ปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที

ห้องนี้เย็น ความเย็นความร้อนอันนี้เป็นธาตุไฟ ความอ่อนความแข็งก็เป็นธาตุดิน สิ่งที่กระทบร่างกายเราได้ ก็มีธาตุดินธาตุไฟธาตุลมกระทบ สิ่งที่กระทบตาเราก็เป็นรูป รูปจริงๆ ก็แค่สี สิ่งที่กระทบหูเราก็แค่เสียง อย่างตาเราเห็นรูป ตาไม่มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ตาสักว่าเห็น พอตาเห็นใจก็ทำงานต่อ แปลความหมายของรูปที่ตามองเห็น รูปนี้ดีรูปนี้ไม่ดี แล้วก็เกิดความปรุงแต่งทางใจ เกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกุศลเป็นอกุศลขึ้นมา เวลาหูได้ยินเสียงก็แบบเดียวกัน หูได้ยินเสียง ไม่มีบุญไม่มีบาปอะไร สักแต่ได้ยิน แล้วใจมาแปลความหมาย อันนี้เสียงชม อันนี้เสียงด่า มีเสียงชมก็ยินดีพอใจมีความสุข มีเสียงด่าก็มีโทสะเกิดขึ้น กลิ่นก็เหมือนกัน จมูกได้กลิ่น แล้วใจก็มาแยก กลิ่นนี้ถูกใจ กลิ่นนี้ไม่ถูกใจ ก็เลยปรุงต่อไป มีกิเลสมีกุศลอะไรต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามความปรุงแต่ง

ฉะนั้นใจทำงานอาศัยการกระทบอารมณ์ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ตรงที่กระทบตรงนั้นไม่มีบุญไม่มีบาป เฉยๆ มาเกิดกุศลอกุศลก็เกิดที่จิต ตัวที่จะทำให้เราทุกข์ เลยไม่ใช่แค่ตามองเห็น หูได้ยิน ตัวที่ทำให้เราทุกข์ก็คือตัวจิตนั้นมันปรุง ปรุงแบบนี้มีความทุกข์ ปรุงแบบนี้มีความสุข ปรุงอย่างนี้เป็นกุศล ปรุงอย่างนี้เป็นอกุศล ปรุงแต่งทั้งวัน ความปรุงแต่งนี้เป็นตัวร้ายกาจ ลึกลงไปถึงที่สุดรากเหง้าของความปรุงแต่งก็คือตัวอวิชชา เราไม่รู้ความจริงของธาตุของขันธ์ เราเลยเกิดความเกิดขึ้นมา มีชีวิตขึ้นมา มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ทีนี้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วไปกระทบอารมณ์อีก จะห้ามการกระทบอารมณ์ห้ามไม่ได้ มีตาก็ต้องเห็นรูป มีหูก็ต้องได้ยินเสียง มีจมูกก็ต้องได้กลิ่น มีลิ้นก็ต้องรู้รส มีใจกระทบธรรมารมณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่องราวที่ใจเราคิดขึ้นมา เราห้ามไม่ได้

แต่พอมันกระทบอารมณ์แล้ว ถ้าสติเราว่องไวพอ ก็จบตรงที่การกระทบอารมณ์ ไม่ปรุงต่อ ถ้าสติเราไม่ไวพอ ก็จะเกิดความปรุงแต่งต่อ ทันทีที่เกิดการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรายังเฉยๆ พอมีการแปลความหมายหรือมีการกระทบอารมณ์โดยตรงทางใจ ก็จะเกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ใจเราจะสุข ใจเราจะทุกข์ ใจเราจะเฉย เราก็ห้ามไม่ได้ ตัวนี้ก็ยังห้ามไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ เป็นวิบาก ให้เรารู้ ใจเรามีความสุขให้รู้ ใจเรามีความทุกข์ให้รู้ ถ้าตรงนี้ยังรู้ไม่ทัน กิเลสจะแทรก เวลาใจเรามีความสุขขึ้นมา จะยินดีพอใจ มีราคะแทรก เวลากระทบอารมณ์แล้วไม่พอใจ โทสะแทรก ตรงที่เกิดกิเลสขึ้นมานี่ จะเริ่มผลักดันให้เกิดความปรุงแต่ง เกิดการกระทำกรรมของจิต ตัวกรรมที่เราได้ยินว่ากรรมๆ ตัวกรรมก็คือความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงไม่ดีไม่ชั่วบ้าง

นี่เรา ถ้าเกิดกรรมขึ้นมาจะผลักดัน จิตใจก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา มีความปรุงแต่งทีไร ก็มีความทุกข์ทุกทีล่ะ ปรุงดีก็ทุกข์อย่างคนดี ปรุงชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว ความปรุงแต่งเกิดขึ้นมา มาผลักดันเรา เราก็จะเกิดความอยาก อยากให้ปรุงดี อยากมีแต่ความสุข อยากให้สร้างภพที่ดี เราห้ามจิตไม่ให้ปรุงแต่งไม่ได้ แต่ถ้าจิตปรุงแต่งแล้ว ให้เรามีสติรู้ทันไว้ ความปรุงแต่งของจิตก็คือคำว่าภพนั่นเอง

พวกเราเคยได้ยินไหมคำว่าภพ ในตำราชอบพูดบอกสิ้นชาติสิ้นภพจบพรหมจรรย์ กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีแล้ว ไม่มีภพแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่าภพมี 2 อัน ภพใหญ่กับภพย่อย ภพใหญ่อย่างพวกเราขณะนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ เป็นภพของมนุษย์ แต่ภพย่อยๆ นี่เกิดทั้งวัน เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จิตมันปรุง ตรงที่จิตปรุงแต่งนั่นล่ะคือการสร้างภพ เรียกว่ากรรมภพ การทำกรรมของจิต ตรงนี้จะละเอียดนิดหนึ่ง แต่ก็ฟังๆ ไว้ แล้ววันหนึ่งก็เข้าใจ

 

เราจะพ้นจากภพจากกรรมได้
ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ

เราจะพ้นจากภพพ้นจากกรรมได้ ก็ต้องมีสติมีสมาธิมีปัญญาสะสมไว้ให้มาก เรียนรู้ความจริงของจิตของใจตัวเองให้ดี อย่างจิตเรากระทบอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ยังไม่มีดีมีชั่ว ถ้ากระทบก็สักแต่ว่ากระทบเท่านั้นเอง เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ทีนี้ใจไม่ฉลาด พอกระทบอารมณ์แล้วปรุงต่อ คราวนี้ก็จะปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงสุขบ้าง ปรุงทุกข์บ้าง แล้วเราก็จะติดอกติดใจในภพต่างๆ

