะได้ไม่โดนตัวเองหลอกตัวเอง หลอกตัวเองว่าได้โน้นได้นี้ จริงๆ ไม่ได้อะไรเลย ถูกหลอก
วัดสวนสันติธรรม
14 ตุลาคม 2566