อย่างคนที่เกิดอย่างพวกเราเป็นคน ตายแล้วเราก็อยากเป็นคนอีก หมาตายแล้วมันก็อยากเป็นหมาอีก ฉะนั้นภพนี้เป็นของที่เสพติด เราคุ้นเคยกับภพชนิดไหน เราก็อยากเกิดตรงนั้นอีก เพราะฉะนั้นในตำราจะพูดว่าเกิดเป็นหมา 500 ชาติอะไรอย่างนี้ ทำไมเกิดนาน เพราะว่ามันติดอกติดใจในภพอันนั้น อย่างเราเป็นคน เราก็อยากเป็นคนอีก ตายไปก็อยากเป็นคน ถึงตายแล้วยังสร้างภาพโลกหลังความตายก็เหมือนคนอีก มีบ้านมีเมืองมีอะไรต่ออะไรเหมือนคน มีของกิน มีเครื่องที่อยู่อาศัยอะไรพวกนี้ เราเคยชิน

เพราะฉะนั้นการที่เราเคยชินอยู่ในภพต่างๆ ไม่สามารถหลุดออกจากภพได้ เราจะพ้นจากภพต่างๆ หรือพ้นจากความปรุงแต่งต่างๆ หรือพ้นจากกรรมต่างๆ ได้ เราต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเคยไปกราบหลวงปู่เทสก์ ไปกับน้องชาย น้องชายหลวงพ่อเขาไปถามหลวงปู่ บอกเขาอยากพ้นจากกาม กามก็เป็นกิเลส ก็ทำให้เกิดกามภพ ปรุงแต่งไปด้วยอำนาจของกาม บอกเขาอยากจะพ้นจากกาม จะทำอย่างไร แต่จิตใจยังอาลัยอาวรณ์อยู่ หลวงปู่ท่านก็บอกว่า พ้นไม่ได้ตราบใดที่จิตใจยังอาลัยอาวรณ์ในกามในภพของกาม จิตมันติดใจก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่เลิกหรอก ต่อเมื่อไรเห็นโทษ เห็นโทษของภพ เราถึงจะพ้นจากภพได้

ฉะนั้นที่เรามาภาวนา เราจะมาภาวนาเราจะดูทุกข์ดูโทษของภพต่างๆ หรือของความปรุงแต่งต่างๆ หรือกรรมต่างๆ การกระทำต่างๆ ของจิต เราจะต้องมาเรียนให้เห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ต้องมาเรียนให้เห็นตัวนี้ จิตถึงจะข้ามภพข้ามชาติได้ ไม่อย่างนั้นข้ามไม่ได้หรอก มันติดใจในภพ เสพแล้วก็ติดนั่นล่ะ ยากไปไหม พอดีหลวงพ่อเมื่อกี้นั่งสมาธิมา ธรรมะยากไปนิดหนึ่งแล้ว หายใจไว้ หายใจไว้ก่อน หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก หายใจไปแล้วสังเกต จิตเราปรุงแต่งตลอดเวลา อย่างเรานั่งหายใจอยู่ก็มีความอยาก อยากสงบอะไรอย่างนี้ พออยากสงบก็เกิดความปรุงแต่ง พยายามเข้าไปบังคับไปควบคุมจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่านไม่ให้คิด นี่ความปรุงแต่ง

เราจะรู้ทันความปรุงแต่งได้ ถ้าจิตเรามีกำลังมากพอ จิตตั้งมั่นมากพอ หายใจไว้ อย่าเพิ่งหยุดหายใจ หายใจไว้ หายใจแล้วรู้สึก รู้สึกตัวไป พอมองออกไหม ระหว่างที่เราหายใจนี่ จิตแอบคิดนึกปรุงแต่ง พอจะเห็นไหม ลองอีกทีหนึ่ง ครั้งที่สาม ลองอีกทีหนึ่ง หายใจไป หายใจแล้วดูออกไหม จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง นี่หัดดูอย่างนี้ หัดดูเรื่อยๆ มีเวลาว่างเมื่อไรก็ลองทำดู ถ้าเรารู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตได้ ต่อไปเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่ความปรุงแต่งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะปรุงดีหรือปรุงชั่ว ไม่ว่าปรุงสุขหรือปรุงทุกข์ ในใจเราก็จะเสียอิสรภาพไป เสียสมดุล ใจเราจะกวัดแกว่งกระเพื่อมหวั่นไหว นั่นล่ะความทุกข์มันเกิด

มองเห็นไหม จิตใจมันทำงาน มันไม่ได้หายใจอย่างเดียว หายใจไปแป๊บหนึ่งก็หนีไปคิดเรื่องโน้น หายใจไปแป๊บหนึ่งหนีไปคิดเรื่องนี้ หายใจไปแล้วก็คิดว่าทำอย่างไรจะสงบ หายใจไปนานๆ จิตก็เริ่มสงบ พอสงบก็เริ่มยินดีพอใจในความสงบ สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คือคำว่าปรุงแต่งนั่นล่ะ ความปรุงแต่ง บางครั้งก็ปรุงดี บางครั้งก็ปรุงชั่ว บางครั้งก็ปรุงสุข บางครั้งก็ปรุงทุกข์ เป็นความปรุงแต่งที่หมุนเวียนอยู่ในใจเรา เราห้ามไม่ได้ เราห้ามไม่ได้ แต่เรียนรู้มันไป เหมือนที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอก ต้องเห็นโทษ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก ต้องเห็นทุกข์ อันเดียวกันเห็นทุกข์เห็นโทษ ดูสิจิตปรุงแต่งแล้วมีความทุกข์จริงไหม เวลามันปรุงความทุกข์ ดูง่าย พอมันปรุงความทุกข์ เราก็เห็นมันทุกข์จริง แต่เวลามันปรุงความสุข อันนี้ดูยาก เราจะรู้สึกว่า แหม่ดีนะ มันปรุงสุข หรืออย่างเรานั่งสมาธิแล้วจิตสงบ มันปรุงความสงบขึ้นมา เราก็เห็นว่าสงบดี ฟุ้งซ่านไม่ดี อันนี้สติปัญญาของเรายังไม่แข็งแรงพอ

ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ เราก็จะเห็นไม่ว่าปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น คำว่าปรุงแต่ง สังขาร คำว่าภพ คำว่าการกระทำกรรมของจิต ก็คืออันเดียวกันนั่นล่ะ เรียกชื่อแตกต่างกันไป มีภพครั้งใด พระพุทธเจ้าท่านบอก มีภพเกิดขึ้นคราวใดก็มีทุกข์ทุกที สังขารความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้เราอยู่กับความปรุงแต่งจนเคยชิน เราไม่เคยเห็นว่าจิตปรุงแต่ง เรามาหัดให้รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตดู แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรความทุกข์เกิดขึ้นทุกที กระทั่งปรุงสุข ปรุงสุขจิตก็มีความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา สั่นสะเทือนขึ้นมา มันก็ทุกข์ แต่ทุกข์อย่างประณีตหน่อย ทุกข์น้อยๆ

หายใจไว้ เห็นไหมจิตมันปรุงแต่ง อย่างเรานั่งหายใจอยู่ แป๊บเดียวหนีไปคิดเรื่องอื่น หรือแป๊บเดียวก็คิดเรื่องหายใจนี้ หายไปนี้เพื่ออะไร เกิดลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยก็เป็นความปรุงแต่ง หายใจไปแล้ว แหม อยากสงบ ความอยากสงบก็เป็นความปรุงแต่ง หายใจไปพอจิตสงบ แหม ชอบ ชอบก็เป็นความปรุงแต่ง แล้วเราค่อยๆ ดู รู้เท่าทันความปรุงแต่งสม่ำเสมอ รู้ไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะเห็นความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที

 

มีภพก็เกิดชาติ มีชาติก็เกิดทุกข์

เคยไปงานศพไหม ที่พระชักบังสุกุล ท่านบอก อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อุปปาทะวะยะธัมมิโน มีความเกิดขึ้น อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป เตสัง วูปะสะโม สุโข สังขารทั้งหลายดับลงได้ สงบลงได้ เป็นสุข คำว่าสังขารตัวนี้ไม่เฉพาะร่างกาย ร่างกายเป็นสังขารเป็นกาย รูปกายก็เป็นสังขารอันหนึ่ง สังขารที่ดับแล้วเป็นสุขจริงๆ ไม่ใช่แค่ร่างกายตาย คือความปรุงแต่งของจิต ถ้าเมื่อไรเราพ้นได้ เราจะพบความสงบสุขที่แท้จริง เราหิวโหย เราเป็นชาวพุทธ เราหิวโหยนิพพาน อยากเจอนิพพาน อยากได้นิพพาน นิพพานคืออะไร ไม่รู้ อยากได้ทั้งๆ ที่ไม่รู้

นิพพานคือสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง จิตพ้นจากความปรุงแต่งเรียกว่าวิสังขาร พ้นจากความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเกิดได้เพราะอะไร เพราะตัณหา เพราะตัณหา ฉะนั้นนิพพานก็เป็นสภาวะที่สิ้นตัณหาสิ้นความปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราภาวนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดีก็เกิดความชอบใจ มีอารมณ์ที่ไม่ดีก็เกิดความไม่ชอบใจ มีอารมณ์เฉยๆ ก็ไม่ชัดเจน ตรงที่ชอบใจก็เกิดความอยากได้อยากมีอยากเป็นขึ้นมา ตรงที่ไม่ชอบใจก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ตัวนี้ก็เกิดตัณหาเกิดความอยากตามหลังการกระทบอารมณ์มา พอกระทบอารมณ์เลยมีความอยากเกิดขึ้น ความปรุงแต่งจะเกิดขึ้น ความปรุงแต่งจะเกิดขึ้นทันทีเลย

ทีนี้เราหัดทีแรก เรายังไม่เห็นขนาดที่หลวงพ่อบอกหรอก ที่หลวงพ่อพูดถึงนี่คือธรรมะที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม พวกเรายังไม่ได้มีดวงตาเห็นธรรม ยังไม่เห็นตลอด ฉะนั้นเราสังเกตเอา จิตใจเราปรุงแต่งตลอดเวลา คอยสังเกตไว้ เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว เดี๋ยวก็ปรุงสุข เดี๋ยวก็ปรุงทุกข์ คอยรู้ทันไป ทีแรกก็ต้องซ้อม การซ้อมก็คือทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ หายใจไปแล้วก็คอยรู้ทันความปรุงแต่งของจิตใจ หายใจไปจิตสงบรู้ทัน จิตฟุ้งซ่านรู้ทัน หายใจไปจิตสุขรู้ทัน จิตทุกข์รู้ทัน หายใจไปแล้วจิตใจเป็นอย่างไร คอยรู้ทันไว้ ตรงนี้คือตัวความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง สุข ทุกข์ ดี ชั่วนี้คือความปรุงแต่งฝ่ายนามธรรม ร่างกายเรานี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายรูปธรรม

รูปธรรมนี้เราเห็นง่ายว่าไม่ใช่เราหรอก ไม่เที่ยง ไม่นานก็แตกสลาย อันนี้คนก็เห็นง่าย แต่การที่จะเรียนรู้เข้ามาจนเห็นจิต ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นให้เราหัดสังเกตไว้ ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันลงไป จิตปรุงสุขก็รู้ จิตปรุงทุกข์ก็รู้ จิตปรุงดีก็รู้ จิตปรุงชั่วก็รู้ นี่คือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง

ถ้าเรารู้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเรารู้เท่าทันความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งจะดับ ความปรุงแต่งจะดับ แล้วถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตพ้นจากความปรุงแต่งไม่ใช่จิตไม่คิด จิตยังคิดได้เหมือนที่พวกเราคิดได้ อย่างพระอรหันต์ก็ยังคิดได้เหมือนที่เราคิดได้ พระอรหันต์ก็ยังมีเวทนาทางใจ ไม่ใช่ไม่มี พระอรหันต์ไม่ใช่ต้นไม้ไม่ใช่ก้อนหิน จะได้ไม่มีความรู้สึก จิตของพระอรหันต์ยังมีเวทนา 2 ชนิด คือความสุข มีโสมนัสเวทนากับอุเบกขา เห็นไหมยังมี ความปรุงแต่งมี ยังคิดได้ไหม คิดได้ ยังคิดได้ ร่างกายเป็นทุกข์ได้ไหม ร่างกายยังเป็นทุกข์ได้ ความปรุงแต่งของกายก็ยังมีอยู่ ความปรุงแต่งของจิตใจก็ยังมีอยู่ แต่ท่านพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง

อย่างของเรา เราก็อยากจะปรุงดีปรุงสุขใช่ไหม เราเกลียดการปรุงทุกข์ เราเกลียดการปรุงชั่ว เราอยากให้จิตปรุงดีๆ แล้วเราก็พบว่าเราบังคับมันไม่ได้ จิตจะปรุงอะไร จิตก็ทุกข์ทุกทีเลย ที่จริงความปรุงแต่งยังไม่ได้ทำให้จิตทุกข์ พอปรุงแล้ว เราเข้าไปหยิบฉวย เราเข้าไปยึดถือจิตใจของตัวเอง ความปรุงแต่งนั้นเรียกว่าภพ การที่จิตเข้าไปหยิบฉวยยึดถือจิตใจตัวเองเรียกว่าชาติ ภพกับชาติ มีภพก็เกิดชาติ มีชาติก็เกิดทุกข์

ทีนี้พระอรหันต์ท่านภาวนามา ท่านเห็นจริงแล้วความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ทั้งรูปธรรมเป็นทุกข์ ทั้งนามธรรมเป็นทุกข์ จิตท่านไม่ยึดถือ ท่านไม่หยิบฉวยเอาจิตใจขึ้นมา เรียกว่าไม่มีชาติ ไม่มีความเกิด เมื่อไม่มีชาติ ก็จะไม่มีความทุกข์ ความทุกข์เข้ามาไม่ถึงแล้ว ความทุกข์เป็นเรื่องของสังขาร เพราะฉะนั้นความทุกข์ไม่ใช่จิต ค่อยๆ ฝึกแล้ววันหนึ่งเราจะพบธรรมะที่อัศจรรย์เหลือเกิน ค่อยๆ สังเกตไป

เริ่มต้นก็หายใจไว้ แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง ซ้อมไป เห็นไหมจิตมันปรุงได้เอง ห้ามได้ไหม ห้ามว่าอย่าคิดได้ไหม ห้ามว่าอย่าชั่วได้ไหม ไม่ได้ ใช่ไหม ห้ามว่าอย่าฟุ้งซ่านได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เราบังคับเปลี่ยนแปลงสังขารอะไรพวกนี้ไม่ได้หรอก ให้เรารู้ไว้ มันปรุงอะไรขึ้นมาให้เรารู้ไว้ แล้วสังเกตไปเลย ปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที ค่อยๆ สังเกตตัวนี้ แล้วต่อไปจิตใจจะไม่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา ถ้าไม่หยิบฉวยจิตก็เรียกว่าไม่มีชาติ ถ้าไม่หลงในความปรุงแต่งก็เรียกไม่มีภพ สิ้นชาติสิ้นภพจบพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ก็คือการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ฟังไว้ก่อนนะวันนี้ยากไปนิดหนึ่ง แต่ไม่มีใครเขาสอน ฟังเอาไว้ จำไว้ก่อน แล้วภาวนาไป วันหนึ่งก็จะได้ใช้ธรรมะอันนี้

ความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะคือภพ เมื่อมีความปรุงแต่งเกิดขึ้น สติปัญญาไม่พอ ไม่เห็นว่าภพทั้งหลายเป็นทุกข์ จะเกิดการหยิบฉวยจิตขึ้นมา จิตจะหยิบฉวยจิตขึ้นมา ทันทีที่จิตหยิบฉวยจิตขึ้นมาก็คือหยิบฉวยทุกข์ขึ้นมา เพราะตัวจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ หยิบกายก็ตัวทุกข์ กายก็เป็นตัวทุกข์ หยิบจิตขึ้นมาเป็นตัวทุกข์ แต่กายวางง่าย จิตวางยาก ในนี้ก็มีบางคนไม่มาก แต่ก็มี เคยวางจิตลงไปแล้ว แล้วจิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก เพราะยังรู้ไม่พอ ยังเห็นทุกข์ไม่พอ

 

คอยอ่านจิตตัวเองไว้
คอยรู้ไป ไม่ห้ามความปรุงแต่ง

ตอนหลวงพ่อเป็นโยม เล่านิทานเสียหน่อย เดี๋ยวจะงงเกินไป ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อก็ภาวนา สถานะเดียวกับพวกเราล่ะ เป็นโยมมีครอบครัวทำมาหากิน มีภาระทางโลกมากมาย ก็ทำหน้าที่ในทางโลกไม่ขาดตกบกพร่อง ทำงานไปอะไรไปไม่ได้ขี้เกียจ แล้วก็มีเวลาเมื่อไรก็ภาวนา หลวงพ่อภาวนา 2 ลักษณะ มีเวลาเมื่อไรก็ภาวนาในรูปแบบ รูปแบบที่หลวงพ่อใช้คืออานาปานสติบวกกับพุทโธ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง จิตปรุงสุขก็รู้ จิตปรุงทุกข์ก็รู้ จิตปรุงดีก็รู้ จิตปรุงชั่วก็รู้ สุดท้ายนี่พอทำไปนานๆ สักช่วงหนึ่ง ประมาณเดือนหนึ่ง ลองทำดู ถ้าช้าๆ หน่อยก็อาจจะ 2 เดือน 3 เดือน ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยอ่านจิตตัวเองไว้ มันปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ คอยรู้ไป ไม่ห้าม ไม่ได้ห้ามความปรุงแต่ง

อยากปรุงให้มันปรุง แต่เรามีสติตามรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปนี่สติจะไว พอจิตสุขขึ้นมาปุ๊บสติรู้เลย พอทุกข์ขึ้นมาปุ๊บสติรู้เลย พอเกิดกุศลขึ้นมาสติรู้ โกรธขึ้นมาสติรู้ โลภขึ้นมาสติรู้ หลงสติรู้ ฟุ้งซ่านหดหู่สติรู้ ที่รู้ได้เร็วเพราะซ้อมรู้ ซ้อมรู้ก็คือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ถ้าอยากพ้นทุกข์จริงๆ ต้องทำ จะมาเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างเดียวไม่ได้กินหรอก นี่พูดเต็มปากเลยเพราะทดสอบมาแล้ว ต้องทำในรูปแบบ วันไหนจิตฟุ้งซ่านทำความสงบเข้ามา วันไหนจิตสงบพอสมควรแล้ว นั่งอ่านจิตใจตัวเองไป ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ รู้ทันเรื่อยๆ ไป รู้ทันความปรุงแต่งของจิต รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ฝึกอยู่อย่างนี้ไม่นานก็ชำนาญ หลวงพ่อดูอยู่สักเดือนหนึ่งอะไรอย่างนี้ จิตขยับเขยื้อนอะไร มองเห็นหมด ปรุงอะไรก็เห็น คราวนี้ถึงเวลาที่เราจะเข้าสนามรบจริงแล้ว สนามรบจริงๆ ของนักปฏิบัติไม่ใช่ห้องกรรมฐาน สนามรบจริงๆ ของเราคือชีวิตจริงๆ ของเรานี่ล่ะ ชีวิตของเราในปัจจุบันนี้ล่ะ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจะเก่งเฉพาะทำในรูปแบบยังไม่พอ การทำในรูปแบบเหมือนการซ้อมมวย ซ้อมอยู่ในค่ายซ้อม ยังไม่เคยขึ้นชกอย่างนี้ พอขึ้นชกอาจจะเมาหมัดไปเลยก็ได้ ฉะนั้นเราต้องซ้อมให้ดี แล้วเราก็มาขึ้นชกเวทีจริงๆ ก็คือโลกข้างนอกนี้ มาปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเราเก่งเฉพาะในห้องกรรมฐานไม่ได้กินหรอก เพราะชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกห้องกรรมฐาน ฉะนั้นเราต้องมาฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้

วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร พอตาเรามองเห็นจิตเราเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน ทำไมเรารู้ทันได้ เพราะเราเคยซ้อมรู้มาแล้ว เคยซ้อมรู้ความปรุงแต่งความเปลี่ยนแปลงของจิตมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเรามาอยู่ในชีวิตจริง พอตาเราเห็นรูป จิตใจเราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล เราจะรู้อัตโนมัติ ไม่ได้เจตนารู้เลย มันรู้ขึ้นมาเอง เวลาหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตใจเราปรุงแต่ง ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ขึ้นมา เราจะรู้ทัน ทำไมรู้ทันได้ เพราะเราซ้อมรู้มาแล้ว

ฉะนั้นการทำในรูปแบบคือการซ้อมที่จะรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง ต้องทำนะพยายามทำเข้า ไม่ใช่ทำวันละครั้ง อาจจะว่างๆ ตอนค่ำมีเวลาเยอะก็ทำเยอะหน่อย เวลากลางวันอย่างนี้ สมมติเราขึ้นรถไฟฟ้า ระหว่างขึ้นรถไฟฟ้ามีเวลา 5 นาที 10 นาที เราก็ทำกรรมฐานของเราไป จะหายใจพุทโธอะไรก็ทำไปเถอะ แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ พอจิตเราฝึกเรื่อยๆ หัดรู้ทันจิตเรื่อยๆ จะรู้ได้เร็วขึ้นๆ แล้วสติเราจะไวขึ้นๆ

แล้วพอเรามาอยู่ในชีวิตจริง มีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจิตใจเราเกิดสุขทุกข์ดีชั่วขึ้นมา สติจะรู้เอง จะรู้ได้เอง แล้วต่อไปจะลึกซึ้งขึ้นไปอีก ทีแรกก็เห็นแต่ว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ ความสุขเกิดแล้วดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ กุศลอกุศลเกิดแล้วดับ จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมพระโสดาบัน จะเห็นว่าตัวเราไม่มีหรอก ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะถาวร มีแต่ของที่มีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เห็นอยู่อย่างนี้

 

พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายได้ เ
พราะเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์

แล้วต่อไปเราก็ภาวนา สติปัญญาเราแก่กล้าขึ้นอีก เราไม่ใช่แค่เห็นว่าตัวเราไม่มี เราเห็นว่ากายยังมีอยู่ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายก็ยังมีอยู่ พอมีอยู่ ถ้าจิตเข้าไปยึดถือ จิตเข้าไปหยิบฉวย มันทุกข์ ทีนี้จิตเข้าไปยึดถือสุข ยึดถือสุขก็คืออยากให้มีแต่ความสุข ยึดถือทุกข์ก็คือเกลียดชังมัน นั้นก็ยึด ยึดดีเกลียดชั่วอะไรนี้ก็คือความยึดถือทั้งหมดเลย จิตเข้าไปยึดถือ อยากได้อันนี้ ไม่อยากได้อันนี้ จิตก็ดิ้นรน ตรงที่ดิ้นรนนั้นล่ะ เกิดความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นในใจเราอีกครั้งหนึ่ง ทุกข์ซ้อนทุกข์เข้าไปเรื่อยๆ ดิ้นรนทีไรก็ทุกข์ทุกทีล่ะ ต่อไปเราก็จะพบ มีกายอยู่ กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา แค่นี้ยังไม่พอ อันนี้เป็นภูมิระดับพระโสดาบัน สูงกว่านั้นคือต้องเห็นทุกข์

เห็นกายก็คือกายนี้เป็นก้อนทุกข์ จิตใจนะเราจะเห็นเลย ไม่ว่าจะปรุงดีหรือปรุงชั่ว ปรุงสุขหรือปรุงทุกข์ มันทุกข์ทั้งนั้นเลย มีภาระของจิตเกิดขึ้น ตรงที่มีภาระของจิตเกิดขึ้นนั้น ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ บางครั้งจิตก็วาง วางภาระลง แล้ววางลงไปแล้วเดี๋ยวก็หยิบขึ้นมาอีก ใครเคยสวดมนต์บทนี้บ้าง ภาราหะเวปัญจักขันธา ใครเคยสวด เคยได้ยินไหม ไม่เคยได้ยินไปถาม Google ดู บทนี้ดี คือภาระ ขันธ์ทั้ง 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตเราเป็นภาระ คนทั้งหลายแบกภาระอยู่ ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาใหม่

นั่นล่ะถึงได้พ้นทุกข์จริงๆ ทีนี้เรายังมองไม่เห็นว่าจิตเราหยิบฉวยจิตอยู่ แต่เราเห็นบ้างไหมจิตหยิบฉวยร่างกายอยู่ อันนี้จะดูง่ายกว่า เป็นขั้นต้น แต่ต่อไปเราก็ต้องดูไปเรื่อยจนถึงจิตไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ฟังไปก่อนเดี๋ยววันหนึ่งก็เห็นหรอก ทำไปเรื่อยๆ จิตไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา จิตมีความทุกข์ทันทีเลย เพราะตัวจิตคือตัวทุกข์ ตัวนี้เข้าใจยาก เราคิดว่าจิตที่มีความทุกข์ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นจิตที่มีความทุกข์ แต่เราไม่เห็นหรอกว่าจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ เราเห็นแต่ว่าจิตที่กระทบอารมณ์ไม่ดีถึงจะทุกข์ ถ้ากระทบอารมณ์ดีแล้วจิตเป็นสุข แต่ถ้าภาวนาจริงจังถึงจุดหนึ่งเราจะเห็นเลยว่าจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ เป็นบรมทุกข์เลย ไม่มีทุกข์อะไรเหมือนเลย ทุกข์แสนสาหัส

ฉะนั้นเราภาวนา ทีแรกเราก็เห็นแค่ว่าขันธ์ 5 ร่างกายจิตใจไม่มีตัวเรา ไม่มีสิ่งที่เป็นอมตะเลย เกิดแล้วก็ดับไป อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป บังคับไม่ได้ หัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเห็นต่อไปอีก ลึกซึ้งเข้าไป เห็นว่าถ้าจิตเราเข้าไปหยิบฉวยร่างกาย จิตก็ไปแบกความทุกข์ของร่างกาย จิตไปหยิบฉวยจิต จิตก็ไปแบกความทุกข์ของจิตขึ้นมา จะเห็นความทุกข์ของกายก่อน เวลาจิตเข้าไปยึดกาย จะทุกข์ จะเห็นอย่างนี้ เลยรู้สึกเลย กายนี้ไม่ใช่ของดีเลย ทีแรกเราคิดว่าร่างกายเรามีสุขบ้างทุกข์บ้าง พอภาวนาไปมากๆ สติปัญญาแก่กล้าขึ้น เรากลับไปเห็นอีกอย่าง เราเห็นว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆ ไม่น่ายึดถือ จิตก็ไม่ยึดถือกาย อันนั้นเป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี

แล้วต่อไปนี่ขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ เราจะต้องภาวนาจนเห็นเลย เวลาจิตเกิดความปรุงแต่งใดๆ ขึ้นมาจะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่วก็ตาม ก็เกิดภาระของจิตขึ้นทั้งสิ้น นั่นล่ะคือทุกข์ของจิต ทีแรกเราก็เห็นอย่างนี้ ค่อยๆ ดูไป แล้วต่อไปเราก็จะเห็นลึกลงไปอีกว่าจิตนั้นเป็นตัวทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น จิตที่พ้นจากการหยิบฉวยจิตขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่าวิญญาณธาตุ ธรรมธาตุ เป็นธาตุ ธาตุรู้ ธาตุรู้ตัวนี้เป็นอิสระ เพราะว่าไม่ผูกพันอยู่กับขันธ์ 5 ธาตุรู้นี้เป็นอิสระ สงบ แล้วก็เป็นบรมสุข ธาตุรู้ตัวนั้นล่ะทรงพระนิพพานไว้ นี่ที่สุดของทุกข์ก็คือที่สุดของความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม

ทีนี้เราพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายได้ เพราะเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอกมันต้องเห็นทุกข์ต้องเห็นโทษ ถ้าเห็นทุกข์เห็นโทษได้ หลวงปู่ดูลย์ก็บอกเหมือนกัน ถ้าเห็นทุกข์เห็นโทษของความปรุงแต่งทั้งรูปธรรมนามธรรมได้ ถึงจะวางได้ ถ้าไม่เห็นทุกข์เห็นโทษมันไม่วางหรอก นี่คือเส้นทาง

 

กุญแจสำคัญอยู่ที่จิต พอวางจิตได้ก็พ้นโลก

ที่หลวงพ่อสอนวันนี้คือแผนที่ แผนที่ที่ว่าต่อไปข้างหน้า เราต้องคลำทางนี้ไป ครูบาอาจารย์ที่จะบอกเรานี่หายากเต็มที เขาไม่ค่อยสอนกันหรอก อย่างครูบาอาจารย์ยุคที่ 40 ปีก่อนที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนกรรมฐาน ถ้าสอนฆราวาส ท่านสอนเรื่องทำทานถือศีล ท่านสอนแค่นี้เอง แล้วถ้าจะภาวนาท่านบอกไปพุทโธเอา ไม่สอนอย่างอื่นหรอก แล้วทำกันอย่างนั้นล่ะอยู่นาน คนไหนไม่มีกำลังใจพอก็เลิกไป คนไหนอดทนก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมา แล้วท่านค่อยบอกทีละนิดๆ ไม่บอกเยอะหรอก บอกทีหน่อยเดียว แล้วท่านบอกว่า ท่านเคยติงหลวงพ่อนะครูบาอาจารย์บางองค์ บอก ปราโมทย์สอนยากเกินไป ไม่ต้องหรอก ฆราวาสสอนทำทานถือศีลพอแล้ว แค่นี้ก็ไม่ทำแล้ว

หลวงพ่อไม่ได้คิดอย่างนั้นหรอก หลวงพ่อก็ครับๆๆ ไปเถียงครูบาอาจารย์ไม่ดี ครับๆๆ เชื่อไหม ไม่เชื่อ ทำไมไม่เชื่อ หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เป็นฆราวาส แล้วเวลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์ ท่านไม่ได้สอนหลวงพ่อทำทานถือศีลเลย ท่านสอนหลวงพ่อเข้ามาดูธาตุดูขันธ์นี่เลย ยิ่งหลวงปู่ดูลย์เข้าไปเรียนครั้งแรกเลย สอนเข้ามาที่จิตเลย ในบรรดาขันธ์ 5 ของที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุดคือจิต ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราเมื่อไร ขันธ์ 5 ไม่ใช่เราทันที โลกทั้งโลกไม่ใช่เราทันที ถ้าเราปล่อยวางจิตได้ เราก็ปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ เราก็ปล่อยวางโลกทั้งโลกได้ ฉะนั้นกุญแจสำคัญอยู่ที่จิตนี่เอง

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แล้วท่านไม่ได้สอนหลวงพ่อให้มีจิตแล้วรักษาจิต หลวงพ่อเคยภาวนาไปดูจิตแล้วก็รักษาให้ว่างๆ นิ่งๆ ท่านบอกทำผิดแล้ว จิตมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง ไม่ใช่ไปทำให้ไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง ให้ไปดู ให้ไปดูมัน แล้วหลวงพ่อก็เลยมานั่งดูไปเรื่อย ยืนเดินนั่งนอนดูทั้งนั้น มีเวลาเมื่อไรก็ดู เดี๋ยวจิตก็ปรุงสุข เดี๋ยวจิตก็ปรุงทุกข์ เดี๋ยวจิตก็ปรุงดี เดี๋ยวจิตก็ปรุงชั่ว เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้ล่ะ ถึงวันหนึ่งก็เข้าใจเอา จิตเองก็เกิดดับ จิตเองก็เป็นของที่บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราอะไรหรอก ก็เห็นเป็นลำดับๆ ไป พอต่อมาเราก็ภาวนาเรื่อยๆ ก็เห็นกายนี้ทุกข์จริงๆ เราก็ภาวนาไป เห็นจิตเป็นตัวทุกข์ มีทุกข์ของจิตที่เราเห็นช่วงแรกคือภาระ ภาราหะเวปัญจักขันธา เป็นภาระ

ภาระอย่างไร สังเกตไหมเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ มีความกระเพื่อมไหวขึ้นที่กลางอก ใครเคยเห็นตัวนี้บ้าง ยกมือให้หลวงพ่อดูหน่อยสิ ไม่น้อย นั่นล่ะเห็นอย่างนั้น เราจะรู้เลยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ทีไร มีความสะเทือนมีความไหวขึ้นมากลางอกเรา มันสุขหรือมันทุกข์ ที่สะเทือนขึ้นมา มันทุกข์นะ เฝ้ารู้เฝ้าดู เฝ้ารู้ไป แล้วต่อไปเราจะเห็นเราหนีความปรุงแต่งไม่ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ก็กระทบทั้งวัน เราหนีไม่ได้ แล้วกระทบทีไร จิตก็กระเทือนทุกที ดูไป ดูไป จิตนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย ความสุขมากระทบ จิตก็กระเทือน ความทุกข์มากระทบยิ่งกระเทือนแรงใหญ่ กุศลมากระทบ จิตก็กระเทือน อกุศลมากระทบ จิตยิ่งกระเทือนแรงใหญ่เลย

การที่มันสั่นสะเทือนมันไม่เคยสงบมันไม่เคยสบาย เหมือนจับเราใส่ในถังอะไรสักใบหนึ่ง แล้วก็เขย่าถังนั้นทั้งวันทั้งคืน เราไม่ได้มีความสุขมีความสงบเลย ทีนี้พอภาวนาๆ เราก็เห็น จิตมันทุกข์ พอเห็นจิตทุกข์ จิตก็วางจิตลงไป แต่วางลงไปชั่วคราวก็หยิบเอาจิตขึ้นมาอีก วางแล้วก็หยิบ วางแล้วก็หยิบ อยู่อย่างนี้ โอ เมื่อไรจะวางสักที เคยถามครูบาอาจารย์ ตอนนั้นครูบาอาจารย์รุ่นโตๆ ไม่อยู่แล้ว ไปถามหลวงปู่สุวัจน์ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ก็ไปเล่าท่าน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต มันวางแล้วมันก็หยิบอยู่อย่างนั้นล่ะ

ท่านบอกมันไม่มีอะไรหรอก ทิ้งมันไปเลย ท่านพูดง่าย ก็ท่านทิ้งแล้วเราไม่ทิ้ง เรารู้สึก โอ้ย หลวงปู่พูดเอาง่าย แล้วใครจะทำได้ อยู่ๆ ก็ทิ้ง ถ้าทุกคนสั่งให้ทิ้งได้ก็เป็นพระอรหันต์หมดสิ มันทำไม่ได้ จนหลวงพ่อมาบวช ตอนหลังมาบวชแล้ว ภาวนาเรื่อยๆ อ้อ ตอนนั้นยังไม่ได้บวช ตรงที่จิตวางแล้วก็หยิบ วางแล้วก็หยิบ แล้วก็วันหนึ่งมันวาง หลวงพ่อก็อยากไปถามหลวงปู่สุวัจน์ พอดีท่านกลับมาจากอเมริกาพอดี มาอยู่ที่สวนทิพย์ในซอยวัดกู้นี่ บ้านหลวงพ่ออยู่เมืองนนท์ ขับรถรีบไป จะเอาจิตที่วาง ปล่อยวางจิตนี่ไปให้ท่านดู เพื่อจะไปถามท่านว่าทำอย่างไรมันจะไม่หยิบอีก

พอรถเคลื่อนออกจากบ้านเท่านั้นล่ะ จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว แล้วทำอย่างไรก็ไม่วาง ทำอย่างไรก็ไม่ยอมปล่อย ดูอย่างไรก็ไม่ยอมปล่อย จนกระทั่งรถเข้าซอยวัดกู้แล้ว ที่ปากเกร็ด พอรถเข้าซอย ถอนใจเลย เฮ้อ ทำไม่ได้ ทำไม่ได้แล้ว ไปวางมันไม่สำเร็จแล้ว เออ จิตเป็นอนัตตา เราวางมันไม่ได้สั่งมันไม่ได้ พอมองว่าจิตเป็นอนัตตาปุ๊บมันวางเลย จิตวางจิต พอเข้าไปถึงที่หลวงปู่สุวัจน์ ท่านออกมา นั่งรถเข็นออกมา ท่านเป็นอัมพาต พอออกมาเราก็กราบ คนก็กราบกัน ท่านยังไม่พูดอะไร ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา หันมองหน้าหลวงพ่อแวบหนึ่ง

แล้วท่านก็พูดบอกเวลาเราปฏิบัติ บางครั้งจิตก็วางจิตลงไป แล้ววางแล้วก็หยิบขึ้นมาอีก พอจิตหยิบฉวยจิตขึ้นมาทำอย่างไรก็ไม่ยอมวาง จะทำอย่างไรๆ ก็ไม่ยอมวาง จนเราเห็นไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ถึงจะวาง นี่ยังไม่ทันถามเลย ท่านตอบโจทย์แล้ว ยืนยันสิ่งที่เราเข้าใจแล้ว ต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ก็เห็นความปรุงแต่งนั่นล่ะ สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ก็คือสิ่งที่ปรุงแต่งนั่นล่ะ จิตปรุงทั้งวัน เคยได้ยินไหม สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารคือร่างกายจิตใจไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขารและไม่ใช่สังขารคือนิพพาน เป็นอนัตตา นี่หลักของธรรมะอย่างนี้

ทีนี้เราภาวนาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเห็น จิตจริงๆ ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่มีอะไรดีเลย เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตถึงจะปล่อยวางจิตได้ อันนี้สอนเผื่อๆ ไว้ วันหนึ่งจะเจอ ถ้าปล่อยวางจิตได้ เราก็จะปล่อยวางโลกได้ เพราะจิตนั่นคือตัวโลก พอวางจิตได้ก็พ้นโลก

พ้นโลกแล้วถึงไหน หลวงปู่เทสก์ท่านเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง เรียกอะไร สิ้นโลกเหลือธรรม ใครเคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ สิ้นโลกเหลือธรรม ใครเคยอ่านไหม มีไหม ไม่ได้พิมพ์มานานแล้ว หลายสิบปีแล้ว สิ้นโลกเหลือธรรม สิ้นโลกหมายถึงเราภาวนารู้โลกแจ่มแจ้งแล้ววางโลก วางโลกลงไปแล้วเหลืออะไร เหลือธรรม เป็นธรรมธาตุ คือจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง จิตที่พ้นจากความปรุงแต่งนั่นเอง ลองไปดู Search ดูในอินเทอร์เน็ตอาจจะมีหนังสือเล่มนี้อยู่ ไม่มีใครเขาพิมพ์ขายหรอก หนังสือแจก

หลวงปู่ท่าน หลวงปู่เทสก์ ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน แต่เดิมท่านเขียนหนังสือหลายเล่ม ช่วงสุดท้ายท่านเขียนเล่มนี้ สิ้นโลกเหลือธรรม ห้าวหาญ เขียนถึงการสิ้นโลกเลย แล้วเนื้อหาข้างในสิ้นโลกคืออะไรรู้ไหม วิธีสิ้นโลก ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเหลือธรรม เหลือธรรม ลองไปหาอ่านดู อ่านดู นั่นล่ะสิ้นโลกก็คือสิ้นทุกข์

เดี๋ยวทีหลังหลวงพ่อจะไม่นั่งสมาธิก่อนเทศน์แล้ว มันจะยากเกิน แต่ฟังไว้ก็ดี เพราะว่าไม่มีใครเขาสอนหรอก ไม่มีใครสอนกันหรอก

 

กรรมฐานของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน

กรรมฐานของคนแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ทางใครทางมัน เราเห็นคนนี้เขาเรียนอย่างนี้ เราไม่ต้องเอาอย่างเขา ทางใครทางคนนั้น เมื่อก่อนเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์สอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างท่านสอนหลวงพ่อ สอนให้ดูจิตเลย ทำไมให้ดูจิตเลย เพราะสมาธิหลวงพ่อมีอยู่แล้ว จิตใจหลวงพ่ออยู่กับเนื้อกับตัวอยู่แล้ว ก็ดูง่าย บางคนท่านก็สอนไปท่องพุทโธเอา แล้วก็คอยรู้ทันจิตที่เป็นคนท่องพุทโธ ท่านใช้คำบอกว่า ให้ไปท่องพุทโธแล้วรู้ทันจิตที่ท่องพุทโธ ตัวที่ท่องพุทโธ นี่บางคนท่านก็สอนอย่างนี้ บางคนท่านก็สอนให้ดูกระดูก ที่แปลกๆ ก็มีองค์หนึ่งเป็นหลวงพ่อคืน

หลวงพ่อคืน หลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูผมเส้นเดียว ท่านภาวนาอย่างไรจิตก็ไม่สงบ แล้วพอหลวงปู่ดูลย์บอกให้ไปดูผมเส้นเดียว ท่านบอกเสียใจมากเลย หลวงปู่ลำเอียง สอนคนอื่นเยอะแยะเลย สอนเราดูผมเส้นเดียว ดูไม่น่าเชื่อถือเลย ไม่เอา ไม่ทำ ไปภาวนาอยู่ 3 เดือน ออกพรรษาแล้วกลับมาหาหลวงปู่ ตอนจะเข้าพบหลวงปู่นึกได้ว่าท่านสั่งให้ดูผมเส้นเดียว ยังไม่ได้ดูเลย เดี๋ยวท่านถามขึ้นมาจะถูกท่านว่าเอา ก็เลยไปดูผม นึกถึงผมตัวเอง ผมรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ มีความไม่เที่ยงอย่างนี้ พิจารณาไปมันไม่ใช่เรา อย่างผมพอตัดออกมาแล้ว เป็นเราไหม ไม่เป็น ขนโกนออกไปแล้ว เป็นเราไหม ก็ไม่เป็น เล็บตัดออกไปแล้ว ก็ไม่เป็นเรา ดูไปเรื่อยๆ ไม่เป็นเรา แต่ตรงที่พิจารณานี้เป็นสมถะ จิตท่านรวม จิตท่านรวม เข้าไปหาหลวงปู่ ไปฟังธรรมนิดหน่อย ก็เข้าใจแล้ว เพราะจิตมีสมาธิมากพอ

ฉะนั้นครูบาอาจารย์สอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทางใครทางคนนั้น ไม่ต้องเลียนแบบกัน ดูว่าแบบไหนเหมาะกับเรา เราก็เอาอย่างนั้นล่ะ ไปดูเอา อย่างหลวงพ่อถ้าทำสมถะ หลวงพ่อใช้อานาปานสติควบกับพุทโธ เราไม่ต้องเอาอย่างหลวงพ่อ ถ้าจริตนิสัยชอบอันนี้ก็เอาอันนี้ ถ้าชอบอย่างอื่นก็ใช้กรรมฐานอื่น ตรงวิปัสสนาหลวงพ่อเริ่มจากการดูจิต เราก็ไม่ต้องดูจิตอย่างหลวงพ่อ ถนัดดูกายก็ดูกาย ถนัดดูเวทนาก็เวทนา ถนัดดูจิตก็ดูจิต ถนัดอะไรก็รู้อันนั้น เอาทางที่เราถนัด

แต่สิ่งที่เราจะได้เหมือนๆ กัน คือสติเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสติเราดีขึ้น ศีลเราก็จะดีขึ้นอัตโนมัติ สมาธิเราก็จะดีขึ้นอัตโนมัติ ปัญญาก็จะอัตโนมัติขึ้นมา ฉะนั้นสติเป็นต้นทางสำคัญ พอศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ วิมุตคือมรรคผลก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ไม่มีใครสั่งให้เกิดได้ เกิดเอง

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้พอสมควร ขออวยพรให้ทุกๆ คนนะขยันๆ แล้วดีเองล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
15 ตุลาคม 2